สมัครสมาชิก   
| |
ค้นหาข้อมูล
ค้นหาแบบละเอียด
  •   ความเป็นมาและหลักเหตุผล

    เพื่อรวบรวมงานวิจัยทางชาติพันธุ์ที่มีคุณภาพมาสกัดสาระสำคัญในเชิงมานุษยวิทยาและเผยแผ่สาระงานวิจัยแก่นักวิชาการ นักศึกษานักเรียนและผู้สนใจให้เข้าถึงงานวิจัยทางชาติพันธุ์ได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น

  •   ฐานข้อมูลจำแนกกลุ่มชาติพันธุ์ตามชื่อเรียกที่คนในใช้เรียกตนเอง ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้ คือ

    1. ชื่อเรียกที่ “คนอื่น” ใช้มักเป็นชื่อที่มีนัยในทางเหยียดหยาม ทำให้สมาชิกกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ รู้สึกไม่ดี อยากจะใช้ชื่อที่เรียกตนเองมากกว่า ซึ่งคณะทำงานมองว่าน่าจะเป็น “สิทธิพื้นฐาน” ของการเป็นมนุษย์

    2. ชื่อเรียกชาติพันธุ์ของตนเองมีความชัดเจนว่าหมายถึงใคร มีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมอย่างไร และตั้งถิ่นฐานอยู่แห่งใดมากกว่าชื่อที่คนอื่นเรียก ซึ่งมักจะมีความหมายเลื่อนลอย ไม่แน่ชัดว่าหมายถึงใคร 

     

    ภาพ-เยาวชนปกาเกอะญอ บ้านมอวาคี จ.เชียงใหม่

  •  

    จากการรวบรวมงานวิจัยในฐานข้อมูลและหลักการจำแนกชื่อเรียกชาติพันธุ์ที่คนในใช้เรียกตนเอง พบว่า ประเทศไทยมีกลุ่มชาติพันธุ์มากกว่า 62 กลุ่ม


    ภาพ-สุภาษิตปกาเกอะญอ
  •   การจำแนกกลุ่มชนมีลักษณะพิเศษกว่าการจำแนกสรรพสิ่งอื่นๆ

    เพราะกลุ่มชนต่างๆ มีความรู้สึกนึกคิดและภาษาที่จะแสดงออกมาได้ว่า “คิดหรือรู้สึกว่าตัวเองเป็นใคร” ซึ่งการจำแนกตนเองนี้ อาจแตกต่างไปจากที่คนนอกจำแนกให้ ในการศึกษาเรื่องนี้นักมานุษยวิทยาจึงต้องเพิ่มมุมมองเรื่องจิตสำนึกและชื่อเรียกตัวเองของคนในกลุ่มชาติพันธุ์ 

    ภาพ-สลากย้อม งานบุญของยอง จ.ลำพูน
  •   มโนทัศน์ความหมายกลุ่มชาติพันธุ์มีการเปลี่ยนแปลงในช่วงเวลาต่างๆ กัน

    ในช่วงทศวรรษของ 2490-2510 ในสาขาวิชามานุษยวิทยา “กลุ่มชาติพันธุ์” คือ กลุ่มชนที่มีวัฒนธรรมเฉพาะแตกต่างจากกลุ่มชนอื่นๆ ซึ่งมักจะเป็นการกำหนดในเชิงวัตถุวิสัย โดยนักมานุษยวิทยาซึ่งสนใจในเรื่องมนุษย์และวัฒนธรรม

    แต่ความหมายของ “กลุ่มชาติพันธุ์” ในช่วงหลังทศวรรษ 
    2510 ได้เน้นไปที่จิตสำนึกในการจำแนกชาติพันธุ์บนพื้นฐานของความแตกต่างทางวัฒนธรรมโดยตัวสมาชิกชาติพันธุ์แต่ละกลุ่มเป็นสำคัญ... (อ่านเพิ่มใน เกี่ยวกับโครงการ/คู่มือการใช้)


    ภาพ-หาดราไวย์ จ.ภูเก็ต บ้านของอูรักลาโว้ย
  •   สนุก

    วิชาคอมพิวเตอร์ของนักเรียน
    ปกาเกอะญอ  อ. แม่ลาน้อย
    จ. แม่ฮ่องสอน


    ภาพโดย อาทิตย์    ทองดุศรี

  •   ข้าวไร่

    ผลิตผลจากไร่หมุนเวียน
    ของชาวโผล่ว (กะเหรี่ยงโปว์)   
    ต. ไล่โว่    อ.สังขละบุรี  
    จ. กาญจนบุรี

  •   ด้าย

    แม่บ้านปกาเกอะญอ
    เตรียมด้ายทอผ้า
    หินลาดใน  จ. เชียงราย

    ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ถั่วเน่า

    อาหารและเครื่องปรุงหลัก
    ของคนไต(ไทใหญ่)
    จ.แม่ฮ่องสอน

     ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ผู้หญิง

    โผล่ว(กะเหรี่ยงโปว์)
    บ้านไล่โว่ 
    อ.สังขละบุรี
    จ. กาญจนบุรี

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   บุญ

    ประเพณีบุญข้าวใหม่
    ชาวโผล่ว    ต. ไล่โว่
    อ.สังขละบุรี  จ.กาญจนบุรี

    ภาพโดยศรยุทธ  เอี่ยมเอื้อยุทธ

  •   ปอยส่างลอง แม่ฮ่องสอน

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ปอยส่างลอง

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดย เบญจพล  วรรณถนอม
  •   อลอง

    จากพุทธประวัติ เจ้าชายสิทธัตถะ
    ทรงละทิ้งทรัพย์ศฤงคารเข้าสู่
    ร่มกาสาวพัสตร์เพื่อแสวงหา
    มรรคผลนิพพาน


    ภาพโดย  ดอกรัก  พยัคศรี

  •   สามเณร

    จากส่างลองสู่สามเณร
    บวชเรียนพระธรรมภาคฤดูร้อน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   พระพาราละแข่ง วัดหัวเวียง จ. แม่ฮ่องสอน

    หล่อจำลองจาก “พระมหามุนี” 
    ณ เมืองมัณฑะเลย์ ประเทศพม่า
    ชาวแม่ฮ่องสอนถือว่าเป็นพระพุทธรูป
    คู่บ้านคู่เมืององค์หนึ่ง

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม

  •   เมตตา

    จิตรกรรมพุทธประวัติศิลปะไต
    วัดจองคำ-จองกลาง
    จ. แม่ฮ่องสอน
  •   วัดจองคำ-จองกลาง จ. แม่ฮ่องสอน


    เสมือนสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรม
    เมืองไตแม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ใส

    ม้งวัยเยาว์ ณ บ้านกิ่วกาญจน์
    ต. ริมโขง อ. เชียงของ
    จ. เชียงราย
  •   ยิ้ม

    แม้ชาวเลจะประสบปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัย
    พื้นที่ทำประมง  แต่ด้วยความหวัง....
    ทำให้วันนี้ยังยิ้มได้

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ผสมผสาน

    อาภรณ์ผสานผสมระหว่างผ้าทอปกาเกอญอกับเสื้อยืดจากสังคมเมือง
    บ้านแม่ลาน้อย จ. แม่ฮ่องสอน
    ภาพโดย อาทิตย์ ทองดุศรี
  •   เกาะหลีเป๊ะ จ. สตูล

    แผนที่ในเกาะหลีเป๊ะ 
    ถิ่นเดิมของชาวเลที่ ณ วันนี้
    ถูกโอบล้อมด้วยรีสอร์ทการท่องเที่ยว
  •   ตะวันรุ่งที่ไล่โว่ จ. กาญจนบุรี

    ไล่โว่ หรือที่แปลเป็นภาษาไทยว่า ผาหินแดง เป็นชุมชนคนโผล่งที่แวดล้อมด้วยขุนเขาและผืนป่า 
    อาณาเขตของตำบลไล่โว่เป็นส่วนหนึ่งของป่าทุ่งใหญ่นเรศวรแถบอำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี 

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   การแข่งขันยิงหน้าไม้ของอาข่า

    การแข่งขันยิงหน้าไม้ในเทศกาลโล้ชิงช้าของอาข่า ในวันที่ 13 กันยายน 2554 ที่บ้านสามแยกอีก้อ อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย
 
  Princess Maha Chakri Sirindhorn Anthropology Centre
Ethnic Groups Research Database
Sorted by date | title

   Record

 
Subject ยวน คนเมือง,ระบบเศรษฐกิจ,การจัดการป่า,การดูแลสุขภาพพื้นบ้าน,เชียงราย
Author เสถียร ฉันทะ
Title "ปินเตา" วิถีการดูแลสุขภาพ "คนเมือง" บ้านม่วงยาย
Document Type บทความ Original Language of Text ภาษาไทย
Ethnic Identity ไทยวน ยวน ยวนสีคิ้ว คนเมือง, Language and Linguistic Affiliations ไท(Tai)
Location of
Documents
ห้องสมุดศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร Total Pages 34 Year 2547
Source ยศ สันตสมบัติ และคณะผู้วิจัย (บรรณาธิการ)
Abstract

คนเมือง เป็นการเรียกกลุ่มชาติพันธุ์กลุ่มต่างๆ จึงเป็นการผสมผสานกันระหว่างความแตกต่างหลากหลายทางความเชื่อ ประเพณี วัฒนธรรม ที่อาศัยอยู่ในดินแดนล้านนาร่วมกัน แต่ไม่สามารถบ่งชี้ได้แน่ชัดว่าเกิดขึ้นเมื่อใด นักวิชาการบางท่านกล่าวว่าเป็นคำเรียกเพื่อตอบโต้การดฤูถูกทางชาติพันธุ์ทั้งจากพม่าและรัฐไทย

Focus

ศึกษาแนวคิดการจัดการสุขภาพของคนเมือง

Theoretical Issues

ไม่ระบุ

Ethnic Group in the Focus

ศึกษาคนเมือง ไทยวน หรือไตยวน ยังไม่สามารถบ่งชี้ได้อย่างชัดเจน แต่สามารถกล่าวถึงลำดับพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ของคนเมืองได้เป็น 4 ช่วง คือ 1) ยุคก่อนสร้างบ้านเมืองล้านนา มีการศึกษาทางโบราณคดี มีการขุดค้นร่องรอยทางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมของผีตองเหลือง หรือลัวะ นอกจากนี้จากตำนานสิงหนวัติ กล่าวถึงลัวะ กับการแลกเปลี่ยนของลาวจก ละว้า และขอม ตามตำนานกล่าวถึงเมือง 3 เมือง คืออาณาจักรโยนกนาคพันธุ์ บริเวณลุ่มน้ำกกและน้ำโขง อาณาจักรหริภุญไชย ลำพูน และอาณาจักรหิรัญนครเงินยางเชียงแสน ต่อมาพญามังรายได้เข้ามายึดครองเมืองหริภุญไชย ในปี พ.ศ. 1835 แล้วมาก่อตั้งเมืองเชียงใหม่ ชื่อว่า "พิงครัฏฐ" ในปี พ.ศ. 1839 2) ยุคสร้างบ้านแปงเมืองล้านนา ยุคสมัยมังราย สร้างเมือง "พิงครัฏฐ" บริเวณดอยสุเทพ ซึ่งเดิมเป็นที่ของลัวะ คือเมืองเชษฐบุรี เมืองพิงครัฏฐจึงกลายเป็นศูนย์กลางของอาณาจักรล้านนา ทิศเหนือติดกับแม่สาย เชียงรุ้ง ทิศตะวันออกถึงแม่น้ำโขง ทิศทิศใต้ถึงบริเวณลำปาง อุตรดิตถ์ ตาก ทิศตะวันตกบริเวณระหว่างเชียงใหม่กับสาละวิน อาณาจักรล้านนารุ่งเรืองที่สุดในปี พ.ศ. 1914 - 2068 ซึ่งเป็นช่วงที่พระพุทธศาสนาลังกาวงศ์เข้ามาเผยแพร่ และมีเศรษฐกิจอยู่ในขั้นดี 3) ยุคล่มสลายของล้านนา เกิดจากความขัดแย้งภายในกลุ่มผู้ปกครอง ในสมัยพญาเกตุกษัตริย์องค์ที่ 12 ของราชวงศ์มังราย และการขยายอิทธิพลของราชวงศ์ตองอู ที่มีพระเจ้าบุเรงนองเป็นกษัตริย์ พม่าสามารถบุกยึดล้านนาได้ในปี พ.ศ. 2099 มีการส่งเชื้อสายกษัตริย์ของพม่าข้ามาปกครองในช่วงปี พ.ศ. 2101 - 2317 4) ยุคกู้บ้านฟื้นเมืองล้านนาและการผนวกเข้ากับสยามประเทศ จ่าบ้านบุญมา ข้าราชการที่เชียงใหม่และเจ้ากาวิละ ลูกเจ้าฟ้าเมืองลำปางร่วมกันก่อกบถจากพม่า สามารถยึดเชียงใหม่คืนได้ในปี พ.ศ. 2347 และถูกรวมเป็นประเทศราชเข้ากับสยามอย่างเป็นทางการเมื่อปี พ.ศ. 2417 โดยมีการส่งข้าหลวงจากกรุงเทพฯ มาประจำการที่เชียงใหม่ ต่อมาจึงเปลี่ยนชื่อล้านนาไปตามมณฑลการปกครอง คือ มณฑลลาวเฉียง ปี พ.ศ. 2442 มณฑลตะวันตกเฉียงเหนือ ปี พ.ศ. 2444 มณฑลพายัพ ปี พ.ศ.2457 และในปี พ.ศ. 2476 ยกเลิกการปกครองแบบเทศาภิบาลและมณฑล เปลี่ยนเป็นการปกครองแบบจังหวัด ล้านนามีพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ในความหลากหลายของกลุ่มชาติพันธุ์ วัฒนธรรม ความเชื่อ ประเพณี กลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยพื้นราบเป็นหลัก ได้แก่กลุ่มคนไต หรือไท มีทั้งไทยวนหรือคนเมือง ไทลื้อ / ไทยองและไทใหญ่ (หน้า352 - 356)

Language and Linguistic Affiliations

ไม่มีข้อมูล

Study Period (Data Collection)

ไม่ระบุ

History of the Group and Community

ชุมชนยายเหนือ ยายใต้ ก่อตั้งขึ้นมายาวนานกว่า 300 ปี เริ่มจาก "แสนหลวงเตรียมเมฆ" และ "แสนหลวงทะนะ" ได้รวบรวมญาติพี่น้องมาตั้งบ้านเรือนบริเวณนี้ เริ่มแรกเป็น บ้านยายเพียงหมู่บ้านเดียว ประมาณ 100 หลังคาเรือน ปัจจุบัน "เตรียมเมฆ" และ "ทนะ" เป็นต้นตระกูลของนามสกุล "เตรียมทะนะ" นอกจากนี้ ยังมีชาวบ้านจากทางน่านที่ข้ามไปอยู่ฝั่งลาว อพยพมาตั้งบ้านเรือนบริเวณปากน้ำงาวและขยายมาอยู่ที่บ้านยาย ข้อมูลอีกส่วนหนึ่งกล่าวว่า เริ่มตั้งหมู่บ้านปี พ.ศ. 2196 โดยมีแสนหลวงนราเป็นผู้อพยพมาจากน่าน และมีการแต่งตั้งผู้ใหญ่บ้านในปี พ.ศ. 2475 ผู้ใหญ่บ้านคนแรกคือ พ่อเฒ่าธรรมไชย เทพกัน ต่อมาชุมชนเริ่มมีการขยายตัว ประชากรมากขึ้น จึงมีการแยกเป็นหมู่บ้านยายเหนือ และยายใต้ ในปี พ.ศ. 2513 ในช่วงนั้นมีการทำสัมปทานป่าไม้ มีการทำถนนจากชุมชนไปอำเภอเชียงของ ทำให้ป่าไม้ดอยวาวถูกตัดเกือบหมด นอกจากนี้ในช่วงความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างรัฐบาลไทยกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย รัฐได้พยายามเข้ามาพัฒนาหมู่บ้าน มีการส่งเสริมการปลูกพืชพาณิชย์ และสร้างอ่างเก็บน้ำ ขยายแนวไฟฟ้าเข้าหมู่บ้าน ในปี พ.ศ. 2530 มีการจัดแยกตำบลใหม่ บ้านยายเหนือ ยายใต้ขึ้นอยู่กับตำบลม่วงยาย อำเภอเวียงแก่น (หน้า 356 - 357)

Settlement Pattern

คนเมืองอาศัยอยู่ในที่ราบลุ่มเป็นหลัก ในบริเวณแอ่งที่ราบเชียงใหม่-ลำพูน กับบริเวณแอ่งที่ราบเชียงราย-พะเยา ตั้งถิ่นฐานที่สัมพันธ์กับระบบนิเวศ ปฏิสัมพันธ์ทางสังคม วัฒนธรรมระหว่างมนุษย์ธรรมชาติ ก่อตัวตกผลึกเป็นองค์ความรู้ที่ได้รับการพัฒนาสืบต่อถึงปัจจุบัน (หน้า 356)

Demography

บ้านยายเหนือมีประชากร 998 คน เป็นชาย 504 คน หญิง 494 คน มีจำนวน 210 หลังคาเรือน บ้านยายใต้มีประชากร 648 คน เป็นชาย 298 คน เป็นหญิง 352 คน มีจำนวน 135 หลังคาเรือน (หน้า 357 - 358)

Economy

รายได้หลักของชุมชน มาจากผลผลิตทางการเกษตร ร้อยละ 95 ทำการเกษตร ได้แก่ทำนา ทำไร่ ทำสวน มีพื้นที่การเกษตร 2,340 ไร่ มีรายได้เฉลี่ยครอบครัวละประมาณ 5,000 - 15,000 บาท ต่อปี (หน้า 358) ระบบการผลิตและการจัดการทรัพยากรของคนเมืองได้แก่ การทำนา ซึ่งมีการจำแนกลักษณะนาตามระบบนิเวศและการใช้น้ำคือ นาน้ำฟ้า เป็นนาที่อยู่ในที่ดอน ไม่มีเหมืองฝายรออาศัยน้ำจากน้ำฝน และนาที่ใช้น้ำจากเหมืองฝาย หรือนาโฮ่ง จะเป็นนาในที่ลุ่ม มีความอุดมสมบูรณ์ของน้ำและดิน 1. ขั้นตอนการทำนา เริ่มจากการเลือกพื้นที่นา มีความอุดมสมบูรณ์ มีน้ำไหลผ่าน ต่อมาจึงทำพิธีบนบานเสี้ยวนา ให้ช่วยคุ้มครองดูแลให้การทำนาในปีนั้นประสบความสำเร็จ ต่อมาเป็นการหว่านกล้าเพื่อเตรียมต้นกล้า ประมาณเดือนพฤษภาคมถึงมิถุนายน จึงถอนเตรียมนำไปปลูก การไถนา เดิมใช้ควายเป็นหลัก หลังฝนตกหรือไขน้ำเข้านา ปัจจุบันใช้รถไถ ต่อมาจึงนำเอาต้นกล้ามาดำนา ประมาณเดือนกรกฎาคมถึงสิงหาคม หลังดำนาเสร็จ จะนิมนต์พระสงฆ์มาสวดสังคหะ มีการสานตะแหลวไม้ไผ่ กับต้นเอื้องปลายนา เพื่อบอกกล่าวแก่เสี้ยวนา เสร็จแล้วจึงทำพิธีสู่ขวัญควาย เป็นการทดแทนคุณควาย ไม่ให้ควายล้มป่วย สู่ขวัญเสร็จจะปล่อยควายให้เข้าไปอยู่ในป่าจนกว่าจะถึงฤดูเก็บเกี่ยว หลังจากนั้นจะเป็นการดูแลต้นข้าว การกำจัดวัชพืช และเกี่ยวข้าว ในช่วงเดือนตุลาคมถึงธันวาคม จะมีการเอามื้อเอาวันกัน เพื่อแลกเปลี่ยนแรงงาน เกี่ยวข้าวแล้วจะเอาข้ามมาไว้ยุ้งฉาง แล้วจึงมีการคัดเลือกพันธุ์ข้าว คัดเอาเฉพาะต้นพันธุ์ที่อ้วน แข็งแรง มีความอุดมสมบูรณ์ ใช้สำหรับเป็นเชื้อข้าวในปีต่อไป ต่อมาเป็นการเลี้ยงเสี้ยวนา เป็นการขอบคุณเสี้ยวนา จะมีการเซ่นไหว้ด้วยเหล้าไหไก่คู่ หมาก เมี่ยง พลู บุหรี่ และจบลงด้วยการทำบุญข้าวใหม่ โดยการนำข้าวที่เก็บเกี่ยวมานึ่ง และทำขนมไปทำบุญถวายพระ ในปัจจุบัน เริ่มมีการปฏิบัติน้อยลง เช่นการสู่ขวัญควาย เนื่องจากไม่มีควายอีกแล้ว การเลี้ยงเสี้ยวนาที่ยังทำอยู่บางครอบครัว นอกจากนี้ในอดีตมีพันธุ์ข้าวกว่า 23 สายพันธุ์ เป็นพันธุ์ข้าวเหนียว 20 สายพันธุ์ ข้าวเจ้า 3 สายพันธุ์ และยังแบ่งเป็นพันธุ์ข้าวดอ อายุสั้น ต้องการน้ำน้อย ให้ผลผลิตไว พันธุ์ข้าวกลาง ต้องการน้ำปานกลาง ให้ผลผลิตดี และข้าวปี ต้องการน้ำมากในนาโฮ่ง ระยะการเก็บเกี่ยวนาน ให้ผลผลิตสูง ปัจจุบันเหลือข้าวที่รัฐส่งเสริมเพียง 3 สายพันธุ์ ซึ่งไม่สามารถเก็บรักษาเชื้อพันธุ์ไว้ได้ (หน้า 360 - 365) 2. การทำไร่ แบ่งเป็น 2 แบบ คือ "ไร่ดอย" เป็นไร่ที่อยู่ตามเชิงเขาและที่ดอน ปัจจุบันไร่เหล่านี้เปลี่ยนเป็นแปลงปลูกข้าวโพดเป็นหลัก และ "ไร่ติ๊ด" เป็นไร่ที่อยู่ตามพื้นราบ ปัจจุบันถูกแปรสภาพเป็นสวนส้มโอ ระบบการผลิตข้าวไร่ในอดีต คล้ายกับกลุ่มชาติพันธุ์กลุ่มต่างๆ คือเป็นการทำไร่หมุนเวียน เริ่มจากการเลือกพื้นที่ และทำไร่ในที่ซ้ำกัน 2 - 3 ปี แล้วปล่อยทิ้งร้างไว้ จนกว่าจะวนกลับมาใช้ใหม่เมื่อไร่เดิมกลายสภาพเป็นป่าไปแล้ว ไร่ข้าวคนเมืองเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงเมื่อรัฐเข้ามาส่งเสริมการปลูกข้าวโพด ประมาณปี พ.ศ. 2515 เข้ามาแทนที่การปลูกไร่ข้าว จนเกือบหมด นอกจากนี้ การปฏิสัมพันธ์กับภายนอกมากขึ้น ส่งผลให้การใช้ที่ดินเพื่อการผลิตเปลี่ยนแปลง ทำให้ความหลากหลายในไร่ข้าวเริ่มหายไป (หน้า 365 - 366) นอกจากนี้ยังมีการทำไร่มะเขือม่วง เป็นพืชเศรษฐกิจที่บริษัทมาส่งเสริมให้ปลูก มีการนำเชื้อพันธุ์ ปุ๋ย ยาฆ่าแมลง มาลงทุนให้ เป็นพืชที่ต้องการน้ำมาก และยังมีปริมาณการปลูกน้อย การทำไร่ยาสูบ มีการปลูกมาช้านาน และเมื่อมีโรงบ่มยามาตั้งใกล้ๆ จึงมีการขยายพื้นที่เพาะปลูกยาสูบมากขึ้น (หน้า 366 - 367) 3. การทำสวน แต่เดิมเคยเป็นชุมชนทำสวนเมี่ยงมาก่อน ซึ่งมีการปลูกพืชหลากหลายชนิดปลูกแซมในสวนเมี่ยง เช่น มะฝาง มะม่วง ส้มโอ มะเกี๋ยง เป็นต้น และยังมีพืชอาหาร สมุนไพร หลากหลายชนิด เช่นผักกูด บอนผา บอนหอม ส้มกุ้ง เป็นต้น ต่อมาจึงเปลี่ยนเป็นสวนส้มโอ ครอบคลุมพื้นที่มากกว่า 100 ไร่ โดยมีพ่อค้าคนกลางมารับซื้อเพื่อส่งออก ทำให้ส้มโอเป็นที่ต้องการของตลาด แต่การปลูกส้มโอทำให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรม จากการใช้ปุ๋ยและยาฆ่าแมลง (หน้า 368) ระบบการจัดการเหมืองฝาย พื้นที่ของชุมชนยายเหนือ ยายใต้ มีลำห้วยจำนวนมากเหมืองฝายจึงเป็นการจัดการน้ำ และจัดสรรน้ำให้แก่สมาชิกในชุมชนอย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม โดยมีแก่ฝายและล่ามเป็นผู้จัดแบ่งน้ำและคอยดูแลซ่อมแซมฝายให้ใช้การได้ ปัจจุบันเหมืองฝายเปลี่ยนแปลงไปจากนโยบายการสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ มีการสร้างฝายคอนกรีตแทนไม้ องค์กรเหมืองฝายจึงปรับบทบาทมาดูแลการจัดสรรน้ำจากอ่างเก็บน้ำแทน (หน้า 368 - 370) การจัดการป่า มีการจำแนกป่าดังนี้ คือ แบ่งป่าตามความเชื่อ เช่น ป่าก๋ำหรือป่าเห้ว เป็นป่าที่ใช้ประกอบพิธีกรรม การฌาปนกิจ การจำแนกป่าตามลักษณะกายภาพ เช่น ป่าทึบ ป่าเหล่า ป่าแพะ การจำแนกป่าตามลักษณะการขึ้นของพืช เช่นป่าไร่ ป่าเหี้ย ป่าเต็ง ป่าสัก ปัจจุบันชุมชนมีการกำหนดกฎเกณฑ์การใช้และอนุรักษ์ป่า ให้เกิดการใช้ทรัพยากรในชุมชนอย่างยั่งยืน (หน้า 370 - 371)

Social Organization

ชุมชนยายเหนือ ยายใต้มีความสัมพันธ์ทางเครือญาติวงศ์ตระกูล มีนามสกุลหลักในหมู่บ้าน เช่น เตรียมทะนะ, อินเทพ, นันชัย, บุญยวง, ยานัน, วรเทพ เป็นต้น ส่วนมากยังไม่แยกลงบ้านเรือนของตนเอง หลังการแต่งงาน สามีมักไปอยู่บ้านภรรยา นับถือผีปู่ย่าฝ่ายภรรยา ซึ่งเป็นลักษณะทั่วไปของสังคมล้านนา เป็นการสืบสายเลือดทางแม่ (Matrilineal) ครอบครัวหนึ่งมีลูกประมาณ 5 - 6 คน เป็นครอบครัวขยาย ลูกคนสุดท้องจะเป็นผู้อาศัยอยู่กับพ่อแม่เพื่อเลี้ยงดูและสืบทอด ความสัมพันธ์ของชาย - หญิงในครอบครัว เป็นการช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ไม่มีการแบ่งงานกันอย่างชัดเจน แต่ผู้ชายยังมีบทบาทเป็นผู้นำครอบครัว (หน้า 358)

Political Organization

ไม่มีข้อมูล

Belief System

ชุมชนยายเหนือ ยายใต้มีความเชื่อเรื่องผีเป็นระบบความเชื่อที่เป็นรากเหง้าของชุมชน เช่น เจ้าหลวงเวียงแก่น, เจ้าคำเหลือง, เจ้าเวียงดึง, เจ้าม่อนเมือง, เจ้านางดอกป้าว เป็นต้น เจ้าทั้งหมดล้วนเป็นพี่น้องกัน ผีแต่ละตนจะอยู่ตามหัวบ้านหมู่บ้านอื่น ที่อยู่รายล้อมชุมชนยายเหนือ ยายใต้ ซึ่งเป็นศูนย์กลางหรือผีที่ชุมชุนให้ความเคารพนับถือ คือผีเจ้าหลวงเวียงแก่น ถือเป็นผีที่ใหญ่ที่สุด มีการประกอบพิธีกรรมบวงสรวงทุกปี รองลงมาคือ เจ้าเวียงดึง เป็นผีที่คอยให้ความคุ้มครองชุมชน นอกจากนี้ยังมีหอเสื้อบ้านตั้งอยู่ริมห้วยวองกลางบ้านยายใต้ เปรียบเสมือนเทพารักษ์คอยปกปักรักษาชุมชนเมื่อมีความเดือดร้อน เช่น วัว ควายหาย ส่วนเสากลางบ้านเป็นสถานที่ที่ชุมชนใช้ประกอบพิธีกรรม และสืบชะตาหมู่บ้าน เมื่อเกิดเหตุการณ์ไม่ดีในหมู่บ้าน ความเชื่อในระดับครอบครัว เครือญาติในแต่ละสายตระกูล จะมีการถือผีปู่ย่าของสายตระกูลตนเอง มีการประกอบพิธีกรรมเซ่นไหว้ นำไก่ต้ม ดอกไม้ ธูปเทียน มาเซ่นไหว้ ขอขมาในสิ่งที่ได้ล่วงเกินไป มีความเชื่อเรื่องผีที่ทำให้เกิดความเจ็บป่วย เช่น เสี้ยวป่า เสี้ยวเขา ซึ่งเป็นผีที่คนเดินทางผ่านไปมา แล้วถูกทักทายเพื่อขอรับเครื่องเซ่นไหว้ หากมีการเซ่นไหว้จะหายจากความเจ็บป่วย (หน้า 359 - 360) ข้อห้ามของหมอยาเมือง คือ 1) ห้ามเรียกร้องค่ารักษาพยาบาลเรียกได้แต่เฉพาะค่าครูตามที่กำหนดไว้เท่านั้น นอกจากค่ามาขอเอายาสมุนไพรไปใช้ หรือการให้สินน้ำใจตอบแทนภายหลัง 2) ให้การรักษากับทุกคนถ้วนหน้า และ 3) ห้ามลอดราวตากผ้า ห้ามลอดเชือกกล้วย ห้ามกินหมา เพราะจะทำให้ผิดครูและเกิดความเจ็บป่วย (หน้า 385)

Education and Socialization

กล่าวถึงการสืบทอดเรียนรู้ของหมอยาสมุนไพร มีการเรียนรู้ผ่านการจดจำพืชสมุนไพรต่างๆ การสนใจเรียนรู้อักษรเมืองในการอ่าน "ปินเตา" จากนั้น จึงยกขันครูเพื่อที่จะสามารถรักษาคนเจ็บได้ การเรียนรู้เรื่องยาสมุนไพร ยังมีการถ่ายทอดให้คนในครอบครัว และการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับหมอยาเมืองด้วยกันเอง การเรียนรู้ถ่ายทอดโดยสรุปคือ 1) การเรียนรู้ถ่ายทอดจากบรรพบุรุษที่เป็นหมอยาให้แก่ลูกหลานในตระกูล 2) การเรียนรู้ในครอบครัวของหมอยา เช่นภรรยา ลูก หลานที่ถูกไหว้วานให้ไปเก็บสมุนไพร 3) การเรียนรู้ถ่ายทอดระหว่างหมอยาด้วยกันเองภายในชุมชน 4) การเรียนรู้ไปยังผู้ป่วยและญาติผู้ป่วยระหว่างรับการรักษา (หน้า 384 - 385)

Health and Medicine

คนเมืองชุมชนยายเหนือ ยายใต้ มีภูมิปัญญาการรักษาพยาบาล โดยจัดแบ่งประเภทความเจ็บป่วยตามลักษณะอาการหรือสาเหตุควบคู่ไปกับวิธีการบำบัดรักษา สามารถแบ่งได้เป็น 6 ประเภท คือ 1) โรคที่เกิดจากผีทำ จากการลบหลู่หรือละเมิดกฎเกณฑ์ข้อห้ามต่างๆ ผีที่อยู่ในชุมชนเช่นเจ้าเวียงแก่น ผีเจ้าเวียงดึง ผีปู่ย่า เสี้ยวไร่ เสี้ยวนา ซึ่งเป็นผีที่ทำประโยชน์ให้ชุมชน ส่วนผีร้ายคือ เสี้ยวป่า เสี้ยวดอย ผีกุนต๋าย (คนตาย) จะเป็นผีคนตายในบริเวณนั้น การหาสาเหตุของอาการทำได้โดยการทำนาย เช่นการทาย "เมื่อตีตัวเลข" จากการคำนวณตัวเลข ขีดตารางทางตำรา การทาย "เมื่อด้วยไข่" เป็นการนำไข่มาสวดอธิษฐานแล้วตีไข่ดูลักษณะตามตำรา จะรู้ว่าเป็นความเจ็บป่วยจากผีตนใด การทาย "เมื่อวาไม้สัจจะ" นำไม้ไผ่มาวัดและตัดขนาดให้ได้ 1 วา มาประกอบพิธีกรรมคำทำนายอธิษฐานไม้สั้นไม้ยาว เมื่อกล่องข้าว นำกล่องข้าวเปล่ามาผูกเชือกกับไม้ไว้ตรงกลาง ทำพิธีหาสาเหตุความเจ็บป่วย 2) โรคจากชะตากรรมโชคเคราะห์ จากความเชื่อเรื่องชะตาราศีของแต่ละบุคคลที่ติดตัวมาแต่กำเนิด ความเจ็บป่วยจะเกิดขึ้นเมื่ออายุเวียนมาถึงกำหนด ในตำแหน่งปีหรือช่วงอายุที่เกิดเหตุร้าย ต้องมีการปัดเป่าเคราะห์ภัยให้บรรเทาเบาบางลง คือการทำพิธีส่งเคราะห์ส่งนาม หรือการปูจาเตียนหลีกเคราะห์ 3) วิบากกรรมหรือกรรมเก่าและพ่อแม่เกิด เป็นกรรมของแต่ละคนที่เคยทำมาในอดีตชาติ ไม่ว่าจะรักษาอย่างไรก็ไม่หาย เพราะทำบุญทำกรรมมาเท่านี้ บางคนมีสัญญาว่าเมื่อตายลงจะกลับไปอยู่กับพ่อเกิดแม่เกิดตามเดิม ยังโยงไปถึงพ่อเกิดแม่เกิด ซึ่งเป็นความเจ็บป่วยของเด็กเล็ก ที่พ่อเกิดแม่เกิดแวะมาเยี่ยมเยียนทักทาย 4) ขวัญหาย เชื่อว่าขวัญของคนมีอยู่ 32 ขวัญ อยู่ตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย ความเจ็บป่วยเกิดจากขวัญหายออกจากร่างกาย เช่นไปยังที่มีผีร้ายจับเอาขวัญไป ทำให้เกิดความเจ็บป่วย คนเฒ่าคนแก่จะมัดมือสู่ขวัญให้ แต่ถ้าเจ็บป่วยมาก จะต้องมีการเซ่นไหว้ผีแล้วให้ปู่จารย์ทำพิธีอีกครั้ง 5) ธาตุไม่สมดุล ร่างกายประกอบด้วย 4 ธาตุ คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ ความเจ็บป่วยเกิดจากความไม่สมดุลของธาตุทั้ง 4 ภายในร่างกาย สาเหตุเกิดจากการกินผิด คลื่นไส้ อาเจียน หรือการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ 6) เป็นแผล เป็นตุ่ม และถูกของมีคม สาเหตุจากการระคายเคืองผิวหนัง จากสัตว์และพืช การรักษาจะใช้ยาหม่องหรือขี้ผึ้งที่ทำขึ้นเอง หรือการกินยาต้มหากแผลมีบริเวณกว้าง (หน้า 377 - 379) การรักษาพยาบาลพื้นบ้าน มีการใช้วิธีการรักษา มีทั้งการทำพิธีกรรมและการใช้ยาสมุนไพร การรักษาด้วยพิธีกรรม มี 3 วิธี คือ 1) การสู่ขวัญ ใช้เมื่อฟื้นจากความเจ็บป่วย และให้เกิดศิริมงคล จะมีการเตรียมอุปกรณ์ เครื่องเซ่น อาหารคาวหวาน ดอกไม้ธูปเทียน เสื้อผ้าของผู้ป่วย ปู่จารย์จะเป็นผู้เริ่มมัดมือผูกขวัญ จากนั้นเป็นญาติมิตรตามลำดับอาวุโส 2) การส่งเคราะห์ส่งนาม ทำทั้งในระดับปัจเจก ครอบครัวและชุมชน ในกรณีเกิดความเจ็บป่วยและประสบอุบัติเหตุ โดยให้ปู่จารย์เป็นผู้ทำพิธีให้เคราะห์ร้ายผ่านพ้นไป ส่วนระดับครอบครัวและชุมชน จะทำเป็นประจำทุกปีในเทศกาลปีใหม่เมือง ทำพิธีกันที่วัด หรือในกรณีครอบครัว ชุมชนเกิดเคราะห์จะทำพิธีสังคหะหมู่บ้านกันที่เสาหลักบ้าน เสร็จแล้วจะเอาเครื่องเซ่นไปทิ้งตามทิศต่างๆ ให้ไกลจากชุมชน 3) การเฮียกปู่นางคำย่านางคำ หรือปู่ก้อนเส้าย่าเตาไฟ เป็นความเชื่อเกี่ยวกับผีเตาไฟที่ใช้หุงอาหารในชีวิตประจำวัน ทำพิธีเรียกขวัญคนเจ็บป่วยที่มีอาการหนัก รักษาด้วยวิธีอื่นไม่หาย การประกอบพิธีกรรมต้องมีการทำสะตวง 9 ห้อง ถือว่าเป็นสะตวงใหญ่ที่สุด มีเครื่องเซ่นครบ 100 อย่าง เช่น ช้าง ม้า วัว ควาย ข้าทาสบริวาร อย่างละ 100 โดยการใช้ดินเหนียวมาปั้น มีอาหารคาวหวาน ดอกไม้ธูปเทียน เหล้าขาว ญาติผู้ป่วยจะมอบขันตั้งให้ปู่จารย์เริ่มทำพิธี เชิญปู่ก้อนเส้าย่าเตาไฟ ให้มาอยู่ในตัวปู่จารย์เวลากลางคืน เมื่อนอนหลับจะทำให้ฝันเห็นหรือตามหาขวัญของผู้ป่วยได้ และเมื่อทำพิธีเสร็จแล้ว จะเป็นช่วงเวลารอคอยให้ขวัญกลับมา อาจใช้เวลา 3 - 7 วัน หากผู้ป่วยหายป่วยแล้วต้องกลับมาทำพิธีสู่ขวัญให้ปู่จารย์ด้วย (หน้า 380 - 381) การรักษาด้วยพืชสมุนไพร การเลือกใช้สมุนไพรขึ้นอยู่กับอายุ เพศ สีเนื้อ จะมีหลักเกณฑ์แตกต่างกันไป ตัวยายังมีการแยกแยะรสชาติฝาด เค็ม ขม ส้ม ยาร้อน ยาเย็น จะมีขนาดการกินที่ต่างกันไป การนำสมุนไพรมารักษาใช้ได้หลายวิธี 1) การต้มดื่มน้ำ บางชนิดต้องใช้ข้าวเจ้าเป็นส่วนประกอบ 2) การกินสด ส่วนมากเป็นยอดใบอ่อนหรือผลสุก 3) การประคบ หรือการจู้ นำสมุนไพรมาโขลกให้ละเอียดแล้วห่อผ้านึ่ง ประคบรักษาอาการเจ็บป่วยภายนอก 4) การรมไอน้ำ นำสมุนไพรต้มเดือดแล้วให้คนป่วยนั่งคลุมโปงสูดเอาไอน้ำ รักษาอาการลมผิดเดือน ลมมะเฮ็งคุดต่างๆ 5) การฝนดื่มน้ำ ใช้สมุนไพรสดหรือตากแห้งมาฝนกับหิน นำน้ำที่ได้มาดื่ม 6) การปั้นเป็นลูกกลอน นำสมุนไพรมาหั่นตากแห้ง แล้วบดเป็นผง ผสมน้ำปั้นเป็นลูกกลอน 7) การบดเป็นผง นำสมุนไพรมาตากแห้งแล้วบดเป็นผง ผสมกับน้ำกิน 8) การต้มอาบ 9) การแช่น้ำดื่ม ใช้ข้าวเจ้าผสมแล้วนำน้ำมาดื่ม 10) การดองเหล้า ดองกับเหล้าขาวเป็นยาบำรุงร่างกาย เจริญอาหาร 11) การพอกทา นำสมุนไพรสดมาโขลกให้ละเอียดบริเวณเจ็บปวด เช่นแมลงสัตว์กัดต่อย (หน้า 381 - 382) "ปินเตา" กับความหลากหลายของพืชสมุนไพร เป็นตำรับยาพื้นบ้าน ที่บอกเล่าลักษณะอาการเจ็บป่วย ทั้งสาเหตุจากอำนาจเหนือธรรมชาติ และจากความไม่สมดุลของธาตุร่างกายที่ต้องใช้สมุนไพรในการรักษา การอ่านปินเตาต้องทำความเข้าใจและตีความหมายทั้งลักษณะอาการและการใช้พืชสมุนไพรรักษา จึงเป็นที่รวบรวมเอาองค์ความรู้ยาพื้นบ้านของคนเมือง (หน้า 382 - 383) หมอยาเมือง ในชุมชนยายเหนือ ยายใต้ มีหมอยาเมืองหลายคน หมอยาเมืองจะต้องมีหิ้งผีครู เพื่อการอธิษฐานและเซ่นไหว้ ในช่วงเทศกาลปี๋ใหม่เมือง เรียกว่า "ปิสโนครูบาอาจารย์" (หน้า 383)

Art and Crafts (including Clothing Costume)

ไม่มีข้อมูล

Folklore

กล่าวถึงตำนานพื้นบ้านเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล ของหมอยาที่ให้การรักษาพระพุทธเจ้าเมื่อทรงประชวร หมอยาชีวกะได้ออกเดินทางเสาะแสวงหาตัวยาเพื่อนำมารักษาพระพุทธเจ้า หลังจากรวบรวมตัวยาครบถ้วนแล้ว จึงเดินทางมารักษาพระพุทธเจ้า แต่พระพุทธเจ้าไม่ยินยอมให้รักษาและหนีเข้าไปอยู่ในถ้ำ หมอชีวกะจึงโกรธขว้างยาสมุนไพรทิ้งไป ตัวยาจึงกระจัดกระจาย ตกลงบนดิน กลายเป็นต้นพืชสมุนไพร ที่ลอยไปในอากาศก็กลายเป็นกาฝาก (หน้า 383 - 384)

Ethnicity (Ethnic Identity, Boundaries and Ethnic Relation)

ความเป็นคนเมืองคือกลุ่มชาติพันธุ์ที่หลากหลาย เข้ามาอาศัยอยู่ในล้านนา ตั้งแต่อดีต มีหลากหลายชาติพันธุ์ ทั้งลัวะ มอญ ขอม ไต เช่นไตลื้อ ไตเขิน ไตยอง ไตใหญ่ เป็นบรรพบุรุษของกลุ่มที่เรียกตนเองว่า "คนเมือง" หรือไทยวน ปัจจุบัน การเรียกตนเองว่า คนเมือง ยังไม่มีหลักฐานบ่งชี้ว่าเกิดขึ้นเมื่อใด แต่งานศึกษาบางชิ้นกล่าวว่า การเรียกตนเองว่าคนเมือง เป็นการตอบโต้การดูถูกเหยียดหยามทางชาติพันธุ์จากพม่าที่เข้ามาปกครองหัวเมืองต่างๆ ในล้านนา ขณะที่บางท่านเสนอว่า เป็นการตอบโต้และชี้แจงคำเรียกหาของคนไทยภาคกลางที่เรียกคนล้านนาว่า "ลาว" (หน้า 355)

Social Cultural and Identity Change

ถึงแม้การรักษาพยาบาลสมัยใหม่จะเข้ามามีบทบาทในชุมชนมากขึ้น แต่การรักษาแบบพื้นบ้านยังคงได้รับความนิยมอยู่ เช่น การไหว้ผี การสู่ขวัญ ส่งเคราะห์ส่งนาม การเฮียกปู่ก้อนเส้าย่าเตาไฟ เป็นเพราะการรักษาพื้นบ้านมีการนำเอาความสัมพันธ์ทางสังคม เครือญาติ สิ่งแวดล้อมมาเป็นปัจจัยในการรักษา การรักษาการแพทย์พื้นบ้านจึงเป็นการปรับความสัมพันธ์ทางสังคมให้เกิดสมดุลระหว่างผู้ป่วย สิ่งแวดล้อม และผู้คนในสังคม ชุมชนของตนเอง (หน้า 385 - 386)

Critic Issues

ไม่มีข้อมูล

Other Issues

ไม่มี

Map/Illustration

ภาพเจ้าเวียงดึง ผีที่คอยให้ความคุ้มครองชุมชน (หน้า 359) ภาพการลงแขกดำนาของคนในชุมชนยายเหนือ ยายใต้ (หน้า 363) ภาพการเปลี่ยนผืนนามาเป็นส้มโอ ที่มีราคาสูงขึ้นเรื่อยๆ (หน้า 367) ภาพสมุนไพรตากแห้งของหมอยาพื้นบ้าน (หน้า 383)

Text Analyst ชัยวัฒน์ ไชยจารุวณิช Date of Report 09 พ.ค. 2556
TAG ยวน คนเมือง, ระบบเศรษฐกิจ, การจัดการป่า, การดูแลสุขภาพพื้นบ้าน, เชียงราย, Translator -
 
 

 

ฐานข้อมูลอื่นๆของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
  ฐานข้อมูลพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทย
จารึกในประเทศไทย
จดหมายเหตุทางมานุษยวิทยา
แหล่งโบราณคดีที่สำคัญในประเทศไทย
หนังสือเก่าชาวสยาม
ข่าวมานุษยวิทยา
ICH Learning Resources
ฐานข้อมูลเอกสารโบราณภูมิภาคตะวันตกในประเทศไทย
ฐานข้อมูลประเพณีท้องถิ่นในประเทศไทย
ฐานข้อมูลสังคม - วัฒนธรรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  หน้าหลัก
งานวิจัยชาติพันธุ์ในประเทศไทย
บทความชาติพันธุ์
ข่าวชาติพันธุ์
เครือข่ายชาติพันธุ์
เกี่ยวกับเรา
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  ข้อมูลโครงการ
ทีมงาน
ติดต่อเรา
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
ช่วยเหลือ
  กฏกติกาและมารยาท
แบบสอบถาม
คำถามที่พบบ่อย


ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) เลขที่ 20 ถนนบรมราชชนนี เขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ 10170 
Tel. +66 2 8809429 | Fax. +66 2 8809332 | E-mail. webmaster@sac.or.th 
สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2549    |   เงื่อนไขและข้อตกลง