สมัครสมาชิก   
| |
ค้นหาข้อมูล
ค้นหาแบบละเอียด
  •   ความเป็นมาและหลักเหตุผล

    เพื่อรวบรวมงานวิจัยทางชาติพันธุ์ที่มีคุณภาพมาสกัดสาระสำคัญในเชิงมานุษยวิทยาและเผยแผ่สาระงานวิจัยแก่นักวิชาการ นักศึกษานักเรียนและผู้สนใจให้เข้าถึงงานวิจัยทางชาติพันธุ์ได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น

  •   ฐานข้อมูลจำแนกกลุ่มชาติพันธุ์ตามชื่อเรียกที่คนในใช้เรียกตนเอง ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้ คือ

    1. ชื่อเรียกที่ “คนอื่น” ใช้มักเป็นชื่อที่มีนัยในทางเหยียดหยาม ทำให้สมาชิกกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ รู้สึกไม่ดี อยากจะใช้ชื่อที่เรียกตนเองมากกว่า ซึ่งคณะทำงานมองว่าน่าจะเป็น “สิทธิพื้นฐาน” ของการเป็นมนุษย์

    2. ชื่อเรียกชาติพันธุ์ของตนเองมีความชัดเจนว่าหมายถึงใคร มีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมอย่างไร และตั้งถิ่นฐานอยู่แห่งใดมากกว่าชื่อที่คนอื่นเรียก ซึ่งมักจะมีความหมายเลื่อนลอย ไม่แน่ชัดว่าหมายถึงใคร 

     

    ภาพ-เยาวชนปกาเกอะญอ บ้านมอวาคี จ.เชียงใหม่

  •  

    จากการรวบรวมงานวิจัยในฐานข้อมูลและหลักการจำแนกชื่อเรียกชาติพันธุ์ที่คนในใช้เรียกตนเอง พบว่า ประเทศไทยมีกลุ่มชาติพันธุ์มากกว่า 62 กลุ่ม


    ภาพ-สุภาษิตปกาเกอะญอ
  •   การจำแนกกลุ่มชนมีลักษณะพิเศษกว่าการจำแนกสรรพสิ่งอื่นๆ

    เพราะกลุ่มชนต่างๆ มีความรู้สึกนึกคิดและภาษาที่จะแสดงออกมาได้ว่า “คิดหรือรู้สึกว่าตัวเองเป็นใคร” ซึ่งการจำแนกตนเองนี้ อาจแตกต่างไปจากที่คนนอกจำแนกให้ ในการศึกษาเรื่องนี้นักมานุษยวิทยาจึงต้องเพิ่มมุมมองเรื่องจิตสำนึกและชื่อเรียกตัวเองของคนในกลุ่มชาติพันธุ์ 

    ภาพ-สลากย้อม งานบุญของยอง จ.ลำพูน
  •   มโนทัศน์ความหมายกลุ่มชาติพันธุ์มีการเปลี่ยนแปลงในช่วงเวลาต่างๆ กัน

    ในช่วงทศวรรษของ 2490-2510 ในสาขาวิชามานุษยวิทยา “กลุ่มชาติพันธุ์” คือ กลุ่มชนที่มีวัฒนธรรมเฉพาะแตกต่างจากกลุ่มชนอื่นๆ ซึ่งมักจะเป็นการกำหนดในเชิงวัตถุวิสัย โดยนักมานุษยวิทยาซึ่งสนใจในเรื่องมนุษย์และวัฒนธรรม

    แต่ความหมายของ “กลุ่มชาติพันธุ์” ในช่วงหลังทศวรรษ 
    2510 ได้เน้นไปที่จิตสำนึกในการจำแนกชาติพันธุ์บนพื้นฐานของความแตกต่างทางวัฒนธรรมโดยตัวสมาชิกชาติพันธุ์แต่ละกลุ่มเป็นสำคัญ... (อ่านเพิ่มใน เกี่ยวกับโครงการ/คู่มือการใช้)


    ภาพ-หาดราไวย์ จ.ภูเก็ต บ้านของอูรักลาโว้ย
  •   สนุก

    วิชาคอมพิวเตอร์ของนักเรียน
    ปกาเกอะญอ  อ. แม่ลาน้อย
    จ. แม่ฮ่องสอน


    ภาพโดย อาทิตย์    ทองดุศรี

  •   ข้าวไร่

    ผลิตผลจากไร่หมุนเวียน
    ของชาวโผล่ว (กะเหรี่ยงโปว์)   
    ต. ไล่โว่    อ.สังขละบุรี  
    จ. กาญจนบุรี

  •   ด้าย

    แม่บ้านปกาเกอะญอ
    เตรียมด้ายทอผ้า
    หินลาดใน  จ. เชียงราย

    ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ถั่วเน่า

    อาหารและเครื่องปรุงหลัก
    ของคนไต(ไทใหญ่)
    จ.แม่ฮ่องสอน

     ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ผู้หญิง

    โผล่ว(กะเหรี่ยงโปว์)
    บ้านไล่โว่ 
    อ.สังขละบุรี
    จ. กาญจนบุรี

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   บุญ

    ประเพณีบุญข้าวใหม่
    ชาวโผล่ว    ต. ไล่โว่
    อ.สังขละบุรี  จ.กาญจนบุรี

    ภาพโดยศรยุทธ  เอี่ยมเอื้อยุทธ

  •   ปอยส่างลอง แม่ฮ่องสอน

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ปอยส่างลอง

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดย เบญจพล  วรรณถนอม
  •   อลอง

    จากพุทธประวัติ เจ้าชายสิทธัตถะ
    ทรงละทิ้งทรัพย์ศฤงคารเข้าสู่
    ร่มกาสาวพัสตร์เพื่อแสวงหา
    มรรคผลนิพพาน


    ภาพโดย  ดอกรัก  พยัคศรี

  •   สามเณร

    จากส่างลองสู่สามเณร
    บวชเรียนพระธรรมภาคฤดูร้อน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   พระพาราละแข่ง วัดหัวเวียง จ. แม่ฮ่องสอน

    หล่อจำลองจาก “พระมหามุนี” 
    ณ เมืองมัณฑะเลย์ ประเทศพม่า
    ชาวแม่ฮ่องสอนถือว่าเป็นพระพุทธรูป
    คู่บ้านคู่เมืององค์หนึ่ง

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม

  •   เมตตา

    จิตรกรรมพุทธประวัติศิลปะไต
    วัดจองคำ-จองกลาง
    จ. แม่ฮ่องสอน
  •   วัดจองคำ-จองกลาง จ. แม่ฮ่องสอน


    เสมือนสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรม
    เมืองไตแม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ใส

    ม้งวัยเยาว์ ณ บ้านกิ่วกาญจน์
    ต. ริมโขง อ. เชียงของ
    จ. เชียงราย
  •   ยิ้ม

    แม้ชาวเลจะประสบปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัย
    พื้นที่ทำประมง  แต่ด้วยความหวัง....
    ทำให้วันนี้ยังยิ้มได้

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ผสมผสาน

    อาภรณ์ผสานผสมระหว่างผ้าทอปกาเกอญอกับเสื้อยืดจากสังคมเมือง
    บ้านแม่ลาน้อย จ. แม่ฮ่องสอน
    ภาพโดย อาทิตย์ ทองดุศรี
  •   เกาะหลีเป๊ะ จ. สตูล

    แผนที่ในเกาะหลีเป๊ะ 
    ถิ่นเดิมของชาวเลที่ ณ วันนี้
    ถูกโอบล้อมด้วยรีสอร์ทการท่องเที่ยว
  •   ตะวันรุ่งที่ไล่โว่ จ. กาญจนบุรี

    ไล่โว่ หรือที่แปลเป็นภาษาไทยว่า ผาหินแดง เป็นชุมชนคนโผล่งที่แวดล้อมด้วยขุนเขาและผืนป่า 
    อาณาเขตของตำบลไล่โว่เป็นส่วนหนึ่งของป่าทุ่งใหญ่นเรศวรแถบอำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี 

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   การแข่งขันยิงหน้าไม้ของอาข่า

    การแข่งขันยิงหน้าไม้ในเทศกาลโล้ชิงช้าของอาข่า ในวันที่ 13 กันยายน 2554 ที่บ้านสามแยกอีก้อ อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย
 
  Princess Maha Chakri Sirindhorn Anthropology Centre
Ethnic Groups Research Database
Sorted by date | title

   Record

 
Subject บรู,โลกทัศน์,ความเชื่อ,พิธีกรรม,อุบลราชธานี
Author จิตรกร โพธิ์งาม
Title โลกทัศน์ของชาวบรู บ้านเวินบึก อำเภอโขงจียม จังหวัดอุบลราชธานี
Document Type ปริญญานิพนธ์ Original Language of Text ภาษาไทย
Ethnic Identity บรู, Language and Linguistic Affiliations ออสโตรเอเชียติก(Austroasiatic)
Location of
Documents
ห้องสมุดศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร Total Pages 220 Year 2536
Source หลักสูตรปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต วิชาเอกไทคดีศึกษา(เน้นมนุษย์ศาสตร์)มหาสารคาม : มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, 2536
Abstract

ผู้เขียนได้ทำการศึกษาโลกทัศน์ของชาวบรู ซึ่งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์หนึ่งที่ได้เข้ามาลงหลักปักฐานในประเทศไทย การศึกษาโลกทัศน์ที่มีต่อปัจจัยสี่และสิ่งต่างๆ รายรอบตัวของบรู ทำให้พบว่าบรูมีการมองสิ่งต่างๆ เหล่านั้นแตกต่างออกจากกลุ่มชนเจ้าของพื้นที่ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการคงอยู่ของอัตลักษณ์บางอย่าง แต่ในขณะเดียวกันก็มีการปรับเปลี่ยนโลกทัศน์บางอย่างให้เกิดการอยู่ร่วมกับกลุ่มชนอื่นได้อย่างปกติสุข ถึงอย่างไรก็ดีด้วยความที่บรูเป็นกลุ่มชนที่ถือว่าเข้ามาทีหลังกลุ่มชนอื่น ทำให้บรูยังคงมองเห็นว่าตนเองความต่ำต้อยกว่ากลุ่มชนผู้มาก่อนหรืออยู่มานานกว่า ทำให้การดำเนินชีวิตเป็นไปอย่างเจียมเนื้อเจียมตน รวมถึงกระแสวัฒนธรรมใหม่ทั้งจากสังคมอีสานและสังคมส่วนกลางที่เข้ามาในสังคมบรู ได้ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางด้านวิถีชีวิตความเป็นอยู่ วัฒนธรรมประเพณี และต่อโลกทัศน์ของบรูอยู่ตลอดเวลา

Focus

การศึกษาโลกทัศน์ของชาวบรูที่มีต่อสภาพแวดล้อม รวมทั้งปัจจัยสี่ในการดำรงชีวิต

Theoretical Issues

ไม่มี

Ethnic Group in the Focus

บรู หรือ กลุ่มชาติพันธุ์บรูเป็นชนกลุ่มน้อย(Minority) ที่อพยพโยกย้ายตัวเองจากประเทศเวียดนาม และลาว เข้ามาอาศัยตั้งรกรากอยู่ในประเทศไทย มีภาษาพูดแต่ไม่มีภาษาเขียนเป็นของตนเอง มีวิถีชีวิตและวัฒนธรรมเฉพาะเป็นของตนเองที่แตกต่างจากชนกลุ่มอื่นๆ ที่ได้เข้ามาตั้งถิ่นฐานในประเทศไทย (หน้า 2-3)

Language and Linguistic Affiliations

บรูมีภาษาพูดเป็นของตัวเอง ซึ่งสามารถจำแนกออกเป็นสาขาย่อยๆ หลายสาขา คือ 1. Brou 2. Bru 3. กะเลอ(Kalo) 4. กัลเล(Galler) 5. เมืองคง(Moung Kong) 6. เลอ(Leu) 7. กวางตรี วัน เกียว (Quangtri Vand Kieu) ซึ่งทั้งหมดจัดอยู่ในกลุ่มตระกูลภาษาออสโตรอเชียติก ตระกูลภาษาย่อยมอญ-แขมร์ สาขากะตู (Katuic Branch) ซึ่งเป็นตระกูลภาษาที่พบใช้กันมากในประเทศเพื่อนบ้านอย่างเขมร เวียดนาม และลาว (หน้า 3)

Study Period (Data Collection)

ไม่ระบุ

History of the Group and Community

จากถ้อยความบอกเล่า แต่เดิมนั้นบรูอาศัยอยู่ในเขตภูดอยทางเหนือของประเทศลาว ต่อมาจึงอพยพโยกย้ายลงมาเรื่อยๆ โดยอาศัยเส้นทางที่ผ่านทะเลป่อง ทะเลนวน และแม่น้ำเซ เมืองเหียง จนในที่สุดได้อพยพมาถึงแม่น้ำละวัฮสะวิง ซึ่งเป็นถิ่นฐานของชาวลาว นั่นเป็นเหตุผลให้บรูซึ่งมีผีประจำกลุ่มแต่เดิม ต้องเปลี่ยนมานับถือผีเจียวซึ่งเป็นผีที่อยู่ในดินแดนของชาวลาว บรูส่วนมากจะอยู่อาศัยอยู่บริเวณภูเขาลำเพาะ และภูเขากะไดแก้วในช่วงเวลาหนึ่ง จนกระทั่งแหล่งอาหารที่เคยอุดมสมบูรณ์เสื่อมโทรมลง จึงได้โยกย้ายตัวเองอีกครั้งแต่ยังคงอาศัยแนวเขาเป็นที่พักพิงในการย้ายถิ่นฐานเรื่อยมา จนกระทั่งได้อพยพมาถึงเขตแขวงจำปาสักก็เริ่มลงหลักปักฐานอีกครั้งที่บ้านหินตั้งและบ้านม่วงชุม แล้วจึงอพยพไปยังบ้านหนองเม็กที่อยู่บนภูกางเฮือน แล้วจึงเข้ามาสู่บ้านเวินขัน เวินไซย และบ้านลาดเสือตามลำดับ โดยในครั้งนี้บรูได้อพยพจากภูดอยลงสู่พื้นราบและตั้งถิ่นฐานในบริเวณนี้เป็นเวลานานจนกระทั่งในปี พ.ศ. 2436-2457 ซึ่งตรงกับช่วงเวลาที่ประเทศลาวได้สูญเสียอิสระภาพในการปกครองตนเองให้แกประเทศฝรั่งเศสในยุคล่าอาณานิคม ในช่วงนี้บรูได้เผชิญกับความกดดันจากภาวะสงคราม และการบังคับใช้แรงงานและการขูดรีดจากทหารฝรั่งเศสที่ปกครองอย่ในขณะนั้น ทำให้ตัดสินใจทิ้งถิ่นฐานเดิมแล้วทำการอพยพอีกครั้งในปี พ.ศ. 2457 โดยการแพยพในครั้งนี้เป็นการแพยพข้ามแนวเขตระหว่างประเทศเข้าสู่ประเทศไทยที่บ้านเวินบึก การโยกย้ายในครั้งนี้เป็นไปอย่างระมัดระวังเพราะตามแนวชายแดนมีทหารฝรั่งเศสควบคุมอยู่ การดำเนินการอพยพจึงเป็นการค่อยๆ ทยอยตามกันมา โดยครั้งแรกนั้นอพยพเข้ามาที่บ้านเวินบึกเพียงเจ็ดครัวเรือน แล้วจึงตามมาสมทบจนมีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ในการตั้งถิ่นฐานในสถานที่ใหม่ในครั้งนี้ทำให้บรูจำนวนหนึ่งได้หันมานับถือศาสนาพุทธตามกลุ่มคนไทลาวในพื้นที่ และอีกส่วนหนึ่งนั้นยังคงเคร่งครัดอยู่กับความเชื่อเรื่องผีในแบบดั้งเดิม จึงทำให้เกิดความขัดแย้งในเรื่องของความเชื่อขึ้น ทำให้บรูที่ยังเคร่งครัดกับผีดั้งเดิมอพยพกลับสู่บ้านลาดเสือในประเทศลาว (หน้า 26-28)

Settlement Pattern

ในการตั้งถิ่นฐาน บรูได้ให้ความสำคัญกับความสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ ภูเขา ป่าไม้ และแม่น้ำลำห้วย ยังคงเป็นปัจจัยหลักในการดำรงชีวิต การเข้ามาตั้งถิ่นฐานที่บ้านเวินบึก บรูเลือกที่จะอยู่ใกล้พื้นที่ของภูห้วยโคน ภูผีเผด ภูบันทัด และแม่น้ำโขง ซึ่งการอิงอาศัยทรัพยากรของชาวบรูไม่ว่าจะไปลงหลักปักฐานในถิ่นที่ใดก็มาจากความจำเป็นในเรื่องของปัจจัยในการดำรงชีวิตเป็นหลักนั่นเอง ซึ่งภายหลังภาครัฐได้มีการประกาศเขตวนอุทยานแห่งชาติแก่งตะนะ ทำให้พื้นที่ ดงขี้ยาง ที่เป็นพื้นที่ทำกินของบรู ถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่อุทยาน ทำให้ไม่สามารถเข้าไปใช้ประโยชน์ในที่ดังกล่าวเช่นเคย (หน้า 26-27, 32, 35-36)

Demography

บ้านเวินบึกประกอบไปด้วยครัวเรือนทั้งหมด 88 ครัวเรือน มีสมาชิกจำนวน 435 คน เป็นชาย 266 คน หญิง 209 คน หากพิจารณาตามช่วงวัยพบว่า วัยรุ่นและวัยทำงานที่มีอายุอยู่ในช่วง 19-50 ปี จะมีจำนวนมากที่สุด(ข้อมูล พ.ศ. 2536) ในจำนวนสมาชิกบ้านเวินบึกทั้งหมดนั้นถือว่าบรูเป็นกลุ่มสมาชิกหลักของหมู่บ้าน ซึ่งมีคนกลุ่มอื่นเป็นสมาชิกหมู่บ้านอยู่ด้วยแต่เป็นส่วนน้อย บ้านเวินบึกนับตั้งแต่ก่อนการเข้ามาถึงของภาครัฐ มีกลุ่มตระกูลที่สำคัญอยู่ 2 กลุ่มตระกูล คือ ตระกูลลือคำหาญ และตระกูลแสนชัย ซึ่งเป็นตระกูลดั้งเดิมตั้งแต่เมื่อครั้งยังมีถิ่นฐานอยู่ในประเทศลาวจนกระทั่งรองอำมาตย์เอกหลวงแกล้ว กาญจนเขตต์ ซึ่งดำรงตำแหน่งนายอำเภอโขงเจียมในขณะนั้น เห็นว่า ควรจะมีการเปลี่ยนนามสกุลของบรูให้เป็นไทย จึงได้มีการตั้งนามสกุลใหม่ โดยถือเอาสภาพความเป็นอยู่และการประกอบอาชีพเป็นหลักในการตั้งนามสกุล ตระกูลลือคำหาญเปลี่ยนมาเป็น ”พึ่งดง” ส่วนตระกูลแสนชัย เปลี่ยนมาเป็น “พึ่งป่า” นอกจากนี้ยังมีนามสกุลที่แตกออกจากสองกลุ่มตระกูล ได้แก่ พรานแม่น แก้วใส กอดแก้ว และคำบุญเรือง (หน้า 37-38, 54)

Economy

ทั้งก่อนการอพยพโยกย้ายเข้าสู่บ้านเวินบึก รวมไปถึงช่วงแรกในการตั้งถิ่นฐานในบ้านเวินบึกนั้น บรูทำการเกษตรแบบยังชีพเป็นหลัก ต่อมาเมื่อบรูได้เริ่มปรับวิถีชีวิตให้เข้ากับกลุ่มประชากรหลักของพื้นที่แล้ว ระบบยังชีพของบรูก็เปลี่ยนไป จากการดำรงชีพอยู่ด้วยปัจจัยจากทรัพยากรธรรมชาติ การแลกเปลี่ยนสิ่งของ ก็เปลี่ยนปสู่การมีเงินเป็นตัวกลางในการแลกเปลี่ยน ส่วนหนึ่งนั้นมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพของเศรษฐกิจในช่วงเวลานั้นด้วยในทางหนึ่ง ทำให้บรูประกอบอาชีพที่หลากหลายขึ้นเพื่อแลกเปลี่ยนกับเงินในการดำรงชีพ อาชีต่างๆ ได้แก่ อาชีพรับจ้าง จักสาน ทั้งนี้อาชีพส่วนหนึ่งมาจากการสนับสนุนของภาครัฐ แต่กระนั้นการยกระดับของคุณภาพชีวิตยังคงดำเนินไปอย่างช้าๆ อยู่ เนื่องจากไม่ได้คุ้นเคยกับระบบเศรษฐกิจเช่นนี้มาแต่ต้น

Social Organization

รูปแบบโครงสร้างทางสังคมของบรูมีระบบโครงสร้างทางสังคมแบบจารีตประเพณี โดยสมาชิกในกลุ่มจะยึดเอาผู้นำที่มาจากกลุ่มตระกูลที่มีความสำคัญ เช่น ตระกูลลือคำหาญ และตระกูลแสนชัย ซึ่งภายหลังได้เปลี่ยนชื่อสกุลมาเป็น พึ่งดงและพึ่งป่า ผู้นำตามระบบราชการในหมู่บ้านคือ ผู้ใหญ่บ้าน ในช่วงแรกผู้ใหญ่บ้านของหมู่บ้านเวินบึก คือ นายสี พึ่งป่า แต่ในทางสังคมจารีตนั้นนายสี พึ่งป่า เป็นผู้นำในการอพยพของบรูเข้าสู่หมู่บ้านเวินบึก นั่นหมายถึงว่า แม้ระบบใหม่คือการปกครองในแบบภาครัฐได้เข้ามาครอบระบบเดิมก็ตาม จะเห็นว่าระบบจารีตเดิมได้ปรับตัวให้เกิดความผสมผสานกับระบบใหม่ โดยที่ยังสามารถคงรูปแบบสังคมดั้งเดิมเอาไว้ได้ ดังนั้นจะเห็นได้จากรายชื่อของคณะกรรมการหมู่บ้าน และนามสกุลของผู้ใหญ่บ้าน ยังมีสกุลชือ พึ่งป่า ให้เห็นอยู่ อาทิเช่น นายขียว พึ่งป่า นายกึก พึ่งป่า นอกจากสกุลพึ่งป่าแล้วยังมีกลุ่มตระกูลอื่นๆ ซึ่งส่วนมากจะเป็นกลุ่มตระกูลที่อพยพเข้ามาในช่วงแรกๆ นอกจากนี้กลุ่มตระกูลที่มีความสำคัญมากกลุ่มหนึ่งได้แก่ กลุ่มตระกูลที่เป็นผู้นำทางวิญญาณหมายถึงกลุ่มตระกูลที่สามารถติดต่อสื่อสารกับวิญญาณหรืออำนาจเหนือธรรมชาติ เรียกว่า “จาระโบ” ซึ่งจะต้องสืบเชื้อสายมาจากตระกูลพึ่งป่า โครงสร้างทางสังคมของชาวบรูส่วนมากจะเกิดจากการขยายครอบครัว ซึ่งวนเวียนอยู่ในแวดวงของกลุ่มเครือญาติเป็นสำคัญ (หน้า 54-56, 59)

Political Organization

เมื่อชุมชนของบรูเริ่มตั้งเป็นรูปเป็นร่างมาตั้งแต่ปี พ.ศ 2457 ชุมชนที่อพยพมาใหม่อย่างบรูยังคงยึดถือเอากลุ่มตระกูลผู้นำดั้งเดิมที่นำพาสมาชิกอพยพจากฝั่งประเทศลาวเข้าสู่ประเทศไทย ใหเป็นผู้นำชุมชน กลุ่มตระกูลผู้นำสองกลุ่มเดิมตั้งแต่เมื่อครั้งที่บรูยังคงอยู่ที่บ้านลาดเสือ ประเทศลาวนั้นได้แก่ ตระกูลลือคำหาญและตระกูลแสนชัย โดยตระกูลทั้งสองยังคงเป็นกลุ่มตระกูลผู้นำของบรูเรื่อยมา โดยนำเอาระบบจารีตและประเพณีแบบดั้งเดิมมาเป็นบรรทัดฐานในการปกครองซึ่งเปรียบได้กับกฎหมาย มีผีหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์และอำนาจเหนือธรรมชาติตามความเชื่อเป็นกรอบบังคับ โดยคนจากสองกลุ่มตระกูลจะปกครองชุชนร่วมกับผู้นำทางวิญญาณที่สามารถติดต่อกับผีหรืออำนาจเหนือธรรมชาติได้ อย่างไรก็ดี ผู้ที่เป็นผู้นำทางความเชื่อและจิตวิญญาณอย่างจาระโบก็เป็นคนที่มาจากหนึ่งในสองตระกูลผู้นำเดิม นั่นคือมาจากตระกูลแสนชัยนั่นเอง จนกระทั่งการปกครองของภาครัฐได้เข้ามาสู่ชุมชน ก็ได้มีการเปลี่ยนแปลงระบบการปกครองดั้งเดิมไปสู่การปกครองในระบบที่รัฐได้เป็นผู้กำหนด นั่นคือผู้นำชุมชนต้องมาจากการเลือก แต่ถึงอย่างไรก็ดีผู้ใหญ่บ้านที่ได้จากการเลือกตั้งในแต่ละครั้งยังคงเป็นคนจากกลุ่มตระกูลผู้นำดั้งเดิมอยู่เช่นในอดีต (หน้า 32, 59, 69)

Belief System

ระบบความเชื่อดั้งเดิมของบรูนั้นผูกพันอยู่กับความเชื่อและอำนาจศักดิ์สิทธิ์เหนือธรรมชาติ ซึ่งมีอำนาจที่จะดลบันดาลให้เกิดปรากฏการณ์ต่างๆ ตั้งแต่เรื่องเล็กน้อยไปจนถึงเรื่องใหญ่ๆ ผีเป็นความเชื่อซึ่งกลายมาเป็นรากฐานทางวัฒนธรรมของบรู ผีในความหมายนี้ไม่ใช่เพียงแต่เป็นสิ่งลึกลับ แต่ทว่าเปรียบได้กับศาสนา บางครั้งการนับถือผี ถูกเรียกว่า ศาสนาผี ในเวลาต่อมาความเชื่อในเรื่องอำนาจเหนือธรรมชาติได้ถูกโยงเข้าสู่ระบบจารีตประเพณี บรูดำเนินชีวิตอยู่ภายใต้ “ฮีตข่าคองขอม” ซึ่งคำว่า ฮีต นั้นมีความเช่นเดียวกับคำว่า จารีต ที่เป็นแนวทางกรอบในการยึดถือปฏิบัติในการดำเนินชีวิต ฮีตและคอง จึงเป็นทั้งกฎและกรอบในการดำรงอยู่ร่วมกันของสังคมบรู ฮีตข่าคองขอมของบรูนั้นถูกเชื่อมโยงเข้ากับผีและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และแสดงออกมาในรูปแบบพิธีกรรมต่างๆ ทั้งพิธีกรรมที่เป็นมงคลและอวมงคลจะต้องมีผีเป็นองค์ประกอบหลักในพิธีอยู่เสมอ ผีที่บรูนับถือนั้นนั้นก็มีลำดับขั้นไล่เรียงกันไปตรามอำนาจของผี ตั้งแต่ผีที่มีอำนาจสูงสุดได้รับการยอมรับอย่างสูงในหมู่บรูก็คือ ผีจำนัก ซึ่งมีอิทธิพลต่อการดดำเนินชีวิตของบรูอย่างมาก แต่เดิมเมื่อครั้งที่พวกบรูยังอาศัยอยู่ตามแนวเขตตอนบนของประเทศลาว ผีที่ได้รับการนับถือสูงสุดในช่วงนั้นคือ ผีเจียว แต่เมื่อบรูได้อพยพโยกย้ายตนเองสู่พื้นที่ใหม่ซึ่งเป็นพื้นที่ของชาวลาว จึงต้องเปลี่ยนมานับถือผีตามที่ชาวลาวที่เป็นเจ้าของพื้นที่นับถืออยู่ เนื่องจากเชื่อว่าผีเจียวมาสามารถติดตามคุ้มครองดูแลในพื้นที่อื่นได้ เมื่อบรูตั้งบ้านเรือนขึ้นที่บ้านเวินบึกจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีผีเป็นที่เคารพยึดเหนี่ยว เพื่อเป็นกรอบและแนวทางการดำเนินชีวิต จึงต้องมีการซื้อผีจากชาวลาวเจ้าของพื้นที่ โดยซื้อมาจากชาวลาวบ้านลาดเสือ ผีที่กล่าวถึงคือ ผีจำนัก ที่เป็นที่เคารพนับถือของบรูในประเทศไทยมาจนถึงปัจจุบัน นอกจากผีจำนักซึ่งเป็นผีที่เป็นที่นับถือมากที่สุดแล้ว บรูยังนับถือผีอื่นๆ ที่มีลำดับชั้นและหน้าที่แตกต่างกันออกไปในเรื่องของความเชื่อ ได้แก่ ผีประจำฮีต ผีไถ้ ผีบุญคุณพ่อแม่ ผีประจำฮีต คือผีประจำตระกูลนั่นเอง โดยในแต่ละตระกูลจะมีผีประจำตระกูลของตนเอง และต้องได้รับการบูชาและความเคารพอย่างเคร่งครัด เมื่อใดก็ตามที่มีสมาชิกในตระกูลทำผืดรีตรอยเดิมจะต้องทำการเซ่นผีประจำฮีตของตนเพื่อลุแก่ความผิด ผีไถ้เป็นผีที่ให้คุณและโทษในด้านของสุขภาพของบรู และเป็นผีที่มักจะได้รับการเซ่นสรวงเมื่อมีสมาชิกคนใดเจ็บป่วย ระดับของการเซ่นไหว้ก็ขึ้นอยู่กับความมากน้อยของอาการเจ็บไข้ได้ป่วย ถ้ามากก็จะต้องมีการจัดพิธีใหญ่ๆ มีการฟ้อนถวายแก่ผี เรียกการฟ้อนนั้นว่า “ปวน” ซึ่งการปวนนี้เป็นส่วนประกอบที่มีความสำคัญอย่างมากต่อพิธีเซ่นไหว้ผีไถ้ ส่วนผีบุญคุณพ่อแม่จัดว่าเป็นผีที่อยุ่ในระดับครอบครัว ปกปักรักษาคุ้มครองครอบครัว การเซ่นไหว้ผีบุญคุณพ่อแม่นั้นอีกนัยหนึ่งเป็นการแสดงถึงการระลึกถึงบุญคุณของพรรพบุรุษ ซึ่งคล้ายคลึงกับการทำพิธีบังสกุลให้แก่บรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้วในประเพณีของไทยนั่นเอง บรูกับความเชื่อเรื่องผีนับเป็นความเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงกันอย่างแยกไม่ออก และเดินควบคู่กันไปกับการดำเนินไปของชีวิตตามวิถีชาติพันธุ์ และยิ่งมีความเด่นชัดมากขึ้นเมื่อพิจารณาถึงการจัดลำดับความเชื่อ การแบ่งประเภทของผี ซึ่งอำนาจ การให้คุณหรือโทษของผีแต่ละผีนั้นเป็นการมุ่งรักษาสถานะภาพความสัมพันธ์ของบรูในแต่ละระดับ ตั้งแต่ผีจำนักที่รักษาความเป็นกลุ่ม เป็นสังคมโดยรวม ผีประฮีตเป็นกรอบบังคับให้ระดับครอบครัวมีแนวคิดและทิศทางปฏิบัติไปในทิศทางเดียวกัน การเชื่อมโยงระหว่างเครือญาติด้วยผี ทำให้สังคมของบรูการการเกาะกลุ่มอยู่กันอย่างเหนียวแน่น ในขณะที่บรูเองก็อพยพโยกย้ายตนเองอยู่เกือบตลอดเวลา แม้ว่าความเชื่อของบรูจะถูกผสมผสานเข้ากับความเชื่อของชาวลาวในพื้นที่ใหม่ คือการนับถือพุทธศาสนาก็ตาม แต่ไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงความเชื่อโดยสิ้นเชิง เพียงแต่ปรับแปลงให้เกิดความกลมกลืน ในขณะเดียวกันก็รักษาจารีตเดิมอย่างเคร่งครัดเป็นการสงวนไว้ซึ่งความแตกต่าง และนั่นเป็นกลไกในการดำรงชีวิตท่ามกลางกลุ่มชาติพันธุ์อื่นได้เป็นอย่างดี ดังจะเห็นได้ว่าปัจจุบันบรูได้มีการปรับเปลี่ยนพิธีกรรมบางอย่างให้เข้ากับสภาพพื้นที่ เศรษฐกิจ สังคม พร้อมๆ กับการรักษาความเป็นบรูไว้ด้วยในเวลาเดียวกัน (หน้า 59-72)

Education and Socialization

กลุ่มบรูเป็นกลุ่มที่มีภาษาพูดเป็นของตนเอง การอาศัยอยู่ด้วยการแวดล้อมของกลุ่มชาติพันธุ์เดียวกัน ทำให้การรับและถ่ายทอดองค์ความรู้เป็นไปตามกระบวนการการจัดการสังคมของบรู จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2481 บ้านเวินบึกก็เริ่มได้รับการศึกษาภายใต้ระบบการศึกษาของภาครัฐ โรงเรียนประชาบาลโขงเจียม 10 ได้ถูกจัดตั้งขึ้น โดยเริ่มให้การศึกษาร่วมกับหมู่บ้านและชุมชนอื่นเรื่อยมา จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2483 จึงมีการแยกออกมาตั้งโรงเรียนในชุมชนบ้านเวินบึกเอง คือ โรงเรียนประชาบาลโขงเจียม 7 ต่อมาจึงเปลี่ยนมาใช้ชื่อว่า โรงเรียนบ้านเวินบึก และทำการเรียนกรสอนตั้งแต่นั้นมาจนถึงปัจจุบัน โรงเรียนบ้านเวินบึกเปิดให้การเรียนการสอนในหลักสูตรประถมศึกษา รับนักเรียนตั้งแต่ชั้นเด็กเล็กจนกระทั่งถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 แต่บรูนิยมส่งลูกหลานเข้าทำการศึกษาเล่าเรียนถึงแค่ประถมศึกษาปีที่ 6 ตามระบบบังคับเท่านั้น โดยหลังจากนั้นไม่ส่งลูกหลานให้เรียนต่อในชั้นสูงขึ้นไป สาเหตุมาจากเรื่องแรงงานภายในครัวเรือนในการทำมาหากินเป็นสำคัญ (หน้า 46-47)

Health and Medicine

ตั้งแต่ดั้งเดิมบรูอาศัยอยู่ท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่เป็นป่าเขาลำเนาไพร มีการอพยพโยกย้ายไปเรื่อยโดยยึดพื้นที่เหล่านั้นเป็นหลัก บรูจึงมีการเรียนรู้ที่จะอยู่ในสภาพดังกล่าว รวมถึงได้ถ่ายทอดสู่รุ่นต่อๆ ไป ในเรื่องการรักษาสุขภาพและโรคภัยไข้เจ็บจึงเป็นไปในลักษณะของการพึ่งพากันเองในกลุ่มของตน โดยนำเอาทรัพยากรจากธรรมชาติรอบๆ ตัวมาใช้ อย่างเช่น พืชสมุนไพร การรักษาพยาบาลเน้นไปในทางการรักษาแบบโบราณ และประกอบไปกับการใช้เวทมนต์คาถาและพิธีกรรมความเชื่อเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการรักษาอาการเจ็บป่วย หมอยา เป็นผู้ชำนาญการในการรักษาพยาบาลความเจ็บป่วยของบรู โดยหมอยาที่กล่าวถึงส่วนมากทำการรักษาโดยการสั่งสมความรู้และประสบการณ์ในการพบเจอโรค พร้อมกันนนั้นก็ได้มีการส่งถ่ายความรู้ในการรักษาต่อๆ กันมา หมอยาที่บรูยกย่องคือ นายดี พึ่งป่า เพราะนายดีเป็นหมอยาที่มีความสนใจในการรักษาความเจ็บป่วยและเดินทางไปเรียนรู้การรักษาที่บ้านลาดเสือในฝั่งลาว จึงเป็นผู้ที่ได้รับการนับถือในเรื่องการรักษาพยายบาลจากสมาชิกบรู อาการเจ็บป่วยของบรูนั้นมีมากมายหลายประเภท และแต่ละประเภทจะต้องได้รับการรักษาด้วยวิธีการที่แตกต่างกัน ทั้งอาการที่เกิดจากโรคภัยธรรมดา และที่เกิดจากการดลบันดาลให้เป็นไปด้วยอำนาจเหนือธรรมชาติ ผู้วิจัยได้จัดแบ่งอาการเจ็บป่วยของบรูออกเป็น 3 ประเภท ดังต่อไปนี้ 1. อาการที่เกิดจากความผิดปกติของร่างกาย หรือจากอุบัติเหตุ 2. โรคที่เกิดจากสิ่งเหนือธรรมชาติ 3. การรักษาหรือช่วยทำคลอด ด้วยอาการเจ็บป่วยซึ่งแบ่งออกไปเป็นประเภทต่างๆ บรูจึงมีหมอรักษาเฉพาะทางตามความเจ็บป่วยที่เกิดขึ้น หมอประเภทต่างของบรู ได้แก่ - หมอสมุนไพร เป็นผู้เชี่ยวชาญในการรักษาด้วยสมุนไพรชนิดต่างๆ ที่มีอยู่ในธรรมชาติ ส่วนมากจะรักษาโรคที่เกิดจากความผิดปกติของร่างกายและจากอุบัติเหตุ - หมอเป่า ใช้การพ่นยา เป่ายา บางครั้งอาจจะเพียงเป่าน้ำลายธรรมดา ส่วนมากหมอเป่าจะรักษาโรคฝี และโรคผิวหนัง - หมอกวาด เป็นหมอที่รักษาโรคต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับเด็ก โดยใช้วิธีการบดยาแล้วกวาดในปากของผู้ป่วย - หมอน้ำมนต์ ใช้น้ำมนต์และคาถาเป็นส่วนสำคัญในการรักษา ดดยมากจะรักษาโรคที่เกี่ยวข้องกับกระดูก เช่น แขนหัก การรักษาจะทำโดยประพรมน้ำมนต์พร้อมด้วยการบริกรรมคาถา ในขณะการทำการรักษา หรือปฐมพยาบาลเบื้องต้น - หมอน้ำมัน อาศัยน้ำมันที่ได้จากอวัยวะของสัตว์ต่างๆ อาทิเช่น เขาแพะ น้ำมันหมูป่า โดยนำมาต้มผสมกับน้ำมันมะพร้าว เรียกรวมๆ ว่า น้ำมันเลียงผา ใช้ในการรักษาโรคที่เกี่ยวกับข้อต่อและเส้นเอ็น โดยใช้วิธีทาน้ำมันพร้อมกับการบริกรรมคาถาไปพร้อมๆ กัน - หมอเอ็น ใช้ความชำนาญที่เกี่ยวกับเส้นเอ็นมาทำการรักษา เน้นไปที่การบีบนวด - หมอตำแย เป็นหมอเฉพาะทางในเรื่องการทำครรภ์คลอดบุตร การดูแลครรภ์ และรวมไปถึงการดูแลสุขภาพของผู้ป่วยหลังคลอด หมอตำแยเป็นผู้มีความรู้เกี่ยวกับการทำครรภ์ และเรื่องโรคที่เกี่ยวกับทั้งมารดาและบุตรทั้งก่อนและหลังคลอด เช่น การตัดสายสะดือ การอาบน้ำสมุนไพร - หมอพระ เป็นหมอที่เน้นการรักษาไปในทางด้านจิตใจของผู้ป่วยเป็นสำคัญ พร้อมเสริมด้วยการประพรมน้ำมนต์ ส่วนมากมักจะมีการเชิญหมอพระ หรือที่จริงก็คือ พระสงฆ์ มาในกรณีที่มีงานบุญต่างๆ ที่ประกอบพิธีกรรมทางพุทธร่วมด้วย โดยไม่จำเป็นจะต้องมีผู้ป่วยหรือต้องรักษาโรคก็ได้ - หมอทรง เป็นผู้ทำการรักษาผู้ป่วยด้วยการทรงเจ้าเข้าผี โดยผีที่ถูกเชิญมามักจะเป้นผีที่มีอำนาจบันดาลในการรักษาโรคภัย ซึ่งก็ได้แก่ ผีไถ้ นั่นเองการรักษาจะกระทำโดยการร้องรำทำเพลงและการเซ่นพลีด้วยของเซ่นไหว้ - หมอผี เป็นผู้ทำหน้าที่ขับไล่และรักษาโรคอันเกิดมาจากการกระทำของผี โดยการเข้าสมาธิ การบริกรรมคาถา การผูกข้อต่อแขน และการรดน้ำมนต์ ไปจนถึงระดับที่มากกว่าที่กล่าวมา ซึ่งต้องใช้เครื่องมือประกอบในการรักษา เช่น แส้หางปลา ก้านมะยม เป็นต้น หมอผีนับว่าเป็นผู้ที่มีความสำคัญ เพราะในระบบสังคมบรูยังยึดถือในเรื่องของอำนาจเหนือธรรมชาติอยู่มาก การตีความหรือวินิจฉัยโรคที่ผิดไปจากอาการเจ็บป่วยปกติ จึงมักถูกตีความว่าเกิดจากการกระทำของอำนาจเหนือธรรมชาติ หรือการกระทำของผี - หมอขวัญ เป็นผู้ชำนาญในการเรียกขวัญ สู่ขวัญ และอำนวยพรแก่คนเจ็บป่วย เวยความเชื่อที่ว่าในร่างกายของเรามีขวัญประจำอยู่ การเจ็บป่วยบางอย่างอาจจะเกิดจากขวัญได้หนีหายไปจากร่างกาย การเรียกขวัญให้กลับคืนมาจะทำให้อาการเจ็บป่วยหายไปหรือดีขึ้น วิธีการของหมอขวัญมักเป็นพิธีกรรมที่ทำให้เกิดความเป็นมงคลแก่ผู้ป่วย เช่น การบายสีสู่ขวัญ การมัดข้อต่อมือด้วยด้ายสายสิญจน์ จากที่ได้กล่าวมานั้นจะเห็นได้ว่า ในสังคมบรูจะมีหมอที่ทำหน้าที่ต่างๆ กันไป เพื่อจะทำการรักษาอาการของผู้เจ็บป่วยด้วยวิธีการแตกต่างกันไป และส่วนที่ยังเห็นได้อย่างชัดเจนคือ เรื่องของความเชื่อที่ยังหยั่งรากลึก การรักษามักจะประกอบด้วยเวทมนต์คาถาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และนอกจากนี้บรูยังมีหมอที่รักษาทั้งทางร่างกายและจิตใจ ควบคู่กันไป การเข้ามาถึงของบริการทางภาครัฐทำให้มีการตั้งอนามัยตำบล โรงพยาบาลขึ้น นั่นเป็นการเพิ่มทางเลือกในการรักษาความเจ็บไข้ได้ป่วยของบรูให้มากขึ้น และด้วยความเจริญทางการแพทย์ทำให้โรคบางโรคนั้นบรูสามารถรักษาได้ด้วยตัวเอง โดยใช้งานสมัยใหม่อย่างโรค ไข้หวัด เป็นต้น ส่งผลให้ความเป็นอยู่และเรื่องของสุภาพของบรูดีขึ้น (หน้า 52,146-153)

Art and Crafts (including Clothing Costume)

กลุ่มบรูบ้านเวินบึกเป็นกลุ่มชนที่พึ่งพาตัวเองและทรัพยากรธรรมชาติเป็นหลักในการดำรงชีวิต ดังนั้นจึงมีความชำนาญในการนำวัสดุจากธรรมชาติ อย่างไม้เฮียะ ไม้ไผ่ มาสร้างสรรค์เป็นเครื่องใช้ไม้สอยในชีวิตประจำวัน บรูมีความสามารถในการทำเครื่องจักสานเป็นอย่างดี ตั้งแต่เด็กเล็ก หญิงหรือชาย จนกระทั่งถึงคนแก่เฒ่า จนมีคำกล่าวว่า “หวดในนา นาในหวด” เครื่องจักสานอย่างกระติ๊บข้าว หวด หมวก และอื่นๆ อีกมาก ล้วนแต่กลายมาเป็นส่วนหนึ่งในการประกอบอาชีพอย่างหนึ่งของบรู นอกจากฝีมือทางการจักสานแล้ว ศิลปะการแสดงอย่าง “ปวน” ก็มีความสำคัญต่อบรู เพราะเป็นส่วนหนึ่งในการประกอบพิธีกรรมไหว้ผี ในทางหนึ่งเป็นการแสดงความเคารพต่ออำนาจเหนือธรรมชาติ แต่ขณะเดียวกันก็เป็นการแสดงออกในทางการร่ายรำอย่างหนึ่งของพวกเขา งานฝีมืออย่างหนึ่งซึ่งแสดงออกถึงความเป็นบรูได้อย่างดีก็คือ ที่อยู่อาศัยหรือบ้านของบรู แม้ว่าจะได้รับการเปลี่ยนแปลงไปตามแต่ยุคสมัยและปัจจัยภายนอกที่เข้าก็ตาม แต่ยังคงไว้ซึ่งเอกลักษณ์ของบรูที่แสดงออกทั้งในเรื่องของความเชื่อและการปรับแปลงตัวเองให้เข้ากับสภาพแวดล้อม นั่นส่งผลให้บ้านเรือนของบรูได้มีลักษณะรูปร่างหน้าตาเปลี่ยนไปคล้ายกับบ้านเรือนของชาวอีสานมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ยังคงมีเอกลักษณ์ซึ่งแสดงออกมาให้เห็นอยู่จนถึงปัจจุบัน

Folklore

บรูให้ความสำคัญอย่างมากกับมนุษย์เพศชาย จะเห็นได้จากการที่ผู้ชายได้รับเลือกให้เป็นผู้นำชุมชน และรวมถึงเป็นผู้นำในการประกอบพิธีกรรม นอกจากนี้เพศชายยังเป็นส่วนสำคัญของกำลังในการผลิต ผู้สูงอายุกว่าจะได้รับการยอมรับและนับถือ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบรรพบุรุษและบุพการี ในการดำรงชีวิตของบรูสิ่งที่สำคัญก็คือความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ อำนาจของผีต่างๆ และอำนาจของผู้นำ รวมไปถึงข้าราชการ แต่อำนาจของภาครัฐในทัศนะของบรูกลับเป็นอำนาจที่ก่อให้เกิดความเกรงกลัวและอันตราย ส่วนในเรื่องที่เกี่ยวเนื่องกับสภาพแวดล้อมธรรมชาติ บรูรู้สึกว่ามีความสัมพันธ์กับชีวิตอย่างมาก เนื่องจากเป็นแหล่งที่มาของปัจจัยในการดำเนินชีวิต และถือได้ว่าเป็นที่พึ่งพิงในทุกๆ ด้าน เป็นสิ่งที่มีคุณค่าต่อพวกเขาอย่างมาก (หน้า 157-173) นอกจากเรื่องข้างต้นแล้ว บรูยังมีตำนานเกี่ยวกับการสร้างโลก หรือการสร้างปราสาทหิน ซึ่งเป็นสิ่งที่สะท้อนความเชื่อและความนึกคิดของบรู ในเรื่องประวัติศาสตร์ชาติพันธุ์ และสถานที่ต่างๆ ที่อยู่ในบริบทของชีวิต

Ethnicity (Ethnic Identity, Boundaries and Ethnic Relation)

นับแต่บรูได้อพยพจากบ้านลาดเสือในฝั่งประเทศลาวเข้ามาอยู่ที่บ้านเวินบึกแล้ว พวกเขายังคงติดต่อสื่อสารกับบรูกลุ่มที่ยังอยู่ที่บ้านลาดเสืออยู่เป็นประจำ ทั้งการเข้าร่วมพิธีกรรมและการไปมาหาสู่ระหว่างเครือญาติ แต่ในขณะเดียวกันก็อาศัยอยู่ร่วมกันกับกลุ่มชนในพื้นที่อย่างชาวอีสานได้อย่างไม่มีปัญหาหรือความขัดแย้ง และในการอยู่อาศัยร่วมกับกลุ่มชนอื่นนั้นได้ทำให้เกิดการถ่ายเททางวัฒนธรรมระหว่างกัน ทำให้โลกทัศน์ต่อสิ่งต่างๆ ของบรูได้มีการเปลี่ยนแปลงไปจากที่เคยเป็นอยู่ แต่ในอีกทางหนึ่งนั้นโลกทัศน์เดิมเกี่ยวกับเรื่องพิธีกรรมและความเชื่อก็ยังคงเข้มข้นและถูกยึดมั่นเอาไว้อย่างเหนียวแน่นเช่นเดิม

Social Cultural and Identity Change

ในประวัติศาสตร์ของบรูที่ปรากฎในงานวิจัย แสดงให้เห็นว่าบรูมีการอพยพโยกย้ายอยู่ตลอดมา นั่นทำให้บรูต้องเรียนรู้ที่จะปรับตัวอยู่ตลอดเวลาทั้งกับสภาพแวดล้อมใหม่ และกับวัฒนธรรมที่แปลกออกไปในพื้นที่ที่อพยพเข้าไป การอยู่ท่ามกลางสังคมแบบใหม่ ท่ามกลางวิถีวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ การเรียนรู้ที่จะปรับตัวนี้ได้ส่งผลดีของการอยู่ร่วมกับสิ่งใหม่ๆ หลายๆ ด้านที่ไม่ก่อให้เกิดเป็นปัญหา แต่ในขณะเดียวกันก็ส่งผลให้วิถีชีวิตและโลกทัศน์แบบดั้งเดิมได้เปลี่ยนแปลงไปด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นโลกที่เกี่ยวกับปัจจัยสี่ โลกทัศน์ในการอยู่อาศัย การกิน เครื่องนุ่งห่ม จะมีที่ยังคงเหนียวแน่นอยู่ก็คือโลกทัศน์ที่เกี่ยวกับความเชื่อ ซึ่งหยั่งรากลึกในจิตใจชาวบรูมานานและส่งผลจากรุ่นหนึ่งสู่อีกรุ่นหนึ่ง และยิ่งเมื่อมีการเข้ามาของระบบภาครัฐ การกำหนดพื้นที่อย่างมีเส้นเขตแน่นอน ทำให้บรูต้องปรับตัวเข้าให้เข้ากับนโยบายของรัฐชาติที่ลงหลักปักฐานอยู่ แต่กระนั้นการเรียนรู้ที่จะปรับตัวให้เกิดความผสมผสานอย่างแยบยลก็ทำให้การเปลี่ยนแปลงในสังคมบรูดำเนินไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป และค่อนข้างนิ่มนวลและเกิดทั้งการเปลี่ยนแปลงและการรักษาสิ่งเดิมไว้ได้ นั่นทำให้แบบแผนการดำเนินชีวิตตามวิถีบรูยังคงแสเงออกมาให้เห็นและยังคงไม่สูญหายไป

Other Issues

งานวิจัยได้นำเสนอประเด็นในเรื่องของการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของบรู เมื่อบรูได้รับกระแสวัฒนธรมจากสังคมภายนอก รวมไปถึงการเปลี่ยนแปลงระบบการปกครองภายในสังคมของบรู เมื่อการปกครองภาครัฐได้เข้ามา ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อการดำเนินชีวิตที่กำลังมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา

Map/Illustration

ในงานวิจัยได้นำเสนอข้อมูลบางส่วนในรูปแบบของข้อมูลเชิงสถิติ รูปถ่าย แผนที่ แผนผัง เพื่อนำมาประกอบในงานวิจัย ทำให้งานวิจัยได้อธิบายเนื้อหาอย่างสมบูรณ์และง่ายต่อการทำความเข้าใจมากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น ภาพประกอบแสดงตัวอย่างสภาพแวดล้อม หรือบ้านพักอาศัยของบรูในรูปแบบต่างๆ (หน้า 111-120)

Text Analyst อิษฏ์ ปักกันต์ธร Date of Report 18 มี.ค 2556
TAG บรู, โลกทัศน์, ความเชื่อ, พิธีกรรม, อุบลราชธานี, Translator -
 
 

 

ฐานข้อมูลอื่นๆของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
  ฐานข้อมูลพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทย
จารึกในประเทศไทย
จดหมายเหตุทางมานุษยวิทยา
แหล่งโบราณคดีที่สำคัญในประเทศไทย
หนังสือเก่าชาวสยาม
ข่าวมานุษยวิทยา
ICH Learning Resources
ฐานข้อมูลเอกสารโบราณภูมิภาคตะวันตกในประเทศไทย
ฐานข้อมูลประเพณีท้องถิ่นในประเทศไทย
ฐานข้อมูลสังคม - วัฒนธรรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  หน้าหลัก
งานวิจัยชาติพันธุ์ในประเทศไทย
บทความชาติพันธุ์
ข่าวชาติพันธุ์
เครือข่ายชาติพันธุ์
เกี่ยวกับเรา
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  ข้อมูลโครงการ
ทีมงาน
ติดต่อเรา
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
ช่วยเหลือ
  กฏกติกาและมารยาท
แบบสอบถาม
คำถามที่พบบ่อย


ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) เลขที่ 20 ถนนบรมราชชนนี เขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ 10170 
Tel. +66 2 8809429 | Fax. +66 2 8809332 | E-mail. webmaster@sac.or.th 
สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2549    |   เงื่อนไขและข้อตกลง