สมัครสมาชิก   
| |
ค้นหาข้อมูล
ค้นหาแบบละเอียด
  •   ความเป็นมาและหลักเหตุผล

    เพื่อรวบรวมงานวิจัยทางชาติพันธุ์ที่มีคุณภาพมาสกัดสาระสำคัญในเชิงมานุษยวิทยาและเผยแผ่สาระงานวิจัยแก่นักวิชาการ นักศึกษานักเรียนและผู้สนใจให้เข้าถึงงานวิจัยทางชาติพันธุ์ได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น

  •   ฐานข้อมูลจำแนกกลุ่มชาติพันธุ์ตามชื่อเรียกที่คนในใช้เรียกตนเอง ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้ คือ

    1. ชื่อเรียกที่ “คนอื่น” ใช้มักเป็นชื่อที่มีนัยในทางเหยียดหยาม ทำให้สมาชิกกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ รู้สึกไม่ดี อยากจะใช้ชื่อที่เรียกตนเองมากกว่า ซึ่งคณะทำงานมองว่าน่าจะเป็น “สิทธิพื้นฐาน” ของการเป็นมนุษย์

    2. ชื่อเรียกชาติพันธุ์ของตนเองมีความชัดเจนว่าหมายถึงใคร มีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมอย่างไร และตั้งถิ่นฐานอยู่แห่งใดมากกว่าชื่อที่คนอื่นเรียก ซึ่งมักจะมีความหมายเลื่อนลอย ไม่แน่ชัดว่าหมายถึงใคร 

     

    ภาพ-เยาวชนปกาเกอะญอ บ้านมอวาคี จ.เชียงใหม่

  •  

    จากการรวบรวมงานวิจัยในฐานข้อมูลและหลักการจำแนกชื่อเรียกชาติพันธุ์ที่คนในใช้เรียกตนเอง พบว่า ประเทศไทยมีกลุ่มชาติพันธุ์มากกว่า 62 กลุ่ม


    ภาพ-สุภาษิตปกาเกอะญอ
  •   การจำแนกกลุ่มชนมีลักษณะพิเศษกว่าการจำแนกสรรพสิ่งอื่นๆ

    เพราะกลุ่มชนต่างๆ มีความรู้สึกนึกคิดและภาษาที่จะแสดงออกมาได้ว่า “คิดหรือรู้สึกว่าตัวเองเป็นใคร” ซึ่งการจำแนกตนเองนี้ อาจแตกต่างไปจากที่คนนอกจำแนกให้ ในการศึกษาเรื่องนี้นักมานุษยวิทยาจึงต้องเพิ่มมุมมองเรื่องจิตสำนึกและชื่อเรียกตัวเองของคนในกลุ่มชาติพันธุ์ 

    ภาพ-สลากย้อม งานบุญของยอง จ.ลำพูน
  •   มโนทัศน์ความหมายกลุ่มชาติพันธุ์มีการเปลี่ยนแปลงในช่วงเวลาต่างๆ กัน

    ในช่วงทศวรรษของ 2490-2510 ในสาขาวิชามานุษยวิทยา “กลุ่มชาติพันธุ์” คือ กลุ่มชนที่มีวัฒนธรรมเฉพาะแตกต่างจากกลุ่มชนอื่นๆ ซึ่งมักจะเป็นการกำหนดในเชิงวัตถุวิสัย โดยนักมานุษยวิทยาซึ่งสนใจในเรื่องมนุษย์และวัฒนธรรม

    แต่ความหมายของ “กลุ่มชาติพันธุ์” ในช่วงหลังทศวรรษ 
    2510 ได้เน้นไปที่จิตสำนึกในการจำแนกชาติพันธุ์บนพื้นฐานของความแตกต่างทางวัฒนธรรมโดยตัวสมาชิกชาติพันธุ์แต่ละกลุ่มเป็นสำคัญ... (อ่านเพิ่มใน เกี่ยวกับโครงการ/คู่มือการใช้)


    ภาพ-หาดราไวย์ จ.ภูเก็ต บ้านของอูรักลาโว้ย
  •   สนุก

    วิชาคอมพิวเตอร์ของนักเรียน
    ปกาเกอะญอ  อ. แม่ลาน้อย
    จ. แม่ฮ่องสอน


    ภาพโดย อาทิตย์    ทองดุศรี

  •   ข้าวไร่

    ผลิตผลจากไร่หมุนเวียน
    ของชาวโผล่ว (กะเหรี่ยงโปว์)   
    ต. ไล่โว่    อ.สังขละบุรี  
    จ. กาญจนบุรี

  •   ด้าย

    แม่บ้านปกาเกอะญอ
    เตรียมด้ายทอผ้า
    หินลาดใน  จ. เชียงราย

    ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ถั่วเน่า

    อาหารและเครื่องปรุงหลัก
    ของคนไต(ไทใหญ่)
    จ.แม่ฮ่องสอน

     ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ผู้หญิง

    โผล่ว(กะเหรี่ยงโปว์)
    บ้านไล่โว่ 
    อ.สังขละบุรี
    จ. กาญจนบุรี

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   บุญ

    ประเพณีบุญข้าวใหม่
    ชาวโผล่ว    ต. ไล่โว่
    อ.สังขละบุรี  จ.กาญจนบุรี

    ภาพโดยศรยุทธ  เอี่ยมเอื้อยุทธ

  •   ปอยส่างลอง แม่ฮ่องสอน

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ปอยส่างลอง

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดย เบญจพล  วรรณถนอม
  •   อลอง

    จากพุทธประวัติ เจ้าชายสิทธัตถะ
    ทรงละทิ้งทรัพย์ศฤงคารเข้าสู่
    ร่มกาสาวพัสตร์เพื่อแสวงหา
    มรรคผลนิพพาน


    ภาพโดย  ดอกรัก  พยัคศรี

  •   สามเณร

    จากส่างลองสู่สามเณร
    บวชเรียนพระธรรมภาคฤดูร้อน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   พระพาราละแข่ง วัดหัวเวียง จ. แม่ฮ่องสอน

    หล่อจำลองจาก “พระมหามุนี” 
    ณ เมืองมัณฑะเลย์ ประเทศพม่า
    ชาวแม่ฮ่องสอนถือว่าเป็นพระพุทธรูป
    คู่บ้านคู่เมืององค์หนึ่ง

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม

  •   เมตตา

    จิตรกรรมพุทธประวัติศิลปะไต
    วัดจองคำ-จองกลาง
    จ. แม่ฮ่องสอน
  •   วัดจองคำ-จองกลาง จ. แม่ฮ่องสอน


    เสมือนสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรม
    เมืองไตแม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ใส

    ม้งวัยเยาว์ ณ บ้านกิ่วกาญจน์
    ต. ริมโขง อ. เชียงของ
    จ. เชียงราย
  •   ยิ้ม

    แม้ชาวเลจะประสบปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัย
    พื้นที่ทำประมง  แต่ด้วยความหวัง....
    ทำให้วันนี้ยังยิ้มได้

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ผสมผสาน

    อาภรณ์ผสานผสมระหว่างผ้าทอปกาเกอญอกับเสื้อยืดจากสังคมเมือง
    บ้านแม่ลาน้อย จ. แม่ฮ่องสอน
    ภาพโดย อาทิตย์ ทองดุศรี
  •   เกาะหลีเป๊ะ จ. สตูล

    แผนที่ในเกาะหลีเป๊ะ 
    ถิ่นเดิมของชาวเลที่ ณ วันนี้
    ถูกโอบล้อมด้วยรีสอร์ทการท่องเที่ยว
  •   ตะวันรุ่งที่ไล่โว่ จ. กาญจนบุรี

    ไล่โว่ หรือที่แปลเป็นภาษาไทยว่า ผาหินแดง เป็นชุมชนคนโผล่งที่แวดล้อมด้วยขุนเขาและผืนป่า 
    อาณาเขตของตำบลไล่โว่เป็นส่วนหนึ่งของป่าทุ่งใหญ่นเรศวรแถบอำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี 

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   การแข่งขันยิงหน้าไม้ของอาข่า

    การแข่งขันยิงหน้าไม้ในเทศกาลโล้ชิงช้าของอาข่า ในวันที่ 13 กันยายน 2554 ที่บ้านสามแยกอีก้อ อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย
 
  Princess Maha Chakri Sirindhorn Anthropology Centre
Ethnic Groups Research Database
Sorted by date | title

   Record

 
Subject มันนิ มานิ กอย คะนัง(ซาไก),แหลมมลายู
Author บุญช่วย ศรีสวัสดิ์
Title ซาไก
Document Type หนังสือ Original Language of Text ภาษาไทย
Ethnic Identity มานิ มานิค โอรังอัสลี อัสลี จาไฮ, Language and Linguistic Affiliations ออสโตรเอเชียติก(Austroasiatic)
Location of
Documents
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร Total Pages 45 Year 2545
Source ชาวเขาในไทย. กรุงเทพฯ : ศิลปวัฒนธรรม (พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2506 โดย สำนักพิมพ์โอเดียนสโตร์)
Abstract

ชนเผ่าเซียมังอาศัยอยู่บนแผ่นดินแหลมมลายูทางตอนเหนือ ส่วนชนเผ่าซาไกอยู่ตอน กลางและตอนใต้ของแหลมมลายูมาแต่เดิม ก่อนที่ชาวไทยและมลายูจะอพยพเข้าไป ลักษณะเด่นด้านชาติพันธุ์ของชนเผ่าทั้งสองแม้จะมีรูปร่างลักษณะคล้ายคลึงกัน อีก ทั้งยังมีระบบความเชื่อในการนับถือผี การใช้ใบไม้หรือเศษผ้ามาปกปิดร่างกายเฉพาะแห่งแบบชาวป่า สภาพวิถีชีวิตความเป็นอยู่แบบสังคมยังชีพดำรงชีวิตด้วยการหาของป่า ล่าสัตว์และแลกเปลี่ยนสิ่งของไม่ต่างกันนัก แต่ก็มีข้อปลีกย่อยที่แตกต่างกัน เช่น ซาไกรูปร่างเตี้ยและมีผิวคล้ำดำแดงกว่าเซียมัง ชอบอาศัยอยู่ตามป่ามากกว่าบนเนินเขาชอบอยู่ในที่ห่างไกลจากหมู่บ้านมลายู และมักโยกย้ายถิ่นที่อยู่เสมอ ในขณะที่เซียมังผิวคล้ำน้อยกว่า และมีรูปร่างสูงกว่าซาไกเล็กน้อย ชอบอาศัยอยู่ตามเนินเขาสูงหรือในป่าลึก ถนัดใช้หน้าไม้ ธนูและหอกมากกว่าใช้กล้องไม้ซางเป่าลูกดอกแบบซาไก นอกจากนี้ ยังเชื่อถือโชคลางน้อยกว่ามันนิแม้จะมีเรื่องเล่าเกี่ยวกับตำนานความเชื่อต่าง ๆ มากมาย เมื่อความเจริญมาเยือน ซาไกและเซียมังเริ่มผสมกลมกลืนกับคนท้องถิ่นเช่นชาวมลายูจนมีจำนวนลดลงไป เซียมังและมันนิที่ตั้งหลักแหล่งถาวรได้รับการศึกษาในระบบโรงเรียนของรัฐ

Focus

เน้นศึกษาเกี่ยวกับวิถีชีวิตความเป็นอยู่ ความแตกต่างและลักษณะเด่นด้านชาติพันธุ์ของชนเผ่าซาไกและเซียมัง ซึ่งมักถูกเรียกว่าเป็น "เงาะป่า"

Theoretical Issues

ไม่มี

Ethnic Group in the Focus

เซียมังและซาไก ซึ่งถูกรวมเรียกว่า "เงาะป่า" ในแหลมมลายู (หน้า 3) เซียมังสืบเชื้อสายมาจากนิกริโต ส่วนซาไกจัดอยู่ในตระกูลออสโตร-เอเชียติค เชื้อสายดราวิโอออสเตรเลียน ในขณะที่ซีนอย (Senoi ) ในมลายูเกิดจากการผสมกลมกลืนด้านชาติพันธุ์ระหว่างเซียมังกับซาไก ในประเทศไทย มีทั้งเซียมังและซาไก พบได้ในเขต จ.พัทลุง ตรัง สงขลา ปัตตานี กระบี่ สตูล นราธิวาสและยะลา ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ตามพรมแดนไทยมลายู อาศัยอยู่ตามป่าเขา (หน้า 4, 6) ซาไก มีความหมายว่า "คนแคระ" แต่ซาไกไม่ชอบให้ใครเรียกพวกเขาว่า "ซาไก" พวกเขาเรียกตัวเองว่า "โอรังดารัต" หรือ "โอรังบูเกต" แปลว่า "คนของแผ่นดิน" หรือ "คนอยู่ตามภูเขา" ตามลำดับ (หน้า 12) จากหลักฐานเอกสารพบว่า มลายูมณฑลปัตตานีผสมกลมกลืนด้านชาติพันธุ์กับเซียมัง ขณะที่มลายูรัฐเประผสมกับซาไก (หน้า 6) ส่วนมันนิในสหพันธรัฐมลายูนั้นแบ่งออกเป็น 4 พวกคือ ซาไกตอนเหนือ ซาไกตอนกลาง เบนอมซาไก และซาไกตอนใต้ (ซีนอย) (หน้า 12) เซียมังในประเทศไทยและมลายู แบ่งออกเป็น 5 กลุ่มคือ ตองงา (โม) เคนตาและเคนตาบิน เคนซีอุ ยาไฮ และเมนรี นอกจากนี้ยังมีกลุ่มบาเต๊กนอกน์, เทโม, เคล็บ, ซาบันน์และซีนอย ล้วนมีเชื้อสายเดียวกับเซียมัง (หน้า 24)

Language and Linguistic Affiliations

1. ซาไก มีภาษาประจำเผ่า เสียงคล้ายภาษาในตระกูลมอญ-เขมรผสมมลายู ผู้ชายพูดมลายูได้ ซาไกในเขตไทยรู้ภาษาไทยอยู่บ้าง ซาไกซึ่งอยู่ตามพรมแดนไทย-มลายูถูกเรียกว่า "ซาไกตันหยง" (หน้า 12,16) 2. เซียมัง ภาษาเซียมังมีถ้อยคำไม่ครบทุกสำเนียง บางคำยืมจากภาษามลายูและซาไก มาใช้ คนในเผ่าเล่าว่าเดิมเซียมังเคยมีตัวอักษรใช้ แต่เมื่อถูกผู้รุกรานยึดครองแผ่นดินก็ไม่อาจนำตัวอักษรติดตัวไปได้ เสียงพูดในภาษามีเสียงค่อนข้างเบา เซียมังในไทยพูดต่างกับเซียมังในมลายู (หน้า 33)

Study Period (Data Collection)

ไม่มีข้อมูล

History of the Group and Community

เซียมังอาศัยอยู่บนแผ่นดินแหลมมลายูทางตอนเหนือ ส่วนซาไกอยู่ตอนกลางและตอนใต้ ก่อนที่ชาวไทยและมลายูจะอพยพเข้าไป มีตำนานเล่ากันว่าชาวพื้นเมืองอินเดียตอนใต้ ถูกฝ่ายเหนือรุกราน ไม่อยากตกเป็นทาสจึงหนีลงเรือมาอยู่เกาะสุมาตรา ในปี พ.ศ.300 ก็ชวนกันมาอยู่ในแหลมมลายู ผสมกลมกลืนกับชาวน้ำกลายเป็นชาวมลายูไป เมื่อมีพลเมืองมากขึ้นก็รบพุ่งกับพวกชาวป่า ด้วยการจับมาเป็นทาสหรือฆ่าให้ตาย พวกที่หนีรอดมาได้แตกออกเป็นกลุ่ม ๆ อพยพหลบหนีซ่อนตัวตามป่าเขาห่างไกล และมักอพยพย้ายถิ่นอยู่แสมอ ราวปี พ.ศ.1823 กษัตริย์สุโขทัยได้ขยายอาณาเขตลงไปทางใต้ถึงเมืองนครศรีธรรมราช แต่มิได้จัดส่งคนเข้าไป ในปี พ.ศ. 1950 พระราเมศวรตีเมืองเชียงใหม่ ได้รับสั่งให้กวาดต้อนชาวเหนือไปไว้ที่เมืองนครและหัวเมืองใกล้เคียงในสมัยอยุธยา ไทยแผ่อำนาจลงไปถึงมะละกาซึ่งถือเป็นเมืองของชาวมลายูในยุคนั้น สำหรับเซียมังเผ่าตองงาหรือโมอยู่ตามป่าเขา จ. พัทลุงติดต่อกับเขตจังหวัดตรัง ชื่อเมืองพัทลุงก็เป็นคำของนิกริโตเรียกว่า "พาตาโลน" เป็นชื่อของชายนิกริโตผู้หนึ่งซึ่งกระโดดจากหน้าผาสูง ในปี พ.ศ.2432 เจ้าเมืองพัทลุงนำเด็กชายคนังมาจากหมู่บ้าน ถวายตัวแด่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้ชุบเลี้ยงไว้ในวังเพื่อจะศึกษาขนบธรรมเนียมและภาษาของพวกก็อย (เงาะป่า) อันเป็นที่มาของพระราชนิพนธ์บทละครเรื่อง "เงาะป่า" ที่กล่าวถึง "ก็อย" "เซมัง" หรือ "สไก" ในภาษามลายู (หน้า 4-7)

Settlement Pattern

ซาไก ซาไกที่อาศัยอยู่ตามป่าลึกจะใช้ขวากหนามหรือลำไม้ มาปักรอบบริเวณที่พักกันสัตว์ร้าย มักไม่ค่อยพิถีพิถันนักในการสร้างที่พักอาศัย ซาไกจะใช้ลำไม้ไผ่พาดจรดพื้นดิน มุงหลังคาด้วยใบหวาย ใบแฝกหรือใบคาอย่างเพิงหมาแหงน ที่พักคล้ายกระท่อมหลังเล็กตั้งติดพื้นดิน มีหน้าจั่ว หลังคา 2 ข้างลาดลง ใช้ใบไม้สานทำเป็นฝากั้น ซาไกไม่ยอมอยู่ร่วมหมู่บ้านกับมลายูหรือคนไทย ตั้งถิ่นฐานในที่แต่ละแห่งอย่างมากเพียง 30 วันเนื่องจากเป็นชนเผ่าเร่ร่อน นิยมโยกย้ายเพิงพักตามป่าลึก ซาไกบางกลุ่มก็อาศัยอยู่ตามเนินเขา ตรงข้ามกับชาวมลายูซึ่งนิยมอยู่ตามริมฝั่งน้ำและชายฝั่งทะเล (หน้า 12-15) เซียมัง ลักษณะการตั้งบ้านเรือนของเซียมัง เป็นเพิงพักที่สร้างขึ้นอย่างลวก ๆ นิยมมุงหลังคาด้วยใบปาล์ม หวายหรือใบไม้ตามแต่จะหาได้ นิยมสร้างเป็นรูปวงกลมหมุนได้รอบ ข้างทับเปิดโล่ง ปล่อยให้ลมโกรก หลังคาไม่กันฝน เมื่อฝนตกจึงต้องไปอาศัย อยู่ใต้ชะโงกหินหรือในถ้ำชั่วคราว เซียมังบางกลุ่มสร้างบ้านเรือนด้วยไม้ไผ่ มุงหลังคาด้วยใบคาหรือใบหวาย นิยมสร้างท่อมทับเป็นที่อาศัยนอน ซึ่งถือเป็นสมบัติของผู้หญิง ที่นอนของเซียมังไม่เป็นระเบียบ ไม่มีพิธีรีตอง ใช้ใบไม้ปูพื้นดินหรือไม้ไผ่ทำฟากปูเป็นที่นอน (หน้า 25-26)

Demography

จำนวนประชากรซาไกและเซียมังในมลายูเมื่อ 40 ปีก่อน มีประมาณ 50,000 คน ปัจจุบันเหลือ 40,000 คน ลดลงเพราะผสมกลมกลืนกับชาวมลายูจนกลายเป็นมลายูไป (หน้า 6) ซาไกตันหยงมีจำนวน 800 คน (หน้า 12) ซาไกเผ่าผสมซีนอยมีจำนวน 25,000 คน (หน้า 13)

Economy

ซาไก มีระบบเศรษฐกิจแบบยังชีพไม่ต่างจากเซียมัง คือ ขุดหาเผือกมันแทนข้าวล่าสัตว์ จับปลา หาของป่าไปแลกเปลี่ยนกับชาวบ้าน ดักสัตว์ป่า ไม่นิยมเพาะปลูกพืชหรือเลี้ยงสัตว์ มีการทำอาวุธเป็นกล้องเป่าลูกดอกไม้ซางไว้ใช้ล่าสัตว์ใหญ่ ในขณะที่พวกเซียมังถนัดใช้ธนู หอกหรือหน้าไม้ในการล่าสัตว์ อย่างไรก็ดี ซาไกและเซียมังแถบมลายูบางหมู่บ้านก็รู้จักการเพาะปลูก ทำไร่ข้าว ร่อนดีบุก กรีดยาง เลี้ยงสัตว์ กล่าวคือ มีเศรษฐกิจแบบพออยู่พอกิน พอเลี้ยงตนเองและครอบครัวได้ (หน้า 15) ซาไกหลายกลุ่มเมื่อติดต่อกับชาวไทยและชาวมลายูบ่อยขึ้น ก็รู้จักปลูกพืชไร่ไว้รับประทาน บ้างก็มารับจ้างกรีดยางพาราให้ชาวมลายู บ้างก็มาเป็นกรรมกรเหมืองแร่ดีบุก เป็นต้น (หน้า 46) เซียมัง ดำรงชีวิตอยู่ด้วยการหาของป่า จับปลาตามลำห้วย ล่าและดักจับสัตว์เป็นอาหาร ไม่นิยมเพาะปลูก เซียมังมีการแลกเปลี่ยนสิ่งของกับชาวบ้าน นอกเหนือจากการทำงานฝีมือประเภทจักสาน หาของป่าจำพวกยางไม้ข้น ขี้ผึ้ง หวาย สมุนไพร น้ำมันยาง หนังสัตว์ เพื่อนำไปแลกเปลี่ยนเครื่องไม้เครื่องใช้ ผ้า ลูกปัด สุรา เกลือ ยาสูบ กับชาวมลายูหรือชาวไทย บางครั้งก็แลกข้าวสารนำมารับประทานแทนเผือกมัน วิธีการแลกเปลี่ยนสิ่งของสมัยก่อน สองฝ่ายจะไม่พบปะกันเลย ชาวบ้านจะนำสิ่งของไปกองไว้แล้วออกไปจากบริเวณนั้น พอได้เวลาพระอาทิตย์ตรงศีรษะ เซียมังจะนำของป่าไปแลกเปลี่ยนแล้วรีบกลับ เมื่อเห็นว่าวิธีการแลกเปลี่ยนเช่นนี้เสียเปรียบกันมากและไม่ตรงตามความต้องการจึงเจรจาตกลงกันใหม่ โดยเซียมังจะส่งตัวแทนมาติดต่อขอแลกเปลี่ยนสิ่งของบริเวณลานที่นัดหมาย เซียมังไม่นิยมใช้เงินตรา (หน้า 30-32)

Social Organization

ซาไก การแต่งงานของซาไกเกิดจากการตกลงปลงใจระหว่างหญิงสาวและครอบครัวกับฝ่ายชายหนุ่ม โดยที่มีการบอกกล่าวแก่หัวหน้ากลุ่ม หัวหน้าจะทำหน้าที่เป็นพ่อสื่อแจ้งแก่บิดามารดาฝ่ายหญิง พร้อมให้ฝ่ายชายจัดหามีดพร้าและผ้าแดงไปมอบให้ เมื่อฝ่ายหญิงรับของไว้ก็แสดงว่าตกลงจะรับเป็นลูกเขย การประกอบพิธีมักเลือกทำเลที่มีจอมปลวกอยู่ มีการเลี้ยงอาหารและร้องรำทำเพลง เมื่อได้ฤกษ์หัวหน้าซาไกจะประกาศต่อที่ชุมนุม (หน้า 17) อย่างไรก็ดี ซาไกมีการแต่งงานข้ามเผ่าได้ เช่น มีผู้ชายมลายูบางคนแต่งงานกับหญิงซาไก (หน้า 15) เซียมัง จะต่างจากชาวเขาเผ่าอื่นคือ ผู้หญิงเซียมังจะถูกสามียกย่องอย่างออกหน้า ทั้ง ๆ ที่มีความอดทนในการทำงานน้อยกว่าผู้ชาย (หน้า 27) สังคมเซียมังถือผู้หญิง เป็นใหญ่ สามีต้องอยู่ภายใต้คำสั่งของผู้หญิง (หน้า 38) โดยส่วนใหญ่ เซียมังมักมีภรรยาคนเดียว ผู้ชายจะมีภรรยาหลายคนไม่ได้ นอกจากหย่าแล้วจึงแต่งงานใหม่ได้ ผู้ชายเซียมังมักช่วยงานทุกอย่างด้วยความเต็มใจ และไม่นิยมซื้อหาผู้หญิงมาเป็นทาสหรือไว้ใช้งานเลี้ยงครอบครัวเช่นเดียวกับชาวเขาเผ่าอื่น ท่อมทับก็เป็นฝีมือของพวกผู้หญิง ดังนั้น หากมีการหย่าร้างฝ่ายชายต้องเป็นฝ่ายออกไปจากที่พัก เพราะถือว่าทับเป็นสมบัติของฝ่ายหญิง (หน้า 26-27) หนุ่มสาวเซียมังมีอิสระในการเลือกคู่ครอง ไม่มีการคลุมถุงชน หญิงมักแต่งงานตั้งแต่ยังเป็นสาวรุ่น ผู้ชายเซียมังมีวิธีเกี้ยวพาราสีด้วยการช่วยหญิงหาอาหาร คอยคุ้มครองป้องกันภัยและคอยปลอบใจเมื่อมีความทุกข์ หากมีการตกลงปลงใจแล้ว ชายหนุ่มมักแจ้งให้ผู้ปกครองฝ่ายตนไปสู่ขอ พิธีแต่งงานค่อนข้างเรียบง่าย แต่หากเป็นการแต่งงานระหว่าง 2 เผ่าหรือข้ามกลุ่ม เช่น เซียมังแต่งงานกับซาไก หรือเซียมังกลุ่มหนึ่งแต่งกับอีกกลุ่มหนึ่ง หรือเป็นบุตรชายและบุตรสาวของหัวหน้าทั้งสองกลุ่มแต่งงานกัน มักจัดพิธีอย่างเอิกเกริก (หน้า 35-37) หลังแต่งงานภายใน 1-2 ปีแรก ลูกเขยต้องคอยทำงานช่วยเหลือพ่อตาแม่ยายจนกว่าจะพ้นกำหนดที่ตกลงกันไว้ ถัดจากนั้นสองสามีภรรยาจึงจะอยู่ตามลำพังได้ (หน้า 38) รูปแบบความสัมพันธ์ในสังคมเซียมัง มักมีการแบ่งหน้าที่ระหว่างหญิงชายค่อนข้างชัดเจน กล่าวคือ พวกผู้ชายมีหน้าที่ออกหาของป่า ล่าสัตว์ หาอาหาร ผู้หญิงมีหน้าที่ดูแลลูก และขุดหาเผือกมันบริเวณใกล้ที่พัก ในขณะที่คนแก่มักใช้เวลาดูแลเด็ก ๆ ทั้งยังทำ เครื่องจักสานนำไปแลกเปลี่ยนสิ่งของ (หน้า 26 )

Political Organization

ซาไก นับถือและเชื่อฟังผู้ใหญ่ในเผ่า และมีหัวหน้ากลุ่มเป็นผู้ทำหน้าที่ชี้ขาดหรือเป็นตัวแทนในการติดต่อกับคนต่างถิ่น นอกจากนี้ยังมีตัวแทนด้านความเชื่อคือ หมอผีมีบทบาทสำคัญในเผ่าไม่แพ้กัน (หน้า 17-18) เซียมัง หัวหน้ากลุ่มเซียมังมักเป็นคนวัยกลางคนขึ้นไป แต่มีความกล้าหาญ มีร่างกายแข็งแรง อีกทั้งต้องมีความรู้รอบตัวหลายด้าน เช่น รู้จักใช้ยารักษาโรค ร่ายคาถาปัดเป่าขับไล่ผีปีศาจ เป็นประธานประกอบพิธีตามจารีต ทุกคนในเผ่าจะมีความสัมพันธ์ฉัน พี่น้อง ผู้น้อยต้องเคารพเชื่อฟังคำสอนของผู้ใหญ่ (หน้า 33)

Belief System

ระบบความเชื่อของซาไก ซาไกเชื่อว่าสรรพสิ่งในธรรมชาติ เช่น ผืนดิน ภูเขา ต้นไม้ แม่น้ำลำธารล้วนมีผีหรือเทพารักษ์คอยดูแลรักษาอยู่ ทุกปีจะมีการทำพิธีบวงสรวงโดยอัญเชิญผีหรือเทพมารับเครื่องเซ่นสังเวย ซาไกมีหมอผีทำหน้าที่เป็นตัวแทนประกอบพิธีกรรมและเป็นหมอยารักษาผู้ป่วยไปด้วย นอกจากนี้ยังมีความเชื่อเกี่ยวกับดวงวิญญาณของผู้ตายว่า สามารถเวียนว่ายกลับมารบกวนผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่ได้ต้องให้หมอผีมาสวดมนต์ ให้วิญญาณมารับเครื่องเซ่น เมื่อมีคนเสียชีวิตจึงมักย้ายที่อยู่ใหม่ (หน้า 18-9) อย่างไรก็ดี มีซาไกบางกลุ่มที่ยอมรับนับถือศาสนาอิสลามเป็นศาสนาประจำกลุ่ม (หน้า 15) ระบบความเชื่อของเซียมัง เซียมังนับถือพระเจ้า "คารี" ซึ่งสถิตอยู่บนท้องฟ้าทิศตะวันตก เซียมังเผ่าเคนซีเรียกคารีว่า "ทาเพ็ด" เผ่าจาไฮเรียก "ทาเพ็ดน์" หรือ "คีโต" ผู้มีพระชายานาม "มานอยด์" อยู่บนผืนพิภพ มีการบวงสรวงโดยกรีดและสลัดโลหิตถือเป็นการประกอบพิธีพลีกรรมเพื่อล้างบาป เซียมังเชื่อว่าปรากฏการณ์ธรรมชาติเช่น พายุฝน ลมมรสุม ฟ้าร้อง ฟ้าผ่าเกิดจากพระเจ้าคารีพิโรธ ต้องการเห็นความวิบัติเกิดขึ้นแก่โลกมนุษย์ มักบันดาลให้เกิดปรากฏการณ์และโรคภัยไข้เจ็บ คารีมีบริวารเป็นภูตผีต่าง เช่น ผีนางไม้ ผีพราย ผีประจำตัวสัตว์ หรือผีป่า เป็นต้น คารีสามารถปล่อยเสือซึ่งเป็นยานพาหนะมาทำร้ายเซียมังได้อีกด้วย จึงต้องมีหมอผีหรือฮาลาทำหน้าที่ขับไล่ปีศาจเซียมังเชื่อถือโชคลางน้อยกว่าซาไก (หน้า 40-43)

Education and Socialization

ชนเผ่าเซียมังและซาไกในประเทศไทยที่ได้ปลูกสร้างบ้านเรือนเป็นหลักแหล่งแล้ว รัฐบาลไทยจึงตั้งโรงเรียนสอนหนังสือให้ที่บ้านปีนังกาแยง อ.ละแงะ จ.นราธิวาส (หน้า 6) ในกรณีของเงาะป่าที่ชื่อ "คนัง" ซึ่งเป็นเด็กกำพร้า เจ้าเมืองพัทลุงได้นำมาถวายแด่รัชกาลที่ 5 เมื่อ พ.ศ.2432 โปรดให้ชุบเลี้ยงไว้ในพระราชวัง ทรงศึกษาภาษาและขนบธรรมเนียมต่าง ๆ ของ "ก็อย" จากเด็กชายคนัง ดังที่ปรากฏในพระราชนิพนธ์บทละคร "เงาะป่า" (หน้า 7)

Health and Medicine

ซาไก เน้นไปในทางบนบานเซ่นสังเวย หรือปัดเป่าด้วยเวทมนตร์คาถาเพื่อขับไล่ผีปีศาจที่มาสิง หรือเข้ามาทำร้ายคนเจ็บ นอกจากนี้ยังใช้วิธีนั่งผิงแดด ผิงไฟและใช้รากไม้สมุนไพรมารักษา ส่วนการคลอดบุตร นิยมนำรากไม้มาต้มกินเป็นยา บางกลุ่มก็คลอดเองตามธรรมชาติ บางกลุ่มก็พึ่งหมอตำแย การเลี้ยงดูเด็กของแม่ซาไกจะดูแลลูกไม่ ยอมห่าง หากเด็กร้องไห้เมื่อใดก็มักจะป้อนนมให้เด็ก (หน้า 18) เซียมัง มีการรักษาโรคตามความเชื่อโบราณ เช่น เชื่อว่าอาการเจ็บป่วยเกิดจากถูกผี ทำร้าย จะมีหมอผีที่เรียกว่า "ฮาลา" คอยแนะนำว่าถูกผีชนิดใดและควรเซ่นด้วยสิ่งใด ฮาลาจะแจ้งให้ทราบและประกอบพิธีขับไล่ปีศาจจากร่างกายผู้ป่วย นอกจากนี้ยังนิยมการใช้เครื่องรางป้องกันโรคภัยไข้เจ็บจากภูตผีปีศาจ มีการรักษาโรคตามแบบโบราณอันเนื่องมาจากการดื่มน้ำไม่สะอาดหรือทานอาหารไม่ถูกหลักสุขอนามัย ด้วยวิธีเอาเคี้ยวใบไม้แล้วพ่นตามร่างกายผู้ป่วยเพื่อทำพิธีขับไล่ปีศาจจากร่าง หมอผีจะเฆี่ยนตีผู้ป่วย แต่พวกเซียมังทั้งเด็กและผู้ใหญ่ก็เสียชีวิตจากไข้ป่าหรือการขาดสุขอนามัย (หน้า 43-44) สำหรับการคลอดบุตรหญิงเซียมังมักไม่หยุดพักงานจนกว่าจะคลอด มารดาจะเป็นผู้คอยช่วยเหลือเนื่องจากไม่มีระบบสาธารณสุข หรือแม้แต่หมอตำแย มักคลอดเด็กข้างลำธารแล้วนำรกไปฝังหรือแขวนตามชายป่า มารดาเลี้ยงลูกด้วยนมและมักห่อเด็กไว้แนบทรวงอกพาไปไหนมาไหน พอโตขึ้นก็ให้รับประทานเผือกมันเผาโดยปล่อยให้เติบโตตามธรรมชาติ หากเด็กเสียชีวิตก็นำไปฝังยังป่าช้า (หน้า 39)

Art and Crafts (including Clothing Costume)

ซาไก ชายซาไกเดิมใช้เปลือกไม้ปกปิดร่างกาย มีผ้าปิดระหว่างขาและผ้าพันรอบเอว หญิงใช้ย่านไม้พันกายสั้นๆ ปัจจุบันใช้ผ้าผืนเก่าๆ หญิงบ้างก็นุ่งผ้าสั้นๆ ยาวๆ ลงมาแค่เข่าหรือใต้เข่าเล็กน้อย ทั้งชายหญิงเปลือยร่างกายตอนบนเหนือบั้นเอวขึ้นไป นอกจากเวลาเข้าหมู่บ้านจึงสวมเสื้อ หรือใช้ผ้าปิดทรวงอก ประดับกายด้วยสร้อยลูกปัด หญิงเสียบหวีไม้ไผ่ แต่งกายคล้ายพวกเซียมัง (หน้า 13-14) มีการร้องเพลง เต้นรำ ดนตรีและขนบธรรมเนียมประเพณีคล้ายคลึงกับพวกเซียมัง (หน้า 16) เครื่องดนตรีของซาไกคือกระบอกไม้ไผ่เคาะกับกลองรำมะนาใช้เป็นเครื่องให้จังหวะ ซาไกนิยมเต้นรำร้องเพลงในงานแต่งงาน (หน้า 17) เซียมัง ชื่นชอบการร้องรำทำเพลงมาก เครื่องดนตรีแบบโบราณของเซียมังสร้างขึ้นจากกระบอกไม้ไผ่ นอกจากนี้ยังมีใช้ซอ 2 สาย ดีดให้เสียงดังไพเราะ และเครื่องดนตรีอีกชนิดหนึ่งมีลักษณะคล้ายจ้องหน่องของไทย ส่วนใหญ่เซียมังจะนิยมเป่าใบไม้และผิวปากเป็นเสียงนกร้อง มีการเต้นรำร้องเพลงในเวลากลางคืน บางทีก็จัดแสดงละครตามนิยายเก่าแก่ของเซียมัง คืนที่มีงานเต้นรำ ร้องเพลงเล่นดนตรีจะชุมนุมกันบริเวณลานดินรอบกองไฟ จังหวะการเต้นรำของเซียมังรวดเร็วและเร่าร้อนกว่าการเต้นรำของอินเดียนแดง เซียมังบางกลุ่มนิยมบรรเลงด้วยเครื่องดนตรีแบบมลายู คือ กลอง ปี่ชวา และจะเข้ (หน้า 34) สำหรับการแต่งกายของหญิงเซียมัง มีผ้าทาบหว่างขาและสายรัดรอบเอว และมีผ้านุ่งรอบนอกอีกชั้นหนึ่ง บางคนก็นุ่งโสร่งสั้น ๆ หญิงบางคนมีผ้าขาวม้าผืนเล็ก ๆ ปิดครึ่งอกตอนบน หญิงวัยกลางคนและหญิงแก่มักปล่อยตามธรรมชาติ สีที่เซียมังชอบคือสีแดง เครื่องประดับหญิงนิยมนำย่านไม้มาพันรอบตีนผมและหน้าผาก และทำหวีจากไม้ไผ่เสียบประดับและเป็นเครื่องรางคุ้มครองไปในตัว หญิงเซียนอยนิยมทัดดอกฮาปองหรือดอกชบาสีแดง ทั้งเซียมังและมันนิไม่นิยมสวมกำไลโลหะเท่าสร้อยคอลูกมะกล่ำ ลูกปัด ลูกเดือยหินสลับฟันสัตว์จำพวกลิง ค่าง (หน้า 29-30)

Folklore

เซียมังมีตำนานความเชื่อต่าง ๆ เกี่ยวกับสิ่งเหนือธรรมชาติมากมาย นอกจากเรื่องเล่าเกี่ยวกับสาเหตุที่มีผมหยิกงอ ซึ่งได้เล่าสืบต่อกันมาว่า เดิมทีพวกนี้มีผิวพรรณผมเผ้าอย่างคนธรรมดา แต่ภายหลังทำสงครามกับพวกลิงทางฝั่งตะวันออกของแหลมมลายูแล้วเกิดไปเผาป่าทำลายลิงเหล่านั้น แต่ไฟกลับไหม้ป่าแล้วกลับมาล้อมพวกตน ทำให้ ผิวคล้ำผมหยิก รูปร่างหดเตี้ยตราบจนปัจจุบัน (หน้า 23) นอกจากตำนานดังกล่าวแล้ว เซียมังยังมีเรื่องเล่าจากความเชื่อที่ว่า หญิงเซียมังเปรียบเสมือนธิดาของพระอาทิตย์ เมื่อไม่มีพระอาทิตย์ พระจันทร์ก็ย่อมไม่มีแสงสว่าง โลกจะตกอยู่ในความมืด นอกจากนี้ยังเชื่อว่า จันทรคราสหรือราหูอมจันทร์เกิดจากพระยานาคกลังกลืนดวงจันทร์อยู่ ผู้หญิงต้องช่วยกันเอากระบอกไม้มาเคาะไล่ เพราะผู้ชายอาจหมดไปจากโลก (หน้า 38) มีเรื่องเล่าว่า วิญญาณของเด็กที่เสียชีวิตอีก 3 ปีสามารถกลับมาเกิดใหม่ ดวงวิญญาณจะไปสิงในร่างนก เที่ยวร่อนเร่ไปแล้วจึงกลับมาสู่ครรภ์หญิงอีกครั้ง การยิงนกจึงถือเป็นบาป (หน้า 39) ตำนานเกี่ยวกับการสร้างมนุษย์คู่แรกของโลกในชนเผ่าเซียมังเล่ากันว่า คารีนำเอาดินเหนียวมาปั้นเป็นมนุษย์ผู้ชายชื่อ "จาปอง" และมนุษย์ผู้หญิงชื่อ "เพ็ก" ทั้งคู่สืบพันธุ์กันและบวงสรวงบูชาคารี ต่อมาทั้งคู่ทอดทิ้งภาระดังกล่าว คารีพิโรธจึงสาปให้ จาปองกับเพ็กกลายเป็นลิงป่า หากสำนึกผิดจึงคืนร่างเป็นมนุษย์ดังเดิม (หน้า 41) นอกจากเรื่องเล่าของชนเผ่าเซียมังแล้ว ผู้เขียนยังได้กล่าวอ้างถึงบทพระราชนิพนธ์เรื่อง "เงาะป่า" ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งมีที่มาจากการนำเด็กชาวก็อยที่ชื่อคนัง มาชุบเลี้ยงไว้ในพระราชวังเพื่อศึกษาถึงภาษาและขนบธรรมเนียมของชาวป่า (หน้า 7)

Ethnicity (Ethnic Identity, Boundaries and Ethnic Relation)

จากหลักฐานตำนานโบราณของมลายู กล่าวไว้ว่า แหลมมลายูแต่เดิมมีชนเผ่าอยู่ 4 เผ่า คือ กาฮาซี ซาไก เซียมัง และโอรังลาโวด แต่ละกลุ่มมีลักษณะเฉพาะด้านชาติพันธุ์แตกต่างกันไป เช่น ชนเผ่ากาฮาซี มีรูปร่างสูงใหญ่ บึกบึน หน้ากว้าง ฟันแหลม ผิวกายดำแดงเหมือนยักษ์ ทั้งยังมีอุปนิสัยโหดร้าย นิยมรับประทานเนื้อสัตว์ดิบและเนื้อมนุษย์ ปัจจุบันสูญพันธุ์แล้วชนเผ่าซาไก มีรูปร่างเตี้ยล่ำสัน ผิวคล้ำดำแดง ริมฝีปากหนา ตาโปน ผมหยิกงอ ชนเผ่าเซียมัง มีรูปร่างสูงกว่าซาไกเล็กน้อย ผิวคล้ำน้อยกว่า มีรูปแบบวิถีชีวิตคล้ายกับพวกซาไก พวกโอรังลาโวด หรือชาวน้ำ ตั้งบ้านเรือนอยู่ตามชายฝั่งทะเลหรือตามเกาะต่าง ๆ แถบชายฝั่งตะวันตกของแหลมมลายู โดยมากมักผสมกลมกลืนจนกลายเป็นชาวมลายู (หน้า 4-5) ชนเผ่าเซียมังและซาไกแม้จะมีลักษณะทางชาติพันธุ์ อาทิ รูปร่างหน้าตาผิวพรรณ ชีวิตความเป็นอยู่และขนบธรรมเนียมคล้ายคลึงกัน แต่ก็มีข้อแตกต่างปลีกย่อยหลายประการ อาทิ ซาไกรูปร่างเตี้ยและมีผิวคล้ำดำแดงกว่าเซียมัง ลักษณะเด่นด้านชาติพันธุ์คือ ตาโปน ริมฝีปากหนา ผมหยิกงอขมวดกลม หน้าสั้น ฟันขาว คางใหญ่ ซาไกชอบอาศัยอยู่ตามป่ามากกว่าบนเนินเขา ชอบอยู่ในที่ห่างไกลจากหมู่บ้านมลายู และมักโยกย้ายถิ่นที่อยู่เสมอ ในขณะที่เซียมังผิวคล้ำน้อยกว่า และมีรูปร่างสูงกว่าซาไกเล็กน้อย ชอบอาศัยอยู่ตามเนินเขาสูงหรือป่าลึก เซียมังจะถนัดใช้หน้าไม้ ธนูและหอกมากกว่าใช้กล้องไม้ซางเป่าลูกดอกแบบซาไก มีนัยน์ตาโต จมูกบานได้กลิ่นไวและมีอำนาจมองการณ์ไกลได้เป็นพิเศษ เส้นผมอ่อนหยิกเป็นลอนแห้ง มือเท้าเร็ว เดินทางเก่ง กระโดดได้ไกลและสามารถปีนต้นไม้ได้เร็ว เป็นที่น่าสังเกตว่า พวกเซียมังและซาไกมีประสาทหูไว ตาไวและเท้าไว้เป็นพิเศษ (หน้า 3, 5, 12, 23, 26)

Social Cultural and Identity Change

เมื่อความเจริญเข้ามา พวกซาไกและเซียมังที่อยู่อาศัยตามป่าเขาในรัฐมลายูเมื่อ 40 ปีก่อนก็มีจำนวนลดน้อยลง และได้กลายเป็นชาวมลายูไป กล่าวคือ ชาวมลายูมณฑลปัตตานีได้ผสมกลมกลืนด้านชาติพันธุ์กับพวกเซียมัง ในขณะที่มลายูแห่งรัฐเประก็ ผสมกับพวกซาไก นอกจากนี้ซาไกและเซียมังที่ตั้งหลักแหล่งถาวรก็ได้รับการศึกษาจากโรงเรียนของรัฐ แต่ข้อมูลมิได้บ่งบอกว่ากลุ่มคนเหล่านี้มีการเปลี่ยนแปลงอัตลักษณ์หรือเอกลักษณ์ดั้งเดิมของตนหรือไม่ (หน้า 6)

Map/Illustration

ภาพเงาะคนัง มหาดเล็กในรัชกาลที่ 5 (หน้า 2) เงาะป่า ภาพจากหอสมุดกรมพระยาดำรงราชานุภาพ (หน้า 8) เงาะป่าชายแดนปักษ์ใต้ (หน้า 9) เงาะป่าอำเภอเบตง จ.ยะลา (หน้า 9) ชายหนุ่มชาวซาไกออกล่าสัตว์ป่า (หน้า10) หญิงชาวซาไก (หน้า 20) ชาวซาไกอำเภอเบตง จ.ยะลา (หน้า21) เซียมังชายแดนไทยกับมลายู (หน้า 22) ภาพวาดวิถีชีวิตชาวเซียมัง (หน้า 47)

Text Analyst ศมณ ศรีทับทิม Date of Report 14 พ.ย. 2561
TAG มันนิ มานิ กอย คะนัง(ซาไก), แหลมมลายู, Translator -
 
 

 

ฐานข้อมูลอื่นๆของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
  ฐานข้อมูลพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทย
จารึกในประเทศไทย
จดหมายเหตุทางมานุษยวิทยา
แหล่งโบราณคดีที่สำคัญในประเทศไทย
หนังสือเก่าชาวสยาม
ข่าวมานุษยวิทยา
ICH Learning Resources
ฐานข้อมูลเอกสารโบราณภูมิภาคตะวันตกในประเทศไทย
ฐานข้อมูลประเพณีท้องถิ่นในประเทศไทย
ฐานข้อมูลสังคม - วัฒนธรรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  หน้าหลัก
งานวิจัยชาติพันธุ์ในประเทศไทย
บทความชาติพันธุ์
ข่าวชาติพันธุ์
เครือข่ายชาติพันธุ์
เกี่ยวกับเรา
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  ข้อมูลโครงการ
ทีมงาน
ติดต่อเรา
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
ช่วยเหลือ
  กฏกติกาและมารยาท
แบบสอบถาม
คำถามที่พบบ่อย


ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) เลขที่ 20 ถนนบรมราชชนนี เขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ 10170 
Tel. +66 2 8809429 | Fax. +66 2 8809332 | E-mail. webmaster@sac.or.th 
สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2549    |   เงื่อนไขและข้อตกลง