สมัครสมาชิก   
| |
ค้นหาข้อมูล
ค้นหาแบบละเอียด
  •   ความเป็นมาและหลักเหตุผล

    เพื่อรวบรวมงานวิจัยทางชาติพันธุ์ที่มีคุณภาพมาสกัดสาระสำคัญในเชิงมานุษยวิทยาและเผยแผ่สาระงานวิจัยแก่นักวิชาการ นักศึกษานักเรียนและผู้สนใจให้เข้าถึงงานวิจัยทางชาติพันธุ์ได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น

  •   ฐานข้อมูลจำแนกกลุ่มชาติพันธุ์ตามชื่อเรียกที่คนในใช้เรียกตนเอง ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้ คือ

    1. ชื่อเรียกที่ “คนอื่น” ใช้มักเป็นชื่อที่มีนัยในทางเหยียดหยาม ทำให้สมาชิกกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ รู้สึกไม่ดี อยากจะใช้ชื่อที่เรียกตนเองมากกว่า ซึ่งคณะทำงานมองว่าน่าจะเป็น “สิทธิพื้นฐาน” ของการเป็นมนุษย์

    2. ชื่อเรียกชาติพันธุ์ของตนเองมีความชัดเจนว่าหมายถึงใคร มีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมอย่างไร และตั้งถิ่นฐานอยู่แห่งใดมากกว่าชื่อที่คนอื่นเรียก ซึ่งมักจะมีความหมายเลื่อนลอย ไม่แน่ชัดว่าหมายถึงใคร 

     

    ภาพ-เยาวชนปกาเกอะญอ บ้านมอวาคี จ.เชียงใหม่

  •  

    จากการรวบรวมงานวิจัยในฐานข้อมูลและหลักการจำแนกชื่อเรียกชาติพันธุ์ที่คนในใช้เรียกตนเอง พบว่า ประเทศไทยมีกลุ่มชาติพันธุ์มากกว่า 62 กลุ่ม


    ภาพ-สุภาษิตปกาเกอะญอ
  •   การจำแนกกลุ่มชนมีลักษณะพิเศษกว่าการจำแนกสรรพสิ่งอื่นๆ

    เพราะกลุ่มชนต่างๆ มีความรู้สึกนึกคิดและภาษาที่จะแสดงออกมาได้ว่า “คิดหรือรู้สึกว่าตัวเองเป็นใคร” ซึ่งการจำแนกตนเองนี้ อาจแตกต่างไปจากที่คนนอกจำแนกให้ ในการศึกษาเรื่องนี้นักมานุษยวิทยาจึงต้องเพิ่มมุมมองเรื่องจิตสำนึกและชื่อเรียกตัวเองของคนในกลุ่มชาติพันธุ์ 

    ภาพ-สลากย้อม งานบุญของยอง จ.ลำพูน
  •   มโนทัศน์ความหมายกลุ่มชาติพันธุ์มีการเปลี่ยนแปลงในช่วงเวลาต่างๆ กัน

    ในช่วงทศวรรษของ 2490-2510 ในสาขาวิชามานุษยวิทยา “กลุ่มชาติพันธุ์” คือ กลุ่มชนที่มีวัฒนธรรมเฉพาะแตกต่างจากกลุ่มชนอื่นๆ ซึ่งมักจะเป็นการกำหนดในเชิงวัตถุวิสัย โดยนักมานุษยวิทยาซึ่งสนใจในเรื่องมนุษย์และวัฒนธรรม

    แต่ความหมายของ “กลุ่มชาติพันธุ์” ในช่วงหลังทศวรรษ 
    2510 ได้เน้นไปที่จิตสำนึกในการจำแนกชาติพันธุ์บนพื้นฐานของความแตกต่างทางวัฒนธรรมโดยตัวสมาชิกชาติพันธุ์แต่ละกลุ่มเป็นสำคัญ... (อ่านเพิ่มใน เกี่ยวกับโครงการ/คู่มือการใช้)


    ภาพ-หาดราไวย์ จ.ภูเก็ต บ้านของอูรักลาโว้ย
  •   สนุก

    วิชาคอมพิวเตอร์ของนักเรียน
    ปกาเกอะญอ  อ. แม่ลาน้อย
    จ. แม่ฮ่องสอน


    ภาพโดย อาทิตย์    ทองดุศรี

  •   ข้าวไร่

    ผลิตผลจากไร่หมุนเวียน
    ของชาวโผล่ว (กะเหรี่ยงโปว์)   
    ต. ไล่โว่    อ.สังขละบุรี  
    จ. กาญจนบุรี

  •   ด้าย

    แม่บ้านปกาเกอะญอ
    เตรียมด้ายทอผ้า
    หินลาดใน  จ. เชียงราย

    ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ถั่วเน่า

    อาหารและเครื่องปรุงหลัก
    ของคนไต(ไทใหญ่)
    จ.แม่ฮ่องสอน

     ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ผู้หญิง

    โผล่ว(กะเหรี่ยงโปว์)
    บ้านไล่โว่ 
    อ.สังขละบุรี
    จ. กาญจนบุรี

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   บุญ

    ประเพณีบุญข้าวใหม่
    ชาวโผล่ว    ต. ไล่โว่
    อ.สังขละบุรี  จ.กาญจนบุรี

    ภาพโดยศรยุทธ  เอี่ยมเอื้อยุทธ

  •   ปอยส่างลอง แม่ฮ่องสอน

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ปอยส่างลอง

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดย เบญจพล  วรรณถนอม
  •   อลอง

    จากพุทธประวัติ เจ้าชายสิทธัตถะ
    ทรงละทิ้งทรัพย์ศฤงคารเข้าสู่
    ร่มกาสาวพัสตร์เพื่อแสวงหา
    มรรคผลนิพพาน


    ภาพโดย  ดอกรัก  พยัคศรี

  •   สามเณร

    จากส่างลองสู่สามเณร
    บวชเรียนพระธรรมภาคฤดูร้อน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   พระพาราละแข่ง วัดหัวเวียง จ. แม่ฮ่องสอน

    หล่อจำลองจาก “พระมหามุนี” 
    ณ เมืองมัณฑะเลย์ ประเทศพม่า
    ชาวแม่ฮ่องสอนถือว่าเป็นพระพุทธรูป
    คู่บ้านคู่เมืององค์หนึ่ง

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม

  •   เมตตา

    จิตรกรรมพุทธประวัติศิลปะไต
    วัดจองคำ-จองกลาง
    จ. แม่ฮ่องสอน
  •   วัดจองคำ-จองกลาง จ. แม่ฮ่องสอน


    เสมือนสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรม
    เมืองไตแม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ใส

    ม้งวัยเยาว์ ณ บ้านกิ่วกาญจน์
    ต. ริมโขง อ. เชียงของ
    จ. เชียงราย
  •   ยิ้ม

    แม้ชาวเลจะประสบปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัย
    พื้นที่ทำประมง  แต่ด้วยความหวัง....
    ทำให้วันนี้ยังยิ้มได้

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ผสมผสาน

    อาภรณ์ผสานผสมระหว่างผ้าทอปกาเกอญอกับเสื้อยืดจากสังคมเมือง
    บ้านแม่ลาน้อย จ. แม่ฮ่องสอน
    ภาพโดย อาทิตย์ ทองดุศรี
  •   เกาะหลีเป๊ะ จ. สตูล

    แผนที่ในเกาะหลีเป๊ะ 
    ถิ่นเดิมของชาวเลที่ ณ วันนี้
    ถูกโอบล้อมด้วยรีสอร์ทการท่องเที่ยว
  •   ตะวันรุ่งที่ไล่โว่ จ. กาญจนบุรี

    ไล่โว่ หรือที่แปลเป็นภาษาไทยว่า ผาหินแดง เป็นชุมชนคนโผล่งที่แวดล้อมด้วยขุนเขาและผืนป่า 
    อาณาเขตของตำบลไล่โว่เป็นส่วนหนึ่งของป่าทุ่งใหญ่นเรศวรแถบอำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี 

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   การแข่งขันยิงหน้าไม้ของอาข่า

    การแข่งขันยิงหน้าไม้ในเทศกาลโล้ชิงช้าของอาข่า ในวันที่ 13 กันยายน 2554 ที่บ้านสามแยกอีก้อ อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย
 
  Princess Maha Chakri Sirindhorn Anthropology Centre
Ethnic Groups Research Database
Sorted by date | title

   Record

 
Subject ไทย-ลาว ,ไทย-เขมร,คะแมร์ลือ,ความเชื่อ,พิธีกรรม,พิธีมงก็วลจองได,สุรินทร์
Author ประไพ เจริงบุญ
Title การผสมผสานวัฒนธรรมชาวไทย-ลาว และ ชาวไทย-เขมร ในพิธีมงก็วลจองได บ้านดม
Document Type วิทยานิพนธ์ Original Language of Text ภาษาไทย
Ethnic Identity ขแมร์ลือ คะแมร คนไทยเชื้อสายเขมร เขมรถิ่นไทย, Language and Linguistic Affiliations ออสโตรเอเชียติก(Austroasiatic)
Location of
Documents
สำนักวิทยบริการ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม และ ห้องสมุดศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร Total Pages 181 Year 2540
Source หลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาไทยคดีศึกษา (เน้นมนุษยศาสตร์) มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
Abstract

งานวิจัยชิ้นนี้ศึกษาการผสมผสานในพิธีมงก็วลจองไดของไทย-เขมร กับ พิธีบายศรีสู่ขวัญของไทย-ลาว ที่บ้านดม อำเภอสังขะ จังหวัดสุรินทร์ อันเกิดจากการรวมกลุ่มกันทางสังคม โดยมีคติความเชื่อ วิธีการปฏิบัติตน และการดำเนินชีวิตที่คล้ายกัน จุดมุ่งหมายของพิธีกรรมเพื่อการสร้างกำลังใจและความเป็นศิริมงคลในการดำเนินชีวิต ได้แก่ การเรียกขวัญในพิธีแต่งงาน พิธีบวชนาค พิธีขึ้นบ้านใหม่ พิธีสะเดาะเคราะห์คนเจ็บป่วย และพิธีสู่ขวัญคนธรรมดา (ในโอกาสแสดงความยินดีเรื่องหน้าที่การงาน)

Focus

การผสมผสานในขั้นตอนการประกอบพิธีมงก็วลจองไดของไทย-เขมร หรือที่รู้จักกันในชื่อพิธีบายศรีสู่ขวัญของไทย-ลาว ที่บ้านดม อำเภอสังขะ จังหวัดสุรินทร์ (หน้า2-3)

Theoretical Issues

ไม่มี

Ethnic Group in the Focus

มี ไทย-เขมร ซึ่งเป็นชาวเขมรที่อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานทำกินที่หมู่บ้านดม อำเภอสังขะ จังหวัดสุรินทร์ เนื่องจากเป็นบริเวณที่มีพื้นที่ติดต่อกับชายแดนเขมร และไทย-ลาว ซึ่งเป็นชนกลุ่มใหญ่ในอีสาน แต่ที่บ้านดมมีจำนวนน้อยกว่าไทย-เขมร (หน้า 23)

Language and Linguistic Affiliations

ไทย-เขมร ใช้ภาษาเขมรสำหรับสื่อสารกับคนในหมู่บ้าน ใช้ในบทสวดและชื่อเรียกทางพิธีกรรมที่ต่างไปจาก ไทย-ลาว ทั่วไป เช่น มงก็วลจองได ที่มีความหมายว่าด้ายมงคลย้อมสีเหลืองซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่ใช้ในการบายศรีสู่ขวัญ หรือเรียกเป็นภาษาถิ่นว่า "บายซะแร็ย" นอกจากนี้ไทย-เขมร ยังใช้ภาษาไทยภาคกลางสื่อสารกับคนอื่นๆ ที่ไม่ได้ใช้ภาษาเขมร ส่วน ไทย-ลาว ใช้ภาษาไทยลาว(ภาษาอีสาน) สื่อสารระหว่างกันปัจจุบันมีการผสมผสานทางวัฒนธรรมระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ทั้ง 2 กลุ่มในด้านภาษาที่แต่ละกลุ่มสามารถพูดภาษาของอีกกลุ่มได้ (หน้า 2-3)

Study Period (Data Collection)

เริ่มศึกษาข้อมูลตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2538 แต่ไม่ระบุวันสิ้นสุด ทั้งนี้งานวิจัยตีพิมพ์ในเดือนตุลาคม พ.ศ.2540

History of the Group and Community

บ้านดมเป็นหมู่บ้านเก่าแก่มีอายุเป็นร้อยปี แต่เดิมเป็นพื้นที่ป่าทึบ และไม่มีหนองน้ำ ชาวบ้านที่อพยพมาจึงรวมตัวกันสร้างพื้นที่สำหรับสร้างบ้านและหนองน้ำจนเกิดเป็น หมู่บ้านขึ้น และการรวมตัวหรือระดมพลกันครั้งนี้ ชาวบ้านจึงนำมาตั้งเป็นชื่อหมู่บ้านว่า บ้านดม (หน้า 22 )

Settlement Pattern

ไม่มีข้อมูล

Demography

ไทย-เขมร เป็นกลุ่มชนส่วนใหญ่ในพื้นที่อำเภอสังขะ จังหวัดสุรินทร์ และมีไทย-ลาว และส่วยอยู่ร่วมด้วยส่วนหนึ่ง ทั้งไทยลาวและส่วยเป็นกลุ่มชนส่วนใหญ่ในพื้นที่กิ่งอำเภอศรีณรงค์ อยู่ทางทิศเหนือของอำเภอสังขะ มีการรวมกลุ่มติดต่อค้าขายระหว่างกัน ประกอบกับไทย-เขมรอาศัยอยู่ในเขตพื้นที่ติดต่อกับประเทศกัมพูชา ซึ่งภาษาที่ใช้ส่วนใหญ่คือภาษาเขมร ดังนั้นกลุ่มชนต่างๆ ที่อาศัยอยู่บริเวณนี้จึงมีวิถีการดำเนินชีวิตที่คล้ายกัน (หน้า 17) โดยประชากรของบ้านดมที่มีมากเป็นอันดับ1 คือ ไทย-เขมร อันดับสอง คือไทย-ลาว รวมมีประชากรทั้งหมด 1,406 คน (ชาย 695คน และหญิง 711คน) มีครัวเรือนทั้งสิ้น 261 ครัวเรือน (หน้า 28)

Economy

ไทย-เขมร และ ไทย-ลาว ที่บ้านดม อำเภอสังขะ จังหวัดสุรินทร์ ยังชีพด้วยการทำไร่ เพาะปลูก เนื่องจากพื้นที่ไม่แห้งแล้งและมีดินอุดมสมบูรณ์ รวมทั้งมีปริมาณน้ำจาก หนองดม และ ห้วยเสนที่เพียงพอต่อการใช้ในชีวิตประจำวันและใช้เพื่อการเพาะปลูก แต่ในฤดูร้อนที่เกิดภาวะแห้งแล้งและในฤดูฝนที่ฝนตกชุกมากเกินไปก็ส่งผลเสียหายต่อการเพาะปลูกได้ (หน้า 24-26) นอกเหนือจากการทำนาข้าวทั้งนาดำและนาหว่านเป็นหลักแล้ว ยังมีการเพาะปลูกมันสำปะหลัง ปอ แตงโม เป็นอาชีพเสริมหลังฤดูเก็บเกี่ยวด้วย แต่รายได้จะขึ้นอยู่กับการให้ราคาของพ่อค้าคนกลางที่เข้ามารับซื้อผลผลิตในหมู่บ้าน นอกจากนี้ ยังมีการค้าขายพืชผัก อาหาร และสินค้าที่ใช้ในชีวิตประจำวัน การรับจ้างขายแรงงานและการเลี้ยงสัตว์เป็นอาชีพรองที่ทำรายได้เสริมให้กับคนในหมู่บ้าน และส่งผลให้สภาพเศรษฐกิจของบ้านดมอยู่ในเกณฑ์ดีและผู้คนก็มีสภาพชีวิตที่ดี ทั้งนี้การเลี้ยงสัตว์ ได้แก่ ไก่ เป็ด หมู นั้นมีไว้เพื่อขาย และเพื่อเป็นอาหาร รวมทั้งมีการเลี้ยงวัว ควายที่ไม่ได้เลี้ยงเพื่อการใช้งาน แต่เลี้ยงเพื่อเป็นอาหารด้วย (หน้า 31-33)

Social Organization

โครงสร้างทางสังคมของบ้านดมเป็นระบบการพึ่งพาอาศัยและช่วยเหลือซึ่งกันและกัน อันเป็นเอกลักษณ์ที่เด่นชัดของสังคมชนบท ดังเห็นได้จากการร่วมกันประกอบพิธีกรรมทางศาสนา เช่น การรวมตัวกันในงานบุญ วันสำคัญทางศาสนา และพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิต เช่น การช่วยงานกันในพิธีแต่งงาน งานขึ้นบ้านใหม่ของคนในหมู่บ้าน และเนื่องจากบ้านดมเป็นหมู่บ้านขนาดใหญ่จึงทำให้มีการรวมกลุ่มกันทางสังคมทั้งแบบที่รวมตัวกันขึ้นเองจากความสนใจของคนในหมู่บ้าน เช่น กลุ่มคนชรา กลุ่มทางชาติพันธุ์ คือ กลุ่มไทย-เขมรที่อยู่มาดั้งเดิม กับกลุ่มไทย-ลาวที่อพยพมาใหม่เพื่อหาที่ทำกิน รวมถึงการรวมกลุ่มที่เกิดจากการจัดตั้งของหน่วยงานของภาครัฐ เช่น กลุ่มยุวเกษตร กลุ่มลูกเสือชาวบ้าน (หน้า 28-29)

Political Organization

มีการปกครองระบบราชการ ผู้ปกครองหมู่บ้านคือกำนัน เนื่องจากหมู่บ้านดมเป็นหมู่บ้านที่มีพื้นที่ขนาดใหญ่ จึงมีสถานะเป็นตำบลหนึ่งของอำเภอสังขะ กำนันจึงมีหน้าที่ประสานงานคณะกรรมการฝ่ายต่างๆ ที่ทำงานร่วมกัน ได้แก่ ด้านการศึกษา ด้านสาธารณสุข ด้านการปกครอง ด้านการคลัง ด้านการพัฒนา ด้านประชาสัมพันธ์ ด้านการออมทรัพย์ ซึ่งเป็นการปกครองตามโครงสร้างของภาครัฐ นอกจากนี้หมู่บ้านดมยังแบ่งการปกครองหมู่บ้านในรูปแบบของคุ้มมี10 คุ้ม ซึ่งแต่ละคุ้มก็จะมีหัวหน้าคุ้มที่ได้รับความเชื่อถือคอยดูแลรับผิดชอบและประสานงานระหว่างกันอันเป็นลักษณะของการปกครองตนเองภายในหมู่บ้าน (หน้า 26-27)

Belief System

พิธีมงก็วลจองได หรือพิธีบายศรีสู่ขวัญ มีความสำคัญและมีบทบาทในด้านความเชื่อของ ไทย-ลาว และ ไทย-เขมร ที่มีอิทธิพลมาจากความเชื่อในเรื่องขวัญว่าจะทำให้เกิดความเป็นศิริมงคลแก่ผู้ประกอบพิธีและผู้เข้าร่วม โดยพิธีกรรมที่จัดขึ้นนั้นมีหลายโอกาสได้แก่ การแต่งงาน การขึ้นบ้านใหม่ การบวชนาค ที่จะต้องมีองค์ประกอบของพิธีการสู่ขวัญ คือ คน เวลา สถานที่ วัสดุอุปกรณ์และบทสู่ขวัญ ที่มีสาระสำคัญแตกต่างกันบางประการ ดังต่อไปนี้ (หน้า 38) สำหรับไทย-ลาว การทำพิธีบายศรีสู่ขวัญ มีองค์ประกอบดังนี้ คือ หมอสูตร หรือผู้ประกอบพิธีบายศรีสู่ขวัญมีคุณสมบัติต่างๆ คือ เป็นผู้ชายที่มีความอาวุโส ผ่านการบวชเรียนมาก่อนและมีประสบการณ์ในการทำพิธี ผู้ถูกเรียกขวัญ คือผู้ที่จัดให้มีพิธีสู่ขวัญ ซึ่งเป็นผู้ที่ต้องการเรียกขวัญของตนกลับมาเพื่อความเป็นมงคล ทั้งนี้ผู้ถูกเรียกขวัญอาจเป็นพ่อแม่ ญาติ พี่น้องของบุคคลนั้นที่เป็นผู้กำหนดพิธีก็ได้ ผู้ร่วมพิธี คือชาวบ้านที่ยินดีเข้าร่วมพิธีและมาเพื่อช่วยเหลือจัดเตรียมสิ่งของเครื่องใช้ในการประกอบพิธีการเซ่นไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ทุกคนให้ความนับถือ สิ่งของต่างๆ สำหรับการเรียกขวัญ ได้แก่ พานบายศรี หรือที่เรียกว่า พาขวัญ หรือหมากเบ็ง นิยมจัดด้วยใบตองสดอย่างประณีต สวยงาม เพื่อความน่าเลื่อมใสและเพื่อเป็นสิ่งสวยงามสำหรับการเรียกขวัญให้กลับมา ซึ่งพานบายศรีสำหรับคนธรรมดาจะจัด 3-5 ชั้น ตามความเชื่อที่ว่า เลขคี่จะทำให้ขวัญอยู่ (คี่[หรือคีกในภาษาไทย-ลาว]อยู่-คู่หนี) และใบตองยังเป็นสิ่งบริสุทธิ์ที่เกิดขึ้นใหม่ได้ เรื่อยๆ จึงถูกสมมติว่าเป็นเนื้อหนังที่ห่อหุ้มร่างกาย เครื่องคาย เป็นเครื่องบูชาครูของหมอสูตรขวัญ ประกอบด้วย ดอกไม้และเทียนอย่างละ 5 คู่ พร้อมเงินค่ายกครู (ส่วนมากที่พบประมาณ 100-500 บาท) ที่จัดใส่กรวยใบตองพร้อมกับดอกไม้ เทียน และด้ายสายสิญจน์เพื่อเป็นการตอบแทนหมอสูตรขวัญ ไข่ต้มสุก ด้วยความเชื่อที่ว่าไข่มีเปลือกหุ้มไว้จึงเหมือนกับขวัญที่อยู่ในร่างกายคนเรา หมอสูตรจึงทำนายลักษณะของไข่ที่ใช้ประกอบพิธี โดยส่วนใหญ่จะทำนายผลว่าเกิดลางดีเพื่อสร้างขวัญ และกำลังใจให้เจ้าของขวัญ กล้วยสุก ไทย-ลาวเชื่อว่า กล้วยเป็นสิ่งจำเป็นที่มารดาใช้ป้อนทารกเป็นอาหาร จึงใช้กล้วยน้ำว้า 4 ลูก เป็นเครื่องสังเวยเทวดาที่สถิตอยู่ทั้ง 4 ทิศ นอกจากนี้ยังเชื่อว่า กล้วยเกิดจากปลีกล้วยที่เกิดใหม่ได้หลายครั้งจึงเปรียบได้กับการที่ขวัญออกจากร่างกายได้ก็กลับเข้ามาใหม่ได้อีกเช่นกัน เหล้า เปรียบเหมือนน้ำแห่งความบริสุทธิ์ที่สามารถสร้างความสนุกสนานได้ด้วย ทว่ามีการกำหนดว่าการสู่ขวัญนาคและพระสงฆ์จะต้องมีการใช้น้ำมนต์แทน ฝ้ายผูกแขน ต้องทำจากด้ายดิบ เพราะเชื่อว่าด้ายดิบเป็นสิ่งที่ยังมีชีวิตอยู่ มีการใช้ด้ายดิบ 3 เส้นอันเป็นการหมายถึงพระรัตนตรัย โดยเชื่อว่าการผูกเป็นปมตรงกลางเส้นด้ายก็เพื่อไม่ให้สิ่งที่ดีงามหนีจากไป และการผูกด้ายที่ข้อมือก็เพราะว่ามีชีพจรอยู่บริเวณนี้จึงเชื่อว่าเป็นทางเข้า-ออกของขวัญ ดอกไม้และใบไม้ เป็นตัวแทนของความสวยงามและความหมายที่เป็นมงคล เช่น ดอกบานไม่รู้โรยเป็นตัวแทนของความมั่นคง และใบคูณ ใบยอ มีความหมายว่าให้คนยกย่องสรรเสริญ เสื้อผ้า เครื่องใช้ประจำตัวของเจ้าของขวัญ เพราะของใช้ประจำตัวจะมีกลิ่นกายและเหงื่อไคลจึงเป็นตัวแทนของเจ้าของขวัญ เมื่อนำมาประกอบในพิธีจะทำให้ขวัญจำกลิ่นเจ้าของได้และกลับเข้าสู่ตัวเจ้าของขวัญได้ เทียน เปรียบเหมือนแสงสว่างของชีวิต และเชื่อว่าการใช้เทียนเป็นการมอบกายถวายแด่พระรัตนตรัย เมื่อหมอสูตรขวัญได้จุดเทียนบูชาเริ่มพิธี ขันน้ำหอมหรือขันน้ำมนต์ น้ำมนต์ที่ทำจากน้ำบริสุทธิ์และผ่านการเจริญพุทธมนต์ จะใช้เมื่อพิธีเสร็จสิ้นเพื่อปัดเป่าความชั่วร้ายและสร้างความเป็นมงคลให้กับผู้ร่วมพิธี (เรียกว่าการมิดฟาย) และยังเชื่อว่าน้ำเป็นสัญลักษณ์ของความร่มเย็นเป็นสุขและความสามัคคี เครื่องสังเวยอื่นๆ ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นอาหารในชีวิตประจำวัน เช่น หมากพลู ปูน ยา ที่แสดงถึงความอุดมสมบูรณ์ และมีไว้เพื่อต้อนรับแขกที่มาร่วมงาน และข้าวสาร ทั้งไทย-ลาว และไทย-เขมรมีความเชื่อที่เหมือนกันว่า การนำข้าวสารมาประกอบพิธีกรรมด้วยการโยนใส่ผู้ถูกเรียกขวัญเป็นการขับไล่สิ่งชั่วร้าย เพราะข้าวสารที่ผ่านการปลุกเสกนั้นถือเป็นข้าวสารศักดิ์สิทธิ์ สำหรับองค์ประกอบในเรื่องเวลา สถานที่ในการประกอบพิธีกรรม ไทย-ลาวมีความเชื่อดังนี้ เวลา แต่เดิมนั้นเมื่อจะประกอบพิธีจะต้องคำนึงถึงฤกษ์งาม ยามดี โดยถือว่าวันฟูเป็น วันดี เช่น วันอาทิตย์ เดือนสิบสอง ส่วนวันจมเป็นวันไม่ดี เช่นวันเสาร์ เดือนยี่เป็นต้น แต่ในปัจจุบัน ด้วยสภาพสังคมและเงื่อนไขต่างๆที่เปลี่ยนไปจึงกำหนดให้ วัน เวลา ที่สะดวกที่สุด คือฤกษ์ดี ทั้งนี้หมอสูตรขวัญจะเป็นผู้ที่กำหนด วัน เวลา ในการประกอบพิธี สถานที่ ในการประกอบพิธีสู่ขวัญพระสงฆ์และพระพุทธรูปจะกระทำที่วัด ส่วนพิธีสู่ขวัญนาค พิธีสู่ขวัญแต่งงาน พิธีสู่ขวัญคนป่วย จะประกอบพิธีที่บ้านเจ้าของขวัญ เนื่องจากเชื่อว่า ขวัญและเจ้าของขวัญมีความผูกพันกับบ้าน นอกจากนี้หากมีพิธีสู่ขวัญแสดงความยินดีกับข้าราชการ ก็จะประกอบพิธีตามสถานที่ราชการ แต่ไม่ว่าจะเป็นพิธีสู่ขวัญแบบใดต่างก็มีขั้นตอนที่เหมือนกัน ได้แก่ ขั้นที่1 กล่าวคำไหว้พระ ขั้นที่2 กล่าวคำเชิญเทวดา ขั้นที่ 3 กล่าวคำสูตรขวัญ ขั้นที่ 4 กล่าวคำมิดฟาย ขั้นที่ 5 กล่าวคำผูกแขน ด้วยสำเนียงที่ไพเราะเพื่อสร้างความพอใจให้กับขวัญ และเพื่อจุดมุ่งหมายในการสร้างความสบายใจ ความมั่นใจในการดำเนินชีวิตให้กับเจ้าของขวัญ (หน้า 38-44) สำหรับ ไทย-เขมร ที่บ้านดม อำเภอสังขะ จังหวัดสุรินทร์ มีการประกอบพิธีมงก็วลจองได (บายศรีสู่ขวัญ) ที่แตกต่างจากไทย-ลาวทั่วไปในเรื่องบทสวดที่เป็นภาษาเขมร และมีพิธีที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะ 2 แบบ คือ การเฮาประลึง และการยัวประลึง (หรือซมประลึง) คำว่า ประลึงเป็นภาษาเขมร หมายถึง จิตวิญญาณ ชีวิต สติ รู้สึกตัว ซึ่งมีจุดมุ่งหมายของการประกอบพิธีกรรมเหมือนกัน คือต้องการให้ขวัญกลับมาอยู่กับตัวเจ้าของขวัญ พิธีเฮาประลึง ก็คือการเรียกขวัญในงานมงคล เช่น งานบวชนาค งานแต่งงาน งานขึ้นบ้านใหม่ ซึ่งเป็นการสู่ขวัญแบบพิธีการ โดยสิ่งที่ทำให้พิธีมีความสมบูรณ์ก็คือบทสวด รำเงื้อบ หรือ หรือบทสวดกำหราบ สำหรับบทสวดกำหราบเล็ก เนื้อหาเป็นการขออำนาจพระรัตนตรัย เพื่อกำหราบสิ่งชั่วร้าย ตามด้วยบทเรียกขวัญท้ายคำสวด ส่วนบทสวดกำหราบใหญ่จะประกอบด้วยการขออำนาจกำหราบสิ่งชั่วร้าย ต่อด้วยบทสวดขออำนาจจากกรู (เป็นภาษาเขมรมีความหมายว่า ครู) ได้แก่พระอิศวร พระพรหม พระนารายณ์ พระพุทธเจ้า พระยม ตามความเชื่อของศาสนาพราหมณ์ นอกจากนี้ยังมีพิธีเฮาประลึงแบบไม่เป็นพิธีการที่ใช้ในช่วงเวลาการเข้าป่า ด้วยความเชื่อที่ว่าเมื่อคนเราออกไปตามป่าเขา ขวัญของคนนั้นก็ได้ตามไปด้วย จึงต้องมีการเรียกขวัญกลับคืน เมื่อกลับออกมาจากป่าแล้ว พิธีซมประลึง (ยัวประลึง) หมายถึงการขอขวัญ จะกระทำเมื่อมีผู้ไม่สบายที่อาจเกิดขึ้นจากการตกใจมากๆ จากอุบัติเหตุ หรือจากการฝันร้าย ซึ่งอุปกรณ์ที่ใช้ประกอบพิธีมงก็วลจองไดของไทย-เขมรนั้นมีสิ่งที่แตกต่างจากพิธีบายศรีสู่ขวัญของไทย-ลาวทั่วไปอยู่ 3 สิ่งซึ่งมีสาเหตุมาจากการมีความเชื่อที่ต่างออกไป ได้แก่ ข้าวสุก เกิดจากการมีความเชื่อว่าคนเราเกิดมาได้เพราะความสำคัญของข้าวที่ประกอบด้วยธาตุ ดิน น้ำ ลม ไฟ ดอกมะพร้าว เกิดจากการมีความเชื่อว่า ความหอมของดอกมะพร้าวเปรียบเหมือนการทำความดี คนทั่วไปยกย่องเชื่อถือ ศรัทธา และ หมากพลู ปูน ยา ซึ่งไทย-เขมร เชื่อว่ามีการกินกันมาตั้งแต่โบราณ ดังนั้นเมื่อการเชิญผีบรรพบุรุษ ผีบ้าน ผีเรือน สิ่งศักดิ์สิทธิ์มาเป็นพยานจึงต้องใช้หมาก พลู มาประกอบพิธีด้วย และในขั้นตอนการประกอบพิธีมงก็วลจองไดจะมีการสวดการผูกข้อมือก่อนจึงสวดอวยพร และผู้ที่มาทำพิธีจะเรียกว่าอาจารย์ ซึ่งต้องเคร่งครัดต่อการปฏิบัติตนในการดำเนินชีวิต เช่น ในช่วงเย็นถึงกลางคืนจะไม่กวาดบ้าน เพราะเชื่อว่าเป็นการนำสิ่งที่ดีออกไป และรับสิ่งที่ไม่ดีเข้ามา และจะไม่ประกอบพิธีผิดเวลาเป็นอันขาด ส่วน ค่าคาย หรือค่าครู สำหรับพิธีมงก็วลจองได ประกอบด้วย เงิน 12 บาท ดอกไม้ใส่กรวย 5 คู่ ไก่ 1 ตัว ข้าวสาร 1 ขันเล็ก ข้าวต้ม 1 อัน ผ้าขาว 1 ผืน ธูป เทียน น้ำหวาน 1 ขวด ทั้งนี้ขั้นตอนการประกอบพิธีมงก็วลจองไดของไทย-เขมร บ้านดมจะมีรูปแบบและขั้นตอนเฉพาะตัวซึ่งแตกต่างจากท้องถิ่นอื่นๆ คือ 1. ผู้ถูกเรียกขวัญและเจ้าภาพ เป็นผู้ริเริ่มว่าจะทำการสู่ขวัญมีหน้าที่ไปหาอาจารย์ผู้ทำพิธี โดยอาจารย์เป็นผู้ดูฤกษ์ยาม จากนั้นเจ้าภาพจึงจัดเตรียมงาน 2. การเตรียมงาน เจ้าภาพจะบอกญาติหรือแขกให้มาร่วมงานและร่วมจัดเตรียมอาหาร สถานที่ พานบายศรี 3. การจัดพิธี อาจารย์ผู้ทำพิธีจะไม่ประกอบพิธีผิดเวลา ดังนั้นคนที่จะรับการสู่ขวัญ ผู้ร่วมพิธี และอุปกรณ์ต่างๆ ต้องเตรียมพร้อมก่อนพิธีเริ่ม ไม่เช่นนั้นการประกอบพิธีจะไม่เป็นผลสำเร็จ โดยมีขั้นตอนดังนี้ การไหว้ครู เป็นการบูชาพระคุณของครูอาจารย์และกล่าวคำไหว้พระเพื่อบูชาพระรัตนตรัย การสวดบทกำหราบ เป็นการเชิญสิ่งศักดิ์สิทธิ์มาเป็นสักขีพยาน และสมมติผู้ทำพิธีเป็นเทพ คือ พระอิศวรเพื่อปราบสิ่งไม่เป็นมงคลจากผู้ที่ถูกเรียกขวัญ บทสวดพรผูกมือ เป็นการเชิญญาติพี่น้องที่มาเป็นสักขีพยานได้ร่วมผูกแขนเรียกขวัญแก่เจ้าของขวัญ บทสวดอวยพร เป็นการอวยพรให้แก่ผู้รับการสู่ขวัญในแต่ละโอกาส เช่น การบวชนาค การแต่งงาน การขึ้นบ้านใหม่ โดยมีเนื้อหาการสอนเรื่องการปฏิบัติตนที่แตกต่างกันไป การร่วมรับประทานอาหาร เป็นขั้นตอนสุดท้ายในการประกอบพิธี โดยเจ้าภาพนำข้าวปลาอาหารมาเลี้ยงขอบคุณผู้มาร่วมงาน (หน้า 56-75)

Education and Socialization

แหล่งการเรียนรู้ของไทย-เขมร และ ไทย-ลาว บ้านดม อำเภอสังขจังหวัดสุรินทร์ มี 3 ประเภท หนึ่งคือ การศึกษาในระบบของภาครัฐ ได้แก่ โรงเรียนดมวิทยาคาร สังกัดสำนักงานการประถมศึกษาแห่งชาติที่เปิดสอนตั้งแต่ระดับอนุบาล 1 ถึง ประถมศึกษาปีที่ 6 และมีโรงเรียนมัธยมสาขาสำหรับนักเรียนที่จบมัธยมศึกษาปีที่ 6 เข้าศึกษาต่อ ซึ่งนักเรียนส่วนใหญ่จะเข้าศึกษาต่อในระดับมัธยม สองคือ การศึกษานอกระบบที่ดำเนินการโดยภาครัฐกับเอกชน ด้วยการจัดตั้งโครงการฝึกอาชีพระยะสั้นสำหรับนักเรียนที่ไม่ได้เรียนต่อ เช่นการทอผ้า การเย็บปักถักร้อย สามคือ แหล่งการเรียนรู้ตามอัธยาศัย ที่เป็นรูปแบบของ "ที่อ่านหนังสือพิมพ์ประจำหมู่บ้าน" เพื่อการติดตามข้อมูลข่าวสารต่างๆ (หน้า 29-30) นอกจากนี้ สิ่งที่มีความสำคัญต่อวิถีการดำเนินชีวิต แบบแผน ค่านิยมในสังคมของไทย-เขมร ก็คือ การสืบทอดพิธีมงก็วลจองไดที่ได้สอดแทรกคติความเชื่อและการสั่งสอนการปฏิบัติตนให้อยู่ในกรอบของสังคมอย่างถูกต้องตามหน้าที่ของแต่ละคนเพื่อความร่มเย็นเป็นสุขในการดำเนินชีวิต เช่น การสู่ขวัญนาค ที่มีเนื้อหาของบทสวดว่าด้วยการสั่งสอนให้ปฏิบัติตนและข้อห้ามในขณะที่อยู่ในวินัยสงฆ์ การสู่ขวัญแต่งงาน ที่มีเนื้อหาของบทสวดที่ว่าด้วยการวางตัว การปฏิบัติตนในการทำหน้าที่ภรรยาและสามี นับได้ว่าเป็นรูปแบบของการถ่ายทอดความรู้ ค่านิยมและแบบแผนการใช้ชีวิตจากอดีตสืบทอดมาจนปัจจุบัน (หน้า 107)

Health and Medicine

ไทย-เขมร และ ไทย-ลาว จะประกอบพิธีมงก็วลจองได หรือพิธีบายศรีสู่ขวัญ เมื่อมีคนในหมู่บ้านเจ็บป่วย หรือประสบอุบัติเหตุ ด้วยมีความเชื่อที่ว่า ขวัญของแต่ละคนมีติดตัวมาตั้งแต่เกิด หากมีบุคคลใดมีอาการเจ็บไข้ได้ป่วย ขวัญของคนนั้นก็จะหนีออกจากร่างกาย ดังนั้นเพื่อความเป็นมงคล หมอสูตรขวัญหรืออาจารย์ผู้ทำพิธีจะทำการกล่าวบทสวดเพื่อเรียกขวัญกลับมา ซึ่งจะมีผลต่อจิตใจของผู้ป่วยในการสร้างความมั่นใจ ความสบายใจมากกว่าการรักษาทางร่างกาย (หน้า 9-10 )

Art and Crafts (including Clothing Costume)

เครื่องแต่งกายของหมอสูตร (ไทย-ลาว) จะเน้นที่ความสุภาพ เสื้อสีขาว กางเกงสีขาวหรือสีสุภาพและมีผ้าเบี่ยงหรือผ้าพาดบ่าเพื่อความแตกต่างจากผู้ร่วมพิธีคนอื่นๆ การแต่งกาย ของอาจารย์ผู้ทำพิธี (ไทย-เขมร) จะเน้นที่ความสุภาพและสวมเสื้อสีขาวเช่นกันแต่ไม่นิยมนุ่งโสร่งเหมือนไทย-ลาว ทั้งนี้เครื่องแต่งกายสีขาวแสดงถึงการทำพิธีอันบริสุทธิ์ (หน้า 133) ส่วนเครื่องแต่งกายของชาวบ้านดมนั้นจะมีลักษณะเฉพาะตนดังนี้ ผู้หญิง : นุ่งผ้าถุงไหม สวมเสื้อแขนกระบอกและผ้าแพรพาดบ่าที่ทอขึ้นเอง ผู้ชาย : นุ่งโสร่ง สวมเสื้อแขนสั้น หากเป็นการแต่งกายในพิธีศพจะใช้ผ้าถุงสีดำกับเสื้อสีขาวหรือสีดำและผ้าพาดบ่าสีดำ (หน้า 3)

Folklore

ตำนานเกี่ยวกับความเป็นมาของบ้านดม มีการเล่าสืบต่อกันมาว่า คำว่า "ดม" น่าจะมาจากภาษาเขมรคำว่า "ปรำดม" ที่แปลว่า ห้า ตามจำนวนของชาวบ้าน 5 คนที่ได้ช่วยกันก่อตั้งหมู่บ้านและอาจเป็นเพราะพื้นที่ของบ้านดมในครั้งเริ่มแรกมีสภาพเป็นป่าทึบ ดังนั้น กลุ่มคนที่อพยพเข้ามาจึงช่วยกันก่อสร้างบ้านเรือนจนกลายเป็นหมู่บ้าน การรวมตัวกันครั้งนั้น เรียกว่าเป็นการระดมพล จึงมีการเรียกขานกันต่อๆ มาว่าบ้านดม (หน้า 22-23) การละเล่น ปัจจุบันยังคงมีการละเล่นในโอกาสต่างๆ ได้แก่ การเล่นกันตรึม เจรียง การเล่นลูกช่วง (ภาษาเขมร เรียกว่า โชง) และการเล่นลูกสะบ้า (ภาษาเขมร เรียก ว่าอังโกย) (หน้า 3)

Ethnicity (Ethnic Identity, Boundaries and Ethnic Relation)

ไทย-เขมร ไทย-ลาว ที่อาศัยอยู่ที่บ้านดม อำเภอสังขะ จังหวัดสุรินทร์มีการปรับตัวที่จะรวมกลุ่มกันและแลกเปลี่ยนกันทางคติความเชื่อ วัฒนธรรม รวมทั้งการประกอบพิธีกรรมที่ผสมผสานกันที่ส่งผลต่อการดำเนินชีวิต แม้ว่าทั้งสองกลุ่มชาติพันธุ์จะมีรูปแบบการดำรงชีวิตในลักษณะของตนที่ต่างกันก่อนที่จะอพยพมาอยู่รวมกันก็ตาม ทั้งนี้การที่ยังคงมีการประกอบพิธีมงก็วลจองไดในพิธีที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวัน เช่น การแต่งงาน การเรียกขวัญคนป่วยไข้ ยังแสดงให้เห็นถึงการมีคติความเชื่อดั้งเดิมเหมือนเช่นในอดีต แม้ว่าจะมีแหล่งการเรียนรู้ในรูปแบบอื่นๆ เช่นโรงเรียนเข้ามาแทนที่มากขึ้น ซึ่งอาจทำให้มีการประกอบพิธีกรรมลดลงบ้างแต่พิธีกรรมดังกล่าวก็ยังคงมีอยู่ในปัจจุบันเป็นการแสดงถึงการสืบทอดและรักษาเอกลักษณ์ทางชาติพันธุ์ของตนไว้ (หน้า 132)

Social Cultural and Identity Change

คนเขมร ได้ย้ายถิ่นฐานมายังบ้านดม อำเภอสังขะ จังหวัดสุรินทร์ และได้นำเอาวัฒนธรรม แบบแผนการดำเนินชีวิตของตนเองมาด้วย จึงมีการปะทะสังสรรค์กับแบบแผนทางวัฒนธรรมของกลุ่มคนพื้นเมืองเดิม จนเกิดการผสมผสานระหว่างกัน ไม่ว่าจะเป็นด้านศิลปะ สถาปัตยกรรมที่แสดงให้เห็นเช่น วัด กุฏิ รวมทั้งพิธีกรรมที่มีการรับและแลกเปลี่ยนระหว่างกัน ดังเช่น พิธีมงก็วลจองไดของไทย-เขมร และ พิธีบายศรีสู่ขวัญของไทย-ลาว (หน้า 14-15) แต่ในปัจจุบันความสำคัญของการประกอบพิธีกรรมต่างๆ เริ่มลดลง เนื่องจากผู้ที่เป็นหมอสูตร (ไทย-ลาว) หรืออาจารย์ผู้ทำพิธี (ไทย-เขมร)นั้นมีจำนวนลดลง เป็นเพราะการศึกษาสมัยใหม่จากภาครัฐเข้ามาแทนที่การศึกษาทางธรรม ประกอบกับอาจารย์ผู้ทำพิธีต้องปฏิบัติตนอย่างเคร่งครัดในชีวิตประจำวันที่ต้องใช้ความศรัทธาและความตั้งใจอย่างมากก็เป็นสิ่งที่ปฏิบัติกันได้ยากกว่าสมัยก่อน ในบางหมู่บ้านจึงใช้วิธีการเชิญอาจารย์จากหมู่บ้านอื่นมาประกอบพิธีให้แทน หรือแต่เดิมอาจารย์ผู้ทำพิธี (หมอสูตร) ไม่สามารถปฏิเสธผู้มาเชิญไปทำพิธีได้ แต่ในปัจจุบันหากมีผู้มาเชิญพร้อมกัน 2 คน ก็จำเป็นต้องตกลงกันด้วยการซื้ออาจารย์ว่าจะไปทำพิธีให้ใคร รวมทั้งการบอกกล่าวผู้มาร่วมพิธีที่แต่เดิมจะเป็นคนเฒ่าคนแก่นำดอกไม้และเทียนไปบอกงาน ก็เปลี่ยนมาเป็นการพิมพ์การ์ดเพื่อแจ้งวัน เวลาที่จะทำพิธี โดยให้ผู้อื่นเป็นคนไปบอกกล่าว ส่วนขนมที่ใช้ประกอบเครื่องสังเวยจากเดิมที่ต้องทำเองเช่น ขนมนางเล็ด ขนมกันตรึม ก็เปลี่ยนมาเป็นการหาซื้อตามตลาด เช่น ขนมไข่ ขนมหวาน และถ้าหากบริเวณบ้านที่ทำพิธีคับแคบไป ในสมัยก่อนจะสร้างโรงพิธีที่ใช้ใบมะพร้าวมาทำเป็นหลังคา ทว่าปัจจุบันเปลี่ยนเป็นการใช้เต๊นท์แทน และสิ่งที่เปลี่ยนไปอีกอย่างหนึ่งก็คือไม่พบการผูกแขนด้วยด้ายแล้วคงมีแต่การเรียกขวัญที่เหมือนเดิม ทั้งนี้ สาเหตุก็เนื่องมาจาก รูปแบบการดำเนินชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไป ดังนั้น เพื่อความสะดวกสบายและเพื่อความรวดเร็วมากขึ้น ชาวบ้านดมจึงได้มีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบบางอย่างในการทำพิธี (หน้า 159-160) ด้านการผสมผสานของพิธีมงก็วลจองไดของไทย-ลาว และ ไทย-เขมร ที่บ้านดม อำเภอสังขะ จังหวัดสุรินทร์นั้น ในเรื่องคติความเชื่อและการประกอบพิธี ประกอบด้วย - การผสมผสานด้านหมอสูตรและบุคคลที่เกี่ยวข้อง หมอสูตรนิยมสวมเสื้อสีขาวและกางเกงสีสุภาพซึ่งเป็นการแต่งกายที่ต่างจากผู้ร่วมพิธีและเป็นการแสดงถึงพิธีอันบริสุทธิ์ โดยหมอสูตรต้องเป็นผู้ที่ผ่านการบวชเรียน เป็นแบบอย่างที่ดีในการปฏิบัติตน ส่วนผู้ร่วมพิธีที่เป็นญาติจะมาเพื่อร่วมเป็นสักขีพยานและเรียกขวัญและขจัดสิ่งไม่เป็นมงคลให้เจ้าของขวัญ (ซึ่งเป็นบุคคลสำคัญของพิธี) - การผสมผสานเรื่องวัสดุอุปกรณ์และเครื่องบัตรพลี ได้แก่ 1. ใบตอง ด้วยเชื่อว่าขวัญเป็นสิ่งละเอียดอ่อนและบริสุทธิ์ จึงนำใบตองที่เป็นสิ่งบริสุทธิ์ที่เกิดตามธรรมชาติมาทำเป็นพานบายศรี 2. ข้าวต้ม เปรียบเหมือนความหนักแน่น อดทนและมีความรักที่เหนียวแน่น 3. กล้วยสุก กล้วยเป็นสิ่งที่มีบุญคุณต่อมนุษย์เพราะมารดาใช้กล้วยผสมข้าวป้อนลูก 4. ธูป เทียน เทียนใช้เพื่อบูชาพระรัตนตรัย ส่วนธูปนั้น ไทยเขมรใช้เพื่อบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์และเชิญมาเป็นสักขีพยาน ทว่า ไทย-ลาว ไม่ใช้ธูปในการประกอบพิธี 5. ข้าวสาร ข้าวสารที่ผ่านการปลุกเสกและการประกอบพิธีเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์เมื่อนำมาโยนใส่ผู้ถูกเรียกขวัญจะขับไล่สิ่งชั่วร้ายได้ 6. ข้าวสุก เป็นสิ่งที่มีความสำคัญต่อชีวิตมนุษย์ เพราะคนเราเกิดมาต้องอาศัยข้าวเป็นส่วนประกอบ 7.ไข่ต้มสุก ไข่เป็นสัญลักษณ์ของการเกิด เพราะมีเปลือกห่อหุ้ม และหมอสูตรจะนำไข่มาทำนายว่าเจ้าของขวัญจะดำเนินชีวิตได้ราบรื่นหรือมีอุปสรรค 8. ดอกไม้ การนำดอกไม้มาใช้ในพิธีเพื่อความเป็นมงคล เช่น ไทย-ลาวจะใช้ดอกรัก ดอกบานไม่รู้โรย อันมีความหมายว่ารักกันไม่เสื่อมคลาย ส่วนไทย-เขมรนิยมใช้ดอกมะพร้าว แสดงถึงความเจริญรุ่งเรืองมีคนยกย่อง 9. ภาชนะ การทำพานบายศรีควรจัดทำในภาชนะที่สวยงามเพื่อเชิญขวัญมาสู่เจ้าของขวัญ โดยไทย-ลาวนิยมทำพานบายศรีในขันแล้ววางลงบนถาด ส่วนไทย-เขมรเชื่อว่าการทำพานบายศรี 3-5 ชั้นเป็นของบุคคลธรรมดา และ 7-9 ชั้นเป็นของผู้มีบรรดาศักดิ์ 10. ด้ายผูกแขน การนำด้ายมาผูกแขนเพื่อเป็นการเรียกขวัญให้เจ้าของขวัญและไล่สิ่งที่ไม่เป็นมงคล โดยไทย-ลาวนิยมนำฝ้ายมาทำเป็นด้ายดิบสีขาวร้อยใส่ไม้ ส่วน ไทย-เขมรจะนิยมนำด้ายมาย้อมขมิ้นเพื่อให้หอม 11. หมาก พลู ปูน ยา แสดงถึงความอุดมสมบูรณ์และเป็นสิ่งที่ใช้รับแขก รวมทั้งใช้เพื่อการอันเชิญเทวดา สิ่งศักดิ์สิทธิ์มาเป็นสักขีพยานจึงต้องเตรียมหมาก พลู ปูน ยา ไว้ต้อนรับ 12. เหล้า เหล้าขาวถือว่าเป็นน้ำบริสุทธิ์เป็นการแสดงการคารวะเทวดา เพื่อเซ่นบรรพบุรุษและเชิญเป็นสักขีพยาน 13. ค่าคาย ชาวบ้านนำมาให้หมอสูตรเป็นค่ายกครูเพื่อเป็นการไหว้ครูให้การประกอบพิธีดำเนินไปด้วยดี - การผสมผสานเรื่องเวลา การประกอบพิธีให้ตรงกับฤกษ์ยามจะทำให้เกิดสิริมงคลแก่ชีวิต โดยหมอสูตรเป็นผู้กำหนดวัน เดือนที่จะทำพิธี - การผสมผสานเรื่องสถานที่ บ้านเป็นสถานที่ที่มีความผูกพันกับเจ้าของขวัญ การประกอบพิธีจึงต้องทำขึ้นที่บ้าน เพราะเชื่อว่าขวัญต้องมีความผูกพันกับบ้านเช่นกัน แต่บางโอกาสอาจใช้สถานที่ทำงานหรือโรงพิธีประกอบพิธีได้ - การผสมผสานเรื่องคติความเชื่อ ประกอบด้วย - คน ต้องประกอบด้วยหมอสูตรหรืออาจารย์ผู้ทำพิธี ผู้รับการสู่ขวัญ และผู้ร่วมพิธีที่มาเป็นสักขีพยานและเรียกขวัญแก่เจ้าของขวัญ - เวลา การประกอบพิธีมีการอันเชิญสิ่งศักดิ์สิทธิ์จึงต้องประกอบพิธีให้ตรงกับฤกษ์ยามเพื่อความเป็นมงคลและปัดเป่าสิ่งไม่ดีได้เป็นผลสำเร็จ - สถานที่ สถานที่ที่ใช้ประกอบพิธีไม่ว่าจะเป็นการแต่งงาน การขึ้นบ้านใหม่ การบวชนาค การสะเดาะเคราะห์และการสู่ขวัญ จะใช้บ้านในการทำพิธีเพราะเชื่อว่าขวัญของคนเราจะอยู่ไม่ห่างจากตัวบ้าน - การผสมผสานเรื่องคติความเชื่อที่เกี่ยวพันกับวิถีชีวิต ได้แก่ - การสู่ขวัญแต่งงาน เป็นการสร้างขวัญ กำลังใจและสอนเรื่องการดำเนินชีวิตคู่ - การสู่ขวัญขึ้นบ้านใหม่ เป็นการสร้างขวัญ กำลังใจแก่เจ้าของบ้านและไล่สิ่งไม่ดีออกไป - การสู่ขวัญสะเดาะเคราะห์ เป็นการเรียกขวัญเมื่อเกิดอุปสรรคในการดำเนินชีวิตหรือเมื่อมีเคราะห์ที่อาจเกิดขึ้นโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ได้จึงต้องสะเดาะเคราะห์เพื่อให้เคราะห์หายไป - การสู่ขวัญคนธรรมดา เป็นการสร้างขวัญ กำลังใจและแสดงความยินดีในโอกาสต่างๆ เช่นการเลื่อนตำแหน่งการงานที่สูงขึ้น - การสู่ขวัญการบวชนาค เป็นการเรียกขวัญและสั่งสอนนาคให้รู้จักปฏิบัติตนในกรอบของสงฆ์หลังจากบวชเป็นพระแล้ว (หน้า 133-153)

Critic Issues

ไม่มีข้อมูล

Other Issues

ไม่มี

Map/Illustration

1. ภาพแผนผังบ้านดม อำเภอสังขะ จังหวัดสุรินทร์ หน้า 24. 2. ภาพปราสาทภูมิโปน ปราสาทเก่าแก่ที่แสดงถึงวัฒนธรรมเก่าแก่ของชุมชนบ้านดม อำเภอสังขะ จังหวัดสุรินทร์ หน้า 36.

Text Analyst วิริยา วิฑูรย์สฤษฎ์ศิลป์ Date of Report 26 ต.ค. 2555
TAG ไทย-ลาว, ไทย-เขมร, คะแมร์ลือ, ความเชื่อ, พิธีกรรม, พิธีมงก็วลจองได, สุรินทร์, Translator -
 
 

 

ฐานข้อมูลอื่นๆของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
  ฐานข้อมูลพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทย
จารึกในประเทศไทย
จดหมายเหตุทางมานุษยวิทยา
แหล่งโบราณคดีที่สำคัญในประเทศไทย
หนังสือเก่าชาวสยาม
ข่าวมานุษยวิทยา
ICH Learning Resources
ฐานข้อมูลเอกสารโบราณภูมิภาคตะวันตกในประเทศไทย
ฐานข้อมูลประเพณีท้องถิ่นในประเทศไทย
ฐานข้อมูลสังคม - วัฒนธรรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  หน้าหลัก
งานวิจัยชาติพันธุ์ในประเทศไทย
บทความชาติพันธุ์
ข่าวชาติพันธุ์
เครือข่ายชาติพันธุ์
เกี่ยวกับเรา
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  ข้อมูลโครงการ
ทีมงาน
ติดต่อเรา
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
ช่วยเหลือ
  กฏกติกาและมารยาท
แบบสอบถาม
คำถามที่พบบ่อย


ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) เลขที่ 20 ถนนบรมราชชนนี เขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ 10170 
Tel. +66 2 8809429 | Fax. +66 2 8809332 | E-mail. webmaster@sac.or.th 
สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2549    |   เงื่อนไขและข้อตกลง