สมัครสมาชิก   
| |
ค้นหาข้อมูล
ค้นหาแบบละเอียด
  •   ความเป็นมาและหลักเหตุผล

    เพื่อรวบรวมงานวิจัยทางชาติพันธุ์ที่มีคุณภาพมาสกัดสาระสำคัญในเชิงมานุษยวิทยาและเผยแผ่สาระงานวิจัยแก่นักวิชาการ นักศึกษานักเรียนและผู้สนใจให้เข้าถึงงานวิจัยทางชาติพันธุ์ได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น

  •   ฐานข้อมูลจำแนกกลุ่มชาติพันธุ์ตามชื่อเรียกที่คนในใช้เรียกตนเอง ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้ คือ

    1. ชื่อเรียกที่ “คนอื่น” ใช้มักเป็นชื่อที่มีนัยในทางเหยียดหยาม ทำให้สมาชิกกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ รู้สึกไม่ดี อยากจะใช้ชื่อที่เรียกตนเองมากกว่า ซึ่งคณะทำงานมองว่าน่าจะเป็น “สิทธิพื้นฐาน” ของการเป็นมนุษย์

    2. ชื่อเรียกชาติพันธุ์ของตนเองมีความชัดเจนว่าหมายถึงใคร มีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมอย่างไร และตั้งถิ่นฐานอยู่แห่งใดมากกว่าชื่อที่คนอื่นเรียก ซึ่งมักจะมีความหมายเลื่อนลอย ไม่แน่ชัดว่าหมายถึงใคร 

     

    ภาพ-เยาวชนปกาเกอะญอ บ้านมอวาคี จ.เชียงใหม่

  •  

    จากการรวบรวมงานวิจัยในฐานข้อมูลและหลักการจำแนกชื่อเรียกชาติพันธุ์ที่คนในใช้เรียกตนเอง พบว่า ประเทศไทยมีกลุ่มชาติพันธุ์มากกว่า 62 กลุ่ม


    ภาพ-สุภาษิตปกาเกอะญอ
  •   การจำแนกกลุ่มชนมีลักษณะพิเศษกว่าการจำแนกสรรพสิ่งอื่นๆ

    เพราะกลุ่มชนต่างๆ มีความรู้สึกนึกคิดและภาษาที่จะแสดงออกมาได้ว่า “คิดหรือรู้สึกว่าตัวเองเป็นใคร” ซึ่งการจำแนกตนเองนี้ อาจแตกต่างไปจากที่คนนอกจำแนกให้ ในการศึกษาเรื่องนี้นักมานุษยวิทยาจึงต้องเพิ่มมุมมองเรื่องจิตสำนึกและชื่อเรียกตัวเองของคนในกลุ่มชาติพันธุ์ 

    ภาพ-สลากย้อม งานบุญของยอง จ.ลำพูน
  •   มโนทัศน์ความหมายกลุ่มชาติพันธุ์มีการเปลี่ยนแปลงในช่วงเวลาต่างๆ กัน

    ในช่วงทศวรรษของ 2490-2510 ในสาขาวิชามานุษยวิทยา “กลุ่มชาติพันธุ์” คือ กลุ่มชนที่มีวัฒนธรรมเฉพาะแตกต่างจากกลุ่มชนอื่นๆ ซึ่งมักจะเป็นการกำหนดในเชิงวัตถุวิสัย โดยนักมานุษยวิทยาซึ่งสนใจในเรื่องมนุษย์และวัฒนธรรม

    แต่ความหมายของ “กลุ่มชาติพันธุ์” ในช่วงหลังทศวรรษ 
    2510 ได้เน้นไปที่จิตสำนึกในการจำแนกชาติพันธุ์บนพื้นฐานของความแตกต่างทางวัฒนธรรมโดยตัวสมาชิกชาติพันธุ์แต่ละกลุ่มเป็นสำคัญ... (อ่านเพิ่มใน เกี่ยวกับโครงการ/คู่มือการใช้)


    ภาพ-หาดราไวย์ จ.ภูเก็ต บ้านของอูรักลาโว้ย
  •   สนุก

    วิชาคอมพิวเตอร์ของนักเรียน
    ปกาเกอะญอ  อ. แม่ลาน้อย
    จ. แม่ฮ่องสอน


    ภาพโดย อาทิตย์    ทองดุศรี

  •   ข้าวไร่

    ผลิตผลจากไร่หมุนเวียน
    ของชาวโผล่ว (กะเหรี่ยงโปว์)   
    ต. ไล่โว่    อ.สังขละบุรี  
    จ. กาญจนบุรี

  •   ด้าย

    แม่บ้านปกาเกอะญอ
    เตรียมด้ายทอผ้า
    หินลาดใน  จ. เชียงราย

    ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ถั่วเน่า

    อาหารและเครื่องปรุงหลัก
    ของคนไต(ไทใหญ่)
    จ.แม่ฮ่องสอน

     ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ผู้หญิง

    โผล่ว(กะเหรี่ยงโปว์)
    บ้านไล่โว่ 
    อ.สังขละบุรี
    จ. กาญจนบุรี

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   บุญ

    ประเพณีบุญข้าวใหม่
    ชาวโผล่ว    ต. ไล่โว่
    อ.สังขละบุรี  จ.กาญจนบุรี

    ภาพโดยศรยุทธ  เอี่ยมเอื้อยุทธ

  •   ปอยส่างลอง แม่ฮ่องสอน

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ปอยส่างลอง

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดย เบญจพล  วรรณถนอม
  •   อลอง

    จากพุทธประวัติ เจ้าชายสิทธัตถะ
    ทรงละทิ้งทรัพย์ศฤงคารเข้าสู่
    ร่มกาสาวพัสตร์เพื่อแสวงหา
    มรรคผลนิพพาน


    ภาพโดย  ดอกรัก  พยัคศรี

  •   สามเณร

    จากส่างลองสู่สามเณร
    บวชเรียนพระธรรมภาคฤดูร้อน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   พระพาราละแข่ง วัดหัวเวียง จ. แม่ฮ่องสอน

    หล่อจำลองจาก “พระมหามุนี” 
    ณ เมืองมัณฑะเลย์ ประเทศพม่า
    ชาวแม่ฮ่องสอนถือว่าเป็นพระพุทธรูป
    คู่บ้านคู่เมืององค์หนึ่ง

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม

  •   เมตตา

    จิตรกรรมพุทธประวัติศิลปะไต
    วัดจองคำ-จองกลาง
    จ. แม่ฮ่องสอน
  •   วัดจองคำ-จองกลาง จ. แม่ฮ่องสอน


    เสมือนสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรม
    เมืองไตแม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ใส

    ม้งวัยเยาว์ ณ บ้านกิ่วกาญจน์
    ต. ริมโขง อ. เชียงของ
    จ. เชียงราย
  •   ยิ้ม

    แม้ชาวเลจะประสบปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัย
    พื้นที่ทำประมง  แต่ด้วยความหวัง....
    ทำให้วันนี้ยังยิ้มได้

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ผสมผสาน

    อาภรณ์ผสานผสมระหว่างผ้าทอปกาเกอญอกับเสื้อยืดจากสังคมเมือง
    บ้านแม่ลาน้อย จ. แม่ฮ่องสอน
    ภาพโดย อาทิตย์ ทองดุศรี
  •   เกาะหลีเป๊ะ จ. สตูล

    แผนที่ในเกาะหลีเป๊ะ 
    ถิ่นเดิมของชาวเลที่ ณ วันนี้
    ถูกโอบล้อมด้วยรีสอร์ทการท่องเที่ยว
  •   ตะวันรุ่งที่ไล่โว่ จ. กาญจนบุรี

    ไล่โว่ หรือที่แปลเป็นภาษาไทยว่า ผาหินแดง เป็นชุมชนคนโผล่งที่แวดล้อมด้วยขุนเขาและผืนป่า 
    อาณาเขตของตำบลไล่โว่เป็นส่วนหนึ่งของป่าทุ่งใหญ่นเรศวรแถบอำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี 

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   การแข่งขันยิงหน้าไม้ของอาข่า

    การแข่งขันยิงหน้าไม้ในเทศกาลโล้ชิงช้าของอาข่า ในวันที่ 13 กันยายน 2554 ที่บ้านสามแยกอีก้อ อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย
 
  Princess Maha Chakri Sirindhorn Anthropology Centre
Ethnic Groups Research Database
Sorted by date | title

   Record

 
Subject ลื้อ,เครือข่ายความสัมพันธ์,ผู้นำ,ความเปลี่ยนแปลง,สังคม,เชียงใหม่
Author ณริสสร ธีรทีป
Title ความเปลี่ยนแปลงของสังคมไทลื้อ ตำบลลวงเหนือ อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ พ.ศ.2460-2540 : ศึกษาผ่านลักษณะและเครือข่ายความสัมพันธ์ของผู้นำที่เป็นทางการ
Document Type วิทยานิพนธ์ Original Language of Text ภาษาไทย
Ethnic Identity ไทลื้อ ลื้อ ไตลื้อ, Language and Linguistic Affiliations ไท(Tai)
Location of
Documents
ห้องสมุดศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร Total Pages 181 Year 2543
Source หลักสูตรปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
Abstract

การเปลี่ยนแปลงของสังคมชาวนากลุ่มชาติพันธุ์ไทลื้อ ในหมู่บ้านที่ตั้งอยู่บนเส้นทางการค้าแต่อดีต และตั้งอยู่ใกล้ตัวเมืองเชียงใหม่ซึ่งเติบโตอย่างรวดเร็ว ความเข้าใจนี้อาจช่วยให้มองเห็นลักษณะเฉพาะทางสังคม และวัฒนธรรมของไทลื้อใน หมู่บ้านดังกล่าว ซึ่งในปัจจุบันกำลังรื้อฟื้น "ความเป็นลื้อ" การศึกษาวิจัยชุมชนบ้านลวงเหนือ ทำให้พบว่าในประเทศไทยสถานภาพของชุมชนไทลื้อในหลายจังหวัดของภาคเหนือตอนบนของประเทศไทยมีความหลากหลายเป็นอย่างมาก แต่สิ่งที่แสดงความเป็นไทลื้อ คือ ชาวบ้านไทลื้อจะภาคภูมิใจในความเป็นลื้อเป็นอย่างมาก และชาวบ้านต่างชุมชนเองก็ยอมรับในความเป็นลื้อ และชื่นชมในความขยันขันแข็งของคนเหล่านี้ ยิ่งไปกว่านั้นยังพบว่าตัวแทนผู้นำของชุมชนบ้านลวงเหนือยังมักได้รับความไว้วางใจให้เป็นกำนันตำบลหรือผู้นำสูงสุดของตำบลมาโดยตลอด นอกจากนี้ผลการวิจัยยังสะท้อนให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงของหมู่บ้านอื่น ๆ ในภาคเหนือตอนบนที่ล้วนแต่ได้รับผลกระทบจากการขยายอำนาจรัฐและระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมในช่วงเวลา 80 ปีที่ผ่านมา โดยปัจจัยสำคัญ 2 ประการได้แก่ ปัจจัยภายนอกอันได้แก่การบีบคั้นจากรัฐไทยที่บีบคั้นชุมชนด้วยการเก็บภาษีที่เป็นตัวสร้างความเดือดร้อนแก่ชุมชนและชานาในภาคเหนืออย่างมาก เนื่องจากชุมชนมีพื้นฐานระบบเศรษฐกิจแบบพอยังชีพ ส่วนปัจจัยภายในพบว่าพื้นที่เพื่อการเกษตรของชุมชนมีอยู่อย่างจำกัดเริ่มไม่พอเพียงต่อจำนวนสมาชิกที่เพิ่มขึ้น อาจกล่าวได้ว่าสภาพของชุมชนในตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบันค่อนข้างขาดความมั่นคง จากการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจของชุมชน (หน้า 13, 175-180)

Focus

เพื่อศึกษาความเปลี่ยนแปลงในด้านลักษณะและเครือข่ายความสัมพันธ์ของผู้นำที่เป็นทางการของไทลื้อในหมู่ 4 และหมู่ 5 ตำบลดอยสะเก็ด ระหว่างปี พ.ศ.2460-2540 ซึ่งช่วยให้เข้าใจความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในโครงสร้างสังคมและกระบวน การที่สังคมของไทลื้อมีความสัมพันธ์กับรัฐและทุนอย่างเข้มข้นและซับซ้อนขึ้นตามมิติของกาลเวลา (หน้า 8)

Theoretical Issues

ไม่มี

Ethnic Group in the Focus

ชุมชนไทลื้อในเขตหมู่ 4 และหมู่ที่ 5 ของตำบลลวงเหนือ อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ (หน้า 8)

Language and Linguistic Affiliations

ไม่มีข้อมูล

Study Period (Data Collection)

ไม่ระบุ

History of the Group and Community

ชาวสิบสองปันนาอพยพเข้ามาด้วยเหตุผลหลายประการ หลักฐานที่กล่าวถึงการอพยพเข้ามาที่เก่าแก่ที่สุดคือจารึกเสาหลักบ้านของชุมชนบ้านลวงเหนืออันเป็นพื้นที่ศึกษา อย่างไรก็ตาม การอพยพครั้งใหญ่ที่สุดเชื่อกันว่าเกิดขึ้นเมื่อ 200 ปีที่ผ่านมา เมื่อพระยากาวิละผู้เข้าปกครองเมืองเชียงใหม่พยายามฟื้นฟูเมืองเชียงใหม่ที่กำลังเสื่อมโทรมจากภัยสงคราม ในปี พ.ศ.1932 เป็นปีที่ชาวบ้านบ้านลวงเหนือเชื่อว่าเป็นวันที่บรรพบุรุษรุ่นแรกอพยพมาถึงบริเวณนี้ และก่อตั้งชุมชนขึ้น ไม่มีผู้ใดสามารถยืนยันได้ว่าชาวบ้านที่ก่อตั้งชุมชนในยุคนั้นเป็นไทลื้อ แต่อย่างไรก็ตาม วันเสาร์ที่ระบุว่าเป็นวันก่อตั้งชุมชนตามจารึกเสาหลักบ้านอันเป็นที่สิงสถิตของผีบ้าน ก็เป็นวันที่ตรงกับวันที่ไทลื้อถือเป็นวันสร้างบ้าน จากพงศาวดารโยนก ทำให้เราตั้งสมมุติฐานได้ว่าในอดีตพญาแสนเมืองได้เสด็จหัวเมืองสิบสองปันนา และได้ชักชวนไทลื้อให้เข้ามาสร้างบ้านแปลงเมืองยังพันนาสามฝั่งแกนหรือปัจจุบันคือตำบลลวงเหนือ ซึ่งอาจเป็นเหตุผลอีกประการหนึ่งที่ช่วยยืนยันว่าในตอนนั้นบรรพบุรุษไทลื้อได้ก่อตั้งชุมชนบ้านลวงเหนือจริง ตลอดจนยืนยันถึงการมีตัวตนของไทยลื้อ ณ ดินแดนแห่งนี้เมื่อกว่า 600 ปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าบรรพบุรุษของชุมชนแห่งนี้อพยพมาเมื่อใดก็ตาม แต่ก็เชื่อได้ว่าน่าจะเป็นชุมชนที่เก่าแก่ที่สุดในแถบนั้น เนื่องจากมีที่ตั้งที่อุดมสมบูรณ์ที่สุดในบริเวณนั้น จากการอยู่บริเวณต้นน้ำดังที่กล่าวไปแล้ว นอกจากนี้ในความเป็นจริงแล้วสิ่งสำคัญอาจอยู่ที่ความสำนึกของสมาชิกของชุมชน ที่ส่วนใหญ่เชื่อว่าบรรพบุรุษอพยพมาตั้งบ้านตามจารึกเสาหลักบ้าน ความเชื่อดังกล่าวนี้ส่งผลให้ชุมชนแห่งนี้เกิดความมีเอกภาพร่วมกัน ภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของชุมชนที่มีความเป็นมายาวนานและมีตัวตนในประวัติศาสตร์ ความมีเอกภาพดังกล่าวส่งผลเชื่อมโยงต่อการสร้างสายสัมพันธ์ภายในชุมชน และนำไปสู่ความร่วมมือ ช่วยเหลือ เกื้อกูลในกิจกรรมต่าง ๆ ของชุมชน ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมทางการผลิตหรือกิจกรรมทางด้านพิธีกรรม ที่ค้ำจุนให้ชุมชน เกิดความเข้มแข็ง เกิดผู้นำที่มีคุณภาพที่เป็นตัวแทนของคนทุกกลุ่มในการดูแล (หน้า 23-26, 36-37)

Settlement Pattern

ตั้งแต่ก่อนปี พ.ศ. 2460 ชาวบ้านนิยมอาศัยรวมกันเป็นกระจุก เป็นชุมชนใหญ่ ซึ่งเหตุผลคงมาจากเรื่องของความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน เนื่องจากชาวบ้านกล่าวว่าในอดีต ตั้งแต่ก่อนปี พ.ศ.2500 มีการขโมยวัวควายกันมาก จึงจำเป็นต้องอยู่ใกล้กันเพื่อสามารถช่วยเหลือกันได้ ครัวเรือนภายในชุมชนส่วนใหญ่มักเป็นครอบครัวเดี่ยว โดยเฉลี่ยมีสมาชิกประมาณ 4-5 คน ยกเว้นครัวเรือนที่ต้องดูแลพ่อแม่ที่แก่ชรา ซึ่งมักเป็นครัวเรือนของลูกสาวคนสุดท้อง ที่ต้องเลี้ยงดูพ่อแม่ และเมื่อบุตรหลานเติบโตและมีครอบครัวก็มักสร้างบ้านหลังใหม่ และเป็นผลให้บ้านของไทลื้อมีขนาดที่ไม่ใหญ่โตมากนัก (หน้า 19,35)

Demography

ไม่ระบุ

Economy

ไทลื้อเป็นชุมชนสังคมเกษตรกรรม ประกอบกับสภาพที่ตั้งที่มีความอุดมสมบูรณ์ทำให้ภายในชุมชนมีอาชีพหลักอยู่ที่การทำเกษตรกรรมตั้งแต่อดีต พืชหลักที่เพาะปลูก มีลักษณะที่คล้ายคลึงกับคนไทยโดยทั่วไป คือ การเพาะปลูกข้าวเป็นหลัก ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วเป็นพันธุ์ข้าวเหนียวพื้นเมือง ส่วนในช่วงหลังของการทำนาปี ชาวบ้านมีการปลูกพืชไร่บ้างเล็กน้อยเพื่อบริโภคในครัวเรือน พืชที่ปลูก ได้แก่ ถั่วเหลืองที่นำมาใช้ทำ "ถั่วเน่า" เครื่องชูรสที่ให้โปรตีนชนิดหนึ่งของภาคเหนือ และยาสูบพันธุ์พื้นเมืองที่นำมาทำ "บุหรี่ขี้โย" หรือบุหรี่พื้นเมืองที่ใช้ใบตองอ่อนอบแห้งมามวนใบยาสูบ (หน้า 37-38) ยุคแรกที่มีการขยายอำนาจรัฐจากกรุงเทพฯ และการเข้าสู่ระบบการผลิตเชิงพาณิชย์ของชุมชนไทลื้อบ้านลวงเหนือ พ.ศ.2460 – 2500 : ในช่วงปี พ.ศ.2460 - 2482 ชาวบ้านชุมชนบ้านลวงเหนือยังคงมีระบบเศรษฐกิจแบบยังชีพ ยังไม่ได้ปลูกพืชเชิงพาณิชย์ และส่วนใหญ่ยังไม่ได้เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจเงินตรา ความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจที่ชัดเจนคือมีระบบการค้าวัวต่าง ในขอบเขตที่กว้างขวางขึ้น และมีสินค้าที่หลากหลายขึ้น แต่ก็มีผลต่อเศรษฐกิจโดยรวมของชุมชนน้อยมาก (หน้า 81) ใน ช่วงปี พ.ศ. 2482-2497 ชุมชนบ้านลวงเหนือเกิดการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและวิถีการผลิต อันเนื่องมาจากนโยบายของรัฐและบทบาทของกลุ่มทุน ตัวอย่างการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากนโยบายของรัฐ : ปี พ.ศ.2490 รัฐเริ่มก่อสร้างฝายคอนกรีต สร้างเสร็จในปี พ.ศ.2497 ชื่อว่า ชลประทานแม่กวง และให้เจ้าหน้าที่เข้ามาควบคุมการปล่อยน้ำให้พื้นที่เกษตรกรรมให้มากขึ้น เพื่อเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรเชิงพาณิชย์ (หน้า 91-92) รัฐทำถนนเพิ่มเติมจากเดิมเพื่อรองรับระบบชลประทาน และทำให้การขนส่งพืชไปตลาดง่ายขึ้นและได้ราคาดี รัฐเข้ามาเปลี่ยนวิถีการผลิตโดยส่งเจ้าหน้าที่เกษตรอำเภอมาแนะนำการพัฒนาการเกษตร จากการผลิตแบบยังชีพเป็นการผลิตเพื่อการพาณิชย์ ปี พ.ศ.2490 มีการส่งเสริมให้ชาวบ้านปลูกถั่วเหลืองและถั่วลิสงพันธุ์ใหม่ และผลิตปุ๋ยหมักใช้เอง (ส่วนปุ๋ยเคมีใช้เฉพาะการปลูกใบยาสูบที่เอกชนส่งเสริม) การส่งเสริมของรัฐทำให้ชาวบ้านต้องพึ่งปัจจัยการผลิตและเทคโนโลยีจากภายนอกมากขึ้น (หน้า 93-94) ตัวอย่างการเข้ามาของกลุ่มทุน : ปี พ.ศ.2484 มีกลุ่มทุนเข้ามาในชุมชนส่งเสริมให้ชาวบ้านปลูกยาสูบพันธุ์เวอร์จิเนียร์ โดยให้การสนับสนุนพันธุ์ ปุ๋ย ยาปราบศัตรูพืช และเทคโนโลยีการผลิต ซึ่งเป็นการติดต่อกับชาวบ้านโดยตรง ผลผลิตที่ได้ต้องขายให้นายทุนที่มาสนับสนุนเท่านั้น (หน้า 89) ปี พ.ศ.2493 เริ่มมีกลุ่มทุนเข้ามาสร้างโรงสีข้าวไว้ที่ปากทางเข้าชุมชนบ้านลวงเหนือ ทำให้ชาวบ้านสามารถขายข้าวได้สะดวกขึ้น และได้ราคาใกล้เคียงกับโรงสีในเมือง (หน้า 97) ผลจากการปลูกพืชไร่เพิ่มขึ้น เช่น ถั่วเหลือง ถั่วลิสง และใบยาสูบ ทำให้เกิดอาชีพใหม่ คือ ชาวบ้านเริ่มทำอาชีพเป็นพ่อค้า คนกลาง ซื้อขายผลผลิตของชาวบ้าน อีกทั้งมีการซื้อสินค้าจากในเมืองมาขายในชุมชน เช่น จักรยาน วิทยุ เครื่องใช้ต่าง ๆ และเสื้อผ้าสำเร็จรูป เป็นต้น โดยเฉพาะการปลูกยาสูบ มีผลให้เงินตราไหลสู่ชุมชนอย่างรวดเร็ว และการปลูกพืชเชิงพาณิชย์ทำเศรษฐกิจของชุมชนเติบโตขึ้น ปี พ.ศ.2495 ชุมชนสามารถระดมเงินชาวบ้านสร้างอุโบสถหลังใหม่ สร้างอาคารเรียนหลังใหม่ ขยายการศึกษาจากชั้นประถมปีที่ 3 เป็นประถมปีที่ 4 เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ชาวบ้านยังคงนิยมปลูกข้าวพันธุ์พื้นเมืองมากกว่าข้าวพันธุ์ใหม่สำหรับการบริโภคตลอดปี เนื่องจากข้าวพันธุ์พื้นเมืองแข็งแรงทนทานต่อสภาพอากาศและโรคพืช ไม่จำเป็นต้องบำรุงรักษามาก และชาวบ้านยังไม่นิยมปลูกข้าวเพื่อขาย (หน้า 94-97,102) ไม่ได้ก้าวไปสู่การปลูกข้าวเพื่อการพาณิชย์อย่างเต็มตัว ทำให้พึ่งพาตัวเองได้ เหตุผลหนึ่งที่ชาวบ้านหันมาปลูกพืชไร่เพื่อขาย เป็นเพราะในช่วงหลังปี พ.ศ.2490 ชาวบ้านมีรายจ่ายที่เป็นตัวเงินสูง เช่น ต้องจ่ายภาษีนาให้แก่รัฐ และต้องเสียค่าใช้จ่ายการศึกษาของลูกเพิ่มขึ้น อันเนื่องมา จากความนิยมให้ลูกมีการศึกษามากขึ้น (หน้า 89-90,95) ปี พ.ศ.2497 ผู้นำชุมชนที่เกษียณจากการเป็นผู้ใหญ่บ้านหันไปประกอบอาชีพชักลากไม้ ซึ่งเป็นการทำไม้ที่ดำเนินการโดยองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ของรัฐ ในช่วงนี้เป็นช่วงที่การทำไม้กำลังเฟื่องฟูในแถบอำเภอดอยสะเก็ด ทำให้ชาวบ้านมีอาชีพ เป็นแรงงานชักลากไม้ มีรายได้จากการแปรรูปไม้ ขนไม้ออกจากป่า และทำไม้เถื่อน อย่างไรก็ตาม การทำไม้ของ ชาวบ้านเป็นการทำตามกำลังไม่ใช่กิจการใหญ่โต ส่วนใหญ่จะทำเพียง 5 – 10 ปี พอเริ่มมีเงินก็เลิก และหันไปทำการ เกษตรตามเดิม (หน้า 97-101) ยุคการผลิตเชิงพาณิชย์ขยายตัว พ.ศ.2500 – 2523 : ช่วงปี พ.ศ.2500 รัฐบาลมีนโยบายพัฒนาขยายเข้าสู่ชุมชนเพื่อเปลี่ยนวิถีการผลิตของชุมชนจากการผลิตเพื่อยังชีพเป็นการผลิตเชิงพาณิชย์ การปลูกพืชไร่เชิงพาณิชย์โดยเฉพาะการปลูกยาสูบ ทำให้ชาวบ้านที่ปลูกหลังหักต้นทุนแล้วมีรายได้ 3,200 – 4,400 บาทต่อครัวเรือน (หน้า 110) โดยเฉพาะช่วงปี พ.ศ.2520 – 2523 เป็นช่วงที่ใบยาสูบมีราคาดีที่สุด รายได้หลังหักต้นทุนแล้วจะได้ไร่ละ 5,000 – 7,000 บาท ส่วนใหญ่จะปลูกได้ 3 – 4 ไร่ ฉะนั้นชาวบ้านที่ปลูกจึงมีรายได้สูงถึง 20,000 – 30,000 บาทต่อการปลูกยาสูบฤดูกาลเดียว ซึ่งเป็นรายได้ที่สูงมากในสมัยนั้น ที่ค่าแรงมีอัตรา 10 – 20 บาท (หน้า 124-125) สำหรับพืชไร่ชนิดอื่นที่ปลูกควบคู่กับยาสูบ คือ ถั่วลิสง ช่วงปี พ.ศ.2518 ถั่วลิสงที่รัฐส่งเสริมสามารถทำรายได้ให้แก่ชาวบ้านประมาณไร่ละ 3,000 – 4,000 บาท ส่วนถั่วเหลืองที่รัฐส่งเสริมชาวบ้านไม่นิยมปลูก เนื่องจากไม่ได้ราคา (หน้า 123) อย่างไรก็ตาม ชาวบ้านที่ประสบความสูญเสียจากการผลิตเชิงพาณิชย์ก็มีเช่นกัน เนื่องจากการลงทุนต้องมีค่าใช้จ่ายเป็นเงินตราเพิ่มขึ้น ส่วนชาวนาที่มีที่นาน้อยกว่า 10 ไร่มักจะใช้วิธี “ตกเขียว” หรือขายข้าวล่วงหน้าให้แก่ชาวนารวย เพื่อนำเงินไปซื้อสินค้า หรือจ่ายค่าเล่าเรียนลูก (หน้า 109-110) แต่โดยภาพรวม การปลูกพืชไร่เพื่อขาย ส่งผลให้ชาวบ้านส่วนใหญ่มีฐานะดีขึ้น มีเงินออมมากขึ้น และมีการออมทรัพย์ร่วมกันในชุมชน โดยจัดตั้งกลุ่มฌาปนกิจสงเคราะห์ขึ้นในชุมชนบ้านลวงเหนือหมู่ 4 หมู่ 5 ในปี พ.ศ.2504 (หน้า 112) ปี พ.ศ.2509 รัฐก่อตั้งธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์เพื่อการเกษตร หรือ ธ.ก.ส. เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรให้มีแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ ปี พ.ศ.2520 มีการพัฒนาเส้นทางคมนาคมเชื่อมระหว่างเมืองเชียงใหม่ อำเภอดอยสะเก็ด และชุมชนบ้านลวงเหนือ ทำให้ชาวบ้านสามารถนำผลผลิตไปขายในเมืองได้สะดวก และพ่อค้าคนกลางก็สามารถเข้ามารับซื้อผลผลิตได้ง่าย การปลูกพืชไร่เชิงพาณิชย์ทำให้เกิดพ่อค้าคนกลางเพิ่มขึ้นทั้งภายในชุมชนและเข้ามาจากต่างชุมชน ช่วงปี พ.ศ.2517-2523 รัฐพัฒนาระบบชลประทานมากขึ้นและส่งเสริมให้ชุมชนปลูกพืชไร่มากขึ้น แต่ชาวบ้านไทลื้อบ้านลวงเหนือยังคงปลูกข้าวเพื่อยังชีพเป็นหลัก จะปลูกพืชไร่หลังหน้านาเท่านั้น ทำให้ชุมชนสามารถผลิตพืชไร่ได้โดยไม่กระทบการปลูกข้าวเพื่อยังชีพแบบดั้งเดิม (หน้า 123) ยุคการผลิตเชิงพาณิชย์และการประกอบอาชีพนอกภาคเกษตรกรรม พ.ศ 2523 – 2540 : การผลิตเชิงพาณิชย์ช่วงหลังปี พ.ศ. 2523 ถึงจุดเปลี่ยน เนื่องจากรัฐเริ่มต้นสร้างเขื่อนแม่กวงเพื่อเพิ่มปริมาณน้ำในภาคการเกษตรบริเวณเหนือฝายผาแตก ซึ่งเป็นฝายหลักของชุมชน ช่วงหลังปี พ.ศ.2523 เริ่มมีการเลี้ยงไก่ในระบบพันธะสัญญาโดยการส่งเสริมของบริษัทเอกชน แต่มีชาวบ้านเข้าร่วมเพียง 3 - 4 ราย โดยการกู้เงินจาก ธ.ก.ส. ในช่วงเวลานี้ การปลูกยาสูบเริ่มมีปัญหา เนื่องจากราคาใบยาในตลาดโลกตกต่ำ ใบยามีราคาถูกลงกว่าครึ่ง แต่ในขณะเดียวกันยาฆ่าแมลงและปุ๋ยเคมีกลับมีราคาสูงขึ้น ส่วนถั่วลิสงเมล็ดพันธุ์ก็มีราคาสูงขึ้น ชาวบ้านจำนวนมากจึงเลิกขายใบยาสูบและถั่วลิสง และหันมาปลูกถั่วเหลืองที่มีต้นทุนต่ำแต่ราคาสูงแทน (หน้า 135-137) แม้ชาวบ้านจะมีการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีการผลิตและพันธุ์พืชไร่ก็ตาม แต่จนถึงปี พ.ศ.2527 ชาวบ้านยังคงเน้นการเพาะปลูกข้าวพันธุ์พื้นเมืองแบบดั้งเดิมเพื่อยังชีพ จะขายเฉพาะที่เหลือจากการบริโภคเท่านั้น ในช่วงก่อนปี พ.ศ.2527 ชาวบ้านยังคงนิยมใช้ควายเป็นแรงงาน ใช้ปุ๋ยคอกทำนา นิยมใช้ปุ๋ยเคมีเฉพาะการปลูกพืชไร่บางชนิดเท่านั้น การระดมแรงงานตามประเพณีระบบแรงงานเอามื้อเอาวัน ทั้งแรงงานคนและแรงงานควายยังคงเข้มแข็ง ระบบการผลิตแบบยังชีพดังกล่าวส่งผลให้ชาวบ้านส่วนใหญ่สามารถพึ่งตนเองได้ มีชาวบ้านประมาณร้อยละ 80 ที่ทำการเกษตรได้โดยไม่ต้องเช่านา (ในจำนวนนี้มีประมาณร้อยละ 25 ไม่ได้ทำเอง แต่ก็ให้ชาวบ้านคนอื่นทำนาในระบบ “ผ่า”) ส่วนที่เหลืออีกร้อยละ 20 มีที่นาของตัวเองส่วนหนึ่งและเช่านาส่วนหนึ่ง และกว่าร้อยละ 75 ของส่วนนี้ มีที่นาเกินกว่า 10 ไร่ นอกจากนี้ ชาวบ้านกว่าร้อยละ 70 ยังนิยมทำการเกษตรระบบไร่นาสวนผสม ในชุมชนมีทำการเกษตรเป็นอาชีพหลักร้อยละ 84.2 อาชีพรับจ้างร้อยละ 4.4 ทำการค้าร้อยละ 3.5 อุตสาหกรรมในครัวเรือนร้อยละ 2.6 และรับราชการร้อยละ 5.3 อย่างไรก็ตาม ระบบการผลิตดังกล่าวจะเริ่มเปลี่ยนแปลงไปหลังปี 2528 (หน้า 137-138) ในทศวรรษที่ 2530 รัฐบาลดำเนินการเร่งรัดพัฒนาอุตสาหกรรม และการพัฒนาเศรษฐกิจหมู่บ้านก็เพื่อสนับสนุนการเติบโต ของเศรษฐกิจเมือง หลังปี พ.ศ.2530 ชาวบ้านเริ่มปลูกข้าวเพื่อการขาย ในปี พ.ศ.2530-2531 ชาวบ้านเริ่มปลูกข้าวเจ้า มี การปลูก 203 ไร่จากพื้นที่ปลูกข้าว 1,725 ไร่ในบ้านหมู่ 4 หมู่ 5 ปี พ.ศ.2537-2538 เพิ่มการปลูกข้าวเจ้าเป็น 745 ไร่ จาก พื้นที่ปลูกข้าวที่ลดลงเหลือ 1,486 ไร่ ส่วนชาวบ้านรุ่นใหม่ช่วงหลังปี พ.ศ.2529 เริ่มเลิกการทำเกษตรกรรมและออกไปทำงาน ในเมือง เช่น ไปเป็นช่างไม้ ช่างก่อสร้าง พยาบาล ครู ยาม ตำรวจ ทหาร เจ้าหน้าที่อำเภอ พนักงานประกันภัย พนักงานห้างสรรพสินค้า และข้าราชการกรมชลประทาน เป็นต้น และมีแนวโน้มที่ชาวบ้านจะออกไปประกอบอาชีพนอกภาคการเกษตรมากขึ้นเรื่อย ๆ (หน้า 144-145) องค์กรระดมแรงงานตามประเพณีอ่อนแอลง เช่น ในช่วงต้นทศวรรษที่ 2530 การเอามือเอาวันเพื่อทำการเกษตรมีแรงงานลดลงเหลือ 2 ใน 3 และเหลือเพียง 1 ใน 3 ในช่วงปลายทศวรรษที่ 2530 ส่วนแรงงานควายก็ลดลงเรื่อย ๆ ซึ่งทำให้จำเป็นต้องใช้รถไถมากขึ้น การลดลงของแรงงานในภาคการเกษตร ส่งผลให้องค์กรเหมืองฝายอ่อนแอไปด้วย ทำให้ขาดแรงงานไปช่วย “ฮ้องเหมือง” การขุดลอกเหมืองฝายต้องใช้แรงงานและเวลาเพิ่มขึ้น เพราะจำนวนคนลดลง ในช่วงนี้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้นแต่ ผลผลิตการเกษตรราคาตกลง ในช่วง พ.ศ.2530 – 2534 เกิดเศรษฐกิจฟองสบู่มีการเก็งกำไรราคาที่ดินจนราคาที่ดินสูงขึ้นหลายเท่า ชาวบ้านจึงขายที่ดินเพื่อเปลี่ยนอาชีพ หรือฝากเงินกินดอกเบี้ย ปรากฏว่ามีการขายที่ดินรวมแล้วกว่า 300 ไร่ ทำให้ชาวนาที่มีที่นาต่ำกว่า 10 ไร่ พากันขายที่ดิน (หน้า 146-148) ปี พ.ศ.2535 มีผู้ประกอบอาชีพเกษตรกรเป็นหลัก 406 ครัวเรือน รับจ้าง 151 ครัวเรือน รับราชการ 12 ครัวเรือน ในปี พ.ศ. 2539 มีผู้ประกอบอาชีพเกษตรกรรม 385 ครัวเรือน อาชีพรับจ้าง 79 ครัวเรือน รับราชการ 50 ครัวเรือน ในปี พ.ศ.2535 นี้ มีบริษัทเอกชนเข้ามาส่งเสริมให้ชาวบ้านปลูกพริกชี้ฟ้า ทำให้ชาวบ้านที่ปลูกมีฐานะดีขึ้น ซึ่งมีราคาดีในตลาด ช่วงหลังปี พ.ศ. 2538 ชุมชนได้รับน้ำมากขึ้นจากเขื่อนแม่กวงทั้งในฤดูทำนาปีและฤดูแล้ง ชาวบ้านหลายคนจึงเริ่มหันมาปลูกข้าวนาปรังซึ่งส่วนใหญ่เป็นข้าวจ้าวแทนการปลูกพืชไร่ ในช่วงหลังปี พ.ศ.2538 ข้าวมีราคาสูงขึ้นมากคุ้มกว่าการปลูกพืชไร่ แต่ชาวบ้านที่อยู่บน ที่ดอนยังคงปลูกพริก จนถึงปี พ.ศ.2540 ราคาถั่วเหลืองมีราคาสูงขึ้น ชาวบ้านบางคนจึงหันมาปลูกถั่วเหลืองอีกครั้งหนึ่ง การปลูกพืชไร่ของชาวบ้านเป็นการปลูกตามความต้องการของตลาด ราคาขึ้นลงตามตลาด จึงไม่มีความมั่นคง หลักประกันความ อยู่รอดของชาวนาจึงอยู่ที่การปลูกข้าวเพื่อยังชีพ แต่ก็มีแนวโน้มว่าจะเปลี่ยนไปเป็นการผลิตเชิงพาณิชย์มากขึ้นเรื่อย ๆ ครัวเรือนชาวบ้านที่มีนาไม่ถึง 10 ไร่มีประมาณร้อยละ 26 อาจต้องขายนาในภาวะที่ต้นทุนการผลิตสูงขึ้นอย่างมาก ส่วนชาวบ้านกลุ่มที่ มีนาระดับกลางคือ 10 – 20 ไร่ ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีจำนวนมากที่สุดคือประมาณร้อยละ 69 ยังคงพยายามปรับตัวทำการเกษตรต่อไป เพราะมองว่าการปลูกข้าวให้ความมั่นคงแก่ชีวิตอย่างยั่งยืน (หน้า 151-153)

Social Organization

ผีปู่ย่า เป็นสายผีบรรพบุรุษที่สืบผ่านทางฝ่ายหญิง ระบบความเชื่อเรื่องผีปู่ย่าของไทลื้อบ้านลวงเหนือจะควบคู่ไปกับการดูแลความประพฤติของสมาชิกให้อยู่ในกฏเกณฑ์ของสังคม เป็นสถาบันทางสังคมของฝ่ายหญิงที่สำคัญที่สุดของชุมชน (หน้า 42) ปัจจุบัน ชาวบ้านก็ยังให้ความสำคัญ ยังมีผู้เข้าร่วมงานพิธีของแต่ละกลุ่มสายผีทุก ๆ ปี ปัจจุบันมีสายผีอยู่ประมาณ 20 สายผี แต่ละสายผีมีสมาชิกประมาณ 20 ครัวเรือน (หน้า 160) ในชุมชนไทลื้อบ้านลวงเหนือ ครอบครัวหรือครัวเรือน มีบทบาทในการเป็นพื้นฐานของความสัมพันธ์ภายในชุมชนจากการที่คนในชุมชนมักมีความสัมพันธ์ทางเครือญาติ ความสัมพันธ์ดังกล่าวประกอบกับความจำเป็นในการใช้แรงงานในกิจกรรมที่ต้องการแรงงานจำนวนมาก ก่อให้เกิดการร่วมมือทางด้านการผลิตและการช่วยเหนือเกื้อกูลกันภายในชุมชน ดังจะเห็นได้จากประเพณีการเอามื้อเอาวันหรือที่ภาคกลางเรียกการลงแขก ที่สมาชิกของกลุ่มร่วมมือดังกล่าวส่วนใหญ่แล้วล้วนเป็นญาติพี่น้องกัน ในสังคมไทลื้อบ้านลวงเหนือ หลังการแต่งงานฝ่ายชายนิยมไปอาศัยอยู่บ้านของฝ่ายหญิง และเป็นแรงงานให้แก่ครอบครัวฝ่ายหญิงในการประกอบกิจกรรมทางการเกษตร ในขณะที่ฝ่ายหญิงของชุมชนหากมีการแต่งงานกันกับหนุ่มต่างถิ่นก็นิยมให้ฝ่ายชายมาอยู่อาศัยและใช้ที่นาของฝ่ายหญิง แต่เดิมที่ดินนั้นถือเป็นทรัพย์สินที่เป็นกรรมสิทธิ์ส่วนรวมของครัวเรือนที่ใช้ทำการผลิตร่วมกัน และแบ่งปันผลผลิตหลังเสร็จสิ้นฤดูการผลิต เมื่อสมาชิกเพิ่มขึ้นจนที่ดินนั้นไม่เพียงพอต่อการทำกิน บุตรสาว บุตรชายที่สมรสแล้วก็มักจะแยกตัวออกไปบุกเบิกที่ทำกินตั้งครอบครัวใหม่ ยกเว้นครอบครัวของลูกสาวคนเล็กที่อาศัยอยู่ครัวเรือนเดิม เพื่อเลี้ยงดูพ่อแม่ และอาจเป็นวัฒนธรรมของชุมชนที่พ่อแม่มักรักและห่วงใยในลูกสาวคนเล็กมากกว่าลูกคนอื่น ๆ ความผูกพันทางเครือญาติถูกเชื่อมโยงด้วยระบบความเชื่อเรื่องผีที่กล่าวมา หากพิจารณาให้ดีจะพบว่ามีความสำคัญมากต่อการดำรงอยู่ของชาวบ้านในยุคนั้นเนื่องจากในสังคมชาวนา แรงงานถือเป็นปัจจัยหลักที่สำคัญมากต่อการผลิตและการดำรงอยู่ของครัวเรือนต่าง ๆ อย่างมาก ในการทำนาแรงงานจากครัวเรือนเดียวเป็นสิ่งที่ไม่เพียงพอ ดังนั้นชาวบ้านจึงจำเป็นต้องระดมแรงงานจากครัวเรือนอื่นผ่านทางเครือข่ายความสัมพันธ์ทางเครือญาติซึ่งก็คือการเอามื้อเอาวัน "การเอามื้อเอาวัน" เป็นสิ่งที่จำเป็นต่อการผลิตของชาวบ้านในชุมชนบ้านลวงเหนือเป็นอย่างมาก เนื่องจากการทำนาในบางช่วง เช่น การปักดำ การเก็บเกี่ยวผลผลิต หรือช่วงการไถนา เป็นช่วงที่ต้องมีการใช้แรงงานมาก และชาวบ้านเพียงหนึ่งครัวเรือนย่อมไม่สามารถกระทำได้โดยเฉพาะในรายที่มีที่ดินมาก ชาวบ้านจึงจำเป็นต้องอาศัยแรงงานจากภายนอกครัวเรือนโดยมีพื้นฐานของเครือข่ายความสัมพันธ์ทางเครือญาติ และเพื่อนบ้านที่อาศัยความสนิทสนมเป็นหลัก โดยการเข้าช่วยเหลือซึ่งกันและกัน (หน้า 38-39, 42) องค์กรตามประเพณี : มีมาตั้งแต่อดีตสืบทอดมายาวนานจนเป็นวัฒนธรรมของชุมชน มีหน้าที่ต่างกันออกไป เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้แก่ชุมชน องค์กรตามประเพณีของชุมชนลวงเหนือมี ดังนี้ 1. ผีเสื้อบ้าน : เป็นระบบความเชื่อที่สำคัญต่อการดำรงอยู่ของชุมชนเป็นอย่างมาก ช่วยป้องกันไม่ให้สมาชิกของชุมชนทำสิ่งที่ไม่ดี ไม่ให้ทำผิดจารีตของชุมชน เพื่อให้อยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุข และมีการจัดพิธีกรรมเลี้ยงผีเสื้อบ้านในวันปีใหม่เมืองประจำทุกปี ปัจจุบัน (2540) พิธีกรรมเลี้ยงผีเสื้อบ้านยังคงศักดิ์สิทธิ์ มีผู้เข้าร่วมเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ตามจำนวนครอบครัว (หน้า 153-154) 2. หัวหมวดบ้านและหัวหมวดวัด เป็นการจัดการปกครองภายในชุมชนเพื่อจัดการแรงงานภายในชุมชนเป็นหลัก ในปี พ.ศ. 25450 ชุมชนบ้านลวงเหนือมีหัวหมวดต่าง ๆ อยู่ 12 หัวหมวด แต่ละหมวดจะมีสมาชิกประมาณ 15-20 หลังคาเรือน โดยแต่ ละหัวหมวดจะมีการเลือกตั้งหัวหน้าของตนขึ้นเป็นผู้นำ หัวหมวดบ้านและหัวหมวดวัดต่างก็มีสมาชิกทับซ้อนกันอยู่ แต่มีหน้าที่ ต่างกัน ดังนี้ 2.1 หัวหมวดบ้าน : มีหน้าที่ดูแลความเรียบร้อยของชุมชน จัดพิธีกรรมระดับชุมชนที่ไม่ใช่พิธีกรรมทางพุทธ เช่น งานเลี้ยงผีเสื้อบ้าน เป็นต้น การระดมแรงงานระดมผ่านหัวหน้าของหัวหมวดต่าง ๆ โดยมี “แก่บ้าน” (ผู้ใหญ่บ้าน) และ “แคว่นบ้าน” (กำนัน) เป็นผู้นำประสานหมวดต่าง ๆ (หน้า 46-47) ด้วยการเรียกประชุม และแบ่งงานให้หัวหมวดต่าง ๆ นำไปปฏิบัติ โดยงานที่ทำแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ งานส่วนรวม เช่น งานพิธีกรรมของชุมชน งานดูแลความสะอาดวัด ผลัดกันทำอาหารใส่บาตร เป็นต้น และอีกประเภทคืองานภายในหัวหมวดของตัวเอง เช่น การทำความสะอาดถนนและสถานที่ เป็นต้น (หน้า 154) 2.2 หัวหมวดวัด : มีหน้าที่เกี่ยวกับกิจกรรมในพุทธศาสนา เช่น การซ่อมแซมวัด การจัดพิธีกรรมในศาสนาพุทธ เป็นต้น หัวหน้าหมวดวัดมีเจ้าอาวาสเป็นหัวงานใหญ่ รองลงมาคือ “แก่วัด” ซึ่งจะคอยประสานงานกับหัวหมวดต่าง ๆ และต้องผ่าน “ล่ามวัด” ซึ่งมี 2 คนประจำบ้านหมู่ 4 หมู่ 5 และหมู่ 10 มีวาระ 4 ปี นอกจากนี้ หากมีการจัด งานปอยหลวง ซึ่งเป็นงานบุญใหญ่ ของวัดอื่น ๆ ที่ขอความช่วยเหลือมายังวัดศรีมุงเมืองของชุมชนบ้านลวงเหนือ นอกจากต้องส่งพระไปช่วยทำพิธีกรรม แล้ว หัวหมวดต่าง ๆ จะมีการเรี่ยไรเงินบริจาคสิ่งของหรือทรัพย์สิน และส่งคนไปช่วยตามความสมัครใจ (หน้า 46-47) 3. วัดศรีมุงเมือง : เป็นสถานที่จัดกิจกรรมต่าง ๆ ของชุมชน ทั้งกิจกรรมทางศาสนาและการจัดงานรื่นเริง และเดิมเป็นสถานที่สำหรับการศึกษาของเยาวชนของชุมชนด้วย ในช่วงปี พ.ศ.2530 ชาวบ้านชุมชนบ้านลวงเหนือยังคงให้ความสำคัญและศรัทธาในพุทธศาสนาและวัดของชุมชนอย่างมาก หลังปี พ.ศ.2539 จากเดิมซึ่งชาวบ้านนิยมบริจาคข้าวและผลผลิตเข้าวัด ก็เปลี่ยนมาบริจาคเป็นเงินแทน ทางวัดจึงรื้อฉางข้าวทิ้ง ซึ่งแสดงถึงการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยและพิธีกรรมที่ปรับเปลี่ยนไป ปัจจุบันในวันสำคัญทางศาสนายังมีชาวบ้านที่มีศรัทธาเข้าร่วมมากมาย แต่บทบาทการให้ความรู้แก่เยาชนได้ลดน้อยลงแล้ว เนื่องจากเด็ก ๆ ต้องเข้าโรงเรียนไม่มีเวลาบวชเรียนเหมือนแต่ก่อน และคนรุ่นใหม่ก็เชื่อมั่นองค์ความรู้ในระบบโรงเรียนมากกว่า (หน้า 155-156) 4. องค์กรเหมืองฝาย : เป็นองค์กรระดมแรงงานตามประเพณีองค์กรหนึ่งของชุมชน เมื่อมีการเปลี่ยนวิถีการผลิต และการทำการเกษตรลดน้อยลง ทำให้แรงงานในการเกษตรตามประเพณีลดลง และส่งกระทบต่อองค์กรเหมืองฝายด้วย ทำให้องค์กรเหมืองฝายอ่อนแอลง เนื่องจากมีจำนวนสมาชิกลดลง ทำให้กิจกรรม “ฮ้องเหมือง” ทำลำบากขึ้น การขุดลอกลำเหมือง ชาวบ้านต้องทำงานหนักและใช้เวลามากขึ้น เพราะมีแรงงานคนน้อยลง (หน้า 147) องค์กรใหม่ของชุมชน : จัดต้งขึ้นเพื่อตอบสนองต่อความต้องการปัญหาใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้น ในขณะที่องค์กรเดิมของชุมชนเกิดความอ่อนแอลงไม่สามารถตอบสนองได้ เช่น กลุ่มแม่บ้าน และกลุ่มฌาปนกิจศพ เป็นต้น 1. กลุ่มแม่บ้าน : จัดตั้งขึ้นตามนโยบายของกรมพัฒนาชุมชนในปี พ.ศ.2528 ซึ่งทับซ้อนกับองค์กรฝ่ายหญิงในรูปแบบดั้งเดิม ซึ่งเคยมีบทบาทสนับสนุนกิจกรรมต่าง ๆ ของชุมชน กลุ่มแม่บ้านมีจุดมุ่งหมายในการจัดตั้ง 4 ประการ คือ ช่วยเหลือกิจกรรมต่าง ๆ ของชุมชน จัดการเรื่องการออมทรัพย์และจัดตั้งกองทุนเงินกู้ในหมู่สมาชิก ส่งเสริมการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร เพื่อหารายได้เสริมในครัวเรือน และเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างกลุ่มสตรีชุมชนไทลื้อบ้านลวงเหนือหมู่ 4 หมู่ 5 (หน้า 160-161) 2. กลุ่มฌาปนกิจศพ : ตั้งขึ้นในปี พ.ศ.2504 เพื่อช่วยเหลือสมาชิกที่ขาดแคลนทรัพย์ในการจัดงานศพญาติพี่น้อง เปรียบเหมือนการประกันชีวิตรูปแบบหนึ่ง กลุ่มฌาปนกิจศพมีการปรับโครงสร้างใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับค่าครองชีพ และค่านิยมที่เปลี่ยนไป ซึ่งรวมถึงเงื่อนไขการเป็นสมาชิก และจำนวนเงินที่จ่ายให้แก่ญาติผู้เสียชีวิตเพื่อจัดงานศพ ในปี พ.ศ. 2538 เปลี่ยนชื่อเป็น สมาคมฌาปนกิจสงเคราะห์ญาติมิตรบ้านลวงเหนือ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2535 ถึงปัจจุบัน สมาคมมีสมาชิกกว่า 900 ครัวเรือน เป็นครัวเรือนภายในชุมชนประมาณ 500 ครัวเรือน คนในชุมชนที่ย้ายไปอยู่ภายนอกอีกประมาณ 100 ครัวเรือน และเป็นครัวเรือนชุมชนอื่น ๆ ประมาณ 300 ครัวเรือน สมาชิกจ่ายเงินช่วยเหลือจากอัตรา 10 บาทข้าว 1 ลิตร เป็นอัตรา 25 บาทต่อครัวเรือน โดยสมาคมจะจ่ายให้ผู้เสียชีวิต 20,000 บาทต่อครัวเรือน มีผู้นำสูงสุดขององค์กร คือ กำนันตำบลลวงเหนือซึ่งเป็นชาวบ้านหมู่ 5 หรือเป็นคนภายในชุมชน รองประธานฯ คือผู้ใหญ่บ้านหมู่ 4 และมีกรรมการอีก 5 คน (หน้า 162-163)

Political Organization

แต่เดิมชุมชนบ้านลวงเหนือเป็นชุมชนที่มีความเป็นอิสระในการปกครองตนเองสูง ผู้นำของชุมชนคือ "แก่บ้าน" ซึ่งทำหน้าที่คล้ายผู้ใหญ่บ้าน และ "แคว่น" ทำหน้าที่คล้ายกำนัน แก่บ้าน เป็นผู้ที่ชาวบ้านเลือกกันเอง ในขณะที่ตำแหน่งแคว่นนั้นช่วงต้น พุทธศตวรรษที่ 24 เจ้าเชียงใหม่ส่งเจ้าระดับล่างมาปกครองคือเจ้าพุทธวงศ์ ในสมัยรัชกาลที่ 5 มีการขยายอำนาจรัฐสู่ท้องถิ่นด้วยการจัดตั้งเขตการปกครองออกเป็นจังหวัด อำเภอ ตำบล และหมู่บ้าน ตามลำดับ โดยอำเภอดอยสะเก็ดก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2445 พร้อม ๆ กับที่หมู่บ้านต่าง ๆ ถูกจัดระเบียบการปกครองให้อยู่ใน เขตหมู่บ้าน และหลายหมู่บ้านรวมเป็นตำบล ที่ขึ้นต่ออำเภอ และจังหวัด รัฐส่งตัวแทนเข้าปกครองในระดับอำเภอขึ้นไป ในขณะที่ระดับตำบลลงมามีการให้ชาวบ้านเลือกผู้นำของตนเอง เป็นผลให้ชุมชนยังคงไม่มีการเปลี่ยนแปลงภายในชุมชนมากนัก หลังจากก่อตั้งอำเภอดอยสะเก็ด รัฐได้เริ่มเชื่อมโยงอำนาจและเตรียมการดึงทรัพยากรจากชุมชนด้วยการเริ่มตัดถนนเชื่อมโยงระหว่างอำเภอดอยสะเก็ดและจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งถนนเหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งที่ส่งผลให้รัฐและนายทุนเข้ามามีอิทธิพลกับชุมชนมากขึ้น อยู่ใกล้กับชุมชนมากขึ้นผ่านการคมนาคมสะดวก และยังมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจของชุมชน ด้วยการเป็นเส้นทางการค้าเชื่อมโยงตลาดกับชุมชน (หน้า 52-53) ผู้นำยุคแรกที่มีการขยายอำนาจรัฐจากกรุงเทพฯ และการเข้าสู่ระบบการผลิตเชิงพาณิชย์ของชุมชนไทลื้อบ้านลวงเหนือ พ.ศ. 2460 - 2500 สะท้อนผ่านการเป็นผู้นำของผู้ใหญ่บ้านและกำนันชุมชลวงเหนือจำนวน 2 คน คือ กำนันทิพย์ บุญเรืองยา (หมื่นบุญเรืองวรพงษ์) พ.ศ.2458 - 2482 และ พ่อน้อยสาม บัวเย็น ผู้ใหญ่บ้านลวงเหนือ พ.ศ.2482 - 2492 บทบาทของผู้นำชุมชนบ้านลวงเหนือกำนันทิพย์ บุญเรืองยา : เมื่อพิจารณาจากความต้องการของชุมชนขณะนั้นแล้ว มีดังนี้ 1.การเป็นคนไทลื้อบ้านลวงเหนือโดยกำเนิด และมีเครือญาติอยู่มาก 2.เป็นผู้ที่เคยบวชเรียนและเคยเป็นเจ้าอาวาสวัด ซึ่งถือว่าเป็นผู้นำด้านภูมิปัญญามีบุญบารมี และเคยทำหน้าที่ปกครองมาแล้ว 3.การเป็นผู้ที่มีฐานะดีสามารถให้การอุปถัมภ์แก่ชุมชนได้ เนื่องจากช่วงหลังปี พ.ศ.2450 ชาวบ้านได้รับความบีบคั้น เช่น จากเรื่องทรัพยากรที่ดินที่ไม่สมดุลกับประชากรที่เพิ่มขึ้น และการต้องจ่ายภาษีเป็นเงินตรา เป็นต้น 4.สามารถเป็นตัวแทนของชุมชนเพื่อติดต่อกับภายนอก โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่รัฐ อีกทั้งกำนันทิพย์เคยเป็นพ่อค้าวัวต่าง มีเครือข่ายความสัมพันธ์ต่างถิ่นกว้างขวาง 5. ความสามารถในการคุ้มครองชุมชน คุณสมบัติ ข้อนี้จำเป็นมากสำหรับสังคมยุคนั้น (หน้า 61-65) หลังจากกำนันทิพย์ได้รับตำแหน่งผู้นำชุมชนลวงเหนือ บทบาทหน้าที่การปกครองชุมชนที่มีต่อชุมชนและเครือข่ายความสัมพันธ์ในชุมชนช่วงหลังปี พ.ศ.2460 ซึ่งสะท้อนผ่านบทบาทของกำนันทิพย์ คือ 1.เป็นผู้นำทางวัฒนธรรม คือ เป็นหัวหน้าชาวบ้านจัดงานประเพณีหรือประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ ที่เป็นฐานทางวัฒนธรรมและความเชื่อของชุมชน เช่น พิธีศพ การเลี้ยงผีเสื้อบ้านหรือเสาหลักบ้าน และงานปอยหลวง เป็นต้น โดยเรียกประชุมหัวหมวดบ้าน หรือหัวหมวดวัด เพื่อแบ่งงาน ระดมแรงงาน และขอความช่วยเหลือ 2.เป็นผู้นำองค์กรต่าง ๆ ในชุมชนทำกิจกรรมสาธารณะ เช่น การระดมแรงงานทำความสะอาดถนน สร้างสิ่งปลูกสร้างสาธารณะขุดบ่อน้ำ เป็นต้น สำหรับกลุ่มหมวดวัดจะมีแก่บ้าน (ผู้ใหญ่บ้าน) และเจ้าอาวาสเป็นผู้นำโดยตำแหน่ง แต่เมื่อจะมีกิจกรรมสำคัญใด ๆ ต้องให้กำนันร่วมปรึกษาหารือและปฏิบัติด้วย 3.เป็นผู้แก้ไขข้อพิพาท ตั้งแต่ในระดับครัวเรือน เช่น ข้อพิพาทของสามีภรรยา เป็นต้น ระดับเพื่อนบ้าน และระดับองค์กร ระหว่างองค์กรภายในชุมชน และองค์กรระหว่างชุมชน เช่น การเป็นตัวแทนชาวบ้านที่เดือดร้อนติดต่อขอน้ำจาก “แก่เหมืองแก่ฝาย” เป็นต้น (หน้า 66-67) 4.ทำหน้าที่เป็นตัวแทนชุมชนติดต่อสัมพันธ์กับรัฐตามพระราชบัญญัติลักษณะการปกครองท้องที่ พ.ศ.2457 หน้าที่ของกำนันที่สำคัญคือ ดูแลรักษาความสงบภายในชุมชน จับกุมผู้กระทำความผิดในคดีอาญา จัดเก็บภาษีให้รัฐ และอำนวยความสะดวกแก่เจ้าหน้าที่รัฐที่เข้ามาปฏิบัติหน้าที่ รวมถึงมีหน้าที่นำชาวบ้านที่ถูกเกณฑ์ทหารส่งมอบแก่เจ้าหน้าที่รัฐ (หน้า 68-69) 5.บทบาทของกำนันทิพย์ในการปรับเปลี่ยนชุมชนด้วยการสร้างเครือข่ายความสัมพันธ์กับรัฐส่วนกลาง คือ 5.1) กำนันทิพย์เปลี่ยนหลักสูตรการศึกษาจากแบบดั้งเดิมเป็นแบบของส่วนกลาง ตามหลักสูตรการประถมศึกษาปี 2456 ที่ สอนชั้นประถมปีที่ 1-3 และพระราชบัญญัติประถมศึกษา พ.ศ.2464 กำหนดให้เด็กอายุ 7-9 ปีต้องเข้าเรียนชั้นประถมศึกษา ปีที่ 1-3 โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย และต้องมีเวลาเรียนไม่น้อยกว่า 800 ชั่วโมงต่อปี โดยสนับสนุนให้ตั้งโรงเรียนประชาบาลตำบลลวงเหนือ 1 (บำรุงราษฎรวิทยา) เมื่อปี พ.ศ.2465 และหาเงินอุดหนุนโรงเรียน ชาวบ้านก็ร่วมสบทบด้วย โรงเรียนสอนชั้น ประถม 1 – 3 (หน้า 69-72) 5.2) กำนันทิพย์ผลักดันชาวบ้านให้เปลี่ยนมานับถือพุทธศาสนาธรรมยุตินิกายในปี พ.ศ.2466 โดยร่วมมือกับเจ้าคุณนพีสีพิศาล ซึ่งเดิมเป็นไทลื้อ เป็นพระสงฆ์รูปแรกของภาคเหนือที่เรียนจบเปรียญ 5 ประโยค ในสังกัดธรรมยุตินิกาย และกลับ มาเป็นพระชั้นผู้ใหญ่ที่เชียงใหม่ (หน้า 72-73) การเปลี่ยนไปสังกัดธรรมยุตินิกายมีผลการเรียนเขียนอ่าน และการศึกษาใน หลักสูตรทางศาสนาแบบใหม่ของพระเณร อีกทั้งส่งผลถึงระบบความเชื่อและเลิกพิธีกรรมพื้นบ้านหลายพิธีกรรม (หน้า 75,77-78) (ดูรายละเอียดที่หัวข้อ Belief System) อย่างไรก็ตาม ชุมชนยังคงรักษาพิธีกรรมที่มีความสำคัญต่อโครงสร้างทางอำนาจ และโครงสร้างทางสังคมไว้ เช่น การไหว้ผีเสื้อบ้าน การไหว้ผีฝาย และการไหว้ผีปู่ย่า ทำให้องค์กรต่าง ๆ ภายในชุมชนยังคงเข้มแข็ง (หน้า 80) การเปลี่ยนแปลงการศึกษาและการเป็นพุทธนิกายธรรมยุติ เป็นการเปลี่ยนแปลงตามนโยบาย 2 ประการของรัฐที่ใช้ในปี พ.ศ. 2464 คือนโยบายปฏิรูปการศึกษา และปฏิรูปคณะสงฆ์ ซึ่งกำนันทิพย์ได้ดำเนินการอย่างจริงจัง จึงได้รับบรรดาศักดิ์เป็นหมื่นบุญเรืองวรพงษ์ในปี พ.ศ.2471 ซึ่งเป็นการผูกสัมพันธ์ของรัฐให้ผู้นำท้องถิ่นเป็นส่วนหนึ่งของระบบราชการ (หน้า 78) อย่างไรก็ตาม ผู้นำในช่วงเวลานี้ แม้จะยอมรับการเปลี่ยนแปลงตามนโยบายรัฐ และทำหน้าที่ตามที่รัฐมอบหมาย แต่ผู้นำก็ยังต้องตอบสนองต่อความต้องการของคนในชุมชนพร้อมกับการตอบสนองผลประโยชน์ของรัฐ (หน้า 80) ผู้นำชุมชนบ้านลวงเหนือคนต่อมา คือ พ่อน้อยสาม บัวเย็น : พ่อน้อยสามเป็นผู้ใหญ่บ้านบ้านหมู่ 4 แทนกำนันทิพย์ แต่ไม่ได้เป็นกำนัน ทำหน้าที่อยู่ในช่วงปี พ.ศ.2482-2497 รับเลือกจากชาวบ้านด้วยคุณสมบัติที่ชาวบ้านคาดหวังไม่ต่างจากผู้นำคนก่อนนัก คือ เป็นผู้นำที่สามารถให้การอุปถัมภ์ได้ สามารถปกป้องชุมชนและลูกบ้านได้ มีการศึกษาจากการบวชเรียนมาแล้ว มีเครือข่ายภายนอกกว้างขวางจากการที่เคยเป็นพ่อค้าวัวต่างม้าต่างมาก่อน และสามารถติดต่อประสานงานระหว่างองค์กรต่าง ๆ ทั้งภายในและภายนอกชุมชน นอกจากนี้พ่อน้อยสามเป็นที่นับถือของชาวบ้านว่า มีวิชาอาคม รู้คาถาและสมุนไพร สามารถรักษาผู้เจ็บป่วยได้ (หน้า 86-87) บทบาทของผู้ใหญ่สามคล้ายคลึงกับกำนันทิพย์ โดยเฉพาะการเป็นผู้นำประสานความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มองค์กรทางสังคมในชุมชน แต่มีหน้าที่และติดต่อสัมพันธ์กับอำเภอน้อยกว่า เพราะเป็นแต่ผู้ใหญ่บ้านไม่ได้เป็นกำนันด้วย ในช่วงเวลา พ.ศ.2482 – 2497 ที่ผู้ใหญ่สามเป็นผู้นำชุมชน เป็นช่วงเวลาของกระแสการเปลี่ยนผ่านยุคสมัยภายในรัฐ ชุมชนบ้านลวงเหนือก็อยู่ในกระแสการเปลี่ยนแปลงนั้นด้วย โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและวิถีการผลิต อันเนื่องมาจากนโยบายของรัฐและบทบาทของกลุ่มทุน ซึ่งชาวบ้านก็ได้ปรับตัวเพื่อความอยู่รอด เช่น รัฐเริ่มก่อสร้างฝายคอนกรีต ชื่อว่า ชลประทานแม่กวง เพื่อปล่อยน้ำให้พื้นที่เกษตรกรรม ชาวบ้านปลูกถั่วเหลือง ถั่วลิสงพันธุ์ใหม่ (รัฐส่งเสริม) และใบยาสูบ (เอกชนเข้ามาสนับสนุน) อีกทั้ง ผลิตปุ๋ยหมักใช้เอง (ส่วนปุ๋ยเคมีใช้เฉพาะการปลูกใบยาสูบที่เอกชนส่งเสริม) เป็นต้น ผลจากการปลูกพืชไร่ดังกล่าวเพิ่มขึ้น ทำให้เกิดอาชีพใหม่คือ ชาวบ้านเริ่มทำอาชีพเป็นพ่อค้าคนกลาง ซื้อขายผลผลิตของชาวบ้าน มีการซื้อสินค้าจากในเมืองมาขายในชุมชน ทั้งนี้ ผู้ใหญ่สามมีบทบาทเป็นผู้นำของชุมชนน้อยลง ไม่ได้มีบทบาทสำคัญในการปรับตัวของชาวบ้าน อย่างไรก็ตาม โดยทั่วไปแล้วผู้ใหญ่สามคงตอบสนองต่อนโยบายรัฐเป็นอย่างดี จึงได้รับเลือกให้เป็นผู้ใหญ่บ้านดีเด่นในปี พ.ศ.2494 ส่วนชาวบ้านก็ยังคงปลูกข้าวในฤดูฝน ไม่ได้ก้าวไปสู่การปลูกข้าวเพื่อการพาณิชย์อย่างเต็มตัว ทำให้พึ่งพาตัวเองได้ (หน้า 87,89-95, 97-98) บทบาทสำคัญของผู้นำชุมชนบ้านลวงเหนือในช่วงเวลาที่รัฐและกลุ่มทุนขยายบทบาทเข้าไปในชุมชนดังกล่าว เน้นไปในทางสร้างความสัมพันธ์กับรัฐและตลาดทั้งโดยตรงและโดยอ้อม เช่น ส่งเสริมการศึกษาแผนใหม่ การสร้างโครงสร้างพื้นฐาน เช่น สร้างถนน (ปี พ.ศ.2483 ผู้ใหญ่สามริเริ่มให้มีการสร้างถนนเชื่อมต่อจากทางหลักสายเชียงใหม่ดอยสะเก็ด ซึ่งเป็นการระดมแรงงานชาวบ้านครั้งใหญ่) ผู้ใหญ่บ้านไม่มีบทบาทสำคัญต่อการปรับตัวของลูกบ้าน องค์กรชุมชนอื่นที่สำคัญ เช่น วัด และ องค์กรเหมือนฝาย มีความเข้มแข็งไม่ต้องพึ่งอำนาจของผู้นำ และยังมีบทบาทสำคัญในชุมชน ผู้นำมีบทบาทตอบสนองนโยบายของรัฐเป็นหลัก ขณะเดียวกันก็สามารถใช้ความสัมพันธ์กับเจ้าหน้าที่รัฐในระดับท้องถิ่นแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตัว และสร้างสถานภาพที่สูงขึ้นไป (หลังเกษียณในปี พ.ศ.2497 ผู้ใหญ่สามร่วมกับอดีตผู้ใหญ่บ้านบ้านแม่เกี๋ยงคาร่วมกันทำกิจการรับจ้างชักลากไม้ ซึ่งเป็นการทำไม้ที่ดำเนินการโดยองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ของรัฐ โดยอาศัยผู้นำชุมชนรวบรวมชาวบ้านมาเป็นแรงงานในการตัดไม้และชักลากไม้ ต่อมานำไปสู่กระบวนการตัดไม้เถื่อน ซึ่งทำให้ชาวบ้านระดับผู้นำมีรายได้จากการตัดไม้ ขายไม้ และชักลากไม้ จนมีฐานะมั่งคั่ง ส่วนชาวบ้านระดับล่างจะมีรายได้จากการแปรรูปไม้ ขนไม้ออกจากป่า อย่างไรก็ตาม การทำไม้ของชาวบ้านเป็นการทำตามกำลังทุนและแรงงานที่จำกัด ไม่ใหญ่โตมากนัก – หน้า 98 -101) (หน้า 102) ผู้นำในยุคการผลิตเชิงพาณิชย์ขยายตัว พ.ศ.2500 – 2523 สะท้อนผ่านบทบาทของกำนันทองดี บุตรโครต ผู้นำชุมชนลวงเหนือระหว่างปี พ.ศ.2497-2523 : หลังปี พ.ศ.2490 เศรษฐกิจของชุมชนเริ่มผูกพันกับตลาดของอำเภอและตลาดของเมือง ตลอดจนตลาดโลก เช่น ผลผลิตยาสูบ และ ถั่วเหลือง เป็นต้น ทำให้ชุมชนต้องการผู้นำที่มีความสามารถในการติดต่อกับรัฐและเมืองมากขึ้น จึงนำไปสู่การเลือกผู้นำอย่างพ่อหนานทองดี บุตรโครต (ซื่อสัตย์ต่อหน้าที่ ไม่โกงกิน ใช้ธรรมะในการปกครองชุมชน เน้นให้ลูกบ้านมีสามัคคี สามารถพูดภาษาไทยกลางได้อย่างแตกฉาน พูดจาชัดเจน เขียนภาษาไทยได้ สวยงาม มีความสามารถสูง – หน้า 105) (หน้า 106) ช่วงเวลาที่กำนันทองดีเป็นผู้นำ เป็นช่วงที่ผู้นำจะต้องสัมพันธ์กับรัฐมากขึ้น เนื่องจาก รัฐขยายอำนาจเข้าสู่ชุมชนมากขึ้นเรื่อย ๆ (หน้า 125-126) ตัวอย่างเช่น ในปี พ.ศ.2497 รัฐจำกัดการถือครองที่ดิน พ.ศ.2498 อำเภอเข้าทำสำมะโนครัวประชากร พ.ศ. 2503 รัฐเข้ามาทำบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ.2507 รัฐออกพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ ปี พ.ศ.2507 ซึ่งถือเป็นการอ้างสิทธิในทรัพยากรป่าไม้โดยสมบูรณ์ของรัฐ (หน้า 106-107) พ.ศ.2506 อำเภอและกรมศาสนาส่งเสริมให้ชุมชนจัดตั้งองค์กร กลุ่มหนุ่มสาวขึ้น เพื่อป้องกันภัยคอมมิวนิสต์ (หน้า 114-115) พ.ศ.2521 รัฐเข้าไปปลูกฝังอุดมการณ์ทางการเมืองแก่ชาวบ้าน โดยเข้ามาก่อตั้งกลุ่มลูกเสือชาวบ้าน (หน้า 125) นโยบายต่าง ๆ ดังกล่าว นอกจากเป็นการเริ่มเข้าแทรกแซงชุมชนอย่างเข้มข้นของรัฐแล้ว ยังเป็นประโยชน์ต่อการเก็บภาษีและการเกณฑ์ทหารของรัฐ การออกเอกสารสิทธิ์และการทำสำมะโนครัวประชากรเป็นผลให้ชาวบ้านต้องเสียภาษีเป็นตัวเงินจำนวนมาก (หน้า 107-108) ในส่วนของการเกษตร พ.ศ.2509 รัฐจัดตั้งธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) ซึ่งเป็นแหล่งเงินกู้ที่รัฐจัดตั้งขึ้น (หน้า 111) เกษตรอำเภอได้พัฒนาเกษตรกรรมของชุมชนอย่างต่อเนื่องร่วมกับกำนันทองดี และพัฒนาระบบชลประทานลำเหมืองสายย่อยเพิ่มเติม อย่างไรก็ตาม แม้ฐานทางเศรษฐกิจเพื่อการพาณิชย์ที่มีรายได้ในรูปของเงินตราของชุมชนจะดีขึ้น แต่ไทลื้อบ้านลวงเหนือก็ยังคงรักษาพื้นฐานการผลิตดั้งเดิมของชุมชนไว้ (หน้า 109-110) ปี พ.ศ.2517 – 2523 ยังคงปลูกข้าวเพื่อการยังชีพเป็นหลัก และปลูกพืชไร่หลังหน้านาเท่านั้น (หน้า 123) บทบาทของกำนันทองดี บุตรโครต ช่วงปี พ.ศ.2497 – 2523 : 1. มีบทบาทในการพัฒนาชุมชนให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลง เช่น การพัฒนาการศึกษา การพัฒนาสถาบันสงฆ์ เพื่อ ส่งเสริมจริยธรรมและสามัคคีของชุมชน (หน้า 126) อีกทั้งยังต้องปฏิบัติตามข้อเรียกร้องของชาวบ้าน เพื่อสนองตอบต่อการเปลี่ยนแปลง เช่น ชาวบ้านต้องการไฟฟ้า กำนันจึงต้องดำเนินการของบประมาณจากรัฐ เดินกระแสไฟฟ้าเข้าสู่ชุมชน เป็นต้น (หน้า 109) 2. ปฏิบัติหน้าที่ตามบทบาทของผู้นำแบบจารีตดั้งเดิมอย่างเคร่งครัด จากคำกล่าวของชาวบ้านระบุว่า กำนันทองดีให้ความสำคัญกับการเข้าร่วมงานบุญต่าง ๆ ทั้งในระดับชุมชน เช่น งานเลี้ยงผีเสื้อบ้าน งานบุญต่าง ๆ ที่วัด เป็นต้น และงานตามบ้านเรือน เช่น งานศพ งานแต่งงาน งานขึ้นบ้านใหม่ เป็นต้น (หน้า 126) 3. ทำหน้าที่ประสานความสัมพันธ์ระหว่างผู้นำองค์กรต่าง ๆ ในชุมชน เช่น เป็น “เก๊า” หรือผู้นำในการระดมแรงงานชาวบ้านทำกิจกรรมที่เป็นสาธารณประโยชน์ และการระงับข้อพิพาทความขัดแย้งในหมู่ชาวบ้านทั้งในระดับบุคคล ระดับครอบครัว และระดับองค์กร ซึ่งหากตกลงกันไม่ได้กำนันมักต้องเป็นผู้ตัดสิน ความขัดแย้งที่ต้องพึ่งพาการตัดสินจากภายนอกเช่นตำรวจมีน้อยมาก (หน้า 126) 4. กำนันมีบทบาททำหน้าที่เป็นส่วนหนึ่งของกลไกระดับล่างของอำนาจรัฐ ที่ต้องตอบสนองนโยบายของรัฐ เช่น จัดการศึกษาระดับประถมต้นตามนโยบายของรัฐ จัดการเรื่องเงินผันที่ใช้ในการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคสู่ตำบล ส่งเสริมให้ชาวบ้านยึดมั่นในสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ โดยเข้าร่วมเป็นลูกเสือชาวบ้าน เป็นต้น 5. กำนันเป็นผู้นำสำคัญและเป็นตัวแทนชุมชนในการเคลื่อนไหวต่อรองกับอำนาจรัฐ เพื่อ แก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของชาวบ้าน เช่น ในปี พ.ศ.2511 ชุมชนมีปัญหาขาดแคลนน้ำที่จะใช้ในการเกษตร หลังจากร้องเรียนขอน้ำจากเจ้าหน้าที่ชลประทานจังหวัดเชียงใหม่แล้วไม่ได้รับความสนใจ ผู้นำชุมชนและชาวบ้านกว่าพันคนได้เคลื่อนไหวชุมนุมจะไปทำลายฝายกั้นน้ำ ทำให้ต่อมา รัฐบาลยอมรับความเห็นของชาวบ้าน และมีการจัดตั้งสมาคมผู้ใช้น้ำอย่างเป็นทางการขึ้น (ในยุคนี้ผู้นำชุมชนมีฐานทางเศรษฐกิจเดียวกับชาวบ้าน ดังนั้น ปัญหาใหญ่ ๆ ที่ชุมชนได้รับผลกระทบ กำนันย่อมได้รับผลนั้นด้วย) (หน้า 118,127) ผู้นำในยุคการผลิตเชิงพาณิชย์และการประกอบอาชีพนอกภาคเกษตรกรรม พ.ศ.2523 – 2540 สะท้อนผ่านบทบาทของผู้นำชุมชนสองคน คือ กำนันบุญทอง ใบสุขันธ์ ระหว่างปี พ.ศ.2523 – 2528 และกำนันประดิษฐ์ บัวคำ ดำรงตำแหน่งระหว่างปี พ.ศ.2528 – ปัจจุบัน ยุคนี้ ความสัมพันธ์เชิงอำนาจทั้งภายในภายนอกเปลี่ยนแปลงไปตามความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว อำนาจของข้าราชการประจำท้องถิ่นลดลงเรื่อย ๆ ผู้นำชุมชนปรับไปมีความสัมพันธ์กับผู้มีอำนาจทางการเมือง เพื่อให้ได้งบประมาณมาตอบสนองความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไปของชุมชน จนกระทั่งบทบาทในการสร้างความสัมพันธ์กับอำนาจภายนอกของผู้นำชุมชนจะเป็นสิ่งที่สำคัญและจำเป็นต่อชุมชนมากขึ้นเรื่อย ๆ (หน้า 128) และในช่วงเวลายุคนี้ฐานทางเศรษฐกิจของผู้นำชุมชนในรุ่นนี้ไม่ได้ผูกพันอยู่กับฐานทางเศรษฐกิจท้องถิ่นเหมือน แต่ก่อน (หน้า 140) บทบาทของผู้นำชุมชนในช่วงเวลาของ กำนันบุญทอง ใบสุขันธ์ ระหว่าง พ.ศ.2523 – 2528 : ในช่วงปี พ.ศ.2523 เป็นช่วงเวลาหนึ่งที่ถึงจุดเปลี่ยนของการผลิตเชิงพาณิชย์ของชุมชน ตัวอย่างเช่น มีการสร้างเขื่อนแม่กวงเพื่อเพิ่มปริมาณน้ำในภาคการเกษตร และโครงการสร้างเขื่อนก่อให้เกิดชุมชนใหม่ขนาดใหญ่ในบริเวณที่ก่อสร้าง เป็นชุมชนของเจ้าหน้าที่ชลประทานและ คนงานก่อสร้าง และนำมาซึ่งการคมนาคมมีรถประจำทางสายเชียงใหม่ – ลวงเหนือ – เขื่อนแม่กวง ทำให้ชาวบ้านสามารถนำผลผลิตไปขายที่ตลาดในเมืองได้ง่ายขึ้น และเกิดพัฒนาการของการประกอบอาชีพพ่อค้าคนกลาง ส่วนด้านการเกษตร เริ่มมีแรงงานรับจ้างเข้ามาจากภายนอก แต่ยังมีบทบาทน้อย การเข้ามาของการเลี้ยงไก่ในระบบพันธะสัญญา แต่มีเพียง 3 – 4 ราย การปลูกใบยาสูบราคาในตลาดโลกเริ่มตกต่ำ ในขณะที่ยาปราบศัตรูพืชและปุ๋ยราคาแพงขึ้น สำหรับการปลูกถั่วลิสงต้นทุนเมล็ดพันธุ์สูงขึ้น ชาวบ้านเลิกปลูกใบยาสูบและถั่วลิสง หันมาปลูกถั่วเหลือง เพราะต้นทุนต่ำและขายได้ราคาสูง อย่างไรก็ตาม จนถึงปี พ.ศ.2527 ชาวบ้านยังคงเน้นการปลูกข้าวพันธุ์พื้นเมืองเพื่อการบริโภค (หน้า 135–138) ในส่วนของวิถีชีวิต ชาวบ้านสนใจติดตามข่าวสารต่าง ๆ ทางวิทยุและหนังสือพิมพ์ แทบทุกครัวเรือนมีวิทยุใช้ และบางครัวเรือนมีเครื่องรับโทรทัศน์ ทั้งนี้ อิทธิพลจากสื่อเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ชาวบ้านเปลี่ยนลักษณะการผลิตและวิถีชีวิต และส่งผลต่อการเลือกและยอมรับผู้นำที่มีบุคลิกภาพอีกแบบหนึ่ง (หน้า 141) บทบาทของผู้นำในช่วงเวลา พ.ศ.2523 – 2528 ในยุคของกำนันบุญทอง ใบสุขันธ์ : 1. ผู้นำยังคงต้องทำหน้าที่ตามจารีตแบบดั้งเดิม และยังคงให้ความสำคัญกับงานพิธีกรรมในทุกระดับของชุมชน ในขณะเดียวกันก็ต้องทำหน้าที่ที่รัฐมอบหมาย เช่นเดียวกับผู้นำคนก่อน ๆ สิ่งที่เปลี่ยนไป ผู้นำในยุคนี้มีลักษณะเป็นตัวแทนอำนาจรัฐมากขึ้น (หน้า 135,140) กำนันบุญทอง เป็นผู้นำคนแรกของชุมชนที่สามารถเชื่อมโยงความสัมพันธ์กับอำนาจรัฐที่สูงกว่าอำนาจในระดับท้องถิ่น และด้วยความสัมพันธ์ดังกล่าวทำให้สามารถของบประมาณมาพัฒนาชุมชนได้ เช่น การของบประมาณจาก ร.พ.ช. เพื่อมาราดยางถนนสายหลักของชุมชน ซึ่งได้รับความช่วยเหลือจากพันเอกณรงค์ กิตติขจร ซึ่งมีความสัมพันธ์กับกำนันบุญทองตั้งแต่สมัยทำการค้าวัวต่างร่วมกัน (หน้า 130,135,138) 2. กำนันบุญทองใช้อุดมการณ์การปกครองชุมชนจากประสบการณ์เป็นพ่อค้าท้องถิ่น เมื่อครั้งเป็นพ่อค้าวัวต่าง คือ เน้นการรักษาสัจจะและตรงไปตรงมา ซึ่งสอดคล้องกับภาพพจน์ผู้นำแบบจารีตดั้งเดิม 3. จากที่รักษาสัจจะและตรงไปตรงมา กำนันบุญทองยังได้รับอิทธิพลการปกครองแบบเผด็จการมาจากรัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร มาใช้ในการปกครองชุมชน คือ ลักษณะพ่อขุนอุปถัมภ์ของจอมพลสฤษดิ์ ใช้ทั้งพระเดชและพระคุณ ปกครองลูกบ้านแบบพ่อปกครองลูก ในขณะเดียวกันก็ใช้อำนาจเด็ดขาด เช่น ปราบปรามอบายมุขทุกประเภท ห้ามเล่นการพนัน ห้ามต้มเหล้าเถื่อน ปราบปรามยาเสพติดในกลุ่มวัยรุ่น เป็นต้น ซึ่งบางครั้งก็คาบเกี่ยวกับกิจกรรมตามประเพณี เช่น การห้ามเล่นการพนันในงานศพ ทำให้มีคนไปร่วมงานศพน้อยลง เป็นต้น (หน้า 131,134,138-139) ยุคการผลิตเชิงพาณิชย์และการประกอบอาชีพนอกภาคเกษตรกรรมในยุคของกำนันประดิษฐ์ บัวคำ เป็นผู้นำชุมชน ช่วงปี พ.ศ. 2528 – 2540 : คุณสมบัติที่พิเศษออกไปของกำนันประดิษฐ์คือ การพูดภาษาอังกฤษได้ นอกเหนือจากที่เป็นผู้เคยบวชเรียนมานาน สามารถใช้ภาษาไทยกลางได้ดี และมีความสัมพันธ์กว้างขวางกับบุคคลและองค์กรทั้งภายในและภายนอกชุมชน (หน้า 143) ในช่วงทศวรรษที่ 2530 รัฐเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจเมืองอย่างเข้มข้น ดำเนินนโยบายเร่งรัดพัฒนาอุตสาหกรรม การพัฒนาเศรษฐกิจหมู่บ้านก็เพื่อสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจเมือง (หน้า 145) ชุมชนต้องประสบกับการเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรง ชาวบ้านต้องพยายามปรับตัวอย่างมาก เริ่มปลูกข้าวเจ้าเพิ่มขึ้นเพื่อการขาย ส่วนชาวบ้านรุ่นใหม่เลิกทำการเกษตรเริ่มออกไปทำงานในเมือง ภาคการเกษตรและองค์กรชุมชนเกิดความอ่อนแอ เนื่องจากมีแรงงานลดน้อยลง (หน้า 145-147) ในช่วง พ.ศ.2530 – 2534 เกิดภาวะเศรษฐกิจฟองสบู่ มีการเก็งกำไรราคาที่ดิน ทำให้ที่ดินมีราคาสูงขึ้นหลายเท่า ชาวบ้านจึงขายที่ดินเพิ่มขึ้น เพื่อเปลี่ยนอาชีพ และลงทุนด้านการศึกษาของลูกหลาน ส่วนพืชไร่ หลังปี พ.ศ.2529 ชาวบ้านยังนิยมปลูกถั่วเหลืองหลังฤดูทำนา เพราะได้ราคาสูง (หน้า 148-149) ช่วงหลังทศวรรษที่ 2530 มีบริษัทเอกชนเข้ามาส่งเสริมชาวบ้านให้ผลิตเพื่อการส่งออก แต่ชาวบ้านที่ร่วมโครงการประสบความเสียหาย เนื่องจากบ้างก็ถูกกดราคา บ้างก็ถูกนายทุนปิดบริษัทหนี ปี พ.ศ.2535 ชาวบ้านหันมาปลูกพริกชี้ฟ้าตามการส่งเสริมของเอกชน ซึ่งราคาดีกว่าปลูกถั่วเหลือง เพราะมีราคาสูงในตลาด การปลูกพืชไร่จึงไม่แน่นอน เพราะ ราคาขึ้นลงตามความต้องการของตลาด จึงมีเพียงการปลูกข้าวเพื่อยังชีพที่เป็นหลักประกันความอยู่รอดของชาวนา (หน้า 151-152) ในขณะเดียวกัน ผู้นำก็ต้องใช้ความพยายามอย่างมากในการดำเนินบทบาทในท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว เมื่อเข้ารับตำแหน่งกำนันประดิษฐ์ได้ริเริ่มก่อตั้งองค์กรใหม่ ๆ ขึ้นมา เช่น เริ่มก่อตั้งร้านค้าสาธิต ด้วยการระดมทุนจากชาวบ้านขายของชำ ยาปราบศัตรูพืช ปุ๋ยเคมี และน้ำมันเบนซิน – ดีเซลในราคาถูก จากนั้นกำนันประดิษฐ์ได้จัดตั้งกลุ่มฉางข้าวขึ้นภายในชุมชน เพื่อให้ชาวบ้านฝากออมข้าวแทนการฝากเงิน และสามารถกู้ยืมข้าวได้ ซึ่งสอดคล้องกับการปลูกข้าวเชิงพาณิชย์ แต่โครงการนี้ทำได้เพียง 6 ปี เนื่องจากชาวนารายย่อยและขนาดกลางไม่สามารถนำข้าวมาออมได้ เพราะถูกตกเขียวขายข้าวล่วงหน้าไปแล้ว (หน้า 144) มีการตั้งสถานรับเลี้ยงเด็กเพิ่มขึ้นอีก 1 แห่ง เนื่องจากชาวบ้านรุ่นใหม่ไปทำงานในเมืองมากขึ้น มีการตั้งกองทุนเพื่อการศึกษาที่มีเงินกองทุนกว่า 6 แสนบาท สนับสนุนให้เด็กยากจนได้ศึกษาต่อชั้นมัธยมต้น (หน้า 145-146) ปี พ.ศ. 2534 ได้จัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์ ซึ่งดำเนินการโดยกลุ่มแม่บ้าน โดยมีกองทุนเริ่มแรก 3 แสนบาท หากำไรด้วยการออกเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ ปัจจุบันมีเงินกองทุนหมู่ 4 หมู่ 5 รวมกันกว่าล้านบาท เป็นต้น (หน้า 161) บทบาทของผู้นำภายในชุมชน คือ ทำหน้าที่เป็นผู้นำองค์กรต่าง ๆ ภายในชุมชน ติดต่อประสานงานทั้งภายในกลุ่มและระหว่างกลุ่ม ให้ดำเนินงานอย่างสอดคล้องและมีประสิทธิภาพ โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ องค์กรชุมชนประเพณีดั้งเดิม และองค์กรที่เกิดขึ้นใหม่ องค์กรตามประเพณี เช่น หมวดบ้าน : กำนันต้องทำหน้าที่เป็นผู้นำการประสานงานผู้นำหัวหน้าหมวดต่าง ๆ และมีการจัดกิจกรรมในชุมชน โดยเรียกประชุม แบ่งงานให้นำไปปฏิบัติ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการระดมแรงงาน (หน้า 154) วัด : วัดในชุมชนบ้านลวงเหนือ คือวัดศรีมุงเมือง กำนันมีบทบาทอย่างมากในการบูรณวัด และประสานงานกับแก่วัด และเจ้าอาวาส เวลาจะมีกิจกรรม โดยเฉพาะกิจที่เกี่ยวกับศาสนา แต่ในยุคของกำนันประดิษฐ์ มีความขัดแย้งระหว่างผู้นำกับเจ้าอาวาสวัดศรีมุงเมือง การประสานงานจึงทำผ่านแก่วัด ต่อมามีการจัดตั้งคณะกรรมการประจำวัดตามนโยบายของรัฐปี พ.ศ.2537 คณะกรรมการส่วนใหญ่เป็นผู้อาวุโสที่มีอำนาจและบทบาทในชุมชน แต่ปัจจุบัน คณะกรรมการฯ ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผู้มีอำนาจบริหารที่เป็นทางการของชุมชน เช่น กำนันเป็นประธานกรรมการ ผู้ใหญ่บ้านเป็นรองฯ ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน สารวัตกำนัน สมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบล แพทย์ประจำตำบล เป็นต้น (หน้า 155-156) องค์กรเหมืองฝาย : ปัจจุบันกำนันเป็นประธานโซน 4 ในระบบการจ่ายน้ำของเขื่อนแม่กวง กินพื้นที่จ่ายน้ำ 11 ฝายย่อย ครอบคลุมพื้นที่ 9 ตำบล มีอำนาจปันน้ำให้แก่ชุมชน แต่ระบบเหมืองฝายในระดับชุมชนมีความอ่อนแอ เนื่องจากขาดแรงงานในการ “ฮ้องเหมือง” ในปี พ.ศ.2538 ชาวบ้านรวมตัวกันเรียกร้องสำนักงานชลประทานแม่กวง เรื่องการสร้างอ่างเก็บน้ำทับเส้นทางน้ำ ทำให้ชาวบ้านมีน้ำใช้น้อยลง จนสุดท้ายทางชลประทานฯ ยอมเปลี่ยนคืนสภาพเดิม ที่น่าสนใจคือ กำนันประดิษฐ์ไม่ได้เข้าร่วมในการเรียกร้องครั้งนี้ แต่กลับมีความพยามนำทรัพยากรน้ำของชุมชนออกขายให้แก่รัฐในโครงการน้ำประปา (หน้า 159) ในยุคของกำนันประดิษฐ์การประสานสัมพันธ์กับสมาชิกและหน่วยทางสังคมต่าง ๆ ต้องอาศัยผู้นำคนก่อน ๆ ที่ยังมีชีวิตอยู่ เนื่องจากเกิดปัญหาความอ่อนแอของระบบความสัมพันธ์ภายในชุมชน (หน้า 172) องค์กรใหม่ของชุมชน เมื่อชาวบ้านเกิดความต้องการใหม่ ๆ แต่องค์กรดั้งเดิมไม่สามารถตอบสนองได้ จึงเกิดองค์กรใหม่ ๆ เพื่อรองรับกับความต้องการและปัญหาใหม่ ๆ โดยที่กำนันมักต้องทำหน้าที่เป็น “เก๊า” (หัวหน้า) หรือ ที่ปรึกษา เช่น กลุ่มแม่บ้าน : เป็นการจัดตั้งขึ้นตามนโยบายของกรมพัฒนาชุมชน ซึ่งทับซ้อนกับองค์กรฝ่ายหญิงในรูปแบบเก่า เป็นการดึงองค์กรฝ่ายหญิงให้เป็นส่วนหนึ่งของรัฐ โดยให้สอดคล้องกับวัฒนธรรมดั้งเดิม กลุ่มแม่บ้านมีกำนันเป็นที่ปรึกษา มีน้องสาวกำนันเป็นประธาน กลุ่มฌาปนกิจศพ : จัดตั้งขึ้นเพื่อช่วยเหลือสมาชิกที่ขาดแคลนเงินในการจัดการศพญาติพี่น้อง เปรียบได้กับการประกันชีวิตในรูปแบบหนึ่งของชุมชน เมื่อกำนันเข้ามาเป็นประธานโดยตำแหน่ง ได้เปลี่ยนแปลงรูปแบบขององค์กรใหม่ เนื่องจากช่วงหลังปี พ.ศ. 2530 การจัดพิธีศพต้องมีค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นตามค่านิยมที่เปลี่ยนไป ในปี พ.ศ.2534 จึงมีการเปิดรับสมาชิกจากภายนอกชุมชน ทำให้กลุ่มฌาปนกิจสามารถจ่ายเงินให้แก่ผู้เสียชีวิตได้ เพียงพอต่อการจัดการศพ และกลุ่มฌาปนกิจได้เปลี่ยนชื่อเป็นสมาคมฌาปนกิจสงเคราะห์ญาติมิตรบ้านลวงเหนือในปี พ.ศ.2538 (หน้า 160-163) บทบาทหน้าที่ภายนอกชุมชนของผู้นำ กำนันประดิษฐ์ได้สร้างเครือข่ายความสัมพันธ์ที่ซับซ้อนขึ้นกว่าเดิม คือ กับองค์การบริหารส่วนตำบลและนักการเมืองระดับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือ นักการเมือง : ช่วงต้นทศวรรษที่ 2530 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้รับงบพัฒนาท้องถิ่นคนละ 20 ล้าน ให้นักการเมืองนำไปสร้างความสัมพันธ์ในระบบอุปถัมภ์กับประชาชนในพื้นที่เลือกตั้ง ซึ่งมีส่วนส่งเสริมให้นักการเมืองมีบทบาทต่อการพัฒนาชุมชนตามแนวทางของรัฐสูงยิ่งขึ้น (หน้า 164) อย่างไรก็ตาม ชาวบ้านก็ยังคงให้ความสำคัญต่อผู้นำอาวุโสของชุมชนมากกว่านักการเมือง (หน้า 165) องค์การบริหารส่วนตำบล : ในปี พ.ศ.2538 มีการจัดตั้งองค์การบริหารส่วนตำบลลวงเหนือ ตามพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ.2537 มีวาระ 4 ปี คณะกรรมการบริหารองค์การบริหารส่วนตำบล ทำหน้าที่พัฒนาตำบล และจัดการเรื่องการเงินทั้งหมด ซึ่งผู้บริหารสูงสุดคือ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และสมาชิกสภาที่ได้รับการคัดเลือกอีก 4 คน องค์การบริหารส่วนตำบลลวงเหนือได้รับงบประมาณจากรัฐปีละประมาณ 1 ล้านบาท แต่ตำบลลวงเหนือมีรายได้จากภาษีต่าง ๆ เช่น ภาษีป้าย สรรพสามิต และนิติกรรมที่ดิน เป็นต้น ได้ปีละกว่า 3 ล้านบาท นอกจากนี้ยังมีงบอุดหนุนจากต่างประเทศ เช่น เงิน OACF (พึ่งเริ่มได้รับหลังปี พ.ศ.2541 งบพัฒนาท้องถิ่นของ ส.ส. และงบประมาณที่ขอจากหน่วยงานรัฐในโครงการที่หน่วยงานเหล่านี้รับผิดชอบ เช่น ร.พ.ช. กรมอนามัย การประปาส่วนภูมิ เป็นต้น (หน้า 167) ส่วนสภาองค์การบริหารส่วนตำบลทำหน้าที่นิติบัญญัติมีสมาชิก 2 ประเภท คือ 1. เป็นสมาชิกโดยตำแหน่ง คือ กำนัน 1 คน ผู้ใหญ่บ้าน 9 คน จาก 10 หมู่บ้านในตำบลลวงเหนือ (โดยกำนันถือเป็นตัวแทนจากหมู่ 5 ) และแพทย์ประจำตำบล 1 คน 2.เป็นสมาชิกโดยการเลือกตั้งจากราษฎรหมู่ละ 2 คน รวมมีสมาชิก 21 คน เลือกประธานสภา รองประสภา และเลขานุการ 3 คน (หน้า 166-167) เมื่อมีองค์การบริหารส่วนตำบล ทำให้ชาวบ้านในตำบลมีความคาดหวัง และกำนันก็ต้องคำนึงถึงความต้องการของชุมชนอื่น ๆ นอกเหนือจากชุมชนไทลื้อหมู่ 4 และหมู่ 5 อีกทั้งอำนาจการถอดถอนกำนันอยู่ที่องค์กรบริหารส่วนตำบลมากกว่าจะอยู่ที่ชาวบ้านในชุมชนบ้านลวงเหนือ คือ ต้องใช้เสียงกว่าครึ่งตำบลจึงจะถอดถอนผู้นำได้ ผู้นำจึงมีลักษณะเป็นตัวแทนบ้านลวงเหนือน้อยลง และต้องทำหน้าที่ของการเป็นตัวแทนของโครงสร้างอำนาจที่สูงกว่าระดับชุมชนมากขึ้น (หน้า 171-172) และการเข้ามาของรัฐโดยผ่านองค์การบริหารส่วนตำบล ก่อให้เกิดความขัดแย้งลักษณะใหม่ระหว่างชุมชน คือ ความขัดแย้งที่เกิดจากการกระจายงบประมาณที่ไม่ทั่วถึงและเหลื่อมล้ำ และความขัดแย้งใหม่ ๆ ขึ้นในชุมชน (หน้า 173)

Belief System

ภายใต้ความสัมพันธ์ทางเครือญาติ ไทลื้อบ้านลวงเหนือยังมีระบบความเชื่อเรื่องผีปู่ย่าที่เป็นระบบความเชื่อดั้งเดิมตั้งแต่อดีตสืบทอดกันมาซึ่งความเชื่อในเรื่องของผีบรรพบุรุษของแต่ละ "สายผี" ที่จะสืบผ่านทางสายผู้หญิงหรือเป็นผีบรรพบุรุษของฝ่ายหญิง ด้วยความเชื่อที่ว่าผีปู่ย่าจะคอยติดตามและคุ้มครองผู้หญิงทุกคนในกลุ่มเครือญาติ ความเชื่อนี้ส่งผลให้เมื่อผู้หญิงคนใดที่จะออกเดินทาง หรือผู้หญิงที่จะแต่งงานจะต้องไปบอกกล่าว ถ้าทำ "ผิดผี" ก็ต้องทำพิธีเซ่นไหว้ขอโทษผีปู่ย่า การเลี้ยงผีปู่ย่าในแต่ละสายผีจะมีการจัดพิธีไม่ตรงกัน แล้วแต่ "เก๊าผี" ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง (บางกรณีอาจเป็นผู้ชาย เช่นเก๊าผีคนเดิมมีแต่ลูกชาย) จะเป็นผู้กำหนดและแจ้งให้ครัวเรือนที่อยู่ในสายผีเดียวกันทราบ ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นในเดือน 9 ตามการนับวัน เดือน ปี ของไทลื้อ ภายในพิธีทุกครัวเรือนที่อยู่ในสายผีดังกล่าว จะส่งตัวแทนมาร่วมพิธี ซึ่งทุกคนจะเอาเงินไป "ฮอม" หรือรวมกันที่บ้านเก๊าผี ที่มี "หอผี" หรือศาลผีปู่ย่าตั้งอยู่ เมื่อรวมตัวกันแล้วก็จะมีการประกอบพิธีเลี้ยงผีปู่ย่าด้วยเหล้า ไก่ และหมู พร้อมทั้งบอกกล่าวแก่ดวงวิญญาณผีปู่ย่าว่าทุกคนมาพร้อมหน้าพร้อมตาแล้วเพื่อสักการะดวงวิญญาณ พร้อมทั้งให้ผีปู่ย่าช่วยปกป้องรักษาลูกหลานให้อยู่เย็นเป็นสุข ไม่มีโรคภัยไข้เจ็บ (หน้า 40-42) ผีเสื้อบ้าน หรือ "เสื้อบาน" เป็นผีที่ชาวบ้านเคารพ มีอำนาจสูงสุดของชุมชน โดยเชื่อว่า เป็นผีของบรรพบุรุษของชุมชนที่สิงสถิตอยู่ที่เสาหลักบ้าน ซึ่งเป็นความเชื่อลักษณะเดียวกับผีเสื้อเมืองที่สถิตอยู่เสาหลักเมือง ชาวบ้านเชื่อว่า ผีเสื้อบ้านจะคุ้มครองลูกหลานของชุมชนให้อยู่ดีมีสุข และจะตามไปคุ้มครองให้อยู่รอดปลอดภัย และตามไปคุ้มครองเมื่อเดินทางออกนอกหมู่บ้าน แต่หากใครทำไม่ดีก็จะถูกลงโทษ ชาวบ้านจะจัดพิธีเลี้ยงผีเสื้อบ้านในวันที่ 16 เมษายนของทุกปี ซึ่งถือว่าเป็นวันปีใหม่ด้วย คือวัน "ปากปี๋" ทุกครัวเรือนต้องส่งตัวแทนเข้าร่วมพิธีครัวเรือนละ 1 คน ของเซ่นไหว้มีอาหารคาว หวาน ข้าวตอก ดอกไม้ เหล้า ผลไม้ต่าง ๆ ขนม หมู และไก่ (หน้า 49-50) วัดศรีมุงเมือง เป็นศูนย์กลางของชุมชนบ้านลวงเหนือ สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยพระเจ้าสามฝั่งแกน การประกอบพิธีกรรมทางศาสนาของชาวบ้านลวงเหนือช่วงก่อนปี พ.ศ.2460 คล้ายคลึงกับการประกอบพิธีกรรมของไทยวน หรือชาวสิบสองปันนา คือ พิธีสงเคราะห์บูชาข้าวลดเคราะห์ สืบชะตา บูชาเทียน หรือ พิธีตานข้าวใหม่ ที่ชาวบ้านจัดสืบมา นอกจากนี้ ในอดีตวัดยังเป็นที่ให้การศึกษาของชุมชนไทลื้อตามประเพณีเก่าแก่ที่เรียกว่า "ประเพณีสิบห้า" ข้อสอง กล่าวถึงการบวชเณรและบวชพระเมื่อถึงอายุตามเกณฑ์ (หน้า 48-49) ในยุคของกำนันทิพย์ บุญเรืองยา พ.ศ.2466 ได้ผลักดันชาวบ้านให้เปลี่ยนมานับถือพุทธศาสนาธรรมยุตินิกาย โดยร่วมมือกับเจ้าคุณนพีสีพิศาล ซึ่งเดิมเป็นไทลื้อ เป็นพระสงฆ์รูปแรกของภาคเหนือที่เรียนจบเปรียญ 5 ประโยค ในสังกัดธรรมยุตินิกาย และกลับมาเป็นพระชั้นผู้ใหญ่ที่เชียงใหม่ (หน้า 72-73) การเปลี่ยนไปสังกัดธรรมยุตินิกายมีผลให้ พระ เณร ต้องเรียนเขียนอ่านภาษาไทยกลาง นอกเหนือจากตัวเมือง และต้องศึกษาในหลักสูตรทางศาสนาแบบใหม่ที่เน้นการเปลี่ยนชุมชนให้เป็นส่วนหนึ่งของส่วนกลาง (หน้า 75,77) และส่งผลถึงระบบความเชื่อของชุมชนด้วย คือ การเลิกพิธีกรรมพื้นบ้านหลายพิธีกรรม เช่น ยกเลิกพิธีสงเคราะห์บูชาข้าวลดเคราะห์ พิธีสืบชะตา บูชาเทียน เป็นต้น พิธีกรรมทางพุทธดั้งเดิม เช่น พิธีศพ เป็นต้น ก็ต้องจัดแบบธรรมยุติ และเป็นสาเหตุให้วัฒนธรรมบางอย่างของชุมชนสูญหายไป เช่น การสักเหนือเข่า การใช้ภาษาลื้อในพิธีกรรมต่าง ๆ เช่น การขับคร่าวลื้อในงานศพ เป็นต้น (หน้า 77-78) อย่างไรก็ตาม ชุมชนยังคงรักษาพิธีกรรมที่มีความสำคัญต่อโครงสร้างทางอำนาจ และโครงสร้างทางสังคมไว้ เช่น การไหว้ผีเสื้อบ้าน การไหว้ผีฝาย และการไหว้ผีปู่ย่า ทำให้องค์กรต่าง ๆ ภายในชุมชนยังคงเข้มแข็ง (หน้า 80) ช่วงหลังปี พ.ศ.2510 การประกอบพิธีกรรมของวัดศรีมุงเมืองที่บ้านลวงเหนือ เริ่มต้นในเดือนมกราคม หรือเดือน 4 วันขึ้น 15 ค่ำตามการนับวันแบบท้องถิ่น จะมีพิธี "ตานข้าวใหม่" ชาวบ้านจะขนข้าวสารเข้าวัด เพื่อให้พระสงฆ์มีข้าวบริโภคทั้งปี และเป็นศิริมงคลต่อการปลูกข้าวในฤดูกาลต่อไป พระสงฆ์ในชุมชนทางเหนือไม่นิยมออกบิณฑบาต ชาวบ้านจะเป็นผู้นำอาหารมาถวายที่วัด ผู้หญิงของแต่ละครัวเรือนจะมีหน้าที่ผลัดเปลี่ยนกันนำอาหารมาถวายวัดในแต่ละวัน ประเพณีอื่น ๆ คือวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 5 มีการประกอบพิธีมาฆบูชา เดือน 7 มีการขนทรายเข้าวัดเพื่อก่อเจดีย์ทราย วันขึ้นปีใหม่เมือง เดือน 8 มีการทำบุญวันวิสาขบูชา เดือน 9 มีพิธีสรงน้ำพระธาตุ เดือน 10 ทำบุญวันอาสาฬหบูชา และแรม 1 ค่ำเดือน 10 ประกอบพิธีวันเข้าพรรษา และก่อนที่จะทำบุญวันออกพรรษา 1 เดือน จะมีการจัดพิธี "ตานก๋วยสลาก" หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า "เดือนเกี๋ยง" (หน้า 119)

Education and Socialization

ด้านการศึกษา : โรงเรียนประชาบาลบ้านลวงเหนือ 1 (บำรุงราษฎรวิทยา) จัดตั้งขึ้นในปี พ.ศ.2465 ด้วยการริเริ่มและสนับสนุนโดยกำนันทิพย์ บุญเรืองยา และร่วมแรงโดยชาวบ้านลวงเหนือ (หน้า 69) ใช้หลักสูตรการประถมศึกษาของปี พ.ศ.2456 สอนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-3 โดยชั้นประถมปีที่ 1-2 นักเรียนจะได้เรียนสัปดาห์ละ 25 ชั่วโมง แบ่งเป็นวิชาจรรยา วิชาการรักษาตัว วิชาวาดเขียน และวิชาลูกเสือ เรียนวิชาละ 1 ชั่วโมง วิชารู้เรื่องเมืองไทยเรียน 3 ชั่วโมง วิชาเลข 6 ชั่วโมง และวิชาภาษาไทย 12 ชั่วโมง ส่วนชั้นประถมปีที่ 3 จะเสริมวิชาหาเลี้ยงชีพ (หัตถกรรม กสิกรรม และพาณิชยกรรม) 2 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ โดยตัดวิชาเลขและวิชารักเมืองไทยออกวิชาละ 1 ชั่วโมง (หน้า 72) นอกจากนี้ ตามพระราชบัญญัติการประถมศึกษา พ.ศ. 2464 ยังกำหนดให้เด็กอายุ 7 - 9 ปี ต้องเข้าเรียนชั้นประถมปีที่ 1 - 3 โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย และต้องมีเวลาเรียนไม่น้อยกว่า 800 ชั่วโมงใน 1 ปี (หน้า 70) ในชุมชนบ้านลวงเหนือมีวัดศรีมุงเมือง ซึ่งมีบทบาทด้านการศึกษาเช่นกัน เนื่องจากพระสงฆ์มีหน้าที่ให้ความรู้และการศึกษาแก่ชุมชนด้วย แม้มีการศึกษาสมัยใหม่เกิดขึ้นแล้ว แต่วัดก็ยังทำหน้าที่ด้านการศึกษาอยู่ เนื่องจากการศึกษาสมัยใหม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายสูง พ่อแม่ที่ไม่มีเงินส่งเสีย ยังคงอาศัยวัดเป็นที่ศึกษาของลูกหลาน (หน้า 117) (การเปลี่ยนไปสังกัดธรรมยุตินิกายมีผลให้ พระ เณร ต้องเรียนเขียนอ่านภาษาไทยกลาง นอกเหนือจากตัวเมือง - หน้า 75) จากการที่เด็กเข้าศึกษาภาคบังคับในระบบโรงเรียนมากขึ้น ประกอบกับผู้ปกครองเริ่มมีฐานะดีขึ้นเรื่อย ๆ สามารถส่งลูกเข้าเรียนในระบบโรงเรียนได้ ทำให้เด็กไม่มีเวลาบวชเป็นสามเณร จากเดิมที่นิยมบวชหลังจบชั้นประถมต้น เด็กจึงบวชน้อยลงเรื่อย ๆ จากพระเณร 40 - 50 รูปในช่วงก่อน พ.ศ. 2490 เหลือสิบกว่ารูปในปี พ.ศ.2517 ซึ่งส่งผลกระทบต่อสถานบันสงฆ์ในชุมชนอย่างมาก (หน้า 121) ปี พ.ศ. 2514 โรงเรียนบ้านลวงเหนือได้ขยายชั้นเรียนมีชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 และในปี พ.ศ.2517 มีชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 โดยกำนันทองดี บุตรโครต การพัฒนาการศึกษาของชุมชน ทำให้โรงเรียนบ้านลวงเหนือกลายเป็นโรงเรียนที่ใหญ่ที่สุดของตำบล มีเด็กจากบ้านหมู่อื่นมาเรียนด้วยจำนวนมาก กำนันทองดีมองว่าการขยายการศึกษาเป็นการเตรียมชาวบ้านรุ่นใหม่ให้สามารถก้าวสู่การเปลี่ยนแปลง แต่ในส่วนของรัฐมุ่งขยายการศึกษาเพื่อตอบสนองการพัฒนาอุตสาหกรรม การส่งออก และการท่องเที่ยว (หน้า 120) การศึกษาในชุมชนบ้านลวงเหนือ ยังคงได้รับการส่งเสริมอย่างต่อเนื่อง ในยุคของกำนันประดิษฐ์ บัวคำ (2528 - ปัจจุบัน) ได้จัดตั้งกองทุนเพื่อการศึกษากว่าหกแสนบาท สำหรับมอบเป็นทุนการศึกษาแก่เด็กยากจนในชุมชนให้ได้เรียนต่อระดับมัธยมศึกษา ในชุมชนมีเด็กที่ได้รับการศึกษาระดับประถมศึกษาปีที่ 6 ทั้งชุมชน จบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 กว่าร้อยละ 50 จบระดับมัธยมศึกษาตอนปลายหรือสำเร็จการศึกษาสายอาชีพกว่าร้อยละ 30 และมีร้อยละ 10 เรียนจบระดับปริญญาตรี (หน้า 146)

Health and Medicine

ไม่มีข้อมูล

Art and Crafts (including Clothing Costume)

ช่วงก่อนปี พ.ศ.2460 ผู้หญิงนิยมสวมเสื้อปัด มีสายหน้าเฉียงมาผูกติดกันตรงมุมด้านซ้ายหรือขวา เรียกว่า "เสื้อปั๊ด" สีดำหรือสีคราม ตัวเสื้อรัดรูป เอวลอย ชายเสื้อยกลอยขึ้นสองข้าง ทรงผมนิยมการม้วนผมเป็นวงกลมเรียก "มวยว้อง" ผู้ชาย มีการแต่งกายสองรูปแบบ แบบแรกสวมผ้าต้อยผืนเดียวเพื่อโชว์ลายสักที่นิยมสักกันมากในช่วงก่อนปี พ.ศ.2460 แบบที่สองสวมเตี่ยวสะดอ (คล้ายกางเกงขาก้วย) สีดำหรือสีคราม ส่วนเสื้อนิยมสวมเสื้อเอวลอยสีดำหรือสีครามเช่นกัน และทั้งชายและหญิงจะใช้ "ผ้าสี่แจ่ง" (ผ้าสี่มุม) หรือผ้าเคียนหัวสีขาว เคียนหัวเวลาออกทำนาเพื่อกันแดดแทนหมวกและใช้ซับเหงื่อตามใบหน้า (หน้า 51-52)

Folklore

ไม่มีข้อมูล

Ethnicity (Ethnic Identity, Boundaries and Ethnic Relation)

ไม่มีข้อมูล

Social Cultural and Identity Change

ลักษณะทางวัฒนธรรมของการเป็นลื้อในแต่ละท้องที่ใช่ว่าจะคล้ายคลึงกันทั้งหมด ในกลุ่มของไทลื้อในเขตภาคเหนือตอนบนของไทยทั้งหมด ไทลื้อเขต 3 จังหวัดชายแดนคือ เชียงราย น่าน และพะเยา จะเป็นกลุ่มไทลื้อที่ยังคงรักษาศิลปวัฒนธรรม ภาษา จารีตประเพณีและวรรณกรรมดั้งเดิมไว้ได้เป็นอย่างดี ในขณะที่ไทลื้อเขตจังหวัดอื่น เช่น ลำพูนที่ไม่นิยมเรียกตัวเองว่าลื้อ แต่นิยมเรียกตัวเองว่ายองและนิยมพูดภาไทยยวนมากกว่าพูดภาษาลื้อดั้งเดิม บ้านลวงเหนือมีวัฒนธรรมไทลื้อหลายอย่างขาดหายไป เช่น ประเพณีปอยหลวง ปอยน้อย ไม่มี "การขับคร่าวลื้อ" "ซอลื้อ" หรือ "คำอู้บ่าวอู้สาวลื้อ" แต่จะมีการ "อ่านคร่าวเมือง" "ซอเมืองเชียงใหม่" หรือ "คำเฮียกขวัญเมือง" ที่เห็นสำเนียงล้านนาแตกต่างจากไทลื้ออำเภอเชียงคำที่ยังคงมีการเฮียกขวัญด้วยสำนวนไทลื้อ รวมทั้งการแต่งกายของไทลื้อบ้านลวงเหนือในปัจจุบัน คล้ายกับคนไทยโดยทั่วไป ส่วนภาษาลื้อนั้นก็พูดกันในหมู่ผู้ที่มีอายุเกิน 30 ปี ส่วนเด็กวัยรุ่นเริ่มพูดไม่ได้ ความแตกต่างอันเกิดจากการรับอิทธิพลของถิ่นฐานใหม่ดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงการเกิดกระบวนการเปลี่ยนแปลงที่มีระดับแตกต่างกันในลักษณะหนึ่ง (หน้า 29)

Critic Issues

ไม่มีข้อมูล

Other Issues

ไม่มี

Map/Illustration

ไม่มี

Text Analyst วศิน เชี่ยวจินดากานต์ Date of Report 31 ต.ค. 2555
TAG ลื้อ, เครือข่ายความสัมพันธ์, ผู้นำ, ความเปลี่ยนแปลง, สังคม, เชียงใหม่, Translator -
 
 

 

ฐานข้อมูลอื่นๆของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
  ฐานข้อมูลพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทย
จารึกในประเทศไทย
จดหมายเหตุทางมานุษยวิทยา
แหล่งโบราณคดีที่สำคัญในประเทศไทย
หนังสือเก่าชาวสยาม
ข่าวมานุษยวิทยา
ICH Learning Resources
ฐานข้อมูลเอกสารโบราณภูมิภาคตะวันตกในประเทศไทย
ฐานข้อมูลประเพณีท้องถิ่นในประเทศไทย
ฐานข้อมูลสังคม - วัฒนธรรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  หน้าหลัก
งานวิจัยชาติพันธุ์ในประเทศไทย
บทความชาติพันธุ์
ข่าวชาติพันธุ์
เครือข่ายชาติพันธุ์
เกี่ยวกับเรา
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  ข้อมูลโครงการ
ทีมงาน
ติดต่อเรา
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
ช่วยเหลือ
  กฏกติกาและมารยาท
แบบสอบถาม
คำถามที่พบบ่อย


ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) เลขที่ 20 ถนนบรมราชชนนี เขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ 10170 
Tel. +66 2 8809429 | Fax. +66 2 8809332 | E-mail. webmaster@sac.or.th 
สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2549    |   เงื่อนไขและข้อตกลง