สมัครสมาชิก   
| |
ค้นหาข้อมูล
ค้นหาแบบละเอียด
  •   ความเป็นมาและหลักเหตุผล

    เพื่อรวบรวมงานวิจัยทางชาติพันธุ์ที่มีคุณภาพมาสกัดสาระสำคัญในเชิงมานุษยวิทยาและเผยแผ่สาระงานวิจัยแก่นักวิชาการ นักศึกษานักเรียนและผู้สนใจให้เข้าถึงงานวิจัยทางชาติพันธุ์ได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น

  •   ฐานข้อมูลจำแนกกลุ่มชาติพันธุ์ตามชื่อเรียกที่คนในใช้เรียกตนเอง ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้ คือ

    1. ชื่อเรียกที่ “คนอื่น” ใช้มักเป็นชื่อที่มีนัยในทางเหยียดหยาม ทำให้สมาชิกกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ รู้สึกไม่ดี อยากจะใช้ชื่อที่เรียกตนเองมากกว่า ซึ่งคณะทำงานมองว่าน่าจะเป็น “สิทธิพื้นฐาน” ของการเป็นมนุษย์

    2. ชื่อเรียกชาติพันธุ์ของตนเองมีความชัดเจนว่าหมายถึงใคร มีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมอย่างไร และตั้งถิ่นฐานอยู่แห่งใดมากกว่าชื่อที่คนอื่นเรียก ซึ่งมักจะมีความหมายเลื่อนลอย ไม่แน่ชัดว่าหมายถึงใคร 

     

    ภาพ-เยาวชนปกาเกอะญอ บ้านมอวาคี จ.เชียงใหม่

  •  

    จากการรวบรวมงานวิจัยในฐานข้อมูลและหลักการจำแนกชื่อเรียกชาติพันธุ์ที่คนในใช้เรียกตนเอง พบว่า ประเทศไทยมีกลุ่มชาติพันธุ์มากกว่า 62 กลุ่ม


    ภาพ-สุภาษิตปกาเกอะญอ
  •   การจำแนกกลุ่มชนมีลักษณะพิเศษกว่าการจำแนกสรรพสิ่งอื่นๆ

    เพราะกลุ่มชนต่างๆ มีความรู้สึกนึกคิดและภาษาที่จะแสดงออกมาได้ว่า “คิดหรือรู้สึกว่าตัวเองเป็นใคร” ซึ่งการจำแนกตนเองนี้ อาจแตกต่างไปจากที่คนนอกจำแนกให้ ในการศึกษาเรื่องนี้นักมานุษยวิทยาจึงต้องเพิ่มมุมมองเรื่องจิตสำนึกและชื่อเรียกตัวเองของคนในกลุ่มชาติพันธุ์ 

    ภาพ-สลากย้อม งานบุญของยอง จ.ลำพูน
  •   มโนทัศน์ความหมายกลุ่มชาติพันธุ์มีการเปลี่ยนแปลงในช่วงเวลาต่างๆ กัน

    ในช่วงทศวรรษของ 2490-2510 ในสาขาวิชามานุษยวิทยา “กลุ่มชาติพันธุ์” คือ กลุ่มชนที่มีวัฒนธรรมเฉพาะแตกต่างจากกลุ่มชนอื่นๆ ซึ่งมักจะเป็นการกำหนดในเชิงวัตถุวิสัย โดยนักมานุษยวิทยาซึ่งสนใจในเรื่องมนุษย์และวัฒนธรรม

    แต่ความหมายของ “กลุ่มชาติพันธุ์” ในช่วงหลังทศวรรษ 
    2510 ได้เน้นไปที่จิตสำนึกในการจำแนกชาติพันธุ์บนพื้นฐานของความแตกต่างทางวัฒนธรรมโดยตัวสมาชิกชาติพันธุ์แต่ละกลุ่มเป็นสำคัญ... (อ่านเพิ่มใน เกี่ยวกับโครงการ/คู่มือการใช้)


    ภาพ-หาดราไวย์ จ.ภูเก็ต บ้านของอูรักลาโว้ย
  •   สนุก

    วิชาคอมพิวเตอร์ของนักเรียน
    ปกาเกอะญอ  อ. แม่ลาน้อย
    จ. แม่ฮ่องสอน


    ภาพโดย อาทิตย์    ทองดุศรี

  •   ข้าวไร่

    ผลิตผลจากไร่หมุนเวียน
    ของชาวโผล่ว (กะเหรี่ยงโปว์)   
    ต. ไล่โว่    อ.สังขละบุรี  
    จ. กาญจนบุรี

  •   ด้าย

    แม่บ้านปกาเกอะญอ
    เตรียมด้ายทอผ้า
    หินลาดใน  จ. เชียงราย

    ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ถั่วเน่า

    อาหารและเครื่องปรุงหลัก
    ของคนไต(ไทใหญ่)
    จ.แม่ฮ่องสอน

     ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ผู้หญิง

    โผล่ว(กะเหรี่ยงโปว์)
    บ้านไล่โว่ 
    อ.สังขละบุรี
    จ. กาญจนบุรี

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   บุญ

    ประเพณีบุญข้าวใหม่
    ชาวโผล่ว    ต. ไล่โว่
    อ.สังขละบุรี  จ.กาญจนบุรี

    ภาพโดยศรยุทธ  เอี่ยมเอื้อยุทธ

  •   ปอยส่างลอง แม่ฮ่องสอน

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ปอยส่างลอง

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดย เบญจพล  วรรณถนอม
  •   อลอง

    จากพุทธประวัติ เจ้าชายสิทธัตถะ
    ทรงละทิ้งทรัพย์ศฤงคารเข้าสู่
    ร่มกาสาวพัสตร์เพื่อแสวงหา
    มรรคผลนิพพาน


    ภาพโดย  ดอกรัก  พยัคศรี

  •   สามเณร

    จากส่างลองสู่สามเณร
    บวชเรียนพระธรรมภาคฤดูร้อน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   พระพาราละแข่ง วัดหัวเวียง จ. แม่ฮ่องสอน

    หล่อจำลองจาก “พระมหามุนี” 
    ณ เมืองมัณฑะเลย์ ประเทศพม่า
    ชาวแม่ฮ่องสอนถือว่าเป็นพระพุทธรูป
    คู่บ้านคู่เมืององค์หนึ่ง

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม

  •   เมตตา

    จิตรกรรมพุทธประวัติศิลปะไต
    วัดจองคำ-จองกลาง
    จ. แม่ฮ่องสอน
  •   วัดจองคำ-จองกลาง จ. แม่ฮ่องสอน


    เสมือนสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรม
    เมืองไตแม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ใส

    ม้งวัยเยาว์ ณ บ้านกิ่วกาญจน์
    ต. ริมโขง อ. เชียงของ
    จ. เชียงราย
  •   ยิ้ม

    แม้ชาวเลจะประสบปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัย
    พื้นที่ทำประมง  แต่ด้วยความหวัง....
    ทำให้วันนี้ยังยิ้มได้

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ผสมผสาน

    อาภรณ์ผสานผสมระหว่างผ้าทอปกาเกอญอกับเสื้อยืดจากสังคมเมือง
    บ้านแม่ลาน้อย จ. แม่ฮ่องสอน
    ภาพโดย อาทิตย์ ทองดุศรี
  •   เกาะหลีเป๊ะ จ. สตูล

    แผนที่ในเกาะหลีเป๊ะ 
    ถิ่นเดิมของชาวเลที่ ณ วันนี้
    ถูกโอบล้อมด้วยรีสอร์ทการท่องเที่ยว
  •   ตะวันรุ่งที่ไล่โว่ จ. กาญจนบุรี

    ไล่โว่ หรือที่แปลเป็นภาษาไทยว่า ผาหินแดง เป็นชุมชนคนโผล่งที่แวดล้อมด้วยขุนเขาและผืนป่า 
    อาณาเขตของตำบลไล่โว่เป็นส่วนหนึ่งของป่าทุ่งใหญ่นเรศวรแถบอำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี 

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   การแข่งขันยิงหน้าไม้ของอาข่า

    การแข่งขันยิงหน้าไม้ในเทศกาลโล้ชิงช้าของอาข่า ในวันที่ 13 กันยายน 2554 ที่บ้านสามแยกอีก้อ อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย
 
  Princess Maha Chakri Sirindhorn Anthropology Centre
Ethnic Groups Research Database
Sorted by date | title

   Record

 
Subject ม้ง, เมี่ยน, ลีซู, ลาหู่, ลเวือะ, ลัวะ,ขมุ,ชาวเขา,คนพื้นราบ,ประวัติ,วัฒนธรรม,ความเชื่อ,วิถีการผลิต,ภาคเหนือ
Author Walker, Anthony R.
Title North Thailand : Hill and Valley, Hillmen and Lowlanders.
Document Type บทความ Original Language of Text ภาษาอังกฤษ
Ethnic Identity ลัวะ (มัล ปรัย) ลัวะมัล ไปร ลัวะปรัย, ลีซู, ลาหู่ ลาหู่ ละหู่ ลาฮู, อิ้วเมี่ยน เมี่ยน, ม้ง, กำมุ ตะมอย, ลัวะ (ละเวือะ) ลเวือะ อเวือะ เลอเวือะ ลวะ ละว้า, ละว้า ลัวะ ว้า, Language and Linguistic Affiliations ไม่ระบุ
Location of
Documents
ห้องสมุดกลางมหาวิทยาลัยเชียงใหม่, ห้องสมุดศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร Total Pages 17 Year 2518
Source Farmer in the Hills : Upland Peoples of North Thailand, Anthony R. Walker (Editor) p.1-17, จัดพิมพ์โดย The School of Comparative Social Sciences, พิมพ์ที่ Universiti Sains Malaysia Press.
Abstract

เนื้อหาครอบคลุม วิถีการผลิตด้านเกษตรกรรม วัฒนธรรม ความเชื่อ โครงสร้างสังคม - การเมือง ของคนบนที่สูง (hill people) และคนพื้นราบ (valley) ภาคเหนือของไทย บนพื้นที่สูงทางเหนือของไทยเป็นที่อยู่ของชุมชนหมู่บ้านจำนวนมากของชาติพันธุ์ที่มีอัตลักษณ์แตกต่างกัน ไม่ได้แยกออกเป็นเขต ๆ ที่อยู่กันเฉพาะชาติพันธุ์ บ้านเกษตรกรภาคเหนือ จะสร้างบ้านบนเสา ทำนาดำ ปลูกผัก ยาสูบ ถั่วลิสง เลี้ยงสัตว์และค้าขาย ชาวเหนือสืบทอดตระกูลทางแม่ (matriclans) นับถือผีและศาสนาพุทธ เป็นส่วนใหญ่ คนบนที่สูงส่วนใหญ่จะแบ่งแยกตัวเองตามกลุ่มวัฒนธรรมย่อยเฉพาะ สร้างบ้านด้วยไม้และไม้ไผ่ หลังคามุงด้วยหญ้าคาหรือใบจาก บางกลุ่มสร้างบ้านแบบมีเสายกใต้ถุนสูงตามแบบคนพื้นราบ ทำไร่แบบโค่นถางต้นไม้แล้วเผา ปลูกข้าวไร่ ข้าวโพด ฝิ่น และพืชเสริม เช่น ผัก ยาสูบ เป็นต้น หาของป่า และเลี้ยงสัตว์ องค์กรสังคมมีความหลากหลายเป็นไปตามอัตลักษณ์ของกลุ่มชาติพันธุ์ ชุมชนบนเขาส่วนใหญ่นับถือผี มีบ้างที่นับถือศาสนาพุทธหรือศาสนาคริสต์

Focus

เสนอภาพวิถีการผลิตด้านเกษตรกรรม วัฒนธรรม ความเชื่อ โครงสร้างสังคม - การเมือง ของชาวเขาและคนพื้นราบในภาคเหนือของไทย

Theoretical Issues

ไม่มี

Ethnic Group in the Focus

ไม่ระบุข้อมูลชัดเจน ชาติพันธุ์ที่ผู้เขียนกล่าวถึงบ้าง ได้แก่ ม้ง เย้า ลาหู่ ลัวะ กะเหรี่ยง ลีซอ อาข่า ขมุ และถิ่น

Language and Linguistic Affiliations

ลาหู่ ลีซอ และอาข่าพูดภาษาตระกูลย่อย Tibeto - Bruman ส่วนลัวะ (Lua) ขมุ (Khmu) และถิ่น (Htin) เป็นกลุ่มที่พูดภาษา Austroasiatic พูดภาษาลัวะ (หน้า 8)

Study Period (Data Collection)

เมษายน - พฤษภาคม ค.ศ. 1973

History of the Group and Community

ภาคเหนือของประเทศไทย ก่อนทศวรรษ ค.ศ.1880 ภาคเหนือของไทยประกอบด้วยนครรัฐกึ่งปกครองตนเอง จำนวนมาก เชียงใหม่มีอิทธิพลมากกว่านครรัฐอื่น ๆ เชียงใหม่ก่อตั้งปี ค.ศ.1296 ในฐานะเมืองเอกที่เป็นอิสระของราชอาณาจักรไทยใน ล้านนา ไปอยู่ภายใต้อิทธิพลของพม่ากว่า 200 ปี (ค.ศ.1558-1774) แต่มีอิทธิพลเหนือนครรัฐที่อยู่ในอันดับรอง ๆ ลงมาในท้องถิ่น เช่น ลำพูน ลำปาง แพร่ และน่าน เป็นต้น เชียงใหม่กลับมาอยู่ภายใต้กษัตริย์สยามซึ่งปลดปล่อยเชียงใหม่จาก พม่าในปี ค.ศ.1774 และภาคเหนือถูกบูรณาการเข้ากับประเทศสยามอย่างเป็นทางการในปี ค.ศ.1873 ปีต่อมากรุงเทพได้ส่งเสนาบดีขึ้นไปปกครองแทนเจ้าผู้ครองนครเดิม ในปี ค.ศ.1894 ได้ใช้การบริหารราชการแบ่งเป็นมณฑลเทศาภิบาล ซึ่งทำให้การควบคุมของกรุงเทพมั่นคงขึ้น ปัจจุบัน หมู่บ้านในพื้นราบทั้งหมด และอย่างน้อยในทางทฤษฎีทุกหมู่บ้านบนดอยก็เช่นกัน ถูกเชื่อมโยงเข้ากับการปกครองของเมืองหลวงของประเทศ (หน้า 6) กลุ่มชาติพันธุ์บนเขา เย้าและม้งอพยพมาจากมณฑลกวางตุ้ง (Kwangtung) กวางสี (Kwangsi) ยูนนาน (Yunnan) และผ่านลาวเข้าสู่ไทย ส่วนลาหู่ ลีซอ และอาข่า อพยพจากตอนใต้ของยูนนานผ่านลาวและรัฐฉานของพม่าแล้วเข้าไทย ส่วนใหญ่ของกลุ่มชาติพันธุ์เหล่านี้อพยพเข้าสู่ไทยเมื่อต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 สำหรับกลุ่ม Austroasiatic ที่พูดภาษาลัวะคือ ขมุและถิ่นอพยพเข้าพื้นที่ตอนเหนือของประเทศตั้งแต่ก่อนที่ชาวไทยจะมาอยู่พื้นที่บริเวณนี้เมื่อคริสต์ศตวรรษที่ 9 ส่วนกะเหรี่ยงอาศัยอยู่ในตอนเหนือของไทยอย่างน้อย 200 ปีมาแล้ว (หน้า 8)

Settlement Pattern

บ้านเกษตรกรภาคเหนือ จะสร้างบ้านบนเสา ขึ้นกับความมั่งคั่งของครัวเรือนที่มีมากอาจสร้างด้วยไม้สัก ส่วนที่มีน้อยอาจสร้างด้วยไม้ไผ่ หลังคามุงด้วยหญ้าคาหรือใบจากตามประเพณีนิยม ปัจจุบันจะนิยมใช้สังกะสีในหมู่คนที่ซื้อหาได้ (หน้า 4) ชาวเขา สร้างบ้านด้วยไม้และไม้ไผ่ หลังคามุงด้วยหญ้าคาหรือใบจาก บางกลุ่มสร้างบ้านแบบมีเสายกใต้ถุนสูงตามแบบคนพื้นราบ นอกจากนี้ มีที่สร้างบนพื้นตามแบบของจีน (หน้า 9-10)

Demography

ประมาณการไว้ว่าประชากรบนเขาที่ไม่ใช่คนไทยมี 300,000 คน (หน้า 7) แต่ละหมู่บ้านเฉลี่ยอย่างหยาบ ๆ จะประกอบด้วย 18 ครัวเรือนประชากร 112 คนต่อหมู่บ้าน (หน้า 10)

Economy

พื้นที่ราบหุบเขา : วงจรการเกษตร - มิถุนายน การเกษตรของคนพื้นที่ต่ำเริ่มประมาณกลางเดือนมิถุนายน เมื่อที่นามีน้ำเต็มในช่วงฤดูมรสุม ชาวนาจะไถและคราดนาด้วยคันไถโดยใช้ควายหรือวัวหนึ่งตัว นอกเหนือจากงานของผู้ชายโดยเฉพาะ งานอื่น ๆ ทั้งหมดจะทำทั้งผู้ชายและผู้หญิง ปลายเดือนมิถุนายนจะมีการหว่านเพาะกล้า หลังจากนั้นอย่างน้อยที่สุด 30 วัน จะนำต้นกล้าขึ้นมาเพื่อปลูกลงที่นาในเดือนสิงหาคม - สิงหาคม เมื่อนำกล้าขึ้นมาแล้ว ชาวนาในบางพื้นที่จะ "เหยียบย่ำดินในนาเจิ่งน้ำ" (tread the mud) ดำนาปักต้นกล้าด้วยเท้าเปล่า จนกว่าจะถึงต้นเดือนพฤศจิกายน ช่วงที่รอข้าวโต ชาวนาจะทำงานหัตถกรรม การค้าเล็ก ๆ น้อย ๆ และตกปลาในแม่น้ำ ลำธาร คูน้ำชลประทาน - จากต้นเดือนพฤศจิกายนถึงกลางเดือนธันวาคม ชาวนาใช้เคียวเกี่ยวข้าว นวดข้าวด้วยไม้นวด ฝัดข้าว และเก็บข้าวเปลือกไว้ในฉางข้าวที่อยู่ใกล้ ๆ กับบ้าน ข้าวส่วนใหญ่เป็นข้าวเหนียวซึ่งเป็นอาหารของคนไทยทางเหนือ - จากปลายเดือนธันวาคมถึงกุมภาพันธ์ ชาวนาจะปลูกพืชตัวที่สองซึ่งเป็นพืชหน้าร้อนจำนวนมาก จะเพาะปลูกทันทีหลังการเก็บเกี่ยว เกษตรกรจำนวนมากปลูกถั่วเหลืองข้าง ๆ ซังข้าวที่เหลือจากการเก็บเกี่ยว ดินยังคงมีความชุ่มชื้นพอสำหรับถั่วเหลืองให้เติบโตได้โดยไม่ต้องเพิ่มน้ำ -ปลายเดือนธันวาคมถึงมกราคม จะปลูกยาสูบและผักชนิดต่าง ๆ ที่ดินที่ใช้ปลูกจะถางซังข้าวต้นข้าวที่เหลือให้เกลี้ยง และใช้น้ำจากบ่อและคูน้ำชลประทาน - กุมภาพันธ์ ชาวนาปลูกถั่วลิสงเป็นพืชสุดท้ายของฤดูกาล การเพาะปลูกนี้ต้องการการชลประทานอย่างกว้างขวาง ถั่วลิสงปลูกบนแปลงดินที่ยกสูงขึ้น น้ำชลประทานจะไหลเข้าร่องสวนระหว่างแปลงดินที่ใช้ปลูก มีนาคม ปลูกข้าวครั้งที่สอง - เดือนมีนาคมเป็นเดือนที่เก็บถั่วเหลือง ผัก และยาสูบ - ปลายเดือนเมษายนถึงพฤษภาคม ชาวนาจะเก็บผลผลิตถั่วลิสง มิถุนายน ข้าวที่ปลูกครั้งที่สองก็พร้อมให้เก็บเกี่ยว และทันทีที่เก็บข้าวเปลือกเข้ายุ้งฉางแล้ว จะต้องเตรียมผืนดินเพื่อปลูกข้าวครั้งต่อไป และเริ่มต้นวงจรการเกษตรใหม่อีกครั้ง (หน้า 3-4) - ชาวบ้านเลี้ยงสัตว์เช่น ควายและวัวไว้ไถนา วัวนมและหมูสำหรับรับประทานเนื้อ และเลี้ยงสัตว์ปีกหลากชนิดไว้สำหรับไข่และเนื้อสด (หน้า 4) ชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์บนเขา : ประเภทของชาวไร่แบบโค่นถางต้นไม้แล้วเผา (swiddener) ทางตอนเหนือของไทยแบ่งออกได้ 3 ประเภทดังนี้ 1. แบบบุกเบิก ปลูกฝิ่นเป็นพืชเศรษฐกิจนอกเหนือจากปลูกข้าวเป็นพืชยังชีพ เคลื่อนย้ายที่เพาะปลูกไปเรื่อยๆ ตามความสมบูรณ์ของป่า และเพราะฝิ่นจะปลูกได้ดีบนที่สูง จึงอาศัยอยู่ที่สูงที่สุดประมาณ 1,200 เมตรหรือมากกว่า ซึ่งจะประกอบด้วยเย้า (Yao) ม้ง (Hmong, Meo) ลาหู่ (Lahu) ลีซอ (Lisu) และอาข่า (Akha) 2. แบบอยู่ติดที่ อาศัยอยู่ในระดับต่ำกว่ากลุ่ม "บุกเบิก" ที่ดินเพาะปลูกมีความสัมพันธ์น้อยหรือไม่มีความสัมพันธ์กับป่าสมบูรณ์ นิยมเพาะปลูกบนพื้นที่ลาดต่ำ (gentle slopes) หรือพื้นที่ราบสูง (plateau) ทำการเกษตรปลูกข้าวแบบขั้นบันไดอาศัยน้ำชลประทาน แต่ข้าวส่วนใหญ่ที่มีความจำเป็นต่อการยังชีพยังคงเป็นข้าวที่ปลูกในไร่ กลุ่ม "อยู่ติดที่" จะต่างจากกลุ่ม "บุกเบิก" ตรงที่โดยทั่วไปจะทำการเกษตรในที่ดินเดิมได้นานกว่า และมีแนวความคิดเรื่องอาณาเขตที่แน่นอนของหมู่บ้านมากกว่า ดูแลรักษาที่ดินการเกษตรได้ดีกว่า ใช้ที่ดินเพาะปลูกแบบหมุนเวียน (rotating their fields) ทิ้งช่วงปล่อยให้ที่ดินว่างจากการเพาะปลูกเพื่อการฟื้นฟู ปลูกข้าวไร่เป็นพืชสำคัญหลัก ไม่มีพืชเศรษฐกิจสำคัญชนิดอื่น ชาติพันธุ์ที่อยู่ในกลุ่มนี้ประกอบด้วยกลุ่ม Austroasiatic ที่พูดภาษาลัวะ มีขมุ (Khmu) ถิ่น (Htin) และกะเหรี่ยง (Karen) 3."แบบปลูกเสริม" เป็นคนไทยทางเหนือที่ปลูกข้าวนาดำ ซึ่งถูกบีบให้ต้องทำไร่แบบโค่นถางแล้วเผาเป็นการเสริม เนื่องจากปลูกข้าวนาดำบนพื้นราบไม่เพียงพอต่อความต้องการ หรือทำไร่แบบโค่นถางแล้วเผาแทนการทำนาข้าวแบบอาศัยน้ำชลประทานตามจารีต ไร่ของชาวเหนือกลุ่มนี้จะอยู่ใกล้กับหมู่บ้านถาวรบนพื้นราบ ดังนั้นเกษตรกรกลุ่มนี้จึงมีแนวโน้มที่จะเพาะปลูกในเขตที่ดินที่เสื่อมโทรมกว่าป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์ซึ่งจะไกลจากบ้านที่อยู่อาศัยมาก ปัจจุบัน ชาวไทยเหนือกลุ่มนี้เป็นกลุ่มใหญ่ที่สุดของเกษตรกรที่ปลูกข้าวนาไร่ในภาคเหนือของประเทศ (หน้า 8) - วงจรการเพาะปลูกประจำปีของการทำไร่แบบบุกเบิก งานชิ้นแรกคือการหาที่ดินที่เหมาะสม เดือนกุมภาพันธ์และมีนาคม ตัดต้นไม้ถางขุดรากถอนโคนต้นไม้ใหญ่และต้นไม้เล็กให้เตียน มีนาคมและเมษายน ทิ้งซากไม้ไว้ประมาณ 4-6 สัปดาห์ให้แห้งสนิทและเผาประมาณต้นเดือนเมษายน ทุกหมู่บ้านจะเผาพร้อมกันเพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีใครติดอยู่ในบริเวณที่มีการเผาซากไม้ จะมีการเผาครั้งที่สองตอไม้และขอนไม้ที่ยังคงหลงเหลืออยู่ ขี้เถ้าจะกลายเป็นปุ๋ย จากนั้นจะสร้างกระท่อมในไร่เพื่อเป็นที่พักและอยู่เฝ้าพืชผล มิถุนายนและกรกฎาคม ปลูกข้าวไร่ โดยใช้ใบมีดเหล็กเจาะดินและผู้หญิงที่เดินตามหลังจะหยอดเมล็ดข้าวลงไปประมาณ 5-6 เมล็ด นอกจากข้าวแล้ว ชาวไร่แบบบุกเบิกยังปลูกพืชเสริมเช่น ข้าวโพด พริก ผักเขียว พืชประเภทมัน เผือก แตงโม ฟักทอง ยาสูบ ฝ้าย และอื่น ๆ อีกมาก กรกฎาคมและสิงหาคม กำจัดวัชพืชถือเป็นงานใหญ่ที่สุด ไม่น่ารื่นรมย์แต่เป็นงานสำคัญ พฤศจิกายน เก็บเกี่ยวข้าว นวดข้าวในไร่ ขนย้ายด้วยม้าแกลบกลับหมู่บ้านเก็บรักษาไว้ในยุ้งข้าว (หน้า 8-9) สำหรับวงจรการปลูกฝิ่น ร่วมไปกับการปลูกข้าว เดือนมีนาคมและเมษายน เป็นเดือนสิ้นสุดการเก็บเกี่ยวฝิ่น และจะเก็บเมล็ดฝิ่นที่เหมาะแก่การเพาะไว้ จะมีการเตรียมไร่อาจเป็นไร่เดิมหรือแสวงหาที่ดินผืนใหม่โดยโค่นต้นไม้ถางให้เตียนแล้วเผา เดืนนสิงหาคม หว่านเมล็ดฝิ่นเพื่อปลูก ปลายเดือนกันยายนถึงตุลาคม ถอนวัชพืชและถอนต้นอ่อนของงฝิ่นที่หนาแน่นเกินไปออก ธันวาคม ต้นฝิ่นออกดอกและจะมีการกำจัดวัชพืชอีกครั้ง เมื่อดอกฝิ่นร่วงประมาณกลางเดือนธันวาคมก็สามารถกีดเอายางฝิ่นได้ การกีดยางฝิ่นจะใช้ใบมีดกีดจากบนลงล่างเป็นทางยาวหลาย ๆ รอย ยางฝิ่นสีขาวจะไหลออกมา แต่กลายเป็นสีน้ำตาลในแสงแดดจัดของฤดูหนาว จะไม่กีดยางฝิ่นในวันครึ้มฟ้าครึ้มฝนหรือวันฝนตก เพราะหากไม่มีแสงแดดทำให้ยางแข็ง ยางฝิ่นจะหยดลงพื้นทำให้สูญเสียไป ในการกีดยางฝิ่นครั้งที่ 2 ยางฝิ่นที่แข็งตัวติดที่ลูกฝิ่นจะถูกขูดออกด้วยใบมีดแบบแบนกว้าง (หน้า 9) - การทำเกษตรของกลุ่ม "ชาวไร่แบบอยู่ติดที่" ส่วนใหญ่มักจะตัดแผ้วถางไร่จากป่าเสื่อมโทรมทุติยภูมิที่ไม่มีการทำการเกษตรในช่วง 10 ปีเป็นอย่างน้อย มกราคมและกุมภาพันธ์ ในขณะที่ชาวไร่แบบบุกเบิกกำลังเก็บยางฝิ่น แต่ลัวะและกะเหรี่ยงชุมชนซึ่งมักไม่ปลูกฝิ่นจะถางไร่ โดยปล่อยต้นไม้ใหญ่ไว้ลิดเพียงกิ่งก้านออก เพื่อป้องกันการบังแสงแดดพืชผลที่ปลูก และสนับสนุนให้ต้นไม้ได้เกิดใหม่ในช่วงที่ปล่อยที่ดินให้ว่างจากการเพาะปลูก (fallow) เป็นการอนุรักษ์ลุ่มแม่น้ำและป้องกันการกัดกร่อนของดิน การเผาซากไม้จะมีการควบคุมไฟและทำในฤดูร้อน และล้อมรั้วที่ดิน เจาะดินและหว่านเมล็ดกลางเดือนเมษายน กำจัดวัชพืชเริ่มเดือนพฤษภาคมหรือมิถุนายนและอาจจะต่อเนื่องจนถึงกันยายน ในเดือนพฤษภาคมและมิถุนายนกลุ่มชาวไร่แบบอยู่ติดที่จะลงต้นกล้าข้าวในที่นาขั้นบันได ซึ่งตรงกับช่วงเวลากำจัดวัชพืชในไร่ เกษตรกรจำเป็นต้องพิจารณาเลือกใช้เวลากับกิจกรรมในไร่ หรือที่นาขั้นบันไดอย่างไรที่จะไม่ทำให้ผลผลิตลดลง เดือนพฤศจิกายนจะเก็บเกี่ยวข้าวในไร่ เดือนธันวาคมเก็บเกี่ยวข้าวในนาขั้นบันได แล้วขนไปไว้ในยุ้งข้าวในหมู่บ้าน ตั้งแต่กลุ่มเกษตรกรกลุ่มนี้ไม่ได้ปลูกฝิ่นแล้ว การเพาะปลูกประจำปีจะสิ้นสุดกลางเดือนธันวาคม และตั้งแต่กลางเดือนธันวาคมถึงปลายเดือนมกราคมในขณะไม่มีงานในไร่ ชาวนาชาวไร่จะทำกิจกรรมงานพิธีต่างๆ และกิจกรรมทางการค้า (หน้า 9-10) - การทำเกษตรของกลุ่ม "ชาวไร่แบบปลูกเสริม" ไม่ชำนาญในการทำไร่ จะชำนาญในการปลูกข้าวนาดำบนพื้นราบ ไร่ที่ทำมักจะถางอย่างสับสนตามอำเภอใจและเผาอย่างไม่มีประสิทธิภาพ ไม่สามารถล้มต้นไม้ใหญ่ ไม่สามารถลิดกิ่งไม้ใหญ่ที่อาจบังแสงแดดพืชผล และไม่สามารถดูแลสัตว์เช่นนกที่มาขโมยกินพืชผล ?ชาวไร่ดังกล่าว มักปลูกข้าวในเดือนพฤษภาคมหรือมิถุนายน ขุดดินด้วยจอบด้ามสั้น หว่านเมล็ดข้าวลงผืนดิน ขุดดินกลบ หากขยันก็จะกำจัดวัชพืช แต่ส่วนใหญ่ไม่ค่อยสนใจกับไร่ของตนจนกระทั่งช่วงเวลาเก็บเกี่ยวในเดือนพฤศจิกายน ซึ่งอาจจะเกิดจากการขาดแคลนแรงงาน จึงไม่อาจกล่าวได้ว่าเป็นแบบฉบับมาตรฐานต่ำของการทำไร่ของชาวไร่ (swidden) ไทย (หน้า 10) ที่ดิน ชาวไร่แบบบุกเบิก จะเคลื่อนย้ายหมู่บ้านทุก ๆ 2-3 ปี เพื่อแสวงหาที่ผืนใหม่ ส่วนชาวไร่แบบอยู่ติดที่ อาจอาศัยอยู่ในที่ดินผืนเดิมเป็นร้อย ๆ ปี หากเคลื่อนย้ายมักเป็นปัจจัยเรื่อง ความขัดแย้ง การชี้นำของผู้นำทางศาสนาและความกดดันทางการเมือง เป็นต้น ไม่ใช่เป็นเรื่องทางเศรษฐกิจ (หน้า 11) ชาวเขา และชาวพื้นราบ มีประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจมายาวนาน มีเส้นทางการค้าพาดผ่านบนที่สูงทางเหนือของไทยตามเส้นทางไปมาบนที่สูงทางเหนือของไทยและพม่า ลาว ... ชาวเขาเป็นลูกค้าต้องการสินค้าที่คนพื้นราบผลิตขึ้น รวมทั้งเกลือและเหล็ก ส่วนสินค้าของชาวเขา คือ ฝิ่นและของป่า คนบนที่สูงเป็นพ่อค้าคาราวานที่เชี่ยวชาญรู้เส้นทางข้ามเขา ... เมื่อภาคเหนือของไทยเริ่มต้นการพัฒนาเศรษฐกิจตอนต้นศตวรรษนี้พร้อม ๆ กับการค้าไม้สัก ชาวเขาโดยเฉพาะลัวะและกะเหรี่ยงกลายเป็นแหล่งแรงงานที่สำคัญ ชาวเขาเป็นแรงงานรับจ้าง (wage labour) และปลูกพืชเงินสดมาก่อนคนพื้นราบจำนวนมาก และแม้ว่าหมู่บ้านบนเขาที่ไม่ปลูกฝิ่นและไม่ได้เป็นแรงงานรับจ้าง แต่ก็ยังเชื่อมโยงกับตลาดพื้นล่างโดยพ่อค้าเร่จากพื้นราบอยู่ดี (หน้า 14) การทำการเกษตรและการโค่นต้นไม้บนภูเขาส่งผลกระทบต่อชาวเขาและคนบนพื้นราบเช่นเดียวกัน หากพื้นดินถูกทำให้เสื่อมโทรมทั้งคนบนเขาและบนพื้นราบจะเดือดร้อนกันทั้งคู่ อีกทั้งการเพิ่มขึ้นของประชากรบนเขาและบนพื้นราบอย่างรวดเร็วทำให้เกิดสภาพแออัด การทำเกษตรแบบตัดต้นไม้แล้วเผาไม่สามารถดำรงอยู่ได้ต่อไป เนื่องจากขาดแคลนที่ป่าสมบูรณ์ จำเป็นต้องพัฒนาเทคนิคทางเลือกของวิธีการทางการเกษตรที่เพิ่มผลิตผลและอนุรักษ์ผืนดิน ปัจจุบันรัฐบาลไทยและหน่วยงานต่างประเทศต่าง ๆ กำลังดำเนินการพัฒนานำร่องเพื่อแก้ปัญหาการทำไร่เลื่อนลอยและการปลูกฝิ่นของชาติพันธุ์บนเขา โดยปลูกต้นไม้ขึ้นใหม่บนที่ลาดขั้นบันไดและปลูกพืชเศรษฐกิจอื่นแทนการปลูกฝิ่น ... มีข้อสังเกตอีกเหตุผลหนึ่งของการที่รัฐบาลไทยแสดงความสนใจต่อสวัสดิการของชาวเขา คือเพื่อให้ชาวเขาเป็นกันชนบริเวณพรมแดนไทยทางเหนือ การอาศัยอยู่ของชาวเขาเป็นปัจจัยสำคัญของความมั่นคงภายในประเทศ (หน้า 15)

Social Organization

ชาวนาพื้นราบหุบเขา : ชาวนาอาศัยอยู่ในครัวเรือนที่สมาชิกเป็นเครือญาติกัน ซึ่งมักประกอบด้วยหัวหน้าครัวเรือน ภรรยา และลูก ๆ ที่ยังไม่แต่งงาน โดยทั่วไป หลังการแต่งงานชายหนุ่มจะไปอยู่ในครัวเรือนของพ่อแม่ภรรยาระยะหนึ่ง ภายหลังลูกคนแรกเกิดได้ไม่นานคู่สามีภรรยาจะสร้างบ้านเรือนของตนเอง ลูกชายหรือลูกสาวคนสุดท้องมีแนวโน้มที่จะอยู่กับพ่อแม่ เป็นผู้สืบทอดรับมรดกบ้านของครอบครัว แต่ข้อปฏิบัติเหล่านี้มีความยืดหยุ่นมาก คนไทยทางเหนือมีความแตกต่างจากคนไทยโดยทั่วไปคือ ชาวเหนือสืบทอดตระกูลทางแม่ (matriclans) ซึ่งประกอบด้วย "ลูกหลานทางสายตระกูลแม่ (matrilineal) หน้าที่สำคัญของวงศ์ตระกูล (clan) เป็นเรื่องพิธีกรรม ศูนย์กลางกิจกรรมของวงศ์ตระกูลที่อยู่รอบ ๆ ศาลผี ซึ่งเป็นที่อยู่ร่วมกันของบรรพสตรีต้นตระกูล (founding ancesstress) การสืบตระกูลทางแม่ของชาวเหนือของไทยได้รับการอธิบายในความหมายเดียวคือ "การถือผี" ชาวเหนือหรือคนเมืองสืบทอดตระกูลทางแม่ตามความเชื่อเรื่องผี การแต่งงานมีแนวโน้มของการแต่งงานนอกตระกูล (clan exogamy) เมื่อมีการแต่งงานกันระหว่างตระกูล (inter-clan marriages) เกิดขึ้นจะประกอบพิธีกรรมที่เรียกว่า "crisscrossing the spirits" เป็นการบูชาผีของทั้งสองตระกูล (หน้า 4-5) ชาติพันธุ์บนเขา คำว่าองค์กรสังคมมีความหลากหลายเป็นไปตามอัตลักษณ์ของกลุ่มชาติพันธุ์ ชาติพันธุ์เย้า ม้ง และชาติพันธุ์ที่มีระดับการแผ่ขยายน้อยกว่าเช่นอาข่าและลีซอรวมกลุ่มกันบนพื้นฐานของการสืบสายเลือดและสายตระกูลทางพ่อ (patrilineal clans and lineages) สำหรับลาหู่และกะเหรี่ยงสืบสายตระกูลทางแม่ (matrilineal descent groups) ซึ่งเหมือนกับชาวเหนือไทยพื้นราบ รูปแบบการแต่งงานของม้งและเย้าแต่งงานนอกตระกูลทางพ่อ (patriclan exogamy) และหลังแต่งงานไปอาศัยอยู่บ้านฝ่ายชาย (patrilocality) ชุมชนลาหู่บางชุมชนแต่งงานนอกหมู่เครือญาติ (kindred exogamy : up to second cousin range) และไปอยู่บ้านฝ่ายหญิงหลังแต่งงาน (matrilocality) (หน้า 11)

Political Organization

ก่อนที่รัฐบาลสยามที่กรุงเทพจะเข้าปกครองภาคเหนือในปี ค.ศ.1874 ชาวเขาส่วนใหญ่ทางเหนือเป็นลัวะและกะเหรี่ยง จ่ายบรรณาการให้เจ้าผู้ครองนครทางเหนือของไทยเป็นประจำ เพื่อแลกกับกรรมสิทธิ์ในที่ดินทำกินบนเขา ... เจ้าผู้ครองนครสนับสนุนอำนาจปกครองผู้นำลัวะและกะเหรี่ยง บางครั้งยินยอมให้ผู้นำชาติพันธุ์ลัวะและกะเหรี่ยงควบคุมหมู่บ้านต่าง ๆ หลายหมู่บ้าน ซึ่งได้สร้างความขัดแย้งที่สำคัญขึ้นในหมู่ชาวเขา (hill people) โดยที่ชาวเขาเหล่านี้ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ด้วยตนเอง แต่เมื่อรัฐบาลกรุงเทพทำลายอำนาจของบรรดาเจ้าผู้ครองนครลง กลับกลายเป็นการตัดเส้นทางการสื่อสารระหว่างชาวเขากับรัฐบาลกลาง หลังจากละเลยชาติพันธุ์บนเขาไป 80 กว่าปีเส้นทางการสื่อสารเหล่านี้จึงเริ่มได้รับการซ่อมแซมใหม่ (หน้า 13) ภาคเหนือของประเทศไทย ทุกจังหวัดถูกปกครองโดยผู้ว่าราชการจังหวัดที่ได้รับแต่งตั้งตรงจากกรุงเทพ รับผิดชอบโดยตรงต่อกระทรวงมหาดไทย จังหวัดแบ่งออกเป็นอำเภอมีนายอำเภอดูแลรับผิดชอบโดยตรงต่อผู้ว่าราชการจังหวัด แต่ได้รับการแต่งตั้งตรงจากกระทรวงมหาดไทย นายอำเภอไม่ใช่คนท้องถิ่นมีระยะการดำรงตำแหน่งเพียง 3-4 ปีในอำเภอหนึ่ง ๆ และมีกลุ่มข้าราชการพลเรือนที่เป็นตัวแทนของกระทรวงทบวงกรมต่าง ๆ เช่น ศึกษาธิการ สาธารณสุข ตำรวจ ที่ดิน ไปรษณีย์ เป็นต้น จากส่วนกลางในลักษณะการปกครองแบบรวมศูนย์ ไปช่วยภารกิจของนายอำเภอให้ลุล่วง ข้าราชการหมุนเวียนเหล่านี้เป็นผู้นำถาวรของชุมชนท้องถิ่น เป็นตัวแทนของรัฐบาลกลางเท่านั้นมาจากภายนอกพื้นที่ และจำนวนมากเป็นคนจากพื้นที่ภาคกลาง อำเภอแบ่งออกเป็นตำบล (tambon) แต่ละตำบลประกอบด้วยประมาณ 12 หมู่บ้าน (mu ban) แต่ละหมู่บ้านเลือกหัวหน้าหมู่บ้านที่เรียกว่า "ผู้ใหญ่บ้าน" ของตนเอง จากนั้นก็ได้รับการเห็นชอบจากหน่วยการปกครองท้องถิ่นของรัฐ และในหมู่ผู้ใหญ่บ้านจะเลือกผู้นำตำบลหนึ่งคนเรียก "กำนัน" ดังนั้นกำนันจะยังคงเป็นผู้ใหญ่บ้านในหมู่บ้านของตน ผู้ช่วยกำนันเรียกว่า "สารวัตร" ทั้งสามตำแหน่งนี้ได้รับเงินเดือนเล็กน้อยจากรัฐบาล และเข้าประชุมเป็นรายเดือนกับเจ้าหน้าที่อำเภอที่สำนักงานอำเภอ โครงสร้างการปกครองนี้ใช้กับชนกลุ่มน้อยจำนวนมากบนเขาด้วย ตำแหน่งผู้ใหญ่บ้านต้องผ่านการอนุมัติจากรัฐ สำหรับตำแหน่งกำนันเท่าที่ผู้เขียนทราบมีกำนันที่ไม่ใช่คนไทยอยู่เพียงคนเดียว (หน้า 6-7) หมู่บ้านชาวเขา โดยทั่วไปอยู่ภายใต้การควบคุมของหัวหน้า อำนาจของหัวหน้าจะถูกทำให้สมดุลโดยอำนาจปกครองจำนวนมากของกลุ่มผู้อาวุโสของชุมชน ในบางกรณีผู้นำทางพิธีกรรมของชุมชนก็เป็นผู้นำทางการเมืองที่มีประสิทธิภาพ แม้ว่าหัวหน้าหมู่บ้านจะได้รับการรับรองจากอำนาจการปกครองของรัฐก็ตาม มักจะไม่มีองค์กรทางการเมืองระดับที่เหนือกว่าระดับชุมชนหมู่บ้านมาเกี่ยวข้อง อย่างไรก็ตาม บางครั้งอาจมีการเชื่อมโยงเป็นกลุ่มหมู่บ้านซึ่งอาจเป็นชาติพันธุ์เดียวกันหรือต่างชาติพันธุ์กันเป็นความสัมพันธ์ทางการเมืองที่กว้างขวางขึ้น และอยู่ภายใต้อิทธิพลของหัวหน้าระดับท้องถิ่นซึ่งได้รับการรับรองจากอำนาจปกครองของรัฐด้วย บางครั้งมีผู้นำในลักษณะเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณ (holy men) สามารถรวบรวมหมู่บ้านที่เป็นอิสระจำนวนหนึ่งเข้าด้วยกันเป็นองค์กรทางการเมืองเช่นเดียวกับเป็นองค์กรทางศาสนา (หน้า 11)

Belief System

ชาวเหนือพื้นที่ราบหุบเขา : เหมือนคนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ส่วนใหญ่ มีความเชื่อเรื่องผี ว่ามีผีในทุกหนแห่ง ในบ้าน บนท้องฟ้า ในน้ำ ในป่า และเชื่อว่าผีเหล่านี้เป็นต้นเหตุของความโชคไม่ดี แท่นบูชา (shrine) หรือศาลสำหรับเซ่นไหว้ผีจะตั้งไว้หน้าบ้าน หรือบริเวณทางเข้าหมู่บ้าน บนยอดดอยและใต้ต้นไม้ จะเซ่นไหว้ด้วยอาหาร น้ำ และดอกไม้ที่ศาลผี โดยมีผู้เชี่ยวชาญทำพิธีเอาใจผีหรือไล่ผี หมอผี (maw phi, spirit - doctors) ถูกมองว่าได้ใช้ประโยชน์ใกล้ชิดมากกว่าพระสงฆ์ในศาสนาพุทธ แต่หมอผีจะไม่ได้รับความเคารพนับถือเหมือนอย่างที่พระสงฆ์ได้รับ มีคนที่กลายเป็นคนทรงซึ่งติดต่อกับผีได้ และชาวบ้านจะถามเรื่องราวจากผีผ่านคนทรงเหล่านี้ ? ศาสนาพุทธ เป็นศาสนาหลัก ถิ่นที่อยู่อาศัยของคนไทยทุกแห่งจะมีวัด วัดเป็นศูนย์กลางทางศาสนาและทางสังคมของหมู่บ้านพื้นราบ ทุกวันพระซึ่งเดือนหนึ่งมี 4 ครั้ง ชาวบ้านจะไปทำบุญฟังธรรมและรับศีล 5 ที่วัด ตกเย็นชาวบ้านจะไปพบปะกับพระ หรือพบปะระหว่างชาวบ้านกันเอง เรื่องทางโลกจำนวนมากก็จัดให้มีขึ้นในวัด เช่น จัดงานของหมู่บ้าน ฉายหนังกลางแปลง และสิ่งบันเทิงอื่น ๆ ชายไทยทุกคนถูกคาดหวังว่าจะบวชเรียนเมื่อถึงเวลา ซึ่งนิยมบวชก่อนแต่งงาน การบวชพระถูกมองว่าเป็นพิธีกรรมของการเดินทางผ่านสู่ความเป็นผู้ใหญ่ที่มีวุฒิภาวะ บ่อยครั้งที่เด็กหนุ่มในหมู่บ้านบวชบำเพ็ญศาสนกิจเพื่อให้ได้เรียนหนังสือ ซึ่งจะได้เรียนทั้งวิชาการทางพุทธศาสนาและทางวิชาชีพ ? ในส่วนของพระสงฆ์จะมีการปฏิบัติพิธีกรรมให้กับชาวชุมชน เช่น พิธีแต่งงาน ขึ้นบ้านใหม่ งานศพ และเวลาป่วย เป็นต้น พระไม่จำเป็นต้องบวชตลอดชีวิต สามารถสึกออกจากการเป็นพระได้หรือกลับไปบวชใหม่ได้อีกเมื่อต้องการ มีชาวนาบนพื้นราบจำนวนน้อยมากที่จะสนใจพุทธปรัชญาอันซับซ้อนในเรื่องของนิพพาน การเป็นอิสระจากกิเลสไปสู่การดับสูญของอัตตา ตามการสอนของพุทธเถรวาท สำหรับชาวนาทางเหนือของไทยแล้วแนวคิดทางศาสนาที่สำคัญที่สุดคือ คุณความดีและข้อบกพร่อง คุณความดีต้องได้จากการประพฤติปฏิบัติดี โดยเฉพาะการสนับสนุนค้ำจุนพุทธศาสนาด้วยการบริจาคเงินสร้างหรือซ่อมแซมสิ่งก่อสร้างทางพุทธศาสนา บวชเรียน ใส่บาตรพระ ร่วมงานวันนักขัตฤกษ์ และถือศีล 5 อย่างเคร่งครัด สำหรับความบกพร่องความไม่ดีเกิดจากการผิดศีล และจะต้องได้รับการทำให้สมดุลโดยการถือศีล คุณความดีอาจเกิดจากปัจเจกชนหรือกลุ่ม (ครัวเรือน หมู่บ้าน) และอาจส่งทอดจากบุคคลหนึ่งสู่อีกบุคคลหนึ่งได้ (เช่นเดียวกับการบวชของลูกชายเป็นสร้างบุญให้แก่พ่อแม่ด้วย) หรือจากกลุ่มหนึ่งสู่อีกกลุ่มหนึ่ง (เหมือนชุมชนพระสร้างบุญกุศลแก่ชาวชุมชน) ยิ่งสร้างบุญกุศลมากเท่าไร ก็จะยิ่งไปเกิดในชาติภพใหม่ที่ดีกว่า พุทธเถรวาทเป็นปัจจัยหนึ่งที่ใช้สนับสนุนการบูรณาการชาวนาไทยทางเหนือเข้าสู่วิถีชีวิตที่เหมือนกับทุกคนในชาติ (หน้า 5-6) ชาติพันธุ์บนเขา : ความเชื่อทางศาสนาของชาติพันธุ์บนเขามักถูกกำหนดให้อยู่ในกลุ่มของคนนับถือผี (animist) ชุมชนบนที่สูงส่วนใหญ่ยอมรับการมีอยู่ของผีทั้งผีดีและไม่ดีจำนวนมาก เช่น ผีตามปรากฏการณ์ธรรมชาติ วิญญาณของคนที่ยังมีชีวิตอยู่และผีของคนที่ตายไปแล้ว เจ้าที่เจ้าทาง (locality spirits) ผีอารักษ์ (guardian spirits) และอื่น ๆ แต่ความเชื่อเหล่านี้ไม่ต่างไปจากคนบนพื้นราบที่นับถือศาสนาพุทธมากนัก ซึ่งก็เซ่นไหว้ผีเหมือนกัน การบูชาผีทั้งโดยความเชื่อและการปฏิบัติของชาวเขาจะต่างกันไประหว่างกลุ่มชาติพันธุ์และแม้ระหว่างกลุ่มย่อยในชาติพันธุ์เดียวกันก็มีความแตกต่างกัน คนที่พูดภาษาตระกูลย่อย Tibeto - Burman (ลาหู่ ลีซอ อาข่า) ยอมรับการมีอยู่ของพระเจ้าผู้สร้าง " God" หรือ "Father - God" ที่อยู่ในวรรณกรรม (literature) แต่ความเลื่อมใสในพระเจ้าได้รับการพัฒนาในหมู่ลาหู่ ส่วนลีซอและอาข่าพระเจ้าถูกมองในฐานะผู้อยู่เหนือธรรมชาติ พระเจ้ามีอิทธิพลเพียงน้อยนิดในชีวิตประจำวันของมนุษย์ แต่ผีทั้งหลายมีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับชีวิตมนุษย์มากกว่า สำหรับม้งและเย้าโดยเฉพาะในภายหลังได้รับอิทธิพลจากการบูชาบรรพบุรุษมาจากจีน การบูชาบรรพบุรุษเป็นสิ่งสำคัญทั้งในทางความเชื่อและทางพิธีกรรม แม้ว่ารูปเคารพต่าง ๆ ในลัทธิเต๋าจะปรากฏเด่นชัดในจักรวาลวิทยา (cosmology) ของเย้าไม่เหมือนกับของม้งก็ตาม การบูชาบรรพบุรุษเป็นส่วนหนึ่งในอุดมคติทางศาสนาของอาข่า ลาหู่ และลีซอด้วยเช่นกัน แต่จะบอกว่าแตกแนวคิดมาจากจีนโดยสิ้นเชิงก็เป็นเรื่องที่พูดยาก ลัวะและกะเหรี่ยงบางทีอาจจะเปิดรับศาสนาพุทธมากที่สุด และปัจจุบันมีลัวะที่ถือศีลเป็นรายบุคคลและมีชุมชนกะเหรี่ยงพุทธจำนวนมาก โดยเฉพาะกะเหรี่ยงบนพื้นราบ แนวคิดศาสนาพุทธเบียดแทรกเข้าในชุมชนบนเขาอย่างลึกซึ้ง ทั้ง ๆ ที่คนบนที่สูงไม่ค่อยยึดติดกับศาสนานักก็ตาม การพิจารณาความดีความชั่ว ความเชื่อเรื่องการเกิดใหม่ และมุมมองที่ว่าการละชีวิตที่สั่งสมบาปเป็นแนวความคิดที่สำคัญของชาวพุทธซึ่งมีอิทธิพลต่อชุมชนชาวเขาจำนวนมาก ศาสนาคริสต์ หมอสอนศาสนาคริสต์เผยแพร่ศาสนาอย่างยาวนานทางภาคเหนือของไทย และมีคนหันมานับถือศาสนาคริสต์มากกว่ากลุ่มคนที่อยู่บนพื้นราบหุบเขา ปัจจุบันมีชุมชนจำนวนมากที่นับถือศาสนาคริสต์ โดยเฉพาะในหมู่กะเหรี่ยงและลาหู่ เกือบทุกกลุ่มชาติพันธุ์จะมีคนเข้ารีตเป็นคริสเตียน 2-3 คน แต่ชาวเขาส่วนใหญ่ยังคงศรัทธาในจารีตประเพณีของตน และมีจำนวนมากที่เป็นปฏิปักษ์ต่อหมอสอนศาสนาคริสต์ หมอสอนศาสนาคริสต์มีความอดทนน้อยกว่าชาวพุทธในกรณีต้องการให้ ชาวเขาละทิ้งขนบธรรมเนียมประเพณีของบรรพบุรุษ ผู้เชี่ยวชาญทางศาสนาความเชื่อ (religious specialist) ในทุกชุมชนบนที่สูงไม่ว่าจะเป็นชาติพันธุ์ใดก็ตามจะเป็นบุคคลสำคัญในวิถีชีวิตของชุมชน (community life) ผู้เชี่ยวชาญเหล่านี้รวมถึง นักบวช (priest) ผู้เชี่ยวชาญด้านวิญญาณ (spirit - specialist) และหมอผี (shaman) โดยทั่วไปผู้เชี่ยวชาญด้านศาสนาความเชื่อเหล่านี้จะทำเพาะปลูกเหมือนคนอื่น ๆ น้อยมากที่จะมีกิจกรรมทางศาสนาเหมือนพระในศาสนาพุทธของคนพื้นราบ พิธีกรรม ทางศาสนาสำคัญ ๆ มีแนวโน้มเกี่ยวข้องกับฤดูกาลและวงจรวัฒนธรรมการเพาะปลูก บางพิธีกรรมก็เกิดขึ้นเมื่อไรก็ได้ เช่น เมื่อเกิดอาการป่วยหรือมีความจำเป็นอื่น ๆ การประกอบพิธีกรรมบนเขามีเป้าหมายเบื้องต้นเพื่อความอุดมสมบูรณ์และสุขภาพ ความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ และเพื่อสมดุลในหมู่มนุษย์และระหว่างมนุษย์กับสิ่งเหนือธรรมชาติ (หน้า 11-12) ชาวเขาและคนบนพื้นราบ : ชาวเขามักเอาใจใส่และส่วนใหญ่เคารพนับถือพระพุทธรูปและรูปพระ ชาวเขาเดินทางไปพื้นราบเพื่อสักการะพระที่มีชื่อเสียง และชาวเขาช่วยงานกุศลของชาวพื้นราบ เช่น สร้างถนน โรงเรียน และวัดภายใต้การชี้นำของพระ ส่วนชาวพุทธในพื้นราบบูชาผีในลักษณะที่เหมือนกันมากกับการนับถือผีที่ชาวเขาทำ (หน้า 14)

Education and Socialization

การบวชเป็นหนทางหนึ่งที่จะให้ได้รับการศึกษา โดยจะได้เรียนทั้งวิชาการเช่น ปรัชญาพุทธ จริยธรรม พุทธประวัติ ภาษาบาลี ฯลฯ และวิชาการปฏิบัติเช่น ปั้น วาดรูป การก่อสร้าง งานไม้ ฯลฯ ซึ่งสอนโดยพระอาวุโส และที่เฉลียวฉลาดจะ ถูกส่งไปโรงเรียนพระในระดับตำบลและจังหวัด สุดท้ายได้ไปถึงมหาวิทยาลัยของสงฆ์ในเมืองหลวง (หน้า 5)

Health and Medicine

ไม่มีข้อมูล

Art and Crafts (including Clothing Costume)

ไม่มีข้อมูล

Folklore

ไม่มีข้อมูล

Ethnicity (Ethnic Identity, Boundaries and Ethnic Relation)

บนพื้นที่สูงทางเหนือของไทยเป็นที่อยู่ของชุมชนหมู่บ้านที่มีการปกครองตนเองจำนวนมากของชาติพันธุ์ที่มีอัตลักษณ์แตกต่างกัน ไม่ได้แยกออกเป็นเขต ๆ ที่อยู่กันเฉพาะชาติพันธุ์ ตัวอย่างเช่น หมู่บ้านลาหู่ อาข่า เย้า และกะเหรี่ยงจะอยู่ใกล้ ๆ กัน ระหว่างที่อยู่อาศัยของลาหู่คนหนึ่งและอีกคนหนึ่งอาจขั้นด้วยอาณาบริเวณของอาข่าและเย้า หรือในหมู่บ้านเดี่ยวแห่งหนึ่งจะมีกลุ่มชาติพันธุ์ที่ต่างกัน เช่น ลาหู่และลีซออยู่ด้วย เป็นต้น คนบนที่สูงส่วนใหญ่จะแบ่งแยกตัวเองตามกลุ่มวัฒนธรรมย่อยเฉพาะ คือเป็นม้งน้ำเงิน ม้งขาว ไม่เพียงเป็นกะเหรี่ยงแต่เป็นกะเหรี่ยง Pwo และกะเหรี่ยง Sgaw ลาหู่ก็เช่นกัน มีลาหู่ดำ ลาหู่แดง ลาหู่เหลือง ลาหู่ Sheh Leh และอื่น ๆ การแต่งกายตามประเพณี ภาษาท้องถิ่นที่นิยมใช้ รูปลักษณ์วัฒนธรรมทางวัตถุและลักษณะพิเศษที่แน่นอนขององค์กรสังคมและศาสนา อาจแยกกลุ่มชาติพันธุ์หนึ่งออกจากอีกกลุ่มชาติพันธุ์หนึ่งให้เห็นอย่างชัดเจน (หน้า 11)

Social Cultural and Identity Change

ไม่มีข้อมูล

Critic Issues

ไม่มีข้อมูล

Other Issues

ไม่มี

Map/Illustration

แผนที่ : 1.1 ภาคเหนือของประเทศไทย (หน้า 2)

Text Analyst บุญสม ชีรวณิชย์กุล Date of Report 06 ม.ค. 2566
TAG ม้ง, เมี่ยน, ลีซู, ลาหู่, ลเวือะ, ลัวะ, ขมุ, ชาวเขา, คนพื้นราบ, ประวัติ, วัฒนธรรม, ความเชื่อ, วิถีการผลิต, ภาคเหนือ, Translator -
 
 

 

ฐานข้อมูลอื่นๆของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
  ฐานข้อมูลพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทย
จารึกในประเทศไทย
จดหมายเหตุทางมานุษยวิทยา
แหล่งโบราณคดีที่สำคัญในประเทศไทย
หนังสือเก่าชาวสยาม
ข่าวมานุษยวิทยา
ICH Learning Resources
ฐานข้อมูลเอกสารโบราณภูมิภาคตะวันตกในประเทศไทย
ฐานข้อมูลประเพณีท้องถิ่นในประเทศไทย
ฐานข้อมูลสังคม - วัฒนธรรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  หน้าหลัก
งานวิจัยชาติพันธุ์ในประเทศไทย
บทความชาติพันธุ์
ข่าวชาติพันธุ์
เครือข่ายชาติพันธุ์
เกี่ยวกับเรา
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  ข้อมูลโครงการ
ทีมงาน
ติดต่อเรา
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
ช่วยเหลือ
  กฏกติกาและมารยาท
แบบสอบถาม
คำถามที่พบบ่อย


ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) เลขที่ 20 ถนนบรมราชชนนี เขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ 10170 
Tel. +66 2 8809429 | Fax. +66 2 8809332 | E-mail. webmaster@sac.or.th 
สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2549    |   เงื่อนไขและข้อตกลง