สมัครสมาชิก   
| |
ค้นหาข้อมูล
ค้นหาแบบละเอียด
  •   ความเป็นมาและหลักเหตุผล

    เพื่อรวบรวมงานวิจัยทางชาติพันธุ์ที่มีคุณภาพมาสกัดสาระสำคัญในเชิงมานุษยวิทยาและเผยแผ่สาระงานวิจัยแก่นักวิชาการ นักศึกษานักเรียนและผู้สนใจให้เข้าถึงงานวิจัยทางชาติพันธุ์ได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น

  •   ฐานข้อมูลจำแนกกลุ่มชาติพันธุ์ตามชื่อเรียกที่คนในใช้เรียกตนเอง ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้ คือ

    1. ชื่อเรียกที่ “คนอื่น” ใช้มักเป็นชื่อที่มีนัยในทางเหยียดหยาม ทำให้สมาชิกกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ รู้สึกไม่ดี อยากจะใช้ชื่อที่เรียกตนเองมากกว่า ซึ่งคณะทำงานมองว่าน่าจะเป็น “สิทธิพื้นฐาน” ของการเป็นมนุษย์

    2. ชื่อเรียกชาติพันธุ์ของตนเองมีความชัดเจนว่าหมายถึงใคร มีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมอย่างไร และตั้งถิ่นฐานอยู่แห่งใดมากกว่าชื่อที่คนอื่นเรียก ซึ่งมักจะมีความหมายเลื่อนลอย ไม่แน่ชัดว่าหมายถึงใคร 

     

    ภาพ-เยาวชนปกาเกอะญอ บ้านมอวาคี จ.เชียงใหม่

  •  

    จากการรวบรวมงานวิจัยในฐานข้อมูลและหลักการจำแนกชื่อเรียกชาติพันธุ์ที่คนในใช้เรียกตนเอง พบว่า ประเทศไทยมีกลุ่มชาติพันธุ์มากกว่า 62 กลุ่ม


    ภาพ-สุภาษิตปกาเกอะญอ
  •   การจำแนกกลุ่มชนมีลักษณะพิเศษกว่าการจำแนกสรรพสิ่งอื่นๆ

    เพราะกลุ่มชนต่างๆ มีความรู้สึกนึกคิดและภาษาที่จะแสดงออกมาได้ว่า “คิดหรือรู้สึกว่าตัวเองเป็นใคร” ซึ่งการจำแนกตนเองนี้ อาจแตกต่างไปจากที่คนนอกจำแนกให้ ในการศึกษาเรื่องนี้นักมานุษยวิทยาจึงต้องเพิ่มมุมมองเรื่องจิตสำนึกและชื่อเรียกตัวเองของคนในกลุ่มชาติพันธุ์ 

    ภาพ-สลากย้อม งานบุญของยอง จ.ลำพูน
  •   มโนทัศน์ความหมายกลุ่มชาติพันธุ์มีการเปลี่ยนแปลงในช่วงเวลาต่างๆ กัน

    ในช่วงทศวรรษของ 2490-2510 ในสาขาวิชามานุษยวิทยา “กลุ่มชาติพันธุ์” คือ กลุ่มชนที่มีวัฒนธรรมเฉพาะแตกต่างจากกลุ่มชนอื่นๆ ซึ่งมักจะเป็นการกำหนดในเชิงวัตถุวิสัย โดยนักมานุษยวิทยาซึ่งสนใจในเรื่องมนุษย์และวัฒนธรรม

    แต่ความหมายของ “กลุ่มชาติพันธุ์” ในช่วงหลังทศวรรษ 
    2510 ได้เน้นไปที่จิตสำนึกในการจำแนกชาติพันธุ์บนพื้นฐานของความแตกต่างทางวัฒนธรรมโดยตัวสมาชิกชาติพันธุ์แต่ละกลุ่มเป็นสำคัญ... (อ่านเพิ่มใน เกี่ยวกับโครงการ/คู่มือการใช้)


    ภาพ-หาดราไวย์ จ.ภูเก็ต บ้านของอูรักลาโว้ย
  •   สนุก

    วิชาคอมพิวเตอร์ของนักเรียน
    ปกาเกอะญอ  อ. แม่ลาน้อย
    จ. แม่ฮ่องสอน


    ภาพโดย อาทิตย์    ทองดุศรี

  •   ข้าวไร่

    ผลิตผลจากไร่หมุนเวียน
    ของชาวโผล่ว (กะเหรี่ยงโปว์)   
    ต. ไล่โว่    อ.สังขละบุรี  
    จ. กาญจนบุรี

  •   ด้าย

    แม่บ้านปกาเกอะญอ
    เตรียมด้ายทอผ้า
    หินลาดใน  จ. เชียงราย

    ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ถั่วเน่า

    อาหารและเครื่องปรุงหลัก
    ของคนไต(ไทใหญ่)
    จ.แม่ฮ่องสอน

     ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ผู้หญิง

    โผล่ว(กะเหรี่ยงโปว์)
    บ้านไล่โว่ 
    อ.สังขละบุรี
    จ. กาญจนบุรี

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   บุญ

    ประเพณีบุญข้าวใหม่
    ชาวโผล่ว    ต. ไล่โว่
    อ.สังขละบุรี  จ.กาญจนบุรี

    ภาพโดยศรยุทธ  เอี่ยมเอื้อยุทธ

  •   ปอยส่างลอง แม่ฮ่องสอน

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ปอยส่างลอง

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดย เบญจพล  วรรณถนอม
  •   อลอง

    จากพุทธประวัติ เจ้าชายสิทธัตถะ
    ทรงละทิ้งทรัพย์ศฤงคารเข้าสู่
    ร่มกาสาวพัสตร์เพื่อแสวงหา
    มรรคผลนิพพาน


    ภาพโดย  ดอกรัก  พยัคศรี

  •   สามเณร

    จากส่างลองสู่สามเณร
    บวชเรียนพระธรรมภาคฤดูร้อน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   พระพาราละแข่ง วัดหัวเวียง จ. แม่ฮ่องสอน

    หล่อจำลองจาก “พระมหามุนี” 
    ณ เมืองมัณฑะเลย์ ประเทศพม่า
    ชาวแม่ฮ่องสอนถือว่าเป็นพระพุทธรูป
    คู่บ้านคู่เมืององค์หนึ่ง

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม

  •   เมตตา

    จิตรกรรมพุทธประวัติศิลปะไต
    วัดจองคำ-จองกลาง
    จ. แม่ฮ่องสอน
  •   วัดจองคำ-จองกลาง จ. แม่ฮ่องสอน


    เสมือนสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรม
    เมืองไตแม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ใส

    ม้งวัยเยาว์ ณ บ้านกิ่วกาญจน์
    ต. ริมโขง อ. เชียงของ
    จ. เชียงราย
  •   ยิ้ม

    แม้ชาวเลจะประสบปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัย
    พื้นที่ทำประมง  แต่ด้วยความหวัง....
    ทำให้วันนี้ยังยิ้มได้

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ผสมผสาน

    อาภรณ์ผสานผสมระหว่างผ้าทอปกาเกอญอกับเสื้อยืดจากสังคมเมือง
    บ้านแม่ลาน้อย จ. แม่ฮ่องสอน
    ภาพโดย อาทิตย์ ทองดุศรี
  •   เกาะหลีเป๊ะ จ. สตูล

    แผนที่ในเกาะหลีเป๊ะ 
    ถิ่นเดิมของชาวเลที่ ณ วันนี้
    ถูกโอบล้อมด้วยรีสอร์ทการท่องเที่ยว
  •   ตะวันรุ่งที่ไล่โว่ จ. กาญจนบุรี

    ไล่โว่ หรือที่แปลเป็นภาษาไทยว่า ผาหินแดง เป็นชุมชนคนโผล่งที่แวดล้อมด้วยขุนเขาและผืนป่า 
    อาณาเขตของตำบลไล่โว่เป็นส่วนหนึ่งของป่าทุ่งใหญ่นเรศวรแถบอำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี 

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   การแข่งขันยิงหน้าไม้ของอาข่า

    การแข่งขันยิงหน้าไม้ในเทศกาลโล้ชิงช้าของอาข่า ในวันที่ 13 กันยายน 2554 ที่บ้านสามแยกอีก้อ อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย
 
  Princess Maha Chakri Sirindhorn Anthropology Centre
Ethnic Groups Research Database
Sorted by date | title

   Record

 
Subject มอญ,ประวัติศาสตร์,ความเปลี่ยนแปลง,รัตนโกสินทร์,ภาคกลาง
Author สุจริตลักษณ์ ดีผดุง, วิจิตร เกิดวิสิษฐ์, สุเอ็ด คชเสนีย์ และ อรรถจินดา ดีผดุง
Title มอญ : บทบาทด้านสังคม วัฒนธรรม ความเป็นมาและความเปลี่ยนแปลงในรอบ 200 ปีของกรุงรัตนโกสินทร์
Document Type รายงานการวิจัย Original Language of Text ภาษาไทย
Ethnic Identity มอญ รมัน รามัญ, Language and Linguistic Affiliations ออสโตรเอเชียติก(Austroasiatic)
Location of
Documents
ห้องสมุดศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร Total Pages 110 Year 2542
Source สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเพื่อชนบท มหาวิทยาลัยมหิดล
Abstract

มอญถูกบีบคั้นทางด้านการเมือง การปกครองทำให้ต้องอพยพเข้ามาตั้งหลักแหล่งในประเทศไทย มอญเป็นพวกที่มีความสัมพันธ์อันดีกับคนไทยที่อยู่มาแต่ดั้งเดิม ทั้งนี้เป็นเพราะมอญเป็นกลุ่มคนที่รักสงบ และสร้างสมอารยธรรมความเจริญต่างๆ ไว้มากมาย ทั้งทางด้านวัฒนธรรม ศาสนา และการค้า ทำให้สามารถอยู่กับคนไทยได้ง่าย และพวกเขาก็ยังคงสืบทอด มรดกทางวัฒนธรรมของชนชาติตนไว้อย่างดียิ่ง

Focus

งานวิจัยฉบับนี้เพื่อรวบรวมเรื่องราวของมอญและคนไทยเชื้อสายมอญที่เกี่ยวข้องกับกรุงรัตนโกสินทร์ในรอบ 200 ปี (หน้า คำนำ)

Theoretical Issues

ไม่มี

Ethnic Group in the Focus

มอญและคนไทยเชื้อสายมอญ (หน้า คำนำ)

Language and Linguistic Affiliations

ภาษามอญอยู่ในสายโมนิก (Monic branch) ของตระกูลมอญ-เขมร (Mon-Khmer family) ซึ่งอยู่ในตระกูลภาษาออสโตรเอเชียติก (Austroasiatic phylum) เป็นภาษาที่ใช้กันอยู่ในหมู่บ้านและชุมชนมอญ ตัวเขียนของมอญมีที่มาจากอักษรอินเดียตอนใต้ (South India type) มอญมีการบันทึกและงานวรรณคดีมากมายนับตั้งแต่ศตวรรษที่ 6 แต่ภาษาเขียนของมอญนั้นเปลี่ยนแปลงน้อยกว่าภาษาพูด และน่าเสียดายว่ามอญที่เขียนและอ่านตัวหนังสือมอญได้ในปัจจุบันมีน้อยมาก ที่ยังคงรักษากันไว้ได้ คือ ภาษาพูดที่ได้รับอิทธิพลจากภาษาที่เป็นของชนกลุ่มใหญ่ เช่น ภาษามอญที่ใช้พูดในประเทศพม่าก็ได้รับอิทธิพลจากประเทศพม่า ที่ใช้ในประเทศไทยก็ได้รับอิทธิพลจากภาษาไทย เพราะมอญในประเทศไทยและประเทศพม่าต่างก็มีความสามารถใน การพูดได้ทั้งสองภาษา (Bilingual) (หน้า 12-13)

Study Period (Data Collection)

ไม่ระบุ

History of the Group and Community

มอญเป็นชนชาติที่อาศัยอยู่ในประเทศพม่า และประเทศไทย ชนกลุ่มนี้เรียกตัวเองว่า มอญ (Mon) ในพม่าเรียกชนชาติมอญ ว่าตะเลง (Talaing) ชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งของชนชาติมอญซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีคือ รามัญ (Raman) (หน้า 1-2) การเข้ามาตั้งหลักแหล่งในประเทศไทยนั้น บริเวณที่มอญอาศัยอยู่ส่วนใหญ่จะอยู่ริมแม่น้ำ โดยเฉพาะบริเวณแม่น้ำทางตอนเหนือของกรุงเทพฯ และตามลำน้ำแม่กลอง มอญที่อพยพเข้ามาในสมัยกรุงศรีอยุธยานั้นมักตั้งบ้านเรือนอยู่แถบชานเมือง และบริเวณที่ติดต่อกับจังหวัดนนทบุรี มาถึงสมัยกรุงธนบุรีมอญที่เข้ามาในครั้งนี้จะไปอาศัยอยู่ที่ปากเกร็ด เมืองนนทบุรี และ สามโคก เมืองปทุมธานีหลักฐานแน่นอนที่พบว่ามอญอพยพเข้ามาในประเทศไทยเป็นครั้งแรก คือ สมัยอยุธยาใน พ.ศ. 2127 และทยอยอพยพเข้ามาในแต่ละสมัย สาเหตุของการอพยพก็เนื่องมาจากการที่มอญได้รับความบีบคั้นทางด้านการเมือง การปกครอง ส่วนมอญที่เข้ามาหลังสุดในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์จะไปอาศัยอยู่ที่เมืองเขื่อนขันธ์ ปทุมธานี นนทบุรี เพราะฉะนั้นบริเวณที่มีมอญอยู่เป็นจำนวนมาก คือ ปากเกร็ด นนทบุรี สามโคก ปทุมธานี และปากลัดหรือนครเขื่อนขันธ์ ซึ่งปัจจุบัน รู้จักกันในนามของอำเภอพระประแดง (หน้า 3-11)

Settlement Pattern

มอญในประเทศไทยส่วนมากจะตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณหัวเมืองรอบๆ กรุงรัตนโกสินทร์ ได้แก่ บริเวณฝั่งทิศตะวันออกของแม่น้ำ เจ้าพระยา ตั้งแต่ปากคลองบางลำพูถึงปากคลองตลาด และตั้งแต่บริเวณท่าเตียนถึงปากคลองตลาด ส่วนบริเวณฝั่งทิศตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา ได้แก่ บริเวณตั้งแต่เขตวัดละมุดถึงบริเวณคลองมอญและบริเวณลึกเข้าไปอีก เช่น บริเวณวัดประดิษฐาราม (วัดมอญ) วัดราชคฤห์ และวัดอินทราราม (หน้า 17-33)

Demography

จากการสำรวจสำมะโนประชากรมอญในประเทศไทยเมื่อ พ.ศ.2512 ปรากฏว่าประชากรมอญในประเทศไทยมีประมาณ 100,000 คน (หน้า 14-16) สำรวจจำนวนมอญในระหว่าง พ.ศ. 2512-2515 ในประเทศไทย ในท้องที่ 17 จังหวัด 37 อำเภอ 112 ตำบล 403 หมู่บ้าน 13,960 หลังคาเรือน ได้จำนวนมอญทั้งสิ้น 94,229 คน

Economy

จากลักษณะการตั้งถิ่นฐานบ้านเรือน อาชีพสำคัญของมอญ คือ การทำนา ซึ่งเหมือนกับที่เคยทำอยู่ในประเทศพม่าและคน ไทยทั่วไป รองลงมาคือการทำสวนผลไม้ต่าง ๆ ที่สำคัญที่สุดที่เป็นความชำนาญโดยเฉพาะคือ การทำอุตสาหกรรมในครัวเรือนประเภทเครื่องปั้นดินเผา เช่น ตุ่ม หม้อ ไห โอ่ง ซึ่งเป็นอาชีพหลักของมอญที่ปากเกร็ด นนทบุรี จากอุตสาหกรรมเครื่องปั้นดินเผาที่ทำกันเป็นจำนวนมาก ก่อให้เกิดอาชีพตามมาอีกหลายอย่างคือ การบรรทุกของเหล่านี้ไปขายทางเรือ ซึ่งเป็นอาชีพหลักของมอญที่สามโคก ปทุมธานี อีกอาชีพหนึ่งที่ดูเหมือนมอญจะผูกขาดกิจการนี้ในระยะแรกคือ การทำอิฐมอญ มอญแถบพระนครศรีอยุธยา สมุทรสาคร ราชบุรี และกาญจนบุรี ยังประกอบอาชีพเย็บและค้าจากมุงหลังคา ซึ่งเป็นงานพิเศษนอกเหนือจากงานประจำ เดิมอาชีพรับราชการเป็นอีกอาชีพหนึ่งที่มอญได้ทำประโยชน์ในราชการแผ่นดิน (หน้า 11-12)

Social Organization

มอญเมื่ออพยพเข้ามาในประเทศไทยแล้ว ได้ปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมและสังคมไทยเป็นอย่างดี แต่ก็พยายามรักษา ไว้ซึ่งขนบธรรมเนียม ประเพณีอันดีงามของตนไว้ด้วย ดังจะเห็นได้จากการรักษาภาษาพูดและภาษาเขียนของตนไว้ การสอนหนังสือมอญ การสวดและการเทศนาตามวัดต่าง การประกอบพิธีกรรมทางศาสนา เช่น วันสงกรานต์และวันเข้าพรรษา สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงการดำรงอยู่ของสังคมมอญในประเทศไทยได้อย่างชัดเจน (หน้า 101-102) การก่อตั้งสมาคมไทยรามัญ : ก่อนปี พ.ศ.2500 การพบปะกันของคนมอญทำได้เฉพาะเมื่อไปร่วมงานบำเพ็ญกุศล โดยเฉพาะการฌาปนกิจพระภิกษุตามวัดต่าง ๆ เท่านั้น ในปี พ.ศ.2501 ได้มีการก่อตั้งสมาคมไทยรามัญขึ้น เพื่อส่งเสริมความสามัคคีในหมู่คนไทยเชื้อสายมอญ และรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีมอญเป็นหลักสำคัญ โดยมีกิจกรรม เช่น 1.การบำเพ็ญกุศลวันสงกรานต์ทุกปี 2.บำเพ็ญกุศลตักบาตรน้ำผึ้งประมาณเดือน 10 ของทุกปี 3.จัดให้มีการเทศน์มหาชาติชาดกในเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี 4.จัดการแสดงปี่พาทย์มอญทะแยงมอญ และรำมอญ ในฤดูร้อนของทุกปี 5.จัดรายการวิทยุเป็นภาษามอญ (หน้า 104-105)

Political Organization

มอญในฐานะราษฎรสามัญ รัฐไทยถือเป็นพลเมืองของประเทศ สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ (2516 : 14) ทรงบันทึกไว้ว่า ชายฉกรรจ์มอญมีหน้าที่ต้องรับราชการในฐานะพลเมืองของประเทศ คือ เมื่อมีอายุ 18 ปีต้องขึ้นทะเบียนเป็น "ไพร่สม" เพื่อฝึกหัดงานกับมูลนาย (หน้า 67) เมื่อถึงอายุ 20 ปี ปลดจากไพร่สมไปเป็น "ไพร่หลวง" ซึ่งถือว่าเป็นการเข้ารับราชการ จนถึงอายุ 60 ปี จึงปลดชรา แต่หากมีลูกชายเข้ารับราชการ 3 คน ก็สามารถปลดประจำการได้ก่อนอายุ 60 ปี โดยที่ทั้งไพร่สมและไพร่หลวงจะต้องสังกัดมูลนายให้แน่นอน ในสมัยกรุงศรีอยุธยา ไพร่หลวงรามัญจัดเป็นไพร่หลวงฝ่ายทหาร ไม่มีหลักฐานว่ามีการแบ่งกรมกองรามัญอย่างชัดเจน แต่ในสมัยรัตนโกสินทร์ แบ่งออกเป็น 5 กรม ส่วนกองมอญที่ยกไปประจำตามเมืองต่าง ๆ เวลาสัก ก็จะสักรวมกับกรมทั้ง 5 (หน้า 67-68) นอกจากนี้ยังมีไพร่มอญอีกประเภท คือ "ไพร่เจ้า" สังกัดในกรมเจ้า มีหน้าที่ทำงานที่เจ้ากำหนดให้ทำ ในสมัยอยุธยา มีไพร่เจ้า แต่ในสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี มีไพร่เจ้าได้แต่ในกรมพระราชวังบวรเท่านั้น (มี 3 กรม) ในสมัยรัฐกาลที่ 5 เมื่อสิ้นกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญแล้ว ตำแหน่งกรมพระราชวังบวรถูกยกเลิกไป โดยให้กรมมอญวังหน้าไปขึ้นกับกรมพระกลาโหม (หน้า 69) ในปี พ.ศ.2435 โปรดให้กองมอญไปเป็นพลตระเวน และโอนกองมอญทั้ง 8 กรมไปเป็นทหารเรือในปี พ.ศ.2436 (หน้า 72-78) มอญที่เป็นทหารเรือยังคงแยกสังกัดตามกรมกองเดิมและสักแขนต่างกันตามชื่อกรมที่สังกัด (หน้า 80) งานโดยทั่วไปของไพร่หลวงรามัญ คือ ในยามสงครามจะถูกเกณฑ์ไปทัพหน้าเพื่อร่วมรบ ส่วนยามสงบจะทำงานโยธา และงานทำนุบำรุงบ้านเมือง แต่หน้าที่ที่สำคัญของไพร่หลวงรามัญคือ การคอยสืบราชการความเคลื่อนไหวของพม่า และหาข่าวตามแนวชายแดนและในพม่า ซึ่งยังมีญาติพี่น้องอาศัยอยู่ให้ที่พักและให้ข่าว (หน้า 69) ในด้านการศาล ไพร่หลวงรามัญจะถูกตัดสินคดีภายใต้ศาลและกฏหมายไทยเหมือนพลเมืองไทย ซึ่งต่างจากคนจีน และแขกที่รัฐไทยถือว่าเป็นคนต่างชาติ ไม่ได้เป็นไพร่หลวง และต้องขึ้นศาลต่างหากในกรมเจ้าท่า (หน้า 70)

Belief System

มอญเป็นชาติหนึ่งในบรรดาชาติแรกๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่รับนับถือพุทธศาสนานิกายหินยาน (Hinayana) ในชุมชนมอญจะมีวัดซึ่งเป็นวัดมอญ ใช้บทสวดและบทเทศน์เป็นภาษามอญ ซึ่งยังคงมีอยู่จนทุกวันนี้นอกจากจะเป็นพุทธศาสนิกชนที่ดีแล้ว มอญยังมีความเชื่อและการนับถือผีอยู่ด้วย มีการประกอบพิธีที่เกี่ยวข้องกับการนับถือผี เช่น พิธีรำผี มอญยังมีประเพณีต่างๆ ทั้งการเกิด การแต่งงาน การบวช การทำศพ ซึ่งคล้ายกับไทย จะแตกต่างกันบ้างก็ในเรื่องรายละเอียดปลีกย่อยต่างๆ เท่านั้น นอกจากนี้มอญยังมีประเพณีทางศาสนาที่ถือว่าสำคัญจะต้องปฏิบัติเป็นประจำทุกปี คือ สงกรานต์และออกพรรษา(หน้า 13)

Education and Socialization

การสอนหนังสือมอญมักจะกระทำกัน ณ ที่วัด โดยมากผู้สอนคือพระภิกษุและผู้เรียนคือศิษย์วัด การสอนนั้นมีมาตั้งแต่ ต้นยุครัตนโกสินทร์ 1.สถานที่ที่มีการสอนประมาณปีละ 2-3 เดือน ได้แก่ วัดบางกระดี่ แขวงแสมดำ เขตบางขุนเทียน กรุงเทพ, วัดพลับ ตำบลเชียงรากใหญ่ อำเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานี วัดเจดีย์ทอง ตำบลคลองถวาย อำเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานี วัดปรมัยยิกาวาส ตำบลเกาะเกร็ด อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี วัดสโมสร ตำบลไทรใหญ่ อำเภอไทรน้อย จังหวัดนนทบุรี วัดโพธิโสภาราม ตำบลคุ้งพยอม อำเภอบ้างโป่ง จังหวัดราชบุรี วัดคงคาราม ตำบล คลองตาคต อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี 2.สถานที่ที่มีการสอนสม่ำเสมอ คือ วัดบัวงาม ตำบลบ้านม่วง อำเภอบ้างโป่ง จังหวัดราชบุรี มีการสอนทุกปีตลอดมา สอนปีละ 3-6 เดือน มีศิษย์วัดเรียนปีละประมาณ 25-40 คน 3.สถานที่สอนหนังสือมอญให้แก่บุคคลระดับผู้ใหญ่ในปัจจุบัน คือ ที่วัดอาวุธวิกาสิการาม แขวงบางพลัด เขตบางพลัด กรุงเทพฯ ได้สอนมาจนถึงปัจจุบันได้ประมาณ 4 ปีแล้ว โดยพระมหาช่วง อู่เจริญ (หน้า 102-103) มีการก่อตั้งโรงพิมพ์หนังสือมอญ (พ.ศ.2447-2483) โดยพระภิกษุบุญขัน รายชื่อหนังสือมอญที่รวบรวมได้ เช่น ชุดพระไตรปิฎก (มี 32 เล่ม) ทวาทสปริตและสุคติปริต (ของมอญเก่า) พยัญชนะอักขระและหนังสือเด็กวัด (ของเก่า) หนังสือโรคนิทานกถาสรรพคุณยา (ของเก่า) หนังสือโลกสิทธิ (อาจารย์เฟาะ) หนังสือปารมีกาน (อาจารย์เฟาะ) เป็นต้น (หน้า 105-106)

Health and Medicine

ไม่มีข้อมูล

Art and Crafts (including Clothing Costume)

เครื่องปี่พาทย์มอญ ตอนต้นกรุงรัตนโกสินทร์จนถึงรัชกาลที่ 5 มีเครื่องดนตรีในวงปี่พาทย์มอญเพียง 5 ชิ้น (ไม่มากชิ้นเท่าปัจจุบัน) ได้แก่ ปี่มอญ ระนาดเอก ฆ้องวง ตะโพนมอญ และเปิงมางคอก เพลงมอญอาจแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ 1.เป็นเพลงที่ครูปี่พาทย์ไทยประดิษฐ์ขึ้นให้มีสำเนียงเป็นมอญในบางวรรค 2.เป็นเพลงเนื้อมอญแท้ทั้งหมด เช่น เพลงประจำบ้าน เพลงประจำวัด เพลง แป๊ะ-มัง-พลู เพลง จัล-มัว-เลี๊ยะป๊าด เพลง หะ-เก๊าะ-โทม -เมี๊ยะ เป็นต้น ปี่พาทย์มอญมี 4 เพลงที่ต้องเล่นได้ คือ เพลงประจำบ้านทางตรง เพลงประจำบ้านทางกลาง (บรรเลงประโคม ในงานศพที่บ้าน) เพลงประจำวัดทางตรง เพลงประจำวัดทางกลาง (บรรเลงประโคมศพในงานที่วัด) ในรัชกาลสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีเคยใช้ปี่พาทย์มอญบรรเลงในงานฉลองพระแก้วมรกต ปี่พาทย์มอญใช้ในงานหลวงครั้งแรกในงานพระศพของ สมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินีในรัชกาลที่ 4 เนื่องจากทรงมีเชื้อสายมอญ ต่อมาในงานพระศพพระเจ้าลูกเธอในรัชกาลที่ 5 จึงโปรดให้มีปี่พาทย์มอญเพิ่มขึ้นมาในพิธี โดยเป็นเชื้อสายของสมเด็จพระเทพศิรินทราฯ คนภายนอกวังจึงนำมาเป็นแบบอย่าง ใช้ปี่พาทย์มอญบรรเลงในงานศพด้วย แต่สำหรับมอญแล้วปี่พาทย์มอญใช้บรรเลงทั้งในงานมงคลและงานศพ (หน้า 107-109)

Folklore

ไม่มีข้อมูล

Ethnicity (Ethnic Identity, Boundaries and Ethnic Relation)

ไม่มีข้อมูล

Social Cultural and Identity Change

ไม่ระบุชัดเจน

Critic Issues

ไม่มีข้อมูล

Other Issues

บทบาทของคนมอญในประวัติศาสตร์ของกรุงรัตนโกสินทร์ ในหนังสือ "เจ้าชีวิต" พระนิพนธ์ของพระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ (2504 : 138) ระบุว่า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงแถลงกับ เซอร์ จอนห์ เบาริ่ง ว่า บรรพบุรุษของราชวงศ์จักรีเป็นนายทหารมอญที่ติดตามสมเด็จพระนเรศวรฯ กลับมาจากการเป็นเชลยของพม่า และมีลูกหลานสืบต่อมา ที่มีเรื่องราวปรากฏคือ เจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) และหลังจากเจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) 4 ชั่วคนต่อมา คือ นายทองดี ซึ่งเป็นพระราชบิดาของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก นอกจากนี้สมเด็จพระอมรินทราบรมราชินีในรัชกาลที่ 1 ก็เป็นมอญแท้ (หน้า 51-53) นอกจากนี้ ยังมีราชตระกูลที่สืบเชื้อสายมาจากมอญสายเจ้าพระยามหาโยธา (เจ่ง) ต้นตระกูล "คชเสนี" คือราชตระกูล "กฤดากร" โดยมีพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระนเรศวรฤทธิ์ โอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวกับเจ้าจอมมารดากลิ่น ธิดาในตระกูลคชเสนี เป็นต้นตระกูล และมีผู้สืบเชื้อสายในราชตระกูลกฤดากรที่มีบทบาทต่อประวัติศาสตร์ยุครัตนโกสินทร์ เช่น พลเอกพระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าบวรเดช เป็นต้น (หน้า 53-66) ขุนนางมอญ : พระยาเจ่ง ได้เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี มาพร้อมครัวมอญจำนวนมาก พระเจ้ากรุงธนบุรีโปรดให้ตั้งบ้านเรือนอยู่ที่นนทบุรี ในสมัยรัชกาลที่ 1 พระยาเจ่งได้รับแต่งตั้งเป็นพระยามหาโยธาที่จักรีมอญ บังคับบัญชากองทัพมอญ และได้ออกรบร่วมกับกองทัพไทยในสงครามเกือบทุกครั้ง โดยเฉพาะสงครามไทยกับพม่า นอกจากนี้ ยังมีหน้าที่ดูแลการหาข่าวความเคลื่อนไหวของพม่าในแดนพม่า พระยาเจ่งมีความดีความชอบจนได้เลื่อนเป็น เจ้าพระยามหาโยธา (เจ่ง) เมื่อถึงแก่อสัญกรรมในสมัยรัชกาลที่ 2 (หน้า 34-39) รุ่นลูกก็ได้รับตำแหน่งเจ้าพระยามหาโยธา (ทอเรียะ) สืบต่อมา มีบทบาทสำคัญด้านการรบเช่นเดียวกับบิดา โดยเฉพาะช่วงอังกฤษรบกับพม่า ขอให้ไทยช่วยรบกับพม่าด้วย เจ้าพระยามหาโยธา (ทอเรียะ) มีบทบาทสำคัญในการติดต่อเจรจาเรื่องการรบกับอังกฤษในพม่า เจ้าพระยามหาโยธา (ทอเรียะ) มีชีวิตอยู่ถึงในสมัยรัฐกาลที่ 4 และเมื่อถึงแก่อนิจกรรมแล้ว ก็ไม่มีการตั้งตำแหน่งเจ้าพระยามหาโยธาอีก และกรมกองมอญทั้งหมดให้ไปขึ้นกับกระทรวงกลาโหม อย่างไรก็ตาม ยังมีลูกหลานได้รับราชการในตำแหน่งต่าง ๆ สืบต่อมาจำนวนมาก (หน้า 39-46) บุตรคนหนึ่งคือ พระยาดำรงราชพลขันธ์ (จุ้ย คชเสนี) เป็นบิดาของเจ้าจอมมารดากลิ่นในรัชกาลที่ 4 (หน้า 53) ในสมัยรัชกาลที่ 6 โปรดพระราชทานนามสกุลให้แก่สายตระกูลพระยาเจ่ง ว่า "คชเสนี" (เจ่ง ในภาษามอญ แปลว่า "ช้าง") (หน้า 34) นอกจากตระกูลคชเสนีแล้ว ยังมีมอญในตระกูลอื่น เช่น ตระกูล "ศรีเพ็ญ" ต้นตระกูลเป็นมอญอพยพเข้ามาตั้งแต่ครั้งกรุงเก่า พระยาศรีสหเทพ (ทองเพ็ง) เป็นผู้สืบเชื้อสายต่อมา ในสมัยรัชกาลที่ 3 ได้เป็นอธิบดีสิทธิขาดในราชการไม้ขอนสักแต่ผู้เดียว ทำหน้าที่เก็บภาษีไม้ขอนสักส่งเข้าท้องพระคลังมหาสมบัติปีละ 400 ชั่ง พระยาศรีสหเทพ (ทองเพ็ง) ถือเป็น "ขุนคลังแก้ว" ในสมัยรัชกาลที่ 3 (หน้า 50-51) นอกจากนี้ ยังมีเมืองหน้าด่านที่มีมอญอพยพจากพม่ามาเป็นจำนวนมาก รัฐบาลรวบรวมเป็นหมู่เหล่า เรียกว่า รามัญ 7 เมือง ขึ้นตรงกับเมืองกาญจนบุรี มีเจ้าเมืองหรือผู้ว่าราชการดูแล มีหน้าที่สืบข่าวลาดตระเวนรักษาด่านเพื่อป้องกันพม่าเล็ดลอดเข้ามา มีหน้าที่ร่วมรบในยามสงคราม มีหน้าที่ส่งส่วยแก่รัฐบาลทุกปี และมีหน้าที่รับคำสั่งให้ทำเป็นคราว ๆ ไป เช่น ถูกเกณฑ์ให้ไปตัดไม้ทำพระแสงหอก ทำพลับพลาที่ประทับ เป็นต้น (หน้า 47-48) ส่วนบทบาทของราษฎรสามัญในฐานะพลเมืองในประวัติศาสตร์ของกรุงรัตนโกสินทร์ ดูที่หัวข้อ Political Organization บทบาทด้านศาสนา พุทธศาสนานิกายรามัญเข้ามาในไทยพร้อมกับมอญอพยพ ด้วยเหตุมีภิกษุสามเณรอพยพเข้ามาจำนวนมาก จึงต้องมีการแต่งตั้งเจ้าคณะรามัญ ขึ้นมาปกครองดูแลเฉพาะพระสงฆ์รามัญ ใน "ตำนานคณะสงฆ์" ของกรมพระยาดำรงราชานุภาพ บันทึกไว้ว่า การปกครองคณะสงฆ์รามัญในสมัยกรุงศรีอยุธยาจะแยกต่างหากจากคณะสงฆ์ไทย มีเจ้าคณะใหญ่และพระราชาคณะชั้นรอง ๆ ลงมาเป็นผู้ช่วย ส่วนตามหัวเมืองที่มีพระสงฆ์รามัญก็ให้เจ้าคณะเมืองปกครอง คณะสงฆ์ในประเทศไทยตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาถึงรัตนโกสินทร์มี 2 ฝ่าย ได้แก่ นิกายเดิมมาจากลังกา และรามัญนิกายของมอญ (หน้า 82-83) ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระภิกษุสมเด็จเจ้าฟ้ามงกุฏทรงเลื่อมใสวัตรปฏิบัติของพระรามัญ เนื่องจากมีวัตรปฏิบัติไม่ห่างไกลจากพุทธบัญญัติ ซึ่งต่างจากวัตรปฏิบัติของสงฆ์ไทยในขณะนั้น พระองค์จึงเสด็จไปประทับที่วัดสมอราย (วัดราชาธิวาส) พร้อมกับภิกษุที่เป็นศิษย์จำนวนหนึ่ง เมื่อ พ.ศ.2372 และอุปสมบทอีกครั้งโดยพระอุปัชฌาและพระนั่งปรกเป็นพระรามัญที่บวชมาจากกรุงหงสาวดีทั้งสิ้น (หน้า 90) คณะสงฆ์ที่เกิดภายใต้การนำของพระภิกษุสมเด็จเจ้าฟ้ามงกุฎนี้ คือ คณะสงฆ์ธรรมยุตินิกาย ในรัชกาลที่ 3 นี้ มีการเปลี่ยนแปลงการจัดการคณะสงฆ์โดยแยกคณะสงฆ์ออกเป็น 4 คณะใหญ่ คือ คณะเหนือ คณะใต้ คณะกลาง และคณะอรัญวาสี สำหรับวัดรามัญในเขตเมืองอื่น ๆ ให้ขึ้นกับเมืองนั้น ๆ (หน้า 88) ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีการรวมคณะสงฆ์รามัญนิกายทั้งหมดที่แยกตามคณะต่าง ๆ เข้าด้วยกันและยกไปขึ้นกับคณะธรรมยุติ เพราะมีวิธีการคณะสงฆ์แบบเดียวกัน จะได้ปรับปรุงการศึกษาให้ดีขึ้น แต่ดำเนินการไม่สำเร็จ เนื่องจากเกิดการแตกแยกในคณะสงฆ์รามัญ สุดท้ายจึงให้ไปขึ้นกับมหานิกายตามเดิม โดยต้องแยกคณะสงฆ์รามัญเป็น 2 ฝ่าย พ.ศ. 2442 คณะรามัญทั้งในกรุงและหัวเมืองถูกยกไปขึ้นกับสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์วัดราชบูรณะ ยกเว้นวัดบวรมงคลและวัดรามัญที่แปลงเป็นธรรมยุติ ปี พ.ศ.2445 โปรดเกล้าให้ตราพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ แบ่งการปกครองออกเป็น 4 คณะ คือ คณะเหนือ คณะใต้ คณะกลาง และคณะธรรมยุติ โดยคณะสงฆ์รามัญไม่ได้รับการยกเป็นคณะ วัดรามัญในเขตเมืองใดคณะใด ก็ให้ขึ้นต่อเมืองนั้นคณะนั้น เจ้าคณะใหญ่ฝ่ายรามัญจึงสิ้นสภาพไปด้วย (หน้า 93-95) ปี พ.ศ. 2484 มีประกาศพระราชบัญญัติปกครองคณะสงฆ์ พ.ศ.2484 รวมนิกายสงฆ์ให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน คือ "คณะสงฆ์ไทย" ต่อมาในปี พ.ศ. 2494 การปกครองคณะสงฆ์ไทยกลับแยกกันปกครองตามนิกาย คือ ธรรมยุติกนิกาย และมหานิกาย แต่ยังคงใช้ พรบ.ปกครองคณะสงฆ์ พ.ศ. 2484 ส่วนพระรามัญธรรมยุติในเมืองนั้น ๆ ก็ไปขึ้นกับเจ้าคณะจังหวัดธรรมยุตินั้น หากเจ้าคณะจังหวัดไม่ใช่ธรรมยุติ พระรามัญธรรมยุติก็ไปขึ้นต่อเจ้าคณะใหญ่ธรรมยุติ ส่วนพระรามัญที่ไม่ใช่ธรรมยุติก็ไม่มีปัญหาอะไร และเมื่อมีการประกาศแยกการปกครองสงฆ์ตามนิกายในปี พ.ศ. 2494 แล้ว วัดรามัญธรรมยุติต่าง ๆ ก็โอนไปสังกัดคณะธรรมยุติในปี พ.ศ. 2495 (หน้า 96-97) ในปัจจุบัน วัดพระสงฆ์รามัญโดยทั่วไปมีพระไทยรวมอยู่ด้วย ไม่แยกกัน เป็นคนไทยเช่นเดียวกัน และปัจจุบันไม่มีพระราชทินนามที่เป็นตำแหน่งพระราชาคณะฝ่ายรามัญแล้ว (หน้า 98) ส่วนในเรื่องวัตรปฏิบัติ พิธีการ ก็ขึ้นกับว่าพระสงฆ์รามัญนั้นอยู่ในคณะสงฆ์ใด เป็นคณะธรรมยุติ หรือมหานิกาย แต่ยังมีการสืบต่อธรรมเนียมการสวดพระปริตรของพระสงฆ์รามัญที่มีมาแต่โบราณจนถึงปัจจุบัน และการสวดพระปริตรแบบรามัญเป็นราชประเพณีอย่างหนึ่งของราชสำนักไทยจนทุกวันนี้ (หน้า 99)

Map/Illustration

ไม่มี

Text Analyst วศิน เชี่ยวจินดากานต์ Date of Report 01 ม.ค. 2548
TAG มอญ, ประวัติศาสตร์, ความเปลี่ยนแปลง, รัตนโกสินทร์, ภาคกลาง, Translator -
 
 

 

ฐานข้อมูลอื่นๆของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
  ฐานข้อมูลพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทย
จารึกในประเทศไทย
จดหมายเหตุทางมานุษยวิทยา
แหล่งโบราณคดีที่สำคัญในประเทศไทย
หนังสือเก่าชาวสยาม
ข่าวมานุษยวิทยา
ICH Learning Resources
ฐานข้อมูลเอกสารโบราณภูมิภาคตะวันตกในประเทศไทย
ฐานข้อมูลประเพณีท้องถิ่นในประเทศไทย
ฐานข้อมูลสังคม - วัฒนธรรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  หน้าหลัก
งานวิจัยชาติพันธุ์ในประเทศไทย
บทความชาติพันธุ์
ข่าวชาติพันธุ์
เครือข่ายชาติพันธุ์
เกี่ยวกับเรา
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  ข้อมูลโครงการ
ทีมงาน
ติดต่อเรา
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
ช่วยเหลือ
  กฏกติกาและมารยาท
แบบสอบถาม
คำถามที่พบบ่อย


ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) เลขที่ 20 ถนนบรมราชชนนี เขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ 10170 
Tel. +66 2 8809429 | Fax. +66 2 8809332 | E-mail. webmaster@sac.or.th 
สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2549    |   เงื่อนไขและข้อตกลง