สมัครสมาชิก   
| |
ค้นหาข้อมูล
ค้นหาแบบละเอียด
  •   ความเป็นมาและหลักเหตุผล

    เพื่อรวบรวมงานวิจัยทางชาติพันธุ์ที่มีคุณภาพมาสกัดสาระสำคัญในเชิงมานุษยวิทยาและเผยแผ่สาระงานวิจัยแก่นักวิชาการ นักศึกษานักเรียนและผู้สนใจให้เข้าถึงงานวิจัยทางชาติพันธุ์ได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น

  •   ฐานข้อมูลจำแนกกลุ่มชาติพันธุ์ตามชื่อเรียกที่คนในใช้เรียกตนเอง ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้ คือ

    1. ชื่อเรียกที่ “คนอื่น” ใช้มักเป็นชื่อที่มีนัยในทางเหยียดหยาม ทำให้สมาชิกกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ รู้สึกไม่ดี อยากจะใช้ชื่อที่เรียกตนเองมากกว่า ซึ่งคณะทำงานมองว่าน่าจะเป็น “สิทธิพื้นฐาน” ของการเป็นมนุษย์

    2. ชื่อเรียกชาติพันธุ์ของตนเองมีความชัดเจนว่าหมายถึงใคร มีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมอย่างไร และตั้งถิ่นฐานอยู่แห่งใดมากกว่าชื่อที่คนอื่นเรียก ซึ่งมักจะมีความหมายเลื่อนลอย ไม่แน่ชัดว่าหมายถึงใคร 

     

    ภาพ-เยาวชนปกาเกอะญอ บ้านมอวาคี จ.เชียงใหม่

  •  

    จากการรวบรวมงานวิจัยในฐานข้อมูลและหลักการจำแนกชื่อเรียกชาติพันธุ์ที่คนในใช้เรียกตนเอง พบว่า ประเทศไทยมีกลุ่มชาติพันธุ์มากกว่า 62 กลุ่ม


    ภาพ-สุภาษิตปกาเกอะญอ
  •   การจำแนกกลุ่มชนมีลักษณะพิเศษกว่าการจำแนกสรรพสิ่งอื่นๆ

    เพราะกลุ่มชนต่างๆ มีความรู้สึกนึกคิดและภาษาที่จะแสดงออกมาได้ว่า “คิดหรือรู้สึกว่าตัวเองเป็นใคร” ซึ่งการจำแนกตนเองนี้ อาจแตกต่างไปจากที่คนนอกจำแนกให้ ในการศึกษาเรื่องนี้นักมานุษยวิทยาจึงต้องเพิ่มมุมมองเรื่องจิตสำนึกและชื่อเรียกตัวเองของคนในกลุ่มชาติพันธุ์ 

    ภาพ-สลากย้อม งานบุญของยอง จ.ลำพูน
  •   มโนทัศน์ความหมายกลุ่มชาติพันธุ์มีการเปลี่ยนแปลงในช่วงเวลาต่างๆ กัน

    ในช่วงทศวรรษของ 2490-2510 ในสาขาวิชามานุษยวิทยา “กลุ่มชาติพันธุ์” คือ กลุ่มชนที่มีวัฒนธรรมเฉพาะแตกต่างจากกลุ่มชนอื่นๆ ซึ่งมักจะเป็นการกำหนดในเชิงวัตถุวิสัย โดยนักมานุษยวิทยาซึ่งสนใจในเรื่องมนุษย์และวัฒนธรรม

    แต่ความหมายของ “กลุ่มชาติพันธุ์” ในช่วงหลังทศวรรษ 
    2510 ได้เน้นไปที่จิตสำนึกในการจำแนกชาติพันธุ์บนพื้นฐานของความแตกต่างทางวัฒนธรรมโดยตัวสมาชิกชาติพันธุ์แต่ละกลุ่มเป็นสำคัญ... (อ่านเพิ่มใน เกี่ยวกับโครงการ/คู่มือการใช้)


    ภาพ-หาดราไวย์ จ.ภูเก็ต บ้านของอูรักลาโว้ย
  •   สนุก

    วิชาคอมพิวเตอร์ของนักเรียน
    ปกาเกอะญอ  อ. แม่ลาน้อย
    จ. แม่ฮ่องสอน


    ภาพโดย อาทิตย์    ทองดุศรี

  •   ข้าวไร่

    ผลิตผลจากไร่หมุนเวียน
    ของชาวโผล่ว (กะเหรี่ยงโปว์)   
    ต. ไล่โว่    อ.สังขละบุรี  
    จ. กาญจนบุรี

  •   ด้าย

    แม่บ้านปกาเกอะญอ
    เตรียมด้ายทอผ้า
    หินลาดใน  จ. เชียงราย

    ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ถั่วเน่า

    อาหารและเครื่องปรุงหลัก
    ของคนไต(ไทใหญ่)
    จ.แม่ฮ่องสอน

     ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ผู้หญิง

    โผล่ว(กะเหรี่ยงโปว์)
    บ้านไล่โว่ 
    อ.สังขละบุรี
    จ. กาญจนบุรี

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   บุญ

    ประเพณีบุญข้าวใหม่
    ชาวโผล่ว    ต. ไล่โว่
    อ.สังขละบุรี  จ.กาญจนบุรี

    ภาพโดยศรยุทธ  เอี่ยมเอื้อยุทธ

  •   ปอยส่างลอง แม่ฮ่องสอน

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ปอยส่างลอง

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดย เบญจพล  วรรณถนอม
  •   อลอง

    จากพุทธประวัติ เจ้าชายสิทธัตถะ
    ทรงละทิ้งทรัพย์ศฤงคารเข้าสู่
    ร่มกาสาวพัสตร์เพื่อแสวงหา
    มรรคผลนิพพาน


    ภาพโดย  ดอกรัก  พยัคศรี

  •   สามเณร

    จากส่างลองสู่สามเณร
    บวชเรียนพระธรรมภาคฤดูร้อน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   พระพาราละแข่ง วัดหัวเวียง จ. แม่ฮ่องสอน

    หล่อจำลองจาก “พระมหามุนี” 
    ณ เมืองมัณฑะเลย์ ประเทศพม่า
    ชาวแม่ฮ่องสอนถือว่าเป็นพระพุทธรูป
    คู่บ้านคู่เมืององค์หนึ่ง

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม

  •   เมตตา

    จิตรกรรมพุทธประวัติศิลปะไต
    วัดจองคำ-จองกลาง
    จ. แม่ฮ่องสอน
  •   วัดจองคำ-จองกลาง จ. แม่ฮ่องสอน


    เสมือนสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรม
    เมืองไตแม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ใส

    ม้งวัยเยาว์ ณ บ้านกิ่วกาญจน์
    ต. ริมโขง อ. เชียงของ
    จ. เชียงราย
  •   ยิ้ม

    แม้ชาวเลจะประสบปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัย
    พื้นที่ทำประมง  แต่ด้วยความหวัง....
    ทำให้วันนี้ยังยิ้มได้

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ผสมผสาน

    อาภรณ์ผสานผสมระหว่างผ้าทอปกาเกอญอกับเสื้อยืดจากสังคมเมือง
    บ้านแม่ลาน้อย จ. แม่ฮ่องสอน
    ภาพโดย อาทิตย์ ทองดุศรี
  •   เกาะหลีเป๊ะ จ. สตูล

    แผนที่ในเกาะหลีเป๊ะ 
    ถิ่นเดิมของชาวเลที่ ณ วันนี้
    ถูกโอบล้อมด้วยรีสอร์ทการท่องเที่ยว
  •   ตะวันรุ่งที่ไล่โว่ จ. กาญจนบุรี

    ไล่โว่ หรือที่แปลเป็นภาษาไทยว่า ผาหินแดง เป็นชุมชนคนโผล่งที่แวดล้อมด้วยขุนเขาและผืนป่า 
    อาณาเขตของตำบลไล่โว่เป็นส่วนหนึ่งของป่าทุ่งใหญ่นเรศวรแถบอำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี 

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   การแข่งขันยิงหน้าไม้ของอาข่า

    การแข่งขันยิงหน้าไม้ในเทศกาลโล้ชิงช้าของอาข่า ในวันที่ 13 กันยายน 2554 ที่บ้านสามแยกอีก้อ อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย
 
  Princess Maha Chakri Sirindhorn Anthropology Centre
Ethnic Groups Research Database
Sorted by date | title

   Record

 
Subject ญ้อ ย้อ ญ่อ โย้,การปรับเปลี่ยน,พิธีกรรมการปลงศพ,กาฬสินธุ์
Author พระมหายืน ภูมุงคุณ
Title การปรับเปลี่ยนเงื่อนไขทางพิธีกรรมการปลงศพของกลุ่มชาติพันธุ์ญ้อในจังหวัดกาฬสินธุ์
Document Type รายงานการวิจัย Original Language of Text ภาษาไทย
Ethnic Identity ญ้อ ไทญ้อ, Language and Linguistic Affiliations ไท(Tai)
Location of
Documents
ห้องสมุดศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร Total Pages 117 Year 2547
Source หลักสูตรปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาไทยคดีศึกษา บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
Abstract

ผู้วิจัยได้ศึกษาเงื่อนไขทางพิธีกรรมทางปลงศพรวมทั้งได้ศึกษาผลกระทบจากการปรับเปลี่ยนเงื่อนไขของพิธีกรรมปลงศพของญ้อ ที่บ้านแซงบาดาลและบ้านบาก ตำบลแซงบาดาล อำเภอสมเด็จ จังหวัดกาฬสินธุ์ ซึ่งผู้วิจัยได้พบข้อสรุปว่า พิธีกรรมการปลงศพของชาติพันธุ์ญ้อมีลักษณะคล้ายคลึงกับพิธีธรรมศพของชาวไทยลาวกลุ่มๆ อื่น แต่ก็มีพิธีกรรมบางอย่างที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของกลุ่มชาติพันธุ์ญ้อ กล่าวคือ การแบ่งประเภทพิธีการปลงศพตามกรณีเฉพาะของศพ อาทิ กรณีศพเด็กที่อายุต่ำกว่า 10 ปี กรณีของศพหนุ่มสาว กรณีของศพพระสงฆ์ เป็นต้น

พิธีกรรมปลงของชาติพันธุ์ถือได้ว่าเป็นประเพณีอย่างหนึ่งที่ชาติพันธุ์ญ้อได้ปฏิบัติสืบทอดมาอย่างยาวนานจากรุ่นหนึ่งไปอีกรุ่นหนึ่ง แต่เมื่อมีเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาทำให้กลุ่มชาติพันธุ์มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินชีวิตรวมทั้งได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบของพิธีกรรมการปลงศพไปด้วยเช่นกัน เช่น จากเดิมพิธีกรรมการปลงศพจะใช้แรงงานคนในการห่ามศพไปยังป่าช้า จึงมีการปรับเปลี่ยนวิธีการเคลื่อนศพแบบใหม่โดยใช้วิธีรถยนต์ เป็นต้น ดังนั้นการปรับเปลี่ยนรูปแบบพิธีกรรมการปลงศพของชาติพันธุ์ญ้อถือได้ว่าเป็นการสูญเสียภูมิปัญญาหรือประเพณีดั้งเดิมซึ่งเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของชาติพันธุ์ญ้อไป (หน้า 107, 116-117)

Focus

การศึกษาพิธีกรรมการปลงศพของกลุ่มชาติพันธุ์ญ้อ จังหวัดกาฬสินธุ์ ที่เกิดการปรับเปลี่ยนทางด้านความคิดความเชื่อ และความนิยมไปจากอดีต (หน้า 2)

Theoretical Issues

ไม่มี

Ethnic Group in the Focus

ย้อเป็นกลุ่มชนกลุ่มหนึ่งที่ปัจจุบันอยู่ในพื้นที่บางจังหวัดของภาคอีสาน เช่น กาฬสินธุ์ และนครพนม มีประวัติว่าบรรพบุรุษมีถิ่นฐาน ดั้งเดิมอยู่ในบริเวณเมืองหงสาซึ่งปัจจุบันอยู่ในแขวงอุดมไซของลาว เมื่อเกิดความขัดแย้งกับเจ้าเมืองจึงอพยพล่องมาตามลำน้ำโขงและแยกออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มหนึ่งอพยพมาถึงลุ่มน้ำสงคราม ส่วนอีกกลุ่มอยู่บริเวณเมืองคำม่วนและคำเกิด ขึ้นอยู่กับผู้ปกครองเมืองเวียงจันทร์ แต่เมื่อเวียงจันทร์แตกพระคำก้อนเจ้าเมืองคำเกิดจึงสวามิภักดิ์ต่อกรุงเทพฯ และอพยพผู้คนมาอยู่ที่ท่าขอนยางในสมัยรัชกาลที่ 3

Language and Linguistic Affiliations

ไม่ปรากฏข้อมูล

Study Period (Data Collection)

เก็บข้อมูลภาคสนามในช่วง มกราคม 2544 – มกราคม 2547

History of the Group and Community

ชาติพันธุ์ญ้อ แต่เดิมตั้งถิ่นฐานอยู่ที่เมืองหงสาประเทศลาว ต่อมาได้เกิดเหตุการณ์ขัดแย้งกับผู้ปกครอง จึงทำให้ชาวญ้ออพยพถิ่นฐานลงมาทางใต้ตามแม่น้ำโขง และแยกออกเป็นสองกลุ่ม กลุ่มหนึ่งตั้งถิ่นฐานในเมืองคำม่วน อีกกลุ่มหนึ่งตั้งถิ่นฐานบริเวณลุ่มน้ำสงคราม (หน้า 2) บ้านแซงบาดาล หมู่ที่ 1 เป็นกลุ่มญ้อที่อพยพมาจากเมืองคำม่วนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง มาตั้งบ้านเรือนที่ริมหนองแซงบาดาล ต่อมาเกิดโรคทรพิษระบาดจึงย้ายเมืองมาอยู่ที่กุดดอกซ้อน ห่างจากที่เดิม 2 กิโลเมตร ซึ่งเป็นที่ตั้งปัจจุบัน (หน้า 20) บ้านบาก หมู่ที่ 2 อพยพแยกมาจากบ้านแซงบาดาล เมื่อประมาณ 150 ปีที่แล้ว โดยมีราชบุตรเมืองแซงบาดาลเป็นหัวหน้า ทำพิธีเสี่ยงทายย้ายเมืองมาที่นี่ โดยมัดหุ่นแฟงสองตัว ปักไว้ที่เนินห่างจากบ้านแซงบาดาล 1 กิโลเมตร ตัวที่สอง ปักไว้ที่โคกใหญ่ห่างจากบ้านแซงบาดาล 2 กิโลเมตร โดยหากหุ้นฟางตัวใดไม่ล้มจะตั้งบ้านที่นั้น ผลปรากฏว่าตัวที่ปักที่โคกใหญ่ไม่ล้ม จึงได้มีการอพยพมาตั้งบ้านอยู่ ณ ที่นี่ สาเหตุที่ชื่อว่าบ้านบากเพราะ สถานที่ตั้งเป็นดงไม้กะบาก (หน้า 22) บ้านบาก หมู่ที่ 14 ในอดีตรวมกับบ้านบากหมุ่ที่ 2 เมื่อพ.ศ.2532 ได้แยกการปกครองเป็น 2 หมู่บ้าน (หน้า 23)

Settlement Pattern

ไม่ปรากฏข้อมูล

Demography

จำนวนประชากรในพื้นที่บ้านแซงบาดาลหมู่ที่ 1 ตำบลแซงบาดาล อำเภอสมเด็จ จังหวัดกาฬสินธุ์ มี 44 ครัวเรือน เพศชาย 265 คน เพศหญิง 356 คน รวมเป็น 721 คน (หน้า 20-21) บ้านบากหมู่ที่ 2 ตำบลแซงบาดาล อำเภอสมเด็จ จังหวัดกาฬสินธุ์มี 84 หลังคาเรือน เพศชาย 190 คน เพศหญิง 200 คน จำนวนประชากรประมาณ 395 คน (หน้า 22-23) บ้านบากหมู่ที่ 14 ตำบลแซงบาดาล อำเภอสมเด็จ จังหวัดกาฬสินธุ์มี 88 ครัวเรือน เพศชาย 208 คน เพศหญิง 195 คน รวมจำนวนประชากร 403 คน (หน้า 24)

Economy

การดำรงชีพของชาติพันธุ์ญ้อส่วนใหญ่จะประกอบอาชีพทำนา ทำไร่ เช่น ไร่มันสำประหลัง ไร่อ้อย เป็นต้น (หน้า 21-24)

Social Organization

ไม่ปรากฏข้อมูล

Political Organization

ไม่ปรากฏข้อมูล

Belief System

ญ้อบ้านแซงบาดาล หมู่ที่ 1 นับถือพระพุทธศาสนาผสมผสานกับการถือผีเหมือนชาวไทยลาวอื่นๆ คือเชื่อว่าทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่วเมื่อทำบุญจะอุทิศส่วนกุศลให้ผีด้วย เพื่อให้ผีบันดาลให้ปลอดภัยและมีความสุข เมื่อทำการบวงสรวงผีบรรพบุรุษก็จะสวดบูชาพระรัตนตรัยด้วยเช่นกัน (หน้า 21) ส่วนบ้านบากหมู่ที่ 2 และ 14 มีการผสมผสานความเชื่อระหว่างพระพุทธศาสนาและการนับถือผีเช่นเดียวกัน (หน้า 22-24) ญ้อนับถือศาสนาพุทธและนับถือผี รวมทั้งมีขนบประเพณีความเชื่อเกี่ยวกับพิธีกรรมการปลงศพที่คล้ายคลึงกับพิธีกรรมของไทยลาวทั่วๆ ไป เป็นการผสมผสานพิธีกรรมทางพุทธศาสนาและทางไสยศาสตร์ ซึ่งสามารถแบ่งออกเป็น 3 ระยะคือ 1. พิธีกรรมก่อนตาย เมื่อมีผู้ป่วยหนักจะมีการทำพิธีการต่ออายุเพื่อให้มีอายุยืนนาน หากต้องตายไม่สามารถเหนี่ยวรั้งไว้ได้ การทำพิธีกรรมก็จะเป็นการบอกถึงโลกหน้าตามลัทธิที่เชื่อถือ ญ้อบ้านแซงบาดาล มีพิธีกรรมการทำกับผู้ป่วย คือ หากมีการเจ็บป่วย 2-3 วัน จะไม่มีการรักษา ถ้าอาการยังไม่ทุเลาก็จะไปหา “หมอมอ” เพื่อดูว่ามีผีสิงอยู่ในร่างกายหรือไม่ ถ้ามีก็จะให้หมอผีรักษา ถ้าเป็นไข้เปลี่ยนฤดูหรือไข้ธรรมดาจะให้หมอแผนโบราณรักษาด้วยสมุนไพร ซึ่งนอกจากรักษาด้วยหมอผีและสนุนไพรแล้ว ยังมีการรักษาจากพระสงฆ์ด้วย คือ 1.1 พิธีสูตรขวัญก่อง เป็นพิธีการเรียกขวัญผู้ป่วย โดยหากผู้ป่วยเป็นผู้ชาย ให้นำเครื่องแต่งตัวผู้ชายใส่ลงในก่องข้าว พร้อมทั้งเขียนชื่อ ปัจจัยจำนวนเท่าอายุ ผ้านุ่ง ผ้าอาบของผู้ป่วย ดอกไม้ธูปเทียน หมากพลู บุหรี่ ใส่ภาชนะ แต่หากผู้ป่วยเป็นผู้หญิง ให้ใช้เครื่องแต่งตัวผู้หญิง ส่วนสิ่งของอื่นๆ จะเหมือนกับของผู้ชาย นำไปถวายพระที่วัดในตอนเย็น ก่อนพระสงฆ์ทำวัตรก็จะเจริญภาวนา สวดมงคลเรียกขวัญของผู้ป่วยให้มาลงในก่องข้าว ซึ่งขณะทำพิธีห้ามพูดกับใครให้ทำวัตรเลย โดยหากฝันดีในคืนแรกให้ทำการสวดคืนที่สอง ที่สามต่อไป ถ้าคืนที่สามยังคงฝันดีอยู่ให้ปิดฝาก่องข้าวให้แน่น แล้วพระผู้สวดก็จะถือก่องข้าว ภาชนะและผ้า ไปในบ้านผู้ป่วยในตอนเย็น ทำพิธีเอาก่องข้าวและภาชนะไว้ใต้แขนผู้ป่วย เปิดฝาก่องเรียกขวัญ ผูกแขน ให้พรอนุโมทนาแก่ผู้ป่วย เป็นการเสร็จสิ้นพิธี (หน้า25-26) 1.2 พิธีค้ำโพธิ์ ค้ำไฮ เป็นพิธีต่ออายุให้ผู้ป่วยหนัก โดยญ้อบ้านแซงบาดาลและบ้านบากเรียกพิธีนี้ว่า “ค้ำโพธิ์ค้ำไฮ (ค้ำโพธิ์ค้ำไทร)” โดยญาติจะนำไม้ยอกะเทาะเปลือกขนาดโตเท่าแขน ความยาวพอเหมาะ ตรงปลายมีง่าม โดยเชื่อว่าไม้ยอเป็นชื่อมงคล หมายถึง ยกย่อง เยินยอให้ยั่งยืน จากนั้นนำไม้ยอที่มีกิ่งงอเหมือนตะขอขนาดเล็ก 1 กิ่ง นำไปมักติดกับไม่ค้ำตรงใต้ง่าม เป็นการขอต่ออายุและค้ำยันให้มีอายุยืนนาน จากนั้นนำไม้ไผ่ยาว 1 ปล้องมาจักตอกให้ครบอายุของผู้ป่วย (หมายถึง การให้มีอายุยืนยาว) ใช้มีดบากรอยบริเวณที่ตอกไม้ไผ่ 9 แห่ง (หมายถึง ก้าวต่อไปอีกจากอายุปัจจุบัน) ใช้ด้ายสีต่างๆ มาร้อยในรูบากไว้ทุกอัน แล้วนำตอกไม้ไผ่ทั้งหมดไปมัดไว้รอบไม้ยอตรงใต้กิ่งไม้ตะขอ จากนั้นญาติจะเตรียมหลักไม้ยอยาวหนึ่งศอก 1 อัน (หมายถึง ให้ผู้ป่วยหายป่วยและเป็นหลักชัยแก่ลูกหลาน) เหลาปลายให้แหลม เขียนคำขอต่ออายุแล้วนำไปพันรอบปลายอีกด้าน นำไม้ยอไปค้ำที่ใต้ต้นโพธิ์ ข้างไม้ก่อกองทรายแล้วนำหลักไม้ยอไปปัก นิมนต์พระ 4 รูปมาทำพิธี พร้อมด้วยเครื่องถวาย ประกอบด้วย ดอกไม้ 5 คู่ เทียน 5 คู่ หมากพลูเท่าอายุผู้ป่วย (หน้า 26-27) 1.3 พิธีสวดธาตุ สวดชะตา เป็นพิธีต่ออายุอีกพิธีหนึ่ง โดยการนำตวงข้าวใส่กระบอกเพื่อสวดธาตุสวดชะตาให้ผู้ป่วยหายจากโรคภัยไข้เจ็บ โดยใช้ภาชนะสองอัน อันแรกใส่ดินเหนียวที่ทำเป็นรูปเจดีย์สูงเท่าศอกผู้ป่วย รอบเจดีย์นั้นปั้นรูปเจดีย์เล็กๆ 9 ลูก ผ่าตอกไม้ไผ่ยาวแค่ศอกผู้ป่วย ตัดกระดาษทำธงสามเหลี่ยมและธงเหล็ก(สังกะสี) อย่างละเท่าอายุผู้ป่วย ติดไว้ปลายไม้ไผ่ไม้ละ 1 ธง แล้วนำไปปักไว้ที่ยอดเจดีย์อย่างละอัน ภาชนะที่สองใส่ธงกระดาษและธงเหล็กที่เหลือ ตัดกระบอกไม้ไผ่ยาวประมาณ 1 นิ้วชี้ และมีรูเท่านิ้วชี้ของผู้ป่วยจำนวน 5 อัน อันที่หนึ่งใส่ดิน อันที่สองใส่น้ำ อันที่สามใส่ถ่านไฟ อันที่สี่ยัดนุ่น ซึ่งหมายถึงธาตุ ดิน น้ำ ลม ไฟ มัดติดกับเสาธง กระบอกอันที่ห้าใช้ตวงข้าวสารเท่าอายุผู้ป่วยลงในภาชนะ จากนั้นเย็บกระทงตองกล้วยซึ่งมีขนาดเท่ากำมือผู้ป่วยจำนวน 5 กระทง ใส่ข้าวตอก ดอกบานไม่รู้โรย ข้าวเปลือก ถั่วงา เมี่ยงหมาก รวมถึงเทียน ขันแปด ปัจจัยเท่าอายุผู้ป่วย วางไว้รอบธงในภาชนะที่สอง เมื่อถึงตอนเย็นนำไปถวายพระสงฆ์ หลักจากทำวัตรเย็นพระสงฆ์ 4 รูปจะทำพิธีเสี่ยงทายเป็นเวลา 3 วัน สามคือ โดยการดูจากการนำไม้ไผ่ไปตวงข้าวสารหากชะตาผู้ป่วยยังไม่ขาด ข้าวสารจะเพิ่มขึ้น ถ้าตวงแล้วข้าวสารขาดไม่เต็มกระบอกสุดท้ายให้ทำการสวดจนทุกคืนจนถึงคืนสุดท้ายถ้าข้าวสารยังไม่ครบผู้ป่วยจะตาย (หน้า 27-28) 1.4 พิธีตัดกรรมตัดเวร ญ้อบ้านแซงบาดาลและบ้านบากมีความเชื่อถือกันมาก เมื่อมีผู้ป่วยหนักนำไปรักษาที่ใดก็ไม่หาย ย้อเชื่อว่าผู้ที่ป่วยนานไม่หาย ไม่ตาย เป็นผู้ที่ยังมีกรรมติดตัวอยู่ต้องทำพิธีตัดกรรมตัดเวรจึงจะหาย หากไม่หายก็จะตายในเวลา 1-2 วัน การประกอบพิธีกรรมต้องนิมนต์พระสงฆ์ 4 รูปมาสวดที่บ้าน มีอุปกรณ์ประกอบพิธีคือ หม้อดินเผา (หม้อกรรม) 1ใบ ขันห้า กระทงหน้าวัวขนาดเล็ก 4 อัน ข้าวดำ ข้าวแดงอาหารคาวหวานบรรจุในกระทงหน้าวัว ด้ายสายสิญจน์ทบห้าจำนวน 4 เส้น มีดพับ 4 เล่ม ผ้าขาวปิดปากหม้อ ให้ผู้ป่วยนอนขวางด้านหน้าแถวพระสงฆ์ หันหัวไปทางพระสงฆ์ที่เป็นประธานในพิธี หม้อกรรมอยู่ระหว่างแถวพระสงฆ์กับผู้ป่วย จากนั้นพระสงฆ์จะจับด้านสายสิญจน์สวดคาถา ระหว่างการสวดพระสงฆ์จะใช้มีดพับตัดสายสิญจน์ 3 ครั้งจนถึงคอหม้อ นำสายสิญจน์ใส่ในกระทงหน้าวัว แล้วนำกระทงหน้าวัวใส่ลงในหม้อกรรมนำไปลอยในลำคลอง เพื่อให้เคราะห์กรรมของผู้ป่วยนั้นลอยไปกับสายน้ำ (หน้า 28-29) 2. พิธีการทำศพ พิธีกรรมการตายจะแตกต่างกันไปในแต่ละวัฒนธรรม ญ้อบ้านแซงบาดาล หมู่ที่ 1 บ้านบาก หมู่ที่ 2 และหมู่ที่ 14 มีพิธีกรรมการทำศพ 2 รูปแบบ คือ 2.1 พิธีกรรมการทำศพคนตายปกติ การตายปกติคือ การตายจากการเจ็บไข้ได้ป่วย ตายตามอายุไข มีพิธีกรรม 3 ช่วง ดังนี้ 2.1 พิธีทำศพ 2.1.1 การแจ้งข่าวการตาย เมื่อมีผู้ป่วยตาย ญ้อบ้านแซงบาดาลจะมีการยิงปืนขึ้นฟ้า 1-3 นัด และมีราชวัฏ(ไทยอีสานเรียกว่า “สารวัต” ไทยกลางเรียกว่า “มรรคทายก”) เดินประกาศข่าวไปตามถนนในหมู่บ้านให้ญาติพี่น้องและชาวบ้านทราบ เมื่อชาวบ้านทราบจะไปบ้านคนตาย โดยนำสิ่งของไปช่วยงาน ยกเว้นสิ่งของหรือข้าวที่มีลักษณะเป็นเครือ เป็นเถาที่เลื้อยเชื่อมกันได้ เพราะเชื่อว่าจะทำให้เกิดการตายต่อเนื่องกันไปอีก และจะช่วยจัดเก็บสิ่งของ สถานที่ และอาบน้ำศพ ซึ่งจะมีผู้เฒ่าผู้แก่คอยแนะนำ (หน้า 30, 46) 2.1.2 การรักษาไม่ให้ศพเน่าเหม็น เป็นการฉีดฟอร์มาลีนไปทั่วร่างศพ โดยจ้างแพทย์ประจำตำบลหรือสัปเหร่อมาฉีดให้ จากนั้นลูกหลานจะนำถ่านสำหรับจุดไฟแช็กมาเทกรอกลงไปในรูจมูกและปากผู้ตาย เพื่อป้องกันกลิ่นเหม็น สมัยก่อนความรู้การรักษาศพยังไม่มากพอ ชาวอีสานจะใช้ปูนขาวและยาสูบรองศพหรือโปรยข้างศพ หรือให้หมอมนต์เป่ามนต์กันศพเน่า ส่วนญ้อจะใช้ยาสูบและเมล็ดฝ้ายใส่จานจุดไฟรอบๆ ศพ (หน้า 30) 2.1.3 การอาบน้ำศพ ญ้อบ้านแซงบาดาลและบ้านบาก ในอดีตถ้ามีคนตายจะต้มน้ำใส่ใบส้มปอยหรือใบมะขามแล้วผสมน้ำเย็นอาบน้ำให้ศพ เสร็จแล้วทาขมิ้นชันสดกับผิวมะกรูดมาขัดทั่วร่างกาย ทาด้วยแป้งหอม จะไม่มีพิธีรดน้ำศพ ถ้าเป็นผู้ใหญ่จะมีการนำผ้าขาวสี่เหลี่ยมขนาดเท่าผ้าเช็ดหน้าซับที่ฝ่ามือฝ่าเท้าแจกไว้กราบบูชา โดยมีความเชื่อว่าจะทำให้อยู่เย็นเป็นสุข จากนั้นตัดเล็บมือเล็บเท้าซึ่งเป็นการทำความสะอาดขั้นสุดท้าย (หน้า 30, 47) 2.1.4 การแต่งตัวศพ ในอดีตจะแต่งตัวด้วยผ้าชุดใหม่ ต้องนุ่งกลับหัวกลับท้าย เสื้อผ้าทุกชิ้นต้องฉีกหรือตัดชายผ้า เพื่อให้แตกต่างระหว่างของคนเป็นกับคนตาย เมื่อแต่งกายเสร็จจะทำการหวีผมโดยหวีซีกหนึ่งไปข้างหน้า ซีกหนึ่งไปข้างหลัง เชื่อว่าเป็นหวีของคนเป็นข้างหนึ่งคนตายข้างหนึ่ง แล้วหักหวีเป็นสองท่อน เพราะถือว่าเป็นหวีของคนตาย (หน้า 30-31, 47) 2.1.5 การใส่เงินปากศพ ชาวบ้านบ้านแซงบาดาล เชื่อว่าการใส่เงินปากศพเพื่อให้ผู้ตายนำไปเป็นค่าพาหนะเดินทางไปปรโลก แต่ปัจจุบันจะไม่นิยมนำเงินใส่ปากศพเพราะเชื่อว่าเกิดชาติหน้าจะทำให้ปากเหม็น จึงนิยมนำเงินมัดใส่มือ กระเป๋าเสื้อผ้ากางเกงผู้ตายแทน (หน้า 31, 47) 2.1.6 การปิดหน้าศพ ในอดีตญ้อจะนำขี้ผึ้งมาทำเป็นแผ่นปิดทั้งใบหน้า ในระยะหลังทำปิดเฉพาะปากและตา เพื่อกันความอุจจาดตา เนื่องจากคนตายบางคนตาและปากเปิดทำให้ดูน่ากลัว (หน้า 31,47) 2.1.7 การมัดสามย่าน คือการมัดศพให้เรียบร้อย อุปกรณ์ประกอบด้วย ด้ายดิบนำมาฟั่นเป็นเกลียวขนาดเท่านิ้วก้อย นำมามัดเพียงสามช่วง(ย่าน) ของร่างกาย คือ 1.หัวแม่เท้า ข้อเท้า ทั้งสองข้างเข้าด้วยกัน 2.แขนและลำตัว 3.คอ จากนั้นจึงเอาผ้าห่มศพไว้บนเสื่อที่เตรียมไว้ ญ้อเชื่อการผูกสามย่านนี้ว่า “ตัญหาฮักลูกคือเชือกผูกคอ ตัญหาฮักเมียคือปอผูกศอก ตัญหาฮักทรัพย์สมบัติคือปอกสุบตีน” ซึ่งลักษณะการมัดแบบนี้ไทยเรียกว่า “มัดตราสัง” (หน้า 31-32, 47) 2.1.8 การดอยศพ เป็นการนำศพไปนอนไว้เพื่อรอเอาเข้าโลงศพ โดยการนำศพไปนอนขวางเรือน โดยมักหันหัวไปทางทิศตะวันออกเพื่อเป็นการบูชาพระธาตุพนม เป็นทิศพระเจ้า เสื่อรองศพต้องปูกลับหัวท้าย พลิกล่างขึ้นบน และจะมีการนำท่อนกล้วยที่มีความยาวกว่าศพเล็กน้อยผ่าครึ่งซีกวางไว้ข้างศพข้างละซีก นำไม้ไผ่เสียบบนท่อนกล้วยโดยปลายอีกข้างข้ามศพไปเสียบที่อีกท่อนหนึ่ง เสียบไว้ 4 แห่งคือ 1.ระยะหัวศพ 2.ระยะสะดือศพ 3.ระยะหัวเข่าศพ 4.ระยะปลายเท่าศพ แล้วเอาผ้าเข็น(ไหมสี) มาคลุมไม้ไผ่ดังกล่าว แล้วนำผ้าขาวสี่เหลี่ยมจตุรัสเย็บตรึงกรอบไม้ไผ่ทั้ง 4 ด้าน เรียกว่า “ผ้าผนังเพดาน” อีก 2 ผืนนำไปปิดหัวท้าย จากนั้นจะนิมนต์พระมาให้บุญ หรือญ้อเรียกว่า “โยงบุญ” โดยเชื่อว่าพระจะมาชี้ทางสวรรค์ให้แก่ผู้ตาย ขณะตั้งศพอยู่ที่บ้านห้ามเขยสะใภ้เข้าห้อง “ห่อง” (ไทยลาวเรียก “เปิง”) ซึ่งจัดเป็นห้องพระหรือห้องสถิตของผีบรรพบุรุษ เพราะเชื่อว่าจะถูกผีบรรพษุรุษทำให้เจ็บป่วย (หน้า 32-33, 47-48) 2.1.9 การเวนข้างศพ เป็นการนำอาหารมาเลี้ยงศพ โดยจัดอาหารมาวางไว้ทางหัวศพ เพราะเชื่อว่าคนตายก็กินเหมือนคนเป็น แต่กินกลิ่นของอาหาร คนที่ก่อนตายไม่กินอาหารหลายวัน เรียกว่า “ตัดอาหาร” การเวนนี้แม้จะนำศพเข้าโลงแล้วก็สามารถทำได้เช่นกัน และจะมีการเวนทั้งเช้าเย็นจนกว่าจะนำศพลงจากบ้าน (หน้า 33, 48) 2.1.10 การจุดเทียนเสี่ยงทาย เมื่อทำการดอยศพเสร็จจะมีการเสี่ยงทายโดยการจุดเทียนซึ่งวางไว้ในรางกาบกล้วยใกล้ศพ หากเทียนไหม้หมดแสดงว่าคนตายตายเพราะอายุขัย แต่ถ้าไหม้ไม่หมดแสดงว่ามีผีหรือกรรมทำให้ตาย (หน้า 32, 34) 2.1.11 การทำโลงศพ ญ้อเรียกว่า “กะโลง” โดยก่อนจะกะโลงนั้นจะมีพิธีตั้งขันครู ไม้ที่นำมาทำนิยมเป็นไม้เนื้ออ่อน ถ้าเป็นพ่อบ้านแม่เรือนตายจะต้องงัดฝากระดานปูพื้นเรือนหรือฝากั้นห้อง 2-3 แผ่นมาทำโลงด้วย ขนาดโลงจะพอดีกับศพ มีฝาปิดมิดชิด พื้นโลงทำเป็นระแนงตีเป็นตาข่าย เมื่อทำเสร็จแล้วช่างจะนำกิ่งไม้ปัดรังควาน และใช้มีดฟันโลงศพ เพื่อบ่งบอกว่าเป็นของคนตายจะต้องเป็นของไม่ดี (หน้า 34) 2.1.12 การนำศพเข้าโลง จะยกทั้งเสื่อที่ปูศพเข้าโลงด้วย โดยนำยาสูบหรือเมล็ดฝ้ายขุดไฟในกะลามะพร้าวเพื่อกันศพเน่าเหม็น นำผ้าเข็นพับเก็บไว้ในโลงด้วย (หน้า 34) 2.1.13 การเฝ้าศพ ลูกเขย (ที่มาแต่งงานกับลูกสาวตนเองเรียกว่า “เขยนม” ที่แต่งงานกับลูกสาวญาติเรียกว่า “เขยนาม) จะเป็นผู้จัดการศพผู้ตายตั้งแต่ต้นจนจบพิธี และจะเป็นผู้เฝ้าศพโดยพลัดเวรกันทั้งกลางวันและกลางคืนเพื่อไม่ให้แมลงรบกวนศพ หากพบต้องกำจัดหรือฆ่าทิ้ง ถ้าปล่อยให้มดแมลงไปรบกวนศพจะต้องถูกปรับไหมเป็นเงินหรือเหล้า ญ้อเรียกการปรับเหล้าเป็นไหปรับไก่เป็นตัวว่า “เหล้าไหไก่โต” และในพิธีงานศพญ้อจะไม่ใช้สัปเหร่อการจัดงานศพเขยทุกคนต้องรับผิดชอบในทุกขั้นตอน(หน้า 34-35, 46) 2.1.14 การเต้นคกเต้นสาก ลูกเขยจะเป็นผู้ทำหน้าที่นี้ โดยเชื่อว่าเป็นการแสดงความเคารพนำเกรงญาติผู้ใหญ่ฝ่ายภรรยาและจะเป็นการรวมญาติด้วย โดยศพที่จะมีการเต้นคกเต้นสากต้องมีอายุ 50 ปีขึ้นไป ในการเต้นต้องอย่าให้สากกระทบขาถูกจะโดนปรับไหม การแต่งกายในการเต้นจะนุ่งเสื้อผ้าเก่า การเต้นสากจะต้องเต้นทุกวันหากยังมีศพอยู่ในบ้าน (หน้า 35-36, 49) 2.1.15 การนำศพไปป่าช้า เรียกอีกอย่างว่า “ส่งสการ” มีขั้นตอนคือ 1.บวชลูกเพื่อจูงศพ 2.นิมนต์พระสวด 3.ลูกหลานนำเงิน ดอกไม้ธูปเทียนใส่ในโลงศพเพื่อไถ่ถอนทรัพย์ผู้ตายมาเป็นของตน เรียกว่า “ไถ่เอามูล” 4.เคลื่อนย้ายศพออกจากเรือนมาวางบน “แพบก (คือ คานหาม ใช้ในการหามศพ)” บริเวณบ้าน 5.ผู้ที่อยู่บนบ้านต้องเทน้ำออกจากภาชนะต่างๆ เพราะเชื่อว่าน้ำมีมลทิน ผีกินแล้ว และยกบันไดออก ห้ามนำศพลงทางบันได เพราะเชื่อว่าผีจะจำทางขึ้นบ้านได้และจะมาทำความเดือดร้อนให้ลูกหลาน การหามศพก็จะยกด้านเท้าขึ้นก่อนเพราะเชื่อว่าให้ผู้ตายไปสู่สวรรค์ ระหว่างการหามห้ามเปลี่ยนบ่า ห้ามหยุดระหว่างทาง ถ้าฝ่าฝืนจะเป็นอัปมงคลแก่ลูกหลาน แต่หากคานหามหักระหว่างทางต้องหยุดทันที คนที่ไปส่งสการต้องถือมีดทุกคนเพื่อไปตัดไม้ในการเผาศพ ขณะหามศพไปในป่าช้าห้ามเด็กไปด้วย ถ้าผ่านบ้านหลังใดก็ต้องปิดหน้าต่างประตูทุกบาน เพราะกลัวว่าผีจะทำให้เด็กนอนฝันร้ายหรือไม่สบาย หากลืมของที่จะต้องนำไปด้วยก็ห้ามกลับมาเอาที่บ้านเพราะกลัวว่าผีจะตามไปที่บ้านด้วย (หน้า 36-37, 49-50) 2.1.16 การจูงศพ ลูกหลานที่บวชจะจับปอยฝ้ายที่หัวโลงศพเดินนำหน้าไปถึงป่าช้า โดยเชื่อว่า การบวชจูงศพเป็นการจูงผู้ตายขึ้นสวรรค์ (หน้า 37) 2.1.17 การหว่านข้าวตอกแตก ขณะหามศพจะมีการหว่านข้าวตอกแตกนำหน้าพระสงฆ์สามเณรที่จูงศพ เชื่อว่า เป็นการให้อาหารแก่ผีทั้งหลายที่มาต้อนรับศพ โดยผีเหล่านั้นจะมานั่งบนโลงศพจะทำให้โลงที่หามหนักมาก เมื่อหว่านข้าวตอกแตกผีจะลงมากินทำให้โลงศพเบา (หน้า 38) 2.1.18 การหาที่เผาศพ เมื่อถึงป่าช้าจะมีการโยนไข่ ถ้าไข่แตกลงที่ใดก็ตั้งกองฟอนที่นั่น เพราะเชื่อว่าผู้ตายต้องการอยู่ตรงนั้น และมีความเชื่อว่าก่อนหมดลมหายใจวิญญาณผู้ตายจะไปหักกิ่งไม้เป็นเครื่องหมาย เมื่อไข่แตกลงที่ใดจึงมักมีรอยหักของกิ่งไม้ตรงนั้น (หน้า 38, 49) 2.1.19 การตั้งกองฟอน เมื่อได้ที่ตั้งแล้ว ทุกคนที่ไปส่งสการจะแยกย้ายไปหาฟืนมาตั้งเป็นกองฟอน โดยมีขั้นตอนคือ 1.ขุดหลุม 4 หลุม 4 มุมบริเวณไข่แตก 2.นำไม้ฝังลงเป็นหลัก(หลักจังกอน) 3.นำไม้ฝืนมาก่อสลับหัวท้าย โดยเว้นช่องไว้ใส่เชื้อเพลิง ซึ่งฟืนจะเรียงขึ้นไป 7 ชั้น เพราะเชื่อว่าผู้ตายจะได้ขึ้นสวรรค์ชั้น 7 จากนั้นจะมีการนำกิ่งไม้มาปัดรังควาน (หน้า 38, 49) 2.1.20 การนำศพขึ้นตั้งกองฟอน นำศพเวียนซ้ายกองฟอน 3 รอบก่อน (หมายถึงการเวียนว่ายตายเกิดในวัฏสงสารตามความเชื่อในพุทธศาสนา) จากนั้นนำศพกระแทกกองฟอน 3 ครั้ง (หมายถึงสรรพสัตว์ย่อมตกอยู่ในไตรลักษณ์ คือความไม่เที่ยง ความทุกข์ ความไม่ใช่ตัวตน) แล้วนำขึ้นตั้งบนกองฟอน (หน้า 39, 50) 2.2 พิธีเผาศพ 2.2.1 การเผาศพ เมื่อตั้งศพบนกองฟอนแล้วญาติจะนำอาหารใส่ภาชนะไปวางบนกองฟอนทางหัวศพเพื่อให้ผีกิน ญาติถวายห่ออนิจจาแก่พระสงฆ์ พระสงฆ์ล้างหน้าศพด้วยน้ำมะพร้าว (เชื่อว่าเป็นน้ำสะอาด ให้ผู้ตายสะอาดบริสุทธิ์ เกิดชาติหน้าจะได้สวยงาม) หรือน้ำหอม (ให้ผู้ตายไม่มีกลิ่นเหม็น เป็นที่น่ารังเกียจ) หรือน้ำขมิ้น จากนั้นญาติและชาวบ้านจะทะยอยขึ้นไปล้างหน้าศพทุกคน เสร็จแล้วแก้เชือกมัดสามย่าน เสื่อและผ้าห่อศพออก ให้ศพนอนคว่ำ นำ “ไม้บังคับ” คัดลงไปในโลงเพื่อกันศพกระดกเวลาถูกไฟไหม้ และนำปลาย “ไม้ขย่ม” เสียบลงดิน ต้นวางทับบนโลงศพ เพื่อไม่ให้ศพกลิ้งลงจากกองฟอน เมื่อได้เวลาพระสงฆ์ เขยนม เขยนาม ญาติ และผู้ร่วมงานวางไฟเผาศพ โดยเชื่อว่าพระสงฆ์เป็นผู้บริสุทธิ์จะเป็นปัจจัยให้ผู้ตายไปสู่สวรรค์ (หน้า 39) 2.2.2 การโยนผ้าข้ามศพ ขณไฟกำลังติดจะมีการโยน “ผ้าเข็น” ข้ามศพ โดยโยนไปมา 2 ครั้งให้ตกดิน ครั้งที่ 3 อย่าให้ตกดินแล้วนำไปปูให้พระสงฆ์นั่งสวดมนต์ การโดยผ้าเชื่อว่าเป็นการข้ามโลภะ โทสะ โมหะ เป็นการเตือนคนที่มีชีวิตอยู่ เมื่อเสร็จแล้วจะกลับบ้าน เมื่อถึงบ้านต้องล้างมือล้างเท้าและพรมด้วยนำส้มป่อย เป็นการเอาเสนียดออกจากร่างกาย และกันผี (หน้า 40, 51) 2.2.3 การงันเฮือนดี หมายถึงการฉลองบ้านเรือนที่ดี ญ้อเชื่อว่าเรือนหลังที่มีคนตายจะเป็นเรือนที่ดี เจ้าบ้านและผู้ไปช่วยงานจะเป็นมงคล มีอยู่ 2 อย่างคือ 1.งันขอน เป็นการงันในขณะศพยังไม่ได้เผาที่ป่าช้า 2.งันเฮือนดี เป็นการงันหลังจากการเผาศพในป่าช้า ตอนเย็นหลังจากเผาศพญาติจะนิมนต์พระสงฆ์มาสวดที่บ้าน 3 คืน โดยมีชาวบ้านจะมานอนเป็นเพื่อนเจ้าของบ้าน จะมีการอ่านหนังสือผูก เช่น เรื่องสังข์ศิลป์ชัย มีการละเล่นต่างๆ ทั้ง 3 คืน ไม่มีของมึนเมา (หน้า 40-41, 48) 2.2.4 การเลี้ยงศพ หลังเผาศพ ต้องนำอาหารไปเลี้ยงศพที่ป่าช้าทั้งเช้า เย็น (หน้า 41) เงื่อนไขในพิธีเผาศพ 1.ห้ามเผาในวันอังคาร เพราะถือว่าเป็นวันแข็ง หากเผาญาติจะเดือดร้อน เจ็บไข้ได้ป่วย แต่หากต้องเผาจะต้องจุด “กระบอง” (ไต้) นำหน้าขบวนเป็นการแก้เคล็ด (หน้า 52) 2. ห้ามเผาศพในวันปากเดือน คือ ขึ้น 1 ค่ำของเดือน ถือว่าเป็นวันไม่ดี เหมือนการอ้าปาก ผีจะดุมากินคนอื่นให้ตายตามไปด้วย (หน้า 52) 3. ห้ามเผาศพในวันเดือนดับ คือ แรม 14 ค่ำ หรือ 15 ค่ำ เป็นวันเดือนดับอัปมงคล (หน้า 52) 4. ห้ามเผาศพในวันเก้ากอง ถือเป็นวันมหาอุปบาทว์ จะทำให้มีคนตายลงอีก (หน้า 52) 2.3 พิธีกรรมหลังตาย 2.3.1 การเก็บกระดูก ในการเผาศพเสาจังกอนที่ฝังไว้ต้องถอนมาเผาให้หมด โดยขณะถอนเสาจังกอนผู้ถอนห้ามหันหน้าเข้าหาเสาจังกอน เพราะจะทำให้มีอันเป็นไปด้วย หลังจากเผา 3 วันจึงจะมีการเก็บกระดูก ญาติจะนำอาหารชุดเล็กๆ วางไว้ใกล้เถ้ากระดูก เรียกคนตายมากิน จากนั้นให้พระสงฆ์เก็บกระดูกก่อนพอเป็นพิธี จากนั้นญาติจึงช่วยกันเก็บกระดูกทั้งหมดวางลงในหม้อหรือขวดโหล แล้วใช้ผ้าขาวปิด เส้นด้ายมัดให้แน่น การเก็บกระดูกจะใช้ไม้คีบเพราะเชื่อว่าการเก็บด้วยเมื่อเปล่าจะทำให้มือร้อนปลูกพืชไม่เจริญงอกงาม เมื่อเก็บกระดูกหมดแล้วจึงเกลี่ยกระดูกชิ้นเล็กที่ไม่สามารถเก็บได้และขี้เถ้าให้เป็นรูปคนหันหัวไปทางทิศตะวันออก นำหม้อกระดูก ห่ออนิจจาตั้งไว้กลางอกหุ่น นิมนต์พระสงฆ์บังสุกุลตาย จากนั้นเกลี่ยหุ่นให้หันหัวไปทางทิศตะวันตกญาติจะโปรยดอกไม้ พรมน้ำหอมลงบนหุ่น นิมนต์พระสงฆ์บังสุกุลเป็น ขุดหลุมฝังกองขี้เถ้า นำไม้แก่นมาสลักชื่อผู้ตายปักปลายลงในหลุมขี้เถ้า (หน้า 42) 2.3.2 การทำบุญแจกข้าว เป็นการทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้ผู้ตาย โดยลูกหลานจะนิมนต์พระมาฉันอาหาร ถวายเครื่องไทยทาน กรวดน้ำ จากนั้นนำธง 1 ผืน (ผ้าขาวสี่เหลี่ยมยาว 1 วา ลำไม้ไผ่เล็ก 1 วา) ข้าวปลาอาหาร ดอกไม้ ธูปเทียน เงิน ใส่ในหลุม ส่วนใหญ่จะเป็นบริเวณใกล้กำแพงวัด นิมนต์พระสงฆ์พรมน้ำหอมจากต้นเสาไปหาปลายเสา เชื่อว่าจะนำทางไปสู่สวรรค์ แล้วปักลงในหลุมเอาดินกลบ ส่วนกระดูกเก็บใส่ธาตุไม้ปักไว้ในป่าช้าตรงที่เผาศพ หรือเก็บไว้ที่วัด (หน้า 42) 2. พิธีกรรมการปลงศพคนตายผิดปกติ 2.1 พิธีจัดศพคนตายผิดปกติ การตายผิดปกติคือ ตายโดยไม่ได้ป่วยไข้ ญ้อบ้านแซงบาดาลแบ่งการตายผิดปกติออกเป็น 2 อย่างคือ 1.ตายปัจจุบัน คือตายที่ไม่ใช่อุบัติเหตุ แต่เป็นการตายที่มีขึ้นอย่างปัจจุบันทันด่วนอันเกิดจากร่างกายและความพลาดพลั้ง เช่น นอนหลับตาย จมน้ำตาย 2.ตายโหง คือการตายที่เกิดจากการถูกกระทำ เช่น ถูกฆ่าตาย ตกต้นไม้ตาย การตายทั้งสองอย่างย้อบ้านแซงบาดาลเชื่อว่าผีจะดุมาก หรือเรียกว่า “ผีแก่” ซึ่งสามารถอันตรายทุกคนได้ คนตายลักษณะนี้ถ้าตายนอกบ้านจะไม่ให้นำศพเข้าบ้าน ต้องนำไปฝังให้เสร็จภายในวันนั้น ห้ามเผาถ้าเผา ผีจะดุร้ายสร้างความเดือดร้อนให้ชาวบ้าน ป่าช้าญ้อจึงแบ่งออกเป็น 3 ประเภทคือ ป่าช้า ป่าช้าผีตายโหง และป่าช้าเด็กน้อย คนตายผิดปกติจึงต้องนำไปฝังที่ป่าช้าผีตายโหงเท่านั้น ในป่าช้าผีตายโหงจะแบ่งออกเป็นที่ฝังศพคนตายพรายหรือคนตายทั้งกลม คนที่ถูกฆ่าตายขณะปล้นอยู่นั้น อยู่ต่างหาก คนตายผิดปกติจะไม่นิมนต์พระสงฆ์จูงศพ โยงบุญ เพราะถือว่าเป็นคนบาป ศพคนตายผิดปกติ จะไม่มีการอาบน้ำศพ ไม่เปลี่ยนเสื้อผ้าใหม่ให้ ไม่มีการทำโลงศพ เพราะเชื่อว่าเป็นคนไม่บริสุทธิ์ เพียงแต่นำไม้ไผ่มาทุบเป็นฟาก นำศพไปวาง มัดหุ้มตัวผู้ตาย แล้วหามไปป่าช้า ไม่มีการเฝ้าศพ ไม่หว่านข้าวตอกดอกไม้ ไม่บวชจูง นำศพไปฝังโดยไม่สวดบังสุกุล เพียงนำไม้แก่นมาปักไว้(หน้า 43-44) 2.2 พิธีแจกข้าวหาคนตายผิดปกติ ญาติจะทำบุญแจกข้าวแก่ผู้ตายผิดปกติเมื่อฝังไปแล้ว 3 ปี พิธีกรรมจะมีขึ้นในวันแรกเรียกว่า วันโฮมหรือวันห่อข้าวต้ม โดยญาติพี่น้องจะจัดสถานที่ ห่อข้าวต้ม ตอนบ่ายญาติจำนวนหนึ่งจะช่วยกันขุดหลุมฝังศพเพื่อนำกระดูกขึ้นมาเผา แล้วจึงนำกระดูกกลับมาที่บ้าน ตอนเย็นนิมนต์พระสงฆ์ตั้งมุงคุณ รุ่งเช้าเลี้ยงพระ ญาติพี่น้องร่วมตักบาตร จากนั้นจึงทำบุญแจกข้าวเหมือนศพคนตายปกติต่อไป (หน้า 44) 3. พิธีการปฏิบัติต่อศพเฉพาะกรณี 3.1 กรณีของเด็ก ญาติจะอาบน้ำศพ ทาด้วยแป้ง สวมเสื้อผ้า นำเสื่อมาพันศพ มัดหัวท้ายให้แน่น นำห่อศพไปฝั่งที่ป่าช้าทันที นำสิ่งของเครื่องใช้ส่วนตัวของเด็ก ของเล่นไปฝังพร้อมกับศพ (หน้า 45) 3.2 กรณีของหนุ่มสาว จะมีพิธีกรรมศพเช่นเดียวกับศพผู้ใหญ่ เพียงแต่ญาติจะทำรูปอวัยวะเพศตรงข้ามทำด้วยท่อนไม้ เปลือกไม้ กะลามะพร้าว หรือกระดาษ ใส่ในโลงศพไปด้วย (หน้า 45) 3.3 กรณีของพระภิกษุสงฆ์ เมื่อพระสงฆ์มรณภาพจะมีพิธีกรรมดังนี้ 1. อาบน้ำศพด้วยน้ำหอม ครองผ้าไตรจีวรถวาย ให้นอนท่าปกติ 2.ใช้ไม้เนื้อแข็งทำโลง ยาด้วยชัน 3.เชิญศพเข้าหีบ สวดอภิธรรม 4.กลางคืนมีงานสมโภชศพ 5.เก็บศพจนถึงการถวายเพลิงศพ 6.จัดพิธีกรรมที่สมบูรณ์กว่าสามัญชนธรรมดาพอสมควร 7.มีคนหามไปตั้งบนกองฟอน ไม่มีการจูงศพ ไม่มีการเวียนรอบกองฟอน ไม่มีการนำโลงศพกระแทกกองฟอน 8.ตอนเผา ไม่มีการล้างหน้าศพ 9.พระสงฆ์ผู้ใหญ่จุดเพลิงเผาก่อน ตามด้วยญาติโยม 10.เก็บอัฐิ พระสงฆ์เก็บก่อน ญาติโยมจึงเก็บต่อ แล้วรวบรวมไปบรรจุในบริเวณวัดที่เรียกว่า “ธาตุญาคู” (หน้า 45-46) พิธีกรรมก่อนตายและพิธีกรรมการทำศพเป็นประเพณีที่สืบทอดต่อกันมาอย่างช้านาน จุดมุ่งหมายของพิธีกรรมต่างๆ เหล่านี้ ก็เพื่อให้ผู้ที่เจ็บไข้ได้ป่วยหายจากโรคร้ายต่างๆ รวมทั้งผู้ที่ตายแล้วเมื่อได้มีการประกอบพิธีกรรมการปลงศพให้ วิญญาณก็จะจากไปอย่างสงบสุข การประกอบพิธีกรรมการปลงศพแต่ละศพก็จะมีการประกอบพิธีกรรมที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งขึ้นอยู่กับลักษณะของศพ

Education and Socialization

ไม่ปรากฏข้อมูล

Health and Medicine

ทางด้านสุขภาพและการรักษาโรคนั้น กลุ่มชาติพันธุ์ญ้อมีพิธีกรรมรักษาผู้ที่เจ็บไข้ได้ป่วย หลากหลายวิธีด้วยกัน ขั้นตอนแรกหมอจะเป็นผู้ที่ตรวจรักษา เพื่อดูว่าผู้ป่วยมีผีเข้าสิงหรือไม่ ถ้ามีก็จะให้หมอผีรักษาต่อไป นอกจากนี้ยังมีพิธีกรรมการรักษาโรคต่างๆ ด้วยพระสงฆ์ ดังนี้ 1. พิธีสูตรขวัญก่อง 2. พิธีค้ำโพธิ์ เป็นพิธีกรรมที่ต่ออายุให้แก่ผู้ที่เจ็บป่วย 3. พิธีสวดธาตุ สวดชะตา เป็นพิธีกรรมที่ต่ออายุให้แก่ผู้ที่เจ็บป่วย 4. พิธีตัดกรรมตัดเวร เป็นพิธีที่ชาวนิยมทำกันมาก (หน้า 26-29)

Art and Crafts (including Clothing Costume)

การแต่งกายของชาติพันธุ์ญ้อ ชายตัดผมสั้น นุ่งผ้าม่วง ส่วนผู้หญิงนุ่งผ้าซิ่นลาย ผ้าสไบสีแดงมากกว่าสีเหลือง (หน้า 2)

Folklore

ไม่ปรากฏข้อมูล

Ethnicity (Ethnic Identity, Boundaries and Ethnic Relation)

ไม่ปรากฏข้อมูล

Social Cultural and Identity Change

พิธีกรรมการปลงศพของชาติพันธุ์ญ้อมีรูปแบบของพิธีที่ได้เปลี่ยนแปลงไปจากสมัยเดิม เนื่องจากมีการนำเทคโนโลยีสมัยเข้ามาร่วมในพิธีกรรม เช่น การใช้รถยนต์แทนการใช้แรงงานคนในการหามศพไปป่าช้า ทั้งนี้เพื่อเป็นการย่นย่อของระยะเวลาและความสะดวก ขณะเดียวกันญ้อที่เป็นคนรุ่นใหม่ก็ไม่เข้าใจถึงความสำคัญในพิธีกรรมการปลงศพ (หน้า 116)

Critic Issues

ไม่ปรากฏข้อมูล

Other Issues

ไม่ปรากฏข้อมูล

Map/Illustration

ภาพประกอบจะเป็นภาพพิธีกรรมการปลงศพ คือ 1. การตามไฟให้ศพ 2. การเวนข้าวศพ (การเลี้ยงศพ) 3. การสวดศพ 4. การเต้นสากของเขยผู้ตาย 5.การจูงศพและการสางสการศพ 6. การตั้งกองฟอนเผาศพ 7. เสาสลักชื่อผู้ตายหลังเผาศพ (หน้า 148-151)

Text Analyst รัฐกานต์ ณ พัทลุง Date of Report 21 ก.พ. 2557
TAG ญ้อ ย้อ ญ่อ โย้, การปรับเปลี่ยน, พิธีกรรมการปลงศพ, กาฬสินธุ์, Translator -
 
 

 

ฐานข้อมูลอื่นๆของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
  ฐานข้อมูลพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทย
จารึกในประเทศไทย
จดหมายเหตุทางมานุษยวิทยา
แหล่งโบราณคดีที่สำคัญในประเทศไทย
หนังสือเก่าชาวสยาม
ข่าวมานุษยวิทยา
ICH Learning Resources
ฐานข้อมูลเอกสารโบราณภูมิภาคตะวันตกในประเทศไทย
ฐานข้อมูลประเพณีท้องถิ่นในประเทศไทย
ฐานข้อมูลสังคม - วัฒนธรรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  หน้าหลัก
งานวิจัยชาติพันธุ์ในประเทศไทย
บทความชาติพันธุ์
ข่าวชาติพันธุ์
เครือข่ายชาติพันธุ์
เกี่ยวกับเรา
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  ข้อมูลโครงการ
ทีมงาน
ติดต่อเรา
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
ช่วยเหลือ
  กฏกติกาและมารยาท
แบบสอบถาม
คำถามที่พบบ่อย


ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) เลขที่ 20 ถนนบรมราชชนนี เขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ 10170 
Tel. +66 2 8809429 | Fax. +66 2 8809332 | E-mail. webmaster@sac.or.th 
สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2549    |   เงื่อนไขและข้อตกลง