สมัครสมาชิก   
| |
ค้นหาข้อมูล
ค้นหาแบบละเอียด
  •   ความเป็นมาและหลักเหตุผล

    เพื่อรวบรวมงานวิจัยทางชาติพันธุ์ที่มีคุณภาพมาสกัดสาระสำคัญในเชิงมานุษยวิทยาและเผยแผ่สาระงานวิจัยแก่นักวิชาการ นักศึกษานักเรียนและผู้สนใจให้เข้าถึงงานวิจัยทางชาติพันธุ์ได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น

  •   ฐานข้อมูลจำแนกกลุ่มชาติพันธุ์ตามชื่อเรียกที่คนในใช้เรียกตนเอง ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้ คือ

    1. ชื่อเรียกที่ “คนอื่น” ใช้มักเป็นชื่อที่มีนัยในทางเหยียดหยาม ทำให้สมาชิกกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ รู้สึกไม่ดี อยากจะใช้ชื่อที่เรียกตนเองมากกว่า ซึ่งคณะทำงานมองว่าน่าจะเป็น “สิทธิพื้นฐาน” ของการเป็นมนุษย์

    2. ชื่อเรียกชาติพันธุ์ของตนเองมีความชัดเจนว่าหมายถึงใคร มีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมอย่างไร และตั้งถิ่นฐานอยู่แห่งใดมากกว่าชื่อที่คนอื่นเรียก ซึ่งมักจะมีความหมายเลื่อนลอย ไม่แน่ชัดว่าหมายถึงใคร 

     

    ภาพ-เยาวชนปกาเกอะญอ บ้านมอวาคี จ.เชียงใหม่

  •  

    จากการรวบรวมงานวิจัยในฐานข้อมูลและหลักการจำแนกชื่อเรียกชาติพันธุ์ที่คนในใช้เรียกตนเอง พบว่า ประเทศไทยมีกลุ่มชาติพันธุ์มากกว่า 62 กลุ่ม


    ภาพ-สุภาษิตปกาเกอะญอ
  •   การจำแนกกลุ่มชนมีลักษณะพิเศษกว่าการจำแนกสรรพสิ่งอื่นๆ

    เพราะกลุ่มชนต่างๆ มีความรู้สึกนึกคิดและภาษาที่จะแสดงออกมาได้ว่า “คิดหรือรู้สึกว่าตัวเองเป็นใคร” ซึ่งการจำแนกตนเองนี้ อาจแตกต่างไปจากที่คนนอกจำแนกให้ ในการศึกษาเรื่องนี้นักมานุษยวิทยาจึงต้องเพิ่มมุมมองเรื่องจิตสำนึกและชื่อเรียกตัวเองของคนในกลุ่มชาติพันธุ์ 

    ภาพ-สลากย้อม งานบุญของยอง จ.ลำพูน
  •   มโนทัศน์ความหมายกลุ่มชาติพันธุ์มีการเปลี่ยนแปลงในช่วงเวลาต่างๆ กัน

    ในช่วงทศวรรษของ 2490-2510 ในสาขาวิชามานุษยวิทยา “กลุ่มชาติพันธุ์” คือ กลุ่มชนที่มีวัฒนธรรมเฉพาะแตกต่างจากกลุ่มชนอื่นๆ ซึ่งมักจะเป็นการกำหนดในเชิงวัตถุวิสัย โดยนักมานุษยวิทยาซึ่งสนใจในเรื่องมนุษย์และวัฒนธรรม

    แต่ความหมายของ “กลุ่มชาติพันธุ์” ในช่วงหลังทศวรรษ 
    2510 ได้เน้นไปที่จิตสำนึกในการจำแนกชาติพันธุ์บนพื้นฐานของความแตกต่างทางวัฒนธรรมโดยตัวสมาชิกชาติพันธุ์แต่ละกลุ่มเป็นสำคัญ... (อ่านเพิ่มใน เกี่ยวกับโครงการ/คู่มือการใช้)


    ภาพ-หาดราไวย์ จ.ภูเก็ต บ้านของอูรักลาโว้ย
  •   สนุก

    วิชาคอมพิวเตอร์ของนักเรียน
    ปกาเกอะญอ  อ. แม่ลาน้อย
    จ. แม่ฮ่องสอน


    ภาพโดย อาทิตย์    ทองดุศรี

  •   ข้าวไร่

    ผลิตผลจากไร่หมุนเวียน
    ของชาวโผล่ว (กะเหรี่ยงโปว์)   
    ต. ไล่โว่    อ.สังขละบุรี  
    จ. กาญจนบุรี

  •   ด้าย

    แม่บ้านปกาเกอะญอ
    เตรียมด้ายทอผ้า
    หินลาดใน  จ. เชียงราย

    ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ถั่วเน่า

    อาหารและเครื่องปรุงหลัก
    ของคนไต(ไทใหญ่)
    จ.แม่ฮ่องสอน

     ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ผู้หญิง

    โผล่ว(กะเหรี่ยงโปว์)
    บ้านไล่โว่ 
    อ.สังขละบุรี
    จ. กาญจนบุรี

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   บุญ

    ประเพณีบุญข้าวใหม่
    ชาวโผล่ว    ต. ไล่โว่
    อ.สังขละบุรี  จ.กาญจนบุรี

    ภาพโดยศรยุทธ  เอี่ยมเอื้อยุทธ

  •   ปอยส่างลอง แม่ฮ่องสอน

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ปอยส่างลอง

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดย เบญจพล  วรรณถนอม
  •   อลอง

    จากพุทธประวัติ เจ้าชายสิทธัตถะ
    ทรงละทิ้งทรัพย์ศฤงคารเข้าสู่
    ร่มกาสาวพัสตร์เพื่อแสวงหา
    มรรคผลนิพพาน


    ภาพโดย  ดอกรัก  พยัคศรี

  •   สามเณร

    จากส่างลองสู่สามเณร
    บวชเรียนพระธรรมภาคฤดูร้อน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   พระพาราละแข่ง วัดหัวเวียง จ. แม่ฮ่องสอน

    หล่อจำลองจาก “พระมหามุนี” 
    ณ เมืองมัณฑะเลย์ ประเทศพม่า
    ชาวแม่ฮ่องสอนถือว่าเป็นพระพุทธรูป
    คู่บ้านคู่เมืององค์หนึ่ง

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม

  •   เมตตา

    จิตรกรรมพุทธประวัติศิลปะไต
    วัดจองคำ-จองกลาง
    จ. แม่ฮ่องสอน
  •   วัดจองคำ-จองกลาง จ. แม่ฮ่องสอน


    เสมือนสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรม
    เมืองไตแม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ใส

    ม้งวัยเยาว์ ณ บ้านกิ่วกาญจน์
    ต. ริมโขง อ. เชียงของ
    จ. เชียงราย
  •   ยิ้ม

    แม้ชาวเลจะประสบปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัย
    พื้นที่ทำประมง  แต่ด้วยความหวัง....
    ทำให้วันนี้ยังยิ้มได้

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ผสมผสาน

    อาภรณ์ผสานผสมระหว่างผ้าทอปกาเกอญอกับเสื้อยืดจากสังคมเมือง
    บ้านแม่ลาน้อย จ. แม่ฮ่องสอน
    ภาพโดย อาทิตย์ ทองดุศรี
  •   เกาะหลีเป๊ะ จ. สตูล

    แผนที่ในเกาะหลีเป๊ะ 
    ถิ่นเดิมของชาวเลที่ ณ วันนี้
    ถูกโอบล้อมด้วยรีสอร์ทการท่องเที่ยว
  •   ตะวันรุ่งที่ไล่โว่ จ. กาญจนบุรี

    ไล่โว่ หรือที่แปลเป็นภาษาไทยว่า ผาหินแดง เป็นชุมชนคนโผล่งที่แวดล้อมด้วยขุนเขาและผืนป่า 
    อาณาเขตของตำบลไล่โว่เป็นส่วนหนึ่งของป่าทุ่งใหญ่นเรศวรแถบอำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี 

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   การแข่งขันยิงหน้าไม้ของอาข่า

    การแข่งขันยิงหน้าไม้ในเทศกาลโล้ชิงช้าของอาข่า ในวันที่ 13 กันยายน 2554 ที่บ้านสามแยกอีก้อ อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย
 
  Princess Maha Chakri Sirindhorn Anthropology Centre
Ethnic Groups Research Database
Sorted by date | title

   Record

 
Subject ลาวโซ่ง ไทยโซ่ง ผู้ลาว โซ่ง ไตดำ,เวียต,พวน, กลุ่มชาติพันธุ์,วัฒนธรรม,ประเพณี,นครสวรรค์
Author เสรี ซาเหลา, สุทธิภาษ ภูเมืองปาน, วิรัตน์ วงศ์รอด และ อุทัยวรรณ ใจเอื้อ
Title กลุ่มชาติพันธุ์ : วัฒนธรรมและประเพณี จังหวัดนครสวรรค์
Document Type รายงานการวิจัย Original Language of Text ภาษาไทย
Ethnic Identity เวียด เหวียตเกี่ยว ไทยใหม่, ไทดำ ลาวโซ่ง ไทยโซ่ง ไทยทรงดำ ไทดำ ไตดำ โซ่ง, มอญ รมัน รามัญ, ไทยพวน ไทพวน คนพวน, Language and Linguistic Affiliations ไม่ระบุ
Location of
Documents
ห้องสมุดศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
(เอกสารฉบับเต็ม)
Total Pages 158 Year 2545
Source โปรแกรมพัฒนาชุมชน คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ สถาบันราชภัฏนครสวรรค์
Abstract

กลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ที่อยู่ในจังหวัดนครสวรรค์ต่างก็มีภูมิหลังและลักษณะทางวัฒนธรรมที่แตกต่างกันออกไป บางกลุ่มก็ตั้ง ถิ่นฐานเฉพาะในเมืองหรือชนบท แต่บางกลุ่มอาศัยทั้งในเมืองและในชนบท ในเรื่องอาชีพจะมีลักษณะผสมผสานปะปนกัน ไป เช่น ไทยทรงดำ ไทยพวน ไทยมอญและไทยอีสานมีทั้ง ที่ทำนา ทำไร่ ค้าขายและรับราชการ แต่ไทยจีนมีอาชีพค้าขายเป็นหลักอย่างเห็นได้ชัด ส่วนในเรื่องของความเชื่อและประเพณี โดยมากเกี่ยวกับวัฏจักรชีวิต คือ เกิด แต่งงาน แก่ เจ็บและตาย แต่ต่างก็มีสาระสำคัญที่ไม่เหมือนกัน สำหรับการใช้ภาษาและการแต่งกายแม้จะยังคงรักษาของดั้งเดิมของชาติพันธุ์ไว้ แต่ต่าง ก็ได้รับอิทธิพลจากภาษาและวัฒนธรรมภาคกลางอย่างทั่วถึง ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงไปจากของเดิม

Focus

ศึกษาถึงวัฒนธรรมด้านการประกอบอาชีพ ด้านภาษา การแต่งกาย การรักษาโรค การบริโภคและประเพณีต่าง ๆ ของกลุ่มชาติพันธุ์ในจังหวัดนครสวรรค์ และศึกษาถึงศักยภาพของแต่ละชาติพันธุ์ในอันที่จะอนุรักษ์และพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว ทางวัฒนธรรม (หน้า 11)

Theoretical Issues

ไม่มี

Ethnic Group in the Focus

ไทยอีสาน ไทยจีนโดยมากเป็นแต้จิ๋วและไหหลำ (หน้า 66) ไทยทรงดำ ไทยพวน ไทยญวน และไทยมอญ

Language and Linguistic Affiliations

- กลุ่มชาติพันธุ์ไทยอีสาน มีทั้งภาษาพูดและภาษาเขียน คนไทยอีสานจะพูดภาษาอีสาน แต่ปัจจุบันคนไทยอีสานส่วนใหญ่พูดภาษาไทยหรือไทยภาคกลาง ไม่มีอักษรเขียนเป็นของตนเอง จะใช้อักษรไทยภาคกลางเขียนและใส่คำภาษาถิ่นหรือภาษาของกลุ่มชาติพันธุ์ไทยอีสานลงไป (หน้า 48) - กลุ่มชาติพันธุ์ไทยจีน มีทั้งภาษาพูดและภาษาเขียนเป็นของตนเอง ในอดีตจะใช้ภาษาแต้จิ๋วไม่ค่อยใช้ภาษาไทย แต่ในปัจจุบันบางส่วนพูดภาษาไทยเพราะมีอาชีพค้าขายส่วนภาษาดั้งเดิมจะพูดกับคนในครอบครัวหรือคนจีนที่มีเชื้อสายเดียวกัน (หน้า 68-69) - กลุ่มชาติพันธุ์ไทยทรงดำ มีทั้งภาษาพูดและภาษาเขียนเป็นของตนเอง ภาษาที่ใช้คือภาษาไทดำจัดอยู่ในตระกูลไท (Tai Family) สาขาตะวันตกเฉียงใต้ ตัวหนังสือของไทดำเรียกว่า "โตสือไตดำ" (หน้า 85-86) - กลุ่มชาติพันธุ์ไทยพวน มีภาษาพูดคล้ายกับภาษาไทยล้านนาและไทยอีสาน แต่ปัจจุบันโดยมากจะพูดภาษาไทยแต่จะมีเพียงสำเนียงที่เป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่น ไทยพวนไม่มีภาษาเขียนแต่ใช้ภาษากลางในการติดต่อ(หน้า 101) - กลุ่มชาติพันธุ์ไทยญวน จะพูดภาษาญวน แต่ปัจจุบันใช้ภาษาพูดเป็นภาษาไทยภาคกลางเกือบทั้งหมด และในอดีตใช้ภาษาลาตินเป็นภาษาเขียน แต่ในปัจจุบันเนื่องจากมีการติดต่อสื่อสารกับคนไทยภาคกลางและมีการสอนเขียนภาษาไทย จึงทำให้ภาษาลาติน สูญสิ้นไป (หน้า 119-120) - กลุ่มชาติพันธุ์ไทยมอญ ในอดีตใช้ภาษามอญในการติดต่อสื่อสารแต่ปัจจุบันได้รับอิทธิพลจากภาษาไทย มอญในจังหวัดนครสวรรค์จึงใช้ภาษาไทยเป็นภาษาพูดแต่สำเนียงออกไปทางมอญและพูดภาษามอญอยู่บ้างในกลุ่มคนมอญด้วยกัน ไทย มอญ มีตัวเขียนเป็นของตนเอง ด้วยอิทธิพลของภาษาไทยทำให้เขียนภาษาไทยและยึดภาษาไทยเป็นภาษาเขียน (หน้า 135-136)

Study Period (Data Collection)

พ.ศ.2545 (ค.ศ.2002)

History of the Group and Community

- กลุ่มชาติพันธุ์ไทยอีสาน โดยมากอพยพมาจากจังหวัดนครราชสีมา ขอนแก่น อุดรธานี สกลนคร เลย หนองคาย ชัยภูมิ อุบลราชธานี ยโสธร ร้อยเอ็ด เนื่องจากในปี พ.ศ. 2500 จังหวัดต่างๆ นั้นเกิดความแห้งแล้งอย่างรุนแรงมาก ทำให้การเกษตร ไม่ได้ผลผลิต ประกอบกับจังหวัดนครสวรรค์มีความอุดมสมบูรณ์จึงทำให้ชาวอีสานเข้ามาจับจองที่ดินทำกิน - กลุ่มชาติพันธุ์ไทยจีน นครสวรรค์มีความเจริญรุ่งเรืองอย่างมากทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในสมัยรัชกาลที่ 4 เกิดการค้าระบบทุนนิยมและเสรีนิยม เนื่องจากการขนส่งสินค้าได้สะดวกโดยเฉพาะทางน้ำ ทำให้การขยายตัวทางการค้ามีมากขึ้น คนไทยจีนโดยมากจะเป็นแต้จิ๋วและไหหลำที่เริ่มเข้ามาขายแรงงานและประกอบการค้า ปัจจุบันกลุ่มไทยจีนเป็นกลุ่มที่มีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจ (หน้า 46-47,66) - กลุ่มชาติพันธุ์ไทยทรงดำ มีชื่อเรียกต่าง ๆ เช่น ลาวโซ่ง ผู้ไทดำ อพยพมาจากเมืองแถง ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของประเทศลาว เข้าสู่ประเทศไทยหลายครั้งตั้งแต่สมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี ในสมัยรัชกาลที่ 3 ทรงโปรดเกล้าให้ตั้งบ้านเรือนอยู่ที่จังหวัดเพชรบุรี เนื่องจากภูมิประเทศมีลักษณะใกล้เคียงกับเมืองแถง แคว้นสิบสองจุไท การที่ไทยทรงดำอาศัยอยู่ในที่ต่างๆ ในประเทศไทยเหตุผลหนึ่งคือ ไทยดำรุ่นเก่ามีความปรารถนาแรงกล้าที่จะกลับไปบ้านเกิดของตนจึงพยายามเดินทางขึ้นไปทางเหนือ เมื่อถึงฤดูฝนก็พักที่ใดที่หนึ่ง ทำนาหาเสบียงแล้วเดินทางต่อจนกระทั่งคนแก่ต้องเสียชีวิตลูกหลานก็มิสามารถเดินทางกลับได้จึงตั้งหลักอาศัยอยู่ตามทางเป็นแห่งๆ (หน้า 82-84) - กลุ่มชาติพันธุ์ไทยพวน ในจังหวัดนครสวรรค์โดยมากอพยพมาจากอำเภอบ้านหมี่ จังหวัดลพบุรี - กลุ่มชาติพันธุ์ไทยญวน ในประเทศไทยได้อพยพมาจากเวียดนาม ลาว เข้ามาอยู่ในประเทศไทยประมาณสงครามโลกครั้งที่ 2 อพยพเข้ามาทางภาคตะวันออกของประเทศไทยและทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยมากจะอยู่ทางภาคตะวันออกประมาณร้อยละ 80 สำหรับญวนที่อพยพมาจากปากน้ำโพ รู้เพียงว่าคนญวนกลุ่มหนึ่งที่นับถือศาสนาคริสต์ ซื้อที่ดินฝั่งต้นแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณที่แม่น้ำปิงและแม่น้ำน่านมาบรรจบกันต่อมาในฤดูฝนน้ำเชี่ยวมากได้ตัดขาดบริเวณที่ดินนี้เป็นเกาะซึ่งเรียกกันว่า "เกาะญวน" ซึ่งต่อมาถูกสายน้ำพัดหายไปในที่สุด กลุ่มชาติพันธุ์ญวนจึงได้ปลูกสร้างบ้านเรือนบริเวณตลาดริมน้ำ ต่อมาได้ย้ายไปหลังวันทามารีย์เนื่องจากน้ำเซาะจนตลิ่งพัง (หน้า 100,118-119) - กลุ่มชาติพันธุ์ไทยมอญ เป็นชาติพันธุ์หนึ่งที่อาศัยกระจัดกระจายอยู่ใพม่าและประเทศไทย ไทยมอญเรียกตัวเองว่า "มอญ" แต่พม่าเรียกชนชาติมอญว่า "ตะเลง" การอพยพของมอญเข้ามาในประเทศไทยมีบันทึกครั้งแรกในปี พ.ศ. 2127 คือหลังจากที่พระนเรศวรมหาราชประกาศอิศรภาพที่เมืองแครง ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์อพยพเข้ามาครั้งใหญ่ในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย

Settlement Pattern

- กลุ่มชาติพันธุ์ไทยอีสาน การตั้งบ้านเรือนส่วนใหญ่จะอยู่รวมกันเป็นกลุ่มเป็นชุมชนปลูกบ้านติดกันตั้งอยู่ห่างจากเมือง บ้านเรือนเป็นบ้านไม้ชั้นเดียว ยกพื้นสูงหลังคามุงสังกะสีและมีหน้าจั่ว มีหน้าต่าง มีประตูแห่งเดียว การปลูกบ้านนิยมปลูกสองหลังคู่กันคือมีหน้าจั่วคู่กัน บางหลังจะกั้นห้อง แต่ส่วนใหญ่จะเป็นที่โล่งเรียกว่า บ้านอเนกประสงค์ เรือนของคนไม่มีฐานะจะมีลักษณะเป็นกระท่อมหลังคามุงแฝก (หน้า 49) - กลุ่มชาติพันธุ์ไทยจีน การตั้งเรือนส่วนใหญ่จะอยู่รวมกันเป็นชุมชนขนาดเล็กกระจายอยู่ทั่วเขตจังหวัด บ้านเรือนของคนจีนจะเป็นเรือนไม้ชั้นเดียวติดต่อกัน ครอบครัวใหญ่มีพี่น้องอยู่ร่วมกัน ปัจจุบันกระจายอยู่ในชุมชนที่เจริญเกือบทุกอำเภอ ปลูกบ้านเป็นบ้านปูน (หน้า 69) - กลุ่มชาติพันธุ์ไทยทรงดำ เรือนของไทยทรงดำเป็นเรือนหลังใหญ่มีห้องกว้างห้องเดียวใช้เป็นที่นอน มีที่ทำครัวและเก็บข้าวของต่าง ๆ มีหน้าจั่วและระเบียงบ้านทั้งหน้าและหลัง ด้านหน้าใช้เป็นที่รับแขกและนั่งเล่นเรียกว่า "กกชาน" ด้านหลังเรียกว่า "กว้าน" สำหรับทำพิธีเซ่นผีบรรพบุรุษที่เป็นท้าว โดยจะจัดมุมใดมุมหนึ่งของกว้านเรียกว่า "กะล่อหอง" มีบันไดลงจากบ้านทั้ง 2 ด้านแต่บันไดด้านหน้าจะใหญ่กว่า หลังคาจะมุงด้วยหญ้าคา มีลักษณะสูงชันและมุงหญ้าคาลงต่ำจนถึงพื้นบ้านเกือบมิด (หน้า 87-90) - กลุ่มชาติพันธุ์ไทยพวน การตั้งบ้านเรือนโดยมากจะรวมกันเป็นชุมชนเรียกว่า "คุ้ม" เรือนไทยพวนมีใต้ถุนบ้านเรียกว่า "ก้องตาล่าง" บ้านมีขนาด 2-3 ห้องขึ้นไป ตามห้องต่างๆ จะมีการเจาะช่องสี่เหลี่ยมผืนผ้าเพื่อระบายอากาศ แต่ปัจจุบันนิยมสร้างบ้าน 2 ชั้นแบบมีใต้ถุนสูงมุงหลังคาด้วยสังกะสีหรือกระเบื้อง การตั้งบ้านเรือนนิยมปลูกบ้านตามฐานะ ครอบครัวใดมีฐานะดีจะสร้างเรือนใหญ่โต (หน้า 102) - กลุ่มชาติพันธุ์ไทยญวน จะรวมกันเป็นชุมชนขนาดเล็กบริเวณวัดคาทอลิก เรือนในอดีตเป็นบ้านไม้ชั้นเดียวติดกันแบบปั้นหยา ประตูจะมีเหลี่ยมแต้ ปัจจุบันปลูกเป็นบ้านปูนและเป็นห้องแถวอยู่กันเป็นครอบครัวขนาดเล็ก (หน้า 120) - กลุ่มชาติพันธุ์ไทยมอญ บ้านเป็นเรือนที่มีชานหรือนอกชานติดต่อกันเป็นแพยาวเรียกว่าเรือนแถว โดยเรือนของพ่อแม่จะอยู่ตรงกลางและต่อเรือนออกเป็นปีกซ้ายและขวาของบุตรหลาน ลักษณะของเรือนไทยมอญเป็นเรือนใต้ถุนสูง ชั้นเดียวปลูกในลักษณะให้มีชานหรือนอกชานติดต่อกันเป็นแพยาว เรียกว่า "เรือนแถว" โดยเรือนของพ่อแม่จะอยู่ตรงกลางและต่อเรือนออกทั้งปีกซ้ายและปีกขวาเป็นของบุตรหลาน (หน้า 136-137)

Demography

ปี พ.ศ. 2447 มีคนไทยจีนในนครสวรรค์ถึง 6,000 คน ในขณะที่ภาคกลาง (ไม่รวมกรุงเทพมหานคร) มีคนจีนประมาณ 10,000 คน และคนจีนในนครสวรรค์จัดว่าอยู่ในอันดับ 3 รองจากกรุงเทพมหานครและภูเก็ต (หน้า 66) ส่วนกลุ่มอื่นๆ มิได้ระบุ

Economy

- กลุ่มชาติพันธุ์ไทยอีสานมีอาชีพทำนา ทำไร่มันสำปะหลัง ไร่อ้อย ไร่ข้าวโพดเป็นหลัก อาชีพที่ต้องอาศัยภูมิปัญญาของตน เช่น การทำขนมจีน การทอผ้า การจักสาน การทำไม้กวาด เป็นต้น - กลุ่มชาติพันธุ์ไทยจีน อาชีพส่วนใหญ่จะเป็นการค้าขาย เป็นพ่อค้าคนกลางและทำการขนส่งสินค้าในการจำหน่ายสินค้า - กลุ่มชาติพันธุ์ไทยทรงดำ มีอาชีพทำนา ทำไร่สมัยก่อนนอกจากอาชีพหลักแล้วมีอาชีพรอง ได้แก่การจกสาน เลี้ยงไหม ทอผ้า เย็บปักถักร้อย เป็นต้นนอกจากนี้ยังมีการประกอบอาชีพอื่นๆ เช่น เลี้ยงปลา เลี้ยงกุ้ง ค้าขาย รับจ้างหรือรับราชการ - กลุ่มชาติพันธุ์ไทยพวน มีอาชีพทำนา ทำไร่และเลี้ยงสัตว์ เป็นหลัก อาชีพรองลงมาจะอยู่ในลักษณะของการรับจ้าง ภูมิปัญญาของไทยพวนในจังหวัดนครสวรรค์คือผู้หญิงจะทอผ้า ส่วนผู้ชายจะตีเหล็กเพื่อใช้ในครัวเรือนและขาย - กลุ่มชาติพันธุ์ไทยญวนในอดีตประกอบอาชีพที่สำคัญคือ การค้าขายและเลี้ยงหมู และทำโรงฆ่าสัตว์ ต่อมาได้ทำอาชีพหาปลา ปัจจุบันทำโรงฆ่าไก่และส่งไก่ขาย - กลุ่มชาติพันธุ์ไทยมอญ โดยมากจะประกอบอาชีพทางเกษตรกรรม เลี้ยงสัตว์ (แพะ) การทำอิฐมอญและเครื่องปั้นดินเผา

Social Organization

ไม่มีข้อมูล

Political Organization

ไม่มีข้อมูล

Belief System

- กลุ่มชาติพันธุ์ไทยอีสาน มีประเพณีที่สำคัญและสืบต่อกันมาโดยมากจะเกี่ยวข้องกับการดำรงชีวิต ได้แก่ ประเพณีเกี่ยวกับการเกิดในอดีตเมื่อเด็กเกิดมา จะเอาเด็กใส่กระด้ง ภายในกระด้งจะมีหนังสือ เข็ม มีดและดินสอ เพราะคนไทยอีสานเชื่อว่าจะทำให้เด็กเรียนเก่ง โตขึ้นจะได้ เป็นเจ้าคนนายคน หมอตำแยเป็นผู้ทำคลอด ส่วนรกจะฝังไว้ใต้บันไดแล้วขัดเป็นซี่ ๆ ล้อมไว้เพื่อป้องกันปอบกิน ประเพณีการ แต่งงาน มีประเพณีคล้ายคลึงกับคนไทยภาคกลาง คือ มีการหมั้น การบายศรีสู่ขวัญ การทำบุญและการส่งตัวเข้าหอ ประเพณีเกี่ยวกับการตาย มีประเพณีคล้ายคลึงกับคนไทยภาคกลาง แต่จะมีความแตกต่างในด้านการประกอบพิธีกรรมบางขั้นตอน ประเพณีบุญบ้องไฟ (บุญบั้งไฟ) มีความเชื่อว่า การจุดบั้งไฟขึ้นไปขอฝนจากพระยาแถน ประเพณีการเลี้ยงปู่ตา มีความเชื่อว่าเป็นการทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้กับบรรพบุรุษที่ล่วงลับ ประเพณีบุญข้าวจี่ เป็นการทำข้าวจี่ถวายพระสงฆ์ บุญพระเวศ คือการฟังเทศน์มหาชาติ บุญคูณลาน เป็นการทำบุญเพื่อความเป็นสิริมงคลแด่ข้าวในนาของตน บุญกุ้มข้าวใหญ่ เป็นการทำบุญหลังเก็บเกี่ยวข้าวในนา ประเพณีบุญข้าวประดับดิน คือ การห่อข้าว ของคาวหวาน หมากพลู แล้วนำไปวางไว้ตามพื้นเพื่อให้ทานแก่ผีบรรพบุรุษ ประเพณีบุญข้าวสาก มีการทำบุญอุทิศให้แก่ผู้ตายคล้ายกับพิธีสารทของคนไทย ประเพณีการขอฝน พิธีแห่ข้าวพันก้อนมีจุดประสงค์ 2 ประการคือ เมื่อมีการทำบุญพระเวศและเมื่อฝนไม่ตกในฤดูการทำนาโดยมีจุดปรสงค์เพื่อขอฝน (หน้า 51-60) - กลุ่มชาติพันธุ์ไทยจีน ประเพณีเกี่ยวกับการเกิด จะนิยมให้ลูกหลานคนแรกเป็นชายเพราะเชื่อว่าลูกชายจะสืบเชื้อสายสกุล ส่วนลูกสาวเมื่อแต่งงานจะไปใช้นามสกุลของสามี เมื่อมีลูกหลานเกิดในครอบครัวจะทำการไหว้อาพั้วในวันที่ 7 เดือน 7 ของทุกปีเป็นการไหว้พ่อซื้อแม่ซื้อผู้คุ้มครองเด็ก ประเพณีการแต่งงาน จะแต่งคล้ายกับคนไทยแต่จะมีการไหว้บรรพบุรุษ ประเพณีเกี่ยวกับการตาย เมื่อตายจะนำศพไปประกอบพิธีกรรมและจะนำไปฝังเพื่อให้ลูกหลานได้มาเคารพ ประเพณีตรุษจีน ถือว่าเป็นวันที่สมาชิกในครอบครัวกลับบ้านมาพบปะเห็นหน้าเห็นตาพร้อมเพียงกัน ประเพณีวันเช็งเม็ง เป็นธรรมเนียมไหว้บรรพบุรุษที่ฮวงซุ้ยในช่วงเดือน 3 ของจีน ประเพณีวันสารทจีน เป็นเทศกาลไหว้เจ้าประจำเดือน 7 เทศกาลวันไหว้พระจันทร์ เทศการถือศีลกินเจและวันสิ้นปี ซึ่งเรียกว่าวันจ่าย ทำความสะอาดบ้าน ชำระหนี้สิน (หน้า 70-77) - กลุ่มชาติพันธุ์ไทยทรงดำ พิธีเสนเรือน เป็นการประกอบพิธีเซ่นผีเรือนโดยหมอเสน พิธีเสนตั้งบั้ง (เสนมนต์) เป็นพิธีกระทำสำหรับบ้านที่มีบรรพบุรุษซึ่งมีเวทย์มนต์ สามารถรักษาผู้ป่วยด้วยเวทย์มนต์ จะมีพิธีเสนเรือนในตอนเช้า ประเพณีงานศพ ไทยทรงดำจะให้ความสำคัญกับการตายมาก จะหยุดงานทุกอย่างเพื่อมาช่วยจัดงานศพ ประเพณีการแต่งงาน มีการจัดงานกินดอง (เลี้ยงเพื่อการเกี่ยวดองเป็นญาติกัน) ขั้นตอนการแต่งงานมี 4 ขั้นตอนคือ "ส่อง สู่ ส่งและสา" "ส่อง" เป็นขั้นตอนการสู่ขอ ผู้ใหญ่ฝ่ายชายจะไปสู่ขอจากพ่อแม่ฝ่ายหญิง "สู่" เป็นขั้นตอนหลังการหมั้นซึ่งฝ่ายชายสามารถไปมาหาสู่ฝ่ายหญิงได้ "ส่ง" เป็นขั้นตอนส่งตัวเจ้าสาวให้แก่เจ้าบ่าวในพิธีแต่งงานซึ่งจะจัดในเดือนคู่ "สา" มีขึ้นในกรณีที่พ่อแม่ไม่เรียกสินสอดทองหมั้น ฝ่ายชายจึงต้อง "อาสา" รับใช้ให้แก่พ่อแม่ฝ่ายหญิงเป็นการทดแทน (หน้า 92-97) - กลุ่มชาติพันธุ์ไทยพวน ประเพณีเกี่ยวกับการเกิด เมื่อเด็กเกิดมาจะนำเด็กใส่กระด้ง ภายในกระด้งจะมีหนังสือ เข็ม มีดและดินสอ ซึ่งจะเหมือนกับประเพณีของไทยอีสาน ประเพณีการแต่งงานหรือกินดองไทยพวน จะเริ่มจากการสู่ขอกันก่อนโดยการเรียกการแต่งงานว่า บายศรีสู่ขวัญ แล้วจะทำการหมั้นเหมือนกับของไทย ปัจจุบันการแต่งงานของไทยพวนจะเหมือนกับการแต่งงานของคนไทย ภาคกลางประเพณีเกี่ยวกับการตาย ประเพณีบุญกำฟ้าเป็นประเพณีที่ถือว่าการทำบุญกันฟ้าเป็นการป้องกันมิให้ฟ้าผ่าเมื่ออกไปไถนา ประเพณีบุญพระเวส (บุญเดือนสี่)ประเพณีบุญสงกรานต์ ประเพณีบุญเลี้ยงบ้าน เป็นงานบุญเลี้ยงบ้านหรือเลี้ยงปู่ตา(บรรพบุรุษทั้งฝ่ายบิดาและมารดา) ประเพณีบุญห่อข้าว บุญเดือนเก้าเป็นความเชื่อตามฮีตครองที่ต้องทำบุญอุทิศผลแรก ได้แก่ เปรต อสุรกายเพื่อป้องกันมิให้ถูกผีเหล่านั้นมารบกวนทำร้าย ประเพณีบุญข้าวสาก บุญเดือนสิบเป็นความเชื่อตามฮีตครองที่ต้องทำบุญอุทิศผลแรกให้แก่บรรพบุรุษที่ล่วงลับ (หน้า 104 -114) - กลุ่มชาติพันธุ์ไทยญวน ประเพณีเกี่ยวกับการเกิด เชื่อว่า ทารกเมื่อเกิดมาได้ 3-5 วันจะทำพิธีล้างบาปในโบสถ์ เชื่อว่าเมื่อทำพิธีแล้วจะมีแต่สิ่งที่ดีเข้ามาในชีวิตเมื่อเสร็จพิธีจะมีการฉลองกันภายในครอบครัว ประเพณีเกี่ยวกับการตาย เมื่อมีคนตายเกิดขึ้นคนญวนที่อยู่ในบ้านจะไปบอกชาวบ้านให้นำดอกไม้ไปไหว้ศพ แล้วนำศพมาสวดในโบสถ์ (หน้า 122-123 ) - กลุ่มชาติพันธุ์ไทยมอญ ประเพณีเกี่ยวกับการเกิดของเด็ก ในสมัยก่อนเมื่อเด็กเกิดมาจะนำเด็กมาอาบน้ำแล้ววางในกระด้งยื่นให้หมอตำแยและหมอตำแยก็ยื่นให้ญาติของแม่เด็กแล้วพูดว่า "สามวันเป็นลูกผี สี่วันเป็นลูกคน" ยื่นกลับไปมา 3 รอบโดยจะต้องพูดทุกรอบ ประเพณีการแต่งงาน มีความคล้ายคลึงกับประเพณีการแต่งงานของคนไทยภาคกลาง ประเพณีเกี่ยวกับการตาย สมัยก่อนแยกประเภทของศพไว้ 2 ประเภทได้แก่ ศพตายไม่ดี ไม่มีการตั้งศพเพื่อบำเพ็ญกุศลแต่จะรีบนำศพใส่โลงแล้วฝังทันที ส่วนศพคนตายดี จะมีการตั้งศพเพื่อบำเพ็ญกุศล ประเพณีการแข่งขันเรือยาว ประเพณีเทศน์มหาชาติ ประเพณีสงกรานต์ การจับข้อมือสาว การเข้าผี จะเล่นกันเฉพาะงานตรุษ-สงกรานต์ เพราะถือกันว่างานนี้ผีจะมาเล่นด้วย ประเพณีเลี้ยงผีเรือนจะทำต่อเมื่อสามีภรรยามีบุตรแล้ว 2 คนและทุกเดือน 6 จะนำหม้อของผีปู่ย่าตายายมาทำพิธี (หน้า137-144)

Education and Socialization

ไม่มีข้อมูล

Health and Medicine

- กลุ่มชาติพันธุ์ไทยอีสาน ในอดีตจะรักษาโรคด้วยยาสมุนไพรเป็นส่วนใหญ่ นอกจากนี้ ยังมีการรักษาแบบฝังเข็มและการรักษาด้วยเวทย์มนต์และมีความเชื่อในเรื่องของการรักษาด้วยหมอผี ในปัจจุบันเมื่อเจ็บป่วยจะไปโรงพยาบาล สถานีอนามัยหรือคลินิก (หน้า 51) - กลุ่มชาติพันธุ์ไทยจีน ในอดีตจะรักษาโรคด้วยยาสมุนไพรเป็นส่วนใหญ่ นอกจากนี้ จะเน้นการกินโสมเป็นส่วนใหญ่ ส่วนปัจจุบันจะเป็นการรักษาที่ทันสมัยเป็นส่วนใหญ่ (หน้า 70) - กลุ่มชาติพันธุ์ไทยทรงดำ ใช้ไสยศาสตร์ เป่าเสกโดยใช้คาถาอาคาควบคู่กับยาสมุนไพร ปัจจุบันจะเข้ารักษาจากสถานีอนามัยหรือโรงพยาบาลเป็นหลัก(หน้า 91) - กลุ่มชาติพันธุ์ไทยพวน ในอดีตจะรักษาโรคด้วยยาสมุนไพรเป็นหลัก นอกจากนี้ ยังมีการรักษาแบบฝังเข็มและมีความเชื่อในเรื่องของการรักษาด้วยหมอผี ปัจจุบันเมื่อเจ็บป่วยจะไปโรงพยาบาล สถานีอนามัยหรือคลินิกเป็นส่วนใหญ่ (หน้า 104) - กลุ่มชาติพันธุ์ไทยญวนในอดีตจะรักษาโรคด้วยยาผงหรือยาหม้อที่ได้จากสมุนไพร เพราะสมัยนั้นไม่มีหมอ ปัจจุบันเมื่อเจ็บป่วยจะไปโรงพยาบาล สถานีอนามัย หรือคลินิกเป็นส่วนใหญ่ (หน้า 121)

Art and Crafts (including Clothing Costume)

- กลุ่มชาติพันธุ์ไทยอีสาน การแต่งกายในอดีตผู้ชายจะนุ่งโสร่ง ไม่ใส่เสื้อแล้วใช้ผ้าขาวม้พาดเอว เสื้อม่อฮ่อม ผ้าไหมสเล ส่วนผู้หญิงจะนุ่งผ้าถุง ผ้าซิ่น โจงกระเบนผ้ามัดหมี่ซึ่งทอจากผ้าไหม จะสวมเสื้อทรงแขนกระบอก คนอีสานส่วนใหญ่จะแต่งกายขึ้นอยู่กับดิน ฟ้า อากาศในท้องถิ่นนั้นๆ แต่ปัจจุบัน จะแต่งกายตามยุคสมัยนิยม (หน้า 49-50) - กลุ่มชาติพันธุ์ไทยจีน ในอดีตผู้ชายจะนุ่งกางเกงขาก๊วย ไม่ใส่เสื้อ ผู้หญิงจะนุ่งกางเกงขาก๊วยใส่เสื้อคอจีน ปัจจุบันจะแต่งกายตามสมัยนิยม (หน้า 69-70) - กลุ่มชาติพันธุ์ไทยทรงดำ การแต่งกายนิยมใช้ชุดสีดำหรือสีครามแก่เป็นพื้น การแต่งกายแบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือชุดที่ใช้ในชีวิตประจำวันและชุดในโอกาสพิเศษเสื้อของผู้ชายจะเรียกว่า เสื้อไท มักจะสวมเสื้อไทกับกางเกงขาก๊วยของจีน เสื้อของผู้หญิงจะเรียกว่าเสื้อก้อม เสื้อไท เป็นเสื้อฝ้ายแขนยาวสีดำ ผ่าหน้าตลอดติดกระดุมเงินประมาณ 10-15 เม็ด นิยมใช้ผ้าขาวม้าคาดเอว ถ้าเป็นโอกาสพิเศษจะใช้ผ้าขาวม้าทอจากผ้าไหมชุดธรรมดาของหญิงจะเป็นชุดรัดรูปพอดีตัว เอวสั้นแขนกระบอกรัดข้อมือ คอเสื้อคล้ายคอจีนผ่าหน้าตลอดติดกระดุมเงิน ปัจจุบันการแต่งกายของไทยทรงดำในจังหวัดนครสวรรค์จะแต่งเฉพาะบางโอกาสเท่านั้น (หน้า 87-90) - กลุ่มชาติพันธุ์ไทยพวน การแต่งกายในอดีตผู้ชายไม่นิยมใส่เสื้อ ต่อมาใส่เสื้อคอกลมและนุ่งโสร่ง ส่วนผู้หญิงไม่นิยมใส่เสื้อ นุ่งโสร่งแต่ต่อมาใส่เสื้อแล้วมีผ้าพาดบนไหล่ซ้าย สตรีสูงอายุจะนุ่งโจงกระเบนแล้วใช้ผ้าแถบคาดไม่สวมเสื้อ ในปัจจุบันคนไทยพวนจะแต่งกายตามยุคสมัยนิยม (หน้า 101-103) - กลุ่มชาติพันธุ์ไทยญวน ในอดีตจะนุ่งดำ ผู้ชายใส่เสื้อกุยเฮง กางเกงธรรมดาแบบกางเกงจีนตัดผมรองทรง ผู้หญิงจะใส่เสื้อแขนยาว กางเกงขายาว ไว้ผมยาวและเอาผ้าคลุมศีรษะ ในปัจจุบันจะแต่งกายตามยุคสมัยนิยม (หน้า 120-121) - กลุ่มชาติพันธุ์ไทยมอญ การแต่งกายในอดีตของหญิงชาวบ้านทั่วไปจะเป็นแบบนุ่งโจงกระเบนใส่เสื้อเอวสั้น เรียกว่า เสื้อบ่าน้อยไว้ผมดอกกระทุ่ม จอนทัดหูเวลาทำงานใช้ผ้าแถบคาดอกหรือตะเบ็งมาน ประดับด้วนเครื่องเงิน แต่ปัจจุบันการแต่งกายได้รับอารยธรรมตะวันตก การแต่งกายจึงเป็นแบบสมัยใหม่ (หน้า136-137)

Folklore

ในพิธีแห่ข้าวพันก้อนของคนไทยอีสาน ชาวบ้านที่มารับจะถามคนในขบวนแห่ว่า "ด้วยพระรัตนตรัยและพระพุทธรูปองค์ศักดิ์สิทธิ์ผ่านจะบันดาลน้ำฝนให้แก่หมู่เฮาหรือไม่" คนในขบวนแห่ก็จะตอบว่า "ท่านจะบันดาลน้ำฝนให้แก่หมู่เฮา ต่อไปฝนจะตกต้องตามฤดูกาล ประชาชน พลเมือง วัว ควายจะสบาย น้ำจะมีใช้เต็มทุ่งนา ปูปลาอาหารจะไม่อดอยาก" ชาวบ้านที่มารอรับจะแสดงความยินดีเปล่งเสียงไชโย (หน้า 59)

Ethnicity (Ethnic Identity, Boundaries and Ethnic Relation)

ไม่มีข้อมูล

Social Cultural and Identity Change

โดยมากทุกกลุ่มชาติพันธุ์จะมีการปรับเปลี่ยนลักษณะบางประการตามบริบทของสังคมที่ผันแปรไม่ว่าจะเป็นเรื่องวัฒนธรรมการแต่งกาย การสร้างเรือนหรือประเพณีวัฒนธรรมบางประการ ดังตัวอย่างเช่น - กลุ่มชาติพันธุ์ไทยอีสานจะพูดภาษาอีสานหรือภาษาของกลุ่มชาติพันธุ์ไทยอีสาน แต่ปัจจุบันคนไทยอีสานส่วนใหญ่พูดภาษาไทยหรือไทยภาคกลาง (หน้า 48) - กลุ่มชาติพันธุ์ไทยจีน ในอดีตจะใช้ภาษาแต้จิ๋วไม่ค่อยใช้ภาษาไทย แต่ในปัจจุบันบางส่วนพูดภาษาไทยเพราะมีอาชีพค้าขายส่วนภาษาดั้งเดิมจะพูดกับคนในครอบครัวหรือคนจีนที่มีเชื้อสายเดียวกัน(หน้า 68-69) - กลุ่มชาติพันธุ์ไทยญวน จะพูดภาษาญวนแต่ปัจจุบันได้ใช้ภาษาพูดเป็นภาษาไทยภาคกลางเกือบทั้งหมด และในอดีตใช้ภาษาลาตินเป็นภาษาเขียน แต่ในปัจจุบันเนื่องจากมีการติดต่อสื่อสารกับคนไทยภาคกลางและมีการสอนเขียนภาษาไทยจึงทำให้ภาษาลาตินสูญสิ้นไป (หน้า 119-120) - กลุ่มชาติพันธุ์ไทยมอญ ในอดีตใช้ภาษามอญในการติดต่อสื่อสาร แต่ปัจจุบันได้รับอิทธิพลจากภาษาไทยจึงใช้ภาษาไทยเป็นภาษาพูดแต่สำเนียงออกไปทางมอญ - กลุ่มชาติพันธุ์ไทยมอญ มีตัวเขียนเป็นของตนเอง ด้วยอิทธิพลของภาษาไทยทำให้เขียนภาษาไทยและยึดภาษาไทยเป็นภาษาเขียน (หน้า 135-136) ในอดีตจะรักษาโรคด้วยยาสมุนไพรเป็นส่วนใหญ่ นอกจากนี้ยังมีการรักษาแบบฝังเข็มและการรักษาด้วยเวทย์มนต์ ตลอดจนมีความเชื่อในเรื่องของการรักษาด้วยหมอผี ในปัจจุบัน เมื่อเจ็บป่วยจะไปโรงพยาบาล สถานีอนามัยหรือคลินิก ในอดีต หมอตำแยเป็นผู้ทำคลอด ในปัจจุบันโดยมากจะคลอดที่โรงพยาบาล (หน้า51-52) - กลุ่มชาติพันธุ์ไทยทรงดำ เดิมใช้ไสยศาสตร์ เป่าเสกโดยใช้คาถาอาคมควบคู่กับยาสมุนไพร ปัจจุบันจะเข้ารักษาจากสถานีอนามัยหรือโรงพยาบาลเป็นหลัก (หน้า 91) เรือนของกลุ่มชาติพันธุ์ไทยทรงดำปัจจุบันเริ่มเปลี่ยนเป็นบ้านสมัยใหม่ โดยมากจะเป็นเรือนไม้ มีใต้ถุนสูงสำหรับพักผ่อน (หน้า 90) - กลุ่มชาติพันธุ์ไทยพวน ในอดีตจะรักษาโรคด้วยยาสมุนไพรเป็นหลัก นอกจากนี้ ยังมีการรักษาแบบฝังเข็มและมีความเชื่อในเรื่องของการรักษาด้วยหมอผี ปัจจุบันเมื่อเจ็บป่วยจะไปโรงพยาบาล สถานีอนามัยหรือคลินิกเป็นส่วนใหญ่ (หน้า 104)

Critic Issues

ไม่มีข้อมูล

Other Issues

ไม่มี

Map/Illustration

ไม่มี

Text Analyst สุวิทย์ เลิศวิมลศักดิ์ Date of Report 30 มิ.ย 2560
TAG ลาวโซ่ง ไทยโซ่ง ผู้ลาว โซ่ง ไตดำ, เวียต, พวน, กลุ่มชาติพันธุ์, วัฒนธรรม, ประเพณี, นครสวรรค์, Translator -
 
 

 

ฐานข้อมูลอื่นๆของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
  ฐานข้อมูลพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทย
จารึกในประเทศไทย
จดหมายเหตุทางมานุษยวิทยา
แหล่งโบราณคดีที่สำคัญในประเทศไทย
หนังสือเก่าชาวสยาม
ข่าวมานุษยวิทยา
ICH Learning Resources
ฐานข้อมูลเอกสารโบราณภูมิภาคตะวันตกในประเทศไทย
ฐานข้อมูลประเพณีท้องถิ่นในประเทศไทย
ฐานข้อมูลสังคม - วัฒนธรรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  หน้าหลัก
งานวิจัยชาติพันธุ์ในประเทศไทย
บทความชาติพันธุ์
ข่าวชาติพันธุ์
เครือข่ายชาติพันธุ์
เกี่ยวกับเรา
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  ข้อมูลโครงการ
ทีมงาน
ติดต่อเรา
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
ช่วยเหลือ
  กฏกติกาและมารยาท
แบบสอบถาม
คำถามที่พบบ่อย


ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) เลขที่ 20 ถนนบรมราชชนนี เขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ 10170 
Tel. +66 2 8809429 | Fax. +66 2 8809332 | E-mail. webmaster@sac.or.th 
สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2549    |   เงื่อนไขและข้อตกลง