สมัครสมาชิก   
| |
ค้นหาข้อมูล
ค้นหาแบบละเอียด
  •   ความเป็นมาและหลักเหตุผล

    เพื่อรวบรวมงานวิจัยทางชาติพันธุ์ที่มีคุณภาพมาสกัดสาระสำคัญในเชิงมานุษยวิทยาและเผยแผ่สาระงานวิจัยแก่นักวิชาการ นักศึกษานักเรียนและผู้สนใจให้เข้าถึงงานวิจัยทางชาติพันธุ์ได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น

  •   ฐานข้อมูลจำแนกกลุ่มชาติพันธุ์ตามชื่อเรียกที่คนในใช้เรียกตนเอง ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้ คือ

    1. ชื่อเรียกที่ “คนอื่น” ใช้มักเป็นชื่อที่มีนัยในทางเหยียดหยาม ทำให้สมาชิกกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ รู้สึกไม่ดี อยากจะใช้ชื่อที่เรียกตนเองมากกว่า ซึ่งคณะทำงานมองว่าน่าจะเป็น “สิทธิพื้นฐาน” ของการเป็นมนุษย์

    2. ชื่อเรียกชาติพันธุ์ของตนเองมีความชัดเจนว่าหมายถึงใคร มีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมอย่างไร และตั้งถิ่นฐานอยู่แห่งใดมากกว่าชื่อที่คนอื่นเรียก ซึ่งมักจะมีความหมายเลื่อนลอย ไม่แน่ชัดว่าหมายถึงใคร 

     

    ภาพ-เยาวชนปกาเกอะญอ บ้านมอวาคี จ.เชียงใหม่

  •  

    จากการรวบรวมงานวิจัยในฐานข้อมูลและหลักการจำแนกชื่อเรียกชาติพันธุ์ที่คนในใช้เรียกตนเอง พบว่า ประเทศไทยมีกลุ่มชาติพันธุ์มากกว่า 62 กลุ่ม


    ภาพ-สุภาษิตปกาเกอะญอ
  •   การจำแนกกลุ่มชนมีลักษณะพิเศษกว่าการจำแนกสรรพสิ่งอื่นๆ

    เพราะกลุ่มชนต่างๆ มีความรู้สึกนึกคิดและภาษาที่จะแสดงออกมาได้ว่า “คิดหรือรู้สึกว่าตัวเองเป็นใคร” ซึ่งการจำแนกตนเองนี้ อาจแตกต่างไปจากที่คนนอกจำแนกให้ ในการศึกษาเรื่องนี้นักมานุษยวิทยาจึงต้องเพิ่มมุมมองเรื่องจิตสำนึกและชื่อเรียกตัวเองของคนในกลุ่มชาติพันธุ์ 

    ภาพ-สลากย้อม งานบุญของยอง จ.ลำพูน
  •   มโนทัศน์ความหมายกลุ่มชาติพันธุ์มีการเปลี่ยนแปลงในช่วงเวลาต่างๆ กัน

    ในช่วงทศวรรษของ 2490-2510 ในสาขาวิชามานุษยวิทยา “กลุ่มชาติพันธุ์” คือ กลุ่มชนที่มีวัฒนธรรมเฉพาะแตกต่างจากกลุ่มชนอื่นๆ ซึ่งมักจะเป็นการกำหนดในเชิงวัตถุวิสัย โดยนักมานุษยวิทยาซึ่งสนใจในเรื่องมนุษย์และวัฒนธรรม

    แต่ความหมายของ “กลุ่มชาติพันธุ์” ในช่วงหลังทศวรรษ 
    2510 ได้เน้นไปที่จิตสำนึกในการจำแนกชาติพันธุ์บนพื้นฐานของความแตกต่างทางวัฒนธรรมโดยตัวสมาชิกชาติพันธุ์แต่ละกลุ่มเป็นสำคัญ... (อ่านเพิ่มใน เกี่ยวกับโครงการ/คู่มือการใช้)


    ภาพ-หาดราไวย์ จ.ภูเก็ต บ้านของอูรักลาโว้ย
  •   สนุก

    วิชาคอมพิวเตอร์ของนักเรียน
    ปกาเกอะญอ  อ. แม่ลาน้อย
    จ. แม่ฮ่องสอน


    ภาพโดย อาทิตย์    ทองดุศรี

  •   ข้าวไร่

    ผลิตผลจากไร่หมุนเวียน
    ของชาวโผล่ว (กะเหรี่ยงโปว์)   
    ต. ไล่โว่    อ.สังขละบุรี  
    จ. กาญจนบุรี

  •   ด้าย

    แม่บ้านปกาเกอะญอ
    เตรียมด้ายทอผ้า
    หินลาดใน  จ. เชียงราย

    ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ถั่วเน่า

    อาหารและเครื่องปรุงหลัก
    ของคนไต(ไทใหญ่)
    จ.แม่ฮ่องสอน

     ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ผู้หญิง

    โผล่ว(กะเหรี่ยงโปว์)
    บ้านไล่โว่ 
    อ.สังขละบุรี
    จ. กาญจนบุรี

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   บุญ

    ประเพณีบุญข้าวใหม่
    ชาวโผล่ว    ต. ไล่โว่
    อ.สังขละบุรี  จ.กาญจนบุรี

    ภาพโดยศรยุทธ  เอี่ยมเอื้อยุทธ

  •   ปอยส่างลอง แม่ฮ่องสอน

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ปอยส่างลอง

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดย เบญจพล  วรรณถนอม
  •   อลอง

    จากพุทธประวัติ เจ้าชายสิทธัตถะ
    ทรงละทิ้งทรัพย์ศฤงคารเข้าสู่
    ร่มกาสาวพัสตร์เพื่อแสวงหา
    มรรคผลนิพพาน


    ภาพโดย  ดอกรัก  พยัคศรี

  •   สามเณร

    จากส่างลองสู่สามเณร
    บวชเรียนพระธรรมภาคฤดูร้อน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   พระพาราละแข่ง วัดหัวเวียง จ. แม่ฮ่องสอน

    หล่อจำลองจาก “พระมหามุนี” 
    ณ เมืองมัณฑะเลย์ ประเทศพม่า
    ชาวแม่ฮ่องสอนถือว่าเป็นพระพุทธรูป
    คู่บ้านคู่เมืององค์หนึ่ง

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม

  •   เมตตา

    จิตรกรรมพุทธประวัติศิลปะไต
    วัดจองคำ-จองกลาง
    จ. แม่ฮ่องสอน
  •   วัดจองคำ-จองกลาง จ. แม่ฮ่องสอน


    เสมือนสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรม
    เมืองไตแม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ใส

    ม้งวัยเยาว์ ณ บ้านกิ่วกาญจน์
    ต. ริมโขง อ. เชียงของ
    จ. เชียงราย
  •   ยิ้ม

    แม้ชาวเลจะประสบปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัย
    พื้นที่ทำประมง  แต่ด้วยความหวัง....
    ทำให้วันนี้ยังยิ้มได้

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ผสมผสาน

    อาภรณ์ผสานผสมระหว่างผ้าทอปกาเกอญอกับเสื้อยืดจากสังคมเมือง
    บ้านแม่ลาน้อย จ. แม่ฮ่องสอน
    ภาพโดย อาทิตย์ ทองดุศรี
  •   เกาะหลีเป๊ะ จ. สตูล

    แผนที่ในเกาะหลีเป๊ะ 
    ถิ่นเดิมของชาวเลที่ ณ วันนี้
    ถูกโอบล้อมด้วยรีสอร์ทการท่องเที่ยว
  •   ตะวันรุ่งที่ไล่โว่ จ. กาญจนบุรี

    ไล่โว่ หรือที่แปลเป็นภาษาไทยว่า ผาหินแดง เป็นชุมชนคนโผล่งที่แวดล้อมด้วยขุนเขาและผืนป่า 
    อาณาเขตของตำบลไล่โว่เป็นส่วนหนึ่งของป่าทุ่งใหญ่นเรศวรแถบอำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี 

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   การแข่งขันยิงหน้าไม้ของอาข่า

    การแข่งขันยิงหน้าไม้ในเทศกาลโล้ชิงช้าของอาข่า ในวันที่ 13 กันยายน 2554 ที่บ้านสามแยกอีก้อ อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย
 
  Princess Maha Chakri Sirindhorn Anthropology Centre
Ethnic Groups Research Database
Sorted by date | title

   Record

 
Subject มันนิ มานิ กอย คะนัง(ซาไก),สุขภาพ, ความเจ็บป่วย, การรักษา, วิถีชีวิต, สมุนไพร, ยะลา
Author วีรวัฒน์ สุขวราห์
Title พฤติกรรมสุขภาพของชาวซาไก : กรณีศึกษาบ้านซาไก หมู่ที่ 3 ตำบลบ้านแหร อำเภอธารโต จังหวัดยะลา
Document Type วิทยานิพนธ์ Original Language of Text ภาษาไทย
Ethnic Identity มานิ มานิค โอรังอัสลี อัสลี จาไฮ, Language and Linguistic Affiliations ออสโตรเอเชียติก(Austroasiatic)
Location of
Documents
หอสมุดมหาวิทยาลัยมหิดล, ห้องสมุดศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
(เอกสารฉบับเต็ม)
Total Pages 205 Year 2539
Source หลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวัฒนธรรมศึกษา บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล
Abstract

พฤติกรรมสุขภาพของซาไก ตำบลบ้านแหร อำเภอธารโต จ.ยะลา เป็นผลมาจากปัจจัยแวดล้อมต่างๆ ทั้งสภาพภูมิศาสตร์ สภาพสังคมเศรษฐกิจและวัฒนธรรม รวมถึงได้รับอิทธิพลจากกลุ่มสังคมภายนอก เมื่อรูปแบบวิถีชีวิตในสังคมเร่ร่อนหาอาหารเพื่อยังชีพแบบดั้งเดิมของซาไกเปลี่ยนแปลงไป ความเชื่อเกี่ยวกับการดูแลรักษาสุขภาพแต่เดิมที่มักเชื่อในอำนาจการกระทำของผี ส่งผลต่อวิธีการรักษา เช่น การใช้เวทมนตร์คาถาเสกหมากพลู หรือที่เรียกว่าทำ "ซาโฮส" การบอกกล่าวขอขมาลาโทษต่อผีเมื่อประสบเหตุ เป็นที่น่าสังเกตว่า สังคมแบบเร่ร่อนทำให้ซาไกเรียนรู้ที่จะสั่งสมสืบทอดภูมิปัญญาองค์ความรู้ ที่เกี่ยวกับการใช้ยาสมุนไพรต่างๆ ในการรักษาโรคและใช้เพื่อคุมกำเนิด แต่เมื่อเศรษฐกิจและสังคมเปลี่ยนแปลง ซาไกได้รับการจัดสรรที่ดินจากทางการให้เข้ามาตั้งหลักแหล่งถาวรในหมู่บ้าน มีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการยังชีพด้วยการรับจ้างกรีดยางและถางป่าแลกเปลี่ยนเงินตรา เมื่อซาไกได้รับอิทธิพลทางสังคมวัฒนธรรมและรูปแบบวิถีชีวิตจากชุมชนไทยพุทธและไทยมุสลิม ก็เริ่มปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดูแลสุขอนามัยส่วนบุคคล เพื่อให้เกิดการยอมรับจากกลุ่มสังคมในชุมชนใกล้เคียง ซาไกเริ่มหันมาดูแลเอาใจใส่ทำความสะอาดร่างกายและเสื้อผ้า รู้จักใช้ยาแผนปัจจุบันควบคู่ไปกับการรักษาด้วยวิธีการดั้งเดิมเมื่อเจ็บป่วย รวมถึงการเข้าถึงบริการจากสาธารณสุขภาครัฐ หญิงซาไกหันมาฝากครรภ์และทำคลอดที่โรงพยาบาล ทั้งยังได้รับคำแนะนำในการใช้ยาเม็ดคุมกำเนิด และยารักษาโรคแผนปัจจุบันจากเจ้าหน้าที่สาธารณสุขของทางการ

Focus

ศึกษาพฤติกรรมของประชากรซาไกที่บ้านซาไก หมู่ที่ 3 ตำบลบ้านแหร อำเภอธารโต จังหวัดยะลา ในการดูแลสุขภาพตามความรู้ดั้งเดิมและการบำบัดรักษาด้วยวิธีการรักษาแผนใหม่ รวมถึงปัจจัยที่ส่งผลต่อพฤติกรรมการดูแลสุขภาพของตนเอง

Theoretical Issues

พฤติกรรมสุขภาพของซาไกเป็นผลมาจากปัจจัยแวดล้อมต่าง ๆ เช่น สภาพภูมิศาสตร์ สังคม เศรษฐกิจ วัฒนธรรม รวมทั้งอิทธิพลทางวัฒนธรรมไทยพุทธและไทยมุสลิม และอิทธิพลทางระบบบริการสาธารณสุขของรัฐ (หน้า 27)

Ethnic Group in the Focus

ศึกษาซาไกที่อยู่ทางภาคใต้ของไทย ในประเทศมาเลเซียและอินโดนีเซีย ซึ่งถูกจัดอยู่ในกลุ่มเนกริโต (Negrito) เป็นกลุ่มย่อยเชื้อชาติเนกรอยด์ (Negroids) มีชื่อเรียกหลายชื่อ เช่น "เงาะ" หรือ "ชาวป่า" เรียกโดยคนไทยทั่วไปและคนไทยในแถบพัทลุง สงขลา ตรัง สตูล ส่วนนักวิชาการและนักภาษาศาสตร์เรียก "ซาไก" (Sakai) ซึ่งในภาษามาเลย์กลางเรียกว่า "โอรัง อัสลี" (Orang Asli) แต่ซาไกมักเรียกตัวเองว่า "มันนิ" และชอบให้คนเรียกตนว่า "โอรัง อัสลี" ซึ่งแปลว่า "คนดั้งเดิม เจ้าของถิ่นเดิม หรือคนพื้นเมือง" ไม่ชอบให้คนเรียกว่า "ซาไก" หรือ "ซาแก" ที่แปลว่าป่าเถื่อน (หน้า 12) ซาไกเรียกคนไทยว่า "ซีแยม" และเรียกคนมาเลเซียว่า "ออกแกนายู" (หน้า 109) โดยในการศึกษาครั้งนี้ ผู้วิจัยเน้นศึกษากลุ่มประชากรซาไก ต.บ้านแหร อ.ธารโต จ.ยะลา (หน้า 37)

Language and Linguistic Affiliations

ภาษาซาไกจัดอยู่ในตระกูลภาษาออสโตรเอเชียติก กลุ่มย่อยอัสเลียน (Aslian Language) โดยอิงจากคำภาษามลายูซึ่งเรียกซาไกว่า "โอรัง อัสลี" (Orang Asli) (หน้า 47) ภาษามีแต่ภาษาพูด ไม่มีตัวอักษรใช้ (หน้า 16) คำศัพท์เกี่ยวกับอาการเจ็บป่วยของซาไก เช่น ท้องเสีย เรียก "เบอยุ" มาเลเรีย เรียก "กัมปิล" หัวแตก เรียก "กุยบากะ" ปวดบวม เรียก "กะแมงโซม" ตับแข็ง เรียก "แบกอลกะเดาะ" ชรา เรียก "บิดกกามิส" พิษสุราเรื้อรัง เรียก "เบอกะตา" โรคหวัด เรียก "ซัมแป" วัณโรค เรียก "จะโตมะฮึม" อีสุกอีใส เรียก "แบเตะ" ตกเลือด เรียก "กลาโบะ" อาเจียน เรียก "เกอะ" ปวดเมื่อย เรียก "ปาฮสอิซิ " เป็นต้น (หน้า 170)

Study Period (Data Collection)

ไม่ระบุ

History of the Group and Community

ประวัติหมู่บ้านซาไก หมู่ที่ 3 ตำบลบ้านแหร อำเภอธารโต จ.ยะลา เดิมมีชื่อว่า บ้านจาเราะมีรา อยู่ในตำบลแมหวาด อำเภอบันนังสตา จ.ยะลา เมื่อปี พ.ศ. 2518 ทางราชการได้แบ่งพื้นที่ด้านตะวันตกมาตั้งเป็นกิ่งอำเภอธารโต ต่อมาจึงได้ยกฐานะขึ้นเป็นอำเภอ แต่เดิมพื้นที่นี้มีประชากรไทยมุสลิมอาศัยอยู่ไม่มากนัก ในปี พ.ศ. 2506 นิคมธารโตได้จัดสรรที่ทำกินและอพยพซาไกมาอยู่ด้วย หมู่บ้านนี้จึงได้ชื่อว่า "บ้านซาไก" ครั้งนั้นมีจำนวนซาไกอยู่ 60 คน และมีไทยมุสลิม 1 ครัวเรือน ต่อมาราษฎรไทยพุทธและไทยมุสลิมต่างก็อพยพเข้ามาอาศัยอยู่มากขึ้น เนื่องจากในช่วงปี พ.ศ. 2516-2521 บริเวณพื้นที่ของอำเภอเบตงและกิ่งอำเภอธารโต จ. ยะลา มีปัญหาการก่อการร้ายจากกลุ่มโจรจีนคอมมิวนิสต์ เพื่อความสะดวกในการปราบปราม ทางการจึงได้จัดให้ราษฎรมาอยู่รวมกันในพื้นที่ฝั่งเนินเขาตรงข้ามกับที่อยู่ของซาไก เมื่อมีราษฎรเข้ามาอยู่อาศัยที่ "บ้านซาไก" เพิ่มขึ้น เจ้าหน้าที่ตำรวจตระเวนชายแดนก็ได้จัดสรรพื้นที่ให้เป็นที่อยู่อาศัยครัวเรือนละ 1 แปลง แต่ละแปลงปลูกบ้านหันหน้าเข้าหาถนน ในปี พ.ศ. 2525 มีไฟฟ้าเข้าสู่หมู่บ้านทั้งฝั่งที่อยู่ของมันนิและฝั่งที่อยู่ของไทยพุทธและไทยมุสลิม ฝั่งที่เป็นที่อยู่ของมันนิมีการสร้างถังเก็บน้ำฝน 4 ถัง ปัจจุบันในพื้นที่มีราษฎรทั้งหมด 115 ครัวเรือน เป็นไทยมุสลิมร้อยละ 70 ไทยพุทธร้อยละ 30 บริเวณที่เป็นบ้านมันนิมีมันนิอยู่ 12 ครัวเรือน (หน้า 34-35)

Settlement Pattern

รูปแบบการตั้งถิ่นฐานของซาไก ชุมชนบ้านซาไกตั้งบ้านเรือนบริเวณไหล่เขาหรือบริเวณที่ราบแอ่งกระทะที่มีเนินเขาขนาบ มีลำธารเล็ก ๆ ไหลตามร่องกลางระหว่างเนินเขา ลำธารมีน้ำไหลตลอดปี (หน้า 32-33) ซาไกนิยมสร้างเพิงแบบหมาแหงน ซึ่งเรียกว่า "เติง" หรือ "ทับ" โดยจะก่อไฟไว้ข้างที่นอนหรือหน้าทับ หากเป็นครอบครัวสามีภรรยาจะก่อไฟไว้ระหว่างที่นอน ใช้หุงต้มอาหาร ให้แสงสว่างและไล่ยุง ไม่ปล่อยให้ดับ เนื่องจากซาไกเป็นชนเผ่าที่นิยมอพยพเร่ร่อน จึงมักอาศัยอยู่ในที่ที่มีอาหารสมบูรณ์ตามธรรมชาติประมาณ 10-15 วัน แล้วอพยพโยกย้ายทำเลไปในที่แห่งใหม่ หากถูกรบกวนจากคนและสัตว์ หรือมีคนตายก็จะอพยพจากที่เดิม ในการอพยพผู้ที่เป็นหัวหน้าจะแบกสัมภาระหนักกว่าคนอื่นเดินนำขบวน ตามด้วยผู้ชาย เด็กและผู้หญิง มีชายอีกกลุ่มเดินตามหลังขบวน โดยทุกคนในกลุ่มจะช่วยกันขนสัมภาระและถือคบไฟไปด้วย (หน้า 17-18) ลักษณะที่อยู่อาศัยของซาไกที่ทางการสร้างให้ ตั้งเป็นวงกลม แต่ละหลังหันหน้าเข้าหาศูนย์กลาง กระจายอยู่ในเนื้อที่ 2 ไร่ กลางลานบ้านมีถังเก็บน้ำฝน 4 ถังและส้วมของหมู่บ้าน 3 ห้อง รวมถึงพิพิธภัณฑ์ของซาไก ที่อยู่อาศัยของซาไกมี 2 ลักษณะคือ แบบแรกเป็นบ้านยกพื้น 8 หลัง ในบ้านมีห้องนอนห้องเดียว พื้นและฝาใช้ไม้กระดาน มีชานบ้าน ปัจจุบันทุกหลังต่อระเบียงออกมาด้านข้างใช้เป็นครัว และเป็นที่เก็บอุปกรณ์เครื่องมือเครื่องใช้ต่าง ๆ แบบที่สองเป็นบ้านแบบคร่อมดิน มี 4 หลังลักษณะเป็นเพิงหลังคาจั่วคร่อมดิน พื้นบ้านเป็นดินที่ปรับให้เรียบเสมอกัน ใช้หญ้าและสังกะสีมุงหลังคา ผนังกั้นไม้ไผ่ ตัวบ้านมีห้องเดียว (หน้า 41-42) ปัจจุบันบ้านของซาไกมีลักษณะเหมือนบ้านชาวบ้านทั่วไป แต่สภาพป่าไม่สมบูรณ์เหมือนแต่ก่อน สัตว์ป่าที่เคยมีเริ่มลดน้อยลงไป เมื่อถนนหนทางได้รับการพัฒนา ไฟฟ้าเข้าถึง มีสะพานคอนกรีตและร้านขายของถึง 4 ร้าน ก่ออิฐโบกปูนเป็นเรือนถาวร (หน้า 54)

Demography

ปกติประชากรมีซาไกอยู่รวมกันเป็นกลุ่มเล็กๆ กลุ่มละประมาณ 10 - 20 คน สมาชิกในกลุ่มมีไม่เกิน 50 คน เกี่ยวเนื่องกับการหาอาหาร หากรวมตัวกันเป็นกลุ่มใหญ่จำนวนสมาชิกมาก อาหารอาจไม่เพียงพอสำหรับทุกคน การรวมกลุ่มของซาไกเป็นกลุ่มเล็ก ๆ เป็นอิสระต่อกัน แต่ละกลุ่มจะไปมาหาสู่กันเพื่อเยี่ยมกลุ่มอื่นกันทั้งกลุ่ม หรือมีสมาชิกกลุ่มอื่นเดินทางมาเยี่ยม (หน้า 20) จากการสำรวจประชากรเฉพาะในหมู่บ้านซาไก แบ่งได้เป็น 3 กลุ่มคือ ไทยพุทธ ไทยมุสลิมและกลุ่มซาไก กลุ่มคนไทยที่นับถือศาสนาพุทธ มีจำนวน 19 ครัวเรือน มีประชากรจำนวนทั้งสิ้น 56 คน กลุ่มคนไทยมุสลิม มีจำนวน 8 ครัวเรือน มีประชากรรวมกัน 30 คน กลุ่มซาไกพื้นเมืองดั้งเดิม ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายของการศึกษานี้พบว่า ประชากรซาไกที่บ้านซาไก หมู่ที่ 3 ตำบลบ้านแหร อำเภอธารโต จังหวัดยะลา มีจำนวนทั้งสิ้น 12 ครัวเรือน มีจำนวนประชากร 52 คน เป็นชาย 30 คน หญิง 22 คน กลุ่มประชากรในช่วงอายุไม่เกิน 12 ปีมีถึง 25 คน คิดเป็นร้อยละ 52 ของประชากรทั้งหมด เป็นที่น่าสังเกตว่า ประชากรซาไกมีอัตราการเกิดค่อนข้างสูง ซาไกส่วนใหญ่เสียชีวิตตั้งแต่ยังไม่เข้าสู่วัยชรา สาเหตุการตายที่สำคัญคือ เป็นไข้ปวดหัวตัวร้อน มีจำนวนสูงถึง 19 คน สาเหตุการตายจากโรคชรามีเพศหญิงเพียงคนเดียว (หน้า 36-38, 40)

Economy

ในอดีต ซาไกส่วนใหญ่หาเลี้ยงชีพด้วยการขุดหาหัวเผือก หัวมันทราย เก็บพืชผักผลไม้ที่มีอยู่ตามธรรมชาติ และล่าสัตว์จำพวก นก หมูป่า เม่น ลิง ค่าง เก้ง ด้วย "บอเลา" (กระบอกไม้ซาง) และ "บิลา" (ลูกดอก) ซาไกจะออกหาอาหารเมื่อหมดลง แต่ไม่รู้จักสะสมไว้รับประทาน หากหาอาหารได้มากเช่นล่าสัตว์ใหญ่ได้ ก็จะนำมาแบ่งกัน (หน้า 19) สำหรับโครงสร้างพื้นฐานในหมู่บ้านซาไก ปัจจุบัน มีไฟฟ้าใช้ทุกครัวเรือน บางครัวเรือนมีวิทยุใช้ มีโทรทัศน์เพียงครัวเรือนเดียว หมู่บ้านไม่มีน้ำประปาใช้ อาศัยรองน้ำฝนไว้ในถังเก็บน้ำคอนกรีตขนาดใหญ่ที่ทางการสร้างไว้ จึงมีน้ำฝนใช้ตลอดปี หมู่บ้านมีโทรศัพท์สาธารณะตั้งอยู่บริเวณปากทางแยกเข้าหมู่บ้านชุมชนบ้านแหร ริมถนนหลวง (หน้า 31) ซาไกส่วนใหญ่ไม่รู้จักการเพาะปลูก ต้องซื้อข้าวสารรับประทาน ไม่นิยมปลูกพืชผักสวนครัวหรือเลี้ยงสัตว์ไว้เป็นอาหารหรือเพื่อจำหน่าย ซาไกส่วนใหญ่มีฐานะค่อนข้างยากจน อาชีพหลักคือการหาของป่าจำพวก น้ำผึ้ง ไม้กฤษณา และเก็บหาสมุนไพรจากป่ามาขายในตัวเมืองยะลา ซึ่งก็ขายได้ราคาดี นอกจากนี้ ยังมีการรับจ้างถางป่าและกรีดยางตามฤดูกาล ฤดูยางผลัดใบ กรีดยางไม่ได้ก็จะออกรับจ้างถางป่า เมื่อใบยางแก่ก็หยุดถางป่าออกกรีดยาง มีรายได้เฉลี่ยจากการถางป่าและกรีดยางตกเดือนละ 1,000-1,500 บาท ไม่แน่นอน คิดรายได้เฉลี่ยต่อปีตกครอบครัวละ 7,000-10,000 บาท มีซาไกเพียง 2-3 ครอบครัวที่เลี้ยงไก่ไว้เป็นอาหาร ซาไกบางครอบครัวรู้จักปลูกผลไม้จำพวกเงาะ ลางสาด ทุเรียน ลองก็อง ในฤดูฝนซาไกเข้าป่าหรือออกไปรับจ้างไม่ได้ จึงต้องอยู่อย่างยากลำบาก (หน้า 52-53, 62) เมื่อทางการกำหนดให้ซาไกอยู่เป็นหลักแหล่ง ทำให้ต้องปรับตัวจากสังคมการเก็บหาของป่าและล่าสัตว์เพื่อยังชีพแบบเดิม มาสู่สังคมเงินตรา มีการผลิตเพื่อให้ได้เงินมาใช้สอยในรูปแบบของการรับจ้างเป็นหลัก เช่น รับจ้างกรีดยาง และหาของป่า การเปลี่ยนแปลงในระบบการผลิตทำให้ซาไกต้องถูกเอารัดเอาเปรียบ และได้รับผลตอบแทนต่ำกว่าที่ควรเป็น ทั้งยังส่งผลต่อสุขภาพอนามัยทั้งทางบวกและทางลบอีกด้วย (หน้า 130-131)

Social Organization

การแต่งงาน ระบบครอบครัวและเครือญาติ ครอบครัวซาไกเป็นระบบผัวเดียวเมียเดียว ถือฝ่ายสามีเป็นใหญ่ (หน้า 16, 42) หัวหน้าครอบครัวมีบทบาทหน้าที่สำคัญในการสร้างที่อยู่อาศัย ดูแลสมาชิกในครอบครัว รวมถึงการออกล่าสัตว์ หาของป่า รับจ้างต่าง ๆ ภรรยามีหน้าที่ในการเลี้ยงดูลูกและเก็บหาอาหารบริเวณใกล้ ๆ เก็บออมเงินของครอบครัว มักเป็นฝ่ายรับฟังเมื่อสามีมาปรึกษา หากลูกโตแล้วภรรยาก็จะออกไปช่วยงานสามี ลูกที่โตพอมีบทบาทในการช่วยงานพ่อแม่ในวันที่โรงเรียนหยุด ซาไกมีการนับกลุ่มเครือญาติที่ลำดับสายถึงบรรพบุรุษได้ (หน้า 45-46) เนื่องจากระบบเครือญาติมีสมาชิกไม่มาก (หน้า 42) การนับลำดับชั้นเครือญาติของซาไกแบ่งได้เป็น 5 รุ่นดังนี้คือ ชั้นปู่ย่าตายาย ชั้นพ่อแม่ ชั้นตนเอง ชั้นลูกและชั้นหลาน (หน้า 44) ซาไกนิยมแต่งงานเมื่ออายุได้ 14-15 ปี หากสองฝ่ายชอบพอกัน พ่อแม่ผู้ปกครองจะไปเจรจาสู่ขอฝ่ายหญิงโดยไม่มีของหมั้น พอตกลงนัดหมายวันได้ก็จะจัดพิธีแต่งงานขึ้นที่ลานบ้าน โดยต่างฝ่ายจะยกขบวนกันมา พ่อแม่จะสั่งสอนคู่บ่าวสาวแล้วให้หมอประจำเผ่าประกอบพิธีให้ หลังจากนั้น จะมีการกินเลี้ยง ร้องรำทำเพลง ฝ่ายเจ้าบ่าวต้องสร้างเรือนหอสำหรับครอบครัวใหม่และเป็นฝ่ายจัดหาสุราอาหารเตรียมไว้เลี้ยงเพื่อนบ้าน หนุ่มสาวซาไกส่วนใหญ่นิยมแต่งงานกับคนในหมู่บ้านเดียวกัน มีข้อห้ามการแต่งงานกันภายในกลุ่มเครือญาติใกล้ชิด หากไม่มีหญิงสาวในกลุ่ม ชายซาไกต้องออกเดินทางไปหาหญิงต่างกลุ่มมาเป็นภรรยา ในปัจจุบันซาไกบางคนได้แต่งงานกับชาวบ้านซึ่งเป็นไทยพุทธ (หน้า 43) กลุ่มทางสังคมของซาไกมักเดินทางไปมาหาสู่กันทั้งกลุ่ม หรือให้สมาชิกชาย 2-3 คนเดินทางไปเยี่ยมซาไกกลุ่มอื่น ๆ แขกที่มาเยี่ยมจะพักอาศัยอยู่ 2 -3 วัน โดยต้องออกหาอาหารกินกันเอง หรือออกไปล่าสัตว์ร่วมกัน การไปมาหาสู่กันนี้ ถือเป็นโอกาสที่หนุ่มสาวต่างกลุ่มจะได้พบปะทำความรู้จักกัน หากเกิดความพึงพอใจก็อาจนำไปสู่การแต่งงานได้ (หน้า 20) ซาไกมีคำเรียกลำดับชั้นในเครือญาติ เช่น ผู้ชายหรือสามีจะเรียกแทนตัวเองว่า "กะซึย" ผู้หญิงหรือภรรยาจะเรียกแทนตัวเองว่า "กันเย" พ่อเรียก "เอ้ย" แม่เรียกว่า "นะ" ลูกสาวเรียก "ว็องมาแบ" ลูกชาย เรียก "ว็องดำกัลป์" หลานสาว เรียก "จูเจาะบาแม" พี่ชายน้องชายของพ่อแม่เรียกว่า "โต๊ย" เป็นต้น (หน้า 45) ความสัมพันธ์ภายในกลุ่มซาไก ประชากรในกลุ่มซาไก 52 คน คิดเป็น 12 ครัวเรือนมีความสัมพันธ์กันอย่างเหนียวแน่น มักช่วยเหลือเกื้อกูล เอื้อเฟื้อแบ่งปันกัน ทุกครอบครัวต่างมีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิดไม่แบ่งแยก (หน้า 49-50) ส่วนความสัมพันธ์กับชุมชนเพื่อนบ้านอย่างไทยพุทธและไทยมุสลิมที่ตั้งอยู่อีกฟากหนึ่งของสันเขา ดูจะเป็นความสัมพันธ์ระหว่างผู้มีอารยธรรมสูงกว่ากับอารยธรรมด้อยกว่า ซาไกจะให้ความเกรงใจไทยพุทธและมุสลิม มักไม่ค่อยไปมาหาสู่ ยกเว้นจำเป็นต้องไปซื้อข้าวของเครื่องใช้ เมื่อจะไปหาเพื่อนฝูงที่เป็นไทยพุทธและมุสลิมก็มักไม่กล้าเข้าบ้าน แม้จะได้รับการเชื้อเชิญ ให้ความเมตตา แบ่งปันอาหารและสิ่งของอย่างสนิทสนมเป็นกันเอง เมื่อจะว่าจ้างก็มีการว่าจ้างในราคายุติธรรม ซาไกมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับไทยพุทธมากกว่าไทยมุสลิม เพราะกินหมูและดื่มสุราเหมือนกัน (หน้า 49-50)

Political Organization

สำหรับความสัมพันธ์กับทางการในอดีตมีน้อยมากหรืออาจแทบไม่มีเลย จนเมื่อปี พ.ศ. 2506 ทางการได้จัดสร้างนิคมธารโตและเริ่มจัดสรรที่อยู่ที่ทำกินให้ซาไก โดยในปี พ.ศ. 2516 ทางราชการได้กำหนดบริเวณให้ซาไกอยู่เป็นหลักแหล่ง ปี พ.ศ. 2520 ราชการได้จัดการสร้างที่อยู่อาศัยให้ ปัจจุบันซาไกกลุ่มบ้านธารโตได้รับอนุมัติให้มีสัญชาติไทยตามโครงการของจังหวัดยะลา ในปัจจุบันประชากรซาไก หมู่ที่ 3 ตำบลบ้านแหร อำเภอธารโต จ.ยะลา มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านและได้รับบัตรประจำตัวประชาชน (หน้า 50-51) การปกครองกันภายในกลุ่ม ซาไกมีหัวหน้ากลุ่มเป็นชายอาวุโสที่ได้รับการยอมรับให้เป็นหัวหน้ากลุ่ม มีการปกครองแบบพ่อปกครองลูกใช้แบบแผนประเพณีเป็นกฎเกณฑ์ การเป็นหัวหน้ากลุ่มไม่สืบทอดกันทางสายเลือด เมื่อหัวหน้ากลุ่มคนเก่าเสียชีวิตลง ก็จะเลือกผู้อาวุโสที่มีคุณสมบัติและชาวบ้านยอมรับนับถือขึ้นมาเป็นหัวหน้าคนใหม่ (หน้า 46)

Belief System

ในอดีตซาไกส่วนใหญ่มีความเชื่อดั้งเดิมเรื่องผี ซาไกจำแนกผีเป็น 3 จำพวกคือ 1) ผีชั้นสูงเป็นเจ้าของทุกสรรพสิ่งตามธรรมชาติในป่า เช่น แม่น้ำลำธาร ผืนดิน พืช สัตว์ ซาไกเรียกว่า "โต๊ะปาวั่ง" ก่อนจะใช้พื้นที่หรือทรัพยากรธรรมชาติ หาของป่าล่าสัตว์ก็มักจะขอโต๊ะปาวั่งก่อน เพราะหากไม่ปฏิบัติตามอาจถูกลงโทษในรูปแบบต่าง ๆ 2) ผีพวกที่สองคือผีชั้นต่ำ มักเป็นอันตราย เช่น "ซาเราะกาเฮิบ" เป็นผีป่าที่เที่ยวหลอกหลอนคน อาจเข้าสิงให้สติฟั่นเฟือนหรือทำให้เป็นโรคได้ เช่น "โรม" เป็นเจตภูตมักออกจากร่างเวลานอนหลับ "ญา" เป็นวิญญาณที่ออกจากร่างคนตาย "เซมังงัด" เป็นผีพรายที่ผู้มีวิชาอาคมนิยมเรียกมาใช้เสกทำน้ำมันเสน่ห์ 3) ผีกลุ่มสุดท้ายเป็นชั้นต่ำสุด เช่น วิญญาณสัตว์ล่างที่เข้าสิงคนได้ เช่น หมูป่า หมี เม่น เก้งเรียกกันว่า "บาดี" ผู้ถูกสิงจะแสดงอาการคล้ายสัตว์ประเภทนั้นและอาจถูกสัตว์นั้นทำร้ายถึงตายได้ ในปัจจุบัน ซาไกหันมานับถือศาสนาพุทธ โดยให้เหตุผลว่านับถือตามสมเด็จย่า ที่เป็นผู้ประทานนามสกุลศรีธารโตให้ซาไกในหมู่บ้าน (หน้า 47-48) พิธีกรรมในการทำศพ ซาไกในปัจจุบันจัดให้ศพนอนตะแคงเข่างอเกือบถึงคาง ซึ่งลักษณะการจัดศพเช่นนี้ คล้ายกับสมัยหินเก่าตอนปลาย และสมัยหินกลาง (หน้า 15)

Education and Socialization

แต่เดิมซาไกไม่ได้รับการศึกษาในระบบ แต่เมื่อปี พ.ศ. 2518 ทางการได้จัดสร้างโรงเรียนขึ้นในหมู่บ้าน ทำให้เด็ก ๆ ในหมู่บ้านซาไกมีโอกาสศึกษาเล่าเรียน จำนวนซาไกชายหญิงทุกวัยรวมกันได้ 52 คน เป็นชาย 30 คน หญิง 22 คน จำนวนผู้ที่ไม่ได้รับการศึกษาทั้งสิ้น 20 คน ผู้ที่ได้รับการศึกษาในระดับประถม 30 คน ระดับมัธยม 2 คน การศึกษาขั้นสูงสุดชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 มีจำนวน 1 คน จำนวนเด็กในวัยเรียนที่กำลังศึกษา 15 คนอายุระหว่าง 7-12 ปี (หน้า 49)

Health and Medicine

สุขภาพที่ดีในความคิดของชุมชนซาไกคือ การกินได้นอนหลับ ไม่เจ็บไข้ได้ป่วยทั้งทางร่างกายและจิตใจ การเจ็บป่วยในความหมายของซาไกคือ เมื่อเกิดอาการทางกาย ปวดเมื่อยตามตัว ครั่นเนื้อครั่นตัว กินไม่ได้นอนไม่หลับ ปวดศีรษะ (หน้า 57) ลักษณะการเจ็บป่วยที่พบในชุมชนทั้งในเด็กและผู้ใหญ่คือ เป็นไข้ ปวดหัว ตัวร้อน โรคหวัด มาเลเรีย วัณโรค ปวดท้อง ท้องเสีย เสียสติ แข้งขาหัก ปวดบวม ตับแข็ง ไอเจ็บคอและโรคที่ทำให้เสียชีวิตเฉียบพลันอย่างอหิวาตกโรค ซึ่งเคยพบเมื่อประมาณ 30-40 ปีก่อน (หน้า 58) การรักษาพยาบาลเมื่อเกิดอาการเจ็บป่วย มีทั้งการบอกกล่าวต่อผีที่คิดว่าเป็นต้นเหตุ การใช้ยาสมุนไพร การใช้เวทมนต์คาถา และการรักษาแผนปัจจุบัน (หน้า 67) ซาไกมักเชื่อว่าโรคเกิดขึ้นจากอำนาจการกระทำของ "ผี" มิใช่เพราะเชื้อโรคหรืออุบัติเหตุผีที่สามารถทำให้คนเกิดความเจ็บป่วยได้ เรียกว่า "โต๊ะปาวั่ง" หากปฏิบัติต่อผีอย่างถูกต้องก็จะไม่เจ็บไข้ได้ป่วยและไม่เกิดอันตราย หากจะใช้ทรัพยากรธรรมชาติในป่าก็ต้องบอกกล่าวเสียก่อน เมื่อรู้สึกไม่สบายซาไกมักให้หมอประจำกลุ่มช่วยวินิจฉัยอาการ ซึ่งมักเชื่อว่า เกิดจากการกระทำของผี หมอประจำกลุ่มมี 2 คนคือหมอหญิงเป็นผู้ทำคลอด หมอชายรักษาโรคทั่วไป (หน้า 20-21) หากลักษณะอาการความเจ็บป่วย เกิดจากอำนาจผีก็ต้องบอกกล่าวขอขมาลาโทษ หากมีอาการปวดท้อง ปวดศีรษะก็จะรักษาด้วยเวทมนต์คาถาหรือทำ "ซาโฮส" คือ การเสกคาถาเคี้ยวหมากพลูพ่นในบริเวณที่ปวด หมอซาไก"บอมอ" จะใช้หมากพลู 4 คำมาเคี้ยวให้แหลก เสกคาถาว่า "ปะลัก เอว อะเน็ต" พ่นลงบนอวัยวะที่เจ็บปวด ทำเช่นนี้ 3 ครั้ง หมากพลูแต่ละคำมีความหมายถึงผู้ศักดิ์สิทธิ์ เช่น "กาเฮิบ" หมากคำแรกหมายถึง ผู้ศักดิ์สิทธิ์แห่งป่า "กาเยาะติเอะ" หมากคำที่สี่หมายถึง ผู้ศักดิ์สิทธิ์แห่งแผ่นดิน (หน้า 68) ซาไกในปัจจุบันได้รับความรู้สมัยใหม่จากสังคมภายนอกเพิ่มขึ้น ความคิดความเชื่อที่เกี่ยวกับความเจ็บป่วย จึงเป็นแบบผสมผสานระหว่างความเชื่อดั้งเดิมกับความรู้สมัยใหม่จากชุมชนไทยพุทธและไทยมุสลิม รวมถึงครูและพนักงานสาธารณสุขชุมชน กล่าวคือ เชื่อกันว่าโรคเกิดจากการกระทำของผีและความเจ็บไข้เกิดจากเชื้อโรค อย่างไรก็ตาม ข้อมูลที่ได้จากการวิจัยพบว่า ความเชื่อเกี่ยวกับอำนาจการกระทำของผียังมีอยู่อย่างเหนียวแน่น (หน้า 58-62) ซาไกมีวิธีการวินิจฉัยโรคและอาการเจ็บป่วยทางกาย จากประสบการณ์ที่ได้รับการถ่ายทอดจากบรรพบุรุษ (หน้า 61) อาการความเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นตามฤดูกาลเช่น โรคท้องร่วงที่พบมากในช่วงฤดูร้อน โรคติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจหรือหวัด พบมากในช่วงฤดูฝน และมีจำนวนผู้ป่วยมากกว่าโรคอื่น รองลงมาคือท้องเสียและปวดเมื่อย (หน้า 62, 63) จากการจัดแบ่งความรุนแรงของโรคและอาการความเจ็บป่วย ซาไกให้ความสำคัญกับอหิวาตกโรค วัณโรคและอาการทางจิตมากที่สุด (หน้า 66) การรักษาด้วยสมุนไพร ยาสมุนไพรที่ซาไกนำมาใช้รักษาโรคมีหลายขนาน เช่น "ฮ่ำ" "ยายเอ็ง" เป็นยาคุมกำเนิดสำหรับสตรีนิยมให้รับประทานหลังคลอดขณะอยู่ไฟ ช่วยให้เลือดที่ค้างหลังคลอดถูกขับออกมาได้ง่าย (หน้า 69) "กาเลาะ" เป็นยาขับเลือดหรือขับน้ำคาวปลาสำหรับหญิงหลังคลอด "กะจิติเมาะ" เป็นยาบำรุงสำหรับสตรี ช่วยให้มดลูกเข้าอู่เร็วขึ้น "มูตุส" เป็นยาคุมกำเนิดถาวรสำหรับสตรี "ยังออล" เป็นยาที่ช่วยให้มีลูก " อันจง " เป็นยาช่วยให้คลอดง่าย "ตังยันเยา" ช่วยให้มีน้ำนมมาก "มะฮึ่ม" เป็นยาแก้ประจำเดือนไม่ปกติ นอกจากนี้ ยังมียารักษาโรคทั่วไป เช่น "ซูตง" เป็นยาแก้ปวดบั้นเอว "บักกุกะเฮิบ" เป็นยาแก้โรคหอบหืด "อะเวยกูญิด" เป็นยารักษาโรคไข้เหลือง "กรีไว" เป็นยาแก้ท้องเสีย แก้ระดูขาว ไส้เลื่อน ริดสีดวงทวาร กระเพาะอักเสบ "เบอยั่น" เป็นยาแก้โรคลมพิษ "ตูโยะลางิ" เป็นยาแก้ไข้มาเลเรีย "สะดาง" เป็นยาแก้ไข้หวัด ไซนัส "กาลัง" เป็นยารักษาโรคนิ่ว เป็นต้น (หน้า 70-73) การรักษาโรคแผนปัจจุบัน มักเป็นทางเลือกสุดท้ายของซาไก ทั้งคนรุ่นใหม่และซาไกผู้ใหญ่ที่ไม่ได้เรียน พวกเขาจะไปหาพนักงานสาธารณสุขชุมชน บอกเล่าอาการให้ฟังแล้วหมอก็จะจ่ายยาให้ หรือช่วยนำส่งโรงพยาบาลประจำอำเภอ หากหมอไม่อยู่ก็มักซื้อยาจากร้านขายของชำมารับประทาน อย่างไรก็ดี ซาไกยังเชื่อมั่นในภูมิปัญญาดั้งเดิมของเขาอยู่มาก แม้จะทานยาแผนปัจจุบันก็ยังใช้ยาสมุนไพรไปด้วย พฤติกรรมการรักษาจึงเป็นแบบผสมผสาน (หน้า 74) สำหรับวิธีฟื้นฟูสุขภาพมักใช้วิธีง่าย ๆ เช่น นอนพักผ่อนไม่ทำงานหนัก รับประทานอาหารให้อิ่ม (หน้า 75) ระบบบริการสาธารณสุขของรัฐภายในหมู่บ้านซาไก ตั้งอยู่ฝั่งชุมชนไทยพุทธและมุสลิม มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมด้านสุขภาพของซาไกมาก เป็นที่น่าสังเกตว่า ซาไกมักมาขอยาแก้หวัด ยาแก้ท้องเสีย ยาแก้ปวดและยาคุมกำเนิดไปรับประทาน ก่อนหน้าจะมาขอยาก็ใช้วิธีรักษาแบบดั้งเดิมคือทำซาโฮสมาแล้ว โรคพิษสุราเรื้อรังเป็นโรคที่พบมากในผู้ใหญ่ สำหรับพฤติกรรมด้านสุขอนามัยของซาไก พบว่า แต่ก่อนซาไกไม่แปรงฟันและไม่อาบน้ำ แต่เมื่อได้รับคำแนะนำก็เริ่มพัฒนาปรับเปลี่ยนพฤติกรรมกันมากขึ้น สำหรับโรงพยาบาลมีที่อำเภอธารโตและโรงพยาบาลจังหวัดยะลา ซาไกจะไปใช้บริการเมื่อต้องการฝากครรภ์และทำคลอดที่โรงพยาบาลอำเภอธารโต หรือในกรณีที่มีผู้ป่วยอาการหนัก ไม่สามารถรักษาด้วยวิธีการพื้นบ้านได้แล้ว พนักงานสาธารณสุขชุมชน หรือครูต้องเป็นผู้พาไป (หน้า 88-90) ระบบสุขาภิบาลในชุมชนซาไก ในชุมชนมีถังเก็บน้ำถึง 4 ถังไว้ใช้อุปโภคบริโภคตลอดปี และมีการกำจัดขยะมูลฝอยโดยการเผา ไม่ได้ฝังกลบ ปัจจุบันซาไก 12 ครัวเรือน มีส้วมใช้ และมีส้วมส่วนกลางของชุมชนอีก 3 ห้อง ปลูกแยกจากตัวบ้าน (หน้า 54-55) ความเชื่อด้านสุขภาพหลังคลอด หญิงซาไกจะปฏิบัติตามคำสอนที่สืบทอดกันมา เช่น ไม่รับประทานกับข้าวอื่นนอกจากปลาหลังเขียว 45 วัน ไม่รับประทานกล้วยหอมและกล้วยทุกชนิด เชื่อว่าจะทำให้ตัวเย็น อาจทำให้ชักและถึงตายได้ นอกจากนี้ยังห้ามรับประทานไข่และขนมเพราะเชื่อว่าจะทำให้แผลหายช้า หญิงหลังคลอดต้องอยู่ไฟเป็นเวลา 15 วันเชื่อว่าจะทำให้มดลูกเข้าอู่เร็ว มีการเอากระดูกชะนีมาแขวนคอ และเอาหัวไพลมาผูกสะเอว เชื่อว่าจะทำให้เด็กทารกไม่เป็นพยาธิและไม่เจ็บไข้ได้ป่วย เป็นต้น (หน้า 79)

Art and Crafts (including Clothing Costume)

เครื่องนุ่งห่มของซาไก แต่เดิมซาไกใช้ใบไม้ เปลือกไม้หรือตะไคร่น้ำปกปิดร่างกายท่อนล่าง เปลือยท่อนบนทั้งชายหญิง มีข้อมูลบันทึกไว้ว่า ซาไกนุ่งใบชิงที่ตัดเป็นสามเหลี่ยม โดยนำมาพับเสียบไว้กับเชือกหวาย มัดติดกับเอวด้านหน้าผ่านมาเหน็บ ไว้ที่บั้นเอวด้านหลัง ท่อนบนเปลือยเปล่า (หน้า 18) จากคำบอกเล่าพบว่า ซาไกบางคนนำเสื้อผ้ามาฉีกเป็นผืนเล็ก นุ่งปล่อยชายปิดท่อนล่าง บางคนนุ่งคาบหว่างขา หญิงซาไกนุ่งผ้าถุงอย่างหญิงชาวบ้านทั่วไป บ้างสวมเสื้อ บ้างก็ไม่สวม ชายนิยมนุ่งผ้าขาวม้า เปลือยส่วนบน ส่วนเด็ก ๆไม่ใส่เสื้อผ้าเลย ในปัจจุบัน ซาไกรู้จักนุ่งห่มแต่ไม่รู้จักใช้เสื้อผ้า บางทีก็ใช้เสื้อที่สวมอยู่ทำเชื้อเพลิงแทนฟืนผิงไฟ บางครั้งก็นำผ้าห่มที่ชาวบ้าน ให้ไปทำเชื้อเพลิงหรือแขวนตามต้นไม้ ไม่รู้จักทำความสะอาดเสื้อผ้าใช้จนกว่าจะขาดจึงเปลี่ยน (หน้า 19) กิจกรรมนันทนาการ ซาไกมีกิจกรรมยามว่างจากการเก็บของป่าล่าสัตว์และรับจ้าง คืองานศิลปหัตถกรรม เช่น สานกระสอบใบเล็ก ๆ ทำหวีไม่ไผ่ ทำกระบอกไม้ซางจากไม้ไผ่ (บอเลา) และหาก้านปาล์ม "เทา" มาทำลูกดอก (บิลา) ซาไกรู้จักการแกะสลักลวดลายต่าง ๆ บนผิวไม้ไผ่ เช่น รูปทรงเรขาคณิต (หน้า 108) กิจกรรมอีกรูปแบบหนึ่งของซาไกคือ การเล่านิทานเกี่ยวกับสัตว์อย่างเกินจริง รวมถึงการเล่าความฝันแปลกพิสดาร มีการนั่งล้อมวงเล่าเรื่องและให้ผู้ฟังมีส่วนร่วม สอดแทรกรายละเอียดลงไปในเรื่องเล่านั้น นอกจากนี้ยังมีการเล่นดนตรี ทำเครื่องดนตรีจากไม้ไผ่ เคาะให้จังหวะหรือดีด มักนิยมร้องรำทำเพลงกันในวันที่ล่าสัตว์ใหญ่มาได้ รูปแบบการร้องเพลงเต้นตามจังหวะในวัฒนธรรมซาไก เป็นการนั่งล้อมรอบกองไฟ ผู้ชายที่เป็นนักดนตรีจะบรรเลง เคาะ ดีด ปรบมือ โยกตัว ลุกขึ้นเต้น นักร้องจะอยู่ในกระโจมแล้วโผล่หน้าออกมาร้องเพลง ทำนองเพลงซาไกส่วนใหญ่มีท่วงทำนองคล้าย "ดิเกฮูลู" เมื่อร้องจบ นักร้องจะออกจากกระโจมมานั่งร่วมวงกับคนอื่น วันที่มีการเลี้ยงฉลองก็จะร้องรำทำเพลงกันจนดึก ปัจจุบันสภาพการพัฒนาได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบเดิม ๆ ของกิจกรรมไปจนหมด ซาไกหันมาฟังวิทยุ ดูทีวีแทน สิ่งประดิษฐ์ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์จากภูมิปัญญาดั้งเดิม เช่น บิลา บอเลา กระสอบสาน หวีไม้ไผ่ ก็ขาดผู้สืบทอด เด็กรุ่นใหม่ไม่สามารถทำและเล่นเครื่องดนตรีแบบเดิมได้อีก ส่วนผู้ชายก็ออกเที่ยวกับเพื่อนที่เป็นไทยพุทธเพิ่มขึ้น (หน้า 108-110, 131)

Folklore

ในอดีตซาไกมีกิจกรรมการเล่าเรื่อง เล่านิทานให้กันฟัง เรื่องที่นำมาเล่ามักมีโครงเรื่องเดิมเพียงแต่เปลี่ยนรายละเอียดให้แตกต่างจากเดิม เช่น เรื่องนกเป็ดน้ำ เรื่องเสือหัวโต การเล่าเรื่องจะเปิดให้ผู้ฟังสอดแทรกรายละเอียด เล่าเรื่องที่ตนรู้ผสมโรงไปด้วยได้ง่าย เด็ก ๆ เรียกร้องให้เล่าเรื่องเสือหัวโต ซึ่งมักจบเรื่องหรือลงท้ายว่า เสือถูกมันนิ (ซาไก) ฆ่าด้วยบิลา (หน้า 109)

Ethnicity (Ethnic Identity, Boundaries and Ethnic Relation)

ลักษณะเด่นภายนอกด้านชาติพันธุ์ของซาไกคือ ซาไกมีผิวดำ ตัวเล็ก และมีเส้นผมสีดำดกหนา หยิกฟูเป็นฝอย ขมวดติดหนังศีรษะ แต่ก่อนซาไกไม่รู้จักสระผมตัดผมและเป็นเหาทุกคน มักมีเศษใบไม้แห้งเกาะผม พวกผู้หญิงจะมีหวีไม้ไผ่ทำใช้เองเสียบไว้ (หน้า 12, 101) ลักษณะเด่นที่บ่งบอกถึงตัวตนกลุ่มชาติพันธุ์ซาไก คือ เป็นกลุ่มที่รักความเป็นอิสระ และค่อนข้างกลัวคนแปลกหน้า ไม่ชอบให้มีคนแปลกหน้าไปในบริเวณที่อยู่อาศัย แต่จะไปมาหาสู่ติดต่อกับชาวบ้านเอง หากมีคนแปลกหน้ามาถึงที่อยู่อาศัย หรือมาพูดจาขอลูก ก็จะอพยพหนีไปหาที่อยู่ใหม่ เพราะรู้สึกสูญเสียความเป็นส่วนตัวและเกิดความเครียด เอกลักษณ์อีกประการหนึ่งของซาไก ที่ส่งผลต่อการดูแลรักษาสุขภาพทางอ้อม คือ เมื่อจะอพยพย้ายถิ่น ซาไกมักใช้ขี้เถ้าทาตัวทาหน้าเป็นผลมาจากความเชื่อเรื่องอำนาจของผีว่าจะทำให้ผีจำและตามไปทำร้ายหลอกหลอนไม่ได้ การใช้ขี้เถ้าทาตัวนี้ยังเป็นการป้องกันโรคผิวหนังอีกด้วย (หน้า 85-86)

Social Cultural and Identity Change

จากผลการศึกษาพบว่า ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมสุขภาพของซาไกอย่างมากคือ วัฒนธรรมและกลุ่มสังคม ชุมชนข้างเคียงหมู่บ้านซาไกเป็นไทยพุทธและไทยมุสลิม ไทยพุทธเป็นกลุ่มที่ได้รับการศึกษาสูงกว่าการศึกษาภาคบังคับ ในขณะที่ไทยมุสลิมนิยมให้บุตรหลานเล่าเรียนเพียงในระดับการศึกษาภาคบังคับ แต่ก็นับเป็นกลุ่มที่มีอำนาจสูงในชุมชน ไทยพุทธและไทยมุสลิมถือกันว่า เป็นกลุ่มที่มีการรักษาสุขภาพสูงกว่ามันนิและ เคยได้เรียนรู้พฤติกรรมสุขภาพสมัยใหม่มาก่อน เมื่อกลุ่มซาไกเข้าไปมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมและวัฒนธรรมกับไทยพุทธและไทยมุสลิม ก็เกิดการรับวัฒนธรรมมาเปลี่ยนแปลงตัวเอง โดยเฉพาะด้านสุขอนามัยส่วนบุคคล เช่น เมื่ออยู่ในชุมชนมันนิพวกผู้ชายไม่นิยมสวมเสื้อ แต่เมื่อมาฝั่งไทยพุทธและไทยมุสลิมจะหาเสื้อมาใส่ ส่วนผู้หญิงก็จะเปลี่ยนมาใส่เสื้อตัวที่ดูดีกว่า เริ่มหันมาดูแลสุขภาพอนามัยส่วนบุคคลเพิ่มขึ้น จากเดิมซาไกไม่ค่อยอาบน้ำ ซักล้างเสื้อผ้า สระผม ตัดผมหรือใช้สบู่ แต่เมื่อเข้ามาอยู่ในสังคมไทยพุทธและไทยมุสลิม ก็จะถูกไล่ให้ไปทำความสะอาดร่างกายก่อน ส่วนเด็ก ๆ ที่เป็นเหา เพื่อน ๆ ก็ไม่ให้เล่นด้วย ซาไกในปัจจุบันจึงรู้จักดูแลสุขอนามัยส่วนบุคคลได้ไม่ต่างจากไทยพุทธและไทยมุสลิมในชุมชนใกล้เคียง (หน้า 80-81) นอกจากอิทธิพลจากการรักษาสุขอนามัยส่วนบุคคลแล้ว ซาไกยังได้รับอิทธิพลด้านการรักษาโรคโดยใช้ยาแผนปัจจุบัน อาทิ การใช้ยาแก้หวัด และยาเม็ดคุมกำเนิดซึ่งแม่บ้านไทยพุทธนิยมใช้ ซึ่งหญิงซาไกได้รับอิทธิพลหันมานิยม ทั้ง ๆ ที่ภูมิปัญญาดั้งเดิมเกี่ยวกับการคุมกำเนิดโดยใช้ยาสมุนไพร ส่วนอิทธิพลด้านสังคมและวัฒนธรรมที่กลับส่งผลต่อสุขภาพของซาไกในทางลบ เช่น การที่ซาไกได้รับการชักชวนจากกลุ่มไทยพุทธให้ดื่มสุรา และชักชวนไปเที่ยวหญิงโสเภณีในเมือง ผลการตรวจเลือดซาไกที่ตำบลบ้านแหร อำเภอธารโต จังหวัดยะลา พบว่ามีชายซาไกติดเชื้อเอชไอวี 1 ราย (หน้า 82)

Critic Issues

ไม่มีข้อมูล

Other Issues

ไม่มี

Map/Illustration

แผนภาพ ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมการดูแลสุขภาพด้วยตนเอง (หน้า 7) แผนภูมิ รูปแบบความเชื่อด้านสุขภาพที่ใช้ทำนายพฤติกรรมการป้องกันโรค (หน้า 24) แผนภาพ กรอบแนวคิดในการวิจัยพฤติกรรมสุขภาพของซาไก (หน้า 27) ตารางที่ 1 แสดงช่วงอายุของซาไก (หน้า 38) ตารางที่ 2 แสดงอัตราการเกิดเมื่อปี 2523 - 2538 (หน้า 39) ตารางที่ 3 แสดงอัตราการตายตามสาเหตุแยกตามเพศ (หน้า 40) ตารางที่ 4 แสดงระดับการศึกษาแยกตามเพศ (หน้า 49) ตารางที่ 5 แสดงการจัดระดับความรุนแรงของโรคและอาการความเจ็บป่วย (หน้า 65) ตารางที่ 6 แสดงความต้องการในการนอนหลับของคนวัยต่าง ๆ (หน้า 105) ตารางที่ 7 แสดงการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันตามวัยต่าง ๆ (หน้า 118) ภาคผนวกที่ 1 แผนที่-แผนผังที่เกี่ยวข้อง (หน้า148-151) ภาคผนวกที่ 2 รายชื่อประชากรของซาไกแยกตามครอบครัว (หน้า 152-169) ภาคผนวกที่ 3 ชื่อโรคที่พบในชุมชนซาไก (หน้า 170) ภาคผนวกที่ 4 ภาพยาสมุนไพรของซาไก (หน้า 171-174) ภาคผนวกที่ 5 ภาพวิถีชีวิตของซาไกปัจจุบัน (หน้า 176-182) ภาคผนวกที่ 6 ภาพวิถีชีวิตของซาไกในอดีต (หน้า 184-205)

Text Analyst ศมน ศรีทับทิม Date of Report 30 มิ.ย 2560
TAG มันนิ มานิ กอย คะนัง(ซาไก), สุขภาพ, ความเจ็บป่วย, การรักษา, วิถีชีวิต, สมุนไพร, ยะลา, Translator -
 
 

 

ฐานข้อมูลอื่นๆของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
  ฐานข้อมูลพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทย
จารึกในประเทศไทย
จดหมายเหตุทางมานุษยวิทยา
แหล่งโบราณคดีที่สำคัญในประเทศไทย
หนังสือเก่าชาวสยาม
ข่าวมานุษยวิทยา
ICH Learning Resources
ฐานข้อมูลเอกสารโบราณภูมิภาคตะวันตกในประเทศไทย
ฐานข้อมูลประเพณีท้องถิ่นในประเทศไทย
ฐานข้อมูลสังคม - วัฒนธรรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  หน้าหลัก
งานวิจัยชาติพันธุ์ในประเทศไทย
บทความชาติพันธุ์
ข่าวชาติพันธุ์
เครือข่ายชาติพันธุ์
เกี่ยวกับเรา
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  ข้อมูลโครงการ
ทีมงาน
ติดต่อเรา
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
ช่วยเหลือ
  กฏกติกาและมารยาท
แบบสอบถาม
คำถามที่พบบ่อย


ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) เลขที่ 20 ถนนบรมราชชนนี เขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ 10170 
Tel. +66 2 8809429 | Fax. +66 2 8809332 | E-mail. webmaster@sac.or.th 
สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2549    |   เงื่อนไขและข้อตกลง