สมัครสมาชิก   
| |
ค้นหาข้อมูล
ค้นหาแบบละเอียด
  •   ความเป็นมาและหลักเหตุผล

    เพื่อรวบรวมงานวิจัยทางชาติพันธุ์ที่มีคุณภาพมาสกัดสาระสำคัญในเชิงมานุษยวิทยาและเผยแผ่สาระงานวิจัยแก่นักวิชาการ นักศึกษานักเรียนและผู้สนใจให้เข้าถึงงานวิจัยทางชาติพันธุ์ได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น

  •   ฐานข้อมูลจำแนกกลุ่มชาติพันธุ์ตามชื่อเรียกที่คนในใช้เรียกตนเอง ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้ คือ

    1. ชื่อเรียกที่ “คนอื่น” ใช้มักเป็นชื่อที่มีนัยในทางเหยียดหยาม ทำให้สมาชิกกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ รู้สึกไม่ดี อยากจะใช้ชื่อที่เรียกตนเองมากกว่า ซึ่งคณะทำงานมองว่าน่าจะเป็น “สิทธิพื้นฐาน” ของการเป็นมนุษย์

    2. ชื่อเรียกชาติพันธุ์ของตนเองมีความชัดเจนว่าหมายถึงใคร มีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมอย่างไร และตั้งถิ่นฐานอยู่แห่งใดมากกว่าชื่อที่คนอื่นเรียก ซึ่งมักจะมีความหมายเลื่อนลอย ไม่แน่ชัดว่าหมายถึงใคร 

     

    ภาพ-เยาวชนปกาเกอะญอ บ้านมอวาคี จ.เชียงใหม่

  •  

    จากการรวบรวมงานวิจัยในฐานข้อมูลและหลักการจำแนกชื่อเรียกชาติพันธุ์ที่คนในใช้เรียกตนเอง พบว่า ประเทศไทยมีกลุ่มชาติพันธุ์มากกว่า 62 กลุ่ม


    ภาพ-สุภาษิตปกาเกอะญอ
  •   การจำแนกกลุ่มชนมีลักษณะพิเศษกว่าการจำแนกสรรพสิ่งอื่นๆ

    เพราะกลุ่มชนต่างๆ มีความรู้สึกนึกคิดและภาษาที่จะแสดงออกมาได้ว่า “คิดหรือรู้สึกว่าตัวเองเป็นใคร” ซึ่งการจำแนกตนเองนี้ อาจแตกต่างไปจากที่คนนอกจำแนกให้ ในการศึกษาเรื่องนี้นักมานุษยวิทยาจึงต้องเพิ่มมุมมองเรื่องจิตสำนึกและชื่อเรียกตัวเองของคนในกลุ่มชาติพันธุ์ 

    ภาพ-สลากย้อม งานบุญของยอง จ.ลำพูน
  •   มโนทัศน์ความหมายกลุ่มชาติพันธุ์มีการเปลี่ยนแปลงในช่วงเวลาต่างๆ กัน

    ในช่วงทศวรรษของ 2490-2510 ในสาขาวิชามานุษยวิทยา “กลุ่มชาติพันธุ์” คือ กลุ่มชนที่มีวัฒนธรรมเฉพาะแตกต่างจากกลุ่มชนอื่นๆ ซึ่งมักจะเป็นการกำหนดในเชิงวัตถุวิสัย โดยนักมานุษยวิทยาซึ่งสนใจในเรื่องมนุษย์และวัฒนธรรม

    แต่ความหมายของ “กลุ่มชาติพันธุ์” ในช่วงหลังทศวรรษ 
    2510 ได้เน้นไปที่จิตสำนึกในการจำแนกชาติพันธุ์บนพื้นฐานของความแตกต่างทางวัฒนธรรมโดยตัวสมาชิกชาติพันธุ์แต่ละกลุ่มเป็นสำคัญ... (อ่านเพิ่มใน เกี่ยวกับโครงการ/คู่มือการใช้)


    ภาพ-หาดราไวย์ จ.ภูเก็ต บ้านของอูรักลาโว้ย
  •   สนุก

    วิชาคอมพิวเตอร์ของนักเรียน
    ปกาเกอะญอ  อ. แม่ลาน้อย
    จ. แม่ฮ่องสอน


    ภาพโดย อาทิตย์    ทองดุศรี

  •   ข้าวไร่

    ผลิตผลจากไร่หมุนเวียน
    ของชาวโผล่ว (กะเหรี่ยงโปว์)   
    ต. ไล่โว่    อ.สังขละบุรี  
    จ. กาญจนบุรี

  •   ด้าย

    แม่บ้านปกาเกอะญอ
    เตรียมด้ายทอผ้า
    หินลาดใน  จ. เชียงราย

    ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ถั่วเน่า

    อาหารและเครื่องปรุงหลัก
    ของคนไต(ไทใหญ่)
    จ.แม่ฮ่องสอน

     ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ผู้หญิง

    โผล่ว(กะเหรี่ยงโปว์)
    บ้านไล่โว่ 
    อ.สังขละบุรี
    จ. กาญจนบุรี

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   บุญ

    ประเพณีบุญข้าวใหม่
    ชาวโผล่ว    ต. ไล่โว่
    อ.สังขละบุรี  จ.กาญจนบุรี

    ภาพโดยศรยุทธ  เอี่ยมเอื้อยุทธ

  •   ปอยส่างลอง แม่ฮ่องสอน

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ปอยส่างลอง

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดย เบญจพล  วรรณถนอม
  •   อลอง

    จากพุทธประวัติ เจ้าชายสิทธัตถะ
    ทรงละทิ้งทรัพย์ศฤงคารเข้าสู่
    ร่มกาสาวพัสตร์เพื่อแสวงหา
    มรรคผลนิพพาน


    ภาพโดย  ดอกรัก  พยัคศรี

  •   สามเณร

    จากส่างลองสู่สามเณร
    บวชเรียนพระธรรมภาคฤดูร้อน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   พระพาราละแข่ง วัดหัวเวียง จ. แม่ฮ่องสอน

    หล่อจำลองจาก “พระมหามุนี” 
    ณ เมืองมัณฑะเลย์ ประเทศพม่า
    ชาวแม่ฮ่องสอนถือว่าเป็นพระพุทธรูป
    คู่บ้านคู่เมืององค์หนึ่ง

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม

  •   เมตตา

    จิตรกรรมพุทธประวัติศิลปะไต
    วัดจองคำ-จองกลาง
    จ. แม่ฮ่องสอน
  •   วัดจองคำ-จองกลาง จ. แม่ฮ่องสอน


    เสมือนสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรม
    เมืองไตแม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ใส

    ม้งวัยเยาว์ ณ บ้านกิ่วกาญจน์
    ต. ริมโขง อ. เชียงของ
    จ. เชียงราย
  •   ยิ้ม

    แม้ชาวเลจะประสบปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัย
    พื้นที่ทำประมง  แต่ด้วยความหวัง....
    ทำให้วันนี้ยังยิ้มได้

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ผสมผสาน

    อาภรณ์ผสานผสมระหว่างผ้าทอปกาเกอญอกับเสื้อยืดจากสังคมเมือง
    บ้านแม่ลาน้อย จ. แม่ฮ่องสอน
    ภาพโดย อาทิตย์ ทองดุศรี
  •   เกาะหลีเป๊ะ จ. สตูล

    แผนที่ในเกาะหลีเป๊ะ 
    ถิ่นเดิมของชาวเลที่ ณ วันนี้
    ถูกโอบล้อมด้วยรีสอร์ทการท่องเที่ยว
  •   ตะวันรุ่งที่ไล่โว่ จ. กาญจนบุรี

    ไล่โว่ หรือที่แปลเป็นภาษาไทยว่า ผาหินแดง เป็นชุมชนคนโผล่งที่แวดล้อมด้วยขุนเขาและผืนป่า 
    อาณาเขตของตำบลไล่โว่เป็นส่วนหนึ่งของป่าทุ่งใหญ่นเรศวรแถบอำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี 

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   การแข่งขันยิงหน้าไม้ของอาข่า

    การแข่งขันยิงหน้าไม้ในเทศกาลโล้ชิงช้าของอาข่า ในวันที่ 13 กันยายน 2554 ที่บ้านสามแยกอีก้อ อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย
 
  Princess Maha Chakri Sirindhorn Anthropology Centre
Ethnic Groups Research Database
Sorted by date | title

   Record

 
Subject ขมุ,นิทาน,เรื่องเล่า,ประวัติศาสตร์ชาติพันธุ์,ไทย,ลาว
Author Kristina Lindel, Jan- Ojvind Swahn, Damrong Tayanin
Title A Kammu Story - Listener's Tales
Document Type หนังสือ Original Language of Text ภาษาอังกฤษ
Ethnic Identity กำมุ ตะมอย, Language and Linguistic Affiliations ออสโตรเอเชียติก(Austroasiatic)
Location of
Documents
หอสมุดกลาง สถาบันวิทยบริการ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย Total Pages 114 Year 2520
Source Scandinavian Institute of Asain Studies Monograph Series No. 33
Abstract

เน้นการศึกษาถึงเรื่องเล่า นิทาน ที่เป็นเหมือนวรรณกรรมปากเปล่าของขมุ ที่สะท้อนถึงความเชื่อ ความใฝ่ฝัน และวิถีชีวิตของชาวขมุ นิทานออกจะเหนือจริงเป็นจินตนาการที่ตัวเอกของเรื่องมักฉลาดเฉลียว มีไหวพริบ และโชคดี เอาตัวรอดจนประสบความสำเร็จในชีวิต แม้จะเกิดมายากจน แต่ก็ได้รับความช่วยเหลือจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์เหนือธรรมชาติ

Focus

นิทานพื้นบ้าน วรรณกรรม เพลง ของชาวขมุที่ถ่ายทอดกันมา

Theoretical Issues

ไม่มี

Ethnic Group in the Focus

ขมุ

Language and Linguistic Affiliations

ขมุไม่มีภาษาเขียน การถ่ายทอดความรู้ ประสบการณ์ถึงคนรุ่นต่อรุ่น ใช้ภาษาพูดเป็นหลัก ในรูปของนิทานและวรรณกรรมพื้นบ้าน บทเพลง หรือบทกวี (หน้า 13) ภาษาจำแนกเป็นภาษาถิ่น (dialects) เช่น "k ween" "yuan" และ "rook" (หน้า 95)

Study Period (Data Collection)

กันยายน 1972 ถึง กรกฎาคม 1973 และ ช่วงภาคฤดูร้อนของปี 1974-1976 (หน้า 5)

History of the Group and Community

ขมุในประเทศไทยส่วนใหญ่มาจากประเทศลาวเพื่อมาเป็นแรงงานรับจ้างชั่วคราวในประเทศไทย งานหลักคือเป็นคนงานในป่าไม้สักทางภาคเหนือ เพื่อเก็บเงินเป็นค่าสินสอด ปัจจุบันแรงงานของคนหนุ่มเหล่านี้เพิ่มมากขึ้น บางคนออกจากหมู่บ้านเพราะต้องการหนีการเกณฑ์ทหาร ทำให้มีคนงานขมุอยู่ทั่วไปแทบทุกเมืองในภาคเหนือ บางคนตั้งใจกลับบ้าน แต่ไม่ได้กลับ อยู่นานจนตั้งบ้านเรือนกลายเป็นคนไทย บางคนแต่งงานกับผู้หญิงไทย อาศัยอยู่ในชุมชนคนไทย ทำงานโรงงานและร้านค้าใหญ่ๆ ในเมือง

Settlement Pattern

ไม่ระบุ

Demography

ไม่ระบุ

Economy

ไม่ระบุ

Social Organization

ไม่ระบุ

Political Organization

ไม่ระบุ

Belief System

ไม่ระบุ

Education and Socialization

ไม่ระบุ

Health and Medicine

ไม่ระบุ

Art and Crafts (including Clothing Costume)

สานตะกร้า (หน้า18 ผู้เขียนพูดถึงคนเล่านิทานว่า ถ้าไม่ได้ไปเล่านิทานก็จะสานตะกร้าอยู่บ้าน)

Folklore

มีนิทาน เรื่องเล่า ที่เรียกได้ว่าเป็นวรรณกรรมพื้นบ้านของชาวขมุจำนวน 20 เรื่องในงานนี้ สรุปได้ดังนี้ คือ เรื่องที่ 1 เป็นเรื่องความฉลาดหลักแหลมแกมโกงของชายหนุ่มผู้ยากจน ในการต่อรองขายสินค้า เรื่องมีอยู่ว่าชายยากจนกับภรรยาผู้โชคร้ายไม่มีทรัพย์สินอะไรเลย ขอข้าวปลาอาหารจากใครก็ไม่ได้ วันหนึ่งด้วยความหิวโหยเขาเก็บมะกอกป่าได้มาลูกหนึ่ง จึงเดินไปขอเกลือจากบ้านใกล้ๆ เพื่อนบ้านถามว่าจะเอาเกลือไปทำอะไร เขาตอบว่าจะเอามาจิ้มมะกอกกิน เพื่อนบ้านก็ให้ เขาเดินขอเกลือไปเกือบทุกบ้าน ได้เกลือมาหนึ่งกิโลกรัม จึงนำเกลือไปแลกไก่ได้มาหนึ่งตัว เดินทางต่อไปพบงานศพของชายคนหนึ่ง เขาโกหกลูกชายของคนตายว่าเป็นเพื่อนกับผู้ตาย ลูกชายผู้ตายจึงชวนค้างคืนเป็นเพื่อนศพ ตกดึกพอทุกคนหลับสนิท เขาเชือดคอไก่ แล้วนำไก่ไปใส่ไว้ในปากศพ ก่อนจะโวยวายว่าศพฆ่าไก่ของเขา ญาติคนตายพยายามจะขอชดใช้ค่าเสียหาย แต่ชายยากจนไม่ยอม ขอยึดศพไว้เป็นค่าตอบแทน เขาแบกศพเดินทางต่อไป ระหว่างทางเห็นพ่อค้ากำลังไล่ต้อนวัว ควายไปขาย เขาวางศพขวางทางไว้ แล้วเข้าไปในป่า หาฟืนและเศษไม้ออกมาหอบใหญ่ พอออกมาจากป่าก็แกล้งปลุกศพให้ตื่น เพื่อจะโวยวายว่าวัวควายเหยียบพ่อของเขาที่กำลังไม่สบายตายเสียแล้ว เขาอุตส่าห์เข้าป่าไปหาฝืนมาก่อไฟให้พ่อผิงคลายหนาว พ่อค้าเสนอควายกับเงินให้เป็นค่าชดเชย เขาไม่ยอม หลังจากต่อรองกัน ในที่สุดเขาก็ยอมรับฝูงวัวทั้งหมดเป็นค่าชดเชย แล้วเดินทางกลับบ้าน ระหว่างทางมีคนถามเขาว่าได้วัวมาจากไหนมากมาย เขาตอบว่า “ก็แค่ไปขายมะกอกเท่านั้น” (หน้า 26) เรื่องที่ 2 เป็นเรื่องของเด็กกำพร้าคนหนึ่งที่โชคดีได้รับความช่วยเหลือจากสัตว์ต่างๆ จนได้แต่งงานกับลูกสาวเจ้าเมือง และกลายเป็นเป็นเจ้าเมืองในที่สุด (หน้า 29) เรื่องที่ 3 เป็นเรื่องของครอบครัวยากจนครอบครัวหนึ่ง มีลูกชาย 2 คน พ่อแก่มากแล้ว จึงสั่งลูกว่า ถ้าพ่อตายไม่ต้องฝัง ให้เอาเชือกผูกขาพ่อแล้วลากไปเรื่อยๆ ถึงที่ใดที่พ่อกลายเป็นไม้ ให้ลูกจับจองที่ดินทำไร่ที่นั่นด้วยกัน เมื่อพ่อตายลูกๆ ก็ปฏิบัติตาม ลากพ่อไปจนกลายเป็นไม้ ก็ลงมือทำไร่ในบริเวณนั้น แต่ปลูกอะไรก็ไม่งอกงาม มีเพียงแตงโมที่มีกลิ่นหอมมากลูกเดียวเท่านั้น สองพี่น้องจึงเก็บแตงโมกลับบ้าน กลิ่นหอมของแตงโมหอมไปถึงเทวดาบนสวรรค์ เทวดาอยากได้จึงลงมาขอ โดยเสนอว่าจะช่วยเหลือสองพี่น้อง ทั้งสองจึงตกลงยกแตงโมให้เทวดาไป เทวดากลับสวรรค์โดยพาน้องชายไปด้วย 7 วัน และในวันที่ 7 เทวดาให้นกมาหนึ่งตัว เพื่อจะพากลับโลกมนุษย์ แล้วสั่งว่า ถ้ายากร่ำรวย สร้างบ้านสร้างเมืองให้กำคอนกนี้ 7 วัน 7 คืน แต่ระหว่างที่กำคอนกอยู่นั้นจะมีฟ้าร้องฟ้าผ่าและฝนตกใหญ่ อย่าตกใจให้กำคอนกต่อไป เมื่อมาถึงบ้านน้องชายก็ทำตามเทวดาบอก ได้บ้านเมือง ยุ้งฉาง ทรัพย์สมบัติ ข้าทาสมากมาย พี่ชายอยากได้บ้างน้องจึงให้ยืมนกไป และกำชับพี่ชายว่าอย่าตกใจกลัวเมื่อเกิดฟ้าร้องฟ้าผ่า พี่ชายกำคอนกจนได้ 6 วัน เกิดกลัวขึ้นมาอย่างกระทันหัน จนตั้งสติไม่อยู่เผลอกำคอนกแน่นไปหน่อย นกเลยตาย บ้านเมืองที่กำลังสร้างก็เลยค้างอยู่อย่างนั้น ไม่มีอะไรเสร็จ สักอย่าง (หน้า 31) เรื่องที่ 4 เป็นเรื่องเด็กกำพร้ากับผี เป็นตำนานไฟ สมัยก่อนยังไม่มีไฟ เวลาถางไร่ก็จะกองเศษพืช เศษไม้ไว้ ยังมีเด็กกำพร้าคนหนึ่งไม่ได้ไปถางไร่พร้อมกับคนอื่นๆ วันรุ่งขึ้นไปไร่ก็พบเศษไม้จำนวนมากที่ชาวบ้านเอามากองไว้ในที่ดินของตน เด็กกำพร้าไม่รู้จะทำอย่างไร เลยนั่งร้องไห้ นกแซงแซวบินมาถาม และอาสาไปเอาไฟจากดวงอาทิตย์มาให้ ถ้ายอมให้กินเมล็ดพืชผลที่เด็กจะปลูก เด็กตกลง นกแซงแซวไปเอาไฟที่ดวงอาทิตย์ โดยใช้หางจุดไฟ จนไฟไหม้หางเป็นรอยโหว่แยกเป็นสองแฉกเหมือนทุกวันนี้ แต่ไม่ได้ไฟมา ต่อมามีนก Munia อาสาไปนำาไฟจากดวงอาทิตย์มาให้ แต่มีข้อแม้ว่าเด็กจะต้องปลูกข้าวในบริเวณเชิงเขาให้กิน เด็กตกลง นก Munia สามารถนำไฟจากดวงอาทิตย์มาได้ เด็กกำพร้าเผาไร่ ปลูกข้าวได้งอกงามดี ต่อมามีผีเด็กมาขอเล่นด้วยทุกวัน โดยท้าต่อสู้กัน ถ้าเด็กกำพร้าชนะผีจะอยู่ด้วย คอยช่วยงานต่างๆ แต่ถ้าเด็กกำพร้าแพ้ผีก็จะอยู่ด้วยอีกเหมือนกัน โดยเด็กกำพร้าจะต้องรับใช้ดูแลผี เด็กไปปรึกษาเจ้าเมืองว่าจะทำอย่างไรดี เจ้าเมืองให้ไปเอาฟางข้าวที่ใช้มุงหลังคาบ้านมา 7 เส้น เจ้าเมืองเสกฟางให้เด็กพกติดตัวไว้ ในการต่อสู้เด็กกำพร้าชนะผีเด็ก ผีจึงอาศัยอยู่ด้วยคอยช่วยเหลือในการทำงานต่างๆ อยู่มาวันหนึ่งผีเกิดคิดถึงบ้านคือป่าช้าที่จากมา ขอกลับไปอยู่บ้าน เด็กก็ยินยอม แต่พอผีจากไปจริงๆ เด็กก็ร้องไห้ด้วยความคิดถึงผี ผีก็กลับมาอีก เป็นอยู่อย่างนี้หลายครั้ง ผีเลยต้องให้ใบมะกอกกับเด็กถือไว้เป็นตัวแทนของตน เด็กจึงไม่ร้องไห้ และรู้สึกอุ่นใจ ผีจึงกลับบ้านได้สำเร็จ จนเป็นประเพณีของขมุเมื่อมีคนตาย ขณะหามศพไปป่าช้าจะวางใบมะกอกไว้ที่ประตูบ้านจนทุกวันนี้ (หน้า 34) เรื่องที่ 5 เรื่องศรีธนญชัยขมุ เหมือนนิทานเซียงเมี่ยงของลาว และศรีธนญชัยของไทย ที่เล่าถึงความฉลาดหลักแหลมของเด็กคนหนึ่ง ที่หลอกล่อเสือจนสามารถเอาชนะได้ และต่อมากลายเป็นขุนนางไทยที่มีชื่อเสียง สร้างเจดีย์ไม้ไผ่ชนะพนันกับมอญ (หน้า 39) เรื่องที่ 6 เรื่องพ่อหม้ายทิ้งลูกสาว มีพ่อหม้ายอยู่คนหนึ่งมีลูกสาว 2 คน วันหนึ่งพาลูกไปตักน้ำ โดยทำกระบอกไม้ไผ่ให้ลูกคนละอัน คนโตไม่ได้เจาะรูที่ก้นกระบอก ส่วนของคนเล็กเจาะรูที่ก้นกระบอก หลังจากตักน้ำเสร็จพี่สาวก็นำน้ำมาให้พ่อ ส่วนน้องสาวต้องกลับไปตักน้ำอีก ขณะกำลังตักน้ำก็ได้ยินเสียงนกร้องบอกว่าพ่อกลับบ้านไปแล้ว ด้วยความโมโหจึงคว้าก้อนหินขว้างนก ถูกขานกหัก นกขอร้องให้ช่วยรักษาขาให้ก่อน แล้วจะให้รางวัล เด็กผู้หญิงคนน้องจึงตกลงรักษานกจนหาย นกให้หมาดำมาตัวหนึ่งคอยติดตามดูแล เธอเดินไปในป่าที่มีน้ำขังอยู่ในตอไม้ เห็นน้ำในตอไม้เล็กๆ อันหนึ่งใสสะอาดมาก เลยวักมาล้างมือ ปรากฏว่ามือสวยงาม ล้างเท้า เท้าก็สวย ล้างหน้าหน้าก็สวย เธอเอาหางหมาดำจุ่มลงไป หางหมากลายเป็นสีขาวสวยงาม เธอจึงอาบน้ำจนร่างกายสวยงาม พร้อมกับหมาของเธอก็กลายเป็นหมาสีขาว แล้วเดินทางต่อไปจนพบกระท่อมตายายกลางป่า จึงขออาศัยอยู่ด้วยแลกกับการทำอาหาร ทำความสะอาดกระท่อมให้ อยู่กับตายายจนโตเป็นสาว จนกระทั่งวันหนึ่งมีประกาศจากในเมืองมาว่า ลูกชายเจ้าเมืองจะแต่งงานและส่งคนออกมาหาผู้หญิงที่สวยที่สุดจนกระทั่งพบเธอ และลูกสาวคนเล็กของพ่อหม้ายยากจนก็ได้แต่งงานกับลูกชายเจ้าเมืองในที่สุด (หน้า 47) เรื่องที่ 7 เรื่องตกปลาด้วยคบไฟ เรื่องมีอยู่ว่าสามคนพี่น้อง ผู้หญิงสองคนถูกผีร้ายสิง ผู้ชายเป็นคนปกติ ออกไปหาปลากัน จับได้กบ ผู้ชายก็ส่งให้ผู้หญิง ผู้หญิงกินกบ แล้วโยนหินลงน้ำ ร้องว่ากบกระโดดหนีลงน้ำไปแล้ว ผู้ชายรู้ว่าผู้หญิงกินกบ จึงหาทางหนี เพราะหากบไปก็ไม่มีประโยชน์ สองคนนี้กินหมด และตัวเองก็ตกอยู่ในอันตรายด้วย เลยออกอุบายหลอกให้ผู้หญิงรออยู่ข้างล่าง ส่วนตนจะขึ้นไปข้างบนเนินสูง เขาหาเหาของตัวเองได้มาตัวหนึ่ง สั่งให้เหาคอยขานรับเวลาผู้หญิงสองคนเรียก แล้วหนีกลับบ้าน ระหว่างทางก็สั่งต้นไม้ว่าไม่ให้บอกสองคนนั้นว่าเห็นเขา แต่ลืมสั่งต้นหญ้า ผู้หญิงสองคนตามหาเขาถามต้นไม้ ก็ไม่มีใครเห็นเขา ถามต้นหญ้าต้นหญ้าจึงบอกความจริงไป และโมโหที่เขาเหยียบขาลูกๆ ของเธอหัก ผู้หญิงสองคนเป็นพี่น้องกันมาถึงบ้านเห็นเขาหลับอยู่ จึงควักลูกตาเขากิน พี่ชายคนโตของพวกเขาพยายามจะทำลายผี ด้วยการเรียกวิญญาณมาไว้ในไม้ไผ่ แล้วนำไม้ไผ่มาเผาไฟ แล้วผู้หญิงก็ตาย เป็นความเชื่อเกี่ยวกับไฟที่สามารถทำลายวิญญาณร้ายได้ (หน้า 51) เรื่องที่ 8 เรื่องงูเหลือมใหญ่ ในสมัยโบราณงูเหลือมมีพิษ และกัดคนตายได้เหมือนงูทั่วๆ ไป แต่ปัจจุบันงูเหลือมไม่เหลือพิษอยู่เลย เรื่องมีอยู่ว่าวันหนึ่งงูเหลือมไปกัดผู้ชายคนหนึ่งตาย แต่ชาวบ้านกลับพูดต่อกันไปว่างูเหลือมกัดผู้ชายคนนั้นไม่ตาย ด้วยความโกรธงูเหลือมเลยเที่ยวกินใบตำแยเพื่อจะอ้วกเอาพิษในตัวออกมาจนหมด ตะกวดอยู่บนต้นไม้เห็นเหตุการณ์จึงร้องตะโกนบอกสัตว์ในป่าน้อยใหญ่ให้มาดู งูเห่ารีบมาเป็นตัวแรก กินพิษงูเหลือมเข้าไปเต็มที่ ตามมาด้วยงูเกือบทุกชนิดก็แย่งกันกินพิษงูเหลือมเป็นการใหญ่ ตัวบุ้งตัวหนอนกระดืบมาถึงทีหลัง พิษหมดแล้ว จึงกระดืบกลับผ่านใบตำแยที่งูเหลือมคายทิ้งไว้บนพื้น พวกแมงมุม มด ยุง มาถึงก็เอาตัวลงไปกลิ้งตามใบไม้ใบหญ้าที่มีพิษตกค้างอยู่ ส่วนตะกวด กว่าจะลงมาจากต้นไม้ได้ก็ลำบาก ด้วยความรีบร้อนเลยตกลงมา คอเสียบเข้ากับตอไม้ทะลุถึงหลัง เป็นรอยดำอยู่จนทุกวันนี้ (หน้า 55) เรื่องที่ 9 เรื่องของเต่า คล้ายๆ เรื่องสังข์ทองของไทย มีสามีภรรยาคู่หนึ่ง ภรรยาท้องได้ 7 ปี จึงคลอดลูกออกมาเป็นเต่า สองสามีภรรยาไม่รู้จะทำอย่างไร คิดว่าตัวเองช่างโชคร้ายแท้ที่มีลูกเป็นเต่า จึงพาลูกไปอยู่ในสระน้ำในหมู่บ้าน ที่ซึ่งชาวบ้านต้องไปตักน้ำมาใช้ทุกวัน เวลาคนไปตักน้ำก็มักจะใช้เท้าเขี่ยให้เต่าไปไกลๆ ไม่กีดขวางการตักน้ำ เป็นอย่างนี้ทุกวัน เต่าจึงขอร้องให้คนที่มาตักน้ำช่วยไปตามแม่มาหาหน่อย เมื่อแม่มาจึงอ้อนวอนขอกลับไปอยู่บ้าน ด้วยความสงสารลูก ผู้เป็นแม่จึงพาลูกกลับบ้าน วันรุ่งขึ้นเต่าบอกแม่ว่าจะไปถางป่าสร้างรั้วจับจองที่ดินทำไร่ พอถึงที่ดินที่ต้องการก็ออกมาจากกระดอง พร้อมกับผู้ช่วยอีก 50 คนมาช่วยกันถางไร่ และปลูกพืช แต่ไม่มีอะไรงอกขึ้นมาเลย เว้นแต่แตงโมต้นเดียวที่ออกผล เต่าจึงเก็บผลแตงโมกลับบ้าน มาบอกแม่ว่าจะแต่งงาน แม่บอกไม่มีเงินไปขอผู้หญิง แต่เต่าบอกว่าจะใช้แตงโมเป็นค่าสินสอด เต่าไปขอแต่งงานกับผู้หญิงอายุมากกว่าคนหนึ่ง แต่ถูกปฏิเสธว่าเป็นแค่เต่าใครจะแต่งงานด้วย เต่าจึงไปขอแต่งงานกับผู้หญิงที่อายุน้อยกว่า เธอตกลง เต่าจึงทุบแตงโม ข้างในมีเงินทองมากมาย มอบให้พ่อแม่ของหญิงสาวเป็นค่าสินสอด หลังจากแต่งงานแล้วทั้งคู่อาศัยอยู่ด้วยกัน ออกไปทำไร่ด้วยกันทุกวัน โดยเต่าจะบอกให้ภรรยากลับบ้านก่อน เช้าวันรุ่งขึ้นพอกลับมาที่ไร่ภรรยาเต่าจะเห็นว่าพื้นที่ถูกถาง และปลูกพืชกว้างขวางกว่าเดิมมาก แต่ก็เก็บความสงสัยไว้ วันต่อมาจึงแอบดู เห็นคนงานเป็นร้อยช่วยกันทำไร่ ด้วยความสงสัยว่าคนไหนเป็นสามีของเธอ วันต่อมาจึงแอบดูอีก เห็นสามีถอดกระดองเต่าวางไว้ เมื่อแน่ใจว่าคนไหนเป็นสามีของเธอ เธอจึงเอากระดองเต่าไปเผาไฟ และขอให้สามีอยู่ในสภาพแบบคนธรรมดา อย่าเป็นเต่าอีกเลย เธอกลับเข้าหมู่บ้านพร้อมสามีรูปหล่อ และผู้คนอีกจำนวนมาก แม่ของเต่าวิ่งออกมาดูด้วยความรีบร้อน ทำให้พลัดตกบันไดตาย (หน้า 56) เรื่องที่ 10 เป็นเรื่องของผู้ชายมีภรรยาสองคน ออกไปหาปลาพร้อมภรรยาทั้งสอง ได้ปลาให้ภรรยาคนละตัวให้มาย่างทำอาหารเย็น ภรรยาแรกมีฝีมือ ย่างจนสุกได้ที่ดีแล้วจึงออกไปตักน้ำ ภรรยาคนที่สองไม่มีฝีมือในการทำอาหารย่างปลาจนไหม้ ด้วยความเจ้าเล่ห์ขี้อิจฉา จึงเปลี่ยนปลา พอสามีกลับมากินข่าวก็โกรธภรรยาคนแรกว่าทำปลาไหม้ ให้ไปหาปลามาย่างให้ใหม่ ภรรยาแรกเสียใจออกมานั่งร้องไห้อยู่ริมสระน้ำ พญานาคได้ยินจึงขึ้นมาช่วยหาปลาให้ แล้วบอกให้กลับมาหาหลังจากไปย่างปลาเสร็จแล้ว เมื่อกลับไปย่างปลาให้สามีเสร็จแล้ว เธอกลับมาที่สระ แต่งงานกับพญานาค โดยมีข้อแม้ว่าจะต้องให้เธอเลี้ยงลูกสองคน ทั้งสองจึงเข้าไปในหมู่บ้านด้วยกัน พญานาครออยู่ที่ทางเข้าหมู่บ้าน ส่วนเธอเข้าไปหาลูกสาวคนโตที่บ้าน บอกลูกว่าถ้าน้องร้องไห้หิวนม ให้อุ้มไปที่สระน้ำแล้วพูดข้อความที่เป็นรหัสลับตามที่เธอบอก เธอจะขึ้นมาให้นม ทุกครั้งที่ลูกชายคนเล็กร้องไห้ ลูกสาวคนโตก็จะอุ้มน้องวิ่งไปที่สระเรียกแม่ให้ขึ้นมาให้นม ทำอย่างนี้ทุกวันๆ จนพญานาคชักเริ่มโกรธ จึงแอบขึ้นมาไล่เด็กๆ กลับบ้าน ด้วยความกลัว ลูกสาวก็ไม่ได้ไปที่สระน้ำอีก เธอขึ้นมารอลูกทุกวัน ด้วยความสงสัยว่าทำไมลูกไม่มาหา จึงตัดสินใจเข้าไปในบ้าน และบอกให้ลูกมาหาอีก อยู่มาวันหนึ่งพ่อของเธอจะสร้างบ้านใหม่ พญานาคพาเพื่อนๆ ไปช่วยมากมาย จนสร้างบ้านเสร็จภายในวันเดียว เธอสั่งให้คนทำอาหารเลี้ยงเพื่อนๆ และสามี แต่กำชับว่าให้ฆ่าหมู หมา ควาย วัว แต่ห้ามฆ่าแพะเด็ดขาด บังเอิญมีคนเซ่อซ่าอยู่คนหนึ่งไม่ค่อยรู้เรื่องอะไร บังเอิญว่าได้แพะมาตัวหนึ่ง จึงทำอาหารด้วยเนื้อแพะมาให้ พอพญานาคกับเพื่อนๆ กินเนื้อแพะเข้าไปก็กลายเป็นงูเลื้อยกันไปคนละทิศละทาง สุดท้ายเลยไม่มีใครกินอาหารที่ทำไว้มากมาย (หน้า 60) เรื่องที่ 11 เรื่องเยี่ยมบ้านเศรษฐี เป็นเรื่องของชายยากจนคนหนึ่งจะเดินทางไปบ้านเศรษฐี กับคนอื่นๆ แต่เขาไม่มีทรัพย์สินเงินทองอะไรเลย แต่อยากไปเพราะนึกสนุก การเดินทางใช้เวลา 7 วัน 7 คืน คนอื่นๆ ฆ่าวัวควายเป็นอาหาร ส่วนเขามีแค่พริกไทติดตัวไปด้วย เขาสานตระกร้าหยาบๆ 1 ใบ แล้วออกเดินทาง เมื่อคนอื่นๆ ฆ่าวัวควายเป็นอาหารและโยนกระดูกทิ้ง เขาจะเก็บกระดูกใส่ตระกร้าเก็บไว้ ทำอย่างนี้ทุกวันจนครบ 7 วัน ก็เดินทางมาถึงบ้านเศรษฐี ซึ่งปิดสนิท มีประตู 7 ชั้น แต่ละชั้นมีสุนัขดุมากเฝ้าอยู่ คนที่มาแต่ละคนพยายามจะเข้าไปแต่ก็ไม่สามารถฝ่าด่านสุนัขไปได้ เสียเวลาอยู่หลายวัน ครั้นตกกลางดึกที่ทุกคนหลับสนิท ชายยากจนก็เข้าไปในบ้านเศรษฐีด้วยการให้กระดูกสุนัขที่เฝ้าประตูแต่ละชั้น จนผ่านเข้าไปถึงชั้นที่ 7 ก็พบลูกสาวเศรษฐีจึงคุยกันจนไก่ขัน เขาขึงออกมาจากบ้านเศรษฐีด้วยวิธีเดิมคือให้กระดูกสุนัขที่เฝ้าประตู แต่ก่อนจากกันลูกสาวเศรษฐีได้ฉีกด้านหน้าเสื้อคลุมของเขาเก็บไว้ เขากลับมานอน วันต่อมาก็มีคนมาถามหาเจ้าของชิ้นส่วนเสื้อ ทุกคนต่างแย่งกันรับว่าเป็นเสื้อของตนเอง แต่เมื่อนำมาเทียบกันแล้วเป็นเสื้อของชายยากจน ลูกสาวเศรษฐีจึงแต่งงานกับเขาในที่สุด (หน้า 63) เรื่องที่ 12,13 วิธีการทำคีม (ปากคีบ) นานมาแล้วชาวบ้านที่ทำไร่นาต้องทำมีดสำหรับถางป่าเอง พวกเขาสามารถทำทั่งตีเหล็กเองได้ แต่ยังหาวิธีทำคีมปากคีบสำหรับจับเหล็กร้อนๆ ไม่ได้ พวกสัตว์ต่างๆ จึงเรียกประชุมเพื่อปรึกษากันถึงวิธีการทำคีม จักจั่นมาถึงก็ลงนั่ง แล้วบอกให้ทำคีมเหมือนท่านั่งของตน ที่ขาไขว้กัน ชาวบ้านทำตามแบบขาจักจั่น เมื่อทำได้แล้วก็ใช้เป็นคีมจับเคียว มีดถางป่าเวลาเผา จักจั่นมีข้อแม้ว่าชาวบ้านต้องเป่าเขาควายเพื่อระลึกถึงตนปีละครั้ง ในวันที่ได้ยินเสียงจักจั่นร้องเป็นครั้งแรก และมีข้อห้ามไม่ให้ชาวบ้านทำงานใดๆ ในวันนั้น ซึ่งเป็นธรรมเนียมปฏิบัติของชาวขมุจนถึงทุกวันนี้ ต่อมาชาวบ้านปลูกข้าวได้งอกงามดีเมล็ดข้าวใหญ่มากจนสัตว์เล็กๆ ลำบากในการกัดกิน พวกสัตว์จึงประชุมกันอีกครั้งเรื่องจะทำคีมหนีบข้าวให้ง่ายต่อการกิน คางคกมาช้าสุด สัตว์ต่างๆ เฝ้ารอแต่คางคกก็ไม่มาสักที จนสัตว์อื่นๆ โกรธ พอคางคกมาถึงจึงโดนสาดด้วยถ่านไปร้อนๆ จนตัวเป็นตุ่มพองเหมือนทุกวันนี้ และคางคกได้เสนอวิธีการทำคีม โดยทำท่าให้ดูว่าให้ทำเหมือนนิ้วหัวแม่มือกับนิ้วกลางบีบเข้าหากัน โดยมีเมล็ดข้าววางในอุ้งมือ (หน้า 65-66) เรื่องที่ 14 เรื่องผู้ชายคอพอกรู้ภาษาสัตว์ ชายคนหนึ่งไปนอนดักรอจับกระรอกทุกวัน วันหนึ่งก็เห็นกระรอกสีขาวกระโดดเข้าไปใต้หินก้อนใหญ่ วันต่อมาเขามาที่โพรงกระรอกแต่เช้าตรู่เพื่อดักจับกระรอกขาว เมื่อเขาจับกระรอกได้ เขาได้ยินนกคุยกัน และเข้าใจภาษานก เขาเก็บกระรอกขาวไว้ ตอนเย็นเขาก็มานอนดักกระรอกอีก ระหว่างทางก็พบมดแดงกำลังทำรังอยู่ ผู้ชายคอพอกคนนี้จึงช่วยมดแดงทำรัง จนเย็นรังมดก็เสร็จพอดี มดแดงชวนเขาดื่มไวน์ด้วยกัน มดแดงช่วยกันกัดคอพอกเขาออก และสั่งว่าห้ามพูดกับใครเป็นเวลา 7 วัน เมื่อกลับมาบ้านเขาก็ไม่พูดกับลูกเมียเลย ทำให้ลูกเมียกังวลและเสียใจ ประกอบกับไม่มีอาหารกินเลย นอกจากแม่ไก่ที่มีลูก 7 ตัว ผู้ชายคอพอกเข้าใจภาษาสัตว์ เขาฟังแม่ไก่สอนลูกว่าอย่างวิ่งวนไปมา อย่าไปกินข้าวของคนที่ตากไว้ อย่าออกไปไกลเดี๋ยวเหยี่ยวจะจับกิน เสือปลาก็จะมากิน ทันใดนั้นเอง เมียเขาตัดสินใจจับแม่ไก่มาฆ่าเพื่อทำอาหาร ผู้ชายคอพอกโกรธมากจนไม่สามารถทนได้อีกแล้ว จึงว่าเมียว่าทำไมไปฆ่ามัน มันเพิ่งจะสอนลูกไปเมื่อครู่นี้เอง และเขาก็ตาย (หน้า 67) เรื่องที่ 15 เจ้าสาวนกแขกเต้า มีพรานคนหนึ่งไปล่าสัตว์เพื่อความสนุก เขาไปที่สระน้ำในป่าก็พบกับผู้หญิง 7 คน บินลงมาอาบน้ำ อาบเสร็จแล้วก็บินกลับ เหลือหญิงสาวสวยงามอยู่คนหนึ่ง เขาจึงนำเสื้อผ้าของเธอไปซ่อน เมื่อหญิงสาวอาบน้ำเสร็จขึ้นมาหาเสื้อผ้าไม่พบ เขาจึงจับเธอมาเป็นภรรยา อยู่ด้วยกันมา 10 ปี หญิงสาวคิดถึงพ่อแม่ขอกลับไปเยี่ยมบ้าน และสวมแหวนไว้ที่นิ้วนางของสามีวงหนึ่งและสั่งว่าจะกลับมาภายใน 7 วัน ถ้ายังไม่กลับมาให้ไปตาม และทิ้งลิงไว้ให้ตัวหนึ่ง สั่งว่าถ้าไปตามเธอให้พาลิงไปด้วย 7 วันผ่านไปเธอยังไม่กลับ เขาจึงออกตามหาโดยไปกับลิง เมื่อไปถึงเมืองของเธอพบเธอกำลังถูกบังคับให้เข้าพิธีแต่งงาน คนมากมายอยู่ในพิธีนั้น เขาจึงถอดแหวนขว้างไปที่ตัวเธอ แหวนก็สวมลงที่นิ้วของเธอได้พอดี เมื่อเธอรู้ว่าเขามาตามหา แต่ไม่สามารถกลับไปอยู่กับเขาได้ จึงใช้มีดฆ่าตัวตาย (หน้า 69) เรื่องที่ 16 เรื่องผู้ชายคอพอกรู้ภาษาสัตว์ เหมือนเรื่อง 14 (หน้า 73) เรื่องที่ 17 เรื่องหมอดู มีสามีภรรยาคู่หนึ่ง –ภรรยากำลังตั้งท้อง วันหนึ่งก็มีหมอดูผ่านมาบอกว่า ลูกของเขาจะถูกเสือกัดตายตอนอายุ 15 ปี ในวันแรมห้าค่ำเดือนห้า เมื่อภรรยาเขาคลอดลูกมาเป็นผู้ชาย เขาโชคดีมากทำมาค้าขายร่ำรวย กระทั่ง 15 ปีผ่านไป วันแรมห้าค่ำ เดือนห้าตามคำทำนาย ลูกชายของเขาไม่ไปไหนทั้งสิ้น ไม่ลงจากบ้าน เขาให้ลูกอยู่ในบ้าน ตัวเองเฝ้าอยู่หน้าประตู แล้วเสือก็มา เขายิงเสือตาย คนทั้งหมู่บ้านแห่มาดูเสือกันเต็มไปหมด เสือนอนตายแยกเขี้ยว เห็นฟันขาว ลูกชายของเขาลงมาดูเสือทีหลังคนอื่นๆ แล้วก็คิดว่าเสือตัวนี้เองหรือที่จะฆ่าเรา เขาใช้เท้าเขี่ยจมูกเสือ และพลาดไปถูกเขี้ยวเสือเข้า และตายในที่สุด (หน้า 75) เรื่องที่ 18 เรื่องหนังกวาง เป็นเรื่องของสองสามีภรรยายากจน มีอาชีพล่าสัตว์ วันหนึ่งสามียิงกวางตายหนึ่งตัว จัดการขายเนื้อจนหมด เหลือแต่หนังไม่มีใครซื้อ แบกขายไปทั่วก็ขายไม่ได้ จนมาพบแม่หม้ายร่ำรวยคนหนึ่ง เขาพักค้างคืนที่บ้านแม่หม้ายนั้น ก่อนนอนเขาแกล้งบอกให้แม่หม้ายคอยระวังให้ดี เดี๋ยวหนูจะมากัดกินหนังกวางของเขา ตกดึกเขาแกล้งทำเสียงเหมือนหนูแทะ แม่หม้ายคิดว่าหนู จึงรีบออกมาดู ก็ไม่พบอะไร ครั้นพอกลับเข้าไปก็ได้ยินเสียงใหม่ เธอรีบออกมาดูอีก เป็นเช่นนี้อยู่หลายครั้ง ครั้งสุดท้ายด้วยความรีบร้อนเธอสะดุดธรณีประตูล้มลงทับผู้ชายขายหนังกวางที่นอนอยู่ ผู้ชายเจ้าเล่ห์แกล้งโวยวายว่าเธอจะปล้ำเขา และเรียกค่าเสียหาย แต่แม่หม้ายไม่ยอมจ่าย เขาจึงไปฟ้องเจ้าหน้าที่ เจ้าหน้าที่ตัดสินให้แม่หม้ายจ่ายค่าเสียหายไปเป็นควายและวัว เพราะผู้ชายคนนี้มีลูกมีเมียแล้ว เขาเดินทางกลับบ้านพร้อมฝูงวัวควาย เมื่อมีคนถามว่าได้วัวควายนี้มาง่ายๆ จากไหน เขาจะตอบว่า ก็แค่ไปขายหนังกวางเท่านั้น (หน้า 76) เรื่องที่ 19 เรื่องนายฉลาด และนายปราดเปรื่อง สองคนเป็นพี่น้องกัน แม่ตาย อยู่กับพ่อ เช้าวันหนึ่ง พ่อชวนทั้งสองคนไปทำงานที่ไร่ สองคนบอกให้พ่อล่วงหน้าไปก่อน เดี๋ยวจะตามไป แต่ก็ไม่ไป วันต่อมาก็เป็นเหมือนเดิม พ่อโกรธว่าลูกไม่ช่วยงานเลย จึงตัดสินใจให้ไปเสี่ยงโชคทำธุรกิจกันเอง โดยให้เงินหนักคนละ 10 บาท และดาบ คนละเล่ม สองคนเดินทางออกจากบ้าน สองคนพี่น้องตกลงกันว่าให้คนพี่ไปทางเหนือ คนน้องไปทางใต้ ซื้ออะไรก็ได้ที่เจอมาคนละอย่าง แล้วกลับมาเจอกัน คนพี่ไปเจอคนกำลังฆ่าควาย จึงซื้อหัวควายมา คนน้องไปเจอคนหาปลาจึงซื้อปลาเป็นๆ มา กลับมาปรึกษากัน ทั้งสองไปหาสระน้ำ ตัดไม้มาปักเสียบหัวควายให้โผล่ขึ้นมาเหนือน้ำ ผูกปลาไว้ที่หูควาย แล้วก็มานั่งรอ คนผ่านมาถามว่ากำลังทำอะไร ทั้งสองบอกว่านั่งรอคนมาซื้อควาย แต่น้ำมันลึกเลยเห็นแค่หัว เมื่อคนนั้นอยากเห็นควายเคลื่อนไหว สองพี่น้องก็โยนหินลงไปในน้ำ ปลาก็ว่ายพาหูควายสะบัดไปมา เหมือนควายมีชีวิต คนนั้นตกลงซื้อควายไป 500 บาท สองพี่น้องสั่งว่าอย่าเพิ่งไล่ควายขึ้นจากน้ำจนกว่าเขาทั้งสองจะไปไกลจากที่นี่เสียก่อน จากนั้นสองพี่น้องก็วิ่งหนีไปไกลไม่คิดชีวิตทั้งวัน ทั้งคืนจนเข้าไปในป่าลึก ที่มีเสือ หมีดุ ชอบกัดคนประจำ ทั้งสองคนหาวิธีการนอนให้ปลอดภัยจากสัตว์ร้าย ด้วยการนอนหันเท้าชนกัน หันหัวไปในทางตรงข้าม วางดาบไว้ข้างตัว ตกดึกเสือเข้ามาจะกิน แต่ตัดสินใจไม่ได้ว่าจะกินใครดี ถ้ากินคนนี้ คนนั้นต้องลุกขึ้นมาตัดคอมันแน่ ถ้ากินอีกคน คนนี้ต้องลุกขึ้นมา ตัดสินใจไม่ได้ จึงเรียกสัตว์ป่าน้อยใหญ่มาดู สัตว์มากันทั้งป่า เต่ามาช้าสุด มองอะไรไม่เห็น ช้างเลยให้เต่าขี่หลัง เต่าไต่หลังช้างไปจนถึงหัวช้าง ชะโงกดู เสียหลักตกลงจากหลังช้าง ลงไปที่สองพี่น้อง เต่ากระดองแตกยับเยิน สองพี่น้องลุกพรวดพราดขึ้น สัตว์ป่าตกใจ แตกกระเจิงกันไปคนละทิศละทาง เหยียบกันตาย ชนกันตายเป็นจำนวนมาก กระต่ายวิ่งหนีไปติดลวดดิ้นไม่หลุด สองพี่น้องช่วยออกมา และผูกกระต่ายไว้ วันต่อมามีพ่อค้าวัวควายกลุ่มหนึ่งผ่านมา ก็แปลกใจที่สองพี่น้องมีเนื้อสัตว์จำนวนมาก สองคนบอกว่าสุนัขของเขาเป็นผู้ล่าสัตว์พวกนี้มา พ่อค้าสนใจจะซื้อสุนัข โดยสองพี่น้องตกลงขายสุนัขแลกกับฝูงวัวควาย และแบ่งเนื้อสัตว์กันคนละครึ่ง แต่มีข้อแม้ว่าอย่าเพิ่งปล่อยสุนัขจนกว่าเขาจะเดินทางไปได้วันหนึ่ง เพราะเกรงสุนัขจะตามทัน สองพี่น้องขี่วัวควายบรรทุกเนื้อสัตว์กลับบ้านไป ครั้นได้เวลาพ่อค้าไปปล่อยเชือกผูกสุนัข ซึ่งก็คือกระต่าย กระต่ายวิ่งหนีเข้าป่าไป ไม่มีใครจับได้อีกเลย สองพี่น้องได้วัวควายทั้งหมดกลับบ้าน เมื่อมาถึงบ้านพ่อเขาถามว่าเงินหนักแค่ 10 บาท ทำไมได้วัวควายมามากมายอย่างนี้ สองพี่น้องตอบว่า ก็แค่ไปขายหัวปลาเท่านั้น (หน้า 78) เรื่องที่ 20 เรื่องไปเที่ยวบ้านสาว เป็นเรื่องของผู้หญิงที่ถูกผีสิง แล้วหลอกผู้ชายไปมอมเหล้าเพื่อฆ่ากิน ชายคนหนึ่งไปเที่ยวบ้านสาวครั้งแรก เวลาจะไปบ้านสาวต้องเอาหนูไม้ไผ่ไปด้วย เวลาข้ามน้ำหนูไม้ไผ่จะบอกว่าให้เอามันแช่น้ำหน่อย ชายหนุ่มไม่ทำตาม เดินทางไปถึงก้อนหินใหญ่หนูบอกว่าให้เอาหินเคาะฟันมันออก เขาไม่ทำตาม พอมาถึงบ้านหนูกลายเป็นวัว เขาขี่วัวไปบ้านสาว ไปแล้วก็กลับมา ไปแล้วก็กลับมา ทุกคนสนใจ และเขาก็เล่าให้ฟัง ลูกชายเจ้าเมืองอยากไปบ้าง แต่ไม่เชื่อฟังชายคนที่เคยไปมา เขาเจอแม่น้ำก็เอาหนูแช่น้ำ หนูหนาวสั่น ถึงก้อนหินก็เคาะฟันหนูออกจนหมด พอหนูกลายเป็นวัวก็ขี่ไปบ้านสาว พอไปถึงบ้านสาว สาวๆ ก็เอาวัวเขาไปผูกเชือกล่ามไว้ แล้วพาไปเลี้ยงเหล้าจนเมามาย พอจะกลับบ้านก็แก้เชือกวัวไม่ได้ ถูกฆ่ากินเนื้อ เหลือแต่หนัง สาวๆ เย็บหนังตัวเขาแล้วเอาขึ้นหลังวัว วัวพากลับมาบ้าน เจ้าเมืองเสียใจมากที่ลูกชายตาย ชายหนุ่มคนที่ไปบ้านสาวๆ ประจำจึงอาสากลับไปที่บ้านสาวๆ อีกครั้งหนึ่ง สาวจะมาผูกวัว เขาก็ไม่ยอมให้ผูก บอกว่าวัวดุให้อยู่ห่างๆ เขาผูกวัวด้วยตัวเอง เขาเอาขี้ผึ้งไปด้วย และทาเขาวัวไว้ แล้วเข้าไปในบ้าน สาวๆ นำเหล้ามาเลี้ยง เขาดื่มจนเกือบเมา จึงปล่อยวัว วัวชนถังไวน์ ไวน์หกไปทั่วพื้น เขาให้พวกสาวๆ ดื่มไวน์ด้วย และรอจนสว่างพวกสาวๆ ง่วงนอน เขาจึงจับผมของทั้งสี่สาวพี่น้องรวบไว้ข้าวละสองคนผูกผมติดกันไว้ ปล่อยให้สาวๆ ตกอยู่ในความอลหม่าน แล้วรีบขี่วัวกลับบ้านอย่างปลอดภัย และยังมาคุยโม้ว่าเขาใช้สมองเป็น อุตสาห์สอนลูกเจ้าเมืองแล้ว ไม่เชื่อฟังเขาเอง หลังจากนั้นพวกสาวๆ ที่ถูกผีสิงก็ไม่กินใครอีก (หน้า 82) นิทานขมุ ส่วนใหญ่จะนำเสนอเรื่องราวของตัวเอกที่เฉลียวฉลาด (แกมโกง) โชคดี และได้รับการช่วยเหลือจากอำนาจเหนือธรรมชาติ จนประสบความสำเร็จในชีวิต

Ethnicity (Ethnic Identity, Boundaries and Ethnic Relation)

ไม่ระบุ

Social Cultural and Identity Change

ไม่ระบุ

Map/Illustration

หน้า 57-8 รูปคนเล่านิทานและครอบครัว

Text Analyst จุไรรัตน์ ปานนิล Date of Report 19 เม.ย 2564
TAG ขมุ, นิทาน, เรื่องเล่า, ประวัติศาสตร์ชาติพันธุ์, ไทย, ลาว, Translator -
 
 

 

ฐานข้อมูลอื่นๆของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
  ฐานข้อมูลพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทย
จารึกในประเทศไทย
จดหมายเหตุทางมานุษยวิทยา
แหล่งโบราณคดีที่สำคัญในประเทศไทย
หนังสือเก่าชาวสยาม
ข่าวมานุษยวิทยา
ICH Learning Resources
ฐานข้อมูลเอกสารโบราณภูมิภาคตะวันตกในประเทศไทย
ฐานข้อมูลประเพณีท้องถิ่นในประเทศไทย
ฐานข้อมูลสังคม - วัฒนธรรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  หน้าหลัก
งานวิจัยชาติพันธุ์ในประเทศไทย
บทความชาติพันธุ์
ข่าวชาติพันธุ์
เครือข่ายชาติพันธุ์
เกี่ยวกับเรา
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  ข้อมูลโครงการ
ทีมงาน
ติดต่อเรา
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
ช่วยเหลือ
  กฏกติกาและมารยาท
แบบสอบถาม
คำถามที่พบบ่อย


ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) เลขที่ 20 ถนนบรมราชชนนี เขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ 10170 
Tel. +66 2 8809429 | Fax. +66 2 8809332 | E-mail. webmaster@sac.or.th 
สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2549    |   เงื่อนไขและข้อตกลง