สมัครสมาชิก   
| |
ค้นหาข้อมูล
ค้นหาแบบละเอียด
  •   ความเป็นมาและหลักเหตุผล

    เพื่อรวบรวมงานวิจัยทางชาติพันธุ์ที่มีคุณภาพมาสกัดสาระสำคัญในเชิงมานุษยวิทยาและเผยแผ่สาระงานวิจัยแก่นักวิชาการ นักศึกษานักเรียนและผู้สนใจให้เข้าถึงงานวิจัยทางชาติพันธุ์ได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น

  •   ฐานข้อมูลจำแนกกลุ่มชาติพันธุ์ตามชื่อเรียกที่คนในใช้เรียกตนเอง ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้ คือ

    1. ชื่อเรียกที่ “คนอื่น” ใช้มักเป็นชื่อที่มีนัยในทางเหยียดหยาม ทำให้สมาชิกกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ รู้สึกไม่ดี อยากจะใช้ชื่อที่เรียกตนเองมากกว่า ซึ่งคณะทำงานมองว่าน่าจะเป็น “สิทธิพื้นฐาน” ของการเป็นมนุษย์

    2. ชื่อเรียกชาติพันธุ์ของตนเองมีความชัดเจนว่าหมายถึงใคร มีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมอย่างไร และตั้งถิ่นฐานอยู่แห่งใดมากกว่าชื่อที่คนอื่นเรียก ซึ่งมักจะมีความหมายเลื่อนลอย ไม่แน่ชัดว่าหมายถึงใคร 

     

    ภาพ-เยาวชนปกาเกอะญอ บ้านมอวาคี จ.เชียงใหม่

  •  

    จากการรวบรวมงานวิจัยในฐานข้อมูลและหลักการจำแนกชื่อเรียกชาติพันธุ์ที่คนในใช้เรียกตนเอง พบว่า ประเทศไทยมีกลุ่มชาติพันธุ์มากกว่า 62 กลุ่ม


    ภาพ-สุภาษิตปกาเกอะญอ
  •   การจำแนกกลุ่มชนมีลักษณะพิเศษกว่าการจำแนกสรรพสิ่งอื่นๆ

    เพราะกลุ่มชนต่างๆ มีความรู้สึกนึกคิดและภาษาที่จะแสดงออกมาได้ว่า “คิดหรือรู้สึกว่าตัวเองเป็นใคร” ซึ่งการจำแนกตนเองนี้ อาจแตกต่างไปจากที่คนนอกจำแนกให้ ในการศึกษาเรื่องนี้นักมานุษยวิทยาจึงต้องเพิ่มมุมมองเรื่องจิตสำนึกและชื่อเรียกตัวเองของคนในกลุ่มชาติพันธุ์ 

    ภาพ-สลากย้อม งานบุญของยอง จ.ลำพูน
  •   มโนทัศน์ความหมายกลุ่มชาติพันธุ์มีการเปลี่ยนแปลงในช่วงเวลาต่างๆ กัน

    ในช่วงทศวรรษของ 2490-2510 ในสาขาวิชามานุษยวิทยา “กลุ่มชาติพันธุ์” คือ กลุ่มชนที่มีวัฒนธรรมเฉพาะแตกต่างจากกลุ่มชนอื่นๆ ซึ่งมักจะเป็นการกำหนดในเชิงวัตถุวิสัย โดยนักมานุษยวิทยาซึ่งสนใจในเรื่องมนุษย์และวัฒนธรรม

    แต่ความหมายของ “กลุ่มชาติพันธุ์” ในช่วงหลังทศวรรษ 
    2510 ได้เน้นไปที่จิตสำนึกในการจำแนกชาติพันธุ์บนพื้นฐานของความแตกต่างทางวัฒนธรรมโดยตัวสมาชิกชาติพันธุ์แต่ละกลุ่มเป็นสำคัญ... (อ่านเพิ่มใน เกี่ยวกับโครงการ/คู่มือการใช้)


    ภาพ-หาดราไวย์ จ.ภูเก็ต บ้านของอูรักลาโว้ย
  •   สนุก

    วิชาคอมพิวเตอร์ของนักเรียน
    ปกาเกอะญอ  อ. แม่ลาน้อย
    จ. แม่ฮ่องสอน


    ภาพโดย อาทิตย์    ทองดุศรี

  •   ข้าวไร่

    ผลิตผลจากไร่หมุนเวียน
    ของชาวโผล่ว (กะเหรี่ยงโปว์)   
    ต. ไล่โว่    อ.สังขละบุรี  
    จ. กาญจนบุรี

  •   ด้าย

    แม่บ้านปกาเกอะญอ
    เตรียมด้ายทอผ้า
    หินลาดใน  จ. เชียงราย

    ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ถั่วเน่า

    อาหารและเครื่องปรุงหลัก
    ของคนไต(ไทใหญ่)
    จ.แม่ฮ่องสอน

     ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ผู้หญิง

    โผล่ว(กะเหรี่ยงโปว์)
    บ้านไล่โว่ 
    อ.สังขละบุรี
    จ. กาญจนบุรี

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   บุญ

    ประเพณีบุญข้าวใหม่
    ชาวโผล่ว    ต. ไล่โว่
    อ.สังขละบุรี  จ.กาญจนบุรี

    ภาพโดยศรยุทธ  เอี่ยมเอื้อยุทธ

  •   ปอยส่างลอง แม่ฮ่องสอน

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ปอยส่างลอง

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดย เบญจพล  วรรณถนอม
  •   อลอง

    จากพุทธประวัติ เจ้าชายสิทธัตถะ
    ทรงละทิ้งทรัพย์ศฤงคารเข้าสู่
    ร่มกาสาวพัสตร์เพื่อแสวงหา
    มรรคผลนิพพาน


    ภาพโดย  ดอกรัก  พยัคศรี

  •   สามเณร

    จากส่างลองสู่สามเณร
    บวชเรียนพระธรรมภาคฤดูร้อน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   พระพาราละแข่ง วัดหัวเวียง จ. แม่ฮ่องสอน

    หล่อจำลองจาก “พระมหามุนี” 
    ณ เมืองมัณฑะเลย์ ประเทศพม่า
    ชาวแม่ฮ่องสอนถือว่าเป็นพระพุทธรูป
    คู่บ้านคู่เมืององค์หนึ่ง

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม

  •   เมตตา

    จิตรกรรมพุทธประวัติศิลปะไต
    วัดจองคำ-จองกลาง
    จ. แม่ฮ่องสอน
  •   วัดจองคำ-จองกลาง จ. แม่ฮ่องสอน


    เสมือนสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรม
    เมืองไตแม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ใส

    ม้งวัยเยาว์ ณ บ้านกิ่วกาญจน์
    ต. ริมโขง อ. เชียงของ
    จ. เชียงราย
  •   ยิ้ม

    แม้ชาวเลจะประสบปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัย
    พื้นที่ทำประมง  แต่ด้วยความหวัง....
    ทำให้วันนี้ยังยิ้มได้

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ผสมผสาน

    อาภรณ์ผสานผสมระหว่างผ้าทอปกาเกอญอกับเสื้อยืดจากสังคมเมือง
    บ้านแม่ลาน้อย จ. แม่ฮ่องสอน
    ภาพโดย อาทิตย์ ทองดุศรี
  •   เกาะหลีเป๊ะ จ. สตูล

    แผนที่ในเกาะหลีเป๊ะ 
    ถิ่นเดิมของชาวเลที่ ณ วันนี้
    ถูกโอบล้อมด้วยรีสอร์ทการท่องเที่ยว
  •   ตะวันรุ่งที่ไล่โว่ จ. กาญจนบุรี

    ไล่โว่ หรือที่แปลเป็นภาษาไทยว่า ผาหินแดง เป็นชุมชนคนโผล่งที่แวดล้อมด้วยขุนเขาและผืนป่า 
    อาณาเขตของตำบลไล่โว่เป็นส่วนหนึ่งของป่าทุ่งใหญ่นเรศวรแถบอำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี 

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   การแข่งขันยิงหน้าไม้ของอาข่า

    การแข่งขันยิงหน้าไม้ในเทศกาลโล้ชิงช้าของอาข่า ในวันที่ 13 กันยายน 2554 ที่บ้านสามแยกอีก้อ อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย
 
  Princess Maha Chakri Sirindhorn Anthropology Centre
Ethnic Groups Research Database
Sorted by date | title

   Record

 
Subject ชอง,สภาพการศึกษา,ปัญหา,จันทบุรี
Author อัจฉรา มุขแจ้ง
Title สภาพการศึกษา ปัญหา และความต้องการการศึกษาของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 และ 6 ที่เป็นชาวชอง : การศึกษาเฉพาะกรณีโรงเรียนวัดทุ่งสะพาน ตำบลพลวง อำเภอมะขาม จังหวัดจันทบุรี
Document Type วิทยานิพนธ์ Original Language of Text ภาษาไทย
Ethnic Identity ชอง ตัมเร็จ สำแร, Language and Linguistic Affiliations ออสโตรเอเชียติก(Austroasiatic)
Location of
Documents
ห้องสมุดศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร Total Pages 145 Year 2531
Source หลักสูตรปริญญาครุศาสตรมหาบัณฑิต ภาควิชาสารัตถศึกษา บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
Abstract

ผลวิจัยพบว่าชุมชนชองในหมู่บ้านทุ่งสะพานตั้งหลักแหล่งมาเป็นเวลานับร้อยๆ ปี เอกลักษณ์ความเป็นชอง วัฒนธรรมประเพณี ความเชื่อบางประการ ยังคงได้รับการรักษาไว้ โรงเรียนในหมู่บ้านมีเป้าหมายเพื่อต้องการให้นักเรียนมีความรู้พื้นฐานสำหรับประกอบอาชีพ เพราะนักเรียนชองไม่นิยมศึกษาต่อในระดับมัธยมศึกษา เนื่องจากฐานะทางเศรษฐกิจของครอบครัว การถ่ายทอดความรู้ด้านอาชีพ วัฒนธรรมประเพณี ศาสนา และจริยธรรม ความเชื่อต่างๆ ของชอง ผ่านการศึกษานอกโรงเรียนที่ชองได้รับ โดยครอบครัวมีบทบาทสำคัญสำหรับการถ่ายทอดความรู้ดังกล่าว ปัญหาที่พบในการถ่ายทอดการศึกษา คือ โรงเรียนมีปัญหาในการปฏิบัติตามเป้าหมายตามที่รัฐกำหนด นอกจากนี้ โรงเรียนไม่ได้ปรับหลักสูตรให้เข้ากับสภาพท้องถิ่นเท่าที่ควร สำหรับผู้ปกครองก็ไม่มีเวลาอบรมสั่งสอนและใกล้ชิดนักเรียนเนื่องด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจ นักเรียนต้องการให้โรงเรียนสอนเน้นกลุ่มทักษะและสร้างเสริมลักษณะนิสัย โดยให้สอดแทรกเรื่องราวที่เกี่ยวกับชองและท้องถิ่น ส่วนการศึกษานอกโรงเรียน นักเรียนต้องการความรู้เกี่ยวกับการรักษาสุขภาพอนามัย ความรู้เรื่องสวนผลไม้เพื่อประกอบอาชีพ นักเรียนยังต้องการรักษาวัฒนธรรมประเพณีของชอง ทั้งประเพณีแต่งงานแบบชอง และประเพณีการทำบุญทุ่ง (ดูหน้าบทคัดย่อ)

Focus

ศึกษาสภาพการศึกษา ปัญหา และความต้องการการศึกษาทั้งในและนอกโรงเรียนของนักเรียนชองชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 และ 6 โรงเรียนวัดทุ่งสะพาน หมู่บ้านทุ่งสะพาน ตำบลพลวง อำเภอมะขาม จังหวัดจันทบุรี (ดูบทคัดย่อ และ หน้า 6)

Theoretical Issues

ไม่มี

Ethnic Group in the Focus

"ชอง" เป็นชนกลุ่มหนึ่งในประเทศไทย ที่ผู้วิจัยเลือกศึกษาในงานวิจัยนี้ โดยเลือกศึกษาชองที่อาศัยในหมู่บ้านทุ่งสะพาน ต.พลวง อ.มะขาม จ.จันทบุรี เพราะเป็นเขตที่มีชองอาศัยอยู่มาก และเป็นชุมชนที่ยังรักษาวัฒนธรรมประเพณีดั้งเดิมไว้ (หน้า 3-4, 6) ผู้วิจัยแบ่งกลุ่มที่ศึกษาออกเป็น 3 กลุ่มคือ 1) กลุ่มนักเรียน ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 และ 6 ปีการศึกษา 2529 ร.ร.วัดทุ่งสะพาน จำนวน 31 คน 2) กลุ่มครูและผู้บริหาร ครูใหญ่และครูใน ร.ร.วัดทุ่งสะพาน จำนวน 7 คน 3) กลุ่มผู้ปกครองนักเรียน ผู้ปกครองของนักเรียนกลุ่มที่ศึกษาจำนวน 31 คน (หน้า 9-10, 13-14)

Language and Linguistic Affiliations

ภาษาของชองใกล้เคียงกับภาษาเขมร (หน้า 24) มีภาษาพูดเป็นของตัวเองและไม่มีภาษาเขียน โดยมีภาษาพูดอยู่ในตระกูลมอญ - เขมร กลุ่มย่อยเพียริค (Pearic) (หน้า 25) เวลาคนชองพูด ผู้ฟังจะเข้าใจผิดว่าเป็นภาษาเขมร เพราะมีสียงรัวๆ ขลุกขลักคลายภาษาเขมร คำศัพท์ในภาษาชองเป็นการนำภาษาไทยกับภาษาเขมรมารวมกันจนเป็นภาษาชอง เพราะของบางสิ่งก็เรียกตรงกับภาษาไทย บางอย่างก็ตรงกับภาษาเขมร (หน้า 29-30, 67)

Study Period (Data Collection)

ไม่ระบุ

History of the Group and Community

"ชอง" เป็นชนพื้นเมืองเดิมใน จ.ระยอง จันทบุรี และตราด ปัจจุบันใน อ.มะขาม และ อ.โป่งน้ำร้อน จ.จันทบุรี จะมีชองอาศัยมากกว่าจังหวัดอื่น (หน้า 3) ประวัติความเป็นมาของชอง ชอง (Chong) เป็นกลุ่มชนเก่าแก่เผ่าหนึ่งในแหลมทอง จัดอยู่ในตระกูลมอญ - เขมร นักมานุษยวิทยาจัดว่า ชองมีเลือดผสมของพวกเวดดิคและนิกริโต งานศึกษาบางชิ้นก็ระบุว่าคนชองมีเลือดผสมของเมลานีเซียนด้วย ประวัติความเป็นมาของชองไม่มีใครทราบแน่ชัด แต่มีผู้สันนิษฐานต่างๆกันไป นักวิชาการบางคนบอกว่าชองคือพวกจังเกิล (Jungle) หรือพวกที่อาศัยในป่าเขา เมื่อเดือดร้อนเรื่องทำมาหากินหรือเจ็บไข้ได้ป่วยก็จะเร่ร่อนไปเรื่อยๆ จนกระทั่ง 200-300 ปีที่ผ่านมา ได้มาตั้งหลักแหล่งที่ตำบลพลวง ตำบลตะเคียนทอง และบริเวณอำเภอมะขามและอำเภอโป่งน้ำร้อน และมีผู้สันนิษฐานเพิ่มเติมอีกว่า เดิมชองเป็นชนพื้นเมืองทางภาคตะวันออกของไทย เป็นชนกลุ่มน้อยที่อยู่ตามเชิงเขาในจังหวัดจันทบุรีขยายออกไปถึงดินแดนกัมพูชา ส่วนคำบอกเล่าต่อๆ กันมาของชองเองสรุปได้เป็น 2 กลุ่ม คือ - กลุ่มแรก ชองเป็นชนเผ่าดั้งเดิมที่เร่ร่อนอยู่ในป่า จะอพยพโดยมีหัวหน้าปกครอง จนมาตั้งหลักแหล่งกระจัดกระจายอยู่ทั่วไปทางภาคตะวันออกของไทยในปัจจุบัน (หน้า 27) - กลุ่มที่ 2 ชองแต่เดิมคือคนไทย สาเหตุที่ต้องใช้ชีวิตอิสระอยู่ตามป่าเขา เพราะภัยจากสงครามสมัยอยุธยา (หน้า 28-29) ประวัติของหมู่บ้านทุ่งสะพาน ไม่มีใครทราบประวัติที่แน่ชัด แต่อยู่กันมาหลายอายุคนแล้วเป็นเวลาร้อยๆ ปี ไม่ได้อพยพมาจากที่ไหน เป็นชนพื้นเมืองดั้งเดิมของที่นี่ สาเหตุที่ตั้งชื่อหมู่บ้านว่า "ทุ่งสะพาน" เพราะอาชีพทำนาของคนที่นี่ในสมัยก่อนต้องข้ามแม่น้ำจันทบุรีไปทุ่งนาอีกฟากหนึ่ง โดยจะมีสะพานไม้ทอดข้ามไป ชาวบ้านเรียกทุ่งนาว่า "ทุ่ง" จึงเรียกบริเวณหมู่บ้านนี้ว่า บ้านทุ่งสะพาน (หน้า 55-56)

Settlement Pattern

ชองปลูกบ้านเรือนอย่างง่ายๆ มีเทคโนโลยีระดับต่ำ ใช้ไม้ไผ่ทำโครงบ้าน ใช้เถาวัลย์แทนตะปู มุงหลังคาและตัวบ้านด้วยใบไม้ เช่น ไม้ระกำ หญ้าคา (หน้า 27) บ้านที่ชองสร้างเรียกว่า "ขนำ" เป็นบ้านยกพื้นเตี้ยๆ มีบันได 3-5 ขั้น ปัจจุบันบ้านของชองจะเป็นแบบเรือนไทยทั่วไป หลังคามุงด้วยกระเบื้องบ้าง สังกะสีบ้าง ที่มุงด้วยจากก็มีบ้าง ใกล้บ้านจะมียุ้งข้าวที่สร้างขึ้นคล้ายบ้าน ภายในกรุด้วยเสื่อคลุ้ง (หน้า 32) ลักษณะการตั้งบ้านเรือนของหมู่บ้านทุ่งสะพานจะเป็นไปอย่างกระจัดกระจาย บ้านหลังหนึ่งๆ จะอยู่ห่างกันประมาณ 300 เมตรถึง 3 กม. จะหนาแน่นบริเวณโรงเรียนและวัด (หน้า 59 - 60)

Demography

หมู่บ้านทุ่งสะพานมี 52 ครัวเรือน ประชากรจำนวน 308 คน (หน้า 4) เป็นชาย 153 คน หญิง 155 คน ส่วนใหญ่อายุอยู่ระหว่าง 25-45 ปี (หน้า 56-57)

Economy

ประชากรส่วนใหญ่มีอาชีพทำสวน ทำนา และรับจ้าง มีความเป็นอยู่อย่างง่ายๆ เหมือนชีวิตชนบททั่วไป ฐานะค่อนข้างยากจน มีหน่วยงานราชการเข้ามาช่วยเหลือบ้างตามสมควร (หน้า 4) ชองมีอาชีพทำนาและเก็บของป่าด้วยเหมือนกันแต่เป็นการทำนาในป่า (หน้า 24) นอกจากนี้ยังดำรงชีวิตด้วยการหาของป่า ล่าสัตว์ ตัดหวาย ทำน้ำมันยาง หาน้ำผึ้ง การประมง ทำงานกันภายในครอบครัว ชองจะปลูกข้าวเรียกว่าข้าวไร่ เมื่อเวลาว่างจะจับสัตว์น้ำ ชองกินข้าวซ้อมมือ ไม่ตำข้าวสารไว้กินนานๆ ตำเท่าไหร่ก็จะกินจนหมด เมื่อกินอาหารเสร็จแล้วจะไม่ล้างชามเพราะจะทำให้เสียรสชาติ (หน้า 27) ชองในหมู่บ้านทุ่งสะพานจะทำการเกษตร เป็นสวนเงาะ ทุเรียน ทำไร่ทำนาเป็นพืชรอง เมื่อเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้วจะมีพ่อค้าคนกลางเข้ามารับซื้อผลผลิตในหมู่บ้าน ชาวบ้านมีรายได้เฉลี่ยครอบครัวละประมาณ 10,000-18,000 บาทต่อปี (หน้า 60-63)

Social Organization

ครอบครัวหนึ่งๆ จะประกอบด้วยพ่อ แม่ และลูก เป็นครอบครัวเล็กๆ ที่แยกมาจากครอบครัวใหญ่ มีเป็นส่วนน้อยที่แต่งงานแล้วอยู่ในครอบครัวเดิม ชองในหมู่บ้านนี้จะไม่นิยมแต่งงานกับบุคคลภายนอกหมู่บ้าน โดยมากคนที่แต่งงานจะเป็นญาติพี่น้องกัน จึงทำให้ระบบเครือญาติแน่นแฟ้น (หน้า 60)

Political Organization

ตำบลพลวงแบ่งเขตการปกครองออกเป็น 16 หมู่บ้าน (หน้า 4) ในหมู่บ้านทุ่งสะพาน ชาวบ้านจะร่วมมือกับกิจการของหมู่บ้านเป็นอย่างดี ง่ายต่อการปกครอง ชาวบ้านไปใช้สิทธิเลือกตั้งร้อยละ 60 (หน้า 70-71)

Belief System

ชองนับถือศาสนาพุทธปนกับความเชื่อเรื่องการนับถือผีและวิญญาณ บ้านของชองจะมี "หิ้งผี" (ผีบรรพบุรุษ ผีญาติพี่น้อง) กันเกือบทุกบ้าน เพราะเชื่อว่าหิ้งผีเป็นวิญญาณที่ซื่อสัตย์ หวงแหนทรัพย์สมบัติบริเวณที่สิงสถิตอยู่ ตลอดจนรักษาความเจ็บไข้ของคนในครอบครัว (หน้า 33-34, 67-70) ประเพณีที่สำคัญๆ ของชองมีดังนี้ 1. ประเพณีการเกิด เมื่อหญิงท้องแก่ใกล้จะคลอดในหมู่บ้าน สามีต้องเตรียมอุปกรณ์ในการคลอดบุตร ฟืนที่ใช้ต้องตัดมาจากป่า เพราะเชื่อว่าในฟืนจะมีผี และเพื่อไม่ให้ผีทำร้ายแม่และเด็ก จึงตัดไม้ที่ทำเป็นฟืนตากไว้หลายวัน เมื่อถึงเวลาคลอดหมอตำแยจะรดน้ำมนต์คนเจ็บท้องเพื่อขับไล่ภูตผีปีศาจที่อาจจะมารบกวนแม่และเด็ก เมื่อหมอตำแยตัดสายสะดือเด็กแล้ว จะอาบน้ำให้เด็ก ถ้าเป็นผู้ชายจะใช้ผ้านุ่งของพ่อห่มตัวให้เด็ก ผู้หญิงก็จะใช้ผ้านุ่งของแม่ เพราะเชื่อว่า เด็กผู้ชายโตขึ้นจะเป็นพ่อ เด็กผู้หญิงโตขึ้นจะเป็นแม่ เมื่อเด็กคลอดได้ 1-2 เดือน ต้องโกนผมไฟ ผมที่โกนต้องห่อด้วยใบบอนเก็บไว้ เมื่อโตขึ้นเด็กหญิงจะไว้ผมจุก เด็กชายจะไว้ผมเปีย และจะโกนจุกเมื่อเด็กอายุ 14 ปี (หน้า 34-36) 2. ประเพณีการตาย (การทำศพ) เมื่อมีคนตายต้องอุทิศส่วนกุศลให้ผู้ตาย ต้องอาบน้ำศพ ใช้ด้ายผูกข้อมือ เรียกว่า ด้ายดอย ต้องใช้ผ้ารัดศรีษะ เท้า ลำตัวให้แน่น ป้องกันการขึ้นอืด อาจจะทำพิธีผาศพหรือฝัง การทำบุญกับเจ้าภาพ ไม่นิยมทำบุญด้วยเงิน แต่จะเอาข้าวสารมา 2 - 3 ทะนาน บ้างก็เอาพริก มะเขือ ฟักแฟง งานศพของชองจะไม่ค่อยโศกเศร้า แต่จะชอบร่าเริง คุยกันสนุกสนาน อยู่กันจนสว่าง ถือกันว่าเป็นการอยู่เป็นเพื่อนศพ (หน้า 36-37) 3. ประเพณีการแต่งงาน ชายหนุ่มหญิงสาวจะเกี้ยวพาราสีกันได้แต่เพียงทางวาจาเท่านั้น หากแตะเนื้อต้องตัวถือเป็นการล่วงเกินและผิดผี ต้องขอขมาลาโทษ คู่หญิงชายอาจจะอยู่ด้วยกันก่อนที่จะแต่งงานก็ได้ การแต่งงานต้องเซ่นผีให้รับรู้การแต่งงาน จะมีการเอาข้าวสารมาวางไว้ที่หลังของคู่บ่าวสาว โดยมีความหมายว่า "อยู่ดีกินดี" ทำมาหากินรุ่งเรืองเหมือนข้าวสารที่เลี้ยงชีวิต (หน้า 37-41) 4. ประเพณีการแรกนา เป็นประเพณีที่เกี่ยวข้องกับอาชีพของชอง เป็นการบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ก่อนจะจัดที่นาสำหรับปลูกข้าว ปัจจุบันประเพณีนี้ไม่เป็นที่นิยม เพราะชองทำนาเพียงเล็กน้อย ส่วนใหญ่จะเปลี่ยนมาทำสวนผลไม้ เช่น เงาะ ทุเรียน เป็นต้น (หน้า 41-44) 5. ประเพณีการเซ่นผี ผีของชองมีดังนี้ (1) ผีประจำหมู่บ้านที่รู้จักกันมากมีชื่อว่า เจ้าสวนนารายณ์ เจ้านายชมพู (2) ผีของผู้ทำพิธี เรียกว่าสมู๊น (3) ผีป่าหรือเจ้าป่า (4) ผีปู่ย่าตายาย (5) ผีประจำตระกูล เป็นต้น การเซ่นผีเพื่อให้ปัดเป่าโรคภัยไข้เจ็บออกไปให้พ้นหมู่บ้าน เพื่อความเป็นสิริมงคลในการดำเนินชีวิต ปัจจุบันประเพณีนี้เริ่มจะเลือนหายไป ไม่เต็มรูปแบบเหมือนสมัยก่อนแล้ว (หน้า 44-45)

Education and Socialization

หมู่บ้านทุ่งสะพานมีโรงเรียนประถมศึกษาสังกัดสำนักงานการประถมศึกษาจังหวัดจันทบุรีเพียงโรงเรียนเดียว คือ โรงเรียนวัดทุ่งสะพาน "อาบวิทยาคาร" เป็นโรงเรียนขนาดเล็ก มีครู 7 คน เป็นชาย 3 คน หญิง 4 คน นักเรียน 97 คน เป็นชาย 53 คน หญิง 44 คน เป็นชองทั้งหมด ปัญหาที่พบในการเรียนคือ การที่เด็กใช้ภาษาถิ่นในชีวิตประจำวัน ทำให้มีปัญหากับครูผู้สอน การไม่สนับสนุนให้บุตรหลานของตนเข้าศึกษาภาคบังคับและเรียนต่อหลังจากจบการศึกษา เพราะฐานะที่ยากจน ดังนั้นโอกาสเรียนต่อของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ของโรงเรียนนี้มีน้อยมาก หรือแทบไม่มีเลย (หน้า 4-5, 63, 66-67, 72, 75-85, 126, 133) ผู้ศึกษาได้รายงานถึงสภาพการศึกษา ปัญหา และความต้องการการศึกษาในโรงเรียนและนอกโรงเรียน ดังนี้ โรงเรียนวัดทุ่งสะพานจัดการเรียนการสอนตามแผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2520 ใช้หลักสูตรประถมศึกษา พ.ศ. 2521 โดยครูส่วนใหญ่จะปรับหลักสูตรเพื่อให้เข้ากับท้องถิ่นบ้าง เช่น ใช้วัสดุท้องถิ่นมาประกอบการเรียนการสอน แม้โรงเรียนจะมีเป้าหมายเน้นสอนวิชาชีพแก่นักเรียน แต่ก็ไม่ได้จัดการเรียนการสอนที่สอดคล้องกับอาชีพของท้องถิ่น เช่น การทำสวนผลไม้ (หน้า 73-74, 86-92, 127, 133-134) นักเรียนชองชั้น ป.5 และ ป. 6 โรงเรียนวัดทุ่งสะพานส่วนใหญ่ไม่สนใจศึกษาต่อในระดับมัธยมศึกษา เนื่องจากครอบครัวยากจนจึงต้องการให้บุตรหลานทำงานมากกว่าเรียนต่อ นักเรียนชองมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนค่อนข้างต่ำ แต่ผ่านเกณฑ์ที่สำนักงานการประถมศึกษา อ.มะขามที่วางไว้ คือ ร้อยละ 60 ของแต่ละกลุ่มวิชา ผู้บริหารการศึกษาประจำอำเภอมองว่าสาเหตุที่ผลสัมฤทธิ์การศึกษาของนักเรียนต่ำจนเกือบอยู่อันดับสุดท้ายของอำเภอ เพราะพื้นฐานและสภาพความพร้อมโดยทั่วไปของนักเรียนไม่ดี รวมไปถึงสภาพความเป็นอยู่และโภชนาการ ศึกษานิเทศก์ประจำอำเภอจึงพยายามเร่งรัดคุณภาพการศึกษาโดยคำนึงถึงความพร้อมของนักเรียน ใช้กลวิธีการเรียนการสอนที่เหมาะสม สร้างเจตคติที่ดีต่อการเรียนการสอนของครู และการมีสุขภาพพลานามัยดีของนักเรียน ส่วนผู้ปกครองต้องการให้บุตรหลานตัวเองเรียนให้พอมีความรู้บ้างเพื่อหางานทำได้ง่ายๆ ถ้าไม่เลือกงาน เนื่องจากมีฐานะที่ยากจนจึงไม่อยากให้บุตรหลานเรียนสูง (หน้า 92-97, 128, 134-136) ในแง่ปัญหาการศึกษาในโรงเรียนพบว่า โรงเรียนวัดทุ่งสะพานไม่อาจจะปฏิบัติให้บรรลุเป้าหมายตามที่รัฐกำหนด เพราะหลักสูตรกำหนดเนื้อหาวิชาไว้กลางๆ และการเรียนการสอนที่เป็นปัญหามากที่สุด คือการเรียนการสอนในกลุ่มวิชาประสบการณ์พิเศษ เช่น วิชาภาษาอังกฤษ นอกจากนี้ปัญหาที่ครูหนักใจมากที่สุดคือ การรักษาความสะอาดของนักเรียน สำหรับนักเรียน พวกเขาต้องการให้ครูสอนเนื้อหาเพิ่มเติมในกลุ่มวิชาที่ใกล้ตัวนักเรียน เช่น ภาษาชอง ประวัติความเป็นมาของชอง การประกอบอาชีพ เป็นต้น ผู้วิจัยพบว่าครูโรงเรียนวัดทุ่งสะพานไม่สามารถสอนเรื่องเหล่านี้ตามความต้องการของนักเรียนได้ เพราะครูไม่มีความรู้เรื่องดังกล่าว (หน้า 97-112, 130, 136-137) ในแง่สภาพปัญหาและความต้องการการศึกษานอกโรงเรียนพบว่า มีสถาบันต่างๆ ที่ถ่ายทอดความรู้ให้แก่นักเรียนชองอยู่หลายสถาบัน ได้แก่ ครอบครัว วัด และสื่อมวลชน โดยแต่ละสถาบันมีบทบาทการถ่ายทอดการศึกษาที่แตกต่างกันไป คือ สถาบันครอบครัว เป็นสถาบันที่มีบทบาทมากที่สุดในการถ่ายทอดความรู้ด้านต่างๆ ทั้งการใช้ภาษา ศาสนาและจริยธรรม วัฒนธรรมประเพณี ความเชื่อต่างๆ ตลอดจนการปลูกฝังค่านิยมต่างๆ ของชอง สถาบันศาสนา พระสงฆ์ในวัดทุ่งสะพานไม่ได้มีบทบาทถ่ายทอดความรู้โดยตรงให้กับนักเรียน เพราะมีพระสงฆ์เพียง 2 รูปเท่านั้น จะมีเพียงเด็กวัด 2 - 3 คนเท่านั้นที่ได้รับคำสั่งสอนจากพระสงฆ์บ้าง อย่างไรก็ตามแม้สถาบันศาสนาจะไม่ได้ให้ความรู้กับนักเรียนโดยตรง แต่วัดทุ่งสะพานก็เป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวบ้านในการประกอบกิจกรรมทางศาสนา สถาบันสื่อมวลชน เด็กนักเรียนชองได้รับความรู้จากสื่อวิทยุมากที่สุด เพราะมีราคาถูก นอกจากนี้ยังมีสื่อโทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ นิตยสารและวารสาร เนื้อหาส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องความบันเทิง เช่น รายการเพลง ภาพยนตร์ ละคร เป็นต้น (หน้า 112-114, 130-131, 137-140) ในแง่ความต้องการศึกษานอกโรงเรียนของนักเรียนชองแบ่งออกเป็นความต้องการด้านต่างๆ ดังนี้ ความต้องการปรับปรุงคุณภาพชีวิต นักเรียนต้องการได้ความรู้เรื่องการรักษาสุขภาพอนามัย และความรู้ด้านโภชนาการ แต่ผู้ปกครองบางคนเห็นว่าในเมื่อฐานะทางเศรษฐกิจยังยากจนอยู่จะให้บริโภคอาหารที่มีคุณภาพสูงคงเป็นไปได้ยาก ความต้องการด้านอาชีพ นักเรียนชองต้องการความรู้เกี่ยวกับการทำสวนผลไม้ ได้แก่ เงาะ ทุเรียน มังคุด ลางสาด ระกำ เป็นต้น ความต้องการด้านรักษาวัฒนธรรมประเพณีของชอง นักเรียนต้องการให้รักษาประเพณีแต่งงานแบบชอง ประเพณีการทำบุญทุ่ง เพราะเป็นประเพณีที่ปฏิบัติกันมานาน ส่วนประเพณีที่ไม่ต้องการให้รักษาไว้คือประเพณีการเกิดที่ยังใช้วิธีแบบเก่าคือใช้หมอตำแย (หน้า 114-121, 140-142)

Health and Medicine

เมื่อชาวบ้านหมู่บ้านทุ่งสะพานเจ็บป่วย จะไปรักษาที่ ร.พ. มะขาม ห่างจากหมู่บ้าน 6 กม. เป็นร.พ. ประจำอำเภอขนาด 10 เตียง มีแพทย์ประจำ 1 คน พยาบาล 3 คน เจ้าหน้าที่อนามัยอื่นๆอีก 10 คน แต่เดิมชาวบ้านทุ่งสะพานจะใช้บริการจากสถานีอนามัยประจำ ต.พลวง โรคที่ชาวบ้านเป็นกันมากคือ โรคทางเดินอาหาร เพราะชาวบ้านดื่มน้ำไม่สะอาด เจ้าหน้าที่ประจำ ร.พ.บอกว่า ชาวบ้านไม่ค่อยฟังคำแนะนำจากเจ้าหน้าที่ ยังมีความเชื่อแบบเก่าๆ อยู่ ในหมู่บ้านจะมีหมอไสยศาสตร์อยู่ 3 คน อายุ 46-70 ปี รักษาโรคประเภทโรคข้อ กระดูกเคลื่อนหรือหัก เลือดลมเป็นพิษ งูกัด เป็นต้น ชาวบ้านยังนิยมไปรักษา จะใช้คาถาอาคมบวกสมุนไพร คิดค่ายกครูคนละ 12 บาท ค่ายาต่างหาก (หน้า 65-66)

Art and Crafts (including Clothing Costume)

ตอนหนึ่งในข้อเขียนของชิน อยู่ดี ระบุถึงลักษณะเครื่องแต่งกายของชองไว้ว่า "พวกนี้บางคนเพาะปลูกกระวาน ฝ้ายและทอผ้า ผ้าของพวกนี้มีเนื้อหยาบ ลวดลายก็ไม่เป็นระเบียบ" (หน้า 27) การแต่งกายเหมือนคนไทยในชนบททั่วไป ไม่มีชุดประจำเผ่า ผู้เฒ่าที่เป็นหญิงจะนุ่งผ้าโจงกระเบน สวมเสื้อไม่มีแขน รัดลำตัวจนพอดี คอกลม ผ่าหน้า หรือสวมเสื้อคอกระเช้า ผู้เฒ่าที่เป็นชายมักจะนุ่งกางเกงจีนขายาว มีผ้าขาวม้าคาดเอวหรือพาดบ่า มักไม่สวมเสื้อ ถ้าเป็นชายหนุ่มหรือชายที่อายุยังไม่มาก มักจะนุ่งกางเกงจีนขาสามส่วนหรือกางเกงธรรมดา ใส่เสื้อแขนยาวสีดำ มีผ้าขาวม้าคาดเอวหรือโพกศรีษะ ส่วนผู้หญิงจะนุ่งผ้าถุง ใส่เสื้อผ้าธรรมดา ชอบทาปากสีแดง มักชอบใส่ลูกปัดและกำไล (หน้า 32) ระหว่างเกี่ยวข้าวจะมีการร้องเพลงเชิญขวัญข้าว (ดูเนื้อหาเพลงได้ที่หน้า 43) ชองจะมีการละเล่นเพื่อความสนุกสนาน แฝงไว้ด้วยประเพณีความเชื่อ การละเล่นที่นิยมเล่นกันอยู่ในปัจจุบัน ได้แก่ การเล่นงานใหญ่ การเล่นเชิญผีหิ้ง และการเล่นสะบ้า การเล่นงานใหญ่ เป็นการละเล่นประกอบพิธีแต่งงาน เป็นส่วนหนึ่งของพิธีการ การเล่นเชิญผีหิ้ง เป็นการละเล่นเพื่อเชิญดวงวิญญาณของผู้ที่เสียชีวิตไปแล้วที่เป็นญาติพี่น้องให้มาเข้าร่างคนทรงเพื่อถามถึงทุกข์สุข ทำนายเหตุการณ์ในอนาคตให้กับญาติพี่น้อง ส่วนการเล่นสะบ้า เป็นการละเล่นที่นิยมโดยทั่วไป จะเล่นกันในวันตรุษสงกรานต์ประมาณ 4-5 วัน (ดูรายละเอียดได้ที่หน้า 46-52)

Folklore

มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับการที่ชองไม่มีภาษาเขียนเป็นของตัวเอง เพราะ ในตอนต้นยุคพุทธศาสนา มีผู้รู้หนังสือเชิญมนุษย์ให้ไปรับตัวหนังสือ ตัวแทนชองก็ไปขอรับตัวหนังสือโดยการเดินทางด้วยเรือ โดยใช้ท่อนอ้อยเป็นพาย ขณะพายเรือก็กินพายคืออ้อยไปพลางจนเกือบหมด ท่อนอ้อยจึงสั้นลงเรื่อยๆ จึงพายเรือไปถึงช้า เมื่อตัวแทนชองไปถึงผู้รู้ เผ่าอื่นๆ ก็ขอตัวหนังสือไปหมดแล้ว ชองจึงไม่มีตัวหนังสือหรือภาษาเขียนจนถึงบัดนี้ (หน้า 29-30) เรื่องอาหารการกินของชองมีนิยายปรัมปราเล่าสืบต่อมาว่า เดิมชองอยู่ในป่ากินกลอยเป็นอาหาร วันหนึ่งชองแม่ลูกออกจากป่าไปที่ทุ่ง เห็นคนที่นั่นกินข้าว ลูกจึงถามแม่ว่า "เขากินอะไรกัน เม็ดเล็กกว่ากลอยที่เรากิน" แม่ตอบว่า "เราอยู่ป่าก็ต้องกินกลอย เขาอยู่ทุ่งอยู่ท่าก็กินข้าวเม็ดเล็ก" เมื่อกลับถึงบ้านลูกได้เล่าให้พ่อผู้เป็นพรานฟัง พ่อสนใจจึงชวนคนไปดูที่ทุ่ง เมื่อไปถึงเห็นคนกินข้าวกันจึงถามว่าไปเอาข้าวมาจากไหน ชาวทุ่งตอบว่าได้ข้าวมาจากนา ชี้ให้ดูนาและอธิบายให้ชองทราบ ตั้งแต่นั้นมาชองก็รู้วิธีทำนา เมื่อเกี่ยวข้าวและตำข้าวก็เอารำมาหุงกิน ส่วนข้าวสารทิ้งจนเป็นกองโต เพราะชองลืมถามไปว่าต้องเอาส่วนไหนของข้าวมากิน จนวันหนึ่งพ่อแม่ไม่อยู่บ้าน ทิ้งลูกสาวให้เลี้ยงน้อง น้องเกิดร้องไห้ไม่ยอมหยุดเพราะหิว พี่สาวโกรธจะลงโทษน้อง มองไปเห็นข้าวสารเมล็ดโตกว่ารำ นึกในใจว่าหากเอาข้าวสารมาหุงให้น้องกินคงจะติดคอน้อง จะได้หยุดร้องไห้ เมื่อหุงข้าวเสร็จและลองชิมดู ก็รู้สึกว่านุ่มและมีรสชาติอร่อยกว่ารำ พี่สาวจึงกินเอง เมื่อพ่อแม่กลับมาจึงเล่าให้พ่อแม่ฟัง พ่อแม่จึงลองชิมดูจึงติดใจ แล้วเล่าให้เพื่อนบ้านฟัง แต่นั้นมาชองก็หุงข้าวกิน (หน้า 33)

Ethnicity (Ethnic Identity, Boundaries and Ethnic Relation)

คนไทยเรียกชนกลุ่มนี้ว่า "ชอง" (Chong) คนเขมรเรียกว่า "ปอร์" (Porr) และเขาเรียกตัวเองว่า "ทัมเร็ท" หรือ "สัมแร่" (Tumret or Samrae) (หน้า 24) ชองมีความรู้สึกกลัวคนไทย เพราะมีความรู้สึกว่าตัวเองเป็นคนป่า มีวัฒนธรรมที่ด้อยกว่าคนไทย กลัวคนไทยจะมาไล่ที่ไม่ให้อยู่ (หน้า 27-28)

Social Cultural and Identity Change

ปัจจุบันเด็กชองรุ่นใหม่ ไม่ค่อยมีใครพูดภาษาชองแล้ว เนื่องจากอายและเห็นว่าเป็นปมด้อย คนที่ใช้ภาษาชองในปัจจุบันส่วนใหญ่มีอายุประมาณ 40-50 ปีชึ้นไป (หน้า 28) และมีจำนวนผู้ใช้ลดลงมาก เพราะคนชองจำเป็นต้องติดต่อกับคนไทย จึงจำเป็นต้องพูดภาษาไทย และนำมาใช้ในชีวิตประจำวัน ภาษาชองจึงกำลังถูกภาษาไทยกลืนหายไป (หน้า 29, 67, 71)

Critic Issues

ไม่มีข้อมูล

Other Issues

ไม่มี

Map/Illustration

ผู้วิจัยได้ใช้ตาราง รูปภาพ แผนภาพประกอบ เพื่อเสนอข้อมูลประกอบงานวิจัย เช่น จำนวนนักเรียน ผลงานวิจัยในด้านต่างๆ ภาพประกอบในด้านวิถีชีวิต วัฒนธรรมประเพณีของชอง รวมไปถึงแผนภาพของหมู่บ้านและโรงเรียน เป็นต้น

Text Analyst สิทธิพร จรดล Date of Report 21 ธ.ค. 2563
TAG ชอง, สภาพการศึกษา, ปัญหา, จันทบุรี, Translator -
 
 

 

ฐานข้อมูลอื่นๆของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
  ฐานข้อมูลพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทย
จารึกในประเทศไทย
จดหมายเหตุทางมานุษยวิทยา
แหล่งโบราณคดีที่สำคัญในประเทศไทย
หนังสือเก่าชาวสยาม
ข่าวมานุษยวิทยา
ICH Learning Resources
ฐานข้อมูลเอกสารโบราณภูมิภาคตะวันตกในประเทศไทย
ฐานข้อมูลประเพณีท้องถิ่นในประเทศไทย
ฐานข้อมูลสังคม - วัฒนธรรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  หน้าหลัก
งานวิจัยชาติพันธุ์ในประเทศไทย
บทความชาติพันธุ์
ข่าวชาติพันธุ์
เครือข่ายชาติพันธุ์
เกี่ยวกับเรา
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  ข้อมูลโครงการ
ทีมงาน
ติดต่อเรา
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
ช่วยเหลือ
  กฏกติกาและมารยาท
แบบสอบถาม
คำถามที่พบบ่อย


ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) เลขที่ 20 ถนนบรมราชชนนี เขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ 10170 
Tel. +66 2 8809429 | Fax. +66 2 8809332 | E-mail. webmaster@sac.or.th 
สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2549    |   เงื่อนไขและข้อตกลง