สมัครสมาชิก   
| |
ค้นหาข้อมูล
ค้นหาแบบละเอียด
  •   ความเป็นมาและหลักเหตุผล

    เพื่อรวบรวมงานวิจัยทางชาติพันธุ์ที่มีคุณภาพมาสกัดสาระสำคัญในเชิงมานุษยวิทยาและเผยแผ่สาระงานวิจัยแก่นักวิชาการ นักศึกษานักเรียนและผู้สนใจให้เข้าถึงงานวิจัยทางชาติพันธุ์ได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น

  •   ฐานข้อมูลจำแนกกลุ่มชาติพันธุ์ตามชื่อเรียกที่คนในใช้เรียกตนเอง ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้ คือ

    1. ชื่อเรียกที่ “คนอื่น” ใช้มักเป็นชื่อที่มีนัยในทางเหยียดหยาม ทำให้สมาชิกกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ รู้สึกไม่ดี อยากจะใช้ชื่อที่เรียกตนเองมากกว่า ซึ่งคณะทำงานมองว่าน่าจะเป็น “สิทธิพื้นฐาน” ของการเป็นมนุษย์

    2. ชื่อเรียกชาติพันธุ์ของตนเองมีความชัดเจนว่าหมายถึงใคร มีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมอย่างไร และตั้งถิ่นฐานอยู่แห่งใดมากกว่าชื่อที่คนอื่นเรียก ซึ่งมักจะมีความหมายเลื่อนลอย ไม่แน่ชัดว่าหมายถึงใคร 

     

    ภาพ-เยาวชนปกาเกอะญอ บ้านมอวาคี จ.เชียงใหม่

  •  

    จากการรวบรวมงานวิจัยในฐานข้อมูลและหลักการจำแนกชื่อเรียกชาติพันธุ์ที่คนในใช้เรียกตนเอง พบว่า ประเทศไทยมีกลุ่มชาติพันธุ์มากกว่า 62 กลุ่ม


    ภาพ-สุภาษิตปกาเกอะญอ
  •   การจำแนกกลุ่มชนมีลักษณะพิเศษกว่าการจำแนกสรรพสิ่งอื่นๆ

    เพราะกลุ่มชนต่างๆ มีความรู้สึกนึกคิดและภาษาที่จะแสดงออกมาได้ว่า “คิดหรือรู้สึกว่าตัวเองเป็นใคร” ซึ่งการจำแนกตนเองนี้ อาจแตกต่างไปจากที่คนนอกจำแนกให้ ในการศึกษาเรื่องนี้นักมานุษยวิทยาจึงต้องเพิ่มมุมมองเรื่องจิตสำนึกและชื่อเรียกตัวเองของคนในกลุ่มชาติพันธุ์ 

    ภาพ-สลากย้อม งานบุญของยอง จ.ลำพูน
  •   มโนทัศน์ความหมายกลุ่มชาติพันธุ์มีการเปลี่ยนแปลงในช่วงเวลาต่างๆ กัน

    ในช่วงทศวรรษของ 2490-2510 ในสาขาวิชามานุษยวิทยา “กลุ่มชาติพันธุ์” คือ กลุ่มชนที่มีวัฒนธรรมเฉพาะแตกต่างจากกลุ่มชนอื่นๆ ซึ่งมักจะเป็นการกำหนดในเชิงวัตถุวิสัย โดยนักมานุษยวิทยาซึ่งสนใจในเรื่องมนุษย์และวัฒนธรรม

    แต่ความหมายของ “กลุ่มชาติพันธุ์” ในช่วงหลังทศวรรษ 
    2510 ได้เน้นไปที่จิตสำนึกในการจำแนกชาติพันธุ์บนพื้นฐานของความแตกต่างทางวัฒนธรรมโดยตัวสมาชิกชาติพันธุ์แต่ละกลุ่มเป็นสำคัญ... (อ่านเพิ่มใน เกี่ยวกับโครงการ/คู่มือการใช้)


    ภาพ-หาดราไวย์ จ.ภูเก็ต บ้านของอูรักลาโว้ย
  •   สนุก

    วิชาคอมพิวเตอร์ของนักเรียน
    ปกาเกอะญอ  อ. แม่ลาน้อย
    จ. แม่ฮ่องสอน


    ภาพโดย อาทิตย์    ทองดุศรี

  •   ข้าวไร่

    ผลิตผลจากไร่หมุนเวียน
    ของชาวโผล่ว (กะเหรี่ยงโปว์)   
    ต. ไล่โว่    อ.สังขละบุรี  
    จ. กาญจนบุรี

  •   ด้าย

    แม่บ้านปกาเกอะญอ
    เตรียมด้ายทอผ้า
    หินลาดใน  จ. เชียงราย

    ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ถั่วเน่า

    อาหารและเครื่องปรุงหลัก
    ของคนไต(ไทใหญ่)
    จ.แม่ฮ่องสอน

     ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ผู้หญิง

    โผล่ว(กะเหรี่ยงโปว์)
    บ้านไล่โว่ 
    อ.สังขละบุรี
    จ. กาญจนบุรี

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   บุญ

    ประเพณีบุญข้าวใหม่
    ชาวโผล่ว    ต. ไล่โว่
    อ.สังขละบุรี  จ.กาญจนบุรี

    ภาพโดยศรยุทธ  เอี่ยมเอื้อยุทธ

  •   ปอยส่างลอง แม่ฮ่องสอน

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ปอยส่างลอง

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดย เบญจพล  วรรณถนอม
  •   อลอง

    จากพุทธประวัติ เจ้าชายสิทธัตถะ
    ทรงละทิ้งทรัพย์ศฤงคารเข้าสู่
    ร่มกาสาวพัสตร์เพื่อแสวงหา
    มรรคผลนิพพาน


    ภาพโดย  ดอกรัก  พยัคศรี

  •   สามเณร

    จากส่างลองสู่สามเณร
    บวชเรียนพระธรรมภาคฤดูร้อน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   พระพาราละแข่ง วัดหัวเวียง จ. แม่ฮ่องสอน

    หล่อจำลองจาก “พระมหามุนี” 
    ณ เมืองมัณฑะเลย์ ประเทศพม่า
    ชาวแม่ฮ่องสอนถือว่าเป็นพระพุทธรูป
    คู่บ้านคู่เมืององค์หนึ่ง

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม

  •   เมตตา

    จิตรกรรมพุทธประวัติศิลปะไต
    วัดจองคำ-จองกลาง
    จ. แม่ฮ่องสอน
  •   วัดจองคำ-จองกลาง จ. แม่ฮ่องสอน


    เสมือนสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรม
    เมืองไตแม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ใส

    ม้งวัยเยาว์ ณ บ้านกิ่วกาญจน์
    ต. ริมโขง อ. เชียงของ
    จ. เชียงราย
  •   ยิ้ม

    แม้ชาวเลจะประสบปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัย
    พื้นที่ทำประมง  แต่ด้วยความหวัง....
    ทำให้วันนี้ยังยิ้มได้

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ผสมผสาน

    อาภรณ์ผสานผสมระหว่างผ้าทอปกาเกอญอกับเสื้อยืดจากสังคมเมือง
    บ้านแม่ลาน้อย จ. แม่ฮ่องสอน
    ภาพโดย อาทิตย์ ทองดุศรี
  •   เกาะหลีเป๊ะ จ. สตูล

    แผนที่ในเกาะหลีเป๊ะ 
    ถิ่นเดิมของชาวเลที่ ณ วันนี้
    ถูกโอบล้อมด้วยรีสอร์ทการท่องเที่ยว
  •   ตะวันรุ่งที่ไล่โว่ จ. กาญจนบุรี

    ไล่โว่ หรือที่แปลเป็นภาษาไทยว่า ผาหินแดง เป็นชุมชนคนโผล่งที่แวดล้อมด้วยขุนเขาและผืนป่า 
    อาณาเขตของตำบลไล่โว่เป็นส่วนหนึ่งของป่าทุ่งใหญ่นเรศวรแถบอำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี 

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   การแข่งขันยิงหน้าไม้ของอาข่า

    การแข่งขันยิงหน้าไม้ในเทศกาลโล้ชิงช้าของอาข่า ในวันที่ 13 กันยายน 2554 ที่บ้านสามแยกอีก้อ อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย
 
  Princess Maha Chakri Sirindhorn Anthropology Centre
Ethnic Groups Research Database
Sorted by date | title

   Record

 
Subject กูย กวย(ส่วย),วิถีครอบครัว,ชุมชน,บุรีรัมย์
Author สมมาตร์ ผลเกิด
Title วิถีครอบครัวและชุมชนชาติพันธุ์ไทยส่วย บ้านดงกระทิง ตำบลบ้านด่าน อำเภอเมือง จังหวัดบุรีรัมย์
Document Type รายงานการวิจัย Original Language of Text ภาษาไทย
Ethnic Identity กูย กุย กวย โกย โก็ย, Language and Linguistic Affiliations ออสโตรเอเชียติก(Austroasiatic)
Location of
Documents
ห้องสมุดศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร Total Pages 194 Year 2538
Source คณะอนุกรรมการวิจัยวัฒนธรรมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สำนักงานคณะกรรมการแห่งชาติ กระทรวงศึกษาธิการ
Abstract

ในอดีตส่วยบ้านดงกระทิงยึดมั่นในขนบธรรมเนียมประเพณีทางความเชื่ออย่างเคร่งครัดจนเกิดเอกลักษณ์เฉพาะกลุ่ม แต่ปัจจุบันความสำนึกในการที่จะรักษาชาติพันธุ์กำลังเข้าสู่ภาวะวิกฤติ เป็นผลสืบเนื่องมาจากความเปลี่ยนแปลงของสังคมโดยรวมเข้ามาพร้อมกับนโยบายการพัฒนาประเทศของภาครัฐและการแข่งขัน เพื่อเป็นผู้นำทางเศรษฐกิจของภาคเอกชน เป็นผลให้กูยต้องเผชิญกับการกลืนทางวัฒนธรรม แปรสภาพเป็นสังคมที่ไร้เอกลักษณ์ทางวัฒนธรรม ในภาพรวมสำหรับการปรับตัวเข้ากับสภาพการเปลี่ยนแปลงด้านต่างๆ ในกระแสโลกาภิวัตน์ของส่วยบ้านดงกระทิง สามารถปรับตัวได้เป็นอย่างดีแม้จะส่งผลกระทบต่อวิถีการดำรงชีวิตในบางส่วนเปลี่ยนแปลงบ้าง ก็เป็นการปรับเพื่อความดำรงอยู่บนพื้นฐานที่สามารถสืบค้นต้นตอความเป็นมาของประเพณีและพิธีกรรมเหล่านั้นได้

Focus

สภาพทั่วไปของชุมชน วิถีครอบครัวและการเปลี่ยนแปลงในกระแสโลกาภิวัตน์ของชาติพันธุ์ไทยส่วย บ้านดงกระทิง ตำบลบ้านด่าน อำเภอเมือง จังหวัดบุรีรัมย์

Theoretical Issues

ไม่มี

Ethnic Group in the Focus

ส่วย

Language and Linguistic Affiliations

ภาษากูยอยู่ในกลุ่มภาษาเดียวกับภาษามอญ - เขมร สาขา Katuic ตะวันตกซึ่งเป็นกลุ่มภาษาในตระกูลออสโตรเอเชียติก กูย แต่ละถิ่นใช้สำเนียงที่ต่างกัน หากใช้ระบบเสียงมาเป็นเกณฑ์ในการแบ่งอาจแบ่งภาษากูยออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ได้แก่ กลุ่มภาษา กูย (กูย - กูย) และกลุ่มภาษากวย (กูย - กวย) (หน้า 37)

Study Period (Data Collection)

พ.ศ.2538

History of the Group and Community

บรรพบุรุษของส่วยบ้านดงกระทิง อพยพมาจากจังหวัดสุรินทร์ (หน้า26) ในพงศาวดารเมืองละแวกได้กล่าวถึงชนเผ่ากูยว่า "ครั้งหนึ่งกษัตริย์กัมพูชาได้ขอความช่วยเหลือไปยังกษัตริย์กูยให้มาช่วยปราบอริราชศัตรู กษัตริย์กูยได้ยกกองทัพไปช่วยรบจนได้ชัยชนะ ความสัมพันธ์ของอาณาจักรกัมพูชากับอาณาจักรกูยจึงดำเนินไปด้วยไมตรีอันดีสืบต่อเรื่อยมา" (หน้า 30) ระหว่างพุทธศตวรรษที่ 18-20 มีเอกสารหลายเล่มกล่าวถึงอาณาจักรของชนเผ่ากูยว่า ตั้งอยู่ในเขตที่ราบลุ่มแม่น้ำโขงตอนใต้ สันนิษฐานว่าน่าจะอยู่ตอนใต้ของลาวและตะวันออกเฉียงเหนือของกัมพูชา โดยอาณาจักรดังกล่าวมีความสัมพันธ์กับอยุธยาด้วย แต่หลังจากนั้นไม่มีเอกสารใดกล่าวถึงชนเผ่ากูยอีกเลย ในอดีตที่อยู่ของชนเผ่ากูยจะอยู่ทางอีสานใต้ อำนาจรัฐของไทยและเขมรไม่สามารถเข้าไปควบคุมชนเผ่ากูยอย่างเข้มงวด เนื่องจากชนเผ่ากูยจะอยู่ตามป่า ตามภูเขาสูง ชนกลุ่มนี้จึงเป็นอิสระไม่ขึ้นต่อเมืองใด ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2200 อันเป็นปีที่อพยพมาจากเมืองอัตตะปือแสนปางแห่งแคว้นจำปาศักดิ์ ปัจจุบัน กูยอาศัยอยู่ทั่วไปในพื้นที่ต่าง ๆ ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย โดยมากจะตั้งหลักแหล่งอยู่ระหว่างแม่น้ำมูลและสาขากับเทือกเขาพนมดงรัก(หน้า 32-34 )

Settlement Pattern

การตั้งถิ่นฐานจะอยู่ร่วมกันเป็นกระจุกกลุ่มเครือญาติหรือโคตรตระกูลเดียวกัน (หน้า 9) เรือนของส่วยบ้านดงกระทิงมีสภาพเรียบง่าย ใช้วัสดุที่หาได้ในท้องถิ่นเป็นวัสดุหลักในการก่อสร้าง เน้นประโยชน์ใช้สอยมากกว่าความสวยงาม (หน้า 85) จากสภาพบ้านเรือนปัจจุบันสามารถจำแนกพัฒนาการได้ดังนี้ - กระท่อม เป็นบ้านชั้นเดียวไม่มีใต้ถุนหรือใต้ถุนเตี้ยปูพื้นด้วยไม้ไผ่ผ่าครึ่งตามยาวใช้ค้อนทุบคลี่ออกเป็นแผ่นปูจนเต็ม ฝาบ้านทำจากไม้ขัดแตะใบยางหรือใบพลวง หลังคาจั่วมุงหญ้าคา เข้าไม้ประกอบเป็นตัวเรือนใช้วิธีเจาะรูแล้วตอกลิ่มใช้ตอกไม้ไผ่ เถาวัลย์หรือหวายช่วยยึด และนิยมสร้างยุ้งข้าวคู่กับการสร้างเรือนเพื่อเก็บผลิตผลทางการเกษตร - บ้านชั้นเดียวใต้ถุนสูง เมื่อย้อนหลัง 40 ปีขึ้นไป หลังคาเป็นรูปสามเหลี่ยมหน้าจั่วมุงด้วยกระเบื้องไม้หรือสังกะสี หน้าจั่วใช้ไม้ไผ่ขัดแตะหรือไม้กระดานตีปิดป้องกันฝนสาด เสาบ้านทำด้วยไม้ถากเป็นรูปแปดเหลี่ยมหรือเสากลม ใต้ถุนสูงประมาณ 1.50 - 2.00 เมตร ปูพื้นด้วยไม้กระดาน ฝาเรือนบางหลังจะทำจากไม้ไผ่ขัดแตะใบตอง บ้านที่มีฐานะดีจะทำด้วยไม้กระดาน แผนผังเรือนยังคงยึดรูปแบบมาจากบ้านกระท่อมเพียงแต่ขยายส่วนให้กว้างขึ้น องค์ประกอบของเรือนได้แก่ ห้องโล่งหรือห้องเปิง ห้องนอนจะมีตั้งแต่ 2-3 ห้อง ห้องครัว ร้านน้ำ ชานบ้าน และบันไดบ้านจะมีลักษณะคล้ายบันไดลิง ปกติจะอยู่ทางทิศตะวันออก - บ้านแฝดหรือเรือนแฝด เป็นเรือนใต้ถุนสูง โครงสร้างและองค์ประกอบต่าง ๆ มีลักษณะเหมือนบ้านชั้นเดียวใต้ถุนสูงสองหลังขนาบกัน ระหว่างชายคาของบ้านทั้งสองทำเป็นรางน้ำ พื้นใต้รางน้ำเป็นชาน - บ้านสองชั้น เป็นบ้านสมัยใหม่มีลักษณะคล้ายบ้านชั้นเดียวใต้ถุนสูง ชั้นบนมีฝาไม้กระดานปิดบังอย่างมิดชิด มีหน้าต่างขนาดมาตรฐานสากล หลังคามุงด้วยสังกะสีหรือกระเบื้อง ครอบครัวที่มีฐานะดีจะตีฝ้าเพื่อกันความร้อน ชั้นล่างจะก่อซิเมนต์บล็อกหรืออิฐมอญเป็นผนังบ้าน มีความมั่นคงแข็งแรง มีการทาสีตามสมัยนิยมเพื่อป้องกันเนื้อไม้จากแดดและฝน แผนผังเรือนสมัยใหม่ไม่ยึดรูปแบบอย่างอดีต แต่เน้นทั้งประโยชน์ใช้สอยและความงามควบคู่กัน บ้านชั้นเดียวที่ได้รับความนิยมคือบ้านชั้นเดียวแบบตะวันตกที่เรียกว่า "บ้านทรงสเปน"

Demography

กูยเยอในอำเภอราศีไศล มีประชากรประมาณ 8,000 คน ปัจจุบันส่วยตั้งถิ่นฐานทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือจำนวน 686 หมู่บ้านใน 4 จังหวัดได้แก่จังหวัดสุรินทร์ ศรีสะเกษ บุรีรัมย์และจังหวัดอุบลราชธานี มีประชากรประมาณ 273,570 คน (หน้า 37) บ้านดงกระทิงแบ่งออกเป็น 3 หมู่บ้าน ได้แก่ บ้านดงกระทิง มีประชากร 757 คน บ้านหนองทับ มีประชากร 711 คนและบ้านโพธิ์ทอง มีประชากร 339 คน (พฤษภาคม 2538) (หน้า 42)

Economy

ในอดีตเป็นการผลิตเพื่อยังชีพ เพื่ออุปโภคบริโภคภายในครอบครัว ผลผลิตที่เหลือจะนำแจกจ่ายหรือแลกเปลี่ยนกับเพื่อนบ้าน นอกเหนือจากการเพาะปลูกแล้ว ชาวบ้านหนองทับยังมีการเก็บของป่าล่าสัตว์เพื่อยังชีพ รายได้ส่วนใหญ่มาจากการรับจ้างเผาถ่านขาย อาชีพที่ของชาวบ้านดงกระทิงที่สำคัญและปฏิบัติสืบต่อกันมาจากอดีตจนปัจจุบัน ได้แก่ - การทำไร่ การทำนา ในยุคแรกเป็นการทำเพื่อยังชีพ การปลูกพืชผักสวนครัวถือเป็นอาชีพรองซึ่งทำในช่วงว่างเว้นจากการทำไร่ ทำนา - อาชีพรับจ้าง ในระยะแรกการกระทำกิจกรรมใดๆจะไม่มีการการว่าจ้างกันแต่จะใช้วิธีขอแรงที่เรียกว่า "ลงแขก" แต่หลังจากนำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติมาใช้ การช่วยแรงงานลดน้อยลงแทบจะไม่มีเพราะแต่ละคนมีงานทำในตัวเมืองเข้าออกงานตามเวลาที่สถานประกอบการกำหนดซึ่งเป็นผลพวงจากระบบเศรษฐกิจที่มุ่งแข่งขันกันสร้างฐานะ อาชีพคล้องช้าง ถือเป็นเอกลักษณ์ของส่วย เพื่อมาฝึกชักลากซุงและเป็นฐานะแสดงความมั่นคงทางเศรษฐกิจของส่วยในอดีต แต่ปัจจุบันไม่สามารถทำได้เนื่องจากช้างมีปริมาณลดลง ความจำเป็นในการใช้ช้างมีน้อยลงเพราะเครื่องจักรเข้ามามีบทบาทมากขึ้น (หน้า 17-23)

Social Organization

โครงสร้างครอบครัวของส่วยในอดีตเป็นครอบครัวขยาย สมาชิกในครอบครัวมีความผูกพันแน่นแฟ้นจะเคารพในระบบอาวุโสยังไม่มีการวางแผนครอบครัว เป็นสังคมซึ่งต้องใช้แรงงานมากจึงทำให้ครอบครัวมีขนาดใหญ่ โครงสร้างครอบครัวของส่วยบ้านดงกระทิงจำแนกตามประเภทของผู้นำครอบครัวสามารถจำแนกได้ 3 กลุ่ม ได้แก่ - ครอบครัวที่แม่ฝ่ายหญิงเป็นผู้นำ เกิดจากเมื่อลูกสาวแต่งงานฝ่ายชายจะเข้ามาอยู่บ้านฝ่ายหญิงในฐานะ "ลูกเขย" - ครอบครัวที่พ่อแม่ฝ่ายชายเป็นผู้นำ เกิดจากครอบครัวฝ่ายชายมีลูกคนเดียว - ส่วนครอบครัวที่มีพ่อเป็นผู้นำ จะเป็นโครงสร้างครอบครัวขนาดเล็ก เรียกว่า "ครอบครัวเดี่ยว" เกิดจากการออกเรือนมาจาก พ่อตา - แม่ยาย หรือพ่อปู่ - แม่ย่า การสืบสายตระกูลผู้ชายเป็นผู้นำและลูกชายเป็นผู้สืบสายตระกูล เพราะลูกชายสามารถทำงานหนักและแบกภาระในการดูแลครอบครัวแทนพ่อได้ (หน้า 64 - 67)

Political Organization

บ้านดงกระทิง แบ่งเขตการปกครองเพิ่มอีก 2 หมู่บ้านได้แก่หมู่บ้านทองทับ หมู่ที่ 13 และหมู่บ้านโพธิ์งาม หมู่ที่ 15 (หน้า 9)

Belief System

ความเชื่อทางศาสนาของกูยมีลักษณะผสมผสานระหว่างศาสนาพุทธกับการนับถือผี (Animism) (หน้า 127) และมีพิธีกรรมสำคัญคือ พิธีกรรมในการคล้องช้าง จะเริ่มที่ศาลประกำเพื่อแจ้งให้ผีประกำหรือครูประกำทราบว่าพวกตนจะออกไปคล้องช้างและขอความคุ้มครอง ดูแลให้แคล้วคลาดจากอันตรายและให้มีโชคลาภกลับมา ความเชื่อเกี่ยวกับการกินอาหารในอดีตและยังยึดถือปฏิบัติสืบต่อกันมา เช่น ความเชื่อที่ว่า กินหางปลาไหลจะทำให้เลือดกำเดาไหลไม่หยุด เด็กกินขาไก่ โตขึ้นจะแย่งคู่ครองคนอื่น กินของฝากผู้อื่นจะเป็นคอพอก เป็นต้น (หน้า 25,83) ไทยกวยจะสร้างบ้านไปทางทิศตะวันออกห้ามหันทิศตะวันตกเพราะเชื่อว่า ทิศตะวันตกเป็นทิศของผีสางหากลูกจะปลูกบ้านใหม่ห้ามสร้างทางทิศใต้ของบ้านหลังเดิม ห้ามปลูกยุ้งข้าวหันหน้าไปทางทิศเหนือและทิศตะวันตก (หน้า 103)

Education and Socialization

ปี พ.ศ. 2475 เจ้าอาวาสบ้านดงกระทิงได้สร้างศาลาสำหรับเป็นสถานศึกษา การสอนในระยะแรกประมาณปี พ.ศ. 2475 ไม่มีครูสอนอย่างเป็นทางการ มีพระเป็นผู้อบรมศีลธรรมแก่เยาวชน ราวปี พ.ศ. 2477 มีครูทำการสอนอย่างเป็นรูปธรรมโดยจัดการเรียนการสอนแบบสหศึกษา จนถึงระดับประถมศึกษาปีที่ 6 ระยะต่อมาทางราชการได้จัดสรรงบประมาณในการก่อสร้างอาคารเรียนอย่างเป็นทางการ มีครูทำการสอน 2 คน มีนักเรียนเข้าเรียนครั้งแรก จำนวน 140 คน เป็นชาย 99 คนและหญิง 44 คน ปัจจุบันมีนักเรียนจำนวน 349 คน เป็นชาย 170 คน หญิง 179 คนมีครูประจำการ 14 คน (หน้า28)

Health and Medicine

บ้านดงกระทิงมีสถานีอนามัยเป็นสถานที่รักษาพยาบาลแก่ชาวบ้านในอาการที่ไม่รุนแรงมาก และส่งเสริมป้องกันและให้คำแนะนำในด้านสาธารณะสุขแก่โรงเรียนในพื้นที่ใกล้เคียง (หน้า 28) ในอดีตจะใช้ยาสมุนไพรที่ได้ทั้งจากพืชและสัตว์ควบคู่กับการใช้เวทมนต์คาถาทางไสยศาสตร์รักษาตามความเชื่อของชุมชน (หน้า 113)

Art and Crafts (including Clothing Costume)

เรื่องเกี่ยวบ้านเรือนอยู่อาศัยและพัฒนาการดูได้ในหัวข้อ Settlement Pattern การแต่งกาย หมอช้างที่เข้ามาเซ่นผีประกำต้องนุ่งโสร่งไหมสีเขียว ตองอ่อน ไม่สวมเสื้อ ถือผ้าขาวม้า 2 ผืน ผืนหนึ่งคาดเอวอีกผืนหนึ่งคล้องคอเฉวียงไหล่ (หน้า 25) การแต่งกายในอดีตเป็นไปอย่างเรียบง่าย สีเสื้อผ้าจะไม่ดูฉูดฉาด ในแต่ละช่วงของอายุจะแต่งกายแตกต่างกันออกไป - การแต่งกายของเด็ก เด็กชายนิยมไว้ผมจุกหรือแกละสำหรับคนที่เจ็บป่วยบ่อย หัวโล้นโกนศีรษะป้องกันเหา เด็กชายก่อน วัยเรียนโดยมากจะเปลือยกาย มีผ้าห่มพันกายบ้างในฤดูหนาว พ่อแม่จะเจาะเปลือกหอยแครง หอยเบี้ยหรือเหรียญกษาปณ์ 1 สตางค์ บางคนมีเส้นด้ายสีแดงเป็นเครื่องรางห้อยคอ เด็กหญิงอายุก่อนวัยเรียนทรงผมไม่ต่างจากเด็กชาย การแต่งกายจะมี ตะปิ้งปิดบริเวณอวัยวะเพศ ไม่สวมเสื้อ มีเครื่องประดับเช่นเดียวกับชาย - การแต่งกายของชาย จะไว้ผมรองทรงหรือไว้ผมยาวถึงต้นคอ อยู่บ้านไม่นิยมสวมเสื้อ นุ่งผ้าขาวม้า กางเกงหูรูดหรือกางเกงขาก๊วย มีผ้าขาวม้าคาดเอง ชุดทำงานจะเป็นเสื้อคอกลมผ่าอกแขนยาว สีดำ นุ่งกางเกงหูรูดหรือกางเกงขาก๊วย ใช้ผ้าขาวม้าคาดเอวหรือโพกหัว ไม่สวมเสื้อขณะทำงานก็มี ปัจจุบันการแต่งกายมีลักษณะเหมือนคนเมืองทุกประการ ชายสูงอายุปกติจะไม่สวมเสื้อแต่จะนุ่งกางเกงหูรูด กางเกงขาก๊วยหรือโสร่ง มีผ้าขาวม้าคาดเอว พาดไหล่หรือโพกศีรษะ บางครั้งจะนุ่งผ้าขาวม้าผืนเดียวนั่งทำเครื่องจักสาน ในโอกาสพิเศษ ผู้สูงอายุจะสวมเสื้อคอกลมผ่าอกคล้ายเสื้อกุยเฮง สีขาวหรือสีน้ำเงินใช้ผ้าขาวม้าคาดพุงหรือพาดไหล่ - การแต่งกายของหญิง ในอดีต ไว้ผมยาว สวมเสื้อคอกลมผ่าอกแขนสั้น หรือคอกระเช้าขณะอยู่บ้าน ชุดทำงานจะเป็นเสื้อคอกลมผ่าอกแขนยาวสีดำหรือสีน้ำเงิน นุ่งผ้าถุง ในโอกาสพิเศษจะใส่เสื้อสีต่างๆ หญิงสาวที่มีฐานะดีจะนุ่งผ้ามัดหมี่ ปัจจุบันการแต่งกายของหญิงเปลี่ยนแปลงไปมาก จะแต่งกายแบบคนเมือง หญิงสูงอายุ หลังแต่งงานมีลูกแล้วหนึ่งคนจะนิยมเปลือยกายท่อนบน ไม่สวมเสื้อ บางโอกาสจะใช้สไบกระโจมอกหรือพาดไหล่ นุ่งผ้าถุงดำหรือน้ำเงิน หญิงชราเมื่ออยู่บ้านจะเปลือยกาย ยกเว้นผู้มีฐานะดีจะใส่เสื้อคอกระเช้า ในโอกาสพิเศษจะใส่เสื้อคอกลมผ่าอกแขนยาว นิยมใช้เงินพดด้วงทำกระดุม จะไว้ทรงผมเป็นทรงดอกกระทุ่มปล่อยจอนยาวทั้งสองข้างสำหรับห้อยดอกไม้ ปัจจุบันการแต่งกายของหญิงสูงอายุไม่ค่อยเปลี่ยนแปลงมากนัก(หน้า 110 - 113)

Folklore

นิทาน ภาษิต พังเพยและปริศนาคำทายของไทยกวยสามารถจำแนกเป็นประเภทได้แก่ ภาษิตและคำสอน เป็นวรรณกรรมแบบ มุขปาฐะที่ผู้สูงอายุได้เล่าและสั่งสอนบุตรหลาน ปริศนาคำทาย ชี้ให้เห็นความเป็นอยู่ สภาพสังคมและสิ่งแวดล้อมใกล้ ๆ ตัว และเป็นส่วนหนึ่งที่ใช้ทดลองปัญญา จากผู้ใหญ่มีต่อเด็กหรือจากเด็กต่อเด็ก ปริศนาที่ใช้ทายได้แก่ ปริศนาคำทายเกี่ยวกับสัตว์ เกี่ยวกับคน การกระทำ ส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย พืช ผักผลไม้และคำทายอื่น ๆ (หน้า 44-52)

Ethnicity (Ethnic Identity, Boundaries and Ethnic Relation)

ปัจจุบันสภาพสังคมเปลี่ยนแปลงไปมาก กูยมีการอพยพย้ายถิ่นด้วยเหตุผลด้านเศรษฐกิจ ความก้าวหน้าด้านการสื่อสารและอื่นๆเป็นปัจจัยสำคัญก่อให้เกิดการผสมกลมกลืนทั้งทางด้านชาติพันธุ์และวัฒนธรรมกับกลุ่ม "ไทย - ลาว" และกลุ่ม "ไทย - เขมร" ส่งผลก่อให้เกิดกลุ่มชาติพันธุ์ที่เรียกว่า "ส่วย - ลาว" และ "ส่วย - เขมร" (หน้า 37)

Social Cultural and Identity Change

สภาพเศรษฐกิจและสังคมปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลง ชาวบ้านโดยมากต้องออกไปขายแรงงานในตัวเมืองหรือต่างถิ่น ปล่อยให้ผู้สูงอายุอยู่บ้านเลี้ยงเด็กและเลี้ยงสัตว์โดยลำพัง ทำให้วิถีชีวิตของชาวบ้านเปลี่ยนแปลงไปมาก (หน้า 21) ปัจจุบัน สภาพทางสังคมของชาวบ้านดงกระทิงถูกกระแสวัฒนธรรมจากสังคมเมืองและวัฒนธรรมตะวันตกจนทำให้ค่านิยมยกย่องคนดี มีคุณธรรมลดลง ค่านิยมใหม่ยกย่องคนมีเงิน ค่านิยมในการสะสมวัตถุว่าเป็นสิ่งที่ควรเอาแบบอย่างมีมากขึ้น คน หนุ่มสาวจะแต่งกายและใช้ภาษากลางมากกว่าภาษาถิ่น ความสัมพันธ์ของคนกับชุมชนเริ่มห่างเหิน ขนบธรรมเนียมประเพณีที่ เคยปฏิบัติถูกละเลยและสูญหายไปในที่สุด (หน้า 126) - ครอบครัวกับประเพณี ปัจจุบันความร่วมมือในการจัดกิจกรรมเกี่ยวกับประเพณีหรืองานบุญต่าง ๆ เริ่มเสื่อมลง สมาชิกของ ชุมชนวัยแรงงานต้องออกไปขายแรงงานต่างถิ่น ทำให้ขาดการเชื่อมโยงสืบทอดประเพณีอันดีงามของชุมชน - ครอบครัวกับการจัดการสภาพแวดล้อมชุมชน ไม่มีระเบียบกฎเกณฑ์ ปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติเพราะทรัพยากรอุดมสมบูรณ์เกินความต้องการ ปัจจุบันจำนวนประชากรเพิ่มขึ้น ความต้องการทรัพยากรมีเพิ่มมากขึ้น ทรัพยากรบางประเภทถูก ใช้จนหมด ดินและน้ำถูกใช้จนเสื่อมคุณภาพ ปัจจุบันหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนร่วมกับชุมชนเพื่อวางแผนจัดการ จัดระบบ การใช้ทรัพยากรเพื่อรักษาความสมดุลของสภาพแวดล้อม - ครอบครัวกับกระบวนการอยู่ร่วมกันในชุมชน ในอดีตมีความสมานสามัคคีกันอย่างดีเพราะสมาชิกในชุมชนมีความสัมพันธ์ในลักษณะของเครือญาติเมื่อมีความขัดแย้งในหมู่สมาชิกในชุมชน ผู้อาวุโสหรือผู้นำชุมชนจะเป็นผู้ไกล่เกลี่ย ปัจจุบันประชากรเพิ่มขึ้นปัญหาการกระทบกระทั่งกันในหมู่สมาชิกในเรื่องการแย่งชิงทรัพยากรต่าง ๆ เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่พ้น

Critic Issues

ไม่มีข้อมูล

Other Issues

ไม่มี

Map/Illustration

- แผนที่แสดงที่ตั้งชุมชนบ้านดงกระทิง(10) - แผนที่ชุมชนบ้านดงกระทิง(11) - แผนที่แสดงเส้นทางอพยพของส่วย(31) - แผนที่แสดงที่ตั้งถิ่นฐานของกลุ่มชาติพันธุ์ส่วยในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ(35)

Text Analyst สุวิทย์ เลิศวิมลศักดิ์ Date of Report 18 ส.ค. 2557
TAG กูย กวย(ส่วย), วิถีครอบครัว, ชุมชน, บุรีรัมย์, Translator -
 
 

 

ฐานข้อมูลอื่นๆของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
  ฐานข้อมูลพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทย
จารึกในประเทศไทย
จดหมายเหตุทางมานุษยวิทยา
แหล่งโบราณคดีที่สำคัญในประเทศไทย
หนังสือเก่าชาวสยาม
ข่าวมานุษยวิทยา
ICH Learning Resources
ฐานข้อมูลเอกสารโบราณภูมิภาคตะวันตกในประเทศไทย
ฐานข้อมูลประเพณีท้องถิ่นในประเทศไทย
ฐานข้อมูลสังคม - วัฒนธรรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  หน้าหลัก
งานวิจัยชาติพันธุ์ในประเทศไทย
บทความชาติพันธุ์
ข่าวชาติพันธุ์
เครือข่ายชาติพันธุ์
เกี่ยวกับเรา
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  ข้อมูลโครงการ
ทีมงาน
ติดต่อเรา
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
ช่วยเหลือ
  กฏกติกาและมารยาท
แบบสอบถาม
คำถามที่พบบ่อย


ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) เลขที่ 20 ถนนบรมราชชนนี เขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ 10170 
Tel. +66 2 8809429 | Fax. +66 2 8809332 | E-mail. webmaster@sac.or.th 
สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2549    |   เงื่อนไขและข้อตกลง