สมัครสมาชิก   
| |
ค้นหาข้อมูล
ค้นหาแบบละเอียด
  •   ความเป็นมาและหลักเหตุผล

    เพื่อรวบรวมงานวิจัยทางชาติพันธุ์ที่มีคุณภาพมาสกัดสาระสำคัญในเชิงมานุษยวิทยาและเผยแผ่สาระงานวิจัยแก่นักวิชาการ นักศึกษานักเรียนและผู้สนใจให้เข้าถึงงานวิจัยทางชาติพันธุ์ได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น

  •   ฐานข้อมูลจำแนกกลุ่มชาติพันธุ์ตามชื่อเรียกที่คนในใช้เรียกตนเอง ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้ คือ

    1. ชื่อเรียกที่ “คนอื่น” ใช้มักเป็นชื่อที่มีนัยในทางเหยียดหยาม ทำให้สมาชิกกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ รู้สึกไม่ดี อยากจะใช้ชื่อที่เรียกตนเองมากกว่า ซึ่งคณะทำงานมองว่าน่าจะเป็น “สิทธิพื้นฐาน” ของการเป็นมนุษย์

    2. ชื่อเรียกชาติพันธุ์ของตนเองมีความชัดเจนว่าหมายถึงใคร มีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมอย่างไร และตั้งถิ่นฐานอยู่แห่งใดมากกว่าชื่อที่คนอื่นเรียก ซึ่งมักจะมีความหมายเลื่อนลอย ไม่แน่ชัดว่าหมายถึงใคร 

     

    ภาพ-เยาวชนปกาเกอะญอ บ้านมอวาคี จ.เชียงใหม่

  •  

    จากการรวบรวมงานวิจัยในฐานข้อมูลและหลักการจำแนกชื่อเรียกชาติพันธุ์ที่คนในใช้เรียกตนเอง พบว่า ประเทศไทยมีกลุ่มชาติพันธุ์มากกว่า 62 กลุ่ม


    ภาพ-สุภาษิตปกาเกอะญอ
  •   การจำแนกกลุ่มชนมีลักษณะพิเศษกว่าการจำแนกสรรพสิ่งอื่นๆ

    เพราะกลุ่มชนต่างๆ มีความรู้สึกนึกคิดและภาษาที่จะแสดงออกมาได้ว่า “คิดหรือรู้สึกว่าตัวเองเป็นใคร” ซึ่งการจำแนกตนเองนี้ อาจแตกต่างไปจากที่คนนอกจำแนกให้ ในการศึกษาเรื่องนี้นักมานุษยวิทยาจึงต้องเพิ่มมุมมองเรื่องจิตสำนึกและชื่อเรียกตัวเองของคนในกลุ่มชาติพันธุ์ 

    ภาพ-สลากย้อม งานบุญของยอง จ.ลำพูน
  •   มโนทัศน์ความหมายกลุ่มชาติพันธุ์มีการเปลี่ยนแปลงในช่วงเวลาต่างๆ กัน

    ในช่วงทศวรรษของ 2490-2510 ในสาขาวิชามานุษยวิทยา “กลุ่มชาติพันธุ์” คือ กลุ่มชนที่มีวัฒนธรรมเฉพาะแตกต่างจากกลุ่มชนอื่นๆ ซึ่งมักจะเป็นการกำหนดในเชิงวัตถุวิสัย โดยนักมานุษยวิทยาซึ่งสนใจในเรื่องมนุษย์และวัฒนธรรม

    แต่ความหมายของ “กลุ่มชาติพันธุ์” ในช่วงหลังทศวรรษ 
    2510 ได้เน้นไปที่จิตสำนึกในการจำแนกชาติพันธุ์บนพื้นฐานของความแตกต่างทางวัฒนธรรมโดยตัวสมาชิกชาติพันธุ์แต่ละกลุ่มเป็นสำคัญ... (อ่านเพิ่มใน เกี่ยวกับโครงการ/คู่มือการใช้)


    ภาพ-หาดราไวย์ จ.ภูเก็ต บ้านของอูรักลาโว้ย
  •   สนุก

    วิชาคอมพิวเตอร์ของนักเรียน
    ปกาเกอะญอ  อ. แม่ลาน้อย
    จ. แม่ฮ่องสอน


    ภาพโดย อาทิตย์    ทองดุศรี

  •   ข้าวไร่

    ผลิตผลจากไร่หมุนเวียน
    ของชาวโผล่ว (กะเหรี่ยงโปว์)   
    ต. ไล่โว่    อ.สังขละบุรี  
    จ. กาญจนบุรี

  •   ด้าย

    แม่บ้านปกาเกอะญอ
    เตรียมด้ายทอผ้า
    หินลาดใน  จ. เชียงราย

    ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ถั่วเน่า

    อาหารและเครื่องปรุงหลัก
    ของคนไต(ไทใหญ่)
    จ.แม่ฮ่องสอน

     ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ผู้หญิง

    โผล่ว(กะเหรี่ยงโปว์)
    บ้านไล่โว่ 
    อ.สังขละบุรี
    จ. กาญจนบุรี

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   บุญ

    ประเพณีบุญข้าวใหม่
    ชาวโผล่ว    ต. ไล่โว่
    อ.สังขละบุรี  จ.กาญจนบุรี

    ภาพโดยศรยุทธ  เอี่ยมเอื้อยุทธ

  •   ปอยส่างลอง แม่ฮ่องสอน

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ปอยส่างลอง

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดย เบญจพล  วรรณถนอม
  •   อลอง

    จากพุทธประวัติ เจ้าชายสิทธัตถะ
    ทรงละทิ้งทรัพย์ศฤงคารเข้าสู่
    ร่มกาสาวพัสตร์เพื่อแสวงหา
    มรรคผลนิพพาน


    ภาพโดย  ดอกรัก  พยัคศรี

  •   สามเณร

    จากส่างลองสู่สามเณร
    บวชเรียนพระธรรมภาคฤดูร้อน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   พระพาราละแข่ง วัดหัวเวียง จ. แม่ฮ่องสอน

    หล่อจำลองจาก “พระมหามุนี” 
    ณ เมืองมัณฑะเลย์ ประเทศพม่า
    ชาวแม่ฮ่องสอนถือว่าเป็นพระพุทธรูป
    คู่บ้านคู่เมืององค์หนึ่ง

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม

  •   เมตตา

    จิตรกรรมพุทธประวัติศิลปะไต
    วัดจองคำ-จองกลาง
    จ. แม่ฮ่องสอน
  •   วัดจองคำ-จองกลาง จ. แม่ฮ่องสอน


    เสมือนสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรม
    เมืองไตแม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ใส

    ม้งวัยเยาว์ ณ บ้านกิ่วกาญจน์
    ต. ริมโขง อ. เชียงของ
    จ. เชียงราย
  •   ยิ้ม

    แม้ชาวเลจะประสบปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัย
    พื้นที่ทำประมง  แต่ด้วยความหวัง....
    ทำให้วันนี้ยังยิ้มได้

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ผสมผสาน

    อาภรณ์ผสานผสมระหว่างผ้าทอปกาเกอญอกับเสื้อยืดจากสังคมเมือง
    บ้านแม่ลาน้อย จ. แม่ฮ่องสอน
    ภาพโดย อาทิตย์ ทองดุศรี
  •   เกาะหลีเป๊ะ จ. สตูล

    แผนที่ในเกาะหลีเป๊ะ 
    ถิ่นเดิมของชาวเลที่ ณ วันนี้
    ถูกโอบล้อมด้วยรีสอร์ทการท่องเที่ยว
  •   ตะวันรุ่งที่ไล่โว่ จ. กาญจนบุรี

    ไล่โว่ หรือที่แปลเป็นภาษาไทยว่า ผาหินแดง เป็นชุมชนคนโผล่งที่แวดล้อมด้วยขุนเขาและผืนป่า 
    อาณาเขตของตำบลไล่โว่เป็นส่วนหนึ่งของป่าทุ่งใหญ่นเรศวรแถบอำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี 

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   การแข่งขันยิงหน้าไม้ของอาข่า

    การแข่งขันยิงหน้าไม้ในเทศกาลโล้ชิงช้าของอาข่า ในวันที่ 13 กันยายน 2554 ที่บ้านสามแยกอีก้อ อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย
 
  Princess Maha Chakri Sirindhorn Anthropology Centre
Ethnic Groups Research Database
Sorted by date | title

   Record

 
Subject ชาวบน,วิถีชีวิต,เศรษฐกิจ,สังคม,ความเชื่อ,ชัยภูมิ
Author ปรีชา อุยตระกูล และ กนก โตสุรัตน์
Title สังคมและวัฒนธรรมของชาวบน
Document Type รายงานการวิจัย Original Language of Text -
Ethnic Identity ญัฮกุร เนียะกุร, Language and Linguistic Affiliations ออสโตรเอเชียติก(Austroasiatic)
Location of
Documents
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
(เอกสารฉบับเต็ม)
Total Pages 65 Year 2529
Source วิทยาลัยครูนครราชสีมา
Abstract

เนื้อหาของงานเขียนเกี่ยวกับการศึกษาถึงความเป็นมาของชาวบน บ้านน้ำลาด ตำบลนายางกลัก อำเภอเทพสถิต จังหวัดชัยภูมิ ว่าชาวบนมีความเป็นมา วิถีชีวิต ศาสนาและความเชื่อ ประเพณี เศรษฐกิจ การเมือง การศึกษาและการสาธารณสุขเป็นเช่นไร โดยในการศึกษาได้ครอบคลุมไปถึงระบบครอบครัวและเครือญาติ เพราะต้องการให้เห็นสภาพสังคมและวัฒนธรรมของชาวบนทั้งในอดีตและในทุกวันนี้ และมีความสัมพันธ์ทางสังคมกับคนไทยและไทยลาวอย่างไร ตลอดจนทัศนคติของชาวบนที่มีต่อคนไทยและไทยลาวที่อยู่อาศัยในชุมชนว่าเป็นอย่างไร

Focus

ศึกษาสภาพสังคมและวัฒนธรรม ตลอดความเชื่อ ประเพณี เศรษฐกิจ การเมือง การสาธารณสุขการศึกษา ครอบครัวของชาวบนเพื่อให้ภาพรวมของสภาพสังคมและวัฒนธรรมของชาวบนในอดีตและปัจจุบัน (หน้า 5)

Theoretical Issues

ไม่มี

Ethnic Group in the Focus

ชาวบนจะเรียกตนเองว่าเนียะกุล (Nia-Kuoll) หรือ ญัฮกุร (Nyah Kur,pah kur) ซึ่งในภาษาชาวบน คำว่า “เนียะ”หรือ “ญัฮ” หมายถึง คน (people) และคำว่า กุร หรือกูล (หน้า 1) หมายถึง ภูเขา (Hill,mountain) (หน้า 2)นอกจากนี้ยังมีคำเรียกที่แตกต่างกันไปเช่นชาวบนที่อยู่ในเพชรบูรณ์จะเรียกตนเองว่าว่า “ละว้า” และในกลุ่มที่อยู่ในจังหวัดชัยภูมิเรียกว่า “ละว้าชาวบน” และคนบางส่วนได้ตั้งข้อสันนิษฐานว่าชาวบนเป็นข่ากลุ่มหนึ่งและบางครั้งก็มีคนเรียกชาวบนว่า“ข่าตองเหลือง” (หน้า 1) ในกลุ่มคนไทยเรียกญัฮกุร หรือ เนียะกุล ว่า”ชาวบน”หรือ”ชาวดง” กลุ่มชาวบนเป็นชาติพันธุ์ ที่ตั้งบ้านเรือนอยู่บริเวณไหล่เขาและภูเขาไม่สูงในพื้นที่ริมขอบที่ราบสูงโคราชในพื้นที่ในเขตจังหวัดนครราชสีมา ชัยภูมิ เพชรบูรณ์ที่อยู่ติดกับจังหวัดชัยภูมิ (หน้า 1)

Language and Linguistic Affiliations

ภาษาของชาวบนอยู่ในตะกูลมอญ-เขมร ส่วนนักภาษาศาสตร์ระบุว่าภาษาของชาวบนเป็นภาษาย่อยของมอญโบราณ ที่ใช้พูดตั้งแต่ยุคอาณาจักรทวาราวดี (หน้า 2) ภาษาของชาวบนมีแต่ภาษาพูดไม่มีภาษาเขียน (หน้า 39) ชาวบนอยู่ในหลายพื้นที่และมีคนพูดภาษานี้อาศัยอยู่ในพื้นที่ต่างๆ เช่นในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา ชัยภูมิ และเพชรบูรณ์ (หน้า2,3)

Study Period (Data Collection)

สิงหาคม-ธันวาคม 2529 (หน้า 6)

History of the Group and Community

ประวัติการตั้งหมู่บ้าน หมู่บ้านตั้งเมื่อ 50 ปีที่ผ่านมา ชาวบนกลุ่มแรกที่เข้ามาตั้งหมู่บ้านเมื่อก่อนนี้อยู่ที่บ้านวังขอนทีอยู่ห่างจากที่ตั้งของหมู่บ้านในปัจจุบัน ประมาณ 10 กิโลเมตร สำหรับสาเหตุที่ชาวบนอพยพ เนื่องจากหมู่บ้านเดิมแห้งแล้ง กลุ่มคนที่มาอยู่ในหมู่บ้านตอนนั้นมี 5 ครอบครัว อีกส่วนหนึ่งได้ย้ายไปอยู่ที่บ้านหนองใหญ่ในพื้นที่เชิงเขาปรก แต่อยู่ได้ประมาณ 1 ปี 8 เดือน เนื่องจากมีคนตายบ่อยเฉลี่ยตายวันละ 2-3 คน ดังนั้นจึงย้ายอีกครั้งไปอยู่ในพื้นที่ห้วยเพ็กม่าที่อยู่ไม่ไกลจากหนองใหญ่ แต่อยู่ได้ประมาณ 2 เดือน ก็มีเสือเข้ามาในหมู่บ้านคาบคนไปกินเป็นอาหาร ดังนั้นคนกลุ่มนี้จึงย้ายเข้ามารวมกลุ่มกับกลุ่มชาวบนที่ย้ายมาอยู่ในบ้านน้ำลาดในครั้งแรก กระทั่งใน พ.ศ.2520 กลุ่มไทลาวได้เข้ามาอยู่ในหมู่บ้านด้วยเพื่อเผาถ่านไปขาย ทุกวันนี้คนในหมู่บ้านประกอบด้วยชาติพันธุ์ต่างๆ ได้แก่ ไทยลาว คนไทย และชาวบน (หน้า 14)

Settlement Pattern

บ้านสร้างแบบใต้ถุนสูง เพื่อเอาไว้ก่อไฟผิงกันหนาวและป้องกันสัตว์ร้ายชนิดต่างๆ เสาบ้านจะมีง่ามเพื่อใช้รองรับคานหรือรอด สำหรับที่ใช้เสาไม้ง่ามเพราะว่าไม่มีเครื่องเจาะรูเสา ส่วนพื้นกับฝาบ้านจะทำจากไม้ไผ่ ไม้บง โดยนำมา ผ่าทำเป็นฟาก หลังคาบ้านมุงแฝก บ้านจะปล่อยโล่งไม่กั้นห้องอย่างเป็นสัดส่วน สำหรับบ้านไม้จริงได้เริ่มสร้างครั้งแรกในหมู่บ้านเมื่อมีคนไทลาวเข้ามาแต่งงานกับคนในหมู่บ้าน บ้านที่สร้างแบบใหม่จะสร้างด้วยไม้จริงมุงสังกะสีและมีการกั้นห้อง (หน้า 20) บ้านของชาวดงทุกวันนี้โดยมากจะสร้างแบบใต้ถุนสูงมุงหลังคาด้วยสังกะสี ในหมู่บ้านการตั้งบ้านเรือนจะแบ่งตามชาติพันธุ์ โดยกลุ่มคนไทย กับไทยลาวซึ่งประมาณ 8 หลังจะสร้างบ้านอยู่ทางคุ้มเหนือของหมู่บ้าน ส่วนชาวบนจะสร้างบ้านอยู่อีกกลุ่ม (หน้า 21)

Demography

ประชากรในหมู่บ้านน้ำลาด มีครัวเรือนจำนวน 61 ครัวเรือน เป็นชาวบน 53 ครัวเรือน คนไทยและไทยลาวอีก 8 ครัวเรือน รวมประชากรทั้งหมด 301 คน โดยแบ่ง เป็นผู้ชาย 167 คน และเพศหญิง 134 คน (สำรวจ พฤศจิกายน พ.ศ.2529) (หน้า 18) ประชากรชาวบนในที่อื่นๆ จากการสำรวจของพะเยาว์ มีมานัส ใน พ.ศ.2522 พบว่ามีชาวบนอาศัยอยู่ในพื้นที่ต่างๆ ดังนี้ ที่บ้านพระบึง บ้านวังตะเคียน บ้านกลางและบ้านตะขบ ตำบลตะขบ อำเภอปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา มีประชากรชาวบน 69 ครอบครัว แบ่งเป็นผู้ชาย 223 คน และผู้หญิง 233 คน อยู่ในพื้นที่กิ่งอำเภอหนองบัวระเหว จังหวัดชัยภูมิ อยู่ที่บ้านห้วยแย้ จำนวน 200 คน บ้านท่าโปง 100 คน (หน้า 2) ชาวบนในอำเภอเทพสถิต จังหวัดชัยภูมิ อยู่ในพื้นที่ตำบลบ้านไร่ 4 หมู่บ้านประกอบด้วย บ้านไร่ จำนวน 233 คน บ้านวังอ้ายโพธิ์ จำนวน 329 คน บ้านวังตาเทพ จำนวน 118 คน บ้านวังอ้ายดงจำนวน 175 คน และอยู่ในพื้นที่ตำบลยายางเล็ก อีก 7 หมู่บ้านได้แก่ บ้านสะพานหินจำนวน 158 คน บ้านนา จำนวน 125 คน บ้านน้ำลาด จำนวน 286 คน บ้านบุ่งเวียน 108 คน บ้านสะพานยาว 38 คน บ้านเสลี่ยงทอง 116 คน บ้านโคกสะอาด 99 คน และจำนวนประชากรชาวบนที่บ้านวังกำแพง ตำบลซีบน อำเภอบ้านเขว้า จังหวัดชัยภูมิ 377 คน (หน้า 2)

Economy

เศรษฐกิจ ในการศึกษาได้กล่าวถึงเศรษฐกิจความเป็นอยู่ของชาวบนดังนี้อาชีพ ชาวบนทำอาชีพหลักได้แก่การทำไร่ทำนา โดยจะปลูกข้าวเอาไว้กินและปลูกพืชไร่เอาไว้จำหน่าย ปลูกพืชเศรษฐกิจต่างๆ ได้แก่ ข้าวโพด มันสำปะหลัง ปอ (หน้า 4,27) นอกจากนี้ยังเลี้ยงสัตว์เอาไว้กินและเซ่นไหว้ผีและใช้แรงงาน เช่น เลี้ยงเป็ด ไก่ หมู วัว ควาย เป็นต้น (หน้า 30,35) การถือครองที่ดิน ทุกวันนี้ชาวบนมีที่ดินทำกินเฉลี่ยครอบครัวละ 20-30 ไร่ (หน้า 29) เงินออมและหนี้สิน จากการศึกษาพบว่าครอบครัวชาวบนไม่มีเงินออม สำหรับหนี้สินเฉลี่ยจะเป็นหนี้ประมาณ 5,000-10,000 บาท เงินที่ยืมจะยืมมาจากนายทุนเพื่อใช้เป็นทุนในการเพาะปลูก เช่นค่าจ้างค่าไถ ค่าพันธุ์พืช (หน้า 33) การสืบทอดมรดก ชาวบนไม่มีกฎระเบียบตายตัวเรื่องการแบ่งมรดกเพราะไม่มีทรัพย์สินอะไรมากเนื่องจากย้ายที่อยู่บ่อยและเปลี่ยนไปถางที่ทำกินใหม่เรื่อยๆ ลูกชายหญิงจะมีความเท่าเทียมกัน มรดกของชาวบนส่วนใหญ่จะเป็นเครื่องประดับได้แก่กระจอนหรือต่างหู เสื้อผ้า แต่ส่วนมากจะให้ลูกสาวคนสุดท้องที่ทำหน้าที่ดูแลเลี้ยงดูพ่อแม่ (หน้า 25)

Social Organization

ครอบครัว ครอบครัวชาวบนจะช่วยกันทำงานในไร่ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ผู้ชายจะทำงานที่ใช้กำลังเช่นตัดต้นไม้ หาของป่า ล่าสัตว์ สำหรับผู้หญิงกับเด็กจะทำหน้าที่ดายหญ้า พรวนดิน หยอดเมล็ดพืช งานในบ้านจะเป็นหน้าที่ของผู้หญิง หากเป็นการตัดสินใจในเรื่องต่างๆ ของครอบครัวก็จะเป็นหน้าที่ของผู้หญิงเช่นกัน (หน้า 26,39) การแต่งงาน หนุ่มสาวชาวบนจะมีความเป็นอิสระในการเลือกคู่ครอง ก่อนการแต่งงานหนุ่มสาวจะทำความรู้จักกันตอนที่ไปเล่นน้ำ ตำข้าวในตอนกลางคืน หรือในตอนมีงานบุญประจำปี เมื่อชายหนุ่มพบคนที่ถูกใจก็จะให้ผู้หลักผู้ใหญ่ไปสู่ขอ คนที่ทำหน้าที่สู่ขอและตกลงเรื่องค่าสินสอดชาวบนเรียก “นพะซูพะโล” โดยจะไปในช่วงเย็นหลังจากกลับจากการทำงาน สำหรับค่าสินสอดถ้าเป็นชาวบนแต่งงานกันเองจะมีค่าสินสอดอยู่ระหว่าง 4,000-5,000 บาท แต่ถ้าแต่งกับคนไทยหรือไทยลาวค่าสินสอดจะตั้งไม่ต่ำกว่า 10,000 บาท (หน้า 22-23) การจัดพิธีแต่งงานทั้งเจ้าบ่าวและเจ้าสาวจะเตรียมงานที่บ้านตนเอง ในช่วงเช้าเจ้าบ่าวจะยกขันหมากไปที่บ้านเจ้าสาว สิ่งของที่ยกมาพร้อมขันหมากจะประกอบด้วย เงิน ผ้า ดอกไม้ กรวย ขัน ธูป เทียน และไก่ต้มอีก 1 ตัว พอไปถึงบ้านบ้านเจ้าสาวก็จะจัดพิธีเซ่นไหว้ผีเพื่อบอกให้รู้ว่าจะจัดพิธีแต่งงานแล้วฝ่ายเจ้าบ่าวก็จะมอบเงินและของที่เตรียมมากับขบวนขันหมากให้กับฝ่ายเจ้าสาว สำหรับไก่ต้มที่เตรียมมาก็จะทำนายดูว่าไก่ต้มของฝ่ายเจ้าบ่าวเจ้าสาวเหมือนกันหรือไม่ ถ้าคางไก่ดูแล้วไม่บิดงอก็จะทำนายว่าทั้งสองเป็นคู่สมรสที่เหมาะสมกัน (หน้า 23) เมื่อประกอบพิธีเรียบร้อยแล้วก็จะเลี้ยงอาหารแขกที่มาร่วมงาน จากนั้นเจ้าบ่าวก็จะกลับบ้านในตอนเย็นก็จะส่งตัวเจ้าบ่าวไปบ้านเจ้าสาว สำหรับการจัดพิธีแต่งงานของชาวบนในทุกวันนี้บางส่วนจะได้รับอิทธิพลจากคนไทยและไทยลาวที่เข้ามาอยู่ในหมู่บ้าน คือในการจัดงานแต่งงานจะนิมนต์พระมาสวดให้พรด้วย เมื่อแต่งงานแล้วฝ่ายชายจะมาอยู่ที่บ้านฝ่ายหญิง หากมีลูกหรือพอที่จะสร้างบ้านของตนเองได้ก็จะแยกครอบครัวมาสร้างบ้านของตนเองต่างหากกรณีถ้าเป็นลูกสาวคนสุดท้องก็จะอยู่เลี้ยงดูพ่อแม่ต่อไป (หน้า 23-25)

Political Organization

ในหมู่บ้านมีผู้นำอย่างเป็นทางการ ได้แก่ ผู้ใหญ่บ้านและคณะกรรมการหมู่บ้าน และผู้นำอย่างไม่เป็นทางการ คือ กลุ่มผู้สูงอายุทำหน้าที่ให้คำปรึกษาหากมีมีความขัดแย้งของคนในหมู่บ้านและมี ”ขมุก” หรือ” คนทรง” ทำหน้าที่เป็นผู้ติดต่อระหว่างคนกับผีเมื่อทำพิธีไหว้ผีประจำหมู่บ้านและรักษาคนป่วย นอกจากนี้ผู้นำอย่างไม่เป็นทางการก็ยังมีพระสงฆ์อีกด้วย (หน้า 41)

Belief System

ศาสนาและความเชื่อ ชาวบนบ้านน้ำลาดนับถือศาสนาพุทธและนับถือผี ในหมู่บ้านมีสำนักสงฆ์ 1 แห่ง สร้างเมื่อปี พ.ศ.2526 (หน้า 19,56) สำหรับผีที่นับถือได้แก่ ผีเรือนหรือผีเชื้อชาวบนเรียกว่า “ท็อกนางเดิ้ม” หรือ “ท็อกยองท็อกเปน” ผีเรือนจะสืบเชื้อสายทางฝ่ายแม่ทำหน้าที่ให้ความคุ้มครองให้ลูกหลานอยู่เย็นเป็นสุข แต่ถ้าหากกระทำผิดก็จะลงโทษเช่นกัน ส่วนผีเรือนของฝ่ายพ่อก็จะให้ความคุ้มครองเฉพาะฝ่ายพ่อ โดยจะไม่คุ้มครองฝ่ายลูกและแม่ (หน้า 36,57) นอกจากนี้ยังมีชนิดอื่นที่เป็นผีร้ายคอยทำให้ชาวบนเจ็บไข้ไม่สบายเช่นผีป่า ผีดง หรือ”ท็อกยากูล” และ ผีตีนเดียว เป็นต้น (หน้า 37,57) ประเพณี สำหรับประเพณีที่สำคัญของชาวบนมีด้วยกันดังต่อไปนี้ ประเพณีการโกนจุก สำหรับเด็กชาวบนที่ไว้ผมจุกจะเรียกกันว่า “โชงโปย”หรือ “ชวกโปย” การโกนจุกจะโกนให้เด็กที่มีอายุระหว่าง 11 ถึง 12 ปี โยจะโกนจุกตอนกลางคืน ในเดือนสูญ ซึ่งเป็นคืนที่เกิดจันทรุปราคา (หน้า 53) งานศพ ขั้นตอนการประกอบพิธีเมื่อมีคนตายก็จะไม่นำศพลงมาทางบันไดแต่จะรื้อฝาบ้านแล้วนำศพไปฝัง การห่อศพจะห่อร่างผู้ตายด้วยฟากไม้ไผ่แล้วจะมัดด้วยเถาวัลย์ 3 จุด คือที่บริเวณด้านหัว กลางลำตัวและที่เท้าเมื่อขุดหลุมแล้วก็จะโรยด้วยหนาม จากนั้นก็จะรองด้วยใบไม้ เมื่อนำศพลงหลุมก็จะคว่ำหน้าศพแล้วหันหัวไปด้านทิศตะวันตก จากนั้นก็จะถมดินแล้วทับด้วยไม้แล้วสาดข้าวสารจากนั้นก็จะกลบดินอีกชั้นหนึ่ง กรณีถ้าเป็นศพเด็กก็จะฝังเลย แต่ถ้าเป็นศพของผู้ใหญ่ก็จะฝังเป็นเวลา 2-5 ปี จึงจะขุดขึ้นมาเผาให้พระสวดตามพิธีทางศาสนา (หน้า 54) ประเพณีสงกรานต์ การเล่นสงกรานต์ของชาวบนจะเริ่มเล่นนับจาก แรม 15 ค่ำ เดือน 4 กระทั่งถึงเดือน 5 ในการเล่นสงกรานต์จะมีการละเล่นต่างๆ ด้วย เช่น เล่นสะบ้า ลูกข่าง เล่นกระแจ๊ะ หรือป๊ะเรเร (เพลงร้องโต้ตอบกันระหว่างชายหญิง)เล่นเข้าทรงผี และอื่นๆ (หน้า 55) การเลี้ยงผีปู่ตา การจัดพิธีจะอยู่ระหว่างเดือน 5 กับเดือน 6 ซึ่งก่อนที่จะประกอบพิธีก็จะซ่อมศาลแล้วนำไม้มาสลักเป็นรูปต่างๆ เช่น ช้าง ม้า หอก ดาบ ปืนการทำพิธีจะเซ่นไหว้ผีและเล่นดนตรีประกอบ ซึ่งเครื่องดนตรีประกอบด้วย โทน ปีแก้ว แคน เป็นต้นและของเซ่นไหว้จะประกอบด้วย ข้าวดำ(ย้อมดินหม้อ) ข้าวแดง (ย้อมน้ำหมาก) ไข่ต้ม ดอกไม้ ธูป เทียนและอื่นๆ ขั้นตอนการทำพิธีที่ศาล หมอโทนจะตีโทนและจะเชิญคนทรงมาร่วมพิธี เมื่อผีเข้าก็จะร้องรำทำเพลงหากเป็นผีลาวก็จะร้องภาษาลาว หากเป็นผีไทยก็จะร้องเป็นภาษาไทย จากนั้นชาวบนก็จะถามผีว่ามาจากที่ใดและถามถึงความเป็นอยู่ของญาติพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้วว่ามีความสุขดีอยู่หรือเปล่า จากนั้นก็จะเชิญผีกินเครื่องเซ่นที่นำมาเซ่นไหว้ เมื่อกินแล้วผีก็จะออกจากร่างทรงนั้น (หน้า 56)

Education and Socialization

ในหมู่บ้านมีโรงเรียนประจำหมู่บ้านชื่อ โรงเรียนบ้านน้ำลาดสร้างเมื่อ พ.ศ.2516 สร้างเป็นอาคารไม้จำนวน 1 ห้อง และมีครูเข้ามาทำหน้าที่สอนให้ความรู้คนในหมู่บ้านเมื่อ พ.ศ.2519 ตอนนั้นมีครู 1 คน เข้ามาสอนคนในหมู่บ้านโดยไม่จำกัดเพศและวัย เพราะว่าคนในหมู่บ้านตอนนั้นไม่ได้เรียนหนังสือ นอกจากผู้ใหญ่บ้านที่ได้เรียนหนังสือมาจากหมู่บ้านอื่นก่อนที่จะมาอยู่ในหมู่บ้าน (หน้า 18) จากสถิติเมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2529 โรงเรียนประจำหมู่บ้านได้เปิดสอนตั้งแต่ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 –ปีที่ 6 โดยมีจำนวนนักเรียนทั้งหมด 100 คน เป็นนักเรียนชาย 50 คน และนักเรียนหญิงจำนวน 50 คน และมีครู 5 คน (หน้า 19) จากการศึกษาพบว่าส่วนใหญ่ชาวบนในหมู่บ้านที่อายุ 25 ปีขึ้นไปมากกว่า 90 % อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ (หน้า 40)

Health and Medicine

สุขภาพอนามัย กล่าวถึงเรื่องสุขภาพอนามัยของชาวบนในเรื่องต่างๆ เช่น เรื่องน้ำว่าเมื่อก่อนนี้ชาวบนไม่ชอบดื่มน้ำฝน เพราะบ้านหลังคามุงหญ้าการดื่มน้ำจะตักน้ำในห้วยมาใส่โอ่งแล้วรอให้ตกตะกอนจึงจะนำมาดื่ม แต่ทุกวันนี้บ้านมุงด้วยสังกะสีจึงสามารถดื่มน้ำฝนได้ และก็จะรองน้ำฝนใส่ภาชนะเอาไว้ดื่ม (หน้า 34) เรื่องอาหาร ได้แก่ การกินข้าวเมื่อก่อนจะกินข้าววันละ 2 มื้อ โดยในมื้อเช้าจะกินข้าวเหนียว ส่วนมื้อเย็นก็จะกินข้าวเจ้า แต่ทุกวันนี้ได้กินข้าว 3 มื้อ เนื่องจากเห็นคนไทยและไทยลาวกินข้าว 3 มื้อได้แก่มื้อเช้า มื้อเที่ยงและมื้อเย็น (หน้า 34) เรื่องส้วม ชาวบนจะชอบไปขับถ่ายในป่าไม่ค่อยชอบใช้ส้วม (หน้า 35) เรื่องการนอน ไม่ค่อยนอนกางมุ้ง เมื่อนอนบนฟากไม้ไผ่ก็จะก่อไฟเอาไว้ที่ใต้ถุนบ้านทั้งกลางวันและกลางคืนตลอดเวลา (หน้า 35) การรักษาพยาบาล การเจ็บป่วยแบ่งเป็น 2 อย่างคือ เจ็บป่วยทางร่างกายหรือเรียกว่า “โรคตัว” จะรักษาโดยหมอสมุนไพรหรือ “หมอนุย” และหมอที่โรงพยาบาลกับการเจ็บป่วยที่เรียกว่า “โรคผีทำ” ผู้รักษาคือหมอผี หรือ”ขมุก” เมื่อมีการเจ็บป่วยก็จะให้หมอดูทำนายว่าเป็นการกระทำของผีชนิดใดซึ่งญาติของผู้ป่วยจะนำเครื่องเซ่นได้แก่หมาก 1 คำ เทียน 1 เล่มและเงิน 10 บาท ใส่ขันไปมอบให้กับหมอดู แล้วหมอดูก็จะเสี่ยงทายโดยหยดเทียนลงน้ำในขันจากนั้นก็จะทายว่าเป็นผีใด แต่โดยมากจะเป็นผีปู่ย่าตายาย ที่มาทำให้เจ็บป่วยเพราะความหิวโหย (หน้า 36,41) หากทราบว่าผีอยากกินอาหารชนิดไหนก็จะทำบุญไปให้ส่วนใหญ่ของที่เซ่นไหว้ไปให้จะเป็นหมาก 1 คำ และเหล้า 1 ก๊ง เป็นต้น (หน้า 37) การคลอดลูก เมื่อชาวบนจะคลอดลูกจะให้หมอตำแยทำคลอดให้ การทำคลอดหมอตำแยจะใช้น้ำมันงาทามือแล้วคลำที่ท้อง ถ้าเด็กคลอดแล้วก็จะตัดรกเด็กด้วยผิวไม้ไผ่ เมื่อตัดรกแล้วก็จะนำไปฝังที่ข้างบันไดเมื่อฝังแล้วก็จะก่อไฟบนหลุมที่ฝังรกนั้น เมื่อเด็กคลอดแล้วจะให้เด็กคลอดใหม่นอนในกระด้งซึ่งปูใบตองเอาไว้ จากนั้นก็จะทำพิธีเซ่นผีทำขวัญให้เด็กที่เกิดใหม่ สำหรับของที่ใช้เซ่นผีประกอบด้วย กระจก ข้าวสาร 1 ขัน กรวยแหลมบรรจุหมากพลู 1 คำ เงินจำนวน 10 สลึง เต้าปูน 1 ลูก ด้ายสีขาว 1 ม้วน กำไลทองเหลืองอีก 1 วง แล้วจะให้ผู้สูงอายุตั้งชื่อให้เด็ก เมื่อแม่คลอดลูกแล้วจะอยู่ไฟ 7 วัน ขณะที่อยู่ไฟจะกินข้าวต้มกับเกลือ ส่วนผู้ที่ไปคลอด ที่สถานีอนามัยก็จะไม่ต้องอยู่ไฟเหมือนกับคนที่คลอดกับหมอตำแย (หน้า 53)

Art and Crafts (including Clothing Costume)

การแต่งกาย ชาวบนจะแต่งกายเหมือนกับคนไทยและไทยลาว การแต่งกายประจำเผ่าจะแต่งเฉพาะในกลุ่มหญิงสูงอายุ ซึ่งจะแต่งกายแบบโบราณ โดยจะสวมเสื้อเก๊าะ (เสื้อสีน้ำเงินเข้มหรือสีดำ รูปทรงแขนสั้นกุดปักกุ๊น บริเวณรอบแขนและรอบคอเสื้อจะประดับด้วยด้ายสีแดงหรือสีอื่น คอเสื้อทางด้านหลังจะเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสแล้วจะปล่อยเส้นด้าน 3-4 เส้นให้เป็นเส้นเอาไว้ – หน้า52 ) สวมผ้านุ่ง มีชายผ้าใหญ่ และสวมสร้อยเงิน สวมต่างหู หรือที่ชาวบนเรียกว่า “กระจอน” ทำจากไม้ด้านหน้าเป็นกระจก (หน้า 3,52) การแต่งกายในอดีต ผู้ชาย สวมกางเกงแบบไทยหรือนุ่งกางเกงแบบเขมร ไม่สวมเสื้อ (หน้า 52) ผู้หญิง สวมผ้าสีสด อาทิเช่นสีแดงเข้ม สีน้ำเงินเข้ม ผ้าที่สวมจะเป็นทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า เมื่อจะสวมก็จะพันรอบตัวเหน็บชายผ้าเอาไว้ที่ด้านข้างแล้วทำเป็นหัวพก สวมเสื้อเก๊าะ สีน้ำเงินเข้มและสีดำ เสื้อแขนสั้นกุด ปักกุ๊นบริเวณแขนเสื้อและคอเสื้อเป็นด้ายแดงหรือสีอื่น ด้านหลังของคอเสื้อเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส แล้วจะปล่อยให้เศษด้ายเอาไว้ 3 ถึง 4 เส้น เป็นเส้นยาวๆ (หน้า 52,59) ในอดีตจะสวมรองเท้าเปลือกไม้ที่ทำด้วยเปลือกกระโดน แต่ทุกวันนี้จะสวมร้องเท้าที่ซื้อจากตลาดและรองเท้าเปลือกไม้ทุกวันนี้ก็ไม่มีใครสวมใส่ (หน้า 53) การแต่งกายของคู่บ่าว สาว เจ้าบ่าว ในอดีตจะนุ่งโจงกระเบนผ้าไหม สวมเสื้อแขนสั้นแล้วคาดผ้าที่เอว ใส่ต่างหูเงินหรือทำจากไม้ติดกระจก โดยจะสวมต่างหูด้านขวาเพียงข้าวเดียวเท่านั้น เจ้าสาว สวมผ้านุ่งผ้าโต่งหรือผ้าผืน สวมเสื้อเก๊าะ สวมกำไลแขน กำไลขา แหวน สร้อยและสวมต่างหูทั้งสองข้าง ทุกวันนี้เจ้าบ่าวจะสวมกางเกงและเสื้อเชิ้ต เจ้าสาวจะนุ่งผ้าถุงและสวมเสื้อผ้าสมัยใหม่ (หน้า 24) เพลงและการละเล่น การแสดงเพื่อการพักผ่อนของชาวบน มีการร้องเพลง การเป่าเพลงใบไม้ การเล่นกระแจ๊ะ เป็นต้น สำหรับในงานเขียนได้ยกตัวอย่างเพลงของบนดังนี้ (หน้า 42) เพลงกล่อมเด็ก จะร้องเป็นภาษาชาวบน มีเนื้อหาเกี่ยวกับเรื่องธรรมชาติรอบตัวเพื่อร้องกล่อมเด็กให้นอน เช่นร้องว่าหลับเถอะนะถ้าเด็กไม่หลับกาจะบินมาจิกท้องหรือถ้าเด็กไม่ยอมหลับเดี๋ยวแมวหรือหมาจิ้งจอกจะมากัดท้อง เป็นต้น (หน้า 42-43) เพลงหยอกเด็ก เป็นเพลงที่ร้องหยอกล้อเด็กร้องเป็นภาษาชาวบนโดยร้องเกี่ยวกับคน สัตว์และธรรมชาติต่าง เช่น กระต่าย หมา น้ำท่วม เป็นต้น (หน้า 44) เพลงสำหรับผู้ใหญ่ เช่นเพลงนัดสาวลงท่าน้ำเป็นเพลงที่ร้องเพื่อจะนัดพบหญิงสาวเมื่อจะลงไปอาบน้ำที่ท่าน้ำ และเพลงหยอกภรรยาที่แต่งงานใหม่ (หน้า 44) เพลงจากการเป่าใบไม้ จะมีการเป่าลักษณะต่างๆ ดังนี้ นำใบไม้เช่นใบนางแย้มหรือลำดวนมาพับแล้วเป่าเหมือนกับผิวปาก , เพลงลูกทุ่ง กระแจ๊ะ คือร้องเพื่อความสนุกสนานเนื้อหาเป็นคำพูดทั่วไป,เพลงที่เป่าเพื่อชวนกลับบ้านหลังจากทำไร่นา โดยผู้ชายจะเป่าเพื่อชวนผู้หญิงกลับบ้านร้องเป็นภาษาชาวบน (หน้า 45) กระแจ๊ะหรือป๊ะเรเร เป็นเพลงที่ชายหญิงร้องโต้ตอบกันโดยจะร้องในงานเทศกาลต่างๆ ตัวอย่างเช่น งานบุญเดือน 5 และอื่นๆ การเล่นเมื่อปูเสื่อที่พื้นแล้วคนเล่นจะนั่งตรงกลางส่วนคนฟังจะนั่งรอบผู้เล่น เนื้อหาของเพลงจะเกี่ยวกับการหาคู่ครอง ต้องการหาคนรู้ใจมาเป็นที่ปรึกษาหรือช่วยทำงาน หรือชมธรรมชาติต่างๆที่อยู่รอบตัว เกี่ยวกับความเหงา เกี่ยวกับแม่ม่าย เป็นต้น (หน้า 45,55) เครื่องดนตรีที่ตีจะมีโทนเพียงชนิดเดียว โดยผู้หญิงจะเป็นคนตี สำหรับเพลงที่ยกตัวอย่างในงานเขียน เช่นเพลงผู้หญิงร้องว่าสงสารตัวเองที่เป็นลูกกำพร้าไม่มีคนดูแล, เพลงผู้ชายที่ร้องว่าไปเที่ยวป่าแล้วได้ยินเสียงนกร้องก็นึกสงสารตัวเองเพราะไม่มีคู่ครองแล้วก็ร้องขอความเห็นใจเพื่อชวนผู้หญิงไปเที่ยวด้วย เป็นต้น (หน้า 46-51)

Folklore

ความเป็นมาของผีตีนเดียวหรือ “ท็อกหนอก” ผีตีนเดียวเป็นผีที่ทำให้ชาวบนเจ็บป่วย ตามเรื่องเล่าของชาวบนได้เล่าที่มาว่าทำไมผีชนิดนี้จึงมีตีนเดียว โดยมีเรื่องเล่าอยู่ 2 เรื่องด้วยกันดังนี้ เรื่องแรกผีตีนเดียวนั้นเป็นผู้ชายหนีทหารเจ้าอนุวงศ์ ได้ขึ้นไปบนต้นไม้สูงเมื่อตอนจะลงก็ลงไม่ได้จึงกระโดดลงมาข้างล่างขาเลยหักจากนั้นมาก็ใช้กระบอกไม้ไผ่แทนขาที่หัก อีกเรื่องเล่าว่า ผีขาเดียวอยู่ที่ต้นไทรเมื่อคนเดินผ่านไปมาก็จะรังแกทำให้เจ็บป่วยไม่สบาย ตอนไปหลอกชาวบ้านชาวบ้านจึงใช้มีดฟันขาขาดไปหนึ่งข้าง นับจากนั้นเป็นต้นมาจึงทำให้มีขาเดียว (หน้า 57)

Ethnicity (Ethnic Identity, Boundaries and Ethnic Relation)

ในงานเขียนระบุว่าชาวบ้านไม่ค่อยชอบคบกับคนชาติพันธุ์อื่น เช่น ถ้าตั้งหมู่บ้านแล้วมีคนไทยหรือ ไทยลาว เข้าไปอยู่ในหมู่บ้านเป็นจำนวนมาก ชาวบนบางส่วนก็จะอพยพหนีเข้าป่าสาเหตุที่ชาวบนไม่ชอบคนชาติพันธุ์อื่นเนื่องจากมีความแตกต่างทางวัฒนธรรม และคนไทยและไทยลาวมักจะเอาเปรียบชาวบ้านเช่นการแลกเปลี่ยนสินค้าและบุกรุกที่ทำกิน ดังนั้นจึงทำให้ชาวบนไม่ชอบคนไทยและไทยลาว สังเกตได้จากชาวบนจะเรียกคนไทยกับไทยลาว ว่า”ชะมวด” แปลว่า มด มดง่ามปลวก หรือผู้รุกราน สาเหตุที่เรียกว่า ”มดง่าม” เพราะว่ามดง่ามจมูกไว หากมีกล้วยมีอ้อยอยู่ที่ไหนก็รู้และไปกินหมดชาวบนเลยไม่ได้กิน (หน้า 3,31)

Social Cultural and Identity Change

ไม่มี

Other Issues

ไม่มี

Map/Illustration

แผนที่ กลุ่มของภาษาตะกูลมอญ-เขมร (หน้า 8) บริเวณที่พบหลักศิลาจารึกมอญโบราณ (หน้า 9,10,11) อำเภอเทพสถิต (หน้า 12) แผนผัง บ้านน้ำลาด (หน้า 13) ภาพ การตั้งหมู่บ้าน (หน้า 16) บ้านชาวบน, การเก็บเกี่ยวข้าวไร่, การนวดข้าว, เสื้อเก๊าะ, แหล่งน้ำ, ชาวบนเป่าใบไม้เป็นเพลง (ภาพทั้งหมดอยู่หน้าภาคผนวก) ตาราง จำนวนนักเรียน (หน้า 19)

Text Analyst ภูมิชาย คชมิตร Date of Report 29 มิ.ย 2560
TAG ชาวบน, วิถีชีวิต, เศรษฐกิจ, สังคม, ความเชื่อ, ชัยภูมิ, Translator -
 
 

 

ฐานข้อมูลอื่นๆของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
  ฐานข้อมูลพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทย
จารึกในประเทศไทย
จดหมายเหตุทางมานุษยวิทยา
แหล่งโบราณคดีที่สำคัญในประเทศไทย
หนังสือเก่าชาวสยาม
ข่าวมานุษยวิทยา
ICH Learning Resources
ฐานข้อมูลเอกสารโบราณภูมิภาคตะวันตกในประเทศไทย
ฐานข้อมูลประเพณีท้องถิ่นในประเทศไทย
ฐานข้อมูลสังคม - วัฒนธรรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  หน้าหลัก
งานวิจัยชาติพันธุ์ในประเทศไทย
บทความชาติพันธุ์
ข่าวชาติพันธุ์
เครือข่ายชาติพันธุ์
เกี่ยวกับเรา
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  ข้อมูลโครงการ
ทีมงาน
ติดต่อเรา
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
ช่วยเหลือ
  กฏกติกาและมารยาท
แบบสอบถาม
คำถามที่พบบ่อย


ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) เลขที่ 20 ถนนบรมราชชนนี เขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ 10170 
Tel. +66 2 8809429 | Fax. +66 2 8809332 | E-mail. webmaster@sac.or.th 
สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2549    |   เงื่อนไขและข้อตกลง