สมัครสมาชิก   
| |
ค้นหาข้อมูล
ค้นหาแบบละเอียด
  •   ความเป็นมาและหลักเหตุผล

    เพื่อรวบรวมงานวิจัยทางชาติพันธุ์ที่มีคุณภาพมาสกัดสาระสำคัญในเชิงมานุษยวิทยาและเผยแผ่สาระงานวิจัยแก่นักวิชาการ นักศึกษานักเรียนและผู้สนใจให้เข้าถึงงานวิจัยทางชาติพันธุ์ได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น

  •   ฐานข้อมูลจำแนกกลุ่มชาติพันธุ์ตามชื่อเรียกที่คนในใช้เรียกตนเอง ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้ คือ

    1. ชื่อเรียกที่ “คนอื่น” ใช้มักเป็นชื่อที่มีนัยในทางเหยียดหยาม ทำให้สมาชิกกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ รู้สึกไม่ดี อยากจะใช้ชื่อที่เรียกตนเองมากกว่า ซึ่งคณะทำงานมองว่าน่าจะเป็น “สิทธิพื้นฐาน” ของการเป็นมนุษย์

    2. ชื่อเรียกชาติพันธุ์ของตนเองมีความชัดเจนว่าหมายถึงใคร มีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมอย่างไร และตั้งถิ่นฐานอยู่แห่งใดมากกว่าชื่อที่คนอื่นเรียก ซึ่งมักจะมีความหมายเลื่อนลอย ไม่แน่ชัดว่าหมายถึงใคร 

     

    ภาพ-เยาวชนปกาเกอะญอ บ้านมอวาคี จ.เชียงใหม่

  •  

    จากการรวบรวมงานวิจัยในฐานข้อมูลและหลักการจำแนกชื่อเรียกชาติพันธุ์ที่คนในใช้เรียกตนเอง พบว่า ประเทศไทยมีกลุ่มชาติพันธุ์มากกว่า 62 กลุ่ม


    ภาพ-สุภาษิตปกาเกอะญอ
  •   การจำแนกกลุ่มชนมีลักษณะพิเศษกว่าการจำแนกสรรพสิ่งอื่นๆ

    เพราะกลุ่มชนต่างๆ มีความรู้สึกนึกคิดและภาษาที่จะแสดงออกมาได้ว่า “คิดหรือรู้สึกว่าตัวเองเป็นใคร” ซึ่งการจำแนกตนเองนี้ อาจแตกต่างไปจากที่คนนอกจำแนกให้ ในการศึกษาเรื่องนี้นักมานุษยวิทยาจึงต้องเพิ่มมุมมองเรื่องจิตสำนึกและชื่อเรียกตัวเองของคนในกลุ่มชาติพันธุ์ 

    ภาพ-สลากย้อม งานบุญของยอง จ.ลำพูน
  •   มโนทัศน์ความหมายกลุ่มชาติพันธุ์มีการเปลี่ยนแปลงในช่วงเวลาต่างๆ กัน

    ในช่วงทศวรรษของ 2490-2510 ในสาขาวิชามานุษยวิทยา “กลุ่มชาติพันธุ์” คือ กลุ่มชนที่มีวัฒนธรรมเฉพาะแตกต่างจากกลุ่มชนอื่นๆ ซึ่งมักจะเป็นการกำหนดในเชิงวัตถุวิสัย โดยนักมานุษยวิทยาซึ่งสนใจในเรื่องมนุษย์และวัฒนธรรม

    แต่ความหมายของ “กลุ่มชาติพันธุ์” ในช่วงหลังทศวรรษ 
    2510 ได้เน้นไปที่จิตสำนึกในการจำแนกชาติพันธุ์บนพื้นฐานของความแตกต่างทางวัฒนธรรมโดยตัวสมาชิกชาติพันธุ์แต่ละกลุ่มเป็นสำคัญ... (อ่านเพิ่มใน เกี่ยวกับโครงการ/คู่มือการใช้)


    ภาพ-หาดราไวย์ จ.ภูเก็ต บ้านของอูรักลาโว้ย
  •   สนุก

    วิชาคอมพิวเตอร์ของนักเรียน
    ปกาเกอะญอ  อ. แม่ลาน้อย
    จ. แม่ฮ่องสอน


    ภาพโดย อาทิตย์    ทองดุศรี

  •   ข้าวไร่

    ผลิตผลจากไร่หมุนเวียน
    ของชาวโผล่ว (กะเหรี่ยงโปว์)   
    ต. ไล่โว่    อ.สังขละบุรี  
    จ. กาญจนบุรี

  •   ด้าย

    แม่บ้านปกาเกอะญอ
    เตรียมด้ายทอผ้า
    หินลาดใน  จ. เชียงราย

    ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ถั่วเน่า

    อาหารและเครื่องปรุงหลัก
    ของคนไต(ไทใหญ่)
    จ.แม่ฮ่องสอน

     ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ผู้หญิง

    โผล่ว(กะเหรี่ยงโปว์)
    บ้านไล่โว่ 
    อ.สังขละบุรี
    จ. กาญจนบุรี

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   บุญ

    ประเพณีบุญข้าวใหม่
    ชาวโผล่ว    ต. ไล่โว่
    อ.สังขละบุรี  จ.กาญจนบุรี

    ภาพโดยศรยุทธ  เอี่ยมเอื้อยุทธ

  •   ปอยส่างลอง แม่ฮ่องสอน

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ปอยส่างลอง

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดย เบญจพล  วรรณถนอม
  •   อลอง

    จากพุทธประวัติ เจ้าชายสิทธัตถะ
    ทรงละทิ้งทรัพย์ศฤงคารเข้าสู่
    ร่มกาสาวพัสตร์เพื่อแสวงหา
    มรรคผลนิพพาน


    ภาพโดย  ดอกรัก  พยัคศรี

  •   สามเณร

    จากส่างลองสู่สามเณร
    บวชเรียนพระธรรมภาคฤดูร้อน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   พระพาราละแข่ง วัดหัวเวียง จ. แม่ฮ่องสอน

    หล่อจำลองจาก “พระมหามุนี” 
    ณ เมืองมัณฑะเลย์ ประเทศพม่า
    ชาวแม่ฮ่องสอนถือว่าเป็นพระพุทธรูป
    คู่บ้านคู่เมืององค์หนึ่ง

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม

  •   เมตตา

    จิตรกรรมพุทธประวัติศิลปะไต
    วัดจองคำ-จองกลาง
    จ. แม่ฮ่องสอน
  •   วัดจองคำ-จองกลาง จ. แม่ฮ่องสอน


    เสมือนสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรม
    เมืองไตแม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ใส

    ม้งวัยเยาว์ ณ บ้านกิ่วกาญจน์
    ต. ริมโขง อ. เชียงของ
    จ. เชียงราย
  •   ยิ้ม

    แม้ชาวเลจะประสบปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัย
    พื้นที่ทำประมง  แต่ด้วยความหวัง....
    ทำให้วันนี้ยังยิ้มได้

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ผสมผสาน

    อาภรณ์ผสานผสมระหว่างผ้าทอปกาเกอญอกับเสื้อยืดจากสังคมเมือง
    บ้านแม่ลาน้อย จ. แม่ฮ่องสอน
    ภาพโดย อาทิตย์ ทองดุศรี
  •   เกาะหลีเป๊ะ จ. สตูล

    แผนที่ในเกาะหลีเป๊ะ 
    ถิ่นเดิมของชาวเลที่ ณ วันนี้
    ถูกโอบล้อมด้วยรีสอร์ทการท่องเที่ยว
  •   ตะวันรุ่งที่ไล่โว่ จ. กาญจนบุรี

    ไล่โว่ หรือที่แปลเป็นภาษาไทยว่า ผาหินแดง เป็นชุมชนคนโผล่งที่แวดล้อมด้วยขุนเขาและผืนป่า 
    อาณาเขตของตำบลไล่โว่เป็นส่วนหนึ่งของป่าทุ่งใหญ่นเรศวรแถบอำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี 

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   การแข่งขันยิงหน้าไม้ของอาข่า

    การแข่งขันยิงหน้าไม้ในเทศกาลโล้ชิงช้าของอาข่า ในวันที่ 13 กันยายน 2554 ที่บ้านสามแยกอีก้อ อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย
 
  Princess Maha Chakri Sirindhorn Anthropology Centre
Ethnic Groups Research Database
Sorted by date | title

   Record

 
Subject มันนิ มานิ กอย คะนัง(ซาไก),วิถีชีวิต,ตรัง
Author ญิบ พันจันทร์
Title ชีวิตดั่งฝันที่เทือกเขาบรรทัด
Document Type หนังสือ Original Language of Text ภาษาไทย
Ethnic Identity มานิ มานิค โอรังอัสลี อัสลี จาไฮ, Language and Linguistic Affiliations ออสโตรเอเชียติก(Austroasiatic)
Location of
Documents
ห้องสมุดศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร Total Pages 126 Year 2536
Source สำนักพิมพ์ศิลปวรรณกรรม
Abstract

มันนิ (ซาไก) เป็นกลุ่มชนหนึ่งทางภาคใต้ ที่ดำรงวิถีชีวิตแบบชนเผ่าพื้นเมืองดั้งเดิม คือ เก็บหาของป่าล่าสัตว์ ทั้งยังมีขนบความเชื่อ ธรรมเนียมประเพณี ตลอดจนความรู้เกี่ยวกับการใช้ยาสมุนไพรอันเป็นเอกลักษณ์ประจำเผ่า แต่เมื่อความเจริญเข้าถึง รูปแบบวิถีชีวิตดั้งเดิมของมันนิก็เริ่มเปลี่ยนไป มันนิต้องปรับตัวและเปลี่ยนวิถีชีวิตให้สอดคล้องกับสภาพสังคมและวัฒนธรรมแบบชาวพื้นเมือง ในขณะที่ตัวตนหรืออัตลักษณ์แบบคนเผ่าดั้งเดิม มักได้รับการดูหมิ่นเหยียดหยามในรูปแบบต่าง ๆ มันนิเองก็ได้เรียนรู้บทเรียนหลายอย่าง ผ่านประสบการณ์การติดต่อกับผู้คนที่หลากหลายในสังคมภายนอก

Focus

เน้นศึกษาสภาพวิถีชีวิต การกินอยู่ การแต่งกาย ที่อยู่อาศัยตลอดจนวัฒนธรรมประเพณีโลกทัศน์ของชนเผ่ามันนิ (ซาไก) รวมถึงทัศนคติของคนพื้นถิ่นที่มีต่อมันนิกลุ่มหนึ่งที่อาศัยอยู่บริเวณเทือกเขาบรรทัด จ.ตรัง

Theoretical Issues

ไม่มี

Ethnic Group in the Focus

กลุ่มชนที่ถูกคนไทยเรียกว่า "ซาไก" เรียกตัวเองและชอบให้คนอื่นเรียกตนเองว่า "มันนิ" แปลว่า "มนุษย์" มากกว่า "ซาไก" ซึ่งแปลว่า คนเถื่อนหรือคนป่า (หน้า 26) คนภาคใต้เรียกกันทั่วไปว่า "เงาะ" บ้างเรียกว่า "โอรัง อัสลี" แปลว่า คนเก่าแก่ คนพื้นเมืองดั้งเดิม บ้างก็เรียก "ก็อย" (หน้า 44) ส่วนมันนิเรียกคนไทยว่า "ฮามิ" (หน้า 25) นอกจากในประเทศไทยแล้ว ยังพบมันนิที่มาเลเซีย แถบรัฐเปรัค ไทรบุรี กลันตัน และปาหังรวมถึงเกาะสุมาตราในอินโดนีเซีย ในมาเลเซียมีมันนิอาศัยอยู่หลายกลุ่ม เช่น กลุ่มโมต็อยอ็อง กลุ่มช็อนอ็อยปร๊ะ กลุ่มอ็องไตย์ กลุ่มปะตั๊ก กลุ่มไตย์ฮ่องยาเลาะ กลุ่มปะและ เป็นต้น สำหรับมันนิในประเทศไทยพบ 4 กลุ่มแบ่งตามภาษาพูดที่ใช้คือ กลุ่มแต็นแอ็น กลุ่มกันซิว กลุ่มยะฮายย์ และกลุ่มแตะเด๊ะ (หน้า 30, 38)

Language and Linguistic Affiliations

ภาษาของกลุ่มคือ ภาษาแต็นแอ๊นซึ่งมีแต่ภาษาพูด ไม่มีภาษาเขียน มันนิกลุ่มอื่นใช้ภาษาต่างออกไป เช่น มันนิที่อำเภอธารโต จ.ยะลา ใช้ภาษากันซิว มันนิที่อำเภอแว้ง จ.นราธิวาส ใช้ภาษายะฮายย์ มันนิที่อำเภอระแงะ จ.นราธิวาสใช้ภาษาแตะเด๊ะ (หน้า 30) เป็นที่น่าสังเกตว่า มันนิที่ปะเหลียนสามารถพูดภาษาได้มาก ในขณะที่ไม่มีชาวบ้านพูดภาษามันนิได้เลย (หน้า 62)

Study Period (Data Collection)

ไม่ระบุ

History of the Group and Community

ไม่มีข้อมูล

Settlement Pattern

มันนินิยมตั้ง "ทับ" หรือบ้านเพิงหมาแหงนลึกเข้าไปในป่า ทางเข้าทับมีสัญลักษณ์ให้จำทางเข้าคือ มีต้นไม้ต้นหนึ่งถูกโค่นปลายค้างอยู่กับอีกต้นหนึ่ง แต่ไม่ได้เกิดจากฝีมือการโค่น มักสร้างทับด้วยไม้กระดาน สำหรับทับของมันนิกลุ่มที่ศึกษา หัวหน้าทับจะปลูกทับไว้ตรงกลางค่อนไปทางขวา วนจากซ้ายไปขวา รอบนอก เป็นทับของลูกเขย (ว็อง-กะแมน) ถัดไปเป็นทับของพี่สาวหัวหน้ากลุ่ม "โต๊ะ บะด็อน" ซึ่งเป็นหมอตำแยประจำกลุ่ม ลักษณะทับคล้ายสามเหลี่ยมหน้าจั่ว ใช้ไม้ง่ามสองอันปักไว้ตรงกลาง มีไม้วางพาดด้านบน และพาดลงดิน ใช้ใบตองแห้ง ใบหวายวางซ้อนทับกันทำหลังคาบังแดดบังฝน ทับหนึ่งสำหรับคนโสดอยู่เพียงคนเดียว หากแต่งงานมีลูกก็จะอยู่รวมกัน เมื่อลูกโตจึงค่อยแยกทับออกไป ทุกทับจะมีกองไฟอยู่ข้างๆ ไว้ไล่ยุง มดและแมลง ทุกทับจะนอนกันบนดิน หรือใช้ไม้ขนาดเท่าด้ามพร้ามารองพื้น บ้างก็ใช้ปีกไม้ที่ชาวบ้านเลื่อยทิ้งไว้เอามาปูนอน (หน้า 33-35) มีเรื่องเล่าว่า มันนิเร่ร่อนย้ายทับไปเรื่อย อยู่ที่ไหนไม่ได้นาน เมื่ออาหารหมดลง เมื่อสมาชิกเสียชีวิต เมื่อถ่ายอุจจาระขยับเข้ามาใกล้บริเวณที่พัก เมื่อมีคนมาพบทับหรือมาขอลูกก็ต้องย้ายหนี จะเผาทับหนีเมื่อสมาชิกของกลุ่มถูกสัตว์ทำร้ายถึงตายจึงต้องย้าย แต่ครอบครัวมันนิที่ผู้ศึกษาเข้าไป ตั้งทับอยู่ที่เดิมเป็นเวลานานแล้ว รู้จักทำฝากั้นน้ำฝน และใช้ไม้ไผ่มาทำแคร่ยกพื้น มิได้นอนบนพื้นดินเหมือนกลุ่มอื่น ๆ (หน้า 45-46, 68)

Demography

มันนิในประเทศไทยเท่าที่พบมีอยู่เพียง 4 กลุ่ม กลุ่มละประมาณ 10-20 คน มันนิกลุ่มแต็นแอ็นมีอยู่ประมาณ 100 คนที่ตำบลแม่ขลี อำเภอแม่ขลี จังหวัดพัทลุง บางส่วนอยู่ที่อำเภอควนโดน และอำเภอทุ่งหว้า จ.สตูล บางส่วนอยู่ที่บ้านลิพัง อำเภอปะเหลียน จ.ตรัง มีจำนวนมากที่สุดประมาณ 60 คน (หน้า 17) มันนิกลุ่มที่ผู้ศึกษาเข้าไปสังเกตการณ์แบบมีส่วนร่วมอยู่ที่บ้านเจ้าพะ อำเภอปะเหลียน จ.ตรัง เป็นครอบครัวที่ประกอบด้วยลูกสาว 5 คน ลูกชาย 1 คน พี่สาวหัวหน้ากลุ่ม (โต๊ะ บาด็อน) ลูกชายคนสุดท้อง และลูกเขย (ว็อง กะแมน) ลูกสาว 2 คนแรกมีหลาน (หน้า 44) ที่ปะเหลียนนี้ ยังมีมันนิอยู่อีกกลุ่มหนึ่งอยู่ที่ตำบลลิพัง มีสมาชิกในกลุ่ม 20 คน หัวหน้ากลุ่มเกิดที่ จ.พัทลุง มาได้ภรรยาที่ จ.สตูล แล้วกลับมาอยู่ที่ จ.ตรัง (หน้า 69) เนื่องจากบริเวณเทือกเขาบรรทัดปะเหลียนเป็นรอยต่อสามจังหวัด บางครั้งมันนิก็เดินทางเข้าไปในเขตจังหวัดพัทลุงและสตูล (หน้า 29-30)

Economy

มันนิที่ศึกษามีพื้นที่แปลงเล็ก ๆ สำหรับปลูกข้าวไร่ไว้ริมเชิงเขา นอกจากนี้ยังปลูกกล้วยน้ำว้าไว้ข้างแปลงข้าว และจัดเวรยามดูแลกันอย่างดี ไม่ให้หมูป่ามากินข้าวไร่ บางครั้งก็ได้รับข้าวเปลือกและข้าวสารจากชาวบ้าน แลกเปลี่ยนกับการช่วยขายน้ำผึ้งป่าและ ของป่าให้ เมื่อได้ข้าวสารมาก็แบ่งให้พี่น้องกลุ่มอื่น ๆ โดยปกติมีการแบ่งหน้าที่กันทำในครอบครัว กล่าวคือ สามีจะออกล่าสัตว์ หาฟืน ภรรยาจะหุงข้าว ต้มแกง ปรุงอาหาร ตำข้าว นวดข้าว และยังดูแลเรื่องที่อยู่อาศัย ผู้ศึกษาพบว่า หญิงมันนิสามารถปลูก สร้างขนำหลังเล็ก ๆ ไว้ริมไร่ (หน้า 49-52, 68) มันนิไม่เก็บอาหารไว้กินในมื้อหน้า กล่าวคือ มีอาหารอยู่เท่าไรก็รับประทานเสียจนหมด (หน้า 33) นอกจากนี้ยังรู้จักน้ำมัน ปลากระป๋อง ผงชูรส ข้าวสาร กะปิ เกลือ ยาสูบ และอยากรับประทานผลไม้ที่ไม่เคยได้รับประทาน เช่น มะม่วง มันนิบางพวกก็ถือผงชูรสเป็นของโปรด (หน้า 46, 56) มันนิรู้จักทำเครื่องมือเครื่องใช้ไว้ล่าสัตว์ เช่น กระสุนดินเหนียว บอเลาหรือกระบอกตุด ทำด้วยไม้ไผ่ซางหรือลำไม้ไผ่ปล้องยาว ตรงเส้นผ่าศูนย์กลางลำกล้องยาวประมาณครึ่งนิ้ว ส่วนลูกดอกอาบยาพิษที่ทำจากยางอีโบ๊ะและสมุนไพรมีพิษ เรียกว่า "บิลา" มักเหลาปลายให้แหลมเรียว ทำด้วยไม้ไผ่ ดอกยาว 1 ฟุต เส้นผ่าศูนย์กลางได้ขนาดพอเหมาะกับความยาว ใช้ยิงสัตว์ เช่น นก ลิง ค่าง (หน้า 30-31) กลุ่มมันนิที่ตำบลลิพังมักเร่ร่อนออกรับจ้างชาวบ้าน ขุดบ่อ ขุดดิน ขึ้นมะพร้าว ถางสวน โดยใช้เครื่องมือของนายจ้าง บางครั้งก็เบิกค่าจ้างล่วงหน้า มักมาขอข้าวสารและอาหารจากชาวบ้าน และยังนิยมดื่มเหล้าขาว (หน้า 69) ในขณะที่ มันนิที่นิคมสร้างตนเองธารโต แม้จะได้รับการจัดสรรที่ดินจากทางการ ไม่ต้องออกล่าสัตว์ขุดเผือกขุดมันเหมือนแต่ก่อน แต่ก็ไม่ชำนาญและไม่นิยมเพาะปลูกพืชผัก แม้ผืนดินจะอุดมสมบูรณ์ แต่มักปล่อยข้าวไร่ให้งอกตามยถากรรม ไม่ได้ดูแล และปล่อยให้สัตว์ที่เลี้ยงไว้หากินเอง (หน้า 67-68)

Social Organization

การแต่งงานของมันนิ หากชายหนุ่มพอใจหญิงสาว ก็มักให้ผู้ใหญ่ไปสู่ขอ เมื่อพ่อแม่ฝ่ายหญิงตกลงก็นัดวันแต่งงาน มันนิจะไม่ถูกเนื้อต้องตัวฝ่ายหญิง และนิยมรักษาความบริสุทธิ์ต่อกันไว้ก่อนแต่งงาน นิยมระบบผัวเดียวเมียเดียวค่อนข้างมั่นคง หากฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดเสียชีวิตลง อีกฝ่ายอาจหาคู่ครองใหม่ได้ ไม่มีการแต่งงานกับคนในกลุ่มเครือญาติเดียวกันเอง ทำให้มันนิบางคนจึงต้องเดินทางไปหาคนรักต่างกลุ่ม อย่างไรก็ดี มันนิไม่นิยมสมรสกับคนต่างเผ่า เมื่อศึกษาจากหลายกลุ่มพบว่ามีหญิงสาวมันนิเพียงคนเดียวที่แต่งงานกับชาวบ้านซึ่งเคยให้ความช่วยเหลือเกื้อกูลกันมาก่อน การแต่งงานของมันนิไม่มีเรื่องของสินสอดทองหมั้น เพียงแต่ต้องเตรียมทับที่จะอยู่ร่วมกัน และต้องเข้าป่าล่าสัตว์ นำมาเป็นอาหารในวันแต่งงาน เมื่อสร้างทับและกินเลี้ยงแล้ว เจ้าบ่าวจะพาเจ้าสาวไปอยู่กินกัน กลุ่มมันนิจะไม่มีการคลุมถุงชน (หน้า 57-58, 18)

Political Organization

ผู้นำกลุ่มมันนิ กลุ่มมันนิมีหัวหน้ากลุ่มคอยตัดสินเรื่องราวต่าง ๆ การเป็นผู้นำกลุ่มไม่ได้สืบตามสายตระกูลหรือสายเลือด กล่าวคือ หากหัวหน้ากลุ่มเสียชีวิตลง คนในกลุ่มจะเลือกหัวหน้าคนใหม่ขึ้นมาแทน ซึ่งอาจเป็นใครก็ได้ที่เหมาะสม (หน้า 58) หัวหน้า กลุ่มมันนิมักเรียก "เฒ่า" นำหน้า เช่น เฒ่าสังข์ เฒ่าไข่ เฒ่าพุ่ม เฒ่าสิงห์ เฒ่าโสะห์ และเฒ่ากุ้ม (หน้า 30) สำหรับบทบาทหน้าที่ของสมาชิกในกลุ่ม นอกจากหัวหน้ากลุ่มแล้ว ยังมี โต๊ะ บะด็อนเป็นหมอตำแยประจำกลุ่ม มีหน้าที่ทำคลอด หายาสมุนไพรและคอยเลี้ยงดูเด็กเมื่อสมาชิกในกลุ่มออกไปทำงาน (หน้า 35-36)

Belief System

มันนิมีความเชื่อเรื่องผี และค่อนข้างจะกลัวผี หากสมาชิกคนใดเสียชีวิตก็จะย้ายหนี นอกจากนี้ ยังเชื่อถือโชคลาง เช่น เชื่อว่าบริเวณที่ลางไม่ดี คือ มีจอมปลวกหรือผีปลวกก็จะไม่กล้าอยู่ ต้องเผาที่อยู่ไปหาที่ตั้งบ้านเรือนใหม่ หากมีคนแปลกหน้ามาขอลูกก็จะย้ายหนี (หน้า 46) นอกจากนี้ ยังมีความเชื่อว่าตามต้นไม้ใหญ่มีผีสิงอยู่ เพราะเมื่อฝังศพคนตายแล้ว หมอผีจะนำวิญญาณไปสิงสถิตที่ต้นไม้ใหญ่ ทั้งยังเชื่อว่า สัตว์ทุกชนิดนั้นเป็นบริวารของผีที่เรียกกันว่า "โต๊ะปาวั่ง" ก่อนล่าสัตว์ทุกครั้ง มันนิต้องเอ่ยขอจากโต๊ะปาวั่งก่อน หรือเมื่อสัตว์ตายก็ต้องทำพิธีถอนรังควาน เป็นพิธีขอขมาต่อวิญญาณของสัตว์นั้น และส่งวิญญาณให้ไปเกิด หากไม่ทำวิญญาณสัตว์ก็จะเข้าสิงผู้ฆ่า ให้มีอาการเหมือนสัตว์นั้นวิ่งเข้าในป่าก็จะถูกสัตว์ชนิดนั้นทำร้ายถึงตาย สำหรับข้อห้ามตามประเพณีที่ทุกคนยึดถือร่วมกันคือ ห้ามสามีภรรยาร่วมประเวณีกันในทับเพราะเชื่อว่าผีเจ้าจะลงโทษ (หน้า 21) วัฒนธรรมอีกอย่างหนึ่งคือ ลูกสะใภ้จะต้องไม่พูดเมื่ออยู่ต่อหน้าพ่อสามี หากจำเป็นต้องติดต่อกับพ่อสามี ต้องมีบุคคลที่สามนั่งคั่นกลาง ลูกสะใภ้ต้องหันหลังให้พ่อสามีเสมอ (หน้า 49) การฝังศพของมันนิ ในป่าปะเหลียนหากมีใครเสียชีวิตจะจัดให้ศพนอนตะแคง พับเข่าให้นอนคู้และใช้ผ้าผู้ตายห่อศพให้มิดชิด นำศพไปวางบนแคร่แล้วยกทั้งแคร่ไปที่หลุม หลุมศพซาไกกว้าง 2 ศอก ยาว 3 ศอก ลึก 3 ศอก ผู้ที่ขุดหลุมต้องเป็นญาติพี่น้องของผู้ตาย หลุมมักอยู่บนเนินใกล้ลำธาร ไม่ห่างจากที่พักมากนัก ก้นหลุมรองด้วยไม่ไผ่ วางเรียงขนานเป็นแนว หันหัวไม้ไผ่ไปทางทิศตะวันตก ทับด้วยไม้ไผ่อีกชั้นหนึ่งเรียงตามแนวขวางกับชั้นแรก ก่อนยกศพลงหลุมจะทำพิธีเสกหัวไพล เมื่อนำศพลงไปวางในหลุมแล้วจะใช้ไม้ไผ่ปิดลงบนศพอีกชั้นหนึ่ง แล้วใช้แคร่นอนปิดทับลงไปแล้วเอาดินกลบหลุม เหนือปากหลุมจะสร้างเพิงหมาแหงนไว้เป็นสัญลักษณ์ คล้ายสร้างบ้านให้ผีไว้อาศัย เมื่อฝังเรียบร้อยแล้ว หมอผีจะทำพิธีสวดที่ทับผู้ตายแล้วย้ายทับไปที่อื่น เพราะเชื่อว่า คนที่ตายแล้วยังมีวิญญาณเหลืออยู่ วิญญาณหรือผีจะเที่ยวตามหลอกหลอนญาติพี่น้องและสามารถทำอันตรายคนที่วิญญาณไม่ชอบได้ (หน้า 19-20)

Education and Socialization

มันนิที่บ้านธารโต จ.ยะลา มีโอกาสได้ศึกษาเล่าเรียนในโรงเรียน ทั้งยังมีผลการเรียนไม่ด้อยไปกว่าเด็กพื้นบ้าน (หน้า 67) มันนิส่วนใหญ่ยังคงเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ ผ่านประสบการณ์ชีวิตโดยตรง ทั้งจากคนในเผ่าด้วยกันเองและคนภายนอก เช่น ชาวบ้าน หรือแม้แต่จากคณะถ่ายทำสารคดีชาวญี่ปุ่น (หน้า 37, 70) ผู้ศึกษาได้มีโอกาสสอนหนังสือมันนิให้รู้จักจับปากกาเขียนหนังสือ มันนิอยากอ่านหนังสือพิมพ์ได้ และรู้จักสังเกตเห็นความแตกต่างระหว่างตัวอักษรภาษาอังกฤษว่ามีความแตกต่างจากภาษาไทย นอกจากนี้ ผู้ศึกษายังได้รวบรวมภาษาพูดของมันนิ ถ่ายเสียงเป็นคำอ่านตามหลักสัทศาสตร์และคำอ่านภาษาไทย อำเภอปะเหลียน จ. ตรัง ไว้เป็นตัวอย่าง เช่น ปี-ฮัล แปลว่า ตาก (แดด) ตะ-เฮาะ แปลว่า เสือ ตะ-ซิก แปลว่า ทะเล ออ-เญาะ แปลว่า หลุมฝังศพ ฟะ-เลียก แปลว่า สีฟ้า อำ-ปะ แปลว่า ฝัน อะ-วอ แปลว่า ชะนี อาว-อะ แปลว่า เต่า (ที่อยู่ในคลอง) ยะ-ฮาง แปลว่า นกเงือก วะ-แย แปลว่า รุ้งกินน้ำ เมียว แปลว่า แมว แนจ แปลว่า หอยทาก นา-กา แปลว่า นาฬิกา นะ-ซิ แปลว่า ข้าว เป็นต้น (หน้า 57, 73-118)

Health and Medicine

มันนิรู้จักใช้ยาสมุนไพรรักษาโรค เช่น ว่านไอ้เหล็กใช้เป็นยาบำรุงกำลัง ลาแว่งเป็นยาแก้ปวดหัว อิเหย้งใช้เป็นยาคุมกำเนิด ยะหุเป็นยาแก้ปวดสะเอว เป็นต้น และให้หมอประจำกลุ่มรักษาด้วยวิธีพ่นหมากในบริเวณที่ปวด อาการท้องเสียเนื่องจากรับประทานอาหารแปลก ๆ หรือไม่ชินกับอาหารมันนิจะเป็นกันมาก หญิงมันนินิยมกัดกินรากไม้แข็งๆ เพื่อคุมกำเนิด หากอยากมีลูกก็นำกัดกินรากไม้อีกชนิดหนึ่งทั้งสามีภรรยา มันนิเผ่าที่ศึกษาไม่กล้ารับประทานยาเม็ด นอกจากนี้ มันนิยังมียาต้มโต้มที่ช่วยให้คลอดบุตรได้ง่าย ใช้ดื่มและทาท้อง หมอตำแยหรือ "โต๊ะบิดัน" จะเป็นผู้ทำคลอด มีการนำยาสมุนไพรมาทาท้องแล้วนวดเพื่อช่วยให้คลอดง่าย ทั้งยังเสกคาถาที่หน้าท้อง เมื่อคลอดแล้วจะให้อยู่ไฟ 7-10 วัน พร้อมให้รับประทานยาสมุนไพรที่ให้ความร้อนสูง เมื่อเด็กคลอดออกมาแล้วจะนำไปอาบน้ำอุ่นผสมสมุนไพรกับใบเตยให้มีกลิ่นหอม เมื่ออาบน้ำเสร็จจะนำผ้ามาห่อวางไว้บนแคร่ ใช้ไม้ไผ่บางๆ ตัดสายสะดือให้ยาวเลยเข้าทารกเล็กน้อย หากทารกชักจะใช้หัวไพลปิดที่หูของแม่ ให้แม่เด็กรับประทานยาเลือดลม กินพริกกินขิง ดื่มน้ำอุ่น ส่วนเด็กจะให้ดื่มนมแม่ เลี้ยงด้วยกล้วยหรือเผือกมัน ห้ามแม่ที่เพิ่งคลอดรับประทานเผือก กล้วยน้ำว้าและขนุน ที่รับประทานได้คือ กล้วยไข่ เกลือและปลาเค็ม (หน้า 18-19, 21, 31, 33,47,49, 60)

Art and Crafts (including Clothing Costume)

การแต่งกายของมันนิ มีกล่าวไว้ในบทพระราชนิพนธ์ว่า ผู้ชายนุ่งผ้า "นุ่งเลาะเตี๊ยะ" วิธีนุ่งผ้าคล้ายภาพจำหลักแบบเขมรสมัยนครวัด กล่าวคือ ใช้ผ้าคาบหว่างขาแล้วกระหวัดไว้ทั้งหน้าหลัง ชายที่ห้อยข้างหน้าเรียก "ไกพ็อก" ชายที่ห้อยข้างหลังเรียกว่า "กอเลาะ" ส่วนผู้หญิงนุ่งผ้าเตี่ยวไว้ข้างใน มีลักษณะเป็นสายรัดบั้นเอวและผ้าทาบหว่างขา เรียกว่า "จะวัด" ผ้าเรียกว่า "ฮอลี" ผ้าห่มเรียกว่า "ลิใบ" หากไม่มีผ้าก็จะใช้ใบไม้นุ่งแทน มันนิบางคนสวมเสื้อเชิ้ต นุ่งผ้าถุงหรือเสื้อยืดคอกลมเหมือนชาวบ้าน บ้างก็สวมเสื้อจนขาดจึงเปลี่ยนใหม่ มันนิไม่มีเสื้อชั้นในและมักไม่ซักเสื้อผ้า เพราะกลัวว่าสัตว์จะผิดกลิ่น สำหรับมันนิกลุ่มที่ศึกษา ไม่มีใครใช้เครื่องประดับ แต่หญิงสาวอยากได้สบู่มาลองใช้และชอบแป้ง (หน้า 29, 47, 48)

Folklore

ไม่มีข้อมูล

Ethnicity (Ethnic Identity, Boundaries and Ethnic Relation)

ลักษณะเด่นด้านชาติพันธุ์ของซาไกคือ มีหน้าตาคล้ายพวกนิโกร (นิกริโต) ในแอฟริกา แต่เตี้ยกว่าและดำน้อยกว่า ความสูงประมาณ 150 เซนติเมตร หัวกลม หน้าผากแคบ จมูกแบน ผมหยิกหย็องกลมเป็นก้นหอยติดหนังหัว มีดวงตากลมโต ขนตายาวงอน ฟันซี่ใหญ่ๆ ใบหูเล็ก มือใหญ่เท้าใหญ่ ส่วนเด็กๆ มีหัวโต พุงโร ก้นปอด (หน้า 26, 44) เป็นที่น่าสังเกตว่า ชาวบ้านมีทัศนคติต่อมันนิในทำนองดูถูก จากที่ผู้ศึกษามีส่วนร่วมรับรู้พบว่า ชาวบ้านมักมองว่ามันนิเป็นพวกคนป่าที่แตกต่างไปจากมนุษย์ บางครั้งยังพบว่าชาวบ้านหลายคนมองว่า "...มันนิไม่ใช่คน มันเป็นสัตว์..." "...พวกนี้กลางคืนตามันมีแสงเหมือนสัตว์ ฆ่าพวกนี้ตายจึงไม่บาป เอาเปรียบก็ไม่บาป เพราะมันเป็นสัตว์..." ผู้ศึกษาได้ให้ทรรศนะว่าเป็นเรื่องไม่น่าเชื่อ ที่ยังมีคนมองว่ามันนิเป็นสัตว์ไม่ใช่คน ทั้งยังตั้งข้อรังเกียจว่าพวกมันนิสกปรก เช่น การที่นำช้อนชามที่มันนิใช้ไปเก็บไว้ไม่ยอมใช้อีก หรือยกให้มันนินำกลับไปใช้ที่ทับ หลายครั้งที่ผู้ศึกษาพบว่าชาวบ้านมักเปรียบเปรยว่า " ขี้คร้านเหมือนคนป่า " หรือ "โง่เหมือนคนป่า" ในขณะที่มันนิเองก็พบว่าบางครั้งชาวบ้านก็มีนิสัยคดโกง เอารัดเอาเปรียบ หลอกลวงหรือข่มเหงรังแกมันนิราวกับว่าพวกเขาไม่ใช่มนุษย์ เช่น กรณีที่ชาวบ้านใช้ปืนจ่อขมับ บังคับข่มขู่มันนิให้กินเหล้า หรือใช้เหล้าเป็นเครื่องล่อเพื่อใช้แรงงาน อีกกรณีที่ถือเป็นบทเรียนคือ มีคนมาว่าจ้างมันนิไปออกแสดงในงานประจำปีของจังหวัดแล้วเก็บค่าผ่านประตู แสดงจนจบ 10 วัน 10 คืน กลับไม่ให้ค่าตอบแทนใด ๆ แก่มันนิเลย มันนิได้บอกให้ผู้ศึกษารู้ถึงพฤติกรรมเจ้าเล่ห์ปลิ้นปล้อนของพวกชาวบ้าน นอกจากนี้ยังพบว่า ชาวบ้านที่สอนให้มันนิบางกลุ่มดื่มเหล้า แล้วเมื่อพวกเขาเมาก็พูดจากดูถูกต่างๆ นานา เช่น "หญิงมันนิมันเมาผ้าถุงหลุดก็ยังไม่รู้ตัว" ทั้ง ๆ ที่โดยปกติ กลุ่มมันนิก็ไม่นิยมดื่มและพยายามหลีกเลี่ยงแต่กลับถูกชาวบ้านบังคับ และมักพูดถึงความไม่ดีของเหล้า ทั้งยังห้ามสมาชิกคนอื่นดื่ม (หน้า 39, 42, 58-59, 69)

Social Cultural and Identity Change

ไม่มีข้อมูล

Critic Issues

ไม่มีข้อมูล

Other Issues

ไม่มี

Map/Illustration

หมอตำแยประจำเผ่า (ภาพปกหน้า) สาววัยรุ่นอุ้มลูก (ปกหน้าใน) หนุ่มแบกบอเลา (หน้า3) เป่าลูกดอก (หน้า 4) กลุ่มมันนิ พ่อ-แม่-ลูก-หลาน (หน้า 4) เข้าหมู่บ้านซื้อของ (หน้า 6) ทับและของใช้ (หน้า 7) สาววัยรุ่นมันนิพร้อมพี่สาวและหลาน (หน้า 8) ก่อไฟหุงข้าว (หน้า 9) หนุ่มมันนิกำลังอุ้มลูกคนโต (ปกหลังใน) สาวมันนิพร้อมครอบครัวที่หน้าทับ (ปกหลัง)

Text Analyst ศมน ศรีทับทิม Date of Report 25 ก.ค. 2559
TAG มันนิ มานิ กอย คะนัง(ซาไก), วิถีชีวิต, ตรัง, Translator -
 
 

 

ฐานข้อมูลอื่นๆของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
  ฐานข้อมูลพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทย
จารึกในประเทศไทย
จดหมายเหตุทางมานุษยวิทยา
แหล่งโบราณคดีที่สำคัญในประเทศไทย
หนังสือเก่าชาวสยาม
ข่าวมานุษยวิทยา
ICH Learning Resources
ฐานข้อมูลเอกสารโบราณภูมิภาคตะวันตกในประเทศไทย
ฐานข้อมูลประเพณีท้องถิ่นในประเทศไทย
ฐานข้อมูลสังคม - วัฒนธรรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  หน้าหลัก
งานวิจัยชาติพันธุ์ในประเทศไทย
บทความชาติพันธุ์
ข่าวชาติพันธุ์
เครือข่ายชาติพันธุ์
เกี่ยวกับเรา
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  ข้อมูลโครงการ
ทีมงาน
ติดต่อเรา
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
ช่วยเหลือ
  กฏกติกาและมารยาท
แบบสอบถาม
คำถามที่พบบ่อย


ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) เลขที่ 20 ถนนบรมราชชนนี เขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ 10170 
Tel. +66 2 8809429 | Fax. +66 2 8809332 | E-mail. webmaster@sac.or.th 
สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2549    |   เงื่อนไขและข้อตกลง