สมัครสมาชิก   
| |
ค้นหาข้อมูล
ค้นหาแบบละเอียด
  •   ความเป็นมาและหลักเหตุผล

    เพื่อรวบรวมงานวิจัยทางชาติพันธุ์ที่มีคุณภาพมาสกัดสาระสำคัญในเชิงมานุษยวิทยาและเผยแผ่สาระงานวิจัยแก่นักวิชาการ นักศึกษานักเรียนและผู้สนใจให้เข้าถึงงานวิจัยทางชาติพันธุ์ได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น

  •   ฐานข้อมูลจำแนกกลุ่มชาติพันธุ์ตามชื่อเรียกที่คนในใช้เรียกตนเอง ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้ คือ

    1. ชื่อเรียกที่ “คนอื่น” ใช้มักเป็นชื่อที่มีนัยในทางเหยียดหยาม ทำให้สมาชิกกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ รู้สึกไม่ดี อยากจะใช้ชื่อที่เรียกตนเองมากกว่า ซึ่งคณะทำงานมองว่าน่าจะเป็น “สิทธิพื้นฐาน” ของการเป็นมนุษย์

    2. ชื่อเรียกชาติพันธุ์ของตนเองมีความชัดเจนว่าหมายถึงใคร มีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมอย่างไร และตั้งถิ่นฐานอยู่แห่งใดมากกว่าชื่อที่คนอื่นเรียก ซึ่งมักจะมีความหมายเลื่อนลอย ไม่แน่ชัดว่าหมายถึงใคร 

     

    ภาพ-เยาวชนปกาเกอะญอ บ้านมอวาคี จ.เชียงใหม่

  •  

    จากการรวบรวมงานวิจัยในฐานข้อมูลและหลักการจำแนกชื่อเรียกชาติพันธุ์ที่คนในใช้เรียกตนเอง พบว่า ประเทศไทยมีกลุ่มชาติพันธุ์มากกว่า 62 กลุ่ม


    ภาพ-สุภาษิตปกาเกอะญอ
  •   การจำแนกกลุ่มชนมีลักษณะพิเศษกว่าการจำแนกสรรพสิ่งอื่นๆ

    เพราะกลุ่มชนต่างๆ มีความรู้สึกนึกคิดและภาษาที่จะแสดงออกมาได้ว่า “คิดหรือรู้สึกว่าตัวเองเป็นใคร” ซึ่งการจำแนกตนเองนี้ อาจแตกต่างไปจากที่คนนอกจำแนกให้ ในการศึกษาเรื่องนี้นักมานุษยวิทยาจึงต้องเพิ่มมุมมองเรื่องจิตสำนึกและชื่อเรียกตัวเองของคนในกลุ่มชาติพันธุ์ 

    ภาพ-สลากย้อม งานบุญของยอง จ.ลำพูน
  •   มโนทัศน์ความหมายกลุ่มชาติพันธุ์มีการเปลี่ยนแปลงในช่วงเวลาต่างๆ กัน

    ในช่วงทศวรรษของ 2490-2510 ในสาขาวิชามานุษยวิทยา “กลุ่มชาติพันธุ์” คือ กลุ่มชนที่มีวัฒนธรรมเฉพาะแตกต่างจากกลุ่มชนอื่นๆ ซึ่งมักจะเป็นการกำหนดในเชิงวัตถุวิสัย โดยนักมานุษยวิทยาซึ่งสนใจในเรื่องมนุษย์และวัฒนธรรม

    แต่ความหมายของ “กลุ่มชาติพันธุ์” ในช่วงหลังทศวรรษ 
    2510 ได้เน้นไปที่จิตสำนึกในการจำแนกชาติพันธุ์บนพื้นฐานของความแตกต่างทางวัฒนธรรมโดยตัวสมาชิกชาติพันธุ์แต่ละกลุ่มเป็นสำคัญ... (อ่านเพิ่มใน เกี่ยวกับโครงการ/คู่มือการใช้)


    ภาพ-หาดราไวย์ จ.ภูเก็ต บ้านของอูรักลาโว้ย
  •   สนุก

    วิชาคอมพิวเตอร์ของนักเรียน
    ปกาเกอะญอ  อ. แม่ลาน้อย
    จ. แม่ฮ่องสอน


    ภาพโดย อาทิตย์    ทองดุศรี

  •   ข้าวไร่

    ผลิตผลจากไร่หมุนเวียน
    ของชาวโผล่ว (กะเหรี่ยงโปว์)   
    ต. ไล่โว่    อ.สังขละบุรี  
    จ. กาญจนบุรี

  •   ด้าย

    แม่บ้านปกาเกอะญอ
    เตรียมด้ายทอผ้า
    หินลาดใน  จ. เชียงราย

    ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ถั่วเน่า

    อาหารและเครื่องปรุงหลัก
    ของคนไต(ไทใหญ่)
    จ.แม่ฮ่องสอน

     ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ผู้หญิง

    โผล่ว(กะเหรี่ยงโปว์)
    บ้านไล่โว่ 
    อ.สังขละบุรี
    จ. กาญจนบุรี

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   บุญ

    ประเพณีบุญข้าวใหม่
    ชาวโผล่ว    ต. ไล่โว่
    อ.สังขละบุรี  จ.กาญจนบุรี

    ภาพโดยศรยุทธ  เอี่ยมเอื้อยุทธ

  •   ปอยส่างลอง แม่ฮ่องสอน

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ปอยส่างลอง

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดย เบญจพล  วรรณถนอม
  •   อลอง

    จากพุทธประวัติ เจ้าชายสิทธัตถะ
    ทรงละทิ้งทรัพย์ศฤงคารเข้าสู่
    ร่มกาสาวพัสตร์เพื่อแสวงหา
    มรรคผลนิพพาน


    ภาพโดย  ดอกรัก  พยัคศรี

  •   สามเณร

    จากส่างลองสู่สามเณร
    บวชเรียนพระธรรมภาคฤดูร้อน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   พระพาราละแข่ง วัดหัวเวียง จ. แม่ฮ่องสอน

    หล่อจำลองจาก “พระมหามุนี” 
    ณ เมืองมัณฑะเลย์ ประเทศพม่า
    ชาวแม่ฮ่องสอนถือว่าเป็นพระพุทธรูป
    คู่บ้านคู่เมืององค์หนึ่ง

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม

  •   เมตตา

    จิตรกรรมพุทธประวัติศิลปะไต
    วัดจองคำ-จองกลาง
    จ. แม่ฮ่องสอน
  •   วัดจองคำ-จองกลาง จ. แม่ฮ่องสอน


    เสมือนสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรม
    เมืองไตแม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ใส

    ม้งวัยเยาว์ ณ บ้านกิ่วกาญจน์
    ต. ริมโขง อ. เชียงของ
    จ. เชียงราย
  •   ยิ้ม

    แม้ชาวเลจะประสบปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัย
    พื้นที่ทำประมง  แต่ด้วยความหวัง....
    ทำให้วันนี้ยังยิ้มได้

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ผสมผสาน

    อาภรณ์ผสานผสมระหว่างผ้าทอปกาเกอญอกับเสื้อยืดจากสังคมเมือง
    บ้านแม่ลาน้อย จ. แม่ฮ่องสอน
    ภาพโดย อาทิตย์ ทองดุศรี
  •   เกาะหลีเป๊ะ จ. สตูล

    แผนที่ในเกาะหลีเป๊ะ 
    ถิ่นเดิมของชาวเลที่ ณ วันนี้
    ถูกโอบล้อมด้วยรีสอร์ทการท่องเที่ยว
  •   ตะวันรุ่งที่ไล่โว่ จ. กาญจนบุรี

    ไล่โว่ หรือที่แปลเป็นภาษาไทยว่า ผาหินแดง เป็นชุมชนคนโผล่งที่แวดล้อมด้วยขุนเขาและผืนป่า 
    อาณาเขตของตำบลไล่โว่เป็นส่วนหนึ่งของป่าทุ่งใหญ่นเรศวรแถบอำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี 

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   การแข่งขันยิงหน้าไม้ของอาข่า

    การแข่งขันยิงหน้าไม้ในเทศกาลโล้ชิงช้าของอาข่า ในวันที่ 13 กันยายน 2554 ที่บ้านสามแยกอีก้อ อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย
 
  Princess Maha Chakri Sirindhorn Anthropology Centre
Ethnic Groups Research Database
Sorted by date | title

   Record

 
Subject มันนิ มานิ กอย คะนัง(ซาไก),วิถีชีวิต,ความเชื่อ,ภาษา,วัฒนธรรม,สมุนไพร,การแพทย์แผนโบราณ,ภาคใต้
Author วันเฉลิม จันทรากุล
Title เงาะป่า-ซาไก นิเชาเมืองไทย ชนป่าที่กำลังสูญสลาย
Document Type หนังสือ Original Language of Text ภาษาไทย
Ethnic Identity มานิ มานิค โอรังอัสลี อัสลี จาไฮ, Language and Linguistic Affiliations ออสโตรเอเชียติก(Austroasiatic)
Location of
Documents
ห้องสมุดศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร Total Pages 200 Year 2544
Source บริษัทดวงกมลสมัย กรุงเทพฯ
Abstract

วิถีชีวิตของชนเผ่าซาไกมีรูปแบบเฉพาะตัว อีกทั้งยังมีรายละเอียดปลีกย่อยด้านวัฒนธรรม อาทิ ความเชื่อเกี่ยวกับภูติผีวิญญาณและการเชื่อถือโชคลาง ขนบประเพณี และคติความเชื่ออันเกี่ยวโยงกับค่านิยมอันเป็นเครื่องกำหนดวิถีปฏิบัติสืบต่อกันมา อาทิ ค่านิยมการครองพรหมจรรย์ก่อนแต่งงาน การให้ความสำคัญกับเท้ามากกว่าศีรษะ พิธีกรรมการขอขมาวิญญาณสัตว์ที่ตนล่า การเลือกที่ตั้งและการสร้างที่อยู่อาศัย ซึ่งแสดงถึงความเป็นชนเผ่าที่นิยมเร่ร่อนมากกว่าอยู่ติดที่ ภาษาพูดของชนเผ่า รวมถึงการสั่งสมภูมิปัญญาความรู้เกี่ยวกับการใช้ประโยชน์จากพืชสมุนไพร โดยเฉพาะ ภูมิปัญญาดั้งเดิมของซาไกเกี่ยวกับการวางแผนครอบครัวและจำกัดจำนวนบุตรโดยอาศัยยาสมุนไพรจากธรรมชาติ ความเปลี่ยนแปลงที่ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของซาไก มาจากการมีปฏิสัมพันธ์กับคนเมืองในลักษณะที่ซาไกมักถูกเอารัดเอาเปรียบหรือกลายเป็นเครื่องมือของกลุ่มผลประโยชน์ เป็นสิ่งที่กลืนกินวิถีชีวิตทัศนคติและค่านิยมแบบเดิมของชนเผ่า จากเดิมที่เคยกินอยู่แบบพึ่งพาธรรมชาติอย่างสันโดษเรียบง่าย ก็ต้องปรับตัวต่อความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่เข้ามาเพื่อความอยู่รอด

Focus

เน้นศึกษาวัฒนธรรม ความเชื่อ ความรู้ด้านสมุนไพร ภาษาและวิถีการดำรงชีวิตท่ามกลางสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปของชนเผ่าซาไก

Theoretical Issues

ไม่มี

Ethnic Group in the Focus

พวกที่ถูกเรียกว่าซาไกทางภาคใต้ของไทยถือเป็น "มันนิ" เช่นเดียวกับพวก "เมนริ" "บาตก" และ "ลาโนห์" ในมาเลเซีย จัดอยู่ในกลุ่มนิกริโต กลุ่มย่อยของชาติพันธุ์นิกรอยด์หรือมนุษย์ผิวดำ จากการศึกษาพบว่า ซาไกในประเทศไทยมีอยู่ 4 เผ่าคือ 1. เผ่า "ทองกา" "โหมด" และ "ช่องนิกริโต หรือพวก "แต็นแอ๊น" (ในความหมายของไพบูลย์ ดวงจันทร์) มีถิ่นอาศัยบริเวณจังหวัดพัทลุง ตรัง สตูล 2. เผ่า "ยะไฮย์" มีถิ่นอาศัยอยู่ในอำเภอแว้ง อำเภอสุคิริน จ. นราธิวาส และในบริเวณรัฐเปรัก กลันตันของมาเลเซีย 3. เผ่า "กันซิว" อาศัยอยู่ในจ.ยะลา และรัฐเคดะห์ของมาเลเซีย 4. เผ่า "แตะเด๊ะ" มีถิ่นที่อยู่ในอำเภอระแงะ จ. นราธิวาส นอกจากนี้ยังพบซาไกเผ่า "Kintak" หรือ "Kenta" บริเวณรอยต่อของรัฐเคดะห์ เปรักและอำเภอเบตง จ.ยะลา (หน้า 109-110)

Language and Linguistic Affiliations

ภาษาซาไกมีต้นตระกูลมาจากภาษามอญ-เขมร เป็นภาษาในตระกูลออสโตร-เอเชียติค (Austro-Asiatic) เป็นภาษาคำโดด ไม่มีการเปลี่ยนรูปคำเมื่อนำไปเข้าประโยค ข้อมูลจากหนังสือพระราชนิพนธ์ของรัชกาลที่ 5 เรื่อง เงาะป่า ระบุว่า ภาษาพูดของเงาะป่า เป็นภาษาก็อยแท้ มีคำใช้น้อย หางเสียงคล้ายภาษาอังกฤษและเยอรมัน แต่ไม่ครบทุกสำเนียง มีการใช้ภาษาไทยและมลายูปนค่อนข้างมาก ภาษาของซาไกในประเทศไทยมีอยู่ 4 ภาษาคือ ภาษากันซิว เป็นภาษาซาไกแถบ จ. ยะลา ภาษาแต็นแอ๊น เป็นภาษาซาไกแถบ จ. สตูล พัทลุง ภาษาแตะเต๊ะ เป็นภาษาซาไกแถบ อ.รือเสาะ อ. ระแงะ จ.นราธิวาส ภาษายะฮายย์ เป็นภาษาซาไกในแถบ อ.แว้ง จ. นราธิวาส ระบบเสียงมีเฉพาะหน่วยเสียงสระกับหน่วยเสียงพยัญชนะ ทำนองเสียงสูงต่ำไม่ทำให้ความหมายของคำเปลี่ยนแปลงคำมูลเดิมเมื่อเข้าประโยคก็ใช้ตามนั้น โดยเรียงประธาน-กริยา-กรรม ตามลำดับ ภาษาซาไกไม่มีตัวอักษร มีแต่ภาษาพูด ทำให้มีแนวโน้มว่าภาษาเก่าอาจสูญหายในอนาคต เมื่อซาไกต้องติดต่อกับคนเมืองมากขึ้น ก็มักใช้ภาษามลายู และภาษาไทยเข้ามาปะปน (หน้า 130-132) ตัวอย่างคำศัพท์ในภาษาซาไก อ. ควนโดน จ. สตูล แบ่งได้ตามหมวดหมู่ดังนี้ ลักษณะทางภูมิศาสตร์ เช่น บาเดว หมายถึง น้ำ ปาฌี หมายถึง ทราย (คำยืม) ติเอ๊ะ หมายถึง ดิน ตาฌิก หมายถึง ทะเล (คำยืม) บาแกต หมายถึง แดด บูวะ หมายถึง ลม ปายง,กาเจ๊ะ หมายถึง ดวงจันทร์ กะเฮิบ หมายถึง ป่า ลาแย หมายถึง รุ้งกินน้ำ ฮูยัน หมายถึง ฝน บาตุ๊ หมายถึง ก้อนหิน (คำยืม) อัฌ หมายถึง ห้วย ชนชาติต่าง ๆ เช่น ปาจิน หมายถึง คนจีน ฮาเป๊าะ เฌียม หมายถึง พวกคนไทย มานิ ฌาไก หมายถึง เงาะ ยาวิ หมายถึง คนมลายู อวัยวะต่าง ๆ เช่น โป หมายถึง คิ้ว ป่องแปง หมายถึง แก้ม กานิเอฌ หมายถึง ใจ จัฌ หมายถึง มือ อันเตง หมายถึง หู กุเก๊าะ หมายถึง เล็บ แม็ต หมายถึง ตา, หน้า กุย หมายถึง หัว สัตว์ต่าง ๆ บาฮอย หมายถึง ฟาน, ทราย ปลาโนก หมายถึง กระจง ตาโยก หมายถึง ลิงหางยาว ฌิตัย หมายถึง กระต่าย ปะลิก หมายถึง ค้างคาว เอ๊ะ ยานอง หมายถึง สุนัข ยอจ หมายถึง เสือดาว กาเวา หมายถึง นก เกอยะห หมายถึง ช้าง (คำยืม) มานุก หมายถึง แม่ไก่ ตากุ๊ก หมายถึง แร้ง วาวา หมายถึง เหยี่ยว ตะแก หมายถึง จิ้งจก ตุ๊กแก ยากอบ หมายถึง งู เครือญาติและสรรพนาม เบ๊าะ หมายถึง เธอ เฮ๊ะ หมายถึง เขา (หลายคน) ฮาเป๊าะ แยะ หมายถึง พวกฉัน ยัม หมายถึง เราทั้งหมด โต๊ะ หมายถึง ตา ปะแบ หมายถึง น้อง นะ หมายถึง แม่ เอย หมายถึง พ่อ วองกง หมายถึง เด็กหญิง เงอนะ หมายถึง เพื่อน ส่วนของต้นไม้-ดอกไม้ กะเบอะ หมายถึง ผล (ผลไม้) กะเตอะ หมายถึง เปลือก เอเยฌ หมายถึง รากแก้ว ฮะลิ หมายถึง ใบไม้ ฮะปอง หมายถึง ดอกไม้ นัทกอต หมายถึง ขอนไม้ ละแบะฮ หมายถึง ปล้อง (ไม้ไผ่) เฮาะ หมายถึง กะลา ลิเลียป หมายถึง ต้นไทร ฮะอิท หมายถึง กาฝาก กะลง หมายถึง พลูป่า บะถึง หมายถึง ไผ่ตง ว่านและสมุนไพร ตะดุก เป็นชื่อต้นไม้คล้ายข่า หยวก กินได้ (ชาวบ้านเรียกต้นปุด) กละดิ ชื่อบอนชนิดหนึ่ง ปิน ชื่อต้นไม้ ลำต้นสีแดง ใบสีเขียวใช้ทำยา พังพุง ชื่อต้นไม้สีแดง ใช้ทำยา (ชาวบ้านเรียกลูกจันทร์) ปะเดย พืชใช้ทำยาสำหรับผู้หญิงหลังคลอด จะโก ชื่อไพลใช้กันผี (ชาวบ้านเรียกหัวเปลาะ) วัปเวิป ชื่อต้นไม้ใช้ทำยา พืชผักผลไม้ ปะเฌิต หมายถึง เห็ด บุงคอง หมายถึง ลองกอง กะมัท หมายถึง ลูกเนียง ตัมบัง หมายถึง หน่อไม้ ติมุน หมายถึง แตงกวา ฮันเตา หมายถึง สะตอ ตะเพา หมายถึง มันเทศ ติลา หมายถึง มันสำปะหลัง ตันตง หมายถึง เงาะ ติมุน หมายถึง แตงโม ฌะบัป หมายถึง มะม่วง มังแฮง หมายถึง มะไฟ ยังกัม หมายถึง ระกำ ปะเฌท หมายถึง กล้วยป่า บะเจญ หมายถึง ทุเรียน นอกจากนี้ ยังมีคำศัพท์อีกหลายหมวดหมู่ที่ผู้ศึกษาได้รวบรวมไว้ อาทิ อาหาร ที่อยู่อาศัย เครื่องมือเครื่องใช้ เครื่องแต่งกาย เครื่องประดับ อาวุธ สุขภาพและโรคภัย อารมณ์ความรู้สึก ฯลฯ (หน้า 134-198)

Study Period (Data Collection)

ไม่ระบุ

History of the Group and Community

ไม่มีข้อมูล

Settlement Pattern

จากการสำรวจพบว่า ซาไกเร่ร่อนอยู่ในป่าเทือกเขาบรรทัด จ. พัทลุง - ตรัง ปัจจุบันซาไกสร้างทับเป็นที่อยู่อาศัยอย่างเป็นหลักเป็นแหล่งในป่าลึก บางฤดูยังเร่รอนในป่าสร้างทับชั่วคราว โดยย้ายบริเวณไปเรื่อย ๆ ตามความอุดมสมบูรณ์ของแหล่งอาหาร หลังจากนั้นจะหวนกลับมาตั้งหลักในพื้นที่สร้างทับถาวร จนถึงฤดูเร่ร่อนก็จะอพยพโยกย้ายอีกครั้งหนึ่ง (หน้า 117-118) การเลือกที่ตั้งทับ นิยมเลือกพื้นที่ใกล้แหล่งน้ำ มีลำห้วยเล็ก ๆ ไหลผ่าน มักหลีกเลี่ยงแหล่งน้ำที่ขังเป็นแอ่งที่เรียกว่า "น้ำตาย" ลำห้วยขนาดใหญ่เพราะน้ำไหลแรง อาจมีน้ำป่าไหลหลากหรือท่วมได้ง่าย ทั้งยังหลีกเลี่ยงบริเวณน้ำตกเพราะเสียงดังหนวกหู พื้นที่ต้องมีต้นไม้ใหญ่ปกคลุม มีความลาดเอียงเพื่อไม่ให้เป็นแอ่ง และเป็นแหล่งอาหารที่ค่อนข้างอุดมสมบูรณ์ ใกล้แหล่งไม้ซาง ซึ่งใช้เป็นวัตถุดิบในการทำเครื่องมือล่าสัตว์ ไม่เลือกบริเวณที่โล่งเตียน หรือ บริเวณที่มีจอมปลวกสีคล้ำ เพราะเชื่อว่ามีผีร้ายอาศัยอยู่ อาจทำให้เจ็บป่วยได้ เมื่อเลือกที่ตั้งได้แล้ว ซาไกจะช่วยกันถางพื้นที่ให้โล่งเตียนเป็นบริเวณไม่กว้างนัก แล้วจึงปลูกทับหลังเล็กเรียงกันเป็นวงกลม หันหน้าเข้าสู่จุดศูนย์กลาง พื้นที่ตรงกลางปลูกกระโจมไว้หนึ่งหลัง ซึ่งอาจเทียบได้กับแหล่งสโมสรในปัจจุบัน (หน้า 55, 58) การปลูกสร้างบ้านเรือน ที่อยู่อาศัยของซาไกเรียกว่า ทับ เป็นเพิงเล็กมักสร้างขึ้นอย่างง่าย ๆ ไม่ถาวร ทับแต่ละหลังกว้างประมาณ 1 เมตร ยาว 1.5 เมตร สูง 1.5 เมตร มีเสาหน้าเพียง 2 ต้น ไม่มีเสาหลัง ทำเป็นเพิงหมาแหงน หลังคามุงใบไม้ เช่น ใบตาล ใบเนา ใบหวาย ใบจาก ใบกล้วย ภายในกลุ่มทับ จะมีทับใหญ่ 1 ทับสำหรับหัวหน้าครอบครัวและภรรยาอยู่ได้ 2 -3 คน ทับแต่ละหลังอยู่เพียงหลัง 1 คน แต่ละทับจะมีแคร่นอนทำจากไม้ไผ่กลมขนาดพอนอน การสร้างแคร่ทำได้ 2 แบบคือ แบบยกพื้นด้านหน้าทับด้านหนึ่งวางบนดิน ตอนนอนเท้าจะอยู่สูงกว่าศีรษะ ส่วนอีกแบบเป็นแคร่เตี้ย ๆ ยกพื้นสองด้าน

Demography

การรวมกลุ่มประชากรซาไกในเขตประเทศไทย มักอยู่รวมกันเป็นกลุ่มเล็ก ๆ ประมาณ 7 -15 คน 20 - 30 คน หรืออาจมากถึง 50 - 60 คน มีประชากรรวมกัน 4 กลุ่มประมาณ 200 คน (หน้า 110)

Economy

ซาไกที่อยู่อาศัยแถบเทือกเขาบรรทัด ใน จ.ตรัง พัทลุงและสตูลเดิม นิยมใช้ชีวิตเรียบง่าย หาอาหารพออิ่มท้องในแต่ละมื้อวัน เช่น หาเผือกหามัน ล่าสัตว์มาเป็นอาหาร อาหารหลักของซาไกได้แก่ มันชนิดต่าง ๆ เช่น มันทราย มันตามราก มันเขียว มันโสม มันเสอ เป็นต้น ซาไกในแต่ละพื้นที่ก็นิยมมันแตกต่างกัน เช่น มันนิที่ อ.ควนโดน จ.สตูล นิยมรับประทาน มันทรายเรียกว่า "อาจิ" และนิยมเนื้อปลา เนื้อไก่และนก ไม่นิยมรับประทาน สัตว์ป่าชนิดอื่น การล่าสัตว์ทำเพื่อนำไปจำหน่ายหรือแลกเปลี่ยนเท่านั้น มันนิที่ อ.ปะเหลียน จ. ตรัง นิยมรับประทาน "ตะโก๊บ" หรือ "มันโสม" เพราะมีกลิ่นหอมและมีความเหนียวกว่ามันชนิดอื่น เนื้อสัตว์ที่รับประทาน มีทั้งสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมสัตว์เลื้อยคลาน สัตว์ปีกและสัตว์น้ำ นอกจากนี้ก็มีอาหารที่หาได้ตามฤดูกาล เช่น ผักกูด หน่อไม้ ต้นอ่อน กล้วยป่า เมื่อซาไกติดต่อกับโลกภายนอกมากขึ้น ก็รู้จักรับประทานเนื้อวัว เนื้อควาย แต่ห้ามทานเนื้อหมูเนื่องจากได้รับอิทธิพลจากไทยมุสลิมบริเวณนั้น ทั้งยังไม่ทานไข่ เพราะเชื่อว่ามีพยาธิซึ่งเป็นโทษต่อร่างกาย มันนิมักใช้เวลาส่วนใหญ่ในการหาอาหารขุดมันล่าสัตว์ ซาไกมักไปป่าช่วงเช้า และกลับเข้าที่พักช่วงเที่ยง รับประทานอาหาร 2 มื้อคือ มื้อเที่ยงและมื้อเย็น นิยมแบ่งปันอาหารให้แก่กัน โดยแบ่งส่วนที่ดีให้กับคนอื่นก่อน ที่เหลือตัวเองจึงจะเก็บไว้ เชื่อว่า หากไม่ยอมแบ่งอาหารให้คนอื่น จะเกิดเป็นต้นกะพ้อ ซาไกทานค่อนข้างจุ และกินได้ตลอดเวลาโดยเก็บอาหารไว้ในกระเป๋าเสื้อกระเป๋ากางเกง (หน้า 38, 41-44) บางครั้งซาไกก็ออกรับจ้างถางป่าหรือหาของป่ามาแลกอาหาร แลกข้าวสาร เกลือ และปลาเค็ม ไม่นิยมเบียดเบียนผู้อื่น เมื่อวิถีชีวิตซาไกถูกทำลายลงหลังจากเกิดการรุกรานผืนป่าและต้นน้ำ ซาไกบางกลุ่มต้องออกมาอยู่ร่วมกับคนเมืองมากขึ้นเพื่อความอยู่รอด ซาไกที่ อ.ธารโต จ.ยะลา เข้าไปอยู่ในนิคมสร้างตนเองซึ่งรัฐบาลจัดสรรที่ดินให้คนละ 25 ไร่ ตั้งแต่ พ.ศ. 2520 รับจ้างถางป่า ทำสวน จับสัตว์น้ำไปขายพ่อค้ามีรายได้พอกินไปวัน ๆ หากเป็นหน้าฝนกรีดยางไม่ได้ จะอยู่กันอย่างลำบาก ต้องทานมันสำปะหลังเผาไฟประทังชีวิต ทางราชการพยายามเข้าไปช่วยเหลือ แต่ขาดความรู้ความเข้าใจถึงวิถีชีวิตดั้งเดิมทำให้ประสบปัญหาในการพัฒนา ทั้งยังเพิ่มความลำบากใจให้กับกลุ่มซาไกอีกด้วย จากข้อมูลพบว่า ซาไกมักถูกเอารัดเอาเปรียบจากคนเมือง เช่น ได้รับค่าตอบแทนในการจ้างงานน้อย ถางป่าครึ่งวันกลับได้รับค่าตอบแทนเพียงน้ำปลา 2 ขวด ปลากระป๋อง 2 กระป๋อง การนำของป่ามาขายกลับถูกกดราคา เช่น น้ำผึ้งจากป่าได้ราคาเพียงขวด ละ 50 บาท ลูกสะตอ ลูกเนียงที่แบกมาขายแลกข้าวสารได้เพียง 3-4 กระป๋อง (หน้า 96-97, 99)

Social Organization

การมีครอบครัว สังคมซาไกถือว่า เมื่อชายหญิงอายุย่างเข้า 16-17 ปีถือเป็นหนุ่มสาวเต็มที่พร้อมจะมีคู่ครอง ผู้หญิงซาไกรักษาพรหมจรรย์ไว้ก่อนแต่งงาน และจะถือเป็นการทำผิดประเพณีอย่างร้ายแรง หากล่วงเกินได้เสียก่อนแต่งงาน หากชายใดไปถูกต้องเนื้อตัวฝ่ายหญิง ให้ถือว่าชายผู้นั้นคือสามีของหญิงนั้น ระบบครอบครัวของซาไกยึดถือระบบผัวเดียวเมียเดียวเคร่งครัด ชายหญิงจะมีสามีภรรยาหลายคนพร้อมกันไม่ได้จะแต่งงานใหม่เมื่อสามีหรือภรรยาเดิมเสียชีวิตไป ห้ามแต่งงานกันภายในหมู่เครือญาติ หากชายหญิงรักกัน ผู้ปกครองฝ่ายหญิงจะนัดวันพิธีให้โดยไม่มีการเรียกค่าสินสอดทองหมั้น แต่มีเงื่อนไขว่าฝ่ายชายต้องสร้างทับไว้หนึ่งหลังสำหรับเป็นเรือนหอ ทั้งยังต้องแสดงความสามารถด้วยการออกล่าสัตว์มาเป็นอาหารกินเลี้ยงในพิธีแต่งงาน ในพิธีแต่งงานญาติจะมาทำพิธีพร้อมกันบริเวณลานกว้างหรือในทับ มีหมอผีอัญเชิญวิญญาณเจ้าป่าเจ้าเขามาเป็นพยาน พ่อแม่สองฝ่ายจะให้โอวาทอวยพรคู่บ่าวสาว เมื่อกินเลี้ยงเสร็จ คู่บ่าวสาวจะไปอยู่เรือนหอใหม่ถือเป็นการแยกครอบครัวออกมาอยู่ตามลำพัง หากผู้หญิงในหมู่บ้านไม่มี ฝ่ายชายอาจต้องเดินทางไปหาภรรยาต่างถิ่น ความสัมพันธ์เป็นแบบสามีเป็นช้างเท้าหน้า ภรรยาเป็นช้างเท้าหลัง ไม่ค่อยมีปัญหาทะเลาะวิวาทหรือขัดแย้งรุนแรง แต่จะรักใคร่ปรองดองถนอมน้ำใจกัน ห้ามสามีภรรยามีความสัมพันธ์ทางเพศในทับ เพราะเชื่อว่าผีเจ้าที่จะลงโทษ แต่จะปักอาณาเขตในป่าที่ห่างไกลผู้คน โดยใช้ใบไม้ 1 กำมือเสียบไว้ที่ต้นไม้ในระดับสายตาเรียกว่า "การปักกำ" (หน้า 26-31) นอกจากนี้ข้อห้ามดังกล่าว ยังมีข้อห้ามอันสืบเนื่องมาจากความเชื่อ เช่น ห้ามลูกสะใภ้สนิทสนม มองหน้า พูดจา สนทนาร่วมวง หรือหุงข้าวเผามันให้พ่อสามี ลูกสะใภ้ต้องนั่งหันหลังให้ตลอดเวลา หากนั่งวงเดียวกัน ห้ามนั่งติดกัน หากเจ็บไข้ก็ห้ามช่วยพยาบาล (หน้า 94)

Political Organization

ซาไกบนเทือกเขาบรรทัดเคยต้องเผชิญกับภัยคุกคามจากความขัดแย้งทางลัทธิการเมือง กล่าวคือ เมื่อสมัยเจ้าหน้าที่สู้รบกับผู้ก่อการร้าย มีการโจมตีทั้งทางบกทางอากาศ ซาไกก็พลอยได้รับผลกระทบไปด้วย นอกจากนี้ซาไกที่ อ.ธารโต จ.ยะลายังเคยถูกหลอกไปเข้าร่วมกับกลุ่มโจรจีนคอมมิวนิสต์อีกด้วย ทำให้ต้องอยู่อย่างหวาดระแวงจากสิ่งที่คนอื่นก่อขึ้นมา กลัวการถูกปองร้ายเพราะคิดว่าซาไกเป็นสายให้กับเจ้าหน้าที่ ซ้ำยังถูกรังแกจากคนในหมู่บ้าน โดยปฏิบัติต่อซาไกอย่างไม่เคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ (หน้า 113-115)

Belief System

ความเชื่อเกี่ยวกับผีและวิญญาณ ซาไกยึดถือในขนบประเพณีที่สืบทอดกันมา และมีความเชื่อในอำนาจของภูตผีวิญญาณต่างๆ จากหลักฐานพบว่า ซาไกมีความเชื่อว่า ผีมีอยู่ในที่มืดทุกแห่งจึงมักก่อไฟไว้ในทับตลอดเวลาเพราะกลัวความมืด เมื่อคนเสียชีวิตลงจะหลงเหลือวิญญาณ หรือ "ญา" อยู่ ซึ่งเมื่อออกจากร่างคนตายจะไปหาที่เกิดใหม่ หากเข้าครรภ์ไม่ได้ หรือไม่มีที่เกิดก็อาจเที่ยวหลอกหลอนทำอันตรายคนได้ ส่งผลให้เมื่อมีคนตายและฝังศพเสร็จ ซาไกจะย้ายทับหนีทันที เพราะเชื่อว่าวิญญาณอาจตามมาหลอกหลอนญาติพี่น้อง พิธีฝังศพตามประเพณีปฏิบัติที่สืบต่อกันมา หมอผีจะนำวิญญาณไปสิงสถิตที่ต้นไม้ใหญ่ เวลาฝังศพหมอผีจะเสกหัวไพลเคี้ยวพ่นลงบนศพก่อนฝัง เพราะเชื่อว่าผีกลัวหัวไพลจะได้ไม่ตามมาหลอกหลอน วิญญาณที่ออกจากร่างเวลาคนนอนหลับเรียกว่า "โรบ" นอกจากนี้ ยังมีความเชื่อว่า สัตว์เดินดินหรือ "สัตว์ล่าง" มีรังควานแรง เมื่อยิงตายต้องทำพิธีขอขมาหรือส่งวิญญาณสัตว์ให้ไปเกิด วิญญาณสัตว์ที่ตายไปเรียกว่า "บาดี" หากวิญญาณแรงก็อาจเข้าสิงร่างมนุษย์ ทำให้ผู้นั้นมีอาการเหมือนสัตว์ที่เข้าสิง หากไม่ทำพิธีถอนรังควาน ขอขมาต่อวิญญาณสัตว์นั้น วิญญาณจะสิงร่างผู้ยิง และเมื่อผู้ซึ่งมีกิริยาเหมือนสัตว์วิ่งเข้าป่าไป ก็อาจถูกสัตว์ชนิดเดียวกันทำร้ายจนถึงแก่ชีวิตได้ (หน้า 90-91) ความเชื่อเกี่ยวกับโชคลาง ความฝันและสัญลักษณ์ เมื่อซาไกออกเดินป่า หรือเข้าป่าล่าสัตว์จะห้ามพูดถึงสัตว์ร้าย เพราะเชื่อว่าหากพูดก็อาจพบสัตว์ชนิดนั้น หากเดินสะดุดหกล้มขณะเข้าป่าล่าสัตว์ ห้ามเดินไปทางนั้นต่อ ให้เปลี่ยนทิศทาง ห้ามพูดว่าจะเดินไปทางใด หากเผลอพูดออกมาให้เดินไปทิศอื่น หากเดินไปในทิศที่พูดไว้ เชื่อว่าอาจได้รับอันตรายจากสัตว์หรือภูตผี หากเดินผ่านบริเวณใดแล้วเกิดใจคอสั่น ขนลุกขนพองเชื่อว่าบริเวณนั้นเจ้าที่แรง ห้ามตั้งทับหรือทำร้ายสัตว์ หากมีคนเอ่ยปากขอลูกคนใด เชื่อว่า เป็นลางตายกับลูกคนนั้น ส่วนความเชื่อเรื่องความฝัน หากฝันว่าถูกสัตว์ทำร้าย เป็นลางร้าย หากฝันว่ายิงสัตว์ได้มากเป็นลางดี หากเป็นชายฝันว่าล่าหมูจะได้ภรรยา หากหญิงฝันว่ามีคนนำเขี้ยวเล็บเสือมาให้ เชื่อว่าจะมีสามี นอกจากนี้ ยังมีสิ่งแสดงถึงสัญลักษณ์บางอย่าง เช่น การปักกำ หมายถึง บริเวณนั้นห้ามเข้าเพราะคู่สามีภรรยากำลังมีบทรักอยู่ ใบไก่เถื่อน หมายถึง การพาหนี หวีประดับผม หมายถึง หญิงสาวบริสุทธิ์ ยังไม่ได้แต่งงาน หญิงที่แต่งงานแล้วจะไม่ใช้หวีประดับผม ดอกฮาปอง หมายถึง ผู้หญิง ดอกจำปูน หมายถึง ผู้ชาย เล็บมือ หมายถึง กล้าหาญ ต่อสู้ หรือความดุร้าย (หน้า 92-94) พิธีศพ ซาไกมักฝังศพผู้ตายไปพร้อมกับแคร่ ไม่ตั้งศพนานเกินข้ามคืน การห่อศพ ศพจะถูกจัดให้นอนตะแคงหันศีรษะไปทางทิศเดิม พับศพแค่เข่าให้ส้นเท้าอยู่ที่สะโพก ใช้เสื้อผ้าผู้ตายห่อศพมิดชิด แล้วรวบรวมสมบัติของผู้ตายทั้งหมดฝังไปพร้อมกับศพ เพราะเชื่อว่าศพจะได้นำไปใช้ มีการจุดคบไฟ ตะเกียงตั้งไว้ที่ศีรษะศพ เชื่อว่าจะช่วยให้ไม่หลงทาง จัดเครื่องเซ่นใส่กระป๋อง กะลาตั้งไว้หน้าศพ พร้อมหาไม้ไผ่มาให้หมอผีทำพิธีเสกคาถาชี้ทางให้ผู้ตายไปที่สบาย เรียกว่า ทำ "ซังย่อล" การหามศพจะหามศีรษะไปก่อน เจ้าของศพต้องเดินทางปลายเท้าของศพ สำหรับที่ตั้งป่าช้ามักเลือกที่เนินไม่ห่างจากที่พัก ก่อนฝังมีการให้เจ้าของศพเคี้ยวหัวไพลพ่นลงหลุม เชื่อกันว่าเพื่อป้องกันไม่ให้คนตายขึ้นมาหลอกหลอน การวางศพในหลุมหันศีรษะไปทางทิศตะวันตก หันหน้าไปทางทิศใต้ เมื่อฝังศพเสร็จจะสร้างทับเป็นเพิงหมาแหงนบนหลุมศพ เป็นสัญลักษณ์การสร้างบ้านใหม่ให้ผี ตกเย็นหมอผีจะทำพิธีสวดศพที่บ้านผู้ตาย กลางคืนจะก่อไฟบนหลุมฝังศพเพื่อให้ความอบอุ่น เมื่อฝังศพเสร็จจะมีการฝากผี โดยหมอผีจะนำวิญญาณผู้ตายไปฝากไว้ที่ต้นไม้ใหญ่ เพราะถือว่าเป็นที่อยู่ถาวร ซาไกจึงกลัวต้นไม้ใหญ่เพราะเชื่อว่ามีผีสิงอยู่ (หน้า 78-82) กรณีศึกษาซาไกจังหวัดตรังไม่พบว่ามีการฝังศพเลย แต่เมื่อซาไกในกลุ่มเสียชีวิต จะสร้างทับขึ้นใหม่โดยใช้ใบไม้ปิดปากทับเป็นรูปกระโจม ให้ผู้ตายนอนในทับพร้อมข้าวของเครื่องใช้ส่วนตัว เมื่อจัดการศพแล้วจะอพยพไปหาที่อยู่ใหม่ทันที ก่อนออกเดินทางจะสั่งศพไม่ให้ตามไป แล้วออกเดินทางโดยไม่เหลียวกลับไปมองข้างหลังอีก ประเพณีในสังคมซาไก หากคนใดคนหนึ่งในกลุ่มเสียชีวิตจะเสียใจกันทั้งหมู่บ้านถือเป็นการสูญเสียญาติพี่น้องคนหนึ่ง แต่เป็นเพียงการแสดงความเศร้าโศกในระยะสั้น ๆ หลังพิธีเสร็จทุกอย่างก็กลับเข้าสู่สภาพปกติ (หน้า 82-83) นอกจากนี้วิถีปฏิบัติในชีวิตประจำวันของซาไก ยังเป็นสิ่งที่บ่งถึงค่านิยมบางอย่าง เช่น ซาไกนิยมนอนหันศีรษะออกด้านนอก หันเท้าเข้าด้านใน และนิยมนอนตะแคงหลับไม่นอนหงาย เพราะหากเกิดอะไรจะรู้สึกตัวได้เร็วและลุกหนีได้ อาจกล่าวได้ว่า ซาไกให้ความสำคัญกับเท้ามากกว่าศีรษะ (หน้า 46)

Education and Socialization

การศึกษาของซาไกส่วนใหญ่เป็นการเรียนรู้จากประสบการณ์ตรงตามแต่โอกาส พ่อแม่หรือผู้ที่มีความรู้ความชำนาญในแต่ละด้านเป็นผู้ถ่ายทอด เช่น ผู้มีวิชาความรู้เกี่ยวกับเวทมนต์คาถา ผู้มีความชำนาญในการทำอาวุธ ผู้ที่มีความสามารถในการล่าสัตว์ เป็นต้น เนื้อหามักเป็นเรื่องราวใกล้ตัวที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิต เช่น วิธีล่าสัตว์ การเดินป่า สะกดรอยเท้าสัตว์ การใช้สมุนไพร การรู้ทิศทางและการสังเกตความผิดปกติของป่า การทำอาวุธ วิธีหาอาหารและเครื่องยา นอกจากนี้ ยังมีการถ่ายทอดปลูกฝังความเชื่อและธรรมเนียมปฏิบัติสืบกันมา เช่น พิธีขอขมาต่อวิญญาณสัตว์ พิธีถอนรังควาน เป็นต้น (หน้า 69-71) เด็กซาไกใน จ.ยะลา มีโอกาสเรียนหนังสือที่โรงเรียนควบคู่กันไป ทั้งยังมีผลการเรียนดีกว่าเด็กไทยพุทธและไทยมุสลิมในพื้นที่ มีลักษณะเป็นผู้นำหัวโจกและเล่นกีฬาเก่ง แม้จะไม่มีโอกาสศึกษาต่อในระดับสูง (หน้า 72)

Health and Medicine

ซาไกมีความรู้เรื่องพืชสมุนไพร สามารถนำพืชพันธุ์ธรรมชาติมาใช้ประโยชน์ได้โดยเฉพาะยาสมุนไพรที่เกี่ยวกับการมีลูก เนื่องจากซาไกเชื่อว่า ผู้ใดไม่มีลูกถือว่ามีบาป เมื่อสามีภรรยาอยู่กินกันนานแล้วไม่มีลูก ก็จะไปขอยาสมุนไพรจากหมอ ยาสมุนไพรนี้มี 2 ขนานคือ ยามักม็อก มีสรรพคุณคล้ายยาบำรุงเลือด ให้ต้มรับประทานเมื่อมีประจำเดือน พอประจำเดือนหมด ให้ภรรยาและตัวสามี รับประทานยายังอ็อน ซึ่งเป็นรากไม้แข็ง เนื้อสีขาวเปลือกสีดำ หากร่วมประเวณีกันในรอบเดือน ภรรยาจะได้ลูกสมปรารถนา เมื่อแม่คลอดบุตรมักเอาหัวไพลมาผูกไว้ที่หูแม่ เชื่อว่าจะช่วยให้แม่แข็งแรงดีและป้องกันไม่ให้ผีมารบกวน หญิงแม่ลูกอ่อนมักให้รับประทานกล้วยไข่ ปลาเค็ม และเกลือห้ามรับประทานกล้วยหิน กล้วยน้ำว้า ขนุน หัวเผือก และห้ามขับถ่ายลงลำคลอง เพราะถือว่าบาปหากคนที่อยู่ใต้น้ำใช้ดื่ม หากชายซาไกต้องการเสริมพลังทางเพศก็มีสมุนไพรที่เรียกว่า "ตาง็อต" เป็นหัวคล้ายหัวเผือกโตไม่เกินกำปั้น เปลือกและเนื้อสีขาว ใช้รับประทานหรือทำยาดองเหล้า จะช่วยให้กระชุ่มกระชวยหากไม่ต้องการมีลูก ซาไกจะมีสมุนไพรเป็นรากไม้แข็งให้ผู้หญิงรับประทานกับหมาก เรียกว่า "อัมม์" มีสรรพคุณในการคุมกำเนิด เมื่อต้องการมีลูกก็ให้หยุดทาน หากทานติดต่อกันนาน ๆ เป็นประจำอาจเป็นหมันได้ การที่ซาไกรู้วิธีคุมกำเนิดด้วยสมุนไพรตามธรรมชาติทำให้แต่ละครอบครัวมีบุตรน้อย มักให้เหตุผลว่าอาหารหายาก หากมีลูกมากก็เลี้ยงไม่ไหว เป็นการวางแผนครอบครัวโดยที่ไม่ต้องพึ่งพาความรู้จากเจ้าหน้าที่อนามัย นอกจากนี้ ซาไกยังมียาใช้ภายนอกเช่น ยาแก้เมื่อยเรียกว่า "เลอะเคอะ" คล้ายต้นฝรั่ง นำมาต้มน้ำนวดบริเวณที่ปวดเมื่อย เชื่อว่ารักษาอัมพาตหาย "ลีวู" เป็นรากไม้คล้ายกระชาย ต้มน้ำดื่มหลังอาหาร เป็นยาแก้เจ็บเส้น (หน้า 85-86, 91, 93) ข้อมูลจากการศึกษา ซาไกกลุ่มคลองหินแดง กลุ่มเหนือคลองตง และกลุ่มเจ้าพะในเขตอำเภอปะเหลียน จ. ตรัง เรื่องการนำสมุนไพรมาใช้บำบัดรักษาโรค พบว่า มีการใช้พืชสมุนไพรถึง 18 ชนิด และยาที่ได้จากสัตว์ 4 ชนิด (หน้า 86) ดังต่อไปนี้ ยาที่ได้จากพืช เช่น - หมากพร้าวนกคุ้ม ผลสุกมีสรรพคุณแก้เบื่ออาหาร ใบนำมาเผาเป็นขี้เถ้าทาลำคอแก้ไอ - เอื้องป่า คั้นน้ำในลำต้นรับประทานแก้ปัสสาวะขัด - ตำโตก (รากหิน) รับประทานสด ๆ ช่วยให้คลอดง่าย - ขุนเสนา, ชิงดอกเดียว ต้มน้ำ ดื่มบำรุงเลือด บำรุงกำลัง - ไฟเดินกอง ต้มน้ำ ดื่มบำรุงเลือด - จิไต (ไอ้เหล็ก) ต้มน้ำ ดื่มบำรุงกำลังทางเพศ - ไพล เคี้ยวพ่นแก้คันตามตัว แขวนคอกันผี - สาปเสือ ตำพอกแผลห้ามเลือด ยาที่ได้จากสัตว์ เช่น - ค่าง ใช้ส่วนตับมาบำรุงเลือด แก้ปวดหลังปวดเอว - ตัวนิ่ม ใช้เลือด แก้ตาบอดกลางคืน - ผึ้ง ใช้ขี้สารับประทานสด ๆ แก้ปวดเมื่อย - หมูดิน (หมูหริ่ง) ใช้น้ำมันมารักษาแผล (หน้า 87) โดยปกติซาไกค่อนข้างแข็งแรงไม่เจ็บป่วยบ่อยนัก ซาไกมีความเชื่อในการป้องกันไม่ให้เกิดโรคภัย เช่น แขวนหัวไพล ใช้ขี้เถ้าทาตัวป้องกันโรคผิวหนัง เมื่อจะอพยพโยกย้าย อย่างไรก็ดี โรคหิด กลาก เกลื้อนในหมู่ซาไกถือเป็นเรื่องปกติธรรมดา โรคที่มักเป็น เช่น โรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ เช่น หวัด ปอดบวม วัณโรค โรคที่เกี่ยวกับทางเดินอาหาร เช่น ลำไส้ โรคกระเพาะอาหารอักเสบ การรักษาพยาบาลผู้ป่วย ซาไกมีหมอประจำเผ่าผู้หญิงเรียกว่า "โต๊ะดัน" หรือ "โต๊ะบีดัน" ต้องเป็นหญิงโสด ไม่มีลูกและสามี มีหน้าที่ทำคลอดผดุงครรภ์ เลี้ยงดูเด็ก ๆ ในหมู่บ้าน ไม่ต้องออกไปหาอาหาร จะมีผู้นำอาหารมาแบ่งให้ หมออีกคนเป็นชาย ทำหน้าที่รักษาโรคภัยไข้เจ็บด้วยสมุนไพร ทำการเสกคาถาอาคมแล้วพ่นหมากพลูตรงอวัยวะที่เจ็บปวดเรียกว่า " ซาโฮซ " ผู้ป่วยจะได้รับยาสมุนไพรควบคู่กับการทำซาโฮซจากหมอ เช่น หากเป็นหวัดเจ็บคอก็ซาโฮซที่คอ เท้าบวมอักเสบ ปวดท้อง ท้องร่วง ปวดศีรษะก็ทำซาโฮซบริเวณนั้น ๆ การรักษาด้วยเวทมนต์คาถาจะใช้ในกรณีรักษาโรคภัยไข้เจ็บที่เกิดกับอวัยวะส่วนที่ปวด และใช้เพื่อให้คลอดง่ายโดยเสกคาถาบนหน้าท้อง ซาไกในนิคมสร้างตนเองธารโต จ. ยะลา จะไปรักษาที่โรงพยาบาลหากป่วยหนัก แต่มักไม่เชื่อมั่นในการรักษา หากเจ็บป่วยเพียงเล็กน้อยหรือคลอดบุตรมักใช้การแพทย์พื้นบ้านตามแบบฉบับของตนเอง (หน้า 88-89, 93)

Art and Crafts (including Clothing Costume)

การแต่งกาย แต่เดิมซาไกนิยมใช้ใบไม้ เปลือกไม้ห่อหุ้มร่างกาย ต่อมาเริ่มรู้จักนำผ้ามาฉีกเป็นชิ้นขนาดฝ่ามือ โดยผู้ชายใช้ผ้าชิ้นคาบหว่างขาแล้วกระหวัดขึ้นมาพันเอว คล้ายการแต่งกายแบบเขมรสมัยนครวัดปรากฏในลายจำหลัก วิธีนุ่งผ้าเช่นนี้ในบท พระราชนิพนธ์ของรัชกาลที่ 5 เรียกผ้าคาบหว่างขา กระหวัดเอวไว้ทั้งหน้าหลังว่า " นุ่งเลาะเตี๊ยะ" ชายห้อยหน้าเรียกว่า "ไกพ๊อก" ชายห้อยข้างเรียก "กอเลาะ" ส่วนผู้หญิงจะมีผ้าหรือใบไม้นุ่งทับรอบเอาอีกชั้น แล้วใช้ผ้าคาดอกหรือเปลือยอก เตี่ยวชั้นในของหญิงเรียกว่า "จะวัด" มีสายรัดเอวและผ้าทาบหว่างขา ผ้าเรียกว่า "ฮอลี" หากไม่มีผ้าก็ใช้ใบไม้ ผ้าห่มเรียกว่า " สิใบ " ปัจจุบัน ชายจะนุ่งโสร่งหรือกางเกง แต่ยังคงไม่สวมเสื้อ หญิงนุ่งผ้าถุงและสวมเสื้อ ส่วนเด็กซาไกจะสวมเฉพาะผ้านุ่ง ซาไกไม่นิยมซักเสื้อผ้า หากมีเสื้อผ้าหลายตัวก็จะสวมซ้อนหลายตัวพร้อมกันหมด ไม่มีการสลับใส่ (หน้า 73-74) ซาไกที่อำเภอธารโต จ.ยะลา รู้จักใช้กางเกงยีนส์ ใส่นาฬิกาและน้ำหอม แต่ยังไม่นิยมอาบน้ำฟอกสบู่ เพราะเกรงว่า หากออกล่าสัตว์จะผิดกลิ่น หญิงซาไกรู้จักแต่งผมโดยใช้น้ำมันมะพร้าว และทาลิปสติก สำหรับผ้าสีแดงที่คนเมืองเคยเชื่อกันว่าซาไกนิยม พบว่านาน ๆ จึงนำมาสวมใส่ (หน้า 74)

Folklore

ไม่มีข้อมูล

Ethnicity (Ethnic Identity, Boundaries and Ethnic Relation)

เอกลักษณ์ด้านชาติพันธุ์ของชนเผ่าซาไกที่พบเห็นได้ คือ สีผิวและสีผมที่ดำคล้ำ หยิกขอดติดหนังศีรษะ จมูกใหญ่ ริมฝีปากหนา ลำตัวหนาค่อนข้างเตี้ย มีอุปนิสัยค่อนข้างสันโดษ รักสงบ ไม่นิยมการทะเลาะเบาะแว้งกันเองหรือกับบุคคลภายนอก มีภาษาพูดคำศัพท์เฉพาะเป็นของตนเอง (หน้า 21, 131)

Social Cultural and Identity Change

เมื่อกระแสความเป็นเมืองรุกเข้าไปในพื้นที่อยู่อาศัยของซาไก ประกอบกับการติดต่อสัมพันธ์ระหว่างชาวบ้านกับชาวป่าเป็นไปในลักษณะช่วยเหลือเกื้อกูล และพึ่งพาอาศัยกัน การเปลี่ยนแปลงทั้งทางสังคมและวัฒนธรรมเมืองจากทั้งนักนิเทศธุรกิจ นักท่องเที่ยวและชาวเมือง รวมถึงนักวิจัยต่างก็ส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของซาไก จากสังคมที่นิยมวิถีชีวิตเรียบง่ายแบบดั้งเดิม ซาไกบางกลุ่มต้องออกมาพบปะกับคนเมืองมากขึ้นเพื่อความอยู่รอด เริ่มรู้จักใช้เงินแลกเปลี่ยนสิ่งที่อยากได้ และร้องขอ "ใบแดง" จากนักท่องเที่ยวหรืออาคันตุกะ ในขณะที่ชาวเมืองบางกลุ่มก็อยากได้ตัวไปวิจัย หรือนักนิเทศธุรกิจพยายามจัดฉากสังคมซาไกให้คงสภาพแบบดั้งเดิม ส่งผลต่อวิถีชีวิตและการปรับตัว เมื่อกระแสความเปลี่ยนแปลงและเทคโนโลยีที่ทันสมัยถูกลำเลียงเข้าสู่สังคมซาไกมากขึ้นทุกขณะ เอกลักษณ์ด้านชาติพันธุ์อาทิ ภาษาดั้งเดิมของซาไกก็เริ่มถูกปะปนและมีแนวโน้มจะถูกกลืนจนอาจสูญหาย การแต่งกายซึ่งได้รับอิทธิพลจากสังคมเมืองเปลี่ยนซาไกให้ภาพลักษณ์ใกล้เคียงกับชาวเมืองมากขึ้น (หน้า 96, 121-122, 125-126, 130)

Critic Issues

ไม่มีข้อมูล

Other Issues

ไม่มี

Map/Illustration

ภาพคนังเงาะน้อยสมัยรัชกาลที่ 5 (หน้า 6) ภาพนิเชาชนเผ่าพื้นเมืองในแอฟริกา (หน้า 7) คนังชุดนุ่งเลาะเตี๊ยะ (หน้า 10) รูปเงาะชายหญิง (หน้า 13) คนังแต่งเป็นตัวละครในเงาะป่าภาพบนสลากน้ำหอม (หน้า 16) ป่ารกชัฏบนเทือกเขาบรรทัด (18) หนุ่มชาวเงาะ/พร้อมครอบครัว (หน้า 24 - 25) คู่รักซาไก (หน้า 28) เด็กซาไกกับโต๊ะบีดัน (หน้า 32) เด็กซาไก (หน้า 36-37, 68, 100, 102, 133) การปรุงอาหาร (หน้า 39) หญิงซาไกเตรียมไปขุดมันเลี้ยงครอบครัว (หน้า 40) บรรยากาศภายในทับพร้อมเครื่องใช้ (หน้า 47-48) แคร่นอนของชาวเงาะ (หน้า 50) รูปแบบทับของเงาะบางกลุ่มบนเทือกเขาบรรทัด (หน้า 51) ที่ตั้งทับ (หน้า 56-57) บอเลาอาวุธคู่กายของเงาะมีไว้ล่าสัตว์ (หน้า 61) บอเลา-กระบอกใส่ลูกดอก-เครื่องทำความสะอาด (หน้า 62) เครื่องใช้ไม้สอยของเงาะ (หน้า 64) หน้ากากดำน้ำ-เครื่องใช้ไม้สอยของเงาะ (หน้า 67) บทเรียนการเป่าลูกดอก (หน้า 72) การแต่งตัวของเงาะแปรเปลี่ยนตามคนเมือง (หน้า 75-76) การตัดไม้ทำลายป่าบนเทือกเขาบรรทัด (หน้า 112) ทางเข้าหมู่บ้านเจ้าพะ (หน้า 116) เส้นทางสู่ถิ่นที่อยู่ของเงาะบนเทือกเขาบรรทัด (หน้า 119) การตัดไม้ทำลายป่า (หน้า 120) หัวหน้าเงาะกำลังเล่าเรื่องราวต่าง ๆ ให้นักศึกษามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานีได้รับรู้ (หน้า 123) ลุงไขกับครอบครัว (หน้า 124) แม่เฒ่าแห่งชนเผ่าซาไกกลุ่มลุงไข่ (หน้า 127) ป่ารกชัฏ (หน้า 128) แผนที่แสดงแหล่งที่อยู่อาศัยของเงาะป่าซาไกในประเทศไทย (หน้า 21)

Text Analyst ศมณ ศรีทับทิม Date of Report 25 ก.ค. 2559
TAG มันนิ มานิ กอย คะนัง(ซาไก), วิถีชีวิต, ความเชื่อ, ภาษา, วัฒนธรรม, สมุนไพร, การแพทย์แผนโบราณ, ภาคใต้, Translator -
 
 

 

ฐานข้อมูลอื่นๆของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
  ฐานข้อมูลพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทย
จารึกในประเทศไทย
จดหมายเหตุทางมานุษยวิทยา
แหล่งโบราณคดีที่สำคัญในประเทศไทย
หนังสือเก่าชาวสยาม
ข่าวมานุษยวิทยา
ICH Learning Resources
ฐานข้อมูลเอกสารโบราณภูมิภาคตะวันตกในประเทศไทย
ฐานข้อมูลประเพณีท้องถิ่นในประเทศไทย
ฐานข้อมูลสังคม - วัฒนธรรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  หน้าหลัก
งานวิจัยชาติพันธุ์ในประเทศไทย
บทความชาติพันธุ์
ข่าวชาติพันธุ์
เครือข่ายชาติพันธุ์
เกี่ยวกับเรา
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  ข้อมูลโครงการ
ทีมงาน
ติดต่อเรา
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
ช่วยเหลือ
  กฏกติกาและมารยาท
แบบสอบถาม
คำถามที่พบบ่อย


ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) เลขที่ 20 ถนนบรมราชชนนี เขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ 10170 
Tel. +66 2 8809429 | Fax. +66 2 8809332 | E-mail. webmaster@sac.or.th 
สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2549    |   เงื่อนไขและข้อตกลง