สมัครสมาชิก   
| |
ค้นหาข้อมูล
ค้นหาแบบละเอียด
  •   ความเป็นมาและหลักเหตุผล

    เพื่อรวบรวมงานวิจัยทางชาติพันธุ์ที่มีคุณภาพมาสกัดสาระสำคัญในเชิงมานุษยวิทยาและเผยแผ่สาระงานวิจัยแก่นักวิชาการ นักศึกษานักเรียนและผู้สนใจให้เข้าถึงงานวิจัยทางชาติพันธุ์ได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น

  •   ฐานข้อมูลจำแนกกลุ่มชาติพันธุ์ตามชื่อเรียกที่คนในใช้เรียกตนเอง ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้ คือ

    1. ชื่อเรียกที่ “คนอื่น” ใช้มักเป็นชื่อที่มีนัยในทางเหยียดหยาม ทำให้สมาชิกกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ รู้สึกไม่ดี อยากจะใช้ชื่อที่เรียกตนเองมากกว่า ซึ่งคณะทำงานมองว่าน่าจะเป็น “สิทธิพื้นฐาน” ของการเป็นมนุษย์

    2. ชื่อเรียกชาติพันธุ์ของตนเองมีความชัดเจนว่าหมายถึงใคร มีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมอย่างไร และตั้งถิ่นฐานอยู่แห่งใดมากกว่าชื่อที่คนอื่นเรียก ซึ่งมักจะมีความหมายเลื่อนลอย ไม่แน่ชัดว่าหมายถึงใคร 

     

    ภาพ-เยาวชนปกาเกอะญอ บ้านมอวาคี จ.เชียงใหม่

  •  

    จากการรวบรวมงานวิจัยในฐานข้อมูลและหลักการจำแนกชื่อเรียกชาติพันธุ์ที่คนในใช้เรียกตนเอง พบว่า ประเทศไทยมีกลุ่มชาติพันธุ์มากกว่า 62 กลุ่ม


    ภาพ-สุภาษิตปกาเกอะญอ
  •   การจำแนกกลุ่มชนมีลักษณะพิเศษกว่าการจำแนกสรรพสิ่งอื่นๆ

    เพราะกลุ่มชนต่างๆ มีความรู้สึกนึกคิดและภาษาที่จะแสดงออกมาได้ว่า “คิดหรือรู้สึกว่าตัวเองเป็นใคร” ซึ่งการจำแนกตนเองนี้ อาจแตกต่างไปจากที่คนนอกจำแนกให้ ในการศึกษาเรื่องนี้นักมานุษยวิทยาจึงต้องเพิ่มมุมมองเรื่องจิตสำนึกและชื่อเรียกตัวเองของคนในกลุ่มชาติพันธุ์ 

    ภาพ-สลากย้อม งานบุญของยอง จ.ลำพูน
  •   มโนทัศน์ความหมายกลุ่มชาติพันธุ์มีการเปลี่ยนแปลงในช่วงเวลาต่างๆ กัน

    ในช่วงทศวรรษของ 2490-2510 ในสาขาวิชามานุษยวิทยา “กลุ่มชาติพันธุ์” คือ กลุ่มชนที่มีวัฒนธรรมเฉพาะแตกต่างจากกลุ่มชนอื่นๆ ซึ่งมักจะเป็นการกำหนดในเชิงวัตถุวิสัย โดยนักมานุษยวิทยาซึ่งสนใจในเรื่องมนุษย์และวัฒนธรรม

    แต่ความหมายของ “กลุ่มชาติพันธุ์” ในช่วงหลังทศวรรษ 
    2510 ได้เน้นไปที่จิตสำนึกในการจำแนกชาติพันธุ์บนพื้นฐานของความแตกต่างทางวัฒนธรรมโดยตัวสมาชิกชาติพันธุ์แต่ละกลุ่มเป็นสำคัญ... (อ่านเพิ่มใน เกี่ยวกับโครงการ/คู่มือการใช้)


    ภาพ-หาดราไวย์ จ.ภูเก็ต บ้านของอูรักลาโว้ย
  •   สนุก

    วิชาคอมพิวเตอร์ของนักเรียน
    ปกาเกอะญอ  อ. แม่ลาน้อย
    จ. แม่ฮ่องสอน


    ภาพโดย อาทิตย์    ทองดุศรี

  •   ข้าวไร่

    ผลิตผลจากไร่หมุนเวียน
    ของชาวโผล่ว (กะเหรี่ยงโปว์)   
    ต. ไล่โว่    อ.สังขละบุรี  
    จ. กาญจนบุรี

  •   ด้าย

    แม่บ้านปกาเกอะญอ
    เตรียมด้ายทอผ้า
    หินลาดใน  จ. เชียงราย

    ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ถั่วเน่า

    อาหารและเครื่องปรุงหลัก
    ของคนไต(ไทใหญ่)
    จ.แม่ฮ่องสอน

     ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ผู้หญิง

    โผล่ว(กะเหรี่ยงโปว์)
    บ้านไล่โว่ 
    อ.สังขละบุรี
    จ. กาญจนบุรี

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   บุญ

    ประเพณีบุญข้าวใหม่
    ชาวโผล่ว    ต. ไล่โว่
    อ.สังขละบุรี  จ.กาญจนบุรี

    ภาพโดยศรยุทธ  เอี่ยมเอื้อยุทธ

  •   ปอยส่างลอง แม่ฮ่องสอน

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ปอยส่างลอง

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดย เบญจพล  วรรณถนอม
  •   อลอง

    จากพุทธประวัติ เจ้าชายสิทธัตถะ
    ทรงละทิ้งทรัพย์ศฤงคารเข้าสู่
    ร่มกาสาวพัสตร์เพื่อแสวงหา
    มรรคผลนิพพาน


    ภาพโดย  ดอกรัก  พยัคศรี

  •   สามเณร

    จากส่างลองสู่สามเณร
    บวชเรียนพระธรรมภาคฤดูร้อน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   พระพาราละแข่ง วัดหัวเวียง จ. แม่ฮ่องสอน

    หล่อจำลองจาก “พระมหามุนี” 
    ณ เมืองมัณฑะเลย์ ประเทศพม่า
    ชาวแม่ฮ่องสอนถือว่าเป็นพระพุทธรูป
    คู่บ้านคู่เมืององค์หนึ่ง

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม

  •   เมตตา

    จิตรกรรมพุทธประวัติศิลปะไต
    วัดจองคำ-จองกลาง
    จ. แม่ฮ่องสอน
  •   วัดจองคำ-จองกลาง จ. แม่ฮ่องสอน


    เสมือนสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรม
    เมืองไตแม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ใส

    ม้งวัยเยาว์ ณ บ้านกิ่วกาญจน์
    ต. ริมโขง อ. เชียงของ
    จ. เชียงราย
  •   ยิ้ม

    แม้ชาวเลจะประสบปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัย
    พื้นที่ทำประมง  แต่ด้วยความหวัง....
    ทำให้วันนี้ยังยิ้มได้

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ผสมผสาน

    อาภรณ์ผสานผสมระหว่างผ้าทอปกาเกอญอกับเสื้อยืดจากสังคมเมือง
    บ้านแม่ลาน้อย จ. แม่ฮ่องสอน
    ภาพโดย อาทิตย์ ทองดุศรี
  •   เกาะหลีเป๊ะ จ. สตูล

    แผนที่ในเกาะหลีเป๊ะ 
    ถิ่นเดิมของชาวเลที่ ณ วันนี้
    ถูกโอบล้อมด้วยรีสอร์ทการท่องเที่ยว
  •   ตะวันรุ่งที่ไล่โว่ จ. กาญจนบุรี

    ไล่โว่ หรือที่แปลเป็นภาษาไทยว่า ผาหินแดง เป็นชุมชนคนโผล่งที่แวดล้อมด้วยขุนเขาและผืนป่า 
    อาณาเขตของตำบลไล่โว่เป็นส่วนหนึ่งของป่าทุ่งใหญ่นเรศวรแถบอำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี 

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   การแข่งขันยิงหน้าไม้ของอาข่า

    การแข่งขันยิงหน้าไม้ในเทศกาลโล้ชิงช้าของอาข่า ในวันที่ 13 กันยายน 2554 ที่บ้านสามแยกอีก้อ อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย
 
  Princess Maha Chakri Sirindhorn Anthropology Centre
Ethnic Groups Research Database
Sorted by date | title

   Record

 
Subject ลื้อ,ชุมชน,การสืบทอด,วัฒนธรรม,ระบบความคิด,การจัดการทรัพยากรป่าไม้,น่าน
Author ณัชชภัทร พานิช
Title การสืบทอดวัฒนธรรมการจัดการทรัพยากรป่าไม้ในชุมชนไทลื้อ : กรณีศึกษาตำบลงอบ อำเภอทุ่งช้าง จังหวัดน่าน
Document Type รายงานการวิจัย Original Language of Text ภาษาไทย
Ethnic Identity ไทลื้อ ลื้อ ไตลื้อ, Language and Linguistic Affiliations ไท(Tai)
Location of
Documents
สำนักหอสมุดมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ Total Pages 82 Year 2545
Source หลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการมนุษย์กับสิ่งแวดล้อม บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
Abstract

การสืบทอดวัฒนธรรมการจัดการทรัพยากรป่าไม้ในชุมชนไทลื้อบ้านงอบ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาวัฒนธรรมพื้นฐานของชุมชน กระบวนการเรียนรู้ และการสืบทอดวัฒนธรรมที่มีอิทธิพลต่อระบบความคิด และแบบแผนในการจัดการทรัพยากรป่าไม้ของไทลื้อ ไทลื้อให้ความสำคัญกับระบบวัฒนธรรมชุมชน ใช้กระบวนการทางวัฒนธรรมยึดเหนี่ยวและหล่อหลอมจิตใจของคนในชุมชนให้ดำเนินชีวิตตามแบบอย่างบรรพบุรุษ จนมีจุดยืนเป็นอัตตลักษณ์ของชุมชน โดยเฉพาะด้านการจัดการทรัพยากรป่าไม้ ไทลื้อได้ใช้ระบบวัฒนธรรมในการปลูกฝังให้ชนรุ่นหลังตระหนัก และเห็นคุณค่าของทรัพยากรธรรมชาติ ไม่มุ่งทำลายเพียงอย่างเดียว เช่น พิธีการสืบชะตาป่า พิธีการบวชต้นไม้ ความเชื่อเกี่ยวกับการฟันไร่ และความเชื่อกี่ยวกับการตัดไม้ เป็นต้น (หน้า 77-80)

Focus

วัฒนธรรม ประเพณี พิธีกรรม และความเชื่ออันเป็นอัตลักษณ์ของชุมชนไทลื้อบ้านงอบ เกี่ยวกับการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ (หน้า 77-81)

Theoretical Issues

ผู้ศึกษาได้อาศัยทฤษฎีโครงสร้างหน้าที่นิยมตามแนวความคิดของ ทัลคอตต์ พาร์สัน เป็นแนวทางในการวิเคราะห์อธิบายระบบวัฒนธรรมชุมชนไทลื้อบ้านงอบ และการสืบทอดทางวัฒนธรรมในการจัดการทรัพยากรป่าไม้ ทำให้ทราบถึงวิถีชีวิตของไทลื้อบ้านงอบว่า มีความสัมพันธ์กันแบบระบบเครือญาติ และปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันในชุมชนเป็นอย่างดี มีการเรียนรู้ทางวัฒนธรรมจากผู้เฒ่าสู่คนรุ่นหลัง และปฏิบัติสืบทอดต่อกันมา อีกทั้งยังมีการผสมผสานวัฒนธรรมของชาติพันธุ์ไทลื้อกับวัฒนธรรมที่ใกล้เคียง ทำให้เกิดการปรับตัวที่เหมาะสม จนเกิดเป็นความคิดและความเชื่อของบุคคลและชุมชน กลายเป็นแบบแผนประเพณีและพิธีกรรม หลังจากนั้นชุมชนก็กำหนดเป็นแบบแผนพฤติกรรมหรือบรรทัดฐานทางสังคมร่วมกัน ในการที่จะยึดเหนี่ยว และหล่อหลอมจิตใจของคนในชุมชน ทำให้มีแบบแผนในการปฏิบัติเกี่ยวกับการจัดการทรัพยากรป่าไม้ เช่น ความเชื่อเกี่ยวกับการเกษตร การตัดไม้ ความเชื่อเรื่องผีสางเทวดา และการปกป้องรักษาทรัพยากรธรรมชาติ โดยการปลูกฝังให้ชนรุ่นหลังตระหนัก และเห็นคุณค่าของทรัพยากร ไม่มุ่งทำลายทรัพยากรแต่เพียงอย่างเดียว (หน้า 26, 77-81)

Ethnic Group in the Focus

ไทลื้อ ตำบลงอบ อำเภอทุ่งช้าง จังหวัดน่าน (หน้า 5)

Language and Linguistic Affiliations

ไทลื้อบ้านงอบส่วนใหญ่พูดได้ 3 ภาษา ได้แก่ ภาษาไทยกลาง ภาษาคำเมือง และภาษาไทลื้อ คนสูงอายุบางคนพูดภาษาไทลื้อได้เพียงภาษาเดียว ไทลื้อนิยมพูดภาษาลื้อกับคนไทลื้อด้วยกันทั้งภายในชุมชนและนอกชุมชน ส่วนเด็กที่เรียนอยู่ในโรงเรียนมักพูดภาษาไทยกลางกับครู ส่วนการพูดภาษาคำเมืองนั้นจะพบในกรณีที่คู่สนทนาเป็นคนต่างชาติพันธุ์กันระหว่างคนไทลื้อพูดกับคนเมือง นอกจากนี้ ยังพบว่า ถ้าคู่สนทนาเป็นคนเมืองกับคนลื้อ และอยู่ในชุมชนเดียวกัน หรือคนเมืองที่สามารถฟังภาษาไทลื้อเข้าใจก็จะใช้การพูดทั้งสองภาษา คือ ภาษาคำเมืองบ้าง และภาษาไทยลื้อบ้าง (หน้า 51-52)

Study Period (Data Collection)

ไม่ระบุ

History of the Group and Community

ประวัติความเป็นมาของไทลื้อบ้านงอบไม่ปรากฏหลักฐานชัดเจน จากการสอบถามไทลื้อบ้านงอบบอกว่าย้ายมาจากแคว้นสิบสองปันนา มณฑลยูนนาน ทางตอนใต้ของจีนได้แก่ เมืองสิง เมืองนัน เมืองพง เมืองยู้ และเมืองหลวงภูคา บางคนก็บอกว่ามาจากเมืองลวง และเมืองยอง แต่ตามพงศาวดารเมืองน่านไม่ปรากฏว่า ได้กวาดต้อนชาวเมืองลวง และเมืองยองเลย จากการศึกษาด้านเอกสาร ความเป็นมาของไทลื้อ ผู้ศึกษาสันนิษฐาน ความเป็นมาของไทลื้อบ้านงอบ 3 ทาง คือ 1. มาจากเมืองงอบ ทางตอนเหนือของประเทศลาว ซึ่งมีชื่อเดียวกับชื่อบ้านงอบปัจจุบัน และจากประวัติศาสตร์เมืองน่านได้กวาดต้อนคนเมืองงอบมาเมืองน่านด้วย 2. มาจากเมืองยู้ แคว้นสิบสองปันนา เนื่องจากชาวบ้านงอบนับถือผีเมือง คือเจ้าเมืองยู้ จึงมีความเป็นไปได้ว่า อาจจะนับถือผีเดียวกันกับเจ้าเมืองยู้ 3. มาจากเมืองสิง เมืองนัน เมืองพง และเมืองหลวงภูคา (หน้า 33)

Settlement Pattern

ชุมชนไทลื้อบ้านงอบตั้งหลักแหล่งตามบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำ ซึ่งเป็นพื้นที่เหมาะสมกับการเพาะปลูก บางชุมชนตั้งถิ่นฐาน ตามป่าเขา ลักษณะบ้านเรือนโดยทั่วไปคล้ายกันกับบ้านเรือนของ "คนเมือง" นิยมสร้างเรือนไม้ยกพื้นสูง หลักคาทรงสูง มุงด้วยหญ้าคาบ้าง แป้นเกล็ดบ้าง หรือดินขอบ้าง ตามฐานะของครอบครัว ปัจจุบันนิยมมุงหลังคาด้วยสังกะสี และกระเบื้อง ส่วนใต้ถุนใช้สำหรับประกอบกิจกรรมต่าง ๆ ในครัวเรือน เช่น การทอผ้า การปั่นฝ้าย การจักสาน แขวนเปลเด็ก เก็บฟืน และเครื่องมือเครื่องใช้ในการประกอบอาชีพ รอบบริเวณบ้านนิยมปลูกไม้ดอกไม้ประดับ พืชสมุนไพร และพืชผักสวนครัว หรือใช้เป็นคอกสัตว์ เล้าไก่ ส่วนยุ้งข้าวของไทลื้อ มี 2 แบบ ได้แก่ แบบที่เป็นเรือนไม้ใต้ถุนโล่ง หลังคาจั่วทำฝากั้นสร้างไว้ใกล้ ๆ ตัวบ้าน บริเวณลานดินหน้าบ้านหรือที่เรียกว่า "ข่วงบ้าน" หรือบางบ้านทำเป็นเสวียน ซึ่งเป็นภาชนะสานจากไม้ไผ่ใช้มูลควายผสมดินเหนียวทาทับด้านนอกด้านในนำไปตากแดดให้แห้ง แล้วนำมาตั้งไว้ในตัวบ้าน (หน้า 43-46)

Demography

ไทลื้อตำบลงอบ อำเภอทุ่งช้าง จังหวัดน่าน เป็นกลุ่มหมู่บ้านขนาดใหญ่ มี 6 หมู่ บ้าน 753 หลังคาเรือน รวมจำนวนประชากรทั้งสิ้น 3,067 คน จำนวนประชากรแยกตามหมู่บ้าน ดังนี้ หมู่ที่ 1 บ้านงอบศาลา จำนวน 138 หลังคาเรือน จำนวนประชากร 570 คน หมู่ที่ 4 บ้านทุ่งสน จำนวน 129 หลังคาเรือน จำนวนประชากร 586 คน หมู่ที่ 5 บ้านงอบเหนือ จำนวน 160 หลังคาเรือน จำนวนประชากร 636 คน หมู่ที่ 8 บ้านงอบใต้ จำนวน 100 หลังคาเรือน จำนวนประชากร 419 คน หมู่ที่ 9 บ้านงอบกลาง จำนวน 122 หลังคาเรือน จำนวนประชากร 458 คน หมู่ที่ 10 บ้านใต้ร่มโพธิ์ทอง จำนวน 104 หลังคาเรือน จำนวนประชากร 398 คน (หน้า 34)

Economy

ไทลื้อบ้านงอบส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำนาทำไร่ เพื่อการบริโภคในครัวเรือนและเก็บพันธุ์ข้าวไว้ปลูกในปีต่อไป เมื่อข้าวเหลือก็จะนำไปขาย หรือแลกเปลี่ยนสิ่งของ เครื่องอุปโภคบริโภค ไทลื้อปลูกข้าวปีในนาลุ่ม และข้าวดอในนาดอน การปลูกข้าวนาดอนให้ผลผลิตเร็ว ใช้ระยะเวลาในการปลูกสั้นกว่าการปลูกข้าวนาลุ่ม ปีหนึ่งที่นาดอนปลูกได้ 3 ครั้ง ครั้งแรกทำนาดอน ครั้งที่สองและสามปลูกพืชผัก เช่น หอม กระเทียม ผักกาด กระหล่ำ ถั่ว แตงกวา แต่การปลูกข้าวนาปีนั้นสามารถปลูกผักได้เพียงครั้งเดียวหลังฤดูเก็บเกี่ยว พืชผล ผู้ชายวัยแรงงานจะออกไปหางานทำ เพื่อหาเงินมาจับจ่ายใช้สอยช่วงเทศกาลต่าง ๆ หลังจากเสร็จจากการทำนาทำไร่ ผู้หญิงไทลื้อนิยมทอผ้า บางรายประกอบเป็นอาชีพหลัก และมีการรวมกลุ่มกัน เป็นกลุ่มสตรีทอผ้าไทลื้อ สามารถรวบรวมผ้าทอไปจำหน่าย ยังตลาดผ้าต่าง ๆ ทำรายได้ให้แก่ชุมชน นอกจากนี้ ยังนิยมการทำสวนส้มเขียวหวาน และการค้าขายด้วย สวนส้มเขียวหวานเป็นพืชเศรษฐกิจที่ทำรายได้ดีเฉลี่ยรายได้ 6,336 บาท/คน/ปี ส่วนอาชีพค้าขายนั้นพ่อค้าจะซื้อสินค้าจากตัวเมืองไปขายหมู่บ้านต่าง ๆ หรือจุดผ่อนปรนตามแนวชายแดนไทยกับสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ที่มีการเปิดตลาดการค้า สินค้าส่วนใหญ่จะเป็นสินค้าประเภทผ้าทอ (หน้า 39, 46-47)

Social Organization

สังคมไทลื้อบ้านงอบเป็นแบบผัวเดียวเมียเดียวมีผู้ชายเป็นหัวหน้าครอบครัว และเป็นครอบครัวขยาย เมื่อลูกสาวแต่งงานลูกเขยจะช่วยพ่อแม่ภรรยาทำงานประมาณ 2-3 ปี แล้วแยกครอบครัวออกไป เป็นครอบครัวเดี่ยว แต่ยังอยู่ในละแวกเดียวกัน และได้รับการดูแลจากครอบครัวเดิม สำหรับบุตรคนสุดท้องที่สมรสแล้ว ซึ่งเป็นทายาทที่จะรับทรัพย์มรดกของบิดามารดาจะอยู่ร่วมบ้านเดียวกันกับพ่อแม่ เครือญาติของไทลื้อบ้านงอบ แบ่งออกเป็นสองประเภทคือ ญาติทางสายโลหิต หรือญาติทางสายสกุล ได้แก่ ปู่ ย่า ตา ยาย ลุง ป้า น้า อา พี่น้อง ส่วนญาติอีกประเภทหนึ่งคือญาติเกี่ยวดองที่มาจากการแต่งงาน หรือญาติฝ่ายเขยและฝ่ายสะใภ้ (หน้า 43) สภาพความเป็นอยู่ของชุมชนไทลื้อบ้านงอบต้องพึ่งพาป่าไม้ มีวิถีชีวิตอยู่กับป่ามาโดยตลอด ดังนั้น ไทลื้อจึงพยายามปลูกฝังให้คนรุ่นหลังมีความเชื่อเกี่ยวกับผีและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ว่าทุกหนทุกแห่งล้วนมีเจ้าของ ดังนั้น การจะทำลายหรือตัดไม้ ต้องขออนุญาตจากเจ้าของ เช่น ผีหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ประเพณีและพิธีกรรมที่ไทลื้อบ้านงอบถือปฏิบัติเกี่ยวกับการจัดการทรัพยากรป่าไม้ ได้แก่ การทำพิธีเลี้ยงผีฝาย การทำพิธีแฮกนา การทำพิธีสู่ขวัญควาย การทำพิธีเก็บขวัญข้าว การทำพิธีทำบุญทานข้าวใหม่ การทำพิธีเลี้ยงผีเจ้าที่ การทำพิธีเลี้ยงผีขุนน้ำ พิธีบวชป่า พิธีบวชต้นไม้ พิธีทอดผ้าป่าต้นไม้ พิธีสืบชะตาแม่น้ำ เป็นต้น นอกจากนี้ ไทลื้อบ้านงอบ มีกลุ่มองค์กรชุมชนที่ช่วยกันอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เช่น กลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชน โดยทุกหมู่บ้านจะมีการกันเขตป่าไว้เป็นเขตป่าอนุรักษ์ และพื้นที่สาธารณะของหมู่บ้านมีการตั้งกฎระเบียบเกี่ยวกับป่าอนุรักษ์ ชาวบ้านสามารถเข้าไปเก็บของป่าในชุมชนได้ หรือตัดไม้สำหรับใช้สอยในชีวิตประจำวันได้ หรือหากต้องการใช้ไม้เพื่อการก่อสร้างก็สามารถตกลงกันในที่ประชุมของหมู่บ้าน เพื่อขออนุญาตให้ตัดต้นไม้ในป่าอนุรักษ์ อีกทั้งยังมีกลุ่มอนุรักษ์พันธุ์สัตว์น้ำ และกลุ่มอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่าด้วย ส่วนกลุ่มอาชีพที่มีบทบาทในชุมชน เช่น กลุ่มเกษตรกรทำนางอบ และกลุ่มทอผ้าไทลื้อ สำหรับกลุ่มอื่น ๆ ที่มีการรวมตัวกันมากมายได้แก่ กลุ่มเหมืองฝาย กลุ่มแม่บ้าน กลุ่มเสียง (มิตรภาพ) ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างคนในชุมชนอันเกิดจากความคิด ความเชื่อ จนกลายเป็นแบบแผนและแนวทางในการปฏิบัติที่เหมาะสมกับชุมชน (หน้า 61 -76)

Political Organization

ไม่ได้ระบุไว้ชัดเจน ผู้ศึกษาอธิบายไว้สั้น ๆ ว่า ตำบลงอบ ตั้งอยู่ในเขตการปกครองของอำเภอทุ่งช้าง จังหวัดน่าน และมีกำนันเป็นผู้ปกครองชุมชน (หน้า 34-35)

Belief System

ไทลื้อบ้านงอบนับถือพุทธศาสนาพร้อมกับนับถือภูตผีเทวดาควบคู่กันไป ระบบความเชื่อของไทลื้อบ้านงอบ แบ่งออกเป็น 5 ลักษณะ ดังนี้ 1. ความเชื่อทางพุทธศาสนา ถือการทำบุญเป็นหลัก และการไปประกอบพิธีทางพระพุทธศาสนาที่วัด เช่น รับศีล ฟังเทศน์ และความเชื่อทางพระพุทธศาสนายังเป็นตัวกำหนดประเพณีที่สำคัญ เช่น ประเพณีตั้งธรรมหลวง ประเพณีสงกรานต์ เป็นต้น ชุมชนไทลื้อบ้านงอบมีวัด 2 แห่ง ได้แก่ วัดศรีดอนชัย และวัดทุ่งสน 2. ความเชื่อเรื่องบาปบุญ โดยเชื่อว่าการทำบุญเป็นการสะสมผลบุญไว้ในชาติภพหน้า ส่วนบาปนั้น ควรหลีกเลี่ยงและละเว้น ไทลื้อมีพิธีกรรมเกี่ยวกับการไถ่บาป เช่น การบวชเพื่อไถ่บาป การปล่อยสัตว์ และการอุทิศส่วนบุญส่วนกุศล 3. ความเชื่อเกี่ยวกับเรื่องขวัญและวิญญาณ โดยเชื่อว่าคนเรามีขวัญอยู่ในตัว 32 ขวัญ หากทำให้ขวัญตกใจหรือขวัญหาย จะทำให้ป่วยเป็นไข้ ต้องให้หมอสู่ขวัญมาทำพิธีเรียกขวัญ เก็บขวัญ 4. ความเชื่อทางไสยศาสตร์ คาถาอาคม โชคลางของขลัง การสะเดาะเคราะห์ การสืบชะตา และโหราศาสตร์ 5. ความเชื่อเรื่องภูตผีเทวดา สิ่งศักดิ์สิทธิ์ และสิ่งที่อยู่เหนือธรรมชาติ ไทลื้อเชื่อว่ามีผีบรรพบุรุษคอยปกปักรักษาลูกหลานให้อยู่อย่างมีความสุข พิธีกรรมที่สักการะผีที่เก่าแก่ คือ พิธีเลี้ยงผี ซึ่งในหมู่บ้านจะมี หอผี ที่เคารพนับถือ ได้แก่ เข้าขาพญาจุมปู เจ้าพ่อบ้านอิง เจ้าพ่อบ้านต๊ะ ผีปู่ย่าหรือผีปู่ดำนางดำ นอกจากนี้ยังมีความเชื่อและการนับถือผีที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรธรรมชาติ และป่าไม้ เช่น ผีจอมโปก ผีโปกควาย เป็นผีที่ประจำอยู่ตามจอมปลวกใหญ่กลางทุ่งกลางป่า และผีประจำอยู่ที่หนองน้ำที่ควายนอนแช่ ผีโป่งยำ เป็นผีที่อยู่ประจำบริเวณที่เป็นป่าชื้นแฉะ ชาวบ้านเชื่อว่าใครเข้าไปเหยียบย่ำหรือไปทำลายจะทำให้ผีโกรธและทำร้ายได้ ผีนางไม้ เป็นผีที่สิงสถิตย์อยู่ตามต้นไม้ใหญ่ ผีหัวน้ำ เป็นผีที่อยู่บริเวณแหล่งกำเนิดของต้นน้ำ ผีโป๊กกะโล้ง เป็นผีที่อาศัยอยู่ในป่า ชอบแสดงอิทธิฤทธิ์ตอนกลางคืน ผีแม่ธรณีหรือผีเจ้าที่ และผีเหมืองฝาย เป็นต้น ความเชื่อเรื่องผีเหล่านี้ ไ ทลื้อพยายามปลูกฝังให้คนในชุมชนเกรงกลัวต่อสถานที่ที่อยู่อาศัยของผี สถานที่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ และแหล่งทรัพยากรธรรมชาติ หากผู้ใดเข้าไปทำลาย ก็จะถูกทำร้าย ไทลื้อบ้านงอบมีประเพณี และพิธีกรรมการจัดการทรัพยากรป่าไม้ ที่ยังถือปฏิบัติสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ดังนี้ การทำพิธีเลี้ยงผีฝาย เพื่อให้ผีดลบันดาลให้น้ำอุดมสมบูรณ์ ทำการเกษตรได้ผลดี การทำพิธีแฮกนา โดยเชื่อกันว่าเป็นการประกอบพิธีกราบไหว้แม่พระธรณี เจ้าที่เจ้าทาง เพื่อขออนุญาตพลิกแผ่นดินทำกิน การทำพิธีสู่ขวัญควาย เพื่อระลึกถึงบุญคุณของสัตว์ที่ได้ช่วยเหลือเกื้อกูลแก่เรา การทำพิธีเก็บขวัญข้าว การทำพิธีบุญทานข้าวใหม่ การทำพิธีเลี้ยงผีเจ้าที่ และการทำพิธีเลี้ยงผีขุนน้ำ เป็นต้น อีกทั้งยังมีประเพณีและพิธีกรรมเกี่ยวกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ เช่น พิธีบวชป่า พิธีบวชต้นไม้ พิธีทอดผ้าป่าต้นไม้ พิธีสืบชะตาแม่น้ำ ซึ่งพิธีเหล่านี้ได้อาศัยความเชื่อทางพุทธศาสนามาเป็นแนวทางในการสร้างจิตสำนึกให้แก่ชาวบ้าน รู้สึกรักและหวงแหนทรัพยากรธรรมชาติ (หน้า 61-74)

Education and Socialization

ในหมู่บ้านไทลื้อบ้านงอบมีโรงเรียนระดับประถมศึกษา คือโรงเรียนไทยรัฐวิทยา 98 บ้านงอบ ซึ่งเป็นโรงเรียนที่บรรจุวิชาการเรียนรู้ภาษาพื้นเมือง และศิลปวัฒนธรรมไทลื้อเป็นวิชาเลือกในบทรียน เช่น ขับจ๊อย เล่าค่าว ซอ และการฟ้อนดาบฟ้อนเจิง โรงเรียนอีกแห่งหนึ่งคือ โรงเรียนมัธยมทุ่งช้าง จัดการเรียนการสอนทอผ้าลายไทลื้อด้วย อีกทั้งไทลื้อบ้านงอบยังมีการถ่ายทอดวัฒนธรรมอันเป็นความรู้และภูมิปัญญาของบรรพบุรุษหลายวิธี ดังนี้ 1. การถ่ายทอดโดยการบอกเล่า เป็นวิธีที่นิยมกันมาก ได้แก่ พ่ออุ้ย แม่อุ้ย หรือพ่อแม่ บอกเล่าเรื่องราวอันเป็นประสบการณ์ชีวิตของตนสู่รุ่นลูกหลาน เช่น เรื่องชาติกำเนิด ความเป็นอยู่ เป็นต้น 2. การถ่ายทอดโดยการปฏิบัติให้ดูเป็นตัวอย่าง เช่น การประกอบพิธีกรรมต่างๆ การเลี้ยงผี การประกอบอาชีพ การทำไร่ ทำสวน ซึ่งผู้เรียนมักจะปฏิบัติไปด้วย 3. การถ่ายทอดโดยการปฏิบัติ เป็นการสอนโดยให้ผู้เรียนได้ฝึกปฏิบัติไปด้วย เช่น การฟ้อนเจิง ฟ้อนดาบ การตีกลองปู่จา (กลองวัด) การทอผ้า การจกดอก (การทำลวดลายบนผ้า) 4. การถ่ายทอดโดยการร่ำเรียน มีหลักฐานเอกสารประกอบการถ่ายทอด ไทลื้อมีภาษาพูด ภาษาเขียน เป็นเอกลักษณ์ของตน ดังนั้น การถ่ายทอดความรู้และวัฒนธรรมต่างๆ จึงอาศัยตำราพื้นบ้าน หรือที่ไทลื้อ เรียกว่า "ปั๊บ" ได้แก่ ปั๊บสา ปั๊บใบลาน ซึ่งเป็นปั๊บตำราการประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ เช่น พิธีส่งเคราะห์ การปัดภัย ปั๊บคำสู่ขวัญ เป็นต้น โดยได้แบ่งวิธีการถ่ายทอดวัฒนธรรมเป็น 2 วิธีได้แก่ 4.1) การร่ำเรียนจากการบวช สมัยก่อนไทยลื้อนิยมให้บุตรชายบวรเณร เรียนหนังสือ ทางปริยัติธรรม และภาษาพื้นเมือง ปัจจุบันมีเด็กเรียนที่โรงเรียน ทำให้เด็กบวชเณรน้อยจึงพยายามจัดให้มีการบวชเรียนภาคฤดูร้อนเพื่ออนุรักษ์วัฒนธรรมไทลื้อไว้ 4.2) การร่ำเรียนโดยการสืบครู โดยคนที่มีความรู้ ในสาขาต่าง ๆ ได้แก่ หมอยา หมอผี หรือพ่อครู มีการถ่ายทอดความรู้ที่มีอยู่แก่ลูกหลาน ทั้งองค์ความรู้และวัสดุอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรม และพิธีกรรม ในช่วงเทศกาลกาลสงกรานต์จะมีการสืบครู หรือการยกครูโดยเชื่อว่าวันนี้จะทำให้ครูแรง เรียนรู้และจำได้ง่าย อีกทั้งช่วยให้เกิดความขลังอีกด้วย (หน้า 55-60)

Health and Medicine

ไทลื้อบ้านงอบ มีคนที่มีความรู้ด้านการแพทย์อยู่สองประเภท คือ 1.หมอยา เป็นหมอที่รักษาโรคทางอายุรศาสตร์ โรคที่ปรากฏภายนอก โรคที่ยากแก่การรักษา และโรคที่เกิดขึ้นประจำท้องถิ่น โดยใช้ยาที่มีทั้งพืช สัตว์และแร่ธาตุ มาปรุงด้วยตนเอง แล้วนำไปรักษาผู้ป่วย มีทั้งยารับประทาน ยาล้างภายนอก ยาประคบ และยาทา 2. หมอเป่า หรือหมอห่า เป็นหมอที่ใช้ความรู้ทางไสยศาสตร์ในการรักษา เช่น การเป่าฝี การเป่าคางทูม การเป่าตาแดง เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีหมอทางไสยศาสตร์อีก เช่น หมอเมื่อ หมอผีหม้อนึ่ง และหมอผีปู่ดำย่าดำ (หน้า 53-54)

Art and Crafts (including Clothing Costume)

ไทลื้อบ้านงอบมีมรดกทางวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ของชุมชนมากมาย ได้แก่ ผ้าทอลายไทลื้อ เสื้อผ้าพื้นเมือง และศิลปะการแสดง ผ้าทอลายไทลื้อที่มีชื่อเสียงคือ ผ้าซิ่นลายลื้อ หรือลายน้ำไหล แต่ผ้าซิ่นที่ไทลื้อบ้านงอบชอบใส่คือ ซิ่นปล้อง และซิ่นม่าน ที่มีลายเป็นรูปลายขวาง แต่จะต่างกันตรงที่ซิ่นลายลื้อลวดลายจะสลับกันระหว่างลายมุกซึ่งทอด้วยการเก็บลายและลายก่าน หรือลายมัดหมี่ สำหรับซิ่นม่านจะใช้ผ้าพื้นสีม่วงหรือเขียวซึ่งไม่มีลวดลาย หรือที่เรียกว่า แอว หรือ เอว สลับระหว่างลายมุกและลายก่าน การทอผ้าเพื่อให้สวยงามจะต้องต่อเชิงด้วยตีนจกซึ่งนิยมจกกันด้วยดิ้นเงินสลับกับดิ้นทอง (หน้า 47) ศิลปะการแสดงของไทลื้อบ้านงอบ ได้แก่ การฟ้อนเจิง ฟ้อนดาบเป็นการร่ายรำเพื่อระลึกถึงคุณครูบาอาจารย์ ก่อนออกรบและยังเป็นการออกกำลังกายอีกวิธีหนึ่ง ซึ่งจะมีท่าฟ้อน หรือท่ารำที่ทะมัดทะแมง ดุดัน และสวยงาม (หน้า 51) อีกทั้งยังการขับลื้อเป็นศิลปะการร้องเพลงปฏิพากย์ คล้ายลำตัด ขับร้องโต้ตอบระหว่างหญิงชาย คนหนึ่งใช้เวลาร้องประมาณ 3-5 นาที เครื่องดนตรีมีปี่ยาว 1 เลา (ปี่แม่) ปี่เล็ก 1 เลา (ปี่ลูก) นอกจากนี้ ยังมีการขับจ๊อย ขับซออีกด้วย (หน้า 50)

Folklore

ไม่มีข้อมูล

Ethnicity (Ethnic Identity, Boundaries and Ethnic Relation)

มีการติดต่อสัมพันธ์ทางด้านการค้าขายกับพ่อค้าไทลื้อบ้านหล่ายทุ่งและบ้านห้วยโกร๋น อำเภอเฉลิมพระเกียรติ์ จังหวัดน่าน ซึ่งเป็นบริเวณที่มีจุดผ่อนปรนการค้าแนวชายแดน และกับคนเมืองเงิน แขวงไชยะบุรี ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ซึ่งเป็นคนไทลื้อด้วยกันจึงทำให้การติดต่อค้าขายสะดวก สินค้าส่วนใหญ่เป็นประเภทผ้าทอ (หน้า 47)

Social Cultural and Identity Change

ไทลื้อบ้านงอบมีวิถีชีวิตความเป็นอยู่เรียบง่ายโดยการตั้งบ้านเรือนอยู่บริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำและป่า มีชีวิตผูกพันอยู่กับธรรมชาติ แต่ปัจจุบันสังคมเปลี่ยนแปลงไป ประชากรเพิ่มมากขึ้น การพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจขยายตัวมากขึ้น ทำให้วิถีชีวิตของไทลื้อบ้านงอบเปลี่ยนแปลงไปตามกระแสของการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ลักษณะบ้านไทลื้อบ้านงอบ แต่เดิมเป็นบ้านเรือนยกใต้ถุนสูง มุงหลังคาด้วยแป้นเกล็ด หรือดินขอ ใต้ถุนบ้านใช้เป็นคอกสัตว์ ภายในบ้านจะปล่อยโล่งไม่มีการกั้นห้องนอน นิยมใช้มุ้งสีดำกางเวลานอน เรียกว่า "สุด" ซึ่งทำจากผ้าพื้นเมืองที่ทอกันเอง เนื้อผ้าค่อนข้างหนา ปัจจุบันนิยมมุงหลังคาด้วยสังกะสี และกระเบื้องเป็นบ้านสองชั้น คอกสสัตว์ย้านไปนอกบ้านนิยมมุ้งที่ขายตามท้องตลาด เพราะไม่หนาทึบ กั้นห้องมิดชิดเป็นสัดส่วน (หน้า 44-45) ด้านการประกอบอาชีพสมัยก่อนการทำไร่นาจะมุ่งให้เป็นพื้นที่ทำกินในนาข้าวหรือไร่ข้าวจะต้องมีพืชอย่างอื่น ปะปนอยู่ด้วย เช่น ข้าวโพด พริก ถั่วฝักยาว บวบ แตง และพืชผักสวนครัว ซึ่งสามารถเก็บพืชผักเหล่านั้นมาประกอบอาหารที่บ้านได้ นอกจากนี้ยังเก็บของป่า และล่าสัตว์ นำมาแบ่งขายหรือแลกเปลี่ยนสิ่งของอย่างอื่น มีการเอาแรงหรือการลงแขกช่วยกันทำงานโดยไม่มีค่าจ้าง แต่ปัจจุบันทุกคนต้องเร่งทำงานแข่งกับเวลา การปลูกพืชเชิงเดี่ยวแทนการทำนาแบบดั้งเดิม เช่น การปลูกส้มเขียวหวาน นอกจากนี้ ยังมีอาชีพค้าขายเพิ่มมากขึ้นทั้งการค้าขายภายนอกชุมชนกับไทลื้อด้วยกัน และการค้าขายภายในชุมชน อีกทั้งยังมีการรวมกลุ่มสตรีทอผ้าไทลื้อ และการสร้างตลาดในชุมชนก่อให้เกิดรายได้ในชุมชน (หน้า 46-47) ด้านการแต่งกาย - แต่เดิมผู้ชายไทลื้อ สวมผ้าพื้นเมือง กางเกงขาก๊วย ไม่นิยมใส่เสื้อ ต่อมามีการสวมเสื้อคล้ายเสื้อหม้อห้อม แขนยาวถึงข้อมือ มีขอบรอบคอ คล้ายเสื้อคอตั้ง และใช้เชือกผูกหรือกระดุมเชือก เมื่อจะไปวัดจะพาดผ้าเช็ดไว้ที่บ่า จะใช้ผ้าโพกบนศีรษะขณะออกนอกบ้าน ถือย่ามสีแดง ปัจจุบันชายไทลื้อนิยมสวมกางเกงตัดสำเร็จรูป เสื้อสีสันต่าง ๆ หากไปทำไร่ทำนามีการสวมกางเกงขาก๊วยเสื้อหม้อห้อม ไม่ค่อยใส่เสื้อหม้อห้อมไปในงานมงคล และไม่มีการใช้ผ้าเช็ดพาดบนบ่าอีกต่อไป ไม่โพกศีรษะ - การแต่งกายหญิงไทลื้อ สวมเสื้อปั๊ดสีดำหรือคราม ขลิบขอบด้วยลวดลายแบบต่าง ๆ และนุ่งซิ่นลายขวางทำด้วยฝ้าย แต่เดิมไทลื้อนิยมทอผ้าซิ่นปล้อง หรือซิ่นม่านใส่กันมากถ้าโพกศีรษะด้วยผ้าสีชมพู สีขาว ปัจจุบันหญิงไทลื้อนิยมใส่เสื้อปั๊ด ผู้หญิงสูงวัยยังคงนุ่งซิ่นลื้ออยู่ หญิงวัยกลางคนยังนุ่งซิ่นลื้ออยู่แต่เสื้อเป็นไปตามสมัยนิยม สำหรับวัยรุ่นแต่งกายตามสมัยนิยม การแต่งกายของไทลื้อเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมาก ยกเว้นกลุ่มสตรีสูงวัย (หน้า49) ด้านศิลปะการแสดง ได้แก่ การขับลื้อ การจ๊อย การซอ ปัจจุบันคนที่สามารถขับลื้อได้ มีเฉพาะในกลุ่มผู้เฒ่า คนหนุ่มสาวจะขับไม่เป็น แต่นิยมร้องเพลงลูกทุ่งและเพลงสตริงแทน ส่วนการฟ้อนเชิงฟ้อนดาบ ผู้ชายไทลื้อสมัยก่อนนิยมฟ้อนดาบฟ้อนเชิง ปัจจุบันมีเพียงผู้เฒ่าและวัยกลางคนฟ้อน รุ่นลูกไม่ค่อยจะสืบทอด ดังนั้น ในชุมชนและโรงเรียนจึงได้มีการอนุรักษ์ และฟื้นฟูศิลปะการฟ้อนดาบฟ้อนเชิง (หน้า 50-51) ด้านพุทธศาสนา ปัจจุบันชาวบ้านไม่นิยมบวชเรียนเหมือนก่อน เพราะการศึกษาในโรงเรียมากขึ้น มีเพียงคนที่มีฐานะยากจนที่ส่งลูกมาบวชเรียน (หน้า 52-53)

Critic Issues

ไม่มีข้อมูล

Other Issues

ไม่มี

Map/Illustration

แผนภาพ 1. แสดงเส้นทางการอพยพของไทลื้อ เข้ามาสู่ประเทศไทย (หน้า 29)
2. แสดงที่ตั้งและเขตติดต่อของจังหวัดน่าน แยกรายอำเภอ (หน้า 32)
3. แสดงที่ตั้งและเขตติดต่อของอำเภอทุ่งช้าง จังหวัดน่าน แยกรายตำบล (หน้า 36)
4. แสดงที่ตั้งและเขตติดต่อ ตำบลงอบ อำเภอทุ่งช้าง จังหวัดน่าน (หน้า 37)

Text Analyst อัจฉรี ทิพย์วิเศษ Date of Report 07 พ.ค. 2556
TAG ลื้อ, ชุมชน, การสืบทอด, วัฒนธรรม, ระบบความคิด, การจัดการทรัพยากรป่าไม้, น่าน, Translator -
 
 

 

ฐานข้อมูลอื่นๆของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
  ฐานข้อมูลพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทย
จารึกในประเทศไทย
จดหมายเหตุทางมานุษยวิทยา
แหล่งโบราณคดีที่สำคัญในประเทศไทย
หนังสือเก่าชาวสยาม
ข่าวมานุษยวิทยา
ICH Learning Resources
ฐานข้อมูลเอกสารโบราณภูมิภาคตะวันตกในประเทศไทย
ฐานข้อมูลประเพณีท้องถิ่นในประเทศไทย
ฐานข้อมูลสังคม - วัฒนธรรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  หน้าหลัก
งานวิจัยชาติพันธุ์ในประเทศไทย
บทความชาติพันธุ์
ข่าวชาติพันธุ์
เครือข่ายชาติพันธุ์
เกี่ยวกับเรา
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  ข้อมูลโครงการ
ทีมงาน
ติดต่อเรา
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
ช่วยเหลือ
  กฏกติกาและมารยาท
แบบสอบถาม
คำถามที่พบบ่อย


ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) เลขที่ 20 ถนนบรมราชชนนี เขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ 10170 
Tel. +66 2 8809429 | Fax. +66 2 8809332 | E-mail. webmaster@sac.or.th 
สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2549    |   เงื่อนไขและข้อตกลง