สมัครสมาชิก   
| |
ค้นหาข้อมูล
ค้นหาแบบละเอียด
  •   ความเป็นมาและหลักเหตุผล

    เพื่อรวบรวมงานวิจัยทางชาติพันธุ์ที่มีคุณภาพมาสกัดสาระสำคัญในเชิงมานุษยวิทยาและเผยแผ่สาระงานวิจัยแก่นักวิชาการ นักศึกษานักเรียนและผู้สนใจให้เข้าถึงงานวิจัยทางชาติพันธุ์ได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น

  •   ฐานข้อมูลจำแนกกลุ่มชาติพันธุ์ตามชื่อเรียกที่คนในใช้เรียกตนเอง ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้ คือ

    1. ชื่อเรียกที่ “คนอื่น” ใช้มักเป็นชื่อที่มีนัยในทางเหยียดหยาม ทำให้สมาชิกกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ รู้สึกไม่ดี อยากจะใช้ชื่อที่เรียกตนเองมากกว่า ซึ่งคณะทำงานมองว่าน่าจะเป็น “สิทธิพื้นฐาน” ของการเป็นมนุษย์

    2. ชื่อเรียกชาติพันธุ์ของตนเองมีความชัดเจนว่าหมายถึงใคร มีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมอย่างไร และตั้งถิ่นฐานอยู่แห่งใดมากกว่าชื่อที่คนอื่นเรียก ซึ่งมักจะมีความหมายเลื่อนลอย ไม่แน่ชัดว่าหมายถึงใคร 

     

    ภาพ-เยาวชนปกาเกอะญอ บ้านมอวาคี จ.เชียงใหม่

  •  

    จากการรวบรวมงานวิจัยในฐานข้อมูลและหลักการจำแนกชื่อเรียกชาติพันธุ์ที่คนในใช้เรียกตนเอง พบว่า ประเทศไทยมีกลุ่มชาติพันธุ์มากกว่า 62 กลุ่ม


    ภาพ-สุภาษิตปกาเกอะญอ
  •   การจำแนกกลุ่มชนมีลักษณะพิเศษกว่าการจำแนกสรรพสิ่งอื่นๆ

    เพราะกลุ่มชนต่างๆ มีความรู้สึกนึกคิดและภาษาที่จะแสดงออกมาได้ว่า “คิดหรือรู้สึกว่าตัวเองเป็นใคร” ซึ่งการจำแนกตนเองนี้ อาจแตกต่างไปจากที่คนนอกจำแนกให้ ในการศึกษาเรื่องนี้นักมานุษยวิทยาจึงต้องเพิ่มมุมมองเรื่องจิตสำนึกและชื่อเรียกตัวเองของคนในกลุ่มชาติพันธุ์ 

    ภาพ-สลากย้อม งานบุญของยอง จ.ลำพูน
  •   มโนทัศน์ความหมายกลุ่มชาติพันธุ์มีการเปลี่ยนแปลงในช่วงเวลาต่างๆ กัน

    ในช่วงทศวรรษของ 2490-2510 ในสาขาวิชามานุษยวิทยา “กลุ่มชาติพันธุ์” คือ กลุ่มชนที่มีวัฒนธรรมเฉพาะแตกต่างจากกลุ่มชนอื่นๆ ซึ่งมักจะเป็นการกำหนดในเชิงวัตถุวิสัย โดยนักมานุษยวิทยาซึ่งสนใจในเรื่องมนุษย์และวัฒนธรรม

    แต่ความหมายของ “กลุ่มชาติพันธุ์” ในช่วงหลังทศวรรษ 
    2510 ได้เน้นไปที่จิตสำนึกในการจำแนกชาติพันธุ์บนพื้นฐานของความแตกต่างทางวัฒนธรรมโดยตัวสมาชิกชาติพันธุ์แต่ละกลุ่มเป็นสำคัญ... (อ่านเพิ่มใน เกี่ยวกับโครงการ/คู่มือการใช้)


    ภาพ-หาดราไวย์ จ.ภูเก็ต บ้านของอูรักลาโว้ย
  •   สนุก

    วิชาคอมพิวเตอร์ของนักเรียน
    ปกาเกอะญอ  อ. แม่ลาน้อย
    จ. แม่ฮ่องสอน


    ภาพโดย อาทิตย์    ทองดุศรี

  •   ข้าวไร่

    ผลิตผลจากไร่หมุนเวียน
    ของชาวโผล่ว (กะเหรี่ยงโปว์)   
    ต. ไล่โว่    อ.สังขละบุรี  
    จ. กาญจนบุรี

  •   ด้าย

    แม่บ้านปกาเกอะญอ
    เตรียมด้ายทอผ้า
    หินลาดใน  จ. เชียงราย

    ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ถั่วเน่า

    อาหารและเครื่องปรุงหลัก
    ของคนไต(ไทใหญ่)
    จ.แม่ฮ่องสอน

     ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ผู้หญิง

    โผล่ว(กะเหรี่ยงโปว์)
    บ้านไล่โว่ 
    อ.สังขละบุรี
    จ. กาญจนบุรี

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   บุญ

    ประเพณีบุญข้าวใหม่
    ชาวโผล่ว    ต. ไล่โว่
    อ.สังขละบุรี  จ.กาญจนบุรี

    ภาพโดยศรยุทธ  เอี่ยมเอื้อยุทธ

  •   ปอยส่างลอง แม่ฮ่องสอน

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ปอยส่างลอง

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดย เบญจพล  วรรณถนอม
  •   อลอง

    จากพุทธประวัติ เจ้าชายสิทธัตถะ
    ทรงละทิ้งทรัพย์ศฤงคารเข้าสู่
    ร่มกาสาวพัสตร์เพื่อแสวงหา
    มรรคผลนิพพาน


    ภาพโดย  ดอกรัก  พยัคศรี

  •   สามเณร

    จากส่างลองสู่สามเณร
    บวชเรียนพระธรรมภาคฤดูร้อน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   พระพาราละแข่ง วัดหัวเวียง จ. แม่ฮ่องสอน

    หล่อจำลองจาก “พระมหามุนี” 
    ณ เมืองมัณฑะเลย์ ประเทศพม่า
    ชาวแม่ฮ่องสอนถือว่าเป็นพระพุทธรูป
    คู่บ้านคู่เมืององค์หนึ่ง

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม

  •   เมตตา

    จิตรกรรมพุทธประวัติศิลปะไต
    วัดจองคำ-จองกลาง
    จ. แม่ฮ่องสอน
  •   วัดจองคำ-จองกลาง จ. แม่ฮ่องสอน


    เสมือนสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรม
    เมืองไตแม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ใส

    ม้งวัยเยาว์ ณ บ้านกิ่วกาญจน์
    ต. ริมโขง อ. เชียงของ
    จ. เชียงราย
  •   ยิ้ม

    แม้ชาวเลจะประสบปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัย
    พื้นที่ทำประมง  แต่ด้วยความหวัง....
    ทำให้วันนี้ยังยิ้มได้

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ผสมผสาน

    อาภรณ์ผสานผสมระหว่างผ้าทอปกาเกอญอกับเสื้อยืดจากสังคมเมือง
    บ้านแม่ลาน้อย จ. แม่ฮ่องสอน
    ภาพโดย อาทิตย์ ทองดุศรี
  •   เกาะหลีเป๊ะ จ. สตูล

    แผนที่ในเกาะหลีเป๊ะ 
    ถิ่นเดิมของชาวเลที่ ณ วันนี้
    ถูกโอบล้อมด้วยรีสอร์ทการท่องเที่ยว
  •   ตะวันรุ่งที่ไล่โว่ จ. กาญจนบุรี

    ไล่โว่ หรือที่แปลเป็นภาษาไทยว่า ผาหินแดง เป็นชุมชนคนโผล่งที่แวดล้อมด้วยขุนเขาและผืนป่า 
    อาณาเขตของตำบลไล่โว่เป็นส่วนหนึ่งของป่าทุ่งใหญ่นเรศวรแถบอำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี 

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   การแข่งขันยิงหน้าไม้ของอาข่า

    การแข่งขันยิงหน้าไม้ในเทศกาลโล้ชิงช้าของอาข่า ในวันที่ 13 กันยายน 2554 ที่บ้านสามแยกอีก้อ อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย
 
  Princess Maha Chakri Sirindhorn Anthropology Centre
Ethnic Groups Research Database
Sorted by date | title

   Record

 
Subject ไทใหญ่,เงี้ยว,ฉาน,ชุมชน,การใช้พื้นที่,กิจกรรมทางสังคม,แม่ฮ่องสอน
Author คณิชยา รอดเรืองศรี
Title ความสัมพันธ์ระหว่างการทำกิจกรรมทางสังคมและการใช้พื้นที่ในชุมชนของชาวไตบ้านเมืองปอน จ.แม่ฮ่องสอน
Document Type วิทยานิพนธ์ Original Language of Text ภาษาไทย
Ethnic Identity ไทใหญ่ ไต คนไต, Language and Linguistic Affiliations ไท(Tai)
Location of
Documents
ห้องสมุดศูนย์มนุษยวิทยาสิรินธร Total Pages 142 Year 2544
Source หลักสูตรปริญญาการวางแผนภาคและเมืองมหาบัณฑิต สาขาวิชาการผังเมือง ภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
Abstract

การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างการทำกิจกรรมทางสังคมและการใช้พื้นที่ในชุมชนของไตบ้านเมืองปอน จ.แม่ฮ่องสอน เพื่อใช้เป็นแนวทางจัดระเบียบพื้นที่ที่สอดคล้องกับสภาพชุมชน การศึกษาแบ่งเป็น 2 ส่วนคือ 1) ศึกษาลักษณะชุมชนด้านภูมิศาสตร์ เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม รูปแบบการตั้งถิ่นฐานและวิวัฒนาการชุมชน เพื่อหาอิทธิพลที่มีผลต่อการตัดสินใจแสดงพฤติกรรมหรือการทำกิจกรรมทางสังคมของคนไตในชุมชน 2) ศึกษารูปแบบการทำกิจกรรมทางสังคมและการใช้พื้นที่ของคนไตในชุมชนว่ามีลักษณะเปลี่ยนแปลงไปในรูปแบบใดบ้าง จากการศึกษาพบว่าปัจจัยสำคัญที่ทำให้ชุมชนมีวิวัฒนาการในด้านต่างๆ มาอย่างต่อเนื่องและส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของรูปแบบการตั้งถิ่นฐานและองค์ประกอบโครงสร้างทางกายภาพ ตลอดจนมีผลไปถึงการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการทำกิจกรรมทางสังคมและการใช้พื้นที่ของคนไตในชุมชน ได้แก่ ปัจจัยด้านการคมนาคมขนส่งและการสื่อสาร ปัจจัยด้านเศรษฐกิจสังคม ปัจจัยด้านวัฒนธรรม และปัจจัยด้านประชากร นอกจากนี้อายุ เพศ สถานภาพ การศึกษา และอาชีพของคนในชุมชนเองก็มีผลต่อรูปแบบการทำกิจกรรมทางสังคมและการใช้พื้นที่เช่นกัน กิจกรรมที่ทำในชุมชนแบ่งได้เป็น 2 ประเภทหลัก คือ กิจกรรมที่เกี่ยวกับศาสนาและความเชื่อ และกิจกรรมทั่วไป โดยใช้พื้นที่เพื่อทำกิจกรรมดังกล่าว 4 บริเวณคือ พื้นที่ในบ้าน ละแวกบ้าน ในชุมชน และนอกชุมชน การทำกิจกรรมเกี่ยวกับศาสนาและความเชื่อมีแนวโน้มลดลงอย่างเห็นได้ชัดในกลุ่มคนรุ่นใหม่ ขณะที่การทำกิจกรรมทั่วไปเปลี่ยนแปลงไปตามช่วงชีวิตและรสนิยมของแต่ละคน แนวทางการจัดระเบียบพื้นที่มี 2 ด้าน คือ ด้านกายภาพ เน้นการควบคุมการขยายตัวและการใช้พื้นที่ให้สอดคล้องกับลักษณะทางวัฒนธรรมและสภาพแวดล้อมชุมชน และด้านสังคมและวัฒนธรรมเน้นการส่งเสริมจิตสำนึกในวัฒนธรรมท้องถิ่นของคนในชุมชน เพื่อให้เห็นคุณค่าอันจะนำไปสู่การอนุรักษ์และปรับใช้ให้เหมาะสมกับวิถีชีวิตชุมชนปัจจุบัน (ดูหน้าบทคัดย่อ)

Focus

มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างการทำกิจกรรมทางสังคมและการใช้พื้นที่ในชุมชนของชาวไตบ้านเมืองปอน จ.แม่ฮ่องสอน

Theoretical Issues

ไม่มี

Ethnic Group in the Focus

ชาติพันธุ์ "ไต" ศึกษาชุมชนไตบ้านเมืองปอน จ.แม่ฮ่องสอน

Language and Linguistic Affiliations

ไม่มีข้อมูล

Study Period (Data Collection)

ไม่ระบุ

History of the Group and Community

ประวัติความเป็นมาของชนชาติไต ชนชาติไตหรือไทใหญ่อาศัยในเขตตอนเหนือของผืนแผ่นดินใหญ่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้มานานแล้ว มีถิ่นฐานเริ่มแรกที่เมืองมาวหรือลุ่มแม่น้ำมาวโหลงทางตอนใต้ของจีน นิยมเรียกตัวเองว่า "ไต" หรือ "ไทหลวง" หรือ "ไทใหญ่" แต่ถูกคนไทถิ่นอื่นในจีนเรียกว่า "ไทเหนือ" ตามอักษรและภาษาที่ใช้ และเรียกว่า "ไทมาว" ตามบริเวณที่ตั้งถิ่นฐาน ชาวไตเป็นเจ้าของดินแดนบริเวณลุ่มแม่น้ำมาวโหลงมีอาณาเขตครอบคลุมบางส่วนไปถึงจีนและพม่า มีระบอบการปกครองคือเจ้าฟ้าปกครองนครรัฐสืบต่อกันมาหลายสิบพระองค์ มีอักษรเป็นของตนเองใช้ มีระบบศาสนาที่ผสมผสานระหว่างพุทธศาสนาและการนับถือผี คนไตบางส่วนอพยพเข้าไปในภาคกลางของพม่าและรัฐชาน บางส่วนอยู่แคว้นอัสสัมของอินเดีย บางส่วนมาอยู่ในเขตล้านนา มีลักษณะเด่นที่เป็นกลุมชนที่ขยันขันแข็ง ทุ่มเทในการทำบุญกุศล มีความสามารถด้านการค้าและการต่อสู้ (หน้า 32-34) ประวัติชุมชนไตบ้านเมืองปอน พื้นที่บ้านเมืองปอนเดิมสันนิษฐานว่าเป็นที่อยู่ของชนเผ่า "ลัวะ" หรือละว้ามาก่อน ต่อมามีผู้อพยพมามากขึ้น โดยมีทั้งชาวไตจากรัฐชาน บ้านหมอกใหม่ บ้านลานเคือ (ปัจจุบันอยู่ในพม่า) และคนพื้นเมืองจาก อ.แม่แจ่ม อ.แม่วาง จ.เชียงใหม่ และจากจังหวัดลำปางเข้ามาอยู่ หัวหน้าชุมชนคนแรกชื่อ "นายศรี" มาตั้งถิ่นฐาน ราว พ.ศ.2360 เศษ มีคนไตอีกกลุ่มหนึ่งนำโดย "นายเต่ป๊ะ" อพยพมาจากรัฐชานเข้ามาชักชวนให้คนไตรวมตัวไปสู้กับเจ้าเมืองเชียงใหม่ แต่นายศรีไม่ยอมจึงเกิดการสู้รบอย่างหนัก ผู้คนล้มตายเป็นจำนวนมาก นายเต่ป๊ะแพ้จึงอพยพครอบครัวและคนไตจำนวนหนึ่งกลับไป การสู้รบครั้งนั้นทราบไปถึงเจ้าเมืองเชียงใหม่ จึงตั้งนายศรีเป็นหัวหน้าหมู่บ้านให้ชื่อว่า "พญาน้อยศรีไพศาล" หรือ "พญาไพศาล" ต่อมาไม่นาน หมู่บ้านบนดอยคูเวียงเกิดความยากลำบากในการทำมาหากิน หน้าแล้งขาดแคลนน้ำ พญาน้อยศรีไพศาลจึงรวบรวมชาวบ้านออกสำรวจที่ตั้งหมู่บ้านใหม่ พบที่ราบระหว่างหุบเขาที่เหมาะสมคือที่บ้านเมืองปอนในปัจจุบัน จึงปักหลักใจกลางบ้านหรือเสาใจบ้านไว้เป็นหลักฐาน แล้วกลับไปรวบรวมผู้คนมาใหม่ เมื่อสร้างหมู่บ้านเสร็จจึงเฉลิมฉลองและตั้งชื่อหมู่บ้านว่า "บ้านเมืองปอน" (หน้า 34-35)

Settlement Pattern

รูปแบบการตั้งถิ่นฐาน รูปแบบการตั้งถิ่นฐานหมู่บ้านเป็นแบบกลุ่ม (Clustered Settlement) คือกลุ่มบ้านจะกระจุกตัวอยู่ชิดเชิงเขาทางฝั่งตะวันตก ส่วนอีก 3 ด้านที่เหลือจะเป็นที่ราบซึ่งล้อมรอบไปด้วยที่นา ที่เป็นเช่นนี้เพราะสภาพภูมิประเทศเป็นตัวบังคับ การตั้งหมู่บ้านบนที่ราบแคบๆ ระหว่างหุบเขาทำให้หมู่บ้านมีที่ดินจำกัด ดังนั้นการให้หมู่บ้านชิดเชิงเขาจึงเป็นการใช้พื้นที่ใช้ประโยชน์ในการเพาะปลูกได้น้อยหรือไม่ได้เลยมาใช้ประโยชน์ในการตั้งถิ่นฐาน ส่วนที่ราบด้านตะวันออก เหนือ และใต้ จะใช้ประโยชน์เป็นพื้นที่เพาะปลูกได้เต็มที่เพราะเป็นที่ราบเล็กๆ เท่าที่มีอยู่และมีลำน้ำปอนไหลผ่าน นอกจากนี้การตั้งหมู่บ้านอยู่ชิดเชิงเขาสามารถป้องกันน้ำป่าในฤดูฝนได้ ประกอบกับสมัยก่อนบริเวณนี้เป็นป่าทึบ คนในหมู่บ้านต้องประสบภัยจากสัตว์ป่าและโจรผู้ร้าย การสร้างบ้านรวมกลุ่มทำให้คนในหมู่บ้านช่วยเหลือกันได้ยามมีเหตุร้าย นอกจากนี้การตั้งถิ่นฐานที่เชื่อมโยงเกี่ยวกับคติความเชื่อเรื่องการวางผังหมู่บ้าน จะประกอบออกเป็น 3 ส่วนคือ หัวบ้าน กลางบ้าน และหางบ้าน ตามคติความเชื่อเรื่องทิศและการจัดตั้งเมืองที่ประสานกับความเชื่อทางนิเวศวิทยา (หน้า 50-54)

Demography

ปี พ.ศ. 2542 ประชากรบ้านเมืองปอนมีทั้งสิ้น 1,778 คน ประกอบด้วยคนไตประมาณ 80% ตั้งบ้านเรือนอยู่ในหมู่ 1 และหมู่ 2 และคนเมือง 20% ตั้งบ้านเรือนอยู่ในหมู่ 2 เป็นส่วนใหญ่ (หน้า 37 และดูตารางที่ 3.2 หน้า 28 ประกอบ)

Economy

ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมและรับจ้าง ได้แก่ ทำไร่ ทำนา ทำสวน ปลูกพืชตามฤดูกาล พืชเศรษฐกิจที่สำคัญคือ หอม กระเทียม ถั่วเหลือง กะหล่ำปลี มันฝรั่ง มีอาชีพค้าขายบ้างแต่ไม่มาก (หน้า 37)

Social Organization

ในหมู่บ้านมีคนที่ทำหน้าที่เพื่อส่วนรวม ตามลักษณะต่างๆ คือ 1.เจเร เป็นผู้เชี่ยวชาญการอ่านหนังสือ จะได้รับเชิญไปอ่านคัมภีร์ในการจัดงานต่างๆ ของชุมชน 2.ปู่เจ้าเมิง เป็นคนดูแลเจ้าเมิง (เจ้าเมือง) มีที่นาให้ตอบแทนหน้าที่และใช้เก็บเกี่ยวผลประโยชน์ได้ ในหมู่บ้านนี้ "ปู่เจ้าเมิง" จะทำหน้าที่เป็น "แก่วัด" หรือมัคทายกดูแลวัดด้วย 3.แก่เหมือง แก่ฝาย เป็นหัวหน้าดูแลเหมืองฝาย เจ้าของที่นาที่ใช้น้ำจากฝายนั้นๆ จะให้ข้าวเป็นค่าตอบแทนแก่ฝายในอัตราที่ตกลงกัน 4.แม่เก็บ เป็นหมอตำแยประจำหมู่บ้าน ไม่มีนาให้เก็บผลประโยชน์ ผู้ใช้บริการจะให้ผลประโยชน์ตามฐานะ โดยวิธีซูกมือ (ล้างมือหรือรดน้ำที่มือ) พร้อมทั้งให้ข้าวสาร เงิน หรือสิ่งอื่นตามสมควร 5.สล่า เป็นแพทย์แผนโบราณ ทำหน้าที่หมอประจำหมู่บ้าน ได้ผลประโยชน์ในลักษณะเดียวกับหมอตำแย ส่วนมากไม่คำนึงถึงผลประโยชน์ แค่มุ่งรักษาคนไข้ให้หาย 6.ป้อมจันตา เป็นคนเผาศพ ได้ผลประโยชน์จากเจ้าภาพตามฐานะของเจ้าภาพ ไม่ได้กำหนดอัตราไว้ 7.สล่าล่อ หรือปู่ล่ามหรือล่าม บุคคลที่บอกหรือป่าวประกาศเรื่องต่างๆ ไปตามถนนในหมู่บ้านเป็นจุดๆ ทั้งในงานราชการและงานส่วนรวม เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในหมู่บ้าน ทุกหมู่บ้านจะมีล่ามประจำหมู่บ้านละ 1 คน (หน้า 38-39) ประเพณีแต่งงาน เมื่อหนุ่มสาวชอบพอกัน ฝ่ายชายจะส่งผู้ใหญ่ไปสู่ขอฝ่ายหญิง จะไม่หมั้นกันไว้นานๆ เพราะเชื่อว่าอาจเกิดภัยต่อคู่หมั้น หากผู้ใหญ่ฝ่ายหญิงยินยอมก็จะกำหนดวันแต่งงาน แต่ถ้าไม่ยินยอมมักจะพากันหนีแล้วมาขอขมาพ่อแม่ทีหลัง อาจมีพิธีแต่งงานอีกก็ได้ พิธีแต่งงานจัดเป็นการจัดงานมงคลครั้งที่ 4 ให้แก่ลูกชาย ครั้งแรกคือโถ้นเหลิน ครั้งที่ 2 คือการบวชเป็นสามเณร ครั้งที่ 3 คือการบวชเป็นพระ และครั้งที่ 4 คือการแต่งงาน ส่วนลูกสาวจะมีงานมงคลเพียง 2 ครั้ง คือโถ้นเหลินและแต่งงาน ในวันแต่งงานจะแห่ขบวนขันหมากจากบ้านฝ่ายชายไปบ้านเจ้าสาว มีการกั้นประตูเงิน ประตูทองจนกระทั่งถึงที่นอน พิธีเริ่มจากพ่อแม่ทั้ง 2 ฝ่ายผูกข้อมือคู่บ่าวสาวสลับกันแล้วมอบทองหรือเงินขวัญถุง จากนั้นให้ญาติผู้ใหญ่และแขกร่วมผูกข้อมือและอวยพร หากมีพิธีศาสนาก็ให้ทำพิธีศาสนาก่อนแล้วจึงจัดเลี้ยงแขก อาหารที่ใช้เลี้ยงมักเป็นขนมจีนและข้าวซอยมีความหมายให้อยู่ด้วยกันยาวนาน ของชำร่วยที่แจกสมัยก่อนเป็นเมี่ยง 1 คู่และกล้วย 2 ลูก เมื่อแต่งงานเสร็จแล้ว คู่สมรสจะนำ "โคหลู่หางปลา" หรือใบตองกล้วยที่ทำเป็นรูปหางปลาในขบวนขันหมากไปขอขมาญาติผู้ใหญ่ทั้ง 2 ฝ่าย เป็นอันเสร็จพิธี (หน้า 44)

Political Organization

สมัยก่อน ชุมชนไตบ้านเมืองปอนมีการจัดองค์กรชุมชนดังนี้ ด้านการปกครองจะมี "ปู่แค่น" (กำนัน) "ปู่ก้างหรือปู่แก่" (ผู้ใหญ่บ้าน) เป็นผู้ปกครองและดูแลในหมู่บ้าน จะมีนาให้ปู้แค่นและปู่แก่ที่ดำรงตำแหน่ง (ปัจจุบันไม่มีแล้ว) นอกจากนั้นจะมีผู้อาวุโสที่เป็นที่เคารพนับถือเอาไว้ปรึกษาปัญหาต่างๆ เรียกว่า "จองอุปะก่า" (คหบดี) (หน้า 38)

Belief System

ค่านิยมของคนไต 1. นับถือพุทธศาสนาและยึดหลักคำสอนทางพุทธศาสนา เพื่อนำชีวิตไปสู่ความเจริญและนำไปสู่นิพพานซึ่งถือเป็นจุดหมายสูงสุด 2. ให้การยกย่องเคารพผู้อาวุโส ครู - อาจารย์ บิดามารดา และผู้มีพระคุณ 3. ยกย่องและให้ความสำคัญกับการศึกษา การเรียนรู้ และการมีปัญญาดี เพราะจะทำให้ต่อสู้ชีวิตและดำเนินชีวิตไปสู่เป้าหมายแห่งความสำเร็จ 4. รักการทำงาน รักครอบครัว และเพื่อนมนุษย์ 5. ต้องเป็นคนสุภาพ พูดจาดี มีสัมมาคารวะ อ่อนน้อมถ่อมตน รักความสงบ พอใจในสิ่งที่ตนมีอยู่ 6. ให้ความสำคัญกับการพูด เพราะการพูดดีจะทำให้เกิดประโยชน์ทั้งแก่ตัวผู้พูดและคนทั่วไป ไม่เกิดผลร้าย คนไตจึงสุภาพอ่อนโยน 7. เรื่องทั่วๆ ไป เช่น สอนให้มีลูกพอดี เพราะถ้ามีมากก็จะยากจน หรือมีน้อยเกินไปก็จะสอนยาก สอนให้รู้จักคบคนหรือสอนให้อย่าเข้าไปยุ่งเกี่ยวการเมืองเพราะจะลำบากใจ (หน้า 21-22) วัฒนธรรมประเพณี คติความเชื่อ ศาสนา : คนไตในชุมชนบ้านเมืองปอนมีความเชื่อมั่นในพุทธศาสนาโดยเฉพาะพระรัตนตรัย ความเชื่อหลักที่ชุมชนยึดปฏิบัติคือ ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว บาปบุญคุณโทษ อานิสสงส์ของการทำบุญ ยิ่งทำดีหรือทำบุญมาก ตายไปแล้วจะได้ไปเสวยสุขในโลกสวรรค์และถึงพระนิพพานในที่สุด สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่มองไม่เห็น : คนไตบ้านเมืองปอนเชื่อว่า ทุกๆ ที่จะมีเทวดาให้ความคุ้มครองตนและครอบครัว ทุกวันพระจะมีการนำเอากระทงข้าว (ก๊อกต่าง) ไปวางไว้ในจุดที่คิดว่ามีสิ่งศักดิ์สิทธิ์สิงสถิตคอยให้ความคุ้มครองตนและครอบครัวจากอันตราย วันพระในช่วงเทศกาลเข้าพรรษาหรือวันสำคัญทางพุทธศาสนา ชาวบ้านจะนำกระทงไปวางยังจุดต่างๆ เพิ่มมากขึ้น โดยความเชื่อหลักในสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่มองไม่เห็นของคนในชุมชน มีดังนี้ คือ 1) ความเชื่อเรื่องท้าวทั้ง 4 ที่ได้รับอิทธิพลจากพุทธศาสนาเรื่องไตรภูมิพระร่วง 2) ความเชื่อเรื่องผีเจ้าเมือง ที่ชาวบ้านเมืองปอนเชื่อว่าเป็นวิญญาณบรรพบุรุษหรือผู้ปกครองบ้านเมืองในอดีตที่กลายเป็นเทวดา ทำหน้าที่คอยสอดส่องดูแลไม่ให้เกิดภัยอันตรายจากสิ่งเหนือธรรมชาติ 3) ความเชื่อเรื่องเสาใจบ้าน ที่มีลักษณะเหมือนเสาหลักเมือง ไม่มีเทวดาสิงสถิตอยู่ที่ใจกลางบ้าน เป็นเสาที่ปักไว้เพื่อเป็นเครื่องหมายว่าจะมาตั้งถิ่นฐาน ณ ที่แห่งนี้ ในสมัยที่พญาไพศาลเริ่มสร้างหมู่บ้าน 4) ความเชื่อเรื่องผีเจ้าบ้าน มีหน้าที่ดูแลอันตรายไม่ให้เกิดกับชาวบ้าน (หน้า 41-43, หน้า 74-75) ประเพณีเกี่ยวกับทารกเกิดใหม่ เมื่อทารกอายุ 30 วัน พ่อแม่จะทำพิธีมงคล "อาบเหลิน" หรือ "โถ้นเหลิน" ถ้าเป็นลูกสาวต้องทำภายใน 30 วัน ส่วนลูกชายอายุเกิน 30 วันก็ทำได้ เชื่อว่าหากไม่ทำพิธีนี้ลูกจะดื้อ พ่อแม่อาจจะทำพิธีเองหรือเชิญคนเฒ่าคนแก่ที่เคารพในหมู่บ้านมาร่วมพิธีด้วยก็ได้ เริ่มจากให้เด็ก "อาบน้ำเงิน น้ำทอง" จากนั้นให้ปู่ ย่า ตา ยาย ผูกข้อมือและอวยพรพร้อมให้เงินหรือเงินขวัญถุงแก่เด็ก จากนั้นให้ผู้มาร่วมงานร่วมผูกข้อมือและอวยพร ถ้าพระมาร่วมพิธีก็ให้พระตัดผมไฟก่อน เสร็จแล้วจะถวายภัตตาหารแด่พระภิกษุ สามเณร ที่นิมนต์มา และเลี้ยงอาหารผู้ที่มาร่วมงาน หมอตำแยที่ทำคลอดเด็กทารกเรียกว่า "แม่เก็บ" ถือเป็นแม่อีกคนหนึ่ง เพราะนอกจากทำคลอดและตัดสายสะดือแล้วยังต้องเฝ้าอาการแม่และลูกอีก 1 สัปดาห์ ดังนั้นเมื่อถึงเวลาที่คนไตต้องทำพิธีรดน้ำดำหัวขอขมา (กั่นตอ) ผู้มีพระคุณญาติผู้ใหญ่ จึงต้องไปกั่นตอแม่เก็บด้วย (หน้า 43-44) ประเพณีการตาย เมื่อมีคนตายในบ้าน ญาติและเพื่อนบ้านจะช่วยกันอาบน้ำศพ แล้วนำศพไปตั้งบนเสื่อตรงขื่อ ห่มด้วยผ้าขาว เอาด้ายขาวผูกมือให้อยู่ในท่าประนมมือไว้บนหน้าอก ตั้งแจกันดอกไม้และจุดเทียนหรือตะเกียงกระป๋องไว้บนหัวนอน ศพจะตั้งบำเพ็ญกุศลอยู่ประมาณ 2-5 วัน ถ้าผู้ตายเป็นหญิงหรือชายโสดเรียกว่า "ต๋ายหัวหล่อต๋อ" คนหามศพจะนำร่องชนตอไม้ 3 ครั้ง แล้วนำไปฝังหรือเผา ถ้าเป็นการตายผิดปกติ เช่น ถูกฆ่าตาย กินยาตาย หรือตายท้องกลม จะให้เผาในวันที่ตาย คนที่ตายนอกบ้านจะไม่ให้นำเข้าบ้านเด็ดขาด ตายที่ไหนก็ให้ตั้งศพบำเพ็ญกุศลที่นั่น ในวันขึ้นหรือแรม 9 ค่ำ จะไม่นำศพไปเผา เพราะเกรงว่าจะเกิดอาเพทแก่ผู้มีชีวิต คนตายท้องกลมจะต้องให้สามีข้ามน้ำ โดยแก้ผ้าแล้วไปใส่เสื้อผ้าอีกฟากหนึ่งแล้วไปบวชที่วัด จะไม่ยอมให้ศพที่ตายที่อื่นผ่านมาในหมู่บ้านของตน แม้กระทั่งป่าช้าก็ไม่นิยมพัฒนาหรือย้ายป่าช้า เพราะเกรงว่าจะเกิดอาเพทให้คนตายมากกว่าปกติ เมื่อมีคนตายในหมู่บ้าน สล่าส่อจะต้องประกาศให้ชาวบ้านทราบเพื่อช่วยกันจัดการศพ ก่อนฝังหรือเผาจะใช้น้ำมันมะพร้าวล้างหน้าศพก่อน (หน้า 45) ประเพณีในรอบปี งานประเพณีของชุมชนนี้เกิดจากความเชื่อจากการศรัทธาศาสนาพุทธเป็นหลัก ด้วยความเป็นสังคมเกษตรกรรม งานประเพณีในรอบปีจึงสอดคล้องกับการเพาะปลูก งานพิธีกรรมสำคัญมักจัดขึ้นช่วงหลังเก็บเกี่ยวและช่วงก่อนลงไร่ลงนา เพื่ออ้อนวอนสิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้ฝนตกต้องตามฤดูกาลและอำนวยให้พืชผลงอกงามเก็บเกี่ยวดี งานประเพณีวัฒนธรรมของคนไตบ้านเมืองปอนเรียกว่า "หย่าสี่สิบสองเหลิน" จะเน้นการทำบุญทำทานเป็นหลัก "หย่าสี่" หรือกำหนดการประจำปีตรงกับคำว่า "ราศี 12 เดือน" หรือประเพณี 12 เดือน ตามปฏิทินของคนไตเรียกเดือนแรกว่า "เหลินเจี๋ยง" ตรงกับเดือนแรกของการนับเดือนของคนไทยภาคกลางแต่ตรงกับเดือนธันวาคมตามปฏิทินสากล ขณะที่ชาวล้านนาจะเรียกเดือนแรกของปีว่า "เดือนอ้าย" ตรงกับปฏิทินสากลเดือนตุลาคม (ดูรายละเอียดเกี่ยวกับประเพณีและกิจกรรมในรอบปีของคนไตบ้านเมืองปอนได้ที่หน้า 46-50) สำหรับสถานที่ทำกิจกรรมเกี่ยวกับศาสนาและความเชื่อมีดังนี้ 1) วัด 2) ศาลเจ้าเมือง ศาลเจ้าบ้าน และเสาใจบ้าน (หน้า 134-135)

Education and Socialization

มีโรงเรียนเปิดสอนชั้นอนุบาล ประถมศึกษา และมัธยมศึกษาตอนต้น 1 แห่ง คือ โรงเรียนชุมชนบ้านเมืองปอน มีศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก 1 แห่ง สังกัดกรมพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย มีศูนย์การศึกษานอกโรงเรียน (กศน.) ขุนยวม 1 แห่ง โดยเปิดสอนทุกวันพฤหัสบดีตั้งแต่ 8.00-12.00 น. ที่ที่ทำการอบต.เก่า ตรงข้ามเสาใจบ้าน (หน้า 37-38)

Health and Medicine

ประเพณีปฏิบัติเกี่ยวกับการคลอดลูก ระยะที่แม่เจ็บท้องใกล้คลอดจะให้ดื่มน้ำมะพร้าวอ่อน เพราะเชื่อว่าเป็นน้ำที่สะอาดและช่วยล้างไขมันที่ติดตัวทารกทำให้คลอดง่าย หลังจากคลอดแล้วแม่ต้องอยู่ไฟ 1 เดือนและงดอาหารแสลงทุกชนิดรวมทั้งน้ำเย็น ทานได้แต่ข้าวสุกหรือข้าวเหนียวปิ้งหรือหมูทาขมิ้นกับเกลือปิ้งและให้ดื่มน้ำต้มกับหัวไพลฝานเป็นแว่น ยาที่ให้แม่อยู่ไฟทานคือยาสมุนไพร "หมิ่นจาลาง" ปรุงจากหัวไพล เกลือ พริกไทย ทารกแรกเกิดจะอาบน้ำโดยใช้น้ำจากบ่อผสมกับน้ำต้มพออุ่น จากนั้นจะใช้สมุนไพรจำพวกใบกระเพราล้างให้สะอาด ขยี้ลงน้ำที่จะให้ทารกอาบ ใช้มือจุ่มลงน้ำผสมใบกระเพราหยอดลงปากให้เด็กดื่มก่อนอาบน้ำเป็นการป้องกันท้องอืด ท้องเฟ้อ ช่วง 3 เดือนแรกให้ทารกดื่มแต่นมแม่เท่านั้นเพราะว่าประหยัดและมีประโยชน์สูงสุด จากนั้นจะให้ข้าวบดหรือกล้วยน้ำว้าสุก เมื่อโตขึ้นจะให้ทานอาหารกับต้มจืดและเปลี่ยนไปตามพัฒนาการ หมอตำแยทำคลอดและตัดสายสะดือแล้วยังต้องเฝ้าอาการแม่และลูกอีก 1 สัปดาห์ (หน้า 43-44)

Art and Crafts (including Clothing Costume)

ไม่มีข้อมูล

Folklore

ไม่มีข้อมูล

Ethnicity (Ethnic Identity, Boundaries and Ethnic Relation)

ไม่มีข้อมูล

Social Cultural and Identity Change

ดูความเปลี่ยนแปลงในการจัดองค์กรชุมชนไตบ้านเมืองปอนระหว่างสถานภาพในอดีตและปัจจุบันเปรียบเทียบกันได้ในตารางที่ 4.1 หน้า 40 ดูวิวัฒนาการของชุมชนไตบ้านเมืองปอนซึ่งสามารถแบ่งได้เป็น 3 ขั้นคือ ขั้นที่ 1 ขั้นเริ่มแรกของการตั้งถิ่นฐาน ขั้นที่ 2 ขั้นชุมชนขยายตัวอันเนื่องมาจากการอพยพของชาวล้านนา (พ.ศ.2471 - 2500) ขั้นที่ 3 ขั้นชุมชนขยายตัวอันเนื่องมาจากการคมนาคมขนส่ง (พ.ศ.2501 ถึงปัจจุบัน) (หน้า 55 - 73) จากงานวิจัยชิ้นนี้พบว่าการเปลี่ยนแปลงที่ส่งผลกระทบต่อชุมชนแบ่งได้เป็น 2 ลักษณะใหญ่ๆ คือ 1) การเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับศาสนาและความเชื่อ คือการแสดงออกเกี่ยวกับความคิด การแสดงออกทางศาสนาและความเชื่อที่เปลี่ยนแปลงทำให้กิจกรรมทางวัฒนธรรม การก่อสร้างอาคารสถานที่ที่เกี่ยวข้องกับความเชื่อของคนในชุมชนต้องเปลี่ยนแปลงไป 2) การเปลี่ยนแปลงในสิ่งทั่วไป คือการเปลี่ยนแปลงที่ไม่เกี่ยวกับศาสนาและความเชื่อ เช่น การเกิดอาคารสาธารณะหรือสถานที่ราชการ การมีระบบสาธารณูปโภคในหมู่บ้าน การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเกิดจากปัจจัยดังนี้คือ 1) การคมนาคมขนส่งและการสื่อสาร การที่ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 108 สร้างเสร็จและตัดผ่านหมู่บ้าน ทำให้เกิดสิ่งอำนวยความสะดวกขึ้นจำนวนมาก 2) การอพยพย้ายถิ่นของผู้คน ทำให้เกิดการผสมผสานในคติความเชื่อและพฤติกรรม 3) ค่านิยมทางสังคมและวัฒนธรรม โลกทัศน์และค่านิยมที่ยึดมั่นในหลักคำสอนทางพุทธศาสนา 4) การเมืองการปกครอง รูปแบบการปกครองที่มีอำนาจอยู่ที่ส่วนกลางทำให้เกิดภาพลักษณ์ที่แตกต่างกันระหว่างข้าราชการและประชาชนในท้องถิ่น คนในท้องถิ่นจะให้ความนับถือข้าราชการและร่วมมือในกิจกรรมต่างๆ เป็นอย่างดี 5) เศรษฐกิจ การผลิตและประกอบอาชีพยังไม่เห็นความเปลี่ยนแปลงมากนัก คือยังทำเกษตรกรรมเป็นอาชีพหลัก แต่สิ่งที่เปลี่ยนแปลงจนเห็นได้ชัดคือ การบริโภคที่เปลี่ยนจากระบบเศรษฐกิจขั้นต้นที่เน้นการแลกเปลี่ยนและพึ่งพากันในชุมชนไปสู่ระบบเศรษฐกิจที่ซับซ้อนมากขึ้น เกิดความต้องการในสินค้าต่างๆ ทำให้เกิดรูปแบบการบริการเพื่อสนองความต้องการของคนในชุมชนจึงเกิดตลาดสดและเรือนพักอาศัยหลายหลังก็เปลี่ยนเป็นเรือนพักอาศัยกึ่งร้านค้า พ่อค้าเร่ การออกนอกชุมชนเพื่อหาซื้อสินค้ายากมีมากขึ้น (หน้า 123-125 นอกจากนี้งานวิจัยยังสรุปปัญหาในชุมชนที่เกิดขึ้นจากความเปลี่ยนแปลงที่หน้า 137-139)

Critic Issues

ไม่มีข้อมูล

Other Issues

ไม่มี

Map/Illustration

ตาราง บทบาทหน้าที่ทางวัฒนธรรมของคนในชุมชนไต (หน้า 22) สรุปแนวทางการศึกษา (หน้า 28) จำนวนประชากรและจำนวนครัวเรือนในพื้นที่การศึกษา พ.ศ.2542 (หน้า 28) การจัดองค์กรในชุมชนไตบ้านเมืองปอน (หน้า 40) ชื่อ หน้าที่ และบริวารของท้าวทั้งสี่ (หน้า 42) งานประเพณีและกิจกรรมในรอบปี (หน้า 46) อิทธิพลความเชื่อที่มีต่อโครงสร้างกายภาพของชุมชน (หน้า 52) การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างกายภาพหลักกับวิวัฒนาการชุมชน (หน้า 69) สรุปลักษณะและวิวัฒนาการชุมชน (หน้า 71) ลำดับการนับถือผู้มีพระคุณของคนในชุมชน (หน้า 74) ภาพ การตั้งถิ่นฐานรูปแบบต่างๆ (หน้า 7) วิถีชีวิตชุมชนในรอบปี (หน้า 12) การวางผังหมู่บ้านตามความเชื่อ (หน้า 18) โครงสร้างทางกายภาพของหมู่บ้านต่างๆ ในจังหวัดแม่ฮ่องสอน (หน้า 20) รูปถ่ายทางอากาศบ้านเมืองปอนปี พ.ศ. 2520 (หน้า 53) รูปถ่ายทางอากาศบ้านเมืองปอนปี พ.ศ.2536 (หน้า 54) ลักษณะบ้านในเมืองปอน (หน้า 66)

Text Analyst สิทธิพร จรดล Date of Report 07 พ.ค. 2556
TAG ไทใหญ่, เงี้ยว, ฉาน, ชุมชน, การใช้พื้นที่, กิจกรรมทางสังคม, แม่ฮ่องสอน, Translator -
 
 

 

ฐานข้อมูลอื่นๆของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
  ฐานข้อมูลพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทย
จารึกในประเทศไทย
จดหมายเหตุทางมานุษยวิทยา
แหล่งโบราณคดีที่สำคัญในประเทศไทย
หนังสือเก่าชาวสยาม
ข่าวมานุษยวิทยา
ICH Learning Resources
ฐานข้อมูลเอกสารโบราณภูมิภาคตะวันตกในประเทศไทย
ฐานข้อมูลประเพณีท้องถิ่นในประเทศไทย
ฐานข้อมูลสังคม - วัฒนธรรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  หน้าหลัก
งานวิจัยชาติพันธุ์ในประเทศไทย
บทความชาติพันธุ์
ข่าวชาติพันธุ์
เครือข่ายชาติพันธุ์
เกี่ยวกับเรา
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  ข้อมูลโครงการ
ทีมงาน
ติดต่อเรา
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
ช่วยเหลือ
  กฏกติกาและมารยาท
แบบสอบถาม
คำถามที่พบบ่อย


ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) เลขที่ 20 ถนนบรมราชชนนี เขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ 10170 
Tel. +66 2 8809429 | Fax. +66 2 8809332 | E-mail. webmaster@sac.or.th 
สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2549    |   เงื่อนไขและข้อตกลง