สมัครสมาชิก   
| |
ค้นหาข้อมูล
ค้นหาแบบละเอียด
  •   ความเป็นมาและหลักเหตุผล

    เพื่อรวบรวมงานวิจัยทางชาติพันธุ์ที่มีคุณภาพมาสกัดสาระสำคัญในเชิงมานุษยวิทยาและเผยแผ่สาระงานวิจัยแก่นักวิชาการ นักศึกษานักเรียนและผู้สนใจให้เข้าถึงงานวิจัยทางชาติพันธุ์ได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น

  •   ฐานข้อมูลจำแนกกลุ่มชาติพันธุ์ตามชื่อเรียกที่คนในใช้เรียกตนเอง ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้ คือ

    1. ชื่อเรียกที่ “คนอื่น” ใช้มักเป็นชื่อที่มีนัยในทางเหยียดหยาม ทำให้สมาชิกกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ รู้สึกไม่ดี อยากจะใช้ชื่อที่เรียกตนเองมากกว่า ซึ่งคณะทำงานมองว่าน่าจะเป็น “สิทธิพื้นฐาน” ของการเป็นมนุษย์

    2. ชื่อเรียกชาติพันธุ์ของตนเองมีความชัดเจนว่าหมายถึงใคร มีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมอย่างไร และตั้งถิ่นฐานอยู่แห่งใดมากกว่าชื่อที่คนอื่นเรียก ซึ่งมักจะมีความหมายเลื่อนลอย ไม่แน่ชัดว่าหมายถึงใคร 

     

    ภาพ-เยาวชนปกาเกอะญอ บ้านมอวาคี จ.เชียงใหม่

  •  

    จากการรวบรวมงานวิจัยในฐานข้อมูลและหลักการจำแนกชื่อเรียกชาติพันธุ์ที่คนในใช้เรียกตนเอง พบว่า ประเทศไทยมีกลุ่มชาติพันธุ์มากกว่า 62 กลุ่ม


    ภาพ-สุภาษิตปกาเกอะญอ
  •   การจำแนกกลุ่มชนมีลักษณะพิเศษกว่าการจำแนกสรรพสิ่งอื่นๆ

    เพราะกลุ่มชนต่างๆ มีความรู้สึกนึกคิดและภาษาที่จะแสดงออกมาได้ว่า “คิดหรือรู้สึกว่าตัวเองเป็นใคร” ซึ่งการจำแนกตนเองนี้ อาจแตกต่างไปจากที่คนนอกจำแนกให้ ในการศึกษาเรื่องนี้นักมานุษยวิทยาจึงต้องเพิ่มมุมมองเรื่องจิตสำนึกและชื่อเรียกตัวเองของคนในกลุ่มชาติพันธุ์ 

    ภาพ-สลากย้อม งานบุญของยอง จ.ลำพูน
  •   มโนทัศน์ความหมายกลุ่มชาติพันธุ์มีการเปลี่ยนแปลงในช่วงเวลาต่างๆ กัน

    ในช่วงทศวรรษของ 2490-2510 ในสาขาวิชามานุษยวิทยา “กลุ่มชาติพันธุ์” คือ กลุ่มชนที่มีวัฒนธรรมเฉพาะแตกต่างจากกลุ่มชนอื่นๆ ซึ่งมักจะเป็นการกำหนดในเชิงวัตถุวิสัย โดยนักมานุษยวิทยาซึ่งสนใจในเรื่องมนุษย์และวัฒนธรรม

    แต่ความหมายของ “กลุ่มชาติพันธุ์” ในช่วงหลังทศวรรษ 
    2510 ได้เน้นไปที่จิตสำนึกในการจำแนกชาติพันธุ์บนพื้นฐานของความแตกต่างทางวัฒนธรรมโดยตัวสมาชิกชาติพันธุ์แต่ละกลุ่มเป็นสำคัญ... (อ่านเพิ่มใน เกี่ยวกับโครงการ/คู่มือการใช้)


    ภาพ-หาดราไวย์ จ.ภูเก็ต บ้านของอูรักลาโว้ย
  •   สนุก

    วิชาคอมพิวเตอร์ของนักเรียน
    ปกาเกอะญอ  อ. แม่ลาน้อย
    จ. แม่ฮ่องสอน


    ภาพโดย อาทิตย์    ทองดุศรี

  •   ข้าวไร่

    ผลิตผลจากไร่หมุนเวียน
    ของชาวโผล่ว (กะเหรี่ยงโปว์)   
    ต. ไล่โว่    อ.สังขละบุรี  
    จ. กาญจนบุรี

  •   ด้าย

    แม่บ้านปกาเกอะญอ
    เตรียมด้ายทอผ้า
    หินลาดใน  จ. เชียงราย

    ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ถั่วเน่า

    อาหารและเครื่องปรุงหลัก
    ของคนไต(ไทใหญ่)
    จ.แม่ฮ่องสอน

     ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ผู้หญิง

    โผล่ว(กะเหรี่ยงโปว์)
    บ้านไล่โว่ 
    อ.สังขละบุรี
    จ. กาญจนบุรี

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   บุญ

    ประเพณีบุญข้าวใหม่
    ชาวโผล่ว    ต. ไล่โว่
    อ.สังขละบุรี  จ.กาญจนบุรี

    ภาพโดยศรยุทธ  เอี่ยมเอื้อยุทธ

  •   ปอยส่างลอง แม่ฮ่องสอน

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ปอยส่างลอง

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดย เบญจพล  วรรณถนอม
  •   อลอง

    จากพุทธประวัติ เจ้าชายสิทธัตถะ
    ทรงละทิ้งทรัพย์ศฤงคารเข้าสู่
    ร่มกาสาวพัสตร์เพื่อแสวงหา
    มรรคผลนิพพาน


    ภาพโดย  ดอกรัก  พยัคศรี

  •   สามเณร

    จากส่างลองสู่สามเณร
    บวชเรียนพระธรรมภาคฤดูร้อน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   พระพาราละแข่ง วัดหัวเวียง จ. แม่ฮ่องสอน

    หล่อจำลองจาก “พระมหามุนี” 
    ณ เมืองมัณฑะเลย์ ประเทศพม่า
    ชาวแม่ฮ่องสอนถือว่าเป็นพระพุทธรูป
    คู่บ้านคู่เมืององค์หนึ่ง

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม

  •   เมตตา

    จิตรกรรมพุทธประวัติศิลปะไต
    วัดจองคำ-จองกลาง
    จ. แม่ฮ่องสอน
  •   วัดจองคำ-จองกลาง จ. แม่ฮ่องสอน


    เสมือนสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรม
    เมืองไตแม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ใส

    ม้งวัยเยาว์ ณ บ้านกิ่วกาญจน์
    ต. ริมโขง อ. เชียงของ
    จ. เชียงราย
  •   ยิ้ม

    แม้ชาวเลจะประสบปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัย
    พื้นที่ทำประมง  แต่ด้วยความหวัง....
    ทำให้วันนี้ยังยิ้มได้

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ผสมผสาน

    อาภรณ์ผสานผสมระหว่างผ้าทอปกาเกอญอกับเสื้อยืดจากสังคมเมือง
    บ้านแม่ลาน้อย จ. แม่ฮ่องสอน
    ภาพโดย อาทิตย์ ทองดุศรี
  •   เกาะหลีเป๊ะ จ. สตูล

    แผนที่ในเกาะหลีเป๊ะ 
    ถิ่นเดิมของชาวเลที่ ณ วันนี้
    ถูกโอบล้อมด้วยรีสอร์ทการท่องเที่ยว
  •   ตะวันรุ่งที่ไล่โว่ จ. กาญจนบุรี

    ไล่โว่ หรือที่แปลเป็นภาษาไทยว่า ผาหินแดง เป็นชุมชนคนโผล่งที่แวดล้อมด้วยขุนเขาและผืนป่า 
    อาณาเขตของตำบลไล่โว่เป็นส่วนหนึ่งของป่าทุ่งใหญ่นเรศวรแถบอำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี 

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   การแข่งขันยิงหน้าไม้ของอาข่า

    การแข่งขันยิงหน้าไม้ในเทศกาลโล้ชิงช้าของอาข่า ในวันที่ 13 กันยายน 2554 ที่บ้านสามแยกอีก้อ อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย
 
  Princess Maha Chakri Sirindhorn Anthropology Centre
Ethnic Groups Research Database
Sorted by date | title

   Record

 
Subject กูย กวย,ญ้อ ย้อ ญ่อ โย้,เศรษฐกิจ,การเมือง,สังคม,วัฒนธรรม,การเปลี่ยนแปลง,ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
Author สมศักดิ์ ศรีสันติสุข, ปนัทดา เผือกพันธ์ (เพ็ชรสิงห์) และ รุ่งอรุณ ทีฆชุณหเถียร
Title การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ การเมือง สังคมและวัฒนธรรมในชุมชนชาติพันธุ์กวยและญ้อ : การศึกษาเปรียบเทียบเฉพาะกรณี
Document Type รายงานการวิจัย Original Language of Text ภาษาไทย
Ethnic Identity ญ้อ ไทญ้อ, กูย กุย กวย โกย โก็ย, Language and Linguistic Affiliations ออสโตรเอเชียติก(Austroasiatic)
Location of
Documents
ห้องสมุดศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร Total Pages 274 Year 2532
Source องค์การบริหารวิเทศกิจแห่งสหรัฐอเมริกา (USAID) และ สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยขอนแก่น
Abstract

งานวิจัยชิ้นนี้ศึกษาเปรียบเทียบชุมชนชาติพันธุ์กวยและญ้อในเรื่องประวัติความเป็นมาของชุมชน ลักษณะปัจจัยและผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ การเมือง สังคมและวัฒนธรรม ผลการวิจัยพบว่า ลักษณะทั่วไปของชุมชนทั้ง 2 แตกต่างกัน ทั้งประวัติความเป็นมาของชุมชน โครงสร้างของประชากรที่แสดงให้เห็นอัตราส่วนผู้ที่เป็นภาระในชุมชนกวยน้อยกว่าชุมชนญ้อ พื้นที่ตั้งของกวยมีความอุดมสมบูรณ์ในการทำการเกษตรน้อยกว่าพื้นที่ของญ้อ แบบแผนการตั้งถิ่นฐานกระจุกตัวคล้ายคลึงกัน ชุมชนทั้ง 2 ประกอบอาชีพเกษตรกรรมคล้ายกัน วิถีชีวิตทางเศรษฐกิจเริ่มมีระบบเศรษฐกิจการค้าเข้ามาเกี่ยวข้อง ผู้นำทางการเมืองของทั้ง 2 ชุมชนเปลี่ยนไปเป็นตัวแทนของรัฐมากขึ้น ทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างผู้นำกับชาวบ้านในชุมชนกวย แต่ชุมชนญ้อไม่พบความขัดแย้งลักษณะนี้ ในส่วนโครงสร้างครอบครัวของกวยเป็นแบบครอบครัวขยายที่ลูกเขยไปอยู่กับแม่ยาย ส่วนญ้อเป็นครอบครัวขยายที่ลูกสะใภ้ไปอยู่กับแม่ผัว บทบาทของพ่อแม่ในการเลี้ยงดูบุตรน้อยลงเนื่องจากภาระทางเศรษฐกิจ การแต่งงานมีประเพณีเฉพาะของแต่ละชุมชน ความสัมพันธ์ระหว่างเครือญาติของทั้ง 2 ชุมชนแน่นแฟ้นมาก ส่วนการศึกษาบทบาทของครูที่มีต่อชุมชนน้อยลง เพราะครูเป็นคนนอกพื้นที่ อาศัยอยู่นอกชุมชน การกลับมาทำประโยชน์ของนักเรียนต่อชุมชนเมื่อเรียนจบยังมีน้อยมาก การรักษาพยาบาลของทั้ง 2 ชุมชน เปลี่ยนจากการรักษาแบบพื้นบ้านเป็นการรักษาตามแบบแผนตะวันตก มีการวางแผนครอบครัวและคุมกำเนิดในทั้ง 2 ชุมชน กวยยังนับถือผีบรรพบุรุษ ส่วยญ้อเลิกนับถือผีบรรพบุรุษแล้ว ชาวบ้านทั้ง 2 ชุมชนพักผ่อนโดยการฟังวิทยุ ชมละครโทรทัศน์ ชมภาพยนตร์กลางแปลงที่เข้ามาฉายเก็บเงิน ออกไปเที่ยวงานบุญนอกหมู่บ้าน ในตัวจังหวัด นอกจากนี้ชาวบ้านทั้ง 2 ชุมชนยังนิยมดื่มเหล้า เล่นการพนัน อีกด้วย ปัจจัยภายนอก เช่น การพัฒนาสาธารณูปโภค การแพร่กระจายทางวัฒนธรรม การแพร่กระจายของอำนาจรัฐ ปัจจัยด้านสื่อสารมวลชน เป็นปัจจัยที่สำคัญและมีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ การเมือง สังคมและวัฒนธรรม ส่วนปัจจัยภายในที่สนับสนุน ได้แก่ ปัจจัยด้านนิเวศวิทยา ชาติพันธุ์ บุคลิกภาพ ความเชื่อและประเพณี (หน้า (2)-(4))

Focus

เปรียบเทียบชุมชนชาติพันธุ์กวยและญ้อในเรื่องประวัติความเป็นมาของชุมชน ลักษณะปัจจัยและผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ การเมือง สังคมและวัฒนธรรม (หน้า (1), (2), 5-6, 261)

Theoretical Issues

คณะผู้วิจัยได้พัฒนาแนวคิดจากผลของการวิจัยแยกเป็นประเด็นต่างๆ ดังนี้ 1.แนวคิดต่อลักษณะของการเปลี่ยนแปลง (1)การเปลี่ยนแปลงที่ได้รับอิทธิพลจากการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมมากที่สุดคือการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ ซึ่งแตกต่างไปในแต่ละชุมชน การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองจะเปลี่ยนแปลงช้ากว่าการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจแต่เร็วกว่าการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรม (2)การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ การเมือง สังคม และวัฒนธรรม ในแต่ละชุมชนชาติพันธุ์มีลักษณะเฉพาะที่แตกต่างกัน 2.แนวคิดต่อปัจจัยของการเปลี่ยนแปลง (1) ปัจจัยภายนอกที่สำคัญคือ ปัจจัยด้านสาธารณูปโภค การแพร่กระจายทางวัฒนธรรม สื่อสารมวลชน ส่วนปัจจัยภายในคือ ปัจจัยทางนิเวศวิทยา ชาติพันธุ์ บุคลิกภาพ ความเชื่อและประเพณี (2) ปัจจัยการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในชุมชนเป็นสิ่งใหม่ที่กระทบกับวัฒนธรรมเดิม จะเป็นปัญหาหรือไม่ขึ้นอยู่กับการปรับตัวต่อสิ่งที่เป็นสาเหตุของการเปลี่ยนแปลงนั้น (3) การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในแต่ละชุมชน จะปรับตัวช้าหรือเร็วขึ้นอยู่กับโครงสร้างทางสังคมและวัฒนธรรมของแต่ละชุมชน (4) ปัจจัยที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไม่ได้มีปัจจัยเดียว (5) ยังมีปัจจัยแอบแฝงที่เมื่อค้นพบจะทำให้สมมติฐานมีปัจจัยอื่นๆ เหล่านั้นเพิ่มเติม (6) การเปลี่ยนแปลงในแต่ละชุมชนอาจจะแตกต่างกันและอัตราของความแตกต่างย่อมเกิดขึ้นได้ 3.แนวคิดต่อผลกระทบของการเปลี่ยนแปลง (1) ผลกระทบทางเศรษฐกิจมีมากที่สุด รองลงมาคือการเมือง และที่ช้าที่สุดคือผลกระทบทางสังคมและวัฒนธรรม (2) ผลกระทบจะเกิดขึ้นช้าหรือเร็วขึ้นอยู่กับลักษณะโครงสร้างทางสังคมและวัฒนธรรมว่าจะปรับตัวได้มากน้อยเพียงใด (หน้า 269-271)

Ethnic Group in the Focus

ศึกษาชุมชนชาติพันธุ์กวยและญ้อใน จ.สุรินทร์ และ จ.นครพนม โดยศึกษาเปรียบเทียบระหว่างชุมชนกวย บ้านว่าน ต.บุแกรง อ.จอมพระ จ.สุรินทร์ และชุมชนญ้อ บ้านโพน ต.โนนตาล อ.ท่าอุเทน จ.นครพนม (หน้า (2), 37, 41)

Language and Linguistic Affiliations

กวยมีภาษาพูดอยู่ในตระกูลมอญ - เขมร (หน้า 80) ส่วนญ้อมีภาษาพูดอยู่ในตระกูลไตหรือไทย (หน้า 85)

Study Period (Data Collection)

ผู้วิจัยระบุว่าใช้เวลาวางแผนวิจัยและเขียนรายงานเป็นเวลา 1 ปี 10 เดือน โดยใช้เวลาเก็บข้อมูลภาคสนามเป็นเวลา 1 ปี (ระหว่างวันที่ 1 มีนาคม 2531 - 28 กุมภาพันธ์ 2532) ส่วนอีก 10 เดือน เป็นการประมวลผลข้อมูล (หน้า 41, 42-43, 261)

History of the Group and Community

ชุมชนกวย หมู่บ้านว่าน ต.บุแกรง อ.จอมพระ จ.สุรินทร์ ชนชาติพันธุ์กูยหรือกวยเป็นกลุ่มคนในกลุ่มชาติพันธุ์ตระกูลมอญ - เขมร โดยชุมชนบ้านว่านตั้งมานานประมาณ 120-150 ปี โดยครอบครัวแรกของชุมชนอพยพมาจากบ้านกันตรง (อยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของบ้านว่านห่างไปประมาณ 2 กม.) เพราะเกิดโรคระบาดและต้องการจับจองที่ดินทำกินเพราะยังเป็นป่าทึบและใกล้ลำห้วย โดยชาวบ้านกลุ่มแรกตั้งบ้านเรือนบริเวณ "โคกขะยูง" (อยู่ทางทิศตะวันออกของชุมชนห่างไป 1 กม.) เพราะเป็นที่สูงน้ำท่วมไม่ถึง แต่เมื่อตั้งบ้านเรือนได้ 3-4 ปี ก็เกิดอหิวาต์ระบาดในชุมชน และมีพระธุดงค์มาแนะนำให้ชาวบ้านอพยพมาทางทิศตะวันตก (ปัจจุบันคือที่ตั้งโรงเรียนของชุมชน) ชาวบ้านจึงอพยพมา กระทั่ง 50-60 ปีที่ผ่านมามีการขยายตัวของครัวเรือนเนื่องจากการแต่งงานแยกครอบครัวของชาวบ้าน โดยมีการขยายไปรอบๆ หมู่บ้านทางทิศต่างๆ จนเป็นหมู่บ้านใหญ่ จนปี พ.ศ.2477 ชาวบ้านจึงเริ่มอพยพจากบ้านว่านไปอาศัยตามหมู่บ้านอื่นโดยรอบ โดยชื่อชุมชน "บ้านว่าน" มาจากต้นว่านซึ่งขึ้นอยู่โดยรอบชุมชนนั่นเอง (หน้า 80-83, 88-90, 262) ชุมชนญ้อ หมู่บ้านโพน ต.โนนตาล อ.ท่าอุเทน จ.นครพนม ญ้อเป็นกลุ่มคนในชาติพันธุ์ตระกูลไทย โดยหมู่บ้านโพนมีอายุประมาณ 120 ปี เมื่อแรกตั้งหมู่บ้านมีอยู่เพียง 4 หลังคาเรือนเท่านั้น สาเหตุที่เข้ามาตั้งบ้านเรือนอยู่ในชุมชนนี้เพราะต้องการขยายที่ทำกิน และต่อมามีคนเชื้อไทยโฮงจากเมืองท่าอุเทนอพยพเข้ามาอยู่ด้วยจนหมู่บ้านขยายขนาดเป็นหมู่บ้านใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ เช่นไปทางทิศใต้ของหมู่บ้านซึ่งเป็นป่าครามเกิดเป็นหมู่บ้านใหม่ชื่อ "บ้านเหล่าสวนคราม" หรือ "บ้านขาดกลาง" ทางทิศเหนือของบ้านโพนเป็นที่ตั้งของศาลปู่ตาซึ่งชาวบ้านเรียกว่า "เจ้าบ้าน" โดยชาวบ้านเชื่อว่าเจ้าบ้านทำให้ชุมชนสงบสุข แต่ก็มีบางกลุ่มที่ไม่เชื่อและพยายามจะเอาออกไปจากหมู่บ้าน คนกลุ่มนั้นจึงเกิดการเจ็บป่วยและสัตว์ล้มตายโดยไม่ทราบสาเหตุ จึงต้องเชิญเจ้าบ้านกลับมาในหมู่บ้านอีกครั้ง (หน้า 85-90, 262)

Settlement Pattern

ชุมชนกวย หมู่บ้านว่าน ต.บุแกรง อ.จอมพระ จ.สุรินทร์ บริเวณที่ตั้งบ้านเป็นเนินสูง ลักษณะที่ตั้งของชุมชนเป็นแบบกระจุก (Cluster) อยู่กันอย่างหนาแน่น (หน้า 72 และดูแผนผังบ้านว่านได้ที่หน้า 73, 78, 261) ชุมชนญ้อ หมู่บ้านโพน ต.โนนตาล อ.ท่าอุเทน จ.นครพนม ที่ตั้งชุมชนเป็นพื้นที่สูง ลักษณะที่ตั้งของชุมชนกระจุกตัว (Cluster) มีลักษณะเป็น 2 คุ้มคือบริเวณบ้านเก่าและบ้านใหม่ ถือเอาวัดเป็นจุดแบ่ง บ้านเรือนตั้งเรียงรายตามถนนในหมู่บ้าน โดยมีถนนหลัก 1 สายที่วิ่งผ่านหมู่บ้าน (หน้า 75 และดูแผนผังชุมชนประกอบได้ที่หน้า 76, 78, 261)

Demography

ชุมชนกวย หมู่บ้านว่าน ต.บุแกรง อ.จอมพระ จ.สุรินทร์ จากการเก็บข้อมูลเชิงปริมาณโดยแบบสอบถามพบว่าหมู่บ้านว่านมีครัวเรือนทั้งสิ้น 130 ครัวเรือน มีประชากร 629 คน เป็นชาย 306 คน หญิง 323 คน (หน้า 72) โดยผู้ที่มีอายุระหว่าง 0-14 ปี มีอยู่ 172 คน (ร้อยละ 27.3) ผู้ที่มีอายุ 61 ปีขึ้นไป มีอยู่ 42 คน (ร้อยละ 6.7) ประชากรวัยแรงงานอายุระหว่าง 15-60 ปี มีอยู่ 415 คน (ร้อยละ 66) แสดงให้เห็นว่าวัยแรงงานรับภาระการเลี้ยงดูค่อนข้างน้อยและชาวบ้านนิยมวางแผนครอบครัว (หน้า 90-93) ชุมชนญ้อ หมู่บ้านโพน ต.โนนตาล อ.ท่าอุเทน จ.นครพนม จากการเก็บข้อมูลเชิงปริมาณโดยแบบสอบถามพบว่าหมู่บ้านว่านมีครัวเรือนทั้งสิ้น 123 ครัวเรือน มีประชากร 725 คน เป็นชาย 330 คน หญิง 395 คน (หน้า 75) โดยผู้ที่มีอายุระหว่าง 0-14 ปี มีอยู่ 206 คน (ร้อยละ 28.3) ผู้ที่มีอายุ 61 ปีขึ้นไป มีอยู่ 71 คน (ร้อยละ 9.7) ประชากรวัยแรงงานอายุระหว่าง 15-60 ปี มีอยู่ 451 คน (ร้อยละ 62) แสดงให้เห็นว่าวัยแรงงานรับภาระการเลี้ยงดูค่อนข้างมาก (หน้า 90-93)

Economy

ชุมชนกวย หมู่บ้านว่าน ต.บุแกรง อ.จอมพระ จ.สุรินทร์ ชาวบ้านมีอาชีพเกษตรกรรม เลี้ยงสัตว์ ค้าขาย และมีการออกไปรับจ้างแรงงานนอกพื้นที่หมู่บ้าน ในกรุงเทพฯ และต่างประเทศ ในหมู่บ้านมี "ลำห้วยไผ่" ที่ชาวบ้านอาศัยเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์ และยังมีหนองน้ำอีก 3 หนอง สระน้ำ 4 สระ สำหรับเลี้ยงสัตว์และปลูกพืชสวนครัวบริเวณใกล้ๆ สระน้ำ บ่อบาดาล 8 บ่อ สำหรับดื่มและใช้ ชาวบ้านมักรองน้ำฝนไว้ใช้ในฤดูแล้ง (หน้า 74, 80, 94-97, 261) ชุมชนญ้อ หมู่บ้านโพน ต.โนนตาล อ.ท่าอุเทน จ.นครพนม ญ้อบ้านโพนทำนาเป็นอาชีพหลัก มีอาชีพรองเช่น การทำไร่มันสำปะหลัง ไร่สับปะรด การเลี้ยงสัตว์ เช่น วัวควาย หมู เป็ด ไก่ ห่าน ไก่งวง แหล่งน้ำของชุมชนคือ ห้วยกับแฮก ฮ่องเหมือง กุดฟ้าฮ่วน หนองนาแซงและหนองสิม ชาวบ้านใช้เพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์ มีสระน้ำสาธารณะที่ชาวบ้านขุดขึ้นเพื่อเก็บฝนไว้ใช้ในฤดูแล้ง ส่วนน้ำดื่มชาวบ้านดื่มจากน้ำฝนโอ่งแดง บางครัวเรือนดื่มน้ำในบ่อซึ่งมีอยู่ 2 บ่อในชุมชน (หน้า 77, 80, 98-100, 261)

Social Organization

ชุมชนกวย หมู่บ้านว่าน ต.บุแกรง อ.จอมพระ จ.สุรินทร์ โครงสร้างของครอบครัวมีลักษณะเป็นครอบครัวขยายแบบชั่วคราว คือเมื่อบุตรสาวแต่งงานแล้วจะนำลูกเขยมาอยู่ในครัวเรือน ปัจจุบันชุมชนกวยบ้านว่านมีลักษณะเป็นครอบครัวเดี่ยวร้อยละ 70 ครอบครัวขยายแบบชั่วคราวที่ลูกเขยมาอยู่ร้อยละ 21.6 ครอบครัวขยายแบบชั่วคราวที่ลูกสะใภ้มาอยู่ร้อยละ 5.4 อื่นๆ ร้อยละ 3.1 บทบาทการอบรมเลี้ยงดูบุตรลดลงไปมาก เพราะพ่อแม่ต้องทำมาหากินมากขึ้น และไปทำงานที่อื่นเพื่อหารายได้มาจุนเจือครอบครัว หนุ่มสาวมีสิทธิเลือกคู่ครองมากขึ้น ญาติผู้ใหญ่เพียงแต่ให้คำแนะนำและปรึกษาเท่านั้น เครือญาติยังมีบทบาทในการจัดการเลือกคู่ครอง การแบ่งมรดก การไกล่เกลี่ยข้อขัดแย้งระหว่างสามีและภรรยา เป็นต้น (หน้า 111-120, 263-264) ชุมชนญ้อ หมู่บ้านโพน ต.โนนตาล อ.ท่าอุเทน จ.นครพนม โครงสร้างของครอบครัวเป็นแบบครอบครัวขยาย ฝ่ายหญิงแต่งงานแล้วจะไปอยู่ครอบครัวของฝ่ายชาย แต่ระยะ 20 ปีที่ผ่านมาไม่เคร่งครัดเหมือนก่อน ถือเอาความสะดวกของทั้ง 2 ฝ่าย และในระยะ10 ปีที่ผ่านมา ชุมชนมีลักษณะเป็นครอบครัวเดี่ยวมากขึ้น พ่อแม่ที่เคยมีบทบาทมากในการเลี้ยงดูบุตร ถ่ายทอดปลูกฝังวัฒนธรรมได้ลดบทบาทลง ในปัจจุบันเพราะภาระหน้าที่ทางเศรษฐกิจ ส่วนระบบเครือญาติในหมู่บ้านที่เคยแน่นแฟ้นมาก จนอาจกล่าวได้ว่าทั้งหมู่บ้านเป็นญาติกันและช่วยเหลือกันในด้านกำลังแรงงาน และงานพิธีกรรมกลับเปลี่ยนแปลงไปเช่นกัน เพราะระบบเศรษฐกิจแบบการค้าแพร่เข้ามาในหมู่บ้าน ติดต่อกับโลกภายนอกมากขึ้น ความช่วยเหลือกันจึงลดลง (หน้า 120-135, 263-264)

Political Organization

ชุมชนกวย หมู่บ้านว่าน ต.บุแกรง อ.จอมพระ จ.สุรินทร์ แบ่งการปกครองเป็น 2 หมู่บ้าน คือบ้านว่านและบ้านแท่น (หน้า 72) ผู้นำในชุมชนมีทั้งแบบที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ ในอดีตมักมีคุณลักษณะคล้ายกัน เช่น มีศีลธรรม อาวุโส โดยหลักเกณฑ์พิจารณาผู้ใหญ่บ้านจะดูผู้ที่มีฐานะพออยู่พอกิน รักความยุติธรรม มีศีลธรรม พูดจริงทำจริง ปัจจุบันผู้ใหญ่บ้านต้องซื่อสัตย์ สามารถปกครองลูกบ้านได้ ไม่จำเป็นต้องมีฐานะ สมาคมได้กับคนทุกกลุ่ม มีความรู้เฉพาะเรื่อง ผู้นำห่างเหินกับชาวบ้านและกลายเป็นตัวแทนของรัฐบาลและนำโครงการของรัฐมาให้ชาวบ้านซึ่งทำด้วยความไม่สมัครใจ เพราะการพัฒนาของรัฐที่ลงไปสู่ชาวบ้านมักมีปัญหา ทำให้เกิดความขัดแย้งมากกว่าความสามัคคีภายในชุมชน เพราะโครงการพัฒนาที่เข้ามาสู่หมู่บ้าน ชาวบ้านไม่ได้ประโยชน์ และเกิดผู้นำกลุ่มต่างๆ ขึ้น เช่น ผู้ใหญ่บ้าน กลุ่มลูกค้าธกส. กลุ่มเยาวชน คณะกรรมการการศึกษาของโรงเรียน อสม. เป็นต้น (หน้า 104-105, 263) ชุมชนญ้อ หมู่บ้านโพน ต.โนนตาล อ.ท่าอุเทน จ.นครพนม ผู้นำของชุมชนญ้อในอดีตมีทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการและมักมีคุณลักษณะคล้ายคลึงกัน คือ อาวุโส มั่งคั่ง ส่วนผู้นำในปัจจุบัน ต้องมีความคิดริเริ่ม รักความก้าวหน้า ขยัน ปกครองด้วยวิธีเด็ดขาดและเผด็จการ ผู้นำกลายเป็นตัวแทนราชการ นำโครงการของรัฐมาให้ชาวบ้าน อย่างไรก็ตามญ้อยังยึดถือระบบอาวุโสที่เข้มแข็ง ทำให้ระบบผู้แทนของรัฐที่เข้ามาในชุมชนทำได้ไม่เต็มที่(หน้า 106-110, 263)

Belief System

ชุมชนกวย หมู่บ้านว่าน ต.บุแกรง อ.จอมพระ จ.สุรินทร์ ประเพณีที่ทำในรอบปีของกวยมีดังนี้ (1) ประเพณีเซ่นศาลเจ้าปู่ ในชุมชนมี "ศาลเจ้าต้นมะขาม" อายุใกล้เคียงกับหมู่บ้าน ชาวบ้านจะเซ่นไหว้ศาลปีละ 2 ครั้ง ครั้งแรกในวันขึ้น 3 ค่ำเดือน 3 เพื่อความเป็นสิริมงคลของครอบครัวในโอกาสปีใหม่ ครั้งที่สองวันขึ้น 6 ค่ำเดือน 6 ก่อนฤดูฝนที่ชาวบ้านจะทำกิจกรรมในไร่นา เพื่อให้เกิดความมั่นใจในการทำการเกษตร (2) ประเพณีสวดภูมิบ้าน หรือทำบุญหมู่บ้าน จัดขึ้นทุกวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 5 เป็นการเชิญสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวบ้านนับถือให้มาคุ้มครอง (3) ประเพณีการทำบุญน้ำมัน เดิมเรียกว่า "การทำบุญเทียนใหญ่" เพราะสมัยก่อนชาวบ้านไม่มีน้ำมันใช้ ประเพณีคล้ายการทำบุญผ้าป่าคือเตรียมสิ่งของที่จำเป็นสำหรับพระสงฆ์ไปทอดถวายพระสงฆ์ก่อนวันเข้าพรรษา (4) ประเพณีสงกรานต์และบุญผ้าป่า กวยถือเป็นปีใหม่ทางจันทรคติ จะมีงานรื่นเริงเพื่อพักผ่อนจากช่วงว่างฤดูทำนา เป็นโอกาสที่ญาติพี่น้องที่ไปที่อื่นจะมาพบหน้ากันอีกครั้ง (5) พิธีรับขวัญข้าว เป็นพิธีก่อนนำข้าวไปเก็บในยุ้งฉางเพื่อบอกกล่าวแม่พระธรณี พระภูมิเจ้าที่ ขอให้ทำนาปีต่อไปได้ผลผลิตดียิ่งขึ้น (6) พิธีเชิญข้าวขึ้นยุ้ง ทำเมื่อขนข้าวเปลือกมายุ้งฉางแล้วเพื่อบอกกล่าวให้พระแม่โพสพสถิตในยุ้งฉางเพื่อความสิริมงคลและมีธัญญาหารบริบูรณ์ยิ่งขึ้นไป (7) พิธีเซ่นไหว้บรรพบุรุษ เมื่อเกิดเหตุการณ์ใดขึ้นกับครอบครัวหรือทรัพย์สิน เช่น เจ็บป่วย แต่งงาน ทำงานหรือเรียนหนังสือต่างถิ่น ประสบอุบัติเหตุ จะมีการเซ่นไหว้บรรพบุรุษเพื่อความเป็นสิริมงคล (8) พิธีสู่ขวัญและสะเดาะเคราะห์ พิธีนี้ทำควบคู่ไปกับพิธีเซ่นไหว้บรรพบุรุษ โดยจะมีการบายศรีสู่ขวัญด้วย (9) ประเพณีวันสาร์ท เป็นการเซ่นไหว้บรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว (10) การทำบุญขึ้นบ้านใหม่ (11) การทำบุญงานศพ มี 2 วิธีคือ การทำบุญงานศพแล้วเผาทันทีและทำบุญงานศพแล้วเก็บบรรจุไว้ก่อนจะขุดกระดูกขึ้นมาทำบุญ วิธีแรกจะทำกับศพคนที่ตายด้วยอุบัติเหตุหรือผิดธรรมชาติ ส่วนวิธีที่สองส่วนมากเป็นงานศพของผู้ที่มีฐานะดี การฝังศพเพื่อรอเตรียมเวลาการจัดงานให้สมฐานะ ส่วนพิธีการและขั้นตอนไม่ต่างไปจากวิธีแรก (12) การเล่นแม่มด เกี่ยวกับความเชื่อเรื่องการรักษาคนเจ็บป่วยเรื้อรังที่รักษาด้วยวิธีอื่นๆ แล้วไม่หาย ชาวบ้านเชื่อว่าถ้าเล่นแม่มด ผีบรรพบุรุษจะบอกสาเหตุความเจ็บป่วยได้ ชาวบ้านยังยึดถือมากเพราะเชื่อว่าจะนำความมงคลมาให้ครอบครัวและพ้นจากการเจ็บป่วย (หน้า 150-165) ชุมชนญ้อ หมู่บ้านโพน ต.โนนตาล อ.ท่าอุเทน จ.นครพนม ประเพณีในรอบปีของญ้อมีดังนี้ (1) การนับถือผีเชื้อหรือผีแจ (ผีบรรพบุรุษ) ญ้อเชื่อว่าเมื่อบรรพบุรุษหรือญาติเสียชีวิตแล้วจะยังคงปกป้องลูกหลานให้มีความสุขจึงต้องมีการนับถือเคารพบูชา ญ้อเลิกนับถือผีแจประมาณ 75-80 ปีที่ผ่านมาและหันมานับถือพุทธศาสนาอย่างเดียว (2) ประเพณีการสู่ขวัญ ทำเพื่อให้ขวัญมาอยู่กับเนื้อกับตัว อวยพรให้อยู่เย็นเป็นสุข มีอายุมั่นขวัญยืนเจริญก้าวหน้า กระทำในโอกาสที่หายจากอาการเจ็บป่วย มีกิจธุระต้องเดินทางไกล เป็นต้น (3) ประเพณีการขึ้นบ้านใหม่ ทำก่อนเข้าไปอยู่บ้านใหม่ มักทำในเวลาเย็นก่อนตะวันลับขอบฟ้าและยังคงปฏิบัติสืบต่อกันจนปัจจุบัน (4) ประเพณีการบวช จะทำเมื่อถึงเดือน 8 ช่วงทำบุญเข้าพรรษา ชาวบ้านนิยมบวชในช่วงนี้เพื่อทดแทนคุณบิดามารดาที่ได้เลี้ยงมาและเพื่อให้ผู้บวชเป็น "คนสุก" เพราะคนที่ยังไม่บวชยังถือว่า "ดิบ" อยู่ (5) ประเพณีการสะเดาะเคราะห์ ทำพิธีเซ่นสรวงบูชาให้เคราะห์ร้ายกลายเป็นดี จะทำในยามที่เวลานึ่งข้าวเสร็จแล้วข้าวเป็นสีแดง มีคนในครอบครัวเจ็บป่วยบ่อยๆ มีเหตุการณ์ไม่ปกติเกิดขึ้น ประสบอุบัติเหตุเสมอๆ (6) ประเพณีการทำบุญปราสาทผึ้ง ทำเพื่ออุทิศส่วนกุศลไปให้ผู้ตาย จะทำเมื่อผู้ตายตายไปได้แล้วระยะหนึ่ง (7) ประเพณีอันเกี่ยวเนื่องกับพุทธศาสนา "ฮีตสิบสอง" เป็นประเพณีที่ญ้อรู้จักดีและปฏิบัติสืบทอดกันมาไม่ขาดสาย (8) ประเพณีการทำศพ คนตายที่อายุยังน้อยแต่นอนหลับตายหรือเป็นลมตายเรียกว่า "ตายดิบ" "ตายลับโลก" "ไหลตาย" จะไม่มีการทำศพและห้ามนำศพเข้าบ้าน ตายที่ไหนก็จะไปฝังที่ไร่นาของผู้ตาย ห้ามเผา และทำอย่างเงียบๆ ส่วนคนที่ "ตายสุก" คือตายด้วยการเจ็บป่วยหรือโรคชรา สามารถทำศพและเผาได้ แต่ปัจจุบันคนที่ตายไม่ว่ากรณีใดก็ใช้วิธีเผาและนำศพกลับมาตั้งสวดที่บ้านได้ (หน้า 168-185)

Education and Socialization

ชุมชนกวย หมู่บ้านว่าน ต.บุแกรง อ.จอมพระ จ.สุรินทร์ รัฐส่งเสริมให้ประชาชนรับการศึกษาในระบบโรงเรียน ทำให้ระบบเครือญาติหรือครอบครัวที่เคยมีบทบาทสำคัญในการอบรมถูกจำกัดบทบาทลงไป (หน้า 212) โรงเรียนประชาบาลแห่งแรกก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2471 ชาวบ้านมีค่านิยมอยากให้ลูกหลานเรียนสูงขึ้น (หน้า 222) ชุมชนญ้อ หมู่บ้านโพน ต.โนนตาล อ.ท่าอุเทน จ.นครพนม เมื่อมีโรงเรียนตั้งขึ้นในชุมชน บทบาทของพ่อแม่ก็น้อยลง เด็กเชื่อฟังครูมากกว่าพ่อแม่ (หน้า 222)

Health and Medicine

ชุมชนกวย หมู่บ้านว่าน ต.บุแกรง อ.จอมพระ จ.สุรินทร์ มีพิธีกรรมการเล่นแม่มดเพื่อให้ผีบรรพบุรุษบอกสาเหตุความเจ็บป่วย ในอาการเจ็บป่วยเรื้อรังที่รักษาด้วยวิธีอื่นๆ แล้วไม่หาย ชาวบ้านเชื่อว่าถ้าเล่นแม่มด จะนำความมงคลมาให้ครอบครัวและพ้นจากการเจ็บป่วย (หน้า 164-165) ชุมชนญ้อ หมู่บ้านโพน ต.โนนตาล อ.ท่าอุเทน จ.นครพนม มีสถานีอนามัยก่อตั้งเมื่อวันที่ 23 ต.ค. 2515 รับผิดชอบ 3 หมู่บ้านของ ต.โนนตาล คือ บ้านธาตุ บ้านกุดสะกวย บ้านโพน และอีก 9 หมู่บ้านของต.รามราช (หน้า 78, 80, 262)

Art and Crafts (including Clothing Costume)

ไม่มีข้อมูล

Folklore

มีนิทานเล่ากันว่า กวยไปอยู่ที่ไหนมักไม่ยากจน เพราะขยันและอดทนทำทุกอย่าง กวยไปไหนก็พูดจากับคนอื่นรู้เรื่องเพราะพูดได้หลายภาษาทั้งไทยกลาง อีสาน เขมร และกวยมีจิตใจกว้างขวางไม่ถือเนื้อถือตัวอีกด้วย (หน้า 119-120)

Ethnicity (Ethnic Identity, Boundaries and Ethnic Relation)

ไม่มีข้อมูล

Social Cultural and Identity Change

การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ ชุมชนกวย หมู่บ้านว่าน ต.บุแกรง อ.จอมพระ จ.สุรินทร์ 1. อาชีพ การทำเกษตรกรรมไม่ได้ทำนาเพียงอย่างเดียว แต่มีประเภทของเกษตรกรรมมากขึ้น เช่น การเลี้ยงสัตว์ เป็นต้น กวยมีอาชีพรองมากขึ้นกว่าเดิมตั้งแต่ปี พ.ศ. 2503 ที่ชาวบ้านมีอาชีพหลักเป็นอาชีพเดียว อาชีพรองเช่น เลี้ยงสัตว์ รับจ้าง พ่อค้า เป็นต้น ชาวบ้านเปลี่ยนพันธุ์ข้าวที่ปลูกจากข้าวเจ้าหนักมาเป็นข้าวเจ้าเบา เพราะปลูกง่าย เก็บเกี่ยวง่ายและขายได้ราคาดี นอกจากนี้ชาวบ้านยังเริ่มใช้ปุ๋ยเคมีตั้งแต่ พ.ศ. 2511 และพัฒนาเครื่องมือเครื่องใช้ทางการเกษตรมากขึ้น เช่น ไถไม้ก็เปลี่ยนมาเป็นไถเหล็ก เป็นต้น ชาวบ้านยังเลี้ยงวัวน้อยลงเพราะสภาพการคมนาคมที่ดีขึ้นไม่ต้องใช้วัวเป็นพาหนะในการเดินทางอีกต่อไป และชาวบ้านยังเลี้ยงสัตว์ประเภทอื่นอีกเช่น ควาย หมู เป็ด ไก่ และปลา ชาวบ้านเริ่มทำอาชีพค้าขายมากขึ้นเพื่อเพิ่มรายได้ให้ครอบครัว และยังมีโรงสีภายในชุมชนอีก 7 โรงด้วย 2. การแลกเปลี่ยนและการจ้างงาน กวยแลกเปลี่ยนแรงงานโดยการร่วมลงแขกมาตั้งแต่อดีต ปัจจุบันเจ้าบ้านต้องเตรียมอาหารเลี้ยงแขก 3 มื้อ และต้องจ่ายค่าแรงให้อีกครึ่งหนึ่ง (ประมาณ 25-30 บาท ต่อวัน) เพราขาดแคลนแรงงานในหมู่บ้าน ส่วนการจ้างแรงงานส่วนใหญ่จะเป็นการรับจ้างทำนา โดยไปอยู่กับเจ้าของนาเพื่อช่วยทำงานและได้พืชผลเป็นค่าตอบแทน แต่ปัจจุบันเปลี่ยนเป็นให้เงินเป็นค่าตอบแทน บ้างจ้างแรงงานจากนอกหมู่บ้าน นอกจากนี้ยังมีชาวบ้านบางคนไปทำงานในกรุงเทพฯและต่างประเทศอีกด้วย 3.วิถีชีวิตทางเศรษฐกิจ เดิมชาวบ้านมีชีวิตที่ผูกพันกับการทำการเกษตร แต่ปัจจุบันชาวบ้านเริ่มขวนขวายหาลู่ทางทำงานเพื่อเพิ่มรายได้ให้ครอบครัวมากยิ่งขึ้น เช่น การไปรับจ้างทำงานนอกหมู่บ้าน เป็นต้น (หน้า 94-97, 262-263) ชุมชนญ้อ หมู่บ้านโพน ต.โนนตาล อ.ท่าอุเทน จ.นครพนม 1. อาชีพ ญ้อทำนามาตั้งแต่ครั้งบรรพบุรุษ นิยมปลูกข้าวเหนียวไว้บริโภคและปลูกข้าวเจ้าไว้เพื่อขาย เพราะราคาดีกว่า เทคโนโลยีการทำนาไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปมาก ยังใช้แรงงานคนและสัตว์ แต่ปัจจุบันญ้อมีอาชีพรองจากการทำนา เช่น ปลูกมันสำปะหลัง ปลูกสับปะรด ทำสวนครัว ปลูกเห็ดฟาง รับจ้างทำงานในเมืองหลังฤดูเก็บเกี่ยว เป็นต้น นอกจากนี้ญ้อยังเลี้ยงสัตว์เลี้ยงเกือบทุกครัวเรือน เช่น วัว ควาย หมู เป็ด ไก่ ห่าน ไก่งวง โดยเลี้ยงไว้ขายและใช้งาน การค้าขายภายในหมู่บ้านเกิดขึ้น 30 ปีมาแล้ว มีร้านค้าภายในหมู่บ้าน 6 ร้าน และยังมีอาชีพบริการอื่นๆอีกเช่น อาชีพตัดผม ช่างเย็บเสื้อผ้า ขับรถโดยสาร เผาถ่าน มีโรงสีในชุมชน 5 โรง 2.การแลกเปลี่ยนและการจ้างแรงงาน ในอดีตการแลกเปลี่ยนแรงงานในกิจกรรมต่างๆ จะใช้วิธี "ลงแขก" โดยเจ้าภาพจะเลี้ยงอาหารและสุราแก่ผู้ร่วมงานจนกว่างานจะเสร็จ แต่ 30 ปีที่ผ่านมาได้เปลี่ยนมาเป็นการจ้างแรงงานแทน เพราะชาวบ้านมีอาชีพอื่นนอกจากการทำนามากขึ้น แต่ปัจจุบันการแลกเปลี่ยนแรงงานยังมีให้เห็นอยู่บ้างในหมู่ญาติสนิท ปัจจุบันญ้อบ้านโพนนิยมไปทำงานต่างถิ่นและต่างประเทศ โดยนิยมทำงานแม่บ้าน พนักงานเสริฟ งานก่อสร้าง 3.วิถีชีวิตทางเศรษฐกิจ วิถีชีวิตทางเศรษฐกิจเปลี่ยนแปลงไปเพราะแต่ละครอบครัวมีอาชีพรองมากขึ้น (หน้า 98-104, 262-263) ปัจจัยที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ (1) การลงทุนสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานของรัฐบาล เช่นการสร้างถนน ทำให้หมู่บ้านทั้ง 2 เปลี่ยนระบบการผลิตเพื่อยังชีพมาเป็นระบบการผลิตเพื่อค้า แต่เมื่อเปรียบเทียบระหว่าง 2 ชุมชนอัตราการเปลี่ยนแปลงของกวยจะมากกว่าญ้อ เพราะ ญ้อมีระบบพึ่งพาในชุมชนมากกว่ากวย (2) การติดต่อพึ่งพาระหว่างสังคมเมืองและชนบทเพิ่มมากขึ้น มีการอพยพแรงงานไปในเมืองมากขึ้น โดยที่อัตราการเปลี่ยนแปลงในชุมชนกวยจะมากกว่าญ้อ ทั้งนี้เพราะญ้อมีอาชีพรองน้อยกว่ากวย ทำให้ไม่ต้องเคลื่อนย้ายแรงงาน (3) การสะสมทุนโดยเฉพาะที่ดินทำให้เกิดช่องว่างระหว่างคนรวยและคนจน (4) สภาพนิเวศของหมู่บ้านมีผลต่อการปรับปรุงพัฒนาอาชีพเกษตรกรรม โดยที่นิเวศสิ่งแวดล้อมเอื้ออำนวยให้ชุมชนญ้อมากกว่า ส่วนพื้นที่ของกวยไม่เหมาะสม ฝนแล้ง ทำให้เกิดหนี้สินของชาวบ้านที่กู้มาเพื่อทำการเกษตร (หน้า 198-206, 229-238, 266) ผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ (1) การใช้เทคโนโลยีทางการเกษตรทั้ง 2 ชุมชน พัฒนาจากอดีตมาก มีการใช้เครื่องสูบน้ำ ยาปราบศัตรูพืช ใช้ปุ๋ยวิทยาศาสตร์ เป็นต้น (2) การลงทุนเพื่อการค้ามีมากขึ้น เกิดการลงทุนระหว่างชุมชน (3)หนี้สินมีเพิ่มขึ้นทั้ง 2 ชุมชน (4) ความเป็นอยู่ในครอบครัวของญ้อดีขึ้นกว่ากวย (หน้า 244-248, 266) การเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ชุมชนกวย หมู่บ้านว่าน ต.บุแกรง อ.จอมพระ จ.สุรินทร์ 1. คุณลักษณะผู้นำ ผู้นำในชุมชนมีทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการและในอดีตมักมีคุณลักษณะคล้ายกัน เช่น มีศีลธรรม อาวุโส โดยหลักเกณฑ์พิจารณาผู้ใหญ่บ้านในอดีตจะดูผู้ที่มีฐานะพออยู่พอกิน รักความยุติธรรม มีศีลธรรม พูดจริงทำจริง แต่ปัจจุบันเปลี่ยนแปลงเป็นผู้ใหญ่บ้านต้องซื่อสัตย์ สามารถปกครองลูกบ้านได้ ไม่จำเป็นต้องมีฐานะ สมาคมได้กับคนทุกกลุ่ม มีความรู้เฉพาะเรื่อง 2. ความสัมพันธ์ระหว่างผู้นำกับชาวบ้าน ก่อนปี พ.ศ. 2512 ผู้นำมีความสัมพันธ์กับชาวบ้านอย่างดี แต่ปัจจุบันผู้นำห่างเหินกับชาวบ้านและกลายเป็นตัวแทนของรัฐบาลและนำโครงการของรัฐมาให้ชาวบ้านทำด้วยความไม่สมัครใจ เพราะการพัฒนาของรัฐที่ลงไปสู่ชาวบ้านมักมีปัญหา 3.ความขัดแย้งและความสามัคคีภายในชุมชน เพราะผู้นำกลายเป็นตัวแทนของรัฐจึงทำให้เกิดความขัดแย้งมากกว่าความสามัคคีภายในชุมชน เพราะโครงการพัฒนาที่เข้ามาสู่หมู่บ้าน ชาวบ้านไม่ได้ประโยชน์ 4.การมีส่วนร่วมของชาวบ้านกับงานพัฒนา ในอดีตระบบวัฒนธรรมท้องถิ่น ผู้นำอาวุโส หมอพื้นบ้านและพระมีบทบาทในการพัฒนาวัฒนธรรมท้องถิ่น แต่ปัจจุบันมีผู้นำกลุ่มต่างๆ เกิดขึ้น เช่น ผู้ใหญ่บ้าน กลุ่มลูกค้าธกส. กลุ่มเยาวชน คณะกรรมการการศึกษาของโรงเรียน อสม. (หน้า 104-105, 263) ชุมชนญ้อ หมู่บ้านโพน ต.โนนตาล อ.ท่าอุเทน จ.นครพนม 1. คุณลักษณะผู้นำ ในอดีตผู้นำทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการมักมีคุณลักษณะคล้ายคลึงกัน คือ อาวุโส มั่งคั่ง ส่วนผู้นำในปัจจุบันต้องมีความคิดริเริ่ม รักความก้าวหน้า ขยัน ปกครองด้วยวิธีเด็ดขาดและเผด็จการ 2. ความสัมพันธ์ระหว่างผู้นำกับชาวบ้าน ในอดีตผู้นำเป็นตัวแทนของชาวบ้าน ร่วมกิจกรรมของวัดจัดกิจกรรมต่างๆ แต่ปัจจุบันผู้นำกลายเป็นตัวแทนราชการ นำโครงการของรัฐมาให้ชาวบ้าน อย่างไรก็ตามญ้อยังยึดถือระบบอาวุโสที่เข้มแข็ง ทำให้ระบบผู้แทนของรัฐที่เข้ามาในชุมชนทำได้ไม่เต็มที่ 3. ความขัดแย้งและความสามัคคีภายในชุมชน อดีต - ปัจจุบันไม่แตกต่างกันมาก ส่วนใหญ่เป็นความขัดแย้งระหว่างชาวบ้านกันเอง ไม่ใช่ผู้นำกับชาวบ้าน เช่น การแย่งที่ดินระหว่างพี่น้อง เป็นต้น 4. การมีส่วนร่วมของชาวบ้านกับงานพัฒนา ในอดีตการมีส่วนร่วมของชาวบ้านมักเกี่ยวข้องกับงานด้านศาสนา ผู้นำมีส่วนร่วมเป็นอย่างดี แต่ปัจจุบันวิถีชีวิตทางเศรษฐกิจของชาวบ้านมีมากขึ้น ทำให้การร่วมมือพัฒนาท้องถิ่นลดลง และมีกลุ่มต่างๆ เกิดขึ้นมากทำให้ชาวบ้านต้องพึ่งพาระบบราชการมากขึ้น (หน้า 106-110, 263) ปัจจัยที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง (1) การแพร่กระจายทางวัฒนธรรมของอำนาจรัฐไปสู่ชนบทมากขึ้น ทำให้ผู้นำของชุมชนต้องกลายเป็นตัวแทนของรัฐ โดยอัตราการเปลี่ยนแปลงในชุมชนกวยมีมากกว่าญ้อ (2) ผู้นำชุมชนได้ผลประโยชน์จากอำนาจรัฐทำให้เกิดปัญหาขัดแย้งในหมู่บ้าน เพราะมีการแสวงหาประโยชน์จากอำนาจรัฐ โดยปัญหาผู้นำจะเกิดขึ้นที่ชุมชนกวยมากกว่าชุมชนญ้อ (หน้า 207-210, 266) ผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง (1) เกิดวัฒนธรรมการแสดงความคิดเห็นในที่ประชุมของชุมชน โดยญ้อได้รับอิทธิพลทางการเมืองมากกว่ากวย (2) การติดต่อกับเจ้าหน้าที่ของรัฐมีมากขึ้น โดยกวยติดต่อมากกว่าญ้อ (3) ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่มีอยู่สูงมากทั้ง 2 ชุมชน (4) ความขัดแย้งทางผลประโยชน์ภายในชุมชนของทั้ง 2 ชุมชนมีมากกว่าในอดีต (หน้า 248-251, 266-267) การเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรม : สถาบันครอบครัว ชุมชนกวย หมู่บ้านว่าน ต.บุแกรง อ.จอมพระ จ.สุรินทร์ 1. ลักษณะบ้านเรือน บ้านเรือนของชาวบ้านเปลี่ยนแปลงไปโดยชาวบ้านที่มีฐานะดีจะปลูกบ้านก่ออิฐ เทปูนชั้นล่าง ส่วนชั้นบนเป็นไม้ มีประตูหน้าต่างหลายแห่ง กั้นห้องนอนเป็นสัดส่วนมากขึ้นและมีรั้วบ้านแบ่งเขต 2. โครงสร้างของครอบครัว มีลักษณะเป็นครอบครัวขยายแบบชั่วคราว (temporary extended family) คือเมื่อบุตรสาวแต่งงานแล้วจะนำลูกเขยมาอยู่ในครัวเรือน ปัจจุบันชุมชนกวยบ้านว่านมีลักษณะเป็นครอบครัวเดี่ยวร้อยละ 70 ครอบครัวขยายแบบชั่วคราวที่ลูกเขยมาอยู่ร้อยละ 21.6 ครอบครัวขยายแบบชั่วคราวที่ลูกสะใภ้มาอยู่ร้อยละ 5.4 อื่นๆ ร้อยละ 3.1 3. การอบรมเลี้ยงดูบุตร ในอดีตบทบาทนี้เป็นของผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย ความรักที่มีต่อบุตรหญิงหรือชายไม่ต่างกัน ค่านิยมประเพณีต่างๆ ใช้วิธีบอกเล่าให้บุตรฟัง ปัจจุบันบทบาทของพ่อแม่ในการอบรมเลี้ยงดูบุตรลดลงไปมาก เพราะพ่อแม่ต้องทำมาหากินมากขึ้น และไปทำงานที่อื่นเพื่อหารายได้มาจุนเจือครอบครัว 4. การเลือกคู่ครอง ในอดีตการเลือกคู่ครอง ญาติผู้ใหญ่แต่ละฝ่ายต้องเห็นชอบ ปัจจุบันหนุ่มสาวมีสิทธิเลือกคู่ครองมากขึ้น ญาติผู้ใหญ่เพียงแต่ให้คำแนะนำและปรึกษาเท่านั้น 5. การแต่งงาน ในอดีตพิธีแต่งงานมักมีขั้นตอนและวิธีการที่เป็นภาระให้ทั้งฝ่ายชายและหญิง ฝ่ายชายต้องหาสินสอดตามที่ฝ่ายหญิงเรียกร้อง ปัจจุบันขั้นตอนของพิธีการแต่งงานต่างๆ ถูกตัดทอนลง แต่ค่าใช้จ่ายก็ยังคงสูงอยู่ ปัจจุบันคนหนุ่มสาวในหมู่บ้านออกไปทำงานและเรียนหนังสือในต่างถิ่นกันมากจนมีความสัมพันธ์ก่อนการแต่งงาน และยังพบอีกว่ากว่าครึ่งหนึ่งของครัวเรือนในหมู่บ้านปัจจุบันครอบครัวชาย-หญิง อยู่กินกันก่อนจะมีพิธีแต่งงาน และชาวบ้านสนใจจดทะเบียนสมรสมากขึ้นเพราะต้องทำเรื่องกู้ยืมเงินธกส.ที่ต้องใช้หลักฐานคู่สมรสค้ำประกัน 6. การแบ่งมรดก ในอดีตจะยกมรดกให้ลูกสาวทั้งหมด หากมีลูกสาวหลายคนก็จะแบ่งสรรกันไปตามส่วน ลูกสาวคนใดอุปการะเลี้ยงดูพ่อแม่ยามแก่เฒ่าจะมีสิทธิได้รับส่วนแบ่งมากกว่าลูกสาวคนอื่นๆ หากเป็นลูกสาวคนสุดท้องจะได้รับส่วนแบ่งที่เหลือทั้งหมด สาเหตุที่ลูกชายไม่ได้เพราะลูกชายได้ส่วนแบ่งสินสอดตอนไปสู่ขอผู้หญิงแต่งงานมากพออยู่แล้วและอาจยังได้มรดกร่วมกับส่วนภรรยาด้วย กระทั่ง 20-25 ปีที่ผ่านมา การแบ่งมรดกเปลี่ยนแปลงไปเป็นแบ่งเฉลี่ยให้ทุกคนไม่ว่าลูกสาวหรือลูกชาย และในช่วง 10-15 ปีที่ผ่านมา จะแบ่งส่วนให้ลูกที่อุปการะเลี้ยงดูมากกว่า และลูกที่เหลือก็เฉลี่ยแบ่งจำนวนเท่ากัน 7. ความสัมพันธ์ระหว่างเครือญาติ บทบาทของเครือญาติยังมีอยู่สูงไม่ต่างจากอดีต โดยมีบทบาทในการจัดการเลือกคู่ครอง การแบ่งมรดก การไกล่เกลี่ยข้อขัดแย้งระหว่างสามีและภรรยา 8.ความภาคภูมิใจในเผ่าพันธุ์ ไม่เปลี่ยนแปลงจากอดีตที่ยังภูมิใจในเผ่าพันธุ์ตัวเอง (หน้า 111-120, 263-264) ชุมชนญ้อ หมู่บ้านโพน ต.โนนตาล อ.ท่าอุเทน จ.นครพนม 1. ลักษณะบ้านเรือน เปลี่ยนแปลงไปจากอดีตมาก เช่น บ้านแบบเรือนเดี่ยวไม่มีใต้ถุนสำหรับค้าขาย หรือแบบ 2 ชั้น ชั้นล่างก่ออิฐ ชั้นบนเป็นไม้ และบ้านที่สร้างตามแบบลักษณะสังคมเมืองที่เน้นความสวยงาม สีสัน และความคงทนถาวรมากขึ้น 2. โครงสร้างของครอบครัว เป็นแบบครอบครัวขยาย ฝ่ายหญิงแต่งงานแล้วจะไปอยู่ครอบครัวของฝ่ายชาย แต่ระยะ 20 ปีที่ผ่านมาไม่เคร่งครัดเหมือนก่อน ถือเอาความสะดวกของทั้ง 2 ฝ่าย และในระยะ 10 ปีที่ผ่านมา ชุมชนมีลักษณะเป็นครอบครัวเดี่ยวมากขึ้น 3. การอบรมเลี้ยงดูบุตร พ่อแม่มีบทบาทในการเลี้ยงดูบุตร ถ่ายทอดปลูกฝังวัฒนธรรมที่มีมาในอดีต ปัจจุบันบทบาทตรงนี้ลดลง เพราะภาระหน้าที่ทางเศรษฐกิจ 4. การเลือกคู่ครอง ในอดีตมีธรรมเนียมการเกี้ยวสาวของญ้อที่เรียกว่า "เล่นสาว" หรือ "ซุมสาว" หลังจากเสร็จงานประจำวันแล้ว ผู้หญิงจะมาเข็นฝ้ายกันที่ "ร้านข่วง" ซึ่งเป็นลานดินหน้าบ้านยกพื้นสูง ก่อกองไฟ ส่วนผู้ชายก็จะมาเป็นกลุ่มๆ เพื่อเล่น "ขับสาว" (การรำ) หรือ "แอ่วสาว" (นั่งคุยกันตามธรรมดา) โดยฝ่ายหญิงจะเตรียมปิ้งปลา เผือก มัน ใส่ใบตองให้คนที่พอใจ หากฝ่ายชายที่มาเล่นสาวได้รับห่อใบตองที่มีก้อนหินหรือดินแสดงว่าฝ่ายหญิงไม่ชอบตนก็จะเลิกรากันไป ในปัจจุบันการพูดคุยของชายหญิงบริเวณร้านข่วงเริ่มเปลี่ยนแปลงไปเพราะการทอผ้าลดน้อยลง ชาวบ้านนิยมซื้อเสื้อผ้าสำเร็จรูปมากขึ้น 5. การแต่งงาน เมื่อแต่งงานแล้วฝ่ายหญิงจะไปอาศัยอยู่กับฝ่ายชาย แต่หากฝ่ายหญิงเป็นลูกคนเดียวจะให้เขยมาอยู่บ้านแม่ยายก็ได้ สำหรับค่าสินสอดก็เพิ่มมากขึ้นจากเดิม 30 ปีก่อนอยู่ที่ 100-500 บาท ปัจจุบันเป็น 3,000-7,000 บาท ถ้าเป็นข้าราชการจะสูงถึง 10,000-30,000 บาท ส่วนการแต่งกาย ผู้หญิงจะนุ่งผ้าซิ่นไหมมัดหมี่ เสื้อทรงกระบอก ห่มผ้าเบี่ยงซ้ายสีขาว ผู้ชายนุ่งผ้าหาง เสื้อราชปะแตนสีขาว ห่มผ้าเบี่ยงขวาสีขาว ปัจจุบันผู้หญิงแต่งกายเหมือนเดิม ส่วนผู้ชายเปลี่ยนมาสวมชุดสากล นอกจากนี้ยังมีพระมาเกี่ยวข้องกับพิธีแต่งงานทั้งๆ ที่ในอดีตไม่มี ส่วนข้อปฏิบัติในการครองเรือน ในอดีตฝ่ายหญิงต้องกราบเท้าสามีก่อนเข้านอน ทุกวันพระต้องนำดอกไม้มาขอขมา ปัจจุบันข้อปฏิบัติเหล่านี้ยังถือปฏิบัติอยู่ โดยเฉพาะในครอบครัวที่มีผู้เฒ่าผู้แก่อยู่ด้วย คู่หนุ่มสาวมีเสรีภาพในการเลือกคู่ครองมากขึ้น การเชิญแขกมาร่วมงานในอดีตใช้วาจาบอกกล่าว แต่ปัจจุบันเริ่มมีการแจกบัตรเชิญ 6. การแบ่งมรดก ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันไม่เปลี่ยนแปลง คือพ่อแม่จะแบ่งมรดกให้ลูกชายลูกสาวในสัดส่วนที่เท่ากัน แต่หากมีใครยากจนกว่าก็จะแบ่งให้คนนั้นมากกว่า ผู้ที่เลี้ยงดูพ่อ - แม่จนเสียชีวิตจะได้บ้านพ่อแม่เป็นมรดก 7. ความสัมพันธ์ระหว่างเครือญาติ ระบบเครือญาติในหมู่บ้านแน่นแฟ้นมาก อาจกล่าวได้ว่าทั้งหมู่บ้านเป็นญาติกันหมด โดยจะช่วยเหลือกันในด้านกำลังแรงงาน การช่วยงานพิธีกรรม แต่เมื่อประมาณ 10 ปีที่ผ่านมา ความช่วยเหลือกันระหว่างญาติพี่น้องเริ่มเปลี่ยนแปลงเพราะระบบเศรษฐกิจแบบการค้าแพร่เข้ามาในหมู่บ้าน ติดต่อกับโลกภายนอกมากขึ้น ความช่วยเหลือกันจึงลดลง 8. ความภาคภูมิใจในชาติพันธุ์ มีอยู่สูงมาก ญ้อนิยมแต่งงานในชาติพันธุ์เดียวกันเพราะกลัวเสียเชื้อชาติพันธุ์ ญ้อถือว่าตนเองมีต้นกำเนิดตระกูลดีกว่าชาติพันธุ์อื่นๆ แต่การแต่งงานอกเผ่าพันธุ์เริ่มมีเมื่อ 30 ปีที่ผ่านมา แต่ก็ยังไม่มากนัก (หน้า 120-135, 263-264) การเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรม : สถาบันการศึกษา ชุมชนกวย หมู่บ้านว่าน ต.บุแกรง อ.จอมพระ จ.สุรินทร์ 1. ประวัติโรงเรียน เริ่มตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2471 โดยใช้ศาลาวัดเป็นสถานที่ เริ่มมีอาคารเรียนในปี พ.ศ. 2486 ปัจจุบันโรงเรียนมีพื้นที่ประมาณ 8 ไร่ มีอาคารเรียน 1 หลัง บ้านพักครู 1 หลัง มีนักเรียนทั้งหมด 85 คน เปิดสอนชั้นอนุบาล 1-ป.4 มีครู 5 คน 2.บทบาทและความสัมพันธ์ของครูกับชาวบ้าน ในอดีตมีมากกว่าปัจจุบัน เพราะปัจจุบันครูมีบ้านพักอยู่หมู่บ้านอื่น กิจกรรมระหว่างชาวบ้านและครูจึงมีน้อย 3.ภาษาที่ใช้ในโรงเรียน นักเรียนยังใช้ภาษากวยพูดคุยกับคนในครอบครัวและเพื่อนๆในโรงเรียน 4.การเข้าเรียนต่อและกลับเข้ามาทำประโยชน์ให้แก่ชุมชน ชาวบ้านมีค่านิยมให้ลูกเรียนต่อ แต่การกลับเข้ามาทำประโยชน์ให้กับชุมชนมีน้อย (หน้า 135-136, 264-265) ชุมชนญ้อ หมู่บ้านโพน ต.โนนตาล อ.ท่าอุเทน จ.นครพนม 1. ประวัติโรงเรียน โรงเรียนแห่งแรกในชุมชนก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2452 โดยใช้ศาลาวัด จน 25 ปีต่อมามีโรงเรียนประจำชุมชน มีอาคารเรียน 1 หลัง บ้านพักครู 2 หลัง เปิดสอนตั้งแต่ชั้นอนุบาล - ป.6 มีนักเรียน 150 คน ครู 10 คน 2. บทบาทและความสัมพันธ์ของครูที่มีต่อชุมชน ครูยังคงมีบทบาทสูงทั้งต่อชุมชนและชาวบ้าน แต่ระยะหลังบทบาทของครูเป็นทางการมากขึ้น 3.ภาษาที่ใช้ในโรงเรียน ญ้อพูดภาษาญ้อภาษาเดียวในชุมชน 4.การเรียนต่อและกลับเข้ามาทำประโยชน์ให้แก่ชุมชน ในอดีตญ้อนิยมส่งลูกหลานให้เรียนต่อสูงขึ้น แต่ปัจจุบันเมื่อเห็นว่าเรียนจบแล้วไม่มีงานทำจึงให้ออกไปทำงานนอกหมู่บ้านหรือที่กรุงเทพฯ การเรียนต่อมี 10% และเมื่อเรียนจบแล้วกลับมาทำประโยชน์ให้ชุมชน 1% (หน้า 137-140, 264-265) การเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรม : สถาบันการสาธารณสุข ชุมชนกวย หมู่บ้านว่าน ต.บุแกรง อ.จอมพระ จ.สุรินทร์ 1. พฤติกรรมการรักษาพยาบาล ในอดีตหมอพื้นบ้านมีบทบาทรักษาพยาบาลชาวบ้าน แต่ปัจจุบันการแพทย์แผนใหม่เข้ามาในชุมชน มีสถานีอนามัยใกล้หมู่บ้าน 2. ลักษณะอาหารการกินและน้ำดื่ม ในอดีตอาหารการกินของชาวบ้านสามารถหาได้ตามธรรมชาติ แต่ตั้งแต่ปี พ.ศ.2500 ชาวบ้านเริ่มกินอาหารที่มีขายสำเร็จรูป ส่วนน้ำดื่มในอดีตไม่นิยมเก็บไว้บริโภค แต่ปัจจุบันชาวบ้านเก็บน้ำฝนโดยใส่โอ่ง 3. การคลอดลูกและการอยู่ไฟ ในอดีตชาวบ้านมักคลอดลูกกับหมอตำแยในชุมชน การคลอดลูกในโรงพยาบาลเพิ่งจะมีขึ้นเมื่อ 10 ปีที่ผ่านมา ส่วนการอยู่ไฟยังคงมีอยู่แต่ลดจำนวนวันลง 4.การวางแผนครอบครัว ในอดีตไม่มีการวางแผนครอบครัว แต่เมื่อ 30 ปีที่ผ่านมาพื้นที่ทำกินมีจำกัด แพทย์จากรพ.สุรินทร์จึงแนะนำวิธีการคุมกำเนิด 5.การใช้ส้วม ในอดีตชาวบ้านขับถ่ายตามทุ่งนาหรือสวน กระทั่งปี พ.ศ. 2517 มีส้วมหลังแรกเกิดขึ้น ปัจจุบันในชุมชนมีส้วม 19 ครัวเรือนจากครัวเรือนทั้งหมด 141 ครัวเรือน เพราะค่าใช้จ่ายการก่อสร้างที่สูง (หน้า 140-142, 265) ชุมชนญ้อ หมู่บ้านโพน ต.โนนตาล อ.ท่าอุเทน จ.นครพนม 1. พฤติกรรมการรักษาพยาบาล ในอดีตชาวบ้านรักษาด้วยการแพทย์พื้นบ้าน ส่วนปัจจุบันสถานีอนามัยมีบทบาทมากในชุมชนแห่งนี้เพราะที่ตั้งของสถานีอนามัยอยู่ในชุมชนนี้นั่นเอง 2. ลักษณะอาหารการกินและน้ำดื่ม ในอดีตนิยมอาหารที่หาได้ตามธรรมชาติ ปัจจุบันอาหารสำเร็จรูปได้รับความนิยมมากขึ้น ส่วนน้ำดื่มในหมู่บ้านได้จากบ่อสาธารณะของชุมชน 2 แห่ง และรองน้ำใส่โอ่ง 3. การคลอดลูกและอยู่ไฟ ในอดีตชาวบ้านคลอดกับผู้เฒ่าผู้แก่ที่มีประสบการณ์ (ไม่มีหมอตำแย) ปัจจุบันชาวบ้านนิยมไปคลอดในสถานีอนามัยของชุมชน ปัจจุบันชาวบ้านยังให้ความสำคัญกับการอยู่ไฟถึง 99% 4. การวางแผนครอบครัว ชาวบ้านเริ่มคุมกำเนิดเมื่อ 10 ปีที่ผ่านมาหลังจากที่มีสถานีอนามัย อัตราการเกิดจึงลดลง 5. การใช้ส้วม เริ่มใช้ส้วมเมื่อปีพ.ศ.2515 พร้อมกับสถานีอนามัย ปัจจุบันมี 124 ครัวเรือนที่มีส้วมใช้จาก 131 ครัวเรือน (หน้า 142-147, 265) การเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรม : สถาบันความเชื่อและประเพณี ชุมชนกวย หมู่บ้านว่าน ต.บุแกรง อ.จอมพระ จ.สุรินทร์ 1. ประวัติวัด วัดในชุมชนตั้งมานานประมาณ 100-150 ปี ปี พ.ศ. 2466 ชาวบ้านรื้อศาลาหลังเก่าแล้วสร้างศาลาหลังใหม่ขึ้น ส่วนโบสถ์วัดสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2490 จนปี พ.ศ. 2515 ชาวบ้านจัดงานผ้าป่าสามัคคีรับเงินบริจาคสร้างโรงหมอลำทางทิศเหนือของวัด สถานที่ในวัดที่ชาวบ้านเคารพนับถือมี 2 แห่งคือศาลหลวงพ่ออินทร์ และศาลหลวงพ่อสังข์ ชาวบ้านมักนำอัฐิของญาติพี่น้องที่ล่วงลับไปฝังใกล้ๆ เพื่อช่วยให้ท่านรักษาให้อยู่เย็นเป็นสุข 2. บทบาทของพระในชุมชน เนื่องจากพะสงฆ์ที่จำวัดในชุมชนอายุมาก กิจกรรมที่ทำร่วมกับชาวบ้านจึงลดลง พิธีการต่างๆ มักเป็นไปอย่างรวบรัดเพราะชาวบ้านต้องรีบไปทำงานนอกหมู่บ้าน โอกาสที่พระสงฆ์กับชาวบ้านจะได้ทำกิจกรรมร่วมกันจึงลดลงไปโดยปริยาย 3. ประเพณีที่ทำในรอบปี กวยยังคงเคร่งครัดในการทำบุญตามประเพณีอยู่ไม่เปลี่ยนแปลง (หน้า 148-165, 265-266) ชุมชนญ้อ หมู่บ้านโพน ต.โนนตาล อ.ท่าอุเทน จ.นครพนม 1. ประวัติวัด มีวัดมหานิกายก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2434 กระทรวงศึกษาธิการประกาศตั้งเป็นวัดเมื่อปี พ.ศ. 2513 ชื่อว่าวัดคามวาสี 2. บทบาทของพระในชุมชน ในอดีตมี "หลวงพ่อบล จันติโย" เป็นผู้นำในการประกอบพิธีกรรมทางศาสนาและพัฒนาหมู่บ้านจนได้รับความร่วมมือจากชาวบ้านเป็นอย่างดี จนกระทั่งพระรูปนี้มรณภาพไปเมื่อปี พ.ศ. 2519 งานบุญต่างๆ ได้ลดลงเกือบจะสิ้นเชิง 3. ประเพณีที่ทำในรอบปี บุญประเพณีและพิธีกรรมต่างๆยังคงมีอยู่บ้างแต่ไม่เข้มแข็งเหมือนในอดีต บางประเพณีได้เลิกนับถือไปแล้ว เช่นการนับถือผีบรรพบุรุษ (หน้า 165-187, 265-266) การเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรม : สถาบันการพักผ่อนหย่อนใจ ชุมชนกวย หมู่บ้านว่าน ต.บุแกรง อ.จอมพระ จ.สุรินทร์ 1.การพักผ่อนหย่อนใจภายในชุมชน มีหลายรูปแบบคือ (1) ชาวบ้านฟังวิทยุขณะทำไร่ทำนา ทอผ้า สาวไหม โดยชอบฟังเพลงลูกทุ่ง รายการข่าว ละครวิทยุนิยาย หมอลำ (2) ส่วนโทรทัศน์ ชาวบ้านเริ่มดูหลังจากมีไฟฟ้าเข้ามาเมื่อปี พ.ศ .2525 ละครทีวีหัวค่ำเป็นรายการที่ชาวบ้านชื่นชอบ และรายการกีฬาชกมวยและฟุตบอลจะมีผู้ชายมาเล่นการพนันด้วย (3) ในอดีตชาวบ้านมักจะชมภาพยนตร์กลางแปลงที่มาล้อมผ้าจัดฉายเก็บเงิน แต่ปัจจุบันไม่นิยมอีกแล้วนับตั้งแต่มีโทรทัศน์เข้ามา (4) ชาวบ้านนิยมเล่นการพนันมวย ฟุตบอล ไฮโล อยู่เสมอ และยังชอบดื่มเหล้าสังสรรกันไม่ว่าจะมีงานบุญประเพณีหรือไม่ก็ตาม (5) เมื่อมีงานบุญประเพณีในหมู่บ้านจะถือเป็นการพักผ่อนของชาวบ้านในการเที่ยวชมการละเล่น มหรสพต่างๆ 2. การพักผ่อนหย่อนใจภายนอกชุมชน กลุ่มคนหนุ่มสาวมักชอบออกไปชมภาพยนตร์หรือดนตรีหมู่บ้านใกล้เคียง และชาวบ้านยังชอบไปเที่ยวชมงานช้างจ.สุรินทร์ที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีอีกด้วย (หน้า 188-190, 266) ชุมชนญ้อ หมู่บ้านโพน ต.โนนตาล อ.ท่าอุเทน จ.นครพนม 1. การพักผ่อนหย่อนใจภายในชุมชน (1) ทุกครัวเรือนจะมีวิทยุ 1 เครื่อง วัยกลางคนชอบฟังเพลงลูกทุ่ง คนหนุ่มสาวที่ออกไปทำนาจะชอบฟังละครคณะเกศทิพย์ เด็กวัยรุ่นชอบฟังเพลงทันสมัย (2) ชาวบ้านเริ่มดูโทรทัศน์ประมาณปี พ.ศ. 2523 - 2524 ละครภาคค่ำช่อง 7 ได้รับความนิยมจากชาวบ้านสูงสุดรวมไปถึงรายการกีฬาทั้งมวยและฟุตบอลอีกด้วย (3) มีภาพยนตร์กลางแปลงเข้ามาฉายในหมู่บ้าน ส่วนใหญ่จะมาฉายในฤดูก่อนการทำนา (4) การดื่มเหล้าถือเป็นเรื่องประจำของชาวบ้านไม่ว่าจะมีงานรื่นเริงหรือไม่ก็ตาม (5) งานบุญประเพณีที่ชาวบ้านสนุกสนานอย่างเห็นได้ชัด คือ งานบุญผเวส งานบุญสงกรานต์ งานบุญกฐิน งานบุญขึ้นปีใหม่ 2. การพักผ่อนหย่อนใจภายนอกชุมชน มี 2 ประเภท คือไปเที่ยวงานบุญต่างหมู่บ้านและไปเที่ยวในตัวอำเภอหรือตัวจังหวัด ทั้งงานปีใหม่ งานกาชาด งานลอยกระทง เป็นต้น (หน้า 191-197, 266) ปัจจัยที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรม (1) การที่ชนบทได้ติดต่อกับสังคมเมืองมากขึ้น การพึ่งพากันในชุมชนน้อยลง ระบบเครือญาติเปลี่ยนบทบาทไปแทนที่ด้วยหน่วยงานของรัฐ (2) ประชากรที่เพิ่มมากขึ้น ทรัพยากรจำกัด ทำให้ชาวบ้านต้องหาแหล่งรายได้จากภายนอกชุมชน จึงไม่มีเวลาสัมพันธ์กับคนในครอบครัวและเครือญาติเหมือนแต่ก่อน (3) การแพร่กระจายทางวัฒนธรรมของสังคมเมืองเข้าไปในชนบท ทำให้ค่านิยมความเชื่อแบบเดิมเปลี่ยนไป โดยอัตราการเปลี่ยนแปลงในชุมชนญ้อมีมากกว่าชุมชนกวย (4) หน่วยงานรัฐเข้าไปมีบทบาทในสังคมชนบท (หน้า 210-229, 240-243, 266) ผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรม (1) มีความทันสมัยด้านวัตถุมากขึ้นในสิ่งอำนวยความสะดวกของครัวเรือนทั้ง 2 ชุมชน (2) การพัฒนาคุณภาพชีวิตทั้งการศึกษาของบุตรหลานที่สูงขึ้น คุณลักษณะทางอนามัยที่ดีขึ้น โดยชุมชนญ้อมีคุณภาพดีกว่าชุมชนกวย (3) ความกลมกลืนทางวัฒนธรรม มีการแต่งงานข้ามชาติพันธุ์มากขึ้น โดยญ้อแต่งงานข้ามชาติพันธุ์มากกว่ากวย (4) การปฏิบัติเกี่ยวกับความเชื่อทางศาสนาและประเพณีของทั้ง 2 ชุมชนยังคงเคร่งครัดอยู่มาก (5) การปฏิบัติต่อผู้มีอาวุโสทั้งในด้านการเคารพเชื่อฟัง กิริยามารยาท ชุมชนกวยยังคงมีมากกว่าชุมชนญ้อ (6) ปัญหาในชุมชนเช่นการทะเลาะวิวาทในงานบุญประเพณี การดื่มสุรา ยาเสพติด เล่นการพนัน ชู้สาว พบว่าเกิดขึ้นที่ชุมชนญ้อมากกว่าชุมชนกวย (หน้า 252-260, 267)

Critic Issues

ไม่มีข้อมูล

Other Issues

ไม่มี

Map/Illustration

งานวิจัยชิ้นนี้มีตาราง แผนผัง ภาพปิรามิด ประกอบเพื่อนำเสนอข้อมูลค่าต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับงานวิจัยให้เข้าใจง่ายยิ่งขึ้น เช่น ตารางแสดงอัตราส่วนแสดงการเปรียบเทียบระหว่างชุมชนและการเปลี่ยนแปลงอดีตกับปัจจุบัน จำแนกตามสมมติฐานข้อที่ 3.2 และอัตราการเปลี่ยนแปลง (ตารางที่ 14 หน้า 215) ภาพแผนผังแสดงชุมชนชาติพันธุ์กวย (หน้า 73) ปิรามิดแจกแจงอายุและเพศของชุมชนชาติพันธุ์กวยและญ้อ (หน้า 93)

Text Analyst สิทธิพร จรดล Date of Report 18 ส.ค. 2557
TAG กูย กวย, เญ้อ ย้อ ญ่อ โย้, เศรษฐกิจ, การเมือง, สังคม, วัฒนธรรม, การเปลี่ยนแปลง, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ, Translator -
 
 

 

ฐานข้อมูลอื่นๆของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
  ฐานข้อมูลพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทย
จารึกในประเทศไทย
จดหมายเหตุทางมานุษยวิทยา
แหล่งโบราณคดีที่สำคัญในประเทศไทย
หนังสือเก่าชาวสยาม
ข่าวมานุษยวิทยา
ICH Learning Resources
ฐานข้อมูลเอกสารโบราณภูมิภาคตะวันตกในประเทศไทย
ฐานข้อมูลประเพณีท้องถิ่นในประเทศไทย
ฐานข้อมูลสังคม - วัฒนธรรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  หน้าหลัก
งานวิจัยชาติพันธุ์ในประเทศไทย
บทความชาติพันธุ์
ข่าวชาติพันธุ์
เครือข่ายชาติพันธุ์
เกี่ยวกับเรา
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  ข้อมูลโครงการ
ทีมงาน
ติดต่อเรา
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
ช่วยเหลือ
  กฏกติกาและมารยาท
แบบสอบถาม
คำถามที่พบบ่อย


ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) เลขที่ 20 ถนนบรมราชชนนี เขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ 10170 
Tel. +66 2 8809429 | Fax. +66 2 8809332 | E-mail. webmaster@sac.or.th 
สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2549    |   เงื่อนไขและข้อตกลง