สมัครสมาชิก   
| |
ค้นหาข้อมูล
ค้นหาแบบละเอียด
  •   ความเป็นมาและหลักเหตุผล

    เพื่อรวบรวมงานวิจัยทางชาติพันธุ์ที่มีคุณภาพมาสกัดสาระสำคัญในเชิงมานุษยวิทยาและเผยแผ่สาระงานวิจัยแก่นักวิชาการ นักศึกษานักเรียนและผู้สนใจให้เข้าถึงงานวิจัยทางชาติพันธุ์ได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น

  •   ฐานข้อมูลจำแนกกลุ่มชาติพันธุ์ตามชื่อเรียกที่คนในใช้เรียกตนเอง ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้ คือ

    1. ชื่อเรียกที่ “คนอื่น” ใช้มักเป็นชื่อที่มีนัยในทางเหยียดหยาม ทำให้สมาชิกกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ รู้สึกไม่ดี อยากจะใช้ชื่อที่เรียกตนเองมากกว่า ซึ่งคณะทำงานมองว่าน่าจะเป็น “สิทธิพื้นฐาน” ของการเป็นมนุษย์

    2. ชื่อเรียกชาติพันธุ์ของตนเองมีความชัดเจนว่าหมายถึงใคร มีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมอย่างไร และตั้งถิ่นฐานอยู่แห่งใดมากกว่าชื่อที่คนอื่นเรียก ซึ่งมักจะมีความหมายเลื่อนลอย ไม่แน่ชัดว่าหมายถึงใคร 

     

    ภาพ-เยาวชนปกาเกอะญอ บ้านมอวาคี จ.เชียงใหม่

  •  

    จากการรวบรวมงานวิจัยในฐานข้อมูลและหลักการจำแนกชื่อเรียกชาติพันธุ์ที่คนในใช้เรียกตนเอง พบว่า ประเทศไทยมีกลุ่มชาติพันธุ์มากกว่า 62 กลุ่ม


    ภาพ-สุภาษิตปกาเกอะญอ
  •   การจำแนกกลุ่มชนมีลักษณะพิเศษกว่าการจำแนกสรรพสิ่งอื่นๆ

    เพราะกลุ่มชนต่างๆ มีความรู้สึกนึกคิดและภาษาที่จะแสดงออกมาได้ว่า “คิดหรือรู้สึกว่าตัวเองเป็นใคร” ซึ่งการจำแนกตนเองนี้ อาจแตกต่างไปจากที่คนนอกจำแนกให้ ในการศึกษาเรื่องนี้นักมานุษยวิทยาจึงต้องเพิ่มมุมมองเรื่องจิตสำนึกและชื่อเรียกตัวเองของคนในกลุ่มชาติพันธุ์ 

    ภาพ-สลากย้อม งานบุญของยอง จ.ลำพูน
  •   มโนทัศน์ความหมายกลุ่มชาติพันธุ์มีการเปลี่ยนแปลงในช่วงเวลาต่างๆ กัน

    ในช่วงทศวรรษของ 2490-2510 ในสาขาวิชามานุษยวิทยา “กลุ่มชาติพันธุ์” คือ กลุ่มชนที่มีวัฒนธรรมเฉพาะแตกต่างจากกลุ่มชนอื่นๆ ซึ่งมักจะเป็นการกำหนดในเชิงวัตถุวิสัย โดยนักมานุษยวิทยาซึ่งสนใจในเรื่องมนุษย์และวัฒนธรรม

    แต่ความหมายของ “กลุ่มชาติพันธุ์” ในช่วงหลังทศวรรษ 
    2510 ได้เน้นไปที่จิตสำนึกในการจำแนกชาติพันธุ์บนพื้นฐานของความแตกต่างทางวัฒนธรรมโดยตัวสมาชิกชาติพันธุ์แต่ละกลุ่มเป็นสำคัญ... (อ่านเพิ่มใน เกี่ยวกับโครงการ/คู่มือการใช้)


    ภาพ-หาดราไวย์ จ.ภูเก็ต บ้านของอูรักลาโว้ย
  •   สนุก

    วิชาคอมพิวเตอร์ของนักเรียน
    ปกาเกอะญอ  อ. แม่ลาน้อย
    จ. แม่ฮ่องสอน


    ภาพโดย อาทิตย์    ทองดุศรี

  •   ข้าวไร่

    ผลิตผลจากไร่หมุนเวียน
    ของชาวโผล่ว (กะเหรี่ยงโปว์)   
    ต. ไล่โว่    อ.สังขละบุรี  
    จ. กาญจนบุรี

  •   ด้าย

    แม่บ้านปกาเกอะญอ
    เตรียมด้ายทอผ้า
    หินลาดใน  จ. เชียงราย

    ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ถั่วเน่า

    อาหารและเครื่องปรุงหลัก
    ของคนไต(ไทใหญ่)
    จ.แม่ฮ่องสอน

     ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ผู้หญิง

    โผล่ว(กะเหรี่ยงโปว์)
    บ้านไล่โว่ 
    อ.สังขละบุรี
    จ. กาญจนบุรี

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   บุญ

    ประเพณีบุญข้าวใหม่
    ชาวโผล่ว    ต. ไล่โว่
    อ.สังขละบุรี  จ.กาญจนบุรี

    ภาพโดยศรยุทธ  เอี่ยมเอื้อยุทธ

  •   ปอยส่างลอง แม่ฮ่องสอน

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ปอยส่างลอง

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดย เบญจพล  วรรณถนอม
  •   อลอง

    จากพุทธประวัติ เจ้าชายสิทธัตถะ
    ทรงละทิ้งทรัพย์ศฤงคารเข้าสู่
    ร่มกาสาวพัสตร์เพื่อแสวงหา
    มรรคผลนิพพาน


    ภาพโดย  ดอกรัก  พยัคศรี

  •   สามเณร

    จากส่างลองสู่สามเณร
    บวชเรียนพระธรรมภาคฤดูร้อน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   พระพาราละแข่ง วัดหัวเวียง จ. แม่ฮ่องสอน

    หล่อจำลองจาก “พระมหามุนี” 
    ณ เมืองมัณฑะเลย์ ประเทศพม่า
    ชาวแม่ฮ่องสอนถือว่าเป็นพระพุทธรูป
    คู่บ้านคู่เมืององค์หนึ่ง

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม

  •   เมตตา

    จิตรกรรมพุทธประวัติศิลปะไต
    วัดจองคำ-จองกลาง
    จ. แม่ฮ่องสอน
  •   วัดจองคำ-จองกลาง จ. แม่ฮ่องสอน


    เสมือนสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรม
    เมืองไตแม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ใส

    ม้งวัยเยาว์ ณ บ้านกิ่วกาญจน์
    ต. ริมโขง อ. เชียงของ
    จ. เชียงราย
  •   ยิ้ม

    แม้ชาวเลจะประสบปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัย
    พื้นที่ทำประมง  แต่ด้วยความหวัง....
    ทำให้วันนี้ยังยิ้มได้

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ผสมผสาน

    อาภรณ์ผสานผสมระหว่างผ้าทอปกาเกอญอกับเสื้อยืดจากสังคมเมือง
    บ้านแม่ลาน้อย จ. แม่ฮ่องสอน
    ภาพโดย อาทิตย์ ทองดุศรี
  •   เกาะหลีเป๊ะ จ. สตูล

    แผนที่ในเกาะหลีเป๊ะ 
    ถิ่นเดิมของชาวเลที่ ณ วันนี้
    ถูกโอบล้อมด้วยรีสอร์ทการท่องเที่ยว
  •   ตะวันรุ่งที่ไล่โว่ จ. กาญจนบุรี

    ไล่โว่ หรือที่แปลเป็นภาษาไทยว่า ผาหินแดง เป็นชุมชนคนโผล่งที่แวดล้อมด้วยขุนเขาและผืนป่า 
    อาณาเขตของตำบลไล่โว่เป็นส่วนหนึ่งของป่าทุ่งใหญ่นเรศวรแถบอำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี 

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   การแข่งขันยิงหน้าไม้ของอาข่า

    การแข่งขันยิงหน้าไม้ในเทศกาลโล้ชิงช้าของอาข่า ในวันที่ 13 กันยายน 2554 ที่บ้านสามแยกอีก้อ อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย
 
  Princess Maha Chakri Sirindhorn Anthropology Centre
Ethnic Groups Research Database
Sorted by date | title

   Record

 
Subject อูรักลาโว้ย,ชาวเล,การดูแลสุขภาพ,ภูเก็ต
Author สมบูรณ์ อัยรักษ์, ประพรศรี นิรันทร์รักษ์, วนิภา วิศาล, ผดุงเกียรติ อุทกเสนีย์, ขนิษฐา กมลวัฒน์ และ วีระ กาวิเศษ
Title พฤติกรรมการดูแลสุขภาพตนเองของชาวเล : ภูเก็ต
Document Type รายงานการวิจัย Original Language of Text ภาษาไทย
Ethnic Identity อูรักลาโว้ย อูรักลาโวยจ, Language and Linguistic Affiliations ออสโตรเนเชี่ยน
Location of
Documents
ห้องสมุดศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร Total Pages 62 Year 2535
Source สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต
Abstract

ศึกษาพฤติกรรมด้านสุขภาพอนามัยที่เป็นอยู่ของชาวเลอันจะนำไปสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้ไปสู่พฤติกรรมที่พึงประสงค์ งานวิจัยชิ้นนี้ศึกษาชาวเล 2 หมู่บ้าน คือ ชุมชนชาวเลราไวย์ และชุมชนชาวเลรัษฎา (เกาะสิเหร่) ในจังหวัดภูเก็ต (หน้า 12) กลุ่มเป้าหมายที่ใช้ศึกษาของ 2 ชุมชนก็แตกต่างกัน กล่าวคือ ชุมชนชาวเลราไวย์ศึกษากลุ่มผู้นำชุมชน กลุ่มแม่บ้าน กลุ่มหนุ่มสาว ส่วนชุมชนชาวเลรัษฎา ศึกษากลุ่มผู้นำชุมชน กลุ่มชายดำน้ำ และกลุ่มหนุ่มสาว ผลการวิจัยพบว่าปัญหาสุขภาพอนามัยที่ชาวเลเผชิญคือโรคอุจจาระร่วงและปัญหาที่เกิดจากโรคการดำน้ำ ชาวเลมีวิธีดูแลสุขภาพตนเองผ่านมิติการแพทย์แบบพหุลักษณ์ คือผสมผสานระหว่างแพทย์แผนโบราณและแพทย์แผนปัจจุบัน พฤติกรรมดูแลสุขภาพตนเองในเรื่องอุจจาระร่วง ชาวเลเข้าใจพอสมควร เช่น การใช้ส้วม การเก็บอาหาร การปรับปรุงคุณภาพน้ำก่อนนำมาบริโภค การแก้ปัญหาของชุมชนยามเกิดการระบาดของโรค จะใช้การประกอบพิธีกินข้าวล่างเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินและการทำความสะอาดที่อยู่อาศัย การดูแลสุขภาพตนเองที่เกิดจากโรคดำน้ำเป็นไปในลักษณะลองผิดลองถูก เรียนรู้จากผู้มีประสบการณ์ การแก้ปัญหาของชาวเลเมื่อเกิดโรคจะใช้วิธีนำผู้ป่วยลงไปปรับความดันระดับ 10 เมตร โดยมีผู้ช่วย 3 คนช่วยกันนวดจนผู้ป่วยรู้สึกตัวจึงนำไปรักษาพยาบาลต่อไป การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่มีผลดีต่อสุขภาพควรสอดคล้องกับวิถีชีวิตของชาวเล โดยการมีส่วนร่วมขององค์กรต่างๆ เพื่อให้กิจกรรมเกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน (บทคัดย่อ)

Focus

ศึกษาพฤติกรรมด้านสุขภาพอนามัยที่เป็นอยู่ของชาวเลอันจะนำไปสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้ไปสู่พฤติกรรมที่พึงประสงค์ มีผลดีต่อสุขภาพอนามัย (บทคัดย่อ, หน้า 3)

Theoretical Issues

ไม่มี

Ethnic Group in the Focus

งานวิจัยชิ้นนี้ศึกษาชาวเล 2 หมู่บ้าน คือ ชุมชนชาวเลราไวย์ และชุมชนชาวเลรัษฎา (เกาะสิเหร่) โดยทั้ง 2 ชุมชนอยู่ในจังหวัดภูเก็ต (หน้า 12) กลุ่มเป้าหมายที่ใช้ศึกษาของ 2 ชุมชนก็แตกต่างกัน กล่าวคือ ชุมชนชาวเลราไวย์ศึกษากลุ่มผู้นำชุมชน กลุ่มแม่บ้าน กลุ่มหนุ่มสาว ส่วนชุมชนชาวเลรัษฎา ศึกษากลุ่มผู้นำชุมชน กลุ่มชายดำน้ำ และกลุ่มหนุ่มสาว (หน้า 12-14)

Language and Linguistic Affiliations

ไม่มีข้อมูล

Study Period (Data Collection)

ไม่มีข้อมูล

History of the Group and Community

ประวัติของชาวเลมีผู้สนใจศึกษาไว้หลากหลายและยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ หลักๆ ที่ควรกล่าวถึงคือ ชาวเลหรือชาวน้ำ เดิมอาศัยอยู่ตามลุ่มน้ำแยงซีเกียง ประเทศจีน จากนั้นอพยพมาทางตอนใต้ อาศัยแม่น้ำโขงล่องเรือเรื่อยมาจนถึงแหลมอินโดจีน อาศัยเร่ร่อนบนเรืออยู่ตามเกาะต่างๆ ไปจนถึงพม่าและมลายู ชาวเลเดิมเป็นชนเผ่าอินโดนีเซียนกลุ่มหนึ่งที่อพยพมาสู่เกาะบอร์เนียว เริ่มใช้ชีวิตแบบชาวเกาะเกิดเป็นเผ่าพันธุ์ดยัค (Dyak) ต่อมามีบางกลุ่มแยกตัวออกมาหากินในทะเลเรียกว่าดยัคทะเล (Sea Dyak) อพยพเรื่อยมาตามหมู่เกาะจนถึงแหลมมลายู บางกลุ่มขึ้นฝั่งมลายูจนกลายเป็นบรรพบุรุษดั้งเดิมของมลายูและบางกลุ่มยังคงเร่ร่อนต่อไปมาตามชายฝั่งตะวันตกของไทยจนถึงเกาะทางตอนใต้ของพม่า สำหรับชาวเลในไทยสามารถแบ่งเป็นกลุ่มย่อยได้ 3 กลุ่มคือ 1) กลุ่มมะละกา (Malacca) สันนิษฐานว่าเดิมอาศัยอยู่แถบช่องแคบมะละกา 2) กลุ่มลิงคา (Lingga) เดิมอาศัยอยู่แถบหมู่เกาะลิงคา 3) กลุ่มมาซิง (Masing) หรือกลุ่มสิงห์ ส่วนใหญ่อาศัยอยู่แถบเมืองมะริดและหมู่เกาะต่างๆ ในประเทศพม่า กลุ่มนี้บางกลุ่มยังเร่ร่อนโดยใช้เรือเป็นบ้าน ใช้ชีวิตแบบดั้งเดิม ชาวเลแบ่งตามชื่อกลุ่มต่างๆ เป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ โมเค็น (Moken) มอเกล็น (Moklen) และ อูรัก ลาโว้ย (Urak Lawoi) (หน้า 6)

Settlement Pattern

ชาวเลกระจายตัวตั้งแต่ทางตอนใต้ของพม่า และทิศตะวันตกเฉียงเหนือของมาเลเซีย ส่วนในไทย ชาวเลอาศัยอยู่ในหมู่เกาะน่านน้ำของไทยจนถึงเกาะพระทอง อ.คุระบุรี จ.พังงา และอาศัยกระจายออกไปจนถึงหมู่เกาะสุรินทร์และเกาะใกล้เคียง มีชื่อเรียกต่างกัน โมเค็น (Moken) อาศัยอยู่บนเกาะสินไห่ และเกาะลูกหลัด จ.ระนอง และหมู่บ้านราไวย์ อำเภอเมือง จ.ภูเก็ต เกาะพีพี จ.กระบี่ เกาะอาดัง จ.สตูล โมเกล็น (Moklen) อาศัยอยู่บนเกาะพระทอง อ.คุระบุรี จ.พังงา กระจัดกระจายตามชายฝั่งทะเลตั้งแต่บ้านทุ่งน้ำดำ อ.ตะกั่วป่า มาจนถึงบ้านลำปี อ.ท้ายเหมือง จ.พังงา และยังกระจัดกระจายมาถึง ต.ไม้ขาว อ.ถลาง จ.ภูเก็ต อีกด้วย อูรัก ลาโว้ย (Urak Lawoi) เป็นกลุ่มชาวเลกลุ่มใหญ่อาศัยอยู่บนเกาะสิเหร่ หาดราไวย์ และบ้านสะปำ อ.เมือง จ.ภูเก็ต และยังกระจัดกระจายลงมาทางใต้ทางเกาะพีพี จ.กระบี่ เกาะลันตาใหญ่ เก่ะบูลูน เกาะอาดัง เกาะลิเป๊ะ และเกาะราวี จ.สตูล (หน้า 7, 17-18) นอกจากนี้ จากกลุ่มตัวอย่างพบว่า บ้านเรือนที่พักอาศัยของชาวเลในพื้นที่ศึกษา ส่วนใหญ่เป็นบ้านถาวรร้อยละ 73.79 ไม่ถาวรร้อยละ 26.21 โดยชุมชนเกาะสิเหร่มีบ้านถาวรมากกว่าชุมชนราไวย์ คือร้อยละ 85.40 และ 64.96 ในชุมชนเกาะสิเหร่และชุมชนราไวย์ตามลำดับ (หน้า 24-25)

Demography

ประชากรชาวเลในกลุ่มที่ศึกษาทั้ง 2 ชุมชนพบว่า มีเพศชายมากกว่าเพศหญิงเล็กน้อย ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มอายุต่ำกว่า 30 ปี ร้อยละ 70.86 กลุ่มสูงอายุมีค่อนข้างน้อยเพียงร้อยละ 4.25 ดังนั้นลักษณะปิรามิดของประชากรจึงเป็นลักษณะฐานกว้าง คือประชากรกลุ่มอายุน้อยจะมีมากกว่าประชากรกลุ่มอายุมาก (หน้า 19-22)

Economy

ชาวเลส่วนใหญ่มีฐานะค่อนข้างยากจน ส่วนใหญ่ประมาณครึ่งหนึ่งมีรายได้ระหว่าง 1,000 - 2,000 บาทต่อเดือน ครอบครัวที่มีรายได้ 3,000 บาทต่อเดือนมีเพียงร้อยละ 11.66 เฉลี่ยครัวเรือนมีรายได้ 2,308 บาทต่อเดือน โดยชาวเลร้อยละ 59.22 มีฐานะพอกินพอใช้ ชาวเลเป็นหนี้ร้อยละ 29.13 และมีเงินเก็บเพียงร้อยละ 11.65 โดยชุมชนราไวย์มีฐานะดีกว่าชุมชนสิเหร่เล็กน้อย (หน้า 27-28, 48)

Social Organization

ครอบครัวของชาวเลส่วนใหญ่เป็นครอบครัวเดี่ยว ลูกเมื่อแต่งงานแล้วจะแยกครอบครัวไป ยกเว้นในกรณีที่ไม่มีใครอยู่กับพ่อแม่ ผู้ชายมีหน้าที่ออกไปทำงาน ผู้หญิงทำหน้าที่แม่บ้าน และมีบทบาทสำคัญในการตัดสินใจเรื่องต่างๆ ภายในครอบครัว เช่น การรักษาพยาบาลสมาชิกในครอบครัว ค่าใช้จ่ายในครอบครัว เป็นต้น (หน้า 19) ประชากรชาวเลสมรสตั้งแต่อายุยังน้อย ส่วนใหญ่สมรสเมื่ออายุ 15-16 ปี (หน้า 22-23)

Political Organization

"โต๊ะ" หรือ "หมอประจำชุมชน" จะมีบทบาทมาก และเป็นผู้ที่ได้รับการนับถือศรัทธาจากชาวเลในชุมชน "โต๊ะ" ทำหน้าที่เป็นผู้นำในการประกอบพิธีกรรมต่างๆ มีบทบาทรักษาปัดเป่าด้วยคาถาเพื่อไล่ผี นอกจากนี้ กลุ่มที่ยังมีอิทธิพลต่อชาวเลอีก คือ "กลุ่มนายทุน พ่อค้า และเจ้าของที่ดิน" ที่ชาวเลอาศัยอยู่ โดยชาวเลจะซื้อของจากร้านชำของเจ้าของที่ดิน (หน้า 19)

Belief System

ชาวเลเชื่อเรื่องผีสาง เวลาเจ็บป่วยหรือเกิดปรากฎการณ์ธรรมชาติชาวเลก็เชื่อว่าเกิดจากการกระทำของผี ผีที่ชาวเลเคารพมี 2 ประเภทคือ ผีบรรพบุรุษหรือ "ดะโต๊ะ" และผีที่อยู่ตามธรรมชาติเรียกว่า "ผีชิน" ทุกชุมชนของชาวเลจะมี "ศาลประจำชุมชน" ที่ชาวเลเชื่อว่ามีเทพเจ้าศักดิ์สิทธิ์ประทับอยู่ เมื่อเกิดเรื่องไม่สบายใจ ชาวเลมักไปบนบานที่ศาลประจำชุมชน (หน้า 19)

Education and Socialization

การศึกษาของประชากรชาวเลในพื้นที่ศึกษาพบผู้ที่ไม่ได้เรียนหนังสือสูงเกือบครึ่งคือร้อยละ 45.09 ประชาชนส่วนใหญ่ได้รับการศึกษาในระดับประถมศึกษา ร้อยละ 52.96 โดยภาพรวม เพศชายจะได้เรียนมากกว่าเพศหญิง (หน้า 23-24)

Health and Medicine

ระบบการแพทย์ของชาวเลมีองค์ประกอบ 2 ส่วน คือ เกี่ยวกับทฤษฎีโรค (Desease Theory) มีระบบการแพทย์แผนปัจจุบันเป็นระบบสากล และระบบที่อิงอยู่กับความเชื่อถึงสาเหตุของความเจ็บป่วยที่เกิดจากสิ่งนอกเหนือจากธรรมชาติ (หน้า 10, 56) เมื่อชาวเลมีอาการเจ็บป่วย จะรักษาโดยใช้หมอผีประจำหมู่บ้านของตนให้มาไล่ผีออก หากหมอผีหมดความสามารถจึงหันไปพึ่งบริการทางการแพทย์แผนปัจจุบัน ตั้งแต่การซื้อยามารับประทานเอง ไปจนถึงการไปใช้บริการที่สถานีอนามัยและโรงพยาบาล (หน้า 19 , 29 , 53 , 56) ผู้ที่มีส่วนตัดสินใจรักษาอยู่ในความรับผิดชอบของแม่บ้านมากที่สุด รองลงมาคือพ่อบ้าน (หน้า 30-31, 56-57) การรับรู้เรื่องโรคและการบอกชื่อโรคของกลุ่มตัวอย่างยังไม่ชัดเจน ส่วนใหญ่จะบอกได้แต่อาการที่เกิดขึ้น เช่น กลุ่มโรคทางเดินหายใจ (ไข้หวัด) กลุ่มโรคทางเดินอาหาร (ท้องร่วง) กลุ่มโรคไร้เชื้อ (เบาหวาน หอบหืด อุบัติเหตุ) (หน้า 31-34, 52-53) ชาวเลรู้จักการป้องกันโรคอุจจาระร่วงได้ในระดับหนึ่ง แต่ไม่มีการปฏิบัติมากนัก เช่น ชาวเลปรับปรุงคุณภาพน้ำก่อนจะนำมาบริโภคเพียงร้อยละ 25.24 ชุมชนชาวเลมีประเพณีพิธีที่สืบต่อกันมาเป็นเวลานานที่จะป้องกันและแก้ไขปัญหาโรคอุจจาระร่วง คือพิธีกินข้าวล่าง (กินอาหารนอกบ้าน) โดยหมอแผนโบราณหรือ "ดะโต๊ะ" ประจำหมู่บ้านจะเป็นผู้กำหนดให้ทำพิธีดังกล่าว (หน้า 35-39, 53-54) ชาวเลส่วนใหญ่ไม่มีส้วมใช้ เนื่องจากมีฐานะยากจนและไม่มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง ในชุมชนที่ศึกษาทั้ง 2 ชาวเลมีส้วมราดน้ำที่ถูกสุขลักษณะเพียงร้อยละ 22.33 โดยชุมชนราไวย์มีส้วมใช้สูงกว่าชุมชนเกาะสิเหร่ ชุมชนราไวย์ใช้น้ำจากบ่อน้ำตื้น ทั้งบ่อน้ำสาธารณะและบ่อน้ำส่วนตัว มีเพียงเล็กน้อยที่ใช้น้ำฝนสำหรับดื่ม ส่วนชุมชนเกาะสิเหร่ ซื้อน้ำจากรถยนต์ที่นำมาจำหน่ายในชุมชน เพราะน้ำใต้ดินมีสภาพกร่อย นอกจากนี้ประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่ปรับปรุงคุณภาพน้ำก่อนนำมาบริโภค โดยชุมชนเกาะสิเหร่สูงกว่าชุมชนราไวย์ วิธีปรับปรุงคุณภาพน้ำส่วนใหญ่ใช้วิธีต้ม (หน้า 25-27) โรคที่เกิดจากความกดดันของน้ำ (ชาวเลเรียกว่าโรคน้ำบีบ) จากการดำน้ำเพื่อจับสัตว์น้ำของชาวเล ชาวเลยังไม่มีแนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหานี้อย่างชัดเจน ผู้ที่จะทำอาชีพดำน้ำปฏิบัติตนในลักษณะลองผิดลองถูก สังเกตจากคนที่เคยทำมาก่อน ถือว่าน่าเป็นห่วงมาก เพราะหากผิดพลาดอาจทำให้พิการหรือเสียชีวิตได้ เมื่อชาวเลเกิดเจ็บป่วยด้วยอาการ Decompression Sickness ผู้ที่ดำน้ำไปจับสัตว์ด้วยกันจำนวน 3 คน จะนำผู้ป่วยไปปรับความดันที่ระดับความลึก 10 เมตร เวลาในการปรับความดันแล้วแต่อาการของผู้ป่วย จนกว่าผู้ป่วยจะรู้สึกตัว โดยปกติแล้วประมาณ 2 - 3 ชั่วโมง เมื่อผู้ป่วยรู้สึกตัวแล้วก็จะนำขึ้นฝั่งเพื่อรับการรักษาที่คลินิกหรือโรงพยาบาลต่อไป (หน้า 39-46, 55) กระทรวงสาธารณสุขได้เข้าไปดำเนินกิจกรรมทางสุขภาพกับชุมชนชาวเล เช่น การอนามัยแม่และเด็ก การวางแผนครอบครัว การโภชนาการ (หน้า 55) นอกจากนี้งานวิจัยยังได้ระบุถึงรูปแบบพฤติกรรมการดูแลสุขภาพอนามัยของชาวเลทั้งในการควบคุมป้องกันโรคอุจจาระร่วง โดยการควบคุมและป้องกันโรคภายในครอบครัวและในชุมชน ในเรื่องการสุขาภิบาล การดูแลสุขภาพตนเองเพื่อป้องกันโรคจากการดำน้ำ โดยให้ความรู้แก่ผู้ที่ประกอบอาชีพนี้ ทั้งความรู้ในเรื่องอุปกรณ์การดำน้ำ อันตรายจากการดำน้ำ ความรู้ในการใช้ภาษามือ การปฐมพยาบาล นอกจากนี้ยังต้องพัฒนาศักยภาพของเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ผู้นำชุมชน และองค์กรชุมชน เพื่อให้รับทราบปัญหาและแก้ไขได้ในทันที (หน้า 48-49, 57-59)

Art and Crafts (including Clothing Costume)

ไม่มีข้อมูล

Folklore

ไม่มีข้อมูล

Ethnicity (Ethnic Identity, Boundaries and Ethnic Relation)

ชาวเลเรียกตัวเองว่า "โมเค็น" (Moken) หรือ "เมาเค็น" พม่าเรียกว่า "เซลัง" (Selang) "เซลอง" (Selong) หรือ "เซลอน" (Selon) ภูเก็ตเรียกว่า "ชาวเล" "ชาวน้ำ" หรือ "ไทยใหม่" ยะโฮร์และสิงคโปร์เรียก "โอรัง ลาอุต" (Olang Laut) หรือ "รายัต ลาอุต" (Rayat Laut) ที่อินโดนีเซียเรียกว่า "บาโจ" (Badjo) "บาโรก" (Barok) "เซกะฮ์" (Sekah) "รายัต" (Rayat) หรือ "ฌูรู" (Juru) ส่วนทางตะวันตกของสุมาตราเรียกว่า "รายัต" (Rayat) หรือ "กัวลา" (Kuala) (หน้า 5)

Social Cultural and Identity Change

เด็กชาวเลเมื่อเรียนจบแล้วไม่ต้องการกลับมาทำงานเพื่อพัฒนาชุมชน แต่อยากจะไปหางานที่อื่นทำแทน เนื่องด้วยงานในพื้นที่ที่เมื่อเรียนจบออกมาแล้วไม่สามารถหางานทำได้ (หน้า 49)

Critic Issues

ไม่มีข้อมูล

Other Issues

ไม่มี

Map/Illustration

งานวิจัยชิ้นนี้มีตารางประกอบเพื่อนำเสนอข้อมูลค่าต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับงานวิจัย เช่น ตารางแสดงพฤติกรรมการรักษาพยาบาลชุมชนเกาะสิเหร่และชุมชนราไวย์ อำเภอเมืองภูเก็ต 2535 (ตารางที่ 9 หน้า 29), ตารางแสดงอาการเจ็บป่วยที่พบจากการสำรวจชุมชนเกาะสิเหร่และชุมชนราไวย์ อำเภอเมืองภูเก็ต 2535 (ตารางที่ 13 หน้า 33)

Text Analyst สิทธิพร จรดล Date of Report 24 ก.ย. 2555
TAG อูรักลาโว้ย, ชาวเล, การดูแลสุขภาพ, ภูเก็ต, Translator -
 
 

 

ฐานข้อมูลอื่นๆของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
  ฐานข้อมูลพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทย
จารึกในประเทศไทย
จดหมายเหตุทางมานุษยวิทยา
แหล่งโบราณคดีที่สำคัญในประเทศไทย
หนังสือเก่าชาวสยาม
ข่าวมานุษยวิทยา
ICH Learning Resources
ฐานข้อมูลเอกสารโบราณภูมิภาคตะวันตกในประเทศไทย
ฐานข้อมูลประเพณีท้องถิ่นในประเทศไทย
ฐานข้อมูลสังคม - วัฒนธรรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  หน้าหลัก
งานวิจัยชาติพันธุ์ในประเทศไทย
บทความชาติพันธุ์
ข่าวชาติพันธุ์
เครือข่ายชาติพันธุ์
เกี่ยวกับเรา
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  ข้อมูลโครงการ
ทีมงาน
ติดต่อเรา
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
ช่วยเหลือ
  กฏกติกาและมารยาท
แบบสอบถาม
คำถามที่พบบ่อย


ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) เลขที่ 20 ถนนบรมราชชนนี เขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ 10170 
Tel. +66 2 8809429 | Fax. +66 2 8809332 | E-mail. webmaster@sac.or.th 
สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2549    |   เงื่อนไขและข้อตกลง