สมัครสมาชิก   
| |
ค้นหาข้อมูล
ค้นหาแบบละเอียด
  •   ความเป็นมาและหลักเหตุผล

    เพื่อรวบรวมงานวิจัยทางชาติพันธุ์ที่มีคุณภาพมาสกัดสาระสำคัญในเชิงมานุษยวิทยาและเผยแผ่สาระงานวิจัยแก่นักวิชาการ นักศึกษานักเรียนและผู้สนใจให้เข้าถึงงานวิจัยทางชาติพันธุ์ได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น

  •   ฐานข้อมูลจำแนกกลุ่มชาติพันธุ์ตามชื่อเรียกที่คนในใช้เรียกตนเอง ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้ คือ

    1. ชื่อเรียกที่ “คนอื่น” ใช้มักเป็นชื่อที่มีนัยในทางเหยียดหยาม ทำให้สมาชิกกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ รู้สึกไม่ดี อยากจะใช้ชื่อที่เรียกตนเองมากกว่า ซึ่งคณะทำงานมองว่าน่าจะเป็น “สิทธิพื้นฐาน” ของการเป็นมนุษย์

    2. ชื่อเรียกชาติพันธุ์ของตนเองมีความชัดเจนว่าหมายถึงใคร มีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมอย่างไร และตั้งถิ่นฐานอยู่แห่งใดมากกว่าชื่อที่คนอื่นเรียก ซึ่งมักจะมีความหมายเลื่อนลอย ไม่แน่ชัดว่าหมายถึงใคร 

     

    ภาพ-เยาวชนปกาเกอะญอ บ้านมอวาคี จ.เชียงใหม่

  •  

    จากการรวบรวมงานวิจัยในฐานข้อมูลและหลักการจำแนกชื่อเรียกชาติพันธุ์ที่คนในใช้เรียกตนเอง พบว่า ประเทศไทยมีกลุ่มชาติพันธุ์มากกว่า 62 กลุ่ม


    ภาพ-สุภาษิตปกาเกอะญอ
  •   การจำแนกกลุ่มชนมีลักษณะพิเศษกว่าการจำแนกสรรพสิ่งอื่นๆ

    เพราะกลุ่มชนต่างๆ มีความรู้สึกนึกคิดและภาษาที่จะแสดงออกมาได้ว่า “คิดหรือรู้สึกว่าตัวเองเป็นใคร” ซึ่งการจำแนกตนเองนี้ อาจแตกต่างไปจากที่คนนอกจำแนกให้ ในการศึกษาเรื่องนี้นักมานุษยวิทยาจึงต้องเพิ่มมุมมองเรื่องจิตสำนึกและชื่อเรียกตัวเองของคนในกลุ่มชาติพันธุ์ 

    ภาพ-สลากย้อม งานบุญของยอง จ.ลำพูน
  •   มโนทัศน์ความหมายกลุ่มชาติพันธุ์มีการเปลี่ยนแปลงในช่วงเวลาต่างๆ กัน

    ในช่วงทศวรรษของ 2490-2510 ในสาขาวิชามานุษยวิทยา “กลุ่มชาติพันธุ์” คือ กลุ่มชนที่มีวัฒนธรรมเฉพาะแตกต่างจากกลุ่มชนอื่นๆ ซึ่งมักจะเป็นการกำหนดในเชิงวัตถุวิสัย โดยนักมานุษยวิทยาซึ่งสนใจในเรื่องมนุษย์และวัฒนธรรม

    แต่ความหมายของ “กลุ่มชาติพันธุ์” ในช่วงหลังทศวรรษ 
    2510 ได้เน้นไปที่จิตสำนึกในการจำแนกชาติพันธุ์บนพื้นฐานของความแตกต่างทางวัฒนธรรมโดยตัวสมาชิกชาติพันธุ์แต่ละกลุ่มเป็นสำคัญ... (อ่านเพิ่มใน เกี่ยวกับโครงการ/คู่มือการใช้)


    ภาพ-หาดราไวย์ จ.ภูเก็ต บ้านของอูรักลาโว้ย
  •   สนุก

    วิชาคอมพิวเตอร์ของนักเรียน
    ปกาเกอะญอ  อ. แม่ลาน้อย
    จ. แม่ฮ่องสอน


    ภาพโดย อาทิตย์    ทองดุศรี

  •   ข้าวไร่

    ผลิตผลจากไร่หมุนเวียน
    ของชาวโผล่ว (กะเหรี่ยงโปว์)   
    ต. ไล่โว่    อ.สังขละบุรี  
    จ. กาญจนบุรี

  •   ด้าย

    แม่บ้านปกาเกอะญอ
    เตรียมด้ายทอผ้า
    หินลาดใน  จ. เชียงราย

    ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ถั่วเน่า

    อาหารและเครื่องปรุงหลัก
    ของคนไต(ไทใหญ่)
    จ.แม่ฮ่องสอน

     ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ผู้หญิง

    โผล่ว(กะเหรี่ยงโปว์)
    บ้านไล่โว่ 
    อ.สังขละบุรี
    จ. กาญจนบุรี

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   บุญ

    ประเพณีบุญข้าวใหม่
    ชาวโผล่ว    ต. ไล่โว่
    อ.สังขละบุรี  จ.กาญจนบุรี

    ภาพโดยศรยุทธ  เอี่ยมเอื้อยุทธ

  •   ปอยส่างลอง แม่ฮ่องสอน

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ปอยส่างลอง

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดย เบญจพล  วรรณถนอม
  •   อลอง

    จากพุทธประวัติ เจ้าชายสิทธัตถะ
    ทรงละทิ้งทรัพย์ศฤงคารเข้าสู่
    ร่มกาสาวพัสตร์เพื่อแสวงหา
    มรรคผลนิพพาน


    ภาพโดย  ดอกรัก  พยัคศรี

  •   สามเณร

    จากส่างลองสู่สามเณร
    บวชเรียนพระธรรมภาคฤดูร้อน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   พระพาราละแข่ง วัดหัวเวียง จ. แม่ฮ่องสอน

    หล่อจำลองจาก “พระมหามุนี” 
    ณ เมืองมัณฑะเลย์ ประเทศพม่า
    ชาวแม่ฮ่องสอนถือว่าเป็นพระพุทธรูป
    คู่บ้านคู่เมืององค์หนึ่ง

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม

  •   เมตตา

    จิตรกรรมพุทธประวัติศิลปะไต
    วัดจองคำ-จองกลาง
    จ. แม่ฮ่องสอน
  •   วัดจองคำ-จองกลาง จ. แม่ฮ่องสอน


    เสมือนสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรม
    เมืองไตแม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ใส

    ม้งวัยเยาว์ ณ บ้านกิ่วกาญจน์
    ต. ริมโขง อ. เชียงของ
    จ. เชียงราย
  •   ยิ้ม

    แม้ชาวเลจะประสบปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัย
    พื้นที่ทำประมง  แต่ด้วยความหวัง....
    ทำให้วันนี้ยังยิ้มได้

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ผสมผสาน

    อาภรณ์ผสานผสมระหว่างผ้าทอปกาเกอญอกับเสื้อยืดจากสังคมเมือง
    บ้านแม่ลาน้อย จ. แม่ฮ่องสอน
    ภาพโดย อาทิตย์ ทองดุศรี
  •   เกาะหลีเป๊ะ จ. สตูล

    แผนที่ในเกาะหลีเป๊ะ 
    ถิ่นเดิมของชาวเลที่ ณ วันนี้
    ถูกโอบล้อมด้วยรีสอร์ทการท่องเที่ยว
  •   ตะวันรุ่งที่ไล่โว่ จ. กาญจนบุรี

    ไล่โว่ หรือที่แปลเป็นภาษาไทยว่า ผาหินแดง เป็นชุมชนคนโผล่งที่แวดล้อมด้วยขุนเขาและผืนป่า 
    อาณาเขตของตำบลไล่โว่เป็นส่วนหนึ่งของป่าทุ่งใหญ่นเรศวรแถบอำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี 

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   การแข่งขันยิงหน้าไม้ของอาข่า

    การแข่งขันยิงหน้าไม้ในเทศกาลโล้ชิงช้าของอาข่า ในวันที่ 13 กันยายน 2554 ที่บ้านสามแยกอีก้อ อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย
 
  Princess Maha Chakri Sirindhorn Anthropology Centre
Ethnic Groups Research Database
Sorted by date | title

   Record

 
Subject จีน,อินเดียน,จีนยูนนาน,ฉาน,ชาติพันธุ์,ความหลากหลาย,สังคมเมือง,เชียงใหม่
Author Michael R.J. Vatikiotis
Title Ethnic Pluralism in the Northern Thai City of Chiang Mai
Document Type วิทยานิพนธ์ Original Language of Text ภาษาอังกฤษ
Ethnic Identity ไทใหญ่ ไต คนไต, Language and Linguistic Affiliations ไท(Tai)
Location of
Documents
ห้องสมุดของศูนย์มานุษวิทยาสิรินธร Total Pages 194 Year 2527
Source Thesis Submitted for the Degree of Doctor of Philosophy, University of Oxford.
Abstract

งานวิจัยชิ้นนี้มีจุดประสงค์เพื่อศึกษาถึงความหลากหลายทางชาติพันธุ์ ที่อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานที่ตัวเมืองเชียงใหม่ ภาคเหนือของประเทศไทย ซึ่งเป็นเมืองที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในภาคเหนือ ผ่านการศึกษาลักษณะทางกายภาพ เศรษฐกิจและโครงสร้างทางสังคมของเมืองเชียงใหม่ จากข้อมูลพบว่าชาติพันธุ์ต่างๆ ที่เข้ามา ส่วนใหญ่จะมาจากชายแดนประเทศพม่า ในช่วงปลายศตวรรษที่ 18 ซึ่งพวกเขาต้องมีการปรับตัวให้เข้ากันได้กับการปกครองของเมืองเชียงใหม่ในขณะนั้น ต่อมาในช่วงกลางศตวรรษที่ 19 ขึ้นไป การพัฒนาเมืองเชียงใหม่ ทำให้มีการเพิ่มจำนวนของกลุ่มผลประโยชน์ในบางกลุ่ม ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มชาวต่างด้าว ซึ่งเกิดจากการเติบโตการค้าและการพาณิชย์และสภาวะทางเศรษฐกิจของภูมิภาคที่เปิดโอกาสทางการธุรกิจ อีกทั้งเชียงใหม่เป็นพื้นที่ปลอดจากการรุกรานจากยุโรป (ด้วยลัทธิขยายอาณานิคม) และความปลอดภัยของเชียงใหม่ ทำให้ชาวต่างด้าวและชนกลุ่มน้อยเข้ามาตั้งถิ่นฐานเพื่อทำการค้าขายในเชียงใหม่ โดยเฉพาะกลุ่มคนที่เคยติดต่อทำการค้าในพื้นที่แถบนี้มาก่อน การที่เชียงใหม่มีพื้นที่ติดกับลาวและพม่านั้น ไม่เพียงแต่สนับสนุนการอพยพย้ายถิ่นของชนกลุ่มน้อย แต่ก็สามารถส่งผลถึงความเติบโตในการค้าขายระหว่างชายแดนได้ดี โดยเฉพาะการปลอดจาการเข้ามาขัดขวางของรัฐบาล นอกจากนั้น ผู้วิจัยมีความเห็นว่า ในขณะที่นักวิชาการหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐให้ความสนใจกับชนกลุ่มน้อย จำนวน 300,000 คน ที่ตั้งรกรากในพื้นที่ภูเขา แต่ผู้วิจัยคิดว่าการศึกษาชนกลุ่มน้อยในพื้นที่ชุมชนเมืองก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน เพราะการเข้ามาตั้งถิ่นฐานของพวกเขาซึ่งถึงแม้มีจำนวนน้อยก็มีผลกระทบต่อสังคมของชุมชนเมืองเช่นกัน อีกทั้งยังพบว่ามีการคาบเกี่ยวในการตั้งถิ่นฐานและปฏิสัมพันธ์กันระหว่างกันของชนกลุ่มน้อยหลายกลุ่ม ยกตัวอย่างเช่น ชาวจีนและชาวต่างชาติที่มาจากเอเชียใต้ (ส่วนใหญ่คือชาวอินเดีย) ชาวจีนยูนนานกับชาวฉาน ข้อสังเกตอีกประการคือ ภูมิลำเนาเกิดมีความสำคัญในการดำเนินชีวิตมากกว่าลักษณะทางชาติพันธุ์ เช่น พบว่าชาวอาข่าที่มีชาติพันธุ์เดียวกันแต่เกิดที่ประเทศไทยกับเกิดที่พม่าจะมีการใช้ชีวิตที่แตกต่างกัน ความหลากหลายทางชาติพันธุ์ในสังคมเชียงใหม่เกิดขึ้นไปพร้อม ๆ กับการขยายตัวทางเศรษฐกิจและกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ แสดงให้เห็นถึงความสามารถในการจัดการและปรับตัวของชนต่างด้าวและชนกลุ่มน้อยที่อาศัยอยู่ในเมืองได้เป็นอย่างดี มุสลิมจากเบงกาลีและจีนยูนนาน ได้แสดงออกและรักษาชาติพันธุ์ของตน ด้วยการแสดงว่าตนเองเป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะในอาชีพของตน ซึ่งในที่นี้คือการค้าขาย

Focus

ศึกษาความหลากหลายทางชาติพันธุ์ภายในโครงสร้างทางสังคมของเชียงใหม่ ซึ่งเป็นเมืองที่มีความสำคัญอันดับสองรองจากกรุงเทพ โดยพิจารณาประเด็นเกี่ยวกับการอพยพของชาติพันธุ์ต่าง ๆ ที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานในตัวเมืองจังหวัดเชียงใหม่ ทางภาคเหนือของประเทศไทย และประเด็นว่าด้วยบทบาท ความกลมกลืน การผสมผสาน และการเคลื่อนไหวทางชาติพันธุ์ ในบริบทของลักษณะทางกายภาพ เศรษฐกิจและโครงสร้างทางสังคมของเมืองเชียงใหม่ในขณะนั้น

Theoretical Issues

ไม่ปรากฎ

Ethnic Group in the Focus

จีนโพ้นทะเล อินเดียน จีนจากยูนนาน และฉาน (เงี้ยวตามที่ชาวเชียงใหม่เรียก) ที่อาศัยอยู่ในจังหวัดเชียงใหม่ ประเทศไทย (ภาคผนวก)

Language and Linguistic Affiliations

คนจีนในเชียงใหม่ส่วนมากเป็นกลุ่มที่พูดภาษาแต้จิ๋ว ซึ่งเป็นภาษาที่พูดกันในมณฑลกวางตุ้งของจีน ส่วนชาวจีนกลุ่มย่อย ๆ จะพูดภาษาที่แตกต่างกันไป ได้แก่ แคะ ชาวไฮหลำ ชาวเสฉวน คนฮกเกียน คนกวางตุ้ง (หน้า 180-181) ชานหรือฉานใช้ภาษาฉาน ส่วนภาษาของอาข่าและลีซอ อยู่ในกลุ่มทิเบต-พม่า (หน้า 115) แต่ภาษาของชาติพันธุ์อื่น ๆ ไม่มีการระบุในงานวิจัยชิ้นนี้

Study Period (Data Collection)

พ.ศ. 2524-2526 (ค.ศ.1981-1983)

History of the Group and Community

พัฒนาการของเชียงใหม่ในรูปลักษณ์ปัจจุบันนับได้จากปี พ.ศ. 2339 (ค.ศ. 1793) เมื่อเชียงใหม่ถูกสร้างขึ้นมาใหม่หลังจากที่ร้างไปเป็นเวลานานอันเนื่องจากสงครามกับพม่า และด้วยความช่วยเหลือจากอาณาจักรสยาม ผู้นำสำคัญในการฟื้นฟูเมืองเชียงใหม่ คือพระยากาวิละ (หน้า 32, 36) และกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ก็ถูกอพยพเข้ามาในเมืองเชียงใหม่ และมีการอพยพอย่างต่อเนื่องในภายหลัง ไทใหญ่ อพยพมาจาก ทางตะวันตกของรัฐฉาน คนพื้นเมืองเรียกว่า เงี้ยวอาศัยอยู่ที่หมู่บ้านช้างเผือก ถนัดด้านการปั้นหม้อไหและฟอกหนัง ไทลื้อ อพยพมาจากเมืองนาย, สิบสองปันนา และเขมรัฐ คนพื้นเมืองเรียกว่าลื้อ อาศัยอยู่ที่หมู่บ้าน บ้านวังลาย บ้านเชียงรุ่ง ถนัดด้านการทำเครื่องเงิน ไทเขิน อพยพมาจากเชียงตุง เชียงแสน คนพื้นเมืองเรียกว่า เขิน อาศัยอยู่ที่บ้านเขิน ถนัดด้านการทำภาชนะลงรักปิดทองและฆ้อง มอญ อพยพมาจาก Pegu คนพื้นเมืองเรียกว่า "เมง" อาศัยอยู่ที่บริเวณช้างคลาน ถนัดด้านการค้าขายทางเรือ พม่า อพยพมาจากพม่า คนพื้นเมืองเรียกว่าม่าน อาศัยอยู่ที่บ้านเมืองทุ่ง ถนัดการทำไร่ เข้าป่าล่าสัตว์ กระเหรี่ยง อพยพมาจากพม่า คนพื้นเมืองเรียกว่า กระเหรี่ยง อาศัยอยู่ที่หมู่บ้าน "San Dok Tho" ถนัด การทำไร่ เข้าป่าล่าสัตว์ (หน้า 53) เงี้ยว เข้ามาตั้งรกรากในช่วงกลางศตวรรษที่19 โดยที่จริงแล้วเงี้ยวคือฉาน ฉานจีน พม่าและตองซูนั่นเอง เพียงแต่ชาวเชียงใหม่เรียกรวมกัน พวกเขาเข้ามาในประเทศไทยในสองลักษณะคือเข้ามาอย่างผู้ลี้ภัยและเข้ามาพร้อม ๆ กับกิจการไม้สักของชาวอังกฤษ ซึ่งมีทั้งขมุและข่าที่เข้ามาพร้อม ๆ กัน ส่วนใหญ่มาจากหลวงพระบางเพื่อทำงานเป็นคนงานในป่าไม้สัก (หน้า 89) มุสลิม ฮ่อ : ฮ่อ เป็นคนจีนที่อาศัยอยู่บริเวณทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน สำหรับกลุ่มที่เข้ามาใน ประเทศไทยยังคงเป็นที่สับสนว่ากลุ่มฮ่อที่เข้ามาในเชียงใหม่นั้น เป็นกลุ่มใดกันแน่ เนื่องจากไม่มีข้อมูลยืนยันว่าจีนฮ่อที่เข้ามาที่ประเทศไทยเป็นมุสลิม มีข้อมูลเพียงว่ามุสลิม ฮ่อที่ลี้ภัยจากการต่อต้านจีนได้หนีเข้าไปในพม่า แต่ไม่มีการระบุว่ามีการเข้ามาในประเทศไทย จากข้อมูลอื่น ๆ พบว่า ฮ่อที่ หมู่บ้านฮ่อที่เชียงใหม่ ไม่กินหมู และเข้ามาที่ประเทศไทยเมื่อศตวรรษที่ 19 แต่จำนวนที่เข้ามาก็มีจำนวนน้อย เนื่องจากส่วนใหญ่ไปตั้งรกรากที่เชียงตุงเสียมาก ในปัจจุบันยังพบที่ ชุมชนจีนมุสลิม ที่อำเภอฝาง เชียงใหม่ (หน้า 97) ชาวยูนนานที่อพยพเข้ามาที่เชียงใหม่ส่วนมากอพยพไปตั้งรกรากอยู่ที่พม่าก่อนหน้า แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์ไม่สงบในพม่าประมาณช่วง พ.ศ. 2505, 2509 (ค.ศ. 1962, 1968) ที่มีการต่อต้านคนจีนขึ้น ทำให้ชาวยูนนานอพยพมาตั้งรกรากที่เมืองเชียงใหม่ ในปัจจุบัน มีจีนยูนนานอยู่ในเชียงใหม่ประมาณ 2,500 คนที่ตั้งรกรากอยูถาวร (หน้า 101) ชาวอินเดียมีเหตุผลในการอพยพเข้ามาเช่นเดียวกับการอพยพของชาติพันธุ์ต่าง ๆ ที่เข้ามาเนื่องจาก ผลกระทบจากการขยายอาณานิคมของประเทศมหาอำนาจ ในช่วงศตวรรษที่ 19 การเข้ามาในพื้นที่ครั้งแรก จะเข้าที่พม่าก่อนเนื่องจากถูกเกณฑ์มาเป็นทหาร และเข้ามาที่ไทยพร้อม ๆ กับการทำการค้าของอังกฤษ ซึ่งติดต่อธุรกิจในบริเวณเชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง แพร่ และน่าน พวกเขาถูกเรียกว่าเบงกาลี มีความถนัดในเรื่องค้าขายวัว ควาย ปัจจุบันตั้งถิ่นฐานในสองพื้นที่คือ บริเวณช้างคลาน และบ้านช้างเผือก และการเข้ามาอีกบางส่วนในช่วงศตวรรษที่ 20 ที่พื้นที่ช้างม่อย ต่อมาในเวลาช่วงกลางปีพ.ศ. 2503 (ค.ศ.1960) มีเหตุการณ์ที่ผลักดันให้คนจากชาติเอเชียใต้เข้ามาที่ประเทศไทยจำนวนมากขึ้น คือการต่อต้านชาวมุสลิมของรัฐบาลพม่าในยุคที่นายพลเนวินปกครอง และจากการออกกฏหมายที่ระบุให้ชาวอินเดียเป็นชนชั้นสาม ถ้าไม่สามารถแสดงตนว่าเข้ามาในประเทศก่อนปี พ.ศ.2366 (ค.ศ.1823) โดยชาวมุสลิมเข้ามาที่ประเทศไทยโดยการเดินเท้าเข้ามา เริ่มที่แม่สอด แม่สะเรียง แม่ฮ่องสอน แม่สาย ลำปาง และมาสุดท้ายที่เชียงใหม่ เชียงราย และพิษณุโลก (หน้า 103-107) ฉานได้เข้ามาในไทยในช่วงก่อนสงครามโลกและได้กลับไปที่รัฐฉานอีกครั้งในระหว่างปี พ.ศ.2464 (ค.ศ. 1921) แต่หลังจากที่สงครามโลกได้สิ้นสุดลงชาวฉานได้กลับมาที่เชียงใหม่อีกครั้ง ด้วยแรงพลักดันด้านการเมืองการปกครองในยุคสมัยนั้น ที่ลดอำนาจของชนกลุ่มน้อยทั้งในพม่าและจีน ซึ่งในปี พ.ศ.2506 (ค.ศ.1963) ประมาณการว่ามีชาวฉาน 50,000 คน ในประเทศไทย ตั้งถิ่นฐานอยู่ที่ ทางตะวันตกและตะวันตกเฉียงเหนือของเชียงใหม่ ในพื้นที่บริเวณลุ่มน้ำสาละวิน อย่างไรก็ตาม ฉานที่เข้ามาที่เมืองไทยมีความแตกต่างกัน สามารถแบ่งเป็นสองกลุ่ม คือ กลุ่มที่พูดภาษาฉาน (Shan speaking) จะอยู่ที่แม่ฮ่องสอน และทางเหนือของเชียงราย บริเวณรอบแม่สายและดอยตุง พวกเขาจะตั้งหมู่บ้านติดกับหมู่บ้านของจีนยูนนาน และบางส่วนอยู่ที่ค่ายทหารฉานที่แม่ฮ่องสอน (หน้า 103 -109) การอพยพเข้ามาของชาวเขาเข้ามาที่เชียงใหม่ : สองกลุ่มที่ทำการศึกษา คือ อาข่าและลีซอ ซึ่งเป็นกลุ่มตระกูลภาษาทิเบต-พม่า เข้ามาในไทยเมื่อกว่าร้อยปีที่แล้ว ปัจจุบัน (ในปีที่ทำการศึกษา) มีจำนวนประชากรอาข่า ประมาณ 13,000 คน ส่วนประชากรลีซอ มีประมาณ 22,000 คน ส่วนใหญ่อยู่ในเชียงใหม่และเชียงราย ทั้งคู่มีภาษาและวัฒนธรรม ความเชื่อที่แตกต่างกัน (หน้า 115) เมืองเชียงใหม่ในปัจจุบัน คือช่วงปี พ.ศ. 2525 (ค.ศ.1982) มีชาวต่างด้าวสองกลุ่มใหญ่ที่อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานคือ ชาวจีนมีจำนวน 1,697 คน และ ชาวฮินดูและซิกห์จากอินเดียจำนวน 75 คน สำหรับกลุ่มชาติพันธุ์ที่นิยมอยู่กันเป็นกลุ่มชุมชนคือชาวจีน ส่วนชาวอินเดียคือกลุ่มที่อยู่กระจัดกระจายมากที่สุด และส่วนใหญ่นิยมที่จะตั้งถิ่นฐานอยู่ที่เดิม คือบริเวณตำบลช้างม่อย ซึ่งเป็นพื้นที่ที่พวกเขาอพยพมาตั้งปลายศตวรรษที่ 19 และต้นศตวรรษ 20 และฉานก็เช่นเดียวกันที่ยังคงเลือกที่จะตั้งถิ่นฐานในพื้นที่แรกที่พวกเขาเข้ามาคือในพื้นที่ช้างคลาน และเป็นที่สังเกตว่าชาวเขาที่อพยพมาจากชายแดนจะมีการติดต่อสัมพันธ์กันระหว่างกลุ่มอยู่เสมอ ลีซอ มูเซอ ม้ง กะเหรี่ยง เย้า และอาข่า จะลงมาที่ในเมืองเพื่อซื้อของใช้ต่าง ๆ และขายของป่า ม้งได้ติดต่อทำการค้ากับชาวจีนที่อยู่ในตัวเมืองมานานแล้ว มีร้านค้าที่เป็นเหมือนจุดสังสรรค์ของม้ง เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารกับคนจีน ในร้านจะมีของเฉพาะสำหรับม้งใช้ เช่น ด้ายสำหรับทอชุดม้ง และเนื่องจากระยะทางจากตลาดในเมืองกับภูเขาห่างกัน จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้ม้งย้ายมาตั้งถิ่นฐานในเมือง (หน้า 119) ส่วนการเข้ามาตั้งถิ่นฐานของอาข่าและลีซอ เกิดจากความเสื่อมของการปกครองและสภาพสังคม และการอพยพเข้ามาของชาวเขาจากพม่าทำให้ชาวเขากลุ่มแรกต้องอพยพลงมาตั้งถิ่นฐานในเมือง เพราะเกิดปัญหาการเปลี่ยนแปลงทางสังคม ที่ทำให้พวกที่อยู่ก่อนเกิดความไม่มั่นคงในการใช้ชีวิตในแต่ละวัน บางครั้งเกิดความปัญหาระหว่างชาวเขาและทหารพม่า (หน้า 121)

Settlement Pattern

ผู้วิจัยได้อธิบายว่า เมืองเชียงใหม่ในช่วงร้อยปีที่ผ่านมา ได้แสดงออกให้เห็นโครงสร้างทางกายภาพของสภาพเมืองที่เป็นเหมือนสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ ศูนย์รวมทางศาสนา มีวังและวัดสวยงาม โครงสร้างชุมชน ความหนาแน่น บรรยากาศ รวมถึงวัสดุของสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ ในเมืองในช่วงก่อนสงครามโลก เป็นเสมือนสัญลักษณ์ที่สื่อถึงการปกครองในยุคนั้น ซึ่งเป็นโครงสร้างสังคมและการปกครองแบบดั้งเดิม ที่มีการตั้งถิ่นฐานอยู่ใจกลางเมืองใกล้กับสถานที่ศักดิ์สิทธิ์อย่างวัด และอยู่ภายในกำแพงเมือง ส่วนการเติบโตของเศรษฐกิจในชุมชนเมือง ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ส่งเสริมให้เกิดความหลากหลายทางสังคม มีชาติพันธุ์อื่นๆ เข้ามาอยู่ใหม่ ส่วนใหญ่จะตั้งถิ่นฐานที่บริเวณรอบๆ กำแพงเมือง และมีการเกิดขึ้นของชุมชนค้าขายที่ตั้งรอบๆ บริเวณรอบนั้น (หน้า 162) การเกิดเขตเทศบาลและชุมชนห้องแถว มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ ประชากรหนาแน่น เป็นลักษณะของเชียงใหม่ในปัจจุบัน พื้นที่ค้าขายของเชียงใหม่มีขนาดเกือบครึ่งของพื้นที่เมือง จากเดิมเริ่มที่ตัวเมืองต่อมาได้ขยายพื้นที่ไปที่กำแพงเมืองเก่า ไปทางตะวันตกของแม่น้ำปิง เดิมเป็นพื้นที่ของฉานและชาวยูนนานทำการค้าขาย ในช่วงหลังศตวรรษที่ 19 เจ้าเมืองได้อนุญาตให้พวกเขาได้ใช้ที่ดินบริเวณนี้ เป็นบริเวณแรกที่ร้านห้องแถวเกิดขึ้น ต่อมามีชาวจีนเข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่ระหว่างสองฝั่งของแม่น้ำ และหลังจากที่รถไฟเกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2464 (ค.ศ.1921) ชุมชนการค้าเริ่มขยายตัวไปที่ทางตะวันออกของตำบลวัดเกศ (Wat Ket) มากขึ้น (หน้า 166-168) หมู่บ้านและห้องแถว : โครงสร้างคู่ขนานของชุมชนเมืองเชียงใหม่ หมู่บ้านและห้องแถว เป็นภาพคู่ขนานที่สามารถพบเห็นได้ทั่วไปในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประโยชน์ที่แตกต่างกันของหมู่บ้านและห้องแถว คือ ความสามารถติดต่อกับสังคมใกล้เคียง ห้องแถวมีการติดต่อกับผู้คนจำนวนมากแบบเห็นหน้าค่าตากัน (face to face interaction) เพื่อนบ้านเดินผ่านหน้าบ้านไปมา เพราะการเปิดหน้าด้านไว้เป็นลักษณะเฉพาะของบ้านแบบห้องแถว ส่วนบ้านจะมีความเป็นส่วนตัวมากกว่า (หน้า 172) โดยสรุป รูปแบบการตั้งถิ่นฐานของชาติพันธุ์ต่างๆ ที่เมืองเชียงใหม่ จะตั้งร้านค้าในบริเวณใกล้กับตลาดใจกลางเมือง ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ชาวพื้นเมืองอยู่ก่อนแล้ว ชาวพื้นเมืองส่วนใหญ่อาศัยอยู่บริเวณตัวเมือง ใกล้วัดและอยู่ภายในกำแพงเมืองเก่า ลักษณะสังคมภูมิศาสตร์ของเชียงใหม่แบ่งออกเป็นสองส่วนคือ กลุ่มคนพื้นเมืองที่ตั้งถิ่นฐานในเมือง และอีกกลุ่มคือชาวต่างด้าวและชนกลุ่มน้อย โดยกลุ่มที่มีจำนวนมากที่สุดคือชาวจีนและอินเดีย พวกเขาเลี้ยงชีพด้วยการทำการค้าซึ่งมักรวมกันตั้งถิ่นฐานในบริเวณ 3 ทำเลการค้าที่สำคัญ ซึ่งได้แก่บริเวณ ตำบลช้างม่อย วัดเกศ และช้างคลาน (หน้า 179-192)

Demography

จำนวนชาวเขาทั้งหมดในประเทศไทย มีจำนวน 300,000 คน โดยอาศัยอยู่ที่ภาคเหนือประมาณ 5% ซึ่งแบ่งเป็น 6 กลุ่ม คือ ลีซอ มูเซอ ม้ง กะเหรี่ยง เย้า และอาข่า (หน้า 121) จากข้อมูลของทางการ พบว่า 6-7 % ของจำนวนประชากรทางภาคเหนือไม่ได้มีสัญชาติไทย ในขณะที่จำนวนคนต่างด้าวโดยรวมทั้งประเทศประมาณ 4-5% ซึ่งส่วนมากอพยพมาหลังจากเหตุการณ์สงครามโลกครั้งที่สองและการสิ้นสุดการขยายอาณานิคม (หน้า 21) และจากการสำรวจของรัฐบาลไทยในช่วงเวลาที่ทำการวิจัย ซึ่งได้ประมาณการว่ามีการอพยพเข้ามาอย่างผิดกฏหมายของชาวต่างด้าวมากกว่า 30,000 คน ส่วนใหญ่มาจากพม่าและจีน และอาศัยอยู่ที่เชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ตาก กาญจนบุรี ราชบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ระนอง และชุมพร (หน้า 81) จากข้อมูลของสำนักงานทะเบียนคนต่างด้าว พบว่าจำนวนชาวต่างด้าวที่จดทะเบียนในเชียงใหม่ช่วงปี พ.ศ. 2525 (ค.ศ.1982) มีสองกลุ่มใหญ่คือ ชาวจีนมีจำนวน 1,697 คน และ ชาวฮินดูและซิกห์จากอินเดียจำนวน 75 คน จากข้อมูลระบุว่า ส่วนใหญ่อพยพเข้ามาทางกรุงเทพก่อน สำหรับกลุ่มคนจีนส่วนมากเข้ามาระหว่างปี พ.ศ.2490-2496 (ค.ศ.1947-1953) เป็นช่วงที่คอมมิวนิสต์เข้ามารุกรานประเทศจีน ชาวจีนหนีเข้ามาทางท่าเรือที่กรุงเทพ อย่างไรก็ตาม ผู้วิจัยตั้งข้อสังเกตว่าข้อมูลดังกล่าวอาจจะไม่สมบูรณ์ เพราะเป็นการรวบรวมข้อมูลอย่างเป็นทางการเท่านั้น ส่วนข้อมูลเกี่ยวกับจำนวนของจีนยูนนาน ฉาน และชาวเขาที่เข้าตั้งรกรากในเชียงใหม่ยังไม่มีการจัดเก็บไว้อย่างเป็นทางการ เพราะส่วนใหญ่เดินเท้าเข้ามา และยากที่จะแยกว่าใครเข้ามาถาวรหรือชั่วคราว แต่มีการเก็บข้อมูลอย่างคร่าว ๆ คือ ชาวยูนนานในตัวเมืองเชียงใหม่มีประมาณ 181 คน ซึ่งอาศัยในเขตเทศบาลจำนวน 103 คน สำหรับจำนวนของฉาน ส่วนใหญ่เข้ามาจากพม่าหลังจากสงครามโลกครั้งที่สอง ไม่มีการระบุถึงตัวเลขอย่างเป็นทางการ (หน้า 179-192) สำหรับในการสำรวจประชากรระหว่างปี พ.ศ.2513-2523 (ค.ศ. 1970-1980) นั้นผู้วิจัยได้อธิบายว่ามีการแสดงข้อมูลที่แสดงจำนวนของชาวต่างด้าวที่เชียงใหม่ในจำนวนน้อยกว่าความเป็นจริง สาเหตุที่คาดเคลื่อนเนื่องจากเป็นการสำรวจจำนวนประชากรที่ถูกกฎหมายเท่านั้น ไม่มีความพยายามรวบรวมข้อมูลตามเป็นจริง ซึ่งคาดว่าจำนวนประชากรที่สำรวจมีประมาณ 60% ของจำนวนประชากรจริง (หน้า 180)

Economy

การที่เชียงใหม่ถูกผนวกเข้ากับอาณาจักรสยามมีผลกระทบที่ปรากฎต่อเศรษฐกิจน้อยมาก การขยายตัวทางเศรษฐกิจของเชียงใหม่เป็นผลพวงของการขยายอาณานิคมของชาติตะวันตกในพม่าและลาว การทำไม้สักเป็นกิจกรรมสำคัญในพื้นที่ได้ตกมาอยู่ในมือของบริษัทต่างชาติ ทำให้คนในท้องถิ่นได้ประโยชน์น้อยมาก และเมื่อการทำไม้ซบเซาลงหลัง ค.ศ. 1930 ทางเหนือและเชียงใหม่ก็ยังไม่มีกิจกรรมเศรษฐกิจอย่างอื่น เช่น การเพาะปลูกข้าวเพื่อส่งออกมาทดแทน กิจกรรมที่ช่วยได้บ้างคือ สินค้าประเภทหัตถกรรม เช่น การทอผ้าไหม เครื่องลงรักปิดทองและเครื่องทองเหลือง ฉะนั้นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ชาวเชียงใหม่จึงประสบความยากจน (หน้า 129-132) แต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สถานการณ์ได้กระเตื้องขึ้นมาบ้าง และเริ่มฟื้นตัวขึ้นเรื่อย ๆ ด้วยกระแสการพัฒนาภูมิภาคตามนโยบายของกรุงเทพในช่วงทศวรรษของ 1960 (หน้า 132) กิจกรรมเศรษฐกิจที่ก่อรายได้ให้กับประชากรในท้องถิ่น คือ เกษตรกรรมเชิงพาณิชย์และการท่องเที่ยว ซึ่งมีเชียงใหม่เป็นศูนย์กลางในภาคเหนือ ทำให้เมืองเจริญเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว (หน้า 133) แต่จากหลักฐานที่ปรากฎมิได้เกิดจากการอพยพของคนจากชนบทมาสู่เมืองเหมือนกับสถานการณ์ที่พบทั่วไปว่าการขยายตัวของเมืองมาจากการย้ายถิ่นของคนในชนบท (หน้า 139) ที่อพยพเข้ามามาก เห็นจะเป็นพวกพ่อค้า จากกลุ่มตัวอย่างพบว่า 60% ของพ่อค้ามาจากที่อื่น และปรากฏว่ามีกลุ่มชาติพันธ์ต่าง ๆ ที่ได้มีส่วนร่วมในพัฒนาการของการพาณิชย์ ในเชียงใหม่ ทั้งนี้อาจจะเกิดจากเงื่อนไข ลักษณะการส่งเสริมและพัฒนาของรัฐที่เห็นการพัฒนาเกษตรกรรมและโครงสร้างพื้นฐาน เช่น การคมนาคม ซึ่งในส่วนหนึ่งได้นำความรุ่งเรื่องมาสู่เชียงใหม่ แต่ยังมีเงื่อนไขอื่น ๆ อีก คือ การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเกิดจากการติดต่อค้าขายในแถบชายแดนกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างพม่า จีน ลาว แม้กระทั่งกับอินเดีย ซึ่งผู้ดำเนินกิจการมักจะไม่ได้เป็นคนสัญชาติไทย โดยกลุ่มผู้ร่ำรวยเหล่านี้มักจะดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับการค้าและการท่องเที่ยว ซึ่งกลุ่มคนดังกล่าวเป็นกลุ่มคนที่มีจำนวนไม่กี่คนที่อาศัยในชุมชนเมือง (หน้า 146-150) ดังนั้น เศรษฐกิจของเชียงใหม่จึงมีส่วนที่เป็นอิสระจากรัฐไทย

Social Organization

หลังทศวรรษของ ค.ศ. 1960 ความหลากหลายทางชาติพันธุ์เป็นลักษณะสำคัญของโครงสร้างสังคมเมืองเชียงใหม่เพราะมีผู้อพยพจากพม่า ด้วยเหตุผลทางการเมืองและเศรษฐกิจมาตั้งถิ่นฐานที่เชียงใหม่มากขึ้นและนำไปสู่การอยู่กันกระจุกตัวเป็นย่านตามชาติพันธุ์ และมีการแยกตัวทางสังคม ซึ่งผู้วิจัยตั้งข้อสังเกตว่า ในส่วนหนึ่งเป็นแบบแผนมาดั้งเดิม ที่แยกกันอยู่เป็นย่านและลักษณะตลาดกับเศรษฐกิจในปัจจุบัน ก็เอื้ออำนวยต่อการแยกตัวทางสังคมในเมืองเชียงใหม่ (หน้า 163-65) พัฒนาการทางเศรษฐกิจของเชียงใหม่ในช่วงร้อยปีที่ผ่านมา ได้ปรับเปลี่ยนแบบแผนการตั้งถิ่นฐานในอดีตที่ว่าเป็นศูนย์กลางทางสังคม คือ วังและวัด พร้อมด้วยผู้คนที่มีสถานภาพในพื้นที่ดังกล่าว ส่วนกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ อาศัยอยู่รอบนอก มาเป็นว่าศูนย์กลางของชีวิตสังคมคือย่านตลาดและร้านค้า ที่ครอบครองพื้นที่กว่าครึ่ง (หน้า 165-166) ในบริเวณนอกกำแพงเมืองเดิม ซึ่งเมื่อก่อนเป็นที่พักของพ่อค้าฉานและยูนนาน และได้กลายมาเป็นที่อยู่อาศัยของกลุ่มชาติพันธุ์ทั้งสอง และกลุ่มอื่น ๆ ที่เข้ามาอยู่ในภายหลัง เช่น คนจีน (หน้า 168) โดยมี "ห้องแถว" เป็นสัญลักษณ์ของที่อยู่อาศัย อย่างไรก็ตามผู้วิจัยได้ตั้งข้อสังเกตว่าการแยกกันอยู่อย่างสมบูรณ์เพราะว่า "ห้องแถว" มีลักษณะเปิดออกและมีศักยภาพต่อการปฏิสัมพันธ์ทางสังคมกับคนที่อยู่ใกล้เคียงหรือคนที่ผ่านไปมา (หน้า 171-172) สำหรับเมืองเชียงใหม่ในปัจจุบัน ผู้วิจัยพบว่าแบบแผนการค้าพื้นฐานของชาติพันธุ์ต่าง ๆ ในเมืองเชียงใหม่ (หน้า 173) ไม่ถึงกับแยกขาดจากกัน กลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ เช่น คนจีนโพ้นทะเล ชาวอินเดียนอยู่กันหนาแน่นในบริเวณใจกลางทางการค้า คือ ช้างม่อย วัดเกตุ และช้างคลาน (หน้า 185) ส่วนพวกชาวจีนจากยูนนาน ก็อยู่ในย่านเดิม คือ ช้างคลานและศรีภูมิ และชาติพันธุ์บนพื้นที่สูงก็กระจุกตัวอยู่ในบริเวณศรีภูมิ และช้างคลาน โดยที่รอบ ๆ เป็นที่อยู่ของคนท้องถิ่น แต่ยังไม่มีข้อมูลมากนักเกี่ยวกับการปฎิสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ

Political Organization

เชียงใหม่ เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองตั้งแต่ในช่วงกลางศตวรรษ 19 ขึ้นไป ถึงแม้ว่าไม่ได้เป็นเมืองขึ้น แต่ผู้วิจัยหลายคน อธิบายว่า การปกครองตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมาเป็นการปกครองแบบอาณานิคม ภายใน คือการยึดอำนาจเข้าสู่ส่วนกลาง ยุคของผู้ครองเมืองมีอำนาจหมดไป (หน้า 3) จากการรวมการปกครอง เข้าสู่ศูนย์กลางที่กรุงเทพในช่วงศตวรรษที่ 19 ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงมาก ทั้งการปกครอง เศรษฐกิจและสังคมของเชียงใหม่ เริ่มมีการขยายตัวทางการค้าและเศรษฐกิจ เช่น ธุรกิจค้าไม้สัก ซึ่งเมื่อก่อนจะอยู่ในอำนาจของเจ้านายผู้ครองเมืองเท่านั้น กลายเป็นชาวต่างชาติ เช่น อังกฤษ จีน และในช่วงเวลานี้เองที่ได้นำเอาคนงานชนกลุ่มน้อยเข้ามาด้วย เช่น พม่า กะเหรี่ยง ฉาน ขมุ ปาโอ ซึ่งบางส่วนยังคงตั้งรกรากอยู่ที่เชียงใหม่ต่อไป ในประมาณช่วงปี พ.ศ.2473 (ค.ศ. 1930) การค้าไม้สักลดลง ส่งผลให้เกิดปัญหาชนกลุ่มน้อยไม่มีงานทำจำนวนมาก แต่อย่างไรก็ตาม มีงานหัตถกรรมเข้ามาแทนที่ เช่น การผลิตไหม ฝ้าย เครื่องไม้ เครื่องเงิน เครื่องสาน และสินค้าการเกษตรท้องถิ่น เช่น ชา กาแฟ (หน้า 130) ในช่วงสงครามโลกนั้นเกิดปัญหาความยากจนอย่างหนัก ขาดยารักษาโรค ในขณะมีโรคระบาดแพร่กระจาย หลังจากสงครามสิ้นสุดเศรษฐกิจของภาคเหนือฟื้นตัวอย่างช้า ๆ ด้วยความช่วยเหลือและการพัฒนาจากเมืองหลวงเป็นไปอย่างช้า ๆ เนื่องจากความไม่มั่นคงในด้านการปกครองของประเทศในขณะนั้น ในระหว่างปีพ.ศ. 2491-2500 (ค.ศ.1948-57)

Belief System

ไม่ปรากฎ

Education and Socialization

ไม่ปรากฎ

Health and Medicine

ไม่ปรากฎ

Art and Crafts (including Clothing Costume)

ไม่ปรากฎ

Folklore

ไม่ปรากฎ

Ethnicity (Ethnic Identity, Boundaries and Ethnic Relation)

ไม่มีข้อมูลชัดเจน

Social Cultural and Identity Change

การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมของเชียงใหม่ เกิดขึ้นอย่างชัดเจนในช่วงกลางศตวรรษที่ 19 จากผลกระทบของการเสื่อมสลายลงของการปกครองแบบดั้งเดิม ตำแหน่งของเจ้าเมือง (Prince-ruler) ที่เปรียบเหมือนเจ้าชีวิตของประชาชนหมดอำนาจลง เนื่องจากการควบรวมอำนาจไปที่เมืองหลวงคือกรุงเทพ การควบคุมเมืองอย่างเด็ดขาดด้วยกลุ่มคนที่มีอำนาจในเมืองในยุคก่อน กลับกลายเป็นการควบคุมด้วยเศรษฐกิจ การค้าขาย และเริ่มย้ายมาที่มือของพ่อค้าที่อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานใหม่ ซึ่งสินค้าที่มีอิทธิพลต่อระบบเศรษฐกิจในช่วงนั้น คือ สินค้านำเข้า และวัตถุดิบต่าง ๆ ซึ่งเป็นสินค้าที่มีความต้องการมากในช่วงนั้น ความนิยมสินค้าพื้นเมืองลดน้อยลงและกลับกลายเป็นสินค้าที่แสดงความแตกต่างทางสถานะทางสังคม ความเติบโตของสินค้าพื้นเมืองถูกการค้าของชาติพันธุ์ต่าง ๆ ที่เข้ามาบดบัง เกิดพ่อค้าคนกลางที่เป็นชนกลุ่มน้อย "Middleman minority" มีอำนาจมากขึ้น (หน้า 75) จากการศึกษาพบว่าแต่ละชาติพันธุ์ที่อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานที่ตัวเมืองเชียงใหม่มีการเคลื่อนไหวปรับตัวเปลี่ยนแปลงหมุนเวียนอยู่ตลอดเวลา เพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและการปกครอง ซึ่งผู้วิจัยมีความเห็นว่ามีแตกต่างกับชาติพันธุ์อื่น ๆ ที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ในประเทศใกล้เคียงอย่าง พม่า มาเลเซีย หรืออินโดนีเซีย ซึ่งเป็นพื้นที่ที่เชื่อว่ามีความมั่นคงขององค์ประกอบทางชาติพันธุ์ ในขณะที่เชียงใหม่มีพื้นที่ติดกับพม่าและลาว ซึ่งบรรยากาศไม่เกื้อหนุนให้เกิดความมั่นคงทางชาติพันธุ์ และการเปลี่ยนแปลงทางด้านสังคมและวัฒนธรรมเกิดจากสาเหตุทางเศรษฐกิจเป็นปัจจัยสำคัญ (หน้า 192-194)

Map/Illustration

ผู้วิจัยได้ใช้แผนที่แสดงพื้นที่ทางภาคเหนือของประเทศไทย เขตเทศบาลเมืองเชียงใหม่, แผนผังแสดงการปกครองของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้, ตำแหน่งวัดในเมืองเชียงใหม่, ผังเมืองเชียงใหม่ การตั้งถิ่นฐานของโง้ว (Ngiao) การตั้งถิ่นฐานของอาข่าและลีซอ, ตำแหน่งจุดทำการค้าขาย, ตำแหน่งการตั้งรกถิ่นฐานของชาวอินเดียก่อนย้ายออก, การใช้พื้นที่ในใจกลางเมืองเชียงใหม่, การตั้งถิ่นฐานของฉานและยูนนาน การตั้งถิ่นฐานของชาติพันธุ์ต่าง ๆ ตำแหน่งตลาด, การตั้งถิ่นฐานของเบงกอลี-มุสลิม (Bengali-Muslim) ตำแหน่งของบ้านฮ้อ (Haw)

Text Analyst กุลนิษฎ์ พิสิษฐ์สังฆการ Date of Report 19 เม.ย 2564
TAG จีน, อินเดียน, จีนยูนนาน, ฉาน, ชาติพันธุ์, ความหลากหลาย, สังคมเมือง, เชียงใหม่, Translator -
 
 

 

ฐานข้อมูลอื่นๆของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
  ฐานข้อมูลพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทย
จารึกในประเทศไทย
จดหมายเหตุทางมานุษยวิทยา
แหล่งโบราณคดีที่สำคัญในประเทศไทย
หนังสือเก่าชาวสยาม
ข่าวมานุษยวิทยา
ICH Learning Resources
ฐานข้อมูลเอกสารโบราณภูมิภาคตะวันตกในประเทศไทย
ฐานข้อมูลประเพณีท้องถิ่นในประเทศไทย
ฐานข้อมูลสังคม - วัฒนธรรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  หน้าหลัก
งานวิจัยชาติพันธุ์ในประเทศไทย
บทความชาติพันธุ์
ข่าวชาติพันธุ์
เครือข่ายชาติพันธุ์
เกี่ยวกับเรา
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  ข้อมูลโครงการ
ทีมงาน
ติดต่อเรา
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
ช่วยเหลือ
  กฏกติกาและมารยาท
แบบสอบถาม
คำถามที่พบบ่อย


ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) เลขที่ 20 ถนนบรมราชชนนี เขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ 10170 
Tel. +66 2 8809429 | Fax. +66 2 8809332 | E-mail. webmaster@sac.or.th 
สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2549    |   เงื่อนไขและข้อตกลง