สมัครสมาชิก   
| |
ค้นหาข้อมูล
ค้นหาแบบละเอียด
  •   ความเป็นมาและหลักเหตุผล

    เพื่อรวบรวมงานวิจัยทางชาติพันธุ์ที่มีคุณภาพมาสกัดสาระสำคัญในเชิงมานุษยวิทยาและเผยแผ่สาระงานวิจัยแก่นักวิชาการ นักศึกษานักเรียนและผู้สนใจให้เข้าถึงงานวิจัยทางชาติพันธุ์ได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น

  •   ฐานข้อมูลจำแนกกลุ่มชาติพันธุ์ตามชื่อเรียกที่คนในใช้เรียกตนเอง ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้ คือ

    1. ชื่อเรียกที่ “คนอื่น” ใช้มักเป็นชื่อที่มีนัยในทางเหยียดหยาม ทำให้สมาชิกกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ รู้สึกไม่ดี อยากจะใช้ชื่อที่เรียกตนเองมากกว่า ซึ่งคณะทำงานมองว่าน่าจะเป็น “สิทธิพื้นฐาน” ของการเป็นมนุษย์

    2. ชื่อเรียกชาติพันธุ์ของตนเองมีความชัดเจนว่าหมายถึงใคร มีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมอย่างไร และตั้งถิ่นฐานอยู่แห่งใดมากกว่าชื่อที่คนอื่นเรียก ซึ่งมักจะมีความหมายเลื่อนลอย ไม่แน่ชัดว่าหมายถึงใคร 

     

    ภาพ-เยาวชนปกาเกอะญอ บ้านมอวาคี จ.เชียงใหม่

  •  

    จากการรวบรวมงานวิจัยในฐานข้อมูลและหลักการจำแนกชื่อเรียกชาติพันธุ์ที่คนในใช้เรียกตนเอง พบว่า ประเทศไทยมีกลุ่มชาติพันธุ์มากกว่า 62 กลุ่ม


    ภาพ-สุภาษิตปกาเกอะญอ
  •   การจำแนกกลุ่มชนมีลักษณะพิเศษกว่าการจำแนกสรรพสิ่งอื่นๆ

    เพราะกลุ่มชนต่างๆ มีความรู้สึกนึกคิดและภาษาที่จะแสดงออกมาได้ว่า “คิดหรือรู้สึกว่าตัวเองเป็นใคร” ซึ่งการจำแนกตนเองนี้ อาจแตกต่างไปจากที่คนนอกจำแนกให้ ในการศึกษาเรื่องนี้นักมานุษยวิทยาจึงต้องเพิ่มมุมมองเรื่องจิตสำนึกและชื่อเรียกตัวเองของคนในกลุ่มชาติพันธุ์ 

    ภาพ-สลากย้อม งานบุญของยอง จ.ลำพูน
  •   มโนทัศน์ความหมายกลุ่มชาติพันธุ์มีการเปลี่ยนแปลงในช่วงเวลาต่างๆ กัน

    ในช่วงทศวรรษของ 2490-2510 ในสาขาวิชามานุษยวิทยา “กลุ่มชาติพันธุ์” คือ กลุ่มชนที่มีวัฒนธรรมเฉพาะแตกต่างจากกลุ่มชนอื่นๆ ซึ่งมักจะเป็นการกำหนดในเชิงวัตถุวิสัย โดยนักมานุษยวิทยาซึ่งสนใจในเรื่องมนุษย์และวัฒนธรรม

    แต่ความหมายของ “กลุ่มชาติพันธุ์” ในช่วงหลังทศวรรษ 
    2510 ได้เน้นไปที่จิตสำนึกในการจำแนกชาติพันธุ์บนพื้นฐานของความแตกต่างทางวัฒนธรรมโดยตัวสมาชิกชาติพันธุ์แต่ละกลุ่มเป็นสำคัญ... (อ่านเพิ่มใน เกี่ยวกับโครงการ/คู่มือการใช้)


    ภาพ-หาดราไวย์ จ.ภูเก็ต บ้านของอูรักลาโว้ย
  •   สนุก

    วิชาคอมพิวเตอร์ของนักเรียน
    ปกาเกอะญอ  อ. แม่ลาน้อย
    จ. แม่ฮ่องสอน


    ภาพโดย อาทิตย์    ทองดุศรี

  •   ข้าวไร่

    ผลิตผลจากไร่หมุนเวียน
    ของชาวโผล่ว (กะเหรี่ยงโปว์)   
    ต. ไล่โว่    อ.สังขละบุรี  
    จ. กาญจนบุรี

  •   ด้าย

    แม่บ้านปกาเกอะญอ
    เตรียมด้ายทอผ้า
    หินลาดใน  จ. เชียงราย

    ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ถั่วเน่า

    อาหารและเครื่องปรุงหลัก
    ของคนไต(ไทใหญ่)
    จ.แม่ฮ่องสอน

     ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ผู้หญิง

    โผล่ว(กะเหรี่ยงโปว์)
    บ้านไล่โว่ 
    อ.สังขละบุรี
    จ. กาญจนบุรี

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   บุญ

    ประเพณีบุญข้าวใหม่
    ชาวโผล่ว    ต. ไล่โว่
    อ.สังขละบุรี  จ.กาญจนบุรี

    ภาพโดยศรยุทธ  เอี่ยมเอื้อยุทธ

  •   ปอยส่างลอง แม่ฮ่องสอน

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ปอยส่างลอง

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดย เบญจพล  วรรณถนอม
  •   อลอง

    จากพุทธประวัติ เจ้าชายสิทธัตถะ
    ทรงละทิ้งทรัพย์ศฤงคารเข้าสู่
    ร่มกาสาวพัสตร์เพื่อแสวงหา
    มรรคผลนิพพาน


    ภาพโดย  ดอกรัก  พยัคศรี

  •   สามเณร

    จากส่างลองสู่สามเณร
    บวชเรียนพระธรรมภาคฤดูร้อน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   พระพาราละแข่ง วัดหัวเวียง จ. แม่ฮ่องสอน

    หล่อจำลองจาก “พระมหามุนี” 
    ณ เมืองมัณฑะเลย์ ประเทศพม่า
    ชาวแม่ฮ่องสอนถือว่าเป็นพระพุทธรูป
    คู่บ้านคู่เมืององค์หนึ่ง

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม

  •   เมตตา

    จิตรกรรมพุทธประวัติศิลปะไต
    วัดจองคำ-จองกลาง
    จ. แม่ฮ่องสอน
  •   วัดจองคำ-จองกลาง จ. แม่ฮ่องสอน


    เสมือนสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรม
    เมืองไตแม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ใส

    ม้งวัยเยาว์ ณ บ้านกิ่วกาญจน์
    ต. ริมโขง อ. เชียงของ
    จ. เชียงราย
  •   ยิ้ม

    แม้ชาวเลจะประสบปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัย
    พื้นที่ทำประมง  แต่ด้วยความหวัง....
    ทำให้วันนี้ยังยิ้มได้

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ผสมผสาน

    อาภรณ์ผสานผสมระหว่างผ้าทอปกาเกอญอกับเสื้อยืดจากสังคมเมือง
    บ้านแม่ลาน้อย จ. แม่ฮ่องสอน
    ภาพโดย อาทิตย์ ทองดุศรี
  •   เกาะหลีเป๊ะ จ. สตูล

    แผนที่ในเกาะหลีเป๊ะ 
    ถิ่นเดิมของชาวเลที่ ณ วันนี้
    ถูกโอบล้อมด้วยรีสอร์ทการท่องเที่ยว
  •   ตะวันรุ่งที่ไล่โว่ จ. กาญจนบุรี

    ไล่โว่ หรือที่แปลเป็นภาษาไทยว่า ผาหินแดง เป็นชุมชนคนโผล่งที่แวดล้อมด้วยขุนเขาและผืนป่า 
    อาณาเขตของตำบลไล่โว่เป็นส่วนหนึ่งของป่าทุ่งใหญ่นเรศวรแถบอำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี 

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   การแข่งขันยิงหน้าไม้ของอาข่า

    การแข่งขันยิงหน้าไม้ในเทศกาลโล้ชิงช้าของอาข่า ในวันที่ 13 กันยายน 2554 ที่บ้านสามแยกอีก้อ อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย
 
  Princess Maha Chakri Sirindhorn Anthropology Centre
Ethnic Groups Research Database
Sorted by date | title

   Record

 
Subject คะแมร์ลือ,เขมร,วัฒนธรรม,สตรี,สุขภาพ,แพทย์พื้นบ้าน,บุรีรัมย์
Author รุ่งทิพย์ ชาญชัยสิริกุล
Title สตรีแม่บ้านในชุมชนวัฒนธรรมเขมรกับบทบาทด้านการดูแลรักษาสุขภาพ กรณีศึกษาบ้านตลุงเก่า อำเภอประโคนชัย จังหวัดบุรีรัมย์
Document Type วิทยานิพนธ์ Original Language of Text ภาษาไทย
Ethnic Identity ขแมร์ลือ คะแมร คนไทยเชื้อสายเขมร เขมรถิ่นไทย, Language and Linguistic Affiliations ออสโตรเอเชียติก(Austroasiatic)
Location of
Documents
ห้องสมุดศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร Total Pages 126 Year 2546
Source หลักสูตรปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาพัฒนาสังคม บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยขอนแก่น
Abstract

บทบาทของผู้หญิงที่เป็นแม่บ้านในชุมชนวัฒนธรรมเขมรถูกกำหนดโดยปัจจัยทางสรีรวิทยา และปัจจัยทางสังคมวัฒนธรรมที่มีการผสมผสานกันอย่างลึกซึ้ง ให้เป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการดูแลสุขภาพทั้งด้านการส่งเสริม และการป้องกันสุขภาพในสภาวะที่ร่างกายปกติ นอกจากนั้น ยังมีบทบาทในการดูแลรักษา การฟื้นฟูสุขภาพเมื่อเกิดการเจ็บป่วย โดยใช้องค์ความรู้และประสบการณ์ที่สั่งสมอยู่ในความคิด ความเชื่อที่ได้รับการถ่ายทอดมาจากระบบสุขภาพของชุมชนวัฒนธรรมเขมร ซึ่งเป็นกระบวนการจัดร่วมกันระหว่างผู้ป่วยและบุคคลอื่นๆ ในชุมชนของผู้ป่วย ภายใต้ระบบการแพทย์สามัญชน ที่ผสมผสานทั้งความรู้และประสบการณ์จากระบบการแพทย์พื้นบ้านและการแพทย์แบบตะวันตก การแสดงออกซึ่งพฤติกรรมในการดูแลรักษาสุขภาพจะไหลเวียนอยู่ในชุมชนและถูกเลือกเอามาใช้ต่อสถานการณ์เจ็บป่วยที่เกิดขึ้น และจะมีวิวัฒนาการไปตามกระแสของการเปลี่ยนแปลงทางสังคม เมื่อตนเอง สมาชิกในครัวเรือนหรือในชุมชนเจ็บป่วย ผู้หญิงที่เป็นแม่บ้านจะมีพฤติกรรมแสดงออกต่อปัญหาทางสุขภาพเพื่อให้หายจากการเจ็บป่วยตามกระบวนการรักษาสุขภาพ โดยจะร่วมกับบุคคลในครัวเรือน เครือญาติหรือผู้ใกล้ชิด เพื่อประเมินอาการเจ็บป่วย การเลือกแหล่งรักษาพยาบาล การกำหนดวิธีการรักษาและประเมินผลการรักษาทุกขั้นตอนเป็นระยะๆ รวมถึงการประเมินค่าใช้จ่าย และประเมินถึงความคุ้มประโยชน์หรือผลสุทธิในการรักษาแต่ละวิธีด้วย ผู้หญิงที่เป็นแม่บ้านส่วนหนึ่งในชุมชน แสดงบทบาทในการดูแลรักษาอาการเจ็บป่วยให้กับสมาชิกในชุมชนหลายวิธี เช่น เป็นหมอโบล หมอทรง เพื่อค้นหาสาเหตุของการเจ็บป่วยและวิธีการบำบัดรักษา ตามวิธีการทางไสยศาสตร์ เป็นหมอยาสมุนไพร หมอนวดแผนโบราณ เพื่อรักษาผู้ป่วยในชุมชนตามความคิด ความเชื่อของสมาชิกในชุมชน นอกจากนี้ ผลการศึกษายังพบว่าผู้หญิงที่เป็นแม่บ้านทั้งสามฐานะ มีบทบาทด้านการดูแลรักษาสุขภาพ อันเป็นพฤติกรรมทางสุขภาพคล้ายคลึงกัน เนื่องจากบทบาทดังกล่าวมีอยู่ในวิถีการดำรงชีพอันเป็นวัฒนธรรมของชุมชน ที่แสดงออกทางพฤติกรรมการรักษาสุขภาพ โดยมีความคิดความเชื่อ ที่ใช้ในการวินิจฉัยสาเหตุของการเกิดโรคเป็นปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจแก้ไขปัญหาทางสุขภาพและพบว่าหญิงทั้งสามฐานะเลือกใช้บริการระบบการแพทย์พื้นบ้านและระบบการแพทย์แบบตะวันตกในระดับที่ไม่แตกต่างกัน การจะพึ่งบริการทางการแพทย์ระบบใดขึ้นอยู่กับความเชื่อเกี่ยวกับสาเหตุการเกิดโรคเป็นสำคัญ ผู้หญิงที่เป็นแม่บ้านได้แสดงความต้องการที่จะให้มีการปรับเปลี่ยนความคิด ความเชื่อและทัศนคติ ให้ผู้ชายเข้ามามีส่วนร่วม ช่วยเหลือและรับผิดชอบกิจกรรมในครัวเรือนเพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระส่วนหนึ่งของผู้หญิง เปิดโอกาสให้ผู้หญิงมีบทบาทสาธารณะมากขึ้น ปลูกฝังให้ผู้ชายสนใจและใส่ใจปัญหาทางสุขภาพของตนเองมากขึ้น ปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางวัฒนธรรมของสังคมเกี่ยวกับเรื่องความสัมพันธ์หญิงชายในด้านการดูแลสุขภาพ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงที่จะมีขึ้นทุกฝ่ายในชุมชนต้องให้ความสำคัญและร่วมกันทำในลักษณะค่อยเป็นค่อยไป ผู้หญิงที่เป็นแม่บ้านต้องการให้หน่วยงานด้านสาธารณสุข เห็นความสำคัญในบทบาทที่สังคมวัฒนธรรม กำหนดให้ผู้หญิงที่เป็นแม่บ้านเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการดูแลสุขภาพ จึงต้องการที่จะได้รับเลือกให้เข้ารับการชี้แนะเพิ่มพูนความรู้ในด้านการดูแลรักษาสุขภาพในทุกรูปแบบของการเรียนรู้ เพื่อจะได้นำความรู้ไปปฏิบัติและถ่ายทอดแก่ครอบครัวและชุมชนต่อไป

Focus

ศึกษาบทบาทและแนวทางส่งเสริมการดูแลรักษาสุขภาพของผู้หญิงที่เป็นแม่บ้านในชุมชนวัฒนธรรมเขมร กรณีศึกษา บ้านตลุงเก่า อำเภอประโคนชัย จังหวัดบุรีรัมย์

Theoretical Issues

ไม่มี

Ethnic Group in the Focus

ไทย-เขมร หรือ "เขมรถิ่นไทย" (หน้า 43)

Language and Linguistic Affiliations

ภาษาเขมรถิ่นไทย (หน้า 61)

Study Period (Data Collection)

พ.ศ. 2546

History of the Group and Community

บ้านตลุงเก่า เดิมคนในท้องถิ่นเรียกชุมชนนี้ว่า "ปันเตียย" เพราะในอดีตมีคูน้ำล้อมรอบหมู่บ้านสองชั้น แต่ปัจจุบันตื้นเขินจนไม่ปรากฏร่องรอยและเรียกบ้านประโคนชัยซึ่งเป็นอำเภอประโคนชัยในปัจจุบันว่า "บ้านตลุง" คำว่า "ปันเตียย" ภาษาเขมรแปลว่า ที่เนินสูงหรือที่ตั้งกองทหาร ส่วน "ตลุง" แปลว่า เสาใหญ่ เสาหินหรือหลักผูกช้าง ชุมชนบ้านตลุงเริ่มมีขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2441 โดยมีตาขาวและยายเหน็บ พวงประโคนเป็นครัวเรือนแรกที่เข้ามาก่อตั้งชุมชน ต่อมาได้มีครัวเรือนจากบ้านโคกม้า อำเภอประโคนชัย จังหวัดบุรีรัมย์และจากบ้านสวาย อำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์ อพยพตามเข้ามาในลักษณะทยอยเข้ามาอาศัย (หน้า 34, 42-43)

Settlement Pattern

การปลูกบ้านส่วนใหญ่จะปลูกบริเวณใกล้เคียงกัน รวมกันเป็นกลุ่มๆ โดยแต่ละกลุ่มจะเป็นเครือญาติกัน ภายในหมู่บ้านมีศาลปู่ตา ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของหมู่บ้าน ริมห้วยบอสเวง (หน้า 37, 40) สภาพบ้านเรือนในหมู่บ้านตลุงเก่า จำแนกได้เป็น 3 ลักษณะได้แก่ 1) แบบแรกเป็นบ้านรูปแบบเดิม มีลักษณะเป็นบ้านชั้นเดียวใต้ถุนสูงประมาณ 180 ซม.เป็นบ้านแฝดหลังคาติดกันมีรางน้ำเชื่อมต่อตรงกลางระหว่างบ้านทั้งสอง 2) แบบที่สอง เป็นบ้านสองชั้น ครึ่งตึกครึ่งไม้ ชั้นล่างก่ออิฐถือปูน ส่วนชั้นที่สองสร้างด้วยไม้ 3) ส่วนบ้านแบบที่ 3 เป็นบ้านชั้นเดียวติดดิน ยกโครงหลังคาด้วยเสาคอนกรีต ต่อด้วยไม้จำนวน 9 ต้น ลักษณะแบบบังกะโล ฝาบ้านด้านนอกก่ออิฐบล็อก ฉาบปูนหยาบๆ สภาพทั่วไปของหมู่บ้านไม่มีรั้วเป็นแนวปิดกั้นระหว่างครัวเรือน มีเพียงเสาปักแสดงแนวเขตที่ดิน บ้านที่ก่อสร้างขนาดใหญ่ มีกำแพงบ้านก่ออิฐถือปูนและมีประตูรั้วมิดชิด แสดงถึงความมีฐานะของเจ้าของบ้าน (หน้า 37)

Demography

ชุมชนบ้านตลุงเก่า แบ่งออกเป็น 2 หมู่บ้าน โดยหมู่ที่ 3 มี187 หลังคาเรือน มีประชากรจำนวน 935 คน เป็นชาย 453 คน เป็นหญิง 482 คน ส่วนหมู่ที่ 9 มี 104 หลังคาเรือน มีประชากรจำนวน 582 คน เป็นชาย 307 คน เป็นหญิง 275 คน(หน้า 43)

Economy

บ้านตลุงเก่ามีที่ดินสาธารณะที่ใช้ร่วมกันที่ทางราชการได้ออกเอกสารหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง (นสล.) 2 แห่งคือ โคกป่าช้าของหมู่บ้านและที่ทำเลเลี้ยงสัตว์ โคกป่าช้าตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของหมู่บ้าน มีเนื้อที่ประมาณ 800 ไร่แต่ปัจจุบันเหลือเพียง 200 ไร่เศษเนื่องจากชาวบ้านบุกรุกเพื่อทำนา ส่วนทำเลเลี้ยงสัตว์มีเนื้อที่ประมาณ 1,800 ไร่ (หน้า 38) ชาวบ้านประมาณร้อยละ 90.0 ประกอบอาชีพทำนา การทำนาส่วนใหญ่จะเป็นการปักดำเพราะต้นข้าวขึ้นเป็นระเบียบ แตกกอดีและได้ผลผลิตมาก แต่หากฝนแล้งจะทำนาโดยการหว่านแทนการปักดำเพราะใช้เวลาสั้นและเปลืองค่าแรงน้อยกว่าการปักดำ โดยคิดค่าจ้างดำนาหรือเกี่ยวข้าว คนละ 100-120 บาทต่อวัน นอกจากนี้ ชาวบ้านส่วนมากมีวัว ควายครัวเรือนละ ประมาณ 1-5 ตัว ซึ่งเป็นการเลี้ยงในลักษณะการออมทรัพย์เพราะเลี้ยงเพื่อขาย มิได้นำมาใช้แรงงาน และยังมีการเลี้ยงเป็ด ไก่ ไว้เพื่อเป็นอาหารและเพื่อขาย เศรษฐกิจนอกภาคเกษตรมีการเปิดร้านค้าขนาดเล็กในชุมชนจำนวน 6-7 ร้าน นอกจากนี้ ธนาคารเพื่อการเกษตรและการสหกรณ์ได้เข้ามามีบทบาทในการระดมทุนและให้สินเชื่อแก่ชาวบ้าน ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2526 ปัจจุบัน ประมาณร้อยละ 85.0 ของครัวเรือนในหมู่บ้าน เป็นสมาชิกธนาคารฯ และเป็นหนี้เกือบทุกราย (หน้า 39, 44-45)

Social Organization

ลักษณะโครงสร้างของครอบครัวส่วนใหญ่เป็นกึ่งครัวเรือนขยาย เป็นสังคมแบบปิตาลัย ลูกจะสืบสกุลข้างพ่อมากกว่าข้างแม่ห้าเท่า (หน้า 62) การแต่งงาน ของคนในชุมชน รุ่นอายุ 50-80 ปี จะแต่งงานกับคนภายในหรือหมู่บ้านใกล้เคียง ส่วนคนรุ่นใหม่มีการพบปะกับคนต่างถิ่นมากขึ้น จากการไปทำงานหรือไปเรียนหนังสือต่างจังหวัด จึงมีการแต่งงานกับคนต่างถิ่นมากขึ้น การแต่งงานของคนในหมู่บ้านจะประกอบพิธีตามประเพณีแบบเดิม เช่น มีการสู่ขอ ให้สินสอด เป็นต้น จำนวนสินสอดขึ้นกับฐานะของทั้งสองฝ่าย โดยมีญาติผู้ใหญ่ของทั้งสองฝ่ายร่วมพิธีในแต่ละขั้นตอน บางรายได้ตกลงอยู่ร่วมกันฉันสามีภรรยาก่อน โดยไม่ได้แต่งงานและไม่ได้รับความเห็นชอบจากบิดา มารดา เมื่อกลับมาบ้านจะต้องจัดพิธีแต่งงานที่เรียกว่า "การเสียผี" ซึ่งเป็นการแต่งงานอย่างเรียบง่าย เพื่อเป็นการบอกกล่าวผีบรรพบุรุษให้ทราบว่าได้รับสมาชิกใหม่เข้ามาอยู่ในครัวเรือน ครัวเรือนในชุมชนมีความผูกพันโดยขนบธรรมเนียมประเพณี การพูดภาษาท้องถิ่นเดียวกัน และมีความผูกพันกันในระบบเครือญาติโดยสายโลหิตและเครือญาติโดยการแต่งงาน (หน้า 43-44) การรวมกลุ่มและกิจกรรมทางสังคมของชาวบ้านส่วนใหญ่ได้รับการชี้นำจากหน่วยงานภาครัฐ เช่น กลุ่มฌาปณกิจหมู่บ้าน จัดขึ้นโดยการแนะนำของฝ่ายปกครองเพื่อให้ความช่วยเหลือครัวเรือนที่สมาชิกเสียชีวิต เงินกองทุนหมู่บ้าน เป็นโครงการของรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร จัดเพื่อให้ชาวบ้านได้รู้จักออมทรัพย์และจัดสรรเงินงบประมาณให้กู้ยืมเงินหมู่บ้าน มีการจัดตั้งคณะกรรมการเงินกองทุนหมู่บ้าน กลุ่มแม่บ้านหรือคณะกรรมการพัฒนาสตรีประจำหมู่บ้าน (กพสม.) เป็นแนวคิดของกรมพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย จัดตั้งเพื่อพัฒนาบทบาทของผู้หญิงให้รวมกลุ่มทำกิจกรรมต่างๆ เพื่อกระตุ้นให้มีบทบาททางสังคม (หน้า 53-54)

Political Organization

บ้านตลุงเก่าปกครองตามระบบราชการ มีผู้ใหญ่บ้านปกครองและทำหน้าที่ประสานงานกับหน่วยงานราชการ แบ่งการปกครองออกเป็นหมู่ที่ 3 และหมู่ที่ 9 ตำบลโคกม้า อำเภอประโคนชัย จังหวัดบุรีรัมย์ นอกจากนี้ ยังแบ่งการปกครองออกเป็นค้ม เมื่อปี พ.ศ. 2526 แบ่งเป็นหมู่บ้านละ 10 คุ้ม โดยแต่ละคุ้มจะมีหัวหน้า รองหัวหน้าและกรรมการประจำคุ้ม เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการพัฒนา รูปแบบการปกครองส่วนท้องถิ่นองค์การบริหารส่วนตำบล มีสมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบลซึ่งมาจากการเลือกตั้ง หมู่ละ 2 คน โดยคะแนนเลือกตั้งจะอิงกับระบบเครือญาติมากกว่าความดีหรือผลงานของผู้สมัคร นอกจากนี้ ยังมีกรรมการหมู่บ้านซึ่งมีอำนาจเสนอนโยบาย ให้คำปรึกษาแนะนำและให้ความเห็นต่อการปฏิบัติงานต่างๆ ของผู้ใหญ่บ้าน (หน้า 34, 41, 51-53) ระบบการเมืองการปกครองในชุมชนยังถือว่าผู้ชายเป็นใหญ่มีอำนาจในการตัดสินใจมากกว่าผู้หญิง (หน้า 62)

Belief System

ชาวบ้านตลุงเก่าทั้งหมดนับถือศาสนาพุทธ มีความเชื่อเรื่องบาปบุญ คุณโทษ เคราะห์กรรม โชควาสนา เครื่องรางของขลัง มีการให้ทาน และมีความเชื่อเรื่องชาติภพ ภูตผี วิญญาณ นอกจากนี้ ยังมีความเชื่อและนับถือสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ในหมู่บ้านตามความเชื่อของบรรพบุรุษ (หน้า 50-51) ศาลปู่ตา เป็นที่ประกอบพิธีกรรมตามความเชื่อ เช่น การประกอบพิธีทำบุญหมู่บ้าน ซึ่งจัดเป็นประจำทุกปี โดยผู้นำชุมชนจะเป็นผู้กำหนดวันประกอบพิธี นอกจากนี้ชาวบ้านจะนำเครื่องเซ่นไหว้มาถวายหรือมาบนบานในโอกาสต่างๆ เช่น เมื่อมีคนในครอบครัวเจ็บป่วยหรือประสบภัยพิบัติต่างๆ (หน้า 40) การฌาปณกิจศพ จะตั้งบำเพ็ญกุศลและสวดอภิธรรมที่บ้านประมาณ 2-3 วันหรือมากกว่านี้ จะไม่เผาศพในวันอังคารและวันศุกร์ ถือเป็น "วันผีกินคน" เชื่อว่าหากเผ่าในวันต้องห้ามจะทำให้มีคนตายตามอีก การส่งศพไปยังเมรุที่วัดของชุมชนนี้จะมีหญิงสาวพรหมจรรย์ 5 คนอยู่ในขบวนแห่ศพ แต่งกายและโพกศีรษะด้วยผ้าขาวหรือไม่ก็แต่งชุดสีดำแล้วนำผ้าขาวมาห่มทับ หญิงสาวคนแรกเดินนำหน้าศพ ต่อจากพระภิกษุ ถือขันเงินบรรจุข้าวตอกและเงินบาท โปรยเป็นระยะๆ ส่วนอีสี่คนเดินข้างโลงศพ ถือ "สรากะฮอม" คนละ 1 ชุดสำหรับล้างหน้าศพก่อนทำพิธีเผาศพ ซึ่งประกอบด้วย มะพร้าวอ่อนที่ปักธูป 1 ดอก โดยเสียบหมากไว้ที่ปลายก้านธูป 1 ลูก ส่วนพิธีกรรมก่อนเผามีลักษณะคล้ายกับพิธีที่ทำในเมือง การแต่งงาน นิยมจัดในเดือน 4 (มีนาคม) ชายหญิงบางรายนามสกุลเดียวกันก็สามารถแต่งงานกันได้ พิธีแต่งงานถือว่าผู้ชายจะเข้ามาเป็นผู้อาศัยอยู่กับผู้หญิงเพื่อเข้ามาใช้แรงงาน โดยผู้ชายเป็นฝ่ายมาสู่ขอ เพราะพ่อแม่ฝ่ายหญิงจะต้องรับเลี้ยงดูและให้มรดกเพื่อสร้างตัว การเชิญแขกญาติพี่น้องจะต้องนำบุหรี่ใส่พานไปด้วยเรียกว่า "ขันห้า" และผู้รับเชิญจะหยิบบุหรี่ในขันห้าสองมวนเป็นอันเสร็จพิธี ก่อนวันแต่งงาน 1 วัน ที่บ้านฝ่ายหญิงจะจัดเลี้ยงแก่ญาติและแขกที่มาร่วมงาน ซึ่งเรียกว่า "ไปจองได" ผู้ร่วมงานจะนำเงินใส่ซองมอบให้ เรียกว่า "ขี่กัน" ในวันพิธี ก่อนที่พราหมณ์ (อาจา) จะมาสวด ญาติผู้ใหญ่จะตรวจนับสินสอดและมีการประกาศให้ผู้ไปร่วมงานทราบโดยทั่วกัน หลังจากนั้น จึงเข้าสู่พิธีบายศรีสู่ขวัญและผูกข้อมือบ่าวสาวเป็นอันเสร็จพิธี พิธีโกนจุก หากเด็กที่มีสุขภาพไม่แข็งแรง เลี้ยงดูยากและเจ็บไข้บ่อย เด็กผู้หญิงจะไว้ผมจุก ส่วนเด็กผู้ชายจะไว้ผมแกละ และจะมีพิธีโกนจุก ในพิธีจะทำกรวยเจ็ดชั้นหรือใช้ต้นกล้วยสูงเท่าผู้โกนจุก มีการนิมนต์พระสงฆ์จำนวน 9 รูปมาสวดและมีการจัดเลี้ยงอาหารและสุราแก่ผู้มาร่วมงาน ครัวเรือนที่มีฐานะดีจะมีการจัดมหรสพ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นลิเก ประเพณีงานบวช หากเป็นแบบเรียบง่ายก็จะไปพบเจ้าอาวาสเพื่อกำหนดวันเมื่อถึงวันบวช ตอนเช้าจะมีการทำอาหารไปที่วัดและทำพิธีบวช หากจะทำพิธีให้สมเกียรติจะมีการสู่ขวัญและแห่นาครอบหมู่บ้านและมีการจัดงานเลี้ยงเช่นเดียวกับประเพณีอื่นๆ งานประเพณีประจำหมู่บ้าน เช่น - งานปีใหม่ จะหยุดติดต่อกันหลายวัน ไม่มีพิธีกรรมใดๆ เป็นการรวมญาติเพื่อพบปะสังสรรค์เช่นเดียวกับชุมชนอื่นๆ - งานเทศมหาชาติ โดยปกติจะจัดในเดือนยี่ของทุกปี โดยชาวบ้านจะจัดทำกัณฑ์เทศน์แห่ต้านเงินมาวัดและร่วมฟังเทศน์มหาชาติ - งานทำบุญหมู่บ้านหรือเลี้ยงศาลปู่ตา จะจัดในเดือนหกทางจันทรคติ โดยมีผู้นำหมู่บ้านเป็นผู้กำหนดวัน ในพิธีจะนำพระพุทธรูป 1 องค์และนิมนต์พระสงฆ์ 1 รูปนั่งบนเสลี่ยง เดินแห่ไปตามถนนรอบหมู่บ้าน ผู้ร่วมขบวนจะดื่มสุราและเต้นรำ ฟ้อนรำนำหน้าขบวนแล้วไปรวมกันที่ลานข้างศาลปู่ตา - งานแห่เทียนเข้าพรรษาจัดในวันวันอาสาฬหบูชา - ประเพณีสารทไทย บ้านตลุงเก่ามีวันสารทเล็กตรงกับวันแรม 15 ค่ำเดือน 9 ส่วนวันสารทใหญ่ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 10 ในวันสารทเล็กไม่มีพิธีอะไรนอกจากนำอาหารไปถวายวัด ส่วนวันสารทใหญ่จะทำกระยาสารทและขนมต่างๆ ไปทำบุญที่วัดเพื่อระลึกถึงบรรพบุรุษที่ล่วงลับ (หน้า 46-50)

Education and Socialization

ชาวบ้านมีค่านิยมใฝ่การศึกษา มองว่าการศึกษาทำให้สถานภาพทางสังคมและครอบครัวดีขึ้นในทุกๆ ด้าน ปัจจุบันบ้านตลุงเก่ามีโรงเรียน 1 แห่ง ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2474 เดิมชื่อโรงเรียนประชาบาล ตำบลโคกม้า 2 ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น โรงเรียนวัดบ้านตลุงเก่า เปิดสอนตั้งแต่ระดับอนุบาลถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 มีนักเรียน 345 คน มีครู 18 คนและมีนักการ 1 คน (หน้า 55)

Health and Medicine

ชุมชนบ้านตลุงเก่ามีสถานีอนามัยอยู่ติดกับหมู่บ้าน ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ.2503 และมีโรงพยาบาลประโคนชัย ซึ่งห่างจากหมู่บ้านประมาณ 10 กิโลเมตร การวางแผนครอบครัว มีหญิงวัยเจริญพันธุ์ อายุระหว่าง 15-44 ปี จำนวน 341 คน คิดเป็นร้อยละ 44.0 ของประชากรหญิงทั้งหมด และเป็นหญิงวัยเจริญพันธุ์ที่อยู่ร่วมกับสามี จำนวน 159 คู่ คิดเป็นร้อยละ 43.0 ของหญิงวัยเจริญพันธุ์ทั้งหมด หญิงที่ตั้งครรภ์มีการฝากครรภ์ตามเกณฑ์ ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันบาดทะยัก และนิยมคลอดที่โรงพยาบาล ด้านการเจ็บป่วย ส่วนใหญ่จะเป็นโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ รองลงมาคือโรคระบบทางเดินอาหาร สำหรับโรคเรื้อรังที่พบได้แก่ โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูงและโรคหัวใจ 11 ราย ผู้พิการทางร่างกาย 13 ราย พิการทางสติปัญญา 2 ราย นอกจากการรักษาด้วยแพทย์แผนปัจจุบันแล้ว ชาวบ้านบางรายยังมีความคิดความเชื่อในการรักษาด้วยวิธีทางไสยศาสตร์หรือแพทย์แผนโบราณ โดยมีหมอพื้นบ้านเป็นผู้รักษา ได้แก่หมอน้ำมนต์ หมอยาสมุนไพร หมอทรงหรือแม่มด หมอโบลและหมอกระดูก เป็นต้น (หน้า 56-58) ผู้หญิงที่เป็นแม่บ้านมีบทบาทเกี่ยวข้องกับระบบสุขภาพทั้ง 3 ระบบที่มีอยู่ในชุมชน ซึ่งได้แก่ ระบบการแพทย์สามัญชน ระบบการแพทย์พื้นบ้านและระบบการแพทย์แบบตะวันตก ในลักษณะที่เป็นทั้งผู้รับบริการและผู้ให้บริการทางด้านสุขภาพ โดยนำความรู้และประสบการณ์ที่ได้รับการถ่ายทอดมาใช้ในชีวิตประจำวันทั้งในสภาวะที่ร่างกายปกติและเมื่อเกิดการเจ็บป่วย (หน้า 65) - การนวด เป็นวิธีรักษาอาการเจ็บป่วย ไม่มีการใช้ยารักษา มีเพียงการนวดและกดจุดบริเวณที่ปวดเท่านั้น นอกจากนี้ผู้นวดยังนำความคิดความเชื่อในเรื่องไสยศาสตร์มาใช้ในการรักษาอีกด้วย - การทำพิธีทรง เป็นพิธีเพื่อหาสาเหตุและแนวทางการรักษาอาการเจ็บป่วย โดยมีคนทรงเป็นผู้กำหนดรูปแบบพิธีกรรม (หน้า 70-71) - การโบล เป็นพิธีกรรมทางไสยศาสตร์วิธีหนึ่งที่ใช้ในการดูแลรักษาสุขภาพ โดยมีผู้เชื่ยวชาญ ทำพิธีโบลเพื่อหาสาเหตุของการเจ็บป่วยและบอกวิธีการรักษาอาการเจ็บป่วยด้วยวิธีการทางไสยศาสตร์ แต่ไม่ใช่วิธีการรักษาโดยตรง (หน้า 77)

Art and Crafts (including Clothing Costume)

ไม่มีข้อมูล

Folklore

ไม่มีข้อมูล

Ethnicity (Ethnic Identity, Boundaries and Ethnic Relation)

ไม่มีข้อมูล

Social Cultural and Identity Change

ปัจจุบันขนบธรรมเนียมและประเพณีดั้งเดิมบางอย่างได้ถูกปรับเปลี่ยนเพื่อให้สอดคล้องกับสภาวะการเปลี่ยนแปลงของสังคมและบางอย่างได้เปลี่ยนให้สอดคล้องกับการเคลื่อนย้ายกำลังแรงงานของคนรุ่นใหม่ (หน้า 55)

Critic Issues

ไม่มีข้อมูล

Other Issues

บทบาทของผู้หญิงที่เป็นแม่บ้านในการดูแลสุขภาพ ความคิดความเชื่อเกี่ยวกับการดูแลรักษาสุขภาพ ผู้หญิงจะมีบทบาทมากกว่าผู้ชายในชุมชน ในด้านความเชื่อทางศาสนา แม้ผู้หญิงจะบวชเป็นสงฆ์ไม่ได้ แต่ก็สามารถเข้าร่วมและเป็นผู้นำในการประกอบพิธีกรรมทางศาสนาได้เป็นอย่างดี เช่น เป็นผู้นำในการสวดมนต์ในการประกอบพิธีกรรมเซ่น "ศาลจรีรโยง" เป็นต้น การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองในชุมชน ทำให้ผู้หญิงเข้ามามีบทบาทสาธารณะในสัดส่วนเพิ่มขึ้น (หน้า 62-63)

Map/Illustration

ภาพ - แสดงพิธีแห่ศพที่ผู้หญิงพรหมจรรย์ช่วยส่งดวงวิญญาณของผู้ตาย (หน้า 64) - นางเพียง วินประโคน นวดเพื่อคลายเครียด (หน้า 69) - นางเพียง วินประโคน นวดเพื่อการรักษา (หน้า 69) - นางปรานี ปะรัมย์ ทำพิธีทรงเพื่อหาสาเหตุการเจ็บป่วย (หน้า 73) - แม่กวง พวงประโคน ทำพิธีโบลเพื่อหาสาเหตุการเจ็บป่วย (หน้า 79) - แม่กวง พวงประโคน ทำพิธีโบลเพื่อการรักษา (หน้า 79) - แม่ยัง สิทธิสังข์ กับยาสมุนไพรที่ใช้ในการรักษา (หน้า 81) - โครงสร้างของระบบสุขภาพในชุมชน (หน้า 83) แผนที่ - แผนที่หมู่บ้านตลุงเก่า (หน้า 33)

Text Analyst สุวิทย์ เลิศวิมลศักดิ์ Date of Report 27 พ.ค. 2562
TAG คะแมร์ลือ, เขมร, วัฒนธรรม, สตรี, สุขภาพ, แพทย์พื้นบ้าน, บุรีรัมย์, Translator -
 
 

 

ฐานข้อมูลอื่นๆของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
  ฐานข้อมูลพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทย
จารึกในประเทศไทย
จดหมายเหตุทางมานุษยวิทยา
แหล่งโบราณคดีที่สำคัญในประเทศไทย
หนังสือเก่าชาวสยาม
ข่าวมานุษยวิทยา
ICH Learning Resources
ฐานข้อมูลเอกสารโบราณภูมิภาคตะวันตกในประเทศไทย
ฐานข้อมูลประเพณีท้องถิ่นในประเทศไทย
ฐานข้อมูลสังคม - วัฒนธรรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  หน้าหลัก
งานวิจัยชาติพันธุ์ในประเทศไทย
บทความชาติพันธุ์
ข่าวชาติพันธุ์
เครือข่ายชาติพันธุ์
เกี่ยวกับเรา
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  ข้อมูลโครงการ
ทีมงาน
ติดต่อเรา
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
ช่วยเหลือ
  กฏกติกาและมารยาท
แบบสอบถาม
คำถามที่พบบ่อย


ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) เลขที่ 20 ถนนบรมราชชนนี เขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ 10170 
Tel. +66 2 8809429 | Fax. +66 2 8809332 | E-mail. webmaster@sac.or.th 
สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2549    |   เงื่อนไขและข้อตกลง