สมัครสมาชิก   
| |
ค้นหาข้อมูล
ค้นหาแบบละเอียด
  •   ความเป็นมาและหลักเหตุผล

    เพื่อรวบรวมงานวิจัยทางชาติพันธุ์ที่มีคุณภาพมาสกัดสาระสำคัญในเชิงมานุษยวิทยาและเผยแผ่สาระงานวิจัยแก่นักวิชาการ นักศึกษานักเรียนและผู้สนใจให้เข้าถึงงานวิจัยทางชาติพันธุ์ได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น

  •   ฐานข้อมูลจำแนกกลุ่มชาติพันธุ์ตามชื่อเรียกที่คนในใช้เรียกตนเอง ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้ คือ

    1. ชื่อเรียกที่ “คนอื่น” ใช้มักเป็นชื่อที่มีนัยในทางเหยียดหยาม ทำให้สมาชิกกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ รู้สึกไม่ดี อยากจะใช้ชื่อที่เรียกตนเองมากกว่า ซึ่งคณะทำงานมองว่าน่าจะเป็น “สิทธิพื้นฐาน” ของการเป็นมนุษย์

    2. ชื่อเรียกชาติพันธุ์ของตนเองมีความชัดเจนว่าหมายถึงใคร มีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมอย่างไร และตั้งถิ่นฐานอยู่แห่งใดมากกว่าชื่อที่คนอื่นเรียก ซึ่งมักจะมีความหมายเลื่อนลอย ไม่แน่ชัดว่าหมายถึงใคร 

     

    ภาพ-เยาวชนปกาเกอะญอ บ้านมอวาคี จ.เชียงใหม่

  •  

    จากการรวบรวมงานวิจัยในฐานข้อมูลและหลักการจำแนกชื่อเรียกชาติพันธุ์ที่คนในใช้เรียกตนเอง พบว่า ประเทศไทยมีกลุ่มชาติพันธุ์มากกว่า 62 กลุ่ม


    ภาพ-สุภาษิตปกาเกอะญอ
  •   การจำแนกกลุ่มชนมีลักษณะพิเศษกว่าการจำแนกสรรพสิ่งอื่นๆ

    เพราะกลุ่มชนต่างๆ มีความรู้สึกนึกคิดและภาษาที่จะแสดงออกมาได้ว่า “คิดหรือรู้สึกว่าตัวเองเป็นใคร” ซึ่งการจำแนกตนเองนี้ อาจแตกต่างไปจากที่คนนอกจำแนกให้ ในการศึกษาเรื่องนี้นักมานุษยวิทยาจึงต้องเพิ่มมุมมองเรื่องจิตสำนึกและชื่อเรียกตัวเองของคนในกลุ่มชาติพันธุ์ 

    ภาพ-สลากย้อม งานบุญของยอง จ.ลำพูน
  •   มโนทัศน์ความหมายกลุ่มชาติพันธุ์มีการเปลี่ยนแปลงในช่วงเวลาต่างๆ กัน

    ในช่วงทศวรรษของ 2490-2510 ในสาขาวิชามานุษยวิทยา “กลุ่มชาติพันธุ์” คือ กลุ่มชนที่มีวัฒนธรรมเฉพาะแตกต่างจากกลุ่มชนอื่นๆ ซึ่งมักจะเป็นการกำหนดในเชิงวัตถุวิสัย โดยนักมานุษยวิทยาซึ่งสนใจในเรื่องมนุษย์และวัฒนธรรม

    แต่ความหมายของ “กลุ่มชาติพันธุ์” ในช่วงหลังทศวรรษ 
    2510 ได้เน้นไปที่จิตสำนึกในการจำแนกชาติพันธุ์บนพื้นฐานของความแตกต่างทางวัฒนธรรมโดยตัวสมาชิกชาติพันธุ์แต่ละกลุ่มเป็นสำคัญ... (อ่านเพิ่มใน เกี่ยวกับโครงการ/คู่มือการใช้)


    ภาพ-หาดราไวย์ จ.ภูเก็ต บ้านของอูรักลาโว้ย
  •   สนุก

    วิชาคอมพิวเตอร์ของนักเรียน
    ปกาเกอะญอ  อ. แม่ลาน้อย
    จ. แม่ฮ่องสอน


    ภาพโดย อาทิตย์    ทองดุศรี

  •   ข้าวไร่

    ผลิตผลจากไร่หมุนเวียน
    ของชาวโผล่ว (กะเหรี่ยงโปว์)   
    ต. ไล่โว่    อ.สังขละบุรี  
    จ. กาญจนบุรี

  •   ด้าย

    แม่บ้านปกาเกอะญอ
    เตรียมด้ายทอผ้า
    หินลาดใน  จ. เชียงราย

    ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ถั่วเน่า

    อาหารและเครื่องปรุงหลัก
    ของคนไต(ไทใหญ่)
    จ.แม่ฮ่องสอน

     ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ผู้หญิง

    โผล่ว(กะเหรี่ยงโปว์)
    บ้านไล่โว่ 
    อ.สังขละบุรี
    จ. กาญจนบุรี

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   บุญ

    ประเพณีบุญข้าวใหม่
    ชาวโผล่ว    ต. ไล่โว่
    อ.สังขละบุรี  จ.กาญจนบุรี

    ภาพโดยศรยุทธ  เอี่ยมเอื้อยุทธ

  •   ปอยส่างลอง แม่ฮ่องสอน

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ปอยส่างลอง

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดย เบญจพล  วรรณถนอม
  •   อลอง

    จากพุทธประวัติ เจ้าชายสิทธัตถะ
    ทรงละทิ้งทรัพย์ศฤงคารเข้าสู่
    ร่มกาสาวพัสตร์เพื่อแสวงหา
    มรรคผลนิพพาน


    ภาพโดย  ดอกรัก  พยัคศรี

  •   สามเณร

    จากส่างลองสู่สามเณร
    บวชเรียนพระธรรมภาคฤดูร้อน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   พระพาราละแข่ง วัดหัวเวียง จ. แม่ฮ่องสอน

    หล่อจำลองจาก “พระมหามุนี” 
    ณ เมืองมัณฑะเลย์ ประเทศพม่า
    ชาวแม่ฮ่องสอนถือว่าเป็นพระพุทธรูป
    คู่บ้านคู่เมืององค์หนึ่ง

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม

  •   เมตตา

    จิตรกรรมพุทธประวัติศิลปะไต
    วัดจองคำ-จองกลาง
    จ. แม่ฮ่องสอน
  •   วัดจองคำ-จองกลาง จ. แม่ฮ่องสอน


    เสมือนสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรม
    เมืองไตแม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ใส

    ม้งวัยเยาว์ ณ บ้านกิ่วกาญจน์
    ต. ริมโขง อ. เชียงของ
    จ. เชียงราย
  •   ยิ้ม

    แม้ชาวเลจะประสบปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัย
    พื้นที่ทำประมง  แต่ด้วยความหวัง....
    ทำให้วันนี้ยังยิ้มได้

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ผสมผสาน

    อาภรณ์ผสานผสมระหว่างผ้าทอปกาเกอญอกับเสื้อยืดจากสังคมเมือง
    บ้านแม่ลาน้อย จ. แม่ฮ่องสอน
    ภาพโดย อาทิตย์ ทองดุศรี
  •   เกาะหลีเป๊ะ จ. สตูล

    แผนที่ในเกาะหลีเป๊ะ 
    ถิ่นเดิมของชาวเลที่ ณ วันนี้
    ถูกโอบล้อมด้วยรีสอร์ทการท่องเที่ยว
  •   ตะวันรุ่งที่ไล่โว่ จ. กาญจนบุรี

    ไล่โว่ หรือที่แปลเป็นภาษาไทยว่า ผาหินแดง เป็นชุมชนคนโผล่งที่แวดล้อมด้วยขุนเขาและผืนป่า 
    อาณาเขตของตำบลไล่โว่เป็นส่วนหนึ่งของป่าทุ่งใหญ่นเรศวรแถบอำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี 

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   การแข่งขันยิงหน้าไม้ของอาข่า

    การแข่งขันยิงหน้าไม้ในเทศกาลโล้ชิงช้าของอาข่า ในวันที่ 13 กันยายน 2554 ที่บ้านสามแยกอีก้อ อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย
 
  Princess Maha Chakri Sirindhorn Anthropology Centre
Ethnic Groups Research Database
Sorted by date | title

   Record

 
Subject คะแมร์ลือ,ไทย-เขมร,สังคมวัฒนธรรม,พิธีกรรม,พิธีเซนเนียะตา,ศรีสะเกษ
Author ระพีพรรณ คมใส
Title พิธีกรรมแซนเนียะตาของกลุ่มชาวไทยเขมร : ศึกษาเฉพาะกรณีหมู่บ้านกราม ตำบลไพร อำ เภอขุนหาญ จังหวัดศรีสะเกษ
Document Type วิทยานิพนธ์ Original Language of Text ภาษาไทย
Ethnic Identity ขแมร์ลือ คะแมร คนไทยเชื้อสายเขมร เขมรถิ่นไทย, Language and Linguistic Affiliations ออสโตรเอเชียติก(Austroasiatic)
Location of
Documents
ห้องสมุดศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร Total Pages 113 Year 2540
Source หลักสูตรปริญญามานุษยวิทยามหาบัณฑิต สาขามานุษยวิทยา ภาควิชามานุษยวิทยา บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
Abstract

การศึกษาพิธีกรรมแซนเนียะตาของกลุ่มคนไทยเขมร บ้านกราม ต.ไพร อ.ขุนหาญ จ.ศรีสะเกษ เพื่อศึกษาสัญลักษณ์และความหมายที่ใช้ในพิธีกรรม และศึกษาหน้าที่รวมทั้งวิเคราะห์หน้าที่ของพิธีกรรมที่มีผลต่อการจัดระเบียบสังคมไทยเขมร วัตถุประสงค์ของพิธีกรรมดังกล่าว เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองความสำเร็จในการเพาะปลูก เพื่อเป็นการเซ่นสรวงบูชาผีบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว และเพื่อแสดงถึงความกตัญญูที่มีต่อบรรพบุรุษ จากการศึกษาพบว่า สภาพเศรษฐกิจปัจจุบันทำให้การเข้าร่วมพิธีกรรมของชาวบ้านมีวัตถุประสงค์ที่ต่างกัน คือ ชาวบ้านกลุ่มหนึ่งเข้าร่วมพิธีกรรมด้วยความเชื่อที่มีสั่งสมมานาน และชาวบ้านอีกกลุ่มที่ต้องการเสี่ยงโชคจากการใช้หวยของมม็วด นอกจากนี้สัญลักษณ์ที่ปรากฏในพิธีกรรม มีความหมายที่แสดงให้เห็นถึง ความสัมพันธ์ที่มนุษย์มีต่ออำนาจเหนือธรรมชาติ ส่วนหน้าที่ของพิธีแซนเนียะตาทำให้ผู้ที่อยู่ในหมู่บ้านและญาติมิตรได้มีโอกาสมาพบปะกัน ก่อให้เกิดความเป็นปึกแผ่นในสังคม และช่วยยึดเหนี่ยวจิตใจของคนในหมู่บ้านที่นับถือ พิธีแซนเนียะตา จึงทำหน้าที่ในการจัดระเบียบสังคมภายในหมู่บ้านนั่นเอง

Focus

งานชิ้นนี้มุ่งศึกษาถึง สัญลักษณ์ ความหมายที่ใช้ในพิธีกรรมแซนเนียะตาของหมู่บ้านกราม ต.ไพร อ.ขุนหาญ จ.ศรีสะเกษ รวมทั้งวิเคราะห์ถึงหน้าที่ของพิธีกรรมดังกล่าว ที่มีต่อการดำเนินชีวิตและการจัดระเบียบสังคมของชุมชนเขมรแห่งนี้ (หน้า 4)

Theoretical Issues

ไม่มี

Ethnic Group in the Focus

ไทยเขมรที่ตั้งถิ่นฐานในหมู่บ้านกราม ต.ไพร อ.ขุนหาญ จ.ศรีสะเกษ

Language and Linguistic Affiliations

ชาวบ้านกรามเรียกตนเองว่า "คแมร-ลือ" (kmer lvi) แปลว่า เขมรสูง ส่วนภาษาและเขมรในประเทศกัมพูชาเรียกว่า "คแมร-กรอม" (kmer kroim) แปลว่า เขมรต่ำ และเรียกคนไทยเป็นภาษาแม่ว่า "ซีม" (Sim) ตรงกับคำว่า สยาม (หน้า21) นอกจากนี้ยังมีการแบ่งภาษาเขมรออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ 1. ภาษาเขมรเหนือหรือเขมรสูงหรือเขมรถิ่นไทย เป็นภาษาของไทยเชื้อสายเขมรที่อยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย 2. ภาษาเขมรกลาง เป็นภาษาของผู้พูดภาษาเขมรในประเทศกัมพูชา 3. ภาษาเขมรใต้ เป็นภาษาของคนเวียดนามเชื้อสายเขมรที่อยู่ทางตอนใต้ของประเทศเวียดนาม David Thomas กล่าวไว้ในสารานุกรมกลุ่มชาติพันธุ์เขมรถิ่นไทยว่า ภาษาเขมรใต้และภาษาเขมรกลางมีลักษณะทางภาษาที่คล้ายคลึงกัน มีความแตกต่างกันไม่มาก ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าที่มาและความหมายของคำว่า "เขมร" เป็นอย่างไรแน่ สำหรับชาวบ้านกรามพูดภาษาเขมรในการสื่อสารกันในชีวิตประจำวัน แต่ไม่มีภาษาเขียน ตัวอย่างภาษาเขมร เช่น เชิง (ขา เท้า) โพะ (ท้อง) มาเต่ (ปาก) เป็นต้น (หน้า 40-42) ประชากรส่วนใหญ่พูดภาษาเขมรเป็นภาษาแม่ มีไทยลาวมาอยู่จำนวนหนึ่งและคนจีนบ้างเล็กน้อย โดยทั้งไทยลาวและคนจีนสามารถพูดและฟังภาษาเขมรได้ แต่คนกลุ่มเหล่านี้สามารถพูดฟังและเขียนภาษาไทยภาคกลางได้ดีทั้งเด็กและผู้สูงอายุ (หน้า 29)

Study Period (Data Collection)

ไม่ระบุ

History of the Group and Community

จากการสัมภาษณ์ทำให้ทราบว่า หมู่บ้านกรามเดิมเมื่อร้อยปีมาแล้ว เคยมีชาวกัมพูชามาอาศัยอยู่ในสมัยของพระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 อิทธิพลทางการเมืองและวัฒนธรรมด้านต่างๆ ได้เข้าสู่อีสานใต้ สมัยเขมรพระนคร (พุทธศตวรรษที่16-18) การขยายอำนาจทางการเมืองของเขมรสมัย พระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 (พ.ศ. 1545-1593) พระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 (พ.ศ.1656-1693) และพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 (พ.ศ.172-1761) เป็นสมัยที่เขมรได้เข้ามาอยู่ในเขตอีสานใต้ เพราะกษัตริย์เขมรได้เกณฑ์คนเขมรจากประเทศเขมรและกวยในเขตอีสานใต้ให้เป็นผู้สร้างปราสาทและสร้างเมืองในอีสาน เช่น ปราสาทเมืองต่ำ ปราสาทเขาพระวิหาร ฯลฯ รวมทั้งการสร้างถนนจากนครธมไปตามเมืองและปราสาทต่างๆ ในเขตอีสานใต้ด้วย ในระหว่างพุทธศตวรรษที่ 16-17 ประวัติหมู่บ้าน จากการสัมภาษณ์ เมื่อประมาณ 100 ปีมาแล้วมี 2 คนผัวเมีย คือ ตารุณและยายสว่าง พร้อมเพื่อนๆ อพยพมากจากเมืองขุขันธุ์ เนื่องจากชาวบ้านขาดแคลนน้ำในการบริโภคและการเพาะปลูก ชาวบ้านจำนวนหนึ่งจึงอพยพเดินทางมาพักที่หนองปลิง ในระหว่างพักก็พากันเดินไปทางตะวันออก ก็พบสัตว์ป่าชุกชุมและแหล่งน้ำหลายแห่ง ซึ่งเป็นที่เรียกกันว่า ห้วยตึกเทลีย (ห้วยน้ำใส) หนองสาหร่าย ห้วยตาออฟ ห้วยตาสา ห้วยโดนกวง และพอเดินไปทางทิศเหนือก็พบแหล่งน้ำอีก คือ หนองกราม พอสำรวจกันจนค่ำก็พักผ่อนกันในป่าทึบ พอตกกลางคืนตารุณฝันว่า เทวดามาบอกว่า ไม่ต้องอพยพไปที่ไหนขอให้ตั้งรกรากที่นี่ เพราะต่อไปจะเป็นบ้านเมืองที่เจริญ แล้วตารุณก็เล่าให้ทุกคนฟัง และเห็นพ้องต้องกันว่า ควรตั้งรกรากที่นี่ จึงตั้งหมู่บ้านขึ้นทางด้านตะวันออกของหนองสาหร่าย และตั้งชื่อหมู่บ้านว่า บ้านกราม คำว่า กราม แปลว่า ดินปะสิว ในสมัยนั้นบ้านกรามเป็นป่าทึบมีบริเวณกว้างใหญ่ มีสัตว์ป่าชุกชุมหลายชนิด ชาวบ้านเลี้ยงวัว ควาย ไว้ใช้งาน ด้วยเหตุที่เป็นที่ป่าทึบและสัตว์ป่าชุก สัตว์เลี้ยงของชาวบ้านถูกกินจึงต้องอพยพมาอยู่ในที่โล่งคือ บริเวณสี่แยกบ้านกรามปัจจุบัน (หน้า 25-28)

Settlement Pattern

ลักษณะการตั้งถิ่นฐานของหมู่บ้านกรามจะอยู่บนเนินสูง มีที่ราบลุ่มอยู่ทางทิศใต้และตะวันตก ซึ่งเหมาะแก่การทำนา ส่วนพื้นที่ด้านทิศตะวันออกเป็นเนินสูงเหมาะแก่การทำไร่ และมีถนนตัดผ่านเป็นคุ้มๆ แบ่งออกเป็น 5 คุ้ม คือ คุ้มโกลแล คุ้มใต้ คุ้มบ้านเมา คุ้มบ้านบักดองหรือคุ้มกรามใต้ และคุ้มสวาย มีวัดตั้งอยู่ด้านตะวันออกของหมู่บ้าน (ตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ.2453) ส่วนด้านทิศเหนือมีหนองน้ำกราม ด้านทิศใต้มีหนองน้ำกระมัลและหนองน้ำสาหร่าย ส่วนด้านทิศตะวันตกมีลำห้วยจันทร์ซึ่งเป็นแอ่งเก็บน้ำที่เกิดจากการไหลมาบรรจบของหนองกราม หนองกระมัลและหนองสาหร่าย ทำให้พื้นที่นี้เหมาะแก่การทำนา เนื่องจากมีน้ำขังตลอดทั้งปี ลักษณะการตั้งบ้านเรือน มีการตั้งบ้านเรือนอยู่ติดกันในกลุ่มญาติเดียวกัน โดยล้อมรอบด้วยรั้วแต่ละหลังหรือแต่ละกลุ่มญาติอย่างเป็นระเบียบ บอกอาณาเขตอย่างชัดเจน ลักษณะของบ้านสมัยก่อนมีส่วนคล้ายกับบ้านเขมรในประเทศกัมพูชา คือ เป็นบ้านชั้นเดียวใต้ถุนสูง แต่ปัจจุบันชาวบ้านได้รับการศึกษาสูง ได้ออกสู่โลกภายนอกมากขึ้นจึงดัดแปลงบ้านให้ทันสมัยมากขึ้น (หน้า 24-25)

Demography

จำนวนประชากรของหมู่บ้านกราม ในปีพ.ศ. 2539 พบว่า มีจำนวนครัวเรือน 300 ครัวเรือน แบ่งเป็นหมู่บ้านกรามหมู่ที่ 2 จำนวน 200 ครัวเรือน มีประชากร 1,082 คน และบ้านกรามตะวันออกหมู่ที่ 9 จำนวน 100 ครัวเรือน มีประชากร 606 คน (หน้า 28-29)

Economy

เมื่อประมาณ 30 ปีที่แล้ว รูปแบบการผลิตเป็นแบบเพื่อยังชีพเป็นส่วนใหญ่ หรือบางครอบครัวก็ไม่เพียงพอที่จะยังชีพและใช้หนี้สิน เนื่องจากสามารถทำนาได้ปีละ 1 ครั้ง เพราะอาศัยน้ำจากธรรมชาติ ไม่มีระบบชลประทาน "ข้าวสัมพันธ์" ที่ชาวบ้านปลูกมีลักษณะแข็ง หุงไม่ขึ้นหม้อ ขายได้ราคาไม่ดี สำหรับพืชไร่ที่ปลูกสมัยนั้น คือ ปอ ข้าวโพด มันสำปะหลัง และข้าว ปลูกตามวิธีทางธรรมชาติ ทั้งนี้ มักปลูกมันสำปะหลังทุกปีทำให้ดินเสื่อมสภาพ ปัจจุบันภาครัฐได้เห็นถึงปัญหานี้ จึงได้ส่งนักวิชาการเกษตรประจำตำบลไว้คอยให้คำแนะนำ พร้อมสร้างระบบฝายน้ำล้น 4 ฝาย คือ ฝายห้วยทา ห้วยจันทร์ ฝายประชาอาสา ฝาย กสช. เหมาะแก่การทำนาอย่างยิ่ง และเพื่อให้มีน้ำเพียงพอต่อพื้นที่ทำการเกษตรประมาณ 4,100 ไร่ เครื่องมือที่ใช้ในการทำนา ปัจจุบันมีทั้งใช้ควายในการไถนาและรถอีแต๋น ในช่วงระหว่างปักดำ ถอนกล้าและเก็บเกี่ยว ก็มีทั้งการจ้างและเอาแรง นอกจาการทำนาแล้วยังปลูกพืชไร่ เช่น มะม่วงหิมพานต์ มะม่วงเขียวเสวย ยางพารา ฯลฯ ผลผลิตจากยางพาราทำรายได้อย่างมาก และยังมีพืชที่กำลังทดลองปลูก คือ เงาะ ลำไย และทุเรียน ด้านการถือครองที่ดิน จากข้อมูลในปี 2539 พบว่า ชาวบ้านส่วนใหญ่มีที่ดินสำหรับทำมาหากินเป็นของตนเอง ซึ่งได้รับจากบรรพบุรุษ สำหรับครอบครัวที่ไม่มีที่ดินเป็นกรรมสิทธิ์ของตนเอง เพราะไม่ได้รับส่วนแบ่งจากบรรพบุรุษ หรือได้รับเพียงส่วนน้อยจึงขายให้ญาติพี่น้องด้วยกัน โดยครอบครัวที่ไม่มีที่ดินทำกินยึดเอาอาชีพรับจ้างทั้งในท้องถิ่นและนอกท้องถิ่น สำหรับครอบครัวที่มีที่ดิน 1-10 ไร่ ต้องเช่านาเพิ่มตามขนาดครอบครัว หากผู้ที่มีที่ดิน 21-30 ไร่ ถือว่ามีฐานะเศรษฐกิจอยู่ในระดับปานกลางพอต่อการทำกิน และผู้ที่มีที่ดินมากถึง 41-50 ไร่ จะแบ่งที่นาให้คนอื่นเช่าและทำนาด้วยตนเองด้วย อาชีพ การเลี้ยงสัตว์ไว้บริโภคและขาย เช่น ไก่ เป็ด ปลา วัว ควาย หมู การค้าขายเนื่องจากบ้านกรามเป็นหมู่บ้านขนาดใหญ่จึงมีร้านค้าเปิดจำนวนมากถึง 15 ร้านค้า บ้างก็ขายของเบ็ดเตล็ด บ้างก็ขายน้ำมันเครื่อง และอาหารสด นอกจากนี้ยังมีมอเตอร์ไซด์รับจ้าง โดยอาชีพหลักของชาวบ้านที่นี่ คือ การทำนา เนื่องจากในหมู่บ้านทั้ง 2 มีที่ดินสำหรับการทำนาถึง 4,100 ไร่ โดยพื้นที่ส่วนใหญ่ปลูกข้าวเจ้าเพื่อบริโภคและขาย และปลูกข้าวเหนียวบ้างเล็กน้อยเพื่อไว้ทำขนมในการประกอบพิธีกรรม การทำนานั้นจะทำเพียงปีละ 1 ครั้ง เฉพาะช่วงในฤดูฝนเท่านั้น แม้ว่าจะมีฝายถึง 4 แห่งก็ตาม เนื่องจากในฤดูแล้งไม่สามารถเก็บกักน้ำไว้ได้เพราะเป็นดินร่วนปนทราย ส่วนการทำไร่เป็นที่ทำรายได้มากรองจากการทำนา พืชที่ปลูกได้แก่ มะม่วงหิมพานต์ มันสำปะหลัง มะม่วงแก้ว มะม่วงอกร่อง มะขามหวาน ยางพารา และยังปลูก มะพร้าว ทั้งในไร่และภายในบริเวณหมู่บ้าน เนื่องจากมีความสำคัญต่อความเป็นอยู่ของเขมร เพราะนิยมนำไปประกอบอาหาร และเพื่อใช้ในงานบุญและพิธีกรรม เช่น ขนมจีน ข้าวต้มมัด น้ำมะพร้าวถือว่าเป็นน้ำดื่มบริสุทธิ์ ผีบรรพบุรุษจะชอบดื่มในช่วงเทศกาล (หน้า 32-36)

Social Organization

ครอบครัวไทยเขมรเป็นครอบครัวใหญ่ คือ มีการอยู่รวมกันหลายครอบครัวในบ้านหลังเดียวกัน หากบ้านคับแคบไม่เพียงพอสำหรับอยู่อาศัยจะต่อเรือนชานเพิ่ม โดยประเพณี เมื่อผู้ชายแต่งงานจะต้องไปอยู่บ้านฝ่ายหญิง หากครอบครัวใดมีลูกสาวหลายคน สมาชิกในบ้านก็จะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ชายไทยเขมรเชื่อว่า เพศหญิงเป็นเพศอ่อนแอ แต่มีความซื่อสัตย์และกตัญญูต่อบรรพบุรุษ ดังนั้น พ่อแม่จะเลี้ยงดูลูกสาวด้วยความรักและห่วงใยเป็นพิเศษ และหวังให้บุตรสาวดูแลในยามแก่เฒ่า ไทยเขมร มีคำเรียกญาติทั้งชาย และหญิงตามภาษาเขมร เช่น ท้วด (ทวด) ชีตา (ปู่) ชีภูน (ย่า) อูพุกธ (พ่อ) มฎายธ (แม่) บง (พี่) บอูน (น้อง) เป็นต้น สำหรับการอบรมเลี้ยงดูระหว่างเด็กชายและหญิง จะแตกต่างกันในรายละเอียด เช่น เด็กชายจะได้รับการฝึกให้ทำงานนอกบ้าน เช่น งานในไร่นา ส่วนเด็กหญิงจะได้รับการสั่งสอนให้ทำงานภายในบ้าน เช่น ทำอาหาร เย็บปักถักร้อย และทอผ้าซึ่งถือเป็นประเพณีปฏิบัติมาแต่โบราณว่า ถ้าครอบครัวใดมีลูกสาว ผู้เป็นแม่จะต้องเตรียมผ้าไหมเก็บไว้ให้ลูกสาวใส่ในวันแต่งงาน และที่สำคัญคือ จะต้องเตรียมผ้าไหมไว้ไหว้ญาติฝ่ายเจ้าบ่าวให้เพียงพอด้วย ลักษณะนิสัยนั้น ชอบความสงบเรียบง่าย มีชีวิตความเป็นอยู่คล้ายคนไทยในท้องถิ่นทั่วไป คือ จะให้ความเคารพผู้อาวุโสกว่า มีความสามัคคีปรองดอง และให้การช่วยเหลือซึ่งกันและกัน สำหรับในหมู่บ้านกราม จากการสำรวจครัวเรือนของเจ้าหน้าที่อนามัยตำบล พบว่า มีครอบครัวเดี่ยวมากกว่าครอบครัวขยาย ทั้งนี้เนื่องจากปัจจุบันเมื่อแต่งงานแล้วต้องการที่สร้างฐานะตนเอง จึงออกจากบ้านพ่อแม่ มาอยู่กันตามลำพัง แต่ก็ยังปลูกบ้านอยู่ใกล้ๆ กัน และไปมาหาสู่ตลอดเวลา สำหรับมรดกนั้น เมื่อฝ่ายชายแต่งงานกับฝ่ายหญิงและแยกครอบครัวแล้วจะมีที่ทำกิน วัว ควาย และเครื่องใช้สอยครบ โดยแต่ละฝ่ายจะได้รับมาจากพ่อแม่ของตน (หน้า 36-38)

Political Organization

การปกครองของไทยเขมร ถือแบบที่รัฐบาลใช้กันทั้งประเทศ คือ การปกครองระดับหมู่บ้านและตำบล โดยมีผู้ใหญ่บ้านและกำนันเป็นหัวหน้าการปกครองระดับอำเภอและจังหวัด มีนายอำเภอและผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นหัวหน้าในการปกครอง แต่ในสมัยก่อน ผู้ที่ทำหน้าที่ปกครองดูแลหมู่บ้าน เป็นผู้ที่ก่อตั้งหมู่บ้านหรือผู้อาวุโสในหมู่บ้านนั้นๆ ในระยะต่อมาทางราชการได้เข้ามาจัดระเบียบการปกครองตามพรบ.ปกครองท้องที่ พ.ศ.2457 ขึ้น จึงได้กำหนดให้หมู่บ้านต่างๆ เลือกผู้นำของตนขึ้นมาเพื่อแต่งตั้งให้เป็นผู้ใหญ่บ้าน ให้มีอำนาจหน้าที่พิเศษต่างๆ รวมทั้งได้เงินเดือนจากทางราชการด้วย โดยในช่วงแรกไม่มีการกำหนดวาระในการดำรงตำแหน่ง แต่ในปัจจุบันทางการได้กำหนดวาระในการดำรงตำแห่ง 5 ปี แล้วเลือกตั้งใหม่ สำหรับผู้ใหญ่บ้านคนแรกของหมู่บ้านกราม สันนิษฐานว่าเป็น "ตารุณ" จากการให้สัมภาษณ์ของกำนันคนปัจจุบัน (หน้า 43-44)

Belief System

ชาวบ้านกรามนับถือศาสนาพุทธควบคู่การนับถือผี จะเห็นได้ว่ามีทั้งการไหว้พระ นิมนต์พระมาทำบุญที่บ้าน ขณะเดียวกันมีการนับถือผีบรรพบุรุษไปด้วย ในหมู่บ้านกรามมีวัดอรุณสว่าง ซึ่งชื่อวัดนั้นเพื่อเป็นการรำลึกถึงตารุณ และ ยายสว่าง ที่เป็นผู้บุกเบิกบริเวณนี้ นอกจากนี้ชาวบ้านยังมีความเชื่อในเรื่องธรรมชาติ สิ่งเหนือธรรมชาติ โชคลางและเวทมนต์ต่างๆ ซึ่งความเชื่อเหล่านี้ได้รับการถ่ายทอดจากบรรพบุรุษและจากการเข้าไปมีส่วนร่วมในการประกอบพิธีกรรมของท้องถิ่นในรอบ 1 ปี ตามประเพณีและวัฒนธรรมที่ได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมเขมร ซึ่งในแต่ละเดือนจะมีพิธีกรรมแตกต่างกันออกไป เช่น กุมภาพันธ์ ประกอบพิธีแซนเนียะตา, เมษายน ประเพณีสงกรานต์, พฤษภาคม มีพิธีกรรมแรกนาขวัญ เป็นต้น มม็วด เป็นพิธีรักษาผู้ป่วยของคนไทยที่พูดภาษาเขมร ชาวบ้านจะประกอบพิธีกรรมนี้ภายในเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี โดยมีครูมม็วดเป็นผู้ประกอบพิธีกรรมโดยมากเป็นผู้หญิงอาวุโส โดยเริ่มจากการไหว้ครู ก็จะมีการเข้าทรง เมื่อผีเข้าแล้วผู้หญิงก็จะถามว่าเป็นใครมาสิง และถามว่าผู้ป่วยนั้นไปล่วงเกินอะไรจึงมาทำให้เจ็บป่วย กระบวนของมม็วด อาจมีการร่ายรำดาบหรือ รำด้วยท่าทางต่างๆ เช่น รำช้า รำเร็วหรือเลียนแบบท่าสัตว์ต่างๆ เมื่อจบลงครูมม็วดจะบอกวิธีการรักษาผู้ป่วยหรือถ้าผู้ป่วยรำเอง ผีที่เข้าร่างจะทำให้ร่ายรำเป็นการรักษาโรคไปในตัวด้วยท่าทางต่างๆ การเข้าทรงที่เรียกว่า "โจลมม็วด" นี้ ชาวบ้านเชื่อว่าสามารถรักษาโรคหรืออาการป่วยได้จริง ประเพณีการไหว้บรรพบุรุษ (แซนโดนตา) จะตรงกับวันสารทไทยคือ ในเดือนกันยายน เป็นพิธีไหว้บรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้วในแต่ละตระกูล เมื่อถึงวันประกอบพิธีกรรมทุกคนจะไปที่โกฏิบรรจุผีปู่ ย่า ตา ยายที่ล่วงลับไปแล้ว ต่อจากนั้นจะเรียกชื่อผีเหล่านั้นให้มารับของเซ่นไหว้ พิธีอุปสมบท เริ่มจากการบวชนาคซึ่งขั้นตอนพิธีจะคล้ายกับคนไทยในท้องถิ่นทั่วไป แต่มีข้อแตกต่างตรงที่ ญาติผู้ใหญ่หรือผู้ประกอบพิธีจะป้อนอาหารนาคเพื่อให้นาคระลึกถึงพระคุณ ความรักและความผูกพันที่พ่อแม่มีต่อลูก (หน้า 45-50) พิธีกรรมแซนเนียะตา จะประกอบพิธีกันในวันอังคารของเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี ผีเนียะตาเป็นวิญญาณของบรรพชนประจำหมู่บ้าน ชุมชนจะสร้างศาลปู่ตาหรือกระตวมตม ไว้เป็นที่พำนักของกลุ่มผีที่ให้คุณบางประเภท ทั้งนี้เมื่อจะตั้งถิ่นที่อยู่ใหม่ ก็จะต้องสร้างศาลและอันเชิญผีเนียะตาให้มาพำนัก เพื่อคุ้มครองสมาชิกทุกคนในหมู่บ้าน รวมไปถึงสัตว์เลี้ยงด้วย - อุปกรณ์และสิ่งของที่ใช้ในการประกอบพิธี ได้แก่ "กันตางราง" และ "สลาเทิล" ทั้ง 2 อย่างนี้เป็นสัญลักษณ์สำคัญในการประกอบพิธีซึ่งจะขาดไม่ได้ โดยที่ 1) กันตางราง คือ ภาวชนะที่แปรสภาพสำหรับใช้ใส่ของแห่รอบหมู่บ้าน โดยมีชาวบ้าน 2 คน ที่ "ซองเมิง" (ผู้ทำกันตางราง) ตั้งชื่อให้เป็นสุนัขติดตามทำหน้าที่เป็นผู้หามกันตางราง สิ่งของที่ชาวบ้านนำมาใส่ในกันตางราง เช่น อาหารแห้ง ผัก ผลไม้ ขนมจีน ขนมเวิรพอร์ม อาหาร เครื่องเซียน เป็นต้น ส่วน 2) สลาเทิลหรือสลาธรรม หมายถึง สิ่งสักการบูชาอย่างหนึ่ง โดยมากมักใช้ 1 คู่เสมอ ซึ่งผู้วิจัยสันนิษฐานว่า สลาธรรมแปลว่า หมากธรรมอาจจะสื่อถึงมรรคผล คือ ผลไม้ หมากไม้ทั้งหลาย ย่อมมีราก ดอก ผล คือ มีเหตุมีผลเป็นไปตามกฎธรรมชาติ - ขั้นตอนของพิธีกรรม พิธีนี้จัดขึ้นเพื่อเป็นการบอกกล่าวขอบคุณผีบรรพบุรุษ ที่ได้ช่วยดูแลรักษาหมู่บ้านและคนในหมู่บ้านและให้ทำการเกษตรได้ผลอุดมสมบูรณ์ ก่อนวันประกอบพิธี 1 วัน ชาวบ้านจะแบ่งหน้าที่กัน คือ ผู้หญิงจะทำขนมทั้งขนมเวิรพอร์ม และขนมจีน ส่วนผู้สูงอายุจะช่วยกันทำสลาเทิล สำหรับผู้ชายจะช่วยกันเตรียมสถานที่และสร้างปะรำพิธี เมื่อถึงวันงานขั้นตอนมี 3 ขั้น ได้แก่ 1) การแห่กันตางราง 2) โจลมม็วด (การเข้าทรง) และ 3) เสี่ยงทายสภาพดินฟ้าอากาศ หลังจากพิธีเลี้ยงปู่ตาแล้วก็มีพิธีเบิกบ้าน โดยปัดเป่าสิ่งชั่วร้ายให้พ้นจากหมู่บ้าน จากนั้นจะใช้สายสิญจน์ล้อมรอบบ้านทุกหลังไปจนถึงที่ทำพิธี (หน้า 51-77)

Education and Socialization

การศึกษา เดิมชาวบ้านกรามเรียนหนังสือจากพระในวัด ซึ่งก็เรียนได้เฉพาะผู้ชาย เนื่องจากผู้หญิงถือว่าต้องอยู่เหย้าเฝ้าเรือนและไม่ควรเข้าใกล้พระ ปัจจุบันมีการจัดตั้งสถานศึกษา โดยที่มีโรงเรียน 2 แห่ง คือ โรงเรียนไพรธรรมคุณวิทยา เป็นโรงเรียนระดับมัธยมศึกษา และโรงเรียนบ้านกรามเป็นโรงเรียนระดับประถมศึกษา ส่วนวัดจึงทำหน้าที่ในการอบรมให้ความรู้ทางพระพุทธศาสนาและศีลธรรมอันดีงามแก่ประชาชน (หน้า 29) การจัดระเบียบทางสังคม หน้าที่ของพิธีกรรมช่วยกระชับความสัมพันธ์ของคนในสังคมให้แน่นแฟ้น ทำให้เป็นปึกแผ่น (Social Solidarity) และทำให้สังคมอยู่ได้ สำหรับพิธีกรรมเซนเนียะตาเป็นพิธีที่สำคัญทำให้บุคลมารวมกัน เห็นได้จากการรวมตัวกันที่กระตวมตา โดยมีจุดมุ่งหมายและมีสำนึกร่วมกันในเรื่องการเซ่นบวงสรวงของคาวหวานแก่บรรพบุรุษ ทำให้เกิดความรักใคร่ สามัคคี ระหว่างคนในหมู่บ้านและคนที่ไปทำงานที่อื่น ทั้งยังเป็นการกระชับความสัมพันธ์ของระบบเครือญาติที่มีวงกว้างและรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของสังคม (หน้า87)

Health and Medicine

ในปี พ.ศ. 2505 มีการจัดตั้งสถานีอนามัยประจำตำบลบ้านกรามขั้น อยู่ในเขตพื้นที่ของบ้านกรามตะวันออก หมู่ที่ 9 มีเจ้าหน้าที่ประจำสถานีอนามัย 3 คน ให้การรักษาโรคต่างๆ ที่ไม่รุนแรง เช่น ปวดหัว เป็นไข้ ฝากครรภ์ เป็นต้น ในกรณีที่มีผู้ป่วยสาหัสจะนำส่งโรงพยาบาลประจำอำเภอขุนหาญ นอกจากนี้ ยังมีเจ้าหน้าที่อาสาสมัครสาธารณสุขหมู่บ้าน (อสม.) ช่วยในการรักษา ชาวบ้านกรามยังมีวิธีการรักษาพยาบาลตามประเพณีโบราณหรือการรักษาแบบพื้นบ้านซึ่งยึดถือปฏิบัติต่อกันมา คือ มม็วด การรักษาวิธีนี้อาจจะทำในขณะที่เจ็บป่วยอยู่แต่ยังไม่ได้ไปรักษาแพทย์แผนปัจจุบัน เนื่องจากเชื่อว่า เมื่อประกอบพิธีกรรมแล้ว คนป่วยจะหายโดยการรักษาวิธีนี้ไม่มียาให้กิน ด้านโภชนาการ ชาวบ้านได้รับการประชาสัมพันธ์ในเรื่องอาหารการกินจากสถานีอนามัย ในเรื่องการรับประทานอาหารสุกๆ ดิบๆ ด้านสาธารณสุข ชาวบ้านในปัจจุบันพบว่า ประมาณ 310 ครัวเรือนมีส้วมใช้กันหมดทุกหลัง ต่างจาก 30 ปีที่แล้วที่บางคนต้องไปถ่ายทุกข์ตามท้องนา ในด้านการวางแผนครอบครัว เจ้าหน้าที่สาธารณสุขได้รับความร่วมมือจากชาวบ้านพอสมควร ส่วนมากจะนิยมใช้ยาคุมกำเนิด นอกจากนี้ยังมีโครงการบัตรสุขภาพที่ทางอนามัยจัดทำเมื่อ 3 ปีที่แล้ว ด้านสาธารณูปโภค บ้านกรามเริ่มมีไฟฟ้าและประปาใช้เมื่อ พ.ศ. 2531 ซึ่งเป็นแทงก์น้ำประปาที่ไม่ผ่านกระบวนการกรองน้ำ และการใส่คลอรีน แต่น้ำประปาที่นี่มีคุณภาพดีมาก สามารถนำไปทำน้ำแข็งหลอดหรือน้ำดื่มได้โดยไม่ต้องต้ม (หน้า 30-31)

Art and Crafts (including Clothing Costume)

ชาวบ้านกรามได้รับวัฒนธรรมการแต่งกายมาจากกัมพูชา โดยจะนุ่งผ้าไหมที่ทอขึ้นใช้เองภายในครอบครัว สำหรับเสื้อนั้นทั้งชายและหญิงไม่มีแบบเสื้อของเขมรโดยเฉพาะ แต่จะเหมือนของคนไทยทั่วไป คือ ผู้หญิงใส่เสื้อแขนกระบอก ผู้ชายใส่เสื้อคอกลม (เฉพาะโอกาสพิเศษเท่านั้น) อาจเป็นเพราะคนเขมรรับวัฒนธรรมใส่เสื้อจากคนไทยก็เป็นได้ ผ้าไหมของไทยเขมรเป็นผ้าไหมที่มีลวดลายและสีสันที่เป็นเอกลักษณ์ประจำชนชาติ เครื่องประดับส่วนมากจะเป็นเครื่องเงิน ซึ่งเรียกในภาษาพื้นเมืองว่า "ประเกือม" (ประคำ) มาร้อยเป็นสร้อยคอ สร้อยแขน และต่างหูเป็นเครื่องประดับ ในปัจจุบันนี้ เครื่องแต่งกายที่ตัดเย็บด้วยผ้าไหมและเครื่องประดับเงินของชาวบ้านกราม จะมีให้เห็นเฉพาะในโอกาสพิเศษเท่านั้น เช่น งานบุญ เทศกาลต่างๆ ถ้าเป็นชีวิตประจำวัน ชาวบ้านทั้งชายและหญิงรวมทั้งคนแก่และเด็ก จะแต่งกายเหมือนคนภาคกลาง คือ ถ้าคนหนุ่มสาวก็นุ่งกางเกงยีนส์ เสื้อยืด ถ้าผู้ใหญ่มีอายุก็อาจเป็นผ้าไหมบ้าง ส่วนเสื้อก็ตามสมัยนิยม สำหรับเด็กก็เป็นเสื้อผ้าที่ขายตามท้องตลาดทั่วไป แต่ถ้าเป็นคนมีอายุก็จะใส่เสื้อสีขาวคอกลมแขนกระบอก ส่วนผู้ชายจะนุ่งโสร่งที่ทอด้วยผ้าไหมที่ทอเอง และมักนิยมไม่ใส่เสื้อ มักจะเปลือยส่วนบน แต่ก็มีผ้าขาวม้าที่เป็นผ้าไหมพาดไหล่ (หน้า 42-43) ดนตรีพื้นบ้าน ในการประกอบพิธีกรรมแซนเนียะตา ต้องมีการบรรเลงดนตรีปี่พาทย์พื้นบ้านของไทยเขมร เพื่อให้มม็วดร่ายรำไปตามจังหวะเพลง โดยผู้เล่นดนตรี จะเป็นชายล้วนไม่จำกัดจำนวนทั้งผู้เล่นดนตรีและขับร้อง (หน้า 68)

Folklore

ไม่มีข้อมูล

Ethnicity (Ethnic Identity, Boundaries and Ethnic Relation)

ไม่มีข้อมูล

Social Cultural and Identity Change

ความเจริญได้เข้าไปในหมู่บ้านก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ทั้งทางจิตใจและวิถีชีวิต ชาวบ้านมีค่านิยมทางวัตถุมากขึ้น มีการแข่งขันในการซื้อหาวัตถุต่างๆ เช่น รถ โทรทัศน์ เป็นต้น ทำให้ใครก็ตามที่ไม่มีต้องพยายามหาให้ได้ จะโดยวิธีใดก็ตามทั้งเงินเชื่อ เงินผ่อน หรือบางคนกู้เงินเพื่อซื้อสิ่งเหล่านี้ เป็นสาเหตุทำให้ชาวบ้านมีหนี้สินจากสิ่งของฟุ่มเฟือย (หน้า45)

Critic Issues

ไม่มีข้อมูล

Other Issues

ไม่มี

Map/Illustration

แผนที่แสดงลักษณะของหมู่บ้านกราม (หน้า26) แผนผังแสดงบริเวณที่ประกอบพิธีกรรมแซนเนียะตา (หน้า 56) ภาพต่างๆ ที่เกี่ยวกับพิธีกรรมแซนเนียะตา (หน้า97-113)

Text Analyst ศรายุทธ โรจน์รัตนรักษ์ Date of Report 26 ต.ค. 2555
TAG คะแมร์ลือ, ไทย-เขมร, สังคมวัฒนธรรม, พิธีกรรม, พิธีเซนเนียะตา, ศรีสะเกษ, Translator -
 
 

 

ฐานข้อมูลอื่นๆของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
  ฐานข้อมูลพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทย
จารึกในประเทศไทย
จดหมายเหตุทางมานุษยวิทยา
แหล่งโบราณคดีที่สำคัญในประเทศไทย
หนังสือเก่าชาวสยาม
ข่าวมานุษยวิทยา
ICH Learning Resources
ฐานข้อมูลเอกสารโบราณภูมิภาคตะวันตกในประเทศไทย
ฐานข้อมูลประเพณีท้องถิ่นในประเทศไทย
ฐานข้อมูลสังคม - วัฒนธรรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  หน้าหลัก
งานวิจัยชาติพันธุ์ในประเทศไทย
บทความชาติพันธุ์
ข่าวชาติพันธุ์
เครือข่ายชาติพันธุ์
เกี่ยวกับเรา
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  ข้อมูลโครงการ
ทีมงาน
ติดต่อเรา
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
ช่วยเหลือ
  กฏกติกาและมารยาท
แบบสอบถาม
คำถามที่พบบ่อย


ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) เลขที่ 20 ถนนบรมราชชนนี เขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ 10170 
Tel. +66 2 8809429 | Fax. +66 2 8809332 | E-mail. webmaster@sac.or.th 
สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2549    |   เงื่อนไขและข้อตกลง