สมัครสมาชิก   
| |
ค้นหาข้อมูล
ค้นหาแบบละเอียด
  •   ความเป็นมาและหลักเหตุผล

    เพื่อรวบรวมงานวิจัยทางชาติพันธุ์ที่มีคุณภาพมาสกัดสาระสำคัญในเชิงมานุษยวิทยาและเผยแผ่สาระงานวิจัยแก่นักวิชาการ นักศึกษานักเรียนและผู้สนใจให้เข้าถึงงานวิจัยทางชาติพันธุ์ได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น

  •   ฐานข้อมูลจำแนกกลุ่มชาติพันธุ์ตามชื่อเรียกที่คนในใช้เรียกตนเอง ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้ คือ

    1. ชื่อเรียกที่ “คนอื่น” ใช้มักเป็นชื่อที่มีนัยในทางเหยียดหยาม ทำให้สมาชิกกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ รู้สึกไม่ดี อยากจะใช้ชื่อที่เรียกตนเองมากกว่า ซึ่งคณะทำงานมองว่าน่าจะเป็น “สิทธิพื้นฐาน” ของการเป็นมนุษย์

    2. ชื่อเรียกชาติพันธุ์ของตนเองมีความชัดเจนว่าหมายถึงใคร มีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมอย่างไร และตั้งถิ่นฐานอยู่แห่งใดมากกว่าชื่อที่คนอื่นเรียก ซึ่งมักจะมีความหมายเลื่อนลอย ไม่แน่ชัดว่าหมายถึงใคร 

     

    ภาพ-เยาวชนปกาเกอะญอ บ้านมอวาคี จ.เชียงใหม่

  •  

    จากการรวบรวมงานวิจัยในฐานข้อมูลและหลักการจำแนกชื่อเรียกชาติพันธุ์ที่คนในใช้เรียกตนเอง พบว่า ประเทศไทยมีกลุ่มชาติพันธุ์มากกว่า 62 กลุ่ม


    ภาพ-สุภาษิตปกาเกอะญอ
  •   การจำแนกกลุ่มชนมีลักษณะพิเศษกว่าการจำแนกสรรพสิ่งอื่นๆ

    เพราะกลุ่มชนต่างๆ มีความรู้สึกนึกคิดและภาษาที่จะแสดงออกมาได้ว่า “คิดหรือรู้สึกว่าตัวเองเป็นใคร” ซึ่งการจำแนกตนเองนี้ อาจแตกต่างไปจากที่คนนอกจำแนกให้ ในการศึกษาเรื่องนี้นักมานุษยวิทยาจึงต้องเพิ่มมุมมองเรื่องจิตสำนึกและชื่อเรียกตัวเองของคนในกลุ่มชาติพันธุ์ 

    ภาพ-สลากย้อม งานบุญของยอง จ.ลำพูน
  •   มโนทัศน์ความหมายกลุ่มชาติพันธุ์มีการเปลี่ยนแปลงในช่วงเวลาต่างๆ กัน

    ในช่วงทศวรรษของ 2490-2510 ในสาขาวิชามานุษยวิทยา “กลุ่มชาติพันธุ์” คือ กลุ่มชนที่มีวัฒนธรรมเฉพาะแตกต่างจากกลุ่มชนอื่นๆ ซึ่งมักจะเป็นการกำหนดในเชิงวัตถุวิสัย โดยนักมานุษยวิทยาซึ่งสนใจในเรื่องมนุษย์และวัฒนธรรม

    แต่ความหมายของ “กลุ่มชาติพันธุ์” ในช่วงหลังทศวรรษ 
    2510 ได้เน้นไปที่จิตสำนึกในการจำแนกชาติพันธุ์บนพื้นฐานของความแตกต่างทางวัฒนธรรมโดยตัวสมาชิกชาติพันธุ์แต่ละกลุ่มเป็นสำคัญ... (อ่านเพิ่มใน เกี่ยวกับโครงการ/คู่มือการใช้)


    ภาพ-หาดราไวย์ จ.ภูเก็ต บ้านของอูรักลาโว้ย
  •   สนุก

    วิชาคอมพิวเตอร์ของนักเรียน
    ปกาเกอะญอ  อ. แม่ลาน้อย
    จ. แม่ฮ่องสอน


    ภาพโดย อาทิตย์    ทองดุศรี

  •   ข้าวไร่

    ผลิตผลจากไร่หมุนเวียน
    ของชาวโผล่ว (กะเหรี่ยงโปว์)   
    ต. ไล่โว่    อ.สังขละบุรี  
    จ. กาญจนบุรี

  •   ด้าย

    แม่บ้านปกาเกอะญอ
    เตรียมด้ายทอผ้า
    หินลาดใน  จ. เชียงราย

    ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ถั่วเน่า

    อาหารและเครื่องปรุงหลัก
    ของคนไต(ไทใหญ่)
    จ.แม่ฮ่องสอน

     ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ผู้หญิง

    โผล่ว(กะเหรี่ยงโปว์)
    บ้านไล่โว่ 
    อ.สังขละบุรี
    จ. กาญจนบุรี

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   บุญ

    ประเพณีบุญข้าวใหม่
    ชาวโผล่ว    ต. ไล่โว่
    อ.สังขละบุรี  จ.กาญจนบุรี

    ภาพโดยศรยุทธ  เอี่ยมเอื้อยุทธ

  •   ปอยส่างลอง แม่ฮ่องสอน

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ปอยส่างลอง

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดย เบญจพล  วรรณถนอม
  •   อลอง

    จากพุทธประวัติ เจ้าชายสิทธัตถะ
    ทรงละทิ้งทรัพย์ศฤงคารเข้าสู่
    ร่มกาสาวพัสตร์เพื่อแสวงหา
    มรรคผลนิพพาน


    ภาพโดย  ดอกรัก  พยัคศรี

  •   สามเณร

    จากส่างลองสู่สามเณร
    บวชเรียนพระธรรมภาคฤดูร้อน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   พระพาราละแข่ง วัดหัวเวียง จ. แม่ฮ่องสอน

    หล่อจำลองจาก “พระมหามุนี” 
    ณ เมืองมัณฑะเลย์ ประเทศพม่า
    ชาวแม่ฮ่องสอนถือว่าเป็นพระพุทธรูป
    คู่บ้านคู่เมืององค์หนึ่ง

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม

  •   เมตตา

    จิตรกรรมพุทธประวัติศิลปะไต
    วัดจองคำ-จองกลาง
    จ. แม่ฮ่องสอน
  •   วัดจองคำ-จองกลาง จ. แม่ฮ่องสอน


    เสมือนสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรม
    เมืองไตแม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ใส

    ม้งวัยเยาว์ ณ บ้านกิ่วกาญจน์
    ต. ริมโขง อ. เชียงของ
    จ. เชียงราย
  •   ยิ้ม

    แม้ชาวเลจะประสบปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัย
    พื้นที่ทำประมง  แต่ด้วยความหวัง....
    ทำให้วันนี้ยังยิ้มได้

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ผสมผสาน

    อาภรณ์ผสานผสมระหว่างผ้าทอปกาเกอญอกับเสื้อยืดจากสังคมเมือง
    บ้านแม่ลาน้อย จ. แม่ฮ่องสอน
    ภาพโดย อาทิตย์ ทองดุศรี
  •   เกาะหลีเป๊ะ จ. สตูล

    แผนที่ในเกาะหลีเป๊ะ 
    ถิ่นเดิมของชาวเลที่ ณ วันนี้
    ถูกโอบล้อมด้วยรีสอร์ทการท่องเที่ยว
  •   ตะวันรุ่งที่ไล่โว่ จ. กาญจนบุรี

    ไล่โว่ หรือที่แปลเป็นภาษาไทยว่า ผาหินแดง เป็นชุมชนคนโผล่งที่แวดล้อมด้วยขุนเขาและผืนป่า 
    อาณาเขตของตำบลไล่โว่เป็นส่วนหนึ่งของป่าทุ่งใหญ่นเรศวรแถบอำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี 

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   การแข่งขันยิงหน้าไม้ของอาข่า

    การแข่งขันยิงหน้าไม้ในเทศกาลโล้ชิงช้าของอาข่า ในวันที่ 13 กันยายน 2554 ที่บ้านสามแยกอีก้อ อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย
 
  Princess Maha Chakri Sirindhorn Anthropology Centre
Ethnic Groups Research Database
Sorted by date | title

   Record

 
Subject เขมร,สังคมวัฒนธรรม,พิธีกรรม,สุรินทร์
Author สมัคร เจาะใจดี
Title พิธีกรรมกอร์เซาะกำป็อจของชาวไทยเขมรบ้านหนองกัว ตำบลเมืองที อำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์
Document Type วิทยานิพนธ์ Original Language of Text ภาษาไทย
Ethnic Identity ขแมร์ลือ คะแมร คนไทยเชื้อสายเขมร เขมรถิ่นไทย, Language and Linguistic Affiliations ออสโตรเอเชียติก(Austroasiatic)
Location of
Documents
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร Total Pages 291 Year 2540
Source หลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
Abstract

งานศึกษานี้เป็นการศึกษาถึงการเปลี่ยนแปลงองค์ประกอบ และขั้นตอนพิธีกรรมกอร์เซาะกำป็อจ และศึกษาแนวความคิดความเชื่อของพิธีกรรมดังกล่าวของไทยเขมรบ้านหนองกัว ต.เมืองที อ.เมือง จ.สุรินทร์ พบว่า ไทยเขมรที่บ้านหนองกัวนี้มีวัฒนธรรมที่เป็นของกลุ่มตนเอง ยังคงปฏิบัติตามประเพณีและพิธีกรรมประจำชีวิตที่เกี่ยวกับการเกิด การโกนจุก การบวช การแต่งงงาน และการตายสืบทอดกันมาจากบรรพบุรุษ โดยมีอาจารย์หรือกรูเป็นผู้นำในการประกอบพิธีกรรมต่างๆ แม้ว่าในปัจจุบันความเจริญก้าวหน้าจะเข้ามาเกี่ยวข้องกับชีวิตอย่างมาก แต่ไทยเขมรนี้ยังคงมีความเชื่อต่อประเพณีพิธีกรรมที่สำคัญไว้อย่างเหนียวแน่น ในพิธีกรรมกอร์เซาะกำป็อจมีองค์ประกอบ ด้านบุคคล ได้แก่ อาจารย์ แม่กะแย พระสงฆ์ เด็กเซาะกำป็อจ (เด็กผมจุก) และผู้เข้าร่วมพิธีกรรม ด้านวัสดุสิ่งของ ได้แก่ เครื่องบูชา เครื่องสังเวย เครื่องสู่ขวัญ เครื่องแต่งตัวเด็กผมจุก และเครื่องมือโกนจุก ด้านเวลาจะใช้เวลา 2 วัน โดยจะจัดเฉพาะในระหว่างเดือนยี่ถึงเดือน 4 เท่านั้น ด้านสถานที่ ได้แก่ ปะรำพิธี เรียนตีวดา และเรียนกอร์เซาะกำป็อจ (ร้านโกนจุก) การจัดพิธีกรรมกอร์เซาะกำป็อจระหว่างช่วงกำเนิดหมู่บ้านในช่วง พ.ศ. 2445-2475 และช่วง พ.ศ 2476-ปัจจุบัน มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างช้าๆ ส่วนใหญ่เป็นในรายละเอียดปลีกย่อย เช่น ค่ายกครู ค่าตอบแทนอาจารย์ แม่กะแย ที่เพิ่มมากกว่าเดิม หรือวัสดุสิ่งของที่ใช้ในพิธีจะเป็นของที่หาซื้อได้จากร้านค้าในตลาดเป็นส่วนใหญ่ ทั้งนี้ เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงทั้งภายในสังคมชนบทและภายนอกสังคมชนบท และด้านการใช้ภาษาในระยะหลังนี้จะใช้ภาษาไทยภาคกลาง แทรกเข้ามาในพิธีกรรมตามความเหมาะสม จากเดิมที่จะใช้ภาษาบาลีและภาษาไทยเขมรเท่านั้น แนวความคิดความเชื่อของพิธีกรรมกอร์เซาะกำป็อจ ในด้านองค์ประกอบและขั้นตอนการประกอบพิธีตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เกิดจากการผสมผสานระหว่างศาสนาพุทธและพราหมณ์ อันเป็นแนวความคิดความเชื่อพื้นฐานในลักษณะพื้นบ้าน ที่ไทยเขมร บ้านหนองกัวสร้างสมมาจากบรรพบุรุษอย่างไม่เปลี่ยนแปลง นับเป็นความเชื่อของพิธีกรรมเกี่ยวกับเด็กซึ่งพ่อแม่ให้ความสำคัญมาก อันถือเป็นสิริมงคลต่อการเปลี่ยนสถานภาพจากวัยเด็กเข้าสู่วัยหนุ่มสาวของไทยเขมร

Focus

ผู้วิจัยมุ่งเน้นศึกษาเกี่ยวกับพิธีกรรมกอร์เซาะกำป็อจของคนไทยเขมร ในประเด็นเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงองค์ประกอบและขั้นตอน รวมทั้งแนวคิดความเชื่อของพิธีกรรมดังกล่าว นอกจากนี้ ยังอธิบายถึงลักษณะทั่วไปทางสังคมและวัฒนธรรมของชุมชนเขมรใน จ.สุรินทร์ด้วย

Theoretical Issues

จากการศึกษาเรื่องพิธีกอร์เซาะกำป็อจของไทยเขมรบ้านหนองกัว ต.เมืองที อ.เมือง จ.สุรินทร์ ผู้วิจัยได้ชี้ว่าพิธีกรรมดังกล่าวเป็นพิธีกรรมที่ยิ่งใหญ่ของเด็กไทยเขมรที่เกี่ยวกับประเพณีหัวเลี้ยวหัวต่อ ที่พ่อแม่ให้ความสำคัญมาก เพราะถือว่าเป็นสิริมงคลต่อเด็กที่จะเข้าสู่วัยหนุ่มสาว เพราะเชื่อว่าหากจัดพิธีกรรมได้อย่างถูกต้องสมบูรณ์แล้ว เด็กเซาะกำป็อจจะเริ่มต้นชีวิตใหม่ด้วยความมั่นใจ มีความมั่นคงในชีวิต เป็นกำลังใจกล้าที่จะต่อสู้เพื่อไปสู่จุดมุ่งหมาย ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดที่เกี่ยวกับประเพณีพิธีกรรมในช่วงสำคัญของชีวิต ในพิธีกรรมนี้ถือว่า ผมจุกเป็นสัญลักษณ์ที่แสดงถึงสถานภาพของบุคคล เมื่อมีการโกนผมจุกเป็นการแสดงถึงการหลุดพ้นจากความเป็นเด็กเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ นอกจากนี้ องค์ประกอบและขั้นตอนของพิธีกรรมกอร์เซาะกำป็อจยังสะท้อนถึงบทบาทและหน้าที่ที่มีต่อระบบความคิดความเชื่อของไทยเขมรบ้านหนองกัวอีกด้วย เช่น การจัดเครื่องบูชา เครื่องสังเวย ถือเป็นสิ่งจำเป็นที่จะละเว้นไม่ได้ ขาดไม่ได้ แม้ว่าจะเปลี่ยนแปลงไปบ้างก็ตาม

Ethnic Group in the Focus

เขมร ที่อยู่ในหมู่บ้านหนองกัว ต.เมืองที อ.เมือง จ.สุรินทร์

Language and Linguistic Affiliations

เขมรเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่ใช้ภาษาตระกูลมอญ-เขมร ภาษาที่ใช้พูดมีรากศัพท์มาจากภาษาบาลี-สันสกฤตเป็นส่วนมาก (หน้า 31) คนไทยเขมรโดยทั่วไปเรียกตนเองว่า "คแมร" แต่หากบ่งบอกถึงภาษาและชาติพันธุ์ คนไทยเขมรจะเรียกตนเองว่า "คแมร-ลือ" ซึ่งแปลว่า เขมรสูง และเรียกภาษาเขมรและคนเขมรในประเทศกัมพูชาว่า "คแมร-กรอม" แปลว่า เขมรต่ำ (หน้า 33) ประชากรใน จ.สุรินทร์ มีคนท้องถิ่นพูดภาษาเขมรถิ่นไทยเป็นภาษาแม่คิดเป็นร้อยละ 90 โดยแบ่งกลุ่มภาษาพื้นเมืองออกเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้ 1.กลุ่มที่พูดภาษาเขมรเป็นภาษาพื้นเมือง เป็นกลุ่มที่มีมากที่สุด ในเขต อ.เมือง อ.ปราสาท อ.สังขะ อ.กาบเชิง อ.ท่าดูม อ.ลำดวน 2.เป็นกลุ่มที่พูดภาษาลาวเป็นภาษาพื้นเมือง ส่วนใหญ่อยู่ในเขต อ.รัตนบุรี อ.สนม กลุ่มนี้มีมากเป็นอันดับสอง 3.กลุ่มที่พูดภาษาส่วย เป็นภาษาพื้นเมือง ส่วนใหญ่อยู่ในเขต อ.จอมพระ อ.ศรีขรภูมิ และ อ.สำโรงทาบ (หน้า 44-45)

Study Period (Data Collection)

ผู้วิจัยไม่ได้กล่าวถึงช่วงระยะเวลาของการศึกษาไว้อย่างชัดเจน จากภาคผนวก ก รายนามผู้ให้สัมภาษณ์ทำให้ทราบว่าผู้วิจัยเริ่มสัมภาษณ์กลุ่มเป้าหมายตั้งแต่ วันที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2540 - วันที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2540 (ภาคผนวก ก หน้า 257-272)

History of the Group and Community

ความเป็นมาของเมืองสุรินทร์ จากหลักฐานทางโบราณคดี สันนิษฐานว่า ดินแดนแถบ จ.สุรินทร์เคยเป็นที่อยู่อาศัยของเขมรโบราณตั้งแต่สมัยพุทธศตวรรษที่ 13 แต่ภายหลังถูกละทิ้งเพราะการเสื่อมอำนาจของขอมโบราณ บริเวณ จ.สุรินทร์และ ดินแดนใกล้เคียงเป็นป่ารก ถือว่าดินแดนแห่งนี้เป็นเมืองสำคัญในอดีต มีโบราณสถานมากมายกระจัดกระจายตามพื้นที่ทั่วไป คือ อ.เมือง 2 แห่ง อ.สังขะ 4 แห่ง อ.จอมพระ 1 แห่ง อ.ปราสาท 8 แห่ง จากปราสาทที่ค้นพบสันนิษฐานได้ว่า เมืองสุรินทร์อาจ เป็นเส้นทางการไปมาของขอม ระหว่างเขาพระวิหาร เขาพนมรุ้ง นครธม นครวัด ขอมจึงยึดเอาเมืองสุรินทร์เป็นเมืองหน้าด่าน ในการที่จะข้ามเทือกเขาพนมดงรักไปสู่นครธมซึ่งถือเป็นราชธานีแห่งอาณาจักรขอม ในสมัยพุทธศตวรรษที่ 18 ขอมเสื่อมอำนาจ ในขณะที่อาณาจักรสุโขทัยเริ่มมีบทบาทมากขึ้น จนมีอำนาจเหนือดินแดนบางส่วน ต่อมาในราวปี พ.ศ. 2200 ได้มีชนชาติ ส่วยหรือกูย อพยพมาจากเมืองอัตปือ เมืองเสนปางในแคว้นจำปาศักดิ์ ข้ามลำน้ำโขงเข้าสู่ฝั่งขวา มาตั้งถิ่นฐานอยู่ที่จ.สุรินทร์และศรีษะเกษในปัจจุบัน เมื่อได้เข้ามาสู่ฝั่งไทยก็ได้แยกออกเป็น 6 กลุ่ม ในแต่ละกลุ่มมีหัวหน้า และต่างปกครองตนเองฉันท์พี่น้องอย่างอิสระ ไม่ขึ้นกับหัวเมืองใด และทำมาหากินโดยการทำนา ล่าสัตว์ เก็บของป่าและเลี้ยงช้าง จน พ.ศ. 2302 ในสมัยสมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์ได้มีช้างเผือกแตกโรงหนีจากกรุงศรีอยุธยา เข้ามาในป่าบริเวณที่เขมรกูยเหล่านั้นอยู่อาศัย และได้รับการช่วยเหลือตามจับช้างแล้วนำกลับไปถวาย พระเจ้ากรุงศรีฯ จึงได้แต่งตั้งหัวหน้าหมู่บ้านเขมรกูยมีฐานันดรศักดิ์ ในเวลาต่อมายังได้นำช้าง ม้า แก่นสน บางสน ปีกนก นอรมาด งาช้าง ขี้ผึ้ง เป็นของส่วยส่งไปกรุงศรีฯ พระเจ้ากรุงศรีฯ โปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนบรรดาศักดิ์และยกฐานะจากหมู่บ้านเป็นเมือง ซึ่งขึ้นอยู่กับเมืองพิมาย หลังจากกรุงศรีอยุธยาเสียกรุงแก่พม่า เมื่อปี พ.ศ. 2310 บรรดาเมืองชั้นต่างๆ ก็ประกาศเป็นอิสระ ต่อมาในปี พ.ศ. 2311 พระเจ้ากรุงธนบุรีได้ส่งกองทัพไปตีเขมรที่เมืองบรรทายมาศ เขมรหลบหนีภัยสงครามไปอยู่ที่ต่างๆ และในปี พ.ศ. 2314 กองทัพไทยได้ยกพลไปตีเขมรอีกครั้ง โดยเขมรกลุ่มหนึ่งได้อพยพเข้ามาอยู่ที่เมืองคูปะทายสมันต์ ซึ่งเป็นบริเวณที่ตั้งเมืองสุรินทร์ในปัจจุบัน ซึ่งในจำนวนนั้นมีบุตรสาวเจ้าเมืองบรรทายเพชรและได้สมรสกับหลานเจ้ามืองดังกล่าว ก่อให้เกิดการผสมผสานกลุ่มชาติพันธุ์ขึ้นในหมู่ไทย-กูยและเขมร-ส่วย ต่อมาเมืองคูปะทายสมันต์ได้ร่วมรบกับกองทัพหลวงจนสามารถตีเมืองเขมรได้มาอยู่ในขอบขันธสีมา อันเป็นสาเหตุให้คนเขมรอพยพมาอยู่ที่เมืองคูปะทายสมันต์และเมืองสังฆะมากขึ้น และมีอิทธิพลทางวัฒนธรรมเข้าครอบงำสังคมชาวเมืองเดิมไปบางส่วน จึงทำให้ส่วยหรือกูย และไทยลาวบางส่วนยอมรับวัฒนธรรมเขมรในที่สุด จนรัชสมัยพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกขึ้นครองราชย์ พระองค์โปรดเกล้าฯ เปลี่ยนนามเมืองจากเดิมเมืองคูปะทายสมันต์เป็น "เมืองสุรินทร์" ตามบรรดาศักดิ์ของเจ้าเมืองและขึ้นตรงต่อกรุงเทพฯ เป็นต้นมา จวบจนรัชสมัย ร.5 ได้เปลี่ยนแปลงการปกครอง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีเจ้าเมืองปกครองเมืองสุรินทร์ และข้าหลวงประจำจังหวัดหรือผู้ว่าราชการจังหวัด (หน้า 38-40) ความเป็นมาของต.เมืองที บ้านเมืองทีเป็นหมู่บ้านที่ "เชียงปุม" (เรียกตนเองว่า ส่วยหรือกูย) อพยพมาจากฝั่งโขง ในพ.ศ. 2260 กลุ่มของเชียงปุม ได้เลื่อนฐานันดรศักดิ์เป็นหลวงสุรินทร์ภักดี และยกฐานะเป็นเมืองปะทายสมันต์ แต่มีพี่น้องของเชียงปุมส่วนหนึ่งยังคงอยู่ที่บ้านเมืองทีตามเดิมและสืบทอดเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน (หน้า 53-54) ความเป็นมาของบ้านหนองกัว บ้านหนองกัว หมู่ที่ 9 ต.เมืองที ตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2445 พื้นที่แห่งนี้เดิมเป็นที่อยู่อาศัยของขอมโบราณ มีการขุดพบตะกั่วเป็นจำนวนมากในบริเวณหนองน้ำจึงเรียกหมู่บานนี้ว่าหมู่บ้านหนองตะกั่ว และเมื่อขอมเสื่อมอำนาจลงปล่อยให้เป็นที่รกร้าง จนกระทั่งได้มีคนไทยเขมรอพยพมาอยู่แทนที่ชื่อเดิมก็แผลงมาเป็น บ้านหนองกัวจนถึงปัจจุบัน (หน้า 56-57)

Settlement Pattern

การตั้งบ้านเรือนเป็นแบบกลุ่มหรือกระจุกอยู่ไม่เป็นระเบียบ (หน้า58) ลักษณะของบ้านส่วนใหญ่เป็นบ้านชั้นเดียวใต้ถุนสูง รูปทรงของบ้านมีทั้งแบบสมัยเก่าคิดเป็นร้อยละ 20 และบ้านทรงสมัยใหม่เป็นร้อยละ 80 (หน้า 58)

Demography

ประชากรบ้านหนองกัว มีจำนวน 335 คน แบ่งเป็นชาย 167 คน และหญิง 168 คน มีจำนวนครัวเรือน 75 ครัวเรือน แต่ละครอบครัวเฉลี่ยมีสมาชิก 4 คน ซึ่งหลายครอบครัวมีสมาชิก 8-11 คน (หน้า 62-65)

Economy

อาชีพทำนาถือเป็นอาชีพหลักเป็นลักษณะการทำเพื่อการยังชีพ และมีอาชีพอื่นๆ เช่น เลี้ยงสัตว์ ปลูกพืชผักสวนครัว ค้าขาย รับจ้างทั่วไป หัตกรรมในครัวเรือน เป็นต้น พื้นที่ทางการเกษตรส่วนใหญ่จะใช้เป็นพื้นที่ปลูกข้าวเจ้าเพื่อใช้ในการบริโภค ปลูกข้าวเหนียวบ้างเล็กน้อย เพื่อไว้ทำขนมในการประกอบงานบุญ และใช้ในพิธีกรรมต่างๆ เช่น ขนมกันเตรือม ขนมโชค ขนมเนียงเม็ด เป็นต้น ซึ่งชื่อขนมนั้นล้วนเป็นภาษาเขมรทั้งสิ้น การทำนาจะทำปีละ 1 ครั้ง เฉพาะในช่วงฤดูฝนเท่านั้น เพราะไม่มีระบบคลองชลประทาน และไม่มีลำห้วยไหลผ่านระหว่างหมู่บ้าน และในฤดูแล้งพื้นดินก็ไม่สามารถเก็บกักน้ำไว้เพื่อใช้ในการเกษตรได้ เพราะมีสภาพเป็นดินร่วน ไม่อุ้มน้ำ อากาศร้อนน้ำแห้งเร็ว ฤดูกาลอื่นๆ จึงเหมาะที่จะปลูกพืชระยะสั้น และในปัจจุบันการทำนาจะใช้กำลังคนผสมกับเครื่องจักรกล คือ ชาวบ้านนิยมเช่าเครื่องยนต์มาไถคราดและนวดข้าว ส่วนการดำนาและเกี่ยวข้าวมักลงแรงด้วยตนเองและจ้างแรงงานเป็นรายวัน พื้นที่ในชุมชนจะปลูกหม่อนเพื่อใช้ในการเลี้ยงไหม ปลูกไม้ผล เช่น มะละกอ มะม่วง น้อยหน่า และพืชผักสวนครัว เป็นต้น นอกจากนั้นจะมีการเลี้ยงสัตว์ ได้แก่ วัว ควาย หมู เป็ด ไก่ เพื่อใช้เป็นแรงงาน เป็นอาหารบริโภคและขาย ส่วนอาชีพด้านอุตาหกรรมในครัวเรือนเป็นงานฝีมือซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นผู้สูงอายุทำซึ่งมักใช้กันเองในครัวเรือนและแบ่งให้ญาติพี่น้อง โดยเป็นงานจักรสานเครื่องใช้ด้วยไม้ไผ่ เช่น กระเชอ (กระบุง) กระด้ง ตะกร้า สุ่ม ไซ ลอบ ข้อง เป็นต้น อาชีพในด้านการค้า จะมีร้านค้าขายของชำเพียง 2 ร้านเท่านั้น ซึ่งเป็นขายสินค้าที่ใช้ในชีวิตประจำวันที่จำเป็นต่างๆ เพราะทางหมู่บ้านได้จัดตั้งศูนย์สาธิตการตลาดขึ้น ชาวบ้านนิยมซื้อมากกว่าร้านค้าของเอกชน ของที่ศูนย์สาธิตการตลาดจำหน่าย เช่น เครื่องใช้ในครัวเรือน ขนม สุรา น้ำอัดลม น้ำแข็ง ผัก ปลา เป็นต้น การขายสินค้ามีทั้งระบบเงินสดและเงินเชื่อ นอกจากนี้ ร้านค้ายังมีการปันผลกำไรทุกสิ้นปีอีกด้วย ส่วนงานรับจ้าง ส่วนมากเป็นวัยหนุ่มสาวที่จะเป็นแรงงานก่อสร้าง ตามตัวเมืองหรือตัวจังหวัด และมีบางคนที่ไปทำงานรับจ้างที่ต่างจังหวัด (หน้า 71-75)

Social Organization

ระบบครอบครัว ครอบครัวถือว่าเป็นสถาบันทางสังคมที่เล็กที่สุด ประกอบด้วยสามี ภรรยา และบุตร ซึ่งเป็นครอบครัวเดี่ยว เมื่อลูกสาวแต่งงานจะอาศัยอยู่กับพ่อแม่ก่อน มีบุตรอาศัยอยู่ในบ้านเดียวกันทำให้กลายเป็นครอบครัวขยาย การแยกครอบครัวจะมีเมื่อลูกสาวอีกคนหนึ่งแต่งงานจึงต้องแยกครอบครัวออกไป ครอบครัวใหม่จะอยู่ในเขตที่ดินซึ่งพ่อตาแบ่งให้ ดังนั้น ครอบครัวที่แยกมาใหม่จะตั้งบ้านเรือนใกล้กับพ่อแม่ฝ่ายหญิง อย่างไรก็ตาม หากญาติฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดมีลูกสาวหรือลูกชายคนเดียวต้องมีภาระเลี้ยงดูฝ่ายพ่อแม่ยามแก่ชรา กรณีนี้คู่สมรสต้องเลือกไปอาศัยอยู่ตามสถานที่จำเป็นที่สุด ผลจากการสำรวจพบว่า ส่วนมากครอบครัวเป็นแบบครอบครัวเดี่ยว ระบบเครือญาติ ชาวบ้านหนองกัวมีคำเรียกชื่อญาติเป็นภาษาไทยเขมรทั้งฝ่ายชายและหญิงที่เกิดจากความสัมพันธ์ในการสืบสายโลหิต และการแต่งงาน เช่น ปุ๊จหรือตระโกล (โคตร, ตระกูล) ตู๊จ (ทวด) อม (ออว-ทม หมายถึงลุง, แม-ทม หมายถึง ป้า) ปู (อา) หรือคำเรียกแทนตนเอง ขะม๊าด (สำหรับชาย) และขะญม (สำหรับหญิง) เป็นต้น (หน้า 64-67)

Political Organization

หมู่บ้านหนองกัวมีองค์กรปกครองระดับหมู่บ้าน ตาม พรบ.ลักษณะการปกครองท้องที่ พ.ศ. 2457 โดยมีผู้ใหญ่บ้าน คือ นายกอบสิน พ่อค้า และนายเตียง นพเก้า และนายประณต โพธิ์แก้ว เป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน พร้อมด้วยทีมงานบริหารด้านต่างๆ โดยแบ่งเป็นด้านการปกครอง ด้านการพัฒนาและส่งเสริมอาชีพ ด้านการป้องกันและรักษาความสงบเรียบร้อย ด้านการคลัง ด้านการ สาธารณสุข ด้านการศึกษาและวัฒนธรรม ด้านการสวัสดิการและสังคม และด้านกิจการสตรี (หน้า 61-62)

Belief System

ศาสนา เขมรบ้านหนองกัวนับถือศาสนาพุทธควบคู่กับการนับถือผี ดังนั้น พิธีกรรมต่างๆ จะมีการเซ่นสรวงอยู่ด้วย ในอดีตยังไม่มีวัดประจำหมู่บ้าน การประกอบพิธีกรรมต่างๆ ที่ต้องมีพิธีสงฆ์ ชาวบ้านจะนิมนต์พระสงฆ์จากวัดต่างๆ เช่น วัดบ้านเมืองที วัดประสบสุข สำหรับวันสำคัญทางศาสนามีการปฏิบัติใน 2 ลักษณะคือ การแยกกลุ่มไปทำบุญตามวัด และการจัดพิธีส่วนรวมพร้อมกันทั้งหมู่บ้าน จนในปี พ.ศ. 2526 ได้ร่วมกันสร้าง "วัดป่าเทพจตุรทิศ" ขึ้นอยู่ทางทิศใต้ของหมู่บ้าน ประเพณีพิธีกรรม ชาวบ้านยังปฎิบัติต่อเนื่องกันมาจนถึงปัจจุบันเป็นสิ่งที่แสดงถึงความสัมพันธ์ระหว่างความเชื่อกับวิถีชีวิต โดยประเพณีพิธีกรรมที่สำคัญ แบ่งเป็น 2 ประเภทใหญ่ คือ 1.ประเพณีพิธีกรรมประจำชีวิต ได้แก่ - พิธีกรรมเกี่ยวกับการเกิด ชาวบ้านมีความเชื่อเกี่ยวกับการเกิดตั้งแต่ตั้งครรภ์ คลอด เด็กแรกเกิด การเลี้ยงดู และพิธีกรรมเกี่ยวกับเด็กวัยเจริญเติบโตก่อเข้าสู่วัยหนุ่มสาว เพราะวัยเด็กเป็นวัยที่มีการเปลี่ยนแปลงทั้งร่างกายและจิตใจ ที่เสี่ยงต่ออันตราย พิธีกรรมเกี่ยวกับทารกแรกเกิด ได้แก่ กัดปะเจิ้ด (ตัดสายสะดือ) ก็อบเสาะ (ฝังรก) กัดเซาะบังก็อกจม็อบ (ตัดผมไฟ) เฮาปะลึง (ทำขวัญ) มนายเดิม (แม่ซื้อ) เป็นพิธีกรรมที่ทำขึ้นเพื่อไม่ให้ผีหรือเทวดาเอาชีวิตเด็กไป ซมดีล (ขอทาน) เป็นพิธีผู้ที่เป็นพ่อที่มีลูกแฝด เชื่อว่าเป็นจัญไรต้องขอทาน 7 หมู่บ้าน ลัวะโกน (ขายลูก) เป็นพิธีกรรมที่ลูกเจ็บป่วยบ่อยๆ รักษาไม่หายขาดไปเสี่ยงทายเข้าทรงแล้วต้องนำเด็กไปขายผู้อื่นหรือพระสงฆ์ แล้วนำกลับมาเลี้ยงหรือให้เด็กไว้จุก (เซาะกำป็อจ) นอกจากนี้ ชาวบ้านยังมีข้อห้ามสำหรับหญิงตั้งครรภ์ เช่น ห้ามนั่งตรงบันไดขึ้นลงเพราะเชื่อว่าจะทำให้คลอดยาก ห้ามอาบน้ำตอนกลางคืนเพราะเชื่อว่าจะมีน้ำคร่ำมาก ห้ามเข้าใกล้คนที่เชื่อว่าเป็นทะมบ (ผีปอบ) เพราะผีปอบชอบกลิ่นคาวเลือด เป็นต้น - พิธีกรรมกอร์เซาะกำป๊อจ (โกนจุก) เป็นความเชื่อตามศาสนาพราหมณ์ เหตุผลในการไว้จุกมีหลายประการเช่น ไว้ตามประเพณี ไว้เพราะเด็กเจ็บป่วยบ่อยๆ ไปบนให้เด็กหายป่วยแล้วจึงไว้ หรือเพราะเชื่อว่าทำให้เด็กเกิดปัญญา เป็นต้น การไว้จุกเมื่อเด็กอายุ 9,11,13 ปี พ่อแม่หรือผู้ปกครองจะจัดพิธีกรรมให้ ซึ่งองค์ประกอบ และขั้นตอนเป็นไปตามคติความเชื่อของไทยเขมร (รายละเอียดเพิ่มเติมหน้า 106 -195) -- พิธีกรรมบูฮ (บวช) การบวชของไทยเขมร พ่อแม่จะให้อุปสมบทเมื่อลูกอายุ 20 ปีบริบูรณ์ ก่อนพิธีอุปสมบทจะมีการเชิญแขกล่วงหน้า โดยการเชิญด้วยพานบุหรี่ แล้วให้แขกรับไว้ 1 มวน ซึ่งในตอนเย็นก่อนวันก่อนอุปสมบทยังมีการฉลองนาค ได้แก่ การแซนโดนตา (เซ่นสรวงบรรพบุรุษ) การเฮาประลึงเนียก (สู่ขวัญนาค) พิธีป้อนอาหารนาคเพื่อให้นาครำลึกถึงพระคุณ ความรักของพ่อแม่ และมีการเลี้ยงอาหารแก่แขกที่เชิญไว้ ส่วนใหญ่จะบวชนาน 1 พรรษา แล้วลาสิกขาหลังได้รับผ้ากฐิน ผู้ที่สึกออกมาใหม่จะต้องนำพานดอกไม้ ธูปเทียนไปคาราวะผู้ใหญ่ในหมู่บ้านเพื่อแสดงความขอบคุณ -- พิธีกรรมแซนการ์ (แต่งงาน) เริ่มจากการแห่ขันหมาก เมื่อมาถึงปะรำพิธีแล้ว ญาติฝ่ายเจ้าสาวจะรับและนำมานั่งในปะรำพิธี ผู้อาวุโสฝ่ายเจ้าบ่าวจะมอบบายศรีเครื่องบริวารเพื่อขอผ่านทางเข้าสู่ปะรำพิธี จากนั้นขันหมาและสินสอดจะมอบให้แก่ญาติฝ่ายหญิง จึงจะเบิกตัวเจ้าสาว จากนั้นจะเป็นการเปิดเซ่นหมากเพื่อเป็นการยกย่องญาติฝ่ายเจ้าสาว จากนั้นจะเป็นการไหว้ของบ่าวสาวในพิธี (การเจาะ) ต่อด้วยการเซ่นสรวงบรรพบุรุษ (แซนโดนตา) และการเรียกขวัญ (เฮาประลึง) เป็นพิธีที่อาจารย์สวดและให้พรเป็นภาษาบาลีและเขมรให้แก่คู่บ่าวสาว จากนั้นญาติผู้ใหญ่รวมทั้งแขกจะมอบเงินหรือทองให้ทั้งคู่ ในระหว่างนั้นผู้ใหญ่จะนับสินสอด หลังจากนั้นจะแห่บ่าวสาวไปบ้านฝ่ายเจ้าบ่าว เมื่อขึ้นบ้านฝ่ายเจ้าบ่าวจะมีพิธีอาบน้ำให้พ่อแม่ฝ่ายชาย และมอบผ้าสมมาให้ ญาติฝ่ายชายก็จะมอบเงินขวัญให้ตอบแทน -- พิธีกรรมเงือบ (ตาย) จะมีอาจารย์คม็อจ หือ กรูคม็อจ เป็นผู้นำในการประกอบพิธีกรรม โดยก่อนที่ผู้ตายจะสิ้นใจ (มุนดัจจังฉอม) ญาติพี่น้องจะจัดดอกไม้ธูปเทียนให้ผู้ตายถือบูชารำลึกถึงพระรัตนตรัยและสิ่งดีงาม จากนั้นจะจัดเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันให้ผู้ตายใช้ในภพหน้า (จัดกันเฌอ ปันเจาะกำป็วง) ในอดีตจะทำพีเขี่ยขี้ใต้ (กีฮ ตะโบง อันเจน) แต่ปัจจุบันได้เปลี่ยนมาใช้ไฟกระพริบประดับแทน พร้อมทั้งทำการรดน้ำศพ (จังอาเฮ) แล้วจึงมัดตราสังข์ (จองกระแสบาฮ) เมื่อบรรจุโลงเรียบร้อยแล้วจะจัดตั้งศพไว้ที่บ้านของผู้ตาย (ตั้งซบคม็อจ) เพื่อบำเพ็ญกุศล จะนิมนต์พระสงฆ์จำนวนเลขคู่ส่วนใหญ่ 4 รูป มาสวดพระอภิธรรมบังสกุล (ซูดมุกซบคม็อจ) หลังจากครบวันตั้งศพแล้วจะทำพิธีเผาหรือฝัง (ด็อดคม็อจหรือก็อบคม็อจ) ซึ่งจะมีการแห่ศพเวียนซ้ายเมรุ 3 รอบ พร้อมกับอาจารย์คม็อจจะว่าคาถา ตัดเชือกตราสังข์ ญาตินำน้ำมะพร้าวมารดศพแล้วให้ทำพิธีชักผ้าบังสุกุล เมื่อไฟมอดหมดจะเก็บอัฐิ (รือจะเอิง) หลังจากที่นำกระดูกมาตั้งไว้ที่บ้านแล้ว จะทำพิธีสวดมนต์เย็น เดิมชาวบ้านจะมีประเพณี "ดาร" อย่างเดียว ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มของเครือญาติเพื่อนำกระดูกหรืออัฐิของบรรพชนที่ล่วงลับมาเซ่นไหว้และนิมนต์พระสงฆ์มาสวดดาร แต่ปัจจุบันมีการทำบุญ 7 วัน หรือ 100 วันที่เพิ่มเข้ามาด้วย 2. ประเพณีพิธีกรรมตามปีปฏิทิน ประเพณีบางอย่างมีส่วนคล้ายกับคนไทยกลุ่มอื่นๆ และบางส่วนที่มีเอกลักษณ์เฉพาะในกลุ่มไทยเขมร ประเพณีต่างๆ ตามเดือนทั้ง 12 เดือน เช่น เดือนอ้ายจะมีพิธี "รัวะเงียวจโรดซร็อว" หรือการลงแขกเกี่ยวข้าว ซึ่งตรงกับเดือนธันวาคมและตรงกับประเพณีสิบสอง คือ การทำบุญข้าวกรรมหรือเข้าปริวาสกรรม เดือนยี่ตรงกับเดือนมกราคม จะจัดประเพณีมหาเจดีย์หรือเทศน์มหาชาติ รวมเข้ากับการทำบ็อนซร็อว หมายถึงการนำข้าวเปลือกไปทำบุญร่วมกันที่วัด ซึ่งอาจจะนำไปจำหน่ายเพื่อบูรณะวัดต่อไป เดือนหกตรงกับเดือนพฤษภาคม ตามประเพณีสิบสอง คือ งานบุญบั้งไฟ บุญวิสาขบูชาสำหรับไทยเขมรประกอบพิธีบ็อนไงวิสาขบูชา และถือเป็นพิธีแรกนาพร้อมกับพิธีแรกนาขวัญของราชพิธีด้วย นอกจากนี้ยังมีความเชื่อเกี่ยวกับเครื่องลางของขลังและฤกษ์ยาม ดังจะเห็นได้จากพิธีกรรมต่างๆ (หน้า 80-106)

Education and Socialization

ในสมัยก่อนการศึกษาเป็นในลักษณะการถ่ายทอดความรู้จากอาวุโส และฝ่ายชายจะเล่าเรียนโดยการบวชเป็นพระภิกษุสามเณร ส่วนผู้หญิงจะศึกษาความรู้ในด้านการบ้านการเรือน จนกระทั่งมีกฎหมายการศึกษาภาคบังคับทำให้เด็กได้เข้าเรียนในโรงเรียนบ้านที จนกระทั่งในปี 2486 ชาวบ้านได้ร่วมกันสร้างโรงเรียนขึ้น เปิดทำการสอนให้แก่เด็กบ้านหนองกัวและหมู่บ้านใกล้เคียงตั้งแต่ระดับอนุบาล 1 - ประถมศึกษาปีที่ 6 เมื่อต้องศึกษาต่อในระดับมัธยมศึกษาต้องไปเข้าโรงเรียนในอำเภอหรือในจังหวัดแทน เด็กบางคนหากไม่ได้เรียนต่อในระบบโรงเรียนก็จะเข้าศึกษาต่อในระบบการศึกษานอกโรงเรียน (หน้า 76-79) โทรทัศน์นับเป็นแหล่งข่าวสารให้ความรู้แก่ชาวบ้านมาก เพราะยังมีบางคนที่อ่านภาษาไทยไม่ออก แต่ก็สามารถเข้าใจได้ พูดคุยวิพากษ์วิจารณ์ได้จากเรื่องต่างๆ ที่รับทางโทรทัศน์ ส่วนข่าวสารทางราชการนอกจากจะมีการเรียกประชุมแล้ว ยังใช้วิธีการกกระจายข่าวออกอากาศทางเครื่องขยายเสียงด้วย (หน้า 71)

Health and Medicine

ด้านสาธารณสุข ภายในหมู่บ้านหนองกัวไม่มีสถานีอนามัย ในอดีตใช้วิธีการรักษาโดยหมอพื้นบ้าน ที่ใช้สมุนไพรในการรักษา และไสยศาสตร์เป็นหลัก ซึ่งเป็นความเชื่อที่มีมาตั้งแต่เดิม กอปรกับเส้นทางคมนาคมไม่สะดวก ไม่มียานพาหนะ แต่ในปัจจุบันมีบริการด้านสาธารณสุข 2 แห่ง ได้แก่ สถานีอนามัยที่ ต.บุฤาษี ซึ่งอยู่ใกล้หมู่บ้านหนองกัวมากที่สุด และอีกแห่งคือ สถานีอนามัยประจำ ต.เมืองที การรักษาโรคที่สถานีอนามัยเป็นการรักษาโรคที่ไม่รุนแรง และให้บริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคต่างๆ นอกจาการให้บริการและรับบริการด้านสาธารณสุขจากแพทย์แผนปัจจุบันแล้ว ไทยเขมรยังใช้วิธีการรักษาตามความเชื่อที่สืบกันมา ผู้ที่ทำหน้าที่ทำพิธีกรรมการรักษาแบบพื้นบ้าน เรียกว่า กรู เช่น พิธีกรรมม็วด การรดน้ำมนต์ การแก้กรัวะ (สะเดาะเคราะห์) การเฮาปะลึง (เรียกขวัญ) แต่อย่างไรก็ตามชาวบ้านยังคงใช้วิธีการรักษาทั้ง 2 อย่างควบคู่กัน จะก่อนหรือหลังขึ้นอยู่กับอาการป่วยและความพร้อมของผู้ป่วย โดยส่วนใหญ่มักจะได้รับการรักษาจากแพทย์แผนปัจจุบันก่อน แล้วกลับมาประกอบพิธีกรรมที่บ้าน ทั้งนี้เพราะได้บนบานไว้กับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เช่น ผีบรรพบุรุษ ผีกะดวมเนียมะตาเพื่อให้ช่วยปกปักรักษา ด้านสาธารณูปโภค ในหมู่บ้านหนองกัวต่างมีไฟฟ้าใช้อย่างทั่วถึง ส่วนแหล่งน้ำที่ใช้ ได้แก่ บ่อน้ำบาดาล สระน้ำ และกำลังติดตั้งน้ำปะปาบริการแก่ชาวบ้าน (หน้า 68-70)

Art and Crafts (including Clothing Costume)

การแต่งกาย ผู้หญิงจะนุ่งซำป็วด (ผ้าถุง) ซึ่งเป็นผ้าพื้นเมือง ได้แก่ ผ้าโฮล ผ้าอำปรุม ผ้าซิ่น (มัดหมี่) ผ้าซาคู ผ้าขมอ ผ้าละเม็ด ผ้าชนูดเลิก ส่วนผู้ชายจะนุ่งผ้าโสร่งไหม สำหรับเสื้อนั้นทั้งชายและหญิง จะเหมือนกับเสื้อคนไทยทั่วไป เครื่องประดับเป็นเครื่องประเกือม (เครื่องเงิน) ในปัจจุบันเครื่องแต่งกายที่ตัดเย็บด้วยผ้าไหมและเครื่องประดับเงินจะสวมใส่ในโอกาสพิเศษ เช่น งานมงคล งานบุญ หรืองานเทศกาล สำหรับชีวิตประจำวันนิยมซื้อเสื้อผ้าสำเร็จรูปมาใส่ทั้งสิ้น (หน้า 104) ในพิธีกอร์เซาะกำป็อจ มีวัสดุต่างๆที่ใช้ในการประกอบพิธี เช่น การทำบายศรี (บายแสร็ย) ทั้งแบบบายศรีปากชาม บายศรีถาด และบายศรีต้น ประด็วล หมายถึง วัตถุที่ทำด้วยไม้ไผ่รูปร่างคล้ายกระดิ่งหงายหรือระฆังหงายมีด้ามสั้นๆ ใช้มัดติดกับเสาเอาไว้ใส่เครื่องบูชาอันเชิญสิ่งศักดิ์สิทธิ์ สำหรับใช้เป็นเครื่องบูชา (หน้า 146-154) ส่วนเครื่องสังเวยจะจัดใส่ในกันเจือ (กระเฌอ) คือ ภาชนะสานด้วยไม้ไผ่คล้ายกระบุง ใช้สำหรับใส่เสบียงต่างๆ แบ่งเป็นชั้นๆ ชั้นแรกใส่ข้าวสารรองก้น ชั้นต่อมาใส่เครื่องปรุงอาหาร เช่น หอก กระเทียม พริก เกลือ ต่อด้วยอาหารแห้ง เสบียงที่จัดนั้นก็เพื่อส่งโดนดาในวันเซ่นไหว้บรรพบุรุษ กันเจือชาวบ้านทำในหลายรูปแบบ เช่น มีหูหิ้ว มีสายสะพาย (หน้า 157)

Folklore

ไม่มีข้อมูล

Ethnicity (Ethnic Identity, Boundaries and Ethnic Relation)

ไม่มีข้อมูล

Social Cultural and Identity Change

การเปลี่ยนแปลงพิธีกรรมกอร์เซาะกำป็อจอย่างมาก เริ่มตั้งแต่สมัยการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 เนื่องจากพิธีดังกล่าวได้รับแบบอย่างมาจากพระราชพิธีโสกันต์อย่างในราชสำนัก แต่เมื่อรับเอาวัฒนธรรมต่างชาติเข้ามาในประเทศไทยและลดจำนวนการไว้จุกทำให้รพะราชพิธีโสกันต์เบาบางลง จึงส่งผลต่อการไว้จุกและพิธีโกนจุกของชาวบ้านไปด้วย พิธีกรรมกอร์เซาะกำป็อจ มีการเปลี่ยนแปลงในองค์ประกอบดังนี้ -- ด้านตัวบุคคล เช่น อาจารย์ (ผู้นำในการประกอบพิธีกรรม) พบว่าในปัจจุบันบันมีการใช้ภาษาไทยภาคกลางในการพูดหรือร่ายคำพูดในการสู่ขวัญแทรกเข้าไปตามความเหมาะสม รวมทั้งค่าตอบแทนที่อาจารย์ได้ก็มากกว่าในอดีต และการเล่าเรียนเป็นอาจารย์ในปัจจุบัน ได้ถ่ายทอดให้ลูกชายน้อยลง "แม่กะแย" (หญิงที่ทำหน้าที่แต่งตัวให้เด็กเซาะกำป็อจ) ซึ่งในปัจจุบันนี้จำนวนในการประกอบพิธีของแม่กะแยแต่ละคนลดน้อยลง แต่ค่าตอบแทนก็ได้มากกว่าแต่ก่อน "พระสงฆ์" ในปัจจุบันพิธีแกนซาร์ (แต่งงาน) กับพิธีเลิงปะเตียะทเม็ย (ขึ้นบ้านใหม่) แต่เดิมไม่นิมนต์พระสงฆ์มาทำสังฆกรรมแต่อย่างใด แต่เป็นพิธีแบบพราหมณ์โดยมีอาจารย์เป็นผู้ประกอบพิธี เด็กที่ไว้เซาะกำป็อจ ในปัจจุบันมีเหตุผลของการไว้ คือ เด็กเจ็บป่วยบ่อย และ ไว้ตามประเพณีเท่านั้น และส่วนมากจะเป็นเด็กชายที่ไว้มากกกว่าเด็กหญิงซึ่งมีจำนวนที่ลดลงอย่างมากเหลือเพียง 2%ต่อปี - ด้านวัสดุสิ่งของ แบ่งออกเป็น 5 ประเภท ได้แก่ เครื่องบูชา เครื่องสังเวย เครื่องสู่ขวัญ เครื่องแต่งกายเด็กผมจุก และเครื่องมือโกนจุก โดยสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปเป็นเพียงรายละเอียดเล็กน้อย เช่น อาหาร ผลไม้ เครื่องเซ่นต่างๆ ในปัจจุบันล้วนซื้อจากตลาด หรือด้ายสายสิญจ์ก็หาซื้อด้ายดิบสำเร็จรูป -- ด้านเวลา พบว่าไม่มีการเปลี่ยนแปลงทั้งในช่วงของการกำหนดวัน และกำหนดเวลาจัดพิธีกรรม - ด้านสถานที่ ในปัจจุบันนั้นได้เปลี่ยนลักษณะปะรำพิธีจากเดิมที่เจ้าภาพต้องจัดทำขึ้นเอง มาเป็นการเช่าเต็นท์ รวมทั้งเรียนกอร์เซาะหรือบัญจา (ร้านโกนจุก) มีการจัดการรูปแบบใหม่แต่ยังคงเพื่อวัตถุประสงค์เดิม ส่วนการเปลี่ยนแปลงในขั้นตอนของพิธีกรรมกอร์เซาะกำป็อจ ได้เปลี่ยนแปลงไปเล็กน้อย เช่น การเชิญแขกที่มาร่วมงานได้ใช้การ์ดเชิญแทนการมวนบุหรี่ วัสดุต่างๆ ที่ใช้ในการประกอบพิธีโดยมากจะซื้อจากร้านค้าในตลาด หรือจัดหาของสำเร็จรูปเป็นหลักมากกว่าการเตรียมและทำขึ้นเองดังแต่ก่อน การดำเนินการขณะประกอบพิธีกรรมทุกช่วงยังคงเป็นไปแบบเดิมไม่เปลี่ยนแปลง แต่เฉพาะพิธีเฮาประลึงที่ในปัจจุบันได้แทรกการใช้ภาษาไทยในบทเฮาประลึง สำหรับขั้นตอนหลังพิธีกรรมมีการเปลี่ยนแปลงด้านการแต่งกายโดยเด็กชายจะนุ่งกางเกง ส่วนเด็กหญิงยังนุ่งผ้าถุงเหมือนเดิม แต่จะสวมเสื้อไม่ระบุสีแทนการแต่งกายแบบเดิมที่ห่มขาว (หน้า 118-215)

Critic Issues

ไม่มีข้อมูล

Other Issues

ไม่มี

Map/Illustration

ภาพสภาพบ้านเรือนโดยทั่วไปของชมชนไทยเขมร (หน้า 53), ภาพเด็กผมจุกที่พบมากในชุมชน (หน้า 55), แผนผังแสดงขั้นตอนพิธีกรรมการเกิด (หน้า 84), แผนผังแสดงขั้นตอนพิธีกรรมการบูฮ (บวช ) (หน้า 87) แผนผังแสดงขั้นตอนพิธีกรรมการแซนการ์ (แต่งงาน) (หน้า 91), แผนผังแดงขั้นตอนพิธีกรรมการเงือบ (ตาย) (หน้า97), ภาพประด็วลบรรจุเครื่องอันเชิญศักดิ์สิทธิ์ (หน้า 154), ภาพการแต่งกายเด็กกอร์เซาะก็อจ (หน้า168-169), ภาพขั้นตอนพิธีกรรมกอร์เซาะกำป็อจ (หน้า 210-213) ตารางแสดงคำเรียกชื่อเครือญาติของชาวบ้านหนองกัว (หน้า 66), ตารางแสดงประเพณีพิธีกรรมตามปีปฏิทินของไทยเขมรบ้านหนองกัว (หน้า 103), ตารางแสดงการเปรียบเทียบขั้นตอนการประกอบพิธีกรรมกอร์เซาะกำป้อจ (หน้า 214)

Text Analyst ศรายุทธ โรจน์รัตนรักษ์ Date of Report 30 ต.ค. 2548
TAG เขมร, สังคมวัฒนธรรม, พิธีกรรม, สุรินทร์, Translator -
 
 

 

ฐานข้อมูลอื่นๆของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
  ฐานข้อมูลพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทย
จารึกในประเทศไทย
จดหมายเหตุทางมานุษยวิทยา
แหล่งโบราณคดีที่สำคัญในประเทศไทย
หนังสือเก่าชาวสยาม
ข่าวมานุษยวิทยา
ICH Learning Resources
ฐานข้อมูลเอกสารโบราณภูมิภาคตะวันตกในประเทศไทย
ฐานข้อมูลประเพณีท้องถิ่นในประเทศไทย
ฐานข้อมูลสังคม - วัฒนธรรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  หน้าหลัก
งานวิจัยชาติพันธุ์ในประเทศไทย
บทความชาติพันธุ์
ข่าวชาติพันธุ์
เครือข่ายชาติพันธุ์
เกี่ยวกับเรา
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  ข้อมูลโครงการ
ทีมงาน
ติดต่อเรา
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
ช่วยเหลือ
  กฏกติกาและมารยาท
แบบสอบถาม
คำถามที่พบบ่อย


ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) เลขที่ 20 ถนนบรมราชชนนี เขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ 10170 
Tel. +66 2 8809429 | Fax. +66 2 8809332 | E-mail. webmaster@sac.or.th 
สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2549    |   เงื่อนไขและข้อตกลง