สมัครสมาชิก   
| |
ค้นหาข้อมูล
ค้นหาแบบละเอียด
  •   ความเป็นมาและหลักเหตุผล

    เพื่อรวบรวมงานวิจัยทางชาติพันธุ์ที่มีคุณภาพมาสกัดสาระสำคัญในเชิงมานุษยวิทยาและเผยแผ่สาระงานวิจัยแก่นักวิชาการ นักศึกษานักเรียนและผู้สนใจให้เข้าถึงงานวิจัยทางชาติพันธุ์ได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น

  •   ฐานข้อมูลจำแนกกลุ่มชาติพันธุ์ตามชื่อเรียกที่คนในใช้เรียกตนเอง ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้ คือ

    1. ชื่อเรียกที่ “คนอื่น” ใช้มักเป็นชื่อที่มีนัยในทางเหยียดหยาม ทำให้สมาชิกกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ รู้สึกไม่ดี อยากจะใช้ชื่อที่เรียกตนเองมากกว่า ซึ่งคณะทำงานมองว่าน่าจะเป็น “สิทธิพื้นฐาน” ของการเป็นมนุษย์

    2. ชื่อเรียกชาติพันธุ์ของตนเองมีความชัดเจนว่าหมายถึงใคร มีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมอย่างไร และตั้งถิ่นฐานอยู่แห่งใดมากกว่าชื่อที่คนอื่นเรียก ซึ่งมักจะมีความหมายเลื่อนลอย ไม่แน่ชัดว่าหมายถึงใคร 

     

    ภาพ-เยาวชนปกาเกอะญอ บ้านมอวาคี จ.เชียงใหม่

  •  

    จากการรวบรวมงานวิจัยในฐานข้อมูลและหลักการจำแนกชื่อเรียกชาติพันธุ์ที่คนในใช้เรียกตนเอง พบว่า ประเทศไทยมีกลุ่มชาติพันธุ์มากกว่า 62 กลุ่ม


    ภาพ-สุภาษิตปกาเกอะญอ
  •   การจำแนกกลุ่มชนมีลักษณะพิเศษกว่าการจำแนกสรรพสิ่งอื่นๆ

    เพราะกลุ่มชนต่างๆ มีความรู้สึกนึกคิดและภาษาที่จะแสดงออกมาได้ว่า “คิดหรือรู้สึกว่าตัวเองเป็นใคร” ซึ่งการจำแนกตนเองนี้ อาจแตกต่างไปจากที่คนนอกจำแนกให้ ในการศึกษาเรื่องนี้นักมานุษยวิทยาจึงต้องเพิ่มมุมมองเรื่องจิตสำนึกและชื่อเรียกตัวเองของคนในกลุ่มชาติพันธุ์ 

    ภาพ-สลากย้อม งานบุญของยอง จ.ลำพูน
  •   มโนทัศน์ความหมายกลุ่มชาติพันธุ์มีการเปลี่ยนแปลงในช่วงเวลาต่างๆ กัน

    ในช่วงทศวรรษของ 2490-2510 ในสาขาวิชามานุษยวิทยา “กลุ่มชาติพันธุ์” คือ กลุ่มชนที่มีวัฒนธรรมเฉพาะแตกต่างจากกลุ่มชนอื่นๆ ซึ่งมักจะเป็นการกำหนดในเชิงวัตถุวิสัย โดยนักมานุษยวิทยาซึ่งสนใจในเรื่องมนุษย์และวัฒนธรรม

    แต่ความหมายของ “กลุ่มชาติพันธุ์” ในช่วงหลังทศวรรษ 
    2510 ได้เน้นไปที่จิตสำนึกในการจำแนกชาติพันธุ์บนพื้นฐานของความแตกต่างทางวัฒนธรรมโดยตัวสมาชิกชาติพันธุ์แต่ละกลุ่มเป็นสำคัญ... (อ่านเพิ่มใน เกี่ยวกับโครงการ/คู่มือการใช้)


    ภาพ-หาดราไวย์ จ.ภูเก็ต บ้านของอูรักลาโว้ย
  •   สนุก

    วิชาคอมพิวเตอร์ของนักเรียน
    ปกาเกอะญอ  อ. แม่ลาน้อย
    จ. แม่ฮ่องสอน


    ภาพโดย อาทิตย์    ทองดุศรี

  •   ข้าวไร่

    ผลิตผลจากไร่หมุนเวียน
    ของชาวโผล่ว (กะเหรี่ยงโปว์)   
    ต. ไล่โว่    อ.สังขละบุรี  
    จ. กาญจนบุรี

  •   ด้าย

    แม่บ้านปกาเกอะญอ
    เตรียมด้ายทอผ้า
    หินลาดใน  จ. เชียงราย

    ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ถั่วเน่า

    อาหารและเครื่องปรุงหลัก
    ของคนไต(ไทใหญ่)
    จ.แม่ฮ่องสอน

     ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ผู้หญิง

    โผล่ว(กะเหรี่ยงโปว์)
    บ้านไล่โว่ 
    อ.สังขละบุรี
    จ. กาญจนบุรี

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   บุญ

    ประเพณีบุญข้าวใหม่
    ชาวโผล่ว    ต. ไล่โว่
    อ.สังขละบุรี  จ.กาญจนบุรี

    ภาพโดยศรยุทธ  เอี่ยมเอื้อยุทธ

  •   ปอยส่างลอง แม่ฮ่องสอน

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ปอยส่างลอง

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดย เบญจพล  วรรณถนอม
  •   อลอง

    จากพุทธประวัติ เจ้าชายสิทธัตถะ
    ทรงละทิ้งทรัพย์ศฤงคารเข้าสู่
    ร่มกาสาวพัสตร์เพื่อแสวงหา
    มรรคผลนิพพาน


    ภาพโดย  ดอกรัก  พยัคศรี

  •   สามเณร

    จากส่างลองสู่สามเณร
    บวชเรียนพระธรรมภาคฤดูร้อน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   พระพาราละแข่ง วัดหัวเวียง จ. แม่ฮ่องสอน

    หล่อจำลองจาก “พระมหามุนี” 
    ณ เมืองมัณฑะเลย์ ประเทศพม่า
    ชาวแม่ฮ่องสอนถือว่าเป็นพระพุทธรูป
    คู่บ้านคู่เมืององค์หนึ่ง

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม

  •   เมตตา

    จิตรกรรมพุทธประวัติศิลปะไต
    วัดจองคำ-จองกลาง
    จ. แม่ฮ่องสอน
  •   วัดจองคำ-จองกลาง จ. แม่ฮ่องสอน


    เสมือนสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรม
    เมืองไตแม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ใส

    ม้งวัยเยาว์ ณ บ้านกิ่วกาญจน์
    ต. ริมโขง อ. เชียงของ
    จ. เชียงราย
  •   ยิ้ม

    แม้ชาวเลจะประสบปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัย
    พื้นที่ทำประมง  แต่ด้วยความหวัง....
    ทำให้วันนี้ยังยิ้มได้

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ผสมผสาน

    อาภรณ์ผสานผสมระหว่างผ้าทอปกาเกอญอกับเสื้อยืดจากสังคมเมือง
    บ้านแม่ลาน้อย จ. แม่ฮ่องสอน
    ภาพโดย อาทิตย์ ทองดุศรี
  •   เกาะหลีเป๊ะ จ. สตูล

    แผนที่ในเกาะหลีเป๊ะ 
    ถิ่นเดิมของชาวเลที่ ณ วันนี้
    ถูกโอบล้อมด้วยรีสอร์ทการท่องเที่ยว
  •   ตะวันรุ่งที่ไล่โว่ จ. กาญจนบุรี

    ไล่โว่ หรือที่แปลเป็นภาษาไทยว่า ผาหินแดง เป็นชุมชนคนโผล่งที่แวดล้อมด้วยขุนเขาและผืนป่า 
    อาณาเขตของตำบลไล่โว่เป็นส่วนหนึ่งของป่าทุ่งใหญ่นเรศวรแถบอำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี 

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   การแข่งขันยิงหน้าไม้ของอาข่า

    การแข่งขันยิงหน้าไม้ในเทศกาลโล้ชิงช้าของอาข่า ในวันที่ 13 กันยายน 2554 ที่บ้านสามแยกอีก้อ อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย
 
  Princess Maha Chakri Sirindhorn Anthropology Centre
Ethnic Groups Research Database
Sorted by date | title

   Record

 
Subject ผู้ย้อย ย้อย ลาวย้อย ไทย้อย โย่ย,ความเป็นอยู่,ประวัติศาสตร์,ความเชื่อ,พิธีกรรม,สังคม,สกลนคร
Author พรรณอร อุชุภาพ
Title ลักษณะชาติพันธุ์ไทโย้ย บ้านอากาศ อำเภออากาศอำนวย จังหวัดสกลนคร
Document Type รายงานการวิจัย Original Language of Text -
Ethnic Identity ไทโย้ย โย่ย โย้ย ไทยโย้ย ไทย้อย ผู้ย้อย ย้อย ลาวย้อย, Language and Linguistic Affiliations ไท(Tai)
Location of
Documents
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร Total Pages 105 Year 2538
Source ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดสกลนคร สถาบันราชภัฏสกลนคร
Abstract

เนื้อหาของงานเขียนเกี่ยวกับการศึกษาสภาพความเป็นอยู่ในชีวิตประจำวันขนบธรรมเนียมประเพณี ความเชื่อและพิธีกรรม ภาษา การเมือง เศรษฐกิจและประวัติความเป็นมาต่างๆ และความเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมประเพณีของไทโย้ย บ้านอากาศ ตำบลอากาศ อำเภออากาศอำนวย จังหวัดสกลนคร กลุ่มไทโย้ยเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่เข้ามาอยู่ในประเทศไทยด้วยความสมัครใจหรือไม่ได้ถูกกวาดต้อนมาในช่วงเกิดศึกสงครามที่เกิดขึ้นในอดีต การอพยพเข้ามาอยู่ในประเทศไทยในเริ่มแรกก็เพื่อค้นหาที่อยู่ใหม่ที่เหมาะแก่การเพาะปลูกมีความอุดมสมบูรณ์ เหมาะแก่การตั้งที่อยู่อาศัยและบุกเบิกที่ดินทำกิน

Focus

เพื่อศึกษาลักษณะความเป็นชาติพันธุ์ ชีวิตความเป็นอยู่ ขนบธรรมเนียมประเพณี ความเชื่อพิธีกรรมของไทโย้ย และส่งเสริมการศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นให้เจริญก้าวหน้า (หน้า 14)

Theoretical Issues

ไม่มี

Ethnic Group in the Focus

ชาติพันธุ์ไทโย้ย ซึ่งในงานวิจัยเรียกว่า โย้ย จะเรียกตนเองว่า “โย่ย” ในบางครั้งคนจะเรียกไทโย้ยว่า “อี้” หรือ”ไย” (บทคัดย่อ หน้า ก, 36) โย้ยแต่เดิมจะตั้งบ้านเรือนอยู่ที่มณฑลไกวเจา กวางสี ประเทศจีน คนจีนจะเรียกโย้ย ว่า “สร้อง” ส่วนในเวียดนามจะเรียกโย้ย ว่า “โด้ย” กลุ่มโย้ยได้อพยพย้ายที่อยู่ช่วงที่เกิดศึกเจือง ซึ่งเป็นการทำสงครามระหว่างแคว้นซำเหนือกับไทหว่า ซึ่งอยู่ระหว่างปี พ.ศ. 2433-2462 ในการอพยพขณะนั้นมีพญาท้าวยี่หรือท้าวเจือง เป็นหัวหน้ากลุ่มในการอพยพ โดยมาตั้งที่อยู่ในบริเวณบ้านหอมท้าว คาดว่าอยู่ใกล้กับเมืองมหาชัยกองแก้ว ต่อมาในภายหลังจึงได้อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานในประเทศไทย (หน้า 36) ในยุคแรกนั้นๆ เอกลักษณ์อย่างหนึ่งของโย้ยก็คือ โย้ยจะเดินหลังค่อมและโยกหัวไปข้างหน้า สันนิษฐานว่าเมื่อก่อนตอนที่โย้ยได้ย้ายที่อยู่เดินทางผ่านประเทศเวียดนามและลาว ซึ่งมีภูมิประเทศเป็นที่ราบและเขาสูงชันเป็นจำนวนมาก ดังนั้นจึงทำให้โย้ยเดินหลังค่อมและโยกหัวไปข้างหน้า ซึ่งการเดินแบบนี้จะเป็นในกลุ่มโย้ยในรุ่นแรกเริ่ม แต่ทุกวันนี้ไม่มีโย้ยท่าทางเดินแบบนี้แล้ว ซึ่งอาจจะเป็นเพราะว่าอยู่ในพื้นที่ราบเป็นระยะเวลาอันยาวนานหลายชั่วอายุคน (หน้า 54)

Language and Linguistic Affiliations

พูดภาษาไทโย้ย มีสำเนียงการพูดที่ช้าและลากเสียงเวลาพูด อีกทั้งยังมีภาษาโย้ยอยู่หลายคำที่ไม่อาจเขียนด้วยภาษาไทยให้ตรงกับสำเนียงในภาษาโย้ยที่แท้จริง (บทคัดย่อ หน้า ก,52,54) ภาษาโย้ยคล้ายกับภาษาย้อและภาษาอีสานแต่สำเนียงการพูดจะไม่เหมือนกัน และช้ากว่า เมื่อพูดโย้ยจะพูดเสียงดัง การใช้ภาษาจะไม่มีอักษร ฟ โดยจะใช้อักษร พ ทดแทนดังตัวอย่างของการใช้ภาษาไทโย้ยเมื่อเปรียบเทียบกับภาษาไทยกลางดังต่อไปนี้ (หน้า 52) ภาษาโย้ย ไพพ้า ภาษาไทยกลาง ไฟฟ้า ภาษาโย้ย พัง ภาษาไทยกลางฟัง, ภาษาโย้ย ผาย ภาษาไทยกลาง ฝาย และอื่นๆ นอกจากนี้ก็ยังมีคำเฉพาะที่ใช้ในภาษาไทยโย้ย เช่น ภาษาไทยโย้ย หย่า ภาษาไทยกลาง เลิก, ภาษาไทยโย้ย เหิง ภาษาไทยกลาง นาน ภาษาไทโย้ย น่ำ ภาษาไทยกลาง น้ำ ภาษาไทโย้ย บักโอ๊น ภาษาไทยกลาง ฟักทอง และอื่นๆ (หน้า 52-53)

Study Period (Data Collection)

ไม่ได้ระบุไว้

History of the Group and Community

ประวัติการอพยพของไทโย้ยเข้ามาอยู่ในประเทศไทย ไทโย้ยเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่อพยพมาจากบ้านปากน้ำ เมืองฮ่อมท้าวฮูเซ ประเทศลาว ซึ่งเป็นกลุ่มที่ย้ายเข้ามาอยู่ในประเทศไทยด้วยความเต็มใจไม่ได้ถูกขับไล่หรือกวาดต้อนมา ซึ่งการอพยพในครั้งนั้นได้เดินทางตามเส้นทางข้ามแม่น้ำโขงมาตามแม่น้ำศรีสงครามและแม่น้ำยาม (บทคัดย่อ หน้า ก, 3) การเข้ามาอยู่ในไทยได้เขามาสมัยรัชกาลที่ 2 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ แล้วเข้ามาอยู่ที่บ้านม่วงริมยาม เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์และมีแม่น้ำยามไหลผ่านซึ่งทุกวันนี้อยู่ในพื้นที่อำเภออากาศอำนวย และไทโย้ยบางส่วนได้อพยพไปอยู่ในพื้นที่อำเภอวานรนิวาส (หน้า 3 )

Settlement Pattern

บ้านไทโย้ย ชอบเลี้ยงสัตว์ เช่น ไก่ วัว ควาย ไว้ที่ใต้ถุนบ้าน เพื่อป้องกันสัตว์ร้ายจะมาทำอันตรายกับสัตว์ที่เลี้ยงไว้ เพราะว่าเมื่อก่อนนี้เสืออาจจะเข้ามากัดกินสัตว์ที่เลี้ยงไว้ อีกอย่างก็คือไทโย้ยชอบอยู่บนบ้านดังนั้นใต้ถุนบ้านจึงใช้เป็นพื้นที่เลี้ยงสัตว์ ทำเป็นเล้าไก่ คอกเลี้ยงวัว ควาย เนื่องจากประหยัดค่าใช้จ่ายและง่ายต่อการดูแลสัตว์เลี้ยง (หน้า 41)

Demography

ประชากรในอำเภออากาศอำนวย มีทั้งหมดจำนวน 55,398 คน โดยอาศัยอยู่ใน 8 ตำบล 69 หมู่บ้าน กับ 1 สุขาภิบาล มีอัตราความหนาแน่นของประชากรเฉลี่ย 84.7 คนต่อตารางกิโลเมตร (หน้า 13) ประชากรในบ้านอากาศ ในหมู่บ้านอากาศทั้ง 11 หมู่ มีจำนวนประชากรทั้งหมด 9,066 คน (หน้า 14) ประชากรไทโย้ยในการศึกษา เป็นไทโย้ย ที่อยู่บ้านอากาศ ตำบลอากาศ จำนวน 69 คน (บทคัดย่อ หน้า ก)

Economy

อาชีพ ไทโย้ยทำนาเป็นอาชีพหลัก (หน้า 39,67) การปลูกข้าวเมื่อก่อนนี้จะปลูกข้าวเหนียวเพียงอย่างเดียว แต่ทุกวันนี้ได้ปลูกทั้งข้าวเจ้าและข้าวเหนียว (หน้า 66) โดยจะเก็บข้าวเหนียวเอาไว้กินส่วนข้าวเจ้าจะปลูกเอาไว้ขาย นอกจากนี้ก็จะจับปลา ทอผ้าไว้ขาย (หน้า 67,70,71)และยังมีลูกหลานของไทโย้ยบางส่วนที่ไปทำงานรับจ้างที่กรุงเทพฯและต่างจังหวัด (หน้า 64,74,78,79)

Social Organization

สังคมไทโย้ย ไทโย้ยจะอยู่กันแบบญาติพี่น้องถึงแม้ว่าจะไม่ใช่ญาติพี่น้องกันแท้ๆ และอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขประกอบกับคนในชุมชนมีความเชื่อถือและเคารพผู้นำหมู่บ้าน (หน้า 36) และผู้สูงอายุในหมู่บ้านหากเกิดความขัดแย้งขึ้นในหมู่บ้านก็จะให้ผู้นำหมู่บ้านและผู้สูงอายุในหมู่บ้านเป็นคนตัดสินต่อปัญหาเหล่านั้น ซึ่งบทบาทของผู้นำในชุมชนไทโย้ยที่ได้นับการเคารพจึงทำให้สังคมมีความสมัครสมานสามารถต่อกัน (หน้า 38) ส่วนในครอบครัวของไทโย้ยจะมีการแบ่งหน้าที่กันคือผู้หญิงจะทำหน้าที่ทอผ้าและเลี้ยงดูลูก ส่วนผู้ชายก็จะไปทำงานรับจ้างต่างๆ เช่น เป็นช่างไม้ ทำงานก่อสร้าง และอื่นๆ ซึ่งหากไปทำงานต่างจังหวัดก็จะกลับมาบ้านในช่วงฤดูเพาะปลูก (หน้า 40) การแต่งงาน เมื่อหนุ่มสาวตกลงปลงใจที่จะแต่งงานมีครอบครัว ฝ่ายชายจะให้พ่อล่ามทำหน้าที่เป็นตัวแทนไปติดต่อกับฝ่ายหญิง เพื่อตกลงเรื่องค่าสินสอดหรือค่าดองและกำหนดวันแต่งงาน เมื่อถึงวันแต่งงานการทำพิธีหมอสูตรจะเป็นผู้ประกอบพิธีสู่ขวัญและผูกข้อมือให้กับเจ้าบ่าวเจ้าสาว ในช่วงค่ำจะนิมนต์มาสวดมนต์เพื่อความเป็นศิริมงคล 2 วัน และคู่บ่าวสาวก็จะนำสิ่งของเช่นผ้าทอ ที่นอน ไปมอบให้กับญาติพี่น้องที่นับถือในช่วงกลางคืน ส่วนญาติก็จะอวยพรและให้เงินเพื่อเอาไปตั้งตัว (หน้า 47) เมื่อแต่งงานเรียบร้อยแล้วหากอยู่กันไปแล้วมีเรื่องทะเลาะเบาะแว้งกัน พ่อล่ามก็จะเป็นคนอบรมและไกล่เกลี่ยให้ทั้งสองคืนดีกัน แต่ทุกวันนี้คนไม่ค่อยอยากเป็นพ่อล่ามเพราะญาติของฝ่ายหญิงจะให้พ่อล่ามเป็นผู้จัดเลี้ยงภายหลังจัดพิธีแต่งงานเรียบร้อยแล้ว ทั้งนี้พ่อล่ามจะมีพ่อล่ามใหญ่ทำหน้าที่ประสานงานกับญาติเจ้าบ่าวเจ้าสาวและดูแลคู่บ่าวสาว ส่วนพ่อล่ามน้อยจะทำหน้าที่ช่วยเหลือพ่อล่ามใหญ่ ตัวอย่างเช่นถือขันเทียนและอื่นๆ สำหรับคนที่จะมาทำหน้าที่เป็นพ่อล่ามจะต้องมีชีวิตการสมรสที่ดีไม่หย่าร้าง (หน้า 47-48)

Political Organization

การปกครอง แบ่งออกเป็น 2 อย่างคือการปกครองอย่างเป็นทางการ โดยมีผู้ใหญ่บ้านเป็นผู้นำหมู่บ้าน ในงานเขียนระบุว่าไทโย้ยให้ความเคารพผู้นำหมู่บ้านและคณะกรรมการหมู่บ้าน ดังนั้นจึงทำให้สังคมในหมู่บ้านอยู่ด้วยกันอย่างสงบสุขไม่มีปัญหาเรื่องความเป็นอยู่ (หน้า 36) หน้าที่ของผู้ใหญ่บ้านคือจะทำหน้าที่นำข่าวสารของทางการมาแจ้งให้คนในหมู่บ้านได้รับรู้ทำหน้าที่ประสานงานกับหน่วยงานของทางการและเป็นผู้ตัดสินหากมีการทะเลาะเบาะแว้งกันภายในหมู่บ้าน (หน้า 37) ส่วนผู้นำอย่างไม่เป็นทางการคือผู้สูงอายุในหมู่บ้าน ซึ่งผู้สูงจะเป็นบุคคลที่คนในหมู่บ้านให้ความเคารพนับถือ หากคนในหมู่บ้านมีเรื่องผิดใจกันก็จะให้ผู้สูงอายุเป็นผู้ตัดสินให้ทั้งสองฝ่ายเลิกทะเลาะกันซึ่งส่วนมากจะได้ผลเพราะในสังคมของไทโย้ยจะให้ความเคารพต่อผู้สูงอายุ นอกจากนี้ผู้สูงอายุยังได้รับเชิญให้ไปร่วมงานพิธีสำคัญเช่นงานแต่งงานเพื่อไปอวยพรกับคู่บ่าวสาว และงานพิธีสำคัญอื่นๆ ซึ่งการกระทำดังกล่าวได้เป็นเครื่องแสดงว่าสังคมให้ความเคารพผู้สูงอายุที่เป็นผู้นำอย่างไม่เป็นทางการ (หน้า 38) กฎหมาย ในงานเขียนได้กล่าวถึงลักษณะกฎหมายของไทโย้ย ที่พบเป็นหลักฐานซึ่งเขียนเป็นภาษาไทยน้อย ทั้งนี้ได้มีผู้ที่มีความรู้เรื่องภาษาไทยน้อยได้ทำการถอดความออกมาเป็นภาษาไทย โดยได้ระบุว่ากฎหมายดังกล่าวเป็นกฎหมายลักษณะสังคม ซึ่งเป็นกฎระเบียบต่างๆ เพื่อให้คนในสังคมอยู่ร่วมกันอย่างสงบและมีความสุข ซึ่งกฎหมายที่พบนั้นได้ระบุเอาไว้ดังนี้ (หน้า 55) 1.กฎหมายคุ้มครองการใช้สาธารณสมบัติ ได้แก่การหาปลาในแหล่งน้ำที่กล่าวว่าทุกคนมีสิทธิในการจับปลาในแหล่งน้ำมาเป็นอาหารโดยไม่ผิดกฎหมาย (หน้า 55) 2. กฎหมายทรัพย์สินว่าด้วยสิทธิครอบครอง ตัวอย่างเช่นถ้ามีผู้ใดไปจับปลาในสระน้ำของผู้อื่นถ้าหากเจ้าของไปร้องเรียนต่อเจ้าเมือง เจ้าเมืองก็พิจารณาโทษซึ่งคนที่ทำผิดจะมีโทษถูกปรับเงิน 2 ฮ้อยเงิน (งานเขียนระบุว่าไม่รู้อย่างชัดเจนว่าเป็นเงินจำนวนเท่าไร) หากคนที่ไปขโมยนำปลาไปขายได้เงินเท่าไหร่ก็ให้คืนเจ้าของสระน้ำนั้นทั้งหมด และเจ้าของสระน้ำก็ต้องคืนอุปกรณ์จับปลาให้คนที่มาลักปลาด้วยถ้ายึดของเขาเอาไว้ เป็นต้น (หน้า 56-57) 3.กฎหมายว่าด้วยการกำหนดโทษกรณีลักขโมย เช่นการลักปลา ได้กล่าวว่า ถ้าใครไปลักปลาในไซ (เครื่องจับปลา) ผู้อื่น จะถูกปรับเงิน 2 บาทถ้าได้ปลาคืนด้วย แต่ถ้าจับได้แล้วแต่ไม่ได้ปลาคืนแต่สารภาพผิดว่าขโมยจริงก็ให้ปรับครึ่งหนึ่งหรือเป็นเงิน 2.50 บาทแต่ถ้ารับสารภาพความจริงว่าขโมยแล้วส่งของคืนจนครบก็ไม่ให้ลงโทษทั้งหนักและเบา โดยให้ว่ากล่าวตักเตือนต่อความผิดดังกล่าว เป็นต้น (หน้า 57-59) 4.กฎหมายว่าด้วยเขตหวงห้าม ตัวอย่างเช่น ถ้าผู้ใดนำอุปกรณ์จับปลาไปจับปลาในเขตหวงห้าม ถ้าใครฝ่าฝืนก็ให้ปรับเป็นเงิน 5 บาท ถ้าเป็นคนฐานะยากจนก็ให้ปรับ 2.50 บาท (หน้า 59) แต่ถ้าขโมยไปกินเพราะอาหารอย่างอื่นกินไม่ได้เพราะหมอห้ามเพราะเป็นของแสลง (หรือโย้ยเรียกว่า “คะลำ”) ก็ให้ปรับเงิน 1 ฮ้อย (งานเขียนไม่ได้ระบุว่าถ้าเทียบเป็นเงินทุกวันนี้จะเป็นจำนวนเท่าไหร่) (หน้า 60) 5.กฎหมายว่าด้วยทรัพย์สิน ตัวอย่างเช่น ถ้าใครไปเอาของผู้อื่นโดยที่เจ้าของไม่อยู่แต่ตั้งใจว่าจะไปยืมแต่ได้บอกให้คนที่อยู่ใกล้เคียงให้รู้ ก็ไม่ต้องปรับโทษ และถ้าหากใครซื้อของโจรที่ลักมาขายไม่ว่าจะเป็นสิ่งมีชีวิตเช่นสัตว์เลี้ยงเช่น วัว ควาย หรือสิ่งของเช่น เสื้อผ้า เป็นต้น ถ้าคนที่ซื้อมีคนรู้เห็น ถ้าหากเจ้าของมาทวงคืนและถ้าพิสูจน์ว่าเป็นเจ้าของตัวจริง ก็ให้คืนสิ่งของเหล่านั้นกับคนที่เป็นเจ้าของ (หน้า 60 ) แล้วให้คนที่ซื้อไปตามตัวคนที่มาขายของที่รับซื้อไว้ให้ได้ ถ้าหาไม่พบก็ต้องชดใช้ค่าเสียหายคืนเจ้าของตัวจริงจนครบ ถ้าจับขโมยได้ก็ต้องให้ชดใช้จนครบตามจำนวน จากนั้นก็จะดำเนินคดีตามกฎหมาย (หน้า 61) 6.กฎหมายว่าด้วยการรับของโจร ที่ระบุว่า ถ้าขโมยลักสิ่งของมาฝากโดยซ่อนไว้ที่บ้านเจ้าของบ้านถ้าเจ้าของบ้านรู้ก็ให้ลงโทษเจ้าของบ้าน แต่ถ้ารู้ว่าเป็นของที่ขโมยมาก็ต้องคืนของสิ่งนั้นให้กับเจ้าของ (หน้า 61) แต่ถ้ารับฝากของโจรแล้วปกปิดไว้ก็ให้ลงโทษตามกฎหมายเพราะถือว่าสมรู้ร่วมคิดกับโจร เป็นต้น (หน้า 62)

Belief System

ศาสนาและความเชื่อ ไทยโย้ยนับถือศาสนาพุทธและนับถือผี (บทคัดย่อ หน้า ก) ซึ่งการนับถือศาสนาพุทธของไทโย้ยนี้ได้สะท้อนออกมาจากการจัดงานประเพณีต่างๆ ดังต่อไปนี้ ประเพณีการไหลเรือไฟ พิธีนี้จะจัดในวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 10 ในช่วงหน้าฝน ในวันนี้จะมีการจัดงานพิธี 2 อย่าง คือการทำบุญข้าวสาก(ฉลากภัตร) จะจัดเพื่อทำบุญให้กับญาติพี่น้องที่เสียชีวิตไปแล้ว งานพิธีจะทำในช่วงเช้าที่วัด และ พิธีการไหลเรือไฟจะทำเพื่อบูชาแม่น้ำที่ใช้กินใช้อาบ จะจัดพิธีในตอนกลางคืน การทำเรือไฟเมื่อก่อนจะทำจากกาบกล้วย และท่อนกล้วย โดยจะนำมาต่อกันให้ยาว 5 ถึง 6 เมตร ในเรือจะใส่สิ่งของต่างๆ เช่น ขนม ข้าวต้ม กล้วย อ้อย มะพร้าวอ่อน เผือก มัน และอื่นๆ ด้านนอกของเรือจะประดับประดาด้วยดอกไม้ ธูปเทียน ตะเกียงขี้ไต้ หรือผ้าชุบน้ำมันขี้ไต้เพื่อเอาไว้จุดไฟขณะที่มีการทำพิธีไหลเรือไฟ ส่วนบนเรือนก็จะมีการเล่นดนตรีพื้นบ้าน เช่นตีกลอง ฉิ่ง ฉาบ และอื่นๆและเต้นรำตามจังหวะบนเรือ (หน้า 20-25) ประเพณีการละเล่นกลองเลง การเล่นกลองเลงก็เพื่อเรี่ยไรหาเงินบริจาคเข้าวัดในช่วงก่อนวันทำบุญพระเวส(หรือ พระเวสสันดร) ซึ่งไทโย้ยเรียกว่า “บุญตูบหรือบุญเมือง (หน้า 25) งานบุญพระเวสจะจัดช่วงเดือน 4 (หน้า 26) ซึ่งถือว่าเป็นเดือนที่เป็นมงคลสำหรับไทโย้ย (หน้า 27) ประเพณีออกพรรษา พิธีจะทำในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 ไทโย้ยจะประกอบพิธีการไหลเรือไฟบก ซึ่งในวันนี้ไทโย้ยจะทำแท่นบูชาทำเป็นรูปเรือวางไว้ข้างโบสถ์ ซึ่งในเรือจะใส่ผลตูมกาผ่าครึ่งเอาไว้แล้วทำไส้ตะเกียงบรรจุไว้ในผลตูมกา โดยจะทำเอาไว้กว่า 200 อัน หลังจากประกอบพิธีออกพรรษา คนที่มาทำบุญก็จะจุดไฟในผลตูมกาที่ทำเอาไว้แล้ววางดอกไม้ธูปเทียนเอาไว้บนเรือบก เพื่อทำบุญให้กับญาติพี่น้องที่เสียชีวิตไปแล้ว (หน้า 27 แผนผังประเพณี 12 เดือน หน้า 43) สำหรับประเพณีอื่นๆ ที่กล่าวไว้ในงานเขียนได้แก่ ประเพณีการรับขวัญเด็ก พิธีจัดหลังจากเด็กคลอด เมื่ออาบน้ำให้เด็กแล้วจะอุ้มเด็กมาวางลงกระด้งที่ปูผ้าเอาไว้ จากนั้นก็จะให้ผู้สูงอายุประกอบพิธี “พอกหนาย” แล้วก็จะวางปั้นข้าวสุก 1 ปั้นลงที่กระด้งแล้วจะกล่าวว่า “หากเป็นลูกผีก็ให้มารับเอาไป ถ้าเลยวันนี้ไปแล้วก็จะเป็นลูกของคน “ต่อไปก็จะทำนายชะตาชีวิตของเด็กซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นคำทำนายที่เป็นศิริมงคลกับชีวิต ต่อมาญาติพี่น้องที่มาร่วมพิธีก็จะให้พรเด็กที่เกิดใหม่ จากนั้นก็จะรับประทานอาหารร่วมกัน (หน้า 44) สำหรับการ ”อยู่ไฟ”หรือ ”อยู่คำ” หลังการคลอดลูกเมื่อก่อนถ้าหากเป็นหญิงที่ท้องแรกก็จะอยู่ไฟ 1 เดือน ถ้าคลอดลูกคนที่สองก็จะอยู่ไฟ 25 วัน คลอดลูกคนที่สามจะอยู่ไฟ 15 วัน ช่วงที่อยู่ไฟเมื่อก่อนจะให้แม่เด็กกินข้าวจี่กับปูขี้เหล็กหรือปูน้ำยาม โดยเอาปูมาย่างไฟแล้วกินกับข้าวจี่ เมื่อออกจากการอยู่ไฟก็จะประกอบพิธีบายศรีสู่ขวัญแม่และเด็ก (หน้า 45) ความเชื่อเรื่องผี สำหรับผีที่ไทโย้ยนับถือแบ่งออกเป็นผีชนิดต่างๆ ได้ดังต่อไปนี้ (หน้า 31) ผีตาแฮก หรือผีไร่ผีนา เชื่อว่าเป็นผีที่อาศัยอยู่ที่ไร่นาและมีหน้าที่ช่วยดลบันดาลให้เพาะปลูกให้ได้ผลผลิตเป็นจำนวนมาก ไทโย้ยจะเลี้ยงผีตาแฮกก่อนจะเพาะปลูกในไร่นาทุกครั้งเพราะถ้าหากไม่ทำพิธีเลี้ยงผี เชื่อว่าจะทำให้เคราะห์ร้ายเป็นไข้ไม่สบายและเพาะปลูกได้ผลผลิตไม่ดี หลังจากเก็บเกี่ยวข้าวเรียบร้อยแล้วก็จะทำพิธีเลี้ยงผีไร่ผีนา หากปลูกข้าวได้ผลผลิตเป็นจำนวนมากก็จะทำบุญกองข้าว ถ้าหากได้ผลผลิตน้อยก็จะไม่ทำสำหรับการจัดพิธีจะอยู่ระหว่างเดือน 1 กับเดือน 2 (หน้า 31-32) ผีปู่ตาหรือผีแจ คือผีบรรพบุรุษของไทโย้ยจะประจำอยู่ที่บ้าน มีหน้าที่ให้ความคุ้มครองคนในบ้านให้อยู่เย็นเป็นสุข การทำพิธีเซ่นไหว้จะทำเมื่อคนในบ้านเป็นไข้ไม่สบายหรือกรณีที่ลูกสาวจะแต่งงานก็จะทำพิธีบอกผีปู่ตาหรือผีแจ ได้รับรู้ สำหรับผีปู่ตา ไทโย้ยจะทำเป็นห้องหรือที่เรียกว่า “ซ้อม” โดยจะอัญเชิญผีปู่ตา ไว้ที่ห้องนี้ และในห้องนี้ก็จะเป็นห้องบูชาพระพุทธรูปด้วยเช่นกัน สำหรับห้องนี้จะเป็นห้องโล่ง และเจ้าของบ้านจะไม่นอนที่ห้องนี้ (หน้า 32-33) ผีน้ำหรือผีเงือก เป็นผีที่อยู่ในแม่น้ำลำคลอง ผีชนิดนี้เป็นผีให้โทษมากกว่าให้ประโยชน์ต่อโย้ย ในอดีตไทโย้ยจะใช้พูดหลอกลูกหลานเพื่อป้องกันไม่ให้ลงไปเล่นน้ำว่าในน้ำมีผีน้ำอยู่ในนั้นเพื่อให้เด็กๆ ที่จะลงไปเล่นน้ำกลัว ดังนั้นไทโย้ยจึงนำมาใช้เพื่อป้องกันลูกหลานจะลงไปเล่นน้ำซึ่งอาจได้รับอันตรายจมน้ำเสียชีวิต เป็นต้น สำหรับความเชื่อเรื่องผีน้ำทุกวันนี้คนไม่ค่อยมีความเชื่อต่อเรื่องนี้เหมือนเช่นในอดีต และยังมีคนที่เชื่อเพียงบางกลุ่มเท่านั้น ส่วนกลุ่มที่ยังมีความเชื่อเรื่องผีน้ำ ถ้าหากลงไปเล่นน้ำแล้วไม่สบายมีอาการละเมอหรือผี ไทโย้ยก็จะให้ “ หมอจ้ำ” หรือ หมอผี มาทำพิธีเซ่นไหว้ผี) แล้วก็จะเชิญผีให้ไปอยู่แม่น้ำโขงเพื่อจะให้คนในหมู่บ้านไม่ต้องได้รับความเดือดร้อน (หน้า 34-35) การทำศพ เมื่อมีคนเสียชีวิตไทโย้ยจะนำผ้ามามัดร่างผู้เสียชีวิต 3 ท่อน แล้วจึงจะบรรจุศพลงในโลง ต่อไปก็จะปิดหน้าศพด้วยผ้าขาวแล้วแต่จำนวนผืนที่ลูกอยากให้ปิดหน้าศพ ซึ่งผ้าที่ปิดหน้าศพดังกล่าวเชื่อว่าเป็นสมบัติของพ่อกับแม่ ถ้าหากลูกอยากเก็บเอาไว้บูชากราบไหว้ก็ให้ก้มแล้วใช้ปากคาบจากหน้าศพเอาเอง และเมื่อจะนำร่างผู้ตายใส่โลงก็จะเขียนคาถาบนมือซ้าย มือขวา และปาก เพื่อเป็นคาถาไปสวรรค์ และจะใส่เงินในปาก มือและเสื้อของผู้ตาย ด้วยเชื่อว่าจะเป็นค่าจ้างทางเพื่อไปสู่สวรรค์ การทำพิธีศพส่วนมากจะนำศพไปเผาที่ป่าช้า (หน้า 49-50) เมื่อจะนำศพไปยังป่าช้า หากสามีเสียชีวิตคนที่เป็นภรรยาจะตัดก้านกล้วยยาว 1 เมตร แล้วเวียนซ้ายรอบศพจำนวน 3 รอบ จากนั้นก็จะตัดก้านกล้วยที่นำมาใช้วนศพ เมื่อเวียนครบ 3 รอบ ก็จะบอกกล่าวให้ผู้เสียชีวิตไปสู่สุขคติ เมื่อไปถึงป่าช้าก็จะนำศพออกจากโลง วางศพไว้บนกองฟอน จากนั้นก็จะเอาโลงมาครอบศพแล้วก็จะราดหน้าร่างผู้เสียชีวิตด้วยน้ำมะพร้าว และจากนั้นถ้าลูกหลานของคนที่เสียชีวิตอยากได้ผ้าปิดหน้าศพก็ให้ใช้ปากคาบผ้านั้นเพื่อเก็บไว้บูชา ต่อไปก็จะนำหอศพหรือไทโย้ย เรียกว่า “หอกะโลง” ครอบร่างผู้ตาย ต่อมาพระก็จะสวดทำพิธีทางศาสนา เมื่อจะเผาก็ให้หันหัวผู้ตายไปด้านตะวันออกเพราะเชื่อว่าจะทำให้ได้ไปเกิดใหม่ เมื่อจุดไฟเผาจะจุดด้วยกระบองหรือไต้ เมื่อเผาเรียบร้อยแล้วก็จะกลับบ้าน ช่วงเย็นจะจัดอาหารเอาไว้ให้สำหรับคนตาย และจะจัดไว้ให้จนกว่าจะเก็บกระดูกเรียบร้อยแล้ว ในช่วงนี้จะนิมนต์พระมาสวดเป็นเวลา 3 วัน 3 คืนแต่ทุกวันนี้จะลดลงเหลือเพียงสวดวันเดียว (หน้า 50-51)

Education and Socialization

การบวช ในงานเขียนได้กล่าวถึงการบวชว่าเป็นการสืบต่อศาสนาพุทธและเป็นการศึกษาด้านศาสนาว่า ไทโย้ยนิยมการบวชเรียน โดยผ่านการบวชทั้งบวชเณรและบวชพระ ก่อนบวชคนที่จะบวชก็จะไปฝึกท่องบทสวดและท่องหนังสือกับพระสงฆ์ที่วัด เมื่อท่องบทสวดได้ก็จะกำหนดวันบวช การจัดพิธีจะจัดอย่างเรียบง่าย เมื่อเตรียมเครื่องบวชเรียบร้อยก็จะเข้าพิธีบวช โดยมากไทโย้ยมักจะบวชช่วงเข้าพรรษา เพราะเชื่อว่าถ้าบวชในช่วงนี้จะได้บุญเป็นอย่างมาก สำหรับระยะเวลาของการบวชจะขึ้นอยู่กับความพร้อมของคนที่บวชว่าติดธุระใดหรือไม่ หากคนใดติดงานก็จะบวชได้ไม่นาน ส่วนการลาสึกก็ต้องดูฤกษ์ยามก่อนจึงจะสึกได้ (หน้า 45-46)

Health and Medicine

การรักษาพยาบาล แบ่งเป็นการรักษาด้วยการแพทย์สมัยใหม่คือไปรักษาที่โรงพยาบาล กับการรักษาแบบพื้นบ้านด้วยวิธีทางไสยศาสตร์ โดยจะให้หมอจ้ำมาถามว่าผีที่ทำให้ไม่สบายเป็นผีชนิดใด การรักษาจะจ่ายค่ายกครู 5-10 บาทกับธูปเทียน เมื่อหายจากการป่วยแล้วจะแก้บนด้วยเหล้ากับไก่ ถ้าการรักษาไม่หายก็จะให้หมอเหยามาทำพิธีหากหายจากการเจ็บป่วยก็จะประกอบพิธีบายศรีสู่ขวัญให้กับคนป่วย (หน้า 48)

Art and Crafts (including Clothing Costume)

การแต่งกายของไทโย้ย ผู้ชาย สวมกางเกงและเสื้อที่ตัดเย็บด้วยผ้าทอเองและย้อมด้วยต้นคราม ผ้ามีสำดำ คาดเอวด้วยผ้าขาวม้า ซึ่งไทโย้ยเรียกว่า “แพแลง” (หน้า 42) ผู้หญิง แต่งกายด้วยผ้าที่ทอเอง ใส่เสื้อทอสีครามทรงแขนกระบอกผ่าด้านหน้า นุ่งซิ่นมัดหมี่ที่เป็นลวดลายสวมงาม (หน้า 41-42)

Folklore

ไม่มี

Ethnicity (Ethnic Identity, Boundaries and Ethnic Relation)

ไม่มี

Social Cultural and Identity Change

ไม่มี

Other Issues

ไม่มี

Map/Illustration

แผนผัง ประเพณีในรอบปี (หน้า 43) ภาพ แม่น้ำยวม (ภาคผนวกหน้า 93) เครื่องมือจับปลา (หน้า 94) พระแก้ว, ศาลเจ้าปู่ (หน้า 95) บ้านไทโย้ย (หน้า 96) อาชีพทอผ้า (หน้า 97) หมอน ผ้าซิ่น (หน้า 98) ผ้าขาวม้า (หน้า 99) เรือไฟ (หน้า 100) แผนที่ อำเภออากาศอำนวย (ภาคผนวก ข หน้า 106)

Text Analyst ภูมิชาย คชมิตร Date of Report 25 ก.ค. 2559
TAG ผู้ย้อย ย้อย ลาวย้อย ไทย้อย โย่ย, ความเป็นอยู่, ประวัติศาสตร์, ความเชื่อ, พิธีกรรม, สังคม, สกลนคร, Translator -
 
 

 

ฐานข้อมูลอื่นๆของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
  ฐานข้อมูลพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทย
จารึกในประเทศไทย
จดหมายเหตุทางมานุษยวิทยา
แหล่งโบราณคดีที่สำคัญในประเทศไทย
หนังสือเก่าชาวสยาม
ข่าวมานุษยวิทยา
ICH Learning Resources
ฐานข้อมูลเอกสารโบราณภูมิภาคตะวันตกในประเทศไทย
ฐานข้อมูลประเพณีท้องถิ่นในประเทศไทย
ฐานข้อมูลสังคม - วัฒนธรรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  หน้าหลัก
งานวิจัยชาติพันธุ์ในประเทศไทย
บทความชาติพันธุ์
ข่าวชาติพันธุ์
เครือข่ายชาติพันธุ์
เกี่ยวกับเรา
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  ข้อมูลโครงการ
ทีมงาน
ติดต่อเรา
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
ช่วยเหลือ
  กฏกติกาและมารยาท
แบบสอบถาม
คำถามที่พบบ่อย


ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) เลขที่ 20 ถนนบรมราชชนนี เขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ 10170 
Tel. +66 2 8809429 | Fax. +66 2 8809332 | E-mail. webmaster@sac.or.th 
สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2549    |   เงื่อนไขและข้อตกลง