สมัครสมาชิก   
| |
ค้นหาข้อมูล
ค้นหาแบบละเอียด
  •   ความเป็นมาและหลักเหตุผล

    เพื่อรวบรวมงานวิจัยทางชาติพันธุ์ที่มีคุณภาพมาสกัดสาระสำคัญในเชิงมานุษยวิทยาและเผยแผ่สาระงานวิจัยแก่นักวิชาการ นักศึกษานักเรียนและผู้สนใจให้เข้าถึงงานวิจัยทางชาติพันธุ์ได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น

  •   ฐานข้อมูลจำแนกกลุ่มชาติพันธุ์ตามชื่อเรียกที่คนในใช้เรียกตนเอง ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้ คือ

    1. ชื่อเรียกที่ “คนอื่น” ใช้มักเป็นชื่อที่มีนัยในทางเหยียดหยาม ทำให้สมาชิกกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ รู้สึกไม่ดี อยากจะใช้ชื่อที่เรียกตนเองมากกว่า ซึ่งคณะทำงานมองว่าน่าจะเป็น “สิทธิพื้นฐาน” ของการเป็นมนุษย์

    2. ชื่อเรียกชาติพันธุ์ของตนเองมีความชัดเจนว่าหมายถึงใคร มีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมอย่างไร และตั้งถิ่นฐานอยู่แห่งใดมากกว่าชื่อที่คนอื่นเรียก ซึ่งมักจะมีความหมายเลื่อนลอย ไม่แน่ชัดว่าหมายถึงใคร 

     

    ภาพ-เยาวชนปกาเกอะญอ บ้านมอวาคี จ.เชียงใหม่

  •  

    จากการรวบรวมงานวิจัยในฐานข้อมูลและหลักการจำแนกชื่อเรียกชาติพันธุ์ที่คนในใช้เรียกตนเอง พบว่า ประเทศไทยมีกลุ่มชาติพันธุ์มากกว่า 62 กลุ่ม


    ภาพ-สุภาษิตปกาเกอะญอ
  •   การจำแนกกลุ่มชนมีลักษณะพิเศษกว่าการจำแนกสรรพสิ่งอื่นๆ

    เพราะกลุ่มชนต่างๆ มีความรู้สึกนึกคิดและภาษาที่จะแสดงออกมาได้ว่า “คิดหรือรู้สึกว่าตัวเองเป็นใคร” ซึ่งการจำแนกตนเองนี้ อาจแตกต่างไปจากที่คนนอกจำแนกให้ ในการศึกษาเรื่องนี้นักมานุษยวิทยาจึงต้องเพิ่มมุมมองเรื่องจิตสำนึกและชื่อเรียกตัวเองของคนในกลุ่มชาติพันธุ์ 

    ภาพ-สลากย้อม งานบุญของยอง จ.ลำพูน
  •   มโนทัศน์ความหมายกลุ่มชาติพันธุ์มีการเปลี่ยนแปลงในช่วงเวลาต่างๆ กัน

    ในช่วงทศวรรษของ 2490-2510 ในสาขาวิชามานุษยวิทยา “กลุ่มชาติพันธุ์” คือ กลุ่มชนที่มีวัฒนธรรมเฉพาะแตกต่างจากกลุ่มชนอื่นๆ ซึ่งมักจะเป็นการกำหนดในเชิงวัตถุวิสัย โดยนักมานุษยวิทยาซึ่งสนใจในเรื่องมนุษย์และวัฒนธรรม

    แต่ความหมายของ “กลุ่มชาติพันธุ์” ในช่วงหลังทศวรรษ 
    2510 ได้เน้นไปที่จิตสำนึกในการจำแนกชาติพันธุ์บนพื้นฐานของความแตกต่างทางวัฒนธรรมโดยตัวสมาชิกชาติพันธุ์แต่ละกลุ่มเป็นสำคัญ... (อ่านเพิ่มใน เกี่ยวกับโครงการ/คู่มือการใช้)


    ภาพ-หาดราไวย์ จ.ภูเก็ต บ้านของอูรักลาโว้ย
  •   สนุก

    วิชาคอมพิวเตอร์ของนักเรียน
    ปกาเกอะญอ  อ. แม่ลาน้อย
    จ. แม่ฮ่องสอน


    ภาพโดย อาทิตย์    ทองดุศรี

  •   ข้าวไร่

    ผลิตผลจากไร่หมุนเวียน
    ของชาวโผล่ว (กะเหรี่ยงโปว์)   
    ต. ไล่โว่    อ.สังขละบุรี  
    จ. กาญจนบุรี

  •   ด้าย

    แม่บ้านปกาเกอะญอ
    เตรียมด้ายทอผ้า
    หินลาดใน  จ. เชียงราย

    ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ถั่วเน่า

    อาหารและเครื่องปรุงหลัก
    ของคนไต(ไทใหญ่)
    จ.แม่ฮ่องสอน

     ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ผู้หญิง

    โผล่ว(กะเหรี่ยงโปว์)
    บ้านไล่โว่ 
    อ.สังขละบุรี
    จ. กาญจนบุรี

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   บุญ

    ประเพณีบุญข้าวใหม่
    ชาวโผล่ว    ต. ไล่โว่
    อ.สังขละบุรี  จ.กาญจนบุรี

    ภาพโดยศรยุทธ  เอี่ยมเอื้อยุทธ

  •   ปอยส่างลอง แม่ฮ่องสอน

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ปอยส่างลอง

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดย เบญจพล  วรรณถนอม
  •   อลอง

    จากพุทธประวัติ เจ้าชายสิทธัตถะ
    ทรงละทิ้งทรัพย์ศฤงคารเข้าสู่
    ร่มกาสาวพัสตร์เพื่อแสวงหา
    มรรคผลนิพพาน


    ภาพโดย  ดอกรัก  พยัคศรี

  •   สามเณร

    จากส่างลองสู่สามเณร
    บวชเรียนพระธรรมภาคฤดูร้อน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   พระพาราละแข่ง วัดหัวเวียง จ. แม่ฮ่องสอน

    หล่อจำลองจาก “พระมหามุนี” 
    ณ เมืองมัณฑะเลย์ ประเทศพม่า
    ชาวแม่ฮ่องสอนถือว่าเป็นพระพุทธรูป
    คู่บ้านคู่เมืององค์หนึ่ง

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม

  •   เมตตา

    จิตรกรรมพุทธประวัติศิลปะไต
    วัดจองคำ-จองกลาง
    จ. แม่ฮ่องสอน
  •   วัดจองคำ-จองกลาง จ. แม่ฮ่องสอน


    เสมือนสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรม
    เมืองไตแม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ใส

    ม้งวัยเยาว์ ณ บ้านกิ่วกาญจน์
    ต. ริมโขง อ. เชียงของ
    จ. เชียงราย
  •   ยิ้ม

    แม้ชาวเลจะประสบปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัย
    พื้นที่ทำประมง  แต่ด้วยความหวัง....
    ทำให้วันนี้ยังยิ้มได้

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ผสมผสาน

    อาภรณ์ผสานผสมระหว่างผ้าทอปกาเกอญอกับเสื้อยืดจากสังคมเมือง
    บ้านแม่ลาน้อย จ. แม่ฮ่องสอน
    ภาพโดย อาทิตย์ ทองดุศรี
  •   เกาะหลีเป๊ะ จ. สตูล

    แผนที่ในเกาะหลีเป๊ะ 
    ถิ่นเดิมของชาวเลที่ ณ วันนี้
    ถูกโอบล้อมด้วยรีสอร์ทการท่องเที่ยว
  •   ตะวันรุ่งที่ไล่โว่ จ. กาญจนบุรี

    ไล่โว่ หรือที่แปลเป็นภาษาไทยว่า ผาหินแดง เป็นชุมชนคนโผล่งที่แวดล้อมด้วยขุนเขาและผืนป่า 
    อาณาเขตของตำบลไล่โว่เป็นส่วนหนึ่งของป่าทุ่งใหญ่นเรศวรแถบอำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี 

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   การแข่งขันยิงหน้าไม้ของอาข่า

    การแข่งขันยิงหน้าไม้ในเทศกาลโล้ชิงช้าของอาข่า ในวันที่ 13 กันยายน 2554 ที่บ้านสามแยกอีก้อ อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย
 
  Princess Maha Chakri Sirindhorn Anthropology Centre
Ethnic Groups Research Database
Sorted by date | title

   Record

 
Subject ม้ง, เมี่ยน, ลาหู่, ลเวือะ,ปกาเกอะญอ จกอ คานยอ (กะเหรี่ยง),ขมุ, ชาวเขา,ภาคเหนือ
Author วนัช พฤกษะศรี
Title ความรู้เกี่ยวกับล้านนาไทย เรื่อง ชาวเขาในดินแดนล้านนา
Document Type หนังสือ Original Language of Text ภาษาไทย
Ethnic Identity ลัวะ (มัล ปรัย) ลัวะมัล ไปร ลัวะปรัย, ลาหู่ ลาหู่ ละหู่ ลาฮู, อิ้วเมี่ยน เมี่ยน, ม้ง, ปกาเกอะญอ, กำมุ ตะมอย, ลัวะ (ละเวือะ) ลเวือะ อเวือะ เลอเวือะ ลวะ ละว้า, ละว้า ลัวะ ว้า, Language and Linguistic Affiliations ไม่ระบุ
Location of
Documents
ห้องสมุดศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร Total Pages 52 Year 2543
Source คณะกรรมการส่งเสริมหนังสือตามแนวพระราชดำริ
Abstract

หนังสือเล่มนี้ศึกษาชาวเขากลุ่มต่าง ๆ ที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยทางภาคเหนือตอนบน คือ กะเหรี่ยง ม้ง มูเซอ เย้า ถิ่น ลีซอ อีก้อ ละว้า ขมุ โดยชาวเขาเผ่าต่างๆ อพยพมาจากดินแดนอื่นสู่ดินแดนล้านนาทั้งสิ้น เช่น กะเหรี่ยงที่สันนิษฐานว่ามีถิ่นกำเนิดในประเทศจีนก่อนจะอพยพมาที่ประเทศพม่าราวคริสตวรรษที่ 6 หรือ 7 (พุทธศตวรรษที่ 11 หรือ 12) มาก็อพยพเข้ามายังล้านนา และถิ่นที่อพยพมาจากประเทศลาว ชาวเขามีความเชื่อและข้อห้ามของการเลือกทำเลที่ตั้งหมู่บ้าน ชาวเขาส่วนใหญ่จึงปลูกบ้านไม่เป็นระเบียบนัก ขนาดของหมู่บ้านมีตั้งแต่ 2-3 หลังคาเรือนถึง 120 หลังคาเรือน จากการสำรวจของสถาบันวิจัยชาวเขาเมื่อปี พ.ศ. 2527 พบว่า จำนวนประชากรชาวเขาในประเทศไทยมีทั้งหมด 429,001 คน โดยร้อยละ 83 ของจำนวนชาวเขาอาศัยอยู่บริเวณภาคเหนือตอนบน ชาวเขาส่วนใหญ่มีอาชีพเพาะปลูก พืชหลักคือข้าว มีทั้งทำไร่และทำนาดำ โดยการทำไร่จะโค่นถางและเผาก่อนปลูกพืชอาศัยน้ำฝน ชาวเขาบางกลุ่มทำไร่หมุนเวียน เช่น ม้ง เย้า มูเซอ ลีซอและอีก้อ สำหรับสังคมชาวเขา "หมู่บ้าน" เป็นสถาบันทางสังคมที่ใหญ่ที่สุด เป็นศูนย์กลางการปกครอง ความสัมพันธ์ทางสังคม เศรษฐกิจ และการปฏิบัติทางศาสนา ส่วนครัวเรือนของชาวเขามีโครงสร้าง 2 รูปแบบ คือ ครอบครัวขยาย (มักพบในชนเผ่าม้งและเย้า) และครอบครัวเดี่ยว (มักพบในชนเผ่ากะเหรี่ยงและละว้า) หมู่บ้านของชาวเขาทุกหมู่บ้าน (ยกเว้นลีซอ) จะมีหัวหน้าโดยประเพณีและผู้ช่วย มีหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยภายในหมู่บ้าน เป็นผู้แทนของหมู่บ้านติดต่อกับทางราชการ บางหมู่บ้านก็มีคณะผู้อาวุโสที่คอยเป็นที่ปรึกษาให้กับผู้นำหมู่บ้าน ชาวเขาทุกเผ่านับถือผี โดยเชื่อว่ามีวิญญาณสถิตอยู่ตามสรรพสิ่งต่าง ๆ ในธรรมชาติ ชาวเขาเชื่อว่าปรากฏการณ์ธรรมชาติ โรคภัยไข้เจ็บ เกิดจากการกระทำของผี ชาวเขาจะมีพิธีกรรมเซ่นไหว้บรวงสรวงผี มีผู้ทำพิธีกรรมที่เรียกว่า "หมอผี" ความเชื่อของชาวเขายังผสมผสานกับความเชื่อทางศาสนาอื่น ๆ นอกจากนี้ชาวเขายังนับถือศาสนาจากการเผยแพร่ เช่น ศาสนาพุทธของโครงการพระธรรมจาริก ศาสนาคริสต์นิกายต่าง ๆ ที่มีหมอสอนศาสนาเข้ามาเผยแพร่ ความสัมพันธ์ระหว่างชนชาติไทยกับชาวเขาตั้งแต่สมัยล้านนาจนถึงปัจจุบันมีรูปแบบความสัมพันธ์ 3 รูปแบบ คือ (1) ความสัมพันธ์ระหว่างผู้ปกครองและผู้ถูกปกครอง ตั้งแต่สมัยล้านนาจนถึงสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ชาวเขายังมีอิสระในการปกครองกิจการภายในเผ่าตนเอง แต่ต้องจงรักภักดีต่อผู้ปกครอง (2) ความสัมพันธ์ระดับชาวบ้าน มีการติดต่อระหว่างชาวเขากับคนไทยพื้นราบภาคเหนือ ในด้านต่าง ๆ (3) ความสัมพันธ์ระหว่างชาวเขาและราชการที่ทางการพยายามเข้ามาส่งเสริมพัฒนาชาวเขาในด้านต่าง ๆ ทำให้เกิดการผสมผสานทางวัฒนธรรมกับคนไทย เช่น ชาวเขานับถือศาสนาพุทธมากขึ้น รูปแบบทรงผม เครื่องแต่งกายเป็นไปตามคนพื้นราบมากขึ้น การศึกษาเป็นไปตามระบบสังคมไทยพื้นราบ มีการแต่งงานกับคนไทยมากขึ้น

Focus

ศึกษาชาวเขากลุ่มต่าง ๆ ที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย โดยเฉพาะที่อาศัยอยู่ทางภาคเหนือตอนบน

Theoretical Issues

ไม่มี

Ethnic Group in the Focus

ศึกษาชาวเขากลุ่มต่างๆ ที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยทางภาคเหนือตอนบน คือ กะเหรี่ยง ม้ง มูเซอ เย้า ถิ่น ลีซอ อีก้อ ละว้า ขมุ

Language and Linguistic Affiliations

ชาวเขาในประเทศไทยแบ่งเป็น 2 ตระกูลภาษาและสาขาภาษาดังนี้ 1. ตระกูลจีน - ธิเบต (Sino - Tibet) ในสาขาธิเบต - พม่า ได้แก่ อีก้อ มูเซอและลีซอ ในสาขาแม้ว - เย้า ได้แก่แม้วและเย้า ในสาขาคะเร็น ได้แก่ กะเหรี่ยง 2. ตระกูลออสโตรเอเชีย (Austroasia) ในสาขามอญ - เขมร ได้แก่ ลัวะ ถิ่น และขมุ (หน้า 4-5)

Study Period (Data Collection)

ไม่ระบุ

History of the Group and Community

ละว้า เข้ามาตั้งชุมชนในล้านนาก่อนที่ฤาษีวาสุเทพกับฤาษีสุกกทันต์จะสร้างนครลำพูน (หิริภุญชัย) ในปีพ.ศ.2310 ประวัติของละว้าปรากฏอยู่ในประวัติของเมืองสำคัญที่สร้างขึ้นก่อนหรือในสมัยล้านนายุคแรกอีกหลายเมือง เช่น เชียงราย ลำปาง พะเยา แพร่ ลอง และปรากฏในตำนานเกี่ยวกับสถานที่สำคัญทางพุทธศาสนาในภาคเหนือ แสดงให้เห็นว่าละว้าเคยเจริญ แต่ภายหลังพ่ายแพ้ให้กับชนชาติอื่น โดยเฉพาะชนชาติไทย ละว้าถูกบีบให้ถอยเข้าป่าไปอยู่บนภูเขาจนถูกเรียกว่าชาวเขาในปัจจุบัน กะเหรี่ยง สันนิษฐานว่ามีถิ่นกำเนิดในประเทศจีนก่อนจะอพยพมาที่ประเทศพม่าราวคริสตวรรษที่ 6 หรือ 7 (พุทธศตวรรษที่ 11 หรือ 12) บางส่วนก็อพยพเข้ามายังล้านนา โดยกะเหรี่ยงมาอาศัยรอบๆ เมืองเชียงใหม่โบราณประมาณพุทธศตวรรษที่ 13 และอพยพมาอีก 2 ครั้ง ในปีพ.ศ.2318 เมื่อพม่าปราบมอญอย่างหนัก กะเหรี่ยงรู้สึกว่าตัวเองไม่ได้รับความคุ้มครอง จึงอพยพสู่สยาม และในปี พ.ศ.2395 พม่าได้ปล้น เผาบ้านเรือน เข่นฆ่ากะเหรี่ยงเพราะเห็นว่ากะเหรี่ยงนิยมอังกฤษ ทำให้กะเหรี่ยงอพยพเข้าสู่ประเทศไทยจำนวนมาก กะเหรี่ยงในอ.จอมทอง อ.แม่แจ่ม อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่ อพยพมาจากริมฝั่งแม่น้ำสาละวินประมาณ 200 ปีมาแล้ว ส่วนกะเหรี่ยงที่ อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอนบอกว่าได้อพยพเข้ามาสู่ประเทศไทย 100-150 ปีมาแล้ว ม้ง จากเอกสารของหมอสอนศาสนาชาวฝรั่งเศสที่เคยทำงานกับม้ง บอกเล่าการถ่ายทอดของม้งคนหนึ่งว่าเขาเกิดในประเทศไทยประมาณ ปี ค.ศ.1900 พ่อ - แม่ของเขาเข้ามาในประเทศไทยราว ๆ ปี ค.ศ.1890 (พ.ศ.2433) แต่หมอสอนศาสนาระบุว่าม้งน่าจะเข้ามาในประเทศไทยระหว่างปี ค.ศ.1840 - 1870 (พ.ศ.2382 - 2413) โดยมาจากประเทศลาว เย้า จากการสอบถามเย้าตระกูลศรีสมบัติ ซึ่งเป็นเย้ากลุ่มแรกที่เข้ามาในประเทศไทยระบุว่า เย้าอพยพมาจากลาวเมื่อ ปี พ.ศ. 2433 เพราะทนการเก็บภาษีแบบขูดรีดไม่ได้และขาดแคลนที่ดินปลูกข้าว โดยอพยพเข้ามาในพื้นที่อ.ทุ่งช้าง จ.น่าน มูเซอ สันนิษฐานว่าเข้ามาในประเทศไทยราวปีค.ศ.1857 (พ.ศ.2418) หมู่บ้านมูเซอแห่งแรกอาจจะอยู่ที่ห้วยผักไห่ อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ เพราะมูเซออ้างถึงหมู่บ้านนั้นว่าเป็น "บ้านเก่า" ลีซอ อพยพมาตั้งหมู่บ้านแห่งแรกราวปีพ.ศ.2462 - 2464 คือหมู่บ้านลีซอดอยช้าง อ.เมือง จ.เชียงราย อีก้อ ไม่สามารถระบุได้แน่ชัดว่าเข้ามาสู่ประเทศไทยเมื่อใด หมอสอนศาสนาที่เคยทำงานกับอีก้อบันทึกไว้ว่าอีก้อเข้ามาในประเทศไทยเมื่อประมาณ 100 ปีมาแล้ว ผู้สูงอายุอีก้อบางคนกล่าวว่า อีก้อเข้ามาประเทศไทยเมื่อพ.ศ.2458 หรือ โดยตั้งหมู่บ้านบริเวณดอยตุง อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ถิ่น มีความเห็นที่หลากหลายเกี่ยวกับการอพยพเข้ามาในไทยของชนเผ่าถิ่น แฟร้งค์ เอม เลอบาร์ และคณะ ค้นพบว่าถิ่นเข้ามาในไทยประมาณ พ.ศ.2427 - 2467 ส่วนบุญช่วย ศรีสวัสดิ์ ระบุว่าถิ่นอพยพเข้ามาเมื่อปี พ.ศ.2471 และสันนิษฐานเพิ่มเติมว่าถิ่นอาจอาศัยบริเวณชายแดนไทย - ลาวก่อนที่คนไทยจะอพยพมาจากประเทศจีน ส่วนวิลเลียม วาย เดสแส้งท์ ระบุว่าถิ่นอพยพจากลาวเข้ามาทางจ.น่านประมาณปี พ.ศ.2419 และอพยพข้ามไป - มาระหว่างชายแดนไทย - ลาว ขมุ อพยพเข้าสู่ประเทศไทยทางภาคเหนือของประเทศไทยทางจ.เชียงรายในช่วงปี พ.ศ.2455 เพราะแหล่งทำกินขาดความอุดมสมบูรณ์และไม่มีเงินเสียภาษีให้กับรัฐบาลลาว (หน้า 6-18)

Settlement Pattern

ชาวเขามีความเชื่อและข้อห้ามของการเลือกทำเลที่ตั้งหมู่บ้าน การเลือกที่ตั้งบ้านเรือนไม่เหมือนกัน ชาวเขาส่วนใหญ่ปลูกบ้านไม่เป็นระเบียบนัก ขนาดของหมู่บ้านมีตั้งแต่ 2-3 หลังคาเรือนถึง 120 หลังคาเรือน หมู่บ้านบางแห่งแบ่งกลุ่มแยกกันอยู่เป็นหย่อม ๆ ตามข้อจำกัดทางภูมิศาสตร์ บ้านเรือนของชาวเขาแบ่งได้เป็น 2 แบบคือ แบบคร่อมดิน (เป็นที่นิยมในเผ่าแม้วและเย้า) และแบบมีเสายกพื้น (เป็นที่นิยมในเผ่ามูเซอ อีก้อ กะเหรี่ยง ; สำหรับลีซอจะมีแบบบ้านทั้ง 2 แบบ) โดยบ้านเรือนของละว้า กะเหรี่ยง มูเซอ และอีก้อ มีส่วนหนึ่งที่เหมือนกันคือ ไม้ยอดจั่วของหลังคาบ้านจะไขว้กันแล้วยื่นออกไปบนฟ้า ซึ่งคนภาคเหนือเรียกว่า "กาแล" โดยขนาดบ้านของละว้า กะเหรี่ยง มูเซอ ลีซอ ถิ่นและขมุ มีขนาดเล็กกว่าบ้านของแม้วและเย้า (หน้า 29-32)

Demography

จากการสำรวจของสถาบันวิจัยชาวเขาเมื่อปี พ.ศ.2527 พบว่าจำนวนประชากรชาวเขาในประเทศไทยมีทั้งหมด 429,001 คน โดยร้อยละ 83 ของจำนวนชาวเขาอาศัยอยู่บริเวณภาคเหนือตอนบน โดย - กะเหรี่ยง อาศัยอยู่ใน 6 จังหวัดคือ เชียงใหม่ (84,846 คน) แม่ฮ่องสอน (63,541 คน) ลำพูน (19,433 คน) แพร่ (7,489 คน) เชียงราย (3,773 คน) ลำปาง (3,532 คน) - ม้ง อาศัยอยู่ใน 7 จังหวัดคือ เชียงใหม่ (12,646 คน) น่าน (9,741 คน) เชียงราย (10,858 คน) พะเยา (3,609 คน) แม่ฮ่องสอน (2,261 คน) แพร่ (1,068 คน) ลำปาง (746 คน) - มูเซอ อาศัยอยู่ใน 4 จังหวัดคือ เชียงใหม่ (7,853 คน) เชียงราย (10,858 คน) แม่ฮ่องสอน (3,625 คน) ลำพูน (103 คน) เย้า อาศัยอยู่ใน 5 จังหวัดคือ เชียงราย (21,897 คน) น่าน (6,787 คน) พะเยา (6,207 คน) ลำปาง (3,740 คน) ถิ่น อาศัยอยู่ในจังหวัดน่านที่เดียวมีจำนวนประชากร 24,276 คน - ลีซอ อาศัยอยู่ใน 5 จังหวัด คือ เชียงใหม่ (7,853 คน) แม่ฮ่องสอน (3,251 คน) เชียงราย (3,084 คน) พะเยา (619 คน) ลำปาง (28 คน) - อีก้อ อาศัยอยู่ใน 5 จังหวัด คือ เชียงราย (13,025 คน) เชียงใหม่ (839 คน) ลำปาง (376 คน) แพร่ (184 คน) พะเยา (52 คน) - ละว้า อาศัยอยู่ใน 3 จังหวัด คือ เชียงใหม่ (8,089 คน) แม่ฮ่องสอน (4,646 คน) เชียงราย (150 คน) ขมุ อาศัยอยู่ในจังหวัดน่านที่เดียวมีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 5,755 คน (หน้า 19-22 )

Economy

สังคมชาวเขาในอดีตเป็นสังคมเกษตรเพื่อการยังชีพ พึ่งพาตนเองด้วยผลผลิตทางการเกษตร ชาวเขากลุ่มนี้ ได้แก่ ละว้า กะเหรี่ยง ถิ่นและขมุ ส่วนชาวเขาอีกกลุ่มหนึ่งที่ปลูกฝิ่น สภาพสังคมจะเป็นการทำการเกษตรเพื่อทำรายได้ที่เป็นเงินสดมากกว่า ชาวเขากลุ่มนี้ได้แก่ แม้ว เย้า มูเซอ ลีซอและอีก้อ (หน้า 37-40) ชาวเขาส่วนใหญ่มีอาชีพเพาะปลูก พืชหลักคือข้าว มีทั้งทำไร่และทำนาดำ โดยการทำไร่จะโค่นถางและเผาก่อนปลูกพืชอาศัยน้ำฝน ชาวเขาบางกลุ่มทำไร่หมุนเวียน เช่น ม้ง เย้า มูเซอ ลีซอและอีก้อ (หน้า 23-26) มีการแบ่งเกณฑ์ชาวเขาโดยใช้ระดับความสูงของที่ดินทำกินเป็นเกณฑ์ สามารถแบ่งได้ 2 กลุ่มคือ (1) กลุ่มที่เพาะปลูกบนภูเขาหรือดอยเตี้ย ๆ และตามที่ราบระหว่างหุบเขาสูง ชาวเขากลุ่มนี้ ได้แก่ ละว้า กะเหรี่ยง ขมุ และถิ่น โดยถิ่นทำไร่แบบหมุนเวียน ส่วนละว้าและกะเหรี่ยงทำนาเป็นขั้นบันไดตามที่ลาดชันของภูเขาในที่ราบระหว่างหุบเขา (2) เป็นกลุ่มที่บุกเบิกพื้นที่ทำไร่หมุนเวียนบนภูเขาสูงเพื่อปลูกฝิ่น ชาวเขากลุ่มนี้ได้แก่ ม้ง เย้า มูเซอ ลีซอและอีก้อ (หน้า 5)

Social Organization

สำหรับสังคมชาวเขา "หมู่บ้าน" เป็นสถาบันทางสังคมที่ใหญ่ที่สุด เป็นศูนย์กลางการปกครอง ความสัมพันธ์ทางสังคม เศรษฐกิจ และการปฏิบัติทางศาสนา (หน้า 26) ส่วนโครงสร้างครัวเรือนของชาวเขามี 2 รูปแบบ คือ ครอบครัวขยาย (มักพบในชนเผ่าแม้วและเย้า) และครอบครัวเดี่ยว (มักพบในชนเผ่ากะเหรี่ยงและละว้า) ไม่มีชนเผ่าใดที่จะมีครัวเรือนแบบเดี่ยว จะเป็นแบบใดมากขึ้นอยู่กับประเพณีและระบบการแต่งงานของแต่ละชนเผ่า เช่น ม้งและเย้านิยมให้บุตรชายนำภรรยาเข้ามาอาศัยในบ้านของบิดามารดาฝ่ายชาย หากบิดามารดาฝ่ายหญิงไม่มีบุตรชายก็มีประเพณีให้บุตรเขยไปอยู่บ้านบิดามารดาฝ่ายหญิง ทำให้เกิดครอบครัวขยายทางครัวเรือนของฝ่ายหญิง ส่วนกะเหรี่ยง มูเซอ ละว้า ขมุ และถิ่น เมื่อแต่งงานแล้วจะปรนนิบัติครอบครัวฝ่ายสามีหรือภรรยาสักระยะหนึ่งก่อนจะปลูกบ้านแยกครอบครัวออกไป ชนเผ่ากลุ่มนี้จึงมีแนวโน้มที่จะเป็นครอบครัวเดี่ยวขนาดเล็ก ครัวเรือนที่มีหลายครอบครัวอาศัยอยู่ด้วยกัน หัวหน้าครอบครัวหลักจะได้รับความเคารพนับถือสูงสุด ครัวเรือนของชาวเขายังมีหน้าที่ทางเศรษฐกิจ เช่น การลงแรงร่วมกันเพื่อเพาะปลูก การอบรมสมาชิกในครัวเรือนให้ทำมาหากิน การเข้าสมาคม รวมไปถึงการปฏิบัติที่สอดคล้องกับขนบธรรมเนียมประเพณี สังคมชาวเขาเกือบทุกเผ่าถือว่าผู้ชายมีฐานะทางสังคมเหนือกว่าผู้หญิง เช่น สังคมของม้งและเย้าถือว่าผู้หญิงที่แต่งงานคือถูกซื้อมา เมื่อแต่งงานแล้วก็จะขาดจากผีบรรพบุรุษและสกุลเดิมของตนเอง (หน้า 33-37)

Political Organization

หมู่บ้านของชาวเขาทุกหมู่บ้าน (ยกเว้นลีซอ) จะมีหัวหน้าโดยประเพณีและผู้ช่วย มีหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยภายในหมู่บ้าน เป็นผู้แทนของหมู่บ้านติดต่อกับทางราชการ (กรณีที่หมู่บ้านนั้นไม่มีตำแหน่งผู้ใหญ่บ้านที่เป็นทางการ) บางหมู่บ้านของชาวเขาที่มีขนาดใหญ่จะมีคณะผู้อาวุโสที่รวมตัวอย่างไม่เป็นทางการ ทำหน้าที่ให้คำปรึกษาแก่หัวหน้าหมู่บ้านในเรื่องที่กระทบต่อชุมชน ส่วนลีซอจะอาศัยความสัมพันธ์ทางสังคมวัฒนธรรมด้านอื่น เช่น การแต่งงานต้องต่างแซ่สกุล หัวหน้าพิธีกรรมที่คนในหมู่บ้านร่วมกันแต่งตั้ง ใช้ระบบคณะผู้อาวุโสในหมู่บ้านปรึกษาหารือร่วมกัน (หน้า 32-33)

Belief System

ชาวเขาทุกเผ่านับถือผี โดยเชื่อว่ามีวิญญาณสถิตอยู่ตามสรรพสิ่งต่างๆในธรรมชาติ ชาวเขาเชื่อว่าปรากฏการณ์ธรรมชาติ โรคภัยไข้เจ็บ เกิดจากการกระทำของผี ผีแบ่งได้เป็น 2 ประเภทคือ (1)ผีดี ได้แก่ ผีฟ้า ผีประจำภูเขา ผีประจำหมู่บ้าน ผีครู ผีบรรพบุรุษ (2) ผีร้าย คือผีที่คอยทำอันตรายแก่มนุษย์ ได้แก่ ผีป่า ผีลำห้วย ผีน้ำ ผีทางเดิน ผีที่เกิดจากการตายที่ผิดปกติของมนุษย์ ชาวเขาจะมีพิธีกรรมเซ่นไหว้บรวงสรวงผี มีผู้ทำพิธีกรรมที่เรียกว่า "หมอผี" บางเผ่าถือว่าเป็นผู้นำหรือพระศาสนาของชาวเขาเผ่านั้นๆ ความเชื่อของชาวเขายังผสมผสานกับความเชื่อทางศาสนาอื่นๆ เช่น ศาสนาพุทธนิกายมหายานลัทธิดาไลลามะของธิเบต (มูเซอแดง) พุทธศาสนานิกายหินยาน (ละว้า กะเหรี่ยง) ลัทธิเต๋า (แม้วและเย้า) นอกจากนี้ ชาวเขายังนับถือศาสนาจากการเผยแพร่ เช่น ศาสนาพุทธของโครงการพระธรรมจาริก ศาสนาคริสต์นิกายต่าง ๆ ที่มีหมอสอนศาสนาเข้ามาเผยแพร่ (หน้า 40-44)

Education and Socialization

ไม่มีข้อมูล

Health and Medicine

ไม่มีข้อมูล

Art and Crafts (including Clothing Costume)

ไม่มีข้อมูล

Folklore

ไม่มีข้อมูล

Ethnicity (Ethnic Identity, Boundaries and Ethnic Relation)

แม้วเรียกตัวเองว่า "ม้ง", เย้าเรียกตัวเองว่า "อิวเมี่ยน", มูเซอเรียกตัวเองว่า "ละหู่", กะเหรี่ยง ถูกชาวภาคเหนือเรียกว่า "ยาง" แต่เรียกตัวเองตามชื่อของกลุ่มย่อย, ละว้าถูกชาวภาคเหนือเรียกว่า "ลัวะ", ถิ่นเรียกตัวเองว่า "มาล หรือ ไปร๊ หรือ ขมุ" (หน้า 3-4, 8) หมู่บ้านชาวเขาบางแห่งจะพบคนนอกเผ่าเข้าไปตั้งบ้านเรือนอยู่ด้วย เช่น หมู่บ้านม้ง เย้า ลีซอ จะมีฮ่อ (จีนยูนนาน) เข้าไปทำไร่หรือค้าขายอยู่ด้วย ทำให้เกิดการถ่ายเททางวัฒนธรรม ชาวเขาบางเผ่าถือว่าฮ่อเหนือกว่าตนในด้านเศรษฐกิจและการศึกษา เช่น หมู่บ้านแม่โถ อ.ฮอด จ.เชียงใหม่ ความสัมพันธ์ระหว่างฮ่อ ม้ง กะเหรี่ยง คือ ฮ่อเป็นพ่อค้าและเจ้าหนี้ของม้ง ขณะที่กะเหรี่ยงเป็นทาสแรงงานของม้ง (หน้า 27) ความสัมพันธ์ระหว่างชนชาติไทยกับชาวเขาตั้งแต่สมัยล้านนาจนถึงปัจจุบันมีรูปแบบความสัมพันธ์ดังนี้ (1) ความสัมพันธ์ระหว่างผู้ปกครองและผู้ถูกปกครอง ตั้งแต่สมัยล้านนาจนถึงสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ชาวเขายังมีอิสระในการปกครองกิจการภายในเผ่าตนเอง แต่ต้องจงรักภักดีต่อผู้ปกครองโดยการส่งเครืองบรรณาการหรือส่วย ปฏิบัติตามคำขอร้องของผู้ปกครองเป็นครั้งคราว (2) ความสัมพันธ์ระดับชาวบ้าน มีการติดต่อระหว่างชาวเขากับคนไทยพื้นราบภาคเหนือ ในด้านการแลกเปลี่ยนผลผลิต การจ้างแรงงานซึ่งกันและกัน การเข้าร่วมพิธีกรรมสำคัญระหว่างกัน การแต่งงานข้ามเผ่าพันธุ์ ชาวเขาไว้วางใจคนไทยพื้นราบภาคเหนือมากกว่าเจ้าหน้าที่ราชการและคนไทยภาคกลาง (3) ความสัมพันธ์ระหว่างชาวเขาและราชการ ทางการไทยมีนโยบายพัฒนาและสงเคราะห์ชาวเขามาตั้งแต่ปี พ.ศ.2502 มีการกำหนดนโยบายและคณะกรรมการชาวเขารับผิดชอบดำเนินการแต่ละจังหวัด เป็นนโยบายผสมผสาน (Policy of Integration) เพื่อให้ชาวเขาเป็นพลเมืองไทยที่มีคุณภาพ มีโครงการพัฒนาต่าง ๆ เข้าไปเพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตชาวเขาโดยพลเรือน ทหาร ตำรวจ เอกชน (หน้า 44-51)

Social Cultural and Identity Change

ชาวเขาผสมผสานวัฒนธรรมกับคนไทย ทำให้ชาวเขานับถือศาสนาพุทธมากขึ้น รูปแบบทรงผม เครื่องแต่งกายเป็นไปตามคนพื้นราบมากขึ้น การศึกษาเป็นไปตามระบบสังคมไทยพื้นราบ มีการแต่งงานกับคนไทยมากขึ้น เป็นต้น (หน้า 51-52)

Critic Issues

ไม่มีข้อมูล

Other Issues

ไม่มี

Text Analyst สิทธิพร จรดล Date of Report 06 ม.ค. 2566
TAG ม้ง, เมี่ยน, ลาหู่, ลเวือะ, ปกาเกอะญอ จกอ คานยอ (กะเหรี่ยง), ขมุ, ชาวเขา, ภาคเหนือ, Translator -
 
 

 

ฐานข้อมูลอื่นๆของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
  ฐานข้อมูลพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทย
จารึกในประเทศไทย
จดหมายเหตุทางมานุษยวิทยา
แหล่งโบราณคดีที่สำคัญในประเทศไทย
หนังสือเก่าชาวสยาม
ข่าวมานุษยวิทยา
ICH Learning Resources
ฐานข้อมูลเอกสารโบราณภูมิภาคตะวันตกในประเทศไทย
ฐานข้อมูลประเพณีท้องถิ่นในประเทศไทย
ฐานข้อมูลสังคม - วัฒนธรรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  หน้าหลัก
งานวิจัยชาติพันธุ์ในประเทศไทย
บทความชาติพันธุ์
ข่าวชาติพันธุ์
เครือข่ายชาติพันธุ์
เกี่ยวกับเรา
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  ข้อมูลโครงการ
ทีมงาน
ติดต่อเรา
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
ช่วยเหลือ
  กฏกติกาและมารยาท
แบบสอบถาม
คำถามที่พบบ่อย


ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) เลขที่ 20 ถนนบรมราชชนนี เขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ 10170 
Tel. +66 2 8809429 | Fax. +66 2 8809332 | E-mail. webmaster@sac.or.th 
สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2549    |   เงื่อนไขและข้อตกลง