สมัครสมาชิก   
| |
ค้นหาข้อมูล
ค้นหาแบบละเอียด
  •   ความเป็นมาและหลักเหตุผล

    เพื่อรวบรวมงานวิจัยทางชาติพันธุ์ที่มีคุณภาพมาสกัดสาระสำคัญในเชิงมานุษยวิทยาและเผยแผ่สาระงานวิจัยแก่นักวิชาการ นักศึกษานักเรียนและผู้สนใจให้เข้าถึงงานวิจัยทางชาติพันธุ์ได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น

  •   ฐานข้อมูลจำแนกกลุ่มชาติพันธุ์ตามชื่อเรียกที่คนในใช้เรียกตนเอง ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้ คือ

    1. ชื่อเรียกที่ “คนอื่น” ใช้มักเป็นชื่อที่มีนัยในทางเหยียดหยาม ทำให้สมาชิกกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ รู้สึกไม่ดี อยากจะใช้ชื่อที่เรียกตนเองมากกว่า ซึ่งคณะทำงานมองว่าน่าจะเป็น “สิทธิพื้นฐาน” ของการเป็นมนุษย์

    2. ชื่อเรียกชาติพันธุ์ของตนเองมีความชัดเจนว่าหมายถึงใคร มีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมอย่างไร และตั้งถิ่นฐานอยู่แห่งใดมากกว่าชื่อที่คนอื่นเรียก ซึ่งมักจะมีความหมายเลื่อนลอย ไม่แน่ชัดว่าหมายถึงใคร 

     

    ภาพ-เยาวชนปกาเกอะญอ บ้านมอวาคี จ.เชียงใหม่

  •  

    จากการรวบรวมงานวิจัยในฐานข้อมูลและหลักการจำแนกชื่อเรียกชาติพันธุ์ที่คนในใช้เรียกตนเอง พบว่า ประเทศไทยมีกลุ่มชาติพันธุ์มากกว่า 62 กลุ่ม


    ภาพ-สุภาษิตปกาเกอะญอ
  •   การจำแนกกลุ่มชนมีลักษณะพิเศษกว่าการจำแนกสรรพสิ่งอื่นๆ

    เพราะกลุ่มชนต่างๆ มีความรู้สึกนึกคิดและภาษาที่จะแสดงออกมาได้ว่า “คิดหรือรู้สึกว่าตัวเองเป็นใคร” ซึ่งการจำแนกตนเองนี้ อาจแตกต่างไปจากที่คนนอกจำแนกให้ ในการศึกษาเรื่องนี้นักมานุษยวิทยาจึงต้องเพิ่มมุมมองเรื่องจิตสำนึกและชื่อเรียกตัวเองของคนในกลุ่มชาติพันธุ์ 

    ภาพ-สลากย้อม งานบุญของยอง จ.ลำพูน
  •   มโนทัศน์ความหมายกลุ่มชาติพันธุ์มีการเปลี่ยนแปลงในช่วงเวลาต่างๆ กัน

    ในช่วงทศวรรษของ 2490-2510 ในสาขาวิชามานุษยวิทยา “กลุ่มชาติพันธุ์” คือ กลุ่มชนที่มีวัฒนธรรมเฉพาะแตกต่างจากกลุ่มชนอื่นๆ ซึ่งมักจะเป็นการกำหนดในเชิงวัตถุวิสัย โดยนักมานุษยวิทยาซึ่งสนใจในเรื่องมนุษย์และวัฒนธรรม

    แต่ความหมายของ “กลุ่มชาติพันธุ์” ในช่วงหลังทศวรรษ 
    2510 ได้เน้นไปที่จิตสำนึกในการจำแนกชาติพันธุ์บนพื้นฐานของความแตกต่างทางวัฒนธรรมโดยตัวสมาชิกชาติพันธุ์แต่ละกลุ่มเป็นสำคัญ... (อ่านเพิ่มใน เกี่ยวกับโครงการ/คู่มือการใช้)


    ภาพ-หาดราไวย์ จ.ภูเก็ต บ้านของอูรักลาโว้ย
  •   สนุก

    วิชาคอมพิวเตอร์ของนักเรียน
    ปกาเกอะญอ  อ. แม่ลาน้อย
    จ. แม่ฮ่องสอน


    ภาพโดย อาทิตย์    ทองดุศรี

  •   ข้าวไร่

    ผลิตผลจากไร่หมุนเวียน
    ของชาวโผล่ว (กะเหรี่ยงโปว์)   
    ต. ไล่โว่    อ.สังขละบุรี  
    จ. กาญจนบุรี

  •   ด้าย

    แม่บ้านปกาเกอะญอ
    เตรียมด้ายทอผ้า
    หินลาดใน  จ. เชียงราย

    ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ถั่วเน่า

    อาหารและเครื่องปรุงหลัก
    ของคนไต(ไทใหญ่)
    จ.แม่ฮ่องสอน

     ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ผู้หญิง

    โผล่ว(กะเหรี่ยงโปว์)
    บ้านไล่โว่ 
    อ.สังขละบุรี
    จ. กาญจนบุรี

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   บุญ

    ประเพณีบุญข้าวใหม่
    ชาวโผล่ว    ต. ไล่โว่
    อ.สังขละบุรี  จ.กาญจนบุรี

    ภาพโดยศรยุทธ  เอี่ยมเอื้อยุทธ

  •   ปอยส่างลอง แม่ฮ่องสอน

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ปอยส่างลอง

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดย เบญจพล  วรรณถนอม
  •   อลอง

    จากพุทธประวัติ เจ้าชายสิทธัตถะ
    ทรงละทิ้งทรัพย์ศฤงคารเข้าสู่
    ร่มกาสาวพัสตร์เพื่อแสวงหา
    มรรคผลนิพพาน


    ภาพโดย  ดอกรัก  พยัคศรี

  •   สามเณร

    จากส่างลองสู่สามเณร
    บวชเรียนพระธรรมภาคฤดูร้อน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   พระพาราละแข่ง วัดหัวเวียง จ. แม่ฮ่องสอน

    หล่อจำลองจาก “พระมหามุนี” 
    ณ เมืองมัณฑะเลย์ ประเทศพม่า
    ชาวแม่ฮ่องสอนถือว่าเป็นพระพุทธรูป
    คู่บ้านคู่เมืององค์หนึ่ง

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม

  •   เมตตา

    จิตรกรรมพุทธประวัติศิลปะไต
    วัดจองคำ-จองกลาง
    จ. แม่ฮ่องสอน
  •   วัดจองคำ-จองกลาง จ. แม่ฮ่องสอน


    เสมือนสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรม
    เมืองไตแม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ใส

    ม้งวัยเยาว์ ณ บ้านกิ่วกาญจน์
    ต. ริมโขง อ. เชียงของ
    จ. เชียงราย
  •   ยิ้ม

    แม้ชาวเลจะประสบปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัย
    พื้นที่ทำประมง  แต่ด้วยความหวัง....
    ทำให้วันนี้ยังยิ้มได้

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ผสมผสาน

    อาภรณ์ผสานผสมระหว่างผ้าทอปกาเกอญอกับเสื้อยืดจากสังคมเมือง
    บ้านแม่ลาน้อย จ. แม่ฮ่องสอน
    ภาพโดย อาทิตย์ ทองดุศรี
  •   เกาะหลีเป๊ะ จ. สตูล

    แผนที่ในเกาะหลีเป๊ะ 
    ถิ่นเดิมของชาวเลที่ ณ วันนี้
    ถูกโอบล้อมด้วยรีสอร์ทการท่องเที่ยว
  •   ตะวันรุ่งที่ไล่โว่ จ. กาญจนบุรี

    ไล่โว่ หรือที่แปลเป็นภาษาไทยว่า ผาหินแดง เป็นชุมชนคนโผล่งที่แวดล้อมด้วยขุนเขาและผืนป่า 
    อาณาเขตของตำบลไล่โว่เป็นส่วนหนึ่งของป่าทุ่งใหญ่นเรศวรแถบอำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี 

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   การแข่งขันยิงหน้าไม้ของอาข่า

    การแข่งขันยิงหน้าไม้ในเทศกาลโล้ชิงช้าของอาข่า ในวันที่ 13 กันยายน 2554 ที่บ้านสามแยกอีก้อ อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย
 
  Princess Maha Chakri Sirindhorn Anthropology Centre
Ethnic Groups Research Database
Sorted by date | title

   Record

 
Subject ม้ง,ศาสนา,ความเชื่อ,เชียงใหม่
Author Chindarsi, Nusit
Title The Religion of the Hmong Njua
Document Type หนังสือ Original Language of Text ภาษาอังกฤษ
Ethnic Identity ม้ง, Language and Linguistic Affiliations ม้ง-เมี่ยน
Location of
Documents
ห้องสมุดศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร Total Pages 197 Year 2519
Source Bangkok : The Siam Society
Abstract

งานชิ้นนี้เป็นการศึกษาเกี่ยวกับความเชื่อเรื่องผี ขวัญ และโชคลาง จักรวาลวิทยาของม้งจั้วะที่บ้านแม่โถ โดยการเข้าไปสังเกตการณ์แบบมีส่วนร่วมในพิธีกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน และพิธีกรรมแห่งวงจรชีวิต ซึ่งชี้ให้เห็นถึงการจัดความสัมพันธ์ทางสังคมภายในครอบครัว กลุ่มย่อย และชุมชน โดยผ่านรายละเอียดของขั้นตอนการประกอบพิธีกรรมซึ่งจะแตกต่างกันไปในแต่ละกลุ่มย่อย เช่น เรื่องเล่าตำนานถึงสาเหตุที่มีข้อปฏิบัติปลีกย่อยที่ต่างกัน และการแบ่งปันส่วนของเนื้อสัตว์ที่ใช้บวงสรวงในพิธีกรรมให้กับผู้ที่มาร่วมพิธี (หน้า 114-119, 122-125)

Focus

ศึกษาความเชื่อ พิธีกรรมในชีวิตของม้งจัวะที่บ้านแม่โถ

Theoretical Issues

งานชิ้นนี้มุ่งศึกษาระบบความเชื่อ จักรวาลวิทยา และการนับถือผีของม้งจ๊วะที่บ้านแม่โถ ที่ส่งผลให้เกิดการประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน และวงจรชีวิตของชุมชน เป็นงานชาติพันธุ์วรรณนาที่ศึกษาและบันทึกข้อมูลอย่างละเอียดทั้งทางด้านสถิติ และรายละเอียดของพิธีกรรม พร้อมทั้งเชื่อมโยงให้เห็นถึงความสำคัญของพิธีกรรมในฐานะเครื่องบ่งชี้ความเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ (ย่อย) เดียวกัน และสร้างเอกภาพในหมู่ม้ง พิธีกรรมความเชื่อยังเป็นการควบคุมทางสังคมที่ช่วยให้ชุมชนม้งสามารถจัดการกับปัญหาวิกฤติต่าง ๆ ได้ในสภาวะของหมู่บ้านที่ห่างไกล ปราศจากสิ่งอำนวยความสะดวกและสาธารณูปโภค

Ethnic Group in the Focus

ม้ง หรือที่ถูกเรียกว่า แม้ว เน้นเฉพาะม้งจั๊วะ หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า ม้งน้ำเงิน (น.5)

Language and Linguistic Affiliations

ม้งจั๊วะพูดภาษาม้งจั๊วะ แต่ก็สามารถพูดภาษาของจีนยูนนาน ไทยล้านนา กะเหรี่ยงได้เพื่อการค้าขายและติดต่อกัน แต่ผู้ที่เข้าร่วมในพิธีกรรมจะพูดภาษาม้งเท่านั้น ห้ามพูดภาษาอื่น

Study Period (Data Collection)

ศึกษาด้วยการลงภาคสนาม ตั้งแต่ธันวาคม ค.ศ. 1964 - ธันวาคม ค.ศ. 1967

History of the Group and Community

กล่าวถึงประวัติคร่าว ๆ ว่าม้งอพยพมาจากจีน ผ่านมาทางอันนัม (เวียดนาม) เข้าไทย ตั้งแต่ ศตวรรษที่ 18-19 (หน้า 2)

Settlement Pattern

ตั้งถิ่นฐานอยู่บนแนวสันเขา ซึ่งมีหุบเขา นิยมตั้งบ้านบนที่ลาดซึ่งล้อมรอบด้วยแนวเขา เพราะระบายน้ำได้ดีในฤดูฝน และมีแนวกันลมมรสุม มีแหล่งน้ำ ซึ่งการเลือกทำเลที่ดีนี้ใช้กับการเลือกที่ฝังศพด้วย สาเหตุที่ม้งที่แม่โถเลือกตั้งบ้านที่เนินลาดของ Umlong เพราะห่างจากบริเวณเพาะปลูก สัตว์เลี้ยงจึงไม่เข้าไปทำให้พื้นที่เพาะปลูกเสียหาย และพวกเขาต้องการซ่อนไร่ฝิ่นไม่ให้บุคคลจากภายนอกเห็น โดยเฉพาะตำรวจ เพราะฝิ่นเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย พวกเขาอาจต้องจ่ายค่าคุ้มครอง (หน้า 5-6) ม้งชอบอยู่รวมกับเครือญาติเป็นหมู่บ้านขนาดใหญ่ มีการย้ายถิ่นฐานเมื่อดินหมดความสมบูรณ์แล้ว โดยจะย้ายไปอาศัยญาติที่แห่งอื่น ๆ ซึ่งมีที่ดิน ในปี ค.ศ.1965 ม้งที่แม่โถแยกกันตั้งบ้านเป็น 7 กลุ่ม กลุ่ม A ใหญ่ที่สุดมีบ้าน 21 หลังอยู่แนวเขา Umlong เป็นกลุ่มแรกที่มาตั้งรกราก กลุ่ม B มี 5 หลัง กลุ่ม C มี 6 หลังอยู่ตามแนวลำธาร กลุ่ม D อยู่ห่างออกไปในหุบเขาลึก กลุ่ม E อยู่อีกด้านหนึ่งของเขา กลุ่ม F มี 4 หลังห่างไปทางตะวันตกเฉียงใต้ กลุ่มโบเระ (Boreh) มี 7 หลัง ห่างจากกลุ่ม A 2 ไมล์ ระหว่างทางไปพื้นที่เพาะปลูก (ภาพถ่ายทางอากาศของหมู่บ้าน) (ลักษณะบ้านม้งดูหัวข้อ Art and Crafts)

Demography

จากการสำรวจของรัฐบาลไทยเมื่อปี ค.ศ.1965 มีม้งอยู่ในประเทศไทยประมาณ 53,031 คน ใน 8 จังหวัด แต่จำนวนนั้นสำรวจจากพื้นที่ระดับความสูง 600 เมตรเท่านั้น จึงคาดว่าน่าจะมีจำนวนมากกว่าที่ได้จากการสำรวจ เพราะหมู่บ้านม้งส่วนใหญ่อยู่ที่ความสูง 3,500-5,000 ฟุต ( ตาราง หน้า 2-4) หมู่บ้านที่ศึกษามีประชากร 570 คน ชาย 262 คนและหญิง 308 คน มาจาก 4 ตระกูลแซ่ แซ่ตั้งเป็นกลุ่มใหญ่สุด รองลงมาคือ แซ่หวาง แซ่จาง และแซ่หยาง (หน้า 6) เมื่อที่ดินเริ่มหมดความอุดมสมบูรณ์ก็จะมีม้งบางส่วนอพยพออกไปหาที่อยู่ใหม่กับญาติที่อื่น เพราะสามารถช่วยเหลือกันได้และมาร่วมงานศพได้ ปลายปี ค.ศ.1965 ม้งแซ่ตั้ง 6 หลังคาเรือน ซึ่งย้ายมาที่ Umlong ในต้นปี 1964 ได้ย้ายกลับไปหมู่บ้านเก่าที่เชียงราย เพราะไม่มีที่พอทำกิน ที่ส่วนใหญ่ถูกกะเหรี่ยงครอบครองอยู่ ทำให้กลุ่มแซ่หวางบางคนคิดที่จะย้ายไปหาญาติที่บ้านห้วยงูใน จ.ตาก ด้วย แต่หัวหน้าหมู่บ้านก็ยับยั้งไว้ แต่ก็ได้เพียงชั่วคราวเมื่อกลุ่มแรกย้ายไป กลุ่มอื่น ๆ ที่เหลือก็ย้ายด้วย (หน้า 7) นอกจากนี้หากเกิดเหตุการณ์ณ์ที่สัตว์เลี้ยงเป็นโรค หรือเหตุร้ายอื่น เช่น เสือเข้ามากินสัตว์เลี้ยง หัวหน้าบ้านป่วย ก็ถือเป็นลางบอกเหตุว่าผีประจำหมู่บ้านไม่ปกป้องแล้ว หากทำการเซ่นบวงสรวงแล้ว ผลผลิตยังไม่ดีก็จะมีการโยกย้ายไปที่อื่น ปี 1966 เมื่อกลุ่มแซ่หวางย้ายไปอยู่กับญาติที่ตาก อีก 6 ครอบครัว (28 คน) ก็อพยพไปอยู่ที่บ้าน Mena อ.เชียงดาว จากนั้นกลุ่มแซ่ตั้งอีก 40 คนก็ย้ายตามไปเช่นกัน (หน้า 8) อีกสาเหตุที่ทำให้ม้งต้องย้ายถิ่นก็เป็นเพราะฝิ่นเป็นสิ่งผิดกฎหมายในไทย เมื่อเจ้าหน้าที่รัฐบาลตรวจพบ พวกเขาจึงต้องอพยพหนี (หน้า 10)

Economy

ม้งที่หมู่บ้านนี้ยังชีพจากการปลูกข้าวและฝิ่น มีการจ้างแรงงานจากชนต่างเผ่า เช่น กะเหรี่ยง ลัวะ มาช่วยงานในไร่ด้วย นอกจากนี้ยังมีการเลี้ยงสัตว์พวกหมู ไก่ วัว ซึ่งเป็นของที่ใช้บวงสรวงในพิธีกรรมต่าง ๆ และเป็นค่าสินสอดในการสู่ขอผู้หญิง

Social Organization

ครอบครัวม้งมีขนาดใหญ่ เพราะม้งนิยมมีภรรยาหลายคน ต้องการมีลูกจำนวนมาก (เพื่อเป็นแรงงานในการทำไร่และกระทำพิธีศพอย่างใหญ่โต) โดยเฉพาะลูกผู้ชาย เพราะถือว่ามีสถานะสูงกว่าหญิง ผู้หญิงมีสถานะต่ำและถือเป็นสมบัติของบ้านสามีเมื่อแต่งงานไปแล้ว ต้องทำงานหนักตลอดแม้ในยามท้อง การสืบสายตระกูลจะยึดตามแซ่ของฝ่ายชายเป็นหลัก (หน้า 71-75) ในการสู่ขอหญิงสาวมาแต่งงาน ฝ่ายชายจะต้องจ่ายค่าเลี้ยงดูให้แก่พ่อแม่ฝ่ายหญิงเป็นเงิน หมู และไก่ (หน้า 76) เมื่อแต่งงานแล้วหญิงถือเป็นสมบัติของบ้านสามี ไม่สามารถส่งเงินกลับไปให้พ่อแม่ได้ กรณีที่ทะเลาะถูกสามีทุบตีขับไล่ หากกลับไปหาพ่อแม่จะอยู่ร่วมบ้านเดิมไม่ได้ ต้องสร้างบ้านหลังใหม่ให้ เพราะถือว่าไปไหว้ผีตระกูลสามีแล้ว กรณีที่สามีจะมารับกลับก็ต้องจ่ายค่าชดใช้ให้พ่อแม่ฝ่ายหญิงอีกครั้ง หากสามีตาย จะแต่งงานใหม่ ก็จะต้องจ่ายเงินให้แก่พ่อแม่สามีเก่า ผู้ชายม้งจะมี 3 ชื่อ ตั้งชื่อแรกเมื่ออายุ 3 วันรับเข้าเป็นมนุษย์ อีกชื่อตั้งขึ้นเพื่อบอกลำดับการเกิด และชื่อสุดท้ายตั้งให้โดยพ่อตาเมื่อมีลูก (หน้า 81) ม้งมักอยู่รวมกันในกลุ่มแซ่เดียวกัน และกลุ่มย่อยของเครือญาติ (subgroup) มีความนับถือในผู้อาวุโส โดยเฉพาะผู้ที่มีความรู้เป็นหมอรักษา เรียกว่า Glunggler (priest) และคนทรงเรียงว่าเน้ง (shaman) ซึ่งส่วนใหญ่หมอทรงประจำแซ่จะมีบทบาทเป็นผู้นำกลุ่ม เพราะสามารถทำพิธีป้องกันผีมารบกวนหมู่บ้านและช่วยรักษาโรคได้ ชาวบ้านมักจะนิยมขอให้คนทรงแซ่เดียวกันทำพิธีให้ หมอทรงจึงเป็นผู้มีบทบาทสำคัญได้รับการนับถือ (หน้า 44-46)

Political Organization

เนื่องจากรัฐไทย มีการแต่งตั้งกำนันเป็นผู้ดูแลระดับตำบล แต่ในหมู่บ้านม้งแต่ละแห่งจะให้เลือกผู้ใหญ่บ้านกันเอง เมื่อมีปัญหาขัดแย้งภายในกลุ่มม้งด้วยกัน ผู้ใหญ่บ้านจะทำหน้าที่ตัดสิน หากตกลงกันไม่ได้จริง ๆ จึงจะนำมาปรึกษากำนันให้ช่วยตัดสิน (หน้า 47) หรือหากมีข้อพิพาทระหว่างม้งกับคนกลุ่มอื่น ก็อาจทำการฟ้องร้องต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจให้ดำเนินคดีในชั้นศาล แต่โดยทั่วไปม้งไม่นิยมติดต่อกับเจ้าหน้าที่เพราะม้งปลูกฝิ่นซึ่งถือว่าเป็นสิ่งผิดกฎหมาย

Belief System

ม้งมีความเชื่อเรื่องผีต่าง ๆ ทั้งผีในธรรมชาติ ผีบ้าน ผีบรรพบุรุษ และเชื่อว่าผีเหล่านี้มีอิทธิพลต่อความเป็นอยู่ในชีวิตประจำวัน การทำมาหากิน (หน้า 17-33) จึงมีพิธีกรรมบูชาผีต่าง ๆ ทั้งผีบรรพบุรุษ ผีบ้าน ผีประตู ผีเสากลางบ้าน ผีเน้งเพื่อถามสาเหตุของโรค โดยผ่านทางคนทรง หรือการเสี่ยงทายเขาสัตว์หรือกระดูกไก่ ซึ่งจะทำนายได้ทั้งกระดูกตีนไก่และกระดูกสะโพก หากอุ้งตีนไก่มีรูปทรงงอคดไปด้านซ้ายขวาหรือด้านหลัง ก็หมายถึงลางร้าย หากเป็นสีแดงก็หมายถึงลางดี กระดูกสะโพกจะหมายถึงกลุ่มคนหรือครัวเรือน หากส่วนบนและล่างมีรูพอๆ กัน หรือส่วนบนมีรูมากกว่า หมายถึงลางดี เป็นต้น (หน้า 49-51) นอกจากนี้ยังเชื่อเรื่องลางบอกเหตุ เช่น จะถางที่ปลูกบ้าน จะสู่ขอหญิงให้ลูกชาย หากระหว่างนั้นพบงู เสือหมี ก็จะถือว่าเป็นลางร้ายและยกเลิกการกระทำนั้นเสีย ม้งมีความเชื่อว่าก่อนเกิดจะต้องจับฉลากใบอนุญาตมีอายุขัยในโลก มีความเชื่อเรื่องขวัญ (ฮูปลี) (หน้า 29-30) เมื่อเด็กเกิดได้ 3 วัน ก็จะทำพิธีรับเข้าเป็นสมาชิกมนุษย์ (หน้า 65) เมื่อเวลาเสียชีวิตก็นิยมจัดงานศพอย่างใหญ่โต เพราะถือกันว่าหากไม่มีพิธีศพใหญ่โต จะทำให้วิญญาณไปรวมอยู่ระดับเดียวกับสัตว์ (หน้า 10) ขั้นตอนในการประกอบพิธีกรรมต่างๆ จะมีข้อปลีกย่อยที่แตกต่างกันภายในกลุ่มย่อย ซึ่งจะสืบทอดต่อกันมารุ่นต่อรุ่นและถือเป็นตัวแบ่งว่าใครเป็นสมาชิกของกลุ่มย่อยใด (หน้า 113) เทศกาลปีใหม่ถือเป็นพิธีสำคัญ ม้งเชื่อว่าหากเริ่มต้นปีอย่างดีก็จะนำมาซึ่งโชคดีตลอดปี ดังนั้นม้งทั้งหมดจะหยุดงานมารวมตัวกัน อาจมีการเลื่อนกำหนดออกไปภายใน 15 วัน เพื่อให้คนส่วนใหญ่เก็บเกี่ยวเสร็จและสามารถหยุดงานมาร่วมฉลองได้ มีการทำพิธีบวงสรวงผีในแต่ละบ้านและทุกครอบครัวจะมารวมกันเซ่นบวงสรวงหมูและไก่ด้วย ปีใหม่เป็นช่วงเวลาที่หนุ่มสาวจะได้ผูกสัมพันธ์ พบปะและเลือกคู่ ดังนั้น จึงมักแต่งชุดที่ดีที่สุด เล่นเกมโยนลูกช่วงและร้องเพลงเล่นดนตรีอย่างสนุกสนาน และมีการไปเยี่ยมเยียนหมู่บ้านอื่นๆ ที่จัดงานไม่ตรงกันด้วย ในวันที่สามหรือวันสุดท้ายของเทศกาลทุกบ้านจะต้องจุดธูปบอกกล่าวผีทั้งหลายว่างานฉลองได้สิ้นสุดลงแล้ว ขอให้คุ้มครองคนในบ้านและนำโชคดีมาสู่ชีวิต จากนั้นจึงจะกลับไปเริ่มทำงานอีกครั้ง (หน้า 136-139)

Education and Socialization

ในการประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ จะมีการเชิญญาติใกล้ชิดมาร่วมด้วย ซึ่งมักจะนำลูกชายติดตามไปด้วย การทำเช่นนี้เป็นวิธีสั่งสอนอบรมให้เด็กได้เห็นและจดจำ และสืบทอดการประกอบพิธีซึ่งเจ้าบ้านที่เป็นชายจะต้องเป็นผู้ปฏิบัติต่อไป

Health and Medicine

ม้งไม่มีความคิดเรื่องโรคภัยเกิดจากเชื้อโรค แม้จะมีความรู้เรื่องสมุนไพรที่ใช้รักษาบาดแผลและอาการเจ็บป่วยภายนอก เช่น การใช้ฝิ่น เป็นต้น แต่พวกเขาก็เชื่อว่าการที่ขวัญหาย หรือ ผีไม่พอใจเป็นสาเหตุให้เขาเจ็บป่วย การรักษาความเจ็บป่วยนั้นจึงต้องทำพิธีเซ่นบวงสรวงผี โดยผ่านหมอทรง ซึ่งจะเป็นผู้ค้นหาสาเหตุว่าเป็นเพราะละเมิดต่อผีใดและเซ่นสังเวยแก่ผีนั้น ซึ่งอาจทำได้หลายครั้ง และถ้าไม่สามารถรักษาได้ ก็หมายถึงอายุขัยที่คนนั้นมีได้หมดสิ้นลงแล้ว ผู้ศึกษาได้บันทึกสถิติและจำแนกพิธีการรักษาโรคในระหว่างการเก็บข้อมูลภาคสนามอย่างละเอียด ดูตาราง 1-8 (หน้า 101-103) ซึ่งโรคที่เป็นมากที่สุดคือ ปวดท้อง รองลงมาคือ ปวดหัว เป็นไข้ อ่อนเปลี้ย (ตาราง 7 หน้า 102)

Art and Crafts (including Clothing Costume)

ลักษณะบ้านม้ง (หน้า15) ปลูกคร่อมพื้นดิน และยกแคร่สูงประมาณ 1.5 ฟุตเพื่อเป็นห้องนอน โดยทั่วไปบ้านม้งจะมี 2 ประตู แต่ม้งจั๊วะจะมีประตูเดียว มีเตาเล็ก และเตาใหญ่ ทุกส่วนในบ้านของม้งถือว่ามีผีคุ้มครองอยู่ ไม่ว่าจะเป็นเสากลางบ้าน ประตู เตาไฟ ในบ้านมักไม่มีหน้าต่าง ผนังบริเวณตรงข้ามประตูจะเป็นที่ไว้หิ้งผีเน้งและเป็นที่ประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ การแต่งกาย - ในช่วงเทศกาลปีใหม่จะมีการแต่งกายชุดม้ง ประดับด้วยเงินอย่างสวยงาม สวมห่วงคอเงินและแหวน เพื่อแสดงถึงฐานะและดึงดูดใจเพื่อนต่างเพศ (หน้า 136) ดูภาพ Girl playing ball และ Boy playing pan pipes

Folklore

ม้งมีเรื่องเล่าเกี่ยวกับเทพเจ้า และวิญญาณต่างๆ ที่มีอำนาจเหนือมนุษย์เป็นจำนวนมาก เรื่องเล่าเหล่านี้มีผลต่อการควบคุมทางสังคมในชุมชนด้วย ในเรื่องของกำเนิดมนุษย์และโลกนั้น มีเรื่องเล่าว่า เดิมมีม้งคู่หนึ่งมีลูกชายและลูกสาว ได้ทราบจากมังกรว่าน้ำจะท่วมโลก จึงสร้างกลองและใส่ลูก ๆ ไว้ในนั้น เมื่อ Yoso เทพเจ้าสูงสุดทราบว่าน้ำท่วมโลกจึงให้เทพทั้ง 4 มาช่วย เมื่อน้ำแห้งทุกสรรพสิ่งตายหมด เหลือเพียงชายหญิงที่อยู่ในกลอง เทพจึงให้ทั้งคู่แต่งงานกัน คลอดออกมาเป็นก้อนเนื้อ เทพให้ทั้งสองตัดเนื้อเป็นชิ้นเล็กและโยนไปทุกทิศเกิดเป็นสิ่งมีชีวิตทั้งคนและสัตว์ขึ้นมา (หน้า 19-20)

Ethnicity (Ethnic Identity, Boundaries and Ethnic Relation)

ม้งรู้สึกว่าสถานะของม้งสูงกว่าคนกลุ่มอื่นที่อยู่รอบข้าง ดังนั้นจึงไม่นิยมแต่งงานกับคนนอกกลุ่ม ความสัมพันธ์กับกะเหรี่ยง - โดยทั่วไปจะมีการติดต่อค้าขายกัน และบางกรณีมีกะเหรี่ยงที่ติดฝิ่นมาทำงานเป็นแรงงานรับจ้างราคาถูกให้ม้งเพื่อแลกกับฝิ่น เนื่องจากม้งที่แม่โถอยู่อาศัยใกล้เคียงกับกะเหรี่ยงจึงมีความขัดแย้งเรื่องที่ดิน เพราะม้งเข้าไปใช้ที่ดินของกะเหรี่ยง ทำให้กะเหรี่ยงไม่พอใจแต่ก็กลัวเพราะม้งมีปืน จึงใช้วิธีขโมยพืชผลหรือปล่อยให้สัตว์เข้าไปในไร่ทำให้พืชผลเสียหาย ส่วนม้งเองก็หวาดกลัวคาถาอาคมของกะเหรี่ยงที่ทำให้ถึงแก่เสียชีวิตได้ จึงไม่มีการเผชิญหน้าอย่างตรง ๆ แต่จะใช้วิธีฟ้องร้องต่อตำรวจและสู้คดีในชั้นศาล ความสัมพันธ์กันชาวจีนยูนนาน ซึ่งเป็นพ่อค้าเร่ เป็นไปในลักษณะที่ม้งกู้ยืมเงินมาและขายฝิ่นให้ ความสัมพันธ์กับลัวะที่อยู่มาก่อน ก็จะเป็นแรงงานรับจ้างราคาถูกในไร่ม้ง มีกรณีที่ม้งไปรุกล้ำที่ดินที่ลัวะกันไว้ให้วิญญาณบรรพบุรุษ ลัวะจะไปแจ้งตำรวจ ม้งกลัวตำรวจเพราะปลูกฝิ่น จึงยอมถอนออกจากที่นั้น (หน้า 12-14)

Social Cultural and Identity Change

เดิมม้งจะเลี้ยงสัตว์ไว้เพื่อใช้บวงสรวงในพิธีกรรม ซึ่งมีขึ้นตลอดวงจรชีวิต ไม่ได้เลี้ยงเพื่อจำหน่าย ต่อมาเกิดการเปลี่ยนครั้งสำคัญในปี 1967 ม้งที่แม่โถนำหมูจำนวนมากไปขายที่ตลาดในอำเภอแม่สะเรียง ผู้วิจัยสันนิษฐานว่าม้งคงจะพบว่าการรักษาด้วยยาสมัยใหม่นั้นได้ผลกว่าวิธีรักษาแบบดั้งเดิมของตน ประกอบกับไม่มีเงินซื้อข้าวจึงได้นำหมูมาขายพร้อมกัน เพื่อจะได้ไม่ละอายใจในสิ่งที่ไม่เคยทำมาก่อน (หน้า 143-144)

Critic Issues

ไม่มีข้อมูล

Other Issues

ไม่มี

Map/Illustration

- ภาพถ่ายทางอากาศของหมู่บ้าน - ภาพ Girl playing ball และ Boy playing pan pipes - ลักษณะบ้านม้ง หน้า 15 - ตาราง 1-8 บันทึกสถิติและจำแนกพิธีการรักษาโรค หน้า 101-103

Text Analyst สมรักษ์ ชัยสิงห์กานานนท์ Date of Report 19 เม.ย 2564
TAG ม้ง, ศาสนา, ความเชื่อ, เชียงใหม่, Translator -
 
 

 

ฐานข้อมูลอื่นๆของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
  ฐานข้อมูลพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทย
จารึกในประเทศไทย
จดหมายเหตุทางมานุษยวิทยา
แหล่งโบราณคดีที่สำคัญในประเทศไทย
หนังสือเก่าชาวสยาม
ข่าวมานุษยวิทยา
ICH Learning Resources
ฐานข้อมูลเอกสารโบราณภูมิภาคตะวันตกในประเทศไทย
ฐานข้อมูลประเพณีท้องถิ่นในประเทศไทย
ฐานข้อมูลสังคม - วัฒนธรรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  หน้าหลัก
งานวิจัยชาติพันธุ์ในประเทศไทย
บทความชาติพันธุ์
ข่าวชาติพันธุ์
เครือข่ายชาติพันธุ์
เกี่ยวกับเรา
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  ข้อมูลโครงการ
ทีมงาน
ติดต่อเรา
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
ช่วยเหลือ
  กฏกติกาและมารยาท
แบบสอบถาม
คำถามที่พบบ่อย


ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) เลขที่ 20 ถนนบรมราชชนนี เขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ 10170 
Tel. +66 2 8809429 | Fax. +66 2 8809332 | E-mail. webmaster@sac.or.th 
สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2549    |   เงื่อนไขและข้อตกลง