สมัครสมาชิก   
| |
ค้นหาข้อมูล
ค้นหาแบบละเอียด
  •   ความเป็นมาและหลักเหตุผล

    เพื่อรวบรวมงานวิจัยทางชาติพันธุ์ที่มีคุณภาพมาสกัดสาระสำคัญในเชิงมานุษยวิทยาและเผยแผ่สาระงานวิจัยแก่นักวิชาการ นักศึกษานักเรียนและผู้สนใจให้เข้าถึงงานวิจัยทางชาติพันธุ์ได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น

  •   ฐานข้อมูลจำแนกกลุ่มชาติพันธุ์ตามชื่อเรียกที่คนในใช้เรียกตนเอง ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้ คือ

    1. ชื่อเรียกที่ “คนอื่น” ใช้มักเป็นชื่อที่มีนัยในทางเหยียดหยาม ทำให้สมาชิกกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ รู้สึกไม่ดี อยากจะใช้ชื่อที่เรียกตนเองมากกว่า ซึ่งคณะทำงานมองว่าน่าจะเป็น “สิทธิพื้นฐาน” ของการเป็นมนุษย์

    2. ชื่อเรียกชาติพันธุ์ของตนเองมีความชัดเจนว่าหมายถึงใคร มีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมอย่างไร และตั้งถิ่นฐานอยู่แห่งใดมากกว่าชื่อที่คนอื่นเรียก ซึ่งมักจะมีความหมายเลื่อนลอย ไม่แน่ชัดว่าหมายถึงใคร 

     

    ภาพ-เยาวชนปกาเกอะญอ บ้านมอวาคี จ.เชียงใหม่

  •  

    จากการรวบรวมงานวิจัยในฐานข้อมูลและหลักการจำแนกชื่อเรียกชาติพันธุ์ที่คนในใช้เรียกตนเอง พบว่า ประเทศไทยมีกลุ่มชาติพันธุ์มากกว่า 62 กลุ่ม


    ภาพ-สุภาษิตปกาเกอะญอ
  •   การจำแนกกลุ่มชนมีลักษณะพิเศษกว่าการจำแนกสรรพสิ่งอื่นๆ

    เพราะกลุ่มชนต่างๆ มีความรู้สึกนึกคิดและภาษาที่จะแสดงออกมาได้ว่า “คิดหรือรู้สึกว่าตัวเองเป็นใคร” ซึ่งการจำแนกตนเองนี้ อาจแตกต่างไปจากที่คนนอกจำแนกให้ ในการศึกษาเรื่องนี้นักมานุษยวิทยาจึงต้องเพิ่มมุมมองเรื่องจิตสำนึกและชื่อเรียกตัวเองของคนในกลุ่มชาติพันธุ์ 

    ภาพ-สลากย้อม งานบุญของยอง จ.ลำพูน
  •   มโนทัศน์ความหมายกลุ่มชาติพันธุ์มีการเปลี่ยนแปลงในช่วงเวลาต่างๆ กัน

    ในช่วงทศวรรษของ 2490-2510 ในสาขาวิชามานุษยวิทยา “กลุ่มชาติพันธุ์” คือ กลุ่มชนที่มีวัฒนธรรมเฉพาะแตกต่างจากกลุ่มชนอื่นๆ ซึ่งมักจะเป็นการกำหนดในเชิงวัตถุวิสัย โดยนักมานุษยวิทยาซึ่งสนใจในเรื่องมนุษย์และวัฒนธรรม

    แต่ความหมายของ “กลุ่มชาติพันธุ์” ในช่วงหลังทศวรรษ 
    2510 ได้เน้นไปที่จิตสำนึกในการจำแนกชาติพันธุ์บนพื้นฐานของความแตกต่างทางวัฒนธรรมโดยตัวสมาชิกชาติพันธุ์แต่ละกลุ่มเป็นสำคัญ... (อ่านเพิ่มใน เกี่ยวกับโครงการ/คู่มือการใช้)


    ภาพ-หาดราไวย์ จ.ภูเก็ต บ้านของอูรักลาโว้ย
  •   สนุก

    วิชาคอมพิวเตอร์ของนักเรียน
    ปกาเกอะญอ  อ. แม่ลาน้อย
    จ. แม่ฮ่องสอน


    ภาพโดย อาทิตย์    ทองดุศรี

  •   ข้าวไร่

    ผลิตผลจากไร่หมุนเวียน
    ของชาวโผล่ว (กะเหรี่ยงโปว์)   
    ต. ไล่โว่    อ.สังขละบุรี  
    จ. กาญจนบุรี

  •   ด้าย

    แม่บ้านปกาเกอะญอ
    เตรียมด้ายทอผ้า
    หินลาดใน  จ. เชียงราย

    ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ถั่วเน่า

    อาหารและเครื่องปรุงหลัก
    ของคนไต(ไทใหญ่)
    จ.แม่ฮ่องสอน

     ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ผู้หญิง

    โผล่ว(กะเหรี่ยงโปว์)
    บ้านไล่โว่ 
    อ.สังขละบุรี
    จ. กาญจนบุรี

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   บุญ

    ประเพณีบุญข้าวใหม่
    ชาวโผล่ว    ต. ไล่โว่
    อ.สังขละบุรี  จ.กาญจนบุรี

    ภาพโดยศรยุทธ  เอี่ยมเอื้อยุทธ

  •   ปอยส่างลอง แม่ฮ่องสอน

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ปอยส่างลอง

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดย เบญจพล  วรรณถนอม
  •   อลอง

    จากพุทธประวัติ เจ้าชายสิทธัตถะ
    ทรงละทิ้งทรัพย์ศฤงคารเข้าสู่
    ร่มกาสาวพัสตร์เพื่อแสวงหา
    มรรคผลนิพพาน


    ภาพโดย  ดอกรัก  พยัคศรี

  •   สามเณร

    จากส่างลองสู่สามเณร
    บวชเรียนพระธรรมภาคฤดูร้อน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   พระพาราละแข่ง วัดหัวเวียง จ. แม่ฮ่องสอน

    หล่อจำลองจาก “พระมหามุนี” 
    ณ เมืองมัณฑะเลย์ ประเทศพม่า
    ชาวแม่ฮ่องสอนถือว่าเป็นพระพุทธรูป
    คู่บ้านคู่เมืององค์หนึ่ง

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม

  •   เมตตา

    จิตรกรรมพุทธประวัติศิลปะไต
    วัดจองคำ-จองกลาง
    จ. แม่ฮ่องสอน
  •   วัดจองคำ-จองกลาง จ. แม่ฮ่องสอน


    เสมือนสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรม
    เมืองไตแม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ใส

    ม้งวัยเยาว์ ณ บ้านกิ่วกาญจน์
    ต. ริมโขง อ. เชียงของ
    จ. เชียงราย
  •   ยิ้ม

    แม้ชาวเลจะประสบปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัย
    พื้นที่ทำประมง  แต่ด้วยความหวัง....
    ทำให้วันนี้ยังยิ้มได้

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ผสมผสาน

    อาภรณ์ผสานผสมระหว่างผ้าทอปกาเกอญอกับเสื้อยืดจากสังคมเมือง
    บ้านแม่ลาน้อย จ. แม่ฮ่องสอน
    ภาพโดย อาทิตย์ ทองดุศรี
  •   เกาะหลีเป๊ะ จ. สตูล

    แผนที่ในเกาะหลีเป๊ะ 
    ถิ่นเดิมของชาวเลที่ ณ วันนี้
    ถูกโอบล้อมด้วยรีสอร์ทการท่องเที่ยว
  •   ตะวันรุ่งที่ไล่โว่ จ. กาญจนบุรี

    ไล่โว่ หรือที่แปลเป็นภาษาไทยว่า ผาหินแดง เป็นชุมชนคนโผล่งที่แวดล้อมด้วยขุนเขาและผืนป่า 
    อาณาเขตของตำบลไล่โว่เป็นส่วนหนึ่งของป่าทุ่งใหญ่นเรศวรแถบอำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี 

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   การแข่งขันยิงหน้าไม้ของอาข่า

    การแข่งขันยิงหน้าไม้ในเทศกาลโล้ชิงช้าของอาข่า ในวันที่ 13 กันยายน 2554 ที่บ้านสามแยกอีก้อ อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย
 
  Princess Maha Chakri Sirindhorn Anthropology Centre
Ethnic Groups Research Database
Sorted by date | title

   Record

 
Subject ลเวือะ,การศึกษา,ความเชื่อ,การเมือง,การจัดระเบียบสังคม,เชียงใหม่
Author รัตนา ตุงคสวัสดิ์
Title การศึกษาของลัวะบ้านกองลอย
Document Type รายงานการวิจัย Original Language of Text ภาษาไทย
Ethnic Identity ลัวะ (ละเวือะ) ลเวือะ อเวือะ เลอเวือะ ลวะ ละว้า, Language and Linguistic Affiliations ออสโตรเอเชียติก(Austroasiatic)
Location of
Documents
ห้องสมุดศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร Total Pages 218 Year 2531
Source ทุนวิจัยรัชดาภิเษกสมโภช จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
Abstract

เนื้อหาเกี่ยวกับการศึกษาและปัญหาด้านการศึกษาของลัวะ บ้านกองลอย ต.บ่อสลี อ.ฮอด จ.เชียงใหม่ ที่มีการผสมผสานวัฒนธรรมของตนกับวัฒนธรรมไทยเข้าด้วยกันจนเหลือวัฒนธรรมลัวะไม่มากในปัจจุบัน งานวิจัยศึกษาทั้งการศึกษาในโรงเรียนของรัฐ เช่น ที่โรงเรียนบ้านกองลอยทั้งสภาพแวดล้อมของโรงเรียน ครู ผู้บริหาร นักเรียน โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ลัวะเกิดความรู้สึกว่าเป็นพลเมืองไทยตามนโยบาย "รวมพวก" ให้รักษาสิ่งแวดล้อมและเลิกการปลูกฝิ่นโดยหันมาปลูกพืชทดแทนชนิดอื่น และการศึกษานอกโรงเรียน อันได้แก่ความรู้ที่ได้จากคนในชุมชน เช่นจาก พ่อ แม่ และพระ ได้แก่คำสอนเรื่องศาสนา ความเชื่อเรื่องผี การทำการเกษตร การดำรงชีวิตในด้านต่างๆ

Focus

ศึกษาสภาพและปัญหาการศึกษาทั้งในและนอกโรงเรียนของลัวะ บ้านกองลอย หมู่ 4 ตำบลบ่อสลี อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่ (บทคัดย่อ) เพื่อเป็นข้อมูลพื้นฐานที่จะทำให้ทราบถึงสภาพการให้การศึกษา รวมทั้งปัญหาและผลกระทบที่การศึกษามีต่อสังคมลัวะ เพื่อช่วยในการกำหนดนโยบาย และแนวการดำเนินงานพัฒนาและสงเคราะห์ลัวะ (หน้า 8)

Theoretical Issues

ไม่มี

Ethnic Group in the Focus

ลัวะหรือละว้า อยู่ในกลุ่มตระกูลออสโตรเอเชียติค (Austro-Asiatic) เช่น ชนชาติในตระกูลมอญ - เขมร ชาวเขาที่อยู่ในตระกูลนี้นอกจากลัวะแล้วยังมี ขมุ ผีตองเหลือง ถิ่น และข่าฮ่อ (หน้า บทนำ,19) จากการสันนิษฐาน ลัวะ(ละว้า) อยู่ในประเทศไทยมาก่อนคนไทยที่จะรวมเป็นประเทศ ครั้นไทยได้เข้ามาอยู่ในเขตสุวรรณภูมิ ลัวะบางส่วนก็ได้ผสมกลมกลืน บางส่วนก็ถอยร่นไปอยู่ตามป่าเขา (หน้า 2) ข้อมูลบางส่วนระบุว่า ลัวะหรือละว้าเป็นชนชาติที่อยู่ในสายออสโตรนีเชียน (Austronesian) ในตระกูลมอญ-เขมร มีเชื้อสายเดียวกับว้าอยู่ในภาคเหนือของไทยมาประมาณ 1,300 ปี ก่อน มอญ เขมร และไทยจะเข้ามาอยู่ในพื้นที่นี้ คนไทย เรียกว่า "ลัวะ" และ "ละว้า" แต่ลัวะเรียกตนว่า "ละเวื้อ" (หน้า 21)

Language and Linguistic Affiliations

ภาษาลัวะอยู่ในกลุ่ม Palanung - Wa และ Riang ในตระกูลออสโตร-เอเชียติค และยังมีหลายภาษาย่อย (dialect)(หน้า 22) ดังนั้น ลัวะบางหมู่บ้านจะพูดไม่เหมือนกันแต่สามารถสื่อสารกันได้ (หน้า 23) ลัวะไม่มีภาษาเขียน ในปี พ.ศ.2494 มิชชันนารีได้นำอักษรโรมันมาถ่ายทอดเป็นภาษาเขียนที่ละอุบ (La-Up dialect) แม่เสรียง ดังนั้น ลัวะจึงอ่านคัมภีร์ของศาสนาคริสต์และเขียนภาษาลัวะเป็นตัวอักษรโรมันได้ และในปี พ.ศ.2506 มิชชันนารีได้นำอักษรไทยมาเขียนเป็นภาษาลัวะ ส่วนลัวะบ่อหลวงและบ้านกองลอยระบุว่า ลัวะไม่มีภาษาเขียน จึงคาดว่าภาษาเขียนที่มิชชันนารีนำมาเผยแพร่นี้ แพร่หลายไม่มาก (หน้า 23) ลัวะบ้านกองลอย ตั้งแต่เด็กจนถึงคนสูงอายุ ในหมู่บ้านจะพูดภาษาลัวะและพูดในชีวิตประจำวัน (หน้า 94)

Study Period (Data Collection)

ระหว่าง 30 ธันวาคม 2529 - 7 มีนาคม 2531 (หน้า 18,19) เก็บข้อมูลรวม 6 ครั้ง คือการศึกษา นำร่อง ออกภาคสนาม 30 ธันวาคม 2529 - 4 มกราคม 2530 เก็บข้อมูลภาคสนามครั้งที่ 1 เมื่อ 13 -19 กุมภาพันธุ์ 2530 ครั้งที่ 2 เมื่อ 14 -16 กรกฎาคม 2530 ครั้งที่ 3 เมื่อ 9 -13 กันยายน 2530 ครั้งที่ 4 เมื่อ 22 - 29 ธันวาคม 2530 ครั้งที่ 5 เมื่อ 2 - 7 มีนาคม 2531

History of the Group and Community

ประวัติลัวะในภาคเหนือ ลัวะได้อพยพเข้ามาอยู่ในภาคเหนือของไทยเมื่อประมาณ 2,000 ปี ที่ผ่านมา ก่อนไทยมอญ และเขมรจะเข้ามาอยู่บริเวณนี้ เมื่อก่อนนี้ลัวะจะตั้งถิ่นที่อยู่บริเวณแหลมอินโดจีน เช่นที่ ละว้าปุระ (Lawapura) หรือจังหวัดลพบุรี จากนั้นก็ได้โยกย้ายขึ้นทางเหนือ ตามลำน้ำ กลุ่มแรกไปตั้งที่อยู่ ที่ริมฝั่งแม่น้ำคง (Salween) ในรัฐไทยใหญ่ (Shan States) ของพม่า (หน้า 24) ส่วนอีกกลุ่มได้ตั้งถิ่นที่อยู่ตามลำน้ำโขงในไทย เช่นบ้านเวียงหนองล่อง อ.ป่าซาง จ.ลำพูน บ้านแม่เหี๊ยะ ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ แต่พอชนชาติไทยย้ายเข้ามาลัวะจึงไปอยู่ที่บ้านบ่อหลวง ต.บ่อหลวง อ.ฮอด จ.เชียงใหม่ (หน้า 24) ประวัติหมู่บ้าน ลัวะย้ายมาอยู่ที่ภาคเหนือของไทยมากกว่า 1,000 ปี ครั้นชนชาติไทยย้ายเข้ามาอยู่บริเวณนี้ลัวะจึงย้ายไปตั้งหมู่บ้านอยู่ที่ ต.บ่อหลวง อ.ฮอด จ.เชียงใหม่และที่อื่น ลัวะมาอยู่บ้านกองลอยหลายร้อยปี (หน้า 89) จากหลักฐานเดิมที่บ้านกองลอย จะมาตั้งอยู่พื้นที่ทุกวันนี้ก็เนื่องจากว่าหมู่บ้านเดิมไฟไหม้ ใน พ.ศ.2492 บ้านเรือนเสียหาย 25 หลังคาเรือน ดังนั้น จึงย้ายลงทางทิศใต้ ห่างออกไป 1 กิโลเมตร และ ตั้งหมู่บ้านอยู่ต่อมาประมาณ 100 ปี (หน้า 90)

Settlement Pattern

บ้านจะใช้เสาไม้ หรือไม้ไผ่พื้นบ้านและฝาทำจากฟากไม้ไผ่มุงหลังคาด้วยหญ้าคาหรือใบตองตึง หน้าจั่วจะประดับด้วยไม้แกะสลัก เป็นรูปสัตว์ รูปดาวยอดจั่วจะทำเป็น "กาแล" เป็นไม้ยื่น ออก 2 ง่าม บ้านเป็นแบบใต้ถุนสูง ใต้ถุนใช้เก็บฟืนและเลี้ยงสัตว์ เช่น ไก่ หมูวัว ควาย ห้องนอนมี 1 ห้อง ในห้องทำเตาไฟทรงสี่เหลี่ยม โดยจะเจาะพื้นห้องเพื่อทำกับข้าวและผิงไฟ (หน้า 25) บ้านจะทำระเบียงเอาไว้ทำงาน ปั่นด้าย ทอผ้า สานเสื่อ และเป็นบริเวณนั่งรับแขก หลังคาอีกด้านจะมุงลงมาต่ำจนถึงพื้นดิน เพื่อทำเป็นที่ตำข้าว (หน้า 25) บ้านบางหลังจะสร้างแบบหมู่บ้านภายนอก โดยจะสร้างบ้านด้วยไม้ทั้งหลัง ชั้นล่างก่อด้วยอิฐหรือปูน มุงด้วยกะเบื้องหรือสังกะสี บ้านบางหลังหากไม่สร้างใต้ถุนสูงก็จะทำที่เก็บฟืนและทำเล้าเลี้ยงสัตว์เอาไว้อีกแห่ง (หน้า 25) ทุกวันนี้ในหมู่บ้านมีบ้านมุงด้วยกะเบื้อง 90 หลัง มุงสังกะสี 97 หลัง มุงจากหรือหญ้า 43 หลัง บ้านบางหลังชั้นล่างจะก่อด้วยอิฐหรือปูน สำหรับบ้าน 2 ชั้น มีส้วมซึม 187 หลัง (หน้า 90) บ้านส่วนใหญ่ จะสร้างรั้วกั้นบริเวณบ้าน (หน้า 25, 91)

Demography

ลัวะบ้านกองลอย มี ประชากร 1,460 คน มีบ้านเรือน จำนวน 230 หลังคาเรือน (หน้า 8) เพศชาย 699 คน หญิง 707 คน (หน้า 90) จากการสำรวจของกรมประชาสงเคราะห์ เมื่อปี 2530 ระบุว่า ลัวะ กระจายอยู่ตามจังหวัดต่างๆ ในภาคเหนือ (หน้า 21) และภาคกลาง เช่น เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน เชียงราย ลำปาง สุพรรณบุรี อุทัยธานี มีประชากร 7,883 คน อยู่ใน 43 หมู่บ้าน จำนวน 1,434 หลังคาเรือน (หน้า 22, 46) ส่วนผู้วิจัยระบุว่า มีลัวะ อยู่ใน จ.น่าน 6,518 คน อยู่ใน 7 หมู่บ้าน จำนวน 810 หลังคาเรือน แต่อย่างไรก็ดี มีการให้ข้อมูลที่ไม่ตรงกัน เช่น นักวิชาการบางส่วนให้ข้อมูลว่าจังหวัดน่านมีลัวะ 6,456 คน ใน 23 หมู่บ้าน (หน้า 22) สำหรับสำนักงานสถิติแห่งชาติระบุว่า ลัวะในจังหวัดน่าน มีจำนวน 319 คน จำนวน 53 ครัวเรือน (หน้า 22) ส่วนประชากรชาวเขาจากการสำรวจของศูนย์วิจัยชาวเขาระบุว่าชาวเขาที่เริ่มสำรวจเมื่อปี 2503 - 2505 กระจายอยู่ใน 22 จังหวัด ภาคเหนือ มีจำนวน 5 แสนคน และมีประชากรลัวะประมาณ 11,536 คน หรือ 3.19% ของประชากรชาวเขาในไทย จำนวน 10 กลุ่ม (หน้า 56) ส่วนกองสงเคราะห์ชาวเขาได้สำรวจจำนวนประชากรชาวเขาในไทยระบุว่า มีจำนวน 368,223 คน ได้แยกเป็น เผ่าต่างๆ เช่น กะเหรี่ยง แม้ว มูเซอ ลีซอ เย้า อีก้อ ลัวะ ถิ่น ขมุ ลื้อ (หน้า 4)

Economy

อาชีพ ในอดีตอาชีพหลักของลัวะ คือ ตีเหล็ก แต่ทุกวันนี้เลิกทำเกือบหมด เพราะจะไปซื้อที่ตลาดในเมือง ในอดีตทึ่ผ่านมานั้นลัวะจะไปหาแร่เหล็กที่ภูเขาแล้วนำมาถลุง เป็นเครื่องใช้ ไม่ว่าจะเป็นมีด ขวาน จอบ เสียม เป็นต้น (หน้า 30) นอกจากนี้ ลัวะประกอบอาชีพเพาะปลูก มีการปลูกพืชบนที่สูงโดยจะเผาพื้นที่แล้วหมุนเวียนเป็นทุกๆ 10 ปี (หน้า 30) ลัวะจะชอบปลูกพืชในป่าทุติยภูมิ (non-virgin forests) จะไม่ตัดต้นไม้ในป่าปฐมภูมิ (virgin forests) โดยจะอนุรักษ์เอาไว้เป็นป่าของผี และอนุรักษ์ป่าเอาไว้ (หน้า 31) เมื่อก่อนลัวะจะทำนาไร่โดยจะทำไร่เลื่อนลอยตามไหล่เขา แต่ต่อมาได้เรียนรู้วิธีทำนาแบบนาดำจากคนไทย และภายหลังจากทำนา ก็จะปลูกพืช เช่น ยาสูบ ถั่วเหลือง หอม กระเทียม ฯลฯ (หน้า 31) ส่วนอาชีพอื่น เช่น รับจ้าง ทำนา ก่อสร้าง ค้าขาย และรับราชการ (หน้า 31) ประชากรในหมู่บ้านทำอาชีพมากกว่า 1 อย่าง 220 ครัวเรือน และทำอาชีพอย่างเดียว จำนวน 10 ครัวเรือน (หน้า 93) ที่ดิน หมู่บ้านมีเนื้อที่ทั้งหมด 8,540 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่ทำการเกษตร จำนวน 480 ไร่ แต่ทำการเกษตรได้เพียง 3 ใน 4 ส่วนของพื้นที่ เพราะน้ำน้อยและดินไม่ดี ลัวะที่มีที่ดินของตัวเอง จำนวน 180 ครัวเรือน และต้องเช่าที่ดินผู้อื่นทำกิน จำนวน 40 ครัวเรือน (หน้า 93) การปลูกพืช พืชที่ปลูกมากรองจากข้าว ชาวบ้านจะปลูกมะเขือเทศมากที่สุด (หน้า 93,176) จำนวน 180 ครัวเรือน โดยจะปลูกปีละ 3 ครั้ง ครัวเรือนละ 2 ไร่ การปลูกจะได้ผลผลิตจำนวน 4,000 กิโลกรัม ขายกิโลกรัมละ 3 บาท นอกจากนี้ยังมีครอบครัวที่ปลูกพืชไร่ชนิดอื่น จำนวน 140 ครัวเรือน (หน้า 93) ในฤดูแล้ง มีชาวบ้านปลูกพืชจำนวน 210 ครัวเรือน มีรายได้ปลูกพืชในหน้าแล้ง จำนวน 15,000 บาท ครัวเรือน/ ปี (หน้า 94) การเลี้ยงสัตว์ ในหมู่บ้านเลี้ยงหมูจำนวน 32 ครัวเรือน ในหมู่บ้านมีหมูทั้งหมดจำนวน 127 ตัว รายได้เฉลี่ยต่อการขายหมูต่อปี 8,000/ ปี นอกจากนี้ยังมีคนเลี้ยงวัว 81 ครัวเรือน (หน้า 94) ทรัพย์สิน มีรถไถเล็กเป็นของตัวเอง 12 ครัวเรือน (หน้า 94) รถกะบะ 18 คัน รถมอเตอร์ไซด์ 32 คัน รถจักรยาน 21 คัน รถอีแต๋น 1 คัน รถบรรทุก 3 คัน มีครัวเรือนละ 1 คัน (หน้า 99) จากที่ผู้เขียนได้สัมภาษณ์ผู้ปกครองนักเรียนลัวะ 39 คน ระบุว่าผู้ปกครองมีอาชีพหลักคือทำนา อาชีพรองคือทำสวนรายได้เฉลี่ย 2,001 - 3,000 บาทต่อปี 8 ราย รองลงมารายได้ 4,001 - 5,000 บาท จำนวน 5 ราย (หน้า 114) ส่วนคนที่มีรายได้จำนวนสูงสุด จำนวน 6 หมื่นบาทมี 1 ราย ความเป็นอยู่มีความเป็นอยู่พออยู่พอกิน ส่วนใหญ่ไม่มีเงินเก็บออม (หน้า 115)

Social Organization

ครอบครัวลัวะเป็นแบบผัวเดียวเมียเดียว (หน้า 26,36) มีทั้งครอบครัวเดี่ยวกับครอบครัวขยาย ในครอบครัวประกอบด้วยพ่อ แม่ ลูก ในบางครอบครัวจะมีพ่อแม่ของสามีหรือน้องชายสามีที่ยังไม่แต่งงาน (หน้า 26,94,95) ในครอบครัวผู้หญิงจะทำงานบ้าน เช่น หาฟืน ตักน้ำ ตำข้าว ทำอาหาร ส่วนผู้ชาย จะทำงานหนัก เช่น ไถนา ล่าสัตว์ และผู้หญิงจะไปช่วยงาน เช่น ถางไร่ ปลูกพืช ปลูกข้าว เกี่ยวข้าว สำหรับงานที่ต้องช่วยเหลือกัน เช่น เลี้ยงลูก ทำสวน หาปลา (หน้า 27) เมื่อลูกโตแยกครอบครัวแล้วก็จะเป็นหัวหน้าครอบครัวทำหน้าที่บูชาบรรพบุรุษ หากไม่มีลูกชายหน้าที่นี้ ก็จะเป็นของลูกเขย หากไม่มีลูกเขย พ่อจะทำหน้าที่นี้ไปจนสิ้นชีวิต ครั้นเสียชีวิตแล้วสามีคนต่อมาของภรรยา หากเข้ามาอยู่ใหม่ก็จะทำหน้าที่ต่อ เมื่อสามีเสียชีวิตจะแบ่งมรดกให้ภรรยา และลูกชาย ส่วนลูกสาวจะได้รับเฉพาะเครื่องประดับที่เป็นเงิน (หน้า 27) ลัวะมีความสำนึกในเชื้อชาติลัวะ (หน้า 94,183) ในหมู่บ้านจะนับถือผู้สูงอายุ และเชื่อฟังคำตัดสินของหัวหน้ากลุ่ม หรือพ่อหลวง เชื่อถือหมอผีซึ่งเป็นคนประกอบพิธีต่างๆ (หน้า 94) การเลือกคู่ครอง ก่อนแต่งงานจะมีการเลือกคู่ครอง ผู้ชายจะไปพูดคุยกับหญิงสาวในเวลากลางคืน เรียกว่า "แอ่วสาว" พ่อ แม่ผู้หญิงจะเปิดโอกาสให้ลูกสาวพูดคุยกับชายหนุ่มที่มาคุยด้วย ผู้ชายจะถูกเนื้อต้องตัวผู้หญิงไม่ได้ เพราะถือว่า "ผิดผี" หากถูกเนื้อต้องตัวหรือหากเข้าไปในห้องนอน ถือว่าเป็นเขตหวงห้าม คนที่เป็นคนอื่นไม่ใช่คนในบ้านจะเข้าไปไม่ได้ ในห้องนอนจะมี "ข่มประตู" คือ เส้นกั้นเขตหวงห้ามกั้นไว้ที่ประตูเมื่อผิดผี ญาติฝ่ายหญิงจะเรียกญาติฝ่ายชายมาตกลง หากผู้ชายตกลงก็จะเสียผี ของที่ใช้ได้แก่ หมู 2 ตัว ไก่ 2 ตัว และเงิน หากฝ่ายชายปฏิเสธ ก็จะปรับมากกว่าเดิม 3 เท่า ก็ถือว่าเป็นการยุติ (หน้า 36) สำหรับคู่ที่ตกลงกันสำเร็จ ก็จะทำพิธีกินแขกฝ่ายผู้ชายจะเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายและฆ่าหมูกับไก่ เป็นอาหาร และทำพิธีเซ่นไหว้ผีบอกผีปู่ย่าให้รับรู้ จะทำพิธี 2 ครั้ง ได้แก่พิธีดิบ 1 ครั้ง โดยจะใช้เครื่องเซ่นดิบกับพิธีสุกโดยใช้เครื่องเซ่นสุก อีก 1 ครั้ง โดยจะนำเครื่องเซ่นไว้ที่แตะไม้ไผ่ของผีปู่ ผีย่า (หน้า 36 ภาพหน้า 37) คนที่จะแต่งงานต้องมาจากคนละครอบครัว และถือผีไม่เหมือนกัน หากถือผีเหมือนกัน เป็นญาติทั้งชาย หญิง หากแต่งงานกันจะทำพิธีแก้เคล็ด โดยจะนำหมาดำมาให้ฝ่ายหญิง แล้วจะจูงหมารอบบ้าน 3 รอบ โดยฝ่ายชายจะเดินตาม เมื่อเดินจนครบกำหนด 3 รอบ ก็จะลงมือฆ่าหมา แล้วนำเลือดเทลงที่รางข้าวเลี้ยงหมู จากนั้นเจ้าบ่าวเจ้าสาว ก็จะไปส่องเงาในรางข้าวหมูที่ใส่เลือดหมาที่ฆ่า (หน้า 38) การแต่งงาน เมื่อแต่งงานแล้วผู้หญิงจะมาอยู่บ้านฝ่ายชาย (หน้า 26,36) โดยจะอยู่กับครอบครัวพ่อแม่ของสามี 2-3 ปี จึงจะแยกไปสร้างบ้านของตนเอง ลูกชายคนสุดท้องจะรับมรดกจากพ่อทั้งหมด และจะอยู่บ้านพ่อ โดยไม่ต้องย้ายออกไปเมื่อแต่งงาน และจะมีหน้าที่ดูแลเลี้ยงดูพ่อ กับ แม่ตลอดไป (หน้า 26) การแต่งงานสามีภรรยาจะอยู่ด้วยกันจนตาย การหย่าจะไม่ค่อยมี แต่ถ้ามีการหย่าเกิดขึ้นจะต้องเสียค่าปรับให้อีกฝ่าย (หน้า 36) การหย่าร้าง หากจะหย่าคนที่กระทำผิดจะเสียเงิน "ฮีด" 72 บาท แต่ส่วนมากจะไม่ค่อยมีการหย่าร้าง ถ้าหากสามีทุบตีภรรยา ภรรยาก็สามารถไปฟ้องผู้สูงอายุได้ (หน้า 96)

Political Organization

ในหมู่บ้านมีทั้งการปกครองอย่างเป็นทางการและไม่เป็นทางการ สำหรับการปกครองอย่างไม่เป็นทางการในหมู่บ้าน จะมีหัวหน้าหรือพ่อหลวงที่เป็นตำแหน่งที่ได้รับมอบหมายจากผู้สูงอายุในหมู่บ้าน ให้ทำหน้าที่ดูแลคนในหมู่บ้าน และตัดสินคดีหากมีเรื่องทะเลาะกันในหมู่บ้าน ดูแลเรื่องการปฏิบัติพิธีกรรมตามความเชื่อ เช่นพิธีไหว้ผี (หน้า 26,92) การปกครองอย่างเป็นทางการ ผู้ใหญ่บ้านจะทำหน้าที่ปกครองหมู่บ้าน (หน้า 26) แนะนำการประกอบอาชีพ การดำรงชีวิต (หน้า 92) นอกจากนี้ในหมู่บ้านจะมีกรรมการการพัฒนาหมู่บ้านที่นายอำเภอแต่งตั้งเมื่อ พ.ศ.2528 โดยทำหน้าที่นี้ไปตลอด คณะกรรมการมีจำนวน 6 คน คนที่ทำหน้าที่นี้จะต้องอายุ 40 ปีขึ้นไป โดยจะทำหน้าที่รักษาความสงบ (หน้า 92) และแนะนำด้านความเป็นอยู่ในหมู่บ้านมีกลุ่มอาสาป้องกันชาติมีสมาชิกทั้งชายและหญิง ประมาณ 30 คน อายุ 30-50 ปี (หน้า 93)

Belief System

ลัวะนับถือศาสนาพุทธและนับถือผี (หน้า 31) ส่วนศาสนาคริสต์ได้ไปเผยแพร่กับชาวบ้านแต่มักไม่ได้ผล เพราะลัวะกลัวว่าจะต้องทิ้งความเชื่อเรื่องผี หากพ่อแม่เสียชีวิตไปแล้วจะไม่มีใครเซ่นไหว้ หากไม่ยากจนก็จะไม่มีใครนับถือ (หน้า 34) การนับถือศาสนา จากตำนานสุวรรณคำแดงระบุว่า (หน้า 31) ได้มีกลุ่มคนไทยย้ายเข้ามาอยู่ในเขตแดนของละว้า (ลัวะ) บริเวณเชียงดาว เชียงใหม่ กลุ่มคนไทยนับถือศาสนาพุทธจึงได้เผยแพร่แก่ลัวะ ดังนั้น หมู่บ้านลัวะส่วนใหญ่จึงมีการสร้างวัด และบางหมู่บ้านก็มีคนนับถือศาสนาคริสต์ (หน้า 32) ลัวะเชื่อว่าพวกตนเป็นผู้สร้างวัดเจดีย์หลวงวัดเก่าแก่ของเชียงใหม่ แต่มีผู้สันนิษฐานว่าลัวะน่าจะเป็นผู้ก่อสร้างวัดเพราะคำสั่งของเจ้าเมืองเชียงใหม่ (หน้า 32) การนับถือผี ผีที่ลัวะเชื่อมีทั้งผีดีและผีร้าย สำหรับผีที่ดีได้แก่ผีเรือนจะมีหน้าที่ดูแลคนในครอบครัวให้อยู่อย่างมีความสุข การบูชาผีเรือนจะทำแท่นบูชาไว้ที่หัวนอน ส่วนผีอื่นๆ ได้แก่ ผีใต้ถุนบ้าน คือผีเรือนที่อยู่บนพื้นดินนอกบ้าน ผีพ่อแม่ในป่าช้า (หน้า 32) สำหรับผีประจำหมู่บ้านหรือผีหลวง ลัวะจะสร้างศาลประจำหมู่บ้านการเลี้ยงผีจะฆ่าสัตว์ เช่น ไก่ หมู เพื่อเซ่นไหว้ การเลี้ยงจะขึ้นอยู่กับฐานะเศรษฐกิจของคนในหมู่บ้าน ถ้าฐานะดีก็จะเลี้ยงทุกปี (หน้า 32) ผีบ้าน มี 3 ตัวประจำเสา 3 เสา การเลี้ยงจะขึ้นอยู่กับความพร้อมของเจ้าของบ้าน บางครั้งอาจจะเลี้ยง 2-3 ครั้งต่อครัวเรือน ในพิธีจะฆ่าหมู จำนวน 3 ตัว ในช่วงเช้าจะฆ่า 1 ตัว ตอนเที่ยงฆ่าตัวผู้ ตัวขนาดเล็ก 2 ตัว หมอผีจะนำเครื่องเซ่นไปวางไว้ในบ้าน กับใต้ถุนบ้าน ที่เป็นเสาที่มีผีประจำอยู่ คนในหมู่บ้านจะมาร่วมพิธี ในระยะ ที่ทำพิธี จะไม่ใช้เงิน 7 วัน ผีหมู่บ้าน จะเลี้ยงประมาณ 3 ปี ต่อครั้งสัตว์ที่เซ่นไหว้จะใช้วัว โดยหมอผีจะเป็นคนกำหนดวันและจะเก็บเงินทุกบ้าน การทำพิธีจะฆ่าวัวเพื่อเซ่นไหว้ (หน้า 95) วิญญาณ ลัวะเชื่อว่าร่างกายคนมี 32 วิญญาณ หากวิญญาณออกจากร่างเพียงแค่หนึ่งวิญญาณก็จะทำให้ร่างกายไม่แข็งแรงหรือเจ็บป่วยไม่สบายได้ หากวิญญาณออกจากร่างก็ต้องทำพิธีเรียกวิญญาณคืน โดยจะเรียกให้เข้ามาอยู่ในไข่ต้มแล้ว ให้คนนั้นกินขณะทำพิธีผูกข้อมือ (หน้า 33) ลัวะเชื่อว่าวิญญาณจะอยู่ในสิ่งไม่มีชีวิตและมีชีวิต เช่น ข้าว ควาย ดังเช่น พิธีล้างหัวควาย ภายหลังจากการไถนากับพิธีผูกด้ายที่เขาควายเพื่อไม่ให้วิญญาณออกจากร่าง (หน้า 33) สะมัง และ ลำ หัวหน้าทางศาสนาของลัวะ สืบทอดมาจาก "สะมัง" สันนิษฐานว่า สืบทอดมาจากขุนหลวงวิลังคะกษัตริย์องค์สุดท้ายของลัวะ สะมังเป็นคนรักษาและสืบทอดวัฒนธรรมของลัวะในแต่ละหมู่บ้านจะมี "สะมัง" หนึ่งสาย คนที่สูงอายุที่สุดจะทำหน้าที่เป็นหัวหน้าสาย และเป็นผู้นำทางศาสนาในหมู่บ้าน (หน้า 33) การทำพิธีเซ่นไหว้ด้วยสัตว์ สะมังจะได้รับส่วนแบ่งเป็นขาของสัตว์ ( หน้า 34 ) ส่วนผู้ที่ทำหน้าที่ทางศาสนา และความเชื่อของลัวะอีกกลุ่มคือ "ลำ" เป็นผู้สูงอายุในหมู่บ้าน ลำจะเป็นรอง สะมัง สะมังและลำจะทำพิธีเรียกผีมารับประทานสัตว์ที่เป็นเครื่องเซ่น เช่นในพิธีปลูกบ้านหรือซ่อมบ้านเรือน (หน้า 34) งานศพ การจัดพิธีศพ จะมี 2 อย่างคือพิธีฝังและเผา สำหรับลัวะที่นับถือพุทธ จะเผาศพสำหรับการฝังจะทำหากคนตายเป็นเด็ก หรือ ประสบอุบัติเหตุหรือเป็นโรคระบาด สุสานลัวะบ้านอมพาย จะสร้างเป็นศาลขนาดเล็กโดยทำด้วยไม้ และไม้ไผ่มุงหลังคาด้วยฟางตั้งไว้เหนือหลุมศพ (หน้า 38) และจะวางเสาไม้ยาว 3 ฟุตวางไว้ในดินใกล้กับสิ่งของต่างๆ ของผู้ล่วงลับเว้นแต่ผู้หญิงตายท้องกลม เพราะเชื่อว่าเป็นผีดุร้าย ส่วนคนตายที่สืบเชื้อสายมาจากขุนหลวงวิลังคะกษัตริย์องค์สุดท้ายของลัวะ (หน้า 33,38) จะทำเสาสูง ประมาณ 6 ฟุตครึ่ง แขวนถ้วยเพื่อใส่ข้าวปลาอาหารให้คนเสียชีวิต (หน้า 38) ในงานศพสะมังจะไม่ไปร่วมงานเพราะเชื่อว่าจะทำให้ความรู้ด้านประเพณีต่างๆ เสื่อม การช่วยเหลือจะให้เงินช่วยเหลือแก่ญาติพี่น้องของคนที่เสียชีวิต (หน้า 39) สำหรับศพคนตายหลังจากอาบน้ำศพ ก็จะนำเสื้อกางเกงหรือผ้าถุงมาสวมให้ศพอย่างละ 3 ตัว โดยจะสวมกลับข้างทั้งหมดโดยจะนำด้านนอกมาไว้ด้านในและด้านหน้ามาไว้ข้างหลัง (หน้า 39) จากนั้นก็จะห่อศพด้วยผ้าขาว 3 ผืน มัดด้วยด้ายดิบมัด 3 เปราะ เรียกว่า "ห้างลอย" แล้วก็หามศพไปวางตรงขื่อนำเชือกมาขึงระหว่างเสา จากนั้นก็นำผ้าขาวมาพาดเชือกคลุมศพผู้ตาย แล้วจุดตะเกียงตั้งไว้ที่ข้างศพ เรียกว่า "ไฟยาม" (หน้า 39) โลงศพโดยมากจะทำจากไม้งิ้วหรือไม้นุ่นกับไม้เกี๊ยะหรือไม้สนเมื่อตัดไม้แล้วจะถากเปลือกไม้ออกแล้วผ่าเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกเอาไว้ทำตัวโลง โดยจะขุดเช่นเดียวกับการขุดเรือ และอีกส่วนจะทำเป็นฝาโลง เมื่อทำโลงศพเรียบร้อยจะนำศพใส่โลง เรียกว่า พิธีเอาศพลงนอนไม้ ตอนนำศพผู้ตายไปป่าช้าจะต้องคว่ำหม้อน้ำในบ้าน หากคนที่ตายเป็นหัวหน้าลัวะจะตัดกิ่งไม้ในบ้าน ต้นละ 1 กิ่ง และจะนำข้าวห่อ 3 ห่อ เพื่อนำไปวางไว้ข้างหลุมให้เป็นอาหารแก่ผู้ล่วงลับ เมื่อกลับมาถึงบ้านจะนำน้ำมาล้างมือ และเท้า แล้วให้ผู้สูงอายุผูกมือ (หน้า 40)

Education and Socialization

โรงเรียนบ้านกองลอยสอนในระดับประถมศึกษาอยู่ในกลุ่มโรงเรียนบ่อสลี สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ มีนักเรียน 112 คน ครู 9 คน สอนตั้งแต่ชั้นเด็กเล็ก ถึงชั้น ป.6 (หน้า บทคัดย่อ,103) นโยบายจัดการศึกษาให้ชาวเขา ผู้เขียนได้กล่าวถึงเรื่องรัฐบาลว่าได้มีนโยบายจัดการศึกษาให้แก่ชาวเขาโดยได้เริ่มครั้งแรกเมื่อคณะกรรมการการสงเคราะห์ชาวเขาได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการสาขาการศึกษาเมื่อ 17 พฤษภาคม 2506 ประกอบด้วยผู้แทนกรมสามัญศึกษา ผู้แทนตำรวจภูธรชายแดน ผู้แทนกรมประชาสงเคราะห์ และผู้แทนสำนักงบประมาณ โดยได้กำหนดความมุ่งหมายของการจัดการศึกษาแก่ชาวเขาโดยมีจุดมุ่งหมายที่สำคัญคือ 1) เพื่อสนองความต้องการของรัฐ ได้แก่ ให้ความรู้เรื่องชาตินิยม รักถิ่นที่อยู่ ใช้ชาวเขาให้เป็นประโยชน์ในทางการเมือง การทหารและป้องกันการแทรกซึมของฝ่ายตรงกันข้ามสนับสนุนให้เลิกการปลูกฝิ่น (หน้า 66) 2) เพื่อพัฒนาสังคมชาวเขา เช่น ส่งเสริมให้รู้จักรักษาวัฒนธรรม และรู้จักเลือกวัฒนธรรมใหม่ๆ ที่จะก่อให้เกิดประโยชน์ แก่ตนเอง (หน้า 67) 3) เพื่อพัฒนาบุคคล เช่นให้ความรู้สำหรับพัฒนาอาชีพรู้จักรักษาความปลอดภัยด้านสุขภาพอนามัย รักษาสิ่งแวดล้อม (หน้า 67) การให้การศึกษาได้แยกเป็น 2 หลักสูตรคือ หลักสูตรที่ 1 คือหลักสูตรวิชาชีพเพื่อยกระดับการครองชีพของชาวเขา และก็สอนวิชาสามัญไปด้วย และอ่านและพูดภาษาไทยได้ (หน้า 67,68) หลักสูตรที่ 2 เป็นการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยยกระดับเด็กชาวเขา ให้ได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยจัดเป็นรูปโรงเรียน (หน้า 68) ซึ่งในการจัดการศึกษาแก่ชาวเขามีรูปแบบดังนี้ 1. กรมประชาสงเคราะห์ ได้ดำเนินการให้การศึกษาแก่ชาวเขาได้แก่ ให้ชาวเขามีความรู้ภาษาไทย อ่านออกเขียนได้ จงรักภักดีต่อชาติ ดำรงอยู่ในพลเมืองไทยตามปกติสุข (หน้า 75) โดยให้บริการด้านการศึกษารูปแบบต่างๆ เช่น (หน้า 75) 1.1) โรงเรียนชั่วคราวจัดครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2508 จำนวน 10 แห่ง ที่ จังหวัดตากกับจังหวัดแม่ฮ่องสอน ใช้หลักสูตรโรงเรียนชาวเขา พ.ศ.2508 ของกระทรวงศึกษาธิการ ในระยะแรกจะให้พนักงานการเกษตร และพนักงานอนามัยเป็นครู เน้นให้เด็กชาวเขาอ่านออกเขียนได้ ปี พ.ศ.2528 มีโรงเรียนชั่วคราวรวม 237 แห่ง ครู 288 คน นักเรียน 7,210 คน โดยใช้หลักสูตรประถมศึกษา พ.ศ. 2521 ของกระทรวงศึกษาธิการ (หน้า 76) ปี 2531 สำนักงานการประถมศึกษาจังหวัด ( สปจ.) ได้รับโอนโรงเรียนเป็นโรงเรียนสาขา เหลือโรงเรียน 182 แห่ง มีครู 242 คน นักเรียน 5,277 คน ในจำนวนดังกล่าวมีลัวะ 29 คน ต่อมาวิทยากรของคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้นำชาวเขาที่เรียนจบชั้น ม.3 มาอบรมวิชาชีพครู ภายหลังกรรมการฝึกหัดครู กระทรวงศึกษาธิการ เป็นผู้ดำเนินการอบรม ใช้เวลาอบรม 3 เดือน (หน้า 76) การอบรมครูชาวเขา ตั้งแต่ครั้งแรกจน พ.ศ.2528 มี 12 รุ่น มีผู้สำเร็จการอบรม จำนวน 583 คน ส่วนการอบรมเพิ่มพูนความรู้ครู มี 7 รุ่น มีผู้สำเร็จการอบรม 302 คน และมีลัวะบ้านกองลอย ผ่านการอบรม 1 คน (หน้า 77) 1.2) ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กตั้งครั้งแรก 4 แห่งใน ปี พ.ศ.2520 เพื่อเตรียมความพร้อมให้เด็กก่อนเข้าเรียนภาคปกติ ใน ปี พ.ศ.2531 มีจำนวน 84 แห่งมีผู้ดูแลเด็กเล็กจำนวน 99 คน มีเด็กเล็กชาวเขาจำนวน 2,209 คนและมีเด็กลัวะ 29 คน ผู้ดูแลเด็กจะได้รับการฝึกอบรมจากกรรมการฝึกหัดครู กระทรวงศึกษาธิการ เป็นเวลา 45 วัน และในตอนหลัง ยังมีการอบรมความรู้เพิ่มเติม การฝึกอบรมตั้งแต่เริ่มแรกจนถึงปี 2528 มีจำนวน 6 รุ่น ผ่านการอบรม 168 คน (หน้า 77) 1.3) การศึกษาผู้ใหญ่ชาวเขา คือการศึกษานอกโรงเรียนได้แก่การฝึกวิชาชีพ การอนามัยแม่และเด็ก โภชนาการ (หน้า 77) ปี 2528 ได้ดำเนินการศึกษาผู้ใหญ่ 30 แห่ง มีผู้ศึกษา 3,000 คน (หน้า 78) 1.4) โครงการศูนย์การศึกษาเพื่อชุมชนในเขตภูเขา (ศศช.) กรมประชาสงเคราะห์ ร่วมกับกรมการศึกษานอกโรงเรียน กระทรวงศึกษาธิการ จัดทำโครงการศูนย์การศึกษา เพื่อชุมชนในเขตภูเขา (ศศช.) เป็นเวลา 5 ปี (2523-2528 ) โดยองค์กรยูเสตสนับสนุนด้านการเงิน จัดการศึกษาเด็กและผู้ใหญ่เป็นแบบ "กลุ่มหมู่บ้าน" หมู่บ้านในโครงการมี 6 กลุ่มบ้าน รวมทั้งหมด 45 หมู่บ้าน ประกอบด้วยชาวเขาเผ่าต่างๆ เช่น แม้ว เย้า ลีซอ มูเซอ อีก้อ และกะเหรี่ยง อยู่ในความดูแลของศูนย์พัฒนาและสงเคราะห์ชาวเขา จ.เชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน และลำปาง (หน้า 78) 1.5) โครงการสงเคราะห์เด็กยากจน ซี.ซี.เอฟ (christian children fund) โครงการได้ให้เงินช่วยเหลือเด็กชาวเขายากจน 700 คนของศูนย์พัฒนาและสงเคราะห์ชาวเขา จ.เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง ตั้งแต่ปี 2526 ปี 2528 ได้เพิ่มความช่วยเหลืออีก 800 คน รวมทั้งหมด 1,500 คน (หน้า 79) 1.6) การนำชาวเขาศึกษาต่อ โดยคัดเลือกจากเด็กชาวเขาที่ยากจน เข้าอยู่ในความดูแลของสถานสงเคราะห์ สนับสนุนให้เรียนต่อ ตั้งแต่ชั้น ป.1 ถึง ป.6 มีเด็กชาวเขา 490 คน อยู่ในสถานสงเคราะห์ (หน้า 79) 1.7) การจัดหาทุนการศึกษาเป็นทุนสำหรับเด็กนักเรียนดีแต่ยากจน ที่ต้องการจะเรียนต่อสายอาชีพ หลักสูตรไม่เกิน 3 ปี เมื่อจบ ม.3 กรมประชาสงเคราะห์จะหาทุนการศึกษาแก่นักเรียน (หน้า 79) 2.กระทรวงศึกษาธิการ ได้ดำเนินการจัดการศึกษาแก่ชาวเขาได้แก่ 2.1) สำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ (หน้า 79) มีรูปแบบจัดการได้แก่ จัดเป็นโรงเรียนประเภทครูเดินสอนมีนักเรียนไม่มากโดยจะใช้ครู 1 คนต่อ 2-3 หย่อมบ้าน โรงเรียนครูคนเดียวอยู่ในหย่อมบ้านที่มีการย้ายถิ่นที่อยู่จะไม่สร้างอาคารเรียนถาวร โรงเรียนประถมแบบพึ่งตนเอง ทางการจะสร้างอาคารเรียนให้ส่วนโรงเรียนจะจัดพื้นที่ สำหรับให้นักเรียนเพาะปลูก โรงเรียนแบบทั่วไป จะร่วมมือกับผู้ปกครองดูแลเรื่องหอพัก (หน้า 80) 2.2) กรมการศึกษานอกโรงเรียนจัดการศึกษาสำหรับชาวเขา เมื่อ พ.ศ. 2520 (หน้า 80) 2.3) กรมสามัญการศึกษา ได้จัดโรงเรียนศึกษาสงเคราะห์ ในสังกัดกองการศึกษาพิเศษ เพื่อให้เด็กที่ยากจนและอยู่ถิ่นทุรกันดารได้เรียนหนังสือ โดยจัดเป็นแบบโรงเรียนประถมศึกษา (หน้า 81) 3.กองบัญชาการตำรวจชายแดน โดยได้รับพระราชทานทุนทรัพย์เพื่อสร้างโรงเรียนจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี และจากหน่วยงานราชการ และอื่นๆ โดยได้สร้างโรงเรียนขึ้นครั้งแรก 24 มกราคม 2499 ที่บ้านสะโว๊ะ ต.ป่าสัก อ.เชียงแสน จ.เชียงราย ชื่อโรงเรียนประสิทธิทวีสิน เป็นโรงเรียนชาวเขาเผ่าอีก้อ และภายหลังได้มีการขยายโรงเรียนเพิ่มเติมจนมีโรงเรียนขยายเพิ่มขึ้น 424 โรงเรียน โดยเป็นโรงเรียนชาวเขา 122 แห่ง ในภายหลังได้มอบโอนให้กระทรวงศึกษาธิการ (หน้า 81) ภายหลังยุบเหลือ 41 แห่ง สอนชาวเขา ได้แก่ แม้ว เย้า มูเซอ ลีซอ อีก้อ ในจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน ตาก กาญจนบุรี (หน้า 82) 4. กรมป่าไม้ ได้เริ่มจัดการศึกษาครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2515 ที่หน่วยปรับปรุงต้นน้ำผิง อ. แม่แตง จ.เชียงใหม่ โรงเรียนเปิดสอนชั้น ป.1 - ป.4 นักเรียนจะเป็นลูกหลานของคนงานที่ทำงานรับจ้างปลูกป่า ดังนั้น จำนวนนักเรียนจึงมีการเปลี่ยนแปลงแล้วแต่งที่ทำ ในปี 2522 มีนักเรียนทั้งหมด 1,028 คน (หน้า 82) 5. กองอำนวยการกลางรักษาความปลอดภัยแห่งชาติ (กรป.กลาง) กรป.กลาง มีหน้าที่รักษาความมั่นคงของประเทศ ดังนั้น กรป.กลางจึงให้ความสำคัญกับชาวเขาเพื่อป้องกันการแทรกซึมของกลุ่มคอมมิวนิสต์ โดยได้เข้ามาจัดการศึกษา เมื่อ ปี 2516 โดยเริ่มที่ จ. เชียงใหม่ ที่หน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่ จ.เชียงใหม่ (น.พ.ค.24) การสอนใช้หลักสูตรประถมศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ (หน้า 83) 6. มูลนิธิคริสตจักรกะเหรี่ยงแบ็บติสต์ในประเทศไทย การทำงานจะส่งผู้ประกาศศาสนาไปเผยแพร่ศาสนา ตามหมู่บ้านต่างๆ เมื่อมีผู้นับถือศาสนาคริสต์ผู้ประกาศและชาวบ้านก็จะร่วมพัฒนาหมู่บ้าน ในด้านการศึกษาได้เปิดสอนโรงเรียนอนุบาล ใน ปี พ.ศ.2508 ต่อมาได้เปิดระดับชั้นประถมและมัธยม โดยสอนตามหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการ เช่น โรงเรียนสหศาสตร์ศึกษา จ.เชียงราย และโรงเรียนสหมิตรวิทยา จ.เชียงใหม่ ทั้งสองแห่งเป็นโรงเรียนเอกชน (หน้า 84) 7. มูลนิธิการศึกษาเพื่อชีวิตและสังคม เป็นองค์กรเอกชนที่มีเป้าหมายในการทำงานพัฒนาชนบท และการศึกษาหลักสูตรผสมผสาน ระหว่างหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการและหลักสูตรตามลักษณะของชุมชน มีการดำเนินงาน 3 ปี (ต.ค.2525- ก.ย. 2528) ใน 7 หมู่บ้าน ใน จ.เชียงราย งานที่ทำเช่น โครงการศูนย์การศึกษาระดับหมู่บ้านชาวเขาเผ่าอีก้อ (หน้า 84) เป็นชาวเขาที่ยากจน มุ่งให้ชาวเขาทั้งเด็กและผู้ใหญ่ พูดอ่านเขียนภาษาไทยได้ (หน้า 85) ระดับการศึกษาของลัวะ คนที่จบการศึกษาภาคบังคับ หรือสูงกว่าและไม่ได้เรียนต่อมี 900 คน สำหรับคนที่จบชั้น ม.ปลาย หรือเทียบเท่ามี 7 คน คนที่กำลังเรียนชั้น ป.1-ป.6 มี 103 คน เรียนระดับ ม.ต้น ม.ปลาย หรือเทียบเท่ามีจำนวน 15 คน และสูงกว่าชั้น ม.ปลาย อีก 1 คน (หน้า 98) ผู้อ่านออกเขียนได้ อายุ 14-50 ปี จำนวน 850 คน คนที่อ่านและเขียนไม่ได้มี 150 คน (หน้า 98) ผู้วิจัยได้ศึกษากรณีหมู่บ้านกองลอย เพื่อทำให้เห็นภาพรายละเอียดเกี่ยวกับปัญหาต่างๆ โดยนำเสนอตามประเด็นต่อไปนี้ 1) ประวัติความเป็นมาและสภาพโรงเรียนบ้านกองลอย 2) สภาพการศึกษาในโรงเรียนของนักเรียนลัวะ แบ่งเป็น 3 ด้าน ได้แก่ ปัจจัยป้อนของการศึกษา กระบวนการให้การศึกษา และผลผลิตของการศึกษา 3) ปัญหาทางการศึกษาในโรงเรียนของนักเรียนลัวะ แยกป็น 8 ประเด็นปัญหา ได้แก่ เป้าหมายและนโยบายการศึกษาหลักสูตรและเนื้อหาวิชา การเรียนการสอนและประเมินผล ผู้เรียน ครู ผู้บริหาร ผู้ปกครอง และชุมชน (หน้า 100) โรงเรียนบ้านกองลอย เปิดสอนครั้งแรกเมื่อ 14 กันยายน. 2484 โดยตั้งอยู่ห่างจากหมู่บ้านปัจจุบัน1 กิโลเมตร ขณะนั้นได้ใช้ศาลาวัดเป็นที่เรียนหนังสือ กระทั่งไฟไหม้หมู่บ้าน เมื่อ พ.ศ.2492 ชาวบ้านจึงย้ายมายังที่อยู่ปัจจุบันนี้ และใช้ศาลาวัดเช่นเดิม และขณะนั้นมีนักเรียนประมาณ 50 กว่าคน และครู 1 คน และต่อมา 6-7 ปี จึงมีครูมาช่วยสอน (หน้า 101) ในปี พ.ศ. 2507 ตชด. ได้ให้งบประมาณสร้างอาคารเรียน 4 หมื่นบาท โดยสร้างเป็นอาคารไม้จำนวน 2 ห้องเรียน (หน้า 101) ในช่วงปี 2517-2519 ครูและชาวบ้านได้ช่วยกันซื้อที่ดิน จำนวน 4 ไร่ ห่างจากที่ดินเดิมประมาณ 400 เมตร และในปี 2519 ได้รับงบประมาณสร้างอาคารแบบ ป 1 ก. เป็นเงิน 210,000 บาท และเปิดใช้อาคาร เมื่อวันที่ 6 ม.ค.2520 (หน้า 102) ปี 2520 โรงเรียนได้เปิดสอนชั้น ป.5 (หน้า 102) ทุกวันนี้โรงเรียนบ้านกองลอย อยู่ในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ มีจำนวนห้องเรียน 7 ห้อง (หน้า 103) มีอาคารเรียน 6 หลัง เป็นอาคารเรียนชั้นเดียว เป็นตึก 1 หลัง อาคารไม้ชั้นเดียว 1 หลัง อาคารเอนกประสงค์ และห้องสมุด 1 หลัง ศาลา 1 หลัง และอาคารห้องสมุด ที่ทำด้วยไม้ไผ่และมุงจาก 1 หลัง และส้วม 1 หลัง (หน้า 103) สภาพการศึกษาในโรงเรียนของนักเรียนลัวะ ปัจจัยป้อนของการศึกษา 1. นโยบายและเป้าหมายของการศึกษา โรงเรียนได้ดำเนินตามแผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2520 (หน้า 105) 2. บริบทของการศึกษา 2.1 บริบทด้านสังคมและเศรษฐกิจของโรงเรียน แบ่งออกเป็นบริบทด้านสังคมวัฒนธรรม (หน้า107) โรงเรียนตั้งอยู่ในหมู่บ้านที่มีลัวะอยู่เป็นส่วนใหญ่ (หน้า 107) โดยมีชาวพื้นเมืองและกะเหรี่ยงอยู่เป็นส่วนย่อย คนในหมู่บ้านถือสัญชาติไทย จากที่ผู้เขียนสัมภาษณ์ผู้ปกครองจำนวน 39 คน ผู้ปกครองลัวะจำนวน 36 คน เป็นไทย 2 คน ไทยพื้นเมือง 1 คน และอพยพมาจากอำเภออื่นจำนวน 4 คน (หน้า 108) 2.1.1 บริบทด้านเศรษฐกิจ ผู้ปกครองส่วนใหญ่มีอาชีพทำนาเป็นอาชีพหลัก รองลงมาคือทำสวน (หน้า 114) 2.1.2 บริบทด้านการเมืองการปกครอง ลัวะบ้านกองลอยถือสัญชาติไทย และมีความสำนึกว่าตนเป็นลัวะ (หน้า 115) 2.2 บริบทด้านการศึกษาของโรงเรียน 2.2.1 สภาพแวดล้อมภายนอกโรงเรียน ในหมู่บ้านไม่มีหน่วยงานทางการศึกษาหากจะไปสำนักงานการประถมศึกษา อำเภอฮอด ที่อยู่ห่างหมู่บ้าน 55 กิโลเมตร จะต้องนั่งรถประจำทางใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง 30 นาที (หน้า 117) เป็นโรงเรียนในกลุ่มโรงเรียนบ่อสลี ประกอบด้วยโรงเรียน 4 แห่ง และ 2 สาขา คือโรงเรียนบ้านแม่โถ (เจ้าพ่อหลวงอุปถัมภ์) บ้านแม่โถสาขาพัฒนาต้นน้ำแม่โถ บ้านแม่ออมลอง บ้านแม่ดอกแดง บ้านแม่แวน บ้านกองลอย บ้านทุ่ง บ้านทุ่งสาขาทุ่งยง บ้านบ่อสลี (หน้า 117) 2.2.2 สภาพแวดล้อมภายในโรงเรียน โรงเรียนอยู่บนภูเขา ไม่มีสนามหญ้าขนาดกว้างขวาง ดังนั้น จึงใช้ระเบียงอาคารเรียนเป็นสวนหย่อม จำนวน 5 เขต แต่โรงเรียนไม่ค่อยมีน้ำพืชที่นำมาปลูกจึงไม่ค่อยสวยงาม นอกจากนี้ ทางโรงเรียนก็ได้นำความรู้ต่างๆ มาติดไว้ให้นักเรียนอ่านตามผนังอาคารเรียน เช่น รายชื่อผู้บริหารของประเทศ เป็นต้น (หน้า 118) 1) ครูผู้บริหาร มีครู 8 คน ชาย 4 คน และหญิง 4 คน จบปริญญาตรี 4 คน อนุปริญญา 2 คน ปกศ. 1 คน ม.ศ.3 จำนวน 1 คน (หน้า 121) 2) นักเรียน นักเรียนที่สัมภาษณ์ 36 คน อยู่ชั้น ป.5-ป.6 เป็นนักเรียนชาย 14 คน หญิง 22 คน เรียนชั้น ป.5 จำนวน 12 คน และชั้น ป.6 จำนวน 24 คน นักเรียน 97.2 % นับถือศาสนาพุทธ และนับถือผีจำนวน 2 คน (หน้า 127) 3) ผู้ปกครอง สัมภาษณ์ผู้ปกครองจำนวน 39 คน เป็นผู้ชาย 31 คน หญิง 8 คน ถือสัญชาติไทย (หน้า 128) กระบวนการให้การศึกษา 1. หลักสูตรทางการ แบ่งออกเป็น 3 อย่าง ได้แก่ 1.1) เป็นการศึกษาเพื่อปวงชน 1.2) เป็นการศึกษาที่มุ่งให้ผู้เรียนนำประสบการณ์ที่ได้จากการเรียนไปใช้ประโยชน์ในการดำรงชีวิต 1.3) เป็นการศึกษาที่มุ่งสร้างเอกภาพของชาติ โดยมีเป้าหมายหลักร่วมกัน แต่ให้ท้องถิ่นจัดหลักสูตรที่เหมาะสมกับสภาพความต้องการ (หน้า 130) โดยผู้เขียนได้วิเคราะห์การใช้หลักสูตรของโรงเรียน แยกได้ดังนี้ กลุ่มทักษะ เช่นวิชา ภาษาไทย และคณิตศาสตร์ กลุ่มสร้างเสริมประสบการณ์ชีวิต เช่น วิชาภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ วิทยาศาสตร์ วิชาหน้าที่พลเมืองและศีลธรรม วิชาสุขศึกษา (หน้า 131) กลุ่มสร้างเสริมลักษณะนิสัย ได้แก่ วิชาจริยศึกษา ศิลปศึกษา ศิลปดนตรี พลศึกษา สร้างเสริมลักษณะนิสัย (หน้า 132) กลุ่มการงานพื้นฐานอาชีพ ได้แก่ วิชางานบ้าน งานเกษตร เป็นต้น และกลุ่มงานประสบการณ์พิเศษ (หน้า 132,133) 2. หลักสูตรแอบแฝง ได้แก่ บรรยากาศในโรงเรียน บรรยากาศในห้องเรียน ความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับโรงเรียน (หน้า 137-141) ผลผลิตทางการศึกษา ได้แก่ 1.คุณภาพของการศึกษา เช่น ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา โอกาสในการศึกษาต่อและการมีงานทำ การนำความรู้ไปใช้ในการดำรงชีวิต ทัศนคติของนักเรียน ทัศนคติต่อสังคมไทย และสำนึกในเชื้อชาติและการวิเคราะห์ทัศนคติของนักเรียนจากภาพวาด และการบรรยายความเกี่ยวกับสังคมนักเรียน (หน้า 142-149) 2.ปริมาณทางการศึกษา เช่น อัตราการตกซ้ำชั้น อัตราการออกกลางคัน อัตราการศึกษาต่อ (หน้า 149 -151) ปัญหาทางการศึกษาในโรงเรียนของนักเรียนลัวะ ได้แก่ นโยบายและเป้าหมายของการศึกษา หลักสูตรและเนื้อหาวิชา ปัญหาด้านการเรียน การสอนและการประเมินผล ภาษา ผู้เรียน ผู้บริหาร ผู้ปกครอง ชุมชน ปัญหาการขาดแคลนน้ำ เป็นต้น (หน้า 151-153)

Health and Medicine

การคลอดลูกจะให้ "แม่ฮับ" หรือ "แม่ช่าง" หรือ "หมอตำแย" เป็นคนทำคลอดเมื่อคลอด แม่ฮับจะนำไม้ไผ่มาตัดสายสะดือเด็ก แล้วจะทิ้งรกเด็กลงใต้ถุนตามช่องกระดาน หลังจากคลอดแม่ฮับจะนำเด็กใส่กระด้ง แล้วนำมาวางที่บริเวณหัวบันได แล้วกล่าวว่า "พ่อเกิด แม่เกิด" ให้มารับเด็ก โดยจะพูด 3 ครั้ง แล้วนำลูกมาอาบน้ำ (หน้า 34) ล้างด้วยน้ำส้มป่อย หญิงหลังคลอดลูกจะ "อยู่กรรม" โดยจะหยุดงาน 3-4 วัน และกินเพียงข้าวจี่กับเกลือ (หน้า 35) หลังจากนั้นจะอยู่เดือนโดยจะพักฟื้นตัวหลังคลอดเป็นเวลา 30 วัน ในระหว่างนี้จะ "เข้าเล้า" คือ การนั่งยองๆ บนไม้กระดานซึ่งพาดบนหลุมที่ใส่อิฐเผาไฟ โดยจะนำเสื่อมาพันแล้วคลุมด้วยผ้าห่ม รอบหลุมแล้วก็จะนำน้ำมาราดอิฐรมตัว โดยจะทำอย่างนี้ 2-3 ครั้งต่อวัน (หน้า 35) การอยู่เดือนอีกแบบก็คือจะอยู่ในห้องแล้วจากนั้นก็จะก่อกองไฟ โดยจะนอนอยู่ข้างกองไฟนั้น ในช่วงนี้จะไม่ให้กินของหมักดองกับเนื้อชนิดต่างๆ เพราะเป็นของแสลง (หน้า 35) การรักษาหากเด็กเจ็บป่วย จะรักษาโดยจัดพิธี "ส่งสะตอง" การทำจะนำกาบกล้วยเป็นกระทงทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัส แล้วก็จะปั้นรูปเด็กด้วยดินเหนี่ยวลงกระทง พร้อมทั้งใส่ขนมกล้วยและอ้อยลงในกระทง จากนั้นก็จะนำกระทงไปวางไว้ที่มุมบ้านแล้วอธิษฐานให้พ่อเกิดแม่เกิด ขอให้เด็กหายป่วยไข้แล้วก็จะผูกข้อมือ แล้วทำตะกรุดคล้องคอเด็กที่ไม่สบาย (หน้า 35) สุขภาพ บ้านกองลอย มีเด็กแรกเกิด - 5 ปี ขาดสารอาหารระดับ 1 จำนวน 11 คน ระดับ 2 อีก 3 คน อายุแรกเกิด -14 ปี 30 คน เป็นโรคหนอนพยาธิ (หน้า 96) โรคฟันและช่องปาก 11 คน พิการปัญญาอ่อนเป็นโรคจิต 2 คน คนตั้งแต่อายุ 14 ปีขึ้นไปเป็นโรคนิ่ว 7 คน ปัญญาอ่อน 1 คน (หน้า 97) หากเจ็บไข้ไม่สบายไม่มากจะไปรับการบริการรักษาที่สาธารณสุขและคลินิกและซื้อยามารับประทาน หากป่วยหนักจะไปรักษาที่โรงพยาบาล (หน้า 97)

Art and Crafts (including Clothing Costume)

การแต่งกาย ผู้ชาย ไว้ผมสั้นและสักตามร่างกายเป็นรูปต่างๆ เช่น เสือ ลิง โดยเชื่อว่าจะช่วยป้องกันอันตรายจากสัตว์ร้ายต่างๆ อาวุธหรือคนทำร้าย (หน้า 28) การแต่งกายแต่เดิม จะสวมเสื้อผ่าอกคล้ายเสื้อกุยเฮง สวมกางเกงหลวมๆ เหมือนกางเกงจีน (หน้า 29) ผู้หญิง ไว้ผมยาวแล้วมวยไว้ตรงท้ายทอย หญิงวัยรุ่นจะใช้เปลือกไม้ถูฟันให้ดำ เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของความเป็นหญิง (หน้า 28) สวมซิ่นทอเป็นลวดลายต่างๆ ยาวถึงหัวเข่าพันแข้งด้วยผ้า สวมเสื้อแขนยาว สวมห่วงที่คอ สวมกำไลเงิน เป็นสัญลักษณ์ของการโตเป็นสาวหรือสวมลูกปัดใส่ตุ้มหู เมื่อเดินทางไปที่อื่นก็จะนำย่ามมาแขวนไว้ที่หน้าผาก โดยจะห้อยไว้ทางด้านหลัง (หน้า 29) ดนตรี เป่าเขาแพะหรือควาย เรียกว่า "แองพุงก้อย" มีทำนองเศร้าและเยือกเย็น (หน้า 40) การเคาะไม้ไผ่ เรียกว่า "ศัลเปร๊ะห์" คำว่า "เป๊ระห์" หรือ "พุ" คือไม้ไผ่ที่เหลาให้มีขนาดน้อยใหญ่ มีเสียงทุ้ม ต่ำที่ต่างกัน (หน้า 40) หากมีเวลาว่างก็จะเคาะไม้ประสานเสียงเป็นการพักผ่อน คลายอารมณ์ ข้อห้ามการตีเปร๊ะห์ หลังเผาไร่จะไม่ให้ตีจนกว่าฝนจะตก ช่วงเวลาที่ตีได้ ได้แก่ ช่วงเผาไร่ และช่วงดินที่เผามีความชุ่มชื้นก็ตีได้ (หน้า 41) พิธี "สะโหลด" อยู่ในช่วงเดือนสิงหาคม ลัวะจะประกอบพิธี 7 วัน 7 คืน ลัวะจะหยุดงานโดยจะทำได้เพียงตำข้าว จากนั้นก็จะเข้าป่าไปหาไม้มาทำเครื่องดนตรี โดยจะนำไม้มาเหลาให้มีขนาดและความยาวขนาดต่างๆ แล้วนำมาซ้อมเคาะเป็นจังหวะ การเต้น หญิงชายและเด็กจะเต้นกันทั้งวันทั้งคืน ช่วงบ่าย 2 โมงถึงตอนเย็นคนสูงอายุจะออกมาเต้นรำด้วยการเต้น ผู้หญิงชายและเด็กและผู้สูงอายุจะแยกแถวเต้นคนละแถว (หน้า 41) ระหว่างเต้นจะหมุนเวียนเปลี่ยนกันกินหมาก ดูดบุหรี่ หรือดื่มน้ำ ขณะเต้นจะให้พูดเฉพาะภาษาลัวะเท่านั้น การทำพิธีนี้ก็เพื่อเซ่นไหว้ขอให้มีข้าวอุดมสมบูรณ์ ไม่ให้เจ็บไข้ได้ป่วย และคลาดแคล้วจากภยันอันตรายต่างๆ (หน้า 41 ภาพหน้า 40) หลาบเงิน เป็นแผ่นเงิน กว้าง 10 ซม. ยาว 1 เมตรเป็นจารึกประวัติ และจารีต (ฮีต) ของลัวะ จารึกมี 2 หน้า เขียนด้วยภาษาบาลี ลัวะจะม้วนแล้วใส่หม้อดินฝังไว้ที่บริเวณใต้ถุนบ้าน (หน้า 44) ของหัวหน้าหมู่บ้าน ลัวะเชื่อว่าจะมีผีคอยรักษาหลาบเงินไม่ให้ใครเห็น สำหรับหลาบเงินนี้จะเปิดดูได้เมื่อหัวหน้าหมู่บ้านเสียชีวิตไปแล้ว และจะอ่านให้คนในหมู่บ้านฟังด้วย การเปิดเวลาอื่นเชื่อจะทำให้เกิดสิ่งอัปมงคล (หน้า 45)

Folklore

ไม่มีข้อมูล

Ethnicity (Ethnic Identity, Boundaries and Ethnic Relation)

ลัวะกับไทยอยู่ด้วยกันได้อย่างสงบมีการแลกเปลี่ยนความเชื่อวัฒนธรรมระหว่างกัน ขณะที่ลัวะอยู่ในการปกครองของไทย ก็รับเอาประเพณีของไทยมาปรับมาใช้กับประเพณีของตน ส่วนไทยก็นำความเชื่อเรื่องผีของลัวะมาใช้ในประเพณีของไทย เช่น ความเชื่อเรื่องปู่แสะย่าแสะกับฤษีสุเทวะ (หน้า 42) ดังเช่นคำกล่าวที่ว่า "ต้นข้าวของชาวลัวะตายคาไร่ อย่าให้ต้นข้าวของชาวไทยตายเหี่ยวแห้งในท้องนา" (เพื่อเป็นสัญลักษณ์ว่าไทยกับลัวะมีความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกันและเป็นการบนบานต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ให้ปลูกข้าวได้ผลผลิตที่ดี) ในการเชิญปู่แสะย่าแสะ (หน้า 43) ในปี พ.ศ. 2110 ลัวะได้รับความคุ้มครองและไม่ต้องเกณฑ์แรงงาน โดยกษัตริย์องค์สุดท้ายในราชวงศ์เม็งราย ได้มอบ "หลาบเงิน" แก่ ลัวะบ้านฮากฮาน ทองกูน ป่าฮอก อมกูด บ้านแปะ เพื่อที่จะได้เฝ้าวัดวิสุทธารามหรือวัดบ้านแปะร่วมกับคนมอญ (หน้า 43) และ พ.ศ. 2175 ได้รับหลาบเงิน อีกครั้งเมื่อ กษัตริย์มอญยกกองทัพมาตีเมืองฝาง เมืองเชียงใหม่ เมืองลำพูน (หน้า 43)

Social Cultural and Identity Change

ไม่มีข้อมูล

Critic Issues

ไม่มีข้อมูล

Other Issues

ไม่มี

Map/Illustration

ตาราง ครอบครัวลัวะในบ้านกองลอย 39 ครอบครัว (หน้า 111) ภูมิหลังของครูและผู้บริหารโรงเรียนบ้านกองลอย (หน้า 119) คุณสมบัติของครูเกี่ยวกับชุนกลุ่มน้อย ( 4มิติ ) (หน้า 123) ภูมิหลังของนักเรียนลัวะ ผู้ปกครอง (หน้า 126,128) วิชาในหลักสูตรที่นักเรียนชอบ (หน้า 134) เปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของนักเรียนชั้น ป.6 ปีการศึกษา 2529 ระหว่างลัวะ ไทยใหญ่ และนักเรียน จ.เชียงใหม่ (หน้า 142) การนำความรู้จากโรงเรียนไปใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวัน (หน้า 145) การตกซ้ำชั้น และการออกกลางคันของนักเรียนลัวะ ปี 2528 (หน้า 150) ผู้อบรมสั่งสอนความรู้ด้านต่างๆ แก่ลัวะ (หน้า 158) วิธีการให้ความรู้แก่เด็กลัวะ (หน้า 164) ความต้องการการศึกษานอกโรงเรียนของลัวะ (หน้า 172) ภาพ บ้านของลัวะ (หน้า 25) การแต่งกายของลัวะ (หน้า 29) พิธีเลี้ยงผี (หน้า 32) พิธีแต่งงาน (หน้า 36) พิธีสะโหลด (หน้า 40) บ้านกองลอย (หน้า 88) แผนที่ บ้านกองลอย อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่ (หน้า 88)

Text Analyst ภูมิชาย คชมิตร Date of Report 06 ม.ค. 2566
TAG ลเวือะ, การศึกษา, ความเชื่อ, การเมือง, การจัดระเบียบสังคม, เชียงใหม่, Translator -
 
 

 

ฐานข้อมูลอื่นๆของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
  ฐานข้อมูลพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทย
จารึกในประเทศไทย
จดหมายเหตุทางมานุษยวิทยา
แหล่งโบราณคดีที่สำคัญในประเทศไทย
หนังสือเก่าชาวสยาม
ข่าวมานุษยวิทยา
ICH Learning Resources
ฐานข้อมูลเอกสารโบราณภูมิภาคตะวันตกในประเทศไทย
ฐานข้อมูลประเพณีท้องถิ่นในประเทศไทย
ฐานข้อมูลสังคม - วัฒนธรรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  หน้าหลัก
งานวิจัยชาติพันธุ์ในประเทศไทย
บทความชาติพันธุ์
ข่าวชาติพันธุ์
เครือข่ายชาติพันธุ์
เกี่ยวกับเรา
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  ข้อมูลโครงการ
ทีมงาน
ติดต่อเรา
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
ช่วยเหลือ
  กฏกติกาและมารยาท
แบบสอบถาม
คำถามที่พบบ่อย


ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) เลขที่ 20 ถนนบรมราชชนนี เขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ 10170 
Tel. +66 2 8809429 | Fax. +66 2 8809332 | E-mail. webmaster@sac.or.th 
สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2549    |   เงื่อนไขและข้อตกลง