สมัครสมาชิก   
| |
ค้นหาข้อมูล
ค้นหาแบบละเอียด
  •   ความเป็นมาและหลักเหตุผล

    เพื่อรวบรวมงานวิจัยทางชาติพันธุ์ที่มีคุณภาพมาสกัดสาระสำคัญในเชิงมานุษยวิทยาและเผยแผ่สาระงานวิจัยแก่นักวิชาการ นักศึกษานักเรียนและผู้สนใจให้เข้าถึงงานวิจัยทางชาติพันธุ์ได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น

  •   ฐานข้อมูลจำแนกกลุ่มชาติพันธุ์ตามชื่อเรียกที่คนในใช้เรียกตนเอง ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้ คือ

    1. ชื่อเรียกที่ “คนอื่น” ใช้มักเป็นชื่อที่มีนัยในทางเหยียดหยาม ทำให้สมาชิกกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ รู้สึกไม่ดี อยากจะใช้ชื่อที่เรียกตนเองมากกว่า ซึ่งคณะทำงานมองว่าน่าจะเป็น “สิทธิพื้นฐาน” ของการเป็นมนุษย์

    2. ชื่อเรียกชาติพันธุ์ของตนเองมีความชัดเจนว่าหมายถึงใคร มีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมอย่างไร และตั้งถิ่นฐานอยู่แห่งใดมากกว่าชื่อที่คนอื่นเรียก ซึ่งมักจะมีความหมายเลื่อนลอย ไม่แน่ชัดว่าหมายถึงใคร 

     

    ภาพ-เยาวชนปกาเกอะญอ บ้านมอวาคี จ.เชียงใหม่

  •  

    จากการรวบรวมงานวิจัยในฐานข้อมูลและหลักการจำแนกชื่อเรียกชาติพันธุ์ที่คนในใช้เรียกตนเอง พบว่า ประเทศไทยมีกลุ่มชาติพันธุ์มากกว่า 62 กลุ่ม


    ภาพ-สุภาษิตปกาเกอะญอ
  •   การจำแนกกลุ่มชนมีลักษณะพิเศษกว่าการจำแนกสรรพสิ่งอื่นๆ

    เพราะกลุ่มชนต่างๆ มีความรู้สึกนึกคิดและภาษาที่จะแสดงออกมาได้ว่า “คิดหรือรู้สึกว่าตัวเองเป็นใคร” ซึ่งการจำแนกตนเองนี้ อาจแตกต่างไปจากที่คนนอกจำแนกให้ ในการศึกษาเรื่องนี้นักมานุษยวิทยาจึงต้องเพิ่มมุมมองเรื่องจิตสำนึกและชื่อเรียกตัวเองของคนในกลุ่มชาติพันธุ์ 

    ภาพ-สลากย้อม งานบุญของยอง จ.ลำพูน
  •   มโนทัศน์ความหมายกลุ่มชาติพันธุ์มีการเปลี่ยนแปลงในช่วงเวลาต่างๆ กัน

    ในช่วงทศวรรษของ 2490-2510 ในสาขาวิชามานุษยวิทยา “กลุ่มชาติพันธุ์” คือ กลุ่มชนที่มีวัฒนธรรมเฉพาะแตกต่างจากกลุ่มชนอื่นๆ ซึ่งมักจะเป็นการกำหนดในเชิงวัตถุวิสัย โดยนักมานุษยวิทยาซึ่งสนใจในเรื่องมนุษย์และวัฒนธรรม

    แต่ความหมายของ “กลุ่มชาติพันธุ์” ในช่วงหลังทศวรรษ 
    2510 ได้เน้นไปที่จิตสำนึกในการจำแนกชาติพันธุ์บนพื้นฐานของความแตกต่างทางวัฒนธรรมโดยตัวสมาชิกชาติพันธุ์แต่ละกลุ่มเป็นสำคัญ... (อ่านเพิ่มใน เกี่ยวกับโครงการ/คู่มือการใช้)


    ภาพ-หาดราไวย์ จ.ภูเก็ต บ้านของอูรักลาโว้ย
  •   สนุก

    วิชาคอมพิวเตอร์ของนักเรียน
    ปกาเกอะญอ  อ. แม่ลาน้อย
    จ. แม่ฮ่องสอน


    ภาพโดย อาทิตย์    ทองดุศรี

  •   ข้าวไร่

    ผลิตผลจากไร่หมุนเวียน
    ของชาวโผล่ว (กะเหรี่ยงโปว์)   
    ต. ไล่โว่    อ.สังขละบุรี  
    จ. กาญจนบุรี

  •   ด้าย

    แม่บ้านปกาเกอะญอ
    เตรียมด้ายทอผ้า
    หินลาดใน  จ. เชียงราย

    ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ถั่วเน่า

    อาหารและเครื่องปรุงหลัก
    ของคนไต(ไทใหญ่)
    จ.แม่ฮ่องสอน

     ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ผู้หญิง

    โผล่ว(กะเหรี่ยงโปว์)
    บ้านไล่โว่ 
    อ.สังขละบุรี
    จ. กาญจนบุรี

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   บุญ

    ประเพณีบุญข้าวใหม่
    ชาวโผล่ว    ต. ไล่โว่
    อ.สังขละบุรี  จ.กาญจนบุรี

    ภาพโดยศรยุทธ  เอี่ยมเอื้อยุทธ

  •   ปอยส่างลอง แม่ฮ่องสอน

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ปอยส่างลอง

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดย เบญจพล  วรรณถนอม
  •   อลอง

    จากพุทธประวัติ เจ้าชายสิทธัตถะ
    ทรงละทิ้งทรัพย์ศฤงคารเข้าสู่
    ร่มกาสาวพัสตร์เพื่อแสวงหา
    มรรคผลนิพพาน


    ภาพโดย  ดอกรัก  พยัคศรี

  •   สามเณร

    จากส่างลองสู่สามเณร
    บวชเรียนพระธรรมภาคฤดูร้อน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   พระพาราละแข่ง วัดหัวเวียง จ. แม่ฮ่องสอน

    หล่อจำลองจาก “พระมหามุนี” 
    ณ เมืองมัณฑะเลย์ ประเทศพม่า
    ชาวแม่ฮ่องสอนถือว่าเป็นพระพุทธรูป
    คู่บ้านคู่เมืององค์หนึ่ง

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม

  •   เมตตา

    จิตรกรรมพุทธประวัติศิลปะไต
    วัดจองคำ-จองกลาง
    จ. แม่ฮ่องสอน
  •   วัดจองคำ-จองกลาง จ. แม่ฮ่องสอน


    เสมือนสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรม
    เมืองไตแม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ใส

    ม้งวัยเยาว์ ณ บ้านกิ่วกาญจน์
    ต. ริมโขง อ. เชียงของ
    จ. เชียงราย
  •   ยิ้ม

    แม้ชาวเลจะประสบปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัย
    พื้นที่ทำประมง  แต่ด้วยความหวัง....
    ทำให้วันนี้ยังยิ้มได้

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ผสมผสาน

    อาภรณ์ผสานผสมระหว่างผ้าทอปกาเกอญอกับเสื้อยืดจากสังคมเมือง
    บ้านแม่ลาน้อย จ. แม่ฮ่องสอน
    ภาพโดย อาทิตย์ ทองดุศรี
  •   เกาะหลีเป๊ะ จ. สตูล

    แผนที่ในเกาะหลีเป๊ะ 
    ถิ่นเดิมของชาวเลที่ ณ วันนี้
    ถูกโอบล้อมด้วยรีสอร์ทการท่องเที่ยว
  •   ตะวันรุ่งที่ไล่โว่ จ. กาญจนบุรี

    ไล่โว่ หรือที่แปลเป็นภาษาไทยว่า ผาหินแดง เป็นชุมชนคนโผล่งที่แวดล้อมด้วยขุนเขาและผืนป่า 
    อาณาเขตของตำบลไล่โว่เป็นส่วนหนึ่งของป่าทุ่งใหญ่นเรศวรแถบอำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี 

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   การแข่งขันยิงหน้าไม้ของอาข่า

    การแข่งขันยิงหน้าไม้ในเทศกาลโล้ชิงช้าของอาข่า ในวันที่ 13 กันยายน 2554 ที่บ้านสามแยกอีก้อ อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย
 
  Princess Maha Chakri Sirindhorn Anthropology Centre
Ethnic Groups Research Database
Sorted by date | title

   Record

 
Subject ผู้ย้อย ย้อย ลาวย้อย ไทย้อย โย่ย,สังคม,วัฒนธรรม,ชุมชน,สกลนคร
Author ฟองจันทร์ อรุณกมล
Title วิถีการดำเนินชีวิตของชาวไทยโย้ยบ้านอากาศ ตำบลอากาศ อำเภออากาศอำนวย จังหวัดสกลนคร
Document Type วิทยานิพนธ์ Original Language of Text -
Ethnic Identity ไทโย้ย โย่ย โย้ย ไทยโย้ย ไทย้อย ผู้ย้อย ย้อย ลาวย้อย, Language and Linguistic Affiliations ไท(Tai)
Location of
Documents
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
(เอกสารฉบับเต็ม)
Total Pages 174 Year 2541
Source หลักสูตรปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาไทยคดีศึกษา(เน้นสังคมศึกษา) มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
Abstract

งานเขียนกล่าวถึงการศึกษาวิถีดำเนินชีวิตของไทยโย้ยบ้านอากาศ ตำบลอากาศ อำเภออากาศอำนวย จังหวัดสกลนคร และศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงวิถีการดำเนินชีวิตของไทยโย้ย ในงานได้กล่าวถึงสังคมวัฒนธรรมต่างๆ ของไทยโย้ยว่ามีความเป็นอยู่อย่างไร ทั้งนี้โย้ยเคยเป็นกลุ่มที่เคยอยู่บริเวณฝั่งขวาของแม่น้ำโขงและถูกกวาดต้อนไปยังฝั่งประเทศลาวสมัยเจ้าอนุวงศ์ของลาวก่อการกบฏ ในช่วงสมัยรัชกาลที่ 2 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ของไทย ต่อมาภายหลังเมื่อกองกำลังฝ่ายไทยปราบกบฏเจ้าอนุวงศ์ได้สำเร็จจึงได้อพยพไทยโย้ย กลับมาอยู่บริเวณฝั่งขวาของแม่น้ำโขงอีกครั้ง อยู่รวมกันจากหมู่บ้านเล็กๆชื่อบ้านม่วงริมยาม กระทั่งภายหลังเมื่อชุมชนใหญ่ขึ้นก็พัฒนามาเป็นอำเภออากาศอำนวยในทุกวันนี้

Focus

ศึกษาวิถีการดำเนินชีวิตและปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงวิถีการดำเนินชีวิตของไทยโย้ยบ้านอากาศ ตำบลอากาศ อำเภออากาศอำนวย จังหวัดสกลนคร (หน้า 7,111)

Theoretical Issues

ไม่มี

Ethnic Group in the Focus

ไทยโย้ย เป็นชาติพันธุ์ที่โยกย้ายที่อยู่มาจากเมืองฮ่อมท้าวฮูเซ รวมทั้งเมืองอื่นๆ มาตั้งรกรากอยู่ที่ชุมชนบ้านอากาศ ตำบลอากาศ อำเภออากาศอำนวย จังหวัดสกลนคร (หน้า 11)

Language and Linguistic Affiliations

เมื่ออยู่ที่บ้านและในหมู่บ้าน ไทยโย้ยบ้านอากาศจะพูดด้วยภาษาโย้ย ภาษาโย้ยมีลักษณะเด่น คือ มีสำเนียงพูดที่ลากเสียงยาว คำพูดบางคำเขียนเป็นภาษาเขียนไม่ได้ (หน้า 52)

Study Period (Data Collection)

สิงหาคม 2540 - สิงหาคม 2541 (หน้า 112)

History of the Group and Community

ประวัติอำเภออากาศอำนวย อำเภออากาศอำนวยมีประวัติความเป็นมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 2 สมัยนั้นเจ้าอนุวงศ์ของลาวได้ก่อกบฏ ยกกองทัพมาตีเมืองนครราชสีมาและเมืองสระบุรี เมื่อยกทัพกลับก็ได้กวาดต้อนผู้คนที่อยู่บริเวณฝั่งขวาของแม่น้ำโขง ข้ามฝั่งไปยังเมืองเวียงจันทน์ ภายหลังเมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงปราบกบฏเจ้าอนุวงศ์ได้สำเร็จ จึงได้มีนโยบายให้นำคนที่ถูกกวาดต้อนไปเมื่อครั้งเจ้าอนุวงศ์ก่อการกบฏกลับมายังฝั่งขวาของแม่น้ำโขง ทรงมอบหมายให้เจ้าเมืองนครพนม เจ้าเมืองยโสธร และเจ้าเมืองสกลนคร ทำหน้าที่ชักชวนเจ้าเมืองท้าวเพีย และเมืองอื่นๆ กลับมาอยู่ฝั่งขวาของแม่น้ำโขง (หน้า 27) การอพยพครั้งนั้นมีผู้คนกลับมาเป็นจำนวนมาก อาทิ จากเมืองฮ่อมท้าวฮูเซ หรือเมืองฮ่อมท้าวที่โยกย้ายที่อยู่กันมาราวสามพันกว่าคน เมื่อย้ายเข้ามาแล้วก็เลือกตั้งที่อยู่อาศัยอยู่ในพื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำยาม อันเป็นแม่น้ำสาขาของแม่น้ำสงคราม โดยตั้งชื่อหมู่บ้านว่า “บ้านม่วงริมยาม” บางครั้งก็เรียกว่า “บ้านท่าเมืองฮ้าง” ซึ่งคาดว่าบริเวณนี้น่าจะเคยเป็นเมืองร้าง ในภายหลังเมื่อมีการแต่งตั้งเจ้าเมือง ชาวบ้านม่วงริมยามได้ขึ้นการปกครองอยู่กับเมืองนครพนม ในสมัยรัชกาลที่ 5 ทางการได้ยกฐานะบ้านม่วงริมยามให้เป็นเมืองแล้วเปลี่ยนชื่อเป็น ”เมืองอากาศอำนวย” กระทั่งมีการปฏิรูปการปกครองเมื่อ พ.ศ.2435 เมืองอากาศอำนวย ได้เปลี่ยนมาเป็นอำเภออากาศอำนวย กระทั่ง พ.ศ.2457 ทางการได้ยุบอำเภออากาศอำนวยเป็นตำบลโดยไปรวมกับอำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม กระทั่ง พ.ศ 2458 ทางการได้ให้ตำบลอากาศไปขึ้นการปกครองกับอำเภอวานรนิวาส จังหวัดสกลนคร เพราะการติดต่อกับจังหวัดนครพนมไม่มีความสะดวก กระทั่ง พ.ศ.2506 ทางการจึงได้ยกฐานะตำบลอากาศขึ้นเป็นกิ่งอำเภอโดยให้ขึ้นกับอำเภอวานรนิวาสเช่นเดิม เนื่องจากทางการเห็นว่าในพื้นที่เป็นเขตที่มีกองกำลังพรรคคอมมิวนิสต์เป็นจำนวนมากและเพื่อความสะดวกในการดูแลของเจ้าหน้าที่ของรัฐ จนกระทั่งทางการได้ยกฐานะขึ้นเป็นอำเภอ เมื่อ พ.ศ.2508 มาถึงทุกวันนี้ (หน้า 27-29)

Settlement Pattern

บ้านไทยโย้ย ส่วนใหญ่เป็นบ้านชั้นเดียวและบ้านสองชั้น วัสดุก่อสร้างทำจากไม้ มุงหลังคาด้วยสังกะสี รูปแบบการสร้างบ้านส่วนมากมักสร้างบ้านตามแบบปู่ย่าตายายที่เคยสร้างมา ส่วนบ้านที่เป็นแบบบ้านสองชั้นจะสร้างแบบครึ่งปูนครึ่งไม้ และบ้านบางหลังจะสร้างแบบปล่อยใต้ถุนโล่ง นอกจากนี้ยังมีบ้านที่สร้างด้วยปูนทั้งหลัง และบ้านที่สร้างด้วยไม้อย่างเดียว (หน้า 35)

Demography

บ้านอากาศ ทั้ง 11 หมู่ มีประชากรทั้งหมดจำนวน 10,283 คน โดยแบ่งเป็นเพศชายจำนวน 5,013 คน และเพศหญิง 5,240 คน (หน้า 34 มีจำนวนครัวเรือนทั้งหมด 2,801 ครัวเรือน (หน้า 35,38) กลุ่มกรณีศึกษา ประชากรที่เป็นกรณีศึกษาทั้ง 11 หมู่ซึ่งประกอบด้วยหมู่ 1,2,3,4,9,10,14,15,16,17,18 มีจำนวน 185 คน กลุ่มตัวอย่างที่เป็นผู้รู้จำนวน 15 คน (หน้า 67 ,111,112 ตารางหน้า 68,69) โดยแบ่งออกเป็นผู้ชายจำนวน 103 คน และผู้หญิงจำนวน 82 คน (ตารางหน้า 70)

Economy

อาชีพ ไทยโย้ยบ้านอากาศจะทำอาชีพเกษตรกรรมเป็นอาชีพหลัก ได้แก่ ทำนาโดยจะปลูกข้าวเหนียวเป็นส่วนใหญ่ และข้าวเจ้า เฉลี่ยแล้วการปลูกข้าวจะมีรายได้เฉลี่ย 7,000 บาทต่อปี และทำอาชีพค้าขายเป็นอาชีพเสริม นอกจากนี้ก็ทำการประมงและเลี้ยงวัว ควาย หมู ไก่ (หน้า 40-41,70, 78-82,114,121) ในกลุ่มตัวอย่าง 185 คน แบ่งตามอาชีพได้ดังนี้ ทำนา 175 คน (94.60%) รับราชการ 3 คน รับจ้าง 3 คน ทำงานหัตถกรรม 3 คน (หน้าอย่างละ 1.62%) และหาของป่าล่าสัตว์ 1 คน (0.54%) (ตารางหน้า 71,72,76)

Social Organization

ครอบครัว มี 2 ลักษณะคือเป็นแบบครอบครัวเดี่ยวประกอบด้วยพ่อ แม่ ลูก ซึ่งมีอยู่ไม่มาก และลักษณะครอบครัวแบบรวม(ครอบครัวขยาย) ประกอบด้วย ปู่ ย่า ลุง ป้า พ่อ แม่ ลูก หลาน ลักษณะครอบครัวแบบนี้จะมีอยู่เป็นจำนวนมากในหมู่บ้าน สำหรับการมาอยู่รวมกันก็เพราะมีส่วนประกอบหลายอย่าง เช่น ที่ดินทำกินยังไม่เพียงพอที่จะออกเรือน หรือถ้าแต่งงานก็จะแยกไปสร้างครอบครัวใหม่ การขาดแรงงานหรือไม่มีคนดูแลปู่ย่าตายาย (หน้า 35,36) การเลือกคู่ครอง ไทยโย้ยมีความเป็นอิสระในการเลือกคู่ครอง ถ้าหาหนุ่มสาวชอบพอกันและพ่อแม่ทั้งสองฝ่ายเห็นดีเห็นงามด้วย เมื่อแต่งงานฝ่ายหญิงจะมาอยู่บ้านฝ่ายชายเพื่อมาดูแลพ่อแม่ของฝ่ายเจ้าบ่าว เมื่ออยู่จนมีเงินเก็บแล้วก็จะแยกตัวออกไปสร้างบ้านหลังใหม่ (หน้า 88,89) พิธีแต่งงาน หากหนุ่มสาวตกลงใจที่จะแต่งงานกันก็จะให้ผู้หลักผู้ใหญ่ที่เรียกว่า ”พ่อล่าม” ไปสู่ขอตกลงเรื่องค่าสินสอดและกำหนดวันแต่งงาน ก่อนการจัดพิธีแต่งงานฝ่ายหญิงจะเตรียมเครื่องสมมา เช่น ซิ่นหมี่ ผ้าขาวม้า เสื่อ ฯลฯเพื่อมอบให้ญาติผู้ใหญ่ทั้งสองฝ่าย เมื่อใกล้วันแต่งงานทั้งสองฝ่ายจะเตรียมอาหารเพื่อไว้เลี้ยงแขกเหรื่อที่มาร่วมงาน และก่อนวันจัดงานหนึ่งวัน ทั้งบ้านเจ้าบ่าวเจ้าสาวจะเตรียมพาขวัญหรือพานบายศรี ตอนกลางคืนจะเชิญญาติพี่น้องเพื่อนฝูงมากินข้าวที่บ้านหรือเรียกว่า ” งันดอง” (หน้า 63) เมื่อถึงวันจัดงาน เจ้าบ่าวจะแห่ขบวนขันหมากไปบ้านเจ้าสาว แล้วก็จะมีญาติผู้ใหญ่มารับขันหมาก ต่อมาก็จะมาที่บ้านเจ้าบ่าวเพื่อสู่ขวัญให้เจ้าบ่าวกับเจ้าสาว ขั้นต่อไปเมื่อบายศรีสู่ขวัญเรียบร้อยแล้วก็จะจัดเลี้ยงอาหารแขกที่มาเป็นเกียรติในงาน ในช่วงบ่ายเจ้าสาวก็จะกลับมาที่บ้านเพื่อเตรียมของสมมา เช่น ที่นอน หมอน และอื่นๆ และตอนเย็นญาติของทางเจ้าบ่าวก็จะไปรับตัวเจ้าสาวกลับมาที่บ้านเจ้าบ่าวพร้อมด้วยของสมมาที่ฝ่ายเจ้าสาวเตรียมไว้ ครั้นมาถึงก็จะส่งตัวเจ้าบ่าวเจ้าสาวเข้าหอ ญาติผู้ใหญ่ทั้งสองฝ่ายก็จะอวยพรให้ทั้งสองมีแต่ความสุขความเจริญ ส่วนของสมมานั้นหลังผ่านวันส่งตัวประมาณ 2 ถึง 3 วัน เจ้าบ่าวกับเจ้าสาวก็จะนำของสมมาที่เตรียมไว้ไปมอบให้กับญาติผู้ใหญ่ทั้งสองฝ่ายที่นับถือ (หน้า 64)

Political Organization

การปกครอง บ้านอากาศอยู่ในเขตสุขาภิบาลอำเภออากาศอำนวย การปกครองประกอบด้วยคณะกรรมการสุขาภิบาลทำหน้าที่บริหารและพัฒนาในพื้นที่เขตสุขาภิบาล ในการปกครองมีนายอำเภอมีตำแหน่งสูงที่สุด บ้านอากาศแบ่งออกเป็น 11 หมู่ ในแต่ละหมู่จะมีผู้ใหญ่บ้านและกำนันทำหน้าที่เป็นผู้นำ (หน้า 38-39)

Belief System

ศาสนาและความเชื่อ ไทยโย้ยนับถือศาสนาพุทธ มีความเชื่อเรื่องผี เช่น ผีบรรพบุรุษที่ช่วยดูแลลูกหลานในครอบครัว ผีเจ้าปู่ และเรื่องขวัญ ภายในหมู่บ้านอากาศมีวัดอยู่ 6 วัดได้แก่ วัดกลางพระแก้ว วัดทุ่ง วัดศรีโพนเมือง วัดจอมแจ้ง(วัดเหนือ) วัดไตรภูมิ(วัดใต้) วัดอุดมรัตนารามหรือวัดป่า (หน้า 54-55,65-66,97-99,122-123) ประเพณีในรอบปี ไทยโย้ยบ้านอากาศมีประเพณีในชุมชนเหมือนกับคนอีสานอื่นๆ ที่จะประกอบพิธีกรรมทุกเดือน หรือเรียกว่า”ฮีตสิบสอง” แต่ที่บ้านอากาศจะมีประเพณีที่ไม่มีการประกอบพิธีแล้วหลายอย่าง อาทิ บุญซำฮะ สำหรับประเพณีฮีตสิบสองที่ไทยโย้ยบ้านอากาศ ยังสืบทอดกันมาประกอบด้วย (หน้า 55,100) บุญเข้ากรรม จะทำในช่วงเดือนอ้าย ในเดือนนี้พระสงฆ์จะเข้ากรรม (ปริวาสกรรม) เพื่อให้พระสงฆ์ปฏิบัติตามหลักพระธรรมวินัย ในเดือนนี้ไทยโย้ยจะไปร่วมทำบุญที่วัดและทำบุญเลี้ยงผี (หน้า 55) บุญคูณลาน ทำบุญในเดือนยี่จุดมุ่งหมายของการทำบุญก็เพื่อเกิดความเป็นศิริมงคลกับข้าวเปลือก ในวันนี้จะนิมนต์พระมาฉันอาหารเช้าที่นา แล้วก็จะทำพิธีสู่ขวัญข้าว (หน้า 56) บุญข้าวจี่ จะทำบุญในเดือนสาม พร้อมการทำบุญมาฆบูชา ช่วงเช้าของงานบุญไทยโย้ยจะนำข้าวเหนียวนึ่งมาปั้นใส่กับไม้ข้าวจี่ แล้วจี่ไฟจนมีสีเหลือง ทาด้วยไข่ไก่หรือไข่เป็ดจนข้าวสุก พอสุกแล้วก็จะดึงไม้ที่ใช้จี่ออกจากปั้นข้าว แล้วนำน้ำอ้อยใส่เข้าไปในช่องว่างที่ดึงไม้ออก พอทำข้าวจี่เรียบร้อยแล้วก็จะนำไปทำบุญถวายพระที่วัดพร้อมด้วยอาหารคาวหวาน (หน้า 56) บุญพระเวส (พระเหวด) ประกอบพิธีในเดือนสี่ในการจัดงานวันนี้จะมีการเทศน์มหาชาติ ถ่ายทอดประวัติของพระพุทธเจ้า เชื่อกันว่าถ้าใครได้ฟังเทศน์มหาชาติจนจบก็จะได้บุญกุศลมากยิ่งนัก การทำบุญจะทำกัน 3 วัน ในวันแรก คือ วันรวมหรือวันโฮม วันต่อมาจะแห่พระเวสสันดร นางมัทรี กัณหา ชาลี เข้าเมืองและวันสุดท้ายจะเป็นวันฟังเทศน์มหาชาติและเทศน์แหล่ ในการเทศน์จะมี 13 กัณฑ์ (บท) ในแต่ละกัณฑ์จะมีโยมเจ้าภาพถวายกัณฑ์เทศน์เครื่องบริขารต่างๆ แก่พระสงฆ์ (หน้า 56) บุญสรงน้ำ (บุญขึ้นปีใหม่) การสงฆ์น้ำพระจัดในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 5 ถือว่าเป็นวันขึ้นปีใหม่ วันนี้ในเวลา 16.00 น. พระจะตีกลองรวมหรือกลองโฮม และชาวบ้านจะนำน้ำหอมมาที่วัด ทำพิธีสรงน้ำพระพุทธรูป วันต่อมาจะทำบุญเลี้ยงพระสำหรับการสรงน้ำพระจะจัดพิธี 3 วัน ในระหว่าง 3 วันนี้ไทยโย้ยก็จะเล่นน้ำอย่างสนุกสนาน (หน้า 56-57) บุญวันวิสาขบูชา กับบุญบั้งไฟ พิธีนี้จะทำในเดือนหกเพื่อเป็นขอฝน ส่วนการทำบุญวันวิสาขบูชา ชาวบ้านจะไปทำบุญที่วัดและเวียนเทียนตอนกลางคืน (หน้า 57) บุญซำฮะ(ล้าง) คือ การทำบุญเพื่อเซ่นไหว้เทวดา หลักเมือง ผีปู่ตา ผีตาแฮก ในวันนี้จะทำบุญเพื่อนึกถึงผู้มีพระคุณอันจะทำให้ชีวิตอยู่ดีมีสุขตลอดไป (หน้า 57) บุญเข้าพรรษา ตรงกับวันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 ชาวบ้านจะไปทำบุญตักบาตรและถวายผ้าอาบน้ำฝนตอนกลางคืนก็จะทำพิธีเวียนเทียนที่วัด (หน้า 57) บุญข้าวประดับดิน จัดในเดือนเก้า ในวันแรม 13 ค่ำเดือน 9 การทำบุญในวันนี้จะแบ่งอาหารออกเป็น 4 ส่วน อาหารที่จะถวายพระ อาหารที่เอาไว้กินในบ้าน อาหารที่จะแบ่งให้ญาติๆ อาหารที่อุทิศให้ผู้ล่วงลับไปแล้ว ปัจจุบันนิยมทำบุญให้กับผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว และถวายอาหารพระสงฆ์ ในช่วงเช้ามืดจะนำอาหารที่อุทิศให้ญาติที่ล่วงลับไปแล้ว ได้แก่ ของหวาน 1 ห่อ ของคาว 1 ห่อ หมากพลูและบุหรี่ นำไปวางไว้ตามบริเวณวัดและกรวดน้ำให้กับญาติที่เสียชีวิต และต่อมาก็จะไปใส่บาตรพระและถวายอาหารเช้าแก่พระที่วัด (หน้า 57- 58) บุญข้าวสาก จัดเมื่อถึงวันเพ็ญเดือน 10 ไทยโย้ยจะทำบุญให้กับญาติพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้ว นำอาหารไปถวายพระที่วัด กรวดน้ำอุทิศให้กับญาติที่เสียชีวิต เมื่อทำบุญแล้วก็จะนำข้าวสากบางส่วนไปใส่ในนาเพื่อบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ดูแลนาและต้องการให้ข้าวเติบโตงอกงาม ในวันนี้จะจัดแข่งขันเรือยาวกับไหลห้านบูชาไฟหรือไหลเรือไฟด้วย (หน้า 58) บุญออกพรรษา วันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 ภายหลังจากที่พระจำพรรษาครบ 3 เดือน การจัดงานจะปล่อยโคม จุดประทัดในช่วงกลางคืนจะฟังพระเทศน์และเวียนเทียนที่วัด การทำบุญจะทำ 3 วัน 3 คืน (หน้า 58) บุญทอดกฐิน ในเดือน 12 ปีหนึ่งจะทำเพียงหนึ่งครั้งและในแต่ละวัดจะรับกฐินได้หนึ่งครั้งเท่านั้น (หน้า 58) ประเพณีเฉพาะของไทยโย้ย ประเพณีเอาบุญท่ง หรือทำบุญที่ทุ่งนาเหมือนกับบุญคูณลาน ไทยโย้ยจะเรียกเสียงยาวว่า “โท่ง” การจัดพิธีจะจัดในเดือนยี่ในช่วงที่ยังไม่ขนข้าวเข้าเก็บในยุ้ง จุดประสงค์ของการทำบุญก็เพื่อต้องการให้ชีวิตเจริญก้าวหน้าและทำบุญให้กับบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้วด้วยและเกิดความเป็นมงคลกับทุ่งนาและเรียกขวัญข้าวขวัญนามารับส่วนบุญกุศล การจัดงานจะทำ 2 วัน ในวันเริ่มงานชาวบ้านจะเอาข้าวเปลือกมารวมกันที่ลานนวดข้าวที่ทำพิธีแล้วแต่ว่าใครจะศรัทธาว่าจะนำมาจำนวนเท่าไหร่ การทำพิธีจะให้พราหมณ์หรือคนที่ชาวบ้านนับถือมาประกอบพิธีเรียกขวัญนาขวัญข้าว และผีไร่ ผีนา ช่วงบ่ายนิมนต์พระมาสวด ส่วนตอนกลางคืนก็จะมีหนัง หมอลำและการแสดงอื่นๆ ให้ชม ในวันต่อมาช่วงเช้านิมนต์พระมาสวดและฉันอาหารเช้า ผู้ที่มาร่วมงานรับประทานอาหารร่วมกัน จากนั้นก็จะเอาข้าวเปลือกไปขายเพื่อนำเงินไปทำบุญที่วัด (หน้า 59-60) ประเพณีไหลห้านบูชาไฟ จัดในวันเพ็ญเดือน 10 จุดมุ่งหมายของการทำบุญก็เพื่อบูชารอยพระพุทธบาทพระพุทธเจ้า และบูชาแม่น้ำ และเพื่อให้สิ่งอัปมงคลต่างๆ ออกจากหมู่บ้าน คงเหลือแต่สิ่งที่เป็นมงคล สำหรับการทำเรือไฟนั้นเมื่อก่อนจะทำด้วยต้นกล้วย เอามาต่อเข้าด้วยกันเป็นรูปทรงหลายอย่าง มีความยาวราว 5 - 6 เมตร ใส่สิ่งต่างๆ ลงไปในเรือ เช่น ข้าวต้มมัด ขนม กล้วย อ้อย มะพร้าวอ่อน เผือก และอื่นๆ ส่วนด้านนอกเรือตกแต่งด้วยดอกไม้ ธูปเทียน ตะเกียง ขี้ไต้หรือผ้าชุบน้ำมันขี้ไต้ หรือที่ไทยโย้ยบ้านอากาศเรียกว่า ”ก้านจู้” เพื่อจุดไฟในตอนกลางคืนช่วงไหลเรือไฟ ส่วนบนเรือไฟจะมีการเล่นดนตรีพื้นเมืองตีกลอง ฉิ่ง ฉาบ และอื่นๆรวมทั้งมีคนเต้นรำอยู่บนนั้น (หน้า 60- 61) ประเพณีบุญเลี้ยงเจ้าปู่ พิธีนี้จะจัดในเดือน 3 ขึ้น 3 ค่ำ คนในหมู่บ้านจะนำอาหารมาเซ่นไหว้เจ้าปู่ เพื่อขอให้เจ้าปู่ดูแลคนในหมู่บ้านอยู่อย่างสงบร่มเย็น การเลี้ยงเจ้าปู่จะจัดอีกครั้งในระหว่างเดือนหกช่วงก่อนจะทำนาเพื่อขอให้เจ้าปู่ช่วยทำให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล (หน้า 61-62) ประเพณีอื่นๆ สำหรับประเพณีอื่นๆ ที่กล่าวไว้ในงานเขียน เช่น ประเพณีการเกิด การทำพิธีบายศรีสู่ขวัญให้แม่และลูกที่เพิ่งคลอดใหม่ การบวช จะบวชลูกชายเมื่ออายุครบ 20 ปี งานศพ การจัดพิธีส่วนใหญ่จะจัด 3 วัน 3 คืนเมื่อครบตามกำหนดก็จะนำศพไปทำพิธีเผาที่ป่าช้า (หน้า 62-65)

Education and Socialization

ในหมู่บ้านมี โรงเรียนของรัฐบาล 3 แห่งและโรงเรียนเอกชน 1 แห่งดังนี้ โรงเรียนบ้านอากาศ มีครู 51 คนประกอบด้วยครูผู้ชาย 17 คน และครูผู้หญิง 34 คน เปิดสอนตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาลถึงระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 มีจำนวนนักเรียน 1,206 คนประกอบด้วย นักเรียนชาย 613 คน และนักเรียนหญิง 593 คน (หน้า 42, ตารางหน้า 43-44) โรงเรียนอากาศอำนวยศึกษา มีจำนวนครูทั้งหมด 57 คน แบ่งเป็นผู้ชาย 26 คนและเพศหญิง 31 คน เปิดสอนตั้งแต่ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่1-6 มีจำนวนนักเรียนทั้งหมด 1,964 คน เป็นนักเรียนชาย 956 คน และนักเรียนหญิง 1,008 คน (หน้า 42,45 ตารางหน้า 46) โรงเรียนพระปริยัติธรรมวัดทุ่ง เปิดสอนหนังสือให้กับพระและเณร โดยสอนตั้งแต่ระดับชั้นมัธยมศึกษา 1 - 6 มีนักเรียนทั้งหมด 101 รูป เป็นพระ 5 รูป และเณร 96 รูป (หน้า 42,49) โรงเรียนอนุบาลแสงอรุณ เป็นโรงเรียนเอกชน เปิดรับเด็กตั้งแต่อายุ 3 ขวบ ทุกวันนี้มีนักเรียนทั้งหมด109 คน เป็นผู้ชาย 55 คน และผู้หญิง 54 คน (หน้า 42,50)

Health and Medicine

สุขภาพอนามัย เมื่อก่อนนี้ไทยโย้ยในบ้านอากาศมักเจ็บไข้ได้ป่วยด้วย ไข้อีสุกอีใส ไข้มาลาเรีย ท้องร่วง ทุกวันนี้มักจะเจ็บป่วยด้วยโรคที่เกิดจากการสะสมของสารพิษ ได้แก่ โรคมะเร็ง โรคตับ โรคไต เป็นต้น สำหรับความรู้เรื่องสุขภาพอนามัย จะมีเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาล สถานีอนามัย มาให้ความรู้กับไทยโย้ย สำหรับอาหารไทยโย้ยชอบกินอาหารสุกๆ ดิบๆ ทั้งอาหารที่ปรุงด้วยปลาและเนื้อสัตว์ แต่ทุกวันนี้ไทยโย้ยรู้ว่าการกินอาหารสุกๆ ดิบๆ นั้นเป็นอันตรายต่อสุขภาพเพราะมีเจ้าหน้าที่มาอบรมให้ความรู้ดังนั้นไทยโย้ยจึงเปลี่ยนพฤติกรรมการกินอาหารเพื่อสุขภาพอนามัยที่ดีของตนเอง (หน้า 94-95,118)

Art and Crafts (including Clothing Costume)

การแสดง การแสดงของไทยโย้ยได้หายสาบสูญไปหลายอย่างเมื่อประมาณ 30 ปีที่ผ่านมายังมีการแสดงกันอยู่ เช่น โขน หนังตะลุง หมอลำคู่ รวมทั้งการลงข่วง ซึ่งเป็นเวลาที่หนุ่มสาวจะพบกันในเวลากลางคืนตอนปั่นด้าย หนุ่มที่ไปหาสาวจะเป่าแคน และดีดพิณ จากนั้นหนุ่มสาวก็จะพูดคุยกัน ปัจจุบันมีหมอลำหมู่ หมอลำซิ่ง หนัง และวงดนตรี มาแทนการแสดงที่มีแต่เดิม (หน้า 92,117) การเล่นกลองเลง เป็นการแสดงของไทยโย้ยบ้านอากาศ ที่ยังคงอยู่จนถึงทุกวันนี้ สำหรับความหมายของคำว่า “เลง” หมายความว่า “การเที่ยว การเล่น “การเล่นกลองเลง จึงหมายถึง “การตีกลองเที่ยวเล่น “ สำหรับกลองเลงนั้นจะเป็นแบบกลองแบน 2 หน้า มีเส้นผ่าศูนย์กลางตั้งแต่ 45 เซนติเมตร จะให้คนหาม 2 คน หันหน้าเข้าหากันตอนตีกลอง ทั้งสองคนที่หามจะตีกลองพร้อมกัน ขณะตีจะเล่นพร้อมกับเครื่องดนตรีอื่นประกอบไปด้วย เช่น กลองกิ่ง พิณ ซอ แคน ฉิ่ง ฉาบ พังฮาด (คล้ายกับฆ้องแต่ไม่มีปุ่ม ตรงกลางจะแบน) (หน้า 92-93) การเล่นกลองเลงจะเล่นในช่วงหน้าเทศกาลบุญพระเวส ซึ่งไทยโย้ยจะเริ่มทำบุญช่วงเดือนยี่ถึงเดือนห้า จะเล่นตั้งแต่หัวค่ำจนเกือบรุ่งเช้าของอีกวัน จะแห่ไปตามบ้านเพื่อรับบริจาคสิ่งของไปทำบุญ เครื่องดนตรีที่ใช้เล่นประกอบการเล่นกลองเลงในปัจจุบัน เช่น พิณ แคน ได้หายสาบสูญ คงเหลือเครื่องดนตรีแบบเดิมที่ใช้ประกอบเพียงไม่มาก และได้มีการประยุกต์เครื่องดนตรีสากลเข้ามาเล่นประกอบกลองเลง ไม่ว่าจะเป็น กีตาร์ กลองชุด อิเลคโทน (หน้า 93)

Folklore

ไม่มี

Ethnicity (Ethnic Identity, Boundaries and Ethnic Relation)

ไม่มี

Social Cultural and Identity Change

สิ่งที่ทำให้วิถีชีวิตของไทยโย้ยบ้านอากาศเกิดการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมีด้วยกันดังนี้ ปัจจัยภายนอกหมู่บ้าน ได้แก่ การพัฒนาชุมชนในเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน เช่น การตัดถนนเข้าหมู่บ้าน จึงทำให้เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรมต่างๆ เปลี่ยนไป และเมื่อมีไฟฟ้าในหมู่บ้านก็ทำให้ไทยโย้ยใช้จ่ายเงินเพื่อซื้อหาเครื่องใช้ไฟฟ้า อาทิ วิทยุ โทรทัศน์ อีกทั้งรูปแบบการปกครองเปลี่ยนมาเป็นแบบสุขาภิบาลก็ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจากการทำมาหากินอย่างพอเพียงเพื่อเลี้ยงครอบครัวก็เปลี่ยนมาเป็นแบบหาสิ่งของต่างๆ เพื่อนำมาขายที่ตลาด (หน้า 101-110,120)

Other Issues

ไม่มี

Map/Illustration

ตาราง จำนวนครูนักเรียนโรงเรียนบ้านอากาศ (หน้า 43,44,45,46,47) ประเภทของการศึกษาต่อของนักเรียน ม.6 ปีการศึกษา 2539 โรงเรียนบ้านอากาศ (หน้า 48) พระ เณร โรงเรียนพระปริยัติธรรมวัดทุ่งบ้านอากาศ ตำบลอากาศ อำเภออากาศอำนวย จังหวัดสกลนคร (หน้า 49,50) นักเรียนและห้องเรียนโรงเรียนอนุบาลแสงอรุณ (หน้า 51) กลุ่มตัวอย่าง จำนวน 11 หมู่ในชุมชนบ้านอากาศ (หน้า 68) อายุ,เพศของผู้ให้สัมภาษณ์ จำนวน 185 คน (หน้า 69,70) สภาพชุมชนและครอบครัว (หน้า 71) อาชีพของไทยโย้ย (หน้า 73,75,77) พื้นที่การประกอบอาชีพ (หน้า 83) แผนผัง คณะกรรมการสุขาภิบาลอำเภออากาศอำนวย (หน้า 38) ภาพ บ้านไทยโย้ยบ้านอากาศ (หน้า 170) กลองเลง (หน้า 170) หนุ่ม สาว ไทยโย้ย (หน้า 171) ประเพณีแข่งเรือ (หน้า 171) ชาวคุ้มช่วยกันทำแพประดับก้านจู้ (หน้า 172) การทำแพในประเพณีไหลห้านบูชาไฟ (ไหลเรือไฟ) (หน้า 172,173,174)

Text Analyst ภูมิชาย คชมิตร Date of Report 30 มิ.ย 2560
TAG ผู้ย้อย ย้อย ลาวย้อย ไทย้อย โย่ย, สังคม, วัฒนธรรม, ชุมชน, สกลนคร, Translator -
 
 

 

ฐานข้อมูลอื่นๆของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
  ฐานข้อมูลพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทย
จารึกในประเทศไทย
จดหมายเหตุทางมานุษยวิทยา
แหล่งโบราณคดีที่สำคัญในประเทศไทย
หนังสือเก่าชาวสยาม
ข่าวมานุษยวิทยา
ICH Learning Resources
ฐานข้อมูลเอกสารโบราณภูมิภาคตะวันตกในประเทศไทย
ฐานข้อมูลประเพณีท้องถิ่นในประเทศไทย
ฐานข้อมูลสังคม - วัฒนธรรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  หน้าหลัก
งานวิจัยชาติพันธุ์ในประเทศไทย
บทความชาติพันธุ์
ข่าวชาติพันธุ์
เครือข่ายชาติพันธุ์
เกี่ยวกับเรา
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  ข้อมูลโครงการ
ทีมงาน
ติดต่อเรา
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
ช่วยเหลือ
  กฏกติกาและมารยาท
แบบสอบถาม
คำถามที่พบบ่อย


ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) เลขที่ 20 ถนนบรมราชชนนี เขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ 10170 
Tel. +66 2 8809429 | Fax. +66 2 8809332 | E-mail. webmaster@sac.or.th 
สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2549    |   เงื่อนไขและข้อตกลง