สมัครสมาชิก   
| |
ค้นหาข้อมูล
ค้นหาแบบละเอียด
  •   ความเป็นมาและหลักเหตุผล

    เพื่อรวบรวมงานวิจัยทางชาติพันธุ์ที่มีคุณภาพมาสกัดสาระสำคัญในเชิงมานุษยวิทยาและเผยแผ่สาระงานวิจัยแก่นักวิชาการ นักศึกษานักเรียนและผู้สนใจให้เข้าถึงงานวิจัยทางชาติพันธุ์ได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น

  •   ฐานข้อมูลจำแนกกลุ่มชาติพันธุ์ตามชื่อเรียกที่คนในใช้เรียกตนเอง ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้ คือ

    1. ชื่อเรียกที่ “คนอื่น” ใช้มักเป็นชื่อที่มีนัยในทางเหยียดหยาม ทำให้สมาชิกกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ รู้สึกไม่ดี อยากจะใช้ชื่อที่เรียกตนเองมากกว่า ซึ่งคณะทำงานมองว่าน่าจะเป็น “สิทธิพื้นฐาน” ของการเป็นมนุษย์

    2. ชื่อเรียกชาติพันธุ์ของตนเองมีความชัดเจนว่าหมายถึงใคร มีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมอย่างไร และตั้งถิ่นฐานอยู่แห่งใดมากกว่าชื่อที่คนอื่นเรียก ซึ่งมักจะมีความหมายเลื่อนลอย ไม่แน่ชัดว่าหมายถึงใคร 

     

    ภาพ-เยาวชนปกาเกอะญอ บ้านมอวาคี จ.เชียงใหม่

  •  

    จากการรวบรวมงานวิจัยในฐานข้อมูลและหลักการจำแนกชื่อเรียกชาติพันธุ์ที่คนในใช้เรียกตนเอง พบว่า ประเทศไทยมีกลุ่มชาติพันธุ์มากกว่า 62 กลุ่ม


    ภาพ-สุภาษิตปกาเกอะญอ
  •   การจำแนกกลุ่มชนมีลักษณะพิเศษกว่าการจำแนกสรรพสิ่งอื่นๆ

    เพราะกลุ่มชนต่างๆ มีความรู้สึกนึกคิดและภาษาที่จะแสดงออกมาได้ว่า “คิดหรือรู้สึกว่าตัวเองเป็นใคร” ซึ่งการจำแนกตนเองนี้ อาจแตกต่างไปจากที่คนนอกจำแนกให้ ในการศึกษาเรื่องนี้นักมานุษยวิทยาจึงต้องเพิ่มมุมมองเรื่องจิตสำนึกและชื่อเรียกตัวเองของคนในกลุ่มชาติพันธุ์ 

    ภาพ-สลากย้อม งานบุญของยอง จ.ลำพูน
  •   มโนทัศน์ความหมายกลุ่มชาติพันธุ์มีการเปลี่ยนแปลงในช่วงเวลาต่างๆ กัน

    ในช่วงทศวรรษของ 2490-2510 ในสาขาวิชามานุษยวิทยา “กลุ่มชาติพันธุ์” คือ กลุ่มชนที่มีวัฒนธรรมเฉพาะแตกต่างจากกลุ่มชนอื่นๆ ซึ่งมักจะเป็นการกำหนดในเชิงวัตถุวิสัย โดยนักมานุษยวิทยาซึ่งสนใจในเรื่องมนุษย์และวัฒนธรรม

    แต่ความหมายของ “กลุ่มชาติพันธุ์” ในช่วงหลังทศวรรษ 
    2510 ได้เน้นไปที่จิตสำนึกในการจำแนกชาติพันธุ์บนพื้นฐานของความแตกต่างทางวัฒนธรรมโดยตัวสมาชิกชาติพันธุ์แต่ละกลุ่มเป็นสำคัญ... (อ่านเพิ่มใน เกี่ยวกับโครงการ/คู่มือการใช้)


    ภาพ-หาดราไวย์ จ.ภูเก็ต บ้านของอูรักลาโว้ย
  •   สนุก

    วิชาคอมพิวเตอร์ของนักเรียน
    ปกาเกอะญอ  อ. แม่ลาน้อย
    จ. แม่ฮ่องสอน


    ภาพโดย อาทิตย์    ทองดุศรี

  •   ข้าวไร่

    ผลิตผลจากไร่หมุนเวียน
    ของชาวโผล่ว (กะเหรี่ยงโปว์)   
    ต. ไล่โว่    อ.สังขละบุรี  
    จ. กาญจนบุรี

  •   ด้าย

    แม่บ้านปกาเกอะญอ
    เตรียมด้ายทอผ้า
    หินลาดใน  จ. เชียงราย

    ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ถั่วเน่า

    อาหารและเครื่องปรุงหลัก
    ของคนไต(ไทใหญ่)
    จ.แม่ฮ่องสอน

     ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ผู้หญิง

    โผล่ว(กะเหรี่ยงโปว์)
    บ้านไล่โว่ 
    อ.สังขละบุรี
    จ. กาญจนบุรี

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   บุญ

    ประเพณีบุญข้าวใหม่
    ชาวโผล่ว    ต. ไล่โว่
    อ.สังขละบุรี  จ.กาญจนบุรี

    ภาพโดยศรยุทธ  เอี่ยมเอื้อยุทธ

  •   ปอยส่างลอง แม่ฮ่องสอน

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ปอยส่างลอง

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดย เบญจพล  วรรณถนอม
  •   อลอง

    จากพุทธประวัติ เจ้าชายสิทธัตถะ
    ทรงละทิ้งทรัพย์ศฤงคารเข้าสู่
    ร่มกาสาวพัสตร์เพื่อแสวงหา
    มรรคผลนิพพาน


    ภาพโดย  ดอกรัก  พยัคศรี

  •   สามเณร

    จากส่างลองสู่สามเณร
    บวชเรียนพระธรรมภาคฤดูร้อน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   พระพาราละแข่ง วัดหัวเวียง จ. แม่ฮ่องสอน

    หล่อจำลองจาก “พระมหามุนี” 
    ณ เมืองมัณฑะเลย์ ประเทศพม่า
    ชาวแม่ฮ่องสอนถือว่าเป็นพระพุทธรูป
    คู่บ้านคู่เมืององค์หนึ่ง

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม

  •   เมตตา

    จิตรกรรมพุทธประวัติศิลปะไต
    วัดจองคำ-จองกลาง
    จ. แม่ฮ่องสอน
  •   วัดจองคำ-จองกลาง จ. แม่ฮ่องสอน


    เสมือนสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรม
    เมืองไตแม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ใส

    ม้งวัยเยาว์ ณ บ้านกิ่วกาญจน์
    ต. ริมโขง อ. เชียงของ
    จ. เชียงราย
  •   ยิ้ม

    แม้ชาวเลจะประสบปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัย
    พื้นที่ทำประมง  แต่ด้วยความหวัง....
    ทำให้วันนี้ยังยิ้มได้

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ผสมผสาน

    อาภรณ์ผสานผสมระหว่างผ้าทอปกาเกอญอกับเสื้อยืดจากสังคมเมือง
    บ้านแม่ลาน้อย จ. แม่ฮ่องสอน
    ภาพโดย อาทิตย์ ทองดุศรี
  •   เกาะหลีเป๊ะ จ. สตูล

    แผนที่ในเกาะหลีเป๊ะ 
    ถิ่นเดิมของชาวเลที่ ณ วันนี้
    ถูกโอบล้อมด้วยรีสอร์ทการท่องเที่ยว
  •   ตะวันรุ่งที่ไล่โว่ จ. กาญจนบุรี

    ไล่โว่ หรือที่แปลเป็นภาษาไทยว่า ผาหินแดง เป็นชุมชนคนโผล่งที่แวดล้อมด้วยขุนเขาและผืนป่า 
    อาณาเขตของตำบลไล่โว่เป็นส่วนหนึ่งของป่าทุ่งใหญ่นเรศวรแถบอำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี 

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   การแข่งขันยิงหน้าไม้ของอาข่า

    การแข่งขันยิงหน้าไม้ในเทศกาลโล้ชิงช้าของอาข่า ในวันที่ 13 กันยายน 2554 ที่บ้านสามแยกอีก้อ อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย
 
  Princess Maha Chakri Sirindhorn Anthropology Centre
Ethnic Groups Research Database
Sorted by date | title

   Record

 
Subject มอแกน,ความสัมพันธ์ทางสังคม,การเก็บของป่าล่าสัตว์,การหาเก็บตามโอกาส,การพึ่งพา,ภาคใต้
Author Narumon Hinshiranan
Title The Analysis of Moken Opportunistic Foragers' Intragroup and Intergroup Relations
Document Type Ph.D. Dissertation Original Language of Text ภาษาอังกฤษ
Ethnic Identity มอแกน บะซิง มาซิง, Language and Linguistic Affiliations ออสโตรเนเชี่ยน
Location of
Documents
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร Total Pages 231 Year 2539
Source A Dissertation submitted to the graduate Division of Doctor of Philosophy in Anthropology for the Degree of the University of Hawaii, in Partial Fulfillment of the Requirements.
Abstract

งานวิจัยนี้วิเคราะห์ความสัมพันธ์ภายในและระหว่างกลุ่มของมอแกน โดยใช้โมเดลของการพึ่งพาอาศัยกัน หรือ interdependent model โดยมองว่าผู้หาของป่าล่าสัตว์ร่วมสมัยไม่ได้อาศัยอยู่อย่างโดดเดี่ยวหรือดำรงชีวิตเพียงเศรษฐกิจแบบยังชีพ (self-sufficient economy) เท่านั้น แต่ยังทำการค้าเพื่อนบ้านควบคู่กันไป "ผู้หาเก็บตามโอกาส หรือ Opportunistic foragers" เป็นเทอมที่เหมาะสำหรับกลุ่มผู้หาเก็บร่วมสมัย เนื่องจากสามารถปรับตัวยืดหยุ่นต่อกลยุทธ์ทางเศรษฐกิจต่างๆ ได้ สำหรับมอแกนแล้วการปรับตัวยืดหยุ่นเป็นส่วนหนึ่งของการดำรงชีวิต การสำรวจมอแกนเกาะสุรินทร์ทำให้เห็นข้อด้อยของโมเดลการพึ่งพาอาศัยกัน 2 ข้อ ข้อแรกคือ ความสัมพันธ์ของกลุ่มผู้หาของป่าล่าสัตว์ไม่ได้ถูกขัดเกลาเพียงแค่การพึ่งพาอาศัยกัน พ่อค้าคนกลางที่ค้าขายกับมอแกนมักสร้างเงื่อนไขและข้อผูกมัด และมอแกนยังต้องมีการพึ่งพาทางเศรษฐกิจสังคมจากคนนอก ข้อสองคือ แนวคิดโดดเดี่ยว ยังคงมีบทบาทสำหรับการอธิบายการดำรงอยู่ของสังคมหาเก็บร่วมสมัย ซึ่งการโดดเดี่ยวนี้สามารถปกป้องการรุกรานอย่างรวดเร็วจากคนนอก อีกทั้งยังช่วยให้มอแกนสามารถรักษาอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมและอิสรภาพได้อีกด้วย ภาพรวมของโครงข่ายความสัมพันธ์ของมอแกนที่มีต่อระบบทางสังคมภายในและความสัมพันธ์ภายในกลุ่มนั้นถูกขัดเกลาโดยการแบ่งปันทั้งแบบสมัครใจและเรียกร้อง ความสัมพันธ์ระหว่างและภายในกลุ่มนั้นแสดงให้เห็นถึงระบบย่อยที่มีอิทธิพลต่อกัน ซึ่งานวิจัยนี้สำรวจความหลากหลายและการปฏิบัติต่อกันของความสัมพันธ์นี้ ในช่วงท้ายของงานวิจัยนี้จะเป็นข้อเสนอแนะเกี่ยวกับรูปแบบของการพัฒนาที่เหมาะสมกับการช่วยเหลือจากคนนอก (หน้า iv-v)

Focus

ศึกษาลักษณะความสัมพันธ์ภายในกลุ่มและระหว่างกลุ่มของมอแกน

Theoretical Issues

โดยเบื้องต้นแล้วผู้เขียนต้องการทดสอบทฤษฎีทางมานุษยวิทยา ที่เรียกว่าโมเดลการพึ่งพาอาศัยกัน (interdependent model) ผู้เขียนจะตรวจสอบความสัมพันธ์ระหว่างผู้เก็บของป่าล่าสัตว์ (foragers) กับ คนนอก (outsiders) โดยใช้วิธี "มุมมองที่หลากหลาย" (a multi-perspective method) แต่เดิมผู้หาเก็บของป่าล่าสัตว์ถูกมองว่าเป็นกลุ่มคนที่โดดเดี่ยวไม่มีการติดต่อจากโลกภายนอก ต่อมา โมเดลการพึ่งพาอาศัยกัน (interdependent model) ก็ถูกนำมาใช้อธิบายสังคมผู้เก็บของป่าล่าสัตว์อย่างกว้างขวาง เนื่องจากโมเดลนี้มีวิธีการในระดับมหภาคที่สามารถใช้วิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างผู้หาของป่าล่าสัตว์กับสังคมข้างเคียง (หน้า 2) โมเดลนี้จะปฏิเสธโมเดลของการโดดเดี่ยว (isolate model) โดยมีข้อเสนอหลักว่าสังคมการหาของป่าล่าสัตว์ร่วมสมัยนั้น ควรจะถูกทำความเข้าใจผ่านการปฏิสัมพันธ์กับสังคมภายนอก แต่ทั้งนี้ผู้เขียนก็เสนอว่าโมเดลนี้ก็ยังไม่สามารถใช้อธิบายความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มได้ดีนัก เนื่องจากโมเดลนี้ให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์ที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของการค้า จึงทำให้ไม่เห็นความสัมพันธ์อื่นที่เกิดขึ้นนอกเหนือจากการค้า (non-trade relations) เช่น ความสัมพันธ์กับประชากรท้องถิ่น รัฐ หรือองค์กรพัฒนา อีกทั้งโมเดลนี้ยังปฏิเสธโมเดลการโดดเดี่ยวโดยสิ้นเชิง ในกรณีของความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นระหว่างสังคมการหาของป่าล่าสัตว์กับเจ้าหน้าที่รัฐหรือองค์กรที่เกี่ยวข้องนั้นจะเป็นความสัมพันธ์ในลักษณะ "การพึ่งพาแบบช่วยเหลือ" (benevolent-dependence) (หน้า 10) ซึ่งการช่วยเหลือดังกล่าวจะทำให้ผู้หาของป่าล่าสัตว์เกิดการพึ่งพาภายนอกโดยสมบูรณ์ (หน้า 11) ยิ่งไปกว่านั้นโมเดลนี้ยังกลับไปตอกย้ำมายาภาพของความโดดเดี่ยวในอดีต ซึ่งมองว่าในบางสังคมการหาของป่าล่าสัตว์นั้นถูกโดดเดี่ยวมากกว่าสังคมอื่น (หน้า 6) ทั้งนี้ผู้เขียนกลับเห็นว่าโมเดลการโดดเดี่ยวนั้นไม่ไช่ว่าจะไม่มีบทบาทเอาเสียเลย ในบางกรณีผู้หาเก็บบางกลุ่มนั้นเลือกที่จะโดดเดี่ยวเพื่อลดความกดดันทางวัฒนธรรมและทางกายภาพจากคนนอก (หน้า 35) ผู้เขียนจึงเห็นว่า "โมเดลการพึ่งพาอาศัยกัน" ไม่เพียงพอแก่การอธิบายความสัมพันธ์ที่มีความซับซ้อนที่เกิดขึ้นระหว่างผู้หาเก็บร่วมสมัย (contemporary foragers) กับสังคมที่ใหญ่กว่าได้ (larger society) (หน้า 35) แต่โมเดลนี้กลับเหมาะสำหรับการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ภายในกลุ่ม เพราะในสังคมหาของป่าล่าสัตว์นั้นปัจเจกถูกตีกรอบด้วยการผูกมัดของการพึ่งพาอาศัยกัน (the tie of interdependency) ซึ่งเป็นลักษณะหลักของความสัมพันธ์ทางสังคมในสังคมหาของป่าล่าสัตว์ และมักถูกแสดงออกผ่านปฏิบัติการของการแบ่งปัน (หน้า 13) ในงานศึกษานี้ผู้เขียนจึงได้นิยามผู้เก็บของป่าล่าสัตว์ใหม่ โดยแทนที่ด้วย "ผู้หาตามโอกาสที่เอื้ออำนวย" (opportunistic foragers) ผู้เขียนมองว่า "ผู้หา" (forager) จะมีความหลากหลายมากกว่าผู้เก็บของป่าล่าสัตว์ และคำว่า "ตามโอกาสที่เอื้ออำนวย" (opportunistic) หมายถึงความสามารถและการลื่นไหล เพื่อให้ก้าวผ่านทางเลือกทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นได้ ดังนั้น "ผู้หาตามโอกาสที่เอื้ออำนวย" จึงหมายถึงผู้หาร่วมสมัยกลุ่มต่างๆ ที่มีการปรับตัวกับโอกาสทางเศรษฐกิจใหม่ๆ จากมุมมองนี้แสดงว่าพวกเขาไม่ได้เป็นสิ่งที่ตกค้างจากประวัติศาสตร์ของผู้เก็บของป่าล่าสัตว์ที่มักติดอยู่กับระบบเศรษฐกิจสังคมแบบพอเพียง อีกทั้งนิยามใหม่นี้จะช่วยให้เราสามารถแยกแยะและหยั่งรู้พฤติกรรมทางสังคมของผู้หาสมัยใหม่ (หน้า 15-16) ในกรณีของมอแกนนั้น ผู้เขียนมองว่ามอแกนเป็น "ผู้หา หรือ forager" จากป่าและทะเล ส่วน "ผู้ตามโอกาสที่เอื้ออำนวย หรือ opportunists" ถูกใช้ในความหมายที่ว่ามอแกนไม่ได้จำกัดตัวเองอยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง แต่เป็นสภาพแวดล้อมที่หลากหลาย รวมไปถึงเศรษฐกิจที่ขยายออกไปมากกว่าการยังชีพ เพราะมอแกนรับเอาวิถีการหาเลี้ยงชีพที่หลากหลาย ดังนั้น "ผู้หาเก็บตามโอกาสที่เอื้ออำนวย" ของผู้เขียนนั้นก็คือ การปรับตัวของมอแกนต่อกลยุทธ์ทางเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นการผสมผสานระหว่างการหาเก็บจากป่าและทะเลเพื่อการค้า การทำงานเป็นแรงงานรับจ้าง หรือบางครั้งทำการเพาะปลูก (หน้า 90) ผู้เขียนได้กล่าวสรุปไว้ในตอนท้ายบทแรกว่า มอแกนไม่ได้เป็น "ผู้เก็บของป่าล่าสัตว์ที่โดดเดี่ยว" (isolate hunter-gatherers) แต่เป็น "ผู้หาตามโอกาสที่เอื้ออำนวย" (opportunistic foragers) ที่ดำรงชีวิตและเกี่ยวข้องกับการแลกเปลี่ยนด้านการค้าผลิตภัณฑ์ทางทะเล และมอแกนยังมีประสบการณืในการติดต่อและสัมพันธ์กับคนหลายกลุ่ม (หน้า 35) ในส่วนของการวิเคราะห์นั้น ผู้เขียนใช้ "โมเดลของการกระทำระหว่างกัน" (interaction model) ที่ซึ่งกำหนดให้มองเรื่องความสัมพันธ์ของผู้หาเก็บกับสังคมที่ใหญ่กว่า โดยแบ่งเป็นมิติทางด้านความสัมพันธ์ภายในกลุ่ม ซึ่งความสัมพันธ์นี้จะแสดงให้เห็นถึงโครงสร้างภายในที่จำแนกสังคมหาของป่าล่าสัตว์ออกจากสังคมอื่น มิตินี้จะทำให้เกิดความเข้าใจเรื่องความสัมพันธ์และการกระทำระหว่างกลุ่ม ซึ่งผู้หาของป่าล่าสัตว์ทุกกลุ่มนั้นมักตระหนักถึงพรมแดนทางสังคมระหว่างพวกเขาเองกับคนนอก มิติต่อมาคือความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่ม ซึ่งระบบโลกสมัยใหม่มักค่อยๆ เข้ามามีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจสังคมของสังคมขนาดเล็ก มิติสุดท้ายก็คือความสัมพันธ์กับจักรวาลวิทยา ซึ่งเป็นความสัมพันธ์ระหว่างผู้หาเก็บกับสิ่งเหนือธรรมชาติ (supernatural) ซึ่งท้ายที่สุดแล้วก็จะเกี่ยวข้องกับความเป็นมนุษย์ (human being) ความสัมพันธ์แบบพึ่งพาอาศัยกันในลักษณะนี้เห็นมุมมองเกี่ยวกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในสังคมผู้หาเก็บ (หน้า 18-19)

Ethnic Group in the Focus

กลุ่มชาติพันธุ์ที่ศึกษาในงานวิจัยนี้คือชาวทะเลกลุ่มมอแกน เป็นกลุ่มคนเร่ร่อนทางทะเลในบริเวณหมู่เกาะเมอร์กุย คนไทยมักรู้จักมอแกนภายใต้ชื่อชาวน้ำ ชาวทะเล ชาวเล หรือไทยใหม่ (หมายถึงการเป็นพลเมืองไทย) ในภาษาอังกฤษจะเรียกว่า "sea nomads" หรือ "sea gypsies" ซึ่งเป็นการเรียกตามการดำเนินชีวิตแบบเร่ร่อนในทะเล ส่วนภาษาพม่าเรียกว่า เซลุง (Selung) หรือ เซลอน (Selon) และในภาษามาเลย์เรียกว่า โอรัง เลาท์ (Orang Laut) (หน้า 194) (ตาราง A.1)

Language and Linguistic Affiliations

ภาษามอแกนจัดอยู่ในกลุ่มตระกูลออสโตรนีเชี่ยน (Austronesian) ซึ่งจะคล้ายกับภาษาชาวเลกลุ่มอื่น (อูรักลาโว้ย และมอแกลน) ในประเทศไทย (แผนภาพ A.1) แต่จะมีความแตกต่างกันไปบ้างตรงคำศัพท์ ดังเช่น มอแกนกับมอแกลนสามารถพูดสื่อสารและเข้าใจกัน (หน้า 194-195) เนื่องจากมอแกนในหมู่เกาะเมอร์กุยมีการกระจัดกระจายอยู่ตามเกาะศูนย์กลางต่างๆ จึงทำให้เกิดการปรับรับเอาสำเนียงของชาติพันธุ์ย่อยในพื้นที่ต่างๆ ซึ่งมีทั้งหมด 5 สำเนียงด้วยกัน คือ ดุง (Dung) ใช้ในหมู่เกาะดุง, จาอิท (Jait) ใช้บนเกาะโอเว่น (Owne Island), เลบี (Lebi) ใช้ในเกาะโซลลิแวน (Sullivan Island), เกาะแลมปี (Lampi Island), เนียวี (Niawi) ใช้พูดกันบนเกาะเจมส์ (James Islands) และ ชาเดียก (Chadiak) ใช้พูดบนเกาะแมทธิว (Matthew Island) (หน้า 45) ในปัจจุบันมอแกนเกาะสุรินทร์ส่วนใหญ่ไม่ค่อยเข้าใจภาษาไทยมาตรฐาน แต่จะมีบ้างบางคนที่สามารถเข้าใจภาษาไทยภาคใต้ ภาษามาเลย์และบางคนก็พูดภาษาพม่าได้ (หน้า 28)

Study Period (Data Collection)

ใช้เวลาลงพื้นที่ทั้งหมด 9 เดือน เริ่มตั้งแต่เดือนเมษายนถึงเดือนธันวาคม ปี 1993 ช่วงเวลาของการลงพื้นที่จะครอบคลุมเดือนแห่งมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ 3 เดือน และเดือนแห่งมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ 4 เดือน รวมทั้งช่วงที่มรสุมกำลังเปลี่ยนทิศทางอีก 2 เดือน

History of the Group and Community

กลุ่มชนเร่ร่อนทางทะเลบริเวณหมู่เกาะเมอร์กุยได้รับการสำรวจบันทึกครั้งแรกในช่วงต้นศตวรรษที่ 19 โดยเจ้าหน้าที่ของอาณานิคมอังกฤษ มอแกนในหมู่เกาะเมอร์กุยเป็นกลุ่มที่อพยพมาจากส่วนอื่นๆ ในภูมิภาค มีข้อสันนิษฐานเกี่ยวกับที่มาของมอแกน 2 ข้อ ข้อแรกมองว่ามอแกนมีแหล่งกำเนิดมาจากคาบสมุทรมาเลย์ ซึ่งเป็นกลุ่มหนึ่งของชนเผ่าเร่ร่อนทางทะเลที่อพยพขึ้นมาทางเหนือจากหมู่เกาะเรียว-ลิงกา (Riou-Lingga Archipelago) ข้อสองมองว่ามอแกนเป็นชนพื้นเมืองบนแผ่นดินในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่อพยพลงมาทางใต้ เพราะถูกรุกรานจากกลุ่มชาติพันธุ์อื่น และสุดท้ายก็ลี้ภัยไปอยู่ในคาบสมุทรเมอร์กุย อย่างไรก็ตาม ต่อกรณีแหล่งกำเนิดของมอแกนนั้นยังคงไม่เป็นที่แน่ชัด แต่ภาษาและประเพณีวัฒนธรรมของมอแกนนั้นบ่งชี้ว่ามีที่มาจากทางใต้ การเคลื่อนย้ายขึ้นมาทางเหนือของมอแกนนั้นไม่ได้เป็นการอพยพของกลุ่มใหญ่ แต่ค่อยๆ แพร่กระจายขึ้นมา อย่างไรก็ตามผู้ศึกษาเสนอว่าหมู่เกาะเมอร์กุยเป็นพื้นที่ที่มอแกนแวะเวียนเข้ามาเป็นเวลานานแล้ว ซึ่งจะสังเกตได้จากชื่อที่ใช้เรียกเกาะต่างๆ ในหมู่เกาะเมอร์กุยนั้นเป็นภาษามอแกน ซึ่งชื่อเรียกเหล่านั้นคนท้องถิ่นก็ไม่รู้จักความหมาย จากปรากฏการณ์ทางประวัติศาสตร์ได้เชื่อมโยงประเด็นที่ว่า มอแกนเป็นโจรสลัดในแถบทะเลเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มาหลายศตวรรษ แต่จริงๆ แล้วก็ไม่มีหลักฐานใดที่สามารถยืนยันได้ว่ามอแกนเคยเป็นโจรสลัด อีกทั้งลักษณะความเป็นอยู่ของมอแกนในปัจจุบันก็ค่อนข้างตรงข้ามกับพฤติกรรมโจรสลัด แต่การที่มอแกนเลือกวิถีชีวิตแบบเร่ร่อนอาจเป็นกลยุทธ์ในการปรับตัวเพื่อหลีกเลี่ยงการถูกโจมตีจากโจรสลัดก็เป็นได้ (หน้า 36-42)

Settlement Pattern

มอแกนในหมู่เกาะเมอร์กุยกระจายตัวครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมด 50,000 ตารางกิโลเมตร โดยมีเกาะศูนย์กลาง (base island) ซึ่งถือว่าเป็นศูนย์กลางของการตั้งถิ่นฐานหรือบ้าน และเกาะบริวาร (satellite islands) ที่มอแกนมักแวะเวียนเป็นประจำ โดยปกติแล้วเกาะศูนย์กลางของมอแกนนั้นมักจะเคลื่อนย้ายอยู่เสมอ ส่วนมากมอแกนจะไม่อาศัยอยู่บนเกาะที่พวกเขาถือกำเนิดหรือเติบโต จากเกาะศูนย์กลางมอแกนมักเดินทางไปตามเกาะบริวารต่างๆ เพื่อหาสินค้าทะเล (ภาพ 2.1) จากการเก็บบันทึกในช่วงอาณานิคมอังกฤษหมู่เกาะสุรินทร์ไม่ได้อยู่ในรายชื่อของเกาะศูนย์กลางของกลุ่มมอแกนในแถบนี้ ซึ่งอาจจะเป็นเพราะว่า ในขณะนั้นหมู่เกาะสุรินทร์เป็นเพียงแค่เกาะบริวารที่มอแกนเพียงแวะเวียนเข้ามาเท่านั้น (หน้า 45) การเลือกตั้งถิ่นฐานหรือการย้ายถิ่นของมอแกนเกาะสุรินทร์เป็นผลมาจากฤดูกาลของลมมรสุม การตั้งถิ่นฐานบนเกาะสุรินทร์ในฐานะเกาะศูนย์กลางของมอแกนนั้นเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อไม่กี่สิบปีนี้เอง พื้นที่ดั้งเดิมของการตั้งถิ่นฐานมักอยู่ตามชายหาดต่างๆ ทางด้านฝั่งตะวันออกของเกาะสุรินทร์เหนือและใต้ ในปัจจุบันมอแกนบนเกาะสุริทร์ตั้งถิ่นฐานบนเกาะสุรินทร์ใต้ กลุ่มแรกตั้งถิ่นฐานถาวรโดยสร้างกระท่อมอยู่ริมชายหาด บริเวณน้ำทะเลท่วมถึงที่ดายา (Daya) พื้นที่มีลักษณะเป็นชายหาดยาวและมีที่ราบด้านบน มีลำธารไหลผ่านตลอดปี มอแกนใช้ลำธารแห่งนี้เป็นแหล่งน้ำจืดของชุมชน กลุ่มที่สองจะตั้งถิ่นฐานชั่วคราวที่อูเนค (Au Nek) กล่าวคือช่วงหน้าฝนจะขึ้นฝั่งและสร้างกระท่อมชั่วคราว พอเข้าฤดูแล้งก็จะกลับไปอาศัยอยู่บนก่าบาง (เรือ) และทอดสมออยู่บริเวณแหลมเล็กๆ ที่ตั้งอยู่ตรงข้ามกับสำนักงานอุทยานฯ อูเนคมีชายหาดค่อนข้างแคบและมีที่ราบน้อย มีลำธารไหลผ่านแต่น้ำจะมากในช่วงที่ฝนตกหนัก ส่วนครอบครัวที่ไม่มีก่าบางเป็นของตัวเองก็จะย้ายไปสร้างกระท่อมชั่วคราวอยู่ที่บาฮุน (Bahun) ซึ่งมอแกนมักใช้เป็นพื้นที่หลบลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือและคลื่นได้ ชายหาดที่บาฮุนนั้นจะหันหน้าเข้าหาสำนักงานของอุทยานฯ ที่ตั้งอยู่บนเกาะสุรินทร์เหนือ มอแกนกลุ่มนี้มักข้ามไปอุทยานเพื่อขายเปลือกหอย ซื้ออาหารของใช้ที่จำเป็น และน้ำจืด (หน้า 64-65)

Demography

ชุมชนมอแกนบนเกาะสุรินทร์เป็นกลุ่มที่อพยพมาจากพื้นที่ต่างๆ ในหมู่เกาะเมอร์กุย บางกลุ่มอพยพมาจากดุง (Dung), เลาจ์โบรอจห์ (Loughborough), โดเมล (Domel) และเกาะเซนต์ แมททิว (St. Matthew's Islands) (หน้า 64) (แผนที่ 2.1) ประชากรมอแกนบนเกาะสุรินทร์เมื่อแรกเริ่มของการลงพื้นที่มีทั้งหมดประมาณ 136 คน จำนวนจะมีการเปลี่ยนแปลงขึ้นลงตลอดปี ในช่วงปลายของการลงพื้นที่นั้น มีมอแกนบางครอบครัวได้ย้ายมาจากเกาะเซนต์แมททิว ทำให้จำนวนประชากรเพิ่มขึ้นเป็น 201 (ตาราง 2.4, 2.5, 2.6)

Economy

มอแกนเป็นคนหา (foragers) ทรัพยากรจากป่า และเป็นผู้ใช้ (user) ทรัพยากรจากทะเล ทั้งยังเป็น "ผู้ตามโอกาสเอื้ออำนวย (opportunists)" ที่รับเอาวิถีการหารายได้เพื่อการดำรงชีวิตรูปแบบต่างๆ และการพึ่งพาการค้าเพื่ออาหารหลักและวัตถุดิบอื่นๆ รวมไปถึงการเป็นแรงงานรับจ้างชั่วคราว และการรับความช่วยเหลือรูปแบบต่างๆ จากคนนอก (หน้า 68) การหาของป่าล่าสัตว์ มอแกนเป็นกลุ่มที่ยังชีพโดยการล่าและการหาเก็บทั้งทรัพยากรจากป่าและทะเล ทรัพยากรจากทะเล มอแกนเกาะสุรินทร์สามารถหาเก็บทรัพยากรจากทะเลได้ตลอดทั้งปี ไม่ต้องรอฤดูกาลเหมือนกับมอแกนกลุ่มอื่นในหมู่เกาะเมอร์กุย เพราะความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรป่าและทรัพยากรชายฝั่งบนเกาะพื้นฐาน (base islands) ที่ถึงแม้ว่าจะมีลมมรสุมบ้างแต่มอแกนก็สามารถหาเก็บบริเวณชายฝั่ง หรือแม้แต่จะออกทะเลไปเกาะบริวารต่างๆ ก็ทำได้เนื่องจากมอแกนใช้เครื่องยนต์เรือในการเดินทางไปที่ต่างๆ ทั้งนี้ฤดูกาลจะมีอิทธิพลมากในเรื่องการตั้งถิ่นฐานและการเคลื่อนย้ายของมอ (ตาราง 3.1) (หน้า 68-70) มอแกนมักเดินทางออกทะเลไปหาปลากันทีละหลายคนบนเรือหนึ่งลำ เมื่อถึงที่หมายแล้ว แต่ละคนจะแยกย้ายกันไปหาปลาหรือดำหอย ในกรณีที่เจอสัตว์ใหญ่ เช่น เต่าทะเล ปลาไหลทะเล หรือปลาตัวใหญ่ ทุกคนก็จะเข้ามาช่วยเหลือกัน โดยคนคัดท้ายเรือต้องร่วมมือกับคนยิงฉมวกที่ยืนอยู่หัวเรือ เมื่อฉมวกที่ผูกติดกับเรือถูกยิงไปที่สัตว์ก็ต้องมีคนลงไปในทะเลเพื่อนำสัตว์นั้นขึ้นมาบนเรือ เนื้อที่ได้ก็จะนำมาแบ่งอย่างเท่าๆ กันภายในหมู่บ้าน ซึ่งรวมทั้งครอบครัวที่ไม่ได้ออกทะเล (หน้า 72) โดยปกติมอแกนจะออกทะเลประมาณเดือนละ 20 วัน การเดินทางออกทะเลของมอแกนเกาะสุรินทร์สามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภท ประเภทแรกคือ การเดินทางรายวันภายในเกาะ (daily intra-island expeditions) จะใช้เวลาประมาณ 2-3 ชั่วโมงต่อวัน ประเภทที่สองคือ การเดินทางระยะไกลระหว่างเกาะ (long-distance inter-island journeys) จะใช้เวลา 2 วัน ถึง 2 สัปดาห์ (หน้า 73) วิธีการจับสัตว์น้ำของมอแกนจะเป็นวิธีธรรมดา เครื่องมือหลักๆ ที่ใช้ก็คือ หอกแทงปลาและฉมวก การที่มอแกนไม่ใส่ใจกับเครื่องมือที่ทันสมัยนั้นอาจเป็นเพราะว่า ประการแรกการยังชีพของมอแกนนั้นไม่ได้ขึ้นอยู่กับการประมงชายฝั่งเพียงอย่างเดียว แต่ยังรวมไปถึงการหาตามชายฝั่งและชายหาด จริงๆ แล้วมอแกนสามารถหาสัตว์ทะเลด้วยมือเปล่าหรือบางครั้งก็ใช้เครื่องมือพื้นฐาน เช่น ในการหาหอยทะเล มอแกนต้องการแค่แว่นว่ายน้ำ ผ้าขาวม้าผูกไว้กับเอวเพื่อใช้คล้องสัตว์น้ำที่หาได้ ประการที่สอง การใช้เครื่องมือหาปลานั้นต้องมีการลงทุน แรงงาน และเงิน ซึ่งมอแกนมองว่ารายได้ที่จะได้จากการจับปลานั้นเป็นผลตอบแทนที่ล่าช้า เพราะแทนที่จะได้ผลตอบแทนในทันที แต่ต้องล่าช้าเนื่องจากสัตว์น้ำถูกนำไปผ่านกระบวนการเพิ่มมูลค่า (ดูบันทึกในบทที่ 1 ข้อ 4) นอกจากนี้ครอบครัวที่มีเครื่องมือหาปลาต้องแบ่งให้ครอบครัวอื่นยืมด้วย ในปัจจุบันมอแกนเกาะสุรินทร์ยังคงใช้หอกปลา เบ็ด เอ็น และอวน ในการจับปลาเลียบชายฝั่ง ส่วนลอบดักปลานั้นไม่เป็นที่นิยมใช้กันในหมู่มอแกน (หน้า 73-74) นอกจากการจับปลาในเขตน้ำลึกแล้ว มอแกนก็ยังหาสัตว์น้ำในพื้นที่เฉพาะที่อยู่ระหว่างระดับน้ำสูงสุดและต่ำสุด หรือที่เรียกว่าเขตชายฝั่ง (littoral or intertidal zone) (แผนภาพ 3.1) พื้นที่นี้จะประกอบไปด้วยพื้นที่เล็กๆ เช่น หาดทราย โขดหิน ซึ่งอุดมสมบูรณ์ไปด้วยหอยขนิดต่างๆ (mollusk) และสัตว์จำพวกกุ้ง กั้ง และปู ทรัพยากรสัตว์น้ำในบริเวณนี้สามารถหาได้ตลอดทั้งปี บางทีอาจเรียกที่นี่ว่าเป็นแหล่งโปรตีนที่ดีของมอแกนก็ว่าได้ เช่น มอแกนสามารถหาหอยนางรมและกินเนื้อสดเป็นอาหารได้ในเวลาเดียวกัน อีกทั้งหอยชนิดต่างๆ ก็เป็นสัตว์ที่จับง่าย เพราะเคลื่อนไหวช้าบางครั้งเด็กๆ ก็ช่วยกันเก็บมาเป็นอาหาร หรือในกรณีที่พ่อแม่ไม่อยู่บ้านออกทะเลไปจับปลา เด็กๆ ก็สามารถถือจานข้าวไปบริเวณชายหาดและหาเก็บสัตว์เหล่านี้กินเป็นกับข้าวได้ (หน้า 74-75) การออกทะเลของมอแกนเกาะสุรินทร์จะเป็นการออกไปหาอาหารพร้อมๆ กับหาของเพื่อการค้า สัตว์น้ำจำพวกหอยทะเล เช่น หอยนางรมลอย (pearl oyster) ซึ่งมีมากในบางเกาะของหมู่เกาะเมอร์กุย ประเทศพม่า ทากเขียว หอยโข่งเขียว หอยนมสาว จะเป็นสินค้าทางการค้าหลักที่มอแกนให้ความสำคัญ สำหรับทากเขียวนั้นมีมูลค่าทางการค้าต่อมอแกนมาก คือเปลือกขนาดใหญ่จะมีราคามากกว่า 1,000 บาท ในอดีตมอแกนจะนำเนื้อทากเขียวมาต้มและตากแห้ง และส่งขายพ่อค้าเพื่อส่งออกไปปีนัง ประเทศมาเลย์เซีย แต่ปัจจุบันไม่เป็นที่นิยมแต่อย่างใด ด้านในของเปลือกทากเขียวนั้นเมื่อนำมาเจียระไนแล้วจะถูกนำมาขายเป็นกาบหอยมุก สัตว์น้ำทางการค้าอีกประเภทก็คือ ปลิงทะเล มอแกนจะเอาปลิงทะเลมาควักไส้ในออก ทำความสะอาดและต้มจนเนื้อหดตัวลง ขั้นตอนสุดท้ายก็จะนำมาเผาด้วยไฟอ่อนๆ แล้วนำไปตากแห้ง มอแกนจะออกหาปลิงทะเลทั้งปี แต่ช่วงเวลาที่ดีที่สุดก็คือช่วงหน้าแล้ง นอกจากนี้มอแกนเกาะสุรินทร์ยังดำหอยมือเสือ (giant clam) และเอาเนื้อไปตากแห้งเพื่อขายให้กับพ่อค้าคนกลางที่จังหวัดระนอง มอแกนล่าเต่ากระ (hawksbill turtle) เพื่อเอาเนื้อและกระดอง กระดองจะถูกขายตามร้านขายกระดองเต่าทางภาคใต้ นอกจากนี้มอแกนยังเก็บรังนกตามหน้าผาหิน และอำพันทองหรือไขจากไส้ปลาวาฬ (ambergris) ตามหาดทราย ซึ่งอำพันทองนี้เป็นส่วนผสมของน้ำหอมหรือยาพื้นบ้าน (หน้า 77-79) ทรัพยากรจากป่า การหาเก็บของป่าเป็นกิจกรรมที่มีความสำคัญเป็นอันดับสองของมอแกน โดยปกติแล้วมอแกนทั้งผู้ชายและผู้หญิงมักเข้าป่าเพื่อหาเก็บของป่ากันเป็นกลุ่ม และเมื่อถึงที่หมายแล้วต่างคนก็ต่างแยกย้ายไปหาเก็บของตัวเอง โดยแต่ละคนจะอยู่ห่างกันประมาณระยะทางของเสียงตะโกน ที่เป็นเช่นนี้ไม่ใช่เพราะมอแกนกลัวการหลงทาง แต่เป็นเพราะว่ามอแกนไม่คุ้นชินกับป่าซึ่งมืดสลัวและไม่เปิดกว้างเหมือนกับทะเล รวมไปถึงความไม่คุ้นชินกับสัตว์ป่าและวิญญาณในป่า แต่กระนั้นก็ตามมอแกนก็เข้าไปหาเก็บอาหารป่าและสิ่งของจำเป็นต่างๆ เช่น สมุนไพร ไม้ฟืน วัตถุดิบในการสร้างเรือและบ้าน ใบปาล์ม ใบเตย ผู้หญิงมักถนัดกับการขุดหัวพืชที่อยู่ใต้ดินหรือรากต่างๆ และผลไม้ป่า ผู้ชายจะเก็บผลไม้บนต้นไม้สูง บางครั้งเด็กๆ ก็จะช่วยครอบครัวเก็บผลไม้ ทั้งผู้ชายและผู้หญิงจะช่วยกันเก็บหน่อไม้ ซึ่งจะมีมากในช่วงฤดูฝน และเก็บใบเตยเพื่อนำมาสานเสื่อและหลังคาของก่าบาง (เรือ) อาหารจากป่าที่สำคัญของมอแกนในช่วงหน้าฝนคือมันเทศป่า ทั้งนี้หัวมันเทศป่าต้องนำมากำจัดพิษโดยการนำมาปลอกเปลือก หั่น และสะเด็ดน้ำในน้ำจืดและน้ำทะเล 2-3 วันก่อนที่จะนำมาปรุงและบริโภค มันเทศป่าเป็นอาหารหลักที่มอแกนใช้บริโภคในช่วงหน้าฝน ในปัจจุบันมอแกนได้เปลี่ยนอาหารหลักจากมันเทศป่ามาเป็นข้าว และมันเทศป่าก็ถูกลดกลายเป็นอาหารว่างไป ในหน้าน้ำผึ้ง ซึ่งตรงกับช่วงเดือนธันวาคมถึงมกราคม ผู้ชายจะเข้าป่าเพื่อหาและเก็บน้ำผึ้งและตัวอ่อนผึ้ง ผู้ที่พบรังผึ้งคนแรกสามารถแสดงความเป็นเจ้าของโดยการทำเครื่องหมายไว้ที่ต้นไม้ เนื่องจากว่าต้องรอประมาณ 2-3 วันหรือ 1 อาทิตย์เพื่อให้มีน้ำผึ้งเพียงพอ มอแกนมักมีพิธีกรรมเล็กๆ ก่อนและหลังการเก็บน้ำผึ้ง เพราะน้ำผึ้งถูกมองว่าเป็นอาหารอันโอชะซึ่งมีวิญญาณป่าเป็นเจ้าของง จากนั้นน้ำผึ้ง ตัวอ่อนผึ้ง และรวงผึ้งจะถูกแบ่งเป็นชิ้นเล็กๆ และแจกจ่ายไปทั่วหมู่บ้าน คนที่พบรังผึ้งจะได้ส่วนแบ่งมากที่สุด และหลังจากการแจกจ่ายและบริโภคแล้ว น้ำผึ้งและ ขี้ผึ้งที่เหลือจะถูกเก็บไว้ขาย มอแกนผู้ชายบางครั้งก็ล่าหมูป่าและกระจงด้วยสุนัขที่ฝึกเอาไว้สำหรับล่าสัตว์และคอยดูแลเวลาที่ไม่มีใครอยู่บนเกาะ ในปัจจุบันถึงแม้ว่ามอแกนไม่มีการล่าหมูป่าและกระจง แต่มอแกนก็ยังเลี้ยงสุนัข ไว้เป็นสัตว์เลี้ยงและเฝ้าบ้าน (หน้า 85-87) การค้า มอแกนเป็นผู้หาตามโอกาสเอื้ออำนวยที่ผสมผสานการหาเก็บของทะเลและป่ากับการค้า ทำงานเป็นแรงงานรับจ้าง และบางครั้งก็เพาะปลูก กิจกรรมทางเศรษฐกิจของมอแกนเกาะสุรินทร์จะแตกต่างไปจากมอแกนที่อาศัยในน่านน้ำพม่า กล่าวคือ มอแกนเกาะสุรินทร์สามารถหาเก็บเปลือกหอยตามชายฝั่งด้วยมือเปล่า หรืออาศัยเทคโนโลยีและเครื่องยนต์ก็ได้ แต่สำหรับมอแกนในพม่านั้นส่วนใหญ่ต้องพึ่งพากับพ่อค้าคนกลางที่ทำหน้าที่เป็นนายทุนเพื่อกู้ยืมเงินมาซื้อเครื่องมือหาปลา (หน้า 91) กลยุทธ์ทางเศรษฐกิจของมอแกนนั้นจะแตกต่างกันไปในแต่ละกลุ่มและแต่ละเกาะ (ตาราง 3.5) กล่าวคือ แต่ละกลุ่มจะมีการติดต่อกับพ่อค้าและตลาดที่หลากหลาย ทำให้มอแกนสามารถขายสินค้าที่แตกต่างกันได้ (หน้า 90) กิจกรรมทางการค้าของมอแกนเกาะสุรินทร์อาจแบ่งออกเป็น 3 กิจกรรมใหญ่ๆ คือ การค้ากับพ่อค้า และการขายสินค้าตรงให้กับนักท่องเที่ยว การค้าภายในกลุ่ม การค้ากับพ่อค้า ในอดีตมอแกนจะแลกเปลี่ยนสินค้าทะเลกับข้าว เสื้อผ้า เครื่องครัว ขวานและสิ่งจำเป็นอื่นๆ กับพ่อค้าชาวพม่า จีนและมาเลย์ ชนิดและปริมาณของรายการแลกเปลี่ยนนั้นถูกกำหนดโดยความต้องการของตลาดและทรัพยากรท้องถิ่น ต่อมาเมื่อมอแกนยอมรับข้าวในฐานะอาหารหลักทำให้มอแกนต้องมีการแลกเปลี่ยนบ่อยขึ้น สินค้าของมอแกนส่วนใหญ่จะมีลักษณะเบาและไม่เน่าเปื่อย เช่น สินค้าทะเลตากแห้ง เปลือกหอย รังนก เนื่องจากพ่อค้าหรือนายทุนที่รับซื้อสินค้าเหล่านี้อยู่ตลาดในเมือง เช่น เมอร์กุย เทนเนสเซริม (Tenasserim) วิคเตอร์เรีย พอยท์ (Victoria Point) และระนอง ทั้งนี้ในการเดินทางไปขายสินค้าในเมืองนั้นมอแกนต้องสะสมสินค้าให้มีปริมาณเพียงพอ หรือประมาณเดือนละหนึ่งครั้ง หลังจากเสร็จสิ้นกิจกรรมการขายสินค้ามอแกนก็จะแวะตลาดเพื่อซื้อข้าวสาร และสิ่งของที่จำเป็นกลับไป การขายสินค้าตรงกับนักท่องเที่ยว ในช่วงหน้าแล้ง เมื่ออุทยานเปิดรับนักท่องเที่ยว กิจกรรมการหาเก็บของทะเลของมอแกนเกาะสุรินทร์ส่วนใหญ่นั้นจะเป็นไปเพื่อขายให้กับตลาดนักท่องเที่ยว เนื่องจากมีรายได้ดี มอแกนผู้หญิงจะเข้าร่วมกิจกรรมการค้าขนาดเล็ก (small-scale marketing) โดยการขายเครื่องประดับที่ทำด้วยเปลือกหอยให้กับนักท่องเที่ยว เครื่องประดับที่เป็นที่นิยมจะเป็นหอยตระกูลคาวรี่ เช่น หอยสังข์มะระ หอยเหล่านี้ผู้ชายจะเป็นคนเก็บในขณะออกทะเล ส่วนผู้หญิงก็จะช่วยโดยการเดินหาเก็บตามชายฝั่ง ผู้หญิงนำเปลือกหอยเหล่านี้มาทำความสะอาดโดยการต้มหรือเผาบนทรายจนกระทั่งตาย แกะเนื้อออก และเก็บไว้จนกว่าจะขาย (หน้า 89) มอแกนเกาะสุรินทร์จะเปิดตลาดขายของที่ระลึกบริเวณหน้าที่ทำการอุทยานฯ และโรงอาหารในช่วงเช้าและช่วงบ่าย กล่าวคือ ในช่วงเช้ามอแกนจะเปิดตลาดขายเปลือกหอยแก่นักท่องเที่ยวเป็นเวลาประมาณ 30 นาที - 2 ชั่วโมง ขึ้นอยู่กับจำนวนนักท่องเที่ยว เมื่อเรือท่องเที่ยวเข้ามา มอแกนจะเปิดตลาดบริเวณหลังที่ทำการอุทยานฯ ตลาดนี้จะคึกคักมากกว่าตลาดเช้าเพราะจะมีลูกค้าเป้าหมายประมาณ 70-200 คน ตลาดนี้จะเปิดอยู่ประมาณ 1-3 ชั่วโมง เมื่อนักท่องเที่ยวกลับตลาดก็วาย (หน้า 144) การค้าภายในกลุ่ม การค้าภายในกลุ่มมอแกนจะเป็นการแลกเปลี่ยนโดยมีค่าตอบแทน อัตราการแลกเปลี่ยนมักคงที่ และเป็นอัตราที่เป็นการตัดสินใจร่วมกันด้วยความพอใจของทั้งสองฝ่าย สิ่งของที่มักถูกนำมาแลกเปลี่ยนก็คือ เสื่อเตยหนาม (pandanus mat) ในช่วงมรสุมผู้หญิงส่วนใหญ่จะทอเสื่อ เนื่องจากการออกทะเลถูกจำกัดด้วยสภาพอากาศ สัดส่วนของการแลกเปลี่ยน ดังเช่น เสื่อ 60 ผืนแลกกับเรือหนึ่งลำ หรือ 4 ผืนสำหรับแลกหอกแทงปลา 1 อัน นอกจากนี้เสื่อยังถูกใช้เป็นสิ่งตอบแทนในงานพิเศษ เช่น ให้ 1-2 ผืนแก่หมอตำแยที่ทำคลอด ในปัจจุบันมอแกนรับเอาระบบเศรษฐกิจแบบเงินสดเข้ามาใช้ จึงทำให้เงินสดกลายเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนสิ่งของและบริการ เช่น ผู้หญิงมอแกนบางคนรับซื้อเปลือกหอยจากญาติแล้วนำมาขายให้กับนักท่องเที่ยว เป็นต้น หรือการอาศัยเรือคนอื่นเพื่อไปออกทะเลจับสัตว์น้ำ ซึ่งผู้ร่วมเดินทางต้องรับผิดชอบค่าน้ำมัน การช่วยเหลืออาจเป็นรูปแบบของเงินสด หรือหอยที่มีมูลค่าก็ได้ เช่น หอยทากเขียว เป็นต้น นอกจากนี้ก็มีร้านขายของชำเล็กๆ ในชุมชนมอแกนเกาะสุรินทร์ที่ดำเนินงานโดยพ่อค้าคนหนึ่งซึ่งเป็นลูกครึ่งระหว่างมอแกนกับคนไทย ซึ่งเปิดเป็นร้านขายของชำ รับซื้อหรือแลกเปลี่ยนสัตว์น้ำจากมอแกเกาะสุรินทร์ และขายต่อให้กับพ่อค้าคนกลางในจังหวัดระนองและวิคทอเลีย พอยท์ (หน้า 119-121) นอกจากนี้มอแกนยังทำงานเป็นแรงงานรับจ้างชั่วคราว เช่น เป็นคนงานคัดขนาดปลาในตลาดปลาท้องถิ่น เป็นคนงานในโรงงานกะปิ (หน้า 93-94) เป็นคนงานเหมืองแร่ รวมไปถึงเป็นคนงานให้กับอุทยานฯ เช่น เป็นคนขับเรือนำเที่ยว การเป็นแรงงานเหล่านี้มอแกนได้รับค่าตอบแทนเป็นเงินค่าจ้าง (หน้า 147) การแลกเปลี่ยน ช่วงหน้าลมมรสุมจะมีเรือประมงขนาดใหญ่เข้ามาทอดสมอบริเวณอ่าวในเกาะสุรินทร์ มอแกนมักเข้าไปขอและแลกเปลี่ยนปลา ปลาแห้ง น้ำแข็งและน้ำมันดีเซล โดยใช้ผลิตภัณฑ์จากป่า เช่น น้ำผึ้ง หน่อไม้ เป็นสิ่งแลกเปลี่ยน มอแกนมองว่าเรือประมงขนาดใหญ่มีปลาเก็บไว้ในห้องเย็นจำนวนมาก ดังนั้นเรือประมงน่าจะเต็มใจแบ่งให้ บางครั้งมอแกนก็เสนอบริการเรือเล็กรับส่งลูกเรือจากเรือประมงไปยังเกาะสุรินทร์เพื่อแลกเปลี่ยนกับอาหารแห้งและน้ำมัน (หน้า 149-150) ความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจ มอแกนเกาะสุรินทร์มักได้รับความช่วยเหลือในเรื่องเงิน และสิ่งของจากคนนอก โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่รัฐประจำจังหวัด ทหารเรือ นักท่องเที่ยว และองค์กรเอกชน ในช่วงหน้าฝนการหาเก็บของทะเลเป็นไปอย่างยากลำบาก มอแกนมักขอปลาจากเรือประมงที่ทอดสมออยู่รอบๆ เกาะสุรินทร์ (หน้า 91) บางครั้งมอแกนก็ขอน้ำมันดีเซล อุปกรณ์ก่อสร้าง (แผ่นไม้ ตะปู) หรือยืมเครื่องมือก่อสร้างจากอุทยานฯ ในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยวอุทยานฯ มักให้อาหารที่เหลือจากศูนย์อาหารแก่มอแกน ส่วนองค์กรเอกชนท้องถิ่นบางครั้งจัดแบ่งอาหารแห้งและสิ่งของให้มอแกนผ่านอุทยานฯ (หน้า 146) นอกจากนี้ในช่วงเทศกาลงานบุญเดือนสิบของคนไทย มอแกนผู้หญิงและเด็กจะเข้าร่วม เพื่อรับการบริจาคจากคนที่มาทำบุญ โดยมอแกนจะนำตะกร้าและถุงใบใหญ่ติดตัวไปด้วย มอแกนจะนั่งเป็นแถวและวางตะกร้าไว้ตรงหน้า เพื่อรอรับขนมต้ม อาหารและสิ่งของ ส่วนเด็กๆ จะได้รับเงินจากคนที่มาทำบุญ หลังเสร็จสิ้นงานบุญมอแกนจะกลับเกาะสุรินทร์พร้อมกับเงิน อาหาร ข้าว เสื้อผ้าและขนมเต็มตะกร้า ขนมต้มที่ได้มานั้นมอแกนจะนำไปปิ้งด้วยไฟอ่อนๆ ซึ่งทำให้อยู่ได้นานถึง 2-3 วัน (หน้า 153-154) การบริโภค ในอดีตมอแกนบริโภคมันเทศป่าเป็นอาหารหลัก แต่ต่อมาหลังจากการค้าได้เริ่มขยายตัวมากขึ้น มอแกนจึงยอมรับเอา "ข้าว" เข้ามาเป็นอาหารหลัก เนื่องจากข้าวช่วยบรรเทาความหิวในช่วงที่ไม่สามารถออกทะเล หรือช่วงที่อากาศไม่เอื้ออำนวยต่อการออกไปหาเก็บ ซึ่งข้าวสารสามารถเก็บไว้ได้นานเป็นปี นัยสำคัญอีกประการหนึ่งของข้าวก็คือเรื่องของการแบ่งปัน กล่าวคือ อาหารทะเลเป็นอาหารยังชีพที่ต้องถูกแบ่งเมื่อมีในปริมาณมาก แต่ข้าวเป็นสิ่งสะสมส่วนตัวของครอบครัวที่ไม่ต้องนำมาแบ่งเมื่อมีปริมาณมาก นอกเสียจากแบ่งให้ญาติสนิทในยามขาดแคลน ดังนั้น ในช่วงที่มอแกนไม่ออกทะเล มอแกนก็จะกินข้าวกับน้ำตาล พริกหรือน้ำพริกกะปิ ข้าวเป็นอาหารหลักที่สำคัญที่แต่ละครอบครัวมักเก็บเอาไว้อย่างน้อย 50-100 กิโลกรัม เพื่อสร้างความมั่นใจว่าจะมีข้าวเพียงพอจนกว่าจนถึงการเดินทางเข้าเมืองในครั้งหน้า หากปริมาณข้าวในครัวเรือนเหลือน้อย มอแกนจะเริ่มเป็นกังวลและเป็นเหตุจูงใจให้ต้องออกไปดำหอยเพื่อนำไปขาย และซื้อข้าวมาเก็บเอาไว้ (หน้า 87-89) ในช่วงของการเริ่มตั้งถิ่นฐาน มอแกนเกาะสุรินทร์จะปลูกสวนผักเล็กๆ เอาไว้บริโภคในครัวเรือน พืชเหล่านี้จะเป็นพืชที่โตง่าย เช่น พริก แตงกวา ถั่ว ฟักทอง สัปปะรด และกล้วย เป็นต้น นอกจากนี้มอแกนยังเลี้ยงสัตว์ปีกไว้กินไข่และเนื้อ บางครั้งก็เอาไว้เป็นของแลกกับน้ำมันดีเซลหรือข้าวของจำเป็นอื่นๆ กับเรือประมงท้องถิ่น และเรือปลาทูน่า (หน้า 93) โดยทั่วไปแล้วมอแกนเกาะสุรินทร์จะไม่มีการถนอมอาหารเพื่อการบริโภคในครัวเรือน มอแกนนิยมทานปลาหรือหอยทะเลสด แต่ในปัจจุบันมอแกนเกาะสุรินทร์คุ้นชินกับอาหารกระป๋อง อาหารที่ผ่านกระบวนการปรุง และอาหารทางการค้าอื่นๆ ซึ่งมอแกนมักได้มาจากตลาดในเมือง (หน้า 79) ในสังคมการหาเก็บนั้นการสะสมความมั่งคั่งไม่ค่อยมีบทบาทมากนัก เมื่อมอแกนได้เงินจากการขายของให้กับนักท่องเที่ยว การขายสัตว์น้ำให้กับพ่อค้าคนกลาง หรือค่าแรงจากการทำงาน มอแกนจะนำมาใช้จ่ายเสียส่วนใหญ่ มอแกนมองรายได้ที่เป็นเงินสดว่าเป็นเหมือนกับการใช้สอยเพื่อยังชีพประจำวัน ซึ่งก็คือการบริโภคสำหรับวันเดียว (immediately consumed) ดังนั้น มอแกนจึงเน้นไปที่การใช้จ่าย/การบริโภคมากกว่าการเก็บ (saving) อย่างไรก็ตาม บางครั้งมีเงินมากมอแกนก็จะไปซื้อทองหรือเครื่องประดับมาเก็บไว้ เครื่องประดับเหล่านี้ไม่ได้เป็นเพียงเครื่องประดับร่างกายเท่านั้น แต่เป็นรูปแบบพื้นฐานของการเก็บ ดังนั้น ในช่วงมรสุมมอแกนมักนำเครื่องประดับเหล่านี้มาขายเป็นเงินสดเพื่อซื้ออาหารหรือเครื่องใช้จำเป็นต่างๆ และในหน้าแล้งเมื่อมอแกนมีเงินมากก็จะซื้อเครื่องประดับเหล่านี้เก็บไว้เช่นเดิม (หน้า 122-123) มอแกนเกาะสุรินทร์เดินทางไปจังหวัดระนองอย่างน้อยเดือนละครั้งเพื่อขายสินค้าทะเลที่สะสมไว้ โดยมอแกนจะแล่นเรือก่าบางและเทียบที่ท่าเรือของพ่อค้านายทุน หลังจากขายสินค้าแล้ว มอแกนมักจะไปตลาดเพื่อซื้ออาหารและเครื่องใช้จำเป็น (ตาราง 5.3) เด็กๆ มักสนุกสนานกับของฝากที่ซื้อมาจากเมือง เช่น เสื้อผ้าใหม่ ของเล่น ลูกอม เป็นต้น (หน้า 141)

Social Organization

เครือญาติเป็นหัวใจสำคัญของความสัมพันธ์ทางสังคมของมอแกน มอแกนเกาะสุรินทร์ส่วนใหญ่มาจากบรรพบุรุษเดียวกัน หน่วยทางสังคมพื้นฐานของมอแกนเป็นแบบครอบครัวเดี่ยวซึ่งรวมญาติที่เป็นพ่อหม้ายและแม่หม้ายด้วย มอแกนผู้ชายและผู้หญิงมีอิสระในการเลือกคู่ครองเอง มอแกนให้ความสำคัญกับชีวิตแต่งงานและครอบครัวมาก หลังการแต่งงานคู่แต่งงานสามารถเลือกที่จะอยู่กับเครือญาติฝ่ายภรรยาหรือสามีได้ หรือแม้แต่จะเลือกไปอยู่กับกลุ่มอื่นก็ได้เช่นกัน สถานภาพในทางเศรษฐกิจ-สังคมของมอแกนผู้หญิงและผู้ชายค่อนข้างเท่าเทียมกัน ผู้หญิงมีอิสระในการจัดการ เนื่องจากต้องรับผิดชอบครอบครัวในช่วงที่ผู้ชายไปออกทะเล โครงสร้างของชุมชนมอแกนได้รับอิทธิพลจากกิจกรรมที่เกิดขึ้นจากการตั้งถิ่นฐาน และการเคลื่อนย้าย (ตาราง 4.2) กิจกรรมดังกล่าวมักเกิดขึ้นในช่วงฤดูมรสุม ซึ่งตรงกับงานเฉลิมฉลองหล่อโบงประจำปี ช่วงนี้มอแกนจะมีโอกาสสร้างความคุ้นเคยระหว่างกัน และสร้างความรู้สึกทางสังคมที่เกิดจากการปฏิสัมพันธ์ หลังจากเสร็จสิ้นงานเฉลิมฉลองแล้วมอแกนหลายคนจะตัดสินใจอยู่ร่วมกลุ่มกัน และสร้างบ้านชั่วคราวบนหาดทรายที่ปลอดภัยจากลมมรสุม และเมื่อหน้าแล้งใกล้เข้ามามอแกนก็จะกลับไปออกทะเลอีกครั้ง (หน้า 96-98) ชุมชนมอแกนเป็นแบบพึ่งพาอาศัยกัน และประกอบไปด้วยกลุ่มเครือญาติ เครือญาติมักสร้างบ้านใกล้ชิดกัน หรือหากเป็นเรือก็จะจอดใกล้กัน โครงสร้างสังคมมอแกนมีลักษณะค่อนข้างจะแบบหลวมๆ ซึ่งไม่มีกฎเกณฑ์และแบบแผนที่ชัดเจนให้ปฏิบัติตาม (หน้า 101) ความสัมพันธ์ทางสังคมของผู้หาของป่าล่าสัตว์นั้นมักดำรงอยู่บนหลักการของการแบ่งปัน (principle of sharing) ซึ่งเป็นพฤติกรรมทั่วไปที่แทรกซึมอยู่ในจารีตประเพณี และสะท้อนออกมาเป็นประสบการณ์ร่วมกัน นัยของการแบ่งปันในสังคมหาของป่าล่าสัตว์นั้นมีหลากหลาย ในเทอมของชีวกายภาพ (biophysical term) มองว่าการแบ่งปันนั้นเป็นพฤติกรรมของการลดความเสี่ยงในสังคมหาของป่าล่าสัตว์ การแบ่งปันได้ไปหล่อเลี้ยงสังคมและทำให้กลุ่มสามารถอยู่รอดทางกายภาพ กล่าวคือ การแบ่งปันได้สร้างประโยชน์และผลตอบแทนร่วมกันบนความสัมพันธ์ทางสังคม นอกจากนี้การแบ่งปันยังเป็นเครื่องมือที่ช่วยสร้างความเข้มแข็งให้กับความสัมพันธ์ทางสังคม แต่ในขณะเดียวกันก็ขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์ทางสังคมที่การแบ่งปันนั้นถูกนำไปใช้เช่นกัน การแบ่งปันแบบสมัครใจ (Voluntary Sharing) โดยปกติแล้วการแบ่งปันแบบสมัครใจมักพบในสมาชิกของครอบครัวหรือหมู่เครือญาติที่ใกล้ชิด แต่สำหรับผู้หา (foragers) แล้วการกระจายอาหารภายในกลุ่มจะกว้างไปกว่าญาติสนิท ซึ่งจะคลอบคลุมถึงคนร่วมหมู่บ้าน เนื่องจากสมาชิกส่วนใหญ่เป็นญาติสนิทหรือเป็นกลุ่มที่มีความไว้เนื้อเชื่อใจมานานจนกลายเป็นความสัมพันธ์แบบเครือญาติเทียม การแบ่งปันจะขึ้นอยู่กับจำนวนและประเภทของอาหารที่ได้มาจากการหา ดังนั้น การแบ่งปันแบบสมัครใจจึงมักเกิดขึ้นเมื่ออาหารหรือวัตถุดิบมีปริมาณเกินกว่าการบริโภคประจำวัน (immediate consumption) โดยปกติแล้วมอแกนหาอาหารเพียงแค่การบริโภคในครัวเรือน แต่ถ้ามีมากก็จะแบ่งให้กับญาติสนิท อาหารที่นำมาแบ่งปันส่วนใหญ่จะเป็นอาหารสดมากกว่าอาหารที่ผ่านการปรุง เช่น ปลาสด หอยทะเล หัวมันป่า นอกจากนี้การแบ่งปันยังขึ้นอยู่กับฤดูกาลเช่นกัน กล่าวคือ ในช่วงหน้าแล้งอากาศเอื้ออำนวยแก่การหาปลา ช่วงนี้การแบ่งปันจะไม่เข้มข้นเหมือนกับฤดูมรสุม อย่างไรก็ตามจะมีอาหารบางประเภทที่ต้องนำมาแบ่งโดยธรรมเนียมปฏิบัติ ก็คือ เต่าทะเลและปลาตัวใหญ่ ซึ่งมีเนื้อในปริมาณมาก อาหารเหล่านี้จะต้องนำมาแบ่งให้ทั่วทั้งชุมชน ไม่ว่าจะจับมาด้วยวิธีใดก็ตาม (การจับแบบร่วมมือกัน หรือการจับแบบส่วนบุคคล) โดยปกติแล้วผู้ล่าจะได้รับเนื้อในปริมาณที่เท่ากับคนอื่น แต่จะพิเศษตรงที่ว่ามีสิทธิในการเลือกก่อน กรณีนี้ผู้ล่ามักไม่คัดค้านเรื่องการแบ่งปัน และในขณะเดียวกันผู้รับก็มักไม่แสดงออกถึงความดีใจ ภายในกลุ่มมอแกนคำว่า "ให้" (give) และ "แบ่งปัน" (share) มีความแตกต่างกัน กล่าวคือ "การแบ่ง" มักใช้กับกรณีที่มีอาหารในปริมาณมากและต้องนำมาแบ่งให้กับชุมชน ในขณะที่ "การให้" มีนัยเรื่องการส่งผ่านอาหารหรือสิ่งของจากบุคคลหนึ่งไปยังบุคคลอื่น นอกจากนี้อาหารที่ต้องนำมาแบ่งปันอีกประเภทก็คือ "น้ำผึ้ง" โดยขั้นแรกจะแบ่งให้กับญาติสนิทและสามารถเก็บกักตุนไว้เพื่อการค้าได้ ส่วนที่เหลือจะต้องนำไปแบ่งให้ทั้งชุมชน และวิญญาณในป่า อาหารอีกประเภทที่ถูกนำมาแบ่งก็คือ ปลาสดที่ได้มาจากเรือประมงขนาดใหญ่ ซึ่งมักได้รับมาในปริมาณมากเกินกว่าการบริโภคของ 1-2 ครอบครัว การแบ่งปันแบบสมัครใจนี้ไม่ได้เป็นไปเพื่อการหลีกเลี่ยงความเห็นแก่ตัวหรือการคำนวณเรื่องผลตอบกลับ แต่หัวใจของพฤติกรรมการแบ่งปันนั้นอยู่ที่ความพอใจของทั้งสองฝ่าย ซึ่งบทบาทของการเป็นผู้รับหรือผู้ให้นั้นจะสลับสับเปลี่ยนหมุนเวียนกันไปในแต่ละสถานการณ์ กล่าวคือ คนจับสัตว์ทะเลหรือคนหาน้ำผึ้งซึ่งอยู่ในฐานะของผู้แบ่งปัน ก็สามารถกลายสถานะเป็นผู้รับการแบ่งปันอาหารจากผู้อื่นได้เช่นกัน อย่างไรก็ตาม สำหรับอาหาร/สิ่งของ และสารเสพติดที่ซื้อมา เช่น ยาสูบ เหล้าขาว โดยทั่วไปแล้วจะไม่ถูกนำมาแบ่งปัน แต่ในเครื่องมือเฉพาะบางประเภท เช่น กระชอน กระต่ายขูดมะพร้าว หรือที่ปลอกหัวมัน มักถูกยืมในหมู่เครือญาติ แต่ถ้าเป็นเครื่องมือเฉพาะจริงๆ ก็จะถูกยืมไปทั่วทั้งชุมชน การแบ่งปันแบบเรียกร้อง (Demand Sharing) โดยทั่วไปแล้วการแบ่งปันแบบเรียกร้องได้รับแรงกระตุ้นมาจากศักยภาพของผู้รับไม่ใช่การให้โดยการบริจาคจากผู้ให้ การแบ่งปันแบบเรียกร้องเป็นหัวใจของกลไกการสร้างความเท่าเทียมที่ทำให้สิทธิแห่งความเสมอภาคและลัทธิจารีตนิยมดำรงอยู่ เนื่องจากการแบ่งปันประเภทนี้ทำให้การสะสมส่วนเกินเป็นเรื่องยากลำบาก ภายในกลุ่มไม่มีใครสามารถสะสมส่วนเกินจนก่อให้เกิดเป็นลำดับชั้นทางเศรษฐกิจ-สังคมได้ เป็นเพราะว่าส่วนเกินเหล่านั้นจะต้องถูกนำมาแบ่งให้กับเครือญาติและเพื่อนบ้าน ทั้งนี้เจ้าของไม่สามารถปฏิเสธการแบ่งปันส่วนเกินได้เลย แต่ในกรณีที่มีอาหารในปริมาณน้อย ศักยภาพของผู้รับก็จะมีให้เลือกน้อยเช่นกัน ปฏิบัติการของการแบ่งปันแบบเรียกร้องได้สร้างภาระในการสังเกตการณ์และข้อผูกพันของทั้งสองฝ่าย (ทั้งผู้ให้และผู้รับ) แต่ในขณะเดียวกันก็เอื้อประโยชน์ให้ทั้งสองฝ่าย ในส่วนของประโยชน์กับผู้ให้ ทำให้ผู้ให้ไม่ต้องคอยจดจำหนี้ทางเศรษฐกิจ-สังคม และผู้ให้ก็ได้เติมเต็มข้อผูกพันผ่านการเรียกร้องของผู้รับ ส่วนผู้รับก็ได้เปรียบจากการรับอาหารหรือความช่วยเหลือต่างๆ การแบ่งปันแบบเรียกร้องสามารถแบ่งเป็น 4 ประเภท ประเภทแรก การแบ่งปันแบบเรียกร้องทางอ้อม : การบ่นและการตั้งคำถาม การแบ่งปันลักษณะนี้มักถูกแสดงออกผ่านการบ่นเกี่ยวกับการขาดแคลนอาหาร/วัตถุดิบ กล่าวคือ โดยปกติแล้วมอแกนมักทักทายด้วยประโยค "คุณมีอะไรกิน (what curry/dish/food do you have?) ซึ่งประโยชน์นี้เป็นรูปแบบของการร้องขอหรือเรียกร้องเพื่อการแบ่งปัน อีกนัยหนึ่งก็เป็นการแสดงนัยว่าส่วนเกินของอาหารต้องนำมาแบ่งปัน ส่วนคำตอบที่มักจะได้รับก็คือ "ไม่มีอะไรกินกับข้าว (there is nothing to eat with rice) ซึ่งหมายถึง ไม่มีอาหารเพียงพอแก่การแบ่งปัน ประเภทที่สอง การแบ่งปันแบบเรียกร้องทางตรง : การแสดงเจตจำนง (request) และการขอ (begging) การแบ่งปันแบบนี้เป็นการแสดงเจตจำนงโดยเปิดเผยเพื่ออาหาร วัตถุดิบ หรือความช่วยเหลือ โดยปกติแล้ว "การขอ" เป็นพฤติกรรมที่มักเกิดขึ้นกับเด็ก ส่วนผู้ใหญ่จะมีรูปแบบอื่นที่แตกต่างออกไป ประเภทที่สาม การหยิบไปเฉยๆ (simple taking) หรือ การแบ่งปันโดยจำยอม (passive sharing) การแบ่งปันรูปแบบนี้จะแตกต่างจากรูปแบบที่แล้วมา กล่าวคือ ผู้รับแบ่งไปโดยไม่ขออนุญาตจากเจ้าของ ซึ่งมักเกิดขึ้นต่อหน้าเจ้าของและเกิดขึ้นเฉพาะกรณีที่ส่วนเกินของอาหารหรือวัตถุดิบมีจำนวนมากอย่างเห็นได้ชัดเจน ดังนั้น เจ้าของจึงมักไม่ค่อยให้ความใส่ใจกับการกระทำเช่นนี้มากนัก ประเภทที่สี่ การแบ่งปันเชิงบังคับ หมอผีในสังคมมอแกนมักเป็นเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับความโชคร้าย การเจ็บไข้ได้ป่วยหรือความตายของบุคคลหรือครอบครัว เนื่องจากหมอผีเป็นคนกลางของการใช้อำนาจเหนือธรรมชาติ จึงทำให้ผู้คนเกิดความกลัวเมื่อถูกเรียกร้องจึงปฏิเสธไม่ได้ ดังนั้น อาจกล่าวได้ว่าการแบ่งปันประเภทนี้ไม่ได้เป็นการแบ่งปันแบบเรียกร้องตามปกติวิสัย แต่มีนัยความหมายในเชิงลบ ด้วยพฤติกรรมของการให้นั้นต้องถูกกระตุ้นเชิงบังคับด้วยความกลัว (หน้า 103-117)

Political Organization

ความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างมอแกนกับพ่อค้า มอแกนกับพ่อค้ามีความสัมพันธ์แบบพึ่งพาอาศัย โดยการแลกเปลี่ยนทางการค้าจะตั้งอยู่บนความไว้วางใจและผลประโยชน์แลกเปลี่ยน กล่าวคือ มอแกนต้องพึ่งพาพ่อค้าหรือพ่อค้าคนกลางเพื่อขายสินค้าและนำเงินไปซื้ออาหารหลัก (ข้าว) อาหารและสินค้าเชิงพาณิช และน้ำมันเครื่องยนต์เรือ ในขณะเดียวกันที่พ่อค้าก็ต้องการผูกขาดการซื้อสินค้าจากมอแกน โดยการสร้างข้อผูกมัดต่างๆ ขึ้นมาเพื่อเป็นหลักประกันว่าพ่อค้าจะมีสินค้าไว้ขายอย่างต่อเนื่อง ดังเช่น การสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจให้กับมอแกน ซึ่งก็มีนัยของกำไร เนื่องจากสินค้าทะเลมีมูลค่าทางการตลาดสูงมาก หรือการแต่งงานกับมอแกน ซึ่งพ่อค้าไม่ต้องเข้าไปเกี่ยวข้องกับระบบการแบ่งปันเหมือนกับคนใน หรือแม้แต่การจ่ายค่าตอบแทนในรูปแบบของสารเสพติด เนื่องจากมอแกนเชื่อว่าการเสพสารเหล่านั้นจะช่วยให้มีกำลังในการทำงานมากขึ้น และจะทำให้ได้เงินมากขึ้น จากความเชื่อดังกล่าวทำให้มอแกนต้องพึ่งพาการค้าอย่างหนักเพื่อให้ได้มาซึ่งสารเสพติดและสินค้าอุปโภคบริโภค เป็นต้น ในปัจจุบันความสัมพันธ์ระหว่างมอแกนกับพ่อค้าส่วนใหญ่เป็นลักษณะของการผูกมัดส่วนบุคคล (personal ties) กล่าวคือ มอแกนจะถูกผูกมัดอยู่กับพ่อค้าที่เป็นผู้ให้ยืมเรือและเครื่องมือในการทำประมงอื่นๆ นอกจากนี้สำหรับมอแกนนั้น พ่อค้ายังเป็นผู้ให้ความช่วยเหลือในยามฉุกเฉินได้ เช่น ในยามเจ็บป่วย พ่อค้าจะเป็นคนรับผิดชอบค่ารักษาพยาบาลให้ (หน้า 134-139) สังคมมอแกนมีลักษณะที่เป็นแบบโครงสร้างหลวมที่ไม่มีกฎเกณฑ์และแบบแผนที่ชัดเจน จึงทำให้ไม่มีการแทรกแซงหรือการขับไล่ของกลุ่ม แต่จะมีการติฉินนินทาหรือการวิพากษ์วิจารณ์ที่คอยทำหน้าที่ควบคุมสมาชิกให้อยู่ในกรอบ (หน้า 101) นอกจากนี้ "การแบ่งปัน" ยังเป็นกลไกในการควบคุมความเสมอภาคในเชิงเศรษฐกิจ-สังคมให้กับกลุ่มมอแกน ซึ่งการแบ่งปันแบบเรียกร้องนั้นทำให้การสะสมเป็นไปอย่างลำบาก เนื่องจากส่วนเกินจะต้องถูกนำมาแบ่งปันโดยไม่สามารถปฏิเสธได้ หรือแม้แต่จะแอบซ่อนเอาไว้ก็ทำได้อย่างยากลำบาก เนื่องจากในสังคมผู้หาเก็บนั้นทุกคนจะรู้เรื่องของแต่ละคนเป็นอย่างดี ในสังคมมอแกนทั้งเรือและบ้านมักถูกเปิดทั้งไว้ตลอดเวลา ข้าวของในแต่ละที่อยู่อาศัยจึงเป็นที่รับรู้กันอยู่ทั่วไป ดังนั้น จึงเป็นการยากที่จะซ่อนหรือแอบอาหารเอาไว้ (หน้า 110-111) ในสังคมมอแกนเกาะสุรินทร์มักเกิดการสูญเสียการจัดสรรและการแบ่งปัน (depersonalized distribution and sharing) เมื่อมีคนนอกหยิบยื่นความช่วยเหลือเชิงวัตถุภายใต้รูปแบบของอาหารเชิงพาณิช และเสื้อผ้า ซึ่งสิ่งเหล่านี้โดยปกติแล้วต้องถูกนำมาจัดสรรให้เท่าๆ กันภายในกลุ่ม แต่มักมีปัญหาว่าผู้จัดสรรมีแนวโน้มที่จะจัดสรรให้กับครอบครัวตัวเองหรือญาติสนิทในปริมาณมากกว่าคนอื่น กรณีนี้จะแตกต่างไปจากการแบ่งปันเนื้อเต่าหรือปลาที่ได้มาจากเรือประมงขนาดใหญ่ที่ต้องนำมาแบ่งตามจารีตประเพณี ซึ่งจะเป็นที่ยอมรับกันว่าบุคคลหรือครอบครัวมีสิทธิพิเศษในการรับ ดังนั้น การจัดสรรในกรณีนี้หากไม่เกิดความเท่าเทียมขึ้นเพียงเพราะสิทธิพิเศษของความเป็นญาติแล้วละก็ อาจทำให้มอแกนที่ได้รับน้อยกว่าเกิดความไม่พอใจและอาจเกิดความขัดแย้งขึ้นได้เช่นกัน (หน้า 119) การเพิ่มขึ้นของการแข่งขัน ความขัดแย้งภายในกลุ่ม รวมไปถึงการแบ่งปันที่ลดลงนั้นเป็นผลมาจากการค้าและการแลกเปลี่ยนกับคนนอก สิ่งเหล่านี้ทำให้กลไกของการสร้างความเสมอภาคทำงานได้ไม่เต็มที่นัก กล่าวคืออาหารที่ได้มาจากการหาเก็บนั้นเป็นสิ่งที่ต้องบริโภคทันที แต่สำหรับอาหารเชิงพาณิชนั้นสามารถเก็บ ซ่อนหรือกักตุนได้ ยิ่งไปกว่านั้นเมื่อเงินสดถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการจัดหาอาหารและสิ่งของอุปโภคแล้วนั้นก็ทำให้การแบ่งปันไม่สามารถเกิดขึ้นได้ ผลที่ตามมาก็คือความแตกแยกทางบรรทัดฐานทางสังคมและกระทบกระเทือนถึงความสัมพันธ์ทางสังคม (หน้า 125) ในสังคมการหาเก็บนั้น การพูดคุย การแบ่งปัน การล้อเล่น และการย้ายถิ่นเป็นกลไกที่ถูกนำมาใช้เพื่อหลีกเลี่ยงการกระทบกระทั่งกันภายในกลุ่ม ความขัดแย้งและการทะเลาะในสังคมมอแกนเป็นเรื่องปกติ โดยมากรูปแบบของการเป็นปรปักษ์ (a form of antagonism) มักถูกแสดงออกมาทางคำพูดมากกว่าความรุนแรงทางกายภาพ ในกรณีที่การเป็นปกปักษ์อยู่ในขั้นรุนแรงก็จะส่งผลโดยตรงกับความสัมพันธ์แบบพึ่งพาอาศัยกัน (interdependent relations) ซึ่งก็คือ การหยุดนิ่งของการปฏิสัมพันธ์และการแบ่งปันอาหารและวัตถุดิบ ดังนั้น ภายใต้ความขัดแย้งที่รุนแรงมอแกนมักแก้ปัญหาโดยการย้ายออกจากชุมชนหรือบางครั้งก็เข้าไปร่วมกับมอแกนกลุ่มอื่น อย่างไรก็ตามเมื่อความรู้สึกเป็นปรปักษ์ เบาบางลง มอแกนอาจย้ายกลับมาชุมชนเดิม การควบคุมความขัดแย้งภายในกลุ่ม การนำความขัดแย้งเข้าสู่พิธีกรรม หรือ ritualization of conflict จะช่วยบรรเทาความเข้มข้นของความเป็นปรปักษ์ พิธี nyau okang เป็นส่วนหนึ่งของพิธีกรรมของมอแกนที่แสดงผ่านการสวดของหมอผี พร้อมกันนั้นคำบ่น (complain) หรือคำตำหนิ (reproach) ของมอแกนก็จะถูกส่งผ่านไปยังวิญญาณแทนที่การเผชิญหน้าระหว่างบุคคล หลังจากที่การบ่นถูกเปล่งออกไปสู่สิ่งเหนือธรรมชาติแล้ว พิธีกรรมก็จะช่วยยุติการแสดงออกของความรู้สึกในเชิงลบของแต่ละฝ่าย กรณีความขัดแย้งของเด็กๆ มอแกนทั้งหญิงชายมักมีรูปแบบการแสดงออกทางอารมณ์โดยการร้องเพลง กล่าวคือ แทนที่จะเป็นการตะโกนด่ากัน กลับเป็นการแสดงอารมณ์ผ่านเพลงที่ถูกแต่งขึ้นโดยใช้ทำนองท้องถิ่น เด็กๆ มักเดินร้องเพลงเสียงดังไปทั่วหมู่บ้าน ต่อความขัดแย้งกรณีนี้มอแกนผู้ใหญ่มักไม่เข้าไปยุ่ง แต่จะคอยดูอยู่ห่างๆ หรือบางครั้งก็ไม่ให้ความสนใจเลย เพราะคิดว่าเป็นเรื่องของเด็กๆ และไม่นานก็จะถูกลืม มุมมองเช่นนี้ทำให้ความขัดแย้งไม่ขยายตัวไปสู่ผู้ใหญ่ (หน้า 124) สำหรับความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มมอแกนกับคนนอกกลุ่มต่างๆ ทั้งพ่อค้าและหน่วยงานรัฐนั้นเป็นลักษณะของการพึ่งพาอาศัยกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับพ่อค้าที่มอแกนเข้าไปติดต่อค้าขายด้วย ซึ่งการเข้าไปพึ่งพากับกลุ่มต่างๆ เหล่านั้น ทำให้ต่างฝ่ายต้องยอมรับเงื่อนไขหรือข้อผูกมัดของแต่ละฝ่าย ความสัมพันธ์ระหว่างมอแกนกับอุทยานแห่งชาติเกาะสุรินทร์ มอแกนเป็นกลุ่มที่ได้รับสิทธิให้อาศัยในเขตพื้นที่สงวน ซึ่งแตกต่างจากชาวทะเลกลุ่มอื่นที่ต้องถูกย้ายไปตั้งถิ่นฐานแห่งใหม่ แต่อย่างไรก็ตามกิจกรรมการหาเก็บของมอแกนต้องถูกจำกัดอยู่ภายใต้ขอบเขตของอุทยานแห่งชาติ ซึ่งบางครั้งก่อให้เกิดปัญหาและความขัดแย้ง เนื่องจากการเคลื่อนย้ายถิ่นฐานและพื้นที่ทำประมงของมอแกนถูกจำกัด แม้กระนั้นมอแกนก็ยังมีการฝ่าฝืน จนบางครั้งเจ้าหน้าที่ต้องเข้าไปตักเตือน หลังจากที่ประเทศไทยรับเอาแนวคิดเกี่ยวกับพื้นที่สงวนมาจากอเมริกา การกำหนดเขตพื้นที่อนุรักษ์และหน่วยงานควบคุมดูแลทรัพยากรธรรมชาติก็ถูกจัดตั้งขึ้นมา นโยบายเกี่ยวกับพื้นที่อนุรักษ์ได้ส่งผลต่อกิจกรรมการหาเลี้ยงชีพของมอแกน มอแกนถูกสั่งห้ามล่ากระจง เต่าทะเล กุ้งมังกร และหอยมือเสือ ในขณะที่เนื้อเต่าเป็นแหล่งโปรตีนที่สำคัญที่สุดของมอแกนในช่วงฤดูมรสุม และเนื้อเต่ายังเป็นของเซ่นไหว้ที่สำคัญในพิธีเฉลิมฉลองเสาหล่อโบงประจำปีอีกด้วย ดังนั้น การห้ามล่าเต่าทะเลจึงส่งผลในด้านลบต่อวัฒนธรรมประเพณีของมอแกน มอแกนเกาะสุรินทร์ไม่เข้าใจว่าทำไมพวกเขาจึงถูกห้ามล่าเต่าทะเล ในขณะที่เรือหาปลาท้องถิ่นได้รับอนุญาต มอแกนไม่เห็นด้วยกับการห้ามดังกล่าว แต่ก็ไม่สามารถเจรจากับอุทยานได้ อย่างไรก็ตามบางครั้งมอแกนก็ต้องแอบล่าเต่าทะเล เนื่องจากเกรงว่าจะโดนอุทยานจับได้ (หน้า 172-175) ในบางกรณีความสัมพันธ์ระหว่างหัวหน้าอุทยานและเจ้าหน้าก็เป็นแบบพึ่งพาอาศัย โดยอุทยานเป็นเสมือนผู้อุปถัมภ์ มอแกนมักขอน้ำมันดีเซลและวัสดุอุปกรณ์ก่อสร้างจากอุทยาน หรือแม้แต่ในฤดูกาลท่องเที่ยวอุทยานก็จะนำอาหารที่เหลือจากการต้อนรับนักท่องเที่ยวไปให้มอแกน นอกจากนี้อุทยานยังทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการรับของบริจาคจากหน่วยงานภายนอกไปสู่มอแกน บางครั้งอุทยานก็ว่าจ้างมอแกนให้มาทำงานเป็นคนงานชั่วคราวและจ่ายค่าตอบแทนเป็นเงินค่าจ้าง เช่น เป็นคนขับเรือท่องเที่ยว รับจ้างเก็บไข่เต่าเพื่อให้อุทยานนำไปเพาะพันธุ์ เป็นต้น ในทางกลับกันเจ้าหน้าที่อุทยานก็ขอความช่วยเหลือมอแกน ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องการยืมเรือ รวมไปถึงการพึ่งพาผู้นำทางจิตวิญญาณของมอแกนในการรักษาความเจ็บป่วยเบื้องต้น แต่อย่างไรความสัมพันธ์ดังกล่าวก็มีลักษณะผิวเผินไม่เหมือนกับความสัมพันธ์ระหว่างมอแกนกับพ่อค้า เนื่องจากเจ้าหน้าที่อุทยานมักมีการสลับสับเปลี่ยนโยกย้ายไปประจำพื้นที่อื่นๆ รวมไปถึงมอแกนส่วนใหญ่พูดภาษาไทยได้ไม่ดีนัก (หน้า 145-149)

Belief System

ในกลุ่มผู้หาเก็บส่วนใหญ่มองว่าสิ่งแวดล้อมกายภาพและสิ่งเหนือธรรมชาติเป็นระบบเดียวกัน เมื่อมอแกนหาเก็บอาหารในบางประเภทได้ เช่น เม่นทะเล หอยนางรม น้ำผึ้ง มอแกนต้อง "แบ่ง (share)" ให้กับวิญญาณโดยผ่านพิธีกรรมการอย่างเป็นทางการ เนื่องจากมอแกนเชื่อว่าหากไม่นำอาหารเหล่านั้นมาแบ่งปัน จะต้องถูกลงโทษโดยวิญญาณ หรือแม้แต่การแบ่งปันแบบสมัครใจให้แก่คนในชุมชน หากสิ่งของที่ต้องนำมาแบ่งถูกเก็บกักตุนหรือแอบซ่อนเอาไว้ มอแกนเชื่อว่าความโชคร้าย ความเจ็บป่วย หรือความตายจะเกิดขึ้นกับบุคคลนั้นหรือชุมชนได้ เนื่องจากอาหารที่หาเก็บได้มานั้นได้รับการช่วยเหลือจากสิ่งเหนือธรรมชาติ (หน้า 107-108) ในสังคมมอแกนมีวิญญาณหลายประเภท แต่ที่สำคัญๆ ก็คือ วิญญาณบรรพบุรุษ ที่สิงสถิตอยู่ในเสาหล่อโบง (lobong) ซึ่งเป็นเสาไม้เกาะสลัก และวิญญาณที่เรียกว่า "ธีดา หรือ Thida หรือ ธีดาห์ หรือ Theedah" เป็นเสมือนผู้สร้าง หรือวิญญาณที่ดี มอแกนติดต่อสื่อสารกับสิ่งเหนือธรรมชาติผ่านพิธีกรรมและอาศัยหมอผีเป็นผู้ทำพิธีกรรม มอแกนเรียกหมอผีว่า "ออลาง พอที หรือ olang poti" บนเกาะสุรินทร์มีผู้นำทางจิตวิญญาณ 1 คน หมอผี 4 คน และ 3 ใน 4 คนนั้นเป็นผู้หญิง ในระหว่างพิธีกรรมหมอผีจะร่ายคาถาที่เป็น "ภาษาเฉพาะ (esoteric language)" พิธีกรรมของมอแกนสามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ ปัจเจกกับชุมชน ซึ่งส่วนใหญ่มักเป็นการร้องขอให้ปกป้องสมาชิกในชุมชน เช่น การออกทะเลในช่วงหน้าฝน พิธีกรรมของปัจเจก มอแกนมักอันเชิญสิ่งเหนือธรรมชาติเพื่อรักษาความเจ็บป่วยและทำคลอดเด็ก - พิธีกรรมการรักษาความเจ็บป่วย หมอผีจะทำการร่ายคาถาพร้อมๆ กับถูลงไปบนร่างกายของคนเจ็บ หากคนเจ็บหายจากอาการเจ็บป่วย หมอผีมักได้รับสิ่งของเป็นการตอบแทน การรักษาแผนปัจจุบันเป็นการรักษาที่เหนือกว่าการรักษาโดยวิญญาณ เนื่องจากประสิทธิผลของการรักษาโดยวิญญาณนั้นไม่แน่นอน ซึ่งขึ้นอยู่กับสภาวะทางอารมณ์ของวิญญาณ - พิธีการทำคลอดเด็ก หมอผีจะร่ายคาถาเพื่อบอกวิญญาณให้รับรู้ถึงการเกิดของเด็ก และขอให้เด็กปลอดภัยและคลอดง่าย ในกรณีที่เด็กคลอดยาก หมอผีจะทำน้ำมนต์ให้ผู้เป็นแม่ดื่มและชโลมน้ำมนต์ไปทั่วร่างกายของผู้เป็นแม่ หลังคลอดหากแม่และเด็กมีอาการปลอดภัย หมอผีจะได้รับเงินเป็นการตอบแทน พิธีกรรมของชุมชน หมอผีจะทำพิธีกรรมในฐานะตัวแทนของชุมชน ซึ่งมักไม่มีค่าตอบแทน พิธีกรรมที่สำคัญของชุมชนมอแกนก็คือ การเฉลิมฉลองหล่อโบง (เสาผีบรรพบุรุษ) ประจำปี เป็นเวลา 2 หรือ 3 วัน เริ่มขึ้นเดือนเมษายน ในบริเวณพื้นที่ที่หล่อโบงตั้งอยู่ ในทุกๆ ปี มอแกนจะรวมตัวเฉลิมฉลองกันที่เกาะหลัก (base island) จากนั้นมอแกนจะเกะสลักและเลือกเสาหล่อโบงเพื่อเป็นการตอบแทนให้กับวิญญาณบรรพบุรุษ หัวใจหลักของการเฉลิมฉลองนี้เพื่อเป็นการขยายพฤติกรรม "การแบ่งปัน หรือ sharing" ไปสู่สิ่งมีชีวิตในจักรวาล ในพิธีกรรมของมอแกนส่วนใหญ่มักใช้เหล้าขาวเป็นองค์ประกอบหลัก เหล้าขาวไม่ได้เป็นเพียงสิ่งของในการตอบสนองแก่วิญญาณเท่านั้น แต่ยังมีนัยของความซับซ้อนในเรื่องการแลกเปลี่ยนและความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสิ่งเหนือธรรมชาติ นอกจากนี้การเฉลิมฉลองยังสร้างความสัมพันธ์ทางสังคมในหมู่มอแกนจากการรวมตัวกันแบบชั่วคราวบนเกาะหลักในช่วงฤดูฝน ในช่วงของการเฉลิมฉลอง ก่าบาง (เรือ) ขนาดจำลองจะถูกสร้างขึ้น มอแกนจะร้องและเต้นรำรอบก่าบาง มอแกนจะนำข้าวสารไปใส่ไว้ในก่าบางเพื่อส่งต่อให้กับวิญญาณบรรพบุรุษ และปล่อยก่าบางจำลองลงสู่ทะเลในช่วงเที่ยงของวันสุดท้ายของการเฉลิมฉลอง มอแกนเชื่อกันว่าเรือก่าบางจำลองและสิ่งของที่ใส่ลงไปนั้นจะนำความโชคร้ายออกไปจากมอแกน นอกจากนี้พิธีกรรมของการตาย ยังแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างมอแกนกับโลกแห่งวิญญาณ เมื่อมีคนตายเกิดขึ้น ข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ ก็จะถูกฝังไปพร้อมๆ กับร่างกาย เพราะเชื่อว่าสิ่งของเหล่านั้นจะถูกส่งไปยังชาติหน้า ข้าวของดังกล่าวรวมไปถึงทอง เครื่องเพชร หมาก เสื้อผ้า และเสื่อ หากคนตายเป็นผู้หญิงเครื่องมือในการขุดหาเผือกและหอยจะถูกฝังตามไปด้วย แต่ถ้าคนตายเป็นผู้ชายเครื่องมือหาปลา เช่น หน้ากาก หอกแทงปลา หรือเครื่องมือในการสร้างเรือ ก็จะถูกฝังตามไปเช่นกัน โดยปกติแล้วมอแกนไม่ชอบเรื่องการตาย มอแกนมักย้ายออกจากถิ่นฐานชั่วคราวเมื่อมีการตายเกิดขึ้นในชุมชน การติดต่อกับคนตายนั้นต้องอาศัยหมอผี และต้องสร้างความสัมพันธ์ใหม่โดยการให้สิ่งของแก่วิญญาณ วันที่เจ็ดของการตาย พิธีกรรมจะถูกจัดขึ้น โดยหมอผีจะอันเชิญดวงวิญญาณของคนตายให้มาสิงสถิตอยู่ที่ถาดวิญญาณของหมอผี (shaman's spirit tray) เพื่อป้องกันไม่ให้วิญญาณล่องลอยไปอยู่ในพื้นที่อื่น วิญญาณจะถูกร้องขอให้ช่วยปกป้องชุมชน และดลบันดาลให้เกิดความสำเร็จในการหาเก็บ รวมไปถึงการคุ้มครองเรื่องความเจ็บป่วย ตลอดทั้งปีมอแกนจะมีพิธีกรรมต่างๆ เพื่อหยุดยั้งวิญญาณชั่วร้าย และเพื่อแสดงความเคารพต่อวิญญาณที่คอยปกป้อง นัยของพิธีกรรมเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ของการแบ่งปันและการแลกเปลี่ยนระหว่างมอแกนกับสิ่งเหนือธรรมชาติตามคติของมอแกน ความสัมพันธ์ของมอแกนกับโลกเหนือธรรมชาติได้เข้าไปมีอิทธิพลต่อความสัมพันธ์กับธรรมชาติ ดังเช่น มอแกนเชื่อว่าลิงแสมทุกตัวบนเกาะคือการปรากฏกายของมาดาห์ หรือ Madah ซึ่งเป็นหมอผีผู้ยิ่งใหญ่ที่เพิ่งเสียชีวิตไป ดังนั้น มอแกนจึงไม่ล่า กินหรือทำร้ายลิงแสมเลย รวมไปถึงต้นไม้ใหญ่หรือไม้กฤษณา ซึ่งมอแกนเชื่อว่ามีวิญญาณเป็นเจ้าของ ดังนั้น ก่อนที่จะตัดต้นไม้เหล่านี้ มอแกนจะจุดธูปเทียน และวางเครื่องเซ่นไหว้ เช่น หมาก เพื่อเป็นการขออนุญาตและขอขมาต่อวิญญาณ (หน้า 156-160)

Education and Socialization

การเรียนรู้ของมอแกนส่วนใหญ่เป็นวิธีการที่ไม่มีโครงสร้าง (unstructured methods) ไม่มีการสอนที่เป็นทางการ มอแกนมักเริ่มด้วยจากการสังเกต แล้วเลียนแบบและปฏิบัติจนกลายเป็นทักษะ มอแกนผู้หญิงจะนั่งดูแม่หรือญาติเวลาที่มีการสานเสื่อ แล้วก็จะลองทำ ส่วนผู้ชายจะเรียนรู้โดยการดูพ่อและการช่วยเหลือเล็กๆ น้อยๆ (หน้า 182) ในสังคมมอแกนเด็กๆ มักถูกปล่อยให้เล่นกันเองเป็นกลุ่มโดยไม่มีผู้ใหญ่ดูแล เด็กๆ มีอิสระในการเล่นและไม่ค่อยมีเรื่องชกต่อยกัน มอแกนผู้ใหญ่มักไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการทะเลาะของเด็ก ส่วนเด็กที่โตขึ้นมาหน่อยก็จะติดตามครอบครัวไปออกทะเลหรืออยู่ช่วยงานในบ้าน (หน้า 97)

Health and Medicine

มอแกนมักพึ่งพาอำนาจเหนือธรรมชาติในการรักษาความเจ็บไข้ได้ป่วยทั่วไป หมอผีจะเป็นผู้ทำการรักษาโดยผ่านพิธีกรรม ทั้งนี้ประเภทและรายละเอียดของพิธีกรรมได้กล่าวไว้แล้วในหัวข้อระบบความเชื่อ

Art and Crafts (including Clothing Costume)

ในช่วงหน้าฝนมอแกนผู้หญิงจะเข้าป่าเพื่อไปหาเก็บใบเตย และนำมาสานเป็นเสื่อ กล่องใส่ของ และหลังคาเรือก่าบาง (หน้า 69) การสานสิ่งของด้วยใบเตยนั้น มอแกนจะต้องตัดใบเตยจากต้นเตยในป่า และนำมาที่หมู่บ้าน เพื่อลิดหนามออก ตัดผ่าออกเป็นแผ่น ตากแดด แล้วนำมาแช่หรือต้มน้ำ จากนั้นนำไปตากจนแห้ง แล้วนำไปขัดจนนิ่มก่อนนำไปสานเป็นรูปร่าง (หน้า 176-177)

Folklore

ตำนานเกี่ยวกับมอแกนในงานดุษฎีนิพนธ์ชิ้นนี้ไม่ได้มีการกล่าวถึง แต่จะมีเพียงแค่ข้อถกเถียงเกี่ยวกับการเป็นโจรสลัดของมอแกน ซึ่งแนวคิดเกี่ยวกับโจรสลัดนี้ได้ครอบคลุมความหมายของกลุ่มชาวทะเลทั้งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (หน้า 41)

Ethnicity (Ethnic Identity, Boundaries and Ethnic Relation)

เกาะสุรินทร์ประกอบด้วยมอแกน 2 กลุ่มย่อย กลุ่มหนึ่งอาศัยอยู่ที่ดายา อีกกลุ่มหนึ่งอาศัยอยู่ที่อูเนค ทั้ง 2 กลุ่มมีการปฏิสัมพันธ์กันอย่างผิวเผิน ถึงแม้ว่าจะมีความคุ้นเคยกัน ในบางครั้งก็เดินทางไปเยี่ยมเยียนกันบ้างในช่วงน้ำลง ทั้ง 2 กลุ่มนี้ได้จำแนกตัวเองออกจากกันอย่างชัดเจน โดนการเรียกตัวเองว่าเป็น "คนดายา หรือ Olang Daya" หรือ "คนอูเนค หรือ Olang Au Nek" (หน้า 101) บนเกาะสุรินทร์จะมีร้านขายของชำ ซึ่งพ่อค้าย้ายมาจากเกาะในพม่า เป็นลูกครึ่งระหว่างพ่อที่เป็นคนไทยกับแม่ที่เป็นมอแกน พ่อค้าคนนี้ได้รับการศึกษาจากโรงเรียนไทยท้องถิ่น รู้จักภาษาไทยและมีทักษะในการคิดเลข พ่อค้ามีญาติอยู่บนเกาะสุรินทร์ แต่บ่อยครั้งที่พ่อค้าพยายามจำแนกตัวเองออกจากกลุ่มมอแกน เพื่อหลบเลี่ยงการเข้าไปเกี่ยวข้องกับระบบการแบ่งปัน ดังเช่น มอแกนทั่วไปจะนับถือวิญญาณ แต่พ่อค้าคนนี้กลับแสดงตนว่าเป็นชาวพุทธที่เคยบวชเป็นสามเณร อัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ที่หลากหลายและความแตกต่างทางศาสนาของพ่อค้ามักเอื้อประโยชน์ทางการค้า ด้านหนึ่งของพ่อค้าที่มีบรรพบุรุษเป็นไทยนั้นทำให้พ่อค้าไม่ต้องปฏิบัติตามระบบคุณค่าของมอแกน โดยเฉพาะอย่างยิ่งพันธะของการแบ่งปัน ดังนั้น พ่อค้าจึงสามารถสร้างสมดุลในเรื่องการแลกเปลี่ยน และในขณะเดียวกันก็สามารถหากำไรจากการค้าได้ อีกด้านหนึ่งของพ่อค้าที่มีบรรพบุรุษเป็นมอแกนก็จะช่วยสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างพ่อค้ากับมอแกน เพราะว่ามอแกนเชื่อว่าพ่อค้าจะไม่โกง และพ่อค้าก็รู้ว่าหนี้สินจากการเชื่อของนั้นจะไม่ถูกโกงเช่นกัน จากเงื่อนไขดังกล่าวทำให้มีมอแกนบางคนพยายามเข้ามาเกี่ยวข้องกับการค้าลักษณะดังกล่าว แต่ไม่เป็นผลสำเร็จ เนื่องจากพันธะในเรื่องการแบ่งปันและการกระจายส่วนเกินที่มีอิทธิพลสูงในสังคมการหาตามโอกาส (หน้า 121-122)

Social Cultural and Identity Change

ในอดีตการปฏิสัมพันธ์กับคนนอกที่มอแกนไม่คุ้นเคยมักตั้งอยู่บนพื้นฐานของการแลกเปลี่ยนที่เป็นทางการ กล่าวคือ หากมอแกนได้รับสิ่งของจากคนนอก มอแกนก็จะให้สิ่งของเป็นการตอบแทน นอกจากนี้มักมอแกนมักไม่เป็นคนให้หรือร้องขอจากคนภายนอก อีกทั้งการแบ่งปันแบบสมัครใจและแบบเรียกร้องยังเป็นปัจจัยที่คอยควบคุมปฏิบัติการของความสัมพันธ์ภายในกลุ่ม โดยปกติแล้วมอแกนเกาะสุรินทร์จะร้องขอเฉพาะในบางโอกาสเท่านั้น เช่น เทศกาลงานบุญของไทย แต่มีบางคนเริ่มพฤติกรรมการขอสิ่งของจากนักท่องเที่ยว เรือประมง และทหารเรือ เนื่องจากมอแกนมักได้รับความช่วยเหลือในรูปแบบการบริจาคอาหารและวัสดุอุปกรณ์ จากพฤติกรรมดังกล่าวทำให้ปฏิบัติการของ "การแบ่งปันแบบเรียกร้อง" ของมอแกนถูกขยายออกไปสู่คนนอก จนกลายเป็นแรงกระตุ้นให้การออกปากขอกับคนนอกนั้นเป็นเรื่องปกติสำหรับมอแกน (หน้า 129-130) (แผนภาพ 5.1) ในปัจจุบันการรับความช่วยเหลือและการขอเงินกลายมาเป็นกลยุทธ์ทางเศรษฐกิจของมอแกน มอแกนเกาะสุรินทร์ในปัจจุบันได้ขอปลาและน้ำมันดีเซลจากเรือประมง ขออาหารที่เหลือจากอุทยานฯ และขอเงินจากนักท่องเที่ยว ดังนั้น จะเห็นว่าการแบ่งปันแบบเรียกร้องภายในกลุ่มของผู้หาเก็บสะท้อนให้เห็นถึงการหลั่งไหลของอาหารและวัตถุที่สร้างความสมดุลของการรับทั้งผู้รับและผู้ให้ และในบริบทของการแลกเปลี่ยนและความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มนั้น การแบ่งปันแบบเรียกร้องจะแสดงให้เห็นถึงการหลั่งไหลของการบริจาคจากสังคมที่ใหญ่กว่าไปสู่มอแกน แต่ในขณะเดียวกันมอแกนก็ไม่สามารถตอบแทนกลับไปยังสังคมที่ใหญ่กว่าได้เลย เนื่องจากมอแกนถูกจัดให้เป็นผู้รับในเชิงเศรษฐกิจ (หน้า 151-152)

Map/Illustration

แผนภาพ 2.1 การเดินทางทางทะเลของมอแกนจากเกาะศูนย์กลาง (base island) ไปยังเกาะบริวาร (satellite islands) (หน้า 46) แผนที่ 2.1 เกาะสำคัญในหมู่เกาะเมอร์กุย (หน้า 44) ตาราง 2.1 เกาะในหมู่เกาะสุรินทร์ (รายชื่อตั้งแต่เหนือจรดใต้) (หน้า 55) ตาราง 2.4 ประชากรมอแกนบนเกาะสุรินทร์ (หน้า 65) ตาราง 2.5 ประชากรมอแกนที่ดายา (ก่อน เดือนพฤศจิกายน 1993) (หน้า 66) ตาราง 2.6 ประชากรมอแกนที่อูเนค (หน้า 66) ตาราง 3.1 ปฏิทินฤดูกาลและกิจกรรมของมอแกนบนหมู่เกาะสุรินทร์ ปี 1993 (หน้า 70) ตาราง 3.5 กลยุทธ์ทางเศรษฐกิจของมอแกนกลุ่มต่างๆ (หน้า 94) ตาราง 4.2 การตั้งถิ่นฐานและการย้ายถิ่นของมอแกนบนเกาะสุรินทร์ในช่วง 1993 (หน้า100-101) ตาราง 5.3 การซื้อสินค้าอุปโภคบริโภค และสินค้าเชิงพาณิชของมอแกน (หน้า 142-143) แผนที่ 2.3 เกาะในหมู่เกาะสุรินทร์ (หน้า 53) แผนภาพ 3.1 พื้นที่ทะเล (หน้า 75) แผนภาพ 3.4 พื้นฐานทางเศรษฐกิจของมอแกนเกาะสุรินทร์ (หน้า 92) แผนภาพ 5.1 การเปลี่ยนผ่านทางเศรษฐกิจของคูบูหลังจากที่มีการติดต่อกับคนนอก (หน้า 130) แผนภาพ A.1 แผนภูมิภาษาชาวเล (หน้า 195) ตาราง A.1 ชื่อกลุ่มชาติพันธุ์ที่เร่ร่อนทางทะเลในประเทศไทย (หน้า 196) บันทึกบทที่ 1 ข้อ 4 (หน้า 212)

Text Analyst ศิริรัตน์ กตัญชลีกุล Date of Report 19 เม.ย 2564
TAG มอแกน, ความสัมพันธ์ทางสังคม, การเก็บของป่าล่าสัตว์, การหาเก็บตามโอกาส, การพึ่งพา, ภาคใต้, Translator -
 
 

 

ฐานข้อมูลอื่นๆของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
  ฐานข้อมูลพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทย
จารึกในประเทศไทย
จดหมายเหตุทางมานุษยวิทยา
แหล่งโบราณคดีที่สำคัญในประเทศไทย
หนังสือเก่าชาวสยาม
ข่าวมานุษยวิทยา
ICH Learning Resources
ฐานข้อมูลเอกสารโบราณภูมิภาคตะวันตกในประเทศไทย
ฐานข้อมูลประเพณีท้องถิ่นในประเทศไทย
ฐานข้อมูลสังคม - วัฒนธรรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  หน้าหลัก
งานวิจัยชาติพันธุ์ในประเทศไทย
บทความชาติพันธุ์
ข่าวชาติพันธุ์
เครือข่ายชาติพันธุ์
เกี่ยวกับเรา
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  ข้อมูลโครงการ
ทีมงาน
ติดต่อเรา
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
ช่วยเหลือ
  กฏกติกาและมารยาท
แบบสอบถาม
คำถามที่พบบ่อย


ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) เลขที่ 20 ถนนบรมราชชนนี เขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ 10170 
Tel. +66 2 8809429 | Fax. +66 2 8809332 | E-mail. webmaster@sac.or.th 
สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2549    |   เงื่อนไขและข้อตกลง