สมัครสมาชิก   
| |
ค้นหาข้อมูล
ค้นหาแบบละเอียด
  •   ความเป็นมาและหลักเหตุผล

    เพื่อรวบรวมงานวิจัยทางชาติพันธุ์ที่มีคุณภาพมาสกัดสาระสำคัญในเชิงมานุษยวิทยาและเผยแผ่สาระงานวิจัยแก่นักวิชาการ นักศึกษานักเรียนและผู้สนใจให้เข้าถึงงานวิจัยทางชาติพันธุ์ได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น

  •   ฐานข้อมูลจำแนกกลุ่มชาติพันธุ์ตามชื่อเรียกที่คนในใช้เรียกตนเอง ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้ คือ

    1. ชื่อเรียกที่ “คนอื่น” ใช้มักเป็นชื่อที่มีนัยในทางเหยียดหยาม ทำให้สมาชิกกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ รู้สึกไม่ดี อยากจะใช้ชื่อที่เรียกตนเองมากกว่า ซึ่งคณะทำงานมองว่าน่าจะเป็น “สิทธิพื้นฐาน” ของการเป็นมนุษย์

    2. ชื่อเรียกชาติพันธุ์ของตนเองมีความชัดเจนว่าหมายถึงใคร มีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมอย่างไร และตั้งถิ่นฐานอยู่แห่งใดมากกว่าชื่อที่คนอื่นเรียก ซึ่งมักจะมีความหมายเลื่อนลอย ไม่แน่ชัดว่าหมายถึงใคร 

     

    ภาพ-เยาวชนปกาเกอะญอ บ้านมอวาคี จ.เชียงใหม่

  •  

    จากการรวบรวมงานวิจัยในฐานข้อมูลและหลักการจำแนกชื่อเรียกชาติพันธุ์ที่คนในใช้เรียกตนเอง พบว่า ประเทศไทยมีกลุ่มชาติพันธุ์มากกว่า 62 กลุ่ม


    ภาพ-สุภาษิตปกาเกอะญอ
  •   การจำแนกกลุ่มชนมีลักษณะพิเศษกว่าการจำแนกสรรพสิ่งอื่นๆ

    เพราะกลุ่มชนต่างๆ มีความรู้สึกนึกคิดและภาษาที่จะแสดงออกมาได้ว่า “คิดหรือรู้สึกว่าตัวเองเป็นใคร” ซึ่งการจำแนกตนเองนี้ อาจแตกต่างไปจากที่คนนอกจำแนกให้ ในการศึกษาเรื่องนี้นักมานุษยวิทยาจึงต้องเพิ่มมุมมองเรื่องจิตสำนึกและชื่อเรียกตัวเองของคนในกลุ่มชาติพันธุ์ 

    ภาพ-สลากย้อม งานบุญของยอง จ.ลำพูน
  •   มโนทัศน์ความหมายกลุ่มชาติพันธุ์มีการเปลี่ยนแปลงในช่วงเวลาต่างๆ กัน

    ในช่วงทศวรรษของ 2490-2510 ในสาขาวิชามานุษยวิทยา “กลุ่มชาติพันธุ์” คือ กลุ่มชนที่มีวัฒนธรรมเฉพาะแตกต่างจากกลุ่มชนอื่นๆ ซึ่งมักจะเป็นการกำหนดในเชิงวัตถุวิสัย โดยนักมานุษยวิทยาซึ่งสนใจในเรื่องมนุษย์และวัฒนธรรม

    แต่ความหมายของ “กลุ่มชาติพันธุ์” ในช่วงหลังทศวรรษ 
    2510 ได้เน้นไปที่จิตสำนึกในการจำแนกชาติพันธุ์บนพื้นฐานของความแตกต่างทางวัฒนธรรมโดยตัวสมาชิกชาติพันธุ์แต่ละกลุ่มเป็นสำคัญ... (อ่านเพิ่มใน เกี่ยวกับโครงการ/คู่มือการใช้)


    ภาพ-หาดราไวย์ จ.ภูเก็ต บ้านของอูรักลาโว้ย
  •   สนุก

    วิชาคอมพิวเตอร์ของนักเรียน
    ปกาเกอะญอ  อ. แม่ลาน้อย
    จ. แม่ฮ่องสอน


    ภาพโดย อาทิตย์    ทองดุศรี

  •   ข้าวไร่

    ผลิตผลจากไร่หมุนเวียน
    ของชาวโผล่ว (กะเหรี่ยงโปว์)   
    ต. ไล่โว่    อ.สังขละบุรี  
    จ. กาญจนบุรี

  •   ด้าย

    แม่บ้านปกาเกอะญอ
    เตรียมด้ายทอผ้า
    หินลาดใน  จ. เชียงราย

    ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ถั่วเน่า

    อาหารและเครื่องปรุงหลัก
    ของคนไต(ไทใหญ่)
    จ.แม่ฮ่องสอน

     ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ผู้หญิง

    โผล่ว(กะเหรี่ยงโปว์)
    บ้านไล่โว่ 
    อ.สังขละบุรี
    จ. กาญจนบุรี

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   บุญ

    ประเพณีบุญข้าวใหม่
    ชาวโผล่ว    ต. ไล่โว่
    อ.สังขละบุรี  จ.กาญจนบุรี

    ภาพโดยศรยุทธ  เอี่ยมเอื้อยุทธ

  •   ปอยส่างลอง แม่ฮ่องสอน

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ปอยส่างลอง

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดย เบญจพล  วรรณถนอม
  •   อลอง

    จากพุทธประวัติ เจ้าชายสิทธัตถะ
    ทรงละทิ้งทรัพย์ศฤงคารเข้าสู่
    ร่มกาสาวพัสตร์เพื่อแสวงหา
    มรรคผลนิพพาน


    ภาพโดย  ดอกรัก  พยัคศรี

  •   สามเณร

    จากส่างลองสู่สามเณร
    บวชเรียนพระธรรมภาคฤดูร้อน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   พระพาราละแข่ง วัดหัวเวียง จ. แม่ฮ่องสอน

    หล่อจำลองจาก “พระมหามุนี” 
    ณ เมืองมัณฑะเลย์ ประเทศพม่า
    ชาวแม่ฮ่องสอนถือว่าเป็นพระพุทธรูป
    คู่บ้านคู่เมืององค์หนึ่ง

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม

  •   เมตตา

    จิตรกรรมพุทธประวัติศิลปะไต
    วัดจองคำ-จองกลาง
    จ. แม่ฮ่องสอน
  •   วัดจองคำ-จองกลาง จ. แม่ฮ่องสอน


    เสมือนสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรม
    เมืองไตแม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ใส

    ม้งวัยเยาว์ ณ บ้านกิ่วกาญจน์
    ต. ริมโขง อ. เชียงของ
    จ. เชียงราย
  •   ยิ้ม

    แม้ชาวเลจะประสบปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัย
    พื้นที่ทำประมง  แต่ด้วยความหวัง....
    ทำให้วันนี้ยังยิ้มได้

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ผสมผสาน

    อาภรณ์ผสานผสมระหว่างผ้าทอปกาเกอญอกับเสื้อยืดจากสังคมเมือง
    บ้านแม่ลาน้อย จ. แม่ฮ่องสอน
    ภาพโดย อาทิตย์ ทองดุศรี
  •   เกาะหลีเป๊ะ จ. สตูล

    แผนที่ในเกาะหลีเป๊ะ 
    ถิ่นเดิมของชาวเลที่ ณ วันนี้
    ถูกโอบล้อมด้วยรีสอร์ทการท่องเที่ยว
  •   ตะวันรุ่งที่ไล่โว่ จ. กาญจนบุรี

    ไล่โว่ หรือที่แปลเป็นภาษาไทยว่า ผาหินแดง เป็นชุมชนคนโผล่งที่แวดล้อมด้วยขุนเขาและผืนป่า 
    อาณาเขตของตำบลไล่โว่เป็นส่วนหนึ่งของป่าทุ่งใหญ่นเรศวรแถบอำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี 

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   การแข่งขันยิงหน้าไม้ของอาข่า

    การแข่งขันยิงหน้าไม้ในเทศกาลโล้ชิงช้าของอาข่า ในวันที่ 13 กันยายน 2554 ที่บ้านสามแยกอีก้อ อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย
 
  Princess Maha Chakri Sirindhorn Anthropology Centre
Ethnic Groups Research Database
Sorted by date | title

   Record

 
Subject กูย,ความเชื่อ,การรักษาพยาบาล,พิธีกรรมแกลมอ,สุรินทร์
Author วันชัย คำพาวงศ์
Title การศึกษาเปรียบเทียบพิธีกรรมการเล่นแกลมอของกลุ่มชาวกูยบ้านตรึมและกลุ่มชาวกูยบ้านแตล อำเภอศีขรภูมิ จังหวัดสุรินทร์
Document Type รายงานการวิจัย Original Language of Text -
Ethnic Identity กูย กุย กวย โกย โก็ย, Language and Linguistic Affiliations ออสโตรเอเชียติก(Austroasiatic)
Location of
Documents
ห้องสมุดศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร Total Pages 90 Year 2546
Source สำนักงานคณะกรรมการสภาวิจัยแห่งชาติ
Abstract

เนื้อหาเกี่ยวกับความเชื่อเรื่องการประกอบพิธีการเล่นแกลมอ ซึ่งเป็นการรักษาพยาบาลด้วยวิธีไสยศาสตร์ของกูยบ้านตรึม และบ้านแตล ตำบลตรึม อำเภอศีขรภูมิ จังหวัดสุรินทร์ การรักษานี้เป็นการรักษาการเจ็บป่วยที่เชื่อว่าเป็นการกระทำของวิญญาณของผีบรรพบุรุษที่โกรธเคืองจึงทำให้คนในครอบครัวไม่สบาย งานเขียนได้ครอบคลุมไปถึงวิถีชีวิต สังคม การเมือง ความเชื่อ และเศรษฐกิจ การแต่งกายขั้นตอนการประกอบพิธีและด้านอื่นๆ ของกูยในสองหมู่บ้านที่มีความสัมพันธ์กับการประกอบพิธีการเล่นแกลมอซึ่งเป็นการรักษาตามความเชื่อพื้นบ้านของกูย

Focus

ศึกษาเปรียบเทียบวิธีการ องค์ประกอบ ขั้นตอน พิธีกรรมการเล่นแกลมอ ความเหมือนและความแตกต่างของพิธี กรรมการเล่นแกลมอ ผู้ประกอบพิธีและ ผู้ร่วมพิธีกรรม และอุปกรณ์ต่างๆ ที่ใช้ในพิธี และความเชื่อที่สัมพันธ์กับวิถีชีวิตที่ปรากฏในพิธีกรรมการเล่นแกลมอ เช่น การรักษาพยาบาล การแต่งกาย การบริโภค การปกครอง เศรษฐกิจ ของกูย บ้านตรึมและบ้านแตล อำเภอศีขรภูมิ จังหวัดสุรินทร์ (หน้า 5) ผู้เขียนนำเสนองานวิจัยนี้เพียงส่วนหนึ่ง ยังมีส่วนที่ต้องดำเนินการต่อคือเขียนและพิมพ์ขั้นตอนประกอบพิธีกรรมแกลมอของหมู่บ้านตรึม องค์ประกอบและขั้นตอนของพิธีกรรมแกลมอของบ้านแตล ตลอดจนการวิเคราะห์เปรียบเทียบพิธีกรรมแกลมอของทั้งสองหมู่บ้าน (ดูข้อ 4 หน้า –3-)

Theoretical Issues

ไม่มี

Ethnic Group in the Focus

กูย เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่พูดภษาตระกูลมอญ - เขมร ชาติพันธุ์กูยจะเรียกตนเองว่า “กูย” ซึ่งหมายถึง “คน” สำหรับคนส่วนใหญ่จะเรียกกูยว่า “ส่วย” ซึ่งโยกย้ายเข้ามาอยู่ในจังหวัดสุรินทร์เป็นกลุ่มแรก แต่เดิมบรรพบุรุษของกูยจะทำอาชีพจับช้างป่า เลี้ยงช้างและหาของป่า ทุกวันนี้ส่วนมากจะมีอาชีพเพาะปลูก และมีบางส่วนเท่านั้นที่ยังคงเลี้ยงช้างอยู่เช่นเดิม กูยจะมีความสามารถในการจับช้างป่า แล้วนำช้างป่ามาฝึก (หน้า 7-9)

Language and Linguistic Affiliations

กูยมีภาษาพูดในตระกูลมอญ - เขมร (หน้า 7) มีแต่ภาษาพูดไม่มีภาษาเขียน (หน้า 8,42)

Study Period (Data Collection)

เริ่มทำวิจัย มกราคม 2545 (หน้า -1-)

History of the Group and Community

ประวัติหมู่บ้านตรึม กูยบ้านตรึม เมื่อก่อนนี้ตั้งรกรากอยู่เมืองอัตปือ แสนปาง ประเทศลาว บรรพบุรุษของกูยได้อพยพเข้ามาอยู่ในประเทศไทยในช่วงสมัยรัชกาลที่ 3 ในการอพยพในครั้งนั้นได้เข้ามาอยู่หลายพื้นที่ในเขตจังหวัดสุรินทร์ อาทิ ในพื้นที่ตำบลตรึม อำเภอศรีขรภูมิ หมู่บ้านเมืองที ตำบลเมืองที อำเภอเมือง หมู่บ้านจารพัต ตำบลจารพัต อำเภอศรีขรภูมิ หมู่บ้านสำโรงทาบ อำเภอสำโรงทาบ (หน้า 18) สำหรับความเป็นมาเรื่องการตั้งชื่อหมู่บ้าน แต่เดิมหมู่บ้านจะมีชื่อหลายชื่อ ทุกชื่อจะมีความหมายว่า “หมู่บ้านขนาดใหญ่ “ อาทิเช่น คนไทยเชื้อสายเขมรจะเรียกหมู่บ้านตรึม “เซราะทม” แปลว่า “หมู่บ้านใหญ่” กูย เรียกหมู่บ้านตรึมว่า “เซราะพืด” กับ“เซราะก๊กทม” ทั้งสองชื่อแปลว่า “หมู่บ้านใหญ่” ส่วนความเป็นมาเรื่องการตั้งชื่อหมู่บ้านว่าหมู่บ้านตรึมนั้น ตั้งชื่อหมู่บ้านตามชื่อต้นคราม ซึ่งเป็นต้นไม้ขนาดใหญ่ที่เติบโตในพื้นที่หมู่บ้านเมื่อครั้งมาบุกเบิกตั้งหมู่บ้าน ในขณะนั้นตั้งชื่อว่า “บ้านโคกคราม” ภายหลังได้เรียกชื่อเพี้ยนจากที่ตั้งในครั้งแรกมีชื่อใหม่ว่า “โคกครม” กระทั่งมาใช้ชื่อที่เรียกกันในทุกวันนี้ว่า “บ้านตรึม” (หน้า 19) ประวัติหมู่บ้านแตล กูยบ้านแตล เมื่อก่อนนี้ตั้งรกรากอยู่เมืองอัตปือ แสนปาง ประเทศลาว เช่นเดียวกับกูยบ้านตรึม กลุ่มชาติพันธุ์กูยได้อพยพมาในประเทศไทย ก่อนที่จะมาอยู่บริเวณที่ตั้งของหมู่บ้านในทุกวันนี้ เมื่อก่อนอยู่ที่บ้านขอนแตก อำเภอสังขละ จังหวัดสุรินทร์ ต่อมากลุ่มกูยตั้งใจว่าจะย้ายที่อยู่ไปอยู่บริเวณลุ่มแม่น้ำมูล แต่ไปไม่ถึงเนื่องจากได้เดินทางมาถึงบริเวณหนองน้ำที่เกิดจากร่องน้ำสองสายไหลมารวมกัน เรียกว่า ห้วยสิม ที่ไหลไปยังตำบลขวาวใหญ่ อำเภอศีขรภูมิ จังหวัดสุรินทร์ (หน้า 40-41) ในบริเวณนี้จะมีน้ำซับไหลขึ้นจากพื้นดิน มีน้ำตลอดทั้งปีมีลักษณะเหมือนกุดน้ำ ส่วนทางทิศตะวันตกจะเป็นเนินปกคลุมด้วยป่าไม้และอุดมไปด้วยสัตว์ป่าหลากหลายชนิด บริเวณสูงสุดของพื้นที่จะเป็นที่ตั้งของปราสาทขอมที่สร้างด้วยหินศิลาแลง พื้นที่รอบปราสาทจะเป็นดินเหนียวมีความอุดมสมบูรณ์ดังนั้นกูยจึงเลือกพื้นที่แห่งนี้ตั้งหมู่บ้านและอยู่กันมาจนถึงทุกวันนี้ (หน้า 41) สำหรับที่มาของชื่อหมู่บ้านเนื่องจากลักษณะดินของหมู่บ้านเป็นดินเหนียว เมื่อถึงหน้าฝนพอฝนตกถนนจะลื่นมาก กูยจึงตั้งชื่อหมู่บ้านว่า “ระแตล” หมายถึง“ลื่นไถล” ภายหลังได้เรียกเหลือเพียงคำเดียวว่า “แตล” นอกจากนี้ยังมีข้อสันนิษฐานว่าชื่อหมู่บ้านนำชื่อมาจากภาษาเขมร โดยนำมาจากคำว่า “กระเอล” หมายถึง “ลื่น” ต่อมาได้เรียกเพี้ยนและกร่อนเสียงเหลือเพียงคำว่า “แตล” จึงได้ชื่อว่าหมู่บ้านแตล (หน้า 42)

Settlement Pattern

บ้านตรึม กูยบ้านตรึม จะสร้างบ้านอยู่เป็นกลุ่มใหญ่โดยไม่มีแผนผัง เมื่อสร้างบ้านจะสร้างหลังขนาดใหญ่ อยู่ติดกัน สังเกตจากบ้านบางหลังหลังคาบ้านจะเกยหลังคาบ้านหลังอื่น (หน้า 3) บ้านแตล นหมู่บ้านมีการวางผังบ้านเรือนและถนนเป็นอย่างดี บ้านแตลจึงมีความเป็นระเบียบเรียบร้อยสวยงาม (หน้า 40)

Demography

ไม่มีข้อมูล

Economy

บ้านตรึม อาชีพ กูยบ้านตรึมทำนาเป็นอาชีพหลัก ส่วนอาชีพอื่น ได้แก่ ทำไร่ ปลูกปอ หม่อน ข้าวโพด ถั่ว ทำงานรับจ้างตัดอ้อย ก่อสร้าง ทำงานโรงงาน ค้าขาย เลี้ยงสัตว์เพื่อเลี้ยงไว้กินและใช้แรงงานอาทิ เลี้ยงวัว ควาย หมู เป็ด ไก่ (หน้า 23-25) บ้านแตล อาชีพ กูยบ้านแตลส่วนมากจะทำนาทำไร่และทำอาชีพอื่นๆ เช่น เลี้ยงสัตว์ รับจ้าง ค้าขาย (หน้า 44)

Social Organization

สังคมบ้านตรึม กูยบ้านตรึมมักอยู่เป็นกลุ่มขนาดใหญ่และอยู่ร่วมกันแบบช่วยเหลือเกื้อกูลกัน (หน้า 20) ส่วนมากจะอยู่แบบครอบครัวเดี่ยว ประกอบด้วย สามี ภรรยา และลูก ถ้าหากลูกสาวแต่งงานก็จะให้ลูกเขยมาอยู่ที่บ้านของฝ่ายเจ้าสาวเมื่ออยู่เป็นเวลา 2 ถึง 5 ปี ก็จะแยกออกไปสร้างบ้านของตนเอง โดยจะสร้างบ้านอยู่ใกล้กับบ้านของพ่อแม่ของภรรยา และเครือญาติทั้งฝ่ายหญิงและฝ่ายชายจะมีศักดิ์และฐานะทางสังคมเท่าเทียมกัน สำหรับในเรื่องมรดก พ่อแม่ฝ่ายหญิงจะมอบมรดกให้ลูกสาวเท่าๆ กัน นอกจากลูกสาวที่อยู่กับพ่อแม่จะได้รับส่วนแบ่งมากกว่าคนอื่นๆ ส่วนลูกชายจะไม่ได้รับมรดก ลูกชายเมื่อแต่งงานแล้วไปอยู่กับฝ่ายหญิงจะได้รับมรดกจากทางฝ่ายหญิง นอกจากนี้ ในสังคมกูยจะให้ความเคารพนับถือผู้สูงอายุถ้าจะทำสิ่งใดก็จะมาขอคำปรึกษา (หน้า 29,30) สังคมบ้านแตล การแต่งงาน ในอดีตถ้าหากหนุ่มสาวชอบพอกัน ฝ่ายหญิงจะบอกพ่อกับแม่ว่าชอบลูกชายบ้านไหน จากนั้นก็จะมอบหมายให้ตัวแทนไปทาบทามฝ่ายชายเพื่อจัดงานแต่งงาน เมื่อตกลงว่าจะแต่งงานก็จะกำหนดวันแต่งงาน เมื่อถึงวันแต่งงานเจ้าบ่าวจะแห่ขบวนขันหมากไปยังบ้านเจ้าสาว โดยจะนำสิ่งของต่างๆ ไปบ้านเจ้าสาวด้วยซึ่งประกอบด้วย พานบายศรี ขนมและเครื่องเซ่นไหว้ (หน้า 54- 55) หลังจากจัดพิธีที่บ้านเจ้าสาวเรียบร้อยแล้ว ฝ่ายเจ้าสาวก็จะเตรียมสิ่งของ เช่น ผ้าไหม ฟูก หมอน แห่ขบวนไปที่บ้านเจ้าบ่าว โดยจะนำสิ่งของไปมอบแก่พ่อแม่และญาติเจ้าบ่าว เมื่อเดินไปบ้านเจ้าบ่าว ผู้ที่เป็นเจ้าบ่าวจะแบกฟืน ส่วนเจ้าสาวจะหาบน้ำ ทั้งนี้มาจากความเชื่อของกูยที่ว่า ต่อไปเจ้าบ่าวจะเป็นหัวหน้าครอบครัวและต้องทำงานหนัก สำหรับเจ้าสาวต้องเป็นแม่บ้านทำงานต่างๆ ในบ้าน (หน้า 56) เมื่อไปถึงบ้านเจ้าบ่าวแล้วก็จะมอบสิ่งของให้กับญาติๆ ต่อไปก็จะทำนายชีวิตการแต่งงานโดยเสี่ยงทายจากคางไก่ ต่อจากนั้นก็จะอาบน้ำให้แก่ พ่อแม่และญาติผู้ใหญ่ฝ่ายเจ้าบ่าวและเลี้ยงอาหารแขกที่มาร่วมงาน อย่างไรก็ดีสำหรับการแต่งงานในทุกวันนี้ได้เปลี่ยนแปลงไปจากอดีตเพราะฝ่ายชายจะต้องไปขอฝ่ายหญิง (หน้า 56)

Political Organization

ไม่มีข้อมูล

Belief System

บ้านตรึม ศาสนาและความเชื่อ กูยนับถือศาสนาพุทธ นับถือผีและวิญญาณของบรรพบุรุษ (หน้า 3,30) และมีความเชื่อว่าตะกวดเป็นตัวแทนของผีปู่ตา กูยจะไม่ทำร้ายตะกวดเนื่องจากเชื่อว่าผีปู่ตาอาศัยอยู่ในร่างของตะกวด ถ้าไม่เชื่อแล้วทำร้ายตะกวดก็จะทำให้มีเคราะห์ (หน้า 3,4,63) ประเพณี สำหรับประเพณีของกูยบ้านตรึมที่กล่าวถึงในงานเขียนมีดังต่อไปนี้ การบวช กูยจะจัดพิธีบวชเมื่อลูกมีอายุครบ 20 ปี เพื่อเป็นการทดแทนบุญคุณของพ่อแม่ที่ให้กำเนิดมาและเป็นการสืบทอดศาสนาพุทธ สำหรับขั้นตอนการบวช จะเริ่มจากหาฤกษ์วันบวช แล้วก็จะเชิญแขกเพื่อมาร่วมงาน โดยจะแต่งขันคายซึ่งประกอบด้วยสิ่งของต่างๆ เช่น หมากพลู 2 คำ บุหรี่ 2 มวน ธูป 3 ดอก เทียน 1 เล่ม แต่ทุกวันนี้จะใช้ธูป 3 ดอกหรือใช้การ์ดเชิญ เมื่อถึงก่อนวันงานซึ่งเรียกว่าวันสุกดิบหรือวันโฮม เพื่อนบ้านก็จะมาช่วยเตรียมงาน จัดเตรียมอาหารและสถานที่ช่วยเจ้าภาพ เมื่อถึงเวลาโกนผมให้นาค พ่อกับแม่จะโกนผมให้ลูกที่จะบวชก่อนคนอื่น จากนั้นก็จะเป็นญาติพี่น้องมาโกนผมต่อไป ส่วนในช่วงบ่ายก็จะแห่นาครอบหมู่บ้าน (หน้า 35) เมื่อแห่นาครอบหมู่บ้านแล้วก็จะทำพิธีบายศรีสู่ขวัญ เมื่อบายศรีสู่ขวัญจบแล้วจากนั้นนาคก็จะขอขมาพ่อแม่และญาติผู้ใหญ่ที่นับถือ พอถึงวันบวชพ่อแม่และญาติก็จะพานาคไปบวชที่วัดในช่วงเช้า เมื่อบวชแล้วจากนั้นก็จะพาพระที่บวชนั้นไปอยู่วัดที่จะจำพรรษา ส่วนพ่อแม่ก็จะทำบุญตักบาตรและเลี้ยงอาหารแขกที่มาร่วมงาน (หน้า 36) งานศพ เมื่อมีคนในหมู่บ้านเสียชีวิต คนที่เป็นญาติของผู้ตายจะแจ้งผู้ใหญ่บ้าน เพื่อบอกข่าวกับลูกบ้านคนอื่นๆ เพื่อที่จะช่วยกันรวบรวมเงินฌาปนกิจ ในการประกอบพิธีคนประกอบพิธีจะหันหัวผู้ตายไปทางด้านทิศตะวันตกแล้วจุดธูป 1 ดอกไว้ด้านบนหัวของคนตายจากนั้นก็จะจุดตะเกียงหรือเทียน จำนวน 1 เล่ม โดยจะจุดเอาไว้โดยไม่ให้ดับเอาไว้อย่างนั้นจนกว่าจะนำศพไปฝังหรือเผาการจัดพิธีศพจะจัด 3 วัน (หน้า 36) การประกอบพิธีศพเมื่อก่อนกูยมักจะฝังศพมากกว่าเผา แต่ทุกวันนี้โดยมากจะเผาและเมื่อผ่านไป 100 วันก็จะทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้กับผู้ตาย โดยมีสิ่งของประกอบพิธีกรรมคือ ใบพลูที่ไม่ม้วนวางไว้ 4 ทิศๆ ละ 7 อัน หมาก 7 คำ แก่นต้นคูณ 7 คำ ธูปเทียนอย่างละ 1 ห่อ กรวยดอกไม้ ขัน 5 ขัน 8 อย่างละ 1 ชุด เสื้อผ้าเก่าที่ผู้ตายชอบใส่ นำสิ่งของทั้งหมดจัดใส่ถาดพิธีเพื่อบอกให้ผู้ตายทราบว่าอยู่คนละโลกกับญาติพี่น้องแล้ว ไม่ต้องห่วงบ้านและญาติพี่น้อง ส่วนทรัพย์สิน ญาติพี่น้องจะช่วยรักษาให้ สำหรับการเผาเมื่อจะเผาก็จะนำสิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ ของผู้ตายเอาใส่ในโลงด้วยของที่ใส่ลงไปได้แก่ หมาก พลู ฟูก หมอน และอื่นๆ เมื่อเผาหรือฝังผู้ตายเรียบร้อนแล้วในช่วงเช้าของวันต่อมาก็จะนิมนต์พระมาสวดอุทิศให้กับผู้เสียชีวิตและญาติก็จะทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้กับผู้เสียชีวิตด้วย (หน้า 36-37) การเซ่นผีปู่ตา การจัดพิธีจะจัดปีละ 2 ครั้ง ในเดือน 3 ก่อนที่จะนำข้าวเข้ายุ้งฉาง เพื่อให้มีข้าวเต็มยุ้งฉางมีบริโภคตลอดปีและในเดือน 6 ในช่วงก่อนจะดำนา การประกอบพิธีในเดือน 6 ก็เพื่อขอให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล และบอกให้ผีปู่ตาช่วยดูแลคุ้มครองข้าวที่ปลูกให้เจริญงอกงาม โดยมีข้อกำหนดการจัดพิธีกรรมว่าต้องเป็นวันพุธและเป็นวันข้างขึ้น 8 ค่ำ ขึ้นไปเท่านั้น “จ้ำ” หรือผู้ที่ทำหน้าที่ติดต่อกับผีปู่ตา จะเป็นผู้กำหนดวันพิธีและผู้ประกอบ (หน้า 38, 61) การประกอบพิธีจะจัดพิธีไหว้ที่ศาลปู่ตาหนองระกา โดยคนในหมู่บ้านจะนำอาหารและเครื่องเซ่นไหว้มาทำพิธีเซ่นไหว้ร่วมกัน สำหรับสิ่งของเซ่นไหว้ที่ใช้ในพิธี ได้แก่ เหล้าขาว 1 ขวด เต่าต้ม 1 ตัว ไก่ต้ม 1 ตัว ข้าวเหนียวสุก 1 ถ้วย ธูป 3 ดอก เทียน 1 คู่ กล้วย 1 หวี ข้าวต้ม 1 มัด หมากพลู 2 คำ ยาสูบ 1 คู่ ด้ายสายสิญจน์ 1 ม้วน น้ำฝน 1 ขัน ขันห้า/ขันแปด ใบเล็บครุฑหรือยอดใบไม้ 50 คู่ จ้ำจะนำเครื่องเซ่นไปบนศาลปู่ตา ทำพิธีเซ่นไหว้ แกะไก่ต้มและเต่าดูคาง เพื่อทำนาย หากคางไก่และคางเต่ามีลักษณะโค้งงอขนานกันอย่างสวยงาม ทำนายว่าฝนจะตกต้องตามฤดูกาล ทำนาอุดมสมบูรณ์ หากคางไก่และคางเต่าไม่โค้งงอตามที่กล่าวมา แสดงว่าจะแล้งทำนาไม่ได้ผล (หน้า 38-39) บ้านแตล ศาสนาและความเชื่อ กูยบ้านแตลนับถือศาสนาพุทธและนับถือผี ในหมู่บ้านมีวัดประจำหมู่บ้าน 1 แห่ง ชื่อวัดบ้านแตล สำหรับการนับถือผีกูยบ้านแตลจะให้ความเคารพผีปู่ตา ซึ่งศาลปู่ตาได้ตั้งอยู่ในพื้นที่โรงเรียนบ้านแตล (หน้า 47 ภาพหน้า 48) ประเพณี ในหมู่บ้านมีประเพณีที่สำคัญ ได้แก่ การทำบุญหมู่บ้าน จะจัดปีละครั้งในช่วงเดือน 6 ในช่วงก่อนที่จะลงมือทำนาสำหรับการทำพิธี กูยจะนำกาบกล้วยมาทำเป็นช่องสี่เหลี่ยมหลายๆ ช่อง แล้วก็จะใส่ข้าว ขนม พริก เกลือ หอม กระเทียม และตุ๊กตาประดิษฐ์จากกาบกล้วย ลงไปในช่องที่ทำเอาไว้ เมื่อทำเสร็จก็จะนำไปวางไว้ตามทางแยกและถนนเข้าหมู่บ้านและจะบอกกล่าวให้ผีที่เป็นญาติพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้วและผีอื่นๆ มารับเครื่องเซ่นไหว้เหล่านี้เพื่อให้วิญญาณไปสู่สุขคติ เมื่อทำพิธีเสร็จเรียบร้อยแล้วก็จะนิมนต์พระมาสวดที่บริเวณปะรำพิธีที่บริเวณกลางหมู่บ้าน สำหรับจุดประสงค์ของการทำบุญหมู่บ้านก็เพื่อต้องการให้ชีวิตมีแต่ความสงบสุข และรอดพ้นจากเคราะห์ร้ายต่างๆ ที่อาจมารบกวน ( หน้า 49) ก่อพระเจดีย์ข้าวเปลือก พิธีนี้จะจัดเมื่อเก็บเกี่ยวข้าวในนาเสร็จเรียบร้อยแล้ว เมื่อจะนำข้าวไปเก็บในยุ้งข้าว คนในหมู่บ้านก็จะเอาข้าวเปลือกมารวมกันที่วัดในวันเวลาที่ตกลงกันไว้เพื่อนำมาก่อเจดีย์ข้าวเปลือก เมื่อนำข้าวมารวมกันที่วัดแล้วในตอนเย็นจะทำพิธีสู่ขวัญข้าวและนิมนต์พระมาสวดมนต์ ในการทำบุญนี้ข้าวที่ชาวบ้านนำมารวมกันในงานทางวัดก็จะนำข้าวไปสีเป็นข้าวสารและนำข้าวสารไปถวายพระและเณรในวัด หากเหลือจากที่พระฉันก็จะเอาไปขายเพื่อนำเงินมาซ่อมแซมวัด (หน้า 50) ประเพณีการบวช กูยบ้านแตลจะจัดพิธีบวชให้ลูกเมื่อลูกมีอายุครบ 20 ปี สำหรับจุดมุ่งหมายของการบวชก็เพื่อเป็นการตอบแทนบุญพ่อแม่ที่เป็นผู้ให้กำเนิดและเลี้ยงลูกมาจนเติบใหญ่ นอกจากนี้ยังเป็นการสืบทอดศาสนาให้เจริญรุ่งเรืองต่อไป (หน้า 52,53)

Education and Socialization

บ้านตรึม มีโรงเรียน 1 แห่ง เปิดสอนตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1- 6 มีครู 12 คน และนักเรียน 212 คน เมื่อนักเรียนจบการศึกษาแล้วผู้ปกครองจะส่งลูกหลานไปเรียนต่อที่โรงเรียนมัธยมในตัวอำเภอศีขรภูมิ และในพื้นที่อำเภอรัตนบุรี ในบางครอบครัวก็จะให้ลูกหลานไปเรียนต่อที่โรงเรียนในอำเภอเมืองสุรินทร์ (หน้า 26) บ้านแตล ในหมู่บ้านมีโรงเรียนประจำหมู่บ้านชื่อ โรงเรียนบ้านแตล เปิดสอนตั้งแต่ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่1 ถึงชั้นประถมศึกษาปี่ที่ 6 เมื่อจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 แล้วนักเรียนส่วนใหญ่จะไปเรียนต่อชั้นมัธยมศึกษาที่โรงเรียนแตลศิริวิทยา ซึ่งตั้งอยู่ห่างจากหมู่บ้าน 5 กิโลเมตร สำหรับนักเรียนบางส่วนถ้าไม่เรียนที่นี่ก็จะไปเรียนในโรงเรียนมัธยมศึกษาในอำเภอศีขรภูมิ กับโรงเรียนในตัวเมืองสุรินทร์ (หน้า 45)

Health and Medicine

ประเพณีพิธีกรรมการเล่นแกลมอ (การรักษาด้วยไสยศาสตร์) “แกลมอ” หมายความว่า พิธีกรรมและการบูชาเซ่นไหว้ เพื่อเคารพสิ่งศักดิ์สิทธิ์และวิญญาณของบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้วเพื่อให้ความคุ้มครองให้มีชีวิตอยู่อย่างมีความสงบสุข (หน้า 7) สำหรับจุดมุ่งหมายของประเพณีพิธีกรรมการเล่นแกลมอ มีดังต่อไปนี้ 1) เพื่อรักษาพยาบาลให้กับคนที่เจ็บไข้ไม่สบาย เนื่องจากเชื่อว่าวิญญาณแค้นเคืองครอบครัวและผู้ป่วย จึงทำให้เป็นไข้ วิธีการรักษาก็คือจะจัดพิธีกรรมการเล่นแกลมอ จนวิญญาณเกิดความชอบใจก็จะทำให้หายจากการป่วยไข้ 2) เพื่อเป็นการเสี่ยงทายเหตุการณ์ต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต 3) เพื่อบูชาครู หรือหาตัวแทนคนที่จะมาเป็นคนประกอบพิธีกรรมการเล่นแกลมอ ของตระกูลและของครอบครัว (หน้า 2-3) ในการเล่นแกลมอ คนที่ประกอบพิธีนั้นเรียกว่า “แม่มอ” คือคนที่มีอายุมากที่สุดในกลุ่มคนที่เป็น ”มอ” สำหรับผู้ช่วย ”แม่มอ” จะเรียกว่า “มอ” คนที่จะมาเป็นจะเป็นผู้หญิง การทำหน้าที่เป็นมอจะได้รับการสืบทอดต่อกันมาจากแม่มอคนก่อน ในการทำพิธีจะมีเครื่องเซ่นไหว้วิญญาณ ได้แก่ อาหาร เครื่องดื่ม และของใช้ชนิดต่างๆ ฯลฯ ในการประกอบพิธีจะเล่นดนตรีประกอบด้วยสำหรับเครื่องดนตรีที่ใช้เล่นในพิธีจะมี กลอง แคน ตอนที่ทำพิธีเล่นแกลมอ แม่มอกับมอ ก็จะรำตามจังหวะดนตรี สำหรับคนที่มาดูจะมาเต้นรำด้วยก็ได้ (หน้า 16,17,69,72,76) การเล่นแกลมอ บ้านตรึม ในการประกอบพิธีการเล่นแกลมอของกูยจะทำ 3 ช่วง ได้แก่ 1 ) วันปีใหม่ของกูย คือในวันขึ้น 8 ค่ำ เดือนยี่ การจัดก็เพื่อเป็นการฉลองวันปีใหม่ของกูยซึ่งจะจัดเมื่อถึงวันอังคารแรกของเดือนยี่ของปี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการรวมญาติพี่น้องภายในหมู่บ้าน และรวมมอของตระกูลต่างๆ สำหรับการจัดงานจะมีขั้นตอนดังนี้ ก่อนถึงวันที่กำหนดจัดงานมอของแต่ละตระกูลในหมู่บ้านตรึมจะไปที่บ้านแม่มอหรือหัวหน้ามอ ที่เป็นผู้อาวุโสมากที่สุดของมอประจำตระกูลซึ่งอยู่ที่หมู่บ้านแตล พร้อมกับเหล้าขาว 1 ขวด ข้าวต้มมัด 1 มัด เพื่อเชิญให้มาเป็นหัวหน้า ในการทำพิธีกรรมการเล่นแกลมอ (หน้า 57-58) ในวันที่กำหนดจัดพิธี แม่มอหรือหัวหน้ามอ กับมอของแต่ละตระกูลจะเตรียมเครื่องคายหรือเครื่องเซ่นสรวงต่างๆ จนครบทุกอย่าง จากนั้นก็จะเชิญวิญญาณบรรพบุรุษ ซึ่งเป็นมอประจำตระกูลที่ล่วงลับไปแล้วให้มาเข้าทรง หลังจากที่วิญญาณมอประจำตระกูลมาเข้าร่างของมอจนครบทุกคน ก็จะสังเกตจากที่ร่างมอสั่นไหวแล้วโยกตัวตามจังหวะดนตรีที่บรรเลง ขั้นต่อมาแม่มอจะผูกด้ายข้อมือให้กับมอประจำตระกูลทุกคน แล้วแม่มอและมอก็จะแต่งกายและแต่งหน้า ด้วยเครื่องคายที่เตรียมไว้ เช่นเสื้อผ้า แป้ง ขมิ้น เมื่อแต่งตัวแต่งหน้าจนพร้อมแล้ว คนที่เป็นแม่มอก็จะยกเครื่องคายขึ้นเหนือหัวก็จะยกเครื่องคายให้มอทุกคนทำเช่นกันโดยจะเวียนจนครบทุกคน จากนั้นก็จะเต้นรำตามดนตรีที่บรรเลงด้วยความเพลิดเพลิน ครั้นรำได้สักพักก็จะเชิญมอออกจากร่างก็ถือว่าจบการทำพิธี (เรื่องและภาพหน้า 58) 2) เมื่อเจ็บไข้ไม่สบาย การจัดพิธีก็เพราะเชื่อว่าการเจ็บป่วยสิ่งศักดิ์สิทธิ์ กับวิญญาณได้ทำให้เป็นเช่นนั้น การรักษาถ้ารักษาด้วยแพทย์แผนปัจจุบันไม่หาย ก็จะให้หมอทรงหรือ “จ้ำ” ซึ่งเป็นผู้นำทางความเชื่อด้านการติดต่อกับวิญญาณ สำหรับคนที่เป็นจ้ำจะมีการสืบทอดเช่นเดียวกับมอ แต่จะต่างกันที่คนที่จะมาทำหน้าที่จ้ำนั้นจะเป็นผู้ชาย เมื่อจ้ำทำพิธีนั่งทางในก็จะบอกว่า ป่วยเพราะอะไร หากหมอทรงหรือจ้ำบอกว่าเป็นเพราะผีปู่ตาหรือวิญญาณบรรพบุรุษเป็นผู้กระทำ ญาติของผู้ป่วยก็จะจัดพิธีการเล่นแกลมอ เพื่อทำการไหว้ผีปู่ตาหรือผีบรรพบุรุษ (หน้า 57-59,61-63) การประกอบพิธี จะต้องบอกให้ผีปู่ตารู้ก่อนว่าจะประกอบพิธีการเล่นแกลมอเพื่อรักษาผู้ป่วยโดยญาติของผู้ป่วยจะนำเครื่องเซ่นเพื่อให้จ้ำทำพิธีบอกกับผีปู่ตามีสิ่งของต่างๆ ดังนี้ เหล้าขาว 1 ขวด หมาก พลู 1 คู่ ยาสูบ 1 คู่ ธูป 3 ดอก ดอกกล้วยไม้ 5 คู่ สำหรับที่อยู่ของผีปู่ตาของหมู่บ้านตรึม มีอยู่ 4 แห่งดังนี้ 1) ตั้งที่ใต้ต้นมะขามใหญ่กลางหมู่บ้าน โดยมีจอมปลวกที่อยู่ด้านในเป็นสัญลักษณ์ (หน้า 64) 2) ตั้งอยู่ภายในวัดบ้านตรึมโดยมีหินที่เป็นรูปใบเสมาโบสถ์เป็นสัญลักษณ์ (หน้า 64) 3) ตั้งอยู่บนฝายเก็บน้ำประจำหมู่บ้าน มีตุ๊กตารูปคนเป็นสัญลักษณ์ 4) ตั้งอยู่ที่หนองระกามีรูปไม้แกะสลักเป็นสัญลักษณ์ (หน้า 65) 3) เมื่อเลือกผู้ประทับทรงประจำตระกูล หรือเลือกมอ ในแต่ละตระกูลจะเลือกผู้หญิงไว้ 1 คนเพื่อทำหน้าที่เป็น “มอ” เพื่อทำหน้าที่ติดต่อกับวิญญาณของบรรพบุรุษ สำหรับการเลือกจะทำเมื่อคนที่เป็น “มอ” คนเดิมเสียชีวิตหรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่เป็นมอได้อีกต่อไป (หน้า 57,59,60,67,68 ภาพหน้า 58) การเลือกมอคนใหม่เพื่อมาแทนมอที่เสียชีวิตไปนั้น ตระกูลที่จะหามอคนใหม่ก็จะพาผู้หญิงทุกคนในตระกูลไปที่บ้านแม่มอ และในวันนั้นก็จะทำปะรำพิธีเพื่อเล่นแกลมอด้วย สำหรับเครื่องเซ่นสรวงที่จะต้องเตรียมไปด้วยมี กรวยดอกไม้ 50 คู่ เหล้าขาว 1 ขวด ข้าวสาร 1 ถ้วย น้ำมันมะกอก 1 ขวด ผ้าขาวม้า 1 ผืน โสร่ง 1 ผืน แป้ง 1 กระป๋อง กระจก 1 บาน หวี 1 อัน เงินค่าคายสำหรับมอคนที่เข้าคัดเลือกคนละ 172 บาท และเงินค่าตอบแทนเพื่อให้แม่มอ 112 บาท (หน้า 59-60) การทำพิธีครั้นถึงเวลาที่กำหนดไว้ แม่มอและมอตระกูลอื่น พร้อมด้วยผู้หญิงที่จะเข้าคัดเลือกเพื่อเป็นมอของตระกูล ก็จะมานั่งเป็นวงกลมล้อมรอบเครื่องคายและนั่งพับเพียบก้มหน้ากับพื้น ใช้มือทั้งสองข้างจับขันซึ่งบรรจุข้าวสาร ปักเทียนสีเหลือง 1 เล่ม และก็จะมีการบรรเลงดนตรีเร็วขึ้นเรื่อยๆ ถ้ามอเข้าร่างทรงก็จะโยกตัวสั่นเทิ้ม ถ้าผู้หญิงที่คัดเลือกเข้ามาทำพิธีตัวสั่นโดยมีลักษณะเหมือนแม่มอและมอคนอื่นๆ ก็จะได้รับการรับเลือกให้ทำหน้าที่เป็นมอประจำตระกูลคนต่อไป ต่อมาแม่มอ มอ และมอที่ได้รับเลือกคนใหม่ก็จะฟ้อนรำตามจังหวะดนตรี พอเหนื่อยก็จะหยุดพักแล้วบอกสิ่งที่อยากได้ เช่น เหล้า หมาก พลู หรือสิ่งของชนิดอื่นก็จะมีคนไปหามาให้ ต่อมามอคนใหม่ก็จะเข้าไปไหว้แม่มอ แล้วแม่มือก็จะผูกข้อมือให้ต่อมาจะนำเงินในคายมาแบ่งให้ทุกคนเท่ากัน เมื่อทำพิธีเป็นเวลาพอสมควรแล้วก็จะทำพิธีออกจากมอ แม่มอและมอคนอื่นๆ จะทำพิธีเหมือนกับตอนเข้ามอ เมื่อมอออกจากร่างแล้วก็ถือว่าจบพิธีกรรม (หน้า 60) สำหรับองค์ประกอบของประเพณีพิธีกรรมการเล่นแกลมอมีดังนี้ 1. ผู้ประกอบพิธีกรรม การเล่นแกลมอ ประกอบด้วยผู้ประกอบพิธี คือ “มอ” และหัวหน้าเรียกว่า “แม่มอ” เชื่อว่าเป็นผู้ที่สามารถติดต่อวิญญาณได้ 1.1 การสืบทอดการเป็นมอประจำตระกูล ในแต่ละตระกูลจะมีมอของตระกูลเพื่อทำหน้าที่ติดต่อกับวิญญาณบรรพบุรุษ คนที่มาทำหน้าที่นี้จะเป็นผู้หญิงที่รับอาสามาทำหน้าที่นี้ สำหรับคนที่เป็นมอมานาวนานกว่าคนอื่นในหมู่บ้าน ก็จะได้รับการยกย่องให้เป็นแม่มอสำหรับการเป็นมอประจำตระกูลนั้นจะเป็นการสืบทอดตำแหน่งตั้งแต่รุ่น ปู่ ย่า ตา ยาย จนถึงรุ่นลูก หลาน (หน้า 66,68,69) 1.2 หน้าที่ของแม่มอและมอในประเพณีพิธีกรรมการเล่นแกลมอรักษาผู้เจ็บป่วย แม่มอและแม่มอจะทำหน้าที่รักษาผู้ป่วยหลังจากที่จ้ำหรือคนทรงได้บอกกล่าวกับผีปู่ตาแล้ว เมื่อญาติได้กำหนดวันทำพิธี แม่มอและมอในหมู่บ้านก็จะไปยังบ้านของผู้ป่วย ซึ่งจำนวนของมอที่ประกอบพิธีจะมีจำนวนไม่แน่นอนส่วนมากจะมากกว่า 8 คนขึ้นไป การประกอบพิธีรักษาผู้ป่วยจะจัดตอนไหนก็ได้เว้นแต่ช่วงเดือนเข้าพรรษา (หน้า 70-71) 2. ผู้ร่วมพิธีกรรมการเล่นแกลมอ 2.1 ญาติของผู้เจ็บป่วย และชาวบ้านตรึม ซึ่งมีหน้าที่คือเตรียมเครื่องเซ่นสรวงในใช้ในพิธีกรรมการเล่นแกลมอ และขณะฟ้อนรำผู้ร่วมพิธีจะมีส่วนทำให้เกิดความสนุกสนานในพิธีคือระหว่างที่แม่มอและมอรำก็สามารถรอไปด้วยได้เช่นกันบางครั้งก็จะช่วยรินน้ำหรือรินเหล้าแก่มอและผู้ร่วมพิธีคนอื่นๆ (หน้า 66, 71-72) 2.2 หมอแคนและหมอกลอง ถือว่าเป็นผู้ประกอบพิธีที่สำคัญเพราะเป็นผู้เล่นดนตรี เพราะถ้าขาดหมอแคนกับหมอกลองก็ไม่สามารถจัดงานได้เพราะไม่มีความสนุกสนาน ในกรณีที่หมอแคนหรือหมอกลองติดธุระไม่สามารถมาเข้าร่วมพิธีได้ บางครั้งญาติผู้ป่วยอาจแก้ปัญหาโดยไปจ้างหมอแคนกับหมอกลองจากที่อื่นมาทำหน้าที่แทน (หน้า 72) 2.3 ผู้เจ็บป่วย กรณีหากเจ็บป่วยไม่มากก็สามารถเข้าร่วมพิธีได้โดยญาติจะให้นั่งกลางวง เพราะบางครั้งหากได้ยินเสียงดนตรีก็อาจลุกขึ้นเต้นรำด้วยก็ได้ แต่ถ้าป่วยหนักก็ได้รับการยกเว้นไม่ต้องเข้าร่วมพิธีโดยจะให้พักผ่อนอยู่ที่บ้าน (หน้า 72) 3. เครื่องเซ่นสรวงและสิ่งของที่ใช้ในพิธีกรรมการเล่นแกลมอ (หน้า 66ภาพหน้า 73) 3.1 เครื่องเซ่นสรวง ประกอบด้วยของที่ต้องเตรียมดังนี้ เหล้าขาว 1 ขวด กล้วยไม้ 50 คู่ ขันข้าวตอก 1 คู่ หมาก พลู 1 ชุด ยาสูบ 1 ชุด ผ้าโสร่ง 1 ชุด ผ้าสไบ 1 ผืน แป้ง ขมิ้นทาตัว หวี กระจก 1 ชุด ไม้ขีด 1 กล่อง ข้าวสาร 1 ถ้วย ข้าวต้มมัด 1 ชุด กล้วยน้ำว้า 1 ชุด ขนมต่างๆ 1 ชุด ไก่ต้ม 1 ตัว ธูป เทียน 1 ชุด อุปกรณ์ทั้งหมดคือเครื่องเซ่นสรวง จะจัดใส่ไว้ในถาด ชาวบ้านตรึมเรียกว่าเครื่องคาย เมื่อประกอบพิธีจะนำเครื่องคายมาวางไว้ตรงกลาง (หน้า 74) 3.2 อุปกรณ์สิ่งของที่ใช้ในพิธีกรรมการเล่นแกลมอ ประกอบด้วย ประรำพิธีกรรม 1 แห่ง ช้าง ม้าแกะสลักจากไม้อย่างละ 1 ตัว มีดดาบ 1 ด้าม ธนู 1 คัน ไต้จุดไฟ 1 อัน ตองวายหรือปองวายที่ได้จากการเอาด้ายสีแดงกับสีขาวมาถักเหมือนกับใยแมงมุม ทำเป็นรูป สี่เหลี่ยม 1 ชุด ไข่ไก่แล้วเอาเชือกมาถักหุ้มไข่ไก่และผูกเป็นสายโยงไว้กับไม้เหมือนเบ็ดตกปลา และด้ายสายสิญจน์ 1 ม้วนและพานบายศรีซึ่งตกแต่งด้วยดอกไม้เช่น ดอกรัก ดอกดาวเรือง ดอกเฟื่องฟ้า พร้อมด้วยอุปกรณ์บายศรีอื่นๆได้แก่ กล้วย ไข่ ขนม มะพร้าวอ่อน ข้าวต้มมัดและอื่นๆ (หน้า 75- 76) 4. เครื่องดนตรีที่ใช้ในพิธีกรรมการเล่นแกลมอ คือ กลองกับแคน ทั้งนี้เชื่อว่าถ้าหมอแคนและหมอกลองมีความชำนาญเล่นดนตรีได้คล่องแคล่วก็จะทำให้มอเข้าร่างทรงได้เร็ว นอกจากนี้หากหมอกลองและหมอแคนมีความรู้เรื่องขั้นตอนของการจัดพิธีกรรมก็จะทำให้เกิดความศักดิ์สิทธิ์ ทั้งยังช่วยให้เกิดความสนุกสนานในขณะประกอบพิธี (หน้า 66,76) 5. การแต่งกายในพิธีกรรมการเล่นแกลมอ สำหรับการแต่งกายของแม่มอและมอมีดังนี้ นุ่งผ้าซิ่นไหมสีออกโทนดำ บริเวณปลายซิ่นเป็นริ้วสีขาว เหลือง แดง เสื้อ เป็นเสื้อคอกลม แขนยาว สีดำทอด้วยผ้าไหมหรือผ้าฝ้าย สไบหรือผ้าเบี่ยงจะพาดบ่าแล้วปล่อยชายผ้าไว้ทางด้านหลัง นอกจากนี้จะประดับร่างกายด้วย สร้อยเงิน ต่างหู กำไล (หน้า 66,77 ภาพหน้า 78) 6. วัน เวลา และสถานที่ในการประกอบพิธีกรรมการเล่นแกลมอ การจัดพิธีจะจัดเวลาไหนก็ได้เว้นแต่ในช่วงเข้าพรรษา 3 เดือน สำหรับบริเวณจัดงานโดยมากจะเป็นลานบ้านของแม่มอหรือลานบ้านผู้ป่วย ส่วนคนที่ทำหน้าที่กำหนดวันและสถานที่จะเป็นหน้าที่ของจ้ำประจำหมู่บ้านซึ่งจะเป็นผู้ขออนุญาตกับผีปู่ตาและหาฤกษ์การจัดพิธีแล้วบอกต่อแม่มอและมอ (หน้า 66, 79) 7. ผู้เจ็บป่วยที่ได้ใช้วิธีการรักษาอาการเจ็บป่วย ด้วยการประกอบพิธีกรรมการเล่นแกลมอ (หน้า 66) บ้านตรึม การรักษาพยาบาล เมื่อเป็นไข้ไม่สบายจะมีการรักษา 2 แบบ ได้แก่ การรักษาด้วยวิธีทางการแพทย์แผนปัจจุบัน เช่น ไปรักษาที่สถานีอนามัย และโรงพยาบาลในอำเภอศีขรภูมิและในจังหวัดสุรินทร์ และการแพทย์แผนโบราณ เช่น การรักษาด้วยสมุนไพร หมอพื้นบ้าน และการประกอบพิธีแกลมอรักษาด้วยไสยศาสตร์เพื่อเซ่นไหว้ขอขมาผีทำให้ผีพึงพอใจก็จะทำให้หายจากเจ็บป่วย (หน้า 28) การคลอดลูก กูยบ้านตรึมเมื่อก่อนนี้ถ้าจะคลอดลูกจะให้หมออตำแยเป็นผู้ทำคลอดเมื่อจะทำคลอดคนในครอบครัวจะนำดอกไม้ ธูป เทียน และเหล้าจัดพิธีเซ่นไหว้ผี เพื่อบอกผีเรือนให้รู้และจะได้ไม่มารังคราญในช่วงที่ทำคลอด เมื่อคลอดลูกแล้วหมอตำแยจะตัดสายสะดือด้วยไม้ไผ่หรือเปลือกหอยกาบที่รนกับไฟ จากนั้นญาติๆ ก็จะมาผูกข้อไม้ข้อมือเรียกขวัญให้แม่และลูกที่ที่เพิ่งเกิด สำหรับแม่ลุกอ่อนจะอยู่ไฟประมาณ 7 ถึง 15 วัน (หน้า 32) ในระหว่างที่อยู่ไฟจะนำสมุนไพรหลายอย่าง เช่น “เยียฮ้งฮอน”(ลักษณะคือมี แก่นสีเหลือง เปลือกดำ คล้ายเถาวัลย์) ขิง ข่า ตะไคร้ ว่านไพล ต้นตดหมา นำมาปริมาณที่เท่ากันมาต้มให้แม่ลูกอ่อนที่อยู่ไฟดื่ม ดื่มวันละ 3 เวลา ต้มวันละ 3 หม้อ สำหรับสมุนไพรที่ดื่มกูยเชื่อว่าจะช่วยให้มดลูกเข้าอู่เร็ว และตอนที่อยู่ไฟห้ามกิน ปลาดุก ปลาซิวหางแดง ปลาขาวหางแดง ไข่เป็ดและไข่ไก่ เพราะอาจผิดสำแดงบางครั้งอาจทำให้ตายถ้ากินอาหารดังกล่าว (หน้า 33) บ้านแตล สำหรับกูยบ้านแตลก็มีการรักษาพยาบาลทั้งแบบการแพทย์แผนปัจจุบัน เช่น การไปรับการรักษาที่สถานีอนามัย โรงพยาบาลอำเภอศีขรภูมิและโรงพยาบาลประจำจังหวัดสุรินทร์ และการแพทย์พื้นบ้านด้วยวิธีไสยศาสตร์ เช่น การประกอบพิธีการเล่นแกลมอ เนื่องจากเชื่อว่าผีบรรพบุรุษไม่พอใจจึงทำให้เจ็บไข้ได้ป่วย (หน้า 47) การคลอดลูกของบ้านแตล การคลอดลูกกูยบ้านแตลเรียกว่า “ซะกอนงา” การทำคลอดเมื่อก่อนจะให้หมอตำแยเป็นคนทำคลอด เมื่อคลอดแล้วหมอตำแยจะตัดสายสะดือของเด็กด้วยไม้ไผ่หรือเปลือกหอย จากนั้นก็จะปล่อยให้แผลสะดือหายโดยไม่ใส่ยาหรือสมุนไพรใดๆ ต่อมาก็จะทำแคร่ให้แม่ลูกอ่อนอยู่ไฟโดยให้นอนบนแคร่ไม้ไผ่ปูเสื่อกกให้นอน แล้วก่อไฟใต้แคร่ ฟืนส่วนใหญ่ที่ใช้จะใช้ไม้เต็งเพราะเป็นไม้ที่ไม่มีกลิ่นควัน เพราะถ้าใช้ไม้ที่มีควันแล้วก็อาจทำให้หญิงที่อยู่ไฟเป็นไข้ไม่สบายได้ (หน้า 51) เมื่อคลอดแล้วต่อมาก็จะทำพิธีตัดผมไฟ หากลูกเป็นหญิงก็จะทำพิธีภายในเวลา 3 วัน แต่ถ้าเป็นลูกชายก็จะทำพิธีในระยะเวลา 5-7 วัน ญาติของหญิงที่คลอดลูกก็จะทำอาหารไว้เลี้ยงผู้ที่มาร่วมงาน และในพิธีจะเตรียมพานไว้ 2 พาน เพื่อให้สามีของหญิงที่คลอดลูกกับหมอตำแยทั้งสองพานจะใส่สิ่งของ เช่น หมาก พลู ดอกไม้ ธูปเทียนและจะใส่เงินในพานให้กับหมอตำแย เพื่อเป็นการขอขมาสามี และขอบคุณต่อหมอตำแยที่มาทำคลอด ส่วนคนที่มาตัดผมไฟนั้นส่วนใหญ่จะเป็นผู้ใหญ่ที่ให้ความเคารพนับถือ หลังจากที่ขอขมาสามีและขอบคุณหมอตำแย ก็จะผูกข้อมือให้เด็กที่เกิดใหม่เพื่อให้อยู่ดีมีแต่ความสุข จากนั้นก็จะให้ผู้ใหญ่ที่เคารพตั้งชื่อให้เด็กซึ่งชื่อที่ตั้งให้ในอดีตจะเป็นชื่อที่ฟังไม่เพราะ เพราะเชื่อว่าถ้าตั้งชื่อเพราะก็จะทำให้เด็กเลี้ยงยาก ป่วยง่าย หรือผีจะมารบกวนดังนั้นจึงชอบตั้งชื่อให้เด็ก เช่น ผี ดำ โหมง แมว ฯลฯ (หน้า 51-52) ปัจจุบันกูยชอบไปคลอดลูกที่โรงพยาบาลและกินยาแพทย์แผนปัจจุบัน อีกทั้งยังไม่ชอบให้หมอตำแยคลอดลูกให้หรืออยู่ไฟเหมือนเช่นในอดีต นอกจากนี้ยังชอบตั้งชื่อลูกให้มีความไพเราะหรือตั้งชื่อตามดาราหรือนักร้องที่ตนชื่นชอบ (หน้า 52)

Art and Crafts (including Clothing Costume)

การแต่งกายของแม่มอและมอผู้ประกอบพิธีการเล่นแกลมอ แม่มอและมอจะสวมซิ่นไหมสีพื้นเป็นสีดำและตรงปลายซิ่นจะทอเป็นลวดลายด้วยสีขาว เหลือง แดง สวมเสื้อคอกลมแขนยาว สีดำ ตัดด้วยผ้าไหมหรือผ้าฝ้าย พาดบ่าทางเฉียงด้วยผ้าสไบหรือผ้าเบี่ยงสีดำ การแต่งตัวจะสวมเครื่องประดับ เช่น สร้อยเงิน ต่างหู กำไล (หน้า 77-78 ภาพหน้า 78)

Folklore

ไม่มี

Ethnicity (Ethnic Identity, Boundaries and Ethnic Relation)

ไม่มี

Social Cultural and Identity Change

ไม่มี

Other Issues

ไม่มี

Map/Illustration

ภาพ ทางเข้าหมู่บ้านตรึม (หน้า 18,22) หมู่บ้านตรึม (หน้า 19) วัว ควาย (หน้า 25) โรงเรียนบ้านตรึม (หน้า 27) วัดบ้านตรึม (หน้า 31) การแต่งกายของนาค (หน้า 34) ทางเข้าหมู่บ้านแตล (หน้า 40) บ้านเรือนในหมู่บ้านแตล (หน้า 41) โรงเรียนหมู่บ้านแตล (หน้า 46) ศาลผีปู่ตา (หน้า 48) ภาพบรรพชาอุปสมบท (หน้า 53) สิ่งของในงานแต่งงาน (หน้า 55) การเล่นแกลมอของไทยกูย (หน้า 58) หูหมูป่าสัญลักษณ์การเป็นจ้ำของหมู่บ้านตรึม (หน้า 62) ตะกวดชาวบ้านตรึมถือว่าเป็นร่างของวิญญาณบรรพบุรุษ (หน้า 63) ศาลปู่ตา (หน้า 65) แม่มอและมอของหมู่บ้านตรึม (หน้า 67) เครื่องเซ่นที่ใช้ในการประกอบพิธีแกลมอ (หน้า 73,75) การแต่งกายของผู้ประกอบพิธีแกลมอ (หน้า 78) การเล่นแกลมอเพื่อรักษาผู้ป่วยของหมู่บ้านตรึม (หน้า 79) แม่มอและมอของหมู่บ้านแตล (หน้า 87) ปองวายและไข่ไก่,ขั้นตอนการเชิญมอ (หน้า 88) อุปกรณ์การเล่นแกลมอหมู่บ้านตรึม (หน้า 89) มอ(ร่างทรง) (หน้า 89) แม่มอ (หัวหน้า) มอ (ผู้ช่วย) (หน้า 90) อาชีพทอผ้าเป็นงานในชีวิตประจำวันของแม่มอและมอหมู่บ้านตรึม (หน้า 90) แผนผัง หมู่บ้านตรึม (หน้า 21) หมู่บ้านแตล (หน้า 43)

Text Analyst ภูมิชาย คชมิตร Date of Report 27 พ.ค. 2562
TAG กูย, ความเชื่อ, การรักษาพยาบาล, พิธีกรรมแกลมอ, สุรินทร์, Translator -
 
 

 

ฐานข้อมูลอื่นๆของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
  ฐานข้อมูลพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทย
จารึกในประเทศไทย
จดหมายเหตุทางมานุษยวิทยา
แหล่งโบราณคดีที่สำคัญในประเทศไทย
หนังสือเก่าชาวสยาม
ข่าวมานุษยวิทยา
ICH Learning Resources
ฐานข้อมูลเอกสารโบราณภูมิภาคตะวันตกในประเทศไทย
ฐานข้อมูลประเพณีท้องถิ่นในประเทศไทย
ฐานข้อมูลสังคม - วัฒนธรรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  หน้าหลัก
งานวิจัยชาติพันธุ์ในประเทศไทย
บทความชาติพันธุ์
ข่าวชาติพันธุ์
เครือข่ายชาติพันธุ์
เกี่ยวกับเรา
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  ข้อมูลโครงการ
ทีมงาน
ติดต่อเรา
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
ช่วยเหลือ
  กฏกติกาและมารยาท
แบบสอบถาม
คำถามที่พบบ่อย


ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) เลขที่ 20 ถนนบรมราชชนนี เขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ 10170 
Tel. +66 2 8809429 | Fax. +66 2 8809332 | E-mail. webmaster@sac.or.th 
สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2549    |   เงื่อนไขและข้อตกลง