สมัครสมาชิก   
| |
ค้นหาข้อมูล
ค้นหาแบบละเอียด
  •   ความเป็นมาและหลักเหตุผล

    เพื่อรวบรวมงานวิจัยทางชาติพันธุ์ที่มีคุณภาพมาสกัดสาระสำคัญในเชิงมานุษยวิทยาและเผยแผ่สาระงานวิจัยแก่นักวิชาการ นักศึกษานักเรียนและผู้สนใจให้เข้าถึงงานวิจัยทางชาติพันธุ์ได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น

  •   ฐานข้อมูลจำแนกกลุ่มชาติพันธุ์ตามชื่อเรียกที่คนในใช้เรียกตนเอง ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้ คือ

    1. ชื่อเรียกที่ “คนอื่น” ใช้มักเป็นชื่อที่มีนัยในทางเหยียดหยาม ทำให้สมาชิกกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ รู้สึกไม่ดี อยากจะใช้ชื่อที่เรียกตนเองมากกว่า ซึ่งคณะทำงานมองว่าน่าจะเป็น “สิทธิพื้นฐาน” ของการเป็นมนุษย์

    2. ชื่อเรียกชาติพันธุ์ของตนเองมีความชัดเจนว่าหมายถึงใคร มีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมอย่างไร และตั้งถิ่นฐานอยู่แห่งใดมากกว่าชื่อที่คนอื่นเรียก ซึ่งมักจะมีความหมายเลื่อนลอย ไม่แน่ชัดว่าหมายถึงใคร 

     

    ภาพ-เยาวชนปกาเกอะญอ บ้านมอวาคี จ.เชียงใหม่

  •  

    จากการรวบรวมงานวิจัยในฐานข้อมูลและหลักการจำแนกชื่อเรียกชาติพันธุ์ที่คนในใช้เรียกตนเอง พบว่า ประเทศไทยมีกลุ่มชาติพันธุ์มากกว่า 62 กลุ่ม


    ภาพ-สุภาษิตปกาเกอะญอ
  •   การจำแนกกลุ่มชนมีลักษณะพิเศษกว่าการจำแนกสรรพสิ่งอื่นๆ

    เพราะกลุ่มชนต่างๆ มีความรู้สึกนึกคิดและภาษาที่จะแสดงออกมาได้ว่า “คิดหรือรู้สึกว่าตัวเองเป็นใคร” ซึ่งการจำแนกตนเองนี้ อาจแตกต่างไปจากที่คนนอกจำแนกให้ ในการศึกษาเรื่องนี้นักมานุษยวิทยาจึงต้องเพิ่มมุมมองเรื่องจิตสำนึกและชื่อเรียกตัวเองของคนในกลุ่มชาติพันธุ์ 

    ภาพ-สลากย้อม งานบุญของยอง จ.ลำพูน
  •   มโนทัศน์ความหมายกลุ่มชาติพันธุ์มีการเปลี่ยนแปลงในช่วงเวลาต่างๆ กัน

    ในช่วงทศวรรษของ 2490-2510 ในสาขาวิชามานุษยวิทยา “กลุ่มชาติพันธุ์” คือ กลุ่มชนที่มีวัฒนธรรมเฉพาะแตกต่างจากกลุ่มชนอื่นๆ ซึ่งมักจะเป็นการกำหนดในเชิงวัตถุวิสัย โดยนักมานุษยวิทยาซึ่งสนใจในเรื่องมนุษย์และวัฒนธรรม

    แต่ความหมายของ “กลุ่มชาติพันธุ์” ในช่วงหลังทศวรรษ 
    2510 ได้เน้นไปที่จิตสำนึกในการจำแนกชาติพันธุ์บนพื้นฐานของความแตกต่างทางวัฒนธรรมโดยตัวสมาชิกชาติพันธุ์แต่ละกลุ่มเป็นสำคัญ... (อ่านเพิ่มใน เกี่ยวกับโครงการ/คู่มือการใช้)


    ภาพ-หาดราไวย์ จ.ภูเก็ต บ้านของอูรักลาโว้ย
  •   สนุก

    วิชาคอมพิวเตอร์ของนักเรียน
    ปกาเกอะญอ  อ. แม่ลาน้อย
    จ. แม่ฮ่องสอน


    ภาพโดย อาทิตย์    ทองดุศรี

  •   ข้าวไร่

    ผลิตผลจากไร่หมุนเวียน
    ของชาวโผล่ว (กะเหรี่ยงโปว์)   
    ต. ไล่โว่    อ.สังขละบุรี  
    จ. กาญจนบุรี

  •   ด้าย

    แม่บ้านปกาเกอะญอ
    เตรียมด้ายทอผ้า
    หินลาดใน  จ. เชียงราย

    ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ถั่วเน่า

    อาหารและเครื่องปรุงหลัก
    ของคนไต(ไทใหญ่)
    จ.แม่ฮ่องสอน

     ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ผู้หญิง

    โผล่ว(กะเหรี่ยงโปว์)
    บ้านไล่โว่ 
    อ.สังขละบุรี
    จ. กาญจนบุรี

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   บุญ

    ประเพณีบุญข้าวใหม่
    ชาวโผล่ว    ต. ไล่โว่
    อ.สังขละบุรี  จ.กาญจนบุรี

    ภาพโดยศรยุทธ  เอี่ยมเอื้อยุทธ

  •   ปอยส่างลอง แม่ฮ่องสอน

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ปอยส่างลอง

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดย เบญจพล  วรรณถนอม
  •   อลอง

    จากพุทธประวัติ เจ้าชายสิทธัตถะ
    ทรงละทิ้งทรัพย์ศฤงคารเข้าสู่
    ร่มกาสาวพัสตร์เพื่อแสวงหา
    มรรคผลนิพพาน


    ภาพโดย  ดอกรัก  พยัคศรี

  •   สามเณร

    จากส่างลองสู่สามเณร
    บวชเรียนพระธรรมภาคฤดูร้อน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   พระพาราละแข่ง วัดหัวเวียง จ. แม่ฮ่องสอน

    หล่อจำลองจาก “พระมหามุนี” 
    ณ เมืองมัณฑะเลย์ ประเทศพม่า
    ชาวแม่ฮ่องสอนถือว่าเป็นพระพุทธรูป
    คู่บ้านคู่เมืององค์หนึ่ง

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม

  •   เมตตา

    จิตรกรรมพุทธประวัติศิลปะไต
    วัดจองคำ-จองกลาง
    จ. แม่ฮ่องสอน
  •   วัดจองคำ-จองกลาง จ. แม่ฮ่องสอน


    เสมือนสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรม
    เมืองไตแม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ใส

    ม้งวัยเยาว์ ณ บ้านกิ่วกาญจน์
    ต. ริมโขง อ. เชียงของ
    จ. เชียงราย
  •   ยิ้ม

    แม้ชาวเลจะประสบปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัย
    พื้นที่ทำประมง  แต่ด้วยความหวัง....
    ทำให้วันนี้ยังยิ้มได้

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ผสมผสาน

    อาภรณ์ผสานผสมระหว่างผ้าทอปกาเกอญอกับเสื้อยืดจากสังคมเมือง
    บ้านแม่ลาน้อย จ. แม่ฮ่องสอน
    ภาพโดย อาทิตย์ ทองดุศรี
  •   เกาะหลีเป๊ะ จ. สตูล

    แผนที่ในเกาะหลีเป๊ะ 
    ถิ่นเดิมของชาวเลที่ ณ วันนี้
    ถูกโอบล้อมด้วยรีสอร์ทการท่องเที่ยว
  •   ตะวันรุ่งที่ไล่โว่ จ. กาญจนบุรี

    ไล่โว่ หรือที่แปลเป็นภาษาไทยว่า ผาหินแดง เป็นชุมชนคนโผล่งที่แวดล้อมด้วยขุนเขาและผืนป่า 
    อาณาเขตของตำบลไล่โว่เป็นส่วนหนึ่งของป่าทุ่งใหญ่นเรศวรแถบอำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี 

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   การแข่งขันยิงหน้าไม้ของอาข่า

    การแข่งขันยิงหน้าไม้ในเทศกาลโล้ชิงช้าของอาข่า ในวันที่ 13 กันยายน 2554 ที่บ้านสามแยกอีก้อ อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย
 
  Princess Maha Chakri Sirindhorn Anthropology Centre
Ethnic Groups Research Database
Sorted by date | title

   Record

 
Subject อาข่า,สถาปัตยกรรม,การตั้งถิ่นฐาน,หลวงน้ำทา,เชียงราย
Author คาราเต้ สินชัยวอระวงศ์
Title การศึกษาเปรียบเทียบการตั้งถิ่นฐานและสถาปัตยกรรมของชนกลุ่มน้อยเผ่าอาข่าระหว่างแขวงหลวงน้ำทาสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวและจังหวัดเชียงรายประเทศไทย
Document Type รายงานการวิจัย Original Language of Text ภาษาไทย
Ethnic Identity อ่าข่า, Language and Linguistic Affiliations จีน-ทิเบต(Sino-Tibetan)
Location of
Documents
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร Total Pages 111 Year 2546
Source คณะวิศวกรรมศาสตร์ และสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยแห่งชาติลาว และคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
Abstract

เป็นการศึกษาการเปรียบเทียบการตั้งถิ่นฐานและสถาปัตยกรรมของชนเผ่าอาข่า ที่แขวงหลวงน้ำทาประเทศลาว กับอาข่าในจังหวัดเชียงรายของประเทศ ซึ่งในงานศึกษากล่าวถึงรูปแบบการตั้งถิ่นฐานวิถีการดำเนินชีวิต ทั้งด้านจารีตประเพณี รูปแบบทางสังคมและการปกครอง ทั้งนี้ ยังได้เปรียบเทียบ รูปแบบสถาปัตยกรรมการสร้างบ้านของอาข่าทั้งสองแห่ง ซึ่งรูปแบบสถาปัตยกรรมการสร้างบ้านของอาข่าแขวงหลวงน้ำทายังคงรูปแบบสถาปัตยกรรมแบบเดิมอยู่ ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปมากนัก ส่วนรูปแบบการสร้างบ้านของหมู่บ้านแสนใจใหม่และบ้านอาโยะอนามัย บ้านเรือนส่วนใหญ่ไม่เป็นรูปแบบอาข่าเต็ม 100 % มีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบเป็นแบบสมัยใหม่ เปลี่ยนรูปทรง และสาเหตุที่ทำให้เปลี่ยนรูปทรง ก็เพราะว่าหาวัสดุอย่างเดิมไม่ได้ อีกอย่างหนึ่งคือสร้างบ้านอยู่อย่างถาวรแล้วไม่ย้ายไปอยู่ที่อื่นอีกแล้ว จากการเปรียบเทียบการตั้งถิ่นฐานของหมู่บ้านทั้งสองแห่ง จะเห็นได้ถึงความแตกต่างของการตั้งถิ่นฐาน ซึ่งแต่ละแห่งก็จะมีลักษณะการเปลี่ยนแปลงที่แตกต่างกันออกไป (หน้า 2, 6-31, 35, 36, 46, 57, 58, 68, 69, 76-108)

Focus

ศึกษาเปรียบเทียบการตั้งถิ่นฐาน และสถาปัตยกรรมของเผ่าอาข่าที่แขวงหลวงน้ำทาสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวกับเผ่าอาข่าที่อยู่ในจังหวัดเชียงรายของประเทศไทย (หน้า 2)

Theoretical Issues

ไม่มี

Ethnic Group in the Focus

อาข่าหรืออีก้อเป็นชนชาติที่สืบเชื้อสายมาจากชนชาติโลโลในจีนตอนใต้ (หน้า 4)

Language and Linguistic Affiliations

อาข่ามีการพูดเป็นของตนเอง การพูดของอาข่าจัดอยู่ในตระกูลภาษาธิเบต-พม่า สาขาโลโล-พม่า ลักษณะภาษาอาข่าคล้ายคลึงกับมองมูเซอ และลีซอ ซึ่งจัดอยู่ในตระกูลภาษาเดียวกัน การพูดของอาข่าจะออกเสียงพยางค์เดียว มีเสียงสูงต่ำ พยัญชนะคำสุดท้ายจะออกเสียงควบกล้ำยากมาก คำบางคำมีรากศัพท์มาจากภาษาอื่นอย่างเช่น ภาษาจีน พม่า ไทยใหญ่ และไทยภาคเหนือ ผู้ชายอาข่าจะมีความรอบรู้ทางภาษาต่างเผ่าดีพอสมควร เห็นได้จากการที่ พวกเขาสามารถพูดและเข้าใจภาษามูเซอ ลีซอ ไทยใหญ่ จีน พม่า และคำเมืองทางภาคเหนือได้ และอาข่าที่ลาวพูดภาษาลื้อ ไทยใหญ่ และภาษาลาวได้ ส่วนผู้หญิงจะพูดและเข้าใจภาษาอื่นได้น้อยมาก เพราะไม่มีโอกาสที่จะติดต่อกับบุคคลนอกเผ่า ส่วนอาข่าในประเทศพม่าก็พูดภาษาไทยใหญ่เป็นภาษากลางที่ใช้ติดต่อกับชนเผ่าอื่น (หน้า 4, 5)

Study Period (Data Collection)

ไม่ระบุ

History of the Group and Community

ประวัติความเป็นมาของชนเผ่าอาข่าไม่เป็นที่แน่ชัดนัก นักมานุษยวิทยาชาวเยอรมันได้กล่าวว่า อาข่ามีถิ่นฐานเดิมอยู่ตามบริเวณภูเขาสูงทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ และทิศตะวันตกเฉียงใต้ของจีน อาข่าจะพบมากที่มณฑลยูนนาน แคว้นสิบสองปันนา และมณฑลไกวเจา แต่เดิมอาข่ามีอาณาจักรอิสระเป็นของตนเอง อยู่ที่บริเวณกับแม่น้ำไทฮั่วสุ่ย หรือแม่น้ำดอกท้อในแคว้นทิเบต แล้วถูกชนชาติอื่นรุกราน จึงถอยลงมาทางใต้ เข้าสู่มณฑลยูนนานและไกวเจา เป็นเวลานานถึง 4,000 ปี ต่อมาพรรคคอมมิวนิสต์เข้าครอบครองแผ่นดินของจีน ชนเผ่าอาข่าและชนเผ่าอื่นอีกหลายเผ่าก็ได้อพยพมาทางใต้ อยู่กระจัดกระจายเข้าไปอยู่ในแคว้นเชียงตุงทางตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศพม่า แคว้นหัวโขงทางภาคตะวันตก แขวงพงสาลี และหลวงน้ำทาทางเหนือของประเทศลาว และจังหวัดเชียงรายของประเทศไทย แต่ไม่รู้ว่าได้อพยพมาเมื่อปี พ.ศ. ใด แต่ก็สันนิษฐานว่านานกว่า 100 ปีมาแล้ว ในปี พ.ศ 2490 อาข่าได้อพยพเข้าสู่เขตพม่าเรื่อยๆ แต่ถูกพวกจีนฮ่อรบกวนจนไม่มีที่ทำกิน พวกที่เหลือก็อพยพเข้าสู่พม่าและลาว การอพยพของเผ่าอาข่าจะอพยพกันไปตอนกลางคืน เพื่อหลบทหารพบเห็นศัตรูและละทิ้งสมบัติไว้ก่อนตาย การอพยพระยะหลังนี้ก็ในช่วงสถานการณ์ทางการเมืองของพม่าและลาวเกิดการเปลี่ยนแปลง อาข่าจึงอพยพคนเช่นนี้อยู่เป็นประจำจนถึงปัจจุบันนี้ จึงกลายเป็นว่าอาข่าไม่มีจิตสำนึกว่าประเทศใดเป็นบ้านที่แท้จริงของพวกเขา เมื่อเผชิญปัญหาต่างๆ พวกเขาก็อพยพโยกย้ายกันอยู่เรื่อยๆ จนไม่มีที่สิ้นสุด (หน้า 5) - หมู่บ้านเออหล้าเป็นหมู่บ้านที่ย้ายมาจากเออหล้าเก่า เขตเชียงแขง อ. เมืองลอง ซึ่งอยู่ใกล้เขตชายแดนลาว - พม่า ปี พ.ศ 2493 ได้ย้ายมาตั้งอยู่ห่างจากตัวอำเภอเมืองลองไปทางใต้ 15 ก.ม. สาเหตุที่ย้ายมาอยู่นี้ก็เพราะต้องการมีที่ทำกินที่มั่นคงมีพื้นที่ทำนาและอีกประการหนึ่งก็คือ ทางรัฐบาลต้องการให้ชาวเขายุติการบุกรุกพื้นที่ป่าเพื่อการทำไร่ เพราะนอกจากจะได้ผลผลิตน้อยแล้ว ยังเป็นการทำลายธรรมชาติอีกด้วย พวกเขาจึงย้ายเข้ามาอยู่ในพื้นที่ปัจจุบันแห่งนี้ (หน้า 32) - หมู่บ้านหลักคำใหม่ก็เป็นอีกหมู่บ้านหนึ่งที่ย้ายมาจากบ้าน-หลักคำเก่าที่อยู่ติดกับเขตชายแดนลาว-จีน เมื่อปี พ.ศ. 2498 หมู่บ้านนี้ตั้งอยู่ห่างจากตัวอำเภอเมืองสิงห์ไปทางทิศตะวันออกประมาณ 30 กิโลเมตร เริ่มแรกของการก่อตั้งมีประชากรเพียง 20 หลังคาเรือน ภายหลัง มีการอพยพมาเพิ่มอีกรวมประชากรทั้งหมดมี 42 หลังคาเรือน สาเหตุที่พวกเขาย้ายมาอยู่ในพื้นที่แห่งนี้เพราะอยู่ห่างไกลจากตัวเมืองทำให้การดำรงชีวิตเป็นไปในทางที่ยากลำบาก ในการติดต่อกับหน่วยงานราชการ ดังนั้นทางภาครัฐจึงมีนโยบายให้อาข่ากลุ่มนี้อพยพลงมาสู่ที่ราบ เพื่อเป็นการยุติการบุกรุกพื้นที่ป่าในการทำไร่ ซึ่งเป็นสาเหตุของการทำลายธรรมชาติ และหัวหน้าเผ่าที่ชื่อชาเปียว จึ งเป็นผู้นำในการอพยพมาตั้งถิ่นฐานในบ้านหลักคำใหม่แห่งนี้ (หน้า 42) - หมู่บ้านแสนใจใหม่ได้อพยพมาจากบ้านแสนใจเก่า ซึ่งอยู่ห่างออกไปทางทิศตะวันออก 7 กิโลเมตร เมื่อ 53 ปีก่อน ในปี พ.ศ. 2492 ได้ย้ายมาตั้งถิ่นฐานอยู่ห่างจากตัวอำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงรายขึ้นไปทางทิศเหนือ 15 กิโลเมตร มีประชากรทั้งหมด 61 หลังคาเรือน จำนวน 473 คน สาเหตุที่อพยพมาอยู่ในพื้นที่แห่งนี้ เพราะเกิดการผิดใจกันเองภายในหมู่บ้านแสนใจเก่า เพราะตอนนั้นหัวหน้าเผ่าชื่อแสนใจเสียชีวิต จึงเกิดการแย่งชิงตำแหน่งหัวหน้าเผ่า และคนที่ได้ตำแหน่งก็คือ ผู้ช่วยหัวหน้าเผ่า แล้วลูกชายคนโตของพ่อแสนใจชื่อ แชะเชาะ เกิดความไม่พอใจก็ชักชวนญาติพี่น้องและคนอื่นๆ ที่ไม่พอใจ ย้ายออกมาตั้งหมู่บ้านใหม่ก็คือ หมู่บ้านแสนใจในปัจจุบันนี้ ส่วนบ้านแสนใจเก่าได้ย้ายจากดอยตุงมาเมื่อ 70 กว่าปีก่อนในช่วงที่ขุนส่ายังเคลื่อนไหวอยู่ โดยมีพ่อแสนอุ่นเป็นหัวหน้าเผ่า (หน้า 54) - หมู่บ้านอาโยะอนามัยได้อพยพย้ายมาจากหมู่บ้านอาโยะใหม่ที่อยู่ห่างออกไปทางทิศตะวันตก 4 ก.ม. เมื่อ 27 ปีก่อน พ.ศ. 2518 ก็ได้ย้ายมาอยู่ที่เนินเขาแห่งนี้ ซึ่งอยู่ห่างจากศูนย์พัฒนาสงเคราะห์ชาวเขา อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย 8 กิโลเมตร สาเหตุที่อพยพเข้ามาอยู่ในพื้นที่ปัจจุบันนี้ก็เพราะพ่อของผู้ใหญ่บ้านคนปัจจุบันไม่พอใจหัวหน้าเผ่าของหมู่บ้านอาโยะใหม่จึงพาครอบครัวและญาติๆ อพยพมาตั้งหมู่บ้านใหม่อยู่ใกล้กับสถานีอนามัยแห่งนี้จึงใส่ชื่อหมู่บ้านว่า อาโยะอนามัย เริ่มแรกของการก่อตั้งหมู่บ้านมีประชากรอยู่แค่ 6 หลังคาเรือนเท่านั้น จากนั้นก็มีการย้ายเข้ามาอยู่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ (หน้า 65)

Settlement Pattern

อาข่าจะนิยมตั้งถิ่นฐานตามภูเขาที่มีความสูงเหนือระดับน้ำทะเล ประมาณ 3,000 - 4,000 ฟุต ภูเขาที่เป็นที่ตั้งของหมู่บ้านต้องเป็นพื้นที่กว้างขวางพอไว้เป็นที่ชุมนุมของชาวบ้านในการทำพิธีกรรมและงานฉลองต่างๆ ก็เป็นที่สำหรับให้เด็กได้วิ่งเล่นด้วย ทั้งนี้หมู่บ้านต้องไม่อยู่ห่างไกลจากแหล่งน้ำมากนัก โดยปกติแล้วแหล่งน้ำจะอยู่บริเวณหุบเขาใกล้กับหมู่บ้าน อาข่าจะไม่นิยมต่อรางน้ำเข้ามาใช้ในหมู่บ้านเหมือนชาวเขาเผ่าอื่นเพราะอาข่าเชื่อว่าผีน้ำจะนำอันตรายเข้าสู่ชาวบ้านได้ ในการตั้งหมู่บ้านหัวหน้าหมู่บ้าน หัวหน้าพิธีกรรม ช่างตีเหล็ก และผู้อาวุโสของหมู่บ้านจะหารือกันเพื่อเลือกสถานที่ หากตกลงใจกันเลือกสถานที่ได้แล้ว หัวหน้าพิธีกรรมจะทำพิธีเสี่ยงทายขอสถานที่จากผีเจ้าที่โดยใช้ไข่ไก่ 3 ฟอง ฟองแรก ปล่อยลงจากใบหูไปกระทบพื้นพร้อมกับปล่อยแมวออกไปเดิน หากแมวเดินไปตรงกลางหลุมและไข่แตกถือว่าดี แต่ถ้าไข่ไม่แตกก็จะเสี่ยงทายอีกจนครบ 3 ฟอง หากไข่ 3 ฟองไม่แตก ถือว่า เจ้าที่ไม่อนุญาตให้ตั้งหมู่บ้าน (เคยมีปรากฏการณ์เช่นนี้มาแล้ว) หากดื้อดึงต่อการเสี่ยงทาย หมู่บ้านนั้นก็จะประสบแต่ความหายนะ อาข่าถือหลักการตั้งหมู่บ้านว่า ภูเขาที่ตั้งหมู่บ้านควรจะเป็นภูเขาลูกกลางที่ล้อมรอบไปด้วยภูเขาสูง เพราะภูเขาที่มีลักษณะเช่น นี้จะทำให้หมู่บ้านอยู่เป็นสุขทำอะไรก็ได้ผลเจริญงอกงาม แต่ปัจจุบันมีการเลือกที่ตั้งหมู่บ้านไม่ค่อยมีความสำคัญมากนัก แต่ให้หมอผีดูกระดูกขาไก่ก่อนว่า ถ้าขาไก่มีรูก็เชื่อว่าดี หากขาไก่ไม่มีรูถือว่าเป็นการผิดธรรมชาติ เชื่อกันว่าผีไม่อนุญาตให้ตั้งหมู่บ้านในที่นั้น ต้องหาที่ใหม่ นอกจากนี้ ถ้าบริเวณที่จะตั้งหมู่บ้านมีจอมปลวกอยู่ถือว่าดี เพราะจอมปลวกเป็นที่สิงสถิตของผีประจำหมู่บ้าน และผีประจำหมู่บ้านจะช่วยดูแลคุ้มครองชาวบ้านให้อยู่ดีมีสุข (หน้า 24, 25, 34) (ลักษณะโครงสร้างบ้านดูหัวข้อ Art and Craft)

Demography

จำนวนประชากรอาข่าที่อยู่แขวงหลวงน้ำทา ประเทศลาว มีจำนวนประชากรทั้งหมด 30,153 คน มีจำนวนครัวเรือน 133 หมู่บ้าน อำเภอเมืองสิงห์มีหมู่บ้านอาข่า 58 หมู่บ้าน มีประชากรอาข่า 12,182 คน - หมู่บ้านเออหล้าใหม่มีประชากรทั้งหมด 315 คน มีจำนวนครัวเรือน 63 หลังคาเรือน - บ้านหลักคำใหม่มีอาข่า จำนวน 42 หลังคาเรือน มีประชากรทั้งหมด 252 คน จังหวัดเชียงราย ประเทศไทย - หมู่บ้านแสนใจใหม่ มีจำนวนครัวเรือนทั้งหมด 61 หลังคาเรือน มีประชากร 473 คน - บ้านอาโยะอนามัย มีอาข่าจำนวน 53 หลังคาเรือน มีประชากรทั้งหมด 274 คน (หน้า 32, 42, 64, 65)

Economy

ระบบเศรษฐกิจของอาข่าเป็นเศรษฐกิจแบบยังชีพ ไม่คิดที่จะหาความร่ำรวย มีแต่การทอผ้า ทำถุงย่าม หน้าไม้ และเครื่องใช้ในครัวเรือนที่ทำด้วยไม้ไผ่ อย่างตะกร้า กระชุ ที่ดักนกเท่านั้นที่นำมาขายให้กับคนภายนอก ที่มาเที่ยวในหมู่บ้านบ้าง อาข่ามุ่งแต่เพียงว่า ทำอย่างไรจึงจะมีกินมีใช้ตลอดปี ส่วนเรื่องการเลี้ยงสัตว์ สัตว์เลี้ยงนิยมเลี้ยงหมู ไก่ วัว แมว ม้า สุนัข นก และเลี้ยงไว้แค่เพียงพอในการประกอบพิธีกรรมเท่านั้น การทำเกษตรเป็นอาชีพหลักของอาข่า ผลผลิตที่เหลือจากการบริโภคจะนำไปขาย เพื่อนำเงินมาใช้จ่ายหาซื้อของจำเป็นมาใช้ในครอบครัว อาข่าทำการเกษตรแบบทำไร่เลื่อนลอยโค่นถางเผาป่า เมื่อดินจืดก็ย้ายไปหาที่ทำกินใหม่ พืชไร่ที่อาข่านิยมปลูกคือ ฝิ่น ข้าวโพด ข้าวฟ่าง พริก แตง ผักกาด ถั่ว มัน เผือก ฟัก น้ำเต้า อ้อย ยาสูบ และพืชผักต่าง ๆ เช่น ผักชี ผักหอม กระเทียม เป็นต้น ในเรื่องการค้าขาย หากเทียบกับชาวเขาเผ่าอื่น ๆ อาข่าจะไม่ค่อยนิยมค้าขาย มีค้าขายบ้างเพื่อให้ได้เงินมาซื้อสิ่งของจำเป็น ไม่ได้หวังผลกำไร ตัวอย่างเช่น นำเงินไปซื้อเสื้อผ้า เครื่องประดับ อาหาร บางครั้งก็จะนำเงินไปซื้อฝิ่นบ้าง แต่ไม่มากนัก สินค้าที่อาข่านำไปขายก็คือ ผักกาด งา ข้าวโพด พริก ผักต่าง ๆ เป็นต้น นอกจากนั้น ยังมีของป่า เช่น เห็ด ใบกล้วยป่า เขาและหนังสัตว์ และต้นอ้อที่เก็บไปขายได้ จะเห็นได้ว่าเศรษฐกิจของอาข่าเป็นเศรษฐกิจเพื่อการยังชีพมากกว่า สำหรับฝิ่นตั้งแต่รัฐบาลประกาศให้ฝิ่นเป็นสิ่งผิดกฏหมาย อาข่าจึงปลูกน้อยลง แต่ฝิ่นก็ยังเป็นพืชที่ทำรายได้ให้เป็นอย่างดี

Social Organization

ครอบครัวของอาข่าครัวเรือนหนึ่งอาจมีหลายครอบครัวอยู่ร่วมกัน ครอบครัวของอาข่าเป็นครอบครัวขยายทางฝ่ายพ่อ แต่ละครอบครัวอาจจะมี ปู่ ย่า พ่อแม่ ลูก สะใภ้และหลาน ครัวเรือนเป็นศูนย์กลางของการประกอบพิธีกรรมและเศรษฐกิจ เมื่อหัวหน้าครอบครัวตายลง ลูกชายคนโต ที่ยังอยู่ในครัวเรือนจะต้องเป็นผู้ที่รับผิดชอบเป็นหัวหน้าครัวเรือนและรับช่วงหิ้งผีบรรพบุรุษแทนพ่อของตน แต่ในกรณีที่ลูกชายคนโตยังเล็กอยู่ ภรรยาของหัวหน้าครอบครัวก็เป็นหัวหน้าครอบครัวแทน อาข่าจะสืบสกุลทางฝ่ายพ่อ เห็นความสำคัญของฝ่ายชายมากกว่าฝ่ายหญิง ลูกชายเท่านั้นที่เป็นผู้สืบสกุล ผู้ชายทุกคนต้องมีความรู้เกี่ยวกับสกุลของฝ่ายตนและฝ่ายภรรยา ลูกชายคนโตต้องเป็นผู้รับผิดชอบในการรักษาสกุลไว้ และต้องถ่ายทอดให้น้องของตนได้รู้ต่อไป อาข่ามีข้อห้ามในการแต่งงาน คือ ห้ามไม่ให้ชายหญิงที่อยู่ในตระกูลเดียวกันแต่งงานกัน เพราะว่าเป็นสิ่งไม่ดี การจัดพิธีศพ การจัดพิธีศพจะต้องจัดให้ถูกต้องตามสายสกุล ว่าผู้ตายอยู่ในสกุลใด ก็ต้องไปอยู่ตามสายสกุลนั้น เพื่อที่จะได้ขอความช่วยเหลือจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์และผีบรรพบุรุษประจำะตระกูลได้ ระบบเครือญาติของอาข่ามีความผูกพันกับบรรพบุรุษ พิธีกรรม และการสืบสกุล คนที่ไม่ใช่อาข่า แม้ได้รับการยอมรับให้อยู่ในหมู่บ้านได้ หรือได้แต่งงานกับคนอาข่า แต่ก็ไม่ได้รับความคุ้มครองจากผีบรรพบุรุษ และไม่อาจจะถือสกุลของอาข่าได้ ผู้หญิงหากแต่งงานไปก็จะขาดจากสกุลเดิม โดยไปใช้สกุลของฝ่ายสามีแทน หากผู้หญิงนั้นหย่าขาดจากสามีในภายหลังก็สามารถกลับไปใช้สกุลเดิมของพ่อตนเองได้อีก ช่างตีเหล็ก (บะจี) ทำหน้าที่ผลิตเครื่องมือ เครื่องใช้ทางการเกษตร ให้กับชาวบ้าน มีผิมะหรือหมอผี คอยทำหน้าที่ในการประกอบพิธีกรรมต่างๆ มีผู้อาวุโสประจำหมู่บ้าน (อะเบาะเชาะ หม่อ) เป็นที่เคารพนับถือของชาวบ้าน หากคนในหมู่บ้านกระทำความผิด หัวหน้าเผ่าจะเป็นผู้ลงโทษ แต่หากเป็นโทษที่ร้ายแรง ทางราชการจะเป็นผู้ตัดสิน (หน้า 33, 43, 55, 66)

Political Organization

อาข่ามีหัวหน้าหมู่บ้านเป็นผู้ปกครองหมู่บ้านและมีผู้ช่วยคอยทำหน้าที่ช่วยเหลือผู้นำหมู่บ้าน พวกเขาเชื่อว่าชนเผ่าของเขาอยู่ภายใต้การปกครองของชนเผ่าอื่น แม้แต่ชุมชนหมู่บ้านเล็กๆ ก็อยู่ภายใต้ปกครองของหัวหน้าหมู่บ้านที่ใหญ่กว่า ซึ่งอยู่ในบริเวณใกล้เคียง แต่มีไม่มากนัก การปกครองของเผ่าอาข่า แยกออกเป็น 2 ลักษณะคือ 1. การปกครองโดยหัวหน้าหมู่บ้าน หัวหน้าหมู่บ้านมีหน้าที่ในการรักษาระเบียบของหมู่บ้าน และร่วมพิธีกรรมต่างๆ ของชุมชน ตำแหน่งหัวหน้าหมู่บ้านต้องสืบเชื้อสายมาจากหัวหน้าคนก่อนๆ เมื่อหัวหน้าตายลงลูกชายคนโตที่ยังอยู่ในหมู่บ้านนั้นต้องรับตำแหน่งแทน หากไม่มีผู้ชายก็ให้ญาติที่ใกล้ชิดที่สุดรับตำแหน่ง การเป็นหัวหน้าโดยการสืบสกุลนี้ ในทางปฎิบัติมีการผูกขาดถือปฎิบัติกันอย่างเข้มงวดโดยไม่มีการเปลี่ยนแปลง หากหัวหน้าตายลงโดยไม่มีทายาทสืบทอดตำแหน่ง บุคคลที่มิได้สืบเชื้อสายของหัวหน้ามาก่อน อาจจะได้รับเลือกให้เป็นหัวหน้าหมู่บ้านได้ โดยการเสนอชื่อให้ชุมชนหมู่บ้านรับรอง แต่การเป็นหัวหน้าโดยวิธีนี้เป็นการทำผิดประเพณี ถือว่าไม่ดี อาข่าเชื่อกันว่า การรับตำแหน่งอาจจะพบกับความหายนะได้ แต่ในกรณีที่บางคนได้รับการแต่งตั้งจากเจ้าหน้าที่ของรัฐ ทั้งที่มิได้สืบเชื้อสายหัวหน้าและชาวบ้านก็ไม่ได้เห็นชอบด้วย แต่ก็ไม่ได้เกิดความยุ่งยากแต่อย่างใด หัวหน้าหมู่บ้านอาจถูกถอดถอนจากตำแหน่งได้ หากปฎิบัติหน้าที่ไม่เป็นที่พอใจ เอารัดเอาเปรียบชาวบ้าน ชาวบ้านอาจเสนอเรื่องราว ต่อคณะกรรมการหมู่บ้าน ให้พิจารณาถอดถอนออกจากตำแหน่งนี้หรือ บีบบังคับให้ลาออก 2. การปกครองโดยคณะกรรมการหมู่บ้าน คณะกรรมการหมู่บ้านประกอบด้วย หัวหน้าหมู่บ้าน หัวหน้าพิธีกรรม (หยื่อมะ) ช่างตีเหล็ก (บะจี) ผู้มีความรู้ ผู้ช่วยหัวหน้าหมู่บ้าน หมอผี (ผีมะ) และบรรดาผู้อาวุโส (อาบอชอเหมาะ) คณะกรรมการหมู่บ้านนี้มีบทบาทในการตัดสินเรื่องต่างๆ ในชุมชน เช่น การจัดพิธีกรรมประจำปี เทศกาลประจำปี การย้ายหมู่บ้าน และการพิจารณาความผิดที่สำคัญของสมาชิกในหมู่บ้าน เป็นต้น หัวหน้าหมู่บ้านและหัวหน้าพิธีกรรมมีหน้าที่รักษาความเป็นระเบียบเรียบร้อยของหมู่บ้าน คอยดูแลให้ชาวบ้านปฎิบัติตามประเพณีของเผ่า หากมีการละเมิดกฎ ก็จะถูกไต่สวนและพิจารณาโทษ โทษโดยทั่วไปคือปรับ นอกจากนี้ผู้กระทำผิด ต้องทำพิธีเซ่น สรวงต่อผีและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เพื่อเป็นการขอขมาในสิ่งที่ได้ทำลงไป อาข่าที่อยู่ในประเทศไทยจะชำระเงินค่าปรับเป็นเงินไทย ส่วนในพม่าและลาวจะเสียค่าปรับด้วยเงินรูปี และเงินพม่า ในกรณีที่ผู้กระทำผิดไม่ยอมรับคำตัดสิน ไม่ยอมเสียค่าปรับ คณะกรรมการหมู่บ้านจะบังคับให้ปฏิบัติตามโดยยึดทรัพย์สินมาขาย เพื่อชำระค่าปรับ เท่าอัตราที่ปรับและเนรเทศให้บุคคลนั้นออกจากหมู่บ้านไป แต่ก็ไม่เคยมีปรากฏให้เห็น (หน้า 6, 7)

Belief System

ศาสนาที่อาข่านับถือคือ การนับถือภูตผีปีศาจและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เน้นหนักไปในทางนับถือผีบรรพบุรุษ ศาสนาของอาข่ามีลักษณะผสมระหว่างลัทธิภูตผีกับลัทธิความเชื่อของศาสนาอื่นๆ เช่น ได้รับเอาลัทธิการปฏิบัติตามแบบอย่างศาสนาพุทธ เป็นต้น ความเชื่อทางศาสนาของอาข่าแบ่งออกเป็น 2 ลักษณะคือ 1. การนับถือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เทพเจ้าที่อาข่านับถือและให้ความสำคัญมากที่สุด คือ เทพเจ้าอะผื่อหมิแย ซึ่งพวกเขาเชื่อว่าเป็นบรรพบุรุษที่เป็นเทวดา เป็นผู้สร้างทุกสิ่งทุกอย่างในโลก เป็นเจ้าแห่งสวรรค์และพำนักอยู่ที่บนสวรรค์ เทพเจ้าอะผือหมิแยมีน้องชายชื่อว่าเทพยะบิ๊เอ่อลอง ได้รับคำบัญชาจากพี่ชายให้สร้างโลกดูและชีวิตทั้งหลายที่เกิดมา อาข่าเชื่อว่าเทพเจ้าทั้งสองคนนี้มีตัวตนจริงๆ แต่ไม่มีผู้ใดที่ได้พบเห็น นอกจากนี้ ยังมีเทพเจ้าอีกหลายองค์ที่พวกเขาให้ความนับถืออย่าง "อึ่มซา" เป็นเทพเจ้าแห่งลม "อึมแยะ" เป็นเทพเจ้าแห่งฝน "อะกือ" เป็นเทพเจ้าแห่งแสงสว่าง ซึ่งเป็นผู้ควบคุมการโคจรของดวงอาทิตย์และดวงดาว จะอย่างไรก็ตาม พวกเขาต้องคอยเอาอกเอาใจเทพทั้งหลาย ต้องเซ่นสรวงให้ดี โดยมีหัวหน้าพิธีกรรม ยื่อมะและผู้รู้แห่ง หมู่บ้าน ผิมะที่เป็นผู้ติดต่อกับเทพเจ้าได้ 2. การนับถือผีหรือแหนะผีมีบทบาทต่อวิถีชีวิตของอาข่าจนแยกไม่ออก การทำพิธีกรรมต่างๆ พวกเขาต้องนึกถึงและระวังไม่ให้ ผีโกรธ ผีมีทั้งผีดีและผีร้าย พวกเขาเชื่อกันว่าผีร้ายเป็นเหตุแห่งความชั่วทั้งหลายทั้งปวง อย่างเช่นความเจ็บป่วย ความขาดแคลน ความอดอยากยากแค้น ผีร้ายเป็นผีที่โกรธง่ายชอบทำร้ายคน หากใครทำให้ผีโกรธก็ต้องรีบหาของมาเซ่นเพื่อเป็นการขอขมาต่อผี ตามที่ผีต้องการไม่มีใครที่จะสามารถขัดขืนความต้องการของผีได้ หากมีใครขัดขืน จะทำให้ได้รับความเดือดร้อนมากขึ้น และผีดีก็คือผีบรรพบุรุษ เป็นผีที่อาข่าให้ความเคารพนับถือมากรองจากเทพเจ้าอะผือมิแย พวกเขาจะสร้างหิ้งผีบรรพบุรุษไว้ในห้องนอนของผู้หญิง ปีหนึ่งๆ จะมีการทำพิธีเซ่นนสรวง 9 ครั้ง ตามพิธีของชุมชน นอกจากนี้ก็ยังมี ผีป่า ผีภูเขา ผีดิน ผีไร่ ผีน้ำ ผีทางเดิน ผีสายรุ้ง ผีกระสือ ที่อาข่านับถือและจะระวังป็นอย่างมาก พยายามจะไม่เข้าใกล้ หากไปทำอะไรให้ผีเหล่านี้ไม่พอใจ ผีที่ไม่ดีอาจจะทำร้ายเอาได้ ด้านความเชื่ออาข่ามีความเชื่อเกี่ยวกับการเกี้ยวพาราสีว่า ถ้าเกี้ยวพาราสีในบ้านถือเป็นการไม่เคารพต่อผีบรรพบุรุษและจะถูกสาปแช่งให้ได้รับเคราะห์ร้าย และถ้าหากร่วมประเวณีกันให้ผู้อื่นเห็น จะถือว่าเป็นเรื่องที่ไม่ดีและทำให้อับอาย ถือเป็นความอับโชคแก่ผู้เห็นอย่างมาก และผู้ที่พบเห็นจะงดการงานต่างๆ ที่จะกระทำในวันนั้นทั้งสิ้น หากจะเดินทางไปไหนก็จะกลับบ้านทันที เพราะพวกเขาเชื่อว่าบรรพบุรุษของพวกเขาถือมาเช่นนี้ ดังนั้น จึงมีลานสาวกอดไว้เป็นที่สำหรับให้หนุ่มสาวได้มาพลอดรักกัน จะเห็นได้ว่าหนุ่มสาวอาข่ามีเสรีภาพในการเกี้ยวพาราสีกัน และมีประเพณีเรื่องเพศที่น่าประหลาดมาก (หน้า 14,15) ในเรื่องการเกิดอาข่าเชื่อว่าชีวิตได้เริ่มต้นขึ้นในครรภ์ เมื่อภรรยาตั้งครรภ์สามีจะต้องไม่กระทำการใดๆ ที่เป็นการขัดต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เช่น ไม่โกนผมให้ผู้อื่น ไม่ฆ่าสัตว์ เป็นต้น และไม่พูดถึงเรื่องชั่วร้ายอย่างเรื่องเด็กพิการหรือลูกแฝด เพราะจะเป็นผลต่อลูกในครรภ์ตามที่พูดไว้ การคลอดลูกแฝดหรือพิการ อาข่าถือว่าเป็นลูกผี ต้องฆ่าทิ้ง ปัจจุบันทางหมู่บ้านเออหล้าใหม่ไม่ให้ฆ่าลูกแฝดแล้ว แต่ยังมีหมู่บ้านที่อยู่ห่างไกลออกไปยังมีการฆ่าลูกแฝดกันอยู่ การฝังศพมีข้อห้ามในการนำศพของคนนอกเข้ามาฝังในป่าช้าของหมู่บ้าน และการหามศพออกจากหมู่บ้าน เจ้าของบ้านทุกครัวเรือนต้องดูแลสุนัขของตน เพื่อไม่ให้เห่าหอนในขณะที่เคลื่อนศพ หากสุนัขตัวใดเห่าก็จะถูกนำมาฆ่า เซ่นผีของผู้ตายเสียเพราะเชื่อกันว่าหากสุนัขตัวใดเห่าในลักษณะที่ว่านี้ จะเป็นสื่อของผี ซึ่งจะทำให้ผีร้ายได้ยินและมารบกวนขวัญของผู้ตายได้ ส่วนพิธีกรรมจะเป็นพิธีกรรมเกี่ยวกับภูตผีสิ่งลี้ลับ ซึ่งจะมีพิธีกรรมต่างๆ มากมาย โดยคาดหวังว่าหากพวกเขาประกอบพิธีกรรมตามความเชื่อจะทำให้ชีวิตปลอดภัย และสิ่งศักดิ์สิทธิ์จะไดคุ้มครอง - พิธีปีใหม่ (กระท้อมพ้า) จะจัดประมาณเดือนธันวาคมของทุกปี ใช้เวลา 4 วัน มีการเส้นสรวงผีบรรพบุรุษแลกเปลี่ยนของขวัญ เลี้ยงฉลองเพื่อความรื่นเริง ใน 2 วันแรก ชาวบ้านจะเตรียมกับข้าวไว้ให้พอดีกิน 2 วันหลังจะห้ามตำข้าว เพราะเชื่อว่าเสียงตำข้าวจะทำให้ผีบรรพบุรุษที่มาเยี่ยมรำคาญ ในวันฉลองปีใหม่ชาวบ้านจะหยุดงานในไปเพื่อร่วมพิธี - พิธีทำประตู (ตอมาลกข่อง) ประมาณกลางเดือนเมษายนเล็กน้อย พิธีนี้มี 2 วัน วันแรกเป็นวันเตรียมการ วันที่ 2 เป็นวันทำประตูใหม่ พิธีการทำประตูหมู่บ้านเป็นการจัดขึ้นเพื่อรำลึกสุมิโอบรรพบุรุษของการก่อตั้งหมู่บ้าน - พิธียะอุพิ จัดขึ้นเพื่อเอาใจผู้ใหญ่ จะจัดราวปลายเดือนเมษายนใช้เวลา 3 วัน - พิธีเซ่นผีบ่อน้ำ (แช้ข่าผู่แบ๊ะ) จัดหลังเดือนเมษายน หัวหน้าพิธีกรรมจะทำพิธีเซ่นผีบ่อน้ำ โดยการนำ พันธุ์ข้าวที่เก็บไว้ ไปทำพิธีเซ่นสรวงที่บ่อน้ำด้วยไก่ 1 ตัว - พิธีโล้ชิงช้า ประมาณเดือนสิงหาคม จัดขึ้นเพื่อรำลึกถึงเทพธิดาฮึ่มซาแยะ พิธีนี้เป็นพิธีที่ศักดิ์สิทธิ์ ชาวบ้านจะมาชุมนุมกันเพื่อขอพรจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ - พิธีกินข้าวใหม่ ประมาณปลายเดือนกันยายน ทุกครัวเรือนจะเก็บเกี่ยวข้าวมาจากไร่ นำไปใส่ไว้ในน้ำ บูชาผีบรรพบุรุษเพื่อเซ่นสรวงพิธีกินข้าวใหม่จัดขึ้นเพื่อฉลองรางข้าวสุก และเป็นการขอบคุณผีไปที่ช่วยดูแลให้ผลผลิตข้าวในไร่ได้ผลดี - พิธีส่งผี ประมาณเดือนตุลาคมเป็นช่วงที่อาข่าว่างจากงานในไร่ อาข่าจะทำพิธีส่งผี หรือไล่ผีให้ออกไปจากหมู่บ้าน เพราะช่วงฤดูฝนอาจมีผีเล็ดลอดมากับฝนและลม ดังนั้นชาวบ้านต้องช่วยกันขับไล่ให้ออกจากหมู่บ้าน - พิธีเลี้ยงผีบรรพบุรุษ ชาวบ้านจะหยุดงานเพื่อทำการเซ่นผีบรรพบุรุษ โดยเลือกเอาวันดีของหัวหน้าพิธีกรรมทำการประกอบพิธี โดยปกติจะจัดขึ้นหลังปีใหม่ประมาณเดือนมกราคมของทุกปี - พิธีกรรมทางการเกษตรมีพิธีเซ่นผีไร่ พิธีกรรมปลวกเป็นการให้ผีไร่ช่วยดูแลไม่ให้ปลวกมากัดกินต้นข้าว และมีพิธีกรรมตั๊กแตนก็เหมือนกับพิธีกรรมปลวก แต่ให้ผีไร่ช่วยดูแลไม่ให้ตั๊กแตนมากัดกินต้นข้าว (หน้า 15-23)

Education and Socialization

ไม่มีข้อมูล

Health and Medicine

อาข่า มีความเชื่อในเรื่องขวัญ พวกเขาเชื่อว่าขวัญของคนเราอ่อนไหวง่ายมาก และจะชอบออกจากร่างไปเที่ยวไกลๆ บางทีขวัญจะถูกผีจับไว้ ทำให้เกิดการเจ็บป่วย วิธีการรักษาการเจ็บป่วยของอาข่าก็คือ ทำพิธีเรียกขวัญและผูกข้อมือให้กับผู้ป่วย เพื่อผูกขวัญไว้ไม่ให้ออกจากร่างกายอีก นอกจากนี้ก็ยังมีการรักษาโรคโดยใช้สมุนไพร โดยมีหมอสมุนไพรหรือยีผ่า ทำหน้าที่รักษาคนไข้ทั่วไป ถึงแม้ว่าในปัจจุบันอาจมีสถานีอนามัยใกล้บ้านและมีโรงพยาบาลประจำอำเภอ แต่พวกเขาก็ยังรักษาโรคกับหมอสมุนไพร มีคนป่วยบางคนที่หมอแผนปัจจุบันรักษาโรคไม่ได้ แต่หมอยาสมุนไพรรักษาโรคได้ก็มี (หน้า 23,24,33,43,66)

Art and Crafts (including Clothing Costume)

ด้านการแต่งกายของแต่ละกลุ่มจะแตกต่างออกกันไปเล็กน้อย - ผู้ชายอาข่าทั้งเด็กและผู้ใหญ่สวมกางเกงสองหน้าขายาวและมีสีดำ สวมเสื้อแขนยาวทรงกระบอกหลวมๆ ผ่าอกเสื้อตลอดปล่อยชายเสื้อยาวแค่เอว เสื้อมีสีเดียวกับกางเกงมีกระดุมแผ่นเงินหรือแผ่นโลหะติดที่อกเสื้อ ผู้ชายอาข่าส่วนมากนิยมโกนศีรษะไว้ผมจุก เปียตรงกลางศรีษะที่ตรงกับขวัญ มีผ้าพกศรีษะด้วย - ผู้หญิงอาข่าก็แต่งกายแตกต่างกันออกไปตามวัย เด็กผู้หญิงนิยมนุ่งกระโปรงสั้นหลวมๆ ไว้ตรงใต้สะดือ สวมเสื้อแขนยาวผ่าอกสีเดียวกับกระโปรงมีกระดุมเงินหรือแผ่นโลหะติดกระไว้ เด็กผู้หญิงไม่มีผ้าคาดอกหรือผ้าคาดเอว ไม่มีผ้าพันแข้งมีแต่หมวกผ้ารูปทรงกะลาครอบ มีเครื่องประดับเพียงเล็กน้อย เมื่อมีอายุย่างเข้า 13 ปี การแต่งกายจะมีเครื่องประดับประดามากขึ้น หมวกจะเปลี่ยนมาเป็นทรงสูงทำด้วยหวาย ผิวไม้ประดับด้วยเหรียญเงิน ขนนกขนไก่ ขนลิงย้อมสี ลูกปัดและกระดุมเงิน หญิงสาวจะใช้ผ้าลัดอกและผ้าคาดเอว ใส่ปลอกแข้งทำด้วยผ้าสลับสี และจะสวมหมวกอยู่ตลอดเวลาแม้แต่เวลาเข้านอน หมวกจะถอดเมื่อคราวจำเป็นเท่านั้น สำหับผู้หญิงที่แต่งงานแล้ว การแต่งกายก็ยังเหมือนเด็กสาวอยู่แต่เครื่องประดับจะน้อยลง เด็กสาวส่วนใหญ่จะนิยมแขวนน้ำเต้าไว้ที่เอว ส่วนคนที่แต่งงานแล้วจะไม่นิยมแขวนน้ำเต้า หมวกของอาข่าจะแตกต่างกัน กลุ่มที่อพยพมาจากเชียงตุงประเทศพม่าจะสวมหมวกทรงสูงรูปกรวยคว่ำ อีกกลุ่มมาจากแคว้นสิบสองปันนาสวมหมวกรูปห้าเหลี่ยมประดับด้วยเหรียญเงินสวยงามมาก ผู้หญิงอาข่าโดยทั่วไปจะนิยมสวมกำไลข้อมือ ห่วงคอ และสร้อยคอที่ทำด้วยลูกปัดหรือลูกเดือย (หน้า 90) ด้านหัตถกรรมกล่าวถึงการทอผ้า ทำถุงย่าม หน้าไม้ และเครื่องใช้ในครัวเรือนที่ทำด้วยไผ่ เช่นตระกร้า กระชุ ที่ดักนก เป็นต้น (หน้า 90) สถาปัตยกรรม ด้านสถาปัตยกรรมกล่าวถึงการสร้างบ้านลักษณะบ้านของอาข่ายกขึ้นสูงจากดินประมาณ 1 เมตร บางแห่งพื้นที่มีความราดชันก็จะยกพื้นครึ่งหนึ่ง บ้านของอาข่าทำด้วยไม้ไผ่เป็นส่วนใหญ่ เสาทำด้วยไม้เนื้อแข็ง ฝาและพื้นทำด้วยไม้ไผ่ ฝางศัพท์ หลังคามุงด้วยหญ้าคายาวเกือบถึงพื้นเพื่อกันแรงลมพัด บ้านอาข่ามีบรรไดทางด้านหน้าและด้านหลังจำนวนขั้นบันไดมีประมาณ 3-5 ขั้น เพราะอาข่าเชื่อว่าเลขคู่เป็นเลขไม่ดี เห็นได้จากการที่อาข่าไม่ชอบลูกแฝด บ้านอาข่าทุกหลังจะมีครกเตาข้าวอยู่หลังบันไดบ้าน ภายในบ้านแบ่งออกเป็น 2 ห้องนอนและมีเตาไฟ 1-2 เตา บ้านที่มีเตาไฟเดียวจะกั้นอยู่ระหว่างห้องทั้งสอง ส่วนบ้านที่มี 2 เตา จะอยู่ในห้องของฝ่ายชายและห้องนอนของฝ่ายหญิง อาข่ามีข้อห้ามสามีภรรยาที่ป็นหัวหน้าครัวเรือนนอนในห้องเดียวกัน ภายในห้องของทั้งสองจะมีหิ้งผีบรรพบุรุษอยู่ติดกับเสาเอก ภายในบ้านมีสภาพมืดทึบอับไปด้วยควันไฟ อาข่าไม่นิยมทำหน้าต่างเพราะบนภูเขาสูงมีอากาศหนาวเย็นและไฟในเตาจะคุกกรุ่นอยู่เสมอ จะช่วยให้เกิดความอบอุ่นในเวลากลางคืน บ้านอาข่าไม่มีส้วมจะอาศัยป่าเป็นส้วมธรรมชาติแทน - หมู่บ้านเออหล้าใหม่ บ้านเรือนส่วนใหญ่เป็นแบบเดิมอยู่ ครัวเรือนเป็นแบบไม้ไผ่มุงด้วยหญ้าคาหรือหญ้าแฟง โครงสร้างเป็นไม้จริง ฝาผนังสร้างด้วยกระเต๊ะไม้ไผ่ ส่วนพื้นที่ใช้สอยในบ้านยังเป็นแบบเดิมอยู่ - บ้านหลักคำใหม่ บ้านเรือนส่วนใหญ่เป็นรูปแบบเดิมเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ บ้านเรือนที่มีการปลี่ยนแปลงมีอยู่ 3 หลัง ลักษณะบ้านคล้ายกับบ้านเผ่าลื้อ ยกพื้นสูงประมาณ 1.6 - 2 เมตร ไม่มีบันไดหลังมีแต่บันไดหน้า มีหิ้งเล็กๆ อยู่นอกชายคา สาเหตุที่มีการเปลี่ยนแปลงบ้านเรือน เพราะมีการติดต่อค้าขายกับลื้อ จึงรับแบบอย่างของลื้อเข้ามา พื้นที่ใช้สอยก็เปลี่ยนแปลงไป ไม่มีห้องนอนที่มีผนังกั้นแต่จะนอนเรียงกันไป ที่เก็บของก็ไม่มี - หมู่บ้านแสนใจใหม่ และ บ้านอาโยะอนามัย บ้านเรือนส่วนใหญ่เกิดการเปลี่ยนแปลงไม่เป็นรูปแบบของอาข่าเต็ม 100 เปอร์เซ็นต์ แต่วัสดุที่ใช้สร้างบ้านก็ยังเป็นไม้และหญ้าคาอยู่ แต่จะมีการเปลี่ยนแปลงรูปทรงและสัดส่วน ปัจจุบันปลี่ยนวัสดุที่ใช้สร้างบ้านเป็นแบบถาวร เพราะแบบเดิมไม่คงทนหลังคาที่เคยมุงหญ้าคาก็เปลี่ยนมามุงกระเบื้อง ฝาผนังบ้านใช้อิฐฉาบปูนหรืออิฐบล็อกแทน เสาเป็นเสาคอนกรีต (หน้า 28, 29, 35, 41, 46, 52, 57, 64, 68, 75)

Folklore

ไม่มีข้อมูล

Ethnicity (Ethnic Identity, Boundaries and Ethnic Relation)

ไม่มีข้อมูล

Social Cultural and Identity Change

ไม่มีข้อมูล

Critic Issues

ไม่มีข้อมูล

Other Issues

ข้อห้ามและข้อนิยมเกี่ยวกับการสร้างบ้าน การสร้างบ้านของอาข่าจะเลือกสร้างบ้านตามความพอใจ บ้านส่วนใหญ่จะไม่มีจอมปลวกอยู่หน้าบ้านเพราะถือว่าไม่ดี ที่สำคัญก่อนจะปลูกบ้านที่ใดจะต้องทำพิธีขอเจ้าที่เสียก่อน โดยวิธีขุดหลุมวางข้าวสาร 3 เม็ด และอธิษฐานเสี่ยงทาย แล้วทิ้งไว้ 1 คืน แล้ววันรุ่งขึ้นหากพบว่าเมล็ดข้าวเคลื่อนที่ โดยวิธีใดๆ ก็ตาม ถือว่าผีเจ้าที่ไม่อนุญาตปลูกบ้านในที่นั้น ต้องหาพื้นที่ใหม่ต่อไป อาข่าที่บ้านแสนใจเก่า กล่าวว่าได้ซื้อที่ดินจากผีเพื่อปลูกบ้านโดยให้แร่เงิน ข้าวสาร น้ำ และไข่ไก่ที่ไม่เคยฟักเพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนกับผีเจ้าที่ แล้วหัวหน้าครัวเรือนจะทำการเสี่ยงทายโดยโยนไข่ลงในหลุมที่เตรียมไว้ หากไข่แตกถือว่าดี หากไข่ไม่แตกถือว่าผีไม่อนุญาตให้ปลูกบ้านในที่นั้น นอกจากนี้อาข่ายังมีข้อห้ามไม่นำเอาไม้บางประเภทอย่างเช่นไม้ที่มีเปลือกคาย ไม้ที่ถูกฟ้าผ่า และไม้ที่ยืนตายทั้งต้นมาสร้างบ้าน เพราะจะทำให้เจ้าของบ้านเดือดร้อนอยู่ไม่เป็นสุข บ้านของอาข่าจะนิยมปลูกหันหน้าไปทางทิศเดียวกัน แต่จะห้ามไม่ให้บุคคลต่างสกุลมาปลูกบ้านอยู่คั่นกลางบ้านสองหลังที่เป็นพี่น้องกัน และก่อนที่ไฟบ้านใหม่จะถูกจุดขึ้นเป็นครั้งแรก เจ้าของบ้านต้องทำพิธีบวงสรวงบรรพบุรุษเพื่อขอเข้าอาศัยอยู่ในบ้าน โดยนำข้าวเจ้าหรือข้าวเหนียว กับไข่ต้ม 1 ฟอง มาเป็นเครื่องเซ่น จากนั้น สามีภรรยา ผู้ที่เป็นหัวหน้าครัวเรือนต้องเข้าบ้านก่อนผู้อื่น อย่างไรก็ดีข้อห้ามบางอย่าง อาข่าบางคนก็ไม่ค่อยจะเชื่อถือเพราะไม่มีเหตุผลมาอธิบายว่า จะมีผลร้ายอย่างไรหากไม่ปฏิบัติตาม มีแต่เพียงว่าหากฝ่าฝืนข้อห้าม ก็เหมือนลบหลู่ความเชื่อและประเพณีที่บรรพบุรุษยึดถือและปฏิบัติกันสืบมา (หน้า 29 - 31)

Map/Illustration

- แผนที่ที่ตั้งเมืองสิงห์ (หน้า 32) - ผังเรือนตัวอย่าง หมู่บ้านเออหล้าใหม่ (หน้า 36) - ภาพทัศนียภาพ หมู่บ้านหลักคำใหม่ (หน้า42) - ตัวอย่างเรือนบ้านหลักคำใหม่ (หน้า 47) - ผังรวมหมู่บ้านแสนใจใหม่ (หน้า 54) - เรือนตัวอย่างบ้านแสนใจใหม่ (หน้า 59) - ผังรวมบ้านอาโยะอนามัย (หน้า 65) - ผังบริเวณเรือนตัวอย่างหมู่บ้านอาโยะอนามัย (หน้า 70)

Text Analyst บุษบา ปรังฤทธิ์ Date of Report 01 ม.ค. 2548
TAG อาข่า, สถาปัตยกรรม, การตั้งถิ่นฐาน, หลวงน้ำทา, เชียงราย, Translator -
 
 

 

ฐานข้อมูลอื่นๆของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
  ฐานข้อมูลพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทย
จารึกในประเทศไทย
จดหมายเหตุทางมานุษยวิทยา
แหล่งโบราณคดีที่สำคัญในประเทศไทย
หนังสือเก่าชาวสยาม
ข่าวมานุษยวิทยา
ICH Learning Resources
ฐานข้อมูลเอกสารโบราณภูมิภาคตะวันตกในประเทศไทย
ฐานข้อมูลประเพณีท้องถิ่นในประเทศไทย
ฐานข้อมูลสังคม - วัฒนธรรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  หน้าหลัก
งานวิจัยชาติพันธุ์ในประเทศไทย
บทความชาติพันธุ์
ข่าวชาติพันธุ์
เครือข่ายชาติพันธุ์
เกี่ยวกับเรา
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  ข้อมูลโครงการ
ทีมงาน
ติดต่อเรา
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
ช่วยเหลือ
  กฏกติกาและมารยาท
แบบสอบถาม
คำถามที่พบบ่อย


ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) เลขที่ 20 ถนนบรมราชชนนี เขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ 10170 
Tel. +66 2 8809429 | Fax. +66 2 8809332 | E-mail. webmaster@sac.or.th 
สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2549    |   เงื่อนไขและข้อตกลง