สมัครสมาชิก   
| |
ค้นหาข้อมูล
ค้นหาแบบละเอียด
  •   ความเป็นมาและหลักเหตุผล

    เพื่อรวบรวมงานวิจัยทางชาติพันธุ์ที่มีคุณภาพมาสกัดสาระสำคัญในเชิงมานุษยวิทยาและเผยแผ่สาระงานวิจัยแก่นักวิชาการ นักศึกษานักเรียนและผู้สนใจให้เข้าถึงงานวิจัยทางชาติพันธุ์ได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น

  •   ฐานข้อมูลจำแนกกลุ่มชาติพันธุ์ตามชื่อเรียกที่คนในใช้เรียกตนเอง ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้ คือ

    1. ชื่อเรียกที่ “คนอื่น” ใช้มักเป็นชื่อที่มีนัยในทางเหยียดหยาม ทำให้สมาชิกกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ รู้สึกไม่ดี อยากจะใช้ชื่อที่เรียกตนเองมากกว่า ซึ่งคณะทำงานมองว่าน่าจะเป็น “สิทธิพื้นฐาน” ของการเป็นมนุษย์

    2. ชื่อเรียกชาติพันธุ์ของตนเองมีความชัดเจนว่าหมายถึงใคร มีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมอย่างไร และตั้งถิ่นฐานอยู่แห่งใดมากกว่าชื่อที่คนอื่นเรียก ซึ่งมักจะมีความหมายเลื่อนลอย ไม่แน่ชัดว่าหมายถึงใคร 

     

    ภาพ-เยาวชนปกาเกอะญอ บ้านมอวาคี จ.เชียงใหม่

  •  

    จากการรวบรวมงานวิจัยในฐานข้อมูลและหลักการจำแนกชื่อเรียกชาติพันธุ์ที่คนในใช้เรียกตนเอง พบว่า ประเทศไทยมีกลุ่มชาติพันธุ์มากกว่า 62 กลุ่ม


    ภาพ-สุภาษิตปกาเกอะญอ
  •   การจำแนกกลุ่มชนมีลักษณะพิเศษกว่าการจำแนกสรรพสิ่งอื่นๆ

    เพราะกลุ่มชนต่างๆ มีความรู้สึกนึกคิดและภาษาที่จะแสดงออกมาได้ว่า “คิดหรือรู้สึกว่าตัวเองเป็นใคร” ซึ่งการจำแนกตนเองนี้ อาจแตกต่างไปจากที่คนนอกจำแนกให้ ในการศึกษาเรื่องนี้นักมานุษยวิทยาจึงต้องเพิ่มมุมมองเรื่องจิตสำนึกและชื่อเรียกตัวเองของคนในกลุ่มชาติพันธุ์ 

    ภาพ-สลากย้อม งานบุญของยอง จ.ลำพูน
  •   มโนทัศน์ความหมายกลุ่มชาติพันธุ์มีการเปลี่ยนแปลงในช่วงเวลาต่างๆ กัน

    ในช่วงทศวรรษของ 2490-2510 ในสาขาวิชามานุษยวิทยา “กลุ่มชาติพันธุ์” คือ กลุ่มชนที่มีวัฒนธรรมเฉพาะแตกต่างจากกลุ่มชนอื่นๆ ซึ่งมักจะเป็นการกำหนดในเชิงวัตถุวิสัย โดยนักมานุษยวิทยาซึ่งสนใจในเรื่องมนุษย์และวัฒนธรรม

    แต่ความหมายของ “กลุ่มชาติพันธุ์” ในช่วงหลังทศวรรษ 
    2510 ได้เน้นไปที่จิตสำนึกในการจำแนกชาติพันธุ์บนพื้นฐานของความแตกต่างทางวัฒนธรรมโดยตัวสมาชิกชาติพันธุ์แต่ละกลุ่มเป็นสำคัญ... (อ่านเพิ่มใน เกี่ยวกับโครงการ/คู่มือการใช้)


    ภาพ-หาดราไวย์ จ.ภูเก็ต บ้านของอูรักลาโว้ย
  •   สนุก

    วิชาคอมพิวเตอร์ของนักเรียน
    ปกาเกอะญอ  อ. แม่ลาน้อย
    จ. แม่ฮ่องสอน


    ภาพโดย อาทิตย์    ทองดุศรี

  •   ข้าวไร่

    ผลิตผลจากไร่หมุนเวียน
    ของชาวโผล่ว (กะเหรี่ยงโปว์)   
    ต. ไล่โว่    อ.สังขละบุรี  
    จ. กาญจนบุรี

  •   ด้าย

    แม่บ้านปกาเกอะญอ
    เตรียมด้ายทอผ้า
    หินลาดใน  จ. เชียงราย

    ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ถั่วเน่า

    อาหารและเครื่องปรุงหลัก
    ของคนไต(ไทใหญ่)
    จ.แม่ฮ่องสอน

     ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ผู้หญิง

    โผล่ว(กะเหรี่ยงโปว์)
    บ้านไล่โว่ 
    อ.สังขละบุรี
    จ. กาญจนบุรี

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   บุญ

    ประเพณีบุญข้าวใหม่
    ชาวโผล่ว    ต. ไล่โว่
    อ.สังขละบุรี  จ.กาญจนบุรี

    ภาพโดยศรยุทธ  เอี่ยมเอื้อยุทธ

  •   ปอยส่างลอง แม่ฮ่องสอน

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ปอยส่างลอง

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดย เบญจพล  วรรณถนอม
  •   อลอง

    จากพุทธประวัติ เจ้าชายสิทธัตถะ
    ทรงละทิ้งทรัพย์ศฤงคารเข้าสู่
    ร่มกาสาวพัสตร์เพื่อแสวงหา
    มรรคผลนิพพาน


    ภาพโดย  ดอกรัก  พยัคศรี

  •   สามเณร

    จากส่างลองสู่สามเณร
    บวชเรียนพระธรรมภาคฤดูร้อน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   พระพาราละแข่ง วัดหัวเวียง จ. แม่ฮ่องสอน

    หล่อจำลองจาก “พระมหามุนี” 
    ณ เมืองมัณฑะเลย์ ประเทศพม่า
    ชาวแม่ฮ่องสอนถือว่าเป็นพระพุทธรูป
    คู่บ้านคู่เมืององค์หนึ่ง

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม

  •   เมตตา

    จิตรกรรมพุทธประวัติศิลปะไต
    วัดจองคำ-จองกลาง
    จ. แม่ฮ่องสอน
  •   วัดจองคำ-จองกลาง จ. แม่ฮ่องสอน


    เสมือนสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรม
    เมืองไตแม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ใส

    ม้งวัยเยาว์ ณ บ้านกิ่วกาญจน์
    ต. ริมโขง อ. เชียงของ
    จ. เชียงราย
  •   ยิ้ม

    แม้ชาวเลจะประสบปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัย
    พื้นที่ทำประมง  แต่ด้วยความหวัง....
    ทำให้วันนี้ยังยิ้มได้

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ผสมผสาน

    อาภรณ์ผสานผสมระหว่างผ้าทอปกาเกอญอกับเสื้อยืดจากสังคมเมือง
    บ้านแม่ลาน้อย จ. แม่ฮ่องสอน
    ภาพโดย อาทิตย์ ทองดุศรี
  •   เกาะหลีเป๊ะ จ. สตูล

    แผนที่ในเกาะหลีเป๊ะ 
    ถิ่นเดิมของชาวเลที่ ณ วันนี้
    ถูกโอบล้อมด้วยรีสอร์ทการท่องเที่ยว
  •   ตะวันรุ่งที่ไล่โว่ จ. กาญจนบุรี

    ไล่โว่ หรือที่แปลเป็นภาษาไทยว่า ผาหินแดง เป็นชุมชนคนโผล่งที่แวดล้อมด้วยขุนเขาและผืนป่า 
    อาณาเขตของตำบลไล่โว่เป็นส่วนหนึ่งของป่าทุ่งใหญ่นเรศวรแถบอำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี 

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   การแข่งขันยิงหน้าไม้ของอาข่า

    การแข่งขันยิงหน้าไม้ในเทศกาลโล้ชิงช้าของอาข่า ในวันที่ 13 กันยายน 2554 ที่บ้านสามแยกอีก้อ อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย
 
  Princess Maha Chakri Sirindhorn Anthropology Centre
Ethnic Groups Research Database
Sorted by date | title

   Record

 
Subject ชาวบน,ญัฮกุ้ร,เนียะกูร,การธำรงชาติพันธุ์,การเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม,การแต่งกาย,การละเล่น,ภาษา ความเชื่อ ประเพณี ชัยภูมิ
Author สุรศักดิ์ บุญคง
Title ชาวบน : พลวัตของระบบวัฒนธรรมในรอบศตวรรษ
Document Type วิทยานิพนธ์ Original Language of Text -
Ethnic Identity ญัฮกุร เนียะกุร, Language and Linguistic Affiliations ออสโตรเอเชียติก(Austroasiatic)
Location of
Documents
ห้องสมุดศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) Total Pages 106 Year 2546
Source หลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาชนบทศึกษาและการพัฒนา สำนักบัณฑิตอาสาสมัคร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
Abstract

การเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมของชาวบนมีลักษณะเฉพาะที่เหมาะสมกับสภาพสังคมเดิม แต่เมื่อเงื่อนไขทางสังคมเปลี่ยนแปลงไป วัฒนธรรมต่างๆ ก็ไม่อาจจะดำรงต่อไปได้ จำต้องหาทางออกโดยการปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมให้สอดคล้องกับสภาพสังคมใหม่ อีกทั้งปัจจัยภายนอกที่มากระทบ เช่น ระบบนิเวศที่เปลี่ยนแปลงไป การปฏิสัมพันธ์กับคนภายนอก การแต่งงานข้ามกลุ่มชาติพันธุ์ ปัจจัยความเจริญทางด้านวัตถุ การศึกษา การสื่อสาร การคมนาคม และการพัฒนาที่ขยายตัวอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ทิศทางการปรับตัวของวัฒนธรรมชาวบนมีแนวโน้มที่จะใกล้เคียงความเป็นวัฒนธรรมไทยอีสานมากยิ่งขึ้น

Focus

ศึกษาถึงการเปลี่ยนแปลง พัฒนาการทางวัฒนธรรมของชุมชนชาวบน ภายใต้บริบทของสังคมและนิเวศที่เปลี่ยนแปลงไปในรอบศตวรรษ (บทคัดย่อ) แต่ในขณะเดียวกันยังมีการธำรงชาติพันธุ์ไว้โดยมีองค์ประกอบที่สำคัญ 4 ประการ ประการแรก การสืบเชื้อสายเผ่าพันธุ์เดียวกัน คือสืบเชื้อสายจากบิดามารดาที่เป็นชาวบนไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง หรือทั้งสองทาง ประการที่สอง คือ ยึดถือเอาคุณค่าทางสัญลักษณ์วัฒนธรรมพื้นฐานร่วมกัน มีภาษาญัฮกุ้รเป็นของตนเอง มีชุดแต่งกายประจำกลุ่ม และการละเล่นกระแจ๊ะ ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของชาวบน ประการที่สาม การมีพื้นที่ของการสื่อสาร พบปะสังสรรค์ ทั้งกัลป์ภายในและภายนอก ประการสุดท้าย จำแนกตัวเองออกจากสังคมอื่นแตกต่างไปจากคนไทยโคราช คนไทยอีสาน และกลุ่มอื่นๆ (หน้า 71)

Theoretical Issues

ไม่มี

Ethnic Group in the Focus

ญัฮกุ้ร (Nyahkur, Pahkur) เนียะกูร (Nia Kuoll) หรือชาวบน หรือ คนดง เป็นชนกลุ่มน้อย อาศัยอยู่ตามไหล่เขา หรือเนินเขาเตี้ยๆ แถบบริเวณด้านในของริมขอบที่ราบสูงโคราช บริเวณจังหวัดนครราชสีมา ชัยภูมิ และเพชรบูรณ์ที่ติดต่อกับชัยภูมิ เป็นกลุ่มชนดั้งเดิม ที่อาศัยอยู่ในดินแดนแถบนี้ตั้งแต่ก่อนการเข้ามาตั้งถิ่นฐานของชนกลุ่มไท-กะได และมอญ-เขมรกลุ่มอื่นๆ (หน้า 2)

Language and Linguistic Affiliations

ชาวบนมีภาษาพูดเป็นของตนเองแต่ไม่มีภาษาเขียน คือ ภาษาญัฮกุ้ร (Nyahkur) อยู่ในกลุ่มภาษามอญ-เขมร (Mon-Khmer) เป็นส่วนหนึ่งของตระกูลภาษาออสโตรเอเชียติค (Austroasiatic) การศึกษาของนักภาษาศาสตร์พบว่า ภาษาของชาวบนเป็นภาษามอญโบราณในสมัยทวารวดี (หน้า 2 , 39) เมื่อการดำรงชีวิตของชาวบนเปลี่ยนไป มีการติดต่อกับทางการบ่อยครั้ง และมีกลุ่มคนภายนอกต่างชาติพันธุ์ เช่น ไทยอีสาน ไทยโคราช ไทยลพบุรี เข้ามาอาศัยปะปนมากขึ้น การใช้ภาษาญัฮกุ้รเพียงภาษาเดียวก็ลดลง และนำภาษาไทยอีสานเข้าไปใช้ปะปนการภาษาเดิมของตนมากขึ้น (หน้า 40-41)

Study Period (Data Collection)

ช่วงที่ 1 วันที่ 6-30 เมษายน 2545 รวม 25 วัน ช่วงที่ 2 วันที่ 1-28 กรกฎาคม 2545 รวม 28 วัน ช่วงที่ 3 วันที่ 16-22 ตุลาคม 2545 รวม 7 วัน ระยะเวลาที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลทั้งสิ้น 52 วัน

History of the Group and Community

ในอดีตชาวบนตั้งรกรากอยู่ที่บ้านวังขอน เป็นที่ราบอยู่ในหุบเขา ในปี 2480 เกิดภัยแล้งผู้คนอดอยาก เกิดการอพยพย้ายถิ่น กลุ่มหนึ่งอพยพมาตั้งหลักแหล่งที่หมู่บ้านน้ำลาด และอีกส่วนหนึ่งอพยพไปตั้งหลักแหล่งที่บ้านหนองใหญ่ บริเวณเชิงเขาปรก อาศัยอยู่ได้ประมาณ 1 ปี 8 เดือน ก็เกิดโรคฝีดาษระบาดหนัก จึงต้องอพยพถิ่นอีกครั้ง ในที่สุดทั้งหมดจึงย้ายมาตั้งหลักแหล่งที่บ้านน้ำลาดรวมกับกลุ่มเดิมที่อพยพมาก่อนหน้า บ้านน้ำลาดจึงกลายเป็นหมู่บ้านชาวบนนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา (หน้า 31) ปัจจุบันบ้านน้ำลาดมีคนหลายชาติพันธุ์อาศัยอยู่รวมกัน จึงต้องแบ่งพื้นที่ออกเป็น 3 คุ้ม คือ คุ้มน้ำลาด คุ้มซับหงส์ และคุ้มซับเจริญ คุ้มน้ำลาดเป็นคุ้มที่ใหญ่ที่สุดและมีชาวบนมากที่สุด ในปี 2535 ได้มีการแบ่งการปกครองใหม่รวมเอาคุ้มประดู่งาม ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของคนไทยอีสาน เข้าเป็นส่วนหนึ่งของหมู่บ้านน้ำลาด จึงทำให้บ้านน้ำลาดประกอบด้วย 4 คุ้ม จนถึงปัจจุบัน (หน้า 31)

Settlement Pattern

ในอดีตชาวบนจะเร่ร่อนอยู่ไม่เป็นหลักแหล่ง การอพยพย้ายถิ่น ชาวบนจะมีแต่เครื่องใช้ที่จำเป็น เช่น เสื้อผ้า ถ้วยชาม โอ่งดินเล็กๆ สำหรับใส่น้ำ เดินทางเป็นกลุ่ม เมื่อพบบริเวณที่มีทำเลที่ดี ก็จะหยุดค้างแรมและเสี่ยงทาย โดยทำพิธีเอาข้าวสานกองบนพื้นดินแล้วเอากะลาครอบ ถ้าฝันดีและตอนเช้าเปิดกะลาดู ถ้าข้าวสารไม่แตกออกจากกันถือว่าเป็นทำเลที่ดี ยุคต่อมา เริ่มอาศัยเป็นหลักแหล่ง ปลูกบ้านรวมกันเป็นกลุ่มๆ ลักษณะเป็นเรือนเครื่องผูกมีใต้ถุนสูง เสาเรือนทำจากไม้ในป่า เช่นไม้เต็ง ไม้รัง ไม้รักคว่า นิยมเลือกที่มีง่ามเพื่อรองรับคานหรือรอด เพราะชาวบนไม่มีเครื่องมือเจาะรู ฝาบ้านและพื้นทำด้วยฟากไม้ไผ่หรือไม้บงผ่าซีก หลังคามุงด้วยหญ้าแฝกหรือหญ้าคา หลังคามี กะด๊อบเมียว หรือหัวแมว เป็นฟ่อนหญ้าคาแห้งที่ควั่นมัดเป็น 3 ห่วง ผูกติดเข้าด้วยกันเป็นหัวกลมๆ และปล่อยหางเป็นปอยยาวสำหรับคล้องบนขื่อหน้าจั่วบ้าน ซึ่งเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของชาวบน บริเวณใต้ถุนบ้าน มักจะก่อกองไฟไว้เป็นที่ นั่งล้อมวงผิงไฟในฤดูหนาวและเป็นการป้องกันสัตว์ร้าย อีกทั้งป้องกันมอดที่จะมากินไม้ไผ่ด้วย ภายในบ้านจะไม่มีการแบ่งแยกห้อง เป็นพื่นที่โล่งๆ ทุกคนจะนอนรวมห้องเดียวกันหมด (หน้า 60)

Demography

บ้านน้ำลาดประกอบด้วยครัวเรือนทั้งหมด 164 ครัวเรือน 722 คน แบ่งเป็น 4 คุ้มใหญ่ คือ คุ้มน้ำลาด คุ้มซับหงษ์ คุ้มซับเจริญ และคุ้มประดูงาม คุ้มที่มีชาวบนอาศัยอยู่มากที่สุด คือ คุ้มน้ำลาด เรียกว่า คุ้มบนหรือคุ้มดง ส่วนคุ้มอื่นๆ เป็นที่อยู่อาศัยของกลุ่มไทยอีสาน ไทยโคราช และคนไทยจากภาคกลาง เช่น ลพบุรี สระบุรี เพชรบูรณ์ คุ้มน้ำลาดมีทั้งหมด 101 ครัวเรือน เป็นชาวบน 55 ครัวเรือน ชาวบนผสมชาวไทยอีสาน 32 ครัวเรือน และชาวไทยอีสาน 14 ครัวเรือน จำนวนประชากร 317 คน แยกเป็นชาย 177 คน หญิง 140 คน คุ้มซับหงส์มีทั้งหมด 31 ครัวเรือน เป็นชาวไทยอีสาน 29 ครัวเรือน และชาวไทยอีสานผสมชาวบน 2 ครัวเรือน คุ้มซับเจริญมีทั้งหมด 22 ครัวเรือน เป็นชาวไทยอีสานทั้งหมด คุ้มประดู่งาม 10 ครัวเรือน เป็นชาวไทยอีสานทั้งหมด (หน้า 32)

Economy

สมัยที่อพยพเร่ร่อนอยู่ในป่า การทำมาหากินของชาวบนแต่ละกลุ่มยังชีพด้วยการเก็บของป่าล่าสัตว์ รู้จักการเพาะปลูกอย่างง่าย ปลูกพืชหลายชนิดหมุนเวียนอยู่ในที่เดียวกัน ต่อมาจึงรู้จักการเกษตรแบบดั้งเดิม พึ่งพาอาศัยธรรมชาติเป็นหลัก นิยมทำไร่เลื่อยลอย นำผลผลิตที่ได้มาแลกเปลี่ยนข้าวของเครื่องใช้กับคนไทยพื้นราบเป็นครั้งคราว เมื่อเปลี่ยนสภาพเป็นสังคมหมู่บ้าน เริ่มมีการใช้ระบบกรรมสิทธิ์ในที่ดินทำกิน การทำการเกษตรสมัยใหม่ การปลูกพืชเชิงเดี่ยวเพื่อการพาณิชย์ ใช้สารเคมี ปุ๋ย ยาฆ่าแมลง สารกำจัดศัตรูพืช เพื่อช่วยเร่งผลผลิตเพิ่มมากขึ้น ใช้อุปกรณ์ที่ทันสมัย เช่นรถไถ รถอีแต๋น ทดแทนแรงงานคน ใช้เงินในการแลกเปลี่ยนสิ่งของ การว่าจ้างแรงงาน แลกเปลี่ยนแรงงานระหว่างกัน ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่มากขึ้นในปัจจุบัน (หน้า 72)

Social Organization

เดิมเป็นสังคมชนเผ่าอพยพเร่ร่อน สภาพความเป็นอยู่เรียบง่าย พึ่งพาธรรมชาติ เป็นสังคมเดียวภายในเฉพาะกลุ่มของตนเองซึ่งมีแต่ชาวบน ปัจจุบันอยู่รวมกันหลายกลุ่มชาติพันธุ์ เกิดการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม การแต่งงานข้ามกลุ่มชาติพันธุ์ การเลียนแบบวัฒนธรรม เช่นการแต่งกาย รูปแบบการสร้างบ้านเรือนชาวบน เรียนรู้เพื่อที่จะปรับตัวให้เข้ากับสภาพสังคมที่แตกต่างไปจากในอดีต (หน้า 73) ในปัจจุบันได้มีการรวมตัวจัดตั้ง ”เครือข่ายศูนย์วัฒนธรรมท้องถิ่นชาวบน” ตั้งอยู่ที่โรงเรียนบ้านน้ำลาด

Political Organization

ชาวบนให้ความสนใจในเรื่องการเมืองค่อนข้างน้อย เพราะถือว่าเป็นเรื่องไกลตัว และเป็นกลุ่มที่กลัวคนแปลกหน้า การเลือกผู้นำหมู่บ้านมักจะเลือกจากความอาวุโสและเป็นคนที่เข้ามาตั้งรกรากตั้งแต่เริ่มแรก และต้องเป็นคนที่กล้าแสดงออก สามารถติดต่อประสานงานกับข้าราชการในพื้นที่ได้เป็นอย่างดี ตำแหน่งผู้ใหญ่บ้านของชาวบนจึงมักเป็นคนที่รู้จักกันดีในหมู่บ้าน และสืบทอดตำแหน่งมาจากรุ่นพ่อหรือพ่อตา ต่อมาในระยะหลังชาวบนเริ่มยอมรับคนไทยอีสาน ไทยโคราช ไทยภาคกลาง มาเป็นผู้นำ หรือผู้ใหญ่บ้าน เพราะถือว่าเป็นผู้ที่มีความเจริญมากกว่าตน (หน้า 35) อีกทั้งชาวบนยังมีผู้นำอย่างไม่เป็นทางการ เช่น กลุ่มผู้อาวุโส ซึ่งมีหน้าที่ให้คำปรึกษาหรือตัดสินคดีความ ขมุกหรือคนทรง จะเป็นคนที่หน้าที่เป็นสื่อกลางระหว่างคนกับผี ในโอกาสที่ประกอบพิธีกรรมไหว้ผีประจำหมู่บ้านและการเข้าทรงเพื่อรักษาคนป่วย (หน้า 35,73)

Belief System

ชาวบนและกลุ่มชาติพันธุ์อื่น นับถือศาสนาพุทธ (หน้า 34) แต่แฝงด้วยความเชื่อเรื่องภูตผีวิญญาณเป็นความเชื่อที่มีบทบาทต่อวิถีชีวิตของชาวบน เชื่อว่ามี ผีเรือน หรือ ผีเชื้อ ในภาษาญัฮกุรเรียกว่า ท็อกนางเดิ้ม หรือ ท็อกยองท็อกเปน เชื่อว่าสืบเชื้อสายมาทางบรรพบุรุษฝ่ายแม่ ทำหน้าที่คุ้มครอง ดูแลรักษาให้ความร่มเย็นแก่ลูกหลานและทำโทษถ้าลูกหลานทำผิด ท็อกนางเดิ้มจะมีอำนาจคุ้มครองหรือทำโทษแม่และลูกๆ แต่ไม่มีอำนาจปกปักรักษาหรือทำโทษพ่อ ท็อกนางเดิ้มข้างฝ่ายพ่อจะปกป้องหรือลงโทษพ่อ โดยไม่มีอำนาจกับลูก และเชื่อในผีปู่ย่าตายาย หรือผีปู่ตา เป็นผีประจำหมู่บ้าน คอยปกป้องคุ้มครองทั้งหมู่บ้าน ผีป่า หรือ ผีดง เป็นผีร้ายที่ทำให้ชาวบนเจ็บป่วย ในอดีตเชื่อว่ามี ผีตีนเดียว หรือ ท็อกหนอก มักทำให้ชาวเจ็บป่วยเสมอ และผีปอบ ชาวบนเชื่อว่าเกิดจากคนในหมู่บ้านเรียนวิชา เวทมนต์ คาถาอาคม แล้วละเมิดผิดคำสัตย์ปฏิญาณที่ให้ไว้กับครูบาอาจารย์ เรียกว่า ขะลำ ทำให้กลายเป็นผีปอบ (หน้า 45) นอกจากนี้เชื่อว่าภูตผีและวิญญาณมีอิทธิพลต่อการทำมาหากินและการเกิดโรคภัยไข้เจ็บแล้ว ยังผนวกความเชื่อว่าเป็นผู้บันดาลโชคลาภให้แก่คนในหมู่บ้านอีกด้วย (หน้า 46) การตาย หากมีคนตายภายในบ้าน จะไม่หามศพลงทางบันได เพราะเชื่อว่า วิญญาณจะดุ การเคลื่อนย้ายศพใช้ฟากไม้ไผ่ห่อศพ ใช้เถาวัลย์มัด 3 ตำแหน่ง คือ ตรงด้านหัว กลางลำตัว และข้อเท้า แล้วหามศพออกทางด้านข้างของตัวบ้านโดยรื้อฝาบ้านออก แล้วฝังที่ป่าช้า หน้าคว่ำลง หันหัวไปทางทิศตะวันตก ดินกลบหนึ่งชั้น นำท่อนไม้วางสะกด และกลบอีกชั้นหนึ่ง และนำหนามมาสะกดไว้ตามความเชื่อโบราณ จะฝังศพไว้ไม่เกิน 5 ปี แล้วจึงขุด เอามาเผา ถ้าเป็นศพเด็กจะฝังเอาไว้อย่างนั้นตลอดไป (หน้า 47-48) ชาวบนเชื่อว่า คนตายบนบ้าน จะต้องรื้อบ้านไปปลูกใหม่เพราะถือว่าผีแรง โดยรื้อเฉพาะฝาบ้าน คงเหลือแต่เสาทิ้งไว้ บ้านที่ปลูกใหม่จะย้ายไปไม่ไกลจากบ้านเดิม กรณีที่คนตายด้วยโรคระบาด ชาวบนจะอพยพหนีทั้งหมู่บ้าน แต่ในปัจจุบัน จะจัดงานศพตามประเพณีนิยมของคนไทยอีสาน โดยตั้งศพไว้บนบ้าน นิมนต์พระมาสวด 1-3 คืน แล้วเคลื่อนย้ายศพไปฌาปนกิจหรือเผาที่ป่าช้า อีกทั้งมีการให้บุตรหลานบวชหน้าไฟ เดินจูงศพนำหน้าขบวนแห่ศพ มีความเชื่อว่าจะเป็นการนำทางวิญญาณผู้ตายขึ้นสวรรค์ (หน้า 48) ปัจจุบันความเชื่อเรื่องการรื้อบ้าน การอพยพหนีโรคระบาดได้หมดไปจากความเชื่อของชาวบนแล้ว (หน้า 49-50) การแต่งงาน ผู้ชายจะให้ญาติผู้ใหญ่ที่ตนนับถือไปสู่ขอผู้หญิง ทำการตกลงค่าสินสอดและวันแต่งงาน วันแต่งงาน ฝ่ายชายทำพิธีไหว้ผีที่บ้านเจ้าสาว พร้อมเครื่องเซ่นไหว้ ได้แก่ ไก่ต้ม สุรา ขนม นอกจากนี้พิเศษไก่ต้ม 1 และ เหล้าอีก 1 ขวด เพื่อมอบให้ผู้เฝ้าด่านตรงประตูทางเข้าบ้านเจ้าสาว เมื่อผ่านด่าน ก่อนจะขึ้นบ้านเจ้าสาวเจ้าบ่าวต้องเหยียบก้อนหินที่รองด้วยใบตองเผื่อทำการล้างเท้า และเจ้าบ่าวให้รางวัลแก่ผู้ล้างเท้า แล้วจึงทำการไหว้ผี โดยนำผ้าขาว 1 ผืน ดอกไม้ธูปเทียนพร้อมเครื่องเซ่นไหว้ จะมีแม่หมอหรือคนทรงบอกชื่อผีที่มารับเครื่องเซ่นไหว้ หลังจากนั้นจะทำพิธีมอบเงินค่าสินสอด ผ้าดอกไม้ ธูปเทียนให้แกพ่อแม่ฝ่ายเจ้าสาว แล้วจึงนำไก่มาเสี่ยงทายดูว่า คางไก่ของฝ่ายชายและฝ่ายหญิงมีลักษณะเป็นเช่นไร ถ้าคางไก่สวยได้รูป จะทำนายว่าเหมาะสมกันดี คู่แต่งงานจะอยู่กันยืดยาวมีความสุข แต่ถ้าคางไก่บิดงอก็จะพูดออกมาในทำนองว่าดี เป็นตะขอเงินตะขอทอง เสร็จพิธีฝ่ายเจ้าสาว ก็จะกลับมาเซ่นไหว้ผีฝ่ายชายอีกครั้ง ปฏิบัติเช่นเดียวกับที่บ้านเจ้าสาว (หน้า 52-53) ปัจจุบันพิธีกรรมการแต่งงานบางขั้นตอนขาดหายไป และรับพิธีกรรมของวัฒนธรรมอื่นเพิ่มขึ้นมา เช่น การเซ่นไหว้บรรพบุรุษข้างฝ่ายเจ้าสาวปัจจุบันงดการเข้าทรงผี เหลือเพียงการเซ่นไหว้บอกกล่าวให้รู้เพียงอย่างเดียว ไม่เสี่ยงทางไก่ มีการเพิ่มพิธีกรรมการแห่ขบวนขันหมาก การนิมนต์พระสงฆ์มาเจริญพระพุทธมนต์ให้ศีลให้พร การทำบุญเลี้ยงพระ พิธีการรดน้ำสังข์ การผูกข้อมือ การรับไหว้ การจัดเลี้ยงฉลองมงคลสมรส การแต่งกายของคู่บ่าวสาว เจ้าบ่าวนุ่งผ้าไหมสีต่างๆ นุ่งเป็นโจงกระเบน สวมเสื้อป่านแขนสั้นสีขาว มีผ้าคาดเอว มีการใส่เครื่องประดับที่เรียกว่า “กระจอน” หรือตุ้มหูที่หูข้างขวาข้างเดียว ตุ้มหูทำด้วยไม้หรือโลหะเงินติดกระจก ส่วนฝ่ายหญิงนุ่งผ้าผืน หรือผ้าโต่งพันอ้อมแล้วเก็บชายพกไว้ สวมเสื้อเก๊าะของชาวบน ใส่เครื่องประดับจำพวกแหวน สร้อย กรองแขน กรองขา ใส่กระจอนที่หู 2 ข้าง ปัจจุบัน เจ้าบ่าวนิยมสวมเสื้อทรงสากลนิยม ฝ่ายหญิงแต่งกายชุดไทยประยุกต์ต่างๆ (หน้า 54) พิธีกรรมการเสี่ยงทายเพื่อเลือกพื้นที่เพาะปลูก หัวหน้าครอบครัวจะทำการเสี่ยงทายขอนางธรณี ใช้กิ่งไม้ประมาณ 1 วา ฟาดปลายลงบนพื้นดิน 3 ครั้ง พร้อมคำอธิฐาน หากยินยอมให้ทำไร่บริเวณดังกล่าวให้ไม้มีความยาวเท่าเดิม แต่ถ้าไม่ยินยอมขอให้ไม้สั้นลง เมื่อครบ 3 ครั้ง ไม่ยังคงยาวเท่าเดิม ก็จะเลือกบริเวณนั้นทำไร่ แต่ถ้าไม่สั้นลงกว่าเดิมก็จะหาที่ดินแหล่งใหม่ ทำการเสี่ยงทายไปเรื่อยๆ จนกว่าจะได้พื้นที่เพาะปลูก ปัจจุบันไม่ปรากฏพิธีดังกล่าวอีกแล้ว (หน้า 54-55) ประเพณีการบวช หากมีลูกชายมักจะถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติ เมื่อลูกชายมีอายุครบถึงเกณฑ์ที่จะบวชได้ เพื่อทดแทนพระคุณบิดามารดา (หน้า 56) ประเพณีการเลี้ยงผีปู่ตา เดือน 5 ถึงเดือน 6 ชาวบนจะประกอบพิธีการเลี้ยงผีปู่ตา ซึ่งเป็นผีบรรพบุรุษประจำหมู่บ้าน ทำหน้าที่ปกปักรักษาและให้ความสงบร่มเย็นแก่คนในหมู่บ้าน ก่อนทำพิธีต้องทำความสะอาดศาลผีเจ้าบ้าน จัดเตรียมเครื่องเซ่นไหว้ เช่น ข้าวดำ ข้าวแดง ไข่ต้ม ไก่ต้ม ยาสูบ ผ้าแพร ผ้าไหม ดอกไม้ธูปเทียน มีการเล่นดนตรี โทน ปี่แก้ว แคน ประกอบด้วย การเซ่นไหว้ผีปู่ตาจะทำประจำทุกปี (หน้า 56-57)

Education and Socialization

ในอดีตชาวบนบ้านน้ำลาดไม่รู้หนังสือเป็นจำนวนมาก เมื่อมีระบบการศึกษาเข้าถึงหมู่บ้าน ทำให้ปัจจุบันมีผู้รู้หนังสือกว่าร้อยละ 90 ส่วนที่เหลือผู้ที่ไม่รู้หนังสือจะเป็นคนแก่ ผู้สูงอายุตั้งแต่ 70 ปีขึ้นไป (หน้า 34)

Health and Medicine

พิธีกรรมเกี่ยวกับการเกิด สมัยอยู่ป่า ชาวบนจะมีหมอตำแย ทำหน้าที่ในการคลอดบุตร หมอตำแยจะใช้งาทามือและลูบคลำท้อง เมื่อทารกคลอดออกมาจะใช้ผิวไม้ไผ่ลนไฟตัดสายรก แล้วนำรกไปฝัง การฝังรกจะขุดหลุมฝังรกไว้ข้างบันไดบ้านแล้วก่อไฟบนหลุมที่ฝังรกเด็ก ในกรณีที่รกไม่ออกก็จะใช้หมอนหนุนหลังแม่แล้วตีหมอน 3 ครั้งเพื่อให้รกออก เด็กที่คลอดจะให้นอนในกระด้งที่มีใบตองรองอยู่ นำเครื่องเซ่นไหว้ผี ประกอบด้วย กรวยก้นแหลมใส่หมากพลู 1 คำ เต้าปูน 1 ลูก เงิน 10 สลึง ข้าวสาร 1 ขัน ด้ายขาว 1 ม้วน กำไลทองเหลือง 1 วง และกระจก 1 บาน เพื่อทำพิธีรับขวัญเด็ก ปัจจุบันไม่ปรากฏให้เห็นแล้ว เพราะทำการคลอดที่โรงพยาบาล (หน้า 46) พิธีกรรมเกี่ยวกับการรักษาโรคภัยไข้เจ็บ เชื่อว่าการป่วยมี 2 ประเภท คือ โรคตัว เป็นการเจ็บป่วยทางร่างกาย จะต้องรักษากับหมอสมุนไพรที่เรียกว่า หมอนุย และ โรคผีทำเกิดจากผีทำ ต้องหาหมอผี หรือขมุก (หน้า 50) อดีตการเจ็บป่วยที่มีอาการไข้ ปวดหัว ตัวร้อน หนาวสั่น ชาวบนเชื่อว่า เป็นโรคที่เกิดจากผีทำ ต้องให้หมอดูทำการตรวจ และหาหนทางรักษาติดต่อกับวิญญาณ เรียกว่า การบูร โดยทำการเซ่นไหว้ด้วยหมาก 1 คำ เงิน 10 บาท เทียน 1 เล่ม เต้าปูน กำไลข้อมือ กรรไกรหนีบหมาก ด้ายขาว 1 เส้น มอบให้กับหมอที่จำทำการบูร หมอจะทำการเสี่ยงทาย หยอดเทียนลงในขัน ดูลักษณะของดอกเทียนที่เกิดขึ้น ก็จะทราบว่าเป็นผีอะไรทำให้เจ็บป่วย แล้วก็เซ่นไหว้ตามผีชนิดนั้น (หน้า 51)

Art and Crafts (including Clothing Costume)

การแต่งกาย ในสมัยที่ยังเร่ร่อนอยู่ ชาวบนยังไม่รู้จักวิธีการทอผ้า แต่หญิงชาวบนสามารถตัดเย็บเสื้อผ้าเอาไว้ใส่เอง ด้วยผ้าครามสีเงินเข้มหรือสีดำ โดยนำผืนผ้าที่ได้แลกเปลี่ยนซื้อหามาจากตลาดนำมาตัดเย็บในรูปแบบที่ง่าย ใช้ผ้าทั้งผืนปักลวดลายตามแนวยาวของขอบผ้า ด้วยด้ายสีเขียว เหลือง แดงสด หรือสีขาว การปักลายเริ่มจากสีเหลืองปักเป็นลูกโซ่ยาวเป็นแนวตรงแล้วจึงปักสีเขียวกับสีแดงตามลำดับ และใช้ด้ายสีขาวปักเป็นลวดลายต่างๆ ลายที่นิยม ลายก้างปลา ลายดอกพิกุล ลายดอกมะเขือ เมื่อปักเสร็จจะนำผ้ามาพับทบครึ่ง ด้านข้างลำตัวเย็บติดกันเป็นตัวเสื้อ เว้นช่องแขน มีการผ่าเป็นคอเสื้อ คอเสื้อจะเย็บริมแล้วปักลวดลายทั้งสองข้าง การเย็บริมหรือกุ๊นรอบส่วนแขนและส่วนคอเสื้อด้วยผ้าสีแดง สีส้ม หรือ สีบานเย็น ชายเสื้อด้านล่างเย็บริมด้วยผ้าสีเดียวกันโดยใช้ผ้าที่มีความกว้างมากกว่าส่วนแขนและคอ เมื่อตัดเย็บเสร็จ ด้านหลังมักจะปักเดินเส้นเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส แล้วปล่อยเศษด้ายยาวๆ ทิ้งไว้ประมาณ 3-4 เส้น เสื้อที่ได้จะมีลักษณะเป็นเสื้อแขนกุด ชาวบนเรียกว่า เสื้อเก๊าะ (หน้า 42-43) การแต่งกายท่อนล่าง หญิงชาวบนนุ่งผ้าผืน สีพื้นไม่มีลวดลาย ขนาดสี่เหลี่ยมผืนผ้า นำมาพันอ้อมร่างแล้วเหน็บชายไว้ด้านข้าง ทำเป็นหัวโพก มีผ้าคล้องคอพาดบ่า เครื่องประดับที่ใส่ เป็นกำไลเงิน สร้อยคอเงิน และต่างหูหรือที่เรียกว่า กระจอน ทำด้วยไม้หรือโลหะติดกระจกเพื่อให้มีแสงแวววาว (หน้า 43) การแต่งกายของชายชาวบนในอดีตจะนุ่งโจงกระเบนเพียงอย่างเดียว ไม่สวมเสื้อ ต่อมาเริ่มสวมใส่เสื้อที่ตัดเย็บด้วยผ้าป่านหรือผ้าฝ้ายบางๆ แขนสั้น คอกลม ผ่าอก ติดกระดุม วิธีการนุ่งโจงกระเบนมี 3 แบบ ตามอายุของผู้นุ่ง ชายหนุ่มโสดจะนุ่งโจงหางเรียวกริบ เรียกว่า โจงกระเบนหางแย้ ชายที่แต่งงานแล้วจะนุ่งโจงกระเบนหางยานๆ เรียกว่า โจงกระเบนหางช้าง และคนแก่จะนุ่งโจงกระเบนลอยชาย ต่อมาเมื่อมีการตั้งหมู่บ้านเป็นหลักแหล่งถาวร ชาวบนมีการพบปะติดต่อกับสังคมภายนอกปละรับอิทธิพลของชาติพันธุ์อื่น เช่น การสวมเสื้อม่อฮ่อม การนุ่งโสร่งแบบชายไทยอีสาน การนุ่งกางเกงขายามขาสั้น สวมเสื้อยืด เสื่อเชิ้ต ตามสมัยแบบคนไทยพื้นราบ (หน้า 43) การละเล่นพื้นบ้าน การเล่นกระแจ๊ะ หรือ ป๊ะเร่เร่ เป็นการร้องเพลงตอบโต้กันระหว่างหญิงชาย แบ่งผู้เล่นออกเป็น 2 ฝ่าย ฝ่ายชายและฝ่ายหญิง ฝ่ายละกี่คนก็ได้ ไม่เกินฝ่ายละ 5 คน การแต่งกายของผู้เล่นฝ่ายหญิง นุ่งผ้าผืน สวมเสื้อเก๊าะ มีผ้าพาดบ่าใส่กระจอนหรือตุ้มหู ฝ่ายชายนุ่งโสร่งหรือกางเกงยาว สวมเสื้อป่านสีขาว มีผ้าคาดเอว จะปูเสื่อนั่งเล่นกับพื้น คนดูคนฟังจะนั่งอยู่รอบๆ วิธีการเล่นเริ่มจากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งขับร้องเป็นภาษาญัฮกุร อีกฝ่ายจะโต้กลับ มีเครื่องดนตรีกลองโทนหรือตะโพน เป็นการให้จังหวะ วิธีการขับร้อง คล้ายคลึงกับการเล่นลำตัดหรือสักวา เพลงเรือในภาคกลางหรือการเล่นเพลงโคราชของกลุ่มไทยโคราช เนื้อหาของเพลงเป็นการเกี้ยวพาราสี การชมธรรมชาติ การสรรเสริญเยินยอขอบคุณแขกผู้มีเกียรติคนสำคัญที่มาเยี่ยมเยือน หรือ การเล่านิทานพื้นบ้านที่มีคติสอนใจเช่น เรื่องศุภมิตร เกศินี ลิ้นทอง พระรถเมรี เป็นต้น การเล่นกระแจ๊ะ นิยมเล่นในช่วงเทศกาลบุญสำคัญๆ เช่นสงกรานต์ ปีใหม่ หรือโอกาสต้อนรับคนพิเศษที่มาเยือนหมู่บ้านชาวบน (หน้า 62) การเป่าใบไม้ เป็นการนำใบลำดวนหรือใบนางแย้ม มาเป่าเป็นทำนองเพลง เป็นการละเล่นเพื่อผ่อนคลายจากการทำไร่ เพื่อความเพลิดเพลิน หรือเป็นการเป่านัดชวนกันกลับบ้าน ปัจจุบันพบเห็นได้ไม่บ่อยนัก (หน้า 63) การตีกลองน้ำ ในอดีตหากสาว ๆ ชาวบนรวมตัวกันเล่นน้ำ จะมีการละเล่น คือ การกระพุ้งน้ำ ทำให้เกิดเสียงดังก้องป่า เรียกว่า การตีกลองน้ำ เป็นการส่งสัญญาณว่า มีสาวๆ มาเล่นน้ำอยู่บริเวณนั้น หากมีหนุ่มผ่านมา บริเวณใกล้ได้ยินเสียงตีกลองน้ำ จะเดินเข้ามาดูหากมีคนที่ตนหมายปองอยู่หนุ่มดังกล่าวจะเดินเข้าไปพบปะพูดคุย ดูใจกัน หากนิสัยใจคอไปด้วยกันได้ก็จะคบหากันต่อไป (หน้า 64) การรำโทน เป็นการตีกลองโทนเพื่อให้จังหวะ ชายหญิงจะเต้นรำไปตามจังหวะ ออกเดินเรียงกันเป็นแถว ผู้ชายจะเดินนำหน้าให้ผู้หญิงเดินตามสลับกันไป แต่จะไม่เดินจับคู่เหมือนรำวง บางครั้งก็เดินเคลื่อนที่เป็นวงกลมอ้อมไปมา และการร่ายรำอีกประเภทหนึ่งคือ การรำบุญ มีลักษณะคล้ายคลึงกับการรำโทน ต่างกันตรงจังหวะและท่วงทีการร่ายรำ โอกาสในกรเล่นรำโทนและรำบุญก็ต่างกัน รำโทนจะเล่นเพื่อความบันเทิงในช่วงปีใหม่ สงกรานต์ การเลี้ยงต้อนรำแขกคนสำคัญ หนุ่มรำอวดสาว สาวรำอวดหนุ่ม ส่วนการรำบุญมักเล่นในงานบุญ งานสงกรานต์ขณะแห่งร่วมขบวนแห่พระพุทธรูป แห่ดอกไม้ แห่หอดอกผึ้ง แห่กฐินผ่าป่าไปถวายวัด การรำแบ่งออกเป็น 2 ลักษณะ คือ รำถวายพระกับการรำถวายมือ หน้า (64-65) การเล่นสงกรานต์ จัดพร้อมกับวันสงกรานต์ของคนไทย ในอดีตที่ไม่มีวัดจึงใช้บริเวณใกล้ถ้ำ ใกล้ซอกหินทำการเล่นกระแจ๊ะ สะบ้า ลูกข่าง เข้าทรงผี เป็นต้น การเล่นสะบ้าเป็นการละเล่นที่ชาวบนสืบทอดมาจากสมัยทวารวดี ปัจจุบันาเล่นบริเวณลานวัด เล่นสาดน้ำปกติ และทำกิจกรรมพิเศษของชาวบน คือ การแห่ดอกไม้ การแห่หอดอกผึ้ง หอดอกผึ้งจะใช้กาบกล้วยทำโครงเป็นรูปสามเหลี่ยม ประกบเป็นเรือน 4 จั่ว คล้ายปิระมิด 4 เหลี่ยม ใช้ขี้ผึ้งบริสุทธิ์หล่อเป็นรูปดอกไม่ประดับ ตามโครงใส่หมากพลู ไว้ข้างใน รอบฐานตกแต่งด้วยดอกไม้ชนิดต่างๆ แห่จากกลางหมู่บ้านไปยังวัด ชาวบนเชื่อว่า การแห่หอดอกผึ้งเป็นการระลึกถึงบุญคุณของผึ้งเมื่อครั้งอดีตที่ชาวบนมีวิถีชีวิตที่เร่ร่อน เก็บของป่าล่าสัตว์ ได้ใช้ประโยชน์ คือ น้ำผึ้ง และขี้ผึ้งที่เป็นทั้งอาหารและให้แสงสว่าง (หน้า 65-66)

Folklore

ไม่ระบุ

Ethnicity (Ethnic Identity, Boundaries and Ethnic Relation)

เมื่อชาวบนเป็นส่วนหนึ่งของสังคมหมู่บ้าน เกิดการพบปะผู้คนต่างกลุ่มชาติพันธุ์ ตั้งแต่ระดับสังคมภายใน ได้แก่การพูดคุยกับเพื่อนบ้านในหมู่บ้านและหมู่บ้านใกล้เคียงที่เป็นคนไทยอีสาน ไทยโคราช ไทยลพบุรี ระดับสังคมภายนอก ได้แก่ การติดต่อกับนายทุน พ่อค้า ธนาคาร ข้าราชการ เจ้าหน้าที่ สาธารณสุข เจ้าหน้าปกครองบ้านเมือง ฯลฯ ทำให้ชาวบนต้องปรับตัว มีความกล้าที่จะเผชิญหน้ากับผู้อื่น ไม่หวาดระแวง กลัวคนแปลกหน้าเหมือนในอดีต รับเอาวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์อื่น มาเป็นแบบอย่าง กลายเป็นแบบแผนการดำเนินชีวิตประจำวันของตน (หน้า 72-73)

Social Cultural and Identity Change

ชาวบนเลือกที่จะปรับตัวเข้าสังคมภายนอกเดิม เช่น การเรียนรู้การใช้ภาษาไทยในการสื่อสาร การแต่งกายตามสมัยนิยม การเลียนแบบรูปแบบการปลูกสร้างบ้านของคนพื้นราบ การนับถือศาสนาพุทธ เป็นต้น แต่ก็ยังคงความเป็นชาวบนอยู่ โดยการแสดงออกทางกิจกรรมต่างๆ เช่น การรื้อฟื้นประเพณีแห่หอดอกผึ้ง การเข้าร่วมแสดงจำลองวิถีชีวิตในงานเทศกาลท่องเที่ยว เป็นต้น (บทคัดย่อ)

Other Issues

ไม่มี

Map/Illustration

- ภาพแผนที่ จังหวัดชัยภูมิ อำเภอเทพสถิต และแผนผังหมู่บ้านน้ำลาด หน้า 27-29 - แสดงโครงสร้างการบริหารเครือข่ายศูนย์วัฒนธรรมท่องถิ่นชาวบน (ญัฮกุ้ร) หน้า 68 - แสดงเสียงพยัญชนะ และเสียงสระในภาษาญัฮกุร หน้า 83-88 c - หญิงผู้สูงอายุชาวบนที่บ้านน้ำลาดขณะเตรียมตัวไปเข้าร่วมประเพณีเลี้ยงผีปู่ตา หน้า 90 รูปบน - เด็กนักเรียนชาวบนที่โรงเรียนบ้านน้ำลาดนั่งเล่นขณะพักเที่ยง หน้า 90รูปล่าง - โรงเรียนบ้านน้ำลาด ประกอบด้วยเด็กนักเรียนที่เป็นลูกหลานชาวบน คนไทยอีสาน ไทยโคราชและอื่นๆ หน้า 91 รูปบน - เด็กนักเรียนชาวบนสวมเสื้อพื้นเมืองทุกวันศุกร์ หน้า 91รูปล่าง : - ชาวบ้านน้ำลาดทั้งชาวบน ไทยอีสาน ไทยโคราช เข้าร่วมพิธีกรรมการเลี้ยงผีปู่ตาประจำหมู่บ้าน ซึ่งจัดขึ้นในราวช่วงเทศกาลสงกรานต์ของทุกปี หน้า 92 รูปบน - เครื่องเซ่นไหว้ผีปู่ตา ประกอบด้วยอาหารคาวหวาน ผลไม้ ไข่ตุ้ม เครื่องดื่มบำรุงกำลัง หน้า 92 รูปล่าง : - การทำไร่มันสำปะหลังเป็นอาชีพหลักของชาวบนที่บ้านน้ำลาด หน้า 93 รูปบน : - การแลกเปลี่ยนแรงงานระหว่างกันยังมีให้เห็นได้ในหมู่ชาวบนที่บ้านน้ำลาด หน้า 93 รูปล่าง - การปลูกข้าวไร่เพื่อการบริโภคของชาวบน หน้า 94 รูปบน - ขั้นตอนการหยอดข้าวไร่ ผู้ชายขุดหลุม ผู้หญิงหยอดเมล็ดข้าวแล้วใช้เท้ากลบ หน้า 94 รูปล่าง - เครื่องมืออุปกรณ์ทันสมัยที่ช่วยในการทำการเกษตรของชาวบนในปัจจุบัน หน้า 95 รูปบน - ชาวบนแต่ละครอบครัวเริ่มออกไปทำไร่ในตอนเช้าของทุกๆ วันหน้า 95 รูปล่าง - รูปแบบที่อยู่อาศัยของชาวบนในสมัยก่อน จัดแสดงเป็นส่วนหนึ่งของศูนย์วัฒนธรรมท้องถิ่นชาวบน หน้า 96 รูปบน - ในอดีต บ้านของชาวบนสร้างด้วยวัสดุธรรมชาติ ง่ายและสะดวกต่อการรื้อถอนหน้า 96 รูปล่าง - บ้านของ ผู้ใหญ่เณร ยกจัตุรัส อดีตผู้ใหญ่บ้านบ้านน้ำลาดหน้า 97 รูปบน - บ้านชาวบนหลักแรกที่สร้างเลียนแบบคนไทยอีสาน หน้า 97 รูปล่าง - ลักษณะที่อยู่อาศัยของชาวบนที่บ้านน้ำลาดในปัจจุบัน หน้า 98 รูปบน - สภาพความเป็นอยู่ของชาวบนเหมือนกับหมู่บ้านทั่วไปในภาคอีสาน หน้า 98 รูปล่าง

Text Analyst เมธีรา ฤกษดายุทธ์ Date of Report 26 ก.ค. 2559
TAG ชาวบน, ญัฮกุ้ร, เนียะกูร, การธำรงชาติพันธุ์, การเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม, การแต่งกาย, การละเล่น, ภาษา ความเชื่อ ประเพณี ชัยภูมิ, Translator -
 
 

 

ฐานข้อมูลอื่นๆของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
  ฐานข้อมูลพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทย
จารึกในประเทศไทย
จดหมายเหตุทางมานุษยวิทยา
แหล่งโบราณคดีที่สำคัญในประเทศไทย
หนังสือเก่าชาวสยาม
ข่าวมานุษยวิทยา
ICH Learning Resources
ฐานข้อมูลเอกสารโบราณภูมิภาคตะวันตกในประเทศไทย
ฐานข้อมูลประเพณีท้องถิ่นในประเทศไทย
ฐานข้อมูลสังคม - วัฒนธรรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  หน้าหลัก
งานวิจัยชาติพันธุ์ในประเทศไทย
บทความชาติพันธุ์
ข่าวชาติพันธุ์
เครือข่ายชาติพันธุ์
เกี่ยวกับเรา
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  ข้อมูลโครงการ
ทีมงาน
ติดต่อเรา
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
ช่วยเหลือ
  กฏกติกาและมารยาท
แบบสอบถาม
คำถามที่พบบ่อย


ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) เลขที่ 20 ถนนบรมราชชนนี เขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ 10170 
Tel. +66 2 8809429 | Fax. +66 2 8809332 | E-mail. webmaster@sac.or.th 
สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2549    |   เงื่อนไขและข้อตกลง