สมัครสมาชิก   
| |
ค้นหาข้อมูล
ค้นหาแบบละเอียด
  •   ความเป็นมาและหลักเหตุผล

    เพื่อรวบรวมงานวิจัยทางชาติพันธุ์ที่มีคุณภาพมาสกัดสาระสำคัญในเชิงมานุษยวิทยาและเผยแผ่สาระงานวิจัยแก่นักวิชาการ นักศึกษานักเรียนและผู้สนใจให้เข้าถึงงานวิจัยทางชาติพันธุ์ได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น

  •   ฐานข้อมูลจำแนกกลุ่มชาติพันธุ์ตามชื่อเรียกที่คนในใช้เรียกตนเอง ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้ คือ

    1. ชื่อเรียกที่ “คนอื่น” ใช้มักเป็นชื่อที่มีนัยในทางเหยียดหยาม ทำให้สมาชิกกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ รู้สึกไม่ดี อยากจะใช้ชื่อที่เรียกตนเองมากกว่า ซึ่งคณะทำงานมองว่าน่าจะเป็น “สิทธิพื้นฐาน” ของการเป็นมนุษย์

    2. ชื่อเรียกชาติพันธุ์ของตนเองมีความชัดเจนว่าหมายถึงใคร มีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมอย่างไร และตั้งถิ่นฐานอยู่แห่งใดมากกว่าชื่อที่คนอื่นเรียก ซึ่งมักจะมีความหมายเลื่อนลอย ไม่แน่ชัดว่าหมายถึงใคร 

     

    ภาพ-เยาวชนปกาเกอะญอ บ้านมอวาคี จ.เชียงใหม่

  •  

    จากการรวบรวมงานวิจัยในฐานข้อมูลและหลักการจำแนกชื่อเรียกชาติพันธุ์ที่คนในใช้เรียกตนเอง พบว่า ประเทศไทยมีกลุ่มชาติพันธุ์มากกว่า 62 กลุ่ม


    ภาพ-สุภาษิตปกาเกอะญอ
  •   การจำแนกกลุ่มชนมีลักษณะพิเศษกว่าการจำแนกสรรพสิ่งอื่นๆ

    เพราะกลุ่มชนต่างๆ มีความรู้สึกนึกคิดและภาษาที่จะแสดงออกมาได้ว่า “คิดหรือรู้สึกว่าตัวเองเป็นใคร” ซึ่งการจำแนกตนเองนี้ อาจแตกต่างไปจากที่คนนอกจำแนกให้ ในการศึกษาเรื่องนี้นักมานุษยวิทยาจึงต้องเพิ่มมุมมองเรื่องจิตสำนึกและชื่อเรียกตัวเองของคนในกลุ่มชาติพันธุ์ 

    ภาพ-สลากย้อม งานบุญของยอง จ.ลำพูน
  •   มโนทัศน์ความหมายกลุ่มชาติพันธุ์มีการเปลี่ยนแปลงในช่วงเวลาต่างๆ กัน

    ในช่วงทศวรรษของ 2490-2510 ในสาขาวิชามานุษยวิทยา “กลุ่มชาติพันธุ์” คือ กลุ่มชนที่มีวัฒนธรรมเฉพาะแตกต่างจากกลุ่มชนอื่นๆ ซึ่งมักจะเป็นการกำหนดในเชิงวัตถุวิสัย โดยนักมานุษยวิทยาซึ่งสนใจในเรื่องมนุษย์และวัฒนธรรม

    แต่ความหมายของ “กลุ่มชาติพันธุ์” ในช่วงหลังทศวรรษ 
    2510 ได้เน้นไปที่จิตสำนึกในการจำแนกชาติพันธุ์บนพื้นฐานของความแตกต่างทางวัฒนธรรมโดยตัวสมาชิกชาติพันธุ์แต่ละกลุ่มเป็นสำคัญ... (อ่านเพิ่มใน เกี่ยวกับโครงการ/คู่มือการใช้)


    ภาพ-หาดราไวย์ จ.ภูเก็ต บ้านของอูรักลาโว้ย
  •   สนุก

    วิชาคอมพิวเตอร์ของนักเรียน
    ปกาเกอะญอ  อ. แม่ลาน้อย
    จ. แม่ฮ่องสอน


    ภาพโดย อาทิตย์    ทองดุศรี

  •   ข้าวไร่

    ผลิตผลจากไร่หมุนเวียน
    ของชาวโผล่ว (กะเหรี่ยงโปว์)   
    ต. ไล่โว่    อ.สังขละบุรี  
    จ. กาญจนบุรี

  •   ด้าย

    แม่บ้านปกาเกอะญอ
    เตรียมด้ายทอผ้า
    หินลาดใน  จ. เชียงราย

    ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ถั่วเน่า

    อาหารและเครื่องปรุงหลัก
    ของคนไต(ไทใหญ่)
    จ.แม่ฮ่องสอน

     ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ผู้หญิง

    โผล่ว(กะเหรี่ยงโปว์)
    บ้านไล่โว่ 
    อ.สังขละบุรี
    จ. กาญจนบุรี

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   บุญ

    ประเพณีบุญข้าวใหม่
    ชาวโผล่ว    ต. ไล่โว่
    อ.สังขละบุรี  จ.กาญจนบุรี

    ภาพโดยศรยุทธ  เอี่ยมเอื้อยุทธ

  •   ปอยส่างลอง แม่ฮ่องสอน

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ปอยส่างลอง

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดย เบญจพล  วรรณถนอม
  •   อลอง

    จากพุทธประวัติ เจ้าชายสิทธัตถะ
    ทรงละทิ้งทรัพย์ศฤงคารเข้าสู่
    ร่มกาสาวพัสตร์เพื่อแสวงหา
    มรรคผลนิพพาน


    ภาพโดย  ดอกรัก  พยัคศรี

  •   สามเณร

    จากส่างลองสู่สามเณร
    บวชเรียนพระธรรมภาคฤดูร้อน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   พระพาราละแข่ง วัดหัวเวียง จ. แม่ฮ่องสอน

    หล่อจำลองจาก “พระมหามุนี” 
    ณ เมืองมัณฑะเลย์ ประเทศพม่า
    ชาวแม่ฮ่องสอนถือว่าเป็นพระพุทธรูป
    คู่บ้านคู่เมืององค์หนึ่ง

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม

  •   เมตตา

    จิตรกรรมพุทธประวัติศิลปะไต
    วัดจองคำ-จองกลาง
    จ. แม่ฮ่องสอน
  •   วัดจองคำ-จองกลาง จ. แม่ฮ่องสอน


    เสมือนสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรม
    เมืองไตแม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ใส

    ม้งวัยเยาว์ ณ บ้านกิ่วกาญจน์
    ต. ริมโขง อ. เชียงของ
    จ. เชียงราย
  •   ยิ้ม

    แม้ชาวเลจะประสบปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัย
    พื้นที่ทำประมง  แต่ด้วยความหวัง....
    ทำให้วันนี้ยังยิ้มได้

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ผสมผสาน

    อาภรณ์ผสานผสมระหว่างผ้าทอปกาเกอญอกับเสื้อยืดจากสังคมเมือง
    บ้านแม่ลาน้อย จ. แม่ฮ่องสอน
    ภาพโดย อาทิตย์ ทองดุศรี
  •   เกาะหลีเป๊ะ จ. สตูล

    แผนที่ในเกาะหลีเป๊ะ 
    ถิ่นเดิมของชาวเลที่ ณ วันนี้
    ถูกโอบล้อมด้วยรีสอร์ทการท่องเที่ยว
  •   ตะวันรุ่งที่ไล่โว่ จ. กาญจนบุรี

    ไล่โว่ หรือที่แปลเป็นภาษาไทยว่า ผาหินแดง เป็นชุมชนคนโผล่งที่แวดล้อมด้วยขุนเขาและผืนป่า 
    อาณาเขตของตำบลไล่โว่เป็นส่วนหนึ่งของป่าทุ่งใหญ่นเรศวรแถบอำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี 

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   การแข่งขันยิงหน้าไม้ของอาข่า

    การแข่งขันยิงหน้าไม้ในเทศกาลโล้ชิงช้าของอาข่า ในวันที่ 13 กันยายน 2554 ที่บ้านสามแยกอีก้อ อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย
 
  Princess Maha Chakri Sirindhorn Anthropology Centre
Ethnic Groups Research Database
Sorted by date | title

   Record

 
Subject โส้ โซร ซี,ผ้า,การแต่งกาย,หัตถกรรม, มุกดาหาร,สกลนคร
Author ทรงคุณ จันทจร, พิสิฎฐ์ บุญไชย และแสงเพชร สุพร
Title ผ้าชาวโส้ ศึกษากรณีชาวโส้ อำเภอดงหลวง จังหวัดมุกดาหาร และอำเภอกุสุมาลย์ จังหวัดสกลนคร
Document Type รายงานการวิจัย Original Language of Text ภาษาไทย
Ethnic Identity โส้ โทรฺ, Language and Linguistic Affiliations ออสโตรเอเชียติก(Austroasiatic)
Location of
Documents
ห้องสมุดศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร Total Pages 70 Year 2536
Source สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงศึกษาธิการ
Abstract

พัฒนาการการทอผ้าของโส้แบ่งเป็น 4 ยุคด้วยกัน คือ ยุคโบราณที่โส้ยังไม่รู้จักการทอผ้า ยังคงทำมาหากินอยู่บนภูเขาในบริเวณเมืองภูวานากระแด้งในประเทศลาว โดยนำเอาผลผลิตทางการเกษตรมาแลกเสื้อผ้าจากชาวลาว และภูไทย ชายโส้ยุคนี้นุ่งผ้าเตี่ยวปิดเฉพาะอวัยวะเพศ ส่วนหญิงนุ่งผ้าซิ่น เสื้อแขนกระบอกผ่าอก ยุคที่สองคือยุคแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการทอผ้า เมื่อประมาณ 50-100 ปีที่ผ่านมาโส้ได้เรียนรู้การทอผ้ากับชนกลุ่มอื่นที่เข้าไปติดต่อค้าขาย ทำให้โส้สามารถปลูกฝ้ายและทอผ้าได้เอง ยุคที่สามเป็นยุคพัฒนาการทอผ้าในระยะ 30-50 ปี นับจากปัจจุบันผ้าโส้มีการพัฒนาลวดลายของผ้าชนิดต่างๆ อย่างเต็มที่ และนิยมผ้าที่ผลิตขึ้นเอง ยุคสุดท้ายคือยุคปัจุบัน การทอผ้าของโส้ได้เปลี่ยนไป มักซื้อผ้ามาใช้แทนการทอใช้เอง ในส่วนของเครื่องมือทอผ้านั้นยังคงยึดถือแบบอย่างมาจากสมัยเริ่มแรกของการทอผ้า สำหรับลวดลายของผ้าต่างๆ โส้นำจินตนาการมาสร้างเป็นลวดลายต่างๆ ปัจจัยที่มีผลต่อลวดลายผ้าของโส้คือ ลายที่ได้จากธรรมชาติ ลายที่ได้จากอิทธิพลของศาสนา ลายที่ได้จากรูปแบบทางเรขาคณิต และลายที่ได้จากการผสมผสานกัน ความเชื่อในการใช้ผ้ามีสองลักษณะ คือ 1.การใช้ผ้าในชีวิตประจำวัน อาทิ เครื่องแต่งกายของชาย เช่น ผ้าโสร่ง กางเกงขาก๊วย เครื่องแต่งกายของหญิง เช่น ผิ่น ผ้าเบี่ยง นอกจากนี้ยังมีผ้าทำหมอน ผ้าห่ม 2.การใช้ผ้าในพิธีกรรม แบ่งได้เป็น 2 ประเภทคือ 1.การใช้ทางพุทธศาสนา เช่น ผ้าในพิธีบวชนาค 2.ผ้าที่ใช้ในพิธีกรรมเกี่ยวกับผี เช่น ผ้าในงานศพ ผ้าในพิธีเยา สภาพปัญหาการทอผ้าของโส้ในปัจจุบัน คือ การที่หนุ่มสาวหันหลังให้กับการทอผ้าเพราะต้องเข้ามาขายแรงงานในเขตเมือง การแต่งตัวแบบดั้งเดิมของโส้ก็เริ่มหดหายไปด้วย ในส่วนของโส้ที่ยังคงมีฝีมือในการทอผ้าได้ประสบกับปัญหาทางด้านคุณภาพของผ้าที่ยังด้อยเมื่อเทียบกับผ้าของกลุ่มอื่น อาจเพราะโส้ส่วนใหญ่มีฐานะยากจน ขาดเงินทุนในการผลิต ทำให้ผ้าของโส้ไม่ประสบความสำเร็จในตลาดค้าผ้า (หน้า ข-ค)

Focus

ประวัติความเป็นมา พัฒนาการและการเปลี่ยนแปลงรูปแบบวิธีการทอผ้าของโส้ ลวดลายของผ้า ตลอดจนการใช้ผ้าทั้งในชีวิตประจำวันและพิธีกรรม

Theoretical Issues

ไม่มี

Ethnic Group in the Focus

โส้ เป็นชาติพันธุ์กลุ่มหนึ่งที่ถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มเชื้อชาติมองโกลอยด์ ตระกูลภาษาออสโตรเอเชียติค นักมานุษยวิทยาได้จัดโส้ให้อยู่ในกลุ่มเดียวกับพวกข่า เช่นเดียวกับพวกแสกและกระเส็ง (หน้า 4)

Language and Linguistic Affiliations

จากบันทึกของสมเด็จพระยาดำรงราชานุภาพ ครั้งเสด็จตรวจราชการที่มณฑลอุดรและมณฑลอีสาน พ.ศ. 2449 บันทึกว่า "กะโซ่พูดภาษาของตนเอง" (หน้า 4) จากการสอบถามคนดั้งเดิมของไทยโส้ และการสังเกตของผู้เขียนเองพบว่า โส้ออกเสียงเรียกตัวเองเป็น "โซร" คือออกเสียง "ซ" และ "ร" ควบกัน โส้จะออกเสียงอักษรสูงเป็นอักษรต่ำ เช่น "หมา" จะเป็น "มา" นอกจากนี้ ภาษาพูดของโส้ยังคล้ายคลึงกับภาษาพูดของ "แสก" และ"ส่วย" (หน้า 4-5)

Study Period (Data Collection)

ไม่ระบุ

History of the Group and Community

จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์กลุ่มโส้ที่เข้ามาอาศัยในเขตจังหวัดมุกดาหารได้อพยพเข้ามาในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พ.ศ.2359 จากฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงซึ่งใกล้ดินแดนญวน และได้ถูกญวนรุกรานโดยการจับตัวโส้ไปเป็นทาสจึงหลบหนี โส้ส่วนใหญ่มาจากเมืองวังอ่างคำ และเมืองตะโปน โดยการเดินเท้ามาเป็นกลุ่มได้พบหนองน้ำและดงยางสูงใหญ่ จึงพากันตั้งบ้านเรือนอยู่ประมาณ 10-12 ครอบครัว อีกกลุ่มหนึ่งได้เดินทางต่อไปได้พบหนองน้ำใหญ่ จึงพากันตั้งบ้านเมือง ตั้งชื่อชุมชนว่าบ้านดงหลวง ปัจจุบันเป็นอำเภอดงหลวง (หน้า 8) ส่วนโส้ที่อพยพเข้าสู่จังหวัดสกลนครสามารถสันนิษฐานได้ว่าเข้ามาในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งได้มีการทำสงครามกับเจ้าอนุวงศ์ และเจ้าอนุวงศ์ได้หลบหนีกองทัพไทยมาอยู่เมืองมหาชัยกองแก้ว กองทัพไทยได้ยึดเมืองมหาชัยกองแก้วได้และกวาดต้อนผู้คนในเมืองมหาชัยกองแก้ว รวมทั้งคนที่หลบหนีไปอยู่ตามป่าเขาซึ่งมีทั้งโส้และข่าเผ่าอื่นๆ (หน้า 14) ส่วนใหญ่ถูกอพยพมาอยู่ในพื้นที่เขตจังหวัดสกลนคร จังหวัดนครพนม และบางส่วนของจังหวัดกาฬสินธุ์ (หน้า 14-15)

Settlement Pattern

เมื่อครั้งโส้อาศัยอยู่ในประเทศลาว จะรวมกันเป็นกลุ่มเล็กๆ มีตั้งแต่ 5-20 ครอบครัว โดยจะอาศัยอยู่ตามเชิงเขาและซอกเขา (หน้า 5,16)

Demography

อำเภอดงหลวง จังหวัดมุกดาหาร มีประชากรทั้งสิ้น 35,352 คน เป็นชาย 12,152 คน เป็นหญิง 13,350 คน ประชากรร้อยละ 90 เป็นโส้ (หน้า 11) อำเภอกุสุมาลย์ จังหวัดสกลนครมีประชากรทั้งสิ้น 39,511 คน ส่วนใหญ่เป็นโส้ (หน้า 15)

Economy

ชาวอำเภอดงหลวง จังหวัดมุกดาหาร ประชากรร้อยละ 90 เป็นโส้นั้นประกอบอาชีพเกษตรกรรม ทำนา ทำไร่ โดยมักจะปลูกข้าวและมันสำปะหลัง (หน้า 11) ในส่วนของชาวอำเภอกุสุมาลย์ จังหวัดสกลนคร ซึ่งมีประชากรส่วนใหญ่เป็นโส้ก็ประกอบอาชีพเช่นเดียวกัน นั่นคือ อาชีพเกษตรกรรม (หน้า 15)

Social Organization

สังคมของโส้สัมพันธ์กับสถาบันศาสนาและความเชื่อ มีการใช้ผ้าเป็นส่วนหนึ่งในการประกอบพิธีกรรมของทั้งพิธีทางศาสนาพุทธและพิธีกรรมเกี่ยวกับผี (หน้า 55-65) รวมทั้งยังยึดมั่นกับขนบธรรมเนียมที่มีมาแต่โบราณ ยึดมั่นในเรื่องการทำมาหากินและการสร้างครอบครัว ให้ความสำคัญกับการทอผ้าใช้เองโดยเมื่อหญิงโส้เริ่มเป็นสาวจะต้องเรียนรู้เรื่องผ้าตั้งแต่การปลูก การทอ การย้อม และการตัดเย็บเสื้อผ้าเพื่อแสดงให้เห็นว่าตนมีความเป็นกุลสตรี และเมื่อออกเรือนไปแล้ว จะสามารถตัดเย็บเสื้อผ้าให้แก่ตนเอง ลูกและสามี ส่วนชายโส้จะต้องเรียนรู้ในเรื่องการทำมาหากิน และการสร้างเครื่องมือทอผ้าเพื่อมอบให้แก่ภรรยา (หน้า 49)

Political Organization

ในท้องที่อำเภอดงหลวง จังหวัดมุกดาหารแบ่งการปกครองเป็น 6 ตำบล 48 หมู่บ้าน ได้แก่ตำบลดงหลวง ตำบลชะโนดน้อย ตำบลพังแดง ตำบลกกตูม ตำบลหนองแคน และตำบลหนองบัว (หน้า 11) อำเภอกุสุมาลย์ จังหวัดสกลนครแบ่งการปกครองเป็น 5 ตำบล 46 หมู่บ้าน (หน้า 15)

Belief System

โส้นับถือศาสนาพุทธและนับถือผี โดยมีการใช้ผ้าในพิธีกรรมต่างๆ ของศาสนาพุทธ อาทิ พิธีบวชนาค ผ้าที่ใช้เป็นเครื่องแต่งกายของพระ ผ้าถวายพระในงานบุญต่างๆ ผ้าทำขึ้นพิเศษเพื่อศาสนา ผ้านุ่งในพิธีเส็งกลอง โดยการเส็งกลองเป็นประเพณีที่โส้นิยมเล่นมาช้านาน สันนิษฐานว่าจะมาพร้อมกับการนับถือศานาพุทธ นิยมเล่นในงานบุญบั้งไฟและบุญเข้าพรรษา ก่อนการเส็งกลอง จะมีการละเล่นที่เรียกว่า "เดาะกลองหรือเตาะกลอง" กลองที่ใช้เรียกว่า "กลองเส็งหรือกลองกริ่ง" ผู้เล่นมีสองคน คนหนึ่งเดาะกลองเป็นจังหวะและออกลีลาสวยงาม อีกคนหนึ่งจะเต้นเป็นจังหวะพร้อมกับเล่น "ไม้กับแก้ป" เป็นดนตรีประกอบไปด้วย นอกจากการนับถือศาสนาพุทธแล้ว โส้ยังมีความเชื่อเกี่ยวกับผีมาตั้งแต่โบราณก่อนที่จะนับถือศานาพุทธ ซึ่งสะท้อนให้เห็นในพิธีกรรมที่เกี่ยวกับชีวิต อาทิ พิธีศพ มีพิธี "ซางกมูท" เป็นพิธีกรรมที่ทำให้ "ผีดิบ" คือวิญาณผู้ตายที่อาจทำอันตรายต่อญาติพี่น้องกลายเป็น "ผีสุก" ก็คือผีที่ผ่านพิธีซางกมูทแล้ว และจะเป็นผีเรือนที่คอยดูแลลูกหลาน ในการประกอบพิธีซางกมูทนั้นประกอบด้วยขั้นตอนที่ละเอียดและซับซ้อน ในพิธีกรรมผู้ที่สามารถร่วมพิธีได้ คือญาติพี่น้องของผู้ตายที่เป็นสกุลผีเดียวกันเท่านั้น พิธีซางกมูทประกอบด้วยพิธีกรรมที่มีความเชื่อเรื่องผีและศาสนาพุทธควบคู่ไปด้วย ทั้งยังมีความเชื่อในการใช้ผ้า ทั้งทางเส้นด้าย ผืนผ้าและเสื้อผ้า นอกจากพิธีซางกมูทแล้ว พิธีกรรมที่เกี่ยวกับชีวิตของโส้อันมาจากความเชื่อเกี่ยวกับผี ได้แก่ พิธีเยา ซึ่งเป็นพิธีกรรมเพื่อรักษาคนป่วย รวมทั้งพิธี "ตัดกำเนิด" จัดขึ้นเมื่อมีเด็กเกิดใหม่ นอกจากนี้ยังมีพิธีที่เกี่ยวกับการแต่งงาน เช่น พิธีวางดาบ ที่มีมาแต่สมัยโบราณ (หน้า 55-65)

Education and Socialization

ในปัจจุบันโส้ได้ติดต่อสัมพันธ์กับโลกภายนอกได้อย่างสะดวก และโส้รุ่นใหม่ได้เข้าสู่ระบบการศึกษาของรัฐบาล ต้องเข้าโรงเรียนและสวมใส่เครื่องแบบนักเรียนเหมือนคนไทยทั่วไป (หน้า 26)

Health and Medicine

โส้มี "พิธีเยา" เป็นพิธีกรรมสำหรับรักษาคนป่วย ผู้ทำการรักษาเรียกว่า "หมอเยา" ที่ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง ความเจ็บป่วยต่างๆ ที่เกิดขึ้น โส้เชื่อว่าเกิดจากการกระทำของผีที่มีความไม่พอใจบางอย่างต่อผู้ป่วย การเยาแบ่งเป็น 3 ประเภท คือ 1. พิธีเยาเรียกขวัญ เป็นการเรียกขวัญผู้ป่วยที่พลัดหลงไปไกลให้กลับมาสู่ร่าง 2. พิธีเยารักษาคนป่วยที่เชื่อว่าถูกผีทำร้ายร่างกาย หมอเยาจะใช้อิทธิฤทธิ์ต่างๆ ในการปราบผี 3.พิธีเยาแก้บน เมื่อผู้ป่วยได้หายป่วยแล้วและได้บนไว้ว่าจะตอบแทนผีด้วยอะไร หมอเยาจะทำพิธีโดยแต่งเครื่องสังเวยให้ผีนั้นมารับไว้ เมื่อหมอเยารักษาผู้ป่วยจนหายป่วยแล้ว ผู้นั้นจะเป็นบริวารของหมอเยา เรียกว่า "ลูกแก้ว" ลูกแก้วจะเรียกหมอเยาว่า "พ่อแก้ว" หรือ "แม่แก้ว" ตามแต่ว่าหมอเยาเป็นชายหรือหญิง หมอเยาจะพาบริวารเลี้ยงขอบคุณผีทุกปี หรือมีประเพณีเลี้ยงผีเทศกาลใหญ่ทุกสามปีที่เรียกกันว่า "เยาแซงสนาม" หรือ "เยาลงสนาม" (หน้า 61)

Art and Crafts (including Clothing Costume)

ผู้เขียนแบ่งยุคของผ้าโส้เป็น 4 ยุค ได้แก่ 1.ยุคโบราณ 2.ยุคแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมผ้า 3.ยุคพัฒนาการทอผ้า และ 4.ยุคปัจจุบัน แต่ละยุคแสดงให้เห็นถึงพัฒนาการเกี่ยวกับผ้าโส้ตั้งแต่ยังไม่รู้จักการทอผ้าใช้เองมาสู่ยุคปัจจุบันที่โส้หันมาสวมใส่เสื้อผ้าที่มีรูปแบบทันสมัยมากกว่าผ้าที่ทอใช้เอง (หน้า 16-28) ผู้เขียนยังได้กล่าวถึงขั้นตอนการทอผ้า แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ ผ้าฝ้ายและผ้าไหม - ในส่วนของการทอผ้าฝ้ายนั้นเริ่มตั้งแต่การปลูกฝ้ายเพื่อนำมาผลิตเส้นด้าย การย้อมสีฝ้ายมีวิธีการย้อมหลากหลายวิธี เช่น การย้อมด้วยคราม หรือการย้อมด้วยครั่ง หลังจากนั้นจะเข้าสู่ขั้นตอนของการเตรียมการทอผ้า อุปกรณ์การทอผ้า รวมทั้งการทอผ้าด้วยวิธีต่างๆ มีหลากหลายวิธี เช่น การทอผ้าขิด หรือการทอผ้าเก็บ (หน้า 29-40) - ในส่วนของการทอผ้าไหมนั้น ผู้เขียนได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับขั้นตอนในการผลิตเส้นไหม การเลี้ยงไหม ขั้นตอนในการเตรียมการทอผ้าไหม ขั้นตอนในการทอผ้าไหม เครื่องมือต่างๆ ในการทอผ้า (หน้า 41-46) นอกจากนี้ ผู้เขียนยังได้กล่าวถึงลวดลายผ้าของโส้ ที่สามารถแบ่งกลุ่มแม่ลายออกเป็น 4 ลักษณะ คือ 1.ลายที่ได้จากธรรมชาติ 2.ลายที่ได้จากอิทธิพลของศาสนา 3.ลายที่ได้จากรูปแบบทางเรขาคณิต และ 4.ลายผสม (หน้า 46-47) รวมทั้งยังกล่าวถึงความเชื่อในการใช้ผ้าของโส้ว่าแบ่งผ้าออกเป็น 2 ลักษณะ คือ ผ้าที่ใช้เป็นเครื่องนุ่งห่มในชีวิตประจำวัน กับผ้าที่ใช้ในพิธีกรรม ผ้าที่เป็นเครื่องนุ่งห่มในชีวิตประจำวันนั้น ผู้เขียนแบ่งเป็น 1.เครื่องนุ่งห่มสำหรับผู้ชาย เช่น ผ้านุ่ง กางเกงขาก๊วย 2.เครื่องนุ่งห่มสำหรับผู้หญิง เช่น ผ้าซิ่น เสื้อ 3.ผ้าในชีวิตประจำวันอื่นๆ เช่น ผ้าทำหมอน ผ้าทำฟูก ส่วนของผ้าที่ใช้ในพิธีกรรมนั้น แบ่งได้เป็น 1.การใช้ผ้าในพิธีกรรมทางศาสนาพุทธ เช่น ผ้าที่ใช้ในพิธีบวชนาค ผ้าถวายพระในงานบุญต่างๆ 2.ผ้าที่ใช้ในพิธีกรรมที่เกี่ยวกับผี เช่น ผ้าที่ใช้ในพิธีศพ พิธีกรรมเกี่ยวกับการเกิด (หน้า 49-65) จนกระทั่งข้อมูลเกี่ยวกับสภาพปัญหาการทอผ้าของโส้ในปัจจุบัน (หน้า 65-66)

Folklore

ผู้เขียนกล่าวถึงตำนานความเป็นมาของโส้ เป็นตำนานร่วมกับข่า ว่ามีเทพยดา 5 องค์ อยู่ในชั้นดาวดึงส์เป็นพี่น้องที่รักกันมาก ถึงคราวที่ควรไปจุติที่โลกมนุษย์เพื่อไปสร้างบ้านแปลงเมือง เพื่อมนุษย์จะได้สืบเชื้อสายจนกว่าจะสิ้นโลก เทพยดาทั้ง 5 ได้ปรึกษานางเทพยดาทั้ง 5 ซึ่งเป็นจาริกาของตนต่างก็เห็นพ้องด้วย เทพยดาทั้ง 5 จึงร่วมจิตอธิษฐานเนรมิตเป็นรูปน้ำเต้าปุ้ง ส่วนนางเทพยดาก็อาศัยอยู่ในน้ำเต้าปุ้งนั้น น้ำเต้าปุ้งได้ลอยไปบนฟ้าแล้วตกลงมาบนภูเขา เมื่อได้เวลาน้ำเต้าบุ้งก็แตกออกเป็นมนุษย์ที่มีลักษณะที่แตกต่างกัน คือ ข่าจะออกมาเป็นคนที่หนึ่ง ผู้ไทยดำออกมาเป็นคนที่สอง ลาวพุงขาวออกมาเป็นคนที่สาม ฮ้อเป็นคนที่สี่ ญวนออกมาเป็นคนที่ห้า รวมเป็น 5 คน ส่วนผู้หญิงก็ออกมา 5 คน รวมเป็น 10 คน จากนั้นชายหญิงก็พากันลงจากภูเขาแล้วอาบน้ำและดื่มน้ำกันในหนองชื่อ "ฮกหนองฮาย" เป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์ ข่าแจะที่ออกมาก่อนไม่ยอมอาบน้ำ จึงมีผิวกายหมองคล้ำมาจนถึงปัจจุบัน ส่วนผู้ไทย ลาวฮ้อ และญวนได้ลงอาบน้ำจึงมีผิวขาว ผู้ไทย ลาวฮ้อ และญวนได้แยกย้ายกันไปตั้งบ้านเมือง ส่วนข่าแจะไม่ต้องการเป็นใหญ่จึงอาศัยอยู่ตามภูเขาและดำรงชีพแบบง่ายๆ (หน้า 5-6) ในส่วนตำนานของโส้เองนั้นกล่าวถึงบรรพบุรุษ 3 คนที่เข้มแข็ง คือ ปู่ลางเชิง ขุนเค็ก ขุนคาน ทั้งสามเคยไปอยู่เมืองแถนแต่ไม่ได้รับความสะดวก จึงกลับมาเมืองมนุษย์ทำมาหาเลี้ยงชีพแบบธรรมดา จนเกิดน้ำเต้าปุ้ง และได้กำเนิดเป็นไทยลอ ไทยเลิง และไทยกวาง ได้เป็นบรรพบุรุษของคนไทย คนลาว ผู้ไทย และคนญวนในเวลาต่อมา (หน้า 6) นอกจากนี้ผู้เขียนยังกล่าวถึงสาเหตุที่โส้เดินทางเข้ามาในประเทศไทย มีตำนานว่าเป็นคำสั่งของแถน กล่าวว่าอีกไม่ช้าจะเกิดกลียุคขึ้น จึงขอให้ลูกหลานข้ามโขงไปยังดินแดนอันศักดิ์สิทธิ์ของบรรพบุรุษเดิม (หน้า 8) ในพงศาวดารเมืองแถง กล่าวถึงการตั้งถิ่นฐานของโส้ว่าจัดอยู่ในกลุ่มข่าแจะที่ออกจากน้ำเต้าก่อนเพื่อน ข่าแจะหรือโส้ไม่มีบ้านเมือง ตั้งบ้านอยู่ตามเชิงเขา ไม่รู้จักปั่นฝ้ายและทอผ้า จึงเก็บข้าวและผักมาแลกผ้ากับลาวและผู้ไทย (หน้า 16)

Ethnicity (Ethnic Identity, Boundaries and Ethnic Relation)

โส้ติดต่อสัมพันธ์กับลาว ผู้ไทย และญวนมาช้านาน เนื่องจากตำนานกล่าวว่า แต่เดิมโส้เป็นกลุ่มคนที่ตั้งบ้านเรือนอยู่ตามเชิงเขา ไม่รู้จักปั่นฝ้ายและทอผ้า จึงเก็บข้าวและผักมาแลกผ้ากับลาวและผู้ไทย (หน้า 6,16) ปัจจุบันโส้ต้องปรับตัวให้เข้ากับสังคม นิยมใส่เสื้อผ้าที่ซื้อมาจากตลาด ซึ่งเหตุผลหนึ่งก็เพราะเพื่อไม่ให้เป็นปมด้อย เพราะแต่เดิมชาวเมืองมักเรียกโส้ว่า "ข่า" ที่มีความหมายถึงการดูถูกเหยียดหยามว่าด้อยพัฒนา (หน้า 28)

Social Cultural and Identity Change

ในปัจจุบันโส้ได้ติดต่อสัมพันธ์กับโลกภายนอกอย่างสะดวก ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในการสวมใส่เสื้อผ้ามาสู่ความหลากหลายมากขึ้น โดยโส้ตั้งแต่วัยเด็กจนถึงหนุ่มสาวที่ยังไม่แต่งงานนิยมใส่เสื้อผ้าตามท้องตลาด ที่มีรูปแบบตามสมัยนิยมมากกว่าผ้าที่ทอเอง ในกลุ่มผู้ชายที่แต่งงานแล้วจนถึงวัยชราก็มีการเปลี่ยนแปลงการใช้เสื้อผ้ามาสวมใส่เสื้อผ้าที่ซื้อหามาจากตลาดมากขึ้น จะสวมใส่เสื้อผ้าพื้นเมืองกันเป็นจำนวนน้อย ในกลุ่มของผู้หญิงที่แต่งงานแล้วจนถึงวัยชราส่วนใหญ่ยังคงสวมใส่เสื้อผ้าพื้นเมือง ในส่วนของการทอผ้านั้น วัตถุดิบได้เปลี่ยนแปลงไป เช่น ด้าย เส้นไหม สีย้อม ที่เคยผลิตเองแต่ปัจจุบันได้ซื้อหามา ในส่วนของผ้าประเภทอื่นๆ เช่น ผ้าห่ม ผ้าขาวม้า ก็พึ่งพาวัตถุดิบจากตลาดมากขึ้นแทนการปลูกหรือประดิษฐ์เอง (หน้า 26-28)

Critic Issues

ไม่มีข้อมูล

Other Issues

ไม่มี

Map/Illustration

ผู้เขียนใช้ รูปภาพและแผนที่ในการอธิบายข้อมูลเพื่อให้เห็นชัดเจนขึ้น อาทิ แผนที่ 1 แผนที่การอพยพของโส้สู่จังหวัดมุกดาหาร (หน้า 7) แผนที่ 4 แผนที่จังหวัดสกลนครแสดงที่ตั้งอำเภอกุสุมาลย์ (หน้า 12) รูปภาพที่ 8 การแต่งกายของหญิงโส้ (หน้า 25) รูปภาพที่ 22 ลายผ้าที่ได้จากความเชื่อ (หน้า 48) รูปภาพที่ 36 หมอเยาผีมูนกำลังทำพิธี (หน้า 62)

Text Analyst พรรณปพร ภิรมย์วงษ์ Date of Report 30 ต.ค. 2555
TAG โส้ โซร ซี, ผ้า, การแต่งกาย, หัตถกรรม, มุกดาหาร, สกลนคร, Translator -
 
 

 

ฐานข้อมูลอื่นๆของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
  ฐานข้อมูลพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทย
จารึกในประเทศไทย
จดหมายเหตุทางมานุษยวิทยา
แหล่งโบราณคดีที่สำคัญในประเทศไทย
หนังสือเก่าชาวสยาม
ข่าวมานุษยวิทยา
ICH Learning Resources
ฐานข้อมูลเอกสารโบราณภูมิภาคตะวันตกในประเทศไทย
ฐานข้อมูลประเพณีท้องถิ่นในประเทศไทย
ฐานข้อมูลสังคม - วัฒนธรรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  หน้าหลัก
งานวิจัยชาติพันธุ์ในประเทศไทย
บทความชาติพันธุ์
ข่าวชาติพันธุ์
เครือข่ายชาติพันธุ์
เกี่ยวกับเรา
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  ข้อมูลโครงการ
ทีมงาน
ติดต่อเรา
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
ช่วยเหลือ
  กฏกติกาและมารยาท
แบบสอบถาม
คำถามที่พบบ่อย


ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) เลขที่ 20 ถนนบรมราชชนนี เขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ 10170 
Tel. +66 2 8809429 | Fax. +66 2 8809332 | E-mail. webmaster@sac.or.th 
สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2549    |   เงื่อนไขและข้อตกลง