สมัครสมาชิก   
| |
ค้นหาข้อมูล
ค้นหาแบบละเอียด
  •   ความเป็นมาและหลักเหตุผล

    เพื่อรวบรวมงานวิจัยทางชาติพันธุ์ที่มีคุณภาพมาสกัดสาระสำคัญในเชิงมานุษยวิทยาและเผยแผ่สาระงานวิจัยแก่นักวิชาการ นักศึกษานักเรียนและผู้สนใจให้เข้าถึงงานวิจัยทางชาติพันธุ์ได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น

  •   ฐานข้อมูลจำแนกกลุ่มชาติพันธุ์ตามชื่อเรียกที่คนในใช้เรียกตนเอง ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้ คือ

    1. ชื่อเรียกที่ “คนอื่น” ใช้มักเป็นชื่อที่มีนัยในทางเหยียดหยาม ทำให้สมาชิกกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ รู้สึกไม่ดี อยากจะใช้ชื่อที่เรียกตนเองมากกว่า ซึ่งคณะทำงานมองว่าน่าจะเป็น “สิทธิพื้นฐาน” ของการเป็นมนุษย์

    2. ชื่อเรียกชาติพันธุ์ของตนเองมีความชัดเจนว่าหมายถึงใคร มีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมอย่างไร และตั้งถิ่นฐานอยู่แห่งใดมากกว่าชื่อที่คนอื่นเรียก ซึ่งมักจะมีความหมายเลื่อนลอย ไม่แน่ชัดว่าหมายถึงใคร 

     

    ภาพ-เยาวชนปกาเกอะญอ บ้านมอวาคี จ.เชียงใหม่

  •  

    จากการรวบรวมงานวิจัยในฐานข้อมูลและหลักการจำแนกชื่อเรียกชาติพันธุ์ที่คนในใช้เรียกตนเอง พบว่า ประเทศไทยมีกลุ่มชาติพันธุ์มากกว่า 62 กลุ่ม


    ภาพ-สุภาษิตปกาเกอะญอ
  •   การจำแนกกลุ่มชนมีลักษณะพิเศษกว่าการจำแนกสรรพสิ่งอื่นๆ

    เพราะกลุ่มชนต่างๆ มีความรู้สึกนึกคิดและภาษาที่จะแสดงออกมาได้ว่า “คิดหรือรู้สึกว่าตัวเองเป็นใคร” ซึ่งการจำแนกตนเองนี้ อาจแตกต่างไปจากที่คนนอกจำแนกให้ ในการศึกษาเรื่องนี้นักมานุษยวิทยาจึงต้องเพิ่มมุมมองเรื่องจิตสำนึกและชื่อเรียกตัวเองของคนในกลุ่มชาติพันธุ์ 

    ภาพ-สลากย้อม งานบุญของยอง จ.ลำพูน
  •   มโนทัศน์ความหมายกลุ่มชาติพันธุ์มีการเปลี่ยนแปลงในช่วงเวลาต่างๆ กัน

    ในช่วงทศวรรษของ 2490-2510 ในสาขาวิชามานุษยวิทยา “กลุ่มชาติพันธุ์” คือ กลุ่มชนที่มีวัฒนธรรมเฉพาะแตกต่างจากกลุ่มชนอื่นๆ ซึ่งมักจะเป็นการกำหนดในเชิงวัตถุวิสัย โดยนักมานุษยวิทยาซึ่งสนใจในเรื่องมนุษย์และวัฒนธรรม

    แต่ความหมายของ “กลุ่มชาติพันธุ์” ในช่วงหลังทศวรรษ 
    2510 ได้เน้นไปที่จิตสำนึกในการจำแนกชาติพันธุ์บนพื้นฐานของความแตกต่างทางวัฒนธรรมโดยตัวสมาชิกชาติพันธุ์แต่ละกลุ่มเป็นสำคัญ... (อ่านเพิ่มใน เกี่ยวกับโครงการ/คู่มือการใช้)


    ภาพ-หาดราไวย์ จ.ภูเก็ต บ้านของอูรักลาโว้ย
  •   สนุก

    วิชาคอมพิวเตอร์ของนักเรียน
    ปกาเกอะญอ  อ. แม่ลาน้อย
    จ. แม่ฮ่องสอน


    ภาพโดย อาทิตย์    ทองดุศรี

  •   ข้าวไร่

    ผลิตผลจากไร่หมุนเวียน
    ของชาวโผล่ว (กะเหรี่ยงโปว์)   
    ต. ไล่โว่    อ.สังขละบุรี  
    จ. กาญจนบุรี

  •   ด้าย

    แม่บ้านปกาเกอะญอ
    เตรียมด้ายทอผ้า
    หินลาดใน  จ. เชียงราย

    ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ถั่วเน่า

    อาหารและเครื่องปรุงหลัก
    ของคนไต(ไทใหญ่)
    จ.แม่ฮ่องสอน

     ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ผู้หญิง

    โผล่ว(กะเหรี่ยงโปว์)
    บ้านไล่โว่ 
    อ.สังขละบุรี
    จ. กาญจนบุรี

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   บุญ

    ประเพณีบุญข้าวใหม่
    ชาวโผล่ว    ต. ไล่โว่
    อ.สังขละบุรี  จ.กาญจนบุรี

    ภาพโดยศรยุทธ  เอี่ยมเอื้อยุทธ

  •   ปอยส่างลอง แม่ฮ่องสอน

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ปอยส่างลอง

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดย เบญจพล  วรรณถนอม
  •   อลอง

    จากพุทธประวัติ เจ้าชายสิทธัตถะ
    ทรงละทิ้งทรัพย์ศฤงคารเข้าสู่
    ร่มกาสาวพัสตร์เพื่อแสวงหา
    มรรคผลนิพพาน


    ภาพโดย  ดอกรัก  พยัคศรี

  •   สามเณร

    จากส่างลองสู่สามเณร
    บวชเรียนพระธรรมภาคฤดูร้อน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   พระพาราละแข่ง วัดหัวเวียง จ. แม่ฮ่องสอน

    หล่อจำลองจาก “พระมหามุนี” 
    ณ เมืองมัณฑะเลย์ ประเทศพม่า
    ชาวแม่ฮ่องสอนถือว่าเป็นพระพุทธรูป
    คู่บ้านคู่เมืององค์หนึ่ง

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม

  •   เมตตา

    จิตรกรรมพุทธประวัติศิลปะไต
    วัดจองคำ-จองกลาง
    จ. แม่ฮ่องสอน
  •   วัดจองคำ-จองกลาง จ. แม่ฮ่องสอน


    เสมือนสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรม
    เมืองไตแม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ใส

    ม้งวัยเยาว์ ณ บ้านกิ่วกาญจน์
    ต. ริมโขง อ. เชียงของ
    จ. เชียงราย
  •   ยิ้ม

    แม้ชาวเลจะประสบปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัย
    พื้นที่ทำประมง  แต่ด้วยความหวัง....
    ทำให้วันนี้ยังยิ้มได้

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ผสมผสาน

    อาภรณ์ผสานผสมระหว่างผ้าทอปกาเกอญอกับเสื้อยืดจากสังคมเมือง
    บ้านแม่ลาน้อย จ. แม่ฮ่องสอน
    ภาพโดย อาทิตย์ ทองดุศรี
  •   เกาะหลีเป๊ะ จ. สตูล

    แผนที่ในเกาะหลีเป๊ะ 
    ถิ่นเดิมของชาวเลที่ ณ วันนี้
    ถูกโอบล้อมด้วยรีสอร์ทการท่องเที่ยว
  •   ตะวันรุ่งที่ไล่โว่ จ. กาญจนบุรี

    ไล่โว่ หรือที่แปลเป็นภาษาไทยว่า ผาหินแดง เป็นชุมชนคนโผล่งที่แวดล้อมด้วยขุนเขาและผืนป่า 
    อาณาเขตของตำบลไล่โว่เป็นส่วนหนึ่งของป่าทุ่งใหญ่นเรศวรแถบอำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี 

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   การแข่งขันยิงหน้าไม้ของอาข่า

    การแข่งขันยิงหน้าไม้ในเทศกาลโล้ชิงช้าของอาข่า ในวันที่ 13 กันยายน 2554 ที่บ้านสามแยกอีก้อ อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย
 
  Princess Maha Chakri Sirindhorn Anthropology Centre
Ethnic Groups Research Database
Sorted by date | title

   Record

 
Subject ลื้อ,ประวัติการตั้งถิ่นฐาน,ประเพณี,วัฒนธรรม,ความเชื่อ,น่าน
Author รัตนาพร เศรษฐกุล
Title ชาวไทยลื้อในจังหวัดน่าน
Document Type รายงานการวิจัย Original Language of Text ภาษาไทย
Ethnic Identity ไทลื้อ ลื้อ ไตลื้อ, Language and Linguistic Affiliations ไท(Tai)
Location of
Documents
ห้องสมุดศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร Total Pages 66 Year 2536
Source รายงานวิจัยลำดับที่ 125 สถาบันวิจัยเพื่อพัฒนา มหาวิทยาลัยพายัพ ไม่ระบุสถานที่พิมพ์และปีที่พิมพ์
Abstract

การศึกษาลื้อในจังหวัดน่านนั้นได้เน้นถึงการศึกษาเรื่องราวในอดีต ทั้งประวัติการอพยพและการตั้งถิ่นฐาน การปกครองและความสัมพันธ์ระหว่างลื้อและชาวน่าน รวมทั้งศึกษาความเป็นอยู่ของลื้อในอดีตผ่านประเพณีและพิธีกรรมที่เกี่ยวกับชีวิต ตั้งแต่เกิด แต่งงาน และตาย ประเพณีเกี่ยวกับอาชีพและการทำมาหากิน รวมทั้งระบบการจัดการน้ำแบบเหมืองฝาย ซึ่งเป็นการจัดการแบบพึ่งพิงธรรมชาติ พิธีกรรมความเชื่อที่เกี่ยวกับผีที่อยู่ในทุกหนทุกแห่ง การบูชาผีตั้งแต่ผีเมือง ผีหมู่บ้าน และผีปู่ย่า ที่มีผลต่อพฤติกรรมทางสังคม และเศรษฐกิจของลื้อ

Focus

ศึกษาประวัติการตั้งถิ่นฐานและวิถีการดำรงชีวิตในอดีตของลื้อในจังหวัดน่าน (หน้า 1)

Theoretical Issues

ไม่ได้มีข้อเสนอเชิงทฤษฎีที่ชัดเจน เพราะเป็นงานเชิงชาติพันธุ์วรรณาที่มุ่งเสนอพรรณนาประวัติการตั้งถิ่นฐานและวัฒนธรรมลื้อในจังหวัดน่าน และแสดงให้เห็นว่า ได้มีการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมของชุมชนลื้อไปตามยุคสมัยด้วยอิทธิพลวัฒนธรรมจากภายนอก อย่างเช่น ในเรื่องวิถีการผลิตก็ปรับเปลี่ยนจากการเพาะปลูกข้าวและค้าขายเล็กๆน้อยๆ มาปลูกพืชพาณิชย์อื่นนอกจากข้าว คือ ยาสูบและส้ม ทำให้ต้องรับเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มผลผลิต หรือการแสวงหางานอื่นในชุมชนเมือง และการปรับเปลี่ยนดังกล่าวมีผลต่อส่วนอื่น ๆ ของวัฒนธรรม เช่น ความเชื่อ และพิธีกรรม (หน้า 58) แต่ไม่ได้วิเคราะห์ให้เห็นชัดเจน

Ethnic Group in the Focus

ลื้อ ซึ่งเป็นกลุ่มคนไทกลุ่มหนึ่งที่มีภูมิลำเนาดั้งเดิมอยู่ในแคว้นสิบสองปันนา ทางใต้ของมณฑลยูนนาน ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน (หน้า 1) และปัจจุบันมีกลุ่มหนึ่งที่อาศัยในจังหวัดน่าน (หน้า 3)

Language and Linguistic Affiliations

พูดภาษาตระกูลไท ซึ่งมีความคล้ายคลึงกับภาษาของคนไทกลุ่มต่าง ๆ เช่น ยวน เขิน และไทใหญ่หรือไต ต่างกันเพียงสำเนียง (หน้า 1)

Study Period (Data Collection)

1 ปี (หน้า 3) อยู่ในระหว่างปี พ.ศ. 2534-2536 (หน้า 1)

History of the Group and Community

ถิ่นเดิมของลื้อในเมืองน่าน อยู่บริเวณชายแดนที่บรรจบกันของสิบสองปันนา เชียงตุง ลาวและล้านนา ได้แก่ เมืองล้า เมืองเลน เมืองขอน เมืองยอง เมืองยู้ เมืองหลวบ เชียงแขง เมืองสิง เชียงลาบ เมืองเงิน เมืองพวน และเมืองงอบ (หน้า 22) ตามพงศาวดารเมืองน่านได้กล่าวถึง การอพยพและกวาดต้อนลื้อจำนวนมากมาสู่เมืองน่าน ในปี พ.ศ. 2333 มีชาวยอง หรือ ลื้อเมืองยอง จำนวน 600 คน อพยพมาตั้งถิ่นฐานในเมืองน่าน ในปี พ.ศ.2348 เจ้านายเมืองน่านยกกองทัพไปตีสิบสองปันนาแล้วนำเอาเจ้านายขุนนางลื้อพร้อมเครื่องบรรณาการไปกรุงเทพฯ และในปี พ.ศ.2355 เจ้านายเมืองน่านกวาดต้อนผู้คนจากเมืองล้า เมืองพง เชียงแขง และเมืองหลวงภูคาเข้ามาอีกประมาณ 6,000 คน ในสงครามเชียงตุง (พ.ศ. 2393-2397) เป็นเหตุการณ์สำคัญที่ทำให้มีการอพยพเจ้านายและไพร่พลลื้อมาสู่ล้านนา ทั้งการกวาดต้อนและหนีภัยสงคราม จากที่ตั้งของน่านที่อยู่ใกล้สิบสองปันนาและลาวทำให้น่านได้รับเอาพลเมืองลื้อจากทั้ง 2 แหล่งเข้ามาอยู่เสมอ เส้นทางอพยพส่วนใหญ่มาจากเมืองยอง เมืองเลน เมืองหงสา เมืองเงินถึงเมืองปัว (หน้า 19-20)

Settlement Pattern

มีการสร้างบ้านเรือนอยู่กันเป็นกลุ่มก้อน และสร้างวัดเป็นศูนย์รวมทางจิตใจและสังคม การตั้งถิ่นฐานจะอยู่บริเวณที่ราบลุ่มติดลำน้ำหรือลำห้วย เนื่องจากลื้อเป็นเกษตรกรต้องอาศัยทรัพยากรดินและน้ำเป็นพื้นฐานในการดำรงชีวิต ที่ดินที่อุดมสมบูรณ์จะอยู่ใกล้แม่น้ำ ส่วนที่ไกลออกไป มีการปรับตัวด้วยการหาแหล่งน้ำสำหรับชุมชนเพื่อเพาะปลูก ดังนั้น สิ่งที่อยู่คู่กับนาผืนใหญ่ล้อมรอบหมู่บ้าน คือ ระบบชลประทานแบบเหมืองฝายที่ถือว่าเป็นหัวใจและความอยู่รอดของชุมชน (หน้า 36-37)

Demography

ไม่มีข้อมูล

Economy

เนื่องจากสภาพที่ตั้งของจังหวัดน่านอยู่ห่างไกล ยากแก่การเข้าถึง เศรษฐกิจของน่านจนถึง พ.ศ.2475 ยังคงมีการค้าแบบแลกเปลี่ยนสินค้า (หน้า 36) โดยมีอาชีพหลัก คือ การเพาะปลูกข้าว และพืชผลสำหรับบริโภคภายในครัวเรือน และขายเมื่อเหลือ หลังว่างจากการทำนา จะทำการค้าขายระหว่างเมือง เช่น การค้าวัวต่าง ชาวบ้านจะรวมกันเดินทางไปค้าขายยังเมืองต่าง ๆ เช่น เมืองหงสา และเมืองเงิน ในเขตลาว การค้าที่แพร่หลาย คือ การค้าเกลือ เพราะน่านมีบ่อเกลือสินเธาว์ซึ่งเป็นสินค้าจำเป็นในสมัยก่อน โดยการทำการค้าเกลือปีละ 1-2 ครั้งในเดือน 4-5 โดยนำข้าวไปขายแลกเกลือ เกลือเป็นสินค้าที่สามารถนำไปขายหรือแลกกับเสื้อผ้า มีการค้าหมากและพลู ซึ่งปลูกเป็นจำนวนมาก ลื้อจะนำหมากดิบมาฝานตากแห้งร้อยเป็นพวงไปขายที่แพร่ พะเยา เชียงรายและลาว สินค้าที่ไปกับวัวต่างยังมี ผ้าชนิดหนา โอ่งดิน หม้อดิน ยาเส้น หมูและเมี่ยง มีการค้ากับชาวดอยที่นำของป่า เขากวาง หนังสัตว์ เนื้อสัตว์ป่าและเมล็ดงามาแลกข้าว เกลือ และเสื้อผ้า เมื่อค้าขายได้เงินพอสมควรจะซื้อวัวต่างกลับบ้าน เพื่อใช้เดินทางค้าขายต่อไป นอกจากค้าขาย เมื่อเสร็จหน้านา ผู้ชายจะตีเหล็ก ผู้หญิงจะทอผ้าเพื่อใช้ในครอบครัว (หน้า 37-38) ในปัจจุบันได้มีการผลิตเพื่อการค้ามากขึ้น เช่น ปลูกพืชพาณิชย์ ได้แก่ ยาสูบ และส้ม และมีการไปใช้แรงงานในเมืองมากขึ้น (หน้า 58)

Social Organization

ในอดีตการจัดระเบียบความสัมพันธ์ทางสังคมของลื้อที่อิงอยู่กับระบบศักดินาซึ่งแบ่งกลุ่มคนออกเป็นชนชั้นต่าง ๆ ซึ่งมีสถานภาพไม่เท่ากัน เช่น เจ้าหม่อม (เจ้าเมือง) มีสถานภาพสูงสุด มีสิทธิต่าง ๆ ในทรัพยากรของแผ่นดินมากที่สุด ที่มีสถานภาพรอง ๆ ลงมาตามลำดับ คือ เจ้านาย ขุนนาง และไพร่ซึ่งต้องมีสังกัด (หน้า 27-28) ในปัจจุบัน ระบบเหมืองฝาย (ชลประทานดั้งเดิม) ยังเป็นกลไกทางสังคมที่สำคัญ ที่ผูกพันคนในสังคมเข้าด้วยกัน ในระบบการจัดการเหมืองฝายมีการจัดระเบียบความสัมพันธ์ซึ่งมีหน้าที่ไม่เหมือนกัน เช่น มีนายฝายหรือแก่ฝาย ทนายฝาย ซึ่งมีหน้าที่ดูแลจัดการการแบ่งน้ำ (หน้า 37) ส่วนในระดับย่อยลงมา คือ การเกิดครอบครัว ซึ่งเกิดจากการแต่งงานระหว่างหญิง-ชาย ที่ผู้หญิงมักนิยมผู้ชายที่ขยัน ไม่เล่นการพนันและไม่เมาเหล้า ส่วนผู้ชายก็นิยมผู้หญิงที่ขยันและหน้าตาดี (หน้า 42) ฝ่ายชายจะย้ายไปอยู่กับบ้านฝ่ายหญิงประมาณ 1-3 ปีแล้วถึงแยกครัวเรือนออกไป การนับถือผีบรรพบุรุษ มีส่วนสำคัญ ในการเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างครอบครัวด้วยผีที่สืบสายบรรพบุรุษเดียวกัน และความเชื่อพิธีกรรมเกี่ยวกับผีบ้านซึ่งเป็นวิญญาณผู้นำชุมชนที่ชาวบ้านเคารพยกย่อง หรือผี "วีรบุรุษ" (ผู้เขียน) อย่างเช่นผีเจ้าเก้าเขื่อน เป็นกลไกสำคัญในการรักษาความสมานฉันท์ในหมู่บ้านที่ทุกบ้านต้องมาร่วมพิธี (หน้า 49-51)

Political Organization

ในอดีตลื้ออยู่ภายใต้ระบบการปกครองแบบจารีตของน่าน ซึ่งลื้อก็สามารถปรับตัวให้เข้ากับระบบการปกครองนี้ได้เป็นอย่างดี เนื่องจากระบบการปกครองแบบจารีตของรัฐไทนั้นมีความคล้ายคลึงกันอยู่มาก โดยผู้ปกครองมีอำนาจให้สิทธิ์ในที่ดินแก่ไพร่ใต้สังกัดของตน เป็นระบบศักดินา จะมี "พ่อล่าม" ในสิบสองปันนา มีหน้าที่เหมือน "เจ้าบวก นายตอ" ของน่าน เพื่อเป็นตัวกลางระหว่างราชสำนักกับหมู่บ้านและเมืองต่าง ๆ พ่อล่ามในแต่ละระดับจะได้รับผลประโยชน์จากลูกล่ามของตน เช่น มาช่วยทำนา ส่งผลถึงการรวบรวมอำนาจเข้าสู่ส่วนกลาง และช่วยให้ชนชั้นปกครองควบคุมทรัพยากร รวมถึงกำลังไพร่พลของรัฐ ชนชั้นปกครองของน่านประกอบด้วย เจ้านาย ท้าวขุน พ่อเมือง และนายบ้าน เพื่อเป็นการรักษากำลังคนของเมืองที่อยู่ชายแดนและเพื่อป้องกัน "ข้าลักไป ไทยลักมา" น่าน เชียงใหม่ ลำปางและลำพูน ร่วมกันออกคำสั่งว่า คนจากเมืองดังกล่าว เดินทางไปมาหากันต้องมีหนังสือเดินทาง ระบุถึงคน สัตว์ ทรัพย์สินที่มีติดตัวไป หากตัดสินใจตั้งรกรากถาวร ต้องจ่ายเงินจำนวนหนึ่งให้แก่ "เจ้าบวก นายตอ" เป็นค่าชดเชย แลกเปลี่ยนกับเสรีภาพของตนเอง (หน้า 26-30)

Belief System

ลื้อนับถือพุทธศาสนา นิกายเถรวาท พร้อมกับการนับถือผี ความเชื่อทางศาสนาถูกใช้เป็นเครื่องมือทางสังคมในการควบคุมประชาชน โดยเฉพาะเรื่องกรรมแต่ชาติปางก่อนที่กำหนดชีวิตคนในชาตินี้ ยอมรับคนในชนชั้นปกครองให้มีฐานะสูง แต่ความเชื่อดั้งเดิมมีอิทธิพลต่อชาวบ้านมากกว่าความเชื่อในพุทธศาสนา คือ การนับถือผี ชาวบ้านเชื่อว่าธรรมชาติเป็นสิ่งที่มนุษย์ไม่อาจควบคุมได้ ทุกสิ่งทุกอย่างถูกกำหนดโดยผี ชาวบ้านสามารถติดต่อผีโดยผ่านคนทรง หรือม้าขี่ ซึ่งเป็นผู้ประกอบพิธีกรรมการบวงสรวงผี ชาวบ้านเชื่อว่าในทุกหนทุกแห่งตั้งแต่เมือง หมู่บ้าน ทุ่งนา แม่น้ำ เหมืองฝาย ป่า และบ้าน จะมีผีประจำอยู่ ความเชื่อในเรื่องผีจึงสามารถควบคุมพฤติกรรมทางสังคม และกิจกรรมทางเศรษฐกิจของลื้อ การนับถือผีสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในชุมชน ความเป็นสมาชิกถูกตอกย้ำในการมีส่วนร่วมในพิธีกรรมไหว้ผี การเดินทางเข้าออกหมู่บ้านต้องบอกกล่าวผีอารักษ์หมู่บ้านหรือ ผีเสื้อเมืองให้ทราบก่อน ผีมีระดับขั้นเช่นเดียวกับการบริหารงานของรัฐ ผีที่มีอำนาจสูงสุด คือ ผีเมือง หรือเสื้อเมือง เป็นผีอารักษ์เมือง ซึ่งเจ้าหลวงหรือเจ้าแผ่นดินเป็นผู้ประกอบพิธีบวงสรวง ซึ่งช่วยส่งเสริมฐานะของเจ้านายในบทบาทที่เป็นตัวแทนระหว่างคนกับผี ในระดับหมู่บ้านจะมีผีบ้านของตน ผีอารักษ์หมู่บ้านมักเป็นเจ้านาย หรือบรรพบุรุษผู้ก่อตั้งหมู่บ้าน ชาวบ้านจะเลี้ยงผีทุกปี ในระดับครัวเรือน มีผีปู่ย่าเป็นที่เคารพนับถือของคนในตระกูล ทำหน้าที่ควบคุมและพฤติกรรมของคนในตระกูลนั้นๆ (หน้า 31-32) มีการเลี้ยงผีปู่ย่าเป็นประจำทุกปีในเดือน 4 คนที่นับถือผีเดียวกันต้องมาร่วมในพิธีกรรม ถ้าไม่มาจะถูกตัดจากวงศ์ญาติ ในการแต่งงานจะมีการ "ไขว้ผี" คือ การบอกกล่าวผีบรรพบุรุษของแต่ละฝ่ายให้ทราบว่าลูกหลานจะมีเรือน จะมีคนอื่นมาร่วมวงศ์ญาติ ถ้ามีการถูกเนื้อต้องตัวหญิงสาว หรือได้เสียกันก่อนแต่งงาน ถือเป็นการผิดผี ทำให้ผีบรรพบุรุษโกรธ ฝ่ายชายต้องจ่ายเงินค่าปรับเป็นการเสียผีให้แก่ฝ่ายหญิง เพื่อฝ่ายหญิงจะนำเงินไปซื้อของมาทำพิธีเลี้ยงผีหรือขอสมาผี (หน้า 44) พิธีกรรมเกี่ยวกับการเกษตร จะมีพิธีขอฝน คล้ายกับการแห่นางแมว และมีพิธีแห่บอกบูชาเทวดา และมีพิธีฟังธรรมคันคาก เป็นเรื่องเกี่ยวกับพญาแถนและพญาคางคก และสรงน้ำธาตุ มีพิธีเลี้ยงผีเหมือง ผีฝาย ผีเสื้อน้ำ และผีสบน้ำ หรือผีขุนน้ำ พิธีกรรมในนาข้าว เริ่มตั้งแต่พิธีแฮกนา สู่ขวัญข้าวก่อนนวดข้าว และนำข้าวไปใส่ยุ้งและพิธีกรรมสู่ขวัญควาย (หน้า 45-47)

Education and Socialization

ไม่มีข้อมูล

Health and Medicine

ปรากฏอยู่ในฮีตเกี่ยวกับการเกิด ต้องมีพิธีกรรมเพื่อให้เด็กทารกนั้นมีสุขภาพดีมีอายุยืนนาน เนื่องจากสมัยก่อนการแพทย์ยังไม่เจริญ มีการนำเด็กใส่กระด้งกระทืบเท้าบอกผีให้มาเอา ถ้าไม่มาเอาก็เป็นสิทธิของคนเลี้ยงดูเด็ก มีการร่อนกระด้งเพื่อแก้อาถรรพ์ เพราะเด็กเกิดใหม่ยังอยู่ในระยะลูกผีลูกคน เมื่อเด็กอายุได้ 7 วันผู้ใหญ่จะ "เอาชะตา" คือ เขียนวันเดือนปีเกิดและเวลาเกิดของเด็กลงในใบลาน เพื่อให้หมอดูดวงชะตาในยามที่เจ็บไข้ เพื่อให้ตั้งชื่อที่เหมาะสมเป็นมงคล มีการสู่ขวัญโดยการผูกข้อมือ มีพ่อหลวงแม่หลวง (ปู่ย่าตายายของเด็ก) เป็นคนผูกให้ แล้วถวายให้ผีหรือพ่อเกิดแม่เกิดช่วยคุ้มครองเด็ก หลังคลอดบุตร ผู้เป็นแม่ต้องดูแลตัวเองเป็นพิเศษ ต้อง "ก๋ำกิ๋น" มีของหลายอย่างที่ห้ามกิน โดยเฉพาะของสดของคาว ต้องกินข้าวกับเกลือ ปลาแห้ง งดทำงานหนัก และอยู่ไฟเพื่อให้ร่างกายฟื้นตัว มีธรรมเนียมว่าหากมีลูกสาวต้องอยู่ไฟเกินไปหนึ่งวันเป็นการเผื่อด้ายเผื่อเข็ม ให้ลูกสาวรู้จักเย็บปักถักร้อย ส่วนถ้ามีลูกชายต้องอยู่ขาดไปหนึ่งวันเป็นการลดคมหอกคมดาบเพื่อให้เด็กแคล้วคลาดจากภยันตรายเมื่อโตขึ้น (หน้า 40-41)

Art and Crafts (including Clothing Costume)

การแต่งกาย : ผู้หญิงจะเป็นคนทอผ้า ชายลื้อมักนุ่งผ้าต้อย (หางควาย) เพื่อความสะดวกสบายเมื่ออยู่กับบ้าน หรือทำงานสมบุกสมบัน และถือโอกาสแสดงลายสักหมึก ซึ่งเป็นเครื่องหมายของชายชาตรีลื้อ โดยสักตั้งแต่เอวถึงหน้าแข็ง (แบบลื้อแท้) ระยะหลังจะลดลงสักแค่หน้าขาถึงแข้ง หรือนุ่งกางเกงสามดูกสีเข้มย้อมด้วยใบฮ่อมเมื่อต้องการความเรียบร้อย เดิมชายกางเกงมีผ้าสีต่าง ๆ เย็บติดเป็นชั้น ๆ ปลายแขนเสื้อติดแถบผ้าสีเช่นกัน มีการแหวกตะเข็บที่ชายเสื้อ ตะเข็บหรือสาบเสื้อกุ๊นด้วยผ้าสี ติดกระดุมเงินหรือกะลามะพร้าวเป็นแถว ถ้าอากาศร้อนจะไม่สวมเสื้อ หากสวมเสื้อจะเป็นสีดำหรือขาวแขนยาว สวมรองเท้าไม้หรือรองเท้าหนังวัวหนังควาย ผู้ชายเจาะหู ใส่ลานหู หรือทัดบุหรี่หรือดอกไม้ โพกหัวด้วยผ้าขาวน้ำหน่อ หรือผ้าแดง เวลาออกนอกบ้าน ถ้าไปแอ่วสาวจะมีมีดอูบเป็นมีดด้ามงาขนาดสั้นหรือกระบองที่หัวทำด้วยเขาควาย ผู้หญิง นุ่งซิ่นเป็นลายขวางสลับสี ตีนซิ่นสีดำ หัวซิ่นสีขาว ผ้าซิ่นลื้อเมืองน่านมีหลายแบบด้วยกัน เช่น ซิ่นมัดก่าน ซิ่นเก็บมุก ซิ่นม่าน เป็นต้น สวมซิ่นซ้อนกัน 2 ผืน ซิ่นก่านมักต่อตีนสีแดง เสื้อมีแถบแดงที่คอและแขน ตัวสั้น แหวกป้ายข้างขลิบด้วยผ้าสีต่าง ๆ เสื้อและผ้าซิ่นมักย้อมสีดำ นิยมเกล้าผม ศีรษะโพกผ้าสีขาวสีชมพูหรือผ้าฮำ เพื่อไม่ให้ผมรุงรังเวลาทำงานและป้องกันแดดร้อน ใส่ลานหูหรือตุ้มหูทำด้วยทองหรือเงิน มีกำไลแขน ผมปักปิ่น เข็มขัดเงินเส้นใหญ่ รองเท้าทำด้วยหนังวัวควาย คาดด้วยเชือกปอฟั่นเป็นเกลียว หรือสวมเกียะที่ชาวบ้านเรียก ก๊อบแก๊บ หญิงที่แต่งงานแล้วเวลาอยู่บ้านหรืออากาศร้อนมักไม่สวมเสื้อ หรือสวมเสื้อปีกหิ้น หรือเสื้อโป๊ เหมือนเสื้อชั้นในของผู้หญิงปัจจุบัน (หน้า 38-39)

Folklore

เรื่องเล่าของบ้านเหล่า ตำบลพระพุทธบาท อำเภอเชียงกลาง จังหวัดน่าน เรื่องเล่าดังกล่าวได้แสดงถึงความเป็นมาของชื่อสถานที่ต่าง ๆ ที่พบในปัจจุบัน เริ่มจากชื่อหมู่บ้านได้แสดงให้เห็นถึงกิจกรรมการล่าสัตว์ของชุมชน และที่บ้านเหล่ายังมีตำนานพระพุทธบาทที่เล่าสืบต่อกันมาว่า พระพุทธองค์ได้เสด็จมาถึงบ้านคราวหรือบ้านเจดีย์ในปัจจุบัน ได้หยาดน้ำลงที่พระบาทเกิดเป็นห้วยน้ำหยาด ต่อมาเรียกว่า ห้วยพระพุทธบาทเป็นห้วยที่มีน้ำอุดมสมบูรณ์ตลอดปี มีตายายถือศีลนุ่งขาวห่มขาว ทราบว่าพระพุทธองค์เสด็จมาจึงเอาผ้าขาว 7 ผืนซ้อนกันบนพื้นขอให้พระพุทธองค์เหยียบ ปรากฏว่าตอนจะยกผ้าขึ้นมา ยกไม่ขึ้น มีม้าตัวลายตัวหนึ่งปรากฏขึ้น พระพุทธเจ้าจึงบอกให้ตายายอธิษฐานและยกผ้าขึ้นบนหลังม้า หากผ้าตกที่ใดให้สร้างอนุสรณ์สถานที่นั้น ตายายติดตามม้ามาจนถึงบ้านแคว้ง แล้วผ้ามาตกที่บ้านเหล่า พอผ้าตกม้าก็หายไป ตายายเสียใจจึงพยายามติดตามม้า มาหยุดร้องไห้ที่หมู่บ้านแห่งหนึ่ง บ้านนั้นจึงได้ชื่อว่าบ้านไห้ต่อมาเพี้ยนเป็นบ้านทุ่งไฮ เมื่อเดินมาถึงลำห้วยแห่งหนึ่งตายายก็พากันหยุดคร่ำครวญ ห้วยนั้นจึงเรียกว่า ห้วยหุย เมื่อได้พบชาวบ้านกำลังนั่งดื่มสุราจึงขอให้ช่วยติดตามม้า ชาวบ้านผัดผ่อนรีรอ ตายายโกรธว่าชาวบ้านขี้เกียจ บ้านนั้นจึงเรียกว่า เชียงค้าน ปัจจุบันเรียก เชียงคาน เมื่อหาม้าไม่พบในที่สุดตายายก็ยอมทิ้งความพยายาม กลับมาที่บ้านเหล่ามาสร้างอนุสรณ์สถานที่ผ้าตก พร้อมทั้งปลูกต้นไม้ไว้สองต้น ซึ่งยังคงมีอยู่ในปัจจุบัน นอกจากนี้ที่อำเภอเชียงกลางยังมีเรื่องเล่าอีกว่า ที่อำเภอนี้ไม่มีหมอกตกเพราะมีแก้วกินหมอกอยู่ที่เจดีย์บ้านคราว หรือบ้านเจดีย์ และที่ได้ชื่อว่าเชียงกลาง เพราะตอนที่พระพุทธองค์มาหยุดพักที่นี่ ชาวบ้านได้นำเอาฉัตรมากางกันแดดและฝนให้ จึงชื่อว่าเมืองเชียงกาง ที่นี่มีประเพณีขึ้นธาตุทุกปีปีละ 2 ครั้ง มีการสรงน้ำธาติด้วยน้ำอบน้ำหอมและบนบานให้มีโชคมีลาภ (หน้า 17-18)

Ethnicity (Ethnic Identity, Boundaries and Ethnic Relation)

ชุมชนลื้อเก่าแก่ถูกนับรวมกับไทยยวน หรือคนเมือง เนื่องจากมีวิถีชีวิตที่คล้ายคลึงกัน จนแยกออกได้ยาก ทำให้เกิดทัศนะที่ตรงข้ามกัน 2 ทัศนะ เกี่ยวกับวัฒนธรรมลื้อ คือ วัฒนธรรมไทลื้อตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของการผสมกลมกลืนทางวัฒนธรรมของคนเมือง และทัศนะที่ว่าวัฒนธรรมของน่านนั้นได้รับอิทธิพลลื้อ เนื่องจากมีลื้อจำนวนมาอพยพเข้ามาอาศัยอยู่ (หน้า 26) การดำรงอัตลักษณ์ของลื้อ มาจากความสามารถในการปรับตัวให้เข้ากับคนเมือง ภายใต้การปกครองของชาวน่าน ในขณะเดียวกันก็ยังคงรักษาอัตลักษณ์ของตนเอง ได้แก่ ประเพณีและความเชื่อในเรื่องการบูชาผี ซึ่งเป็นการตอกย้ำในความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และเป็นเครื่องมือในการรักษาประเพณี และความเชื่อดั้งเดิม ซึ่งมีผลต่อการดำเนินชีวิตในทุก ๆ ด้าน ภาษาและการแต่งกายก็เป็นเอกลักษณ์เฉพาะอย่างหนึ่งที่ทำให้แตกต่างจากชนกลุ่มอื่น การมีประวัติความเป็นมา การอพยพและการตั้งถิ่นฐานร่วมกัน เป็นสิ่งหนึ่งที่ช่วยยืนยันและธำรงความเป็นลื้อ (หน้า 19, 31 และ 38)

Social Cultural and Identity Change

วิถีชีวิตของลื้อในเมืองน่านเปลี่ยนไปตามยุคสมัย ความเจริญทางด้านเศรษฐกิจและทางด้านวัตถุมีเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้คนต้องปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมแบบใหม่ จากการเพาะปลูกและค้าขายเล็ก ๆ น้อย ๆ เพื่อยังชีพเป็นการเพาะปลูกเพื่อการค้า มีการนำเอาเทคโนโลยีทางการเกษตรใหม่ ๆ มาใช้ เช่น การใช้ปุ๋ย ใช้ยาฆ่าแมลง และใช้เครื่องจักรแทนแรงงานคนและสัตว์ ชีวิตของชาวบ้านเริ่มห่างเหินจากธรรมชาติ กลายเป็นการควบคุมธรรมชาติ คนหนุ่มสาวออกจากหมู่บ้านไปทำงานที่อื่น ที่มีรายได้ดีกว่า ความสะดวกสบายจากเครื่องจักร ทำให้ดูเหมือนว่าชาวบ้านมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น โอกาสทางการศึกษาแบบสมัยใหม่ ทำให้ความคิดความเชื่อของชาวบ้านเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม การเปลี่ยนแปลงวิถีการดำรงชีวิตมีผลต่อพื้นฐานทางสังคมวัฒนธรรมของชาวบ้านด้วยเช่นกัน ในด้านของประเพณีพิธีกรรม บางประเพณีค่อย ๆ เลิกปฏิบัติ เช่น การฆ่าสัตว์เพื่อเลี้ยงผีบ้าน แต่บางแห่งมีการรื้อฟื้นเพื่อฟื้นฟูเอกลักษณ์ทางชาติพันธุ์ของตนเอง เนื่องจากมีความเปลี่ยนแปงอย่างรวดเร็ว ทำให้คนขาดความเชื่อมั่นในตนเอง หันไปหาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้ช่วยเหลือ ในขณะเดียวกัน ประเพณีที่เป็นเอกลักษณ์เหล่านี้เริ่มกลายเป็นจุดขายให้นักท่องเที่ยว มีการสร้างสรรค์ปรุงแต่งให้ถูกใจผู้ชม บางครั้งมีการขายบัตรเพื่อเข้าชมพิธี ทำให้เกิดการพัฒนาทางเศรษฐกิจของหมู่บ้าน (หน้า 58)

Critic Issues

ไม่มีข้อมูล

Other Issues

ไม่มี

Text Analyst ขนิษฐา อลังกรณ์ Date of Report 31 ต.ค. 2555
TAG ลื้อ, ประวัติการตั้งถิ่นฐาน, ประเพณี, วัฒนธรรม, ความเชื่อ, น่าน, Translator -
 
 

 

ฐานข้อมูลอื่นๆของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
  ฐานข้อมูลพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทย
จารึกในประเทศไทย
จดหมายเหตุทางมานุษยวิทยา
แหล่งโบราณคดีที่สำคัญในประเทศไทย
หนังสือเก่าชาวสยาม
ข่าวมานุษยวิทยา
ICH Learning Resources
ฐานข้อมูลเอกสารโบราณภูมิภาคตะวันตกในประเทศไทย
ฐานข้อมูลประเพณีท้องถิ่นในประเทศไทย
ฐานข้อมูลสังคม - วัฒนธรรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  หน้าหลัก
งานวิจัยชาติพันธุ์ในประเทศไทย
บทความชาติพันธุ์
ข่าวชาติพันธุ์
เครือข่ายชาติพันธุ์
เกี่ยวกับเรา
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  ข้อมูลโครงการ
ทีมงาน
ติดต่อเรา
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
ช่วยเหลือ
  กฏกติกาและมารยาท
แบบสอบถาม
คำถามที่พบบ่อย


ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) เลขที่ 20 ถนนบรมราชชนนี เขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ 10170 
Tel. +66 2 8809429 | Fax. +66 2 8809332 | E-mail. webmaster@sac.or.th 
สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2549    |   เงื่อนไขและข้อตกลง