สมัครสมาชิก   
| |
ค้นหาข้อมูล
ค้นหาแบบละเอียด
  •   ความเป็นมาและหลักเหตุผล

    เพื่อรวบรวมงานวิจัยทางชาติพันธุ์ที่มีคุณภาพมาสกัดสาระสำคัญในเชิงมานุษยวิทยาและเผยแผ่สาระงานวิจัยแก่นักวิชาการ นักศึกษานักเรียนและผู้สนใจให้เข้าถึงงานวิจัยทางชาติพันธุ์ได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น

  •   ฐานข้อมูลจำแนกกลุ่มชาติพันธุ์ตามชื่อเรียกที่คนในใช้เรียกตนเอง ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้ คือ

    1. ชื่อเรียกที่ “คนอื่น” ใช้มักเป็นชื่อที่มีนัยในทางเหยียดหยาม ทำให้สมาชิกกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ รู้สึกไม่ดี อยากจะใช้ชื่อที่เรียกตนเองมากกว่า ซึ่งคณะทำงานมองว่าน่าจะเป็น “สิทธิพื้นฐาน” ของการเป็นมนุษย์

    2. ชื่อเรียกชาติพันธุ์ของตนเองมีความชัดเจนว่าหมายถึงใคร มีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมอย่างไร และตั้งถิ่นฐานอยู่แห่งใดมากกว่าชื่อที่คนอื่นเรียก ซึ่งมักจะมีความหมายเลื่อนลอย ไม่แน่ชัดว่าหมายถึงใคร 

     

    ภาพ-เยาวชนปกาเกอะญอ บ้านมอวาคี จ.เชียงใหม่

  •  

    จากการรวบรวมงานวิจัยในฐานข้อมูลและหลักการจำแนกชื่อเรียกชาติพันธุ์ที่คนในใช้เรียกตนเอง พบว่า ประเทศไทยมีกลุ่มชาติพันธุ์มากกว่า 62 กลุ่ม


    ภาพ-สุภาษิตปกาเกอะญอ
  •   การจำแนกกลุ่มชนมีลักษณะพิเศษกว่าการจำแนกสรรพสิ่งอื่นๆ

    เพราะกลุ่มชนต่างๆ มีความรู้สึกนึกคิดและภาษาที่จะแสดงออกมาได้ว่า “คิดหรือรู้สึกว่าตัวเองเป็นใคร” ซึ่งการจำแนกตนเองนี้ อาจแตกต่างไปจากที่คนนอกจำแนกให้ ในการศึกษาเรื่องนี้นักมานุษยวิทยาจึงต้องเพิ่มมุมมองเรื่องจิตสำนึกและชื่อเรียกตัวเองของคนในกลุ่มชาติพันธุ์ 

    ภาพ-สลากย้อม งานบุญของยอง จ.ลำพูน
  •   มโนทัศน์ความหมายกลุ่มชาติพันธุ์มีการเปลี่ยนแปลงในช่วงเวลาต่างๆ กัน

    ในช่วงทศวรรษของ 2490-2510 ในสาขาวิชามานุษยวิทยา “กลุ่มชาติพันธุ์” คือ กลุ่มชนที่มีวัฒนธรรมเฉพาะแตกต่างจากกลุ่มชนอื่นๆ ซึ่งมักจะเป็นการกำหนดในเชิงวัตถุวิสัย โดยนักมานุษยวิทยาซึ่งสนใจในเรื่องมนุษย์และวัฒนธรรม

    แต่ความหมายของ “กลุ่มชาติพันธุ์” ในช่วงหลังทศวรรษ 
    2510 ได้เน้นไปที่จิตสำนึกในการจำแนกชาติพันธุ์บนพื้นฐานของความแตกต่างทางวัฒนธรรมโดยตัวสมาชิกชาติพันธุ์แต่ละกลุ่มเป็นสำคัญ... (อ่านเพิ่มใน เกี่ยวกับโครงการ/คู่มือการใช้)


    ภาพ-หาดราไวย์ จ.ภูเก็ต บ้านของอูรักลาโว้ย
  •   สนุก

    วิชาคอมพิวเตอร์ของนักเรียน
    ปกาเกอะญอ  อ. แม่ลาน้อย
    จ. แม่ฮ่องสอน


    ภาพโดย อาทิตย์    ทองดุศรี

  •   ข้าวไร่

    ผลิตผลจากไร่หมุนเวียน
    ของชาวโผล่ว (กะเหรี่ยงโปว์)   
    ต. ไล่โว่    อ.สังขละบุรี  
    จ. กาญจนบุรี

  •   ด้าย

    แม่บ้านปกาเกอะญอ
    เตรียมด้ายทอผ้า
    หินลาดใน  จ. เชียงราย

    ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ถั่วเน่า

    อาหารและเครื่องปรุงหลัก
    ของคนไต(ไทใหญ่)
    จ.แม่ฮ่องสอน

     ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ผู้หญิง

    โผล่ว(กะเหรี่ยงโปว์)
    บ้านไล่โว่ 
    อ.สังขละบุรี
    จ. กาญจนบุรี

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   บุญ

    ประเพณีบุญข้าวใหม่
    ชาวโผล่ว    ต. ไล่โว่
    อ.สังขละบุรี  จ.กาญจนบุรี

    ภาพโดยศรยุทธ  เอี่ยมเอื้อยุทธ

  •   ปอยส่างลอง แม่ฮ่องสอน

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ปอยส่างลอง

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดย เบญจพล  วรรณถนอม
  •   อลอง

    จากพุทธประวัติ เจ้าชายสิทธัตถะ
    ทรงละทิ้งทรัพย์ศฤงคารเข้าสู่
    ร่มกาสาวพัสตร์เพื่อแสวงหา
    มรรคผลนิพพาน


    ภาพโดย  ดอกรัก  พยัคศรี

  •   สามเณร

    จากส่างลองสู่สามเณร
    บวชเรียนพระธรรมภาคฤดูร้อน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   พระพาราละแข่ง วัดหัวเวียง จ. แม่ฮ่องสอน

    หล่อจำลองจาก “พระมหามุนี” 
    ณ เมืองมัณฑะเลย์ ประเทศพม่า
    ชาวแม่ฮ่องสอนถือว่าเป็นพระพุทธรูป
    คู่บ้านคู่เมืององค์หนึ่ง

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม

  •   เมตตา

    จิตรกรรมพุทธประวัติศิลปะไต
    วัดจองคำ-จองกลาง
    จ. แม่ฮ่องสอน
  •   วัดจองคำ-จองกลาง จ. แม่ฮ่องสอน


    เสมือนสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรม
    เมืองไตแม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ใส

    ม้งวัยเยาว์ ณ บ้านกิ่วกาญจน์
    ต. ริมโขง อ. เชียงของ
    จ. เชียงราย
  •   ยิ้ม

    แม้ชาวเลจะประสบปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัย
    พื้นที่ทำประมง  แต่ด้วยความหวัง....
    ทำให้วันนี้ยังยิ้มได้

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ผสมผสาน

    อาภรณ์ผสานผสมระหว่างผ้าทอปกาเกอญอกับเสื้อยืดจากสังคมเมือง
    บ้านแม่ลาน้อย จ. แม่ฮ่องสอน
    ภาพโดย อาทิตย์ ทองดุศรี
  •   เกาะหลีเป๊ะ จ. สตูล

    แผนที่ในเกาะหลีเป๊ะ 
    ถิ่นเดิมของชาวเลที่ ณ วันนี้
    ถูกโอบล้อมด้วยรีสอร์ทการท่องเที่ยว
  •   ตะวันรุ่งที่ไล่โว่ จ. กาญจนบุรี

    ไล่โว่ หรือที่แปลเป็นภาษาไทยว่า ผาหินแดง เป็นชุมชนคนโผล่งที่แวดล้อมด้วยขุนเขาและผืนป่า 
    อาณาเขตของตำบลไล่โว่เป็นส่วนหนึ่งของป่าทุ่งใหญ่นเรศวรแถบอำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี 

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   การแข่งขันยิงหน้าไม้ของอาข่า

    การแข่งขันยิงหน้าไม้ในเทศกาลโล้ชิงช้าของอาข่า ในวันที่ 13 กันยายน 2554 ที่บ้านสามแยกอีก้อ อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย
 
  Princess Maha Chakri Sirindhorn Anthropology Centre
Ethnic Groups Research Database
Sorted by date | title

   Record

 
Subject ลาวโซ่ง ไทยโซ่ง ผู้ลาว โซ่ง ไตดำ,วิถีชีวิต,เพชรบุรี
Author ฉวีวรรณ ประจวบเหมาะ และ วรานันท์ วรวิศว์
Title ชีวิตลาวโซ่ง : เมื่อวันวาน
Document Type รายงานการวิจัย Original Language of Text ภาษาไทย
Ethnic Identity ไทดำ ลาวโซ่ง ไทยโซ่ง ไทยทรงดำ ไทดำ ไตดำ โซ่ง, Language and Linguistic Affiliations ไท(Tai)
Location of
Documents
ห้องสมุดศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร Total Pages 149 Year 2543
Source คณะสังคมวิทยาและมนุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
Abstract

ลาวโซ่งที่หนองเลา อำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี นับถือผีและพุทธศาสนา มีประเพณี พิธีกรรม และวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง ได้แก่ พิธีเสนเรือน พิธีซ่อนขวัญ พิธีเรียกขวัญ หรือเสนแถนผีฟ้า พิธีเสนหัวเขา หรือเสนเป่าปี่ หรือเสนผีขึ้นเสือ พิธีทำศพและเผาศพ พิธีปาดตง นอกจากนี้ ในเรื่องของระบบความสัมพันธ์ทางเครือญาติเกี่ยวเนื่องอยู่กับการนับถือผี ก่อให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า "สิ่ง" และ "ก๊อ" มีการรวมกลุ่มในชุมชน เช่น กลุ่มแลกเปลี่ยนแรงงานในการทำนา กลุ่มฟันไม้ กลุ่มจับสัตว์น้ำจืด กลุ่มย้อมสีย้อมผ้า กลุ่มใช้น้ำจากคลองชลประทาน กลุ่มสมาชิกสงเคราะห์ฌาปนกิจศพ กลุ่มเกษตรกร (ธกส.) นอกจากนี้ยังมีความสัมพันธ์ในด้านแรงงานคือ การวาน การจ้างงาน การเอาแฮง จอยล้า

Focus

ศึกษาวิถีชีวิตของลาวโซ่งโดยพิจารณาจากข้อมูลทางเศรษฐกิจ ความสัมพันธ์ทางสังคม และความเชื่อกับพิธีกรรมต่างๆ ของลาวโซ่ง ชุมชนหนองเลา จังหวัดเพชรบุรี (หน้า 7)

Theoretical Issues

ไม่มี

Ethnic Group in the Focus

ลาวโซ่ง ตำบลหนองเลา อำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี

Language and Linguistic Affiliations

ภาษาลาวโซ่ง (หน้า 11)

Study Period (Data Collection)

พฤษภาคม - มิถุนายน พ.ศ. 2532

History of the Group and Community

ลาวโซ่งสืบเชื้อสายมาจาก "ไทดำ" ที่มีถิ่นฐานอยู่เมืองทัน เมืองม่อย และเมืองแถง (เดียนเบียนฟู) ทางตอนเหนือของเวียดนาม อพยพเข้ามาในไทยในช่วงสงคราม ประมาณปี พ.ศ. 2322 โดยกระจายไปตามเมืองต่างๆ โดยไทยโซ่งดำ ถูกส่งไปอยู่เมืองเพชรบุรี ปี พ.ศ. 2335 มีลำดับการอพยพเข้ามาดังนี้ สมัยรัชกาลที่ 1 เจ้าเมืองเวียงจันทร์ได้ยกทัพไปตีเมืองแถงและอพยพครอบครัวไทดำส่งมากรุงเทพฯ ครอบครัวเหล่านี้ถูกส่งต่อไปไว้ที่หนองเลา ปี พ.ศ. 2379 ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 3 ไทดำถูกอพยพไปไว้ที่ตำบลท่าแร้ง จังหวัดเพชรบุรี และได้อพยพไปสมทบกับไทดำที่หนองเลา ในจังหวัดเพชรบุรี ลาวโซ่งกระจายตัวไปตามอำเภอต่างๆ เช่น อำเภอเขาย้อย อำเภอเมือง อำเภอบ้านแหลม อำเภอบ้านลาด อำเภอท่ายาง กิ่งอำเภอหนองหญ้าปล้อง (หน้า 9 - 10)

Settlement Pattern

เรือนเดิมของลาวโซ่งตั้งอยู่บนเสาสูง หลังคาปูด้วยหญ้าคาเย็บเป็นตับ ลาดต่ำลงมาเกือบจรดพื้น ไม่มีหน้าต่าง ตัวบ้านทำด้วยไม้รวก มัดด้วยหวาย ไม่มีฝากั้นห้องภายใน แต่นับเป็นห้องตามช่วงเสา มีนอกชาน 2 ด้าน เรียกว่า "กว้าน" กว้านด้านหน้าไว้รับแขก และสำหรับญาติผู้หญิงต่างถิ่นได้อาศัยนอน กว้านด้านหลังเป็นที่สำหรับคนที่มีผีเรือนเดียวกันและไว้ทำพิธีสำคัญต่างๆ สัญลักษณ์สำคัญของเรือน คือ มี "ขอกุด" ไว้ที่หน้าจั่ว มีบันได 3 บันได คือทำกว้านหน้า กว้านหลัง และตรงชานปีก (ตรงกลาง) บันไดตรงชานปีกนี้ต้องมี 9 ขั้นส่วนใต้ถุนโล่ง มีครกกระเดื่อง หรือเครื่องทอผ้า ทิศทางของการตั้งเรือนจะสัมพันธ์กับการตั้งศาลพ่อปู่ หากศาลพ่อปู่หันหน้าจั่วไปทางทิศตะวันออก หน้าจั่วของเรือนต้องหันไปอีกทิศหนึ่ง เช่น ทิศเหนือ ปัจจุบันเรือนของลาวโซ่งมีหลายแบบ สัญลักษณ์ขอกุด หายไป มีการกั้นฝ่าห้องมากขึ้น (หน้า 74)

Demography

บริเวณที่ศึกษามีบ้านจำนวน 259 หลังคาเรือน ประชากรส่วนใหญ่ประมาณร้อยละ 85 เป็นลาวโซ่ง ที่เหลือเป็นคนไทยหรือคนจีน (พ.ศ. 2530)

Economy

ประกอบอาชีพทำนา 66 % รับจ้าง 13.2 % ค้าขาย 6.6% รับราชการ 2.4 % การทำนา แบ่งออกเป็น นาโคะ นาตง นาลาง - นาโคะ เป็นนาป่าหรือพื้นที่ที่แปลงสภาพจากป่าให้เป็นนาใหม่ๆ ที่ดินมีลักษณะคล้ายลูกรัง อยู่ทางฝั่งเขา - นาตง คือ นานุ่ง หรือ นาทุ่ง มักอยู่ในที่ลุ่ม ดินมีสีดำคล้ายดินเหนียว อยู่ทางฝั่งที่ลุ่ม เป็นนาที่ดีที่สุด ทำให้ได้ผลผลิตสูง - นาลาง คือ นาที่มีน้ำขัง แห้งยาก อยู่ทางฝั่งที่ลุ่ม การเก็บเกี่ยวประมาณเดือนกุมภาพันธุ์ ระยะเวลาการเก็บเกี่ยวแบ่งเป็น 3 ช่วง คือ - เกี่ยวสด เป็นการเกี่ยวข้าวก่อนเวลาอันสมควร เนื่องจากข้าวยังไม่สุกดี - เป็นเกี่ยว คือการเกี่ยวในช่วงเวลาที่ข้าวสุกพอดี - เกี่ยวสอบเป็นการเกี่ยวข้าวในช่วงเวลาที่ข้าวสุกนานเกินไป แรงงานที่ใช้ในการเก็บเกี่ยวส่วนมากมาจากแรงงานในครัวเรือนและแรงงานจ้าง การแลกเปลี่ยนแรงงานยังมีอยู่บ้าง (หน้า 22 - 26) ลาวโซ่งไม่นิยมเก็บข้าวนาปรังไว้บริโภคเองเพราะเห็นว่าไม่คุ้มหากจะรอไว้ขายตอนราคาขึ้น จะรีบขายไปหลังเก็บเกี่ยว ข้าวนาปีจะมีความสำคัญทั้งในแง่การบริโภคและการขาย ผลผลิตข้าวนาปีจะแบ่งออกเป็นสองส่วน ส่วนแรกจะนำไปเก็บไว้ใน "กะล่อม" (ยุ้งข้าว) สำหรับบริโภค ส่วนที่เหลือถูกนำไปฝากไว้ที่โรงสี หากเจ้าของข้าวมีความต้องการจะขายในวันใดก็ไปตีราคา และขายข้าวในวันนั้น ทางโรงสีจะหักจำนวนข้าวที่ขายออกไปและจ่ายเงินซื้อข้าวตามราคาที่ตกลงกันโดยหักเงินค่าฝากข้าวในอัตราสองถังต่อเกวียน กิจกรรเสริมเพื่อเป็นรายได้ และการบริโภค มีดังนี้ - การรับจ้างสานหลัว เป็นงานที่ทำยามว่างจากการทำนา ผู้ว่าจ้างเป็นคนจากที่อื่น ซึ่งนำไม้ไผ่มาให้ผู้รับจ้าง คนหนึ่งๆ จะสานหลัวได้ประมาณ 20 ใบต่อวัน และได้ค่าจ้างใบละประมาณ 8 บาท (หน้า 32) - การหาของป่า เช่น หน่อไม้ เห็นโคน เห็นเผาะ พืชผัก ว่าน ต้นบุก แมงดานา ไข่มดแดง -การจับปลา ผู้หญิงใช้ "กระสา" (สวิงมีปากเป็นรูปสามเหลี่ยมเทคนิคการจับปลาด้วยกระสาต้องอาศัยความร่วมมือของคนในจำนวนมาก ตั้งแต่ 7-8 คนถึง 40 - 50 คน ทั้งยังเป็นกิจกรรมที่สนุกสนานร่วมกันด้วยและเป็นกลไกในการสร้างความสมานฉันท์ - การเลี้ยงสัตว์ เช่นไก่ หมู วัว ในหนึ่งรอบปีวิถีชีวิตของลาวโซ่งที่หนองเลา มีดังนี้ ธันวาคม เกี่ยวข้าว มกราคม เกี่ยวข้าว หาหญ้าและไม้จากป่ามาซ่อมแซมบ้าน กุมภาพันธ์ เกี่ยวข้าว หาหญ้าและไม้จากป่ามาซ่อมแซมบ้าน มีนาคม ทำงานเล็กๆ น้อยๆ ในบ้าน เมษายน เดือนแห่งการพักผ่อน ไปมาหาสู่กัน เป็นช่วงงานสงกรานต์ พฤษภาคม เตรียมดินและไถนา หาไม้ไปทำเครื่องมือทำนา เช่น ไม้ปาดดินหัวนา มิถุนายน เตรียมกล้าและหาหน่อไม้ป่า กรกฎาคม ปลูกกล้า และเก็บของป่า สิงหาคมและกันยายน ดูแลข้าวในนา ตุลาคม น้ำท่วม มีการจับปลา พฤศจิกายน ไปหาไม้ไผ่มานาบข้าวในการเก็บเกี่ยว (หน้า 36 - 38) การระดมทุนและเงินสำหรับค่าใช้จ่ายเพื่อการบริโภค ชาวนารวย มักต้องการเงินทุนเพื่อปล่อยกู้อีกต่อหนึ่ง บางคนนำไปลงทุนการค้า เงินทุนนั้นบางคนยืมจากเพื่อนสนิท หรือจากสถาบันการเงิน คือ ธกส. ชาวนาฐานะปานกลาง มักต้องการเงินทุนเพื่อ เพื่อนำมาซื้ออุปกรณ์การผลิต จ่ายค่าแรงในการเก็บเกี่ยว เป็นค่าทำขวัญ ค่าใช้จ่ายในพิธีเสนเรือน แหล่งระดมเงินทุนคือ สถาบันการเงิน เช่น ธกส. และชาวนารวยในหมู่บ้าน ชาวนาฐานะยากจน มักมีการกู้เงินจากเถ้าแก่โรงสี แหล่งเงินทุนนอกระบบ และมักมีปัญหาในการหาเงินกู้ เพราะขาดความเชื่อถือในแง่ศักยภาพ และความสามารถในการใช้หนี้ต่ำ ต้องแสวงหาผู้ให้กู้ใหม่ๆ โดยอาศัยคนรู้จักหรือญาติเป็นตัวกลางในการติดต่อ (หน้า 126) ลักษณะขนาดถือครองที่ดินจำแนกได้ 4 กลุ่ม คือ - กลุ่มที่ถือครองที่ดินขนาดใหญ่ - ขนาดกลาง - ขนาดเล็ก 30.7% มีที่ดินขนาดเล็กมาก - กลุ่มไร้ที่ดิน ประมาณ 32.9% ไม่มีที่ดินทำกินเป็นของตัวเอง รายได้แบ่งได้เป็น รายได้เกิน 50,000 บาทขึ้นไป มี 23 ครัวเรือน รายได้ประมาณ 30,001 - 50,000 บาท มี 15 ครัวเรือน รายได้ประมาณ 10,001 - 30,001 บาท มี 34 ครัวเรือน รายได้ประมาณ 10,000 บาทและต่ำกว่า มี 12 ครัวเรือน ไม่มีข้อมูลชัดเจน 7 ครัวเรือน (หน้า 39-41)

Social Organization

ครอบครัวและเฮือน เป็นหน่วยสังคมที่เล็กที่สุดของชุมชนและสังคมลาวโซ่ง เฮือน มีความหมายครอบคลุมถึงคนที่รวมอยู่กันในเรือน มีพ่อ แม่ ลูก และญาติสนิท มีสภาพเป็นหน่วยสังคม หน่วยเศรษฐกิจ หน่วยพิธีกรรม รวมถึงผีบรรพบุรุษ ผีเฮือนที่อยู่ในกะล่อฮ่อง กฎเกณฑ์การตั้งถิ่นฐานหลังการแต่งงาน ผู้ชายแต่งงานแล้วจะอาสาอยู่เรือนพ่อตา แม่ยาย เพื่อช่วยทำงานประมาณ 3 - 7 ปี หลังจากนั้นผู้ชายจะต้องพาเมียและลูกกลับไปอยู่บ้านพ่อแม่ตัวเอง โดยเฉพาะลูกชายคนโต ถ้าเป็นลูกชายรองๆ ลงไป ก็อาจจะแยกเรือนออกไป แต่อยู่ในบริเวณใกล้เคียงกับเรือนของพ่อแม่ ปัจจุบันเฮือนหรือเรือนของลาวโซ่งส่วนใหญ่จะประกอบไปด้วยครอบครัวเดี่ยว ความสำคัญของสายสัมพันธ์เครือญาติ "สิง" เป็นความสัมพันธ์ระดับกลุ่มสายเลือด และกลุ่มเครือญาติ เป็นสัญลักษณ์ของการถือผีเดียวกันมาก่อน ภายในสิงแบ่งเป็น "ก๊อ" (กอ) "ก๊อ" คือกลุ่มญาติที่มีปู่เดียวกัน แสดงให้เห็นใน "ปั๊บผีเฮือน" หรือบัญชีผีเรือน มีรายชื่อของบุคคลที่ถือผีเดียวกัน และสิ่งเดียวกัน ยกเว้นคนที่ตายเมื่ออายุต่ำกว่าสิบขวบ ถ้ามีปู่ต่างกันก็ถือว่าก๊อต่างกัน แต่ละก๊อก็อาจจะมีหลายเรือน ซึ่งมีปู่ร่วมกัน การรวมกลุ่ม มีกลุ่มไม่เป็นทางการและกลุ่มที่เป็นทางการ กลุ่มไม่เป็นทางการ เป็นกลุ่มที่เกิดขึ้นมาในวัฒนธรรมดั้งเดิม เช่น - กลุ่มแลกเปลี่ยนแรงงานในการทำนา - กลุ่มฟันไม้ - กลุ่มจับสัตว์น้ำจืด มีตำแหน่งหลวมๆ เช่น หัวหน้าแขก (ผู้ประสานงาน) กลุ่มที่เป็นทางการ สืบเนื่องมาจากความจำเป็นใหม่ๆ มีการกำหนดตำแหน่งชัดเจน เช่น ตำแหน่งประธาน เหรัญญิก เลขานุการ สภาพการเป็นสมาชิกของกลุ่มทางการนั้นค่อนข้างจะชัดเจนและมีลักษณะเป็นทางการมากกว่า คือ มีการสมัคร หรือแสดงเจตนารมณ์ที่จะเป็นสมาชิกภาพหรือไม่ เช่น - กลุ่มย้อมสีย้อมผ้า - กลุ่มใช้น้ำจากคลองชลประทาน - กลุ่มสมาชิกสงเคราะห์ฌาปนกิจศพ - กลุ่มเกษตรกร (ธกส.) ความสัมพันธ์ทางสังคมเพื่อให้ได้แรงงานการวาน มีแทบทุกขั้นตอนของการปลูกข้าว ในปัจจุบัน การระดมแรงงานทำเฉพาะในตอนถอนกล้าและปักดำ และจะทำกันระหว่างคนที่สนิทสนมกันเท่านั้น เช่น ญาติสนิท หรือเพื่อสนิท มีความรักใคร่ชอบพอกัน กลุ่มวานมักมีขนาดเล็ก - การจ้างงาน ชาวนารวยมีการจ้างผ่านหัวหน้าแขก หรือ หัวหน้ากลุ่ม และแรงงานช่วยเปล่า - การเอาแฮง (เอาแรง) อาศัยความสัมพันธ์ที่สืบสานด้วยการแลกเปลี่ยนอย่างเท่าเทียม - จอยล้า การไปช่วยงานผู้มีพระคุณ สะท้อนให้เห็นถึงความไม่เท่าเทียม - การจ้างอาศัยเงินตรา แต่ต้องผนวกกับความสัมพันธ์อื่นๆ เช่น การเป็นญาติ การมีหนี้บุญคุณ ความสัมพันธ์ในระบบอุปถัมภ์ ชาวนารวย เน้นการผูกพันกับ "นายแรง" ด้วยการให้กู้ยืมเงิน ยืดหยุ่นเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ยและกำหนดใช้คืน ทำให้นายแรงเกรงใจด้วยการ "เทแรง" หรือ "ลัดคิว" ให้ นอกจากนี้ มีแรงงานจอยล้าจากผู้เช่านาหรือลูกหนี้สมทบอีก ญาติและเพื่อนบ้านมีความสำคัญน้อยในการระดมแรงงาน ไม่ได้มีการ "เอาแฮง" ชาวนาฐานะปานกลาง ใช้วิธีระดมแรงงานในลักษณะการเอาแฮง วานและจ้าง ส่วนใหญ่จะใช้แรงงานคนใน แต่จะไม่มีแรงงาน จอยล้า ฐานแรงงานอยู่ที่ญาติและเพื่อนบ้านในกลุ่มเอาแฮง แม้แต่ในการติดต่อนายแฮงก็ใช้ความสัมพันธ์ทางเครือญาติเป็นสำคัญ ชาวนายากจน มักใช้แรงงานในครัวเรือน ไม่มีความจำเป็นในการระดมแรงงานเพราะมีพื้นที่นาขนาดเล็ก และตัวเองก็ถูกระดมแรงงานไปช่วยงานของชาวนารวย (หน้า 71-134)

Political Organization

ไม่มีข้อมูล

Belief System

ผีแถน ผีฟ้า มีอำนาจเหนือสรรพสิ่งทั้งหลาย ต้องทำพิธีกรรมแสดงความเคารพ เช่น พิธีแม่มด พิธีเสนแก้เคราะห์ การถือผีบรรพบุรุษและพิธีเสนเรือน มีความสำคัญต่อครัวเรือนต่างๆ เป็นอย่างมาก พิธีเสนเฮือน คือพิธีเซ่นไหว้ผีเฮือน หรือผีบรรพบุรุษ (หน้า 134-135) ศาลพ่อปู่ คือศาลที่อยู่ของผู้บุกเบิกและตั้งถิ่นฐานของชุมชน การให้ความสำคัญกับศาลพ่อปู่ คือ ในโอกาสต่างๆ เช่น การบนบาน นำนาคไปเคารพศาลก่อนไปทำพิธีที่วัด เมื่อลาสิกขาบทแล้วก็ต้องไปบอกกล่าวที่ศาลก่อน มีการเซ่นไหว้ร่วมกันของครัวเรือนทุกครัวเรือนในชุมชน ในต้นเดือนเมษายนซึ่งเป็นช่วงก่อนสงกรานต์ จะเซ่นไหว้ด้วยไก่ต้มสุก เหล้าและหมากพลู ในช่วงเดือนธันวาคมซึ่งเป็นช่วงที่ข้าวใหม่ออก จะเซ่นไหว้ด้วยข้าวใหม่ ซึ่งเป็นข้าวเม่า ข้าวเหนียว และการเซ่นไหว้ด้วยของสุก เชื่อว่ามิใช่เป็นผีธรรมดา แต่เป็นคล้ายๆ กับเทพ ส่วนผู้ที่ทำหน้าที่นัดหมายวันทำพิธีและประกอบพิธีก็คือ "จ้ำ" ความเชื่อเรื่องขวัญ คนแต่ละคนมีขวัญอยู่ในร่างกายทำให้มีชีวิตและพลัง หากขวัญอยู่เป็นปกติดี ร่างกายก็แข็งแรง แต่ถ้าตกใจ ขวัญก็จะไม่อยู่ ออกห่างร่างไป หรือบางครั้งขวัญท่องเที่ยวหลงไปอย่างที่เรียกว่า "ขวัญหลง" หรือถูกจับไว้ทำให้เกิดความอ่อนแอ ต้องทำพิธี "ซ้อนขวัญ" หรือ ทำ "พิธีเสนแถนผีฟ้า" ติดต่อกับผู้ที่จับขวัญไว้ เพื่อขอขวัญคืนมา หากขวัญไม่คืนร่างก็ถึงแก่ความตาย - พิธีซ่อนขวัญ (ช้อนขวัญ) หรือการเรียกขวัญหลง ทำสำหรับเด็กที่นอนสะดุ้งร้องไห้ และงอแง สันนิษฐานว่าเพราะขวัญของเด็กหลงไปตามป่ากลับมาไม่ได้ ต้องเชิญแม่มดมาทำพิธี โดยเดินร้องเรียกขวัญและใช้สวิงช้อนให้กลับมา อาจทำสำหรับผู้ใหญ่ที่มีญาติสนิท - พิธีเรียกขวัญ หรือเสนแถนผีฟ้า (เสนน้อยจ้อย) ทำในกรณีที่เชื่อว่าขวัญของบรรพบุรุษคนป่วยได้ถูกแถนหรือลูกน้องแถนจับไว้ ผู้ทำพิธีไถ่ขวัญคืนมา คือ "แม่มด" พิธีเสนหัวเขา หรือเสนเป่าปี่ หรือเสนผีขึ้นเสือ หมอเสนจะทำให้กับผู้ป่วยที่อายุเกิน 60 ปี ขึ้นไปแล้ว เป็นการต่ออายุ มักทำตอนที่ผู้ป่วยมักมีอาการดีขึ้นบ้าง ผู้ประกอบพิธีมีหมอเสน 7 คน ทำหน้าที่ต่างๆ เช่น เป่าปี่ บอกจังหวะ พิธีทำศพและเผาศพ ขึ้นอยู่กับสภาพของผู้ตาย สาเหตุการตาย ถ้าหากผู้ตายอายุยังน้อย หรือตายด้วยอุบัติเหตุ การทำศพจะรวบรัด ทำพิธีทางพุทธอย่างเดียว เรียกว่า "พิธีสงฆ์" ถ้าผู้ตายอายุ 60 ปีขึ้นไป ตายด้วยโรคภัย มีฐานะมั่นคั่ง จะทำตามประเพณี ลาวโซ่งถือว่างานศพเป็นงานของชุมชนที่ต้องช่วยกัน ภายใต้การดูแลควบคุมของ "เขยกก" เจ้าของงานจะบอกให้เพื่อนบ้านรู้ด้วยเสียงปืน และมาช่วยกันทำความสะอาดศพ จัดเตรียมอาหารเลี้ยงแขก "ขอน" หรือศพจะถูกปกคลุมหรือสวมใส่ด้วยเสื้อฮี โดยเอาด้านลายปักสวยงาม ออกไว้ด้านนอก เขยกกจะผูกหัวแม่เท้าคนตายด้วยสายสิญจน์ ในโลงมีสิ่งของต่างๆ ของผู้ตาย เช่น มีด หรือหวี หลังจากนั้น จะเอาเสื้อฮีของคู่สมรสคลุมโลงศพไว้โดยเอาด้านในที่สวยงามออก ผู้ร่วมพิธีมี 3 ประเภท คือ ญาติร่วมผีเดียวกัน มักแต่งสีขาวไว้ทุกข์ ญาติด้วยการแต่งงาน จะใส่เสื้อฮี (เอาด้านที่ปักน้อยไว้ทางด้านนอก) เพื่อนบ้านหรือคนรู้จัก จะใส่ชุดอะไรก็ได้ พิธีศพได้ผสมผสานเอาพิธีพุทธเข้าไปด้วย ในตอนค่ำจะนิมนต์พระมาสวดศพที่บ้าน แต่ถ้าหากเสียชีวิตด้วยอุบัติเหตุก็เอาศพไปไว้ที่วัดหรือสวดที่วัด ในงานศพจะใช้เนื้อวัวเป็นอาหารหลัก ในวันรุ่งขึ้นหลังจากรับประทานอาหารแล้ว เขยกกก็จะทำหน้าที่บอก "ขอน" ว่าศพจะถูกพาไปป่าช้า หรือ ป่าแห้ว ซึ่งจะเป็นบ้านใหม่ของผู้ตาย เขยกกจะตัดสายสิญจน์ที่หัวแม่เท้าไว้ก่อนจะยกขบวนออกจากบ้านเขยกก จะทำพิธีซ่อนขวัญเพื่อป้องกันขวัญญาติผู้ตายมิให้ติดตามคนตายไป โดยใช้กระสา มีเสื้อผ้าของญาติผู้ตายรองก้นอยู่ซ้อนขวัญญาติของผู้ตายไว้ ทำพิธีตัดญาติขาดมิตรกับคนตาย เพื่อพรางคนตายจะได้ไม่มาเอาญาติไป เมื่อเสร็จพิธีแล้วจะหามศพลงจากบ้านไป มีเขยกกเป็นผู้นำขบวน ลูกชายคนโตของผู้ตายจะเดินนำศพ การเผาจะเก็บอัฐิบางส่วนไว้ ที่เหลือจะเก็บใส่หม้อฝังดินไว้ ต่อจากนั้น เขยกกจะทำบ้านจำลองเรียกว่า "เรือนแก้ว" แล้วจึงทำพิธีบอกทางผีและพิธีพาผีขึ้นเรือน พิธีปาดตง เมื่อผีขึ้นมาอยู่บนเรือน ผีจะกลับไปเมืองแถน และจะกลับมาเมื่อทำพิธีปาดตง หรือการเซ่นไหว้ผีบรรพบุรุษขนาดย่อมที่ลาวโซ่งจะทำเป็นประจำทุก 10 วัน สำหรับผู้น้อย และทุก 5 วัน สำหรับผู้ท้าว ความเชื่อในพุทธศาสนา วัดของหนองเลามีอายุเก่าแก่อาจถึง 150 ปี มีความสำคัญ (หน้า70)

Education and Socialization

ไม่มีข้อมูล

Health and Medicine

ไม่มีข้อมูล

Art and Crafts (including Clothing Costume)

ทอผ้า

Folklore

ไม่มีข้อมูล

Ethnicity (Ethnic Identity, Boundaries and Ethnic Relation)

เอกลักษณ์ของลาวโซ่ง : งานวิจัยมิได้ระบุเป็นหัวข้อเฉพาะ แต่พอสรุปได้ว่า เอกลักษณ์ของลาวโซ่ง ได้แก่ 1.ความเชื่อ มีความเชื่อเกี่ยวกับเรื่องผีด้วย เช่น ผีแถน ผีฟ้า การถือผีบรรพบุรุษ ศาลพ่อปู่ ความเชื่อเรื่องขวัญ ความเชื่อในพุทธศาสนา 2.ประเพณีและพิธีกรรม มีประเพณีและพิธีกรรมตามความเชื่อเรื่องผีอยู่มากมาย ได้แก่ พิธีเสนเรือน พิธีซ่อนขวัญ พิธีเรียกขวัญ หรือเสนแถนผีฟ้า พิธีเสนหัวเขา หรือเสนเป่าปี่ หรือเสนผีขึ้นเสือ พิธีทำศพและเผาศพ พิธีปาดตง 3. ความสัมพันธ์ในระบบเครือญาติ ได้แก่ สิ่ง และ ก๊อ 4. การแต่งกายแบบลาวโซ่ง เช่น การเกล้ามวย การสวมชุดลาวโซ่งและการสวมเสื้อฮีในพิธีกรรมต่างๆ 5. เรือนของลาวโซ่ง มีกว้าน สำหรับทำพิธีกรรมต่างๆ สัญลักษณ์ของเรือน มีขอกุด ไว้ที่หน้าจั่ว ทิศทางของการตั้งเรือนจะสัมพันธ์กับการตั้งศาลพ่อปู่

Social Cultural and Identity Change

สังคมและอัตลักษณ์ของลาวโซ่งเปลี่ยนแปลงไปตามกระแสความเปลี่ยนแปลงทางสังคมและการเมืองไทยในแต่ละยุคสมัย ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 มีการผลิตข้าวเพื่อการแลกเปลี่ยนมากขึ้น ชาวบ้านรับจ้างทำถนนเพชรเกษม มีการบริโภคสินค้านอกชุมชน เช่น ยารักษาโรค เครื่องนุ่งห่ม อุปกรณ์ทำนา ของใช้ เช่น สบู่ ยาสีฟัน ผงซักฟอก มีมากขึ้น วัฒนธรรมที่เคยเป็นสัญลักษณ์บ่งบอกความเป็นลาวโซ่ง ได้เปลี่ยนแปลงไป ในบรรดาลาวโซ่งรุ่นหลังๆ ถึงแม้จะยังพูดภาษาลาวโซ่งแต่ก็มีคำในภาษาไทยเข้าไปปะปนมากขึ้น ทรงผมของผู้หญิงก็ตัดสั้น ไม่ได้เกล้ามวยทรงต่างๆ ตามวัยอย่างในสมัยก่อน การแต่งกายและการไว้ทรงผมของคนรุ่นอายุเกิน 50 ปี ขึ้นไปเท่านั้นที่ยังยึดรูปแบบของลาวโซ่งไว้ คนรุ่นหลังจะแต่งตัวแบบลาวโซ่งน้อยลง ในแง่หลักการดำรงชีวิต เปลี่ยนสภาพจากการพึ่งตัวเองไปพึ่งตลาดมากขึ้น ทางด้านความเชื่อผู้อาวุโสอายุ 40 ปีขึ้นไป เชื่อว่าแถนมีอำนาจเหนือสรรพสิ่งทั้งหลาย คนรุ่นหลัง (ประมาณต่ำกว่า 40 ปีลงมา) มองว่าแถนมีความหมายต่อพวกเขาน้อยมาก เขา ให้ความสำคัญกับผีที่ใกล้ตัวอย่างผีพ่อปู่ และผีเฮือน ความสำคัญของ "สิ่ง" ในความหมายของลาวโซ่งดั้งเดิมเลือนรางไปมาก เพราะการนำระบบนามสกุลแบบตะวันตกมาใช้ในประเทศไทย ลาวโซ่งรุ่นหลังแทบจะไม่รู้ว่าเป็นสมาชิกของ "สิ่ง" ใด หรืออยู่ "สิ่ง" เดียวกันหรือไม่ การอพยพโยกย้ายไปอยู่ในถิ่นอื่น และการติดต่อมีน้อยลง สายสัมพันธ์ของการร่วม "สิ่ง" เดียวกันก็จืดจางไป แต่หากยังอยู่ในถิ่นใกล้เคียงกัน "สิ่ง" ก็ยังมีความหมายอยู่ เพราะเป็นสัญลักษณ์ของการถือผีเดียวกันมาก่อน ทางด้านพิธีกรรมต่างๆ พิธีศพแบบลาวโซ่งมีน้อยลงทุกที พิธีสงฆ์มีความสำคัญมากขึ้น จะมีความเชื่อในผีบรรพบุรุษเท่านั้นที่ดำรงอยู่อย่างแน่นแฟ้น

Critic Issues

ไม่มีข้อมูล

Other Issues

ไม่มี

Map/Illustration

แผนที่อำเภอเขาย้อยและแผนที่ลักษณะชุมชนหนองเลา (หน้า 18)

Text Analyst พัชรลดา จุลเพชร Date of Report 05 พ.ย. 2555
TAG ลาวโซ่ง ไทยโซ่ง ผู้ลาว โซ่ง ไตดำ, วิถีชีวิต, เพชรบุรี, Translator -
 
 

 

ฐานข้อมูลอื่นๆของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
  ฐานข้อมูลพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทย
จารึกในประเทศไทย
จดหมายเหตุทางมานุษยวิทยา
แหล่งโบราณคดีที่สำคัญในประเทศไทย
หนังสือเก่าชาวสยาม
ข่าวมานุษยวิทยา
ICH Learning Resources
ฐานข้อมูลเอกสารโบราณภูมิภาคตะวันตกในประเทศไทย
ฐานข้อมูลประเพณีท้องถิ่นในประเทศไทย
ฐานข้อมูลสังคม - วัฒนธรรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  หน้าหลัก
งานวิจัยชาติพันธุ์ในประเทศไทย
บทความชาติพันธุ์
ข่าวชาติพันธุ์
เครือข่ายชาติพันธุ์
เกี่ยวกับเรา
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  ข้อมูลโครงการ
ทีมงาน
ติดต่อเรา
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
ช่วยเหลือ
  กฏกติกาและมารยาท
แบบสอบถาม
คำถามที่พบบ่อย


ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) เลขที่ 20 ถนนบรมราชชนนี เขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ 10170 
Tel. +66 2 8809429 | Fax. +66 2 8809332 | E-mail. webmaster@sac.or.th 
สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2549    |   เงื่อนไขและข้อตกลง