สมัครสมาชิก   
| |
ค้นหาข้อมูล
ค้นหาแบบละเอียด
  •   ความเป็นมาและหลักเหตุผล

    เพื่อรวบรวมงานวิจัยทางชาติพันธุ์ที่มีคุณภาพมาสกัดสาระสำคัญในเชิงมานุษยวิทยาและเผยแผ่สาระงานวิจัยแก่นักวิชาการ นักศึกษานักเรียนและผู้สนใจให้เข้าถึงงานวิจัยทางชาติพันธุ์ได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น

  •   ฐานข้อมูลจำแนกกลุ่มชาติพันธุ์ตามชื่อเรียกที่คนในใช้เรียกตนเอง ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้ คือ

    1. ชื่อเรียกที่ “คนอื่น” ใช้มักเป็นชื่อที่มีนัยในทางเหยียดหยาม ทำให้สมาชิกกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ รู้สึกไม่ดี อยากจะใช้ชื่อที่เรียกตนเองมากกว่า ซึ่งคณะทำงานมองว่าน่าจะเป็น “สิทธิพื้นฐาน” ของการเป็นมนุษย์

    2. ชื่อเรียกชาติพันธุ์ของตนเองมีความชัดเจนว่าหมายถึงใคร มีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมอย่างไร และตั้งถิ่นฐานอยู่แห่งใดมากกว่าชื่อที่คนอื่นเรียก ซึ่งมักจะมีความหมายเลื่อนลอย ไม่แน่ชัดว่าหมายถึงใคร 

     

    ภาพ-เยาวชนปกาเกอะญอ บ้านมอวาคี จ.เชียงใหม่

  •  

    จากการรวบรวมงานวิจัยในฐานข้อมูลและหลักการจำแนกชื่อเรียกชาติพันธุ์ที่คนในใช้เรียกตนเอง พบว่า ประเทศไทยมีกลุ่มชาติพันธุ์มากกว่า 62 กลุ่ม


    ภาพ-สุภาษิตปกาเกอะญอ
  •   การจำแนกกลุ่มชนมีลักษณะพิเศษกว่าการจำแนกสรรพสิ่งอื่นๆ

    เพราะกลุ่มชนต่างๆ มีความรู้สึกนึกคิดและภาษาที่จะแสดงออกมาได้ว่า “คิดหรือรู้สึกว่าตัวเองเป็นใคร” ซึ่งการจำแนกตนเองนี้ อาจแตกต่างไปจากที่คนนอกจำแนกให้ ในการศึกษาเรื่องนี้นักมานุษยวิทยาจึงต้องเพิ่มมุมมองเรื่องจิตสำนึกและชื่อเรียกตัวเองของคนในกลุ่มชาติพันธุ์ 

    ภาพ-สลากย้อม งานบุญของยอง จ.ลำพูน
  •   มโนทัศน์ความหมายกลุ่มชาติพันธุ์มีการเปลี่ยนแปลงในช่วงเวลาต่างๆ กัน

    ในช่วงทศวรรษของ 2490-2510 ในสาขาวิชามานุษยวิทยา “กลุ่มชาติพันธุ์” คือ กลุ่มชนที่มีวัฒนธรรมเฉพาะแตกต่างจากกลุ่มชนอื่นๆ ซึ่งมักจะเป็นการกำหนดในเชิงวัตถุวิสัย โดยนักมานุษยวิทยาซึ่งสนใจในเรื่องมนุษย์และวัฒนธรรม

    แต่ความหมายของ “กลุ่มชาติพันธุ์” ในช่วงหลังทศวรรษ 
    2510 ได้เน้นไปที่จิตสำนึกในการจำแนกชาติพันธุ์บนพื้นฐานของความแตกต่างทางวัฒนธรรมโดยตัวสมาชิกชาติพันธุ์แต่ละกลุ่มเป็นสำคัญ... (อ่านเพิ่มใน เกี่ยวกับโครงการ/คู่มือการใช้)


    ภาพ-หาดราไวย์ จ.ภูเก็ต บ้านของอูรักลาโว้ย
  •   สนุก

    วิชาคอมพิวเตอร์ของนักเรียน
    ปกาเกอะญอ  อ. แม่ลาน้อย
    จ. แม่ฮ่องสอน


    ภาพโดย อาทิตย์    ทองดุศรี

  •   ข้าวไร่

    ผลิตผลจากไร่หมุนเวียน
    ของชาวโผล่ว (กะเหรี่ยงโปว์)   
    ต. ไล่โว่    อ.สังขละบุรี  
    จ. กาญจนบุรี

  •   ด้าย

    แม่บ้านปกาเกอะญอ
    เตรียมด้ายทอผ้า
    หินลาดใน  จ. เชียงราย

    ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ถั่วเน่า

    อาหารและเครื่องปรุงหลัก
    ของคนไต(ไทใหญ่)
    จ.แม่ฮ่องสอน

     ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ผู้หญิง

    โผล่ว(กะเหรี่ยงโปว์)
    บ้านไล่โว่ 
    อ.สังขละบุรี
    จ. กาญจนบุรี

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   บุญ

    ประเพณีบุญข้าวใหม่
    ชาวโผล่ว    ต. ไล่โว่
    อ.สังขละบุรี  จ.กาญจนบุรี

    ภาพโดยศรยุทธ  เอี่ยมเอื้อยุทธ

  •   ปอยส่างลอง แม่ฮ่องสอน

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ปอยส่างลอง

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดย เบญจพล  วรรณถนอม
  •   อลอง

    จากพุทธประวัติ เจ้าชายสิทธัตถะ
    ทรงละทิ้งทรัพย์ศฤงคารเข้าสู่
    ร่มกาสาวพัสตร์เพื่อแสวงหา
    มรรคผลนิพพาน


    ภาพโดย  ดอกรัก  พยัคศรี

  •   สามเณร

    จากส่างลองสู่สามเณร
    บวชเรียนพระธรรมภาคฤดูร้อน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   พระพาราละแข่ง วัดหัวเวียง จ. แม่ฮ่องสอน

    หล่อจำลองจาก “พระมหามุนี” 
    ณ เมืองมัณฑะเลย์ ประเทศพม่า
    ชาวแม่ฮ่องสอนถือว่าเป็นพระพุทธรูป
    คู่บ้านคู่เมืององค์หนึ่ง

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม

  •   เมตตา

    จิตรกรรมพุทธประวัติศิลปะไต
    วัดจองคำ-จองกลาง
    จ. แม่ฮ่องสอน
  •   วัดจองคำ-จองกลาง จ. แม่ฮ่องสอน


    เสมือนสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรม
    เมืองไตแม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ใส

    ม้งวัยเยาว์ ณ บ้านกิ่วกาญจน์
    ต. ริมโขง อ. เชียงของ
    จ. เชียงราย
  •   ยิ้ม

    แม้ชาวเลจะประสบปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัย
    พื้นที่ทำประมง  แต่ด้วยความหวัง....
    ทำให้วันนี้ยังยิ้มได้

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ผสมผสาน

    อาภรณ์ผสานผสมระหว่างผ้าทอปกาเกอญอกับเสื้อยืดจากสังคมเมือง
    บ้านแม่ลาน้อย จ. แม่ฮ่องสอน
    ภาพโดย อาทิตย์ ทองดุศรี
  •   เกาะหลีเป๊ะ จ. สตูล

    แผนที่ในเกาะหลีเป๊ะ 
    ถิ่นเดิมของชาวเลที่ ณ วันนี้
    ถูกโอบล้อมด้วยรีสอร์ทการท่องเที่ยว
  •   ตะวันรุ่งที่ไล่โว่ จ. กาญจนบุรี

    ไล่โว่ หรือที่แปลเป็นภาษาไทยว่า ผาหินแดง เป็นชุมชนคนโผล่งที่แวดล้อมด้วยขุนเขาและผืนป่า 
    อาณาเขตของตำบลไล่โว่เป็นส่วนหนึ่งของป่าทุ่งใหญ่นเรศวรแถบอำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี 

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   การแข่งขันยิงหน้าไม้ของอาข่า

    การแข่งขันยิงหน้าไม้ในเทศกาลโล้ชิงช้าของอาข่า ในวันที่ 13 กันยายน 2554 ที่บ้านสามแยกอีก้อ อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย
 
  Princess Maha Chakri Sirindhorn Anthropology Centre
Ethnic Groups Research Database
Sorted by date | title

   Record

 
Subject ลื้อ,สังคม,วัฒนธรรม,ลำปาง
Author ประชัน รักพงษ์ และคณะ
Title การศึกษาหมู่บ้านไทลื้อในจังหวัดลำปาง
Document Type รายงานการวิจัย Original Language of Text ภาษาไทย
Ethnic Identity ไทลื้อ ลื้อ ไตลื้อ, Language and Linguistic Affiliations ไท(Tai)
Location of
Documents
ห้องสมุดศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร Total Pages 135 Year 2535
Source ฝ่ายวิจัยและแผนงาน ศูนย์ศิลปวัฒนธรรม วิทยาลัยครูลำปาง สหวิทยาลัยล้านนา
Abstract

ไทลื้อ เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่สำคัญกลุ่มหนึ่ง พูดภาษาตระกูลไท อาศัยอยู่ในเขตสิบสองปันนา ทางตอนใต้มณฑลยูนานของจีน บางส่วนอาศัยอยู่ทางตอนเหนือของลาว และทางตะวันออกของรัฐฉานของพม่า ต่อมาได้อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่ตามหัวเมืองต่าง ๆ ในล้านนา ปัจจุบันกระจายอยู่ในจังหวัดต่าง ๆ ในภาคเหนือของประเทศไทย ได้แก่ เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง แพร่ น่าน เชียงราย และพะเยา ทั้งนี้เพราะเหตุผลทางการเมืองระหว่างรัฐล้านนากับสิบสองปันนาในอดีต ต่อมามีไทลื้อบางส่วนอพยพเข้ามาเพิ่มเติมภายหลัง ไทลื้อ มีขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมใกล้เคียงกับคนไทยในภาคเหนือ แต่ก็มีประเพณีวัฒนธรรม ตลอดจนวิถีการดำรงชีวิตบางอย่างที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของกลุ่มชาติพันธุ์ ในการศึกษาวิจัยหมู่บ้านไทลื้อในจังหวัดลำปาง เป็นการศึกษาลักษณะทางสังคมและวัฒนธรรมของไทลื้อที่ตำบลกล้วยแพะ อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง เกี่ยวกับประวัติความเป็นมาและการตั้งถิ่นฐาน ชีวิตความเป็นอยู่ ประเพณีและความเชื่อ เอกลักษณ์ ทางภาษา ลักษณะทางสังคม ได้แก่ ระบบครอบครัว เครือญาติ การแต่งงาน ศาสนา การศึกษา สภาพเศรษฐกิจของหมู่บ้าน อาชีพ ความสัมพันธ์ภายในชุมชน ความสัมพันธ์ระหว่างชุมชนไทลื้อกับชุมชนอื่น จากการศึกษา พบว่า ไทลื้อมีประเพณีและวัฒนธรรมส่วนใหญ่คล้ายคลึงกับชาวพื้นเมืองโดยทั่วไป เช่น วัฒนธรรมการบริโภคข้าวเหนียวเป็นอาหารหลัก นับถือพุทธศาสนา แต่อย่างไรก็ตาม มีประเพณีและพิธีกรรมบางอย่างที่ยังคงเอกลักษณ์เฉพาะกลุ่มของชาติพันธุ์ โดยเฉพาะด้านภาษาพูด ยังใช้สำเนียงภาษาไทลื้อ ประเพณีการแต่งกาย พิธีกรรมการเลี้ยงผีประจำหมู่บ้าน สิ่งที่น่าสนใจ ได้แก่ ไทลื้อมีความขยันขันแข็ง มานะอดทน มัธยัสถ์ อดออม เพื่อสร้างฐานะให้มั่นคง ปัจจุบันเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตจากสังคมเกษตรกรรม มาเป็นสังคมที่มีการผสมผสานเกษตรกรรมเข้ากับการลงทุนค้าขายและรับจ้าง ซึ่งจะพัฒนาระบบทุนนิยมระดับหมู่บ้านไปเป็นทุนนิยมระดับท้องถิ่นต่อไปในอนาคต (หน้า ข)

Focus

การศึกษาลักษณะทางสังคมและวัฒนธรรมของไทลื้อที่ตำบลกล้วยแพะ อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง

Theoretical Issues

ไม่มี

Ethnic Group in the Focus

ไทลื้อ ตำบลกล้วยแพะ อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง

Language and Linguistic Affiliations

"ลื้อ" เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่พูดภาษาตระกูลไท คือ ไทลื้อ หรือ ไตลื้อ เช่นเดียวกับคนไทอื่น ๆ และลักษณะของภาษามีความคล้ายคลึงกับภาษาไทยกลาง ไทยเหนือ หรือไทอื่น ๆ อาจมีความแตกต่างกันบ้างในเรื่องเสียง คำ และประโยค ฟัง-กวย-ลี (Fang Kuei Li) จึงจัดภาษาไทลื้อ ไทยกลาง ไทยเหนือ ไว้ในกลุ่มตะวันตกเฉียงใต้ ไทลื้อที่บ้านกล้วย แม้จะเรียกตนเองว่า "ลื้อ" แต่โดยข้อเท็จจริงทางภาษาแล้ว ภาษาที่ใช้เป็นภาษายอง ซึ่งไม่แตกต่างจากภาษาลื้อมากนัก ไทลื้อและไทยอง มักมีความภูมิใจในภาษาของตนเอง แต่มักเกิดความรู้สึกว่าชนกลุ่มใหญ่ (อาจเป็นไทยกลางหรือไทยเหนือ) ดูถูกเหยียดหยามถ้าพูดเป็นภาษาลื้อ ไทลื้อจึงมักพูดภาษาลื้อกับพวกเดียวกันเองเท่านั้น ในปัจจุบันไทลื้อหันมาใช้ภาษาไทยเหนือและไทยกลางมากขึ้น เพราะสภาพสังคม การศึกษา และการดำรงชีวิตซึ่งต้องเกี่ยวข้องกับคนไทยพวกอื่นมีมากขึ้น แต่ไทลื้อก็ยังคงรักษาภาษาของตนเองไว้ได้มาก เพราะยังใช้ภาษาของตัวเองกับพวกเดียวกันในชีวิตประจำวัน (หน้า 107-108)

Study Period (Data Collection)

ไม่ระบุ

History of the Group and Community

กลุ่มชนที่เรียกตนเองว่า "ลื้อ" เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่พูดภาษาตระกูลไท คือ ไทลื้อ หรือ ไตลื้อ อยู่เขตสิบสองปันนา ทางตอนใต้ของมณฑลยูนนาน ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน บริเวณที่อยู่อาศัยและที่ทำมาหากินของไทลื้อ ส่วนใหญ่เป็นป่าเขา มีที่ราบแคบ อยู่ตามหุบเขาและลุ่มแม่น้ำ สำหรับการอพยพเข้ามาอยู่ในประเทศไทยนั้น ไทลื้อได้อพยพมาตั้งถิ่นฐานตามหัวเมืองต่าง ๆ ในภาคเหนือ ด้วยเหตุผลทางการเมืองระหว่างรัฐ และมีการอพยพเข้ามาเพิ่มเติมเรื่อยภายหลังจากจีนเปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นระบบคอมมิวนิสต์ ในปัจจุบันมีชุมชนไทลื้อกระจายอยู่ในพื้นที่จังหวัดต่างๆ ทางภาคเหนือ คือ เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง แพร่ น่าน เชียงราย และพะเยา (หน้า 5-6) การเข้ามาตั้งถิ่นฐานของไทลื้อในจังหวัดลำปาง สืบเนื่องมาจากการทำสงครามระหว่างไทยกับพม่าในสมัยรัตนโกสินทร์ ครอบครัวยองที่อพยพมาในครั้งนั้น ส่วนใหญ่มุ่งไปยังเมืองลำพูน เมื่อสร้างเมืองเสร็จแล้ว ก็ได้อนุญาตให้ตั้งบ้านเรือนอยู่ในเขตเมืองลำพูน อีกส่วนหนึ่งได้อพยพลงมาทางเมืองนครลำปาง เจ้าดวงทิพย์ เจ้าเมืองในนครลำปางในขณะนั้น ได้อนุญาตให้พำนักอยู่ในเมืองได้ระยะหนึ่ง หลังจากนั้นก็ขออนุญาตออกไปแสวงหาทำเลที่ตั้งบ้านเรือนใหม่ (หน้า 11-12)

Settlement Pattern

พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบสูง ต้นไม้ใหญ่จะปลูกในบริเวณหมู่บ้าน จึงทำให้มองเห็นหมู่บ้านอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม ๆ อย่างชัดเจน ล้อมรอบด้วยทุ่งนาและป่าละเมาะ เช่นเดียวกับหมู่บ้านในภาคเหนือของไทย ตำบลกล้วยแพะ มีภูเขาอยู่ทางด้านตะวันออก ชื่อว่าดอยม่วงคำ เป็นต้นกำเนิดของห้วยแม่ปุง ซึ่งไหลผ่านหมู่บ้านไทลื้อ เรือนพักอาศัยของไทลื้อ มีลักษณะรูปทรงเหมือนบ้านเรือนในภาคเหนือโดยทั่วไป ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 ลักษณะ คือ - เรือนรุ่นเก่า โดยทั่วไปจะเป็นเรือนไม้สัก ใต้ถุนสูง หลังคาจั่ว จะหันหน้าจั่วไปในแนวทิศเหนือหรือใต้ ตัวเรือนจะมี 1 หรือ 2 ห้องนอน ถ้าเป็นเรือนไม้ขนาดใหญ่จะมีชานโล่ง มีที่นั่งพักผ่อนและรับแขก เรียกว่า เติ๋น อยู่ทางทิศเหนือหรือใต้ของห้องนอน มีชานอยู่ระหว่างเติ๋นและครัวใช้เป็นที่ซักล้าง ส่วนใหญ่จะอยู่ทางทิศตะวันตกของเรือน ลักษณะของเรือนเห็นได้ชัดว่าได้รับอิทธิพลจากเรือนทางภาคเหนือทั่วไป แต่พัฒนาเติ๋นหรือระเบียงที่มีหลังคาปิดคลุมให้มีผนังปิดกั้นมิดชิดขึ้น เพื่อป้องกันทรัพย์สิน เรือนแบบเก่าที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบันที่ตำบลกล้วยแพะ มีจำนวน 3 หลัง มีอายุประมาณ 70 ปีขึ้นไป พบที่บ้านกล้วยกลาง ลักษณะเด่นของเรือนดังกล่าวได้แก่การก่อสร้างใช้เทคนิคแบบโบราณ ใช้เดือยและลิ่มยึดเป็นส่วนใหญ่ ไม่ใช้น็อตหรือตะปู - เรือนรุ่นปัจจุบัน เรือนพักอาศัยของไทลื้อตำบลกล้วยแพะที่ปรากฏในปัจจุบัน ยังคงรูปทรงเรือนปั้นหยาเดิมของไทลื้อ แต่ได้นำมาผสมผสานกับลักษณะเรือนล้านนาของท้องถิ่น สร้างด้วยไม้สักทั้งหลัง ไม่นิยมทาสี จะโชว์สีของไม้สักหรืออาจจะทาน้ำมันเพื่อรักษาเนื้อไม้เท่านั้น เสาใช้เสาคอนนกรีตเสริมเหล็กแทนไม้ทั้งต้น เรือนมักจะสร้างขนาดใหญ่ฝาปิดทึบ และมีหน้าต่างโดยรอบตามความจำเป็น บันไดหรือทางขึ้นลงจะอยู่นอกตัวเรือน ชายคาตรงบันไดนิยมทำไม้ตีในแนวตั้งห้อยลงมา ทำเป็นลายฉลุประดับทางขึ้นเรือน เรือนไทลื้อรุ่นหลังจะแบ่งแยกระหว่างภายในเรือนกับภายนอกเรือนออกจากกันค่อนข้างชัดเจน ต่างจากเรือนล้านนาโบราณ ทั้งนี้ก็เพื่อป้องกันทรัพย์สิน การก่อสร้างส่วนใหญ่เป็นเรือนใต้ถุนสูง จะเปิดโล่งไว้เพื่อทำร้านไว้พักผ่อนในฤดูร้อนหรือมีกิจกรรมที่เป็นอาชีพเสริม (หน้า 24-25)

Demography

ชุมชนใหญ่ของไทลื้อในจังหวัดลำปาง จะอยู่ที่ตำบลกล้วยแพะ ซึ่งมีอยู่ 5 หมู่บ้าน คือ บ้านกล้วยหลวง หมู่ที่ 1 เป็นหมู่บ้านแห่งแรกที่ไทลื้ออพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐาน อยู่ห่างจากตัวเมืองลำปางประมาณ 8 กิโลเมตร ปัจจุบันมี 687 ครัวเรือน มีประชากร 2,752 คน บ้านกล้วยแพะ หมู่ที่ 2 เป็นหมู่บ้านที่ขยายตัวออกไปภายหลัง อยู่ทางทิศใต้ของบ้านกล้วยหลวงราว 2 กิโลเมตร ติดกับอำเภอ แม่ทะ มี 548 หลังคาเรือน มีประชากร 2,461 คน เป็นที่ตั้งของที่ทำการกำนันตำบลกล้วยแพะ บ้านม่วง หมู่ที่ 3 เป็นหมู่บ้านที่แยกไปจากบ้านกล้วยกลางไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ อยู่ห่างจากบ้านกล้วยหลวงไปประมาณ 3 กิโลเมตร มี 324 หลังคาเรือน มีประชากร 1,255 คน บ้านหัวฝาย หมู่ที่ 4 เป็นหมู่บ้านที่แยกไปตั้งหมู่บ้านจากบ้านกล้วยหลวงไปทางทิศตะวันออก เป็นที่ตั้งของฝายน้ำแม่ปุง มี 409 หลังคาเรือน มีประชากร 1,737 คน นายสะอาด อินนันไชย เป็นผู้ใหญ่บ้าน บ้านกล้วยกลาง หมู่ที่ 5 ตั้งอยู่ตรงกลางระหว่างหมู่บ้านกล้วยหลวง บ้านม่วง และ บ้านกล้วยแพะ อยู่ห่างจากบ้านกล้วยหลวง 1 กิโลเมตร ปัจจุบันมีจำนวน 306 หลังคาเรือน มีประชากร 1,206 คน ผู้ใหญ่บ้านชื่อ นายตาม หอมแก่นจันทร์ นอกจากนี้ ยังมีไทลื้ออีก 2 หมู่บ้านในบริเวณใกล้เคียงกัน คือ บ้านแม่ปุง และบ้านฮ่องห้า อยู่ในเขตตำบลน้ำโจ้ อำเภอแม่ทะ อยู่ห่างไปจากชุมชนใหญ่ของไทลื้อตำบลกล้วยแพะไปทางทิศใต้ราว 3 กิโลเมตร มีประชากรราว 2,650 คน (หน้า 21-22)

Economy

โดยพื้นฐานแล้วไทลื้อเป็นกลุ่มคนที่รักสงบ ขยัน มัธยัสถ์ และอดทน จึงเป็นเรื่องง่ายที่ไทลื้อจะปรับตัวให้เข้ากับการพัฒนาจากสังคมเกษตรไปสู่ระบบการผลิตแบบทุน เพื่อพัฒนาตัวเองไปเป็นนักธุรกิจระดับหมู่บ้านและชุมชน โดยเฉพาะการประกอบอุตสาหกรรมขนาดเล็กในหมู่บ้านที่ใช้วัตถุดิบในท้องถิ่น ไทลื้อมีขนบประเพณีส่วนใหญ่ที่คล้ายคลึงกับสังคมไทยในภาคเหนือ นิยมบริโภคข้าวเหนียวและพืชผักซึ่งปลูกเอง หรือหา ของป่า เช่น หน่อไม้ เห็ด ไข่มดแดง มาเป็นอาหารประจำวัน อาหารโดยทั่วไปจะไม่ค่อยมีส่วนผสมของไขมันมากนัก ส่วนอาหารประเภทเนื้อและปลา จะมีรับประทานเป็นบางโอกาส มีสภาพความเป็นอยู่ที่เรียบง่าย สมถะ และประหยัด อาหารแต่ละมื้อจะทำกับข้าวเพียงอย่างเดียวเท่านั้น (หน้า 34) อาชีพค้าขาย เริ่มเปลี่ยนแปลงจากการทำเกษตรกรรมไปสู่อาชีพค้าขาย และเป็นที่นิยมแพร่หลายราวปี พ.ศ. 2526 เริ่มต้นจากการสะสมทุนได้จากการทำไร่ยาสูบ กระเทียม ถั่วลิสง ถั่วเหลือง และเลี้ยงหมู ซึ่งปีหนึ่งจะมีรายได้ประมาณ 20,000 บาท เก็บสะสมไว้ 1-3 ปี ก็สามารถนำไปซื้อรถยนต์มาใช้ทำมาค้าขายได้ ในแต่ละหมูบ้านจะมีพ่อค้าเพิ่มขึ้นเป็น 30-40 ราย ลักษณะของการลงทุนค้าขายในจังหวัดลำปาง จะแข่งขันกันแบบใช้ระบบกลไกตลาด แข่งขันกันหาตลาดเองตามหมู่บ้านต่าง ๆ เมื่อเข้าไปขายบ่อยๆ ก็จะมีขาประจำที่รับซื้อสินค้า บางหมู่บ้านพ่อค้าชาวบ้านกล้วยจะเข้าไปเจาะตลาดเอง โดยการให้คำแนะนำแก่ชาวบ้าน ถึงสินค้าบางอย่างที่ไม่มีขายในหมู่บ้าน ทดลองเปิดตลาด เพื่อทำการค้าขาย ส่วนการไปค้าขายในต่างจังหวัดจะไปกันเป็นกลุ่ม ๆ ละ 3-4 คัน มีการลงทุนร่วมกันในเครือญาติและบุคคลใกล้ชิด ตอนขากลับก็จะซื้อสินค้าจากจังหวัดนั้นๆมาขายในหมู่บ้านตัวเอง อาชีพเกษตรกรรม ไทลื้อที่ตำบลกล้วยแพะ มีอาชีพทำนาข้าวเหนียวเป็นหลัก ข้าวที่ได้จะเก็บไว้บริโภค ถ้าเหลือจึงจะขาย หรือใช้แลกเปลี่ยนสิ่งของจากหมู่บ้านอื่น ส่วนเรื่องกรรมสิทธิ์ในที่ดินทำกิน ส่วนใหญ่มีที่ดินเป็นของตนเอง แต่ละครอบครัวจะมีที่นาแปลงเล็ก ๆ แยกกันอยู่หลาย ๆ แห่ง โดยเฉลี่ยแล้วจะมีที่นาครอบครัวละประมาณ 2-4 ไร่ ลักษณะที่นาแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ - นาน้ำฟ้า เป็นนาที่ต้องอาศัยน้ำฝนแต่เพียงอย่างเดียว เช่น นาที่อยู่ในบริเวณทุ่งหลวง ซึ่งอยู่ระหว่างบ้านกล้วยหลวง บ้านกล้วยแพะและบ้านกล้วยฝาย มีพื้นที่ประมาณ 3,000 ไร่ มีบางส่วนอาศัยน้ำจากฝายห้วยแม่ปุง ผลผลิตไม่แน่นอน ขึ้นอยู่กับสภาพดินฟ้าอากาศ ซึ่งตามปกติ 2-3 ปี จึงจะสามารถทำได้ครั้งหนึ่ง - นาที่อยู่ในเขตชลประทาน อยู่ทางด้านตะวันตกของตำบลกล้วยแพะ สามารถทำได้ทุกปี หลังฤดูทำนาจะปลูกพืชอื่นอีกหลายชนิด เช่น ถั่วเหลือง ถั่วลิสง กระเทียม ยาสูบ และพืชผักเมืองหนาว ผลผลิตที่ได้พ่อค้าคนกลางในหมู่บ้านจะรับไปขายต่อในเมืองและท้องถิ่นอื่น อาชีพรับจ้าง แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ 1. กรรมกรในโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นหญิงสาว ส่วนพวกผู้ชายจะรับจ้างตามร้านค้า เช่น ร้านค้าวัสดุก่อสร้าง อู่ซ่อมรถ โรงกลึง ร้านประดับรถยนต์ เป็นต้น 2. รับจ้างทำงานโยธา เป็นชาวบ้านกล้วยหลวง 150 คน ที่เหลือมาจากบ้านกล้วยกลางและบ้านกล้วยแพะ พวกรับจ้างส่วนมากไม่มีที่ดินทำกิน หรือมีนาน้ำฟ้า บางคนมีนาน้อย เสร็จจากทำนาก็ไปรับจ้าง ส่วนผู้หญิงและคนแก่ จะรับงานมาทำที่บ้าน เป็นรายได้เสริมให้แก่ครอบครัว ดังนั้น สภาพเศรษฐกิจของไทลื้อ ตำบลกล้วยแพะ จึงดีกว่าหมู่บ้านอื่น ๆ อย่างเห็นได้ชัด เพราะทุกคนในครอบครัวจะช่วยกัน ทำงานและมีรายได้เสริมตลอดทั้งปี ทำให้เกือบทุกครอบครัวมีกินมีใช้และสามารถเก็บออมไว้ซื้อรถยนต์กะบะไว้สำหรับค้าขาย และรับจ้างบรรทุกคนโดยสาร แต่มีข้อน่าสังเกตอย่างหนึ่งว่ามีการใช้จ่ายเงินที่เป็นไปในทางฟุ่มเฟือย เช่น การแข่งขันกันประดับรถยนต์ เช่น แอร์ ล้อแม็กซ์ เครื่องเสียงราคาแพง ซึ่งทำให้ขาดการอดออม และมีผลกระทบต่อการขยายตัวด้านการลงทุนทางการค้าของตนในอนาคต (หน้า 128-131)

Social Organization

ระบบเครือญาติ เป็นสิ่งที่สร้างความสัมพันธ์ขั้นพื้นฐานระหว่างบุคคลในสังคม ระบบเครือญาติแบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ คือ เครือญาติทางสายโลหิต และเครือญาติเกี่ยวดองที่มาจากการสมรส ซึ่งเป็นญาติของฝ่ายสามีหรือภรรยา สังคมไทลื้อจะให้ความสำคัญทั้งญาติของฝ่ายชายและฝ่ายหญิง แต่ในระยะ 3 ปีแรก ต้องไปอยู่รวมที่บ้านพ่อแม่ของภรรยา หลังจากนั้นอีก 3 ปี ก็กลับมาอยู่ที่บ้านของพ่อแม่สามี ญาติของทางฝ่ายชายจึงมีความสัมพันธ์กันมากขึ้น เมื่อแยกครอบครัวออกไป จึงมีความสัมพันธ์ที่ดีกับญาติทั้งฝ่ายภรรยาและฝ่ายสามี ดังนั้น ในระบบสังคมของไทลื้อจึงมีส่วนสำคัญในการสร้างความเป็นปึกแผ่นให้กับครอบครัว ซึ่งมีค่านิยมมีผัวเดียวเมียเดียว ไม่นิยมหย่าร้าง และการมีภรรยาหลายคน (หน้า 126-127)

Political Organization

การปกครองหมู่บ้านในตำบลกล้วยแพะ เป็นไปตามที่ทางราชการกำหนด คือ ใช้ระบบคณะกรรมการหมู่บ้าน (กม.) โดยมีผู้ใหญ่บ้านเป็นประธาน กรรมการหมู่บ้านมาจากการเลือกตั้งของราษฎรในหมู่บ้าน ซึ่งมีบทบาทในการทำงานส่วนรวมของหมู่บ้านและประสานงานการทำงานระดับตำบลกับหมู่บ้านอื่น เป็นตัวกลางในการประสานงานระหว่างสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ช่วยให้คำแนะนำแก่ลูกบ้านเรื่องการแจ้งเกิด แจ้งตาย หรือย้ายที่อยู่ ช่วยไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในหมู่บ้าน เช่น เรื่องร้องทุกข์จากคู่สามี - ภรรยา หรือช่วยดูแลความสงบในชุมชน แก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น (หน้า 131-133)

Belief System

ประเพณีพื้นบ้านไทลื้อ ไทลื้อมีประเพณีต่าง ๆ มากมาย ส่วนใหญ่เป็นประเพณีที่เกี่ยวข้องกับวิถีการดำเนินชีวิตของตนเอง เริ่มตั้งแต่เกิดจนตาย ซึ่งวัตถุประสงค์ของการประกอบพิธีส่วนใหญ่จะเป็นการให้มีขวัญและกำลังใจ ทั้งแก่ตนเองและครอบครัว รวมไปถึง เครือญาติ และประเพณีต่าง ๆ ที่ประพฤติปฏิบัตินั้น ส่วนใหญ่ก็จะคล้ายคลึงกับประเพณีพื้นบ้านของคนไทยภาคเหนือทั่วไป เช่น เรียกขวัญ , ส่งเคราะห์, สืบชะตา, ปู่จาเตียน หรือบูชาเทียน, ปู่จาข้าวหลีกเคราะห์ หรือบูชาข้าวหลีกเคราะห์, ป๊กเฮิน คือ ประเพณีปลูกบ้านของไทลื้อ, ขึ้นเฮินใหม่ คือประเพณีขึ้นบ้านใหม่ของหมู่บ้านไทลื้อ, ประเพณีการ อยู่ข่วง เป็นประเพณี แอ่วสาวเพื่อแสวงหาเนื้อคู่ของหนุ่มไทลื้อ, ประเพณีการแต่งงาน, ประเพณีปีใหม่ของไทลื้อ คือ วันสงกรานต์ของไทย, เก็บขวัญข้าว, แห่พระอุปคุต, สู่ขวัญควาย, แฮกนา, ตานข้าวใหม่และกินข้าวใหม่, ประเพณีการตาย ความเชื่อของไทลื้อตำบลกล้วยแพะ แบ่งได้เป็น 2 ลักษณะใหญ่ ๆ คือ 1. ความเชื่อที่มีหลักฐานเป็นลายลักษณ์อักษร คือเชื่อตามบทบัญญัติของพระธรรมคัมภีร์ต่าง ๆ ทั้งที่มาจากวัด โดยมากเป็นคัมภีร์ใบลาน คำสอนต่าง ๆ ซึ่งเป็นบทบัญญัติชี้ให้เห็นถึงบาปบุญคุณโทษ ส่วนที่มีอยู่ตามบ้านของผู้รู้ในหมู่บ้านจะเป็นสมุดไทยหรือที่เรียกตามภาษาพื้นบ้านว่า "ปั๊ปหนังสา" ก็จะเป็นแหล่งความรู้ในเรื่องของพิธีกรรม ตำราทางโหราศาสตร์ ตำราพื้นบ้าน ตลอดจนลายแทงต่าง ๆ โดยมากเป็นเรื่องทางโลกเกี่ยวกับวิถีชีวิตของคนในสังคม ผู้รู้เหล่านี้จะมีบทบาทในการนำชาวบ้านให้มีความเชื่อที่เป็นผลต่อการดำรงชีวิตไม่น้อยทีเดียว 2. ความเชื่อที่เป็นมุขปาฐะ คือเชื่อโดยการจดจำหรือบอกเล่าต่อ ๆ กันมา โดยไม่ได้มีการจดบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรไว้ ส่วนมากจะเป็นวิถีชีวิตประจำวันตั้งแต่เกิดจนตาย หรือสิ่งที่เป็นจารีตประเพณี วัฒนธรรมต่าง ๆ ที่ได้สั่งสมไว้ ปฏิบัติสืบต่อกันมาหลายชั่วอายุคน จนเป็นกรอบของสังคมที่มีผลต่อวิถีชีวิตของไทลื้อ ทั้งทางตรงและทางอ้อม จากการแบ่งประเภทความเชื่อของไทลื้อเป็น 2 ลักษณะใหญ่ ๆ แล้ว อาจแบ่งเป็นประเภทย่อย ๆ ได้อีก ดังนี้ 1. ความเชื่อเรื่องบุคคล ไทลื้อมีความเชื่อคล้ายคนเมืองทั่วไปว่า คนตายแล้วต้องมาเกิดใหม่ 2. ความเชื่อในเรื่องสิ่งแวดล้อม ที่อยู่ใกล้ตัว เชื่อว่าถ้าไม่ปฏิบัติตามจะเกิดอันตราย เช่น ความเชื่อเรื่องสัตว์ ถ้าจะเลี้ยงสัตว์ต้องดูฤกษ์ยามให้ดี ถ้าไม่ดูฤกษ์ยามให้ดี เลี้ยงไปอาจจะทำให้ล่มจม สัตว์เลี้ยงจะเป็นอันตรายได้ 3. ความเชื่อในเรื่องสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ได้แก่ เรื่องแม่ธรณีเจ้าที่ เวลาจะทำงานสิ่งใดหรือไปประกอบอาชีพในถิ่นอื่น ต้องบอกแม่ธรณีให้ทราบเพื่อคุ้มครอง ให้ปราศจากสิ่งชั่วร้ายทั้งปวง 4. ความเชื่อเรื่องเพศ มีดังนี้ ผู้หญิงใด หรือผู้ชายใด มีปานติดตรงอวัยวะเพศเชื่อว่าจะแพ้ผัว แพ้เมีย (หมายถึงชนะ) หรือกินผัว กินเมีย อยู่ด้วยกันไม่ค่อยยืนยาว มักจะตายจากกัน แล้วมักจะเป็นผู้ที่มักมากในกามคุณ ผู้หญิงในระยะประจำเดือน ห้ามเก็บผักจะทำให้ผักตาย ห้ามปลูกต้นหอมจะทำให้ประจำเดือนไม่หยุด ชายหญิง เมื่อได้เสียกันแล้ว จะต้องบอกให้พ่อแม่รู้ ถ้าไม่บอกผิดผี จะทำให้อยู่ไม่เป็นสุข ห้ามมีเพศสัมพันธ์ในวันพระและตอนกลางวัน 5. ความเชื่อเรื่องสุขภาพและสวัสดิภาพ ส่วนมากจะเป็นข้อห้ามต่าง ๆ ในทางพฤติกรรม เช่น คนท้อง มีข้อห้ามเรื่องอาหารการกินที่เชื่อว่าจะทำให้ไม่ดีต่อสุขภาพของแม่หรือเด็กในท้อง และหลังคลอด การห้ามกินอาหารบางชนิด สำหรับคนเจ็บป่วย หรือการห้ามประพฤติปฏิบัติบางสิ่งบางอย่างโดยเชื่อว่าจะทำมาหากินไม่ขึ้น เป็นต้น 6. ความเชื่อเรื่องโชคลาง ไทลื้อยังมีความเชื่อเรื่อง ฤกษ์ยาม การสะเดาะเคราะห์ สืบชะตา เช่น การแต่งงานต้องดูฤกษ์งามยามดี โดยส่วนใหญ่ดูจากตำราพรหมชาติ ถ้าปฏิบัติตามก็จะรุ่งเรือง เจริญก้าวหน้า อยู่ด้วยกันได้มั่นคง 7. ความเชื่อเรื่องความฝัน ไทลื้อมีความเชื่อเรื่องความฝันเหมือนกับชาวไทยทั่วไป และจะมีตำราทำนายฝันตามความเชื่อนั้น ๆ 8. ความเชื่อเรื่องเครื่องรางของขลัง ไทลื้อ ตำบลกล้วยแพะก็ยังมีความเชื่อเรื่องเหล่านี้อยู่ คือยังเชื่อในเรื่องความอยู่ยงคงกระพัน เชื่อในเรื่องพระเครื่อง ผ้ายันต์ ตะกรุด เหล็กไหล และการสักตามเนื้อตามตัว โดยเฉพาะในเรื่องคาถาอาคม การขจัด ปัดเป่า ความโชคร้าย ความเจ็บไข้ได้ป่วย เช่น การส่งเคราะห์ การสืบชะตา การส่งแถน 9. ความเชื่อเรื่องผี ไทลื้อลำปางมีความเชื่อเรื่องผีอยู่มาก เช่น ผีบรรพบุรุษ ผีบ้าน ผีหอศาล ผีอาฮัก ผีสือ (ผีกระสือ) ผีโพง (ผีกระหัง) ผีหม้อนึ่ง ผียักษ์ ผีกะหรือผีปอบ เป็นต้น 10. ความเชื่อเรื่องนรกสวรรค์ เชื่อว่ามีจริง ถ้าทำดี ทำบุญทำทาน ตายไปจะได้ขึ้นสู่สวรรค์ ทำชั่วก็จะตกนรก เป็นความเชื่อตามหลักคำสอนของพุทธศาสนา เช่นเดียวกับคนเมืองเหนือโดยทั่วไปที่เชื่อว่าผลกรรมมีจริง ถ้าไม่รู้จักทำบุญให้ทานแล้ว เวลาตายไปก็จะไม่มีสิ่งค้ำจุน จะเป็นผีตกนรก เดือดร้อน 11. ความเชื่อเรื่องหมอดู โหราศาสตร์ เช่นการทายวันเดือนปีเกิด ทายลักษณะเนื้อคู่ผัวเมีย ทายลูกในท้อง ดูชะตาชีวิต วันห้ามประกอบพิธีมงคลต่าง ๆ ลักษณะของอวัยวะไฝ ปาน ส่วนใหญ่ได้มาจากตำราพรหมชาติของล้านนา ที่ได้มาจากวัดหรืออาจารย์วัด หรือผู้ที่เคยบวชเรียนมาเป็นหนาน (ทิด) แล้วจะนำมายึดถือเป็นกรอบของชีวิตประจำวัน ซึ่งเชื่อกันว่าจะทำให้เจริญรุ่งเรือง โดยเฉพาะเรื่องฤกษ์งามยามดีในการค้าขายและประกอบพิธีมงคลต่าง ๆ จากความเชื่อทั้ง 11 ประเภทนี้ ล้วนเป็นปทัสถานในการดำเนินชีวิตของไทลื้อ ตำบลกล้วยแพะ ผสมผสานกับความวิริยะอุตสาหะ ไม่ย่อท้อต่ออุปสรรค งานหนักเอาเบาสู้ เป็นผลให้ชาวบ้านกล้วยแพะมีฐานะทางเศรษฐกิจค่อนข้างดี ประชาชนมีที่อยู่อาศัยที่มั่นคง มีเครื่องอำนวยความสะดวกต่าง ๆ จำนวนมาก (หน้า 33-63) การนับถือศาสนา ไทลื้อที่ตำบลกล้วยแพะส่วนใหญ่นับถือพุทธศาสนา มีนับถือคริสต์ศาสนาเพียง 2-3 ครอบครัว แต่ละหมู่บ้านมีวัดประจำ วัดบ้านกล้วยหลวงเป็นวัดแห่งแรกของหมู่บ้าน ไทลื้อสร้างขึ้นภายหลังจากการตั้งหมู่บ้านโดยพระสงฆ์ที่มาจากเมืองยอง ปัจจุบันมีพระภิกษุสามเณรจำพรรษาอยู่ที่วัดแห่งนี้จำนวน 4 รูป บางครั้งจะมีพระภิกษุสามเณรจากเมืองยองมาพักอาศัยและจำพรรษาอยู่ที่วัดแห่งนี้ วัดเป็นศูนย์กลางของหมู่บ้าน ใช้เป็นสถานที่ประกอบพิธีทางศาสนา ในเทศกาลงานบุญต่างๆ และใช้เป็นสถานที่ประชุมพบปะเพื่อทำกิจกรรมต่าง ๆ ของหมู่บ้าน ไทลื้อมีความศรัทธาในพระพุทธศาสนามาก ในวันสำคัญทางศาสนาจะมีประชาชนไปร่วมประกอบพิธีจำนวนมาก โดยเฉพาะการทำบุญในเทศกาลสงกรานต์ในวันพญาวัน (15 เมษายน) และวันปากปี (16 เมษายน) การทำบุญตานก๋วยสลาก ตานข้าวใหม่ ประเพณียี่เป๋ง (เพ็ญเดือน 12) จะไปทำบุญกันเกือบทุกครอบครัว ปัญหาของวัดในปัจจุบันคือ ชาวบ้านไม่นิยมบวชเรียนเหมือนกับสมัยก่อน ทำให้พระภิกษุสามเณรมีจำนวนน้อย บางวัดเหลือสามเณรเพียง 1-2 รูป ทั้งนี้เพราะภายหลังจากสำเร็จการศึกษาภาคบังคับก็จะไปทำงานตามโรงงานอุตสาหกรรมหรือร้านค้าในเมืองลำปางและส่วนหนึ่งไปศึกษาต่อที่โรงเรียนในเมือง (หน้า 127-128)

Education and Socialization

ไม่มีข้อมูล

Health and Medicine

ไม่มีข้อมูล

Art and Crafts (including Clothing Costume)

สถาปัตยกรรมของวิหาร วัดบ้านกล้วยหลวงเป็นสิ่งก่อสร้างแบบสถาปัตยกรรมล้านนาสกุลช่างลำปาง เพราะสร้างขึ้นแทนวิหารหลังเดิม ลักษณะของวิหารมีรูปทรงอ้วนแจ้ ฐานเตี้ย แต่เป็นวิหารปิด มีผนังโดยรอบ นาคทัณฑ์เป็นไม้แกะสลักรูปหนุมาน ซึ่งเป็นรูปแบบที่นิยมสร้างกันในช่วงประมาณ 100 ปีก่อน สิ่งที่น่าสนใจได้แก่ ธรรมมาสน์ที่อยู่ในวิหาร มีรูปร่างลักษณะคล้ายกับฝีมือของสกุลช่างไทลื้อที่วัดท่าฟ้าใต้ จังหวัดพะเยา ส่วนพระพุทธรูปซึ่งเป็นพระประธานในวิหาร เป็นฝีมือไทยใหญ่ ลักษณะวิหารเป็นรูปทรงแบบล้านนาโดยทั่วไป มีหลังคาซ้อนกัน 3 ชั้น ประดับลวดลายที่เป็นลักษณะของไทลื้อ นาคทัณฑ์เป็นรูปหนุมานและยักษ์ ซึ่งเป็นศิลปะล้านนารุ่นหลัง ภายในมีธรรมมาสน์รุ่นเก่า มีรูปทรงและลวดลายที่สวยงาม ลักษณะที่ยังคงเป็นเอกลักษณ์ของสถาปัตยกรรมไทลื้อ ของวิหารวัดกล้วยหลวงคือ 1.ลายแกะสลักไม้สักที่หน้าบันไดของวิหาร โดยเฉพาะด้านมุมซ้ายและขวาเป็นรูปพญานาค ท่อนหางเป็นลายดอกไม้ มีเทวดาหรือลิงเกาะกิ่งไม้ที่เป็นหางพญานาค ซึ่งน่าจะเป็นจินตนาการจากตำนานพื้นเมืองของไทลื้อ 2.ลวดลายซุ้มประตูทางเข้า มีลักษณะเป็นเส้นตั้งคล้ายลายฟันปลา ซึ่งเป็นลักษณะที่มองเห็นได้ชัดเจนของศิลปะไทลื้อ 3.ตัวเหงาป้านลม เป็นลักษณะของวัดไทลื้อ เหมือนกับวัดไทลื้อที่บ้านหนองบัว อำเภอท่าวังผา จังหวัดน่าน 4.ปราสาทธรรมมาสน์ เป็นธรรมมาสน์รุ่นเก่ามีอายุกว่า 100 ปีมาแล้ว มีรูปทรงเป็นแบบธรรมมาสน์ของวัดไทลื้อที่วัดหนองบัว จังหวัดน่าน และวัดท่าฟ้าใต้ จังหวัดพะเยา วัดพระเจ้านั่งแท่นบ้านม่วง เป็นวัดเก่าแก่ที่มีมาก่อนไทลื้อจะอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานที่ตำบลกล้วยแพะ เดิมเป็นวัดร้าง ต่อมาได้มีการบูรณะ ชาวบ้านจึงอพยพจากบ้านกล้วยกลางออกไปตั้งบ้านเรือนบริเวณใกล้เคียง จนกลายเป็นหมู่บ้านม่วง ส่วนวัดหัวฝาย วัดม่อนธาตุบ้านแพะ และวัดพระแท่นสามัคคีธรรมบ้านกล้วยกลาง เป็นวัดที่สร้างใหม่ นอกจากนี้มีเจดีย์เก่าตั้งอยู่ในหมู่บ้านกล้วยหลวง เป็นเจดีย์ทรงล้านนา ตัวระฆังหุ้มด้วยทองจังโก สิ่งก่อสร้างแบบอื่นๆ ที่สำคัญ ได้แก่ ยุ้งข้าว โดยทั่วไปชาวบ้านจะสร้างที่เก็บข้าวเปลือก 2 แบบ คือ ทำเสวียน และหลองข้าว เสวียน เป็นภาชนะบรรจุข้าวเปลือกที่พบทั่วไปในภาคเหนือ สานด้วยไม้ไผ่ ใช้มูลวัวควายผสมดินเหนียวปิดทับทั้งด้านนอกและด้านใน นำไปตากแดดให้แห้ง เสวียนจะตั้งอยู่ติดกับตัวเรือนโดยทำหลังคาคลุมยื่นออกไป หลองข้าว หรือเยข้าว (ยุ้งข้าว) ทำเป็นเรือนยกพื้นสูง หลังคาจั่ว ทำฝากั้นเป็นห้องสำหรับเก็บข้าวเปลือก มีทางเดินและที่สำหรับเก็บสิ่งของเครื่องใช้อยู่ภายในชายคารอบ ๆ ห้องเก็บข้าวเปลือก ทิศทางของการวางแนวหลังคาไม่แน่นอน อาจวางตามแนวทิศเหนือ-ใต้ หรือตะวันตก-ตะวันออก ปัจจุบันพบยุ้งข้าวเก่าแก่ที่ตำบลกล้วยแพะ 2 หลัง มีอายุประมาณกว่า 100 ปีขึ้นไป (หน้า 23-25) การแต่งกาย ในอดีตหญิงไทลื้อจะสวมใส่เสื้อผ้าสีน้ำเงินหรือสีดำ เป็นเสื้อรัดรูปผ่าอก เอวสั้น แขนกระบอก ปล่อยแขนจด (ติดกระดุมที่ปลายแขน) คอเสื้อมีหลายแบบ เช่น คอบัก (คอเหลี่ยม) คอจีบและคอแบะ นุ่งผ้าซิ่นทำด้วยฝ้ายมีรูปแบบต่างๆ เช่น ซิ่นตาแดง (ใช้ด้ายแดงสลับ) ซิ่นตายืน (ลายตั้ง) ซิ่นตาขวาง (ลายขวาง) ซิ่นตาตอบ (ลายตาราง) ซิ่นก่านคอควาย (มีลายสลับตรงชายด้านล่าง) ใช้เข็มขัดรัดเอว ไม่มีผ้าซ้อนชั้นในเหมือนผ้าซิ่นของล้านนา ส่วนทรงผมนิยมเกล้าผม เหน็บด้วยหวี เรียกว่า "ผมแม็บ" มีปิ่นปักผมทำด้วยทองหรือเงิน กำไลมือทำด้วยเงิน มีลักษณะเหมือนเกลียวเชือก ใส่ตุ้มหูเรียกว่า "หละกั้ด" ทำด้วยทองคำหรือใส่ลานหูซึ่งทำด้วยทองคำแผ่เป็นแผ่นบาง ๆ ม้วนสอดเข้าไว้ในใบหูที่ "ขวาก" (เจาะ) ไว้ ส่วนชายไทลื้อในสมัยก่อนจะนุ่งเตี่ยวสะดอ (กางเกงขาก๊วย) และเสื้อย้อมด้วยเมล็ดนิลหรือคราม ปล่อยชายเสื้อยาวถึงหัวเข่า แหวกปลายด้านล่างทั้งสองข้าง ยาวประมาณ 1 คืบ ด้านหลังแยกเป็น 3 แผ่นยาวเท่า ๆ กัน เป็นลักษณะ 5 ชิ้น ไทลื้อเรียกว่า "เส้อ 5 ปีก" แขนเสื้อเป็นแขนกระบอก ทรงผมตัดเกรียนที่ท้ายทอยด้านหน้าปล่อยยื่นออกมาหรือหวีกลับไปด้านหลัง ไม่นิยมใส่น้ำมันผม เวลาไปทำงานนิยมสะพายย่ามเรียกว่า "ถุงปื๋อ" เพื่อใส่สัมภาระต่าง ๆ เป็นย่ามที่ทอใช้เองมีสีขาวสลับลายน้ำเงินหรือดำเป็นริ้วเล็ก ๆ สลับกัน วัตถุดิบที่ใช้ทำสี สีน้ำเงินได้จากคราม สีดำได้จากเมล็ดนิล สีเหลืองได้จากไม้ฝาง ดอกก๋าย โดยนำไปต้ม ถ้าต้องการสีเหลืองเข้มขึ้นก็จะย้อมซ้ำอีก หรือใส่ขมิ้นลงไป ส่วนสีแดงได้จากเปลือกประดู่ การแต่งกายในปัจจุบัน หญิงวัยกลางคนจะนุ่งซิ่นแบบชาวเหนือทั่วไป นิยมดัดผมเป็นลอนหยิกทั้งศีรษะ โชว์ต้นคอ ผู้สูงอายุยังคงแต่งกายแบบเดิมในโอกาสเทศกาลสำคัญต่างๆ สำหรับคนรุ่นใหม่จะแต่งกายแบบสมัยนิยม ส่วนผู้ชายถ้าเป็นวัยกลางคนขึ้นไปจะนุ่งเตี่ยวสะดอ เสื้อหม้อห้อม ส่วนการทอผ้าในปัจจุบันยังมีอยู่บ้าง ส่วนมากพอเป็นของใช้ภายในครอบครัว เช่น ถุงปื๋อ ผ้าห่ม เป็นต้น (หน้า 25-26) การละเล่นของไทยลื้อ มักเป็นการละเล่นที่หาอุปกรณ์ได้ง่าย ส่วนใหญ่คล้ายการละเล่นของคนไทยท้องถิ่นอื่น แต่มีชื่อเรียกต่างกัน เช่น "การเล่นจู้จี้จะหลับ" "การเล่นขี่ก๊อบแก๊บ" บางคนเรียกว่า อีเปะปะ "การเล่นขี่โกะเกะ" ชาวล้านนาเรียกว่า "ขี่โกงเก๋ง" "การเล่นขายของ" ส่วนมากเป็นที่นิยมของเด็กผู้หญิง "การเล่นควายขี้ตี๋" "การเล่นโคบไข่เต่า" "การเล่นเกาะเอวขายหวี" "การเล่นสั๊กกะแด๊ะ" "การเล่นบะถบ" คือ การเล่น "บอกถบ" ของล้านนา หรือ "ปืนลม" ของเด็กภาคกลาง "การเล่นหมะบ้า" การเล่นสะบ้าเป็นการเล่นที่ประทับใจของผู้สูงอายุหลายคน เป็นการละเล่นของหนุ่มสาวที่จะได้มีโอกาสเกี่ยวพาราสีกัน นิยมตั้งวงเล่นในเวลากลางคืนในฤดูแล้งหลังการเก็บเกี่ยวในนาเสร็จ (หน้า 28-30)

Folklore

ตามตำนานพระอุปคุต เล่าว่าในสมัยพุทธกาลมีพระภิกษุรูปหนึ่งที่ยังไม่สำเร็จอรหันต์ แต่ใกล้จะหมดกิเลสอาสวทั้งปวงแล้ว ขณะจำวัดอยู่ น้ำอสุจิเกิดไหลโดยไม่รู้ตัว พระภิกษุรูปนั้นก็นำผ้าสบงไปซักที่แม่น้ำ ปลาซิวว่ายน้ำมาบริเวณนั้นพอดี จึงกินน้ำอสุจิ พระภิกษุรูปนั้น ปลาซิวเกิดตั้งท้อง แต่เป็นท้องที่ไม่ใช่ปลา กลับกลายเป็นหิน บรรดาปลาในแม่น้ำทั้งหลายจึงได้ตั้งชื่อว่า "อุปคุต" ตั้งแต่นั้นมาอุปคุตก็เป็นใหญ่ในแม่น้ำ โดยที่ไม่มีสิ่งใดจะไปรบกวนได้ (หน้า 47) นิทานพื้นบ้านของไทยลื้อลำปาง มีลักษณะโครงเรื่องคล้ายนิทานชาดก มีแทรกบทสั่งสอนและปริศนาธรรม คาดว่านอกจากจะมุ่งให้ความเพลิดเพลินแล้ว คงจะมีเจตนาจะแทรกข้อคิดในการดำรงชีวิตแก่ผู้ฟัง ดังตัวอย่างต่อไปนี้ ลูกไม่เชื่อคำพ่อคำแม่, หงส์หาบเต่า, สหายตุ๊ก, นกกระยางกับปูนา, แม่ทิ้งใจบุญ, หมาขนดำ ปริศนาคำทาย ไทลื้อลำปางมีคำ "เล่นตาย" คล้ายกับการเล่นปริศนาคำทายของคนไทยภาคกลาง แบ่งผู้เล่นเป็น 2 ฝ่าย เปลี่ยนกันทาย ฝ่ายไหนทายไม่ได้ ต้องขอให้อีกฝ่ายเฉลย โดยจะต้องยอมว่า จะติดตามล้างถ้วยล้างช้อนให้ แต่ส่วนมากฝ่ายถามจะไม่ยอมเฉลยคำตอบจนกว่าอีกฝ่ายจะหาคำถามมาถามแก้จนอีกฝ่ายติดขัด จึงจะยอมแลกคำเฉลยกัน คำหยอกสาว มีลักษณะเป็นคำโวหาร สัมผัสคล้องจองกัน พูดอย่างหนึ่ง ความหมายเป็นไปอีกอย่างหนึ่ง เนื้อความโดยทั่วไปคล้าย "คำเครือ" ของล้านนา ไทลื้อปัจจุบัน ว่าคำหยอกสาวไม่ค่อยได้ ประเพณีลงข่วง ก็สูญไปหมดแล้ว คำสั่งสอน ไทลื้อ มีวิธีสั่งสอนลูกหลานทั้งด้วยการกระทำ เช่น ผู้เฒ่า ปู่ ย่า ตา ยาย จะนำลูกหลานให้ถือศีลกินทาน ให้ดูเป็นตัวอย่างและยังมีบทสั่งสอนให้ปฏิบัติตาม มีบทสั่งสอนที่มีสัมผัสคล้องจอง ให้ทั้งข้อคิดและง่ายต่อการนำไปปฏิบัติ คำอวยพร ไทลื้อลำปาง มีประเพณีอาบน้ำดำหัวผู้เฒ่าผู้แก่ในเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งถือว่าเป็นวันขึ้นปีใหม่แบบเก่า เช่น เกี่ยวกับชาวล้านนาทั่วไป ประเพณีไทลื้อลำปางนอกจากจะเป็นโอกาสให้ลูกหลานจะพากันนำน้ำส้มป่อยไปสระสรง รดน้ำดำหัวผู้ที่ตนนับถือแล้ว เป็นโอกาสให้ "คู่หมาย" ของชายหนุ่ม ได้มีโอกาสได้ปรนนิบัติพ่อแม่ของฝ่ายชาย ซึ่งตกลงจะแต่งงานกันไว้ตั้งแต่เดือน 4 เหนือ (เดือนยี่) และจะแต่งประมาณเดือน 8 เหนือ (เดือน 6) พ่อแม่ฝ่ายชายมีหน้าที่จะต้อง "ปั๋นปอน" หรืออวยพรให้ลูกหลาน เมื่ออายุมากขึ้นผู้เฒ่าลื้อสมัยก่อนจึงจดจำคำอวยพรกันได้ยาว ๆ กันเกือบทุกคน แต่ปัจจุบันหาคนให้พรไพเราะยืดยาวได้ค่อนข้างยาก วรรณกรรมไทลื้อ ไม่พบวรรณกรรมลายลักษณ์ โดยเฉพาะที่เป็นของไทลื้อเอง พบแต่วรรณกรรมมุขปาฐะบอกเล่าสืบต่อกันมา แยกประเภทเป็นนิทาน ปริศนาคำทาย คำหยอกสาว บทล้อเล่นของเด็ก คำสั่งสอนและคำอวยพร ซึ่งส่วนใหญ่คล้ายกับวรรณกรรมมุขปาฐะของล้านนา จะต่างกันบ้างในรายละเอียดและภาษา สันนิษฐานว่าอาจเป็นเพราะไทลื้อที่อพยพมาตั้งรกรากอยู่ในเขตจังหวัดลำปาง เป็นชนกลุ่มน้อย ไม่ใช่ชนชั้นปกครอง ไม่ใช่นักปราชญ์หรือกวี และอาจมาในลักษณะการหนีสงคราม จึงไม่ได้นำวรรณกรรมลายลักษณ์ติดตัวมาด้วย ครั้นมาอยู่ลำปางได้ติดต่อสมาคมกับชาวล้านนา จึงพลอยรับอิทธิพลทาง ศิลปวัฒนธรรม รวมทั้งวรรณกรรมจากชาวล้านนา ทั้งที่รับจากการบอกเล่าสืบต่อกันมาของชาวบ้าน และการที่กุลบุตรไทลื้อได้บวชเรียนรับอิทธิพลของวรรณกรรมล้านนามาจากวัด (หน้า 109-120)

Ethnicity (Ethnic Identity, Boundaries and Ethnic Relation)

ไทลื้อที่ตำบลกล้วยแพะ อำเภอเมืองลำปาง และที่บ้านแม่ปุง บ้านฮ่องห้า อำเภอแม่ทะ อพยพมาจากเมืองยอง ยอมรับกลุ่มชาติพันธุ์ของตนเองว่าเป็น "คนลื้อ" ไม่เรียกตนเองว่าคนยอง เหมือนกับทางลำพูน แต่ในขณะเดียวกัน ถ้าหากมีบุคคลที่ไม่ใช่ลื้อด้วยกันมาเรียกว่า คนลื้อหรือพวกลื้อ จะถือว่าเป็นการดูถูกเหยียดหยาม ดังนั้น ไทลื้อจึงเป็นกลุ่มที่รักพวกพ้องมาก จะเห็นได้ว่ามีใครมาทำความเดือดร้อนหรือกระทบผลประโยชน์ของสมาชิกในสังคม พวกเขาจะรวมตัวกันต่อต้านทันที ทั้ง ๆ ที่ไม่ใช่เรื่องของตนเองโดยตรง (หน้า 34) ไทลื้อ และไทยอง ความจริงเป็นภาษาที่มีความคล้ายคลึงกันมากทั้งเรื่องเสียง คำและประโยค จนอาจกล่าวได้ว่าเป็นภาษาเดียวกัน ความแตกต่างระหว่างภาษาไทลื้อกับไทยองมีไม่มากพอที่จะแยกเป็นคนละภาษา เพียงแตกต่างกันในระดับที่เป็นภาษาย่อย (Dialects) ของกันและกัน แต่ในเรื่องของภาษา ไทลื้อหรือไทยอง ไม่ได้นำมาเป็นเกณฑ์ในการเรียกตนเอง แต่ใช้เกณฑ์ทางสังคมและประวัติศาสตร์ เรียกชื่อตนเองต่อ ๆ มา (หน้า 108) ความสัมพันธ์ในชุมชนไทยลื้อ เป็นสังคมที่ค่อนข้างโดดเดี่ยว เนื่องจากไทลื้อไม่นิยมติดต่อกับบุคคลภายนอกมากนัก เพราะเกรงว่าจะถูกดูถูกเหยียดหยามและถูกเอารัดเอาเปรียบ ชาวพื้นเมืองในจังหวัดลำปางมีทัศนะค่อนข้างดูถูก มักจะเรียกชาวบ้านกล้วยว่า พวกลื้อ โดยตั้งข้อรังเกียจไว้ก่อนที่จะติดต่อด้วย บางคนมักมองสังคมไทลื้อ ตำบลกล้วยแพะว่า เป็นสังคมที่เป็นโรคเรื้อน จึงไม่ยอมซื้อผลิตผลถ้ารู้ว่ามาจากบ้านกล้วย ในขณะเดียวกัน ไทลื้อก็จะเรียกคนเมืองว่า "อิ้ว" ซึ่งหมายถึงคนที่ไม่ใช่ลื้อ บางทีก็เรียกว่า "บ่าเจ้ากอน" หมายถึง พวกคนลำปาง แต่ปัจจุบันคนพื้นเมืองยอมรับสถานภาพทางสังคมของไทลื้อมากขึ้น เนื่องจากความอดทน ขยัน มัธยัสถ์ จึงเปลี่ยนทัศนะการมองไทลื้อจากการดูถูกมาเป็นการมองว่าเป็นพวกที่ขยันขันแข็ง มานะอดทน และไม่ยอมเสียเปรียบใคร (หน้า 133-134)

Social Cultural and Identity Change

ไม่มีข้อมูล

Critic Issues

ไม่มีข้อมูล

Other Issues

ไม่มี

Map/Illustration

ภาพที่ 1 แผนที่แสดงการอพยพเข้าตั้งถิ่นฐานของไทลื้อในภาคเหนือของประเทศไทย หน้า 8 ภาพที่ 2 ภาพแสดงตำราพรหมชาติ ดูฤกษ์งามยามดี ในพิธีแต่งงาน หน้า 56 ภาพที่ 3 ตารางแสดงการเทียบเสียงพยัญชนะ 20 หน่วยเสียง ของภาษาไทลื้อ หน้า 68 ภาพที่ 4 ตารางแสดงลักษณะการออกเสียงสระภาษาลื้อ หน้า 70 ภาพที่ 5 ตารางแสดงลักษณะทางชาติพันธุ์ของหัวหน้าครอบครัวและภรรยา หน้า 124 ภาพที่ 6 ตารางแสดงจำนวนร้อยละของการตัดสินใจเกี่ยวกับปัญหาและเรื่องราวของครอบครัว หน้า 125 ภาพที่ 7 ตารางแสดงจำนวนและร้อยละของคำตอบชาวบ้าน ถึงความรู้สึกเวลาที่ถูกเรียกว่าเป็น "ลื้อ" หน้า 133

Text Analyst พิณทอง เล่ห์กันต์ Date of Report 09 พ.ค. 2556
TAG ลื้อ, สังคม, วัฒนธรรม, ลำปาง, Translator -
 
 

 

ฐานข้อมูลอื่นๆของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
  ฐานข้อมูลพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทย
จารึกในประเทศไทย
จดหมายเหตุทางมานุษยวิทยา
แหล่งโบราณคดีที่สำคัญในประเทศไทย
หนังสือเก่าชาวสยาม
ข่าวมานุษยวิทยา
ICH Learning Resources
ฐานข้อมูลเอกสารโบราณภูมิภาคตะวันตกในประเทศไทย
ฐานข้อมูลประเพณีท้องถิ่นในประเทศไทย
ฐานข้อมูลสังคม - วัฒนธรรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  หน้าหลัก
งานวิจัยชาติพันธุ์ในประเทศไทย
บทความชาติพันธุ์
ข่าวชาติพันธุ์
เครือข่ายชาติพันธุ์
เกี่ยวกับเรา
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  ข้อมูลโครงการ
ทีมงาน
ติดต่อเรา
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
ช่วยเหลือ
  กฏกติกาและมารยาท
แบบสอบถาม
คำถามที่พบบ่อย


ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) เลขที่ 20 ถนนบรมราชชนนี เขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ 10170 
Tel. +66 2 8809429 | Fax. +66 2 8809332 | E-mail. webmaster@sac.or.th 
สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2549    |   เงื่อนไขและข้อตกลง