สมัครสมาชิก   
| |
ค้นหาข้อมูล
ค้นหาแบบละเอียด
  •   ความเป็นมาและหลักเหตุผล

    เพื่อรวบรวมงานวิจัยทางชาติพันธุ์ที่มีคุณภาพมาสกัดสาระสำคัญในเชิงมานุษยวิทยาและเผยแผ่สาระงานวิจัยแก่นักวิชาการ นักศึกษานักเรียนและผู้สนใจให้เข้าถึงงานวิจัยทางชาติพันธุ์ได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น

  •   ฐานข้อมูลจำแนกกลุ่มชาติพันธุ์ตามชื่อเรียกที่คนในใช้เรียกตนเอง ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้ คือ

    1. ชื่อเรียกที่ “คนอื่น” ใช้มักเป็นชื่อที่มีนัยในทางเหยียดหยาม ทำให้สมาชิกกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ รู้สึกไม่ดี อยากจะใช้ชื่อที่เรียกตนเองมากกว่า ซึ่งคณะทำงานมองว่าน่าจะเป็น “สิทธิพื้นฐาน” ของการเป็นมนุษย์

    2. ชื่อเรียกชาติพันธุ์ของตนเองมีความชัดเจนว่าหมายถึงใคร มีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมอย่างไร และตั้งถิ่นฐานอยู่แห่งใดมากกว่าชื่อที่คนอื่นเรียก ซึ่งมักจะมีความหมายเลื่อนลอย ไม่แน่ชัดว่าหมายถึงใคร 

     

    ภาพ-เยาวชนปกาเกอะญอ บ้านมอวาคี จ.เชียงใหม่

  •  

    จากการรวบรวมงานวิจัยในฐานข้อมูลและหลักการจำแนกชื่อเรียกชาติพันธุ์ที่คนในใช้เรียกตนเอง พบว่า ประเทศไทยมีกลุ่มชาติพันธุ์มากกว่า 62 กลุ่ม


    ภาพ-สุภาษิตปกาเกอะญอ
  •   การจำแนกกลุ่มชนมีลักษณะพิเศษกว่าการจำแนกสรรพสิ่งอื่นๆ

    เพราะกลุ่มชนต่างๆ มีความรู้สึกนึกคิดและภาษาที่จะแสดงออกมาได้ว่า “คิดหรือรู้สึกว่าตัวเองเป็นใคร” ซึ่งการจำแนกตนเองนี้ อาจแตกต่างไปจากที่คนนอกจำแนกให้ ในการศึกษาเรื่องนี้นักมานุษยวิทยาจึงต้องเพิ่มมุมมองเรื่องจิตสำนึกและชื่อเรียกตัวเองของคนในกลุ่มชาติพันธุ์ 

    ภาพ-สลากย้อม งานบุญของยอง จ.ลำพูน
  •   มโนทัศน์ความหมายกลุ่มชาติพันธุ์มีการเปลี่ยนแปลงในช่วงเวลาต่างๆ กัน

    ในช่วงทศวรรษของ 2490-2510 ในสาขาวิชามานุษยวิทยา “กลุ่มชาติพันธุ์” คือ กลุ่มชนที่มีวัฒนธรรมเฉพาะแตกต่างจากกลุ่มชนอื่นๆ ซึ่งมักจะเป็นการกำหนดในเชิงวัตถุวิสัย โดยนักมานุษยวิทยาซึ่งสนใจในเรื่องมนุษย์และวัฒนธรรม

    แต่ความหมายของ “กลุ่มชาติพันธุ์” ในช่วงหลังทศวรรษ 
    2510 ได้เน้นไปที่จิตสำนึกในการจำแนกชาติพันธุ์บนพื้นฐานของความแตกต่างทางวัฒนธรรมโดยตัวสมาชิกชาติพันธุ์แต่ละกลุ่มเป็นสำคัญ... (อ่านเพิ่มใน เกี่ยวกับโครงการ/คู่มือการใช้)


    ภาพ-หาดราไวย์ จ.ภูเก็ต บ้านของอูรักลาโว้ย
  •   สนุก

    วิชาคอมพิวเตอร์ของนักเรียน
    ปกาเกอะญอ  อ. แม่ลาน้อย
    จ. แม่ฮ่องสอน


    ภาพโดย อาทิตย์    ทองดุศรี

  •   ข้าวไร่

    ผลิตผลจากไร่หมุนเวียน
    ของชาวโผล่ว (กะเหรี่ยงโปว์)   
    ต. ไล่โว่    อ.สังขละบุรี  
    จ. กาญจนบุรี

  •   ด้าย

    แม่บ้านปกาเกอะญอ
    เตรียมด้ายทอผ้า
    หินลาดใน  จ. เชียงราย

    ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ถั่วเน่า

    อาหารและเครื่องปรุงหลัก
    ของคนไต(ไทใหญ่)
    จ.แม่ฮ่องสอน

     ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ผู้หญิง

    โผล่ว(กะเหรี่ยงโปว์)
    บ้านไล่โว่ 
    อ.สังขละบุรี
    จ. กาญจนบุรี

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   บุญ

    ประเพณีบุญข้าวใหม่
    ชาวโผล่ว    ต. ไล่โว่
    อ.สังขละบุรี  จ.กาญจนบุรี

    ภาพโดยศรยุทธ  เอี่ยมเอื้อยุทธ

  •   ปอยส่างลอง แม่ฮ่องสอน

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ปอยส่างลอง

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดย เบญจพล  วรรณถนอม
  •   อลอง

    จากพุทธประวัติ เจ้าชายสิทธัตถะ
    ทรงละทิ้งทรัพย์ศฤงคารเข้าสู่
    ร่มกาสาวพัสตร์เพื่อแสวงหา
    มรรคผลนิพพาน


    ภาพโดย  ดอกรัก  พยัคศรี

  •   สามเณร

    จากส่างลองสู่สามเณร
    บวชเรียนพระธรรมภาคฤดูร้อน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   พระพาราละแข่ง วัดหัวเวียง จ. แม่ฮ่องสอน

    หล่อจำลองจาก “พระมหามุนี” 
    ณ เมืองมัณฑะเลย์ ประเทศพม่า
    ชาวแม่ฮ่องสอนถือว่าเป็นพระพุทธรูป
    คู่บ้านคู่เมืององค์หนึ่ง

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม

  •   เมตตา

    จิตรกรรมพุทธประวัติศิลปะไต
    วัดจองคำ-จองกลาง
    จ. แม่ฮ่องสอน
  •   วัดจองคำ-จองกลาง จ. แม่ฮ่องสอน


    เสมือนสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรม
    เมืองไตแม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ใส

    ม้งวัยเยาว์ ณ บ้านกิ่วกาญจน์
    ต. ริมโขง อ. เชียงของ
    จ. เชียงราย
  •   ยิ้ม

    แม้ชาวเลจะประสบปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัย
    พื้นที่ทำประมง  แต่ด้วยความหวัง....
    ทำให้วันนี้ยังยิ้มได้

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ผสมผสาน

    อาภรณ์ผสานผสมระหว่างผ้าทอปกาเกอญอกับเสื้อยืดจากสังคมเมือง
    บ้านแม่ลาน้อย จ. แม่ฮ่องสอน
    ภาพโดย อาทิตย์ ทองดุศรี
  •   เกาะหลีเป๊ะ จ. สตูล

    แผนที่ในเกาะหลีเป๊ะ 
    ถิ่นเดิมของชาวเลที่ ณ วันนี้
    ถูกโอบล้อมด้วยรีสอร์ทการท่องเที่ยว
  •   ตะวันรุ่งที่ไล่โว่ จ. กาญจนบุรี

    ไล่โว่ หรือที่แปลเป็นภาษาไทยว่า ผาหินแดง เป็นชุมชนคนโผล่งที่แวดล้อมด้วยขุนเขาและผืนป่า 
    อาณาเขตของตำบลไล่โว่เป็นส่วนหนึ่งของป่าทุ่งใหญ่นเรศวรแถบอำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี 

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   การแข่งขันยิงหน้าไม้ของอาข่า

    การแข่งขันยิงหน้าไม้ในเทศกาลโล้ชิงช้าของอาข่า ในวันที่ 13 กันยายน 2554 ที่บ้านสามแยกอีก้อ อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย
 
  Princess Maha Chakri Sirindhorn Anthropology Centre
Ethnic Groups Research Database
Sorted by date | title

   Record

 
Subject มอญ,ความเชื่อ,ประเพณี,วิถีชีวิต,ภาษา,วรรณกรรม,การละเล่น,นนทบุรี,ภาคกลาง
Author อาภา ศรีสงคราม
Title วัฒนธรรมพื้นบ้านเกาะเกร็ด
Document Type รายงานการวิจัย Original Language of Text ภาษาไทย
Ethnic Identity มอญ รมัน รามัญ, Language and Linguistic Affiliations ออสโตรเอเชียติก(Austroasiatic)
Location of
Documents
ห้องสมุดศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร, หอสมุดแห่งชาติ Total Pages 372 Year 2539
Source ภาควิชาภาษาไทย คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ สถาบันราชภัฏจันทรเกษม
Abstract

วิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนมอญที่ผูกพันอยู่กับความเชื่อ ศาสนา และสะท้อนออกมาให้เห็นในขนบธรรมเนียม ประเพณี ภาษา วรรณกรรม ศิลปหัตถกรรม และศิลปะการแสดงพื้นบ้าน ได้บอกเรื่องราวความเป็นมาและภูมิปัญญาที่สืบทอดมาเป็นเวลานานของคนมอญ อย่างไรก็ดี การพบปะสังสรรค์ทางวัฒนธรรมระหว่างสังคมมอญกับสังคมเมืองมีผลทำให้วิถีชีวิตและวัฒนธรรมของคนมอญเปลี่ยนแปลงไปจากอดีต การปลูกฝังให้อนุชนรุ่นหลังตระหนักถึงคุณค่าในมรดกทางวัฒนธรรมดังกล่าวควบคู่กับการอนุรักษ์เป็นหนทางหนึ่งที่ทำให้วัฒนธรรมมอญยังคงอยู่สืบไป

Focus

รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับวัฒนธรรมของคนมอญ ที่มีเนื้อหาครอบคลุมทั้งในด้านความเชื่อ ขนบธรรมเนียม ประเพณี พิธีกรรม ภาษา วรรณกรรม ศิลปกรรม รวมถึงวิถีชีวิตความเป็นอยู่ ทั้งนี้เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงมรดกทางวัฒนธรรมของคนมอญที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ให้คงอยู่สืบไป

Theoretical Issues

ไม่มี

Ethnic Group in the Focus

คนมอญ ตำบลเกาะเกร็ด อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี

Language and Linguistic Affiliations

ภาษามอญเป็นภาษาในตระกูลออสโตรเอเชียติก มีหลายสำเนียงแตกต่างกันในแต่ละท้องถิ่น ตัวหนังสือมอญในยุคแรกๆ มีรูปแบบใกล้เคียงกับอักษรปัลลวะของอินเดียใต้ และได้ดัดแปลงเป็นภาษามอญที่มีตัวอักษรเป็นทรงกลมสมบูรณ์ มีอักขระตามภาษาบาลี 41 ตัว แบ่งเป็นสระ 8 ตัว พยัญชนะ 33 ตัว และเพิ่มพยัญชนะตามเสียงมอญอีก 2 ตัว เป็น 35 ตัว (หน้า 115-116, 119) ตัวอย่างคำภาษามอญในหมวดเครือญาติและบุคคล เช่น อะปา/อาปา-พ่อ, มิ่/อะเหม่-แม่, โกน-ลูก, โกนวุด-ลูกสาว, โกนปลาย-ลูกชาย, เกาปล้าย/อาเวา-พี่ชาย, เต้ะปล้าย-น้องชาย หมวดเครื่องใช้ เช่น กะเทียะ-กระทะ, กะเนิ่น-เข็ม, จักกะร็อด-จักรยาน, หะหมก-งอบ, โจ้น-ช้อน, เกลิ้ง-เรือ, โจ่ง-เตียง, พูกาน-ปากกา, กวี-รถ, ปนาง-ตะเกียง, ก๊างเกิ่น-กางเกง หมวดผักผลไม้และอาหาร เช่น ตะนอมชู-ต้นไม้, ปะกาว-ดอกไม้, กางฟา-ดอกบัว, ชอดชุ-ผลไม้, ปล้าด-กล้วย, ตอ-กระท้อน, เปิง-ข้าว, ฮ้าว-ข้าวสาร, หนอม-ขนมจีน, เปิงดาดเปิงฮะกราย-ข้าวแช่ และหมวดเครื่องดนตรีและระบำฟ้อนรำ เช่น ทะลด-ขลุ่ย, เปิงมาง-กลอง, บัวหะเปิ้น-รำมอญ (หน้า143-157)

Study Period (Data Collection)

ไม่ระบุ

History of the Group and Community

เกาะเกร็ดเกิดจากการขุดคลองลัดเกร็ดน้อยลัดลำน้ำเจ้าพระยาตรงส่วนที่เป็นแหลมยื่นออกไปตามความโค้งของแม่น้ำในสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระในปี พ.ศ. 2264 ต่อมากระแสน้ำเปลี่ยนทิศทำให้คลองขยายกว้างขึ้นจนกลายเป็นแม่น้ำ แหลมที่ยื่นออกไปจึงมีสภาพเป็นเกาะเกร็ดในปัจจุบัน อย่างไรก็ดี ชื่อเกาะเกร็ดนั้นมิได้เป็นชื่อที่มีมาแต่เดิม แต่กลับปรากฏชื่อเกาะศาลากุนในโฉนดที่ดินในสมัยรัชกาลที่ 5 สันนิษฐานว่าเรียกตามชื่อวัดที่เจ้าพระยารัตนาธิเบศร์ (กุน) สร้างและตั้งอยู่บนเกาะ เมื่อตั้งอำเภอปากเกร็ด เกาะดังกล่าวจึงมีฐานะเป็นตำบลเกาะเกร็ด และเรียกเกาะนี้ว่าเกาะเกร็ด (หน้า 1-2) สันนิษฐานว่าคนมอญที่อาศัยอยู่บนเกาะเกร็ดนั้นคงอพยพเข้ามาอยู่ในเมืองไทย 2 ครั้งด้วยกัน คือ ครั้งแรกในสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช โดยเป็นการกวาดต้อนครอบครัวมอญที่กระจัดกระจายอยู่บริเวณปากน้ำอิระวดีเข้ามาตั้งถิ่นฐานที่เมืองนนทบุรีขึ้นไปถึงสามโคก ครั้งที่ 2 ในปี พ.ศ. 2358 ในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย โปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้ามงกุฎเสด็จฯ ไปรับครอบครัวมอญทางด่านเจดีย์สามองค์ และเจ้าพระยาอภัยภูธรไปรับครอบครัวมอญจากเมืองตากให้มาตั้งถิ่นฐานอยู่ที่เมืองปทุมธานีและนนทบุรี (หน้า 3-4)

Settlement Pattern

คนมอญเกาะเกร็ดมีสภาพความเป็นอยู่ที่เรียบง่าย ประหยัด มัธยัสถ์ การตั้งบ้านเรือนส่วนใหญ่เรียงรายอยู่ริมน้ำรอบเกาะอาศัยเรือเป็นพาหนะในการเดินทางติดต่อค้าขาย มีวิถีชีวิตผูกพันอยู่กับสายน้ำเจ้าพระยาและคลองลัดเกร็ดน้อย (หน้า 5-6) วัฒนธรรมในการสร้างบ้านของคนมอญจะหันหน้าจั่วรับดวงอาทิตย์ เพื่อหลีกเลี่ยงแสงแดดที่จะทำความร้อนให้กับหลังคาบ้าน บางครั้งจึงเรียกว่ามอญขวาง และในการสร้างบ้านคนมอญจะนำกระเช้าเสื้อผ้าอาภรณ์แขวนไว้ตรงเสาเพื่อเป็นการทำบุญผีเรือน นอกจากนี้ในการปลูกบ้านยังจะต้องดูฤกษ์สถานที่ให้ถูกโฉลกกับเจ้าของบ้าน (หน้า 344-345)

Demography

ไม่มีข้อมูล

Economy

คนมอญเกาะเกร็ดส่วนใหญ่มีอาชีพผลิตและค้าขายเครื่องปั้นดินเผา โดยเฉพาะครก อ่าง โอ่งขนาดเล็ก กระถางต้นไม้ และเครื่องปั้นดินเผาประเภทสวยงาม ประชากรบางส่วนรับราชการและขายอุปกรณ์ที่ใช้ในการจับปลา (หน้า 226, 345) กระบวนการผลิตเครื่องปั้นดินเผาตั้งแต่การเตรียมวัตถุดิบ อุปกรณ์ที่ใช้ในการปั้น ตลอดจนกระบวนการเผาเครื่องปั้นดินเผา โดยขั้นตอนของการปั้นภาชนะขนาดใหญ่จะต้องใช้คน 2 คน คือ ช่างปั้นที่เรียกว่าอาจารย์ และคนหมุนแป้นและเตรียมดินที่เรียกว่าลูกศิษย์ ถ้าเป็นภาชนะขนาดเล็กก็สามารถปั้นคนเดียวได้ ในกระบวนการเผาเครื่องปั้นดินเผาจะใช้คนจำนวนไม่น้อยกว่า 20 คน เพื่อช่วยขนเครื่องปั้นเข้าเตา และจะมีการแบ่งงานกันทำ คือ 1) หัวหน้าใหญ่ ทำหน้าที่คอยควบคุมการจัดวางภาชนะภายในเตา 2) หัวหน้ารอง 2 คน ทำหน้าที่จัดเรียงโอ่งใหญ่ซึ่งตั้งวางอยู่บนพื้นของเตา 3) ผู้ช่วยหัวหน้าใหญ่ 2-3 คน ทำหน้าที่ส่งเครื่องปั้นให้หัวหน้าและช่วยจัดเรียงเครื่องปั้นตามตำแหน่งต่างๆ ภายในเตา เมื่อเผาเสร็จและวันออกเตาจะต้องใช้คน 5-6 คนในการช่วยขนเครื่องปั้นออกจากเตา (หน้า 219-225) ปัจจุบัน การใช้เครื่องปั้นดินเผาลดลงอย่างมาก จึงต้องเลิกการผลิตเครื่องปั้นดินเผาประเภทเครื่องใช้ในครัวเรือน คงเหลืออยู่บ้าง เช่น ครก อ่าง โอ่งขนาดเล็ก และต้องเปลี่ยนไปผลิตกระถางต้นไม้แทน เนื่องจากเป็นที่นิยมของตลาดมากกว่า อย่างไรก็ตาม เครื่องปั้นดินเผาประเภทสวยงามยังคงได้รับความนิยมจากผู้สนใจทั่วไป (หน้า 226)

Social Organization

ครอบครัวมอญเกาะเกร็ดเป็นครอบครัวขยายยึดหลักทางพุทธศาสนาที่ว่า ปูชนจ ปูชนียาน หมายถึง การบูชาบุคคลที่ควรเคารพ พี่ชายคนโตจะเป็นผู้ที่ได้รับการถ่ายทอดจากบรรพบุรุษของตระกูล ระบบสังคมมีการพึ่งพาซึ่งกันและกัน เกี่ยวเนื่องผูกพันกันด้วยการแต่งงาน และในการแต่งงานจะต้องบอกกล่าวให้ผีบรรพบุรุษทราบ โดยทำพิธีเซ่นไหว้ด้วยผ้าขาว เหล้า และไก่ (หน้า 4-5)

Political Organization

ในอดีตคนมอญมีกฎหมายที่ต้องเคารพและถือปฏิบัติคือ คัมภีร์พระธรรมศาสตร์มอญ (ฮะปะยาฮะโลน) แต่ที่ปรากฏหลักฐานในขณะนี้คือ พระธรรมศาสตร์พระธรรมวิสาสะ เรียบเรียงจากพระธรรมศาสตร์ของอินเดียเป็นภาษามอญและมคธ ต่อมาแปลเป็นภาษามอญ พระธรรมศาสตร์พระเจ้าฟ้ารั่วต่อมาได้รับการแปลจากภาษามอญเป็นภาษาพม่า และใช้เผยแพร่พระธรรมศาสตร์ในเมืองพม่า (หน้า 108-111)

Belief System

คนมอญเกาะเกร็ดนับถือศาสนาพุทธลัทธิเถรวาทแบบรามัญนิกายสายโบสถ์กัลยาณี กรุงหงสาวดี ปัจจุบันคณะสงฆ์กำหนดให้วัดมอญขึ้นตรงต่อมหานิกาย และมีความเชื่อในผีบรรพบุรุษจึงปลูกศาลเจ้าให้เป็นที่สิงสถิตของดวงวิญญาณ เช่นศาลเจ้าพ่อเกษแก้วไชยฤทธิ์ ขณะเดียวกันก็ยึดมั่นในหลักธรรมทางพุทธศาสนา เช่น ฆราวาสธรรม พรหมวิหาร 4 (หน้า 5) นอกจากนี้ ยังปฎิบัติกิจวัตรประจำวันด้วยการทำวัตรเช้า-เย็น นมัสการสถูป เจดีย์ และพระพุทธรูป เพื่อเป็นการระลึกถึงคุณพระรัตนตรัยบำเพ็ญภาวนาบุญ ทำวัตรเช้า นมัสการ พุทธาภิถุติ สงฺฆาภิตุติ แล้วตั้งนโม 3 จบ จากนั้นจึงสวดพุทธาภิตุติ ทำวัตรเย็น นมัสการ พุทธาภิคีติ ธัมมาภิคีติ สังฆาภิคีติ แล้วตั้งนโม 3 จบ จากนั้นจึงสวดพุทธานุสสตินยปาฐะ (หน้า 63-85) วิถีชีวิตของคนมอญผูกพันกับประเพณีตั้งแต่เกิดจนตาย เช่น ประเพณีเกี่ยวกับการเกิด จะมีการเตรียมมะพร้าว 1 ผลไว้ที่หัวนอนมารดาขณะตั้งครรภ์ และเตรียมหม้อ 1 ใบสำหรับใส่ผงขมิ้นเพื่อผสมน้ำดื่มและอาบ เชื่อว่าจะช่วยให้คลอดลูกง่าย และในการอยู่ไฟจะต้องตัดฟืนสำหรับอยู่ไฟในเดือนที่ 7-8 ถ้าบุตรที่เกิดใหม่เป็นผู้ชายต้องขุดดินนอกบ้านมาทำกันเตา 9 ก้อน ถ้าเป็นบุตรหญิงใช้ดิน 7 ก้อน และต้องฝังสายสะดือเด็กให้ถูกทิศ คือ เด็กเกิดเดือน 4-6 ฝังทิศเหนือ เดือน 7-9 ฝังทิศตะวันตก เดือน 10-12 ฝังทิศใต้ เดือน 1-3 ฝังทิศตะวันออก นอกจากนี้เด็กเกิดใหม่ยังต้องทำพิธีให้พระพรหมลิขิตดวงชะตาลงบนหน้าผาก (หน้า 10-13) ประเพณีการแต่งงาน จะต้องนำผ้าขาวไปไหว้ผีบรรพบุรุษสำรับหนึ่ง ซึ่งเมื่อเสร็จงานมงคลแล้วจะเอาผ้านั้นไปตัดเป็นสบงจีวรถวายพระสงฆ์ และตามประเพณีเก่าของมอญ ชายจะต้องอยู่รับใช้งานบิดามารดาฝ่ายหญิง 3 ปีจึงจะแต่งงานได้ (หน้า 17, 21) ประเพณีการทำศพ ถ้าเป็นการตายชนิดตายโหงจะไม่มีการอาบน้ำศพและมัดตราสัง และต้องก่ออิฐถือปูนไว้ตามวัด หากตายตามปกติจะมีพิธีอาบน้ำศพ ถ้าเป็นศพผู้ใหญ่ลูกหลานจะเอาผ้าเช็ดหน้าใหม่ พิมพ์รูปหน้าและรอยเท้าของผู้ตายไว้สำหรับเป็นผ้าประเจียด (หน้า 21) ประเพณีการนับถือผีและเลี้ยงผี การนับถือผีจะรับกันเป็นทอดๆ จากบรรพบุรุษไปสู่บุตรชายคนหัวปีของตระกูล เรียกผู้รับผีว่า ต้นผี แต่ละบ้านจะมีหีบผีมอญไว้ที่เสาเอกภายในตัวเรือน 1 หีบ โดยในการเซ่นไหว้ผีบรรพบุรุษจะมีเครื่องเซ่นไหว้พระมหากษัตริย์ทุกพระองค์ด้วยและพิธีรับผี เมื่อพ่อแม่ตายลงจะต้องให้คนทรงกระทำพิธีเชิญผีและให้ลูกชายคนโตไปรับ ถ้าไม่มีลูกชายถือว่าผีบรรพบุรุษสูญไป (หน้า 25-27) ประเพณีเกี่ยวกับการบูชาผีบรรพบุรุษ เช่น การรำผีมอญ เป็นการแก้บนหรือขอขมาในกรณีที่เกิดการผิดผี หรือกรณีที่เกิดเภทภัยขึ้นภายในบ้าน กระทำกันประมาณเดือน 4-6 ยกเว้นวันพระ (หน้า 28-29) และการำเจ้าซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของงานสงกรานต์ในวันทำบุญกลางบ้านหรือทำบุญหมู่บ้าน จัดขึ้นในวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 6 ที่ศาลเจ้าพ่อหนุ่ม ศาลเจ้าประจำหมู่บ้าน ทั้งนี้เพื่อป้องกันสิ่งชั่วร้ายและเพื่อความเป็นสิริมงคล โดยในการประกอบพิธีจะมีการเชิญเจ้าพ่อเกษแก้วไชยฤทธิ์มากินเครื่องสังเวยและร่วมสนุกสนานในพิธีด้วย (หน้า 31-33) ประเพณีเนื่องในศาสนาและงานเทศกาลต่างๆ เช่น ประเพณีแห่ข้าวแช่ (เปิงสงกรานต์) จะมีการส่งข้าวสงกรานต์ถวายพระสงฆ์และให้ผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือ และการแห่ข้าวแช่ ไปถวายที่วัด (หน้า 34) ประเพณีถวายธงผ้าขาวในวันสุดท้ายของเทศกาลสงกรานต์ เพื่อแสดงว่าที่ตรงนั้นเป็นที่ตั้งหรือปูชนียสถานสำคัญ เมื่อถึงเทศกาลชาวบ้านจะแห่ธงมาที่วัด และช่วยกันนำธงขึ้นสู่ยอดเสาหงส์ ประเพณีการทำบุญออกพรรษา เริ่มตั้งแต่วันขึ้น 14 ค่ำไปจนถึงวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 จะมีการถวายธูปที่เรียกว่า ชวนธูป โดยในอำเภอปากเกร็ดตามวัดต่างๆ จะจัดให้มีการปิดทองพระประจำปี ซึ่งจัดตามความสำคัญของวัด คือ แรม 1 ค่ำ วัดกู้ แรม 2 ค่ำ วัดเกาะ แรม 3 ค่ำ วัดปรมัยยิกาวาส แรม 4 ค่ำ วัดฉิมพลี แรม 5 ค่ำ วัดตำหนักเหนือ แรม 6 ค่ำ วัดกลางเกร็ด แรม 7 ค่ำ วัดสนามเหนือ ในงานปิดทองไหว้พระของแต่ละวัดจะมีการทำบุญตักบาตรข้าวเม่าทอดในตอนเช้าด้วย และประเพณีตักบาตรดอกไม้ ในเทศกาลออกพรรษาถวายพระสงฆ์เพื่อบูชาพระรัตนตรัย และประเพณีการส่งขนมกะละแมเมื่อใกล้วันสงกรานต์ แด่พระสงฆ์และผู้ใหญ่ ประเพณีตักบาตรน้ำผึ้ง ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 10 ประเพณีเดือนสืบหรือสารท รวมถึงประเพณีจุดลูกหนู ซึ่งจัดในงานศพพระมอญ ต่อมากลายเป็นการละเล่นแข่งขันกันก่อนที่จะเผาศพ และประเพณีมอญร้องไห้ เพื่อแสดงความกตัญญูต่อญาติผู้ใหญ่ที่ล่วงลับไปแล้ว โดยจะมีการประโคมปี่พาทย์ ตะโพนมอญเคล้ากับเสียงร้องไห้ให้น่าเวทนา (หน้า 37-56) นอกจากนี้ คนมอญยังมีความเชื่อและข้อห้ามหลายประการ เช่น เชื่อว่าการทำบุญให้ทานย่อมส่งผลถึงบุคคลที่ปรารถนาจะอุทิศส่วนกุศลให้, เชื่อว่าการสร้างพระพุทธรูป พระไตรปิฎก และพระอภิธรรมรวมถึงการบวชพระจะได้บุญมาก, ในวัดมอญทุกวัดจะต้องมีศาลเจ้าประจำวัดเรียกว่า ตะละพาน, ถ้าช่อฟ้า ใบระกา หน้าบันของวัดใดพังลงมาจะไม่นำขึ้นไปอีก, การปลูกเรือนจะต้องปลูกตรงกับวันเกิดของเจ้าของบ้าน และต้องปลูกให้เสาเท่ากันหมดจึงจะมีความสุข, บุคคลที่มีนามสกุลเดียวกันจะจัดงานบวชกับแต่งงานในวันเดียวกันไม่ได้, เมื่อลูกสาวแต่งงานแล้วจะต้องย้ายไปอยู่ที่อื่น, ตุ๊กตาเป็นสิ่งที่ไม่ดี ห้ามนำเข้าบ้าน ชายหญิงที่ไม่ใช่ลูก(คนละผีกัน) จะร่วมหลับนอนภายในบ้านไม่ได้ ทุกหมู่บ้านจะต้องมีศาลประจำหมู่บ้าน, และในกระบวนการเผาเครื่องปั้นจะต้องมีพิธีบูชาเตาในวันเข้าเตา เป็นต้น (หน้า 57-62, 288)

Education and Socialization

ชุมชนเกาะเกร็ดมีผู้ที่สามารถถ่ายทอดความรู้ด้านภาษามอญ คือ ท่านเจ้าอาวาส พระสงฆ์ในวัดและผู้เฒ่าผู้แก่ โดยจะมีนักศึกษานักวิชาการไปศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับภาษามอญอยู่เสมอ (หน้า 106) นอกจากนี้ยังมีศูนย์เครื่องปั้นดินเผาหรือศูนย์กวานอาม่าน ซึ่งจัดตั้งขึ้นที่บ้านเลขที่ 19 หมู่ 7 ตำบลเกาะเกร็ด โดยนายพิศาล บุญผูก ได้รับการสนับสนุนจากศูนย์วัฒนธรรมนนทบุรีและองค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยให้เป็นที่จัดแสดงเครื่องปั้นดินเผามอญโบราณ และเป็นแหล่งศึกษารูปแบบและลวดลายเครื่องปั้นดินเผามอญรุ่นเก่าๆ รวมถึงเป็นแหล่งพัฒนาและสืบทอดกรรมวิธีในการผลิตเครื่องปั้นดินเผา (หน้า 249-252)

Health and Medicine

ในอดีตคนมอญจะใช้พืช ต้นไม้บางจำพวกที่อยู่ใกล้ตัวมาทำเป็นยารักษาโรค ปัจจุบันได้เปลี่ยนไปรักษาโดยแพทย์แผนปัจจุบัน อย่างไรก็ดี ชาวบ้านบางคนยังคงรักษาด้วยยาสมุนไพรอยู่บ้าง และยังคงมีความรู้เกี่ยวกับตำรายากลางบ้าน เช่น ตำรายาแก้ไอ มีส่วนผสมของดีปลี สมอ เกลือสะตุ ในน้ำหนักเท่าๆ กันหรือตรีกะตุ ตรีผลา การบูร ชะเอม เกลือสินเธาว์ นำมาป่นให้ละเอียดผสมกับน้ำผึ้งหรือน้ำมะนาว, ยาแก้พิษตะขาบกัด ประกอบด้วยหัวเผือก พริกไทยอ่อน นำมาฝนเข้าด้วยกันแล้วนำไปทา, ยาแก้พิษเมาเห็ด ใช้เปลือกต้นกระทุ่มบดให้ละเอียดละลายน้ำดื่ม, ตำรายาถ่าย มีส่วนผสมของไข่เป็ด ไข่ไก่ กล้วยน้ำไทย ฝิ่น น้ำตาลทราย น้ำตาลปิบ กล้วย พริก ดีปลี ขิงเจตมูลเพลิงสลอด โดยนำทั้งหมดมาบดให้ละเอียด ต้มกับน้ำผึ้งรับประทาน เป็นต้น (หน้า 11, 336-343)

Art and Crafts (including Clothing Costume)

คนมอญเกาะเกร็ดมีการผลิตเครื่องปั้นดินเผาทั้งที่เป็นเครื่องใช้และเป็นแบบสวยงาม ลวดลายที่นิยมใช้ประดับตกแต่ง ได้แก่ ลายกลีบบัว ลายเครือเถา ดอกไม้ สร้อยคอ ใบไม้ เทพนม รูปสัตว์ พวงมาลัย ฉลุโปร่ง พวงดอกไม้ ส่วนเครื่องปั้นประเภทสวยงามนั้นนิยมรูปทรงหม้อน้ำลวดลายวิจิตร ก้นกลมคอสั้น ทรงฟักทองคอสั้น ทรงฟักทองคอสูง ทรงมะยม ทรงกระบอก ลักษณะพิเศษถือเป็นเอกลักษณ์ของเครื่องปั้นดินเผามอญเกาะเกร็ดคือการทำลายฉลุโปร่งที่ขารอง การทำขารองโอ่งน้ำ การทำฝาโอ่งเป็นยอดสูงแหลม และการทำเส้นลวดบนขอบอีกชั้นหนึ่งตามส่วนต่าง ๆ ของภาชนะ (หน้า 210-226) ธงตะขาบ : กรรมวิธีในการทำธงตะขาบ ใช้ไม้ไผ่สานเป็นโครงโค้งมนทั้งหัวและท้าย ส่วนลำตัวใช้ผ้าขาวทั้งผืนเย็บขอบผ้าเข้ากับเชือก ใส่ซี่ไม้ไผ่หรือหวายในส่วนลำตัวเป็นระยะห่างเท่าๆ กัน ติดธงซี่เล็กๆ ที่หัวไม้ไผ่ เจาะรูบนผืนผ้าระบายอากาศ ตรงส่วนหัวติดตะกร้อสานด้วยหวาย 2 ใบ และส่วนท้าย 3 ใบ ใช้ผ้าพันตะกร้อเพื่อความสวยงาม ในส่วนหางใช้ผ้าเยื่อไม้หรือด้ายสีหรืออาจใช้ผมผูกเป็นกลุ่ม (หน้า 49-50) เพลงพิณพาทย์มอญบรรเลงคู่กับพิณพาทย์ (ปี่พาทย์) แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ เพลงใหญ่ หน้าทับของตะโพนมอญ ตะโพนจะตีหนึ่งครั้งเมื่อครบจังหวะกรับ 16 จังหวะ หรือ 24 จังหวะ ในการบรรเลงในบันไดเสียงของเพลงประจำวัด ได้แก่ เพลงประจำบ้านทางตรง เพลงประจำบ้านทางกลาง เพลงประจำวัดทางตรง เพลงประจำวัดทางกลาง เพลิงเจิ้งหางไหม้ เพลงแป๊ะ-มัง-พลู เพลงฉิ่ง เพลงสี่บท เป็นต้น และเพลงเล็ก หน้าทับของตะโพนตีแบบเพลง 2 ชั้นแบบไทย มอญเรียกว่า หน้าทับพม่า เช่น เพลงสมิงทองมอญ เพลงมอญดูดาว เพลงมอญกละ (มอญคละ) เพลงมอญอ้อยอิ่ง (เถา) เพลงมอญชมจันทร์ (เถา) เพลงมอญรำดาบ (เถา) เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีเพลงเล็กอีกประเภทหนึ่งที่ใช้ประกอบการรำมอญและประกอบการรำผี ได้แก่ เพลงอะ-โรง-อะ-ชา เพลงหะ-ยะ-มาง-มาง เพลงยัว-ซาน เพลงหะ-แย-ปะ-และ รวมถึงเพลงมอญที่ผสมผสานกับสำเนียงอื่นๆ เช่น เพลงแขกมอญ (เถา) เพลงแขกมอญบางช้าง เพลงมอญจับช้าง เป็นต้น (หน้า 256-266) เพลงพื้นบ้านที่เก่าแก่ของเกาะเกร็ดคือ เพลงข้าวจ้าวเป็นเพลงสั้นๆ ไม่มีการโต้ตอบ เมื่อใครร้องจบจะมีลูกคู่ร้องรับสร้อย เนื้อหาของเพลงเชิญชวนเจ้าของบ้านให้ออกมาทำบุญ เมื่อเจ้าของบ้านนำของมาบริจาคผู้ร้องเพลงจึงร้องเพลงอวยพรด้วยถ้อยคำที่ไพเราะ เพลงลูกช่วงพวงมาลัย เป็นเพลงประกอบการละเล่นลูกช่วงในเทศกาลตรุษสงกรานต์ เพลงระบำบ้านไกล เป็นเพลงที่คนมอญคิดขึ้นใหม่เพื่อประกอบการรำ (หน้า 268-272) การละเล่นทะแยมอญ (เพลงมอญ) เป็นการร้องเพลงประกอบการรำ มีผู้แสดงอย่างน้อย 2 คน คือ ฝ่ายชายกับฝ่ายหญิง ซึ่งจะผลัดกันร้องรำแก้หรือโต้ตอบโวหารของฝ่ายตรงข้าม เครื่องดนตรีที่ใช้ประกอบ ได้แก่ ซอสามสาย จระเข้ ขลุ่ย ฉิ่ง กลอง ใช้กลอนเพลงในการร้อง ทำนองที่นิยมร้อง คือ ทำนองเจิ้ง-มั่ว เป็นเพลงของฝ่ายชาย ฝ่ายหญิงร้องบทสร้อย และทำนองโป้ต-เซ่ เป็นเพลงของฝ่ายหญิง ฝ่ายชายร้องบทสร้อย นอกจากนี้ยังมีทำนองโป้ต-หะ-โล่น ทำนองเก้ม-เจิน ทำนองหะเก-งั้ว ทำนองปล้าย-จ้าว การแต่งกายของผู้เล่น ผู้หญิงจะนุ่งโจงกระเบนหรือผ้าถุง สวมเสื้อแขนยาว มีผ้าโพกศีรษะ ผู้ชายแต่งตัวตามสบาย มีผ้าห้อยไหล่หรือพาดบ่า เป็นต้น (หน้า 267) การรำมอญ (บัว-หะ-เปิ้น) มีท่ารำทั้งหมด 10 ท่า และจะมีปี่พาทย์บรรเลงประกอบการรำ โดยเริ่มบรรเลงเพลงโหมโรงหรือซอ-ป๊าต จากนั้นจึงบรรเลงเพลงอีก 10 เพลง ได้แก่ เพลงยาก-หะเปิ้น เพลงถะบ๊ะ-ซาน เพลงดอมทอ เพลงขะวัว-ตอห์ เพลงขะวัว-ขะนอม เพลงที่ 6 เพลงกะ-ยาน เพลงหะว่าย เพลงเมี่ยง-ปล้าย-หะเลี่ย เพลงป๊าก-เมียะ โดยในการรำผู้รำจะเหยียดมือทั้งสองออกรำในท่านิ่งอยู่กับที่ พร้อมเคลื่อนไหวลำตัวด้วยการเถิบเท้าไปทีละน้อยตามจังหวะดนตรี ผู้รำจะแต่งตัวด้วยผ้าซิ่นนุ่งยาวกรอมเท้า เสื้อแขนกระบอก พากผ้าสไบไหล่เดียว หรือคล้องคอปล่อยชายอยู่ข้างหน้า (หน้า 287-289) การละเล่นพื้นบ้านของคนมอญ ได้แก่ การละเล่นมอญซ่อนผ้า และการเล่นละบ้า ซึ่งนิยมเล่นในตอนเย็นและเวลากลางคืนในเทศกาลตรุษสงกรานต์ เพื่อเปิดโอกาสให้หนุ่มสาวได้สนิทสนมกันโดยอยู่ในสายตาของผู้ใหญ่ การละเล่นลูกช่วงพวงมาลัย การเล่นเข้าทรงผีต่างๆ เช่น ผีกระด้ง คนเข้าผีเป็นผู้หญิง นั่งบนครกตำข้าว และเอามือจับกระด้งไว้ แล้วร้องเพลงเชิญให้ผีมาเข้า และการละเล่นเข้าผีลิงซึ่งมีลักษณะคล้ายคลึงกัน แต่ผู้เข้าผีจะเป็นผู้ชาย และนั่งบนสากตำข้าว 2 อัน จากนั้นจึงร้องเพลงเช่นการเชิญผีลิง (หน้า 290-295) การแต่งกายและเครื่องใช้ประจำตัวของคนมอญ จากจารึกวัดพระเชตุพน นิราศพระบาท และนิราศวัดเจ้าฟ้า กล่าวถึงการแต่งกายของคนมอญไว้ว่า คนมอญผู้หญิงนุ่งผ้าถุงยาวกรอมส้น สวมเสื้อ ห่มผ้าตาหรี่เหมือนสีรุ้ง และเกล้าผมมวย นิยมสวมเครื่องประดับพลอยทับทิม ส่วนผู้ชายมีผ้าพันโพกศีรษะ มักสักเลข ลงยันต์ที่ไหล่และหลัง อย่างไรก็ดี ปัจจุบันการแต่งกายคนมอญ ถ้าเป็นการแต่งกายธรรมดาผู้หญิงจะนุ่งซิ่นมีเชิง สวมเสื้อแขนยาวทรงกระบอก คอกลม ห่มผ้าสไบเฉียง สำหรับการแต่งกายในงานศพจะนุ่งซิ่นสีดำและห่มผ้าสไบเฉียงสีขาว นอกจากนี้ยังใช้เครื่องประทินผิว เช่น ขมิ้น ดินสอพองตกแต่งร่างกาย และในการเกล้าผมมวยแบบมอญ จะใช้ปิ่นมอญที่มีรูปร่างเหมือนกล้องยานัตถ์ และปิ่นขัดนิยมทำด้วยโลหะ หากมีงานรื่นเริงก็จะใส่รวงผึ้งประดับด้วย ส่วนผู้ชายจะนุ่งโสร่งสวมเสื้อแขนสั้น ส่วนการแต่งกายในพิธีจะนุ่งโสร่งหลากสี สวมเสื้อแขนสั้นมีผ้าพาดไหล่ นอกจานี้ยังนิยมสวมเครื่องประดับประเภทกำไรเงิน กำไรสำริดและที่ทำจากระดูกสัตว์ เข็มขัด ลูกปัดแก้ว ลูกปัดหิน (หน้า 303-308)

Folklore

กล่าวถึงความเป็นมาของการถวายน้ำผึ้งแด่พระสงฆ์ ตามชีวประวัติพระสีวลีเถระ พระอสีติสาวกในกัปที่ 91 พุทธประวัติตอนที่นางสุชาดานำข้าวมธุปายาส (ข้าวที่หุงด้วยน้ำนม เจือด้วยน้ำผึ้ง) มาถวายเจ้าชายสิทธัตถะ หลังจากทรงเลิกบำเพ็ญทุกขกิริยาแล้ว ซึ่งทำให้พระวรกายกลับสมบูรณ์แข็งแรง และเกิดพระปรีชาญาณจนตรัสรู้พระโพธิญาณ เรื่องราวตอนพญาวานร ถวายน้ำผึ้งพระพุทธเจ้า ทำให้พญาวานรได้ไปเกิดในวิมานทองบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ (หน้า 40-44, 165-167) และคราวหนึ่งในช่วงเดือน 10 พระภิกษุต้องเปียกชุ่มกายด้วยน้ำฝนจึงเกิดอาพาธ ร่างกายซูบผอม เมื่อพระพุทธเจ้าทราบจึงทรงพุทธานุญาตให้พระภิกษุรับและฉันน้ำผึ้ง น้ำอ้อย เนยข้น เนยใส และน้ำมันพืช ในยามวิกาลเพื่อระงับโรคและบำรุงร่างกายได้ ด้วยเหตุนี้จึงมีประเพณีตักบาตรน้ำผึ้งสืบมา ในการนี้จะนำผ้าผืนเล็กๆ ไปทำบุญด้วย เนื่องจากมีเรื่องเล่าว่าพระอัครมเหสีของพระเจ้าอโศกมหาราช ขณะที่เสวยชาติเป็นหญิงทอผ้าได้ไปพบเห็นพ่อค้าหนุ่มผู้หนึ่งถวายน้ำผึ้งลงในบาตรพระปัจเจกพุทธ ปรากฏว่าน้ำผึ้งเพียงน้อยนิดกลับเพิ่มทวีคูณจนล้นบาตร นางจึงถวายผ้าสไบเพื่อซับน้ำผึ้งที่ล้นบาตร พร้อมตั้งจิตอธิษฐานขอให้ชาติหน้าเกิดเป็นมเหสีของพระราชา ซึ่งก็เป็นจริงสมดังปรารถนา (หน้า 45) ความเป็นมาของประเพณีตักบาตรดอกไม้ ซึ่งสืบเนื่องมาจากพุทธประวัติตอนที่พระพุทธองค์เสด็จขึ้นไปโปรดพุทธมารดาบนเทวโลกตลอดพรรษา ครั้นถึงเวลาเสด็จกลับลงมา เทพยดา และชาวเมืองต่างถวายการสักการะด้วยบุปผามาลา จึงเป็นที่มาของประเพณีดังกล่าว (หน้า 54) เรื่องราวการทำความดีของพระเนมิราช ซึ่งอานิสงค์จากการทำทาน การรักษาอุโบสถศีล และการประพฤติพรหมจรรย์ ทำให้ได้ไปเกิดบนเทวโลก (หน้า 124-127) ตำนานเกี่ยวกับประเพณีและพิธีกรรมของคนมอญ เช่น ตำนานการเลี้ยงผี แต่ก่อนมีความเชื่อว่ามีผีกินคน กษัตริย์จึงประกาศหาคนที่จะมากำจัดผี ต่อมามีพระโพธิสัตว์รับอาสาที่จะปราบผีที่ชื่อกิ๊ริหรือคีรี ซึ่งเหาะมาจากหิมพานต์ในตอนเที่ยงเพื่อมากินคน โดยพระโพธิสัตว์ขอร้องไม่ให้ผีตนนั้นกินคนอีก ซึ่งผีก็รับปากแต่พระโพธิสัตว์นั้นจะต้องเลี้ยงผีต่อไป พระโพธิสัตว์นำความไปทูลต่อกษัตริย์และแจ้งให้ชาวเมืองทราบ จึงมีการเลี้ยงผีตั้งแต่นั้นมา และคนมอญได้นำผีไปแขวนไว้ที่เสาเอก (หน้า 159-160) ตำนานเกี่ยวกับการบวช โดยเชื่อว่าอานิสงส์จากการบวชของลูกชายจะสามารถสร้างบุญให้บิดามารดาได้ (หน้า 160-161) ตำนานเกี่ยวกับพระพุทธเจ้าห้าพระองค์ เล่ากันว่าใต้ท้องน้ำมีพญานาคตัวหนึ่งนอนหลับอยู่ เมื่อพระมหาบุรุษก่อนที่จะตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า ทรงฉันข้าวมธุปายาสจากนางสุชาดาแล้วนำถาดข้าวไปลอยในแม่น้ำเนรัญชรา ขณะนั้นได้มีถาดอีก 3 ใบลอยขึ้นมารับถาดดังกล่าวและกระทบกันเสียงดัง ทำให้พญานาคต้องตื่นขึ้นมารับทราบข่าวว่ามีพระพุทธเจ้าเกิดใหม่อีก 1 พระองค์ ดังนั้นเมื่อมีการสร้างพระพุทธรูปฉลองครั้งใดจึงต้องมีการเคาะถาดให้เกิดเสียงดัง พร้อมสวดอะเนกกะซาให้นาคได้รับทราบ (หน้า 161) ตำนานการทำธงตะขาบเป็นพุทธบูชา เชื่อกันว่าบริเวณอันเป็นที่ตั้งของเจดีย์ชเวดากองในประเทศพม่า เดิมเรียกว่าดอยสิงคุตต์หรือสิงคุต เป็นที่อยู่ของตะขาบยักษ์ตัวหนึ่ง ซึ่งต่อมาได้ถูกปูยักษ์จับกิน ครั้นล่วงเลยมาถึงสมัยพุทธปฐมโพธิกาล เมื่อพ่อค้าชาวสุวรรณภูมิได้ก่อสร้างเจดีย์บรรจุพระเกศธาตุขึ้นที่ดอยสังคุตต์ ซึ่งต่อมาเรียกว่า เจดีย์ชเวดากอง จึงได้จัดทำธงตะขาบไปแขวนใกล้เจดีย์เพื่อเป็นอนุสรณ์ให้แก่ตะขาบยักษ์และเพื่อเป็นพุทธบูชา จากนั้นเมื่อถึงตรุษสงกรานต์จึงมีพิธีถวายธงตะขาบ โดยนำไปแขวนที่เสาหงส์ (หน้า 163-164) ตำนานเกี่ยวกับเสาหงส์ กล่าวกันว่า เดิมพื้นที่เมืองหงสาวดีเป็นที่ลุ่ม ต่อมาน้ำทะเลตื้นเป็นที่ดอน ณ ที่นั้นได้มีหงส์ผู้เมียคู่หนึ่งอยู่ในทะเลสาบแห่งนี้ ชาวเมืองเชื่อว่าเป็นนิมิตดีจึงตั้งชื่อเมืองที่สร้างใหม่ว่า เมืองหงสาหรือหงสาวดี จากนั้นมาคนมอญจึงนับถือหงส์ เพราะเชื่อว่าเป็นสัตว์ชั้นสูงที่ให้คุณ ไม่ว่ามอญจะอพยพไปอยู่ ณ ถิ่นฐานใดจึงต้องสร้างรูปหงส์ไว้บนยอดเสาเพื่อเป็นสัญลักษณ์ (หน้า 167-169) ตำนานรำผีมอญ ในครั้งนั้นมีเศรษฐีมอญผู้หนึ่งมีภรรยา 2 คน ต่อมาเมียหลวงฆ่าลูกเมียน้อยตายเพราะความริษยา เมื่อทั้งสองคนตายไปต่างอาฆาตซึ่งกันและกัน จึงจ้องจะกินลูกของอีกฝ่ายสลับกันไปในแต่ละชาติ ในที่สุดฝ่ายหนึ่งไปเกิดเป็นมนุษย์ อีกฝ่ายหนึ่งยังคงเป็นผี ฝ่ายมนุษย์จึงหนีไปพึ่งพระพุทธองค์ พระองค์จึงทรงเทศนาให้ผีและมนุษย์เห็นโทษของการจองเวรต่อกัน นางผีจึงได้ไปอยู่กับมนุษย์และให้ความช่วยเหลือชาวเมือง (หน้า 170) นอกจากนี้ ยังมีเรื่องราวของนิทานคติธรรมพื้นบ้าน ที่ให้ข้อคิดเกี่ยวกับการประพฤติปฏิบัติตนอย่างมีสติสัมปชัญญะตามหลักธรรมคำสอนในพระพุทธศาสนา ไม่ลุ่มหลงในโลภะ โทสะ โมหะ ซึ่งย่อมส่งผลให้ได้รับความสุข ความสำเร็จ ไม่เป็นเช่นดังนิทานเรื่องสัตว์ทั้ง 4 เรื่องฤษีทั้ง 4 เรื่องลูกสาวเศรษฐีทั้ง 4 คน และเรื่องพราหมณ์ทั้ง 4 (หน้า 179-182)

Ethnicity (Ethnic Identity, Boundaries and Ethnic Relation)

มอญเป็นชนเผ่ามองโกลอยด์ที่มีเชื้อสายอยู่ในกลุ่มมอญ-เขมร เรียกตนเองว่ารามัญ เรียกประเทศของตนเองว่ารามัญประเทศ ต่อมาได้เรียกตนเองว่ามอญ (หน้า 1)

Social Cultural and Identity Change

การเปลี่ยนแปลงทางสังคมและความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีทำให้ต้องมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการผลิตเพื่อให้เป็นที่ต้องการของตลาดโดยลดการผลิตลงเหลือเพียงภาชนะขนาดเล็กจำพวก ครก อ่าง โอ่ง และกระถางต้นไม้แทน

Critic Issues

ไม่มีข้อมูล

Other Issues

ส่วนผสมและวิธีการประกอบอาหารของคนมอญ ทั้งอาหารคาวและอาหารหวาน ซึ่งแกงของคนมอญส่วนมากจะมีส่วนประกอบของพืชสมุนไพรเป็นหลัก นอกจากนี้ยังมีเนื้อสัตว์ประเภทปลาย่างและปลาสด อาหารดังกล่าวได้แก่ ขนมจีน รับประทานกับน้ำยา น้ำพริก และแกงเผ็ดต่างๆ แกงส้มมะรุม แกงลูกสั้นเป็นผลไม้ชนิดหนึ่งลักษณะคล้ายมะเขือพวง แกงส้มกระเจี๊ยบมอญ แกงมะตาด ซึ่งเป็นแกงพื้นเมือง จะแกงในฤดูที่มีผลมะตาด คือเดือนกรกฎาคมของทุกปี/ ข้าวแช่ แกงหน่อกะลา รวมถึงอาหารประเภทน้ำพริกหรือเครื่องจิ้ม เช่น ปลาร้าหลน น้ำปลายำ อาหารหวานมีส่วนประกอบที่สำคัญ ได้แก่ แป้งข้าวจ้าว แป้งข้าวเหนียว มะพร้าว ข้าวเหนียว น้ำตาล กลิ่นอบจากดอกไม้บางชนิด ขนมที่นิยมรับประทาน ได้แก่ ขนมกง เป็นขนมสำคัญที่ใช้ในพิธีทำบุญผีกระจาด (ประเพณีรับผีให้กับเด็กอายุ 1 ขวบ) พิธีแต่งงาน และในเทศกาลออกพรรษา กะละแม และกล้วยข้าวเม่า ซึ่งนิยมนำไปถวายพระในวันสงกรานต์ และขนมสะบ้าหรือบ้าบิ่น (หน้า 309-328)

Map/Illustration

แผนที่ตั้งจังหวัดนนทบุรี แผนที่แสดงที่ตั้งเกาะเกร็ด (หน้า 5-6) ตารางแสดงสระพยัญชนะและตัวเลขภาษามอญ (หน้า 120-122) ภาพพิธีโกนจุก (หน้า 14) ภาพประเพณีการบวชของนาคมอญ (หน้า 16) ภาพประเพณีการตักบาตรน้ำผึ้ง (หน้า 44) ภาพเครื่องดนตรีวงปี่พาทย์มอญ (หน้า 280-286)

Text Analyst ดวงใจ พิชิตณรงค์ชัย Date of Report 17 ต.ค. 2548
TAG มอญ, ความเชื่อ, ประเพณี, วิถีชีวิต, ภาษา, วรรณกรรม, การละเล่น, นนทบุรี, ภาคกลาง, Translator -
 
 

 

ฐานข้อมูลอื่นๆของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
  ฐานข้อมูลพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทย
จารึกในประเทศไทย
จดหมายเหตุทางมานุษยวิทยา
แหล่งโบราณคดีที่สำคัญในประเทศไทย
หนังสือเก่าชาวสยาม
ข่าวมานุษยวิทยา
ICH Learning Resources
ฐานข้อมูลเอกสารโบราณภูมิภาคตะวันตกในประเทศไทย
ฐานข้อมูลประเพณีท้องถิ่นในประเทศไทย
ฐานข้อมูลสังคม - วัฒนธรรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  หน้าหลัก
งานวิจัยชาติพันธุ์ในประเทศไทย
บทความชาติพันธุ์
ข่าวชาติพันธุ์
เครือข่ายชาติพันธุ์
เกี่ยวกับเรา
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  ข้อมูลโครงการ
ทีมงาน
ติดต่อเรา
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
ช่วยเหลือ
  กฏกติกาและมารยาท
แบบสอบถาม
คำถามที่พบบ่อย


ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) เลขที่ 20 ถนนบรมราชชนนี เขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ 10170 
Tel. +66 2 8809429 | Fax. +66 2 8809332 | E-mail. webmaster@sac.or.th 
สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2549    |   เงื่อนไขและข้อตกลง