สมัครสมาชิก   
| |
ค้นหาข้อมูล
ค้นหาแบบละเอียด
  •   ความเป็นมาและหลักเหตุผล

    เพื่อรวบรวมงานวิจัยทางชาติพันธุ์ที่มีคุณภาพมาสกัดสาระสำคัญในเชิงมานุษยวิทยาและเผยแผ่สาระงานวิจัยแก่นักวิชาการ นักศึกษานักเรียนและผู้สนใจให้เข้าถึงงานวิจัยทางชาติพันธุ์ได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น

  •   ฐานข้อมูลจำแนกกลุ่มชาติพันธุ์ตามชื่อเรียกที่คนในใช้เรียกตนเอง ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้ คือ

    1. ชื่อเรียกที่ “คนอื่น” ใช้มักเป็นชื่อที่มีนัยในทางเหยียดหยาม ทำให้สมาชิกกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ รู้สึกไม่ดี อยากจะใช้ชื่อที่เรียกตนเองมากกว่า ซึ่งคณะทำงานมองว่าน่าจะเป็น “สิทธิพื้นฐาน” ของการเป็นมนุษย์

    2. ชื่อเรียกชาติพันธุ์ของตนเองมีความชัดเจนว่าหมายถึงใคร มีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมอย่างไร และตั้งถิ่นฐานอยู่แห่งใดมากกว่าชื่อที่คนอื่นเรียก ซึ่งมักจะมีความหมายเลื่อนลอย ไม่แน่ชัดว่าหมายถึงใคร 

     

    ภาพ-เยาวชนปกาเกอะญอ บ้านมอวาคี จ.เชียงใหม่

  •  

    จากการรวบรวมงานวิจัยในฐานข้อมูลและหลักการจำแนกชื่อเรียกชาติพันธุ์ที่คนในใช้เรียกตนเอง พบว่า ประเทศไทยมีกลุ่มชาติพันธุ์มากกว่า 62 กลุ่ม


    ภาพ-สุภาษิตปกาเกอะญอ
  •   การจำแนกกลุ่มชนมีลักษณะพิเศษกว่าการจำแนกสรรพสิ่งอื่นๆ

    เพราะกลุ่มชนต่างๆ มีความรู้สึกนึกคิดและภาษาที่จะแสดงออกมาได้ว่า “คิดหรือรู้สึกว่าตัวเองเป็นใคร” ซึ่งการจำแนกตนเองนี้ อาจแตกต่างไปจากที่คนนอกจำแนกให้ ในการศึกษาเรื่องนี้นักมานุษยวิทยาจึงต้องเพิ่มมุมมองเรื่องจิตสำนึกและชื่อเรียกตัวเองของคนในกลุ่มชาติพันธุ์ 

    ภาพ-สลากย้อม งานบุญของยอง จ.ลำพูน
  •   มโนทัศน์ความหมายกลุ่มชาติพันธุ์มีการเปลี่ยนแปลงในช่วงเวลาต่างๆ กัน

    ในช่วงทศวรรษของ 2490-2510 ในสาขาวิชามานุษยวิทยา “กลุ่มชาติพันธุ์” คือ กลุ่มชนที่มีวัฒนธรรมเฉพาะแตกต่างจากกลุ่มชนอื่นๆ ซึ่งมักจะเป็นการกำหนดในเชิงวัตถุวิสัย โดยนักมานุษยวิทยาซึ่งสนใจในเรื่องมนุษย์และวัฒนธรรม

    แต่ความหมายของ “กลุ่มชาติพันธุ์” ในช่วงหลังทศวรรษ 
    2510 ได้เน้นไปที่จิตสำนึกในการจำแนกชาติพันธุ์บนพื้นฐานของความแตกต่างทางวัฒนธรรมโดยตัวสมาชิกชาติพันธุ์แต่ละกลุ่มเป็นสำคัญ... (อ่านเพิ่มใน เกี่ยวกับโครงการ/คู่มือการใช้)


    ภาพ-หาดราไวย์ จ.ภูเก็ต บ้านของอูรักลาโว้ย
  •   สนุก

    วิชาคอมพิวเตอร์ของนักเรียน
    ปกาเกอะญอ  อ. แม่ลาน้อย
    จ. แม่ฮ่องสอน


    ภาพโดย อาทิตย์    ทองดุศรี

  •   ข้าวไร่

    ผลิตผลจากไร่หมุนเวียน
    ของชาวโผล่ว (กะเหรี่ยงโปว์)   
    ต. ไล่โว่    อ.สังขละบุรี  
    จ. กาญจนบุรี

  •   ด้าย

    แม่บ้านปกาเกอะญอ
    เตรียมด้ายทอผ้า
    หินลาดใน  จ. เชียงราย

    ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ถั่วเน่า

    อาหารและเครื่องปรุงหลัก
    ของคนไต(ไทใหญ่)
    จ.แม่ฮ่องสอน

     ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ผู้หญิง

    โผล่ว(กะเหรี่ยงโปว์)
    บ้านไล่โว่ 
    อ.สังขละบุรี
    จ. กาญจนบุรี

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   บุญ

    ประเพณีบุญข้าวใหม่
    ชาวโผล่ว    ต. ไล่โว่
    อ.สังขละบุรี  จ.กาญจนบุรี

    ภาพโดยศรยุทธ  เอี่ยมเอื้อยุทธ

  •   ปอยส่างลอง แม่ฮ่องสอน

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ปอยส่างลอง

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดย เบญจพล  วรรณถนอม
  •   อลอง

    จากพุทธประวัติ เจ้าชายสิทธัตถะ
    ทรงละทิ้งทรัพย์ศฤงคารเข้าสู่
    ร่มกาสาวพัสตร์เพื่อแสวงหา
    มรรคผลนิพพาน


    ภาพโดย  ดอกรัก  พยัคศรี

  •   สามเณร

    จากส่างลองสู่สามเณร
    บวชเรียนพระธรรมภาคฤดูร้อน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   พระพาราละแข่ง วัดหัวเวียง จ. แม่ฮ่องสอน

    หล่อจำลองจาก “พระมหามุนี” 
    ณ เมืองมัณฑะเลย์ ประเทศพม่า
    ชาวแม่ฮ่องสอนถือว่าเป็นพระพุทธรูป
    คู่บ้านคู่เมืององค์หนึ่ง

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม

  •   เมตตา

    จิตรกรรมพุทธประวัติศิลปะไต
    วัดจองคำ-จองกลาง
    จ. แม่ฮ่องสอน
  •   วัดจองคำ-จองกลาง จ. แม่ฮ่องสอน


    เสมือนสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรม
    เมืองไตแม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ใส

    ม้งวัยเยาว์ ณ บ้านกิ่วกาญจน์
    ต. ริมโขง อ. เชียงของ
    จ. เชียงราย
  •   ยิ้ม

    แม้ชาวเลจะประสบปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัย
    พื้นที่ทำประมง  แต่ด้วยความหวัง....
    ทำให้วันนี้ยังยิ้มได้

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ผสมผสาน

    อาภรณ์ผสานผสมระหว่างผ้าทอปกาเกอญอกับเสื้อยืดจากสังคมเมือง
    บ้านแม่ลาน้อย จ. แม่ฮ่องสอน
    ภาพโดย อาทิตย์ ทองดุศรี
  •   เกาะหลีเป๊ะ จ. สตูล

    แผนที่ในเกาะหลีเป๊ะ 
    ถิ่นเดิมของชาวเลที่ ณ วันนี้
    ถูกโอบล้อมด้วยรีสอร์ทการท่องเที่ยว
  •   ตะวันรุ่งที่ไล่โว่ จ. กาญจนบุรี

    ไล่โว่ หรือที่แปลเป็นภาษาไทยว่า ผาหินแดง เป็นชุมชนคนโผล่งที่แวดล้อมด้วยขุนเขาและผืนป่า 
    อาณาเขตของตำบลไล่โว่เป็นส่วนหนึ่งของป่าทุ่งใหญ่นเรศวรแถบอำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี 

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   การแข่งขันยิงหน้าไม้ของอาข่า

    การแข่งขันยิงหน้าไม้ในเทศกาลโล้ชิงช้าของอาข่า ในวันที่ 13 กันยายน 2554 ที่บ้านสามแยกอีก้อ อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย
 
  Princess Maha Chakri Sirindhorn Anthropology Centre
Ethnic Groups Research Database
Sorted by date | title

   Record

 
Subject ยอง,ประวัติการตั้งถิ่นฐาน,การเปลี่ยนแปลง,วัฒนธรรม,สภาตำบล,เชียงใหม่
Author รัตนาพร เศรษฐกุล
Title การคงอยู่และการปรับเปลี่ยนทางสังคม และวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ไท: กรณีศึกษาหมู่บ้านยอง ตำบลบวกค้าง อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่
Document Type รายงานการวิจัย Original Language of Text ภาษาไทย
Ethnic Identity ยอง คนยอง ชาวยอง ไทยอง ขงเมืองยอง จาวยอง, Language and Linguistic Affiliations ไท(Tai)
Location of
Documents
ห้องสมุดศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร Total Pages 96 Year 2537
Source สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ
Abstract

เป็นการศึกษาเกี่ยวกับ ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ประเพณี ศาสนา ความเชื่อ การเมือง การปกครอง เศรษฐกิจ การศึกษา ความเป็นอยู่ ของยอง ในพื้นที่ ต.บวกค้าง อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่ ศึกษาถึงปัจจัยที่ทำให้เกิดการคงอยู่ และการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมประเพณีความเป็นอยู่ ของยอง สำหรับปัจจัยที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม มี 2 อย่าง ด้วยกันคือ ระบบการศึกษาแบบใหม่ที่มีส่วนทำให้เอกลักษณ์ในท้องถิ่นเกิดการเปลี่ยนแปลง โดยรัฐบาลจะเน้นที่วัฒนธรรมของชาติ และภาษาประจำชาติเป็นหลัก แทนการศึกษาเดิมที่เรียนที่วัด กับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ เช่น ด้านอุตสาหกรรม ในหมู่บ้านแต่เดิมเป็นแบบสังคมเกษตรกรรมก็มีการเปลี่ยนแปลงเพื่อรองรับด้านการท่องเที่ยวที่ขยายตัว และมีการแลกเปลี่ยนซื้อขายมากขึ้น

Focus

ศึกษาสังคม และวัฒนธรรม ของกลุ่มยอง รวมทั้งปัจจัยที่สนับสนุนการดำรงอยู่ของวัฒนธรรม และปัจจัยที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง กับการปรับตัวของยอง (หน้า ฉ, ช)

Theoretical Issues

ไม่มี

Ethnic Group in the Focus

กลุ่มชาติพันธุ์ที่เรียกว่า "ยอง" พื้นเพเดิมอยู่เมืองยอง จังหวัดเชียงตุง ประเทศพม่า เป็นกลุ่มคนที่พูดภาษา ในตระกูลภาษาไท "ยอง" อาศัยอยู่หลายพื้นที่ ในภาคเหนือของไทย เช่น จ.เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง เชียงราย น่าน แพร่ ผู้เขียนระบุว่า ยอง คือ ลื้อ ส่วนเวลาเรียกจะมีคำว่า ไท หรือ ไต นำหน้า เช่น ไทลื้อ ไทเขิน ไทใหญ่ ไทดำ ไทแดง ไทหย่า ฯลฯ (หน้า 7,8)

Language and Linguistic Affiliations

พูดภาษาในตระกูลไท ซึ่งแบ่งกลุ่มตามภาษาถิ่น เช่น กลุ่มที่พูดภาษาลื้อ เรียกว่า ไทลื้อ และกลุ่มที่พูดภาษายอง เรียกว่า ไทยอง ภาษาไทลื้อแตกต่างจากภาษาไทยองคือ มีเสียงวรรณยุกต์สองเสียง ส่วนภาษายองมี สามเสียง (หน้า 7, 8, 67)

Study Period (Data Collection)

บอกเพียงว่า ใช้ระยะเวลาในการวิจัย 1 ปี แต่ไม่ได้บอกวันที่หรือเดือนที่เขียนงาน (หน้า ช)

History of the Group and Community

ประวัติชุมชนยองผูกพันกับวัด ตามคำบอกเล่าของผู้สูงอายุ ในพื้นที่ซึ่งดูจากจารึกไม้ของวัดบวกค้างที่เป็นวัดเก่าแก่ของตำบล โดยสังเกตจากเครื่องสูงสำหรับแห่ธรรมสวาธุหลวงเจ้ายาสิริ เจ้าสุริยวงศาและบริวาร ซึ่งคาดว่าเป็นเจ้านายจากเมืองยอง ได้ร่วมแรงกันสร้างโบสถ์ และพระพุทธรูป 200 องค์ ใน จ.ศ. 1182 ไม้แกะสลักต่างๆ ที่ใช้แห่ในหลายๆ พิธี มีรูปแบบของศิลปะลื้อและยองจากสิบสองปันนาและเชียงตุง สันนิษฐานว่ายองได้เข้ามาตั้งรกรากในล้านนาเป็นเวลานานราว 200 ปีที่ ต.บวกค้าง อ. สันกำแพง จ.เชียงใหม่ (หน้า 11,12, 26, 87)

Settlement Pattern

การสร้างบ้านเรือนเป็นแบบเชียงแสน แต่ก่อนเรือนแต่ละหลังจะปลูกต้นไม้เพื่อความสวยงามและเป็นจุดบอกเขตบ้าน ไม่กั้นรั้วถาวร สามารถเดินสัญจรไปมาได้ตามอัธยาศัย ตามประสาบ้านใกล้เรือนเคียง (หน้า 12,13)

Demography

ประชากร ต.บวกค้าง มีทั้งหมด 7,153 คน เป็นผู้ชายจำนวน 3,577 คน และเป็นผู้หญิง จำนวน 3,576 คน แบ่งออกเป็น 12 หมู่บ้าน รวมครัวเรือนทั้งหมดจำนวน 1,970 ครัวเรือน (หน้า 61)

Economy

การผลิต เพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์แบบยังชีพ ทำนาเป็นหลัก ปลูกพืชผักสวนครัว และเลี้ยงสัตว์เช่น เป็ด ไก่ และหมู เป็นอาชีพเสริม การทำงาน ทุกคนในครอบครัวช่วยกันทำงานใช้แรงงานวัวควายในการไถไร่นา ไม่ใช้เครื่องจักร เมื่อมีเวลาว่าง คนในครอบครัวจะหารายได้เสริม เช่น ปลูกผักสวนครัว รับจ้าง ผู้หญิงก็จะรับจ้างทอผ้า โดยนายทุนจะนำวัสดุมาให้ที่บ้าน ค่าทอคิดค่าเหนื่อย ถ้าเป็นผ้าหน้าแคบเมตรละ 5 บาท ผ้าหน้ากว้าง คิดให้เมตรละ 7-8 บาท ผ้าที่ทอมีหลายลาย อาทิเช่น ลายเกล็ดเต่า ลายน้ำไหล ลายตาราง ฯลฯ แต่เดิมชาวบ้านมีที่ดินเป็นของตัวเองร้อยละ 80-85 ทุกวันนี้มีการทำการเกษตรน้อยลงเพราะขาดน้ำ และแรงงานมีน้อย เนื่องจากคนหนุ่มสาวไปเรียนและไปทำงานในเมือง ตลอดจนศัตรูพืชมีมาก ผลผลิตน้อยราคาตกต่ำหลังจากประสบปัญหาเศรษฐกิจ ดังนั้น จึงเปลี่ยนรูปแบบมาทำการเกษตรเชิงพาณิชย์มากขึ้น เช่น มีการจ้างแรงงาน และใช้รถไถในงาน (หน้า 13, 48-52, 55-60, 73, 75) การแลกเปลี่ยน มีการผลัดเปลี่ยนช่วยกันทำงานในไร่นา เรียกว่า "เอามื้อเอาวัน" ไม่ต้องจ้างค่าแรง จึงทำให้คนในชุมชนมีความสนิทและรักใคร่กันดี (หน้า 53)

Social Organization

ในปัจจุบัน สังคมของยองประกอบด้วย ครอบครัวเดี่ยวเป็นหลัก เพราะสมาชิกในบ้านไม่ค่อยอยู่บ้านไปทำงานที่อื่น และไม่มีญาติผู้ใหญ่ เช่น ปู่ย่า ตากับยาย คอยดูแลลูก หลานเหมือนในอดีต ส่วนเด็กๆ จะมีศูนย์พัฒนาเด็กเล็กคอยดูแล สภาพสังคมยังยึดติดกับระบบจารีตประเพณีและความเชื่อเรื่องผี เช่น ห้ามคนที่เป็นญาติพี่น้องกัน หรือนับถือผีบรรพบุรุษเหมือนกันแต่งงานกัน สำหรับคนที่ไม่ใช่ญาติกัน หากผู้ชายสัมผัสถูกเนื้อต้องตัวผู้หญิง ไม่ว่าจะเจตนาหรือไม่เจตนาก็ตาม ต้องเสียผีให้ฝ่ายหญิงหรืออาจจะแต่งงาน การแต่งงานจะจัดงานเล็ก ผู้ชายเสียค่าสินสอดทองหมั้นให้กับผู้หญิง งานแต่งงานส่วนใหญ่จะจัดที่บ้านผู้หญิง เมื่อแต่งงานแล้ว ผู้ชายจะต้องนอนที่บ้านไม่น้อยกว่า 3 วัน ในช่วงนี้ฝ่ายชายก็จะไปเยี่ยมเยียน และทำความรู้จักกับญาติของฝ่ายหญิง ผู้ชายจะย้ายมาอยู่บ้านผู้หญิง แต่จะมีการตกลงกันอีกรอบว่า ผู้ชายจะอยู่ที่บ้านผู้หญิงต่อไป หรือจะไปอยู่ด้วยกันที่อื่น (หน้า 13,19,43)

Political Organization

การปกครองชุมชนท้องถิ่นในอดีต ยองอพยพมาจากเมืองยอง และหมู่บ้านยอง อ.เชียงแสน จ.เชียงราย โดยมาอยู่ในการปกครอง ของเชียงใหม่ในยุคอาณาจักรล้านนา ในฐานะไพร่เมือง เมืองต่างๆ ของล้านนาจะเป็นเมืองประเทศราชของกรุงเทพฯ ในเชียงใหม่เจ้าหลวงจะมีอำนาจมากที่สุด ปกครองร่วมกับเจ้านายที่สำคัญอีก 4 คน เรียกรวมกันว่า เจ้าขัน 5 ใบ สำหรับการปกครองระดับบนจะมีเค้าสนามหลวง คือจะเป็นที่ประชุมของขุนนางเพื่อกำหนดนโยบาย ตัดสินคดี และเก็บภาษี สำหรับการปกครองส่วนท้องถิ่นหรือระดับล่าง แบ่งเป็นแคว้น โดยจะมีผู้นำซึ่งเรียกว่า "แคว่น" เป็นผู้ปกครอง ตำแหน่งนี้อาจจะเป็นพญาก็ได้ ในแคว้นจะประกอบด้วยหมู่บ้าน ผู้ปกครองหมู่บ้านเรียก "แก่บ้าน" ทำหน้าที่ปกครองหมู่บ้าน ตัดสินคดีความ เก็บภาษีและรวมทั้งการเกณฑ์แรงงาน (หน้า 26-30) การปกครองอย่างเป็นทางการ ในระดับหมู่บ้านมีผู้ใหญ่บ้านหรือพ่อหลวง ทำหน้าที่ปกครอง และดูแลความสงบและตัดสินคดีหากมีการกระทำผิด หรือเกิดเรื่องทะเลาะเบาะแว้งในหมู่บ้าน ในระดับตำบลจะมีคณะกรรมการตำบล จำนวน 26 คน ทำหน้าที่ปกครองและบริหารงานพัฒนาท้องถิ่น โดยมีกำนันเป็นประธาน กรรมการหมู่บ้านประกอบด้วย ผู้ใหญ่บ้านของแต่ละหมู่บ้าน แพทย์ประจำตำบล ครู และตัวแทนของแต่หมู่บ้าน คณะกรรมการดำรงตำแหน่งวาระ ละ 4 ปี ในหนึ่งปีจะจัดการประชุม 4 ครั้ง หน้าที่ของสภาตำบลได้แก่ จัดทำแผนพัฒนาตำบล แก้ปัญหาด้านความเป็นอยู่ เช่นการจัดหาน้ำเพื่อการเกษตร ส่งเสริมให้คนในชุมชนมีรายได้ และงานด้านสุขภาพอนามัย การศึกษา(หน้า 30-47, ตารางหน้า 36-40)

Belief System

ศาสนาและความเชื่อ ยองนับถือศาสนาพุทธและมีความเชื่อเรื่องผี พื้นที่ ต.บวกค้าง ใน 12 หมู่บ้าน มีวัดทั้งหมด 8 แห่ง การดูแลและสร้างสิ่งก่อสร้างที่สำคัญ ชาวบ้านจะช่วยกันทำบุญในงานปอยหลวง ในวันงาน ยองจะทำกับข้าวมาที่วัดและมีมหรสพทั้งกลางวันและกลางคืน สำหรับพิธีของยองที่เกี่ยวกับศาสนาพุทธและความเชื่อเรื่องผีได้แก่ พิธีเลี้ยงใจบ้าน ซึ่งเป็นพิธีขับไล่สิ่งอัปมงคล ออกจากบ้าน โดยจะนิมนต์พระ 9 รูป มาสวดสืบชะตาให้กับหมู่บ้าน สำหรับฝ่ายชาวบ้าน อาจารย์ผู้ทำพิธีจะทำพิธีส่งเคราะห์หลวง ที่บริเวณใจบ้าน ด้านชาวบ้านก็จะทำสะตวง ใส่รูปปั้นคนและสัตว์ จำนวน 108 อัน แล้วนำไปวางไว้ 8 ทิศ รอบหมู่บ้าน จากนั้นก็จะโยงสายสิญจน์ไปยังบ้านแต่ละหลังในหมู่บ้าน ชาวบ้านจะเอาขันทรายกับน้ำส้มป่อยมาวางไว้ เมื่อจบพิธีก็จะพรมน้ำส้มป่อยเพื่อขับไล่สิ่งอัปมงคลออกจากบ้าน (หน้า 14,18-20, 85) ประเพณีในรอบปี - เดือนเกี๋ยง ตรงกับเดือน ตุลาคม วันขึ้น 15 ค่ำ เป็นวันออกพรรษา ชาวบ้านจะมาทำบุญ และคนสูงอายุจะมาจำศีลที่วัด หากเป็นวันแรม 1 ค่ำชาวบ้านจะร่วมกันตักบาตรเทโว โดยจะนิมนต์พระมาบิณฑบาต หลายรูป ชาวบ้านจะมาตักบาตรร่วมกัน ที่ถนนสายสำคัญของหมู่บ้าน ในเดือนนี้แต่ก่อนชาวบ้าน มักจะทอดผ้าป่ากันเป็นจำนวนมาก (หน้า 14) - เดือนยี่ จัดงานวันลอยกระทง ในวันขึ้น 12 ค่ำ ในตำบลบวกค้างจะไม่ลอยกระทงเนื่องจาก ไม่มีแหล่งน้ำที่กว้างขวาง ส่วนมากชาวบ้านจะไปลอยกระทงที่แม่น้ำปิงในตัวเมือง ในวันนี้ที่วัดจะปล่อยโคมลอย และจุด "ผังผะตีป" ให้เกิดความสว่าง ในวันนี้บ้านบางหลังจะทำโขงประตู โดยจะนำต้นอ้อย และต้นมะพร้าวมาประดับ นอกจากนี้ ในเดือนนี้ จะจัดพิธี หรือ ตั้งธรรมหลวงวันยี่เป็ง กับ "ยอตานธรรม หรือ ตานหาเผดหาผี" เพื่อทำบุญอุทิศแก่ผู้ที่เสียชีวิต (หน้า 15) - เดือน 3 ทำพิธีสู่ขวัญข้าวบูชาเจ้าแม่โพสพ ของที่ใช้ประกอบพิธี ได้แก่ ไก่ ต้ม 2 ตัว เหล้า 1 ไห ขนม ผลไม้ หมาก เมี่ยง นำของทั้งหมดใส่ในกระทงแล้วนำไปวางไว้ที่นา ส่วนพิธีที่นา ก็จะทำพิธีช้อนขวัญข้าวมาไว้ที่ยุ้ง ของที่ใช้ในพิธีได้แก่ ข้าว 1 ปั้น กล้วย 1 ลูก ใบพลู กับผ้าสีขาว คำทำพิธีจะเรียกขวัญและช้อนด้วยสวิง (หน้า 15-16) - เดือน 4 จัดประเพณีตานข้าวใหม่ เพื่ออุทิศแก่พ่อแม่ญาติพี่น้องที่เสียชีวิตไปแล้ว ชาวบ้านจะไปทำบุญที่วัด โดยนำอาหารของหวานที่ทำจากข้าว ข้าวต้มมัด ข้าว ข้าวสาร ข้าวเปลือกไปถวายพระที่วัด หากมีคนไปทำบุญเยอะ ได้ข้าวเป็นจำนวนมาก ก็จะเอาข้าวไปขาย เมื่อขายได้จะแบ่งเป็น 3 ส่วนคือ ส่วนที่หนึ่ง จะนำไปถวายพระสงฆ์ อีกสองส่วนที่เหลือนำถวาย พระพุทธ พระธรรม โดยจะนำเงินมาจับจ่ายใช้สอยเป็นค่าต่างๆ ภายในวัด โรงเรียน ใช้ประโยชน์ในหมู่บ้าน และบริจาคให้วัดบ้านอื่น เป็นต้น ประเพณีตานหลัวผิงไฟพระเจ้า คือ การถวายฟืนแก่พระพุทธรูปเพื่อก่อไฟผิง ป้องกันความหนาวเหน็บในพิธีพระเณรที่วัดจะไปหาฟืนยาวประมาณ 1 วา แล้วนำมาก่อไฟที่บริเวณข้างวิหารราวๆ ตี 4 ถึง ตี 5 ในส่วนของชาวบ้านก็จะนำฟืน ข้าว และดอกไม้มาร่วมทำบุญที่วัดเช่นกัน (หน้า 16) - เดือน 5 ประเพณีปอยน้อย หรือบวชเณร ในอดีตพิธีนี้ทำเพื่อให้ลูกหลานได้เล่าเรียน เพราะว่าไม่มีโรงเรียนเปิดสอนเช่นในปัจจุบัน (หน้า 16) - เดือน 6 งานปอยหลวงฉลองสิ่งก่อสร้างต่างๆ ในวัด อาทิ เช่น กุฏิ วิหาร ศาลา ฯลฯ เพื่อทำบุญเอาไว้ในชาติหน้า งานนี้ชาวบ้านถือว่าเป็นงานสำคัญ เมื่อถึงวันก็จะทำอาหาร ทำตุงมาถวายวัด (หน้า 17) - เดือน 7 วันสงกรานต์ จัดงาน 3 วัน ในวันที่ 13, 14, 15 เมษายน งานที่จัดมีดังนี้ วันแรก คือ "วันล่อง" เป็นวันทำความสะอาดบ้านเรือน วันที่สอง "คือวันเนา" (วันเน่า) ต้องพูดดีทำดีไม่มีปากเสียงกับคนอื่น และ ไม่ให้เด็ดต้นไม้ ดอกไม้ ดั่งคำว่า "ผักบ่หื้อเด็ด เห็ดบ่หื้อไซ้ " ในวันนี้จะนำอาหารคาว หวาน ไปทำบุญ และในตอนเย็นจะขนดินไปก่อเจดีย์ทรายที่วัด ด้วยความเชื่อที่ว่า ผู้ที่มาวัด ตอนกลับจะเหยียบทรายติดรองเท้าไปด้วย ดังนั้น จึงเป็นที่มาของการขนทรายเข้าวัด (หน้า 17) วันที่สาม คือ "วันพญาวัน" เป็นวันรดน้ำดำหัวผู้สูงอายุ ทำบุญให้แก่ญาติที่เสียชีวิตไปแล้ว เรียกว่า "ตานขันข้าว" คนหนุ่ม คนสาวจะนำไปปักบนกองทรายที่ก่อไว้ที่วัด เพื่อเชื่อว่าจะเป็นหนทางสู่สวรรค์ เพราะคนที่ตายจะได้จับชายตุงขึ้นไป สำหรับ "ตุงไจ" ที่เป็นตุงขนาดใหญ่ที่ปักข้างถนน จะไม่ให้คนที่เป็นหนุ่มทำ เพราะเชื่อว่าจะทำให้ใจไม่หนักแน่นแกว่งไกวดั่งสายลม ไม่ใคร่จะอยู่นิ่งกับผู้เป็นเจ้าของ ในวันพญาวัน ชาวบ้านจะร่วมกันแห่ไม้ก้ำสะหลี ซึ่งเป็นไม้ง่ามขนาดใหญ่ 3 อัน ที่เปรียบเหมือนสัญลักษณ์ของ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ การทำบุญ ชาวบ้านจะนำไม้ง่าม ยาว 1 ศอก จำนวนเท่ากับคนในบ้าน ไปรวมที่วัดให้พระสวดเพื่อสืบชะตา จากนั้นก็จะไปต้นโพธิ์ เพื่อนำไม้ง่ามเหล่านั้นวางไว้ที่โคนต้น ส่วนในหมู่บ้านก็จะทำพิธีส่งเคราะห์หลวง หรือ ตานใจบ้าน บางครั้งเรียกว่า "แป๋งบ้าน" เพื่อให้ชีวิตมีแต่ความสุขความเจริญสุขภาพแข็งแรง (หน้า 17) - เดือน 8 (พฤษภาคม) ประเพณีในเดือนนี้ไม่กล่าวถึงโดยตรง แต่เล่าถึงงานปอยหลวงไม้สรีคำ ที่เมืองยอง ประเทศพม่าว่า ทุกวันขึ้น 15 ค่ำ ของเดือนนี้ ประชาชนจากเมืองเชียงตุง ท่าขี้เหล็ก ท่าเดื่อ เมืองพะยาก เมืองโก เมืองเลน ฯลฯ จะเดินทางนำไม้มาค้ำต้นมหาโพธิ์ ซึ่งตามความเชื่อแล้ว เชื่อว่ากิ่งต้นโพธิ์นำมาจากประเทศอินเดีย (หน้า 18) - เดือน 9 ทำบุญเลี้ยงผีบรรพบุรุษ เพื่อระลึกถึงบุญคุณที่บรรพบุรุษเคยทำเอาไว้ ในวันขึ้น 9 ค่ำ จะทำพิธีเลี้ยงผีเสื้อบ้าน ชาวบ้านจะนำอาหารที่ผีเสื้อบ้านชอบ มาร่วมกันทำบุญที่หอเสื้อบ้าน เพื่อให้ผีเสื้อบ้านคุ้มครองหมู่บ้าน และให้มีแต่ความอยู่ดีกินดี ส่วนการเลี้ยงผีอื่นๆ ในเดือนนี้ ยังมีการเลี้ยงผีเสื้อวัด โดยคนที่เลี้ยงจะเป็นล่ามวัด ส่วนการเลี้ยงผีขุนน้ำแม่ออน จะทำพิธีวันแรม 14 ค่ำ และจะจัดเลี้ยงในวัน 15 ค่ำ เพื่อเลี้ยงขอบคุณที่ผีขุนน้ำช่วยรักษาต้นไม้ลำธาร ให้มีน้ำอุดมสมบูรณ์เพียงพอต่อการเพาะปลูก ที่ผ่านมาประชาชนในหมู่บ้าน เขต อ.สันกำแพง จะร่วมกันออกเงินช่วยกัน ซื้อของเซ่นไหว้ เช่นซื้อ วัวตัวผู้สีดำ 1 ตัว หมูตัวผู้ 1 ตัว ไก่ตัวผู้สีดำ 1 ตัว เหล้าและข้าวสาร แต่ทุกวันนี้เหลือชาวบ้าน จากหมู่ 3 กับ หมู่ 5 เท่านั้น ที่ยังจัดพิธีนี้ (หน้า 19) - เดือน 10 ทำพิธีแฮกนา บูชาแม่โพสพ โดยจะนำอาหาร และผลไม้ เช่น กล้วย และอ้อย ใส่สะตวง จำนวน 6 อัน วางไว้ทั้ง 4 ทิศเพื่อถวายท้าวทั้ง 4 ด้านบนวางไว้เพื่อถวาย พระอินทร์ ส่วนที่วางด้านล่างเพื่อถวายแม่ พระธรณี เจ้าที่ประจำนา (หน้า 20) - เดือน 11 เข้าวัดฟังธรรมทุกวันพระ การทำนาก็จะช่วยกัน "เอามื้อเอาวัน" ผลัดเปลี่ยนช่วยเหลือกันดำนา คนที่เป็นเจ้าของนาจะทำอาหารเลี้ยงตอบแทน น้ำใจเพื่อนบ้านที่มาช่วยทำงาน ในเดือนนี้จะทำพิธีทำขวัญควายด้วย เพื่อขอโทษขอโพยต่อควาย ที่คนได้เฆี่ยนตี ดุด่าขณะไถนา เจ้าของควายจะอาบน้ำให้ควาย และให้กินหญ้าจนอิ่ม จากนั้นเจ้าของก็จะทำพิธีเรียกขวัญควาย ซึ่งของที่ใช้ประกอบด้วยของต่างๆ อาทิเช่น ข้าวตอก ดอกไม้ ธูปเทียน ด้ายสายสิญจน์ ข้าว น้ำ หญ้า ไก่ต้ม 1 คู่ เหล้า 1 ไห กับน้ำส้มป่อย นำด้ายสายสิญจน์พันรอบเขาควาย พรมด้วยน้ำขมิ้นส้มป่อย (หน้า 22) - เดือน 12 ทำบุญอุทิศให้แก่ญาติพี่น้องที่เสียชีวิตไปแล้ว และจัดประเพณีกิ๋นก๋วยสะลากหรือประเพณีสลากภัต (หน้า 14-23, 53, 54, 84, 85)

Education and Socialization

ในพื้นที่ ต.บวกค้าง อ.สันกำแพง มีโรงเรียน 7 แห่งด้วยกัน ประกอบด้วย โรงเรียนบ้านบวกค้าง โรงเรียนป่าตาล โรงเรียนวัดย่าปาย โรงเรียนบ้านกอสะเลียม โรงเรียนบ้านร้องก่องข้าว โรงเรียนวัดช่างเพี้ยน โรงเรียนวัดบ้านโป่ง เมื่อก่อนนี้ชาวบ้านจะส่งลูกหลานไปเรียนที่วัด โดยจะให้บวชเป็นเณร ในประเพณีปอยน้อย เพราะไม่มีโรงเรียนเปิดสอน เช่นทุกวันนี้ สำหรับการเรียนสายสามัญ โรงเรียนบ้านบวกค้าง เปิดสอนครั้งแรก เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2465 โดยเปิดสอนถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ขณะที่บรรยากาศการเรียนการสอน ของนักเรียน ในพื้นที่ ต.บวกค้าง ทุกวันนี้ นักเรียนเหล่านี้ มีโอกาสได้เรียนในระดับชั้น ที่สูงขึ้น ในเขต อ.สันกำแพง หรือในตัวเมืองเชียงใหม่ ราวร้อยละ 80 ถึงร้อยละ 100 ขณะที่เมื่อก่อนนี้ นักเรียนส่วนใหญ่ต้องยุติการเล่าเรียนลงกลางครัน และขาดโอกาสที่จะได้เรียนต่อในชั้นสูงกว่าการศึกษาภาคบังคับ สำหรับยอดจำนวนนักเรียนที่มีโอกาสได้เรียนต่อ เมื่อก่อนมีเพียงร้อยละ 15 ของจำนวนนักเรียนในพื้นที่ ส่วนการศึกษานอกโรงเรียน จะเปิดสอนที่วัดป่าตาล ในช่วงวันเสาร์-อาทิตย์ ผู้เขียนระบุว่า มีผู้มาเรียนเป็นจำนวนมาก แต่ไม่ได้บอกตัวเลขที่แน่นอน (หน้า 16, 66-73, 83, 84)

Health and Medicine

- การรักษาทางไสยศาสตร์ เช่น การทำให้ชีวิต อยู่ดีมีสุข โดยการทำพิธี ส่งเคราะห์หลวง "ตานใจบ้าน" หรือ "แป๋งบ้าน" ในวันที่ 16 เมษายน ช่วงสงกรานต์ของทุกปี - พิธีส่งแถนจะนำอาหารและขนม กับสะตวงบูชา นำรูปปั้นคนใส่ลงไป เพื่อให้เคราะห์นั้น ไปอยู่กับรูปปั้นแทนคนป่วย - พิธีสูดก๋อม (สูดก๋วม) ทำพิธีนี้เพื่อรักษาเด็กที่เจ็บป่วย เพราะมีผีเด็กลักลอบมาเกิด จึงทำให้เด็กเจ็บป่วย พิธีจะจัดที่ทางแยก ปักตาแหลว 4 ทิศ ในพิธีจะใช้บาตร 1 ใบ เนื้อและปลาสด ผักกับด้าย จะให้เด็กอยู่บริเวณตรงกลาง แล้วให้พระนั่งสวด 4 มุม หลังจากที่พระสวดเรียบร้อยแล้ว ก็จะพรมน้ำมนต์ และนำบาตรครอบหัวเด็ก เป็นอันจบพิธี (หน้า 18, 24)

Art and Crafts (including Clothing Costume)

จองหลิ่ง เป็นภาชนะใส่เครื่องอุปโภค บริโภค เพื่อทอดผ้าป่า มี 4 ขา โดยจะนำลำไม้ไผ่ กับกิ่งมะขามมาผูกเหมือนกับต้นไม้ แล้วใช้ในขบวนแห่เพื่อไปทำบุญที่วัด (หน้า 15) ใจบ้าน คือสิ่งศักด์สิทธิ์ประจำหมู่บ้าน ถือเป็นสัญลักษณ์ของลื้อ เขิน และยอง ใจบ้านจะเป็นไม้หรือหินก็ได้ ถ้าเป็นไม้จะเป็นเสาเดี่ยวหรือเสาขนาดใหญ่ มีเสาขนาดเล็ก 4 ต้น ตั้งล้อมไว้ สำหรับใจบ้านของ ต.บวกค้าง เป็นเสาไม้ บริเวณฐานไม้เป็นคอนกรีตล้อมด้วยเสาไม้กั้นด้วยรั้วไม้ขัดแตะ ในสิบสองปันนา ใจบ้านเป็นก้อนหินก้อนเดียว หรือรูปเส้า เมื่อก่อนนี้จะตั้งที่ใจกลางหมู่บ้าน หรือบริเวณที่ตั้งที่อยู่อาศัยเป็นครั้งแรก ภายหลังเมื่อมีบ้านเรือนมากขึ้น ทำให้ที่ตั้งของใจบ้านอยู่ในสถานที่แตกต่างกันไป แล้วแต่หมู่บ้าน ใจบ้านจะตั้งในที่ดินของส่วนรวม หรือ ที่ดินส่วนตัวก็ได้ ชาวบ้านจะทำพิธี ตานใจบ้าน (ส่งเคราะห์หลวง แป๋งบ้าน) ในวันที่ 16 เมษายน ซึ่งเป็นวันที่สามในเทศกาลสงกรานต์ของทุกปี (หน้า 18)

Folklore

ตำนานงานตานข้าวใหม่ กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้วมีผัวเมียคู่หนึ่ง เมื่อเก็บเกี่ยวข้าวในนาได้นำข้าวไปถวายพระ แต่พระปฏิเสธและบอกว่า ให้เอาข้าวไปให้พ่อแม่ หรือญาติมิตรที่ตายไปแล้วให้กินอิ่มก่อน เพื่อระลึกถึงความดีของพ่อ แม่หรือญาติที่ให้ที่นาเอาไว้เพื่อปลูกข้าวกิน ดังนั้น เมื่อผัวเมียคู่นั้นได้ทำตามที่พระบอก ตั้งแต่นั้น ประเพณีนี้จึงมีผู้สืบทอดเรื่อยมา กระทั่งถึงทุกวันนี้ (หน้า 16)

Ethnicity (Ethnic Identity, Boundaries and Ethnic Relation)

ไม่มีข้อมูล

Social Cultural and Identity Change

มีการปรับเปลี่ยนในหลายๆ ด้าน เช่น การเกษตร เมื่อก่อนจะใช้แรงงานจากวัว ควาย ทำงานในไร่นา แต่ทุกวันนี้ก็หันมาใช้รถไถนา แทนสัตว์เลี้ยง ขาดแรงงานในครอบครัวเพราะลูกหลานไปเรียน และไปทำงานที่อื่น จึงมีการจ้างแรงงานขึ้นมาทดแทน การเปลี่ยนแปลงด้านประเพณีและวัฒนธรรม พบว่าประเพณีบางอย่างได้สูญหายไป เช่น พิธีแฮกนา ทำขวัญข้าว ก็ไม่ค่อยมีชาวบ้านทำกัน จะมีเพียงบางครอบครัวที่ยังปฏิบัติกันอยู่ การขนข้าวจะขึ้นอยู่ว่าคนที่จะมาช่วยขน หรือรถจะสะดวกตอนไหน การทอผ้า โดยมากจะรับจ้างนายทุนจะเอางานมาทำ คิดเป็นรายชิ้นที่บ้าน หรือเข้าไปทำงานในโรงงานทอผ้า การทอผ้าจะไม่ทอผ้าใส่เองเหมือนในอดีต เพียงแต่จะทอรับจ้างเท่านั้น การเปลี่ยนแปลงด้านภาษา ภาษายองเริ่มมีการสูญหาย เพราะขาดคนสืบทอด คนยองจะพูดยองเฉพาะในกลุ่มคนยองด้วยกัน แต่ถ้าพูดกับคนภายนอกจะ "อู้ลาว" หรือ พูดคำเมือง หากเป็นวัยรุ่นถ้าได้เรียนสูงขึ้น ก็จะพูดภาษาไทยภาคกลางเพิ่มมากขึ้น งานหัตถกรรมแกะสลักไม้ แต่ก่อนคนจะทำงานแกะสลักในพื้นที่ อ.สันกำแพงกันมาก เพราะรัฐบาลส่งเสริม ประกอบกับมีนายทุนสนับสนุนการแกะสลักไม้ขายให้กับนักท่องเที่ยว ต่อมาไม้แพงค่าแรงน้อย ช่างแกะสลักเป็นจำนวนมาก จึงเดินทางมาทำงานในกรุงเทพฯ (หน้า 51-60, 64, 65, 73-76)

Critic Issues

ไม่มีข้อมูล

Other Issues

ไม่มี

Map/Illustration

แผนที่ แผนที่อำเภอสันกำแพง (หน้า 3) แผนที่ตำบลบวกค้าง (หน้า 5) ตาราง ข้อมูลความจำเป็นพื้นฐาน พ.ศ. 2538 ต.บวกค้าง อ.สันกำแพง (หน้า 36) ข้อมูล กชช. 2 ค.พ.ศ.2537 ต.บวกค้าง (หน้า 37) ระดับการพัฒนาหมู่บ้าน ใน ต.บวกค้าง (หน้า 38) แผนพัฒนาตำบล 5 ปี 2538-2539 (หน้า 39) แผนพัฒนาตำบลปี พ.ศ. 2538 (หน้า 40) ข้อมูลการใช้น้ำ (หน้า 50) อาชีพของประชาชน ต.บวกค้าง (หน้า 55) ข้อมูลทั่วไป ต.บวกค้าง (หน้า 61) ข้อมูลการเกษตร อ.สันกำแพง พ.ศ. 2538 (หน้า 62) โรงเรียนใน ต.บวกค้าง (หน้า 66) นักเรียนโรงเรียนวัดบ้านโป่ง พ.ศ. 2538 (หน้า 70) จำนวนนักเรียนของแต่ละโรงเรียน ปี 2521 และ ปี 2538 (หน้า 71)

Text Analyst ภูมิชาย คชมิตร Date of Report 09 พ.ค. 2556
TAG ยอง, ประวัติการตั้งถิ่นฐาน, การเปลี่ยนแปลง, วัฒนธรรม, สภาตำบล, เชียงใหม่, Translator -
 
 

 

ฐานข้อมูลอื่นๆของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
  ฐานข้อมูลพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทย
จารึกในประเทศไทย
จดหมายเหตุทางมานุษยวิทยา
แหล่งโบราณคดีที่สำคัญในประเทศไทย
หนังสือเก่าชาวสยาม
ข่าวมานุษยวิทยา
ICH Learning Resources
ฐานข้อมูลเอกสารโบราณภูมิภาคตะวันตกในประเทศไทย
ฐานข้อมูลประเพณีท้องถิ่นในประเทศไทย
ฐานข้อมูลสังคม - วัฒนธรรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  หน้าหลัก
งานวิจัยชาติพันธุ์ในประเทศไทย
บทความชาติพันธุ์
ข่าวชาติพันธุ์
เครือข่ายชาติพันธุ์
เกี่ยวกับเรา
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  ข้อมูลโครงการ
ทีมงาน
ติดต่อเรา
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
ช่วยเหลือ
  กฏกติกาและมารยาท
แบบสอบถาม
คำถามที่พบบ่อย


ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) เลขที่ 20 ถนนบรมราชชนนี เขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ 10170 
Tel. +66 2 8809429 | Fax. +66 2 8809332 | E-mail. webmaster@sac.or.th 
สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2549    |   เงื่อนไขและข้อตกลง