สมัครสมาชิก   
| |
ค้นหาข้อมูล
ค้นหาแบบละเอียด
  •   ความเป็นมาและหลักเหตุผล

    เพื่อรวบรวมงานวิจัยทางชาติพันธุ์ที่มีคุณภาพมาสกัดสาระสำคัญในเชิงมานุษยวิทยาและเผยแผ่สาระงานวิจัยแก่นักวิชาการ นักศึกษานักเรียนและผู้สนใจให้เข้าถึงงานวิจัยทางชาติพันธุ์ได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น

  •   ฐานข้อมูลจำแนกกลุ่มชาติพันธุ์ตามชื่อเรียกที่คนในใช้เรียกตนเอง ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้ คือ

    1. ชื่อเรียกที่ “คนอื่น” ใช้มักเป็นชื่อที่มีนัยในทางเหยียดหยาม ทำให้สมาชิกกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ รู้สึกไม่ดี อยากจะใช้ชื่อที่เรียกตนเองมากกว่า ซึ่งคณะทำงานมองว่าน่าจะเป็น “สิทธิพื้นฐาน” ของการเป็นมนุษย์

    2. ชื่อเรียกชาติพันธุ์ของตนเองมีความชัดเจนว่าหมายถึงใคร มีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมอย่างไร และตั้งถิ่นฐานอยู่แห่งใดมากกว่าชื่อที่คนอื่นเรียก ซึ่งมักจะมีความหมายเลื่อนลอย ไม่แน่ชัดว่าหมายถึงใคร 

     

    ภาพ-เยาวชนปกาเกอะญอ บ้านมอวาคี จ.เชียงใหม่

  •  

    จากการรวบรวมงานวิจัยในฐานข้อมูลและหลักการจำแนกชื่อเรียกชาติพันธุ์ที่คนในใช้เรียกตนเอง พบว่า ประเทศไทยมีกลุ่มชาติพันธุ์มากกว่า 62 กลุ่ม


    ภาพ-สุภาษิตปกาเกอะญอ
  •   การจำแนกกลุ่มชนมีลักษณะพิเศษกว่าการจำแนกสรรพสิ่งอื่นๆ

    เพราะกลุ่มชนต่างๆ มีความรู้สึกนึกคิดและภาษาที่จะแสดงออกมาได้ว่า “คิดหรือรู้สึกว่าตัวเองเป็นใคร” ซึ่งการจำแนกตนเองนี้ อาจแตกต่างไปจากที่คนนอกจำแนกให้ ในการศึกษาเรื่องนี้นักมานุษยวิทยาจึงต้องเพิ่มมุมมองเรื่องจิตสำนึกและชื่อเรียกตัวเองของคนในกลุ่มชาติพันธุ์ 

    ภาพ-สลากย้อม งานบุญของยอง จ.ลำพูน
  •   มโนทัศน์ความหมายกลุ่มชาติพันธุ์มีการเปลี่ยนแปลงในช่วงเวลาต่างๆ กัน

    ในช่วงทศวรรษของ 2490-2510 ในสาขาวิชามานุษยวิทยา “กลุ่มชาติพันธุ์” คือ กลุ่มชนที่มีวัฒนธรรมเฉพาะแตกต่างจากกลุ่มชนอื่นๆ ซึ่งมักจะเป็นการกำหนดในเชิงวัตถุวิสัย โดยนักมานุษยวิทยาซึ่งสนใจในเรื่องมนุษย์และวัฒนธรรม

    แต่ความหมายของ “กลุ่มชาติพันธุ์” ในช่วงหลังทศวรรษ 
    2510 ได้เน้นไปที่จิตสำนึกในการจำแนกชาติพันธุ์บนพื้นฐานของความแตกต่างทางวัฒนธรรมโดยตัวสมาชิกชาติพันธุ์แต่ละกลุ่มเป็นสำคัญ... (อ่านเพิ่มใน เกี่ยวกับโครงการ/คู่มือการใช้)


    ภาพ-หาดราไวย์ จ.ภูเก็ต บ้านของอูรักลาโว้ย
  •   สนุก

    วิชาคอมพิวเตอร์ของนักเรียน
    ปกาเกอะญอ  อ. แม่ลาน้อย
    จ. แม่ฮ่องสอน


    ภาพโดย อาทิตย์    ทองดุศรี

  •   ข้าวไร่

    ผลิตผลจากไร่หมุนเวียน
    ของชาวโผล่ว (กะเหรี่ยงโปว์)   
    ต. ไล่โว่    อ.สังขละบุรี  
    จ. กาญจนบุรี

  •   ด้าย

    แม่บ้านปกาเกอะญอ
    เตรียมด้ายทอผ้า
    หินลาดใน  จ. เชียงราย

    ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ถั่วเน่า

    อาหารและเครื่องปรุงหลัก
    ของคนไต(ไทใหญ่)
    จ.แม่ฮ่องสอน

     ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ผู้หญิง

    โผล่ว(กะเหรี่ยงโปว์)
    บ้านไล่โว่ 
    อ.สังขละบุรี
    จ. กาญจนบุรี

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   บุญ

    ประเพณีบุญข้าวใหม่
    ชาวโผล่ว    ต. ไล่โว่
    อ.สังขละบุรี  จ.กาญจนบุรี

    ภาพโดยศรยุทธ  เอี่ยมเอื้อยุทธ

  •   ปอยส่างลอง แม่ฮ่องสอน

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ปอยส่างลอง

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดย เบญจพล  วรรณถนอม
  •   อลอง

    จากพุทธประวัติ เจ้าชายสิทธัตถะ
    ทรงละทิ้งทรัพย์ศฤงคารเข้าสู่
    ร่มกาสาวพัสตร์เพื่อแสวงหา
    มรรคผลนิพพาน


    ภาพโดย  ดอกรัก  พยัคศรี

  •   สามเณร

    จากส่างลองสู่สามเณร
    บวชเรียนพระธรรมภาคฤดูร้อน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   พระพาราละแข่ง วัดหัวเวียง จ. แม่ฮ่องสอน

    หล่อจำลองจาก “พระมหามุนี” 
    ณ เมืองมัณฑะเลย์ ประเทศพม่า
    ชาวแม่ฮ่องสอนถือว่าเป็นพระพุทธรูป
    คู่บ้านคู่เมืององค์หนึ่ง

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม

  •   เมตตา

    จิตรกรรมพุทธประวัติศิลปะไต
    วัดจองคำ-จองกลาง
    จ. แม่ฮ่องสอน
  •   วัดจองคำ-จองกลาง จ. แม่ฮ่องสอน


    เสมือนสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรม
    เมืองไตแม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ใส

    ม้งวัยเยาว์ ณ บ้านกิ่วกาญจน์
    ต. ริมโขง อ. เชียงของ
    จ. เชียงราย
  •   ยิ้ม

    แม้ชาวเลจะประสบปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัย
    พื้นที่ทำประมง  แต่ด้วยความหวัง....
    ทำให้วันนี้ยังยิ้มได้

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ผสมผสาน

    อาภรณ์ผสานผสมระหว่างผ้าทอปกาเกอญอกับเสื้อยืดจากสังคมเมือง
    บ้านแม่ลาน้อย จ. แม่ฮ่องสอน
    ภาพโดย อาทิตย์ ทองดุศรี
  •   เกาะหลีเป๊ะ จ. สตูล

    แผนที่ในเกาะหลีเป๊ะ 
    ถิ่นเดิมของชาวเลที่ ณ วันนี้
    ถูกโอบล้อมด้วยรีสอร์ทการท่องเที่ยว
  •   ตะวันรุ่งที่ไล่โว่ จ. กาญจนบุรี

    ไล่โว่ หรือที่แปลเป็นภาษาไทยว่า ผาหินแดง เป็นชุมชนคนโผล่งที่แวดล้อมด้วยขุนเขาและผืนป่า 
    อาณาเขตของตำบลไล่โว่เป็นส่วนหนึ่งของป่าทุ่งใหญ่นเรศวรแถบอำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี 

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   การแข่งขันยิงหน้าไม้ของอาข่า

    การแข่งขันยิงหน้าไม้ในเทศกาลโล้ชิงช้าของอาข่า ในวันที่ 13 กันยายน 2554 ที่บ้านสามแยกอีก้อ อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย
 
  Princess Maha Chakri Sirindhorn Anthropology Centre
Ethnic Groups Research Database
Sorted by date | title

   Record

 
Subject เวียต,ญวน,คนไทยเชื้อสายเวียดนาม,ความเชื่อ,สัญลักษณ์,หนองคาย
Author จิราภรณ์ วีระชัย
Title สถานภาพและบทบาทของเจ้าอง โต๋ที่มีผลต่อวิถีชีวิตชาวไทยเชื้อสายเวียดนามในอำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย
Document Type อื่นๆ Original Language of Text ภาษาไทย
Ethnic Identity เวียด เหวียตเกี่ยว ไทยใหม่, Language and Linguistic Affiliations ออสโตรเอเชียติก(Austroasiatic)
Location of
Documents
ห้องสมุดศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร Total Pages 158 Year 2543
Source สาขาวิชาไทยคดีศึกษา (กลุ่มมนุษยศาสตร์) บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
Abstract

งานศึกษาชิ้นนี้ครอบคลุมปรากฏการณ์ทางวัฒนธรรมของคนไทยเชื้อสายเวียดนามอำเภอท่าบ่อ ตั้งแต่ประวัติศาสตร์การอพยพเข้าสู่ประเทศไทย การปรับตัวทางวัฒนธรรม การดำรงชีวิต การปฏิสัมพันธ์กับกลุ่มต่างชาติพันธุ์ ที่สำคัญการสืบทอดความเชื่อของกลุ่มชาติพันธุ์เกี่ยวกับความเชื่อในเจ้าอง โต๋ ที่เชื่อว่าเป็นเทพเจ้าที่ศักดิ์สิทธิ์ การประกอบพิธีกรรมที่เหมาะสมถูกต้อง การเคารพบรรพบุรุษจะนำสิ่งดีงามมาสู่คนในครอบครัวของคนไทยเชื้อสายเวียดนาม อง โต๋ มีบทบาทต่อคนไทยเชื้อสายเวียดนามในด้านความเชื่อ พิธีกรรม ครอบครัวเครือญาติ ด้านการศึกษา ด้านการลดความเครียดในสังคม ด้านเศรษฐกิจ ด้านการรักษาโรค และบทบาทด้านการติดต่อสื่อสาร

Focus

บทบาทของเจ้าองโต๋ที่มีผลต่อวิถีชีวิตคนไทยเชื้อสายเวียดนามในอำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย (หน้า 4) และพิจารณาบทบาทหน้าที่ของผู้เกี่ยวข้องซึ่งรวมถึงร่างทรงขององโต๋ ผู้ช่วยร่างทรง ผู้มาใช้บริการเข้าทรงขององโต๋ ผู้ร่วมพิธีกรรม และ ผู้รู้ (หน้า 5)

Theoretical Issues

ไม่มี

Ethnic Group in the Focus

ผู้เขียนเรียกชาติพันธุ์ที่ศึกษาว่า "ชาวเวียดนาม" ในช่วงต้นของรายงานส่วนในผลการศึกษา ผู้ศึกษาจะเรียกชาติพันธุ์ที่ศึกษาว่า "ชาวไทยเชื้อสายเวียดนาม" โดยให้เหตุผลว่าเมื่อคนเวียดนามได้รับสัญชาติไทยแล้วจึงเรียกว่ากันว่าชาวไทยเชื้อสายเวียดนาม (เริ่มจากบทที่ 4) **หรือบางครั้งเรียกสลับกันไป โดยในงานศึกษาไม่ได้กล่าวถึงการเรียกตนเองของกลุ่มชาติพันธุ์หรือการที่ชาวอีสานมักจะเรียกกลุ่มชาติพันธุ์เวียดนามว่า "แกว" **

Language and Linguistic Affiliations

ในงานศึกษาไม่ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับภาษาพูดของคนไทยเชื้อสายเวียดนามที่ศึกษา แต่ในหัวข้อ "ภาษา" จะให้รายละเอียดเกี่ยวกับภาษาเวียดนามว่าอยู่ในตระกูลออสโตรเอเชียติค เวียดนามตกเป็นเมืองขึ้นของจีน จึงได้รับอิทธิพลจากจีนในเรื่องของภาษาจนเวียดนามต้องใช้ตัวอักษร "จื๋อ โย" (Chu Nho) และในงานก็ระบุว่าเวียดนามเองมีการประดิษฐ์อักษรจากจีนขึ้นมา ใช้ที่เรียกว่า "จื๋อ โนม" (Chu Nom) จากนั้นเวียดนามก็ตกเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศส เวียดนามก็ได้รับอิทธิพลทางด้านภาษาจากฝรั่งเศสอีกเช่นกัน มีการดัดแปลงอักษรโรมันเพื่อใช้แทนภาษาเวียดนาม เรียกว่า "กว็อก หงือ" (Quoc Ngu) ใช้เป็นภาษาเขียนประจำชาติมาจนปัจจุบัน ส่วนภาษาพูดของเวียดนามผู้เขียนระบุว่ามีภาษาถิ่น 3 ภาษา ได้แก่ ภาษาถิ่นเหนือ ภาษาถิ่นกลาง และภาษาถิ่นใต้ (หน้า 68-70)

Study Period (Data Collection)

ผู้เขียนระบุว่าระยะเวลาในการศึกษาว่าเริ่มตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2543 จนถึงเดือนกันยายน พ.ศ. 2543 (หน้า 5) โดยวิธีการศึกษาข้อมูลมือสอง เก็บข้อมูลภาคสนาม วิเคราะห์ข้อมูลและนำเสนอผลการศึกษา

History of the Group and Community

ในงานระบุว่าชาวเวียดนามได้อพยพเข้ามายังประเทศไทยตั้งแต่ก่อนรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราชสมัยอยุธยาจนถึงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวสมัยรัตนโกสินทร์ ในสมัยอยุธยานั้นหลักฐานไม่ปรากฏแน่ชัดสาเหตุสำคัญของการอพยพของชาวเวียดนาม คือ การถูกกวาดต้อนในฐานะเชลยศึกคราวที่ไทยทำสงครามกับเวียดนาม และการอพยพลี้ภัยทางการเมืองและศาสนา การถูกกวาดต้อนเข้ามาในฐานะเชลยศึกเป็นประเพณีการจับข้าศึกกลับเมือง เพื่อชดเชยกำลังทหารที่เสียไป ในการกวาดต้อนนี้จะทำการสักเข้าหมวดชาวเวียดนามว่าเป็น ญวนสวามิภักดิ์ด้วย โดยเวียดนามเหล่านี้โปรดเกล้าให้ส่งไปยังเมืองกาญจนบุรีและหัวเมืองทางเหนือ (หน้า 49) สำหรับชาวเวียดนามที่อพยพเข้ามาเพื่อลี้ภัยทางการเมืองและศาสนานั้น เนื่องมาจากตระกูลที่ปกครองเวียดนามทั้งตระกูลตริงห์ และตระกูลเหวียน ทั้งสองตระกูลมีการกดขี่พวกที่นับถือศาสนาคริสต์รวมทั้งบาทหลวงชาวตะวันตกด้วย ประกอบกับประเทศไทยในสมัยนั้น สมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงมีการเจริญทางพระราชไมตรีกับต่างชาติ ด้านการค้าขาย นั่นเป็นสิ่งดึงดูดให้ชาวต่างชาติเข้ามาทำการค้าและอยู่อาศัยเป็นจำนวนมาก (หน้า 50) การอพยพเข้ามาของชาวเวียดนามนั้นมีมาอย่างต่อเนื่อง ในงานระบุว่าสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ตั้งแต่รัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชจนถึงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พบว่ามีชาวเวียดนามที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยเป็นจำนวนมากและหลายกลุ่ม อาศัยอยู่รวมกันเป็นกลุ่มในกรุงเทพมหานคร เช่น ที่บ้านญวนพาหุรัด บางโพ และสามเสน และในสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีชาวเวียดนามที่อพยพเข้ามาอาศัยบริเวณริมฝั่งแม่น้ำโขง เพราะหนีความอดอยากมา เนื่องจากเวียดนามเกิดภัยแล้งเป็นเวลานาน ซึ่งชาวเวียดนามเหล่านี้ได้ถูกเกลี้ยกล่อมให้เข้ามาอยู่อาศัยในเขตไทย เช่นที่จังหวัดนครพนม และสกลนคร ซึ่งการเกลี้ยกล่อมดำเนินการมาจนถึงพ.ศ. 2405 พบว่าได้ชาวเวียดนามจำนวน 133 คน (หน้า 55) นอกจากนั้นยังพบว่า การที่เวียดนามมีสงครามในการกู้ชาติมาตลอด โดยเฉพาะกับประเทศฝรั่งเศส ส่งผลให้ชาวเวียดนามอพยพออกนอกประเทศหลายระลอกการอพยพเข้าสู่ประเทศไทยครั้งใหญ่ที่สุด คือ ในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2488 โดยอพยพผ่านประเทศลาว ข้ามแม่น้ำโขงเข้ามาอยู่อาศัยในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย (หน้า 48-62) ส่วนการอพยพของคนไทยเชื้อสายเวียดนามที่เข้ามาอยู่อาศัยในเขตอำเภอท่าบ่อนั้น ผู้เขียนไม่ได้ให้รายละเอียดที่เฉพาะเจาะจง แต่จะกล่าวอ้างว่าเข้ามาในช่วง พ.ศ. 2488 โดยเข้ามาทำมาหากินในเขตเทศบาลตำบลท่าบ่อ ด้วยสาเหตุที่รัฐบาลไทยให้การช่วยเหลือให้สามารถทำมาหากินได้อย่างเสรี กลุ่มชาติพันธุ์ในเขตเทศบาลตำบลท่าบ่อนั้น ประกอบด้วย กลุ่มชาติพันธุ์ลาว เวียดนาม และจีน (หน้า 63) และงานศึกษายังระบุว่าในภายหลังกลุ่มที่มีอิทธิพลทางเศรษฐกิจของอำเภอท่าบ่อได้แก่ กลุ่มชุมชนชาวเวียดนาม และชาวจีน (หน้า 62)

Settlement Pattern

ผู้เขียนนำเสนอว่าแรกเริ่มที่คนเวียดนามเข้ามาอาศัยที่อำเภอท่าบ่อนั้นจะสร้างบ้านคล้ายตึกดินแบบคนจีน คล้ายห้องแถวไม่ยกพื้น แต่ในปัจจุบันที่คนเวียดนามมีสภาพทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้น จึงสร้างบ้านเป็นตึกทรงตะวันตก เป็นอาคารพาณิชย์สามารถใช้ในธุรกิจการค้าขายได้ (หน้า 74) ส่วนการตั้งศาลเจ้าอง โต๋ นั้น ยังมีสิ่งก่อสร้างที่มีความสัมพันธ์กัน คือ 1) ศาลเจ้าที่ จะสร้างให้ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของแท่นพระโพธิสัตว์ ลักษณะจะเป็นเรือนหลังเล็กหลังคาทรงจั่ว 2) บ่อน้ำ ตั้งอยู่ใกล้กับศาลเจ้าที่ เพราะต้องใช้น้ำในการประกอบพิธีกรรม และใช้ประโยชน์อย่างอื่นด้วย 3) ที่เผากระดาษเงินกระดาษทอง ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของศาล 4) ศาลเทวดาฟ้าดิน จะตั้งอยู่ใกล้กับที่เผากระดาษเงินกระดาษทอง มีลักษณะเป็นแท่นใช้สำหรับวางกระถางธูป และเครื่องเซ่นไหว้ต่างๆ ซึ่งทั้งหมดจะมีความสัมพันธ์กันในการประกอบพิธีกรรมที่ศาลเจ้า (หน้า 105,109)

Demography

ในเขตเทศบาลตำบลท่าบ่อประกอบด้วยกลุ่มชาติพันธุ์ลาว เป็นกลุ่มชาติพันธุ์กลุ่มใหญ่ที่สุด รองลงมาคือกลุ่มชาติพันธุ์เวียดนาม และกลุ่มชาติพันธุ์จีน ผู้เขียนไม่ได้ระบุจำนวนของกลุ่มชาติพันธุ์ลาวและกลุ่มชาติพันธุ์จีน ส่วนกลุ่มชาติพันธุ์เวียดนามพบว่าผู้เขียนแยกเป็นชาวเวียดนามอพยพรุ่นบิดามารดาที่ยังไม่ได้รับสัญชาติไทย มีจำนวน 457 คน และชาวเวียดนามรุ่นลูก หลาน ที่เกิดในเมืองไทยและได้รับสัญชาติไทยแล้วมีจำนวนทั้งสิ้น 1,452 คน (ข้อมูลจากปกครองอำเภอท่าบ่อ ณ เดือนสิงหาคม พ.ศ. 2542) (ตาราง 3 หน้า 64)

Economy

ระบบเศรษฐกิจของเทศบาลตำบลท่าบ่อ จะเป็นระบบเศรษฐกิจที่ถูกควบคุมโดยกลุ่มชาติพันธุ์เวียดนามและกลุ่มชาติพันธุ์จีน ชาวเวียดนามมีความขยันขันแข็ง แม้แต่ชาวจีนยังยอมรับโดยชาวเวียดนามมักประกอบอาชีพแทบทุกประเภท อาทิ งานทางด้านการเกษตร งานช่างฝีมือต่างๆ เช่น ช่างไม้ ช่างเหล็ก ช่างไฟฟ้าวิทยุ ช่างตัดเย็บเสื้อผ้า ช่างเครื่องยนต์ และนอกนั้นจะการค้าขายสินค้าทุกชนิด (หน้า 62) นอกจากนั้น งานศึกษายังระบุว่าระบบเศรษฐกิจของเทศบาลตำบลท่าบ่อนั้นจะดีขึ้นเมื่อคนไทยเชื้อสายเวียดนามที่เคยอยู่อาศัยที่อำเภอท่าบ่อ แต่ปัจจุบันอพยพไปทำมาหากินต่างประเทศ เมื่อกลับมาเยี่ยมญาติจะนำเงินตรามาใช้จ่ายในประเทศไทยโดยเฉลี่ยประมาณ 50,000 - 70,000 บาทต่อคน(หน้า 144) นั่นเท่ากับว่าคนไทยเชื้อสายเวียดนามเป็นกลุ่มที่มีอิทธิพลต่อระบบเศรษฐกิจของเทศบาลตำบลท่าบ่อ

Social Organization

ครอบครัว เป็นครอบครัวแบบผสมผสาน คือ มีทั้งครอบครัวเดี่ยวและครอบครัวขยาย แต่ในปัจจุบันผู้เขียนนำเสนอว่ามักจะมีเพียงเด็กและคนแก่เท่านั้น เพราะคนวัยแรงงานมักอพยพไปทำงานที่อื่น เหมือนกับชาวอีสานทั่วไป ระบบเครือญาติคนเวียดนามจะเชื่อฟังผู้อาวุโส และให้ความสำคัญกับบุตรชายมากกว่าบุตรสาว เพราะความเชื่อที่ว่าผู้ชายจะต้องเป็นแรงงานหลักของครอบครัว ความสัมพันธ์ระหว่างคนเวียดนามจะไม่มีการแบ่งแยกว่าเป็นสายสกุลใด แต่จะให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกันเพราะต่างถือว่ามีพื้นเพเดียวกัน (หน้า 67) กลุ่มผลประโยชน์ ผู้เขียนระบุว่ากลุ่มคนเวียดนามจะรวมตัวกัน และคบค้าสมาคมเฉพาะคนเวียดนามเท่านั้น น้อยนักที่จะคบหากับคนต่างชาติพันธุ์ และการคบหาคนไทยและคนชาติพันธุ์อื่นๆ นั้น พบว่าคนเวียดนามจะกระทำเมื่อมีผลประโยชน์เท่านั้น เช่น การโอนลูกของตนเองให้เป็นบุตรบุญธรรมของคนไทยเพื่อการได้มาซึ่งสัญชาติไทย (หน้า 65)

Political Organization

พิธีกรรม ชาวเวียดนามจะให้ความสำคัญกับพิธีกรรมมาก เพราะเชื่อว่าถ้าประกอบพิธีกรรมอย่างถูกต้อง จะไม่ก่อให้เกิดความอดอยากหรือความแร้นแค้น จะไม่เกิดอาเพศทางธรรมชาติ โดยพิธีกรรมของชาวเวียดนามอำเภอท่าบ่อจะอิงอยู่กับความเชื่อในเจ้าอง โต๋ (หน้า 86) การปกครอง งานศึกษาชิ้นนี้ได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับการเมืองการปกครองของอำเภอท่าบ่อ โดยยกหลักเกณฑ์และวิธีการของกระทรวงมหาดไทย ซึ่งเน้นสภาพการปกครองแบบทั่วไป คือ แบ่งการปกครองออกเป็นตำบลและหมู่บ้าน แต่ละหมู่บ้านมีคณะกรรมการหมู่บ้านฝ่ายต่าง ๆ เพื่อประสานงานกับหน่วยงานของรัฐในการปกครอง โดยคณะกรรมการหมู่บ้านจะเลือกจากชาวบ้านที่มีคุณธรรม (หน้า 37-39) อย่างไรก็ตาม งานศึกษานี้ไม่ได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับการปกครองของกลุ่มชาติพันธุ์เวียดนามที่ศึกษา

Belief System

ศาสนา ชาวไทยเชื้อสายเวียดนามนับถือผี ทั้งผีบ้านและผีเจ้าที่โดยผีบ้านนั้นจะเป็นผีบรรพบุรุษ ซึ่งจะพบว่าในบ้านของคนเวียดนามจะมีหิ้งบูชาบรรพบุรุษ ซึ่งจะมีการทำพิธีกรรมระลึกถึงบรรพบุรุษ สำหรับผีเจ้าที่ของคนไทยเชื้อสายเวียดนามอำเภอท่าบ่อ คือ "อง โต๋" หรือ "อง เตร่ย" (Ong Troi) โดยจะสร้างศาลเจ้าให้เป็นที่สถิตของ อง โต๋ (หน้า 78) ความเชื่อ ชาวเวียดนามเชื่อว่าทั้งสวรรค์และโลกมนุษย์ต่างก็มีกฎเกณฑ์ของตนเอง ดังนั้น จึงเชื่อในเรื่องของเทพเจ้าที่มีอยู่ทุกแห่ง ความเชื่อเรื่องเทพเจ้า ชาวเวียดนามได้รับอิทธิพลมาจากศาสนาเต๋าของจีนด้วย เพราะเวียดนามเคยตกอยู่ภายใต้การปกครองของจีนมาเป็นระยะเวลานาน การมีเทพเจ้าอย่าง อง โต๋ ก็ด้วยเหตุผลในเรื่องของความกลัวต่ออำนาจธรรมชาติหรือเป็นความเชื่อที่สามารถเป็นที่ยึดเหนี่ยวทางด้านจิตใจ จะเชื่อว่า อง โต๋ สามารถที่จะบันดาลให้ประสบแต่ความโชคดี รอดพ้นจากภัยพิบัติทั้งปวงได้ (หน้า 86) นอกจากนั้น ยังมีความเชื่อเกี่ยวกับการเสี่ยงทายโยนเหรียญ ในการประกอบพิธีเกี่ยวกับ อง โต๋ วิธีการจะมีการเสี่ยงทายโดยร่างทรง หรือที่เรียกว่า "โก ฮาย" (Co Hai) โดยจะโยนเหรียญกษาปณ์จีนโบราณ 2 เหรียญ ซึ่ง 2 เหรียญนี้ด้านหนึ่งของแต่ละเหรียญจะทาสีขาวเอาไว้เป็นการเสี่ยงทายเพื่อให้ทราบถึงการมารับเครื่องเซ่นไหว้ของ อง โต๋ และบรรดาผีไม่มีญาติ สำหรับการเสี่ยงทายอีกลักษณะหนึ่ง คือ จะใช้เหรียญทั้งหมด 36 เหรียญในการเสี่ยงทาย จะกระทำโดย "ไถ่ กุ๋ง" (Thay Cung) วิธีการจะกำเหรียญทั้งหมดแล้วปล่อยเหรียญลงบนถาดข้าวสารผสมกับเกลืออย่างละ 1 กำ ซึ่งจะมีธูปวางอยู่ ปล่อยลงทีละเหรียญ ในขณะเดียวกันมืออีกข้างจะใช้มีดตัดเหรียญโดยจะไม่ให้โดนเหรียญที่ปล่อยลงไป จนครบ 36 เหรียญ แล้วยกถาดขึ้นฝัด 3 ครั้ง แล้วนับเหรียญที่หงายขึ้นครั้งละ 4 เหรียญ ออกจนกว่าจะเหลือ 1 หรือ 2 เหรียญ แต่ถ้าเศษ 3 เหรียญจะต้องทำพิธีใหม่ ซึ่งการเสี่ยงทายทั้งหมดนี้ ล้วนแล้วแต่เป็นการสร้างขวัญกำลังใจให้กับชาวไทยเชื้อสายเวียดนามทั้งสิ้น (หน้า 121- 122) อง โต๋ หรือ อง เตร่ย (Ong Troi) เป็นความเชื่อของชาวเวียดนามที่รับมาจากศาสนาเต๋า ซึ่งชาวเวียดนามนั้นรับมาจากจีนโบราณในสมัยที่จีนเข้ามาปกครองเวียดนามอีกทอดหนึ่ง เมื่อเข้ามาอาศัยอยู่ในประเทศไทยชาวเวียดนามก็ได้นำความเชื่อดังกล่าวนี้มายึดถือและปฏิบัติสืบมา โดยศาลเจ้า อง โต๋ ในอำเภอท่าบ่อ มีทั้งหมด 3 ศาล คือ 1) ศาล ดึก ถัน เตริ่น มีความสำคัญและเก่าแก่มากที่สุด 2) ศาล เดน เหมา และ 3) ศาล เดน กว่าน เหริน ลักษณะของตัวศาลอย่างศาล ดึก ถัน เตริ่น นั้นจะหันหน้าไปทางทิศตะวันตก และการตั้งศาลนี้ยังมาจากความต้องการของเทพเจ้าสูงสุด คือ เตริ่น ฮุง เดา (Tran Hung Dao) ทราบจากการประทับทรงเมื่อครั้งตั้งศาลใน พ.ศ. 2488 และเนื่องจากชาวเวียดนามเป็นชาติที่ยึดมั่นในความเชื่อต่างๆ อย่างเหนียวแน่น ดังนั้น สถานที่ที่ใช้ประกอบพิธีกรรมเพื่อสื่อสารกับเทพเจ้านั้นจึงมีความสำคัญมาก โดยส่วนประกอบที่เกี่ยวข้องกับการประกอบพิธีกรรมภายในศาล มีดังนี้ 1) แท่นประดิษฐานพระโพธิสัตว์และที่สถิตของเทพเจ้าชั้นสูง 2) แท่นวางเครื่องสักการะ จะอยู่ลดระดับลงมาจากแท่นพระโพธิสัตว์ 3) แท่นบูชาเจ้าพ่อเสือ เป็นแท่นขนาดเล็ก จะตั้งอยู่ด้านล่างของแท่นพระโพธิสัตว์ 4) แท่นบูชาประจำตระกูล ตั้งอยู่ทางด้านหน้าเบื้องซ้ายของแท่นวางเครื่องสักการะ 5) แท่นวางกระถางธูปสักการะ ตั้งอยู่ทางด้านซ้ายและขวาของแท่นพระโพธิสัตว์ การวางกระถางธูปจำนวนมากชาวเวียดนามเชื่อว่ากลิ่นและควันธูปจะเป็นตัวกลางในการติดต่อสื่อสารระหว่างมนุษย์กับพระโพธิสัตว์และเทพเจ้า 6) แท่นบูชาผีไม่มีญาติ ตั้งอยู่ทางด้านหน้าเบื้องขวาของแท่นวางเครื่องสักการะ ซึ่งชาวเวียดนามเชื่อว่าถ้าไม่เซ่นไหว้ผีไม่มีญาติแล้ว จะทำให้ดวงวิญญาณเหล่านั้นมาแย่งกินของเซ่นไหว้ อง โต๋ ไปหมด 7) หมวกหรือกุบจะแขวนอยู่บนเพดานเหนือแท่นวางเครื่องสักการะใช้สำหรับเป็นเครื่องทรงของเทพเจ้า สำหรับส่วนประกอบที่เกี่ยวกับความเป็นสิริมงคลที่จะทำให้ศาลเจ้ามีความงดงามโอ่อ่ามากขึ้นได้แก่ 1) ผ้า นิ มง เป็นผ้าปักลวดลายมังกร เพราะมังกรเป็นสัตว์ที่ชาวเวียดนามเชื่อว่าเป็นสัตว์ที่วิเศษ นิยมใช้เป็นสัญลักษณ์แทนจักรพรรดิและความมีอำนาจ สามารถขจัดสิ่งชั่วร้ายออกไปได้ หงษ์เชื่อว่าเป็นเจ้าแห่งสัตว์ปีกใช้แทนจักพรรดินีและสตรีสูงศักดิ์ ซึ่งนอกจากนั้นจะพบว่าผ้านิ มง มีสีแดงหรือสีเหลืองทอง อีกทั้งลวดลายต่างๆ เช่นลายเมฆ ลายเครือจีน แบบประเพณีคติเวียดนามอีกด้วย ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อที่ยึดถือต่อกันมาเพื่อสร้างความยึดเหนี่ยวทางด้านจิตใจของชาวเวียดนาม 2) อักษรตัวโนม (Nom) เป็นอักษรที่มีการพัฒนามาจากอักษรจีน จะแกะสลักลงบนแผ่นไม้แล้วปิดด้วยทอง ข้อสังเกตจากงานพบว่าปัจจุบันไม่มีชาวเวียดนามในอำเภอท่าบ่อคนใดสามารถอ่านออกและแปลได้เลย ตัวอักษร คำ หรือประโยคที่เขียนภายในศาลเจ้ามักจะเป็นภาษาจีนโบราณ ซึ่งจะแตกต่างไปจากภาษาเวียดนามปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม ทุกสิ่งทุกอย่างที่ประกอบรวมเข้าเป็นศาลเจ้า สถานที่ประกอบพิธีกรรมของชาวเวียดนามนั้นล้วนสื่อให้เห็นถึงความเชื่อ ประเพณีและวัฒนธรรมแบบเวียดนามที่ยึดถือสืบกันมา อย่างไรก็ตาม ศาลเจ้าของชาวเวียดนามพึ่งได้รับการบูรณะเมื่อครั้งที่ทางการไทยไม่เข้มงวดกวดขันเกี่ยวกับการดำรงชีวิต หรือการแสดงออกทางวัฒนธรรมของชาวเวียดนาม เพราะในอดีตเนื่องจากความแตกต่างในลัทธิการเมืองทำให้ชาวเวียดนามที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยต่างเก็บตัวและไม่แสดงออกทางชาติพันธุ์ (หน้า 88-103) วันปีใหม่เวียดนาม หรือที่เรียกกันว่าตรุษเวียดนาม จะตรงกับวันสิ้นเดือนสิบสองของปีจันทรคติ ซึ่งตรงกับวันตรุษจีน ชาวเวียดนามถือว่าเทศกาลนี้เป็นการเฉลิมฉลองที่สำคัญที่สุด เพราะเชื่อกันว่าปีใหม่เป็นการเริ่มต้นกับสิ่งใหม่ ทั้งนี้ วันตรุษเวียดนามจะมีการเซ่นไหว้บรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว (หน้า 76-77)

Education and Socialization

การศึกษาของชาวอำเภอท่าบ่อจะมีโรงเรียนระดับประถมศึกษา และมัธยมศึกษา สำหรับระดับอุดมศึกษาจะนิยมส่งบุตรหลานเข้าศึกษาต่อที่สถานศึกษาในจังหวัดหนองคายและจังหวัดใกล้เคียง ซึ่งจะมีทั้งการศึกษาทั้งในและนอกระบบ (หน้า 35) สำหรับชาวเวียดนามนั้น ด้วยความเป็นกลุ่มชาติพันธุ์แล้ว ชาวเวียดนามจะอบรมสั่งสอนบุตรหลานให้รักชาติเวียดนาม เลื่อมใสในตัวโฮจิมินห์ เป็นวีรบุรุษของชาวเวียดนาม ส่วนการศึกษานั้นชาวเวียดนามจะไม่นิยมเรียนสูงมากนัก ส่วนใหญ่จะเรียนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 จะมีเพียงส่วนน้อยที่จบระดับอุดมศึกษา (หน้า 64) ความเชื่อ ที่เกี่ยวกับอง โต๋ และพิธีกรรมที่แสดงออกของกลุ่มชาติพันธุ์เวียดนามอำเภอท่าบ่อ ยังเป็นอีกกระบวนการให้การศึกษาและขัดเกลาทางสังคมให้แก่บุตรหลาน และสืบทอดวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์อีกอย่างหนึ่งด้วย (หน้า 140)

Health and Medicine

ในงานศึกษาของผู้เขียนระบุว่าบทบาทของ อง โต๋ ที่เกี่ยวข้องกับการรักษาโรคของชาวไทยเชื้อสายเวียดนามว่า ญาติผู้ป่วยจะหาร่างทรงของ อง โต๋ มาเป็นร่างทรง และสอบถามถึงอาการอ้อนวอนให้หายป่วย โดยมีการบนบานว่าถ้าหายจะนำเครื่องเซ่นมาเซ่นไหว้ ทั้งนี้ จะกระทำเมื่อไม่สามารถรักษาโดยแพทย์แผนปัจจุบันได้แล้ว (หน้า 144-145)

Art and Crafts (including Clothing Costume)

การแต่งกาย ผู้เขียนระบุว่าการแต่งกายของชาวไทยเชื้อสายเวียดนามในปัจจุบันเริ่มที่จะเปลี่ยนแปลงไปตามสมัยนิยม โดยเฉพาะวัยรุ่น เนื่องด้วยสภาพเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และการปกครองที่เปลี่ยนแปลงไป แต่อย่างไรก็ตามการแต่งกายแบบเก่าจะยังคงเคร่งครัดในกลุ่มคนญวนรุ่นเก่า และมักจะสวมใส่เมื่อมีการประกอบพิธีกรรม โดยผู้หญิงจะสวมชุด อ้าว ญ่าย เป็นเครื่องแต่งกายประจำชาติเวียดนาม มีลักษณะคล้ายชุดกี่เพ้าของคนจีน สำหรับผู้ชายจะเป็นเสื้อคอกลมแขนสั้น เสื้อเชิ้ตแขนสั้นหรือยาว กางเกงขาสั้นหรือยาว (หน้า 73)

Folklore

ไม่มีข้อมูล

Ethnicity (Ethnic Identity, Boundaries and Ethnic Relation)

เอกลักษณ์ทางวัฒนธรรม ถึงแม้ว่าสังคมปัจจุบันจะเป็นสังคมโลกาภิวัตน์ก็ตาม เป็นโลกที่วิทยาศาสตร์นำสังคม แต่คนไทยเชื้อสายเวียดนามยังคงเชื่อในไสยศาสตร์อำนาจที่มองไม่เห็น ยังคงนับถือผีบรรพบุรุษ คนไทยเชื้อสายเวียดนามอำเภอท่าบ่อนับถือเจ้าอง โต๋ เช่นเดียวกับคนอีสานที่นับถือแถนหรือผีฟ้า (หน้า 113) ความสัมพันธ์กับกลุ่มต่างชาติพันธุ์ ผู้เขียนกล่าวว่าชาวเวียดนามในอำเภอท่าบ่อมักที่จะปฏิสัมพันธ์กับกลุ่มข้าราชการไทยเพื่อผลประโยชน์ และมักจะแต่งงานกับชาวไทยเพื่อการได้มาซึ่งสัญชาติไทย (หน้า 65) นอกจากนั้น ในงานยังระบุว่าการที่ชาวเวียดนามไม่กล้าแสดงออก ทางวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์เวียดนามนั้น เนื่องมาจากประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับการเป็นกลุ่มคนอพยพ และเกี่ยวข้องกับสงครามและการปกครองตามแบบลัทธิคอมมิวนิสต์ซึ่งรัฐบาลไทยเองมีนโยบายในการปราบปรามคอมมิวนิสต์ จึงส่งผลโดยตรงในการแสดงออกซึ่งอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ของชาวเวียดนามที่จะต้องปรับเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา

Social Cultural and Identity Change

ความเชื่อและพิธีกรรม เมื่อคนเวียดนามอพยพเข้ามาอาศัยอยู่ในประเทศไทย ก็ได้ถูกผสมกลมกลืนทางวัฒนธรรมในหลายด้านอาทิ การแต่งกาย พิธีกรรมการแต่งงาน ภาษา ด้านความเชื่อก็เช่นเดียวกันมีการเปลี่ยนแปลงไปตามเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป ความเชื่อบางอย่างถูกมองว่างมงาย ล้าสมัย และขาดเหตุผล โดยเฉพาะในกลุ่มของคนไทยเชื้อสายเวียดนามรุ่นใหม่ จึงทำให้การสืบทอดวัฒนธรรมขาดหายไป(หน้า 157) การแต่งกาย ที่เปลี่ยนไปตามสมัยนิยมโดยเฉพาะกลุ่มวัยรุ่น และยิ่งสภาพเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมที่เปลี่ยนไป ส่งผลให้การแต่งกายแบบดั้งเดิมของชาวเวียดนามสูญหายไป (หน้า 73)

Critic Issues

ไม่มีข้อูล

Other Issues

อง โต๋ เป็นเทพเจ้าที่มาจากบุคคลที่เป็นวีรบุรุษในประวัติศาสตร์ของชาวเวียดนาม เป็นความเชื่อเกี่ยวกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่มีอำนาจอง โต๋มีบทบาททางด้านความเชื่อ ทางด้านพิธีกรรม ทางด้านครอบครัวและเครือญาติ บทบาททางด้านการศึกษา บทบาททางด้านเศรษฐกิจ บทบาททางด้านการรักษาโรคและบทบาททางด้านการติดต่อสื่อสารของชาวเวียดนาม (หน้า 151 - 155)

Map/Illustration

ตาราง 1. จำนวนครัวเรือนและประชากรอำเภอท่าบ่อ (หน้า 33) 2. จำนวนครัวเรือนและประชากรในเขตเทศบาลตำบลท่าบ่อ (หน้า 34) 3. จำนวนประชากรชาวเวียดนาม (หน้า 64) แผนภาพ 1. แผนที่แสดงที่ตั้งของอำเภอท่าบ่อ (หน้า 24) 2. แผนที่แสดงที่ตั้งของเทศบาลตำบลท่าบ่อ (หน้า 25) 3. แผนที่แสดงที่ตั้งบ้านเรือนและสถานที่สำคัญของเทศบาลตำบลท่าบ่อ (หน้า26) 4. ภาพลักษณะภูมิประเทศของอำเภอท่าบ่อ (หน้า 27) 5. ภาพสภาพทุ่งนาของชาวอำเภอท่าบ่อ (หน้า 29) 6. ภาพไร่ยาสูบและโรงบ่มยาสูบ (หน้า 31) 7. ภาพโรงเรียนมัธยมศึกษาประจำอำเภอท่าบ่อ (หน้า 36) 8. ภาพโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชท่าบ่อ (หน้า 37) 9. ภาพร้านค้าจำหน่ายสินค้าของชาวเวียดนามในเทศบาลตำบลท่าบ่อ (หน้า 63) 10. ภาพการแต่งกายของชาวเวียดนาม(หน้า 73) 11. ภาพลักษณะที่อยู่อาศัยแบบดั้งเดิมของชาวเวียดนาม (หน้า 74) 12. ภาพลักษณะที่อยู่อาศัยแบบตะวันตกของชาวเวียดนาม (หน้า 75) 13. ภาพหิ้งบูชาบรรพบุรุษในครอบครัวของชาวเวียดนาม (หน้า 79) 14. ภาพศาลเจ้าอง โต๋ของชาวเวียดนาม (หน้า 79) 15. ภาพแผนที่แสดงที่ตั้งศาลเจ้าอง โต๋ ของชาวเวียดนามในอำเภอท่าบ่อ (หน้า 89) 16. ภาพศาลดึก ถัน เตริ่น (หน้า 90) 17. ภาพเดน เหมา (หน้า 90) 17. ภาพเดน กวาน เหริน (หน้า 91) 19. การประกอบพิธีที่ศาลดึก ถัน เตริ่น (หน้า 92) 18. ภาพแผนผังการแบ่งพื้นที่ใช้สอยของศาลดึก ถัน เตริ่น (หน้า 93) 19. ภาพแท่นประดิษฐานพระโพธิสัตว์และที่สถิตของเทพเจ้าชั้นสูง (หน้า 95) 20. ภาพแท่นวางเครื่องสักการะ (หน้า 96) 21. ภาพแท่นบูชาเจ้าพ่อเสือ (หน้า 97) 22. ภาพแท่นบูชาประจำตระกูล (หน้า 98) 23. ภาพแท่นวางกระถางธูปสักการะ (หน้า 99) 24. ภาพแท่นบูชาผีไม่มีญาติ (หน้า 100) 25. ภาพหมวกหรือกุบ (หน้า 101) 26. ภาพผ้านิ มง (หน้า 102) 27. ภาพตัวอักษรโนม (หน้า 103) 28. ภาพแผนผังส่วนประกอบภายในศาล (หน้า 104) 29. ภาพศาลเจ้าที่และบ่อน้ำบริเวณศาลตึก ถัน เตริ่น (หน้า 106) 30. ภาพที่เผากระดาษเงินกระดาษทอง (หน้า 107) 31. ภาพศาลเทวดาฟ้าดิน (หน้า 108) 32. ภาพแผนผังบริเวณศาลดึก ถัน เตริ่น (หน้า 109)

Text Analyst จตุพร ดอนโสม Date of Report 01 พ.ย. 2555
TAG เวียต, ญวน, คนไทยเชื้อสายเวียดนาม, ความเชื่อ, สัญลักษณ์, หนองคาย, Translator -
 
 

 

ฐานข้อมูลอื่นๆของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
  ฐานข้อมูลพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทย
จารึกในประเทศไทย
จดหมายเหตุทางมานุษยวิทยา
แหล่งโบราณคดีที่สำคัญในประเทศไทย
หนังสือเก่าชาวสยาม
ข่าวมานุษยวิทยา
ICH Learning Resources
ฐานข้อมูลเอกสารโบราณภูมิภาคตะวันตกในประเทศไทย
ฐานข้อมูลประเพณีท้องถิ่นในประเทศไทย
ฐานข้อมูลสังคม - วัฒนธรรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  หน้าหลัก
งานวิจัยชาติพันธุ์ในประเทศไทย
บทความชาติพันธุ์
ข่าวชาติพันธุ์
เครือข่ายชาติพันธุ์
เกี่ยวกับเรา
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  ข้อมูลโครงการ
ทีมงาน
ติดต่อเรา
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
ช่วยเหลือ
  กฏกติกาและมารยาท
แบบสอบถาม
คำถามที่พบบ่อย


ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) เลขที่ 20 ถนนบรมราชชนนี เขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ 10170 
Tel. +66 2 8809429 | Fax. +66 2 8809332 | E-mail. webmaster@sac.or.th 
สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2549    |   เงื่อนไขและข้อตกลง