สมัครสมาชิก   
| |
ค้นหาข้อมูล
ค้นหาแบบละเอียด
  •   ความเป็นมาและหลักเหตุผล

    เพื่อรวบรวมงานวิจัยทางชาติพันธุ์ที่มีคุณภาพมาสกัดสาระสำคัญในเชิงมานุษยวิทยาและเผยแผ่สาระงานวิจัยแก่นักวิชาการ นักศึกษานักเรียนและผู้สนใจให้เข้าถึงงานวิจัยทางชาติพันธุ์ได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น

  •   ฐานข้อมูลจำแนกกลุ่มชาติพันธุ์ตามชื่อเรียกที่คนในใช้เรียกตนเอง ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้ คือ

    1. ชื่อเรียกที่ “คนอื่น” ใช้มักเป็นชื่อที่มีนัยในทางเหยียดหยาม ทำให้สมาชิกกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ รู้สึกไม่ดี อยากจะใช้ชื่อที่เรียกตนเองมากกว่า ซึ่งคณะทำงานมองว่าน่าจะเป็น “สิทธิพื้นฐาน” ของการเป็นมนุษย์

    2. ชื่อเรียกชาติพันธุ์ของตนเองมีความชัดเจนว่าหมายถึงใคร มีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมอย่างไร และตั้งถิ่นฐานอยู่แห่งใดมากกว่าชื่อที่คนอื่นเรียก ซึ่งมักจะมีความหมายเลื่อนลอย ไม่แน่ชัดว่าหมายถึงใคร 

     

    ภาพ-เยาวชนปกาเกอะญอ บ้านมอวาคี จ.เชียงใหม่

  •  

    จากการรวบรวมงานวิจัยในฐานข้อมูลและหลักการจำแนกชื่อเรียกชาติพันธุ์ที่คนในใช้เรียกตนเอง พบว่า ประเทศไทยมีกลุ่มชาติพันธุ์มากกว่า 62 กลุ่ม


    ภาพ-สุภาษิตปกาเกอะญอ
  •   การจำแนกกลุ่มชนมีลักษณะพิเศษกว่าการจำแนกสรรพสิ่งอื่นๆ

    เพราะกลุ่มชนต่างๆ มีความรู้สึกนึกคิดและภาษาที่จะแสดงออกมาได้ว่า “คิดหรือรู้สึกว่าตัวเองเป็นใคร” ซึ่งการจำแนกตนเองนี้ อาจแตกต่างไปจากที่คนนอกจำแนกให้ ในการศึกษาเรื่องนี้นักมานุษยวิทยาจึงต้องเพิ่มมุมมองเรื่องจิตสำนึกและชื่อเรียกตัวเองของคนในกลุ่มชาติพันธุ์ 

    ภาพ-สลากย้อม งานบุญของยอง จ.ลำพูน
  •   มโนทัศน์ความหมายกลุ่มชาติพันธุ์มีการเปลี่ยนแปลงในช่วงเวลาต่างๆ กัน

    ในช่วงทศวรรษของ 2490-2510 ในสาขาวิชามานุษยวิทยา “กลุ่มชาติพันธุ์” คือ กลุ่มชนที่มีวัฒนธรรมเฉพาะแตกต่างจากกลุ่มชนอื่นๆ ซึ่งมักจะเป็นการกำหนดในเชิงวัตถุวิสัย โดยนักมานุษยวิทยาซึ่งสนใจในเรื่องมนุษย์และวัฒนธรรม

    แต่ความหมายของ “กลุ่มชาติพันธุ์” ในช่วงหลังทศวรรษ 
    2510 ได้เน้นไปที่จิตสำนึกในการจำแนกชาติพันธุ์บนพื้นฐานของความแตกต่างทางวัฒนธรรมโดยตัวสมาชิกชาติพันธุ์แต่ละกลุ่มเป็นสำคัญ... (อ่านเพิ่มใน เกี่ยวกับโครงการ/คู่มือการใช้)


    ภาพ-หาดราไวย์ จ.ภูเก็ต บ้านของอูรักลาโว้ย
  •   สนุก

    วิชาคอมพิวเตอร์ของนักเรียน
    ปกาเกอะญอ  อ. แม่ลาน้อย
    จ. แม่ฮ่องสอน


    ภาพโดย อาทิตย์    ทองดุศรี

  •   ข้าวไร่

    ผลิตผลจากไร่หมุนเวียน
    ของชาวโผล่ว (กะเหรี่ยงโปว์)   
    ต. ไล่โว่    อ.สังขละบุรี  
    จ. กาญจนบุรี

  •   ด้าย

    แม่บ้านปกาเกอะญอ
    เตรียมด้ายทอผ้า
    หินลาดใน  จ. เชียงราย

    ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ถั่วเน่า

    อาหารและเครื่องปรุงหลัก
    ของคนไต(ไทใหญ่)
    จ.แม่ฮ่องสอน

     ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ผู้หญิง

    โผล่ว(กะเหรี่ยงโปว์)
    บ้านไล่โว่ 
    อ.สังขละบุรี
    จ. กาญจนบุรี

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   บุญ

    ประเพณีบุญข้าวใหม่
    ชาวโผล่ว    ต. ไล่โว่
    อ.สังขละบุรี  จ.กาญจนบุรี

    ภาพโดยศรยุทธ  เอี่ยมเอื้อยุทธ

  •   ปอยส่างลอง แม่ฮ่องสอน

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ปอยส่างลอง

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดย เบญจพล  วรรณถนอม
  •   อลอง

    จากพุทธประวัติ เจ้าชายสิทธัตถะ
    ทรงละทิ้งทรัพย์ศฤงคารเข้าสู่
    ร่มกาสาวพัสตร์เพื่อแสวงหา
    มรรคผลนิพพาน


    ภาพโดย  ดอกรัก  พยัคศรี

  •   สามเณร

    จากส่างลองสู่สามเณร
    บวชเรียนพระธรรมภาคฤดูร้อน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   พระพาราละแข่ง วัดหัวเวียง จ. แม่ฮ่องสอน

    หล่อจำลองจาก “พระมหามุนี” 
    ณ เมืองมัณฑะเลย์ ประเทศพม่า
    ชาวแม่ฮ่องสอนถือว่าเป็นพระพุทธรูป
    คู่บ้านคู่เมืององค์หนึ่ง

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม

  •   เมตตา

    จิตรกรรมพุทธประวัติศิลปะไต
    วัดจองคำ-จองกลาง
    จ. แม่ฮ่องสอน
  •   วัดจองคำ-จองกลาง จ. แม่ฮ่องสอน


    เสมือนสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรม
    เมืองไตแม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ใส

    ม้งวัยเยาว์ ณ บ้านกิ่วกาญจน์
    ต. ริมโขง อ. เชียงของ
    จ. เชียงราย
  •   ยิ้ม

    แม้ชาวเลจะประสบปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัย
    พื้นที่ทำประมง  แต่ด้วยความหวัง....
    ทำให้วันนี้ยังยิ้มได้

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ผสมผสาน

    อาภรณ์ผสานผสมระหว่างผ้าทอปกาเกอญอกับเสื้อยืดจากสังคมเมือง
    บ้านแม่ลาน้อย จ. แม่ฮ่องสอน
    ภาพโดย อาทิตย์ ทองดุศรี
  •   เกาะหลีเป๊ะ จ. สตูล

    แผนที่ในเกาะหลีเป๊ะ 
    ถิ่นเดิมของชาวเลที่ ณ วันนี้
    ถูกโอบล้อมด้วยรีสอร์ทการท่องเที่ยว
  •   ตะวันรุ่งที่ไล่โว่ จ. กาญจนบุรี

    ไล่โว่ หรือที่แปลเป็นภาษาไทยว่า ผาหินแดง เป็นชุมชนคนโผล่งที่แวดล้อมด้วยขุนเขาและผืนป่า 
    อาณาเขตของตำบลไล่โว่เป็นส่วนหนึ่งของป่าทุ่งใหญ่นเรศวรแถบอำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี 

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   การแข่งขันยิงหน้าไม้ของอาข่า

    การแข่งขันยิงหน้าไม้ในเทศกาลโล้ชิงช้าของอาข่า ในวันที่ 13 กันยายน 2554 ที่บ้านสามแยกอีก้อ อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย
 
  Princess Maha Chakri Sirindhorn Anthropology Centre
Ethnic Groups Research Database
Sorted by date | title

   Record

 
Subject ลื้อ,ประวัติ,วัฒนธรรม,การเปลี่ยนแปลง,พะเยา
Author จารุวรรณ พรมวัง
Title การเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมบางประการของชาวไทลื้อ
Document Type วิทยานิพนธ์ Original Language of Text ภาษาไทย
Ethnic Identity ไทลื้อ ลื้อ ไตลื้อ, Language and Linguistic Affiliations ไท(Tai)
Location of
Documents
ห้องสมุดศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร Total Pages 172 Year 2536
Source หลักสูตรปริญญามานุษยวิทยามหาบัณฑิต ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
Abstract

การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาลักษณะโครงสร้างทางสังคมวัฒนธรรมโดยทั่วไปของไทลื้อ และศึกษากระบวนการ แนวโน้ม และปัจจัยการเปลี่ยนแปลงของไทลื้อในด้านภาษา การแต่งกาย และประเพณีเกี่ยวกับความเชื่อ ซึ่งพบว่าไทลื้อมีถิ่นฐานเดิมอยู่ที่สิบสองปันนา ประเทศจีน แต่ไทลื้อที่อาศัยอยู่ทางภาคเหนือของไทย รวมทั้งที่บ้านทุ่งมอกอพยพเข้ามาโดยการถูกกวาดต้อน และการเปลี่ยนแปลงภายในประเทศจีน ซึ่งเมื่อเข้ามาอยู่ได้นำรูปแบบวัฒนธรรมประเพณีเข้ามาปฏิบัติทำให้ยังคงไว้ซึ่งเอกลักษณ์ของกลุ่มชาติพันธุ์ไว้ได้ แต่การศึกษาพบว่าประเพณีและวัฒนธรรมบางประการของไทลื้อที่บ้านทุ่งมอกมีการเปลี่ยนแปลงไป เนื่องจากการขยายตัวของสาธารณูปโภค ทำให้รับการเปลี่ยนแปลงได้ง่ายและรวดเร็วขึ้น ทั้งทางสื่อและผู้คนที่เข้ามาติดต่อ และการแต่งงาน ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญ โดยวัฒนธรรมที่มีการเปลี่ยนแปลงมากที่สุดคือ การแต่งกาย และเปลี่ยนแปลงน้อยที่สุดคือ ภาษา ส่วนประเพณีเกี่ยวกับความเชื่อมีทั้งที่เปลี่ยนและคงรูปแบบบางประการไว้ โดยผู้ที่มีการศึกษาสูง อายุน้อย และมีสถานะทางสังคมสูง จะยอมรับสิ่งใหม่และการเปลี่ยนแปลงได้ง่าย

Focus

เป็นการศึกษาที่เน้นถึงการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมบางประการของไทลื้อ โดยเฉพาะในด้านประเพณีความเชื่อ ภาษา และการแต่งกาย รวมทั้งศึกษาถึงโครงสร้างทางสังคมและวัฒนธรรมโดยทั่วไป นอกจากนี้ ยังมีการศึกษาข้อมูลทางด้านสังคมและวัฒนธรรมของไทลื้อในดินแดนสิบสองปันนาเพื่อเปรียบเทียบกับไทลื้อในเขตพื้นที่เลือกศึกษา และเพื่อแสดงให้เห็นถึงการอนุรักษ์และการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ไทลื้อ

Theoretical Issues

ผู้วิจัยได้เน้นการวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมของไทลื้อใน 4 ประเด็น คือ ประเพณีการตานธรรม การทำพิธีส่งเคราะห์เฮินบ้านเมือง การแต่งกายและภาษา ซึ่งแม้ว่าจะยังถือปฏิบัติมาแต่มีการเปลี่ยนแปลงในรายละเอียดและรูปแบบบางประการ อย่างเช่นในการตานธรรม ดั้งเดิมจะมีการทำทุกปี โดยทำทั้งอุทิศกุศลให้ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว และทำเพื่อสะสมบุญให้ตัวเองซึ่งเป็นพิธีที่ยิ่งใหญ่ แต่ในปัจจุบันได้ลดความสำคัญลงมาก หรือพิธีส่งเคราะห์เฮินบ้านเมือง แต่เดิมมีผู้ชายเข้าร่วมพิธี แต่ปัจจุบันก็มีผู้หญิงร่วมด้วย แม้แต่การแต่งกายซึ่งแสดงเอกลักษณ์เฉพาะของไทลื้อ ก็ยังมีการเปลี่ยนแปลงไป เช่น ไม่มีการโพกหัว ทั้งนี้ผู้วิจัยได้พยายามอธิบายวิธีการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในลักษณะทางวัฒนธรรม หรือประเพณี จากเงื่อนไขหลาย ๆ ประการ เช่น การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ การมีการคมนาคมที่สะดวกสบายเป็นชุมชนเปิด และมีการติดต่อกับโลกภายนอกมาก ทำให้ได้รับวัฒนธรรมจากภายนอก รวมทั้งการแต่งาน อย่างไรก็ตาม ภาษาลื้อยังคงมีความสำคัญในฐานะที่เป็นภาษาแม่ โดยมีการใช้ภาษา "คำเมือง" เป็นภาษารอง ติดต่อกับคนภายนอก ส่วนภาษาไทยมาตรฐานเป็นภาษาทางการใช้ในโรงเรียนเท่านั้น (หน้า 114-116, 146, 149-151, 153)

Ethnic Group in the Focus

ไทลื้อ

Language and Linguistic Affiliations

ผู้วิจัยระบุว่าในดินแดนสิบสองปันนาใช้ภาษาลื้อเป็นภาษาพูดและเขียน มีตัวอักษรเป็นของตนเองทั้งแบบเก่าและแบบใหม่ ซึ่งมีต้นตอมาจากอักษรมอญโบราณ ซึ่งอักษรไทลื้อบางครั้งเรียกว่า "อักษรไทยน้อย" ซึ่งเป็นต้นแบบของหนังสือธรรมในล้านนาและอีสานของไทยด้วย แต่สำหรับภาษาไทลื้อที่บ้านทุ่งมอกนั้น ไม่พบภาษาเขียน หรืออักษรไทลื้อจะพบแต่ตัวเมืองหรืออักษรธรรมล้านนาเท่านั้น แต่จากการตรวจสอบการออกเสียง ปรากฏว่าไทลื้อบ้านทุ่งมอกยังออกเสียงตามภาษาลื้อทุกประการ โดยมากใช้สื่อสารกันในชีวิตประจำวัน และนอกจากนี้ภาษาพูดของไทลื้อบ้านทุ่งมอกที่พบมี 4 ลักษณะ คือ พูดภาษาไทยมาตรฐาน พูดไทยล้านนาหรือคำเมือง พูดภาษาลื้อ และพูดทั้งสองภาษา (หน้า 59, 139, 142-144)

Study Period (Data Collection)

พ.ศ. 2533-2535 (หน้า 23)

History of the Group and Community

ผู้วิจัยอธิบายว่าดั้งเดิมไทลื้อตั้งถิ่นฐานกระจายกันอยู่ทั่วไปในแคว้นสิบสองปันนาทางตอนใต้ของมณฑลยูนนาน ในประเทศจีน ในอาณาบริเวณประมาณ 25,500 ตารางกิโลเมตร แต่ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเรื่องอาณาเขต ที่ฝรั่งเศษได้ยึดพื้นที่บางส่วนทางตอนใต้ไปรวมกับลาว และอังกฤษยึดพื้นที่ทางตะวันตกไปรวมกับพม่า จึงทำให้มีถิ่นฐานไทลื้อในลาวและพม่าด้วย (หน้า 26-27) สำหรับการตั้งถิ่นฐานของไทลื้อทางตอนเหนือของประเทศไทย ก็สืบเนื่องมาจากหลายเหตุการณ์ด้วยกัน เช่น ประมาณ พ.ศ. 1839 พระยามังรายได้สร้างเมืองเชียงใหม่ ก็ได้รวบรวมคนไทกลุ่มต่าง ๆ มาไว้รอบ ๆ เมือง สงครามหลายครั้งระหว่างล้านนากับพม่า ก็ทำให้มีการกวาดต้อนคนไท ในเส้นทางเข้ามาอยู่ในอาณาบริเวณของล้านนา และเมื่อพระยากาวิละได้ต่อสู้ให้ล้านนาเป็นอิสระตั้งเมืองเชียงใหม่ได้ (ประมาณ พ.ศ. 2339) ก็ยังไปกวาดต้อนผู้คนในแคว้นสิบสองปันนามาไว้ในบริเวณเมืองเชียงใหม่อีก และเมื่อเมืองกรุงเทพมีอำนาจเหนือล้านนา ประมาณสมัยสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ให้เจ้าเมืองนครน่าน ไปตีแคว้นสิบสองปันนากวาดต้อนไทลื้อมาจากเมืองล้า เมืองพง และอื่น ๆ มาไว้ที่เชียงม่วน และเชียงคำ (จังหวัดพะเยาในปัจจุบัน) ซึ่งไทลื้อบ้านทุ่งมอกในปัจจุบันก็เป็นเชื้อสายของบรรพบุรุษที่เข้ามาในครั้งหลังนี้ ส่วนการตั้งถิ่นฐานของไทลื้อหลังจากนี้จะเกิดจากการอพยพเมื่อประเทศจีนเปลี่ยนระบอบการปกครองเป็นแบบคอมมิวนิสต์ประมาณหลัง พ.ศ. 2492 (หน้า 31-32, 34) นอกจากนี้จากคำบอกเล่าของผู้อาวุโสในบ้านทุ่งมอก บรรพบุรุษอพยพเข้ามาในการนำของพระยาคำอุ่นตาลจากเมืองล้า เมืองพง ซึ่งรอบแรกมาตั้งถิ่นฐานที่บ้านหนองบัว อ.ท่าวังผา จ.น่าน และเมื่อชุมชนขยายขึ้นจึงมีบางส่วนอพยพมาทุ่งมอก และมีไทลื้อจาก งาว ห้วยหลวง และเทิง มาสมทบ ซึ่งในตอนแรกเรียกว่า "บ้านทุ่งอะม๊อก" เพราะพบอะม๊อก (โลหะชนิดหนึ่ง) ในบริเวณดังกล่าว ซึ่งอุดมสมบูรณ์ด้วยต้นสัก และไม้เต็ง รัง จากนั้นประมาณ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2520 บ้านทุ่งมอกกลายเป็นหมู่บ้านหนึ่งในเขตการปกครองของ อ. เชียงม่วน จ.พะเยา (หน้า 87)

Settlement Pattern

หมู่บ้านของไทลื้อนิยมตั้งอยู่ในบริเวณที่ราบเชิงเขาใกล้ฝั่งแม่น้ำ ลักษณะการตั้งบ้านเรือนเป็นแบบแนวยาว (Lineal Village) เลียบริมฝั่งแม่น้ำ หรือพื้นสันเขา ซึ่งมีพื้นที่เพียงพอสำหรับไร่นา มีลานอยู่หน้าเรือนไม่กว้างขวางมากนัก ปลูกเป็นร้านหรือข่วงขนาดพอนั่งได้ 7-8 คน ใช้สำหรับนั่งปั่นฝ้าย ลักษณะของเรือนแตกต่างจากบ้านชาวเหนือเพียงน้อย และเรือนหนึ่งอยู่ร่วมกันหลายครอบครัวตั้งแต่ 2-10 ครอบครัว ซึ่งมีการแบ่งพื้นที่ใช้สอยโดยใช้ฝาเรือนกั้นเป็นห้องโถง ห้องนอน และครัว ส่วนใต้ถุนเรือนเป็นที่สำหรับเลี้ยงสัตว์ (หน้า 37-38)

Demography

บ้านทุ่งมอกมีจำนวนประชากรทั้งหมด 251 ครัวเรือน เป็นจำนวนทั้งสิ้น 1,356 แยกเป็นประชากรชาย 676 คน หญิง 680 คน (หน้า 90)

Economy

ไทลื้อมีอาชีพหลักคือการเกษตรกรรม โดยเฉพาะการปลูกข้าว ซึ่งไม่ได้เป็นเพียงแค่อาหารแต่ยังแสดงถึงความมั่นคงของสังคมด้วย ในด้านการค้าขายอาจกล่าวได้จากประวัติศาสตร์ของสิบสองปันนาในช่วงศตวรรษที่ 19 ถึงปลายศตวรรษที่ 20 เป็นการค้าขายระยะทางไกลถึงทิเบต เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ถึงจีน ซึ่งตลาดในสิบสองปันนามี 2 ประเภท คือ ระบบตลาดการค้าระหว่างแคว้น และตลาดแบบยังชีพ สำหรับคนไทและคนกลุ่มน้อยเพื่อขายสินค้าทางการเกษตร นอกจากนี้ไทลื้อในสิบสองปันนายังมีสินค้าหัตถกรรม โดยเฉพาะการทอผ้าฝ้าย จักสาน งานช่างไม้ เป็นต้น สำหรับไทลื้อที่บ้านทุ่งมอกมีอาชีพหลักคือการเกษตรกรรมเช่นเดียวกัน ทั้งทำนา ทำสวน ทำไร่ และปลูกพืชผักต่างๆ สำหรับการปลูกข้าวนั้นมักปลูกข้าวเหนียวไว้เพื่อบริโภค และสามารถทำนาได้ปีละ 1 ครั้ง นอกจากนี้ยังมีการปลูกพืชอื่นๆ เพื่อการค้า เช่น ยาสูบ ถั่ว ข้าวโพด ลำไย ลิ้นจี่ มะม่วง และส้มโอ นอกจากการเกษตรกรรมแล้วไทลื้อบ้านทุ่งมอกยังมีการทำประมงน้ำจืดหนองน้ำรัด และอ่างห้วยหมูเน่าควบคู่กันไปด้วย (หน้า 54-57, 93-96)

Social Organization

ลักษณะครอบครัวของไทลื้อบ้านทุ่งมอกเป็นครอบครัวขยายแบบชั่วคราว คือเมื่อลูกสาวแต่งงานจะนำลูกเขยเข้ามาอยู่บ้าน จนกระทั่งมีลูกหรือลูกสาวคนต่อไปแต่งงานจึงสามารถย้ายออกไปปลูกเรือนใหม่ในบริเวณใกล้เคียงกลายเป็นครอบครัวเดี่ยว และส่วนมากลูกสาวที่แต่งงานสุดท้ายจะเป็นผู้ดูแลพ่อแม่ต่อไป ส่วนในเรื่องการนับญาติ ไทลื้อนับญาติทั้งสองฝ่าย โดยที่ให้ความสำคัญกับฝ่ายชายเป็นใหญ่ในครอบครัว โดยแม่มักสอนลูกสาวให้เคารพสามี (หน้า 36-37, 90-91)

Political Organization

ไทลื้อเดิมที่อาศัยอยู่ในดินแดนสิบสองปันนาก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2493 มีการเปลี่ยนแปลงทางด้านเศรษฐกิจสังคมช้า และระบอบการปกครองเป็นแบบศักดินาค่อนข้างมาก ซึ่งมีเจ้าแผ่นดินเป็นประมุข แต่ดินแดนสิบสองปันนาเป็นส่วนหนึ่งของประเทศจีน ตั้งแต่สมัยราชวงศ์หงวนเป็นต้นมา เจ้าแผ่นดินเชียงรุ่งเกือบทุกรัชกาลได้รับการแต่งตั้งจากราชสำนักจีนให้เป็น "เจ้าแสนหวีเชียงรุ่ง" ไทลื้อถือว่าพญาเจิง (เจือง) เป็นปฐมกษัตริย์ของสิบสองปันนา เมื่อสิ้นอำนาจพญาเจิงอาณาจักรสิบสองปันนาก็อ่อนแอลง จนกระทั่งขึ้นตรงต่อเจ้าแผ่นดินจีน ซึ่งในประวัติศาสตร์สิบสองปันนามีเจ้าแผ่นดิน 44 องค์ โดยการบริหารมีรัฐบาลเรียกว่า "สนาม" ประกอบด้วยเสนาอำมาตย์เรียกว่า "ท้าวขุนเหนือสนาม" ที่สำคัญที่สุดมี 4 คน คือ เจ้าเชียงฮา ธุหลวงเค้า ฮ้อยด่างบ้านขุม และฮ้อยด่างจอมวัง โดยสนามจัดให้มีการประชุมหัวเมืองปีละ 2 ครั้ง นอกจากนี้ยังมี "สนามใน" ทำหน้าที่เป็นกรมวังหรือสำนักพระราชวัง มีพระเจ้าแผ่นดินรับผิดชอบโดยตรง แต่งตั้งให้เจ้าอุปราชาเป็นเค้าสนามใน และเจ้าหลวงปราสาทกับนาแนเป็นรองเค้าสนามใน ซึ่งท้าวขุนและเสนาอำมาตย์น้อยใหญ่ต่างมีศักดินา หรือ "บาทนา" ทั้งหมด 7 ขั้นด้วยกัน เพื่อให้รู้ถึงฐานันดรศักดิ์ และเรียกประชาชนว่า "ไพร่เมือง" โดยแบ่งออกเป็น "ไทเมือง" คือ ชาวพื้นเมือง เป็นผู้ทำหน้าที่บวงสรวงพระเสื้อเมือง พระเสื้อบ้าน และถือที่ดินค่อนข้างดีและมาก อีกกลุ่มคือ ไคนเรือนเจ้า" คือข้าของเจ้า หรือข้าของคนชั้นสูง ซึ่งดินแดนสิบสองปันนามีหัวเมืองประมาณ 30 หัวเมือง มีโครงสร้างอำนาจในรูปแบบ "การแบ่งอำนาจ" ของ 2 กลุ่ม คือ กลุ่มผู้มีอำนาจในเมือง และอำนาจของชาวนาท้องถิ่น สำหรับการปกครองส่วนท้องถิ่นไทยลื้อเรียกหมู่บ้านว่า "บ้าน" และเรียกผู้ปกครองหมู่บ้านว่า "พ่อบ้าน" ผู้ช่วยเรียก "แม่บ้าน" แต่เป็นผู้ชาย ปัจจุบันเรียกว่า "นายบ้าน" แต่ละหมู่บ้านมี "กว้าน" ซึ่งประกอบด้วย แม่บ้าน "แก่บ้าน" ซึ่งเป็นชายอาวุโสและมีอิทธิพล "ขุนแขก หรือเสมียน ซึ่งกิจการต่างๆ ในหมู่บ้านจะได้รับการพิจารณาจากกว้านหมู่บ้าน นอกจากนี้ยังมีพ่อล่ามที่ทำหน้าที่เป็นคนกลางเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างราชสำนักกับท้าวขุน และประชาชนในท้องถิ่น สำหรับบ้านทุ่งมอกมีการปกครองที่ขึ้นต่อรัฐ โดยมีผู้ใหญ่บ้านซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากภาครัฐ ทำหน้าที่ปกครองดูแลลูกบ้าน (หน้า 44-54, 92-93)

Belief System

ในดินแดนสิบสองปันนาไทลื้อทุกคนเชื่อในศาสนาพุทธ ควบคู่กับการนับถือพราหมณ์ และผี ซึ่งผีเป็นความเชื่อพื้นบ้าน โดยเฉพาะผีเรือน ผีบ้าน ผีเมือง ที่คนในชุมชนยึดมั่น และจากความเชื่อของไทลื้อจึงมีประเพณี และพิธีกรรมต่าง ๆ เกิดขึ้น โดยสามารถแยกได้เป็น 4 ด้าน คือ - ประเพณีพิธกรรมที่เกี่ยวข้องกับศาสนา เช่น การบวชลุกแก้ว และการกินก๋วยสลาก - ประเพณีพิธีกรรมเกี่ยวกับความเชื่อ เช่น เข้ากรรมส่งเคราะห์ ตานจอมกุนไปบ่ป้อก การสัก และปี๋ใหม่ - ประเพณีเกี่ยวกับการทำมาหากิน เช่น พิธีรอกเมือง และพิธีบวงสรวงเทวดากาด - ประเพณีพิธีกรรมเกี่ยวกับความรื่นเริง เช่น การขับลื้อ สำหรับไทลื้อที่บ้านทุ่งมอกนั้นนับถือศาสนาพุทธควบคู่ไปกับความเชื่อเรื่องผีเช่นเดียวกับไทลื้อที่สิบสองปันนา และในหมู่บ้านเองมีวัดเก่าแก่ซึ่งเป็นศูนย์รวมจิตใจของคนในชุมชน นอกจากนี้ ยังมีพิธีกรรมบางอย่างที่ยังปรากฏให้เห็นอยู่ภายในหมู่บ้าน ได้แก่ พิธีเข้ากรรม พิธีส่งเคราะห์ ซึ่งเป็นพิธีเก่าแก่ที่จัดขึ้นเพื่อไหว้และเลี้ยงผี ทั้งผีหมู่บ้าน ผีเรือน และผีเมือง รวมถึงเทวดาประจำที่ต่าง ๆ ประเพณีตานธรรม ซึ่งเป็นการทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้บรรพบุรุษผู้ล่วงลับ ขึ้นเฮินใหม่หรือพิธีขึ้นบ้านใหม่ และขึ้นข้าวทั้งสี่ ซึ่งเป็นพิธีที่ขาดไม่ได้ในงานมงคลต่าง ๆ ที่จำเป็นต้องบอกท้าวทั้งสี่ เพื่อให้ท่านบันดาลแต่สิ่งที่ดีแก่เจ้าบ้านเจ้าเรือนผู้เคารพบูชา โดยในงานการศึกษา ผู้วิจัยได้ให้รายละเอียดของพิธีกรรม โดยเฉพาะพิธีส่งเคราะห์ และประเพณีตานธรรม ของไทลื้อบ้านทุ่งมอก (หน้า 65-69, 101-104, 107-132)

Education and Socialization

ศูนย์กลางการศึกษาของชุมชนคือวัด ผู้ที่รู้หนังสือส่วนมากจึงเป็นผู้ชาย โดยเมื่อเด็กอายุย่างเข้า 7-8 ปี พ่อแม่มักส่งลูกเข้าบวชเรียน สำหรับปัจจุบันในดินแดนสิบสองปันนามีทั้งโรงเรียนประถมศึกษาและมัธยมศึกษารวมกันกว่าพันแห่ง แต่สำหรับการศึกษาที่บ้านทุ่งมอกนั้น เช่นเดียวกับชนบทไทยทั่วไป และผู้ที่รู้หนังสือมักเป็นผู้ชายเนื่องจากได้บวชเรียน ซึ่งในระหว่างที่ผู้วิจัยได้ทำการศึกษาปรากฏว่าในชุมชนมีโรงเรียนที่เปิดสอนระดับชั้นประถมศึกษา 1 โรง คือ โรงเรียนบ้านทุ่งมอก สำหรับการขัดเกลาทางสังคมนั้นไม่ได้ระบุไว้อย่างชัดเจน แต่ได้ปรากฏอยู่อย่างประปรายในงานการศึกษาว่ามีการอบรมสั่งสอนสมาชิกให้รับรู้ถึงค่านิยม และบทบาททางสังคม รวมถึงตำนาน และภูมิปัญญาต่าง ๆ โดยผ่ายทางคำบอกเล่า และการจดบันทึกของบรรพบุรุษ (หน้า 59, 98)

Health and Medicine

งานการศึกษากล่าวถึงการแพทย์และสาธารณสุขของไทลื้อในสิบสองปันนาว่ามีการบันทึกความรู้ทางการแพทย์และเภสัชไทไว้ในคัมภีร์ต่าง ๆ ปนกับความเชื่อทางไสยศาสตร์ รวมทั้งมีตำรายาที่อธิบายถึงอาการของโรค การใช้สมุนไพร และผลข้างเคียงอย่างละเอียด ซึ่งรูปแบบต่าง ๆ ของยาไทมีทั้งแบบฝน อบ อบยา และทายา แต่สำหรับไทลื้อที่บ้านทุ่งมอกไม่ปรากฏว่าพบการรักษาด้วยสมุนไพรในหมู่บ้าน นอกจากการนำสมุนไพรมาต้มให้ผู้ที่คลอดลูกใหม่ดื่มกัน มีแต่ปรากฏอยู่ในตำรายาเท่านั้น ซึ่งในอดีตมีการปฏิบัติ แต่สำหรับการรักษาตามความเชื่อ เช่น การสังเคราะห์ การเลี้ยงผี หรือการทานข้าวคู่ปียังมีอยู่ และถึงแม้ว่าบ้านทุ่งมอกจะอยู่ไม่ห่างจากโรงพยาบาลมากนัก หากเจ็บป่วยเพียงเล็กน้อยมักหาซื้อยาที่มีขายในร้านของชำมารับประทานเอง (หน้า 64-65, 100)

Art and Crafts (including Clothing Costume)

ในด้านงานสถาปัตยกรรมโดยเฉพาะวัดของไทลื้อมีลักษณะที่พิเศษแตกต่างจากวัดทั่วไปในล้านนา เช่น รูปทรงของหลังคาวิหาร ตำแหน่งทางเข้าออกและช่องลม รวมถึงลวดลายการตกแต่ง ซึ่งตัววิหารเป็นทรงเตี้ย ก่ออิฐดินเผาสอด้วยปูนแบบโบราณ หลังคาเรือนเก็จ 2 ชั้น มุงด้วยไม้แป้นเก็จ มีประตูไม้ และหน้าต่างพอให้แสงเข้าได้ สำหรับแท่นธรรมาสน์ คล้ายมณฑป หรือปราสาทรูปพานทอง ฐานสี่เหลี่ยมย่อมุม จากนั้นเป็นรูปมาลัยลูกแก้วประดับกระจก และด้านหน้าเป็นช่องประตูมีบันไดพาดขึ้นลง ในด้านการแต่งกายของไทลื้อบ้านทุ่งมอกค่อนข้างมีเอกลักษณ์ โดยผู้ชายใส่เสื้อแขนยาวสีดำคราม บางตัวเอวลอย ขลิบด้วยแถบผ้าสีต่าง ๆ มีผืนต่อสายหน้าป้านมาติดกระดุมเงินที่ใกล้รักแร้และเอว ส่วนกางเกงเป็นกางเกงก้นลึก เรียกว่า "เต่ว 3 ดูกบ้าง (3 ตะเข็บ) เต่วโหย่งบ้าง" หากผู้ใส่เป็นคนสำคัญเป้ากางเกงจะลึกเป็นพิเศษ อาจถึงกับมีผู้เดินตามคอยถือเป้า สำหรับสตรีไทลื้อ สวม "เสื้อปั๊ด" แขนยาวสีดำคราม รัดรูป เอวลอย มีสายหน้าเฉียงมาผูกติดกันด้วยฝั้นหรือแถบผ้าเล็กๆ ตรงมุมลำตัว ชายเสื้อนิยมลอยขึ้นทั้งสองข้าง สาบเสื้อขลิบด้วยแถบผ้าสีต่าง ๆ ประดับด้วยกระดุมเงินเม็ดเล็ก ๆ เรียงกัน นุ่งผ้าซิ่น ซึ่งมีลวดลายตรงกลางของตัวซิ่น มีผ้าโพกผมซึ่งมักเป็นสีขาว ทรงผมเกล้ามวยสูง ค่อนไปทางขวา มี "ว้องผม" และประดับด้วยปิ่นปักผม นอกจากนี้ ยังมีเข็มขัดเงิน กำไลข้อมือ ต่างหู ที่โดยมากทำจากเงิน นอกจากนี้ ยังมี "ผ้าเช็ด" ซึ่งเป็นเอกลักษณ์เฉพาะกลุ่มของตนเอง แต่ปัจจุบันการแต่งกายตามแบบลื้อที่กล่าวมาข้างต้นได้เปลี่ยนแปลงไป สำหรับวรรณกรรมได้กล่าวถึงวรรณกรรมในสิบสองปันนาว่าแบ่งได้ 2 ประเภท คือวรรณกรรมมุขปาฐะ และลายลักษณ์อักษร ซึ่งคล้ายคลึงกับวรรณกรรมในล้านนา สำหรับวรรณกรรมมุขปาฐะนั้นแบ่งได้เป็น เพลงชาวบ้าน นิทานพื้นบ้าน คำอู้บ่าวสาว ปริศนาคำทาย เพลงกล่อมเด็ก และสุภาษิต คำเรียกขวัญ ส่วนวรรณกรรมลายลักษณ์อักษรแบ่งได้เป็น ตำรายาสมุนไพร ตำนาน วรรณกรรมชาดก คำสอน และคำขับต่างๆ (หน้า 63-64, 101-102, 132-134)

Folklore

ในตำนานพื้นบ้านเมืองสิบสองปันนาได้กล่าวถึงความเป็นมาของดินแดนสิบสองปันนาว่า เดิมเป็นป่าดงหลวงรกร้างเรียกว่า เมืองแม่ย่าป่าหมารายหลวง เพราะมีผู้หญิงล้วน ส่วนผู้ชายถูกฆ่าโดยหมารายหลวงตัวหนึ่งซึ่งเป็นใหญ่และเป็นสามีของผู้หญิงในเมือง ต่อมาเมื่อหมารายหลวงถูกเจ้าเกลือกกลั้วฆ่าตาย ผู้คนจึงเพิ่มขึ้นทั้งหญิงและชาย จึงตั้งเมืองขึ้น 2 เมือง คือ เมืองแม่ย่า และเมืองหมาราย ซึ่งต่อมาคือเมืองเชียงรุ่ง และเมืองฮำ นอกจากนี้ยังมีตำนานพื้นเมือง "พระเจ้าเลียบโลก" เป็นตำนานทางศาสนาภาษาลื้อว่า พระพุทธเจ้าเสด็จเหิรฟ้าเลียบโลกเพื่อเผยแพร่พระพุทธศาสนา และตอนเหิรฟ้าถึงเมืองลื้อนั้นเป็นเวลารุ่งแจ้งพอดี จึงเรียกเมืองนี้ว่า "เชียงรุ่ง" นอกจากนี้ในพงศาวดารล้านช้างได้กล่าวถึงพ่อขุนบรม หรือที่ตำนานน่านเจ้าเรียกว่าพระเจ้าพีล่อโก๊ะ กษัตริย์แห่งเมืองแส ผู้สร้างเมืองแถง พระองค์มีโอรส 7 องค์ ซึ่งต่อมาออกไปสร้างเมืองต่างๆ ได้แก่ ชวา (หลวงพระบาง) หัวแต (สิบสองปันนา) แกวซ่องบัว (หัวพันทั้งห้าทั้งหก) โยนก อโยธยา เชียงคน และพวน นอกจากตำนานดังกล่าวแล้วในหนังสือพื้นเมืองของไทลื้อกล่าวว่า พญาเจิงเป็นเจ้าเมืองหอคำองค์ที่ 1 มีโอรส 4 องค์ หนึ่งในนี้คือ สามไคเมือง ผู้ครองเมืองเชียงรุ่งแทนพ่อ มีโอรสชื่ออ้ายกูร และอ้ายกูรมีโอรสชื่อท้าวรุ่งแก่นชาย เป็นกษัตริย์องค์ที่ 4 ซึ่งมีธิดาชื่อ นางอั้วมิ่งหรือนางเพทายคำขยาย แต่งงานกับพระยาลาวเม็ง เจ้าเมืองเงินยาง และมีโอรสชื่อ พระยามังราย ต้นราชวงศ์มังรายที่ครองเมืองเชียงใหม่ (หน้า 29-30)

Ethnicity (Ethnic Identity, Boundaries and Ethnic Relation)

ในงานการศึกษาได้กล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า ถึงแม้มีการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดบางประการทางประเพณีและวัฒนธรรมบางอย่าง เพื่อปรับให้เหมาะสมกับภาวะปัจจุบัน แต่ไทลื้อมิได้มีการเปลี่ยนแปลงจนสูญสิ้นเอกลักษณ์ทางชาติพันธุ์ของตนเอง ยังคงพยายามธำรงเอกลักษณ์ของตนไว้เมื่อมีการติดต่อกับผู้อื่น และกล่าวกับบุคคลอื่นว่าตนเองเป็นคนลื้อเสมอ โดยมีฮีต (ประเพณี) เป็นของตนเอง (หน้า 162)

Social Cultural and Identity Change

ผู้วิจัยกล่าวในงานการศึกษาว่าไทลื้อเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่เป็นเอกลักษณ์ แต่ในงานวิจัยได้วิเคราะห์ให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมบางประการของไทลื้อที่บ้านทุ่งมอก โดยเน้นเฉพาะ ประเพณีตานธรรม การส่งเคราะห์เฮิน-บ้าน-เมือง การแต่งกาย และภาษา ซึ่งเป็นประเพณีและวัฒนธรรมที่มีอยู่แต่เดิมและปฏิบัติสืบเนื่องกันมานาน แต่มีการเปลี่ยนแปลงไปตามกระบวนการ อาจเนื่องด้วยสาเหตุดังนี้ คือ ภาวะทางเศรษฐกิจ การคมนาคมที่สะดวก การแพร่เข้ามาของวัฒนธรรมใหม่ สภาพอากาศ ความทันสมัย รวดเร็ว และสะดวกสบาย สำหรับภาษานั้นยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงมากนัก แต่มีศัพท์ใหม่เกิดขึ้น แต่ก็ยังมีการเปลี่ยนแปลงบ้าง ด้วยสาเหตุจากการแต่งงานนอกกลุ่มมากขึ้น ความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับกลุ่มภาษาอื่น และการติดต่อค้าขาย นอกจากนี้สำหรับวัฒนธรรมไทลื้อเล็กน้อยที่แสดงถึงเอกลักษณ์บางอย่างยังปรากฏให้เห็นแต่บางอย่างไม่เหลือปฏิบัติอีกแล้ว เช่น การสัก ทรงผมชาย การตกแต่งกางเกง การสร้างบ้านเป็นแนวยาว เครื่องโม่ข้าว การขุดหลุมปลูกพืช เป็นต้น (หน้า 145-165)

Critic Issues

ไม่มีข้อมูล

Other Issues

ไม่มี

Map/Illustration

แผนที่แสดงเขตติดต่อจีน-พม่า-ลาว-ไทย (หน้า 27) แผนที่แสดงดินแดนสิบสองปันนา (หน้า 28) แผนที่แสดงหมู่บ้านในอำเภอเชียงม่วน (หน้า 88) แผนที่แสดงหมู่บ้านทุ่งมอก หมู่ที่ 5 โดยสังเขป (หน้า 89)

Text Analyst สุรัสวดี พึ่งสุข Date of Report 07 พ.ค. 2556
TAG ลื้อ, ประวัติ, วัฒนธรรม, การเปลี่ยนแปลง, พะเยา, Translator -
 
 

 

ฐานข้อมูลอื่นๆของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
  ฐานข้อมูลพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทย
จารึกในประเทศไทย
จดหมายเหตุทางมานุษยวิทยา
แหล่งโบราณคดีที่สำคัญในประเทศไทย
หนังสือเก่าชาวสยาม
ข่าวมานุษยวิทยา
ICH Learning Resources
ฐานข้อมูลเอกสารโบราณภูมิภาคตะวันตกในประเทศไทย
ฐานข้อมูลประเพณีท้องถิ่นในประเทศไทย
ฐานข้อมูลสังคม - วัฒนธรรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  หน้าหลัก
งานวิจัยชาติพันธุ์ในประเทศไทย
บทความชาติพันธุ์
ข่าวชาติพันธุ์
เครือข่ายชาติพันธุ์
เกี่ยวกับเรา
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  ข้อมูลโครงการ
ทีมงาน
ติดต่อเรา
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
ช่วยเหลือ
  กฏกติกาและมารยาท
แบบสอบถาม
คำถามที่พบบ่อย


ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) เลขที่ 20 ถนนบรมราชชนนี เขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ 10170 
Tel. +66 2 8809429 | Fax. +66 2 8809332 | E-mail. webmaster@sac.or.th 
สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2549    |   เงื่อนไขและข้อตกลง