สมัครสมาชิก   
| |
ค้นหาข้อมูล
ค้นหาแบบละเอียด
  •   ความเป็นมาและหลักเหตุผล

    เพื่อรวบรวมงานวิจัยทางชาติพันธุ์ที่มีคุณภาพมาสกัดสาระสำคัญในเชิงมานุษยวิทยาและเผยแผ่สาระงานวิจัยแก่นักวิชาการ นักศึกษานักเรียนและผู้สนใจให้เข้าถึงงานวิจัยทางชาติพันธุ์ได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น

  •   ฐานข้อมูลจำแนกกลุ่มชาติพันธุ์ตามชื่อเรียกที่คนในใช้เรียกตนเอง ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้ คือ

    1. ชื่อเรียกที่ “คนอื่น” ใช้มักเป็นชื่อที่มีนัยในทางเหยียดหยาม ทำให้สมาชิกกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ รู้สึกไม่ดี อยากจะใช้ชื่อที่เรียกตนเองมากกว่า ซึ่งคณะทำงานมองว่าน่าจะเป็น “สิทธิพื้นฐาน” ของการเป็นมนุษย์

    2. ชื่อเรียกชาติพันธุ์ของตนเองมีความชัดเจนว่าหมายถึงใคร มีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมอย่างไร และตั้งถิ่นฐานอยู่แห่งใดมากกว่าชื่อที่คนอื่นเรียก ซึ่งมักจะมีความหมายเลื่อนลอย ไม่แน่ชัดว่าหมายถึงใคร 

     

    ภาพ-เยาวชนปกาเกอะญอ บ้านมอวาคี จ.เชียงใหม่

  •  

    จากการรวบรวมงานวิจัยในฐานข้อมูลและหลักการจำแนกชื่อเรียกชาติพันธุ์ที่คนในใช้เรียกตนเอง พบว่า ประเทศไทยมีกลุ่มชาติพันธุ์มากกว่า 62 กลุ่ม


    ภาพ-สุภาษิตปกาเกอะญอ
  •   การจำแนกกลุ่มชนมีลักษณะพิเศษกว่าการจำแนกสรรพสิ่งอื่นๆ

    เพราะกลุ่มชนต่างๆ มีความรู้สึกนึกคิดและภาษาที่จะแสดงออกมาได้ว่า “คิดหรือรู้สึกว่าตัวเองเป็นใคร” ซึ่งการจำแนกตนเองนี้ อาจแตกต่างไปจากที่คนนอกจำแนกให้ ในการศึกษาเรื่องนี้นักมานุษยวิทยาจึงต้องเพิ่มมุมมองเรื่องจิตสำนึกและชื่อเรียกตัวเองของคนในกลุ่มชาติพันธุ์ 

    ภาพ-สลากย้อม งานบุญของยอง จ.ลำพูน
  •   มโนทัศน์ความหมายกลุ่มชาติพันธุ์มีการเปลี่ยนแปลงในช่วงเวลาต่างๆ กัน

    ในช่วงทศวรรษของ 2490-2510 ในสาขาวิชามานุษยวิทยา “กลุ่มชาติพันธุ์” คือ กลุ่มชนที่มีวัฒนธรรมเฉพาะแตกต่างจากกลุ่มชนอื่นๆ ซึ่งมักจะเป็นการกำหนดในเชิงวัตถุวิสัย โดยนักมานุษยวิทยาซึ่งสนใจในเรื่องมนุษย์และวัฒนธรรม

    แต่ความหมายของ “กลุ่มชาติพันธุ์” ในช่วงหลังทศวรรษ 
    2510 ได้เน้นไปที่จิตสำนึกในการจำแนกชาติพันธุ์บนพื้นฐานของความแตกต่างทางวัฒนธรรมโดยตัวสมาชิกชาติพันธุ์แต่ละกลุ่มเป็นสำคัญ... (อ่านเพิ่มใน เกี่ยวกับโครงการ/คู่มือการใช้)


    ภาพ-หาดราไวย์ จ.ภูเก็ต บ้านของอูรักลาโว้ย
  •   สนุก

    วิชาคอมพิวเตอร์ของนักเรียน
    ปกาเกอะญอ  อ. แม่ลาน้อย
    จ. แม่ฮ่องสอน


    ภาพโดย อาทิตย์    ทองดุศรี

  •   ข้าวไร่

    ผลิตผลจากไร่หมุนเวียน
    ของชาวโผล่ว (กะเหรี่ยงโปว์)   
    ต. ไล่โว่    อ.สังขละบุรี  
    จ. กาญจนบุรี

  •   ด้าย

    แม่บ้านปกาเกอะญอ
    เตรียมด้ายทอผ้า
    หินลาดใน  จ. เชียงราย

    ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ถั่วเน่า

    อาหารและเครื่องปรุงหลัก
    ของคนไต(ไทใหญ่)
    จ.แม่ฮ่องสอน

     ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ผู้หญิง

    โผล่ว(กะเหรี่ยงโปว์)
    บ้านไล่โว่ 
    อ.สังขละบุรี
    จ. กาญจนบุรี

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   บุญ

    ประเพณีบุญข้าวใหม่
    ชาวโผล่ว    ต. ไล่โว่
    อ.สังขละบุรี  จ.กาญจนบุรี

    ภาพโดยศรยุทธ  เอี่ยมเอื้อยุทธ

  •   ปอยส่างลอง แม่ฮ่องสอน

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ปอยส่างลอง

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดย เบญจพล  วรรณถนอม
  •   อลอง

    จากพุทธประวัติ เจ้าชายสิทธัตถะ
    ทรงละทิ้งทรัพย์ศฤงคารเข้าสู่
    ร่มกาสาวพัสตร์เพื่อแสวงหา
    มรรคผลนิพพาน


    ภาพโดย  ดอกรัก  พยัคศรี

  •   สามเณร

    จากส่างลองสู่สามเณร
    บวชเรียนพระธรรมภาคฤดูร้อน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   พระพาราละแข่ง วัดหัวเวียง จ. แม่ฮ่องสอน

    หล่อจำลองจาก “พระมหามุนี” 
    ณ เมืองมัณฑะเลย์ ประเทศพม่า
    ชาวแม่ฮ่องสอนถือว่าเป็นพระพุทธรูป
    คู่บ้านคู่เมืององค์หนึ่ง

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม

  •   เมตตา

    จิตรกรรมพุทธประวัติศิลปะไต
    วัดจองคำ-จองกลาง
    จ. แม่ฮ่องสอน
  •   วัดจองคำ-จองกลาง จ. แม่ฮ่องสอน


    เสมือนสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรม
    เมืองไตแม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ใส

    ม้งวัยเยาว์ ณ บ้านกิ่วกาญจน์
    ต. ริมโขง อ. เชียงของ
    จ. เชียงราย
  •   ยิ้ม

    แม้ชาวเลจะประสบปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัย
    พื้นที่ทำประมง  แต่ด้วยความหวัง....
    ทำให้วันนี้ยังยิ้มได้

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ผสมผสาน

    อาภรณ์ผสานผสมระหว่างผ้าทอปกาเกอญอกับเสื้อยืดจากสังคมเมือง
    บ้านแม่ลาน้อย จ. แม่ฮ่องสอน
    ภาพโดย อาทิตย์ ทองดุศรี
  •   เกาะหลีเป๊ะ จ. สตูล

    แผนที่ในเกาะหลีเป๊ะ 
    ถิ่นเดิมของชาวเลที่ ณ วันนี้
    ถูกโอบล้อมด้วยรีสอร์ทการท่องเที่ยว
  •   ตะวันรุ่งที่ไล่โว่ จ. กาญจนบุรี

    ไล่โว่ หรือที่แปลเป็นภาษาไทยว่า ผาหินแดง เป็นชุมชนคนโผล่งที่แวดล้อมด้วยขุนเขาและผืนป่า 
    อาณาเขตของตำบลไล่โว่เป็นส่วนหนึ่งของป่าทุ่งใหญ่นเรศวรแถบอำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี 

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   การแข่งขันยิงหน้าไม้ของอาข่า

    การแข่งขันยิงหน้าไม้ในเทศกาลโล้ชิงช้าของอาข่า ในวันที่ 13 กันยายน 2554 ที่บ้านสามแยกอีก้อ อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย
 
  Princess Maha Chakri Sirindhorn Anthropology Centre
Ethnic Groups Research Database
Sorted by date | title

   Record

 
Subject ชอง,พ่อเพลง, ดนตรี, เพลงพื้นบ้าน, พิธีกรรม, ความเชื่อ, จันทบุรี
Author สายพิรุณ สินฤกษ์
Title ดนตรีในสังคมวัฒนธรรมของชาวชอง ตำบลตะเคียนทอง จ.จันทบุรี
Document Type วิทยานิพนธ์ Original Language of Text ภาษาไทย
Ethnic Identity ชอง ตัมเร็จ สำแร, Language and Linguistic Affiliations ออสโตรเอเชียติก(Austroasiatic)
Location of
Documents
ห้องสมุดศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร Total Pages 163 Year 2546
Source หลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาดนตรี บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล
Abstract

เพลงพื้นบ้านของคนชอง ตำบลตะเคียนทอง กิ่งอำเภอเขาคิชฌกูฎ จังหวัดจันทบุรีได้รับอิทธิพลจากคนไทยภาคกลางอยู่มาก ทั้งด้านการร้องรำทำเพลงและเครื่องดนตรีที่ใช้ส่วนใหญ่เพื่อประกอบจังหวะ แต่ก็มีเอกลักษณ์เป็นของตนเอง เพลงของชองแสดงให้ เห็นถึงบทบาทหน้าที่ของศิลปะท้องถิ่นซึ่งมีความสัมพันธ์อันแนบแน่นกับวิถีชีวิต สังคมและวัฒนธรรมของคนชอง อีกทั้งยังมีบทบาทสำคัญในการประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ อาทิ เพลงในพิธีอัญเชิญผีบรรพบุรุษหรือ "ผีหิ้งผีโรง" เพลงในพิธีแต่งงาน เพลงยันแย่ เพลงในพิธีศพ ลักษณะเนื้อร้องเพลงของชองมักแสดงถึงความสัมพันธ์ระหว่างคนกับคน คนกับสัตว์เลี้ยงและคนกับธรรมชาติ มีหน้าที่รองคือ เป็นเครื่องสร้างความบันเทิงเริงใจ นอกเหนือจากบทบาทหลักในการร้องเพื่อประกอบพิธีกรรม ลักษณะเด่นของเพลงร้องของชอง คือ เนื้อเพลงและประโยคในทำนองส่วนใหญ่ไม่สัมพันธ์กัน การเคลื่อนที่ของระดับเสียงมีลักษณะคล้ายลูกตกของดนตรีแบบแผนไทย มีลักษณะการซ้ำโน้ต บางครั้งช่วงกลางและท้ายประโยคเพลงเกิดการเคลื่อนที่รูปแบบซ้ำๆ กัน หรือเคลื่อนที่เป็นขั้นคู่กระโดด บันไดเสียงหรือกลุ่มเสียงมีลักษณะแบบเพลงพื้นบ้านของไทย

Focus

เน้นศึกษาบทบาทหน้าที่ของเพลงที่มีต่อสังคมวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของชอง ตำบลตะเคียนทอง จังหวัดจันทบุรี

Theoretical Issues

ไม่มี

Ethnic Group in the Focus

เน้นศึกษากลุ่มชอง (จอง) ตำบลตะเคียนทอง จังหวัดจันทบุรี เป็นชนพื้นเมืองกลุ่มน้อย คนเขมรเรียกแบบดูถูกว่าเป็น "พวกจวง" มีลักษณะคล้ายพวกกูยหรือส่วย ถือว่าเป็นกลุ่มชาติพันธ์ในกลุ่มมอญ-เขมร อยู่ในสายตระกูลภาษาออสโตรเชียติก (Austroasiatic) คำว่า "ชอง" แปลว่า พวกเรา หรืออาจแปลได้ว่า "เดินงุ่มง่ามอย่างหมี" ในพิธีกรรมเรียกว่า "พวก" (หน้า 26, 32)

Language and Linguistic Affiliations

กลุ่มชนเชื้อสายชองใช้ภาษาไทยกับคนแปลกหน้าที่ไม่ใช่ชอง และใช้ภาษาชองในการพูดคุยกันเอง ภาษาชองมีแต่ภาษาพูด ฟังยากคล้ายภาษาเขมร ไม่มีภาษาเขียนและตัวอักษร จัดอยู่ในกลุ่มภาษาตระกูลออสโตรเอเชียติกซึ่งใช้พูดกันอยู่ในแถบ เอเชียใต้ และเอเชียตะวันออก สำหรับภาษาชองจัดอยู่ในกลุ่มย่อยเพียริก กลุ่มมอญ-เขมรตะวันออก (หน้า 37-40)

Study Period (Data Collection)

ไม่ระบุ

History of the Group and Community

จากการศึกษา ไม่พบหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่สามารถยืนยันการอพยพของชองแน่ชัด พระครูเจ้าคณะอำเภอซึ่งมีเชื้อสายชองกล่าวอ้างว่า แต่เดิมชนเชื้อสายชองเป็นคนไทยที่หนีภัยสงคราม อพยพร่อนเร่ไปอาศัยอยู่ตามป่าเขา โดยรวมตัวกันเป็นหมู่ มีการกำหนดภาษาเสียใหม่ ไม่พูดภาษาไทยเพื่อป้องกันการถูกฆ่า ในตอนแรกไม่มีการติดต่อกับโลกภายนอก ประกอบอาชีพหาของป่าและล่าสัตว์ มีหัวหน้าเผ่าปกครอง เมื่อประมาณ 200-300 ปี ได้พากันมาตั้งหลักแหล่งอยู่ในดินแดนแห่งหนึ่ง ปัจจุบันคือ ตำบลตะเคียนทอง นอกจากนี้ยังมีข้อมูลเพิ่มเติมว่า ชองเป็นชนพื้นเมืองซึ่งอาศัยอยู่ทางแถบภาคตะวันออกของไทย บริเวณจังหวัดระยอง จันทบุรี ตราด รวมถึงจังหวัดไพลินและกำปอดของเขมร ปัจจุบันชนเชื้อสายชองตั้งถิ่นฐานกระจัดกระจายอยู่แถบระยอง ตราดและจันทบุรี (หน้า 27)

Settlement Pattern

ชองชอบอาศัยอยู่ตามที่ราบระหว่างหุบเขา ภูมิประเทศเป็นป่าทึบ โดยอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม ๆ ละประมาณ 20-30 ครอบครัว มีการตั้งบ้านเรือนรวมกันเป็นกลุ่มไม่ห่างกันนัก การปลูกเรือนเรียกว่า "ยกบ้าน" มีลักษณะเป็นเรือนเครื่องผูก ยกพื้นสูง จากพื้นดินประมาณเมตรครึ่งถึงสองเมตร ตัวบ้านแบ่งเป็น 3 ส่วนคือ ชานบ้าน กลางบ้าน และส่วนของบ้านที่กั้นเป็นห้องนอน มักใช้ไม้ไผ่สร้างบ้าน ใช้หวายหรือเชือกเหนียว เสาบ้านนิยมใช้ไม้เนื้อแข็ง หลังคานิยมใช้ใบจาก ใบหวาย ใบระกำหรือ ใบต้นชงโคนำมาเย็บติดกันเป็นตับ ห้องครัวเชื่อมกับตัวบ้าน ส่วนห้องน้ำจะอยู่นอกตัวบ้านห่างออกไปเล็กน้อย ห้องอาบน้ำใช้ผ้าพลาสติกขึงกั้นสี่ด้าน ความสูงประมาณ 3 เมตร ด้านบนไม่มีหลังคา ไม่มีประตู (หน้า 44)

Demography

จำนวนประชากรตำบลตะเคียนทอง กิ่งอำเภอเขาคิชฌกูฎ จ. จันทบุรี (จากการสำรวจเมื่อปี พ.ศ. 2544) รวมทั้งสิ้นจำนวน 3,265 คน เป็นชาย 1,632 คน หญิง 1,633 คน มีจำนวนครัวเรือนรวมทั้งสิ้น 859 ครัวเรือน ประกอบด้วยหมู่บ้านต่าง ๆ ได้แก่ บ้านลำพัง บ้านตะเคียนทอง บ้านชำเคราะห์ บ้านคลองกระสือ บ้านคลองน้ำเป็น (หน้า 28)

Economy

ในอดีตวิถีชีวิตดั้งเดิมชองกลุ่มชนเชื้อสายชองผูกพันกับป่าตามธรรมชาติ มีอาชีพหลักคือ ล่าสัตว์ ตัดต้นไม้ ล่องแพ หาของป่า สมุนไพร หนังและเขาสัตว์ ชันหวาย น้ำมันยาง มาเป็นสินค้าแลกเปลี่ยนกับของใช้ในชีวิตประจำวัน นอกจากนี้ชองยังเพาะปลูกและเก็บกระวานตามป่าเขา ทำนาข้าวในพื้นที่ราบและนาไร่ตามชายป่าเพื่อการดำรงชีพ ปัจจุบันชองยังเข้าป่าล่าสัตว์เพื่อยังชีพ รับจ้างทำนาในฤดูทำนา รวมถึงการรับจ้างปลูกผักผลไม้ ชองที่มีฐานะมักทำสวนยางหรือสวนผลไม้ เช่น ทุเรียน มังคุด เงาะ นอกจากนี้ ชองยังมีเครื่องมือต่าง ๆ ในการประกอบอาชีพ ได้แก่ ขวานปูลูซึ่งใช้โค่นไม้ในป่า ตัดหวาย ชำแหละเนื้อสัตว์ ผ่าฟืน ใช้แทนอาวุธ อีกทั้งยังใช้ในพิธีกรรม นอกจากนี้ยังมีเครื่องมือจับปลาอาทิ สุ่ม ลอบ ข้อง แห เบ็ด เครื่องมือในการทำนาเรียก "ผะแหลก" (ผาน) กระด้ง ชี (ใช้โม่แป้ง) เครื่องมือล่าสัตว์ อาทิ บ่วง แร้ว ทุบ หน้าไม้ (หน้า 41-43)

Social Organization

กลุ่มชนเชื้อสายชองในตำบลตะเคียนทอง สามารถแต่งงานข้ามเผ่าพันธุ์กับคนไทยและชนชาติอื่น (หน้า 31) ครอบครัวชองมีการแบ่งหน้าที่รับผิดชอบชัดเจนและให้ความสำคัญกับฝ่ายหญิงมากกว่า หญิงชองมีอำนาจในการตัดสินใจและจัดระเบียบภายในครอบครัวนอกจากหน้าที่ในการดูแลบ้านและบุตร ส่วนผู้ชายชองจะเป็นผู้ออกไปประกอบอาชีพนอกบ้าน เข้าป่าล่าสัตว์ ทำนา หาของป่า เมื่อแยกครอบครัวออกมาแล้ว จะเป็นครอบครัวเดี่ยว เป็นอิสระจากการปกครองของปู่ย่าตายาย แต่ยังคงมีการไปมาหาสู่กัน แม้จะยังคงอยู่ในหมู่บ้านเดียวกัน มีการแบ่งปันอาหาร เยี่ยมเยียนและปรึกษาปัญหากัน ลูกสาวคนโตมีหน้าที่เป็นผู้สืบทอดมรดก และดูแลพ่อแม่ยามเจ็บไข้ได้ป่วย (หน้า 40-41)

Political Organization

สังคมหมู่บ้านเป็นสังคมแบบ "ไมตรีสัมพันธ์" ช่วยเหลือกิจการงานต่าง ๆ กัน มีหัวหน้าหมู่บ้านซึ่งเป็นผู้สูงอายุที่สุดในหมู่บ้านคอยตัดสินปัญหา และจัดระเบียบให้หมู่บ้านก่อนที่ระบบการปกครองของรัฐจะเข้าถึง ปัจจุบันเมื่อมีการปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้นำหมู่บ้าน อาทิ กำนันหรือผู้ใหญ่บ้านจะได้รับการเลือกตั้งจากชาวบ้าน คอยระงับข้อพิพาทในหมู่บ้านและดำเนินคดีตามกฎหมาย (หน้า 41)

Belief System

ความเชื่อ กลุ่มชนเชื้อสายชองจะนับถือผีเจ้าป่าเจ้าเขา ผีบรรพบุรุษและนับถือศาสนาพุทธ โดยการประกอบกิจกรรมทางศาสนาเช่นเดียวกับคนไทย ทั้งยังนิยมให้ลูกชายบวชเรียน รวมถึงมีความเชื่อเรื่องนรก สวรรค์ บาป บุญกรรม แต่ก็มิได้เปลี่ยนแปลงความเชื่อดั้งเดิมเรื่องการนับถือผีบรรพบุรุษ หรือที่เรียกว่า "ผีหิ้งผีโรง" ปรากฏผ่านการประกอบพิธีกรรมการเล่นผีหิ้งผีโรงเพื่อเซ่นไหว้วิญญาณ เชื่อกันว่าวิญญาณผีบรรพบุรุษจะมาว่ากล่าวตักเตือน และคอยปกปักรักษาคนในครอบครัวให้รอดพ้นภัยพิบัติและความเจ็บไข้ได้ป่วย หากใครไม่ทำตามหรือตักเตือนแล้วไม่เชื่อ อาจถูกผู้หลักผู้ใหญ่หรือสังคมติเตียน หรือถูกผีบรรพบุรุษโกรธจนบันดาลให้เกิดภัยพิบัติ โรคร้าย ฝนแล้งได้ การบูชาผีหิ้งผีโรงจะมีการนำเครื่องเซ่น อาหารหวานคาว ธูป ดอกไม้มาเซ่นไหว้ หากมีแขกต่างถิ่นมาพักที่บ้าน ต้องให้แขกนำธูปและดอกไม้มาบอกกล่าวเสียก่อน มีการทำพิธีบวงสรวง จัดเครื่องเซ่นถวายและมีการอัญเชิญวิญญาณผีบรรพบุรุษ (หน้า 32-33) สำหรับความเชื่อเรื่องวิญญาณเจ้าป่าเจ้าเขา หากบังเอิญฆ่าสัตว์ในวันแรกที่เข้าป่า เชื่อว่าจะไม่ได้สัตว์กลับบ้าน หรือหากเดินไปพบช้างในวันแรกก็ให้รีบกลับออกมา เพราะเจ้าป่าไม่อนุญาตให้ล่าสัตว์ หากเข้าป่าแล้วพูดหรือทำให้ผีป่าโกรธ อาจเกิดอันตรายได้จึงต้องทำพิธีบวงสรวงก่อนเข้าป่า (หน้า 35) พิธีกรรม ชองมีพิธีกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับวิถีชีวิต อาชีพและความเชื่อ ดังต่อไปนี้ 1. พิธีสำหรับเด็กแรกเกิด เมื่อมีหญิงท้องแก่ใกล้คลอด สามีต้องเตรียมแคร่ไม้ไผ่ไว้ให้อยู่ไฟ ฟืนที่ใช้ซึ่งไปตัดจากป่าต้องนำมาตากแดดไว้หลายวัน แล้วใช้หนามล้อมรอบไว้ ป้องกันผีร้ายที่มากับฟืนทำอันตรายเด็ก เมื่อถึงวันคลอด หัวหน้าครอบครัวต้องไปตามหมอกลางบ้านหรือหมอตำแย หมอจะทาน้ำมันหรือน้ำมนต์ให้คนเจ็บท้อง เป็นการขับไล่ภูตผีปีศาจไม่ให้มารบกวนทั้งแม่และเด็ก ภายในห้องคลอดต้องมี "แม่ตำแย" หรือยันต์ปิดไว้ที่ประตู หลังเด็กคลอดได้ 3 วันต้องทำพิธีเอาเด็กลงเปล แล้วเอายันต์ดังกล่าวมาผูกข้อมือเด็ก นอกจากนี้ยังมีข้อห้ามระหว่างการอยู่ไฟ อาทิ หากเด็กตัวร้อนห้ามคลำตัวเด็ก ห้ามแม่เด็กเอามือลูบท้อง เพราะเชื่อว่าอาจทำให้ไหม้พอง แม่เด็กต้องกินข้าวกับเกลือและอาบน้ำต้มใบส้มโอ หลังคลอด 1-2 เดือนต้องโกนผมไฟห่อใบบอนเก็บไว้ เมื่อโตเด็กหญิงให้ไว้จุก เด็กชายไว้เปีย ทำพิธีโกนจุกเมื่ออายุไม่เกิน 14 ปี หากเด็กตายให้ใช้สุ่มหรือแหครอบศพเด็กไว้กันวิญญาณเข้าสิงแม่ ใช้ผ้าหรือกระสอบห่อศพก่อนนำไปฝัง ใช้คาถาตรึง ใช้ฟันคราดนา 7 อันตอกหลุมศพ ผู้ไปร่วมพิธีต้องใช้ด้ายมงคลผูกกันวิญญาณเข้าสิง (หน้า 51-52) 2. พิธีแต่งงาน ชองมีการหมั้นและสู่ขอกันตามธรรมเนียม พิธีแต่งงานใหญ่หรือ "พิธีการตั๊ก" เป็นพิธีที่จัดขึ้นเพื่อลูกสาวคนโตของครอบครัว เพราะถือว่าลูกสาวคนโตเป็นหลักของครอบครัว มักใช้บริเวณบ้านเจ้าสาวเป็นสถานที่ประกอบพิธีโดยปลูกโรงประกอบพิธีขึ้นเป็นการชั่วคราว ปัจจุบันนิยมประกอบพิธีบนบ้าน เครื่องใช้ในการประกอบพิธีประกอบด้วย เครื่องขันหมากและเครื่องเซ่นผี การประกอบพิธีแต่งงานจะมีการละเล่นชนวัวชนควาย เป็นการแสดงอาชีพคือการออกล่าสัตว์ เพื่อปลูกฝังให้คู่บ่าวสาวขยันทำมาหากิน พิธีโค่นตะเคียน หมายถึง ให้เจ้าบ่าวขยันขันแข็ง อดทนทำมาหากิน พิธีขันไก่ หมายถึง เจ้าสาวต้องตื่นนอนแต่เช้าเหมือนไก่ ขยันทำมาหากิน การจับศีรษะบ่าวสาวโขกกันเบา ๆ หมายถึง ให้ร่วมกันทำมาหากิน เป่าหู 3 ทีให้เป็นคนใจคอหนักแน่น ไม่หูเบา ในการส่งตัวเข้าหอ เจ้าสาวต้องยกน้ำให้แม่ เป็นการสอนให้เจ้าสาวใจเย็นเหมือนน้ำ ส่วนเจ้าบ่าวต้องเอาฟืนให้พ่อ ถือเป็นการแทนคุณพ่อที่เตรียมฟืนมาให้ต้มน้ำเมื่อแรกเกิด (หน้า 52-57) 3. พิธีศพ หมอผีประจำหมู่บ้านจะกล่าวคำให้ผู้ตายไปสู่สุขคติ และใช้น้ำมะพร้าวล้างหน้าศพ ส่วนใหญ่นิยมเผาศพตอนกลางวัน หากเป็นการตายด้วยโรคระบาดจะรีบเผาทันทีไม่ให้ค้างคืน การเผาศพทำบนเชิงตะกอน มีการสวดพระมาลัย หรือ "สวดผี" 4 วัน ศพผู้ตายใช้ด้ายผูกข้อมือเรียกว่า "ด้ายดอย" สัปเหร่อใช้ด้ายแดงและด้ายขาวผูกข้อมือ (หน้า 59) 4. พิธีการเล่นผีหิ้งผีโรง การเล่นผีหิ้งเป็นพิธีเซ่นไหว้ผีบรรพบุรุษ อัญเชิญวิญญาณผู้เสียชีวิตซึ่งเป็นญาติพี่น้องมาเข้าทรง เพื่อไต่ถามสารทุกข์สุขดิบระหว่างบรรพบุรุษกับลูกหลานที่มีชีวิตอยู่ เป็นการรวมญาติพี่น้องให้มาพบปะพูดคุยกัน เวลาเข้าทรงทำตอนกลางคืน มีร่างทรงและหมอผีกำกับ มีคนร้องเพลงเชิญดวงวิญญาณให้ลงมาเข้าทรง เมื่อเชิญวิญญาณครบ 12 ดวงแล้ว จะร้องเพลงส่งวิญญาณกลับ หมอผีกำกับร่างทรงจะจุดธูป 4 ดอกปักที่ศีรษะร่างทรง พ่นน้ำมนต์แล้วเก็บธูปไปปักที่ลานบ้าน โดยคนที่นั่งต้องเปิดทางให้ผีเดินออก การเล่นผีโรง ทำเวลากลางวันตั้งแต่ 8.00-11.00 น. หากมีการเล่นผีหิ้งแล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องเล่นผีโรงอีก ซึ่งขึ้นอยู่กับการรับสืบทอดมา เลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง สาเหตุที่เรียกว่าผีโรงเพราะมีการตั้งเพิงเป็นโรงเล็ก ๆ ประกอบพิธี เพลงที่ร้องเชิญผีมีเนื้อร้องคล้ายการเล่นผีหิ้ง แต่มีเจ้าที่เชิญมากกว่า คือ เพิ่มเจ้าเขาสระบาป คนร้องเพลงจะตีกลองและไม้กรับ เครื่องใช้ในพิธีผีโรงจะมีการผูกช้าง ม้า เรือจากกระดาษ ให้เห็นการเดินทางมาร่วมพิธีของดวงวิญญาณ บทร้องเชิญผีโรงจะกล่าวเชิญเจ้า เช่น พระนารายณ์และเจ้าเขาสระบาปมารับเครื่องเซ่น ทั้งยังกล่าวถึงพาหนะที่สมมติขึ้น ระหว่างที่ดวงวิญญาณบรรพบุรุษเข้า ก็จะตักเตือนลูกหลานที่มีชีวิตอยู่ให้เชื่อฟังคำสั่งสอน และทำตามที่วิญญาณต้องการ (หน้า 60-65)

Education and Socialization

การที่ชองนิยมส่งบุตรหลานเข้าไปทำงานหรือศึกษาในตัวเมือง ทำให้เด็กรุ่นใหม่ไม่ค่อยได้ใช้ภาษาชองในการพูดคุยเพิ่มขึ้น ทำให้ภาษาชองถูกภาษาไทยกลืนไปเรื่อย ๆ (หน้า 40)

Health and Medicine

ความเชื่อและข้อปฏิบัติของหญิงมีครรภ์ ชองมีข้อห้ามสำหรับหญิงมีครรภ์ อาทิ ห้ามนอนหงายเวลาป่วย ห้ามฟังพระสวดในโบสถ์ ห้ามดูราหูอมจันทร์ ห้ามกินข้าวตอนเย็น ห้ามอาบน้ำหรือซักผ้าตอนกลางคืน เพราะจะทำให้คลอดลูกยาก ห้ามกินของเวลาเดินทางเพราะทำให้เจ็บท้อง ห้ามส่งเสียงในเวลากลางคืน เพราะเกรงว่าผีที่ให้โทษอาจทำอันตราย ห้ามนั่งหรือยืนคาบันได้เพราะหากพลัดตกลงมาจะเป็นอันตรายต่อเด็กในท้อง นอกจากนี้ยังห้ามกินเนื้อสัตว์ทุกชนิดหลังคลอด กินได้เฉพาะข้าวกับเกลือหลังคลอดแล้ว 7 วัน เด็กที่คลอดแล้วต้องนอนในกระด้ง แม่และลูกต้องนอนในแหหรือสุ่มครอบเพื่อป้องกันผีมารบกวน (หน้า 35)

Art and Crafts (including Clothing Costume)

ดนตรีและเพลงพื้นบ้าน ชองได้รับอิทธิพลจากคนไทยภาคกลางด้านการร้องรำทำเพลง รวมถึงเครื่องดนตรีที่ใช้เล่นประกอบจังหวะ ซึ่งมีทั้งที่ประดิษฐ์ขึ้นเอง ได้รับบริจาคและซื้อหามาเอง อาทิ กลองยาว กลองตะโพน กลองหนัง โทน-รำมะนา ฉิ่ง ฉาบ กรับ โหม่ง ฆ้องฟาก ชองมีพ่อเพลงหรือพ่อหมอ เป็นผู้นำที่เชี่ยวชาญในการประกอบพิธีกรรมสำคัญต่าง ๆ ทั้งยังร้องเพลงประกอบพิธีกรรม และยังทำหน้าที่ถ่ายทอด ฝึกสอนการร้องเพลงให้คนหมู่บ้าน และมีเพลงที่ใช้ในพิธีกรรมสำคัญอยู่ 4 เพลงซึ่งยังคงใช้มาจนถึงปัจจุบันดังนี้ (หน้า 77 - 85) 1. เพลงยันแย่ เป็นเพลงร้องเล่นของชาวบ้านหลังเสร็จพิธีกรรม เป็นเพลงที่นิยมร้องทั้งในงานมงคลและอวมงคล เนื้อร้องมีทั้งการเกี้ยวพาราสี ร้องชมธรรมชาติขณะเดินทางไปเที่ยวต่างถิ่น ร้องโต้ตอบกันหรือร้องเล่นเป็นเครื่องบันเทิงใจในหมู่ชาวบ้าน เป็นเพลงที่มีทำนองเดียวแต่เปลี่ยนเนื้อร้องไปเรื่อย ๆ เครื่องดนตรีประกอบที่ใช้ได้แก่ ฉาบ กลอง ฉิ่ง เนื้อหาอาจกล่าวถึงสัตว์และธรรมชาติ ติชมบุคคล หรือเอ่ยถามถึงเพื่อนบ้าน นักดนตรีอาจใช้พ่อเพลงเพียงคนเดียวหรือช่วยกันร้อง (หน้า 66-67, 76) 2. เพลงแต่งงาน มีผู้ทำพิธีคือ "พ่อหมอ" หรือ "คนปลูก" เป็นผู้ประกอบพิธีสงฆ์และขับร้อง เนื้อหาเพลงบ่งบอกการใช้ชีวิตความเป็นอยู่ที่เรียบง่ายของชอง หรืออาจแสดงวิถีชีวิตในอดีตที่คลุกคลีอยู่กับธรรมชาติและสัตว์เลี้ยงในป่าในดง ร้องเอ่ยชมเจ้าบ่าวขณะแห่งขันหมากมายังบ้านเจ้าสาว ทั้งยังให้ความสำคัญกับเพื่อน หรือแสดงถึงการนับถือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ชองเคารพบูชา เช่น "เจ้าพ่อศรนารายณ์" เครื่องดนตรีที่ใช้เช่น กรับ โหม่ง ฉิ่ง ฉาบ กลองยาว นักดนตรีมักเป็นพ่อเพลงช่วยกันร้อง (หน้า 68-69, 76) 3. เพลงในพิธีศพ พิธีศพของชองมี 4 คืน คืนแรกจะมีเพลงไหว้ครูซึ่งใช้ในคืนแรกของงานศพเท่านั้น เนื้อหาเพลงเป็นการระลึกถึงคุณพระพุทธ พระธรรม คุณบิดา-มารดาให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ปกป้องคุ้มครอง เพลงไหว้ครูนี้ ถือว่าเป็นแบบแผนที่ปฏิบัติสืบทอดกันมาถึงปัจจุบัน ส่วนคืนที่ 2-4 จึงเป็นการละเล่นหรือร้องเพลงเล่าเรื่อง เช่น ชาละวัน ขุนช้างขุนแผน เป็นต้น (หน้า 71, 76) 4. เพลงเชิญผีบรรพบุรุษ เป็นเพลงที่ใช้ในการประกอบพิธีกรรมเชิญผีหิ้งผีโรง เป็นการขับร้องเชิญดวงวิญญาณลงมาให้ลูกหลานสอบถามทุกข์สุข เป็นการแสดงความกตัญญูต่อบรรพบุรุษจัดขึ้นปีละครั้ง (หน้า 76) เสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย คนชองแต่งกายเรียบง่าย แต่เดิมมีการทอผ้าตัดเย็บเอง นิยมสีดำ ขาว น้ำเงิน มักไม่ชอบเสื้อผ้าที่มีสีสันลวดลายฉูดฉาด ปัจจุบันแต่งกายเหมือนคนเมืองทั่วไป หญิงนุ่งผ้าถุง สวมเสื้อคอกระเช้า ชายนุ่งกางเกงขาก๊วยและไม่นิยมสวมเสื้อเมื่ออยู่บ้าน จะสวมเสื้อเฉพาะเวลาออกจากบ้าน และสวมรองเท้าบู๊ตไปทำงานในไร่นา วัยรุ่นมักนิยมแต่งกายตามสมัยนิยมเหมือนคนเมือง (หน้า 50)

Folklore

ไม่มีข้อมูล

Ethnicity (Ethnic Identity, Boundaries and Ethnic Relation)

ลักษณะเด่นทางชาติพันธุ์ของคนชอง คือ มีรูปร่างสันทัดทั้งหญิงชาย ผิวดำหรือค่อนข้างคล้ำ หน้าผากเถิก ผมหยิกขอด คางเหลี่ยม รูปหน้าสี่เหลี่ยม ตาโต ริมฝีปากหนา ขากรรไกรกว้าง คิ้วดก ลักษณะนิสัยรักสันโดษ ใจเย็น เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ซื่อสัตย์จริงใจ ใช้ชีวิตเรียบง่าย ลักษณะเฉพาะประการหนึ่งที่บ่งบอกถึงคำแปลคำเรียก "ชอง" คือ ลักษณะการเดินอย่างระแวดระวังภัย หรือระวังตัวตลอดเวลา ดังคำแปล "ชอง" ที่ว่า "เดินงุ่มง่ามอย่างหมี" แสดงถึงอัตลักษณ์อย่างหนึ่งของชนเผ่าชอง ซึ่งมักไม่ไว้ใจคนแปลกหน้าจนกว่าจะแน่ใจว่ามีความจริงใจต่อกันในการคบหา (หน้า 31-32)

Social Cultural and Identity Change

ไม่มีข้อมูล

Critic Issues

ไม่มีข้อมูล

Other Issues

ไม่มี

Map/Illustration

แผนที่จังหวัดจันทบุรี (หน้า 29) แผนที่ตำบลตะเคียนทอง (หน้า 30) แผนผังลักษณะบ้านชองและพื้นที่ใช้สอย/ภาพบันไดบ้าน (หน้า 46) ภาพลักษณะรูปร่างหน้าตาของชอง (หน้า 31) ภาพที่อยู่ของวิญญาณบรรพบุรุษ "ผีหิ้ง" (หน้า 33) ภาพที่อยู่ขอวิญญาณบรรพบุรุษ "ผีโรง" (หน้า 34) ภาพหมอบูรณ์ (หน้า 37) ภาพขวานปูลู (หน้า 43) ภาพบ้านชองแบบโบราณ/ภาพบ้านชองสมัยใหม่ (หน้า 45) ภาพห้องสุขา/สถานที่อาบน้ำ (หน้า47) ภาพน้ำพริกผักจิ้มและอาหารหลักของชอง (หน้า 49) ภาพพ่อหมอทำพิธีโค่นต้นตะเคียน/พ่อหมอประกอบพิธีแต่งงานแบกขวานปูลู (หน้า 58) ภาพร่วมกันร้องเพลงในพิธีสวดศพ (หน้า 59) ภาพเครื่องดนตรีชนิดต่าง ๆ (หน้า 78-84) ภาพสถานที่เก็บเครื่องดนตรี (หน้า 85)

Text Analyst ศมณ ศรีทับทิม Date of Report 11 เม.ย 2556
TAG ชอง, พ่อเพลง, ดนตรี, เพลงพื้นบ้าน, พิธีกรรม, ความเชื่อ, จันทบุรี, Translator -
 
 

 

ฐานข้อมูลอื่นๆของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
  ฐานข้อมูลพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทย
จารึกในประเทศไทย
จดหมายเหตุทางมานุษยวิทยา
แหล่งโบราณคดีที่สำคัญในประเทศไทย
หนังสือเก่าชาวสยาม
ข่าวมานุษยวิทยา
ICH Learning Resources
ฐานข้อมูลเอกสารโบราณภูมิภาคตะวันตกในประเทศไทย
ฐานข้อมูลประเพณีท้องถิ่นในประเทศไทย
ฐานข้อมูลสังคม - วัฒนธรรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  หน้าหลัก
งานวิจัยชาติพันธุ์ในประเทศไทย
บทความชาติพันธุ์
ข่าวชาติพันธุ์
เครือข่ายชาติพันธุ์
เกี่ยวกับเรา
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  ข้อมูลโครงการ
ทีมงาน
ติดต่อเรา
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
ช่วยเหลือ
  กฏกติกาและมารยาท
แบบสอบถาม
คำถามที่พบบ่อย


ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) เลขที่ 20 ถนนบรมราชชนนี เขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ 10170 
Tel. +66 2 8809429 | Fax. +66 2 8809332 | E-mail. webmaster@sac.or.th 
สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2549    |   เงื่อนไขและข้อตกลง