สมัครสมาชิก   
| |
ค้นหาข้อมูล
ค้นหาแบบละเอียด
  •   ความเป็นมาและหลักเหตุผล

    เพื่อรวบรวมงานวิจัยทางชาติพันธุ์ที่มีคุณภาพมาสกัดสาระสำคัญในเชิงมานุษยวิทยาและเผยแผ่สาระงานวิจัยแก่นักวิชาการ นักศึกษานักเรียนและผู้สนใจให้เข้าถึงงานวิจัยทางชาติพันธุ์ได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น

  •   ฐานข้อมูลจำแนกกลุ่มชาติพันธุ์ตามชื่อเรียกที่คนในใช้เรียกตนเอง ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้ คือ

    1. ชื่อเรียกที่ “คนอื่น” ใช้มักเป็นชื่อที่มีนัยในทางเหยียดหยาม ทำให้สมาชิกกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ รู้สึกไม่ดี อยากจะใช้ชื่อที่เรียกตนเองมากกว่า ซึ่งคณะทำงานมองว่าน่าจะเป็น “สิทธิพื้นฐาน” ของการเป็นมนุษย์

    2. ชื่อเรียกชาติพันธุ์ของตนเองมีความชัดเจนว่าหมายถึงใคร มีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมอย่างไร และตั้งถิ่นฐานอยู่แห่งใดมากกว่าชื่อที่คนอื่นเรียก ซึ่งมักจะมีความหมายเลื่อนลอย ไม่แน่ชัดว่าหมายถึงใคร 

     

    ภาพ-เยาวชนปกาเกอะญอ บ้านมอวาคี จ.เชียงใหม่

  •  

    จากการรวบรวมงานวิจัยในฐานข้อมูลและหลักการจำแนกชื่อเรียกชาติพันธุ์ที่คนในใช้เรียกตนเอง พบว่า ประเทศไทยมีกลุ่มชาติพันธุ์มากกว่า 62 กลุ่ม


    ภาพ-สุภาษิตปกาเกอะญอ
  •   การจำแนกกลุ่มชนมีลักษณะพิเศษกว่าการจำแนกสรรพสิ่งอื่นๆ

    เพราะกลุ่มชนต่างๆ มีความรู้สึกนึกคิดและภาษาที่จะแสดงออกมาได้ว่า “คิดหรือรู้สึกว่าตัวเองเป็นใคร” ซึ่งการจำแนกตนเองนี้ อาจแตกต่างไปจากที่คนนอกจำแนกให้ ในการศึกษาเรื่องนี้นักมานุษยวิทยาจึงต้องเพิ่มมุมมองเรื่องจิตสำนึกและชื่อเรียกตัวเองของคนในกลุ่มชาติพันธุ์ 

    ภาพ-สลากย้อม งานบุญของยอง จ.ลำพูน
  •   มโนทัศน์ความหมายกลุ่มชาติพันธุ์มีการเปลี่ยนแปลงในช่วงเวลาต่างๆ กัน

    ในช่วงทศวรรษของ 2490-2510 ในสาขาวิชามานุษยวิทยา “กลุ่มชาติพันธุ์” คือ กลุ่มชนที่มีวัฒนธรรมเฉพาะแตกต่างจากกลุ่มชนอื่นๆ ซึ่งมักจะเป็นการกำหนดในเชิงวัตถุวิสัย โดยนักมานุษยวิทยาซึ่งสนใจในเรื่องมนุษย์และวัฒนธรรม

    แต่ความหมายของ “กลุ่มชาติพันธุ์” ในช่วงหลังทศวรรษ 
    2510 ได้เน้นไปที่จิตสำนึกในการจำแนกชาติพันธุ์บนพื้นฐานของความแตกต่างทางวัฒนธรรมโดยตัวสมาชิกชาติพันธุ์แต่ละกลุ่มเป็นสำคัญ... (อ่านเพิ่มใน เกี่ยวกับโครงการ/คู่มือการใช้)


    ภาพ-หาดราไวย์ จ.ภูเก็ต บ้านของอูรักลาโว้ย
  •   สนุก

    วิชาคอมพิวเตอร์ของนักเรียน
    ปกาเกอะญอ  อ. แม่ลาน้อย
    จ. แม่ฮ่องสอน


    ภาพโดย อาทิตย์    ทองดุศรี

  •   ข้าวไร่

    ผลิตผลจากไร่หมุนเวียน
    ของชาวโผล่ว (กะเหรี่ยงโปว์)   
    ต. ไล่โว่    อ.สังขละบุรี  
    จ. กาญจนบุรี

  •   ด้าย

    แม่บ้านปกาเกอะญอ
    เตรียมด้ายทอผ้า
    หินลาดใน  จ. เชียงราย

    ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ถั่วเน่า

    อาหารและเครื่องปรุงหลัก
    ของคนไต(ไทใหญ่)
    จ.แม่ฮ่องสอน

     ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ผู้หญิง

    โผล่ว(กะเหรี่ยงโปว์)
    บ้านไล่โว่ 
    อ.สังขละบุรี
    จ. กาญจนบุรี

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   บุญ

    ประเพณีบุญข้าวใหม่
    ชาวโผล่ว    ต. ไล่โว่
    อ.สังขละบุรี  จ.กาญจนบุรี

    ภาพโดยศรยุทธ  เอี่ยมเอื้อยุทธ

  •   ปอยส่างลอง แม่ฮ่องสอน

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ปอยส่างลอง

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดย เบญจพล  วรรณถนอม
  •   อลอง

    จากพุทธประวัติ เจ้าชายสิทธัตถะ
    ทรงละทิ้งทรัพย์ศฤงคารเข้าสู่
    ร่มกาสาวพัสตร์เพื่อแสวงหา
    มรรคผลนิพพาน


    ภาพโดย  ดอกรัก  พยัคศรี

  •   สามเณร

    จากส่างลองสู่สามเณร
    บวชเรียนพระธรรมภาคฤดูร้อน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   พระพาราละแข่ง วัดหัวเวียง จ. แม่ฮ่องสอน

    หล่อจำลองจาก “พระมหามุนี” 
    ณ เมืองมัณฑะเลย์ ประเทศพม่า
    ชาวแม่ฮ่องสอนถือว่าเป็นพระพุทธรูป
    คู่บ้านคู่เมืององค์หนึ่ง

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม

  •   เมตตา

    จิตรกรรมพุทธประวัติศิลปะไต
    วัดจองคำ-จองกลาง
    จ. แม่ฮ่องสอน
  •   วัดจองคำ-จองกลาง จ. แม่ฮ่องสอน


    เสมือนสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรม
    เมืองไตแม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ใส

    ม้งวัยเยาว์ ณ บ้านกิ่วกาญจน์
    ต. ริมโขง อ. เชียงของ
    จ. เชียงราย
  •   ยิ้ม

    แม้ชาวเลจะประสบปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัย
    พื้นที่ทำประมง  แต่ด้วยความหวัง....
    ทำให้วันนี้ยังยิ้มได้

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ผสมผสาน

    อาภรณ์ผสานผสมระหว่างผ้าทอปกาเกอญอกับเสื้อยืดจากสังคมเมือง
    บ้านแม่ลาน้อย จ. แม่ฮ่องสอน
    ภาพโดย อาทิตย์ ทองดุศรี
  •   เกาะหลีเป๊ะ จ. สตูล

    แผนที่ในเกาะหลีเป๊ะ 
    ถิ่นเดิมของชาวเลที่ ณ วันนี้
    ถูกโอบล้อมด้วยรีสอร์ทการท่องเที่ยว
  •   ตะวันรุ่งที่ไล่โว่ จ. กาญจนบุรี

    ไล่โว่ หรือที่แปลเป็นภาษาไทยว่า ผาหินแดง เป็นชุมชนคนโผล่งที่แวดล้อมด้วยขุนเขาและผืนป่า 
    อาณาเขตของตำบลไล่โว่เป็นส่วนหนึ่งของป่าทุ่งใหญ่นเรศวรแถบอำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี 

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   การแข่งขันยิงหน้าไม้ของอาข่า

    การแข่งขันยิงหน้าไม้ในเทศกาลโล้ชิงช้าของอาข่า ในวันที่ 13 กันยายน 2554 ที่บ้านสามแยกอีก้อ อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย
 
  Princess Maha Chakri Sirindhorn Anthropology Centre
Ethnic Groups Research Database
Sorted by date | title

   Record

 
Subject ลาว,กวย,เขมร,การผสมกลมกลืน,วัฒนธรรม,สุรินทร์
Author สุนทร สุรวาทกุล
Title การผสมกลมกลืนทางวัฒนธรรมของชาวไทยที่พูดภาษาลาว กวยและเขมร : ศึกษาเฉพาะกรณีบ้านเกาะแก้ว อำเภอสำโรงทาบ จังหวัดสุรินทร์
Document Type วิทยานิพนธ์ Original Language of Text ภาษาไทย
Ethnic Identity ขแมร์ลือ คะแมร คนไทยเชื้อสายเขมร เขมรถิ่นไทย, Language and Linguistic Affiliations ออสโตรเอเชียติก(Austroasiatic)
Location of
Documents
สำนักวิทยบริการ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มหาสารคาม ห้องสมุดศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
(เอกสารฉบับเต็ม)
Total Pages 207 Year 2531
Source หลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต วิชาเอกไทยคดีศึกษา (เน้นสังคมศาสตร์) มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มหาสารคาม
Abstract

งานวิจัยนี้ศึกษาเรื่อง รูปแบบและปัจจัยที่ทำให้เกิดการผสมกลมกลืนทางวัฒนธรรม ความเชื่อ ประเพณี วิถีการดำเนินชีวิตของคนไทยที่พูดภาษาลาว ภาษากวย และภาษาเขมร ที่บ้านเกาะแก้ว อำเภอสำโรงทาบ จังหวัดสุรินทร์ ทั้งนี้ การผสมกลมกลืนดังกล่าวเกิดจากปัจจัยหลัก 2 ลักษณะคือ 1. การคงไว้ซึ่งขนบธรรมเนียมประเพณีและความเชื่ออย่างเดิมขณะเดียวกันก็ยอมรับหรือไม่ขัดแย้งกับขนบธรรมเนียมประเพณีและความเชื่อของกลุ่มอื่น 2. มี การปรับขนบธรรมเนียมประเพณีและความเชื่อบางส่วนเข้าหากัน อันเนื่องมาจากคนไทยที่พูดภาษาลาว ภาษากวย และภาษาเขมรที่บ้านเกาะแก้วนั้นต่างมีการดำเนินชีวิตอยู่ในสังคมชาวนาเหมือนกัน มีการแต่งงานระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ มีความคล้ายกันในเรื่องชาติพันธุ์และขนบธรรมเนียม ประเพณีความเชื่อ และ มีการผสมกลมกลืนทางภาษา ที่จากเดิมแต่ละกลุ่มมีภาษาใช้เป็นของตนเองแต่เมื่อเข้ารวมกลุ่มในสังคม ทุกกลุ่มจะใช้ภาษาลาวในการสื่อความหมายเป็นหลัก

Focus

ศึกษาโครงสร้างทางสังคมและวิถีการดำเนินชีวิตของคนไทยที่พูดภาษาลาว ภาษากวย และภาษาเขมร รูปแบบของการผสมกลมกลืนทางวัฒนธรรม ปัจจัยที่ทำให้เกิดการผสมกลมกลืนทางวัฒนธรรม ประเพณี ความเชื่อ การปฏิบัติทางศาสนาของ ลาว กวย และเขมรที่บ้านเกาะแก้ว อำเภอสำโรงทาบ จังหวัดสุรินทร์ (หน้า 4)

Theoretical Issues

ไม่มี

Ethnic Group in the Focus

คนไทยที่พูดภาษาลาว ภาษากวย ภาษาเขมร ตั้งชุมชนขนาดเล็กที่บ้านเกาะแก้ว อำเภอสำโรงทาบ จังหวัดสุรินทร์

Language and Linguistic Affiliations

คนลาว และคนเขมรยังคงสามารถรักษาภาษาของตนไว้ได้คงเดิม เนื่องจากมีการตั้งบ้านเรือนที่จะอยู่รวมกันตามกลุ่มภาษาพูด เขมร พูดภาษาในตระกูลมอญ-เขมร ไม่นิยมพูดลาวเพราะพูดไม่ชัด แต่สามารถฟังรู้เรื่อง ส่วนผู้สูงอายุหลายคนที่ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงอายุ 50 ปี ขึ้นไป จะไม่ยอมพูดภาษาอื่นเลยนอกจากภาษาเขมร นอกจากเวลาจำเป็นเท่านั้น เช่น พูดลาว (สำเนียงเขมร) กับพระสงฆ์บ้าง (หน้า 93-94) ทั้งนี้ภาษาเขมรที่บ้านเกาะแก้วจะมีสำเนียงมาทางเขมร-กวย หรือ เขมร-ส่วย แตกต่างจากภาษาเขมรสำเนียงสุรินทร์ที่อ่อนหวานนิ่มนวลกว่า และคนเขมรที่บ้านเกาะแก้วส่วนใหญ่จะใช้ภาษาเขมรเพื่อสนทนาเท่านั้น มีเพียงส่วนน้อยที่เขียนตัวหนังสือเขมรได้และในหมู่บ้านก็ไม่มีการสอนภาษาเขมร (หน้า 178) กวย มีการเปลี่ยนแปลงการใช้ภาษา เพราะคนหนุ่ม สาวกวยรุ่นใหม่นิยมพูดภาษาลาวกันมากขึ้นในการสื่อสารระหว่างคนกวยด้วยกัน และไม่รู้สึกเสียดายภาษากวยหากต้องสูญหายไปโดยถือว่าเป็นเรื่องธรรมดา เหตุผลมาจากแต่ละคนไม่อยากพูดภาษากวย แต่ผู้ที่ยังคงใช้ภาษากวยอยู่ส่วนหนึ่งคิดว่าเป็นการดีที่เด็กรุ่นใหม่สามารถปรับตัวเข้ากับกลุ่มเพื่อนด้วยการใช้ภาษาลาว แต่อีกส่วนหนึ่งก็รู้สึกเสียดายภาษาเก่าแก่ที่จะสูญหายไป ทั้งนี้อิทธิพลของภาษาลาวได้ดูดกลืนให้กวยหันมาใช้ภาษาลาวในการสื่อความหมายกันมากขึ้น เนื่องจากต้องการปรับตัวให้กลายเป็นลาวเพื่อให้เป็นที่ยอมรับ เพราะมองว่าวัฒนธรรมลาวสูงกว่าวัฒนธรรมกวยและไม่ต้องการมีความรู้สึกเดียดฉันท์ทางชาติพันธุ์ ในอนาคตคนกวยจะกลายเป็นคนลาวทั้งหมด โดยเฉพาะลูกที่เกิดจากการแต่งงานระหว่างคนกวยกับคนลาวจะรู้สึกว่าตนเป็นคนลาว พบว่าคนกวยทั้งหมดสามารถพูดภาษาลาวได้ มีเพียงส่วนน้อยที่พูดภาษาเขมรได้ เมื่อเทียบระหว่างลาว กวยและเขมรแล้ว พบว่าคนลาวมีความสามารถในการผสมกลมกลืนกับกลุ่มเขมรได้ดีกว่ากลุ่มกวย อาจมาจากสภาพการตั้งบ้านเรือนที่ทำให้มีการติดต่อระหว่างกันอยู่เสมอ (หน้า 80-89) ภาษาลาวที่บ้านเกาะแก้วนี้มีสำเนียงที่แปลกไปจากสำเนียงภาษาลาวทั่วไป คือ เป็นภาษาลาวสำเนียงกวยที่เรียกว่า ลาว-กวย หรือ ลาว-ส่วย (หน้า 178) สำหรับการทำกิจกรรมร่วมกันระหว่างคนในหมู่บ้าน เช่น การทำบุญงานประเพณี ทั้งลาว กวย และเขมรจะใช้ภาษาไทยภาคกลางและภาษาไทยลาวเป็นภาษาหลักเพื่อให้ทุกกลุ่มชนเข้าใจตรงกัน แต่ถ้าเป็นการถกเถียงปัญหากันจะใช้ภาษาลาว แต่ถ้าเป็นการพูดคุยเฉพาะกลุ่มก็จะใช้ภาษาเฉพาะของตน นอกจากนี้หากคนที่พูดภาษาลาวที่เข้าใจภาษากวยหรือเขมรก็สามารถร่วมวงสนทนาด้วยการใช้ภาษาลาว ขณะเดียวกันกวยและเขมรก็จะใช้ภาษาลาวสื่อสารตอบได้ กล่าวคือเมื่อมีการพูดคุยร่วมกันระหว่างผู้สนทนาที่ใช้ภาษาต่างกัน ภาษาลาวจะกลายเป็นภาษาหลักในการสนทนากลุ่มย่อยจำนวน 1-5 คน (หน้า 78) ทั้งนี้ กวยสามารถพูดภาษาลาวได้คล่องโดยไม่มีสำเนียงกวยแทรกซึ่งแตกต่างจากกลุ่มเขมรที่ เมื่อพูดภาษาลาวจะมีสำเนียงเขมรแทรกอยู่ เรียกว่าสำเนียงลาวที่เหน่อไปทางสำเนียงเขมร โดยเฉพาะการออกเสียง "ร" อย่างชัดเจนนั้นจะเป็นสำเนียงของเขมร (หน้า 163) การแต่งงานข้ามกลุ่มก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ก่อให้เกิดการผสมกลมกลืนการใช้ภาษา การสื่อความหมายระหว่างสามีกับภรรยานั้นจะใช้ภาษาลาวเป็นหลัก ส่วนการพูดคุยกับลูกๆ มีบางครอบครัวใช้ภาษาลาว และบางครอบครัวจะใช้ภาษาเดิมของตนเอง หรือบางทีก็ใช้ภาษาลาว สื่อสารปนกับภาษาเดิมของตนเอง ดังนั้น ลูกๆ จะสามารถสื่อสารได้มากกว่าหนึ่งภาษา สำหรับการเรียกชื่อเครือญาติทั้งญาติฝ่ายพ่อและฝ่ายแม่จะไม่แตกต่างกันแต่สำเนียงพูดจะต่างกันตามกลุ่มภาษา ทว่าความหมายไม่แตกต่างกัน (หน้า 79)

Study Period (Data Collection)

ศึกษาจากภาคเอกสารและภาคสนาม ในช่วงเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2528 ถึง เดือน ตุลาคม พ.ศ. 2529 รวมเวลา 1 ปี (หน้า 6)

History of the Group and Community

กวยเป็นชาติพันธุ์ที่อพยพมาจากอินเดียมาจนถึงลุ่มแม่น้ำคงคา แม่น้ำสาละวิน และแม่น้ำโขงตอนบนตั้งแต่ครั้งที่ถูกอารยันรุกราน กวยเป็นชนชาติหนึ่งในตระกูลมอญ-เขมร มีภูมิลำเนาอยู่ในภาคอีสานใต้แม่น้ำมูลลงมา กวยหรือส่วยเป็นชนชาติดั้งเดิมที่อาศัยอยู่ในเขตซึ่งปัจจุบันเป็นภาคตะวันอกเฉียงเหนือของประเทศไทยและประเทศกัมพูชา แต่เดิมนั้นบริเวณพื้นที่ภาคตะวันอกเฉียงเหนือราวจุลศักราช 1,000 ก็คือพื้นที่ของคนป่าที่มีเชื้อสายขอมแต่ต่อมาเรียกกันว่า พวกข่า ส่วย กวย ที่ยังคงอาศัยอยู่ในฝั่งโขงตะวันออกมาจนถึงปัจจุบัน เดิมกวยตั้งถิ่นฐานอยู่ทางตอนเหนือของเมืองเสียมราฐ-กำปงธม บางส่วนเดินทางเข้าไปที่เขมรตอนเหนือต่อแดนลาวบริเวณเมืองอัตปือ แสนแป จากนั้นได้อพยพจากแดนลาวตอนใต้ข้ามเทือกเขาพนมดงรักเข้ามาอยู่มนพื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีษะเกษ อุบลราชธานีและตอนใต้ของจังหวัดร้อยเอ็ด เขมร ได้อพยพเข้าสู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยบริเวณหัวเมืองป่าดงในสมัยอาณาจักรพระนครหลวง และอพยพเข้ามาเรื่อยๆ โดยตั้งถิ่นฐานอยู่ตามรอยต่อของเขตเมืองสุรินทร์ สังขะและขุขันธ์ และเมื่อเขมรอพยพเข้ามาในเขตจังหวัดสุรินทร์ สังขะและขุขันธ์ ชนชั้น ปกครองของเขมรได้ผสมผสานวัฒนธรรมเมืองเข้ากับวัฒนธรรมของกลุ่มกวยและกลุ่มไทยลาวที่อยู่ในพื้นที่นี้มาแต่เดิม ยกเว้นเขมรที่อยู่ในป่าห่างไกลยังคงปฏิบัติตามประเพณีของตนด้านการนับถือศาสนาและวัฒนธรรมประเพณีนั้นมีความคล้ายกับวัฒนธรรมไทย ซึ่งต่างก็อยู่ในสังคมชาวนาและนับถือศาสนาพุทธเหมือนกัน ลาว สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ช่วงรัชกาลที่1-3 ผู้คนจากทางฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงได้อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานที่ภาคอีสานมากจนเกิดเป็นชุมชนบ้านเมืองที่มีผู้คนหนาแน่นและขยายเติบโตมาจนปัจจุบัน (หน้า 23-31) ส่วนความเป็นมาของหมู่บ้านเกาะแก้วนั้น แต่เดิมก่อนปี พ.ศ. 2494 มีเพียงครอบครัวกวยทั้งหมด 7 ครอบครัวที่อพยพมาจากที่อื่นๆ เพื่อมาตั้งถิ่นฐานอยู่รวมกันเป็นหมู่บ้าน ต่อมาประมาณปลายปี พ.ศ.2496 เขมรได้เดินทางมาพบพื้นที่ป่าที่มีแหล่งน้ำสมบูรณ์จึงคิดอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐาน การอพยพในครั้งแรกมี 27 ครอบครัว เพื่อสร้างทำนบกั้นน้ำไว้ใช้ เมื่อสร้างเสร็จจึงมีลาว กวย และเขมรอพยพเข้ามาเรื่อยๆ และตั้งชื่อหมู่บ้านว่า บ้านเกาะแก้ว เป็นชื่อของเกาะแห่งหนึ่งในห้วยทับทัน ชาวบ้านมีการแบ่งกลุ่มกันอยู่อาศัยเฉพาะกลุ่มของตน โดยกลุ่มเขมรอยู่ทางทิศตะวันออก กลุ่มลาวอยู่ทางทิศตะวันตก และบางส่วนอยู่ทางทิศเหนือ ส่วนกลุ่มกวยอยู่ทางทิศเหนือสุดของหมู่บ้าน ชาวบ้านได้ทำการตกลงสร้างวัด โรงเรียน ศาลาประชาคมบริเวณที่ดินกลางหมู่บ้าน (หน้า 31-36)

Settlement Pattern

การตั้งบ้านเรือนและการตั้งถิ่นฐานของลาว กวย เขมรที่บ้านเกาะแก้วมีลักษณะเป็นกลุ่มตามกลุ่มภาษา กลุ่มที่พูดภาษาเขมรจะตั้งบ้านเรือนอยู่รวมกันทางทิศตะวันออก กลุ่มที่พูดภาษาลาวจะตั้งบ้านเรือนอยู่รวมกันทางทิศตะวันตก และกลุ่มที่พูดภาษากวยจะตั้งบ้านเรือนอยู่รวมกันทางทิศตะวันตกปลายสุดและรอบหมู่บ้านทางทิศเหนือและทางทิศตะวันออกปลายสุดของหมู่บ้าน นอกจากนี้ยังมีบางครอบครัวที่ตั้งบ้านเรือนปะปนอยู่กลุ่มที่พูดต่างภาษาบ้าง ด้านบริเวณตอนกลางของหมู่บ้านจะเป็นที่ตั้งของวัด ศาลาประชาคม สถานีอนามัย ธนาคารข้าว โรงเรียน (หน้า 36, 77)

Demography

ลาว กวย เขมร ได้อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานที่บ้านเกาะแก้วโดยมีลักษณะเป็นชุมชนขนาดเล็ก ประกอบไปด้วย 152 ครัวเรือน และแบ่งออกเป็น 2 หมู่ คือ หมู่ที่ 1 มี 61 ครอบครัว ประชากรทั้งหมด 441 คน และ หมู่ที่11 มี 91 ครอบครัว มีประชากรทั้งหมด 679 คน รวมมีประชากรทั้งหมด 1,120 คน แบ่งเป็นลาว 325 คน เขมร 426 คน กวย 134 คน ลาว-เขมร 59 คน กวย-เขมร 51 คน ลาว-กวย 103 คน ลาว-ไทยกลาง 3 คน เขมร-ไทยกลาง 7 คน ไทย 6 คน และจีน 6 คน (สำรวจเมื่อสิ้นปี พ.ศ.2528) (หน้า 46-49) ลาว กวย เขมร อพยพมาจากจังหวัดสุรินทร์และศรีสะเกษมากที่สุดโดยเขมรที่อพยพเข้ามาที่บ้านเกาะแก้วมีความรู้สึกว่าตนไม่ได้สืบเชื้อสายมาจากเขมรในประเทศกัมพูชาเพราะมีการเปลี่ยนแปลงผ่านมาหลายชั่วอายุคนจึงถือว่าตนเป็นคนไทย สำหรับกลุ่มกวยเป็นกลุ่มขนาดเล็กเมื่อเทียบกับกลุ่มลาวและเขมรในบ้านเกาะแก้ว (หน้า 177-178)

Economy

สภาพเศรษฐกิจของ ลาว กวย เขมร ที่บ้านเกาะแก้วเป็นแบบยังชีพ การผลิต การบริโภคและการแลกเปลี่ยนเกิดขึ้นภายในหมู่บ้านเป็นหลัก รายได้มาจากแหล่งต่างๆ ดังนี้ การทำนา พื้นที่นาของหมู่บ้านอยู่ทางทิศเหนือและบางส่วนในทิศตะวันตก สภาพดินเป็นดินร่วนปนทราย ชาวบ้านจึงนิยมปลูกข้าวเจ้าเป็นส่วนใหญ่ ส่วนคนลาวจะปลูกข้าวเหนียวเป็นส่วนใหญ่ สำหรับเขมรและกวยจะปลูกข้าวเหนียวไว้เพียงเพื่อทำขนมข้าวต้มในงานประเพณีต่างๆ การทำนาและการเก็บเกี่ยวจะเป็นลักษณะประเพณีการลงแขกเกี่ยวข้าวและนวดข้าวในครอบครัวที่มีที่นาปานกลางถึงมาก และมีฐานะทางเศรษฐกิจดี ส่วนครอบครัวที่มีที่นาขนาดเล็กจะใช้แรงงานในครอบครัวหรือจ้างแรงงานเสริม การถือครองที่ดินชาวบ้านได้ครอบครองเท่ากัน คือ 1 ไร่ 1 งาน 75 ตารางวา สำหรับอยู่อาศัย และที่นา 24 ตารางวา ภายหลัง พ.ศ.2517 มีการซื้อขายที่ดินหรือแบ่งให้ลูกๆ ปัจจุบันจึงมีการถือครองที่นาที่ไม่เท่ากัน วิถีการผลิตยังใช้แรงงานคนและสัตว์ เครื่องจักรสมัยใหม่ยังไม่มีใช้ ส่วนการเลี้ยงสัตว์ จะใช้ใต้ถุนบ้านเป็นคอกสัตว์เลี้ยง ได้แก่ เป็ด ไก่ หมู วัว ควาย และมีการทำประมง การปลูกพืชเศรษฐกิจ เช่น มะม่วง มะพร้าว หมาก ถั่ว ยาสูบ เป็นต้น โดยเขมรจะปลูกมะพร้าวและหมากมากที่สุด ชาวบ้านมีรายได้สูงจากการขายมะม่วงและมะพร้าว ส่วนหมากปลูกไว้เพื่อกินเท่านั้น นอกจากนี้ครอบครัวที่อยู่ริมขอบทำนบกั้นน้ำจะปลูก หอม กระเทียม แตงกวา ข้าวโพด มะเขือ และจับปลากดและปลาตะเพียนบริโภคและขายภายในหมู่บ้าน ส่วนสินค้าที่นำส่งตลาดมีเพียงไข่เป็ดอย่างเดียว การทำหัตกรรม เช่น การจักสานตะกร้า กระบุง เครื่องมือจับสัตว์น้ำ ได้แก่ ลอบ ไซ รวมทั้งมีการทอผ้าเพื่อใช้ในครัวเรือน มีการทอเสื่อจากต้นกก ซึ่งทอหลังจากการเก็บเกี่ยวข้าวแล้วเสร็จ ช่วงฤดูแล้งชาวบ้านจะเดินทางไปรับจ้างในต่างจังหวัด และจะกลับเมื่อถึงฤดูทำนา ทั้งนี้ การเดินทางไปรับจ้างโดยเฉพาะที่กรุงเทพฯ นั้นจะมีทั้งกลุ่มลาว กวย และเขมร ที่ต่างมีความรู้สึกว่าเป็นกลุ่มเพื่อนบ้านที่ไม่มีความแตกต่างทางชาติพันธุ์ การบริโภค-อุปโภค ภายในหมู่บ้านไม่มีตลาดแต่มีร้านของชำเล็กๆ 5 แห่ง สินค้าเป็นพวกของแห้ง เช่น น้ำตาล ปลากระป๋อง ผงซักฟอก ยาแก้ปวด โดยแยกเป็นร้านของกลุ่มกวย 2 ร้าน กลุ่มลาว 2 ร้าน และกลุ่มเขมร 1 ร้าน ทั้งนี้มีตลาดอยู่ที่ตัวอำเภอไม่ไกลจากหมู่บ้าน และมีตลาดนัดทุกวันที่ 8, 18, 28 ของเดือนด้วย หมู่บ้านเกาะแก้วยังไม่มีไฟฟ้าใช้ จึงใช้ตะเกียงสำหรับเวลากลางคืน บางบ้านมีโทรทัศน์ พัดลมที่ใช้ไปจากแบตเตอรี่และใช้เครื่องปั่นไฟสำหรับการจัดงานต่างๆ เช่น งานศพ งานประเพณี (หน้า 37-51) แหล่งน้ำตามธรรมชาติของหมู่บ้านคือ ทำนบกั้นน้ำที่อยู่ทางทิศใต้ของหมู่บ้าน เพื่อการใช้บริโภค อุปโภค รวมทั้งการเลี้ยงสัตว์ เกษตรกรรม และการประมง นอกจากนี้ยังมีบ่อน้ำสาธารณะอีก 3 บ่อ และชาวบ้านจะขุดบ่อลึกบริเวณบ้านหรือไร่นาเมื่อถึงฤดูแล้ง

Social Organization

โครงสร้างทางสังคมของบ้านเกาะแก้ว อำเภอสำโรงทาบ จังหวัดสุรินทร์ เป็นชุมชนเกษตรกรรมแบบชาวนา มีประเพณีลงแขกเพื่อเกี่ยวข้าวและนวดข้าว การลงแขกนี้เป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่งของการแสดงถึงการสิ้นสุดของงาน เพราะถ้ามีการลงแขกเกี่ยวข้าวหรือนวดข้าวของครอบครัวหนึ่งๆ จะเป็นที่เข้าใจได้ว่าการเกี่ยวข้าวหรือนวดข้าวจะเสร็จได้ภายในวันนั้น ประเพณีนี้เริ่มต้นจากการที่แม่บ้านของครอบครัวที่จะมีการลงแขกไปบอกญาติของตนเป็นอันดับแรก ตามด้วยการบอกกล่าวบ้านใกล้เรือนเคียงและผู้ที่สนิทสนมกันให้ไปช่วยกันเกี่ยวข้าว แรงงานที่มาช่วยกันขึ้นอยู่กับปริมาณข้าวที่มีอยู่ในนา ครอบครัวส่วนใหญ่มักจะไม่ปฏิเสธหากถูกบอกกล่าวให้ไปช่วยเกี่ยวข้าว แม้ว่าครอบครัวของตนต้องเร่งเกี่ยวข้าวด้วยก็ตาม หากว่าไม่ไปเพราะมีเหตุจำเป็นก็สามารถบอกกล่าวกันได้ แต่หากมีการวานแรงงานและไม่ไปหลายๆ ครั้ง ครอบครัวนั้นจะไม่ได้รับความร่วมมือและช่วยเหลือจากครอบครัวอื่นๆ เมื่อจำเป็น การช่วยเหลือเรื่องแรงงานจึงเป็นสิ่งที่สำคัญมากในหมู่บ้าน รวมถึงการยกกลุ่มแรงงานไปช่วยโดยที่เจ้าภาพไม่ได้บอกกล่าวมาก่อน (จะมีเฉพาะการนวดข้าว) ซึ่งเจ้าบ้านจะตอบแทนด้วยการจัดเตรียมอาหารและสุราไว้เมื่องานเสร็จ (หน้า 58-61) ครอบครัวและระบบเครือญาติเป็นหน่วยทางสังคมที่เล็กที่สุดและเป็นฐานของโครงสร้างทางสังคม โดยครอบครัวเกิดจากการแต่งงาน สำหรับชาวอีสานทั่วไปเมื่อแต่งงานแล้วจะต้องอาศัยอยู่บ้านพ่อแม่ฝ่ายหญิงก่อนอย่างน้อยหนึ่งฤดูกาลทำนาเพื่อเป็นการช่วยแรงงานและเรียนรู้วิธีการครองเรือน เจ้าบ่าวจะอยู่ในฐานะผู้ใต้บังคับบัญชาของพ่อตาแม่ยาย ภายหลังเมื่อมีเงินหรือพ่อตาแบ่งที่ดินให้ก็จะเป็นการออกเรือนในบริเวณเดียวกับบ้านพ่อแม่ฝ่ายหญิง แต่ในกรณีที่ฝ่ายใดเป็นลูกสาวหรือลูกชายเพียงคนเดียวของครอบครัวก็จะต้องพิจารณาความจำเป็นของครอบครัวที่จะไปอยู่ด้วย การแตกตัวของครัวเรือนเพื่อเป็นครอบครัวใหม่เป็นไปตามวัฎจักรของระบบสังคมอีสานที่เริ่มจากการแต่งงาน การให้กำเนิดลูกและการกลายเป็นครอบครัวเดี่ยว และเมื่อลูกชายของครอบครัวแต่งงานก็จะออกจากครอบครัวไปอาศัยอยู่กับครอบครัวภรรยา จากนั้นจึงออกเรือนไปอาศัยต่างหาก สำหรับลูกสาวเมื่อแต่งงานจะอาศัยอยู่บ้านพ่อแม่ตนเองอย่างน้อยหนึ่งรอบฤดูกาลทำนา หากมีลูกก็จะกลายเป็นครอบครัวเดี่ยวที่อยู่รวมในครอบครัวแบบขยาย ถ้าครอบครัวนั้นมีลูกสาวคนเดียว เมื่อแต่งงานก็จะอาศัยอยู่กับพ่อแม่ไปตลอดและจะได้รับมรดก หากว่าครอบครัวนั้นมีลูกสาว 2 คน ลูกสาวคนแรกต้องออกเรือนไปอยู่ในบริเวณบ้านพ่อแม่ เพราะคติของอีสานนั้นถือว่า การมีเขยสองคนอยู่บ้านเดียวกันจะดูไม่ดี และหากลูกสาวคนเล็กแต่งงาน ทั้งตนเองและสามีจะต้องอยู่ดูแลพ่อแม่ฝ่ายหญิง หากเมื่อพ่อแม่เสียชีวิตจะมีการแบ่งทรัพย์สินระหว่างพี่น้อง โดยลูกสาวคนเล็กจะได้รับมรดกมากกว่าเนื่องจากเป็นผู้ดูแลพ่อแม่ (หน้า 63-67) การแต่งงานระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ ทั้งสองฝ่ายจะมีการปรับตัวทางวัฒนธรรมเข้าหากันเริ่มจากการที่คู่หนุ่มสาวมีโอกาสพบปะกันตามงานบุญตามประเพณีที่วัดเพื่อช่วยกันทำงานและพบปะกันจากการประกอบอาชีพทำนา มีโอกาสต้อนวัวควายไปเลี้ยงร่วมกันหรือการลงแขกทำนาเกี่ยวข้าวร่วมกัน จนกระทั่งมีความคุ้นเคยกันมากขึ้นฝ่ายชายจะไปพูดคุยที่บ้านฝ่ายหญิงเพื่อแนะนำตนเองต่อพ่อแม่ฝ่ายหญิง ด้านฝ่ายหญิงจะหาเสื่อ ขันน้ำ เสี้ยนหมากพลู ยาสูบมาต้อนรับ โดยมีพ่อแม่จะร่วมพูดคุยในตอนแรก ต่อจากนั้นจะปล่อยให้หนุ่มสาวได้พูดคุยกัน แต่ในปัจจุบันการเกี้ยวพาราสีแบบนี้มีเป็นส่วนน้อยแล้ว เพราะหนุ่มสาวส่วนหนึ่งไปทำงานและพบปะกันต่างถิ่น หากเมื่อตกลงใจกันแล้วฝ่ายชายจะมาสู่ขอฝ่ายหญิงที่บ้าน ทั้งนี้มีหนุ่มสาวส่วนหนึ่งอยู่กินกันโดยไม่มีพิธีแต่งงานแต่ภายหลังก็จะหาโอกาสไปขอขมาพ่อแม่ฝ่ายหญิงและต้องมีการปรับหรือเสียผีซึ่งขึ้นอยู่กับพ่อแม่ฝ่ายหญิง การแต่งงานระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ ในหมู่บ้านเกาะแก้วตั้งแต่เริ่มก่อตั้งหมู่บ้านมาจนถึงปัจจุบันนั้นมีจำนวน 63 คู่ ที่แต่งงานข้ามกลุ่ม ในระยะแรกอัตราการแต่งงานข้ามกลุ่มระหว่างผู้ชายลาวและกวยที่แต่งงานกับผู้หญิงเขมรมีน้อยมาก เพราะพิธีแต่งงานของเขมรมีหลายขั้นตอน ทว่าปัจจุบันทุกฝ่ายได้มีการปรับตัวเข้าหากันมากขึ้น โดยชาวบ้านมีความคิดเห็นในเรื่องการเลือกคู่ครองที่ว่า การเลือกคู่ครองเป็นสิทธิของแต่ละคน แต่อย่างไรก็ตาม ต้องบอกกล่าวให้ผู้ใหญ่รับรู้ และการเลือกคู่ครองต้องเลือกคนที่พูดภาษาเดียวกัน และมีประเพณีอย่างเดียวกันเป็นอันดับแรก ส่วนความคิดเห็นเรื่องการเลือกคู่ครองว่าเป็นสิ่งที่ผู้ใหญ่เลือกให้นั้น มีน้อย การสมรส ในหมู่บ้านเกาะแก้วแบ่งได้เป็น 2 แบบ คือ 1.การสมรสโดยมีพิธี โดยพิธีแต่งงานจะมีรายละเอียดแตกต่างกันไปตามประเพณีของแต่ละกลุ่มดังนี้ พิธีแต่งงานของกลุ่มเขมรจะมีขั้นตอนรายละเอียดมากกว่ากลุ่มกวยและลาว แต่กลุ่มกวยยังมีขั้นตอนรายละเอียดมากกว่ากลุ่มลาว ส่วนการแต่งงานข้ามกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีเจ้าสาวเป็นคนลาว จะมีขั้นตอนไม่ยุ่งยากเพราะกลุ่มลาวไม่ถือผีพ่อแม่เคร่งมากนัก การเซ่นสรวงเป็นแบบง่ายๆ แตกต่างจากการแต่งงานที่ฝ่ายเจ้าสาวเป็นกวยหรือเขมร ตัวอย่างเช่น การแต่งงานระหว่างเจ้าบ่าวเขมรกับเจ้าสาวกวยที่ต่างฝ่ายต่างนับถือผีบรรพบุรุษทั้งสองฝ่าย โดยทั่วไปเจ้าบ่าวจะมีอายุระหว่าง 20-25 ปี และเจ้าสาวมีอายุระหว่าง 16-22 ปี พิธีแต่งงานของเขมรจะมีขั้นตอนไม่แตกต่างจากพิธีของคนไทยอีสานทั่วไป แต่จะมีความแตกต่างชัดเจนในเรื่องการเซ่นไหว้บรรพบุรุษที่ต้องมีเครื่องเซ่นสรวงอย่างมาก และกลุ่มกวยจะมีพิธีกรรมเซ่นสรวงวิญญาณบรรพบุรุษที่เรียกว่า "ยาจุ๊ดุง" หรือ "ยาจัวดุง" (ผีตายายประจำบ้านเรือน) และไม่นิมนต์พระทำพิธีทางศาสนา การแต่งงานของกวยที่แตกต่างจากกลุ่มลาวและเขมร คือ "การจาคาด" หรือ "การแขวนเขาะ" กล่าวคือ หลังจากที่มีการกำหนดค่าสินสอดที่เรียกว่า "เซมซู" แล้ว ถ้าฝ่ายชายเห็นว่าสินสอดแพงทว่ายังเป็นที่พอใจของทั้งสองฝ่าย ประกอบกับในเวลานั้นฝ่ายชายไม่สามารถหาเงินมาได้ทัน ก็สามารถต่อรองและตกลงกันได้ว่าในพิธีแต่งงานจะมอบเงินให้ฝ่ายหญิงก่อนเท่าไรและขอค้างจาคาดไว้เท่าไร ลักษณะการจาคาดหรือการแขวนเขาะยังคงมีอยู่ในสังคมกวยในปัจจุบันและสินสอดที่ขาดไม่ได้อีกอย่างในประเพณีแต่งงานของกวยก็คือ เต่า ไม่มีใครสามารถให้คำอธิบายได้ว่าทำไมจึงต้องใช้เต่า นอกจากนี้ ในขบวนขันหมากยังต้องมีการหาบกระบุงตะกร้า ไม้คาน คุน้ำ เสื่อ กระด้ง คราด ไถ เครื่องครัวอื่นๆ มาเพื่อเป็นการแบ่งสมบัติให้กับคู่สมรสใช้สำหรับการเริ่มต้นชีวิตใหม่ ทั้งนี้การแต่งงานข้ามกลุ่มชาติพันธุ์ของทุกกลุ่มจะยึดถือประเพณีของฝ่ายหญิงเป็นหลัก (หน้า 146-148) 2. การหนีตามกันที่ฝ่ายชายจะมาขอขมาพ่อแม่ฝ่ายหญิงในภายหลัง เครื่องขอขมาประกอบด้วย ดอกไม้ ธูปเทียน ผ้าไหม และเครื่องเซ่นไหว้ผีบรรพบุรุษของฝ่ายหญิง (หากฝ่ายหญิงมีการถือผี) เงินขมาและเหล้า การทำพิธีขอขมานี้ จะไม่มีการเชิญญาติฝ่ายหญิงมาร่วมเนื่องจากเป็นเรื่องภายในครอบครัว พิธีเริ่มต้นจากฝ่ายชายจุดธูปเทียนไหว้ผีปู่ย่าตายาย จากนั้นเฒ่าแก่จะนำฝ่ายชายกล่าวคำขอขมาและมอบเงินขมาแก่พ่อแม่ฝ่ายหญิง เมื่อได้ตรวจนับเงินถูกต้องแล้วฝ่ายชายจะนำผ้าไปไหว้พ่อแม่ฝ่ายหญิงด้วยการกราบ 3 ครั้งแล้วหยิบผ้าส่งให้แล้วกราบอีก 3 ครั้ง จากนั้นจะแบ่งสุราอาหารเป็นสองส่วน สำหรับพ่อแม่ฝ่ายหญิงส่วนหนึ่งและสำหรับตนเองนำกลับไปส่วนหนึ่ง การจัดพิธีขอขมานี้เป็นการผสานความสัมพันธ์ระหว่างหนุ่มสาวและพ่อแม่ฝ่ายหญิงและเพื่อรับทราบถึงความผิดของหนุ่มสาวที่ผ่านมา (หน้า 137-146) นอกจากนี้ชุมชนบ้านเกาะแก้ว อำเภอสำโรงทาบ จังหวัดสุรินทร์ยังมีการรวมกลุ่มกันในรูปแบบต่างๆ ดังนี้ 1. กลุ่มฌาปนกิจ มีจุดมุ่งหมายของการจัดตั้งเพื่อการช่วยเหลือเงินให้ครอบครัวที่มีสมาชิกเสียชีวิต ด้วยการรวบรวมเงินจากสมาชิกในหมู่บ้านครอบครัวละ 30 บาท โดยเก็บเงินทุกครั้งเมื่อมีสมาชิกคนใดตาย การนำเงินไปให้ครอบครัวที่มีสมาชิกตายนั้นจะดำเนินการโดยคณะกรรมการที่มาจากการเลือกตั้ง และไม่มีการจ่ายค่าตอบแทนให้ เพราะเป็นการทำงานแบบอาสาสมัครบริการชุมชน (หน้า 153) 2. กลุ่มเกษตรกรทำนาบ้านเกาะแก้ว มีวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งเพื่อช่วยเหลือสมาชิกเรื่องการเงิน การแนะนำเทคโนโลยีสมัยใหม่ในการทำนา สมาชิกของกลุ่มจะถือหุ้น หุ้นละ 50 บาทโดยไม่จำกัดจำนวนหุ้น และเงินที่ได้ก็นำไปให้สมาชิกกู้ตามความจำเป็น เช่น กู้เพื่อปลูกพืชหมุนเวียน ได้แก่ ถั่ว แตง ยาสูบ ข้าวโพด กลุ่มเกษตรกรทำนานี้เกิดขึ้นจากความต้องการของชาวบ้านจึงเป็นกลุ่มมีบทบาทในการช่วยเหลือสมาชิกเป็นอย่างมาก (หน้า 153) 3. กลุ่มหนุ่มสาว กิจกรรมของกลุ่มนี้จะเน้นไปเรื่องการกีฬาเมื่อเสร็จจากฤดูเก็บเกี่ยวเพื่อไปแข่งขันเชื่อมความสัมพันธ์กับบ้านอื่นในโอกาสต่างๆ และรวมตัวช่วยเหลือกันในเรื่องการดำนา เกี่ยวข้าว นวดข้าว สำหรับการรวมตัวกันของหนุ่มสาวจะไม่คำนึงถึงความแตกต่างในเรื่องชาติพันธุ์ นอกจากนี้กลุ่มหนุ่มสาวจะมีส่วนในการช่วยเหลือผู้ใหญ่เรื่องการพัฒนาหมู่บ้านด้วย แต่การรวมกลุ่มกันระหว่างหนุ่มสาวในหมู่บ้านกับกลุ่มหนุ่มสาวที่ไปทำงานที่กรุงเทพฯ ที่กลับมาร่วมงานบุญที่หมู่บ้านนั้นได้ทำให้เกิดการปะทะกันทางวัฒนธรรมที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมดั้งเดิม จากที่มีแต่ความเรียบง่ายและรับใช้ชีวิตตามสภาพที่แท้จริงให้เปลี่ยนไปสู่วัฒนธรรมสมัยใหม่ ตัวอย่างเช่น หนุ่มสาวในหมู่บ้านได้เตรียมงานบุญผ้าป่าด้วยการจัดให้มีรำวงโดยให้ผู้หญิงสวมผ้าพื้นเมือง ผ้าถุงไหมคอยรำวงกับหนุ่มๆ และมีเครื่องดนตรีเพียงกลองยาวเท่านั้น ส่วนกลุ่มหนุ่มสาวที่เดินทางกลับมาจากกรุงเทพฯ ต้องการให้มีการแสดงดนตรีสมัยใหม่โดยนักดนตรีจากกรุงเทพฯ และต้องการให้ผู้หญิงจะสวมใส่ชุดที่ทันสมัยมารำวงกับหนุ่มๆ ด้วยท่าเต้นแปลกใหม่ เป็นต้น (หน้า 154-155) 4. กลุ่มสมาชิกธนาคารเพื่อการเกษตร สมาชิกส่วนมากจะกู้เงินธนาคารเพื่อการลงทุนในการเกษตร เช่น เลี้ยงหมูและปลูกข้าวโพด กล้วย (หน้า 156) 5. กลุ่มออมทรัพย์บ้านเกาะแก้ว แต่เดิมนั้นมีนายทุนจากนอกหมู่บ้านนำเงินมาให้ชาวบ้านกู้ในอัตราดอกเบี้ยที่สูง ชาวบ้านจึงได้จัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์ขึ้นเองภายในหมู่บ้านและประสบความสำเร็จอย่างดีเป็นที่เชื่อถือของชาวบ้าน (หน้า 156) 6. วัดและพระสงฆ์ วัดเป็นสถาบันทางศาสนาที่เป็นศูนย์รวมของชาวบ้านทุกกลุ่มชาติพันธุ์ เป็นที่หลอมรวมความเชื่อของกลุ่มต่างๆ ให้อยู่ร่วมกันอย่างสันติ เป็นที่พึ่งทางใจ เป็นที่อบรมขัดเกลาและเป็นที่อุปการะเด็กนักเรียนที่เรียนดี เรียบร้อยแต่ยากจน หลวงพ่อคง ภารโท เจ้าอาวาสวัดบ้านเกะแก้วเป็นผู้ที่มีบทบาททำให้ชาวบ้านอยู่ร่วมกันอย่างกลมเกลียว โดยพระสงฆ์ทั้ง ลาว กวย เขมร จะอยู่ร่วมกันโดยไม่แบ่งแยกชาติพันธุ์ (หน้า157-158) ด้านความสัมพันธ์ทางสังคมของบ้านเกาะแก้ว ชาวบ้านมีความเชื่อและยึดมั่นในระบบอาวุโส เมื่อผู้นำกลุ่มตัดสินใจอย่างไร สมาชิกทั่วไปก็จะเห็นชอบด้วย โดยเฉพาะกลุ่มกวยจะมีความเคร่งครัดในระบบอาวุโสมาก สมาชิกกลุ่มต่างๆ ของบ้านเกาะแก้วจะมีการพบปะกันอยู่เสมอจึงทำให้เกิดความเข้าใจกัน เกิดความรู้สึกของความเป็นคนบ้านเดียวกันและนำไปสู่การยอมรับซึ่งกันและกันและทำให้มีความรู้สึกที่ลดลงในเรื่องความแตกต่างทางชาติพันธุ์ (หน้า 160)

Political Organization

องค์กรหรือกลุ่มทางสังคมของ กวย ลาว เขมร ที่จัดตั้งขึ้นได้ทำหน้าที่ในการทำให้เกิดความร่วมมือในกิจกรรมต่างๆ ภายใต้ผลประโยชน์ร่วมกัน แบ่งเป็นกลุ่มต่างๆ ดังนี้ 1.กลุ่มผู้นำชุมชน ในการร่วมกันทำกิจกรรมทางสังคมนั้นจะมีทั้งการร่วมมือและการขัดแย้ง แต่การร่วมมือกันอยู่เสมอได้ทำให้ความขัดแย้งลดลง สำหรับกรณีของบ้านเกาะแก้ว จะมีทั้งความขัดแย้งและความร่วมมือของกลุ่มผู้นำที่เป็นทางการและผู้นำที่ไม่เป็นทางการที่มีบทบาทในการบริหารหมู่บ้าน โดยชาวบ้านมีความรู้สึกต่อพฤติกรรมของผู้นำในด้านความมั่นคง ความปลอดภัย การเคารพในอำนาจเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและการพัฒนาหมู่บ้าน พฤติกรรมความขัดแย้งของผู้นำหมู่บ้านที่เกิดขึ้นและมีผลกระทบมาถึงปัจจุบันคือความขัดแย้งของการสมัครเข้าชิงตำแหน่งกำนันตำบลเกาะแก้ว กล่าวคืออำนาจการปกครองแต่เดิมนั้นแยกออกเป็นสองกลุ่มตั้งแต่สมัยที่เขมรและลาวอพยพมาตั้งหมู่บ้านเริ่มแรก ผู้นำกลุ่มเขมรและผู้นำกลุ่มลาวต่างคานอำนาจระหว่างกันจากกรณีที่มีขโมยเป็นจำนวนมากในหมู่บ้าน สาเหตุมาจากการที่ผู้นำกลุ่มเขมรรู้จักและคุ้นเคยกับขโมยมากที่สุดโดยมีเหตุผลว่า "ถ้าอยากรู้จักขโมยต้องคบกับขโมย" เป็นวิธีการปกครองรูปแบบหนึ่งด้วยการอาศัยบารมีและการรู้จักกันส่วนตัว แต่เป็นวิธีการปกครองที่แตกต่างไปจากวิธีของผู้นำกลุ่มลาวซึ่งเป็นบุคคลที่เป็นที่เชื่อใจของเจ้าหน้าที่บ้านเมือง เมื่อมีเหตุการณ์ลักขโมย เจ้าหน้าที่บ้านเมืองจะไปพบผู้นำกลุ่มลาวเพื่อวางแผนจับขโมย จึงสร้างความไม่พอใจให้กับผู้นำกลุ่มเขมร ทว่าในการจัดงานของหมู่บ้านผู้นำทั้งสองคนจะร่วมมือกันทำงานภายใต้การประสานของเจ้าอาวาสวัดบ้านเกาะแก้ว ปัจจุบันเครือญาติของทั้งสองฝ่ายเป็นผู้ที่ทำหน้าที่สืบต่อตำแหน่งผู้นำของกลุ่มตน แต่ก็ยังคงมีความขัดแย้งในเรื่องเดิมๆ คือการต้องการมีอำนาจในหมู่บ้านและตำบลด้วยการสมัครรับเลือกเป็นกำนันตำบลเกาะแก้ว แต่ความขัดแย้งดังกล่าวได้ลดลงจากการมีความสัมพันธ์ทางเครือญาติและความผูกพันในการอาศัยอยู่ใกล้เคียงกันเพิ่มมากขึ้น จึงส่งผลต่อลูกบ้านในการทำกิจกรรมร่วมกันเพื่อผลประโยชน์ส่วนรวมของหมู่บ้านซึ่งมีองค์กรทางศาสนา (เจ้าอาวาส) เป็นตัวกลางเชื่อมความคิดของทั้งสองฝ่ายเข้าหากัน (หน้า 149-152)

Belief System

กวย เขมร กวย เขมรที่บ้านเกาะแก้ว อำเภอสำโรงทาบ จังหวัดสุรินทร์ มีขนบธรรมเนียม ประเพณีส่วนใหญ่ เหมือนกับประเพณีของชาวอีสานทั่วๆ ไป แต่มีความแตกต่างกันในเรื่องของภาษาพูด และความเชื่อบางอย่าง ซึ่งมีการผสมกลมกลืนทางวัฒนธรรม 2 แบบ - แบบที่หนึ่ง ได้แก่ การคงขนบธรรมเนียมประเพณีและความเชื่อที่มีมาแต่เดิมไว้ มักจะเป็นความเชื่อเกี่ยวกับการนับถือผี เช่น บรรพบุรุษ ผีมด ผีฟ้า ผีแถน เพราะความเชื่อต่างๆ เหล่านี้เป็นความเชื่อที่ทุกกลุ่มไม่สามารถปรับเข้าหากันได้ จึงต้องมีการแยกกันประกอบพิธีตามความเชื่อของกลุ่มตน และมีประเพณีและความเชื่อบางอย่างที่สามารถยอมรับหรือไม่ขัดแย้งกับชนกลุ่มอื่น - แบบที่สอง คือการปรับขนบธรรมเนียมประเพณี และความเชื่อเข้าหากันโดยมีวัฒนธรรมทางศาสนาพุทธเป็นวัฒนธรรมหลักที่ทุกกลุ่มต่างยึดถือปฏิบัติเหมือนกัน การอยู่รวมกันของกลุ่มคนที่มีความต่างทางวัฒนธรรมและมีความยึดมั่นในวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ของตนเองนั้นได้ทำให้เกิดการผสมกลมกลืนทางวัฒนธรรมในที่สุด การประกอบพิธีประเพณีบุญวันสารท มีการจัดพิธี 2 ครั้ง - ครั้งแรกเป็นการทำบุญตามประเพณีของกลุ่มลาว เรียกว่า บุญข้าวสาก จัดในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 10 โดยมีกลุ่มกวยและเขมรเข้าร่วมพิธีด้วย - ครั้งที่สองเป็นการทำบุญวันสารทของกวย ที่เรียกว่า "ไงซ้าก" จัดขึ้นเพื่อเซ่นดวงวิญญาณของผีบรรพบุรุษ และการทำบุญวันสารทของเขมร ที่เรียกว่า โดนตา จัดขึ้นเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่บรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว เรียกว่า พิธี "แซนโดนตา" จัดขึ้นเพื่อเลี้ยงผีบรรพบุรุษของตระกูลตนเอง ในพิธีจะมีการทำก้อนข้าวปั้นรวมกับงาขนาดเท่าลูกมะนาวและฝังเหรียญ 50 สตางค์หรือเหรียญสลึง เรียกว่า "บายเบ็ณฑ์" หรือ "บายบัตรโบร" สำหรับเป็นเครื่องเซ่นบรรพบุรุษ เพื่อนำไปถวายพระในการประกอบพิธีจะเชิญผู้เฒ่าของบ้านมาทำพิธีร้องเชิญวิญญาณผีพ่อแม่ให้มากินเครื่องเซ่น ขณะเดียวกันญาติๆ ก็จะกรวดน้ำแผ่ส่วนกุศล บางคนจะรินสุรา การเรียกวิญญาณจะเรียกประมาณ 1-2 นาที เว้นระยะ 3-4 นาที โดยทำซ้ำ 3 ครั้งเป็นอันเสร็จพิธี จากนั้นเจ้าของบ้านจึงแบ่งเครื่องเซ่นให้ลูกหลานรับประทาน อีกส่วนจะจุดธูปให้ผีพ่อแม่ได้กินตลอดคืน จากนั้นในเวลา 04.30 น.ของวันรุ่งขึ้นจะเป็นการประกอบพิธีที่วัดเพื่อให้พระสงฆ์สวดรัตนสูตร บายเบ็ณฑ์เพื่อระงับโรคภัย ชาวบ้านจะนำก้อนข้าวนี้ไปทิ้งตามท้องนาเพื่อให้ข้าวในนางอกงามสมบูรณ์ การทำบุญทั้งของกลุ่มกวยและเขมรที่จัดขึ้นในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน10 เรียกว่าวันสารทน้อย และการทำบุญที่จัดในวันแรม 14 ค่ำ เดือน 10 เรียกว่า วันสารทใหญ่ กลุ่มไทยลาวจะไม่เข้าร่วมในประเพณีด้วยเพราะมีความเชื่อในเรื่องการนับถือบรรพบุรุษที่ต่างกัน เนื่องจากกวยและเขมรจะประกอบพิธีเซ่นวิญญาณผีบรรพบุรุษในวันสารท และในวันนี้ญาติๆ จะเดินทางมาพบปะกันโดยมีสิ่งของมาฝากกันและกัน เช่น ข้าวสาร กล้วย ไข่ มะพร้าว หมากพลู เป็นต้น สิ่งของดังกล่าวล้วนเป็นสิ่งที่ใช้ในงานบุญข้าวสารททั้งสิ้น เป็นการแสดงน้ำใจเอื้อเฟื้อ เผื่อแผ่ และให้ลูกหลานได้มีโอกาสทำความรู้จักญาติผู้ใหญ่ นอกจากนี้ ยังมีการจัดเตรียมห่อข้าวปลา อาหารและหมากพลูอีก 1 ชุดที่เรียกว่า ห่อข้าวสารทเพื่ออุทิศส่วนกุศลแก่ผู้ล่วงลับ แต่ทางกลุ่มกวยและเขมรจะไม่มีการเตรียมข้าวสารทนี้ (หน้า125-136) ศาสนา : แต่เดิมผู้คนดินแดนภาคอีสานมีความเชื่อในลัทธิแบบไสยศาสตร์ ด้วยการนับถือสิ่งศักดิ์สิทธิ์เหนือธรรมชาติที่สามารถบันดาลทั้งเรื่องดีและร้ายแก่มนุษย์ จนกระทั่งช่วงพุทธศตวรรษที่12-16 มีการแพร่เข้ามาของศาสนาพุทธ จึงเกิดการผสมผสานระหว่างความเชื่อดั้งเดิมและความเชื่อตามหลักศาสนาพุทธ การประกอบพิธีกรรมจะกระทำที่วัด โดยกลุ่มผู้นำที่เป็นแกนของบ้านจะไปหารือกับพระสงฆ์เพื่อขอความเห็นก่อนจัดงานทุกครั้ง โดยชาวบ้านจะพร้อมใจกันเข้าร่วมในงานประเพณี การเสียสละทรัพย์และอุทิศเวลาของชาวบ้านเป็นไปด้วยศรัทธาและมีความสนุกสนานโดยเฉพาะการทำบุญกับวัด การทำบุญนั้นเป็นการทำเพื่อหวังผลบุญต่อตนเองและญาติมิตรผู้ล่วงลับในชาติหน้าเพื่อความพร้อมในรูปสมบัติและนามสมบัติมีชาวบ้านส่วนน้อยมากที่ทำบุญโดยไม่หวังผลเลย ส่วนพิธีกรรมความเชื่อในพุทธศาสนานั้นทั้งกลุ่ม ลาว กวย เขมรมีความเชื่อไม่แตกต่างกัน เช่นพิธีเซ่นผีประจำหมู่บ้าน (ผีตาจะสร๊อ) (หน้า 110-118) สำหรับการประกอบพิธีกรรมหรือความเชื่อมีส่วนทำให้เกิดความสัมพันธ์ทางสังคมซึ่งมนุษย์ได้ใช้เป็นกรอบในการดำเนินชีวิต ที่มีผลชาวบ้านเกาะแก้วในเรื่อง 1. ความเชื่อต่อวิธีการดำเนินชีวิต กล่าวคือพิธีกรรมต่างๆ ที่แสดงออกมาล้วนตอบสนองต่อการอยู่รอดของชีวิต เนื่องจากชาวบ้านมีอาชีพทำนาจึงให้คุณค่าต่อระบบนิเวศน์วิทยาในรูปของความเชื่อ เช่น พิธีสู่ขวัญข้าว พิธีเซ่นแม่โพสพ ในการทำพิธีกรรมนั้น ศาสนาจะเป็นตัวเชื่อมโยงความเชื่อถือดั้งเดิมของชาวนาที่มีต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้เข้ากับระบบความเชื่อแบบพุทธศาสนาจนกลายเป็นการปฏิบัติและความเชื่อของคนส่วนรวม เช่น การทำบุญสู่ขวัญข้าว บุญก่อพระทรายข้าวเปลือก 2. ความสัมพันธ์ทางความเชื่อต่อสิ่งที่มีอำนาจเหนือมนุษย์ ความเชื่อเหล่านี้เกิดขึ้นมาจากปัญหาในการดำรงชีวิตประจำวัน เช่น เกิดโรคภัยไข้เจ็บ เกิดภัยธรรมชาติ ที่เกินความสามารถที่มนุษย์จะแก้ไขได้ ชาวบ้านจึงมีความเชื่อว่าอำนาจเหนือธรรมชาติทำให้เป็นไปเช่นนั้น ดังนั้นเมื่อชาวบ้านไม่ต้องการให้เกิดเหตุร้ายต่างๆ จึงต้องประกอบพิธีกรรมด้วยการเซ่นสรวง บูชาเพื่อให้อำนาจเหล่านั้นช่วยให้เกิดความปลอดภัย (หน้า 115-117) โดยสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวบ้านเกาะแก้วนับถือทั้งส่วนรวม ส่วนตัวและเฉพาะกลุ่ม ได้แก่ ผีปู่ตา ผีฟ้า ผีแถน ผีมด ผีพ่อแม่ ผีนา การเซ่นผีปู่ตาของชาวบ้านเกาะแก้วจะกระทำ 2 ครั้ง คือ เดือน 3 เป็นการเซ่นเพื่อขอบคุณที่ทำให้การทำนาได้ผลผลิตสมบูรณ์ และ เดือน 6 เป็นการเซ่นเพื่อขอให้ฝนอุดมสมบูรณ์ก่อนมีการทำนา ตามประเพณีของกลุ่มลาวจะประกอบพิธีเฉพาะเดือน 6 แต่เป็นเพราะหมู่บ้านเกาะแก้วประกอบด้วย ลาว กวย เขมร ดังนั้นกลุ่มลาวจึงปรับตัวเข้าหาความเชื่อของคนส่วนใหญ่จึงมีการทำพิธี 2 ครั้งเช่นกัน และมีวัฒนธรรมเหมือนกับคนลาวทั่วไปที่ภาคอีสาน (หน้า128-129) ส่วนประเพณีความเชื่อของลาว กวย เขมรที่แตกต่างกันที่ยังคงมีอยู่ คือ พิธีแต่งงานของเขมร พิธีแต่งงานของกวย ความเชื่อเรื่องผีฟ้า ผีแถนของลาวและกวย ความเชื่อเรื่องผีมดของเขมร ประเพณีบุญข้าวกระยาสารทที่เขมรและกวยมีพิธีเซ่นไหว้ผีบรรพบุรุษแต่ของลาวไม่มี เป็นต้น (หน้า 178) การปฏิบัติตามประเพณีของทั้งลาว กวยและเขมรนั้นเป็นการผสมกลมกลืนความเชื่อต่างๆ ที่ได้รับอิทธิพลทางศาสนา แต่ยังคงมีความเชื่อของบุคคลหรือของกลุ่มที่ปฏิบัติแตกต่างออกไป โดยความเชื่อทางศาสนาพุทธ และสภาพสังคมชาวนาเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดการผสมกลมกลืนทางวัฒนธรรมระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์

Education and Socialization

แหล่งการเรียนรู้ของบ้านเกาะแก้ว คือโรงเรียนบ้านเกาะแก้ว ซึ่งเป็นที่รวมเด็กนักเรียนที่พูดภาษาลาว กวย เขมร ไม่ได้มีการจัดแบ่งตามกลุ่มชาติพันธุ์เพื่อไม่ให้มีอคติเรื่องความแตกต่างทางชาติพันธุ์ โดยเด็กนักเรียนกลุ่มกวยส่วนใหญ่จะเรียนถึงภาคบังคับเนื่องจากพ่อแม่มองไม่เห็นถึงโอกาสที่ลูกจะได้รับราชการจึงไม่ให้เรียนต่อระดับระดับมัธยมและอุดมศึกษา จึงให้ทำงานหารายได้แทน ส่วนนักเรียนกลุ่มลาวและเขมรให้ความสำคัญต่อการศึกษาระดับมัธยมและอุดมศึกษาในจำนวนที่เท่าๆ กัน (หน้า 106-109)

Health and Medicine

ชาวบ้านเกาะแก้วยังคงใช้วิธีการรักษาแบบพื้นบ้านผสมกับการแพทย์แผนใหม่ เช่นเมื่อมีการตั้งครรภ์โดยเฉพาะคู่สมรสที่แต่งงานข้ามกลุ่มชาติพันธุ์จะมีการปรึกษากับอนามัยประจำตำบล แต่เมื่อถึงเวลาคลอดจะให้หมอตำแยช่วย สำหรับกลุ่มเขมรและกลุ่มกวยจะใช้บริการทางการแพทย์น้อยกว่า เพราะนิยมคลอดลูกที่บ้านโดยหมอตำแยและมีการอยู่ไฟ แต่กลุ่มแม่ที่แต่งงานข้ามกลุ่มชาติพันธุ์จะปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ เช่น การทานยา การตรวจร่างกาย มากกว่าการอยู่ไฟ (หน้า 120-121)

Art and Crafts (including Clothing Costume)

เครื่องแต่งกาย หญิงกวยที่อายุมากจะใส่เสื้อผ้าที่ทอเองเป็นผ้าสีดำแขนยาว นุ่งผ้าถุงและผ้าสไบสีดำ ส่วนผู้ชายจะแต่งตัวทั่วไปและถือผ้าขาวม้าหรือคาดเอวเป็นประจำ ผ้าขาวม้าของกวยจะมีสีสูดฉาดคือสีบานเย็นที่ค่อนไปทางสีชมพูและสีส้มเป็นส่วนมาก ลักษณะลวดลายผ้าขาวม้าของกวยและเขมรจะคล้ายกัน คือ เป็นผ้าที่ทอด้วยผ้าไหมสลับสีเป็นลูกฟูกยาว ส่วนผ้าขาวม้าของกลุ่มลาวจะทอด้วยผ้าฝ้ายตัดกันเป็นตารางสี่เหลี่ยมเหมือนกับผ้าขาวม้าของชาวอีสานทั่วไป (หน้า 148-149)

Folklore

ไม่มีข้อมูล

Ethnicity (Ethnic Identity, Boundaries and Ethnic Relation)

การดำรงชีวิตและความเป็นอยู่ของลาว กวย เขมร ไม่มีความแตกต่างกันในด้านการประกอบอาชีพและวิถีการดำเนินชีวิต เป็นสังคมชาวนา จะมีเพียงกลุ่มกวยที่มีความแตกต่างในเรื่องการมีความเป็นอยู่แบบง่ายๆ ไม่สนใจความเป็นระเบียบ (หน้า 148) ส่วนกระบวนการผสมกลมกลืนทางวัฒนธรรมเกี่ยวกับการดำเนินชีวิตตามแบบสังคมชาวนานั้นมีความเด่นชัดที่สุด ตามมาด้วย การใช้ภาษาพูด ความเชื่อ และการแต่งงานระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ ทั้งนี้ ปัจจัยที่ก่อให้เกิดการผสมกลมกลืนทางวัฒนธรรม ก็คือการที่ลาว กวย และเขมร ต่างก็อยู่ในสภาพสังคมชาวนาเหมือนกัน และศาสนาพุทธได้มีอิทธิพลต่อการปฏิบัติตามประเพณี ทั้งนี้การปะทะสังสรรค์กับสังคมภายนอก การเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยได้ส่งผลให้สังคมระดับหมู่บ้านของบ้านเกาะแก้ว และสมาชิกภายในชุมชนมีทัศนคติ ค่านิยมเปลี่ยนแปลงไปด้วย (หน้า 176 )

Social Cultural and Identity Change

การผสมกลมกลืนด้านภาษาพูดของกลุ่มชนสามชาติพันธุ์ คือ ลาว กวย เขมร ที่บ้านเกาะแก้วนั้นเป็นกระบวนการต่อเนื่องและใช้ระยะเวลายาวนาน ซึ่งลักษณะการผสมกลมกลืนมี 2 แบบ ได้แก่ 1. การคงไว้ซึ่งขนบธรรมเนียมประเพณีและความเชื่ออย่างเดิมขณะเดียวกันก็ยอมรับหรือไม่ขัดแย้งกับขนบธรรมเนียมประเพณีและความเชื่อของกลุ่มอื่น 2. การปรับขนบธรรมเนียมประเพณีและความเชื่อบางส่วนเข้าหากันโดยการผสมกลมกลืนทั้ง 2 รูปแบบปรากฏออกมาในเรื่องต่างๆ ดังนี้ - การผสมกลมกลืนทางภาษา จากเดิมที่แต่ละกลุ่มมีภาษาใช้เป็นของตนเองแต่เมื่อเข้ารวมกลุ่มในสังคม ทุกกลุ่มจะใช้ภาษาลาวในการสื่อความหมายเป็นหลัก (หน้า 179-182) ทั้งนี้กวยเป็นกลุ่มที่มีการปรับวัฒนธรรมทางภาษาให้เข้ากับกลุ่มอื่นมากที่สุด คือ เมื่อกลุ่มกวยไปรวมกับกลุ่มลาวก็จะถูกวัฒนธรรมลาวดูดกลืน และเมื่อกลุ่มกวยไปรวมกับกลุ่มเขมรก็จะถูกวัฒนธรรมของเขมรดูดกลืน แต่เมื่อทั้งกลุ่มกวยและเขมรมารวมเข้ากับกลุ่มลาว ก็จะถูกดูดกลืนเข้าสู่วัฒนธรรมของกลุ่มลาวทั้งหมด คนไทยที่พูดภาษาลาวจะได้รับการยอมรับในกลุ่มของคนไทยที่พูดภาษากวยและเขมร และเนื่องจากไม่ได้มีการเคลื่อนย้ายชุมชนบ่อยครั้งเหมือนในอดีต - ปัจจุบันจึงมีการยอมรับวัฒนธรรมต่างกลุ่มด้วยการปรับตัวที่จะอยู่กับผู้อื่น และมีการผสมกลมกลืนของกลุ่มชาติพันธุ์ทั้ง ลาว กวย และเขมร หลายด้านเกิดขึ้น เช่น การแต่งงานข้ามกลุ่มชาติพันธุ์ การเรียนรู้ภาษากลุ่มอื่น (หน้า 105) รวมทั้งการเดินทางไปรับจ้างทำงานตัดอ้อยทางภาคตะวันออกและการไปรับจ้างทำงานที่กรุงเทพฯ ของชาวบ้านเกาะแก้ว ได้ทำให้เกิดการรวมกลุ่มกันอย่างเหนียวแน่น ภายใต้สำนึกของความเป็น "คนบ้านเดียวกัน" ที่ทำให้ลืมความแตกต่างทางด้านชาติพันธุ์ซึ่งสร้างความรู้สึกกลมเกลียว และการช่วยเหลือกันมาทดแทน รวมไปถึงหนุ่มสาวต่างชาติพันธุ์หลายคนที่ได้พบปะกันจนได้แต่งงานกัน (หน้า 149) - การเข้ามีส่วนร่วมและทัศนคติต่อระบบการศึกษา ทั้งลาว กวย เขมร ต่างเห็นว่าการศึกษามีความสำคัญต่อการดำเนินชีวิตในปัจจุบัน และคนที่ได้รับการศึกษาสูงย่อมได้เปรียบ - การปฏิบัติตามพิธีกรรมทางพุทธศาสนาและความเชื่อของกลุ่ม ทั้งลาว กวย เขมรสามารถร่วมพิธีกรรมทางพุทธศาสนาได้ โดยมีวัดประจำหมู่บ้าน ส่วนประเพณีบางอย่างที่มีความเชื่อแตกต่างกันมากซึ่งไม่สามารถปรับความเชื่อเข้าหากันได้ก็จะไม่มีการจัดประเพณีนั้นๆ ในหมู่บ้าน หรือพิธีกรรมที่มีจุดประสงค์เดียวกันแต่มีขั้นตอนการประกอบพิธีต่างกันก็จะไม่ประกอบพิธีร่วมกัน เช่น ลาวและกวยประกอบพิธีในเรื่องความเชื่อเรื่องผีฟ้า ผีแถน ร่วมกัน แต่เขมรมีความเชื่อเรื่องผีมดต่างไปจึงประกอบพิธีในวัน เวลาที่ต่างกัน ส่วนความเชื่อเรื่องอื่นๆ ที่คล้ายกันสามารถประกอบพิธีร่วมกันได้ การดำรงชีวิต ลาว กวย เขมร ต่างดำรงชีวิตอยูในสังคมชาวนาเหมือนกัน จึงทำให้วิถีการดำรงชีวิตของทุกกลุ่มไม่แตกต่างกัน พฤติกรรม ทัศนคติ กลุ่มที่พูดภาษาเดียวกันจะมีความสนิทสนมกันมากกว่ากลุ่มอื่น ประกอบกับการตั้งบ้านเรือนจะแยกตามกลุ่มชาติพันธุ์จึงทำให้สนิทสนมกันในกลุ่มตนเองและเพื่อนบ้านมากว่ากลุ่มที่อยู่ห่างออกไป อย่างไรก็ตามทั้งลาว กวย เขมร มีความรู้สึกของความเป็นคนบ้านเดียวกัน โดยเฉพาะผู้ที่ไปทำงานต่างถิ่นนั้นมีความรู้สึกท้องถิ่นนิยมมาก ความสนิทสนมกันนี้นำไปสู่โอกาสในการแต่งงานระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ด้วยการแต่งงานระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ ช่วงเริ่มแรกที่ลาว กวย เขมรอพยพมาที่บ้านเกาะแก้วนั้น ยังไม่มีการแต่งงานระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์มากนัก ด้วยความเชื่อตามประเพณีที่แตกต่างกัน แต่ปัจจุบันเมื่อมีการปรับตัวเข้าหากันทั้งความเชื่อและทัศนคติ ส่งผลให้มีการแต่งงานระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์มากขึ้น โดยครอบครัวจากการแต่งงานข้ามกลุ่มนี้มีการใช้ภาษาลาวในชีวิตประจำวันมากที่สุด (หน้า 180-182) - สำหรับความสัมพันธ์ระหว่างลาว กวย เขมร ที่บ้านเกาะแก้วนั้น แต่ละกลุ่มมีความสัมพันธ์ที่ดีกว่าในอดีต จากเมื่อครั้งที่อพยพที่ยังคงมีความรู้สึกผูกพันธ์กันตามกลุ่มชาติพันธุ์ของตนและมีการไปมาหาสู่กันน้อย การทำงานส่วนรวมก็ยังแยกกลุ่มกันทำงานโดยมีผู้นำของแต่ละกลุ่มเป็นผู้ควบคุม การอยู่อาศัยก็อยู่รวมเฉพาะกลุ่มตนเอง เพราะต่างรู้สึกว่ากลุ่มชาติพันธุ์ของตนเองดีกว่ากลุ่มอื่นๆ โดยเฉพาะลาวและเขมรที่แข่งขันกันทำงานส่วนรวม เช่นการบริจาคและงานพัฒนาหมู่บ้าน ในขณะเดียวกันลาวและเขมรมีความรู้สึกไม่ยอมรับกลุ่มกวยเพราะมองว่ากวยมีวัฒนธรรมด้อยกว่า ซึ่งความรู้สึกดังกล่าวในปัจจุบันยังมีอยู่บ้างในกลุ่มเด็กวัยเรียน คือเด็กกลุ่มกวยจะเล่นกันอยู่ในกลุ่มเดียวกัน ส่วนลาวกับเขมรต่างฝ่ายต่างก็แยกกลุ่มกันเล่นและแต่ละกลุ่มก็ใช้ภาษาของตนเป็นหลัก แต่เมื่อโตขึ้นพฤติกรรมนี้จะหายไป ปัจจุบันคนรุ่นใหม่อายุต่ำกว่า 20 ปี จะคุ้นเคยสนิทสนมกันมากขึ้นมีการแยกกลุ่มกันน้อยลง แม้จะใช้ภาษาพูดต่างกันแต่ความรู้สึกส่วนรวมไม่แตกต่างกัน มีการยอมรับกันมากขึ้น เมื่อลาว กวย เขมรรวมกลุ่มกันจะใช้ภาษาลาวสนทนากัน โดยเฉพาะกลุ่มที่ไปทำงานต่างถิ่นจะมีความรู้สึกว่าเป็น "คนบ้านเดียวกัน" และมีแนวโน้มว่าในอนาคต กวยจะมีสำนึกว่าตนเองเป็นลาวเพราะได้รับการยอมรับจากลาวมากขึ้น แต่กลุ่มคนชราที่ยังเคร่งครัดประเพณีและไม่ค่อยได้เข้าสังคมจะยังคงมีความรู้สึกอคติต่อกลุ่มชาติพันธุ์อยู่ (หน้า 160-162) ในปัจจุบันทั้งลาว กวย เขมรต่างมีความรู้สึกว่าตนเป็นคนไทยด้วยกัน จะมีที่แตกต่างกันเพียงประเพณีบางอย่างและภาษาพูดเท่านั้น (หน้า 183) ด้านปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดการผสมกลมกลืนทางวัฒนธรรมของ ลาว กวย เขมร มีดังนี้ 1. ปัจจัยด้านนิเวศวิทยา บ้านเกาะแก้วแวดล้อมด้วยบ้านตะเคียนทางทิศเหนือและบ้านกระเต็ลทางทิศตะวันออกชาวบ้านพูดภาษากวย ส่วนทางทิศใต้มีบ้านสองหนองและทางทิศตะวันตกติดกับบ้านตะบะชาวบ้านพูดภาษาลาว ชาวบ้านมีการไปมาหาสู่กันเสมอ ดังนั้นภาษาที่ชาวบ้านเกาะแก้วใช้มากที่สุดเมื่อออกจากบ้านคือภาษาลาว นอกจากนี้สภาพทางระบบนิเวศที่มักจะมีน้ำท่วมเมื่อฝนตกชุก ได้ทำให้ชาวบ้านช่วยเหลือกันจึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ชาวบ้านมีความผูกพันกันเมื่อมีความขัดแย้งก็สามารถตกลงกันได้ง่าย ก่อให้เกิดสำนึกใหม่เรื่องการผสานผลประโยชน์ในการอยู่ร่วมกัน (หน้า 163-164) 2. ความคล้ายคลึงกันในด้านชาติพันธุ์ ด้วยลักษณะทางรูปร่าง หน้าตา ผิวพรรณของลาว กวย เขมร ไม่แตกต่างกันชัดเจน แม้ว่า เขมรจะมีผิวคล้ำกว่ากวยและลาวบ้าง ซึ่งสิ่งที่ต่างกันชัดเจนคือภาษาพูดเท่านั้น ดังนั้นสาเหตุนี้จึงไม่นำไปสู่การเดียดฉันเรื่องสีผิว (หน้า 164) 3. ความคล้ายคลึงกันในเรื่องขนบธรรมเนียมประเพณีความเชื่อ โครงสร้างทางสังคมของ ลาว กวย เขมร ต่างก็อยู่ในสังคมชาวพุทธเช่นเดียวกันจึงทำให้ต่างเข้าร่วมกิจกรรมทางศาสนาอย่างเดียวกันได้ ดังนั้นการปฏิบัติตามประเพณีฮีต 12 จึงเป็นสิ่งที่ทุกกลุ่มปฏิบัติเหมือนกัน โดยมีประเพณีที่ต่างกันชัดเจนในเรื่องพิธีการเซ่นไหว้ผีบรรพบุรุษ ดังจะเห็นได้จากประเพณีวัน "แซนโดนตา" ของเขมร และประเพณี "ไง้สารท" ของกวย นอกจากนี้ ความเชื่อในเรื่องภูตผีที่เชื่อกันว่าสามารถให้คุณให้โทษได้ เช่นเมื่อมีชาวบ้านเจ็บป่วยเรื้อรัง กลุ่มกวยและลาวเชื่อว่าผีฟ้า ผีแถน ต้องการมาอยู่ด้วยและกลุ่มเขมรจะเชื่อเรื่องผีมด จึงมีพิธีกรรมเพื่อรักษาการเจ็บป่วย และความเชื่อเรื่องผีปู่ตาบ้าน ที่คุ้มครองให้คนและสัตว์ในบ้านอยู่อย่างปลอดภัยมีความสุข และหากชาวบ้านแตกแยกกันก็จะทำให้ผีปู่ตาโกรธ ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ก่อให้เกิดการผสานทางวัฒนธรรมของลาว กวย เขมร (หน้า 165-166) 4. การอยู่ในสังคมชาวนาอย่างเดียวกัน ลักษณะสังคมชาวนาจะไม่มีความแตกต่างทางชนชั้นเหมือนสังคมเมือง สมาชิกต่างอยู่ในสภาพแวดล้อมที่คล้ายกัน และการดำเนินชีวิตจะมีการช่วยเหลือกัน ซึ่งสมาชิกต่างมีความผูกพันกันในตระกูลและมีความสนิทสนมกับเพื่อนบ้าน โดยมีการทำนาร่วมกับพ่อแม่ในลักษณะทำด้วยกัน กินด้วยกัน หรือ ทำด้วยกันแบ่งกันกิน รวมทั้งการช่วยแรงงานงานกันลงแขกเกี่ยวข้าวและนวดข้าวที่ทำให้เกิดความสนิทสนมกัน รวมถึงการที่พ่อแม่ส่งลูกชายหรือลูกสาวอายุ 15-16 ปีไปช่วยเพื่อนบ้านลงแขก จึงเป็นการปะทะสังสรรค์กันที่ช่วยสร้างความสัมพันธ์ทางสังคมให้เหนียวแน่นขึ้น (หน้า 167-168) 5. การติดต่อกับสังคมภายนอก ชาวบ้านเกาะแก้วมีโอกาสติดต่อสังคมภายนอกจากงานบุญประเพณี หรือการเที่ยวงานในตัวอำเภอ และการไปจับจ่ายซื้อของซึ่งชาวบ้านจะใช้ภาษาลาวสื่อสารกัน ทำให้กวยและเขมรใช้ภาษาลาวอยู่บ่อยๆ จึงเกิดความคุ้นเคยพร้อมไปกับการใช้ภาษาของตนจึงไม่ได้รู้สึกว่าภาษาใดเด่นหรือด้อยกว่า ส่วนชาวบ้านที่เดินทางไปทำงานที่กรุงเทพฯ ได้เรียนรู้ในสิ่งใหม่ ๆ เช่น ดูภาพยนตร์ โทรทัศน์และอ่านหนังสือพิมพ์มากขึ้นได้มีการเปลี่ยนโลกทัศน์ไป เช่น เรื่องการแต่งตัว การใช้สำเนียงและภาษาพูดที่เรียกว่า "ภาษาลาวสำเนียงกรุงเทพฯ" ที่มีสำเนียงใหม่มาผสมกลายเป็นสำเนียงแบบนุ่มนวลแปลกไปจากสำเนียงลาวแบบชาวบ้านอย่างชัดเจนรวมทั้งมีคำใหม่ๆ มาปะปน กลายเป็นสิ่งที่คนเขมรหรือกวยใช้แสดงตนว่าเคยไปทำงานที่กรุงเทพฯมา จึงใช้ภาษาลาวในการพูดคุยเพราะสามารถพูดสำเนียงแบบกรุงเทพฯได้ (หน้า 168-169) 6. การแต่งงานระหว่างชาติพันธุ์ การแต่งงานข้ามกลุ่มชาติพันธุ์เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดการผสมกลมกลืนทางวัฒนธรรมระหว่าง ลาว กวยและเขมร เพราะการที่ทั้งสองฝ่ายจะตกลงแต่งงานกันได้ จะต้องมีความเข้าใจในเรื่องความต่างทางความเชื่อและประเพณี จึงมีการปรับความคิดเข้าหากัน การแต่งงานข้ามกลุ่มชาติพันธุ์ที่บ้านเกาะแก้วมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น กรณีที่กวยแต่งงานกับเขมร ลูกที่เกิดมาจะลำบากใจว่าตนเป็นคนกลุ่มชาติพันธุ์ใด แต่ถ้าเป็นการแต่งงานระหว่างลาวกับกลุ่มอื่น ลูกที่เกิดมาจะมองตนเองว่าคือลาว ส่วนใหญ่ลูกที่เกิดจากการแต่งงานข้ามกลุ่มชาติพันธุ์จะสามารถฟังภาษาเดิมของพ่อแม่ได้ แม้ว่าจะพูดไม่ได้ และจะใช้ภาษาลาวสนทนากัน ดังนั้น การแต่งงานระหว่างชาติพันธุ์จึงเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ภาษามีความกลมกลืนกัน จากการผสมสองภาษาเข้าด้วยกัน ภาษาลาวมีอิทธิพลต่อทุกกลุ่มมากกว่าภาษาอื่น ชาวบ้านมีค่านิยมพูดภาษาลาวมากขึ้น ปัจจุบันหนุ่มสาวกวยได้เปลี่ยนมาพูดภาษาลาวระหว่างกวยด้วยกัน (หน้า 169-170) 7. การได้รับการศึกษาที่สูงขึ้น ผู้ที่มีอายุ 30 ปีลงมาที่บ้านเกาะแก้วจะต้องได้รับการศึกษาจากโรงเรียนบ้านเกาะแก้วในระดับประถมศึกษาระยะหนึ่งและการที่ทุกกลุ่มชาติพันธุ์ได้เรียนร่วมกันในโรงเรียนจึงทำให้เกิดความสนิทสนมกันได้รับการอบรมสั่งสอนแบบเดียวกันและเกิดความเข้าใจประเพณีทั้งของส่วนรวมและเฉพาะกลุ่มจึงเป็นพื้นฐานในการยอมรับความแตกต่างทางวัฒนธรรมของแต่ละกลุ่ม และผู้ปกครองที่มีฐานะปานกลางก็เห็นความสำคัญในการส่งลูกเรียนในระดับสูงทั้งระดับมัธยมและอุดมศึกษา นักเรียนที่มีโอกาสเรียนต่อเป็นกลุ่มที่มีบทบาทในการนำความคิดทางวิชาการมาสู่หมู่บ้านและเกิดการเปลี่ยนแปลงแบบค่อยเป็นค่อยไป เช่น กลุ่มเขมรจะคิดว่าตนไม่ได้แตกต่างจากไทยจะต่างกันก็เพียงเรื่องประเพณีและภาษาเท่านั้น และมีความคิดต่อความเชื่อบางอย่างที่เปลี่ยนไป เช่น การเจ็บป่วยมีสาเหตุมาจากเชื้อโรค ควรปรึกษาแพทย์ จะไม่ทำพิธีรำผีฟ้า ผีแถนหรือผีมดเพื่อรักษาการเจ็บป่วย แต่ยังคงความเชื่อบางอย่างไว้ตามเดิม เช่น การเซ่นไหว้บรรพบุรุษ รวมทั้งชาวบ้านบางส่วนที่ เดินทางไปทำงานที่กรุงเทพฯ ได้พบเห็นประสบการณ์ใหม่ ก็มีส่วนทำให้ความเชื่อเดิมๆ เปลี่ยนไป (หน้า 171-172) 8. การใช้สาธารณประโยชน์ร่วมกัน ทั้งลาว กวย และเขมรต่างก็ใช้ประโยชน์จากสถานที่ต่างๆ ในหมู่บ้านร่วมกัน เช่น สถานีอนามัย อ่างเก็บน้ำ ที่อ่านหนังสือพิมพ์ประจำหมู่บ้าน และโรงเรียน จึงทำให้เกิดการพบปะกันนำไปสู่การสร้างความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลและกลุ่ม รวมทั้งการเล่นกีฬาร่วมกันของกลุ่มหนุ่มสาวได้ทำให้เกิดความสัมพันธ์ทางสังคมที่ดีขึ้น (หน้า 173-174) 9.ผู้นำในหมู่บ้าน ทั้งผู้นำที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ เช่น ผู้ใหญ่บ้าน คณะกรรมการวัด จะประกอบด้วยสมาชิกลาว กวย เขมร เมื่อมีการประชุมร่วมกันในเรื่องสำคัญของหมู่บ้าน ผู้นำเหล่านี้จะเลี่ยงการพูดถึงความแตกต่างทางชาติพันธุ์ว่ากลุ่มลาว กลุ่มกวย กลุ่มเขมร แต่จะกล่าวเรียกว่า พี่น้องชาวบ้านเกาะแก้ว ซึ่งผู้นำที่ได้รับการแต่งตั้งจากทางการจะมีบทบาทในการสร้างความสามัคคีให้กับคนในหมู่บ้าน ทั้งนี้สิ่งที่ทำให้ชาวบ้านเกิดแนวความคิดและ การปฏิบัติตนร่วมกันมิใช่เกิดจากการบังคับใช้กฎหมาย แต่เป็นเพราะการที่ลาว กวย เขมร อยู่ในสังคมชาวนาโดยมีศาสนาพุทธเป็นสิ่งนำขนบธรรมเนียม ประเพณี ความเชื่อต่างๆ ดังนั้น ผู้นำศาสนาจึงมีบทบาทในการอบรมขัดเกลาให้ชาวบ้านมีความสำนึกในการอยู่ร่วมกันอย่างสงบ (หน้า 174-175) 10. ความเปลี่ยนแปลงทางสังคมและความเจริญทางวิทยาการ การที่ชุมชนมีโอกาสติดต่อกับสังคมภายนอกที่เป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงในด้านต่างๆ ของสังคมไทย เช่น ด้านเทคโนโลยี และเศรษฐกิจเป็นผลให้มีการนำวัฒนธรรมที่หลากหลายจากภายนอกเข้าสู่หมู่บ้าน ไม่ว่าจะเป็นการดูข่าว สารคดีทางโทรทัศน์และหนังสือพิมพ์ ภาพยนตร์ ดนตรี ทำให้ชาวบ้านปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น มีการประยุกต์แนวคิดและความเชื่อที่เคยยึดถือให้เหมาะกับสภาพที่เปลี่ยนไป และเมื่อพิธีกรรมต่างๆ ไม่มีความสำคัญพอที่จะตอบสนองชีวิตของชุมชน พิธีกรรมความเชื่อบางอย่างก็จะสูญหายไปหรือมีคุณค่าสำหรับเรื่องอื่นแทน เมื่อชาวบ้านมีการปรับตัวให้เข้ากับสภาพสังคมภายนอกที่เปลี่ยนแปลง ได้ทำให้คนรุ่นใหม่ให้ความสำคัญต่อความเชื่อเก่าๆ น้อยลง ดังนั้นการดำเนินชีวิตของชาวบ้านเกาะแก้วจึงไม่มีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน เพราะความเคร่งครัดในประเพณีของแต่ละกลุ่มชาติพันธุ์ลดลงและเปลี่ยนแปลงไป ทำให้ลาว กวย เขมรยอมรับกันและกัน ปรับตัวเข้าหากันและมีวิถีชีวิตที่กลมกลืน (หน้า 175-176) ทั้งนี้ ปัจจัยที่ทำให้เกิดการผสมกลมกลืนทางวัฒนธรรมมากที่สุดคือ ความคล้ายคลึงกันในเรื่องขนบธรรมเนียมประเพณีและความเชื่อ การอยู่ในสังคมชาวนาเหมือนกัน และการแต่งงานระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ ตามลำดับ

Critic Issues

ไม่มีข้อมูล

Other Issues

ไม่มี

Map/Illustration

1. ภาพ แผนที่สังเขปตำบลเกาะแก้ว หน้า 42 2. ภาพ แผนที่หมู่บ้านเกาะแก้ว หน้า 43 3. ภาพแผนภูมิแสดงคำเรียกชื่อเครือญาติของกลุ่มลาว หน้า 73 4. ภาพแผนภูมิแสดงคำเรียกชื่อเครือญาติของกลุ่มกวย หน้า 74

Text Analyst วิริยา วิฑูรย์สฤษฎ์ศิลป์ Date of Report 30 มิ.ย 2560
TAG ลาว, กวย, เขมร, การผสมกลมกลืน, วัฒนธรรม, สุรินทร์, Translator -
 
 

 

ฐานข้อมูลอื่นๆของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
  ฐานข้อมูลพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทย
จารึกในประเทศไทย
จดหมายเหตุทางมานุษยวิทยา
แหล่งโบราณคดีที่สำคัญในประเทศไทย
หนังสือเก่าชาวสยาม
ข่าวมานุษยวิทยา
ICH Learning Resources
ฐานข้อมูลเอกสารโบราณภูมิภาคตะวันตกในประเทศไทย
ฐานข้อมูลประเพณีท้องถิ่นในประเทศไทย
ฐานข้อมูลสังคม - วัฒนธรรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  หน้าหลัก
งานวิจัยชาติพันธุ์ในประเทศไทย
บทความชาติพันธุ์
ข่าวชาติพันธุ์
เครือข่ายชาติพันธุ์
เกี่ยวกับเรา
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  ข้อมูลโครงการ
ทีมงาน
ติดต่อเรา
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
ช่วยเหลือ
  กฏกติกาและมารยาท
แบบสอบถาม
คำถามที่พบบ่อย


ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) เลขที่ 20 ถนนบรมราชชนนี เขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ 10170 
Tel. +66 2 8809429 | Fax. +66 2 8809332 | E-mail. webmaster@sac.or.th 
สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2549    |   เงื่อนไขและข้อตกลง