สมัครสมาชิก   
| |
ค้นหาข้อมูล
ค้นหาแบบละเอียด
  •   ความเป็นมาและหลักเหตุผล

    เพื่อรวบรวมงานวิจัยทางชาติพันธุ์ที่มีคุณภาพมาสกัดสาระสำคัญในเชิงมานุษยวิทยาและเผยแผ่สาระงานวิจัยแก่นักวิชาการ นักศึกษานักเรียนและผู้สนใจให้เข้าถึงงานวิจัยทางชาติพันธุ์ได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น

  •   ฐานข้อมูลจำแนกกลุ่มชาติพันธุ์ตามชื่อเรียกที่คนในใช้เรียกตนเอง ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้ คือ

    1. ชื่อเรียกที่ “คนอื่น” ใช้มักเป็นชื่อที่มีนัยในทางเหยียดหยาม ทำให้สมาชิกกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ รู้สึกไม่ดี อยากจะใช้ชื่อที่เรียกตนเองมากกว่า ซึ่งคณะทำงานมองว่าน่าจะเป็น “สิทธิพื้นฐาน” ของการเป็นมนุษย์

    2. ชื่อเรียกชาติพันธุ์ของตนเองมีความชัดเจนว่าหมายถึงใคร มีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมอย่างไร และตั้งถิ่นฐานอยู่แห่งใดมากกว่าชื่อที่คนอื่นเรียก ซึ่งมักจะมีความหมายเลื่อนลอย ไม่แน่ชัดว่าหมายถึงใคร 

     

    ภาพ-เยาวชนปกาเกอะญอ บ้านมอวาคี จ.เชียงใหม่

  •  

    จากการรวบรวมงานวิจัยในฐานข้อมูลและหลักการจำแนกชื่อเรียกชาติพันธุ์ที่คนในใช้เรียกตนเอง พบว่า ประเทศไทยมีกลุ่มชาติพันธุ์มากกว่า 62 กลุ่ม


    ภาพ-สุภาษิตปกาเกอะญอ
  •   การจำแนกกลุ่มชนมีลักษณะพิเศษกว่าการจำแนกสรรพสิ่งอื่นๆ

    เพราะกลุ่มชนต่างๆ มีความรู้สึกนึกคิดและภาษาที่จะแสดงออกมาได้ว่า “คิดหรือรู้สึกว่าตัวเองเป็นใคร” ซึ่งการจำแนกตนเองนี้ อาจแตกต่างไปจากที่คนนอกจำแนกให้ ในการศึกษาเรื่องนี้นักมานุษยวิทยาจึงต้องเพิ่มมุมมองเรื่องจิตสำนึกและชื่อเรียกตัวเองของคนในกลุ่มชาติพันธุ์ 

    ภาพ-สลากย้อม งานบุญของยอง จ.ลำพูน
  •   มโนทัศน์ความหมายกลุ่มชาติพันธุ์มีการเปลี่ยนแปลงในช่วงเวลาต่างๆ กัน

    ในช่วงทศวรรษของ 2490-2510 ในสาขาวิชามานุษยวิทยา “กลุ่มชาติพันธุ์” คือ กลุ่มชนที่มีวัฒนธรรมเฉพาะแตกต่างจากกลุ่มชนอื่นๆ ซึ่งมักจะเป็นการกำหนดในเชิงวัตถุวิสัย โดยนักมานุษยวิทยาซึ่งสนใจในเรื่องมนุษย์และวัฒนธรรม

    แต่ความหมายของ “กลุ่มชาติพันธุ์” ในช่วงหลังทศวรรษ 
    2510 ได้เน้นไปที่จิตสำนึกในการจำแนกชาติพันธุ์บนพื้นฐานของความแตกต่างทางวัฒนธรรมโดยตัวสมาชิกชาติพันธุ์แต่ละกลุ่มเป็นสำคัญ... (อ่านเพิ่มใน เกี่ยวกับโครงการ/คู่มือการใช้)


    ภาพ-หาดราไวย์ จ.ภูเก็ต บ้านของอูรักลาโว้ย
  •   สนุก

    วิชาคอมพิวเตอร์ของนักเรียน
    ปกาเกอะญอ  อ. แม่ลาน้อย
    จ. แม่ฮ่องสอน


    ภาพโดย อาทิตย์    ทองดุศรี

  •   ข้าวไร่

    ผลิตผลจากไร่หมุนเวียน
    ของชาวโผล่ว (กะเหรี่ยงโปว์)   
    ต. ไล่โว่    อ.สังขละบุรี  
    จ. กาญจนบุรี

  •   ด้าย

    แม่บ้านปกาเกอะญอ
    เตรียมด้ายทอผ้า
    หินลาดใน  จ. เชียงราย

    ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ถั่วเน่า

    อาหารและเครื่องปรุงหลัก
    ของคนไต(ไทใหญ่)
    จ.แม่ฮ่องสอน

     ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ผู้หญิง

    โผล่ว(กะเหรี่ยงโปว์)
    บ้านไล่โว่ 
    อ.สังขละบุรี
    จ. กาญจนบุรี

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   บุญ

    ประเพณีบุญข้าวใหม่
    ชาวโผล่ว    ต. ไล่โว่
    อ.สังขละบุรี  จ.กาญจนบุรี

    ภาพโดยศรยุทธ  เอี่ยมเอื้อยุทธ

  •   ปอยส่างลอง แม่ฮ่องสอน

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ปอยส่างลอง

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดย เบญจพล  วรรณถนอม
  •   อลอง

    จากพุทธประวัติ เจ้าชายสิทธัตถะ
    ทรงละทิ้งทรัพย์ศฤงคารเข้าสู่
    ร่มกาสาวพัสตร์เพื่อแสวงหา
    มรรคผลนิพพาน


    ภาพโดย  ดอกรัก  พยัคศรี

  •   สามเณร

    จากส่างลองสู่สามเณร
    บวชเรียนพระธรรมภาคฤดูร้อน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   พระพาราละแข่ง วัดหัวเวียง จ. แม่ฮ่องสอน

    หล่อจำลองจาก “พระมหามุนี” 
    ณ เมืองมัณฑะเลย์ ประเทศพม่า
    ชาวแม่ฮ่องสอนถือว่าเป็นพระพุทธรูป
    คู่บ้านคู่เมืององค์หนึ่ง

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม

  •   เมตตา

    จิตรกรรมพุทธประวัติศิลปะไต
    วัดจองคำ-จองกลาง
    จ. แม่ฮ่องสอน
  •   วัดจองคำ-จองกลาง จ. แม่ฮ่องสอน


    เสมือนสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรม
    เมืองไตแม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ใส

    ม้งวัยเยาว์ ณ บ้านกิ่วกาญจน์
    ต. ริมโขง อ. เชียงของ
    จ. เชียงราย
  •   ยิ้ม

    แม้ชาวเลจะประสบปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัย
    พื้นที่ทำประมง  แต่ด้วยความหวัง....
    ทำให้วันนี้ยังยิ้มได้

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ผสมผสาน

    อาภรณ์ผสานผสมระหว่างผ้าทอปกาเกอญอกับเสื้อยืดจากสังคมเมือง
    บ้านแม่ลาน้อย จ. แม่ฮ่องสอน
    ภาพโดย อาทิตย์ ทองดุศรี
  •   เกาะหลีเป๊ะ จ. สตูล

    แผนที่ในเกาะหลีเป๊ะ 
    ถิ่นเดิมของชาวเลที่ ณ วันนี้
    ถูกโอบล้อมด้วยรีสอร์ทการท่องเที่ยว
  •   ตะวันรุ่งที่ไล่โว่ จ. กาญจนบุรี

    ไล่โว่ หรือที่แปลเป็นภาษาไทยว่า ผาหินแดง เป็นชุมชนคนโผล่งที่แวดล้อมด้วยขุนเขาและผืนป่า 
    อาณาเขตของตำบลไล่โว่เป็นส่วนหนึ่งของป่าทุ่งใหญ่นเรศวรแถบอำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี 

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   การแข่งขันยิงหน้าไม้ของอาข่า

    การแข่งขันยิงหน้าไม้ในเทศกาลโล้ชิงช้าของอาข่า ในวันที่ 13 กันยายน 2554 ที่บ้านสามแยกอีก้อ อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย
 
  Princess Maha Chakri Sirindhorn Anthropology Centre
Ethnic Groups Research Database
Sorted by date | title

   Record

 
Subject มอแกลน,ไทยใหม่, ชาวเล, ประวัติท้องถิ่น,วิถีชีวิต,การศึกษา,พังงา
Author ผ่อง กำลังดัสนะ
Title ประวัติความเป็นมา และแนวทางการพัฒนาอาชีพชาวไทยใหม่ ตำบลเกาะพระทอง อำเภอคุระบุรี จังหวัดพังงา
Document Type ปริญญานิพนธ์ Original Language of Text ภาษาไทย
Ethnic Identity มอแกลน, Language and Linguistic Affiliations ออสโตรเนเชี่ยน
Location of
Documents
ห้องสมุดศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร Total Pages 99 Year 2529
Source หลักสูตรนักบริหารงานพัฒนาชุมชน วิทยาลัยการพัฒนาชุมชน กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย
Abstract

ชาวไทยใหม่ถือเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ทางทะเลที่เก่าแก่กลุ่มหนึ่ง ชาวไทยใหม่ในตำบลเกาะพระทองนั้น เป็นชาวไทยใหม่พวก "มาซิง" หรือเผ่าสิงห์ อาศัยอยู่ในหมู่บ้านตั้งแต่หมู่ที่ 1- 4 คือ บ้านทุ่งดาบ บ้านท่าแป๊ะโย้ย บ้านเกาะระ และบ้านปากจก มีวิถีชีวิตเร่ร่อนในเรือผูกพันกับทะเลมาแต่ในอดีต แม้จะขึ้นมาตั้งบ้านเรือนบนบก ก็ยังคงดำรงชีพด้วยการหาของจากทะเลไปขายหรือแลกเปลี่ยนเป็นสินค้าสิ่งของ แม้จะขึ้นมาอยู่บนบกแล้วก็ยังคงวิถีชีวิตแบบดั้งเดิมไว้ได้เป็นส่วนใหญ่ ทั้งด้านค่านิยม คติความเชื่อ ขนบธรรมเนียมประเพณี ยกเว้นรูปแบบบางอย่างที่ได้รับอิทธิพลจากสังคมและวัฒนธรรมของชนพื้นเมืองเข้ามามีบทบาท เช่น ศิลปะการละเล่นพื้นเมือง เครื่องแต่งกายและความนิยมใช้เครื่องประดับ ด้านการประกอบอาชีพ ชาวไทยใหม่มีอาชีพหลักซึ่งชายหญิงแบ่งหน้าที่กันชัดเจนคือ ผู้ชายตกปลาวางราวเบ็ด ผู้หญิงเก็บหอยชักตีน หาปลิงทะเลมาทำแห้งขาย ปัญหาในการประกอบอาชีพมีทั้งด้านอุปกรณ์เครื่องไม้เครื่องมือเก่า ขาดแคลน ชำรุด ไม่ทันสมัย ปัญหาด้านการตลาดคือ ขาดอำนาจต่อรองในการซื้อขายแลกเปลี่ยนและขาดเงินทุน นอกจากนี้ด้วยอุปนิสัยฟุ่มเฟือยและชอบเล่นการพนันทำให้ชาวไทยใหม่มักไม่มีเงินเหลือเก็บ หรือไม่ค่อยมีเงินออมเพราะไม่นิยมเก็บหอมรอมริบ สำหรับการส่งเสริมด้านการประกอบอาชีพ ผู้ชายอยากให้ส่งเสริมอาชีพการวางราวเบ็ดตกปลา ส่วนผู้หญิงอยากให้ส่งเสริมอาชีพการทำปลิงทะเลแห้งขาย ซึ่งเป็นอาชีพที่ทำอยู่แล้วและมีความชำนาญถนัดในเรื่องดังกล่าว แนวทางการส่งเสริมพัฒนาอาชีพชาวไทยใหม่ กล่าวโดยสรุปได้ดังนี้ 1 ส่งเสริมด้านเครื่องมือเครื่องใช้ในการประกอบอาชีพ เช่น พัฒนาเรือหางยาวในการวางราวเบ็ดตกปลา ส่งเสริมโรงเรือนหุงต้มปลิง 2. ส่งเสริมกรรมวิธีการผลิตให้สะอาด ถูกสุขอนามัย พร้อมจัดหาภาชนะกองกลางแบบอุตสาหกรรมขนาดย่อม 3. ส่งเสริมด้านเงินทุน จัดให้มีสหกรณ์เพื่อส่งเสริมการออมทรัพย์ (เพื่อการผลิต) การจัดตั้งกลุ่มอาชีพชาวไทยใหม่ควบคู่กัน รวมถึง การจัดตั้งกลุ่มแม่บ้านหรือกลุ่มสตรีอาสาพัฒนา

Focus

ศึกษาถึงประวัติความเป็นมา สภาพวิถีชีวิต การประกอบอาชีพ คติความเชื่อ ขนบธรรมเนียมประเพณี รวมถึงความต้องการและแนวทางการพัฒนาด้านอาชีพของชาวไทยใหม่ อำเภอคุระบุรี จังหวัดพังงา

Theoretical Issues

ไม่มี

Ethnic Group in the Focus

ชาวไทยใหม่เรียกตัวเองว่า "สิงห์" เมื่อพิจารณาจากรูปร่างหน้าตาลักษณะภายนอก ผู้วิจัยตั้งข้อสันนิษฐานว่า ชาวไทยใหม่เป็นชาติพันธุ์มองโกลเช่นเดียวกับชาวเอเชียทั่วไป มีหน้าตาคล้ายชนเผ่ามลายู ผู้ชายชาวไทยใหม่รูปร่างไม่สูงไม่เตี้ยนัก อกกว้าง ผิวค่อนข้างคล้ำ ส่วนผู้หญิงมักมีรูปร่างสูงโปร่ง ชาวไทยใหม่แบ่งได้เป็น 3 พวกตามถิ่นฐานที่ตั้ง คือ พวกมะละกา พวกลิงคา และมาซิง หรือเผ่าสิงห์ (ในประเทศไทยส่วนใหญ่ พวกนี้จะอาศัยอยู่แถบจังหวัดระนอง พังงา ภูเก็ต จากที่เคยเร่ร่อนในเรือก็ขึ้นไปตั้งบ้านเรือนบนบกตามชายฝั่ง) ชาวไทยใหม่ที่ตำบลเกาะพระทองนั้น เป็นชาวไทยใหม่เผ่าสิงห์ หรือ "มาซิง" มีข้อสันนิษฐานว่าเป็นชาวมองโกล เรียกตามชาติพันธุ์ว่า "เมลาเนเซียน" (หน้าบทคัดย่อ, หน้า 13,15)

Language and Linguistic Affiliations

ชาวไทยใหม่มีภาษาพูดเป็นของตัวเอง แต่ไม่มีภาษาเขียน สำเนียงการพูดจะพูดเร็ว เป็นภาษาพูดที่ต่างจากไทยใหม่เผ่าอื่นๆ ที่มักจะพูดคล้ายกับทางมาเลเซียและไทยมุสลิมทาง 4 จังหวัดภาคใต้ หากชาวไทยใหม่พูดกับชาวไทยพื้นเมืองก็จะพูดภาษาท้องถิ่น (ภาษาไทย) ตัวอย่างภาษาชาวไทยใหม่เผ่าสิงห์ แห่งตำบลเกาะพระทอง เช่น พ่อ ในภาษาไทยใหม่เรียก "อะปุ้ง" แม่ เรียก "อะน่อง" น้ำเรียก "เอาะแอน" ข้าวเรียก "จ้อน" ดวงจันทร์ เรียก "บุล้าน" ดวงอาทิตย์ เรียก "มะตะอะหล่อย" ฉันกินข้าว พูดว่า "กูหญ่ำจ้อน" สำหรับการนับเลข เลขสาม เรียก "ตล่อย" เลขเก้า เรียก "แซ่หว่าย" (หน้า 25-26)

Study Period (Data Collection)

รวมระยะเวลาทั้งสิ้น 47 วัน ตั้งแต่ศึกษาเอกสารถึงสารนิพนธ์แก่วิทยาลัยการพัฒนาชุมชน (24 กันยายน 2529 - 11 ธันวาคม 2529) (หน้า 9-11)

History of the Group and Community

ชาวไทยใหม่ตามชาติพันธุ์ถือเป็นชนเผ่า "เมลานีเซียน" เป็นชนเผ่าทางทะเลที่ค่อนข้างเก่าแก่เผ่าหนึ่งของโลก ซึ่งถือเป็นบรรพบุรุษของชนเผ่ามลายู อพยพมาจากลุ่มแม่น้ำแยงซีเกียงในจีนลงมาตามแม่น้ำโขง อาศัยกระจัดกระจายตามหมู่เกาะตอนใต้ของมหาสมุทรแปซิฟิก บางส่วนอาศัยอยู่บริเวณเกาะบอร์เนียว ต่อมาได้ร่อนเร่ทางเรือจากมหาสมุทรแปซิฟิกสู่มหาสมุทรอินเดีย บางพวกร่อนเร่มาตั้งหลักแหล่งอยู่ทางตอนใต้ของทะเลอันดามัน แถบประเทศมาเลเซีย เรื่อยมาทางจังหวัดสตูล กระบี่ ตรัง ภูเก็ต พังงา ระนอง ไปจนถึงตอนใต้ของพม่าและอินเดีย ชาวไทยใหม่พวกที่ตั้งหลักแหล่งในประเทศไทยอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม แต่ละกลุ่มจะเป็นเผ่าเดียวกัน สำหรับชาวไทยใหม่ในตำบลเกาะพระทองนั้น เป็นชาวไทยใหม่พวก "มาซิง" หรือเผ่าสิงห์ อาศัยอยู่ในหมู่บ้านตั้งแต่หมู่ที่ 1- 4 คือ บ้านทุ่งดาบ บ้านท่าแป๊ะโย้ย บ้านเกาะระ และบ้านปากจก (หน้า 13-14)

Settlement Pattern

ลักษณะการตั้งบ้านเรือนของชาวไทยใหม่ จะสร้างบ้านรวมกันอยู่เป็นกลุ่ม ตัวบ้านมีลักษณะเป็นเพิงพักทำด้วยใบปาล์ม ใบมะพร้าว ใบตาลและใบลาน ใช้เป็นที่อาศัยอยู่เพียงชั่วคราว พอหมดหน้ามรสุมก็จะโยกย้ายไป ปีที่มีลมมรสุมรุนแรงนานหลายเดือน ชาวไทยใหม่จะอพยพไปสร้างเพิงพักชั่วคราวตามชายฝั่งทะเล และเกาะแก่งที่มีบ้านคน อาศัยอยู่ ต่อมาจึงย้ายมาอยู่บนบกเป็นการถาวร ปัจจุบันชาวไทยใหม่ตำบลเกาะพระทองปลูกบ้านเรือนอยู่ตามชุมชนรอบเกาะ บ้างก็ปลูกบ้านให้เสาบ้านอยู่ในทะเล ตัวบ้านมีลักษณะคล้ายกระท่อมหรือขนำ (หน้า 15)

Demography

จำนวนประชากรของหมู่บ้านต่างๆ ในชุมชนอำเภอคุระบุรีมีประชากรรวมทั้งสิ้น 257 คน (จากการสำรวจเมื่อเดือนมีนาคมปี 2529) หมู่บ้านทุ่งดาบมีจำนวนประชากร 62 คน บ้านท่าแป๊ะโย้ยมีจำนวนประชากร 130 คน บ้านเกาะระมีจำนวนประชากร 34 คน บ้านปากจกมีประชากรทั้งสิ้น 31 คน คิดเป็นประชากรชาย 123 คน ประชากรหญิง 134 คน (หน้า 14)

Economy

ชาวไทยใหม่ประกอบอาชีพหลักคือการจับสัตว์น้ำ แต่เดิมมักร่อนเร่ไปมาตามเกาะแก่งต่าง ๆ แต่เมื่อขึ้นมาอยู่บนบกแล้ว ก็ยังคงทำประมงเป็นหลัก ผู้ชายส่วนใหญ่มักตกเบ็ด ผู้หญิงชาวไทยใหม่มักเก็บหอยชักตีน หาปลิงทะเลมาทำแห้งขาย แต่ก่อนชาวไทยใหม่จะหาของทะเลที่เก็บไว้ได้นาน อาทิ ปะการัง ไข่มุก เปลือกหอย กัลปังหา บ้างก็หาปลาตัวใหญ่ไว้ทำแห้งขาย สำหรับของสดจะหามาประทังชีวิต หลังจากชาวไทยใหม่มาตั้งบ้านเรือนบนบก ก็ประกอบอาชีพแบบเดิมได้ลำบาก ขาดแคลนอุปกรณ์เครื่องมือในการประกอบอาชีพ เช่น ขาดเรือใหญ่ หรือเรือที่ใช้ขาดเครื่องยนต์ เรือเก่าชำรุด รวมถึงขาดเงินทุน เป็นต้น อีกทั้งเจ้าหน้าที่มักเข้มงวดกวดขันในการหาไข่เต่าและปะการัง ทำให้การประกอบอาชีพฝืดเคืองกว่าแต่ก่อน อาชีพหลักของชายชาวไทยใหม่คือการวางราวเบ็ด จะทำทุกวันในเวลากลางคืน แล้วกลับเข้าฝั่งตอนเช้า ไปกันเป็นกลุ่มแล้วนำปลาที่ หาได้มาขายให้พ่อค้า เครื่องมือหาปลาวางเบ็ดส่วนใหญ่จะใช้เรือแจว หรือหากเป็นเรือ ที่มีเครื่องยนต์ ก็มักซื้อมาในราคาถูก เป็นเครื่องแบบเก่าต้องซ่อมเกือบทุกวัน มีการออกเงินซื้ออะไหล่ เช่น เบ็ด สายราวเบ็ดและทุ่นอยู่บ้าง ส่วนงานหลักของหญิงชาวไทยใหม่คือ การเก็บหอยหาปลิง หากเป็นวันน้ำตายแรม 7 - 9 ค่ำ น้ำทะเลขึ้นลงไม่มากจะหาของทะเลได้ยาก วันที่น้ำลดมากจะหาหอยหาปลิง 2 เวลาคือ ช่วงเช้าและเย็นเมื่อน้ำลด ช่วงกลางวัน สำหรับการเก็บหอยชักตีนนั้น ไม่ต้องใช้อุปกรณ์อะไรเมื่อน้ำลดเก็บหอยเสร็จ ก็จะทำความสะอาดก่อนนำไปขาย ส่วนการหาปลิงทะเลมาทำตากแห้งขาย ต้องอาศัยอุปกรณ์เครื่องใช้ต่างๆ มากมาย อีกทั้งกรรมวิธีการผลิตก็ไม่สะอาดถูกสุขลักษณะนัก ราคาปลิงขนาดใหญ่ซื้อขายกันหลังตากแห้งแล้วกิโลกรัมละ 200-230 บาท ขนาดและราคาลดหลั่นกันตามลำดับ มีการจัดเบอร์ไว้ถึง 5 เบอร์ขนาดเล็กสุดกิโลกรัมละ 12-15 บาท ส่วนใหญ่จะนำไปขายให้นายทุนหรือพ่อค้าแลกเปลี่ยนกับสิ่งของที่ต้องการ หรือใช้วิธีนำของไปใช้ก่อน เมื่อทำงานได้แล้วค่อยหักตามราคา เงินซึ่งเหลือจากการใช้จ่ายจะเก็บไว้ หรือฝากกับชาวพื้นเมืองที่เชื่อถือได้ หรืออาจซื้อทองหรือเครื่องประดับเก็บไว้แทน มักไม่นิยมฝากธนาคาร สำหรับอาชีพรองคือ การหาแร่ชายฝั่งและการหาตะกวดนำมาถลกหนังไปขาย ซึ่งจะทำในเวลากลางวันเมื่อมีเวลาว่าง บ้างครั้งหากมีเวลาว่าง ชาวไทยใหม่ก็จะพักอยู่กับบ้าน กินเหล้าเที่ยวเตร่ เล่นการพนัน (หน้า 30-32) การบริโภคอาหารของชาวไทยใหม่ ชาวไทยใหม่ทานข้าวเป็นอาหารหลักวันละ 1 - 2 มื้อ โดยแลกเปลี่ยนหรือซื้อหามาจากร้านค้าในหมู่บ้าน ส่วนกับข้าวจัดหากันเองจากทะเลและของป่า การหาอาหารทะเลเป็นความชำนาญพิเศษที่สืบทอดจากบรรพบุรุษ ชาวไทยใหม่ทานอาหารได้ทุกอย่างไม่มีข้อยกเว้น ไม่ทานเหลือทิ้งเหลือขว้างและไม่นิยมเก็บไว้ สำหรับน้ำจืดแต่ก่อนชาวไทยใหม่จะใช้ไม้ไผ่เป็นภาชนะ ปัจจุบันมีการใช้ภาชนะเหมือนชาวบ้านทั่วไป ชาวไทยใหม่นิยมดื่มเหล้าขาวกันมาก ถือเป็นของฝากที่สร้างความพึงพอใจ บางครอบครัวให้ลูกดื่มตั้งแต่ยังเด็ก จึงพบชาวไทยใหม่หลายคนเป็นพิษสุราเรื้อรัง (หน้า 17)

Social Organization

ระบบครอบครัว โครงสร้างครอบครัวของชาวไทยใหม่เป็นครอบครัวขนาดปานกลาง มีพ่อ แม่ ลูกและบุพการีอยู่ร่วมกัน เมื่อลูกหลานแต่งงานแล้ว จะแยกออกไปปลูกบ้านเรือนอยู่ใกล้กันเป็นครอบครัวใหม่ มีลักษณะเป็นครอบครัวขยาย การสืบสกุลของชาวไทยใหม่จะถือ ฝ่ายแม่เป็นหลัก โดยส่วนใหญ่ชาวไทยใหม่จะแต่งงานกันเองในเผ่า นิยมการมีผัวเดียวเมียเดียวมาแต่อดีต และมักไม่มีปัญหาเรื่องชู้สาวหรือการหย่าร้าง (หน้า 80) ในอำเภอเกาะพระทองส่วนใหญ่จะใช้นามสกุลเดียวกันคือ "กล้าทะเล" ถึงร้อยละ 95 หากสตรีไปแต่งงานกับคนพื้นเมืองหรือท้องที่อื่น จึงจะใช้นามสกุลตามสามี ในครอบครัวฝ่ายมารดา หากภรรยาเป็นใหญ่ มักชอบที่จะมีบุตรสาวมากกว่าบุตรชาย (หน้า 16) ชาวไทยใหม่ส่วนใหญ่อยู่ด้วยกันคิดเป็นร้อยละ 88.73 ร้อยละ 15.60 เป็นหม้าย ส่วนใหญ่เกิดจากคู่สมรสเสียชีวิต ประชากรร้อยละ 2.75 เป็นโสด แยกกันอยู่ ร้อยละ 0.92 ชาวไทยใหม่ส่วนใหญ่ที่แต่งงานแล้วยังอยู่ด้วยกัน ทำให้เกิดความสะดวกเหมาะสมในการพัฒนาส่งเสริมอาชีพเพื่อให้ได้รับประโยชน์ทั้งครอบครัว เพราะหากจะรวมกลุ่มก็สามารถรวมกันได้ทั้งผู้ชายและกลุ่มแม่บ้าน สำหรับสมาชิกในครอบครัว หากมี 9 คนขึ้นไปถือเป็นครอบครัวใหญ่เพราะส่วนมากจะมีสมาชิกในครอบครัวจำนวนระหว่าง 6 - 8 คน รองลงมาเป็นครอบครัวขนาดกลาง 3 - 5 คน ที่มีสมาชิก 1 - 2 คน มีอยู่เพียง 3 ราย (หน้า 46-47) การแต่งงานและการเลือกคู่ หนุ่มสาวชาวไทยใหม่มักจะมีอิสระ เสรีในการเลือกคู่ และนิยมแต่งงานกันตั้งแต่อายุยังน้อย บางคนแต่งตั้งแต่ย่างเช้าสู่วัยรุ่นอายุประมาณ 12-13 ปี มีการเกี้ยวพาราสี มีแม่สื่อและมีการพูดคุยหยอกล้อ แต่หากมีการทำผิดแบบแผนประเพณี จะถูกลงโทษอย่างหนักและไม่มีใครคบค้าสมาคมด้วย การสู่ขอและการหมั้น บิดามารดาฝ่ายชายจะเป็นผู้ไปสู่ขอให้ โดยการส่งคนไปเจรจา 2 - 3 คน และไปสู่ขอถึง 3 ครั้ง ต่อมาจะมีการนัดแนะตกลงวันแต่งงาน สำหรับสินสอดทองหมั้นไม่ใช่เรื่องสำคัญนัก ฝ่ายชายเพียงนำเงินทองติดไปพอเป็นพิธี สำหรับพิธีแต่งงาน เมื่อบิดามารดาสู่ขอฝ่ายหญิงครบ 3 ครั้งและทำพิธีหมั้นเรียบร้อยแล้ว ฝ่ายชายจะจัดหาสิ่งของที่จำเป็น เครื่องมือในการประกอบอาชีพ รวมถึงสิ่งของเครื่องใช้ที่จำเป็นตามฐานะ เมื่อแห่เจ้าบ่าวไปบ้านเจ้าสาวแล้ว จะมานั่งล้อมวง เวียนกันส่งขันหมากให้ชมเป็นสักขีพยาน มีผู้ใหญ่เป็นผู้แก้ขันหมาก มีการซักถามความพร้อมและประสบการณ์ทางทะเลของเจ้าบ่าว เมื่อเสร็จพิธีก็มีการกินดื่มเต้นรำ รุ่งเช้าเจ้าบ่าวเจ้าสาวจะเตรียมของลงเรือ ออกทะเลไปตามสถานที่ต่าง ๆ ในตอนเย็นแขกและญาติจะมายังชายฝั่งรอสังเกตเจ้าบ่าวเจ้าสาว หากเจ้าสาวแจวเรือเข้าฝั่งแสดงว่าฝ่ายหญิงมีมลทินแล้ว หากฝ่ายชายแจวเรือให้ฝ่ายหญิง แสดงว่ายังครองพรหมจรรย์ไว้ได้ (หน้า 21, 27-28)

Political Organization

ไม่มีข้อมูล

Belief System

พิธีกรรมความเชื่อของชาวไทยใหม่ ชาวไทยใหม่ไม่ได้นับถือศาสนาสากล แต่เคารพนับถือบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้วเรียกว่า "ดาโต๊ะ" มีการตั้งศาลไว้ข้างบ้านเป็นที่บูชา สำหรับผู้อาวุโสหรือผู้นำกลุ่มจะเรียก "โต๊ะ" ถือเป็นผู้สืบทอดของดาโต๊ะ ชาวไทยใหม่เชื่อเรื่องผีสางและวิญญาณอย่างเหนียวแน่น หากมีปรากฏการณ์ธรรมชาติใด ๆ เกิดขึ้น มักถือกันว่าเป็นการลงโทษของผี เช่น ฟ้าร้อง ฟ้าผ่า พายุ แม้แต่การเจ็บป่วยเป็นไข้ ก็เชื่อว่าเกิดจากผีกิน ต้องไล่ผี หากมีดาวตกหรือผีพุ่งไต้เชื่อว่าเป็นวิญญาณของผู้ที่ล่วงลับมาคอยสอดส่องดูแล และจะลงโทษเมื่อมีคนทำผิด เรียกว่า " ผีชิน" วิญญาณมีทั้งที่ให้คุณและให้โทษ ผีชินที่ให้คุณจะบอกแหล่งปลาชุกชุมให้ยามออกทะเล สมัยก่อนมีการใช้เวทย์มนต์คาถาประเภทเสน่ห์ยาแฝด ชาวไทยใหม่มักเชื่อถือโชคลาง การประกอบพิธีต่าง ๆ มักดูฤกษ์ดูยาม โดยมีหมอประจำหมู่บ้านนิยมใช้วิธีนั่งเทียนทำนาย (หน้า 24) พิธีศพ ในหมู่บ้านหากมีคนตาย ชาวไทยใหม่จะส่งคนและสิ่งของไปช่วยงานเจ้าภาพ ศพจะถูกเก็บไว้ 1 - 2 คืน มีการอาบน้ำศพก่อนนำศพใส่โลง ผู้อาบน้ำศพเป็นเพศเดียวกับผู้ตาย ถ้าต่างเพศวิญญาณผู้ตายจะเป็นผี ไม่ได้ผุดได้เกิด ก่อนนำศพไปฝังจะยกโลงสูงให้ญาติที่อ่อนกว่าคลานลอดใต้โลงก่อนนำไปทำพิธีฝัง การฝังศพจะหันศีรษะไปทางทิศเหนือ มีหมอผีคอยสวดมนต์และโปรยทรายบนศพ หมอผีจะเทน้ำมะพร้าวลงบนหลุมศพ แล้วกลบดินสูงก่อนปลูกมะพร้าวหน่อไว้ 1 ต้น เมื่อเดินทางกลับก็วักน้ำล้างมือล้างเท้า เชื่อว่าเป็นการป้องกันไม่ให้วิญญาณผู้ตายเที่ยวหลอกหลอน (หน้า 29) พิธีชิงเปรต ตรงกับเทศกาลสารทไทย ในเดือนสิบแรมสิบห้าค่ำ คนไทยจะไปทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้บรรพบุรุษ ชาวไทยใหม่จะพากันไปเป็นคณะเพื่อขอสิ่งของ ขนม ขอเสื้อผ้าเครื่องใช้ที่คนไทยนำไปทำบุญตามวัด บางคนจะนำของทะเลไปขายหรือแลกเปลี่ยนสินค้า (หน้า 29) พิธีลอยเรือสะเดาะเคราะห์และเสี่ยงทาย เป็นพิธีสำคัญที่จัดขึ้น 3 วัน 3 คืนในคืนเพ็ญเดือน 6 และเดือน 11 พิธี เริ่มด้วยการไปหาไม้ระกำมาประดิษฐ์เป็นรูปคน 12 คู่ช่วยกันพาย ทุกคนจะนำเครื่องสังเวยลงในเรือ แล้วร้องรำทำเพลง พอรุ่งเช้าน้ำลดก็นำเรือไปลอยริมหาด เพื่อเป็นการสะเดาะเคราะห์และเสี่ยงทาย หากเรือไปได้ไม่ไกลหรือกลับเข้าฝั่งที่เดิม ทายว่าในปีนั้นจะหากินฝืดเคือง หมอจะทำน้ำมนต์ให้นำไปแบ่งกันเมื่อเสร็จพิธี (หน้า 29) ค่านิยมของชาวไทยใหม่ ค่านิยมที่ชาวไทยใหม่ยึดถือคือ ความซื่อสัตย์ การเป็นคนสุภาพ รู้จักช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ไม่นิยมมีเรื่องทะเลาะเบาะแว้ง สามัคคี รักพวกพ้อง เชื่อฟังผู้นำและให้ความเคารพนับถือผู้อาวุโสกว่า โกรธง่ายหายเร็ว ไม่ลงไม้ลงมือกัน แต่ก็มีลักษณะนิสัยที่เป็นข้อบกพร่อง เช่น ใช้จ่ายค่อนข้างฟุ่มเฟือย และเล่นการพนัน ไม่ค่อยเก็บหอมรอมริบ (หน้า 23)

Education and Socialization

ในอดีตพ่อแม่และหัวหน้ากลุ่มชาวไทยใหม่จะเป็นผู้ให้การศึกษา อบรมและถ่ายทอดวัฒนธรรมและวิถีการดำรงชีวิต การทำมาหากิน การสร้างที่อยู่อาศัย ระเบียบประเพณีและการรักษาผู้ป่วย โดยไม่มีอิทธิพลภายนอกเข้ามาแทรก อาจเนื่องมาจากนิสัยใจคอ ที่ไม่ชอบคบค้าสมาคมกับคนภายนอก โดยถ่ายทอดกันในวงแคบผ่านการบอกเล่าหรือเลียนแบบ แม้ปัจจุบันระบบโรงเรียนก็ไม่สามารถหักล้างความเชื่อดั้งเดิมของชนเผ่าได้ เมื่อทางการเปิดโรงเรียนบนเกาะ ชาวไทยใหม่ส่งลูกไปเรียนเหมือนเด็กทั่วไป แต่กลับถูกเด็กพื้นเมืองกลั่นแกล้ง ทำให้มักขาดเรียนหรือหนีเรียน ปัจจุบันปัญหาดังกล่าวหมดไปแล้ว เด็กนักเรียนชั้นประถมปีที่ 1-4 มีจำนวนเกินครึ่ง ส่วนนักเรียนชั้นประถมปีที่ 5-6 มีนักเรียนชาวไทยใหม่ร้อยละ 30 ส่วนใหญ่เป็นเด็กชาย เด็กชาวไทยใหม่ทั้ง 4 หมู่บ้านในตำบลเกาะพระทอง ที่จบการศึกษาภาคบังคับแล้ว ไม่พบว่าได้ไปศึกษาต่อในระดับชั้นมัธยม นักเรียนหญิงมักออกไปแต่งงานมีครอบครัว (หน้า 21-22)

Health and Medicine

การดูแลรักษาสุขภาพและสุขอนามัยของชาวไทยใหม่ เนื่องจากชาวไทยใหม่ไม่ชอบอาบน้ำ ทำให้เกิดโรคผิวหนังกันมากทั้งเด็ก ผู้หญิงและผู้ชาย แต่กลับถือว่าการเป็นเกลื้อนเป็นแฟชั่นอย่างหนึ่ง นอกจากนี้ยังพบโรคหูตึงและตาฝ้ามัวกันมาก เนื่องจากการดำน้ำโดยไม่มีเครื่องช่วยหายใจ โดยเฉพาะในหมู่ผู้ชาย ฤดูแล้งก็เป็นท้องร่วงมาก นอกจากนี้ผู้วิจัยตั้งข้อสังเกตว่า เด็กและผู้ใหญ่ชาวไทยใหม่มักมีอาการท้องป่อง ตัวซีดเหลืองและเป็นพยาธิกันมาก เนื่องจากอาหารการกิน ระบบสุขอนามัยและสาธารณสุขโดยรวมไม่ดีนัก ชาวไทยใหม่จะมีหมอผีคอยรักษาโรค หรือนำสมุนไพรมาต้มรับประทาน ในอดีตหากเป็นไข้เจ็บป่วยมักเชื่อกันว่าถูกผีกิน แต่ในปัจจุบันชาวไทยใหม่รู้จักใช้บริการสถานีอนามัย หากเจ็บป่วยเพียงเล็กน้อย ก็จะซื้อยาจากร้านมาทานเอง กรณีที่เป็นไข้หนักจึงจะส่งตัวไปโรงพยาบาลอำเภอคุระบุรีหรือตะกั่วป่า (หน้า 19) การคลอดบุตรสมัยก่อนค่อนข้างหาหมอตำแยลำบาก หรืออาจเป็นเพราะอยู่ห่างไกลเดินทางไปไม่สะดวกนัก มักไม่มีใครยอมรับหน้าที่ทำคลอดหรือเป็นหมอตำแยนัก หากเป็นก็เพราะจำยอม เนื่องจากกลัวครูบรรพบุรุษจะลงโทษ หากหาหมอตำแยไม่ได้ สามีจะทำคลอดให้ภรรยาด้วยตัวเองภายในเรือที่อาศัย ยาของหมอตำแยเป็นพวกสมุนไพรทำจากรากไม้ ทารกคลอดใหม่นิยมให้ทานน้ำผึ้งรวงเพื่อขับของเสียออก ระยะแรกจะให้กินนมมารดา หากมารดามีนมไม่พอก็จะใช้นมผงเลี้ยงทารก ต่อมาให้ทานข้าวสุกเปล่า เมื่อขึ้นมาตั้งบ้านเรือนบนบกแล้ว หมอตำแยหมดไป สตรีชาวไทยใหม่ในวัยเจริญพันธุ์จะไปทำคลอดที่สถานีอนามัยตำบลเกาะพระทองแทบทุกปี เนื่องจากไม่นิยมคุมกำเนิดแม้จะได้รับคำแนะนำ หรือเกลี้ยกล่อมจากเจ้าหน้าที่ในเรื่องการคุมกำเนิดก็ไม่ค่อยได้ผลนัก (หน้า 20)

Art and Crafts (including Clothing Costume)

ศิลปะการละเล่นของชาวไทยใหม่ การละเล่นพื้นเมืองของชาวไทยใหม่มีอยู่ 2 - 3 อย่าง อาทิ มโนราห์กาปง ได้รับอิทธิพลจากอินโดนีเซีย แตกต่างจากมโนราห์ปักษ์ใต้คือ ไม่มีบทร้อง ไม่มีการเจรจา ปัจจุบันไม่นิยมจัดแสดง การแสดงรองเง็ง ปัจจุบันมักนิยมแสดงสลับกับดนตรีได้รับวัฒนธรรมเมืองเข้ามาปะปน นอกจากนี้ยังมี เพลงกล่อมเด็กและนิยมฟังเพลงลูกทุ่งทั่วไป (หน้า 22) ชาวไทยใหม่ไม่มีงานด้านศิลปะมากนัก เนื่องจากใช้ชีวิตความเป็นอยู่เรียบง่าย และมักไม่นิยมสมาคมกับผู้อื่น งานประดิษฐ์ที่มีเป็นพวกอาวุธที่ใช้ในการดำเนินชีวิต และเครื่องมือซึ่งทำจากวัสดุในท้องถิ่น (หน้า 22) การแต่งกายของชาวไทยใหม่ สมัยก่อนผู้หญิงมักนุ่งผ้าโสร่งหรือผ้าถุงกระโจมอก ไม่นิยมสวมเสื้อเช่นเดียวกับผู้ชายชาวไทยใหม่นิยมนุ่งผ้าเตี่ยว เด็ก ๆ ไม่นุ่งผ้า ปัจจุบันชาวไทยใหม่ได้รับอิทธิพลจากคนพื้นเมืองมากขึ้น มีการแต่งกายเหมือนคนพื้นเมืองทั่วไป เวลาอยู่กับบ้านหรือทำธุระผู้ชายจะไม่สวมเสื้อ แต่จะนุ่งกางเกงจีนหรือกางเกงตังเก เพราะถือตามความสะดวก ผู้หญิงสวมเสื้อและนุ่งผ้าถุง แต่ไม่นิยมใช้เครื่องสำอาง เด็ก ๆ ยังคงแก้ผ้าวิ่งเล่น ยกเว้นเวลาไปโรงเรียน แต่จะได้รับแจกเสื้อผ้าจากพวกนักการเมืองหรือหัวคะแนน เครื่องประดับ ทั้งหญิงชายชาวไทยใหม่ไม่นิยมสวมหมวก ผู้ชายไม่นิยมใช้เครื่องประดับ ยกเว้นบางรายที่ห้อยพระไว้ที่คอเลียนแบบคนพื้นเมือง ส่วนผู้หญิงนิยมใส่ทองรูปพรรณทั้งสร้อยคอ สร้อยข้อมือและตุ้มหูทองคำ ส่วนเด็กไม่นิยมใช้เครื่องประดับ (หน้า 18)

Folklore

คติชาวบ้าน คติของชาวไทยใหม่มักปรากฏในรูปของนิทานที่เล่าสืบต่อกันมา ส่วนใหญ่เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับการประกอบอาชีพ การผจญภัยในทะเล เรื่องราวของดะโต๊ะและความศักดิ์สิทธิ์ เรื่องราวเกี่ยวกับผีสาง นอกจากนี้ยังมีปริศนาคำทาย ภาษิต สิ่งที่ชาวไทยใหม่กลัวกันมากก็คือ การผิดคำสาบาน เพราะถือคำพูดเป็นสิ่งสำคัญ จะไม่มีการโกหกหลอกลวงกัน (หน้า 23)

Ethnicity (Ethnic Identity, Boundaries and Ethnic Relation)

การเรียกชื่อของชาวไทยใหม่ ชาวไทยใหม่เชื่อว่า คนมีชีวิตขึ้นมาได้เพราะน้ำจึงไม่ชอบให้ใครมาเรียกตนว่า "ชาวเล" "ชาวน้ำ" หรือ "ชาวเกาะ" ชาวไทยใหม่เรียกตัวเองว่า "สิงห์" ชาวยุโรปและอเมริกาเรียกชาวไทยใหม่ว่า "ยิปซีสมุทร" ส่วนชาวอังกฤษ ยุโรปและอเมริกาเรียก "ซี หรือ ยิปซี" แปลว่ายิปซีทะเล ชื่อทางประวัติศาสตร์เรียกชาวไทยใหม่ว่า "ซีดะยาค" มลายูเรียก "โอรังละอุต" อินโดนีเซียเรียก "โอรังละวุ้ย" ซึ่งมีคำแปลเดียวกันว่า "คนทะเล" ชาวน้ำพันธุ์ผสมจะเรียกชาวน้ำเผ่าสิงห์หรือพวกมาซิงว่า "โอรังบาไร" หรือ "โอรังบาซิก" แปลว่า คนที่อยู่ทางตะวันตก ส่วนชาวน้ำเผ่าสิงห์เรียกชาวน้ำพันธุ์ผสมว่า "มอเก็น" (หน้า 13)

Social Cultural and Identity Change

ผู้วิจัยพบว่า ชาวไทยใหม่ค่อนข้างจะยึดมั่นอยู่ในพฤติกรรมความเชื่อถือแบบเก่าอยู่มาก แม้จะพบกับสภาพการเปลี่ยนแปลงทางสังคมวัฒนธรรม สังเกตได้จากการที่ระบบสาธารณสุขสมัยใหม่และการคุมกำเนิดก้าวเข้ามามีบทบาท แต่กลับไม่ประสบผลในหมู่ชาวไทยใหม่โดยเฉพาะการคุมกำเนิด อย่างไรก็ดี สภาพการเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่ส่งผลต่อเอกลักษณ์ดั้งเดิมของชนเผ่าที่เห็นได้ชัด เช่น วิวัฒนาการด้านการแต่งกายซึ่งมีพัฒนาการขึ้นกว่าเดิม โดยได้รับอิทธิพลจากคนพื้นเมือง ศิลปะการแสดงพื้นเมือง เช่น การแสดงรองเง็งที่มีการปรับประยุกต์แสดงสลับกับดนตรี ซึ่งได้รับอิทธิพลวัฒนธรรมเมืองเข้ามาปะปน การแสดงมโนราห์กาปงที่ปัจจุบันหมดความนิยมจัดแสดงไปตามกาลเวลา ความนิยมใช้เครื่องประดับจำพวกพระห้อยคอในหมู่ผู้ชาย และความนิยมเครื่องประดับจำพวกทองรูปพรรณในผู้หญิงชาวไทยใหม่ เป็นต้น (หน้าบทคัดย่อ,18, 20)

Critic Issues

ไม่มีข้อมูล

Other Issues

แนวทางการพัฒนาอาชีพ ชาวไทยใหม่นิยมประกอบอาชีพอิสระและเรียบง่าย จากการย้ายขึ้นมาตั้งหลักแหล่งบนบก ทำให้การประกอบอาชีพจำกัดอยู่เป็นวงแคบ สำหรับแนวทางการพัฒนาส่งเสริมอาชีพชาวไทยใหม่ อาจแบ่งได้ดังนี้ 1. ส่งเสริมด้านเครื่องมือเครื่องใช้ เช่น พัฒนาให้มีเรือหางยาวครอบครัวละหนึ่งลำในการวางราวเบ็ดตกปลา เพื่อเพิ่มปริมาณการผลิตและรายได้ ส่งเสริมให้มีโรงเรือนหุงต้มปลิงที่ชาวไทยใหม่นิยมนำมาทำแห้งขาย รวมถึงจัดหาภาชนะอุปกรณ์ไว้เป็นกองกลางของกลุ่มแบบอุตสาหกรรมขนาดย่อม เป็นต้น 2. ด้านกรรมวิธีการผลิต การจับปลาด้วยการวางราวเบ็ด เป็นวิธีการที่ดีอยู่แล้ว แต่มีผู้ที่วางอวนลอยหรือใช้วิธีระเบิดปลา ทำให้หาปลาได้ยากขึ้น การทำปลิงทะเลแห้ง กรรมวิธีไม่ถูกหลักอนามัย และไม่รักษาความสะอาดนัก แนวทางการพัฒนาคือให้ความรู้ด้านการถนอมอาหารและใช้กรรมวิธีที่ถูกอนามัย ทำให้ปลิงทะเลแห้งและมีคุณภาพดีขึ้น 3. ด้านการตลาด การลงทุนและการออม ชาวไทยใหม่แม้จะถูกกดราคาสินค้า หรือเครื่องชั่งไม่ได้มาตรฐาน แต่ก็ไม่มีพลังต่อรองนัก ยังนิยมขายสินค้าให้พ่อค้าในหมู่บ้าน ควรจัดตั้งกลุ่มที่มีกิจกรรมครอบคลุม รวมถึงการตลาด ชาวไทยใหม่มักไม่ค่อยมีเงินเก็บ หรือมีบ้างไม่มากมาย ที่มีเงินเหลือจะเก็บไว้เองหรือฝากผู้ที่เชื่อถือได้ ควรส่งเสริมให้มีระบบสหกรณ์ เพื่อส่งเสริมการออม 4. การลงทุน ชาวไทยใหม่นิยมใช้ของเก่าที่มีอยู่แต่เดิม มักไม่นิยมการลงทุนหรือการออม หากมีการพัฒนากลุ่มสหกรณ์ออมทรัพย์เพื่อการผลิต ให้สมาชิกู้ยืมไปลงทุนก็อาจแก้ปัญหานี้ได้ (หน้า 80-82) นอกจากนี้ผู้วิจัยยังได้เสนอแนะแนวทางพัฒนาอาชีพเพิ่มเติม เช่น การจัดตั้งกลุ่มอาชีพชาวไทยใหม่ควบคู่ไปกับกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต การจัดตั้งกลุ่มแม่บ้านหรือกลุ่มสตรีอาสาพัฒนาเพื่อให้ชาวไทยใหม่มีความเป็นอยู่ดีขึ้น (หน้า 83)

Map/Illustration

แผนที่ตำบลเกาะพระทอง อำเภอคุระบุรี (หน้า 33) แผนที่ตำบลเกาะพระทอง (หน้า 34) ภาพบ้านในเรือของชาวไทยใหม่ในอดีตที่บ้านปากจก/ภาพบ้านผู้มีฐานะและบ้านของชาวไทยใหม่ที่ยากจนในปัจจุบัน (หน้า 35) ภาพสภาพหมู่บ้านชาวไทยใหม่บ้านปากจกและบ้านท่าแป๊ะโย้ยในปัจจุบัน/ภาพครอบครัวใหญ่และครอบครัวเดี่ยวชาวไทยใหม่ (หน้า 36) ภาพผู้ชายปรังอาหาร แม่บ้านเลี้ยงดูบุตร ครอบครัวไทยใหม่บ้านทุ่งดาบ/ภาพเครื่องครัวชาวไทยใหม่และแหล่งน้ำจืดที่ใช้มาแต่สมัยบรรพบุรุษ (หน้า 37) ภาพกีฬายามว่างของเยาวชน ชาวไทยใหม่ก้าวหน้า/ภาพศาลดาโต๊ะ วิญญาณของบรรพบุรุษที่เขานับถือมาก (หน้า 38) ภาพการแต่งกายชาวไทยใหม่/นักเรียนชาวไทยใหม่ โรงเรียนเกียรติประชา (บ้านท่าแป๊ะโย้ย) (หน้า 39) ภาพชายทะเลยามน้ำลด ที่เก็บหอยชักตีนและปลิงทะเล และหอยชักตีนที่ค้างอยู่ชายหาด/ชาวไทยใหม่กำลังเตรียมเบ็ดราว/เรือซึ่งเป็นพาหนะที่สำคัญในการประกอบอาชีพ (หน้า 40) ภาพชาวไทยใหม่กำลังต้มปลิงทะเล/ทำความสะอาดปลิงก่อนต้มครั้งที่สอง/ภาพท่าเรือในหมู่บ้านที่เป็นตลาดขายสินค้าของชาวไทยใหม่/การหาแร่เป็นอาชีพรอง (หน้า 41) ตารางแบบสอบถามสำรวจชาวไทยใหม่จำแนกตามอายุ (หน้า 42) ตารางแบบสอบถามสำรวจชาวไทยใหม่จำแนกตามหมู่บ้าน (หน้า 43) ตารางแบบสอบถามการตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนในตำบลเกาะพระทอง (หน้า 44) ตารางการศึกษา-เรียนรู้หนังสือของชาวไทยใหม่ (หน้า 45) ตารางแสดงสภาพการสมรสของชาวไทยใหม่ (หน้า 46) ตารางแสดงการอยู่รวมกันโดยกำหนดจำนวนสมาชิกในครอบครัวเป็นเกณฑ์ (หน้า 47) ตารางแสดงสถานภาพทางครอบครัวของชาวไทยใหม่ (หน้า 48) ตารางชาวไทยใหม่จำแนกชายหญิง (หน้า 49) ตารางการประกอบอาชีพหลักด้านการประมงของชาวไทยใหม่ (หน้า 50) ตารางการประกอบอาชีพหลักของชาวไทยใหม่ (หน้า 51) ตารางแสดงสภาพปัญหาของชาวไทยใหม่เกี่ยวกับเครื่องมือ เครื่องใช้ อุปกรณ์ในการประกอบอาชีพ (หน้า 52) ตารางแสดงสภาพปัญหาของชาวไทยใหม่เกี่ยวกับวิธีการประกอบอาชีพ (กรรมวิธีการผลิต) (หน้า 54) ตารางแสดงรายได้เฉลี่ยต่อเดือนของผู้ตอบแบบสอบถาม (หน้า 55) ตารางแสดงระยะเวลาที่ชาวไทยใหม่เก็บสินค้าไว้ก่อนจำหน่าย (หน้า 57) ตารางแสดงลักษณะการจัดจำหน่ายกระจายสินค้า (หน้า 58) ตารางแสดงวิธีการที่ชาวไทยใหม่นำสินค้าไปจำหน่าย (หน้า 59) ตารางการตั้งราคาสินค้าของชาวไทยใหม่ (หน้า 60) ตารางแสดงราคาสินค้าเปรียบเทียบ (หน้า 61) ตารางแสดงระดับความพอใจของชาวไทยใหม่ (หน้า 62) ตารางแสดงรายได้และเงินออมเหลือเก็บของชาวไทยใหม่ (หน้า 63) ตารางแสดงลักษณะการเก็บรักษาเงินเหลือจ่ายแต่ละเดือน (หน้า 64) ตารางแสดงการกู้เงินของชาวไทยใหม่ (หน้า 65) ตารางแสดงการนำเงินกู้ไปใช้ (หน้า 66) ตารางแสดงการหาเงินไปลงทุนในการประกอบอาชีพ (หน้า 67) ตารางแสดงแหล่งเงินกู้ของชาวไทยใหม่ (หน้า 68) ตารางแสดงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ (หน้า 69) ตารางแสดงความต้องการให้ส่งเสริมอาชีพให้ดีขึ้นกว่าเดิม (หน้า 70) ตารางแสดงความต้องการของชาวไทยใหม่ในเรื่องแนวทางการพัฒนาอาชีพ (หน้า 71-72)

Text Analyst ศมน ศรีทับทิม Date of Report 09 พ.ค. 2556
TAG มอแกลน, ประวัติท้องถิ่น, วิถีชีวิต, การศึกษา, พังงา, Translator -
 
 

 

ฐานข้อมูลอื่นๆของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
  ฐานข้อมูลพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทย
จารึกในประเทศไทย
จดหมายเหตุทางมานุษยวิทยา
แหล่งโบราณคดีที่สำคัญในประเทศไทย
หนังสือเก่าชาวสยาม
ข่าวมานุษยวิทยา
ICH Learning Resources
ฐานข้อมูลเอกสารโบราณภูมิภาคตะวันตกในประเทศไทย
ฐานข้อมูลประเพณีท้องถิ่นในประเทศไทย
ฐานข้อมูลสังคม - วัฒนธรรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  หน้าหลัก
งานวิจัยชาติพันธุ์ในประเทศไทย
บทความชาติพันธุ์
ข่าวชาติพันธุ์
เครือข่ายชาติพันธุ์
เกี่ยวกับเรา
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  ข้อมูลโครงการ
ทีมงาน
ติดต่อเรา
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
ช่วยเหลือ
  กฏกติกาและมารยาท
แบบสอบถาม
คำถามที่พบบ่อย


ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) เลขที่ 20 ถนนบรมราชชนนี เขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ 10170 
Tel. +66 2 8809429 | Fax. +66 2 8809332 | E-mail. webmaster@sac.or.th 
สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2549    |   เงื่อนไขและข้อตกลง