สมัครสมาชิก   
| |
ค้นหาข้อมูล
ค้นหาแบบละเอียด
  •   ความเป็นมาและหลักเหตุผล

    เพื่อรวบรวมงานวิจัยทางชาติพันธุ์ที่มีคุณภาพมาสกัดสาระสำคัญในเชิงมานุษยวิทยาและเผยแผ่สาระงานวิจัยแก่นักวิชาการ นักศึกษานักเรียนและผู้สนใจให้เข้าถึงงานวิจัยทางชาติพันธุ์ได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น

  •   ฐานข้อมูลจำแนกกลุ่มชาติพันธุ์ตามชื่อเรียกที่คนในใช้เรียกตนเอง ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้ คือ

    1. ชื่อเรียกที่ “คนอื่น” ใช้มักเป็นชื่อที่มีนัยในทางเหยียดหยาม ทำให้สมาชิกกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ รู้สึกไม่ดี อยากจะใช้ชื่อที่เรียกตนเองมากกว่า ซึ่งคณะทำงานมองว่าน่าจะเป็น “สิทธิพื้นฐาน” ของการเป็นมนุษย์

    2. ชื่อเรียกชาติพันธุ์ของตนเองมีความชัดเจนว่าหมายถึงใคร มีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมอย่างไร และตั้งถิ่นฐานอยู่แห่งใดมากกว่าชื่อที่คนอื่นเรียก ซึ่งมักจะมีความหมายเลื่อนลอย ไม่แน่ชัดว่าหมายถึงใคร 

     

    ภาพ-เยาวชนปกาเกอะญอ บ้านมอวาคี จ.เชียงใหม่

  •  

    จากการรวบรวมงานวิจัยในฐานข้อมูลและหลักการจำแนกชื่อเรียกชาติพันธุ์ที่คนในใช้เรียกตนเอง พบว่า ประเทศไทยมีกลุ่มชาติพันธุ์มากกว่า 62 กลุ่ม


    ภาพ-สุภาษิตปกาเกอะญอ
  •   การจำแนกกลุ่มชนมีลักษณะพิเศษกว่าการจำแนกสรรพสิ่งอื่นๆ

    เพราะกลุ่มชนต่างๆ มีความรู้สึกนึกคิดและภาษาที่จะแสดงออกมาได้ว่า “คิดหรือรู้สึกว่าตัวเองเป็นใคร” ซึ่งการจำแนกตนเองนี้ อาจแตกต่างไปจากที่คนนอกจำแนกให้ ในการศึกษาเรื่องนี้นักมานุษยวิทยาจึงต้องเพิ่มมุมมองเรื่องจิตสำนึกและชื่อเรียกตัวเองของคนในกลุ่มชาติพันธุ์ 

    ภาพ-สลากย้อม งานบุญของยอง จ.ลำพูน
  •   มโนทัศน์ความหมายกลุ่มชาติพันธุ์มีการเปลี่ยนแปลงในช่วงเวลาต่างๆ กัน

    ในช่วงทศวรรษของ 2490-2510 ในสาขาวิชามานุษยวิทยา “กลุ่มชาติพันธุ์” คือ กลุ่มชนที่มีวัฒนธรรมเฉพาะแตกต่างจากกลุ่มชนอื่นๆ ซึ่งมักจะเป็นการกำหนดในเชิงวัตถุวิสัย โดยนักมานุษยวิทยาซึ่งสนใจในเรื่องมนุษย์และวัฒนธรรม

    แต่ความหมายของ “กลุ่มชาติพันธุ์” ในช่วงหลังทศวรรษ 
    2510 ได้เน้นไปที่จิตสำนึกในการจำแนกชาติพันธุ์บนพื้นฐานของความแตกต่างทางวัฒนธรรมโดยตัวสมาชิกชาติพันธุ์แต่ละกลุ่มเป็นสำคัญ... (อ่านเพิ่มใน เกี่ยวกับโครงการ/คู่มือการใช้)


    ภาพ-หาดราไวย์ จ.ภูเก็ต บ้านของอูรักลาโว้ย
  •   สนุก

    วิชาคอมพิวเตอร์ของนักเรียน
    ปกาเกอะญอ  อ. แม่ลาน้อย
    จ. แม่ฮ่องสอน


    ภาพโดย อาทิตย์    ทองดุศรี

  •   ข้าวไร่

    ผลิตผลจากไร่หมุนเวียน
    ของชาวโผล่ว (กะเหรี่ยงโปว์)   
    ต. ไล่โว่    อ.สังขละบุรี  
    จ. กาญจนบุรี

  •   ด้าย

    แม่บ้านปกาเกอะญอ
    เตรียมด้ายทอผ้า
    หินลาดใน  จ. เชียงราย

    ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ถั่วเน่า

    อาหารและเครื่องปรุงหลัก
    ของคนไต(ไทใหญ่)
    จ.แม่ฮ่องสอน

     ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ผู้หญิง

    โผล่ว(กะเหรี่ยงโปว์)
    บ้านไล่โว่ 
    อ.สังขละบุรี
    จ. กาญจนบุรี

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   บุญ

    ประเพณีบุญข้าวใหม่
    ชาวโผล่ว    ต. ไล่โว่
    อ.สังขละบุรี  จ.กาญจนบุรี

    ภาพโดยศรยุทธ  เอี่ยมเอื้อยุทธ

  •   ปอยส่างลอง แม่ฮ่องสอน

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ปอยส่างลอง

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดย เบญจพล  วรรณถนอม
  •   อลอง

    จากพุทธประวัติ เจ้าชายสิทธัตถะ
    ทรงละทิ้งทรัพย์ศฤงคารเข้าสู่
    ร่มกาสาวพัสตร์เพื่อแสวงหา
    มรรคผลนิพพาน


    ภาพโดย  ดอกรัก  พยัคศรี

  •   สามเณร

    จากส่างลองสู่สามเณร
    บวชเรียนพระธรรมภาคฤดูร้อน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   พระพาราละแข่ง วัดหัวเวียง จ. แม่ฮ่องสอน

    หล่อจำลองจาก “พระมหามุนี” 
    ณ เมืองมัณฑะเลย์ ประเทศพม่า
    ชาวแม่ฮ่องสอนถือว่าเป็นพระพุทธรูป
    คู่บ้านคู่เมืององค์หนึ่ง

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม

  •   เมตตา

    จิตรกรรมพุทธประวัติศิลปะไต
    วัดจองคำ-จองกลาง
    จ. แม่ฮ่องสอน
  •   วัดจองคำ-จองกลาง จ. แม่ฮ่องสอน


    เสมือนสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรม
    เมืองไตแม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ใส

    ม้งวัยเยาว์ ณ บ้านกิ่วกาญจน์
    ต. ริมโขง อ. เชียงของ
    จ. เชียงราย
  •   ยิ้ม

    แม้ชาวเลจะประสบปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัย
    พื้นที่ทำประมง  แต่ด้วยความหวัง....
    ทำให้วันนี้ยังยิ้มได้

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ผสมผสาน

    อาภรณ์ผสานผสมระหว่างผ้าทอปกาเกอญอกับเสื้อยืดจากสังคมเมือง
    บ้านแม่ลาน้อย จ. แม่ฮ่องสอน
    ภาพโดย อาทิตย์ ทองดุศรี
  •   เกาะหลีเป๊ะ จ. สตูล

    แผนที่ในเกาะหลีเป๊ะ 
    ถิ่นเดิมของชาวเลที่ ณ วันนี้
    ถูกโอบล้อมด้วยรีสอร์ทการท่องเที่ยว
  •   ตะวันรุ่งที่ไล่โว่ จ. กาญจนบุรี

    ไล่โว่ หรือที่แปลเป็นภาษาไทยว่า ผาหินแดง เป็นชุมชนคนโผล่งที่แวดล้อมด้วยขุนเขาและผืนป่า 
    อาณาเขตของตำบลไล่โว่เป็นส่วนหนึ่งของป่าทุ่งใหญ่นเรศวรแถบอำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี 

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   การแข่งขันยิงหน้าไม้ของอาข่า

    การแข่งขันยิงหน้าไม้ในเทศกาลโล้ชิงช้าของอาข่า ในวันที่ 13 กันยายน 2554 ที่บ้านสามแยกอีก้อ อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย
 
  Princess Maha Chakri Sirindhorn Anthropology Centre
Ethnic Groups Research Database
Sorted by date | title

   Record

 
Subject โพล่ง โผล่ง โพล่ว ซู (กะเหรี่ยง) ,วันเดือนปี,วิถีชีวิต,ความเชื่อ,พิธีกรรม,อุทัยธานี,กาญจนบุรี,สุพรรณบุรี
Author สมเกียรติ จำลอง, จันทบูรณ์ สุทธิ
Title วันเดือนปี ชาวเขา (กะเหรี่ยงโปว์ และวัน เดือน ปี : กรณีจังหวัดอุทัยธานี กาญจนบุรี และสุพรรณบุรี)
Document Type รายงานการวิจัย Original Language of Text ภาษาไทย
Ethnic Identity โพล่ง โผล่ง โผล่ว ซู กะเหรี่ยง, Language and Linguistic Affiliations จีน-ทิเบต(Sino-Tibetan)
Location of
Documents
ห้องสมุดศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร Total Pages 54 Year 2539
Source สถาบันวิจัยชาวเขา กรมประชาสงเคราะห์ กระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม
Abstract

กะเหรี่ยงกลุ่มย่อยโปว์ในเขตพื้นที่ทั้งสามจังหวัดคือ อุทัยธานี กาญจนบุรี และสุพรรณบุรี ได้รับเอาวัฒนธรรมจากมอญในเรื่องตัวอักษรและอักขระวิธีมาประยุกต์ใช้เป็นภาษาเขียนของตน รับเอาพุทธศาสนามาเป็นอีกด้านหนึ่งของความเชื่อ รวมทั้งระบบการลำดับวัน เดือน ปี หรือการใช้ปฏิทินเข้ามาใช้ในวัฒนธรรมของตน โดยนับรอบวันแบบ 7 วันเป็น 1 รอบ และนิยมเรียกชื่อวันทั้ง 7 เป็นภาษามอญมากกว่าภาษาของตนเอง มีการนับวันแบบจันทรคติซึ่งเป็นอิทธิพลจากพุทธศาสนาที่กะเกรี่ยงนับถือ มีการเรียกชื่อเดือนตามเหตุการณ์พิเศษที่เกิดขึ้นในช่วงเดือนนั้นๆ การนับปีจะใช้ระบบนักษัตรที่มีสัตว์เป็นสัญลักษณ์ตามระบบของจีนมาใช้ กะเหรี่ยงมีกิจกรรมทางสังคมและทางเศรษฐกิจเกือบตลอดทั้งปี ซึ่งจะเห็นได้จากการใช้แรงงานในรอบปีเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 10 เดือนและวันหยุดตามจารีตประเพณีในรอบปี การมีวัน เดือน ปีของกะเหรี่ยงโปว์จึงเอื้อประโยชน์ในการนำโครงการต่าง ๆ เข้าไปพัฒนา เพื่อจะได้เลือกช่วงเวลาให้สอดคล้องกับวันหยุดและก่อให้เกิดประโยชน์แก่ทุก ๆ ฝ่าย

Focus

เป็นการรวบรวมเรื่องราวเกี่ยวกับการใช้วัน เดือน ปี ในชีวิตประจำวันตามคติความเชื่อของกะเหรี่ยงโปว์ในบริเวณจังหวัดอุทัยธานี กาญจนบุรี และสุพรรณบุรี เพื่อให้เจ้าหน้าที่ของหน่วยงานทั้งภาครัฐบาลและเอกชน ได้นำไปใช้ประโยชน์ในการวางแผนดำเนินงานพัฒนา ให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตของชาวเขา

Theoretical Issues

ไม่มี

Ethnic Group in the Focus

กะเหรี่ยงโปว์

Language and Linguistic Affiliations

กะเหรี่ยงโปว์ในเขตพื้นที่ทั้งสามจังหวัดนี้ได้รับเอารูปตัวอักษรและอักขระวิธีของมอญมาประยุกต์ใช้เป็นภาษาเขียนของตนเอง ซึ่งกะเหรี่ยงในจังหวัดอุทัยธานีเรียกตัวอักษรที่พวกตนใช้เป็นภาษาเขียนว่าหนังสือมอญ (หน้า 2, 41)

Study Period (Data Collection)

ไม่ระบุ

History of the Group and Community

กะเหรี่ยงมีประวัติศาสตร์การอพยพ และตั้งถิ่นฐานในประเทศไทยประมาณปลายสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นต้นมา ปัจจุบันกระจายตัวหนาแน่นอยู่ในเขตอำเภอสังขละบุรี อำเภอทองผาภูมิ อำเภอศรีสวัสดิ์ อำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี อำเภอด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรี อำเภอบ้านไร่ กิ่งอำเภอห้วยคต จังหวัดอุทัยธานี กะเหรี่ยงส่วนใหญ่ในเขตพื้นที่สามจังหวัดนี้เป็นกะเหรี่ยงกลุ่มย่อย โปว์ ที่เรียกตัวเองว่า "โพล่ง" หรือ "เกอโพล่ง" และเชื่อว่าพวกเขาอพยพมาจากเมืองทะวายถิ่นของมอญในประเทศพม่าเมื่อหลายร้อยปีก่อน จึงมีชื่อเรียกตัวเองอีกชื่อหนึ่งว่า โพล่งทะเว หรือ โพล่งทูเว ซึ่งแปลว่า กะเหรี่ยงเมืองทะวาย (หน้า 1, 2)

Settlement Pattern

ไม่มีข้อมูล

Demography

ชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยงในพื้นที่สามจังหวัดมีจำนวน 120 หมู่บ้าน มีประชากรจำนวน 18,387 คน หรือประมาณร้อยละ 6.79 ของจำนวนกะเหรี่ยงทั้งหมด หรือประมาณร้อยละ 3.34 ของจำนวนชาวเขาทั้งหมดในประเทศไทย (หน้า 1)

Economy

การประกอบอาชีพของกะเหรี่ยงโปว์จะทำการเกษตรแบบตัดฟันโค่นเผาแบบ ไร่หมุนเวียน เป็นการเกษตรในลักษณะเพื่อการยังชีพ นาที่ทำอยู่ในปัจจุบันส่วนใหญ่เป็นการทำนาบนพื้นที่ราบ มีการทำนาแบบขั้นบันไดน้อยมาก ระบบเศรษฐกิจดั้งเดิมเป็นระบบเศรษฐกิจแบบกึ่งการยังชีพ (semi - subsistence economy) เป็นการเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์เพียงเพื่อบริโภคในครัวเรือน และหารายได้จากการเก็บของป่าและล่าสัตว์ มีการรับจ้างแรงงาน ในปัจจุบันกะเหรี่ยงส่วนใหญ่ยังคงดำรงระบบเศรษฐกิจแบบนี้อยู่ แม้ว่าได้มีการพัฒนาในรูปแบบต่าง ๆ เข้าสู่ชุมชนกะเหรี่ยงในภูมิภาคนี้มานานไม่น้อยกว่า 20 ปีแล้วก็ตาม (หน้า 2, 3)

Social Organization

กะเหรี่ยงโปว์ในภูมิภาคนี้มีจารีตการแต่งงานที่ฝ่ายชายมาอยู่บ้านฝ่ายหญิงและมานับถือผีของฝ่ายหญิง และในสังคมวัฒนธรรมของกะเหรี่ยงจะมีระบบการแลกเปลี่ยนแรงงานหรือการเอาแรงซึ่งกันและกัน รวมทั้งการช่วยเหลือด้านแรงงานแบบให้เปล่า ในกิจกรรมการเกษตรเพื่อการยังชีพทุกชนิด ซึ่งการใช้แรงงานไม่จำกัดอยู่เฉพาะกลุ่มเครือญาติเดียวกันเท่านั้น หากเป็นจารีตโดยทั่วไปของชุมชนด้วย (หน้า 4, 37, 38)

Political Organization

ไม่มีข้อมูล

Belief System

คติความเชื่อของกะเหรี่ยงโปว์ในเขตอุทัยธานี สุพรรณบุรี และกาญจนบุรี บางส่วนมีคติความเชื่อที่ยึดถือในศาสนาสองลักษณะผสมผสานกันคือ นับถือพุทธศาสนานิกายเถรวาท ตามแบบที่ได้รับจากมอญควบคู่กับการนับถือผีตามความเชื่อเดิมของบรรพบุรุษ และได้นำความเชื่อทั้งสองกระแสนี้มาผสมผสานเป็นพื้นฐานทางวัฒนธรรมของตนอย่างสอดคล้องและเกื้อกูลซึ่งกันและกัน แต่คติความเชื่อในเรื่องผียังคงมีอิทธิพลสูงและเป็นคติความเชื่อนำในปัจจุบัน การนับถือผีตามคติความเชื่อเดิมแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่คือ กลุ่มถือตามลัทธิเดิม และกลุ่มถือตามลัทธิใหม่ 1) กลุ่มถือตามลัทธิเดิม คือกลุ่มที่ยึดถือคติความเชื่อเดิมที่บรรพบุรุษนับถือต่อ ๆ กันมาตั้งแต่สมัยยังตั้งถิ่นฐานอยู่ในประเทศพม่าและเป็นคติความเชื่อที่มีอยู่ก่อนการรู้จักพุทธศาสนา ลัทธิเดิมมี 2 อย่างคือ กลุ่มลู้งอักลุ่มลู้งอัว หรือกลุ่มด้ายขาว และกลุ่มวีม่อง หรือพวกกินน้ำต้มสุก - คติความเชื่อกลุ่มด้ายขาว หรือลู้งอัวนี้นับถือว่ามีผีประจำสายตระกูลที่มีอำนาจศักดิ์สิทธิ์ ทำหน้าที่คุ้มครองดูแลสมาชิกที่อยู่ในสายตระกูล ซึ่งจะมีพิธีเซ่นไหว้ผีประจำสายตระกูลทุกปีด้วยมังสาหาร หรือธัญญาหาร บางครอบครัวอาจทำ 2 - 3 ปีต่อหนึ่งครั้งก็ได้ หรือจะทำพิธีเมื่อครอบครัวนั้นได้รับความเดือดร้อนต่าง ๆ ซึ่งเชื่อว่าผีประจำสายตระกูลบันดาลให้เกิดเพื่อให้มีพิธีเซ่นไหว้ สัญลักษณ์สำคัญของกลุ่มด้ายขาว หรือลู้งอัว คือสมาชิกทุกคนจะมีด้ายสีขาวผูกรัดข้อมือทั้งสองข้างอยู่ตลอดเวลา ซึ่งเป็นด้ายที่ได้จากใยฝ้ายที่ไม่ย้อมสีและจากพิธีเซ่นไหว้ผีประจำสายตระกูล กลุ่มด้ายขาวจะมีอีกชื่อหนึ่งว่าพวก อองเฆ้ หรือพวกกินของ ซึ่งได้มาจากตอนนหนึ่งของพิธีที่สมาชิกทุกคนในครัวเรือนนำเอาเครื่องเซ่นไหว้ในพิธีมารับประทานร่วมกัน และในการประกอบพิธีของพวกด้ายขาวจะไม่มีหัวหน้าทำบุญหรือหัวหน้าทำพิธีกรรมที่เรียกว่า "เจ้าวัด" แต่จะมีสตรีผู้อาวุโสในครอบครัวหรือหัวหน้าครอบครัวเป็นผู้ดำเนินพิธี กลุ่มด้ายขาว หรือลู้งอัว ในพื้นที่สามจังหวัดนี้ มีแยกย่อยออกตามชนิดของสิ่งของที่ใช้เป็นเครื่องเซ่นไหว้ผีประจำสายตระกูล 4 กลุ่มคือ กลุ่มที่เซ่นผีด้วยอ้นและปลา หรือพวกอองเฆ้เดฆ้อง กลุ่มที่เซ่นผีด้วยปลา หรือพวกอองเฆ้เดย้า กลุ่มที่เซ่นผีด้วยงา หรือพวกอองเฆ้เดเดง และกลุ่มที่ใช้ดอกไม้ไหว้พระ หรือบาโพ้เกียะกลุ่มที่เซ่นผีด้วยอ้นและปลา เป็นกลุ่มความเชื่อที่เก่าแก่ที่สุด และมีผีแรงที่สุดในความเชื่อของกะเหรี่ยง การเซ่นผีจะทำสองครั้ง ทำพิธีด้วยอ้นก่อนครั้งหนึ่ง และเซ่นผีด้วยปลาอีกครั้ง ในวันทำพิธีเป็นวันที่ทุกคนในครอบครัวเริ่มถือปฏิบัติตามข้อห้ามข้อนิยมของพิธีกรรม ตัวอ้นที่นำมาเซ่นผีจะจัดเตรียมไว้ก่อนซึ่งมักจะหาเองจากในป่า และนำไปเซ่นผีประจำสายตระกูลยังใต้ต้นไม้ใหญ่ต้นใดต้นหนึ่ง ที่กำหนดไว้เป็นต้นไม้สำหรับไว้ผีประจำสายตระกูลของทุกครอบครัว ที่ถือคติความเชื่อกลุ่มเดียวกัน หลังจากเซ่นผีแล้วหัวหน้าครอบครัวจำนำอ้นมาประกอบอาหาร และรับประทานร่วมกันในครอบครัวพอเป็นพิธี จากนั้นจะทำพิธีผูกข้อมือด้วยด้ายที่ทำจากใยฝ้ายให้แก่ทุกคน พร้อมทั้งกล่าวสวดมนต์ให้ผีประจำสายตระกูลคุ้มครองทุกคน ในระหว่างวันประกอบพิธีกรรมจะห้ามสมาชิกทุกคนเสพของมึนเมาบนบ้าน และห้ามคนภายนอกขึ้นมาบนบ้านขณะทำพิธีกรรม และสมาชิกที่ร่วมผีประจำสายตระกูลเกี่ยวกับตัวอ้น ผู้ที่เป็นหัวหน้าครอบครัวจะห้ามกินอ้นในเวลาอื่นนอกจากเวลาทำพี ส่วนคนอื่นๆ ห้ามกินอ้นบนบ้านตัวเองเว้นแต่เวลาทำพิธี แต่สามารถกินที่บ้านคนอื่นหรืออ้นที่คนอื่นจับมาได้ การเรียกชื่ออ้นของสมาชิกกลุ่มตระกูลจะไม่เรียกชื่ออ้นตรง ๆ แต่จะเรียกเลี่ยง ๆ พอให้รู้ความหมายเท่านั้นกลุ่มที่ใช้ปลาเซ่นผี หรืออองเฆ้เดย้า กะเหรี่ยงเรียกกลุ่มย่อยนี้ว่า ลู้งอัว การเซ่นผีประจำสายตระกูลของกลุ่มนี้ใช้เวลาทำพิธี 3 วัน หากสมาชิกในสายตระกูลยังมาไม่ครบ หัวหน้าครอบครัวจะเอาข้าวสารใส่ถ้วยเล็ก ๆ ไปทำพิธีบอกผีที่หัวนอนของตนเพื่อขอเลื่อนการทำพิธีไปก่อน ในวันแรกของการทำพิธีกรรมทุกคนในครอบครัวต้องห้ามกินเหล้าสูบฝิ่น และต้องนอนในบ้านที่ประกอบพิธีกรรมด้วยกัน ก่อนนอนจะมีการเรียกวิญญาณ หรือขวัญของทุกคนในครอบครัวให้มาอยู่ในตัว ในขณะทำพิธีกรรมห้ามบุคคลภายนอกอยู่บนบ้านโดยเด็ดขาด ในเช้าวันรุ่งขึ้นทุกคนจะอยู่ในบ้านไม่ออกไปทำงาน และห้ามใช้ของมีคม ห้ามทำสิ่งของแตกหักโดยเฉพาะถ้วยจาน หรือทำอย่างอื่นที่มีบาดแผลเลือดไหล หากเกิดเหตุการณ์อย่างใดอย่างหนึ่งพิธีกรรมจะต้องยกเลิก แล้วเริ่มต้นใหม่ในวันต่อไป เมื่อถึงเวลาค่ำในวันที่สองทุกคนในครอบครัวจะประพฤติปฏิบัติเหมือนในวันแรก รุ่งเช้าของวันที่ 3 หัวหน้าครอบครัวจะต้องออกไปหาปลาและต้องเป็นปลาที่ได้จากการตกเบ็ดเท่านั้น ในระหว่างการหาปลาจะมีข้อห้ามไม่ให้พูดกับคนที่เข้ามาทัก และห้ามมีคนภายนอกขึ้นบนบ้าน หากเกิดเหตุใดเหตุหนึ่งขึ้นจะต้องล้มเลิกพิธี ปลาที่ใช้เซ่นไหว้ผีจะเป็นปลาชนิดที่มีเกล็ดและมีสีขาวเท่านั้น นำมาห่อด้วยใบไม้และปิ้งไฟสำหรับใช้ทำพิธีกรรม เมื่อข้าวและปลาสุกทุกคนในครอบครัวจะล้อมวงกินอาหารร่วมกัน โดยก่อนเริ่มรับประทานหัวหน้าครอบครัวจะพูดให้ผีประจำสายตระกูลปกปักรักษาให้ทุกคนสุขสบาย เมื่อถึงเวลาหัวค่ำจะมีการเรียกขวัญของทุกคนในบ้านอีกครั้งและผูกข้อมือด้วยด้ายสีขาว ซึ่งเป็นด้าย 3 เส้น มาฟั่นรวมกันเป็น 1 เส้น และเด็ดด้ายอันเก่าทิ้งเป็นอันจบพิธีกลุ่มเซ่นผีด้วยงา หรือพวกอองเฆ้เดเดง กะเหรี่ยงเรียกคนกลุ่มนี้ว่า ลู้งอัวตุเหว่ ในหมู่บ้านที่ศึกษานี้ไม่มีกลุ่มที่เซ่นผีด้วยงาในหมู่บ้าน กลุ่มเซ่นผีด้วยดอกไม้และขนม หรือ ไหว้พระพุทธเจ้า หรือ บาโพ้เกียะ กลุ่มนี้ใช้ดอกไม้และขนมห่อนึ่งเซ่นผีประจำสายตระกูลแทนการใช้มังสาหาร สาเหตุมาจากเมื่อ 40 - 50 ปีที่ผ่านมา กะเหรี่ยงโปว์กลุ่มด้ายขาวได้แต่งงานกับหญิงกะเหรี่ยงสะกอ และอพยพกลับมาอยู่บ้านเดิมของตนโดยพาภรรยามาด้วย ฝ่ายชายต้องถือคติความเชื่อตามฝ่ายหญิง แต่ฝ่ายหญิงมากับฝ่ายชายตามลำพัง จึงได้จัดรูปแบบพิธีกรรมให้สอดคล้องกับคนในชุมชน คือการนับถือและเซ่นไหว้ผีประจำสายตระกูลโดยได้เพิ่มการไหว้พระพุทธเจ้าที่ตนนับถืออยู่ก่อนเข้าไปด้วย และเปลี่ยนของเซ่นไหว้ให้เป็นของที่หาได้ง่ายคือดอกไม้และขนมห่อนึ่ง แต่จะห้ามใช้ดอกสาบเสือเป็นของเซ่นไหว้ผี (หน้า 9-10) พิธีกรรมใหญ่ของกลุ่มด้ายขาวได้แก่ พิธีเซ่นไหว้ผีประจำสายตระกูล หรืออองเฆ้ ซึ่งถือเป็นพิธีกรรมที่สำคัญที่สุดของกลุ่มด้ายขาว นอกจากนี้ยังมีพิธีกรรมอื่นๆ ตามคติความเชื่อที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตอีกคือ พิธีมัดมือควาย หรือคายปะนาจู๊ง เป็นพิธีกรรมที่แสดงการรำลึกถึงบุญคุณของควายซึ่งจะทำเฉพาะครัวเรือนที่มีการทำนาเท่านั้น พิธีตั้งขวัญไร่ข้าว หรือชีลองสะเดิ่งเขาะกราพอง เป็นพิธีปลุกขวัญไร่ข้าวเพื่อให้ปกปักรักษาข้าวในไร่ และบันดาลให้ข้าวงามซึ่งจะทำเมื่อใดก็ได้ไม่จำกัดเวลาตายตัว แต่เชื่อว่าทำในเดือนก่อนปลูกข้าวดีกว่าช่วงเวลาอื่น พิธีจับผีปล่อย หรือ มะชอ เป็นพิธีกรรมเพื่อรักษาอาการป่วยของเด็ก เชื่อว่าเกิดจากการรบกวนของผี พิธีนี้เป็นของกลุ่มที่ใช้ปลาเซ่นผี หรืออองเฆ้เดยา (หน้า 10 - 11) - ลัทธิเดิมกลุ่มที่สอง ได้แก่ กลุ่มวีม่อง หรือ พวกกินน้ำต้มสุก การนับถือคตินี้บางคนกล่าวว่ามีมาตั้งแต่อยู่ในประเทศพม่า แต่บางคนกล่าวว่าเป็นความเชื่อที่เกิดใหม่ในเมืองไทย แต่เดิมกลุ่มกินน้ำสุกเป็นพวกนับถือคติด้ายขาวมาก่อน แต่เบื่อหน่ายวิธีปฏิบัติที่ยุ่งยากจึงเปลี่ยนความเชื่อมานับถือคติการกินน้ำสุก ข้อห้ามสำหรับกลุ่มนี้คือ ต้องกินเฉพาะของที่ทำสุกแล้วเท่านั้น แม้กระทั่งน้ำก็ต้องเป็นน้ำที่ต้มสุกแล้ว พิธีกรรมที่สำคัญของกลุ่มวีม่องคือ การทำบุญใหญ่ประจำปีเรียกว่า มาโบงเคงตะล่อง ทำปีละ 2 ครั้งในวันพระกลางเดือน 3 หรือเดือน ทายเขาะพะดู๊ และในวันพระกลางเดือน 5 หรือเดือน ลาตา หรืออาจเลื่อนไปในวันพระเดือน 6 หรือเดือน ลาย้า การทำบุญใช้เวลา 1 วัน โดยมีเจ้าวัดหรือ โบงคู้ เป็นหัวหน้านำการทำบุญถ้าไม่มีเจ้าวัดก็จะไม่มีการทำบุญ ผู้ดำรงตำแหน่งเจ้าวัดจะมีสถานภาพทางสังคมในกลุ่มสูงกว่าคนอื่นๆ ผู้ที่เป็นเจ้าวัดส่วนใหญ่มักเป็นลักษณะที่ถูกผีเลือกและบังคับให้เป็นเจ้าวัดทั้งสิ้น ในวันทำบุญเคงตะล่อง เริ่มตั้งแต่เวลาเช้าภรรยาต้องเอาน้ำผสมขมิ้นล้างเท้าสามีที่บ้านก่อน เพื่อแสดงความเคารพสามีและเพื่อให้ครอบครัวได้รับผลจากการทำบุญเต็มที่ จากนั้นจึงไปทำบุญที่ศาลาซึ่งของที่ต้องนำไปทำบุญและขาดไม่ได้ ได้แก่ น้ำต้มอย่างน้อย 1 ขัน ข้าว กับข้าว เหล้าเล็กน้อย ผู้มาทำบุญเมื่อกลับมาถึงบ้านผัวเมียต้องมาล้างมือล้างเท้าอีกครั้งหนึ่ง เรียกว่า ไซ่ ยะ จูง ไซ่ ยะ ฆ้อง ผัวนั่งอยู่ที่สูงกว่าเมียแล้วเอาน้ำขมิ้นรดมือเมียอีกครั้งหนึ่ง แล้วเมียกราบผัวสามครั้งเป็นอันเสร็จพิธี (หน้า 11-13) นอกจากการทำบุญใหญ่ประจำปีแล้ว กลุ่มวีม่องยังมีการทำบุญอื่นๆ อีกได้แก่ ทำบุญแม่โพสพหรือ ชุ พี้ หมี่ เป็นการทำบุญขวัญข้าว ทำบุญปีใหม่ในเดือนลาเขาะ เรียกว่า ทำบุญเนทองซอง เป็นการทำบุญพืชไร่ที่กำลังสุก ทำบุญชุหมี่ เป็นการทำบุญบ้านเฉพาะครอบครัวให้อยู่เย็นเป็นสุข ทำบุญตั้งชื่อเด็กเกิดใหม่หรือ พู้ซะเคิงตะล่อง จะทำให้แก่เด็กที่เกิดใหม่อายุไม่เกิน 1 ปี หรือจะไม่ทำก็ได้ (หน้า 14) 2) กลุ่มถือตามลัทธิใหม่ เรียกว่า กลุ่มด้ายเหลือง หรือลู้งบ่อง สัญลักษณ์คือมีด้ายสีเหลืองผูกข้อมือทั้งสองข้างตลอดเวลา กลุ่มด้ายเหลือง หรือลู้งบ่อง แบ่งออกเป็น 2 กลุ่มคือ กลุ่มด้ายเหลืองธรรมดา หรือลู้งบ่องสะเดิ่ง และกลุ่มด้ายเหลืองพระพุทธเจ้า หรือลู้งบ่องเกียะ กลุ่มด้ายเหลืองธรรมดา หรือลู้งบ่องสะเดิ่ง มีชื่อเรียกอีกอย่างว่า ลัทธิเจ้าวัด ซึ่งมีหัวหน้าที่เรียกว่า เจ้าวัด หรือ โบงคู้ เป็นผู้ทำพิธีกรรม ลัทธิเจ้าวัดเป็นกลุ่มใหญ่และมีอิทธิพลสูงในเขตจังหวัดอุทัยธานี และสุพรรณบุรี กำเนิดขึ้นเมื่อมาอยู่ในเมืองไทยแล้ว คติความเชื่อนี้จะยึดเอาแม่พระธรณีหรือแผ่นดินเป็นสิ่งที่ศักดิ์สิทธิ์ โดยมีสัญลักษณ์ตัวแทนคือเจดีย์ หรือ โกร่ง ผู้ที่ดำรงตำแหน่งเจ้าวัดของกลุ่มด้ายเหลืองจะต้องเป็นผู้นำที่เป็นแบบอย่างด้านประเพณีวัฒนธรรม มีความรอบรู้เกี่ยวกับขนบธรรมเนียมประเพณีของกลุ่มอย่างดียิ่ง ต้องถือศีลห้า ห้ามบริโภคเนื้อสัตว์ที่เลี้ยงไว้เอง ต้องแต่งกายด้วยผ้าผืนสีขาวเท่านั้น และสิ่งที่ต้องทำอย่างสม่ำเสมอละเว้นไม่ได้คือ การไปสวดมนต์และกรวดน้ำให้แก่แม่พระธรณีที่เจดีย์ทุกวันพระขึ้น แรม 8 ค่ำ 15 ค่ำ บุคคลที่ได้ดำรงตำแหน่งนี้มักจะเป็นเชื้อสายของเจ้าวัดคนก่อน ๆ (หน้า 15-18) พิธีกรรมที่สำคัญของกลุ่มด้ายเหลือง ลู้งบ่องสะเดิ่ง ได้แก่ พิธีทำบุญไหว้เจดีย์ประจำปี หรือมาโบงเค็งตะล่อง เป็นพิธีกรรมที่สำคัญที่สุดและใหญ่ที่สุด เป็นการทำบุญครั้งใหญ่ประจำปีแก่แม่พระธรณี เทวดา และผีทั้งหลาย ใช้เวลาในการทำบุญ 3 วัน 3 คืนเป็นอย่างน้อย ในการทำบุญจะมีการให้เจ้าวัดผูกข้อมือด้วยด้ายสีเหลืองแก่ทุกคนที่ต้องการถือเป็นสิริมงคลอย่างสูง พิธีทำบุญแม่โพสพ หรือ พี้งบืงโย ทำในวันขึ้น 15 ค่ำเดือนทายเขาะพะดู๊ หรือเดือน 3 เป็นการรับขวัญข้าวที่เก็บเกี่ยวได้เพื่อขึ้นสู่ยุ้งฉาง พิธีตัดเวรตัดกรรม ไช่เว หรือ พิธีโปงเคอะกูง พิธีอาจทำวันแรกของวันทำพิธีทำบุญไหว้เจดีย์ประจำปี หรือวันแรม 14 ค่ำ เดือนโพ้เหลียะเกริง เป็นการทำบุญให้สัตว์ต่างๆ ที่ต้องตายไปเมื่อฟันไร่เพื่อทำการเพาะปลูก พิธีตากผ้าใหม่ หรือลาเนงเชิ้ง เป็นการทำความสะอาดผ้าใหม่หรือผ้าค้างปีรวมทั้งเครื่องประดับที่เป็นเงินทอง และชำระร่างกายให้สะอาด และในช่วงบ่ายของวันทำพิธีจะมีการทำพิธีต่อชะตาค้ำต้นไทร หรือดุคล้อง เพื่อเป็นการต่ออายุให้ตนเอง และจะมีพิธีทำสะพานต่ออายุควบคู่กัน เรียกว่า โบงโทง (หน้า 19-21) - กลุ่มด้ายเหลืองพระพุทธเจ้า หรือ ลู้งบ่องเกียะ เป็นกลุ่มลัทธิใหม่กลุ่มที่สอง จะทำพิธีไหว้ผีบรรพบุรุษหรือผีประจำตระกูลปีละครั้ง โดยจะทำในวันพระสิ้นเดือนห้า หรือเดือน ลาตา การทำพิธีใช้เวลา 1 วัน 1 คืน เท่านั้น ในตอนเช้าลูกๆ ทุกคนทำพิธีล้างเท้าพ่อแม่ด้วยน้ำขมิ้นผสมดอกไม้ เสร็จแล้วล้างเท้าญาติผู้ใหญ่ที่เคารพในหมู่บ้าน และกลับมาล้างเท้าให้พ่อแม่ของตนอีกครั้ง ในตอนเย็นเริ่มทำพิธีไหว้ผีที่หัวนอนของพ่อแม่ มารดาจะบอกให้ผีประจำสายตระกูลดูแลสมาชิกทุกคนให้ปลอดภัยจากเหตุร้ายทั้งปวง หลังจากนั้น ผูกข้อมือให้ลูกๆ ทุกคนด้วยด้ายสีเหลือง ในวันนี้ทุกคนต้องนอนในบ้านเดียวกัน ห้ามบุคคลภายนอกมาอยู่บนบ้าน ส่วนสมาชิกในครอบครัวที่มาไม่ทันพิธีมารดาหรือบิดาต้องเก็บด้ายไว้ให้ และต้องเอาข้าวสารใส่ขันเล็ก ๆ พร้อมกับถ้วยน้ำ ดอกไม้ และด้ายสีเหลืองเท่ากับจำนวนคนที่ยังไม่มาพร้อมกับบอกผีที่หัวนอน คติความเชื่อกลุ่มนี้ไม่มีเจ้าวัดและไม่นับถือเจดีย์เหมือนกลุ่มด้ายเหลืองสะเดิ่ง (หน้า 18 - 19)

Education and Socialization

ไม่มีข้อมูล

Health and Medicine

ไม่มีข้อมูล

Art and Crafts (including Clothing Costume)

ไม่มีข้อมูล

Folklore

ตำนานกล่าวถึงบรรพบุรุษเมื่อครั้งตั้งถิ่นฐานอยู่ในประเทศพม่า และเกิดความขัดแย้งกับเจ้าของประเทศทำให้ต้องอพยพหนีเข้ามาอยู่ในเมืองไทย เหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้มีบทเพลงที่ขับร้องสืบต่อมาแต่ครั้งปู่ย่าตายาย ดังมีบทเพลงตอนหนึ่งว่า เรานี้อยู่เมืองทะวาย เราข้ามภูเขาใหญ่มาอยู่เมืองไทย การนับถือพุทธศาสนาก็มีเรื่องเล่าเป็นตำนานว่า กะเหรี่ยงรู้จักพุทธศาสนาผ่านจากมอญซึ่งเดิมถูกกีดกันจากชาวพม่าไม่ให้ศึกษา เนื่องจากถูกมองว่าเป็น กลุ่มคนที่มีสถานะทางสังคมต่ำ ไม่คู่ควรที่จะศึกษาศาสนาพุทธ ซึ่งชาวพม่าถือว่าเป็นของสูง พู้ตะมั้ย บรรพชนคนแรกของกะเหรี่ยงที่ศึกษาสาสนาพุทธก็เริ่มศึกษาจากใต้ถุนศาลาด้วยการแอบฟังอาจารย์สอนให้แก่บุคคลอื่น เมื่อถูกจับได้อาจารย์มีความเมตตาให้เข้ามาเรียนด้วยแต่ก็ถูกข่มเหงรังแก และกีดกันจากเพื่อนร่วมชั้นซึ่งเป็นชาวพม่าอยู่เสมอ (หน้า 2, 3)

Ethnicity (Ethnic Identity, Boundaries and Ethnic Relation)

กะเหรี่ยงโปว์ที่มีคติความเชื่อในกลุ่มเดียวกัน เมื่อถึงวันประกอบพิธีของแต่ละกลุ่มทุกคนในครอบครัวจะกลับมาร่วมพิธีด้วยกัน ซึ่งก่อให้เกิดความสัมพันธ์ในกลุ่ม นอกจากนี้ ระบบการแลกเปลี่ยนแรงงานในสังคมกะเหรี่ยง ซึ่งมีทั้งการเอาแรงซึ่งกันและกัน และแรงงานแบบให้เปล่าในกิจกรรมการเกษตรซึ่งเป็นจารีตโดยทั่วไปของชุมชนยังก่อให้เกิดความสัมพันธ์ภายในชุมชนอีกด้วย (หน้า 39)

Social Cultural and Identity Change

การเปลี่ยนแปลงทางสังคมของกะเหรี่ยงทั้งสามจังหวัดนี้ยังคงไม่มีการเปลี่ยนแปลงมากนัก แม้จะมีการรับเอาพุทธศาสนาเข้ามาแต่คติความเชื่อเกี่ยวกับผีในสังคมวัฒนรรมของกะเหรี่ยงยังคงมีอิทธพลสูงในปัจจุบัน (หน้า 3)

Critic Issues

ไม่มีข้อมูล

Other Issues

วัน เดือน ปี กับชีวิตประจำวันของกะเหรี่ยงในภูมิภาคนี้จะรับเอาแบบการนับถือวันเดือนปีแบบมอญมาใช้ แต่การนับลำดับเดือนเป็นระบบตัวเลข และการนับลำดับปีที่ใช้ระบบนักษัตรที่มีสัตว์สัญลักษณ์ประจำในแต่ละปีเป็นอิทธิพลแบบจีน ซึ่งมอญรับแบบอย่างมาและถ่ายทอดให้กะเหรี่ยง กะเหรี่ยงโปว์กลุ่มนี้เรียกวันว่า "เออ" และใช้ระบบการนับวันแบบ 7 วัน เป็น 1 รอบ ตามแบบอย่างมอญ และมีการเรียกชื่อวัน 2 แบบคือ แบบภาษากะเหรี่ยง และแบบภาษามอญ ซึ่งปัจจุบันการเรียกแบบมอญเป็นที่นิยมใช้ กะเหรี่ยงโปว์ในอุทัยธานีนิยมใช้ชื่อวันตามวันเกิดมาตั้งเป็นพยางค์หนึ่งของชื่อจริงด้วย ส่วนการใช้ชื่อวันแบบภาษากะเหรี่ยงมาตั้งเป็นชื่อตามวันเกิดพบน้อยมาก (หน้า 23) กะเหรี่ยงโปว์เรียกเดือนว่า "ลา" ซึ่งมีทั้งหมด 12 เดือน และมีชื่อเดือนของตนเองโดยเฉพาะ โดยเรียกชื่อเดือนตามเหตุการณ์หรือลักษณะพิเศษที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติในเดือนนั้นๆ และมีการใช้ตัวเลขกำกับเลขเดือนแต่ละเดือนต่างหากไปจากชื่อเดือนอีกด้วย นอกจากนี้ กะเหรี่ยงยังกำหนดอายุของเดือนไว้ตายตัว คือ เดือนที่มีลำดับที่เป็นเลขคู่จะจัดให้เป็นเดือนที่มีจำนวน 30 วัน หรือเดือนที่มีอายุเต็มเดือน เรียกว่า "ลาไต๊" ส่วนเดือนลำดับเลขคี่จะจัดให้เป็นเดือนที่มีจำนวน 29 วัน หรือเดือนที่มีอายุขาด เรียกว่า "ลาเด๊าะ" เดือนของกะเหรี่ยงโปว์มีรอบการนับที่ใช้เดือนที่ 3 เป็นเดือนเริ่มต้นปีในการทำกิจกรรมเพาะปลูก และเดือนที่เสร็จสิ้นกิจกรรมสุดท้ายของการเพาะปลูกถือว่าเป็นการสิ้นสุดปี (หน้า 24-27) ปี กะเหรี่ยงโปว์จะเรียกว่า "เนง" มีจำนวน 12 ปี โดยนับ 1 ถึง 12 ปี เป็น 1 รอบปี แล้ววนกลับมานับใหม่ ในแต่ละปีจะมีสัตว์สัญลักษณ์เช่นเดียวกับระบบนักษัตรของจีน กะเหรี่ยงจะนับขึ้นต้นปีด้วยปีมะโรง สำหรับกะเหรี่ยงโปว์ในจังหวัดอุทัยธานีจะมีเครื่องมือง่าย ๆ ใช้อ่านวันเดือนปีตามระบบปฏิทินของตนเรียกว่า "มืงโด่ง" ทำด้วยไม้แผ่นบางๆ มีลักษณะเป็นรูปครึ่งวงกลม มีรูกลมทรงสามเหลี่ยมด้านเท่าใช้แทนฤดูกาลทั้งสามฤดู รูกลม 7 รูเรียงจากซ้ายไปขวาสำหรับนับวันทั้ง 7 รูกลม 12 รูใช้อ่านลำดับเดือนทางจันทรคติโดยแบ่งเป็นวันข้างขึ้นและข้างแรม รูทั้งหมดที่เป็นตัวแทนของวัน เดือน ปี และฤดูกาลจะมีไม้สำหรับไว้เสียบช่องนั้น ๆ มืงโด่งในบางแห่งจะมีขนาดเล็กและมีช่องสำหรับการลำดับเฉพาะวันทางจันทรคติ 30 ช่อง และช่องสำหรับการลำดับเดือนทางจันทรคติ 12 ช่องเท่านั้น (หน้า 27, 28, 29) นอกจากนี้ กะเหรี่ยงโปว์ทุกกลุ่มความเชื่อในภูมิภาคนี้ ทั้งกลุ่มความเชื่อเดิมและกลุ่มถือตามลัทธิใหม่ ต่างก็มีวันหยุดตามจารีตประเพณีที่เหมือนกัน คือ ในแต่ละเดือนจะมีวันหยุด 2 วัน ได้แก่ วันขึ้น 1 5 ค่ำ และวันแรม 15 ค่ำ (หรือ 14 ค่ำ กรณีเดือนขาด) ใน 2 วันดังกล่าวจะไม่มีการประกอบกิจการงานใด ๆ ถือเป็นการพักผ่อนอยู่บ้าน อย่างไรก็ตามแต่ละกลุ่มยังมีวันหยุดตามประเพณีในคติความเชื่อของแต่ละกลุ่มที่เหมือนและแตกต่างกันออกไปคือ กลุ่มด้ายขาว หรือลู้งอัว จะหยุดในวันทำพิธีเซ่นผีประจำสายตระกูล หรืออองเฆ้ พิธีมัดมือควาย หรือคายปะนาจู๊ง พิธีตั้งขวัญไร่ข้าว หรือชีลองสะเดิ่งเขาะกราพอง พิธีจับผีปล่อย หรือมุเชอ กลุ่มกินน้ำต้มสุก หรือวีม่อง จะหยุดในวันทำบุญใหญ่ประจำปี หรือมาโปงเคิงตะล่อง ทำบุญแม่โพสพ หรือชุพี้หมี่ ทำบุยปีใหม่ หรือเนทองซอง ทำบุญบ้าน หรือชุหมี่ พิธีตั้งชื่อเด็กเกิดใหม่ หรือพู้ซะเคิงตาล่อง กลุ่มด้ายเหลืองธรรมดา หรือลู้งบ่องสะเดิ่ง จะหยุดในวันพิธีทำบุญไหว้เจดีย์ประจำปี หรือมาโบงเคิงตะล่อง พิธีทำบุญแม่โพสพ หรือพี้งบืงโย พิธีไช่เว หรือโปงเคอะกูง พิธีตากผ้าใหม่ หรือลาเนงเชิ้ง พิธีพาเด็กเกิดใหม่ไหว้เจดีย์และตั้งชื่อ หรือพู้สะเคิงตะล่อง พิธีไหว้เจดีย์เนื่องจากผิดจารีต พิธีไหว้เจดีย์ของหนุ่มสาวที่แต่งงานใหม่ สำหรับกลุ่มด้ายเหลืองพระพุทธเจ้า หรือลู้งบ่องเกียะ จะมีวันหยุดตามจารีตเพียงวันเดียวคือ ในวันพิธีไหว้ผีประจำสายตระกูล ซึ่งจะทำปีละครั้ง กะเหรี่ยงกลุ่มต่าง ๆ เหล่านี้ยังมีวันหยุดที่ถือได้ว่าเป็น วันหยุดร่วมของชุมชน ซึ่งถือได้ว่าเป็นวันหยุดตามจารีตประเพณีของชุมชนได้แก่ วันที่มีบุคคลในชุมชนซึ่งถือกันว่าเป็นผู้ใหญ่ทั้งผู้หญิงและผู้ชายได้เสียชีวิตลง ทุกหลังคาเรือนในชุมชนจะต้องหยุดการงานเพื่อร่วมพิธีศพ และในวันแต่งงานโดยเฉพาะในกลุ่มเครือญาติของทั้งสองฝ่ายจะต้องหยุดงานเพื่อเข้าร่วมพิธีด้วยเช่นกัน กะเหรี่ยงโปว์ในจังหวัดอุทัยธานียังมีคติความเชื่อเรื่องวันดีและวันไม่ดี ว่าแต่ละกลุ่มเครือญาติต่างก็มีวันดีและวันไม่ดีของตนที่อาจจะเหมือนหรือไม่เหมือนกับกลุ่มเครือญาติ อื่น ๆ ก็ได้ นอกจากนี้กะเหรี่ยงโปว์ในเขตพื้นที่ทั้งสามจังหวัดซึ่งส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม จึงมีการใช้แรงงานในรอบปีตลอดระยะเวลา 10 เดือน จะเริ่มตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ซึ่งเป็นช่วงการเตรียมพื้นที่เพาะปลูก ไปจนถึงต้นเดือนตุลาคมซึ่งเป็นช่วงเวลาของการเก็บเกี่ยว แรงงานส่วนใหญ่จะเป็นแรงงานในครอบครัวเป็นหลัก หรืออาจมีการจ้างแรงงานในกิจกรรมเพาะปลูกพืชเศรษฐกิจ (หน้า 36-40)

Map/Illustration

การเรียกชื่อวันแบบกะเหรี่ยงและแบบมอญ (หน้า 23) ลำดับเดือนในรอบปีของกะเหรี่ยง (หน้า 25, 26) การนับปีของกะเหรี่ยง (หน้า 28)

Text Analyst ปนัดดา ปิ่นแก้ว Date of Report 30 มี.ค 2561
TAG โพล่ง โผล่ง โพล่ว ซู (กะเหรี่ยง), วันเดือนปี, วิถีชีวิต, ความเชื่อ, พิธีกรรม, อุทัยธานี, กาญจนบุรี, สุพรรณบุรี, Translator -
 
 

 

ฐานข้อมูลอื่นๆของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
  ฐานข้อมูลพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทย
จารึกในประเทศไทย
จดหมายเหตุทางมานุษยวิทยา
แหล่งโบราณคดีที่สำคัญในประเทศไทย
หนังสือเก่าชาวสยาม
ข่าวมานุษยวิทยา
ICH Learning Resources
ฐานข้อมูลเอกสารโบราณภูมิภาคตะวันตกในประเทศไทย
ฐานข้อมูลประเพณีท้องถิ่นในประเทศไทย
ฐานข้อมูลสังคม - วัฒนธรรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  หน้าหลัก
งานวิจัยชาติพันธุ์ในประเทศไทย
บทความชาติพันธุ์
ข่าวชาติพันธุ์
เครือข่ายชาติพันธุ์
เกี่ยวกับเรา
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  ข้อมูลโครงการ
ทีมงาน
ติดต่อเรา
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
ช่วยเหลือ
  กฏกติกาและมารยาท
แบบสอบถาม
คำถามที่พบบ่อย


ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) เลขที่ 20 ถนนบรมราชชนนี เขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ 10170 
Tel. +66 2 8809429 | Fax. +66 2 8809332 | E-mail. webmaster@sac.or.th 
สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2549    |   เงื่อนไขและข้อตกลง