สมัครสมาชิก   
| |
ค้นหาข้อมูล
ค้นหาแบบละเอียด
  •   ความเป็นมาและหลักเหตุผล

    เพื่อรวบรวมงานวิจัยทางชาติพันธุ์ที่มีคุณภาพมาสกัดสาระสำคัญในเชิงมานุษยวิทยาและเผยแผ่สาระงานวิจัยแก่นักวิชาการ นักศึกษานักเรียนและผู้สนใจให้เข้าถึงงานวิจัยทางชาติพันธุ์ได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น

  •   ฐานข้อมูลจำแนกกลุ่มชาติพันธุ์ตามชื่อเรียกที่คนในใช้เรียกตนเอง ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้ คือ

    1. ชื่อเรียกที่ “คนอื่น” ใช้มักเป็นชื่อที่มีนัยในทางเหยียดหยาม ทำให้สมาชิกกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ รู้สึกไม่ดี อยากจะใช้ชื่อที่เรียกตนเองมากกว่า ซึ่งคณะทำงานมองว่าน่าจะเป็น “สิทธิพื้นฐาน” ของการเป็นมนุษย์

    2. ชื่อเรียกชาติพันธุ์ของตนเองมีความชัดเจนว่าหมายถึงใคร มีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมอย่างไร และตั้งถิ่นฐานอยู่แห่งใดมากกว่าชื่อที่คนอื่นเรียก ซึ่งมักจะมีความหมายเลื่อนลอย ไม่แน่ชัดว่าหมายถึงใคร 

     

    ภาพ-เยาวชนปกาเกอะญอ บ้านมอวาคี จ.เชียงใหม่

  •  

    จากการรวบรวมงานวิจัยในฐานข้อมูลและหลักการจำแนกชื่อเรียกชาติพันธุ์ที่คนในใช้เรียกตนเอง พบว่า ประเทศไทยมีกลุ่มชาติพันธุ์มากกว่า 62 กลุ่ม


    ภาพ-สุภาษิตปกาเกอะญอ
  •   การจำแนกกลุ่มชนมีลักษณะพิเศษกว่าการจำแนกสรรพสิ่งอื่นๆ

    เพราะกลุ่มชนต่างๆ มีความรู้สึกนึกคิดและภาษาที่จะแสดงออกมาได้ว่า “คิดหรือรู้สึกว่าตัวเองเป็นใคร” ซึ่งการจำแนกตนเองนี้ อาจแตกต่างไปจากที่คนนอกจำแนกให้ ในการศึกษาเรื่องนี้นักมานุษยวิทยาจึงต้องเพิ่มมุมมองเรื่องจิตสำนึกและชื่อเรียกตัวเองของคนในกลุ่มชาติพันธุ์ 

    ภาพ-สลากย้อม งานบุญของยอง จ.ลำพูน
  •   มโนทัศน์ความหมายกลุ่มชาติพันธุ์มีการเปลี่ยนแปลงในช่วงเวลาต่างๆ กัน

    ในช่วงทศวรรษของ 2490-2510 ในสาขาวิชามานุษยวิทยา “กลุ่มชาติพันธุ์” คือ กลุ่มชนที่มีวัฒนธรรมเฉพาะแตกต่างจากกลุ่มชนอื่นๆ ซึ่งมักจะเป็นการกำหนดในเชิงวัตถุวิสัย โดยนักมานุษยวิทยาซึ่งสนใจในเรื่องมนุษย์และวัฒนธรรม

    แต่ความหมายของ “กลุ่มชาติพันธุ์” ในช่วงหลังทศวรรษ 
    2510 ได้เน้นไปที่จิตสำนึกในการจำแนกชาติพันธุ์บนพื้นฐานของความแตกต่างทางวัฒนธรรมโดยตัวสมาชิกชาติพันธุ์แต่ละกลุ่มเป็นสำคัญ... (อ่านเพิ่มใน เกี่ยวกับโครงการ/คู่มือการใช้)


    ภาพ-หาดราไวย์ จ.ภูเก็ต บ้านของอูรักลาโว้ย
  •   สนุก

    วิชาคอมพิวเตอร์ของนักเรียน
    ปกาเกอะญอ  อ. แม่ลาน้อย
    จ. แม่ฮ่องสอน


    ภาพโดย อาทิตย์    ทองดุศรี

  •   ข้าวไร่

    ผลิตผลจากไร่หมุนเวียน
    ของชาวโผล่ว (กะเหรี่ยงโปว์)   
    ต. ไล่โว่    อ.สังขละบุรี  
    จ. กาญจนบุรี

  •   ด้าย

    แม่บ้านปกาเกอะญอ
    เตรียมด้ายทอผ้า
    หินลาดใน  จ. เชียงราย

    ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ถั่วเน่า

    อาหารและเครื่องปรุงหลัก
    ของคนไต(ไทใหญ่)
    จ.แม่ฮ่องสอน

     ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ผู้หญิง

    โผล่ว(กะเหรี่ยงโปว์)
    บ้านไล่โว่ 
    อ.สังขละบุรี
    จ. กาญจนบุรี

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   บุญ

    ประเพณีบุญข้าวใหม่
    ชาวโผล่ว    ต. ไล่โว่
    อ.สังขละบุรี  จ.กาญจนบุรี

    ภาพโดยศรยุทธ  เอี่ยมเอื้อยุทธ

  •   ปอยส่างลอง แม่ฮ่องสอน

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ปอยส่างลอง

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดย เบญจพล  วรรณถนอม
  •   อลอง

    จากพุทธประวัติ เจ้าชายสิทธัตถะ
    ทรงละทิ้งทรัพย์ศฤงคารเข้าสู่
    ร่มกาสาวพัสตร์เพื่อแสวงหา
    มรรคผลนิพพาน


    ภาพโดย  ดอกรัก  พยัคศรี

  •   สามเณร

    จากส่างลองสู่สามเณร
    บวชเรียนพระธรรมภาคฤดูร้อน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   พระพาราละแข่ง วัดหัวเวียง จ. แม่ฮ่องสอน

    หล่อจำลองจาก “พระมหามุนี” 
    ณ เมืองมัณฑะเลย์ ประเทศพม่า
    ชาวแม่ฮ่องสอนถือว่าเป็นพระพุทธรูป
    คู่บ้านคู่เมืององค์หนึ่ง

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม

  •   เมตตา

    จิตรกรรมพุทธประวัติศิลปะไต
    วัดจองคำ-จองกลาง
    จ. แม่ฮ่องสอน
  •   วัดจองคำ-จองกลาง จ. แม่ฮ่องสอน


    เสมือนสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรม
    เมืองไตแม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ใส

    ม้งวัยเยาว์ ณ บ้านกิ่วกาญจน์
    ต. ริมโขง อ. เชียงของ
    จ. เชียงราย
  •   ยิ้ม

    แม้ชาวเลจะประสบปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัย
    พื้นที่ทำประมง  แต่ด้วยความหวัง....
    ทำให้วันนี้ยังยิ้มได้

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ผสมผสาน

    อาภรณ์ผสานผสมระหว่างผ้าทอปกาเกอญอกับเสื้อยืดจากสังคมเมือง
    บ้านแม่ลาน้อย จ. แม่ฮ่องสอน
    ภาพโดย อาทิตย์ ทองดุศรี
  •   เกาะหลีเป๊ะ จ. สตูล

    แผนที่ในเกาะหลีเป๊ะ 
    ถิ่นเดิมของชาวเลที่ ณ วันนี้
    ถูกโอบล้อมด้วยรีสอร์ทการท่องเที่ยว
  •   ตะวันรุ่งที่ไล่โว่ จ. กาญจนบุรี

    ไล่โว่ หรือที่แปลเป็นภาษาไทยว่า ผาหินแดง เป็นชุมชนคนโผล่งที่แวดล้อมด้วยขุนเขาและผืนป่า 
    อาณาเขตของตำบลไล่โว่เป็นส่วนหนึ่งของป่าทุ่งใหญ่นเรศวรแถบอำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี 

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   การแข่งขันยิงหน้าไม้ของอาข่า

    การแข่งขันยิงหน้าไม้ในเทศกาลโล้ชิงช้าของอาข่า ในวันที่ 13 กันยายน 2554 ที่บ้านสามแยกอีก้อ อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย
 
  Princess Maha Chakri Sirindhorn Anthropology Centre
Ethnic Groups Research Database
Sorted by date | title

   Record

 
Subject ลาวโซ่ง,พิธีกรรม,โครงสร้างทางสังคม,นครปฐม
Author วาสนา อรุณกิจ
Title พิธีกรรมและโครงสร้างทางสังคมของลาวโซ่ง
Document Type วิทยานิพนธ์ Original Language of Text ภาษาไทย
Ethnic Identity ไทดำ ลาวโซ่ง ไทยโซ่ง ไทยทรงดำ ไทดำ ไตดำ โซ่ง, Language and Linguistic Affiliations ไท(Tai)
Location of
Documents
ห้องสมุดศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร Total Pages 220 Year 2529
Source ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
Abstract

สังคมลาวโซ่งมีพิธีกรรมมากมายที่เกี่ยวกับการดำเนินชีวิตตั้งแต่เกิดจนตายตามความเชื่อดั้งเดิม โดยลาวโซ่งถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัด การปฏิบัติพิธีกรรมถือเป็นหน้าที่อย่างหนึ่งของลาวโซ่งในอันที่จะอยู่ในสังคม ไม่มีใครบังคับแต่ทุกคนพอใจและพร้อมใจที่จะปฏิบัติโดยไม่มีใครสงสัยหรือโต้แย้ง อย่างไรก็ตาม การกระทำพิธีกรรมของลาวโซ่งนั้นมิใช่การกระทำเพียงเพื่อหน้าที่เท่านั้น แต่ยังมีวัตถุประสงค์อื่นๆ ที่สำคัญมากไปกว่านั้นด้วย กล่าวคือ เพื่อแสดงความกตัญญูต่อบรรพบุรุษ เพื่อให้มีการพบปะสังสรรค์กันในหมู่ญาติพี่น้องและเพื่อนบ้านใกล้เคียงเพื่อกระชับความสัมพันธ์ เพื่อสร้างความสามัคคี เพื่อแสดงถึงสถานภาพและศักดิ์ศรีของวงศ์ตระกูล ตลอดจนกระทำเพื่อตอบสนองความมั่นคงทางจิตใจ รวมทั้งเพื่อเป็นการดำรงไว้ซึ่งวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณี พิธีกรรมของกลุ่มชนไว้สืบไป (หน้า 160)

Focus

ความสัมพันธ์ของพิธีกรรมและโครงสร้างทางสังคมของลาวโซ่งที่บ้านสระ จังหวัดนครปฐม

Theoretical Issues

วิเคราะพิธีกรรมและโครงสร้างทางสังคม และความสัมพันธ์ระหว่างพิธีกรรมกับโครงสร้างทางสังคม โดยมีสมมติฐานว่า พิธีกรรมตามความเชื่อดั้งเดิมของลาวโซ่งจะสะท้อนให้เห็นโครงสร้างทางสังคมของกลุ่ม (หน้า ง) โดยอาศัยการผสมผสานแนวความคิดของ Durkheim, Merton, Van Gennep และ Leach ผู้เขียนให้ความสนใจที่จะพิจารณาความสัมพันธ์ในเชิงหน้าที่ ระหว่างพิธีกรรมและโครงสร้างสังคมของลาวโซ่งที่บ้านสระ อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม (หน้า 2-15) และพบว่า สามารถจัดประเภทพิธีกรรมของลาวโซ่ง ซึ่งมีหลากหลายมากมาย (หน้า 160) ได้เป็น 2 ประเภท คือ พิธีทางศาสนาพุทธและพิธีในความเชื่อดั้งเดิม (หน้า 159) แต่พิธีกรรมทั้ง 2 ประเภทก็ทำหน้าที่ยกระดับความสัมพันธ์ของคนในชุมชนให้แน่นแฟ้นขึ้น (หน้า 161) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พิธีกรรมต่าง ๆ ในความเชื่อเดิม เช่น พิธีเสนเรือน ซึ่งแสดงความเป็นเอกลักษณ์ของความเป็นลาวโซ่ง (หน้า 161) อีกด้วย นอกจากนี้ พิธีกรรมต่างๆ ยังแสดงให้เห็นถึงความแตกต่างทางสถานภาพของบุคคลและกลุ่มบุคคลในสังคมลาวโซ่ง เช่น ให้ความสำคัญกับลูกชายมากกว่าลูกสาว เพราะว่าลูกชายจะเป็นผู้สืบผี และเครือญาติที่ถือผีเดียวกันก็จะมีความสำคัญในพิธีกรรม โดยเฉพาะพิธีเสนเรือน

Ethnic Group in the Focus

ผู้เขียนเรียกกลุ่มชาติพันธ์ที่ศึกษาว่า "ลาวโซ่ง" ซึ่งเป็นผู้ที่มีบรรพบุรุษเป็นผู้ไทดำหรือที่เรียกไทดำ เนื่องจากการแต่งกายด้วยสีดำ ส่วนคำว่าลาวโซ่งนั้น เข้าใจว่ามาจากการที่ผู้ไทดำนุ่งกางเกงทั้งหญิงและชาย และคำว่ากางเกงนี้ ผู้ไทดำเรียกว่า "ข่วง" ซึ่งหมายถึง "ลาวนุ่งกางเกง" และต่อมาก็เพี้ยนเป็น "ลาวโซ่ง" ตามคำเรียกของคนไทยและลาวพวนในถิ่นที่ไทดำอาศัยอยู่ (หน้า 3)

Language and Linguistic Affiliations

ลาวโซ่งมีภาษาเขียนและภาษาพูดเป็นของตนเอง เรียกว่าภาษาลาวโซ่ง ซึ่งมีรากฐานมาจากภาษาไทดำนั่นเอง จัดอยู่ในตระกูลภาษาไท (Tai Family) สาขาตะวันตกเฉียงใต้ (Southwestern Branch) สำเนียงภาษาพูดผิดเพี้ยนจากลาวเวียงจันทน์และลาวทางภาคอีสานไม่มากนัก ตัวหนังสือคล้ายของลาว ส่วนระเบียบหรือไวยกรณ์เป็นแบบเดียวกับภาษาไทย ลาวโซ่งบ้านสระจะใช้ภาษาลาวโซ่งกับพวกลาวโซ่งด้วยกัน แต่จะใช้ภาษาไทยกลางติดต่อกับคนภายนอกกลุ่ม (หน้า 56)

Study Period (Data Collection)

วันที่ 20 มีนาคม-30 ตุลาคม 2538

History of the Group and Community

หมู่บ้านสระเกิดขึ้นมาเมื่อประมาณ 110 ปีเศษ กลุ่มแรกที่เข้ามาตั้งรกรากคือลาวโซ่งที่อพยพมาจากตำบลมับคาง อำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี เนื่องจากที่ตำบลทับคางไม่มีที่ทำมาหากิน และคิดว่าหนทางที่จะมีที่ทำกินคือการกลับประเทศลาวบ้านเดิม จึงเดินทางขึ้นเหนือมาเรื่อย ๆ เมื่อมาถึงที่บ้านสระ พบว่ามีหนองน้ำใหญ่ คงจะพอทำมาหากินได้และยังไม่มีใครจับจอง จึงได้สร้างบ้านเรือนใกล้กับหนองน้ำนั้น ต่อจากนั้นก็มีญาติพี่น้อง และลาวโซ่งคนอื่น ๆ ที่มาตามคำชักชวน (หน้า 34)

Settlement Pattern

หมู่บ้านบ้านสระ แม้ว่าจะประกอบด้วยหมู่บ้าน 2 หมู่ แต่ชาวบ้านทั้ง 2 หมู่ยังคงมีความรู้สึกว่าเป็นชุมชนเดียวกัน และไม่มีเขตแบ่งที่แน่นอน นอกจากนี้ ยังใช้สถานที่สาธารณะหลายอย่างร่วมกัน ตลอดจนบูชานับถือศาลประจำหมู่บ้านศาลเดียวกัน ลักษณะการตั้งบ้านเรือนมีการตั้งบ้านเป็นกลุ่มหรือเป็นกระจุก ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มญาติพี่น้องกัน หรือลูกหลานที่แต่งงานแล้วแยกบ้านไปปลูกเรือนอยู่ใกล้ ๆ กับบ้านของพ่อแม่ บ้านเรือนที่ตั้งขึ้นนั้นชายคาบ้านแต่ละหลังเกือบจะติดกัน นอกจากบ้านที่พอจะมีฐานะดีจะมีบริเวณลานบ้านกว้างมีรั้วกั้น กลุ่มบ้านเรือนกับที่นาจะแยกกัน โดยที่นาอยู่ทางตะวันออกของตัวหมู่บ้าน แต่บ้านเรือนส่วนใหญ่จะตั้งอยู่ตรงกลางโดยมีถนนสายเก่าและสายใหม่ล้อมอยู่ (หน้า 30) การตั้งบ้านเรือนจะแยกกันระหว่างผู้ท้าว (ชนชั้นสูง) กับผู้น้อย (ชนชั้นสามัญ) โดยผู้ท้าวจะอยู่บริเวณทิศตะวันออกของหมู่บ้านในเขตหมู่ที่ 1 ติดกับคลองเจริญสุข ส่วนผู้น้อยมักจะอยู่ทางด้านทิศใต้ติดกับตำบลสระสี่มุม (หน้า 123) ภายในหมู่บ้านมีวัด 1 วัด คือวัดสระสี่มุม โรงเรียน 1 โรง คือโรงเรียนวัดสระสี่มุม มีร้านขายอาหาร 4 ร้าน ร้านค้าของชำและขายผักสด อาหารสด อาหารแห้ง 14 ร้าน ร้านขายยา 1 ร้าน ร้านซ่อมรถจักรยานมอเตอร์ไซด์ 2 ร้าน มีโรงสีขนาดใหญ่ 1 แห่ง โรงสีขนาดกลาง 1 แห่ง และโรงสีเล็ก 2 แห่ง (หน้า 30) (ดูรายละเอียดโครงสร้างและลักษณะเรือนที่หัวข้อ Art and Crafts)

Demography

จากสถิติทะเบียนราษฎร์ พ.ศ. 2527 บ้านสระมีครัวเรือน 186 ครัวเรือน มีจำนวนประชากร 1,275 คน เป็นชาย 651 คน เป็นผู้หญิง 624 คน (หน้า 36) ที่เป็นครัวเรือนลาวโซ่งมี 160 หลัง เป็นไทย 16 หลัง และคนจีนอีก 10 หลัง

Economy

ชาวบ้านบ้านสระมีอาชีพหลักคือการทำนาและทำไร่อ้อย โดยจะขายข้าวให้กับพ่อค้าในหมู่บ้าน และจะขายอ้อยให้กับหัวหน้าโควต้าของตน เพื่อขายส่งโรงงานอีกทีหนึ่ง เนื่องจากผู้ที่ทำไร่อ้อยส่วนมากมีฐานะค่อนข้างยากจน ต้องขอเข้าไปเป็นลูกไร่ของหัวหน้าโควต้า เพื่อจะได้รับความช่วยเหลือทางด้านการเงิน อาชีพรองลงมาคือการเลี้ยงสัตว์ สัตว์ที่เลี้ยงได้แก่ หมู ไก่ และวัว หมูที่นิยมเลี้ยงมักจะเป็นแม่หมู ซึ่งเลี้ยงไว้ทำพันธุ์และเพื่อขายลูก ส่วนไก่เลี้ยงไว้บริโภคเอง สำหรับวัวจะเลี้ยงไว้ขายเนื้อ การเลี้ยงกุ้ง ปลูกพืชสวนครัวโดยชาวบ้านจะนำออกมาขายส่งที่ตลาดหนองพงนก การทอผ้าไหม โดยปลูกต้นหม่อนไว้ข้างๆ บ้าน ผ้าที่ทอได้มักขายกันเองในหมู่บ้าน การทำหัตถกรรมในครัวเรือน โดยนำเศษผ้าไหมสีต่างๆ มาทำเป็นเครื่องประดับเล็กๆ น้อยๆ โดยมีพ่อค้าจากจังหวัดนครปฐมและกรุงเทพฯ มาจ้างให้ทำและรับซื้อถึงที่ ส่วนผู้ชายมักทำเครื่องจักสานไว้ใช้เองหรือขายให้กัยผู้ที่ต้องการซื้อ นอกจากนี้ก็มีอาชีพค้าขาย ตลอดจนการรับจ้างทั่วไป ทางด้านเทคโนโลยี ชาวบ้านนิยมใช้เครื่องจักรที่ทันสมัยในการทำนาและไร่อ้อย (หน้า 40-47) อาหารของลาวโซ่งบ้านสระ มักหาได้จากไร่นา คลองและหนองน้ำต่างๆ มีเพียงเล็กน้อยที่หาซื้อจากตลาดในหมู่บ้าน นอกจากนี้ลาวโซ่งมักปลูกพืชผักและทำอาหารไว้กินเอง เช่น กะปิ, น้ำปลา, ปลาร้า ไว้กินตลอดปีด้วย (หน้า 55) ลาวโซ่งบ้านสระโดยทั่วไปประสบปัญหาเรื่องเงินทุนในการเพาะปลูก ผลผลิตที่ได้จากการเพราะปลูก ชาวบ้านมักเก็บไว้บริโภคและส่วนหนึ่งสำหรับทำพันธุ์ ที่เหลือจะขายนำเงินมาใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน รายได้ที่เหลือเก็บไว้เป็นทุนในการปลูกครั้งต่อไป ซึ่งมักจะมีไม่เพียงพอก่อให้เกิดการกู้หนี้ยืมสิน โดยส่วนใหญ่จะกู้เงินจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ แต่ก็มีหลายคนที่ กู้เงินจากพ่อค้าหรือเจ้าของกิจการโรงสีโชคถาวร นอกจากนี้ ยังมีบางรายที่กู้เงินจากญาติ เพื่อนบ้าน และธนาคารพาณิชย์ อื่น ๆ (หน้า 47-48) อาหารการกินที่ลาวโซ่งนิยม คือ แจ่ว-น้ำพริกปลาร้า แกงหน่อไม้เปรี้ยว-แกงส้มหน่อไม้ดองกับไก่หรือปลา แกงผำ-ผำ มีลักษณะคล้ายแหน มีสีเขียว นำมาแกงแบบแกงป่า ไม่ต้องใส่กะทิ, จุ๊บ-ยำผักชนิดต่างๆ เช่น ผักเปลาะ ผักบุ้ง, เลือดต้า - หมูสับหุ้มด้วยเลือดหมูสดเป็นก้อนๆ ปรุงด้วยเครื่อง, แกงคั้วะ - แกงเผ็ดใส่ลูกอ็อดตัวเล็ก ๆ แกงหยวก - แกงเผ็ดต้นกล้วยอ่น ๆ เป็นอาหารที่ใช้ในงานศพเท่านั้น ลูกเขียดเคล้าเกลือตากแห้ง - ทอดในน้ำมันให้กรอบ (หน้า 55) เหล้าแกลบ - ทำจากปลายข้าวกับแกลบ (หน้า 66), จุ๊บหน่อไม้ - ยำเครื่องในหมูกับหน่อไม้ดอง เครื่องปรุงมี พริกเผา หอมเผา น้ำปลาร้า เป็นอาหารสำคัญในการเซ่นผีเรือนจะขาดไม่ได้ (หน้า 68), จุ๊บหมู - ยำเนื้อหมูกับใบมะม่วงอ่อนและใบมะกอกอ่อน ถ้าไม่มีใบมะม่วงอาจใช้ใบเปลาะหรือดอกมะละกอหรือผักแว่น แต่ใบมะกอกอ่อนจะขาดไม่ได้ เพราะให้รสเปรี้ยว เครื่องปรุงมี พริกเผา หอมเผา และน้ำปลาร้า (หน้า 72)

Social Organization

ครอบครัวขยายมีถึงร้อยละ 57.86 ในขณะที่เป็นครอบครัวเดี่ยวร้อยละ 42.14 (หน้า 49) และครอบครัวเหล่านี้อาจจะอยู่ใน "สิง" (คล้ายแซ่ของจีน) เดียวกันหรือต่างกัน สิงที่อยู่ในสิงเดียวกันคือผู้ที่ถือ "ผีบรรพบุรุษ" เดียวกัน ซึ่งถือผีฝ่ายพ่อเป็นสำคัญ (patrilineal) และบิดาเป็นใหญ่ในครอบครัว ส่วนเขยนั้นถือว่าเป็นญาติต่างผีกัน (หน้า 144) มีการจัดลำดับชั้นทางสังคมโดยใช้วงศ์ตระกูลเป็นเกณฑ์ในการแบ่งชนชั้น คือ ชนชั้นผู้ท้าวและชนชั้นผู้น้อย แต่ชนชั้นของลาวโซ่งมีลักษณะเปิด เนื่องจากหนุ่มสาวจากสองชนชั้นสามารถแต่งงานกันได้ และไม่มีข้อห้ามเกี่ยวกับการแต่งงานกับบุคคลนอกกลุ่ม แต่ห้ามแต่งงานกับบุคคลที่มีสายโลหิตเดียวกันคืออยู่ในผีเดียวกัน ดังนั้นสถานภาพการเป็นผู้ท้าวหรือผู้น้อยก็สามารถเปลี่ยนแปลงได้โดยผ่านการแต่งงาน (หน้า 154) ลักษณะครอบครัวเป็นแบบผัวเดียวเมียเดียว (monogamy) การแต่งงานของลาวโซ่งดั้งเดิมจะต้องมีการ "อาสา" คือการที่ฝ่ายชายจะไปอยู่ช่วยทำงานให้กับครอบครัวของพ่อตาแม่ยายเพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระและเพิ่มผลผลิตในครอบครัว ตามระยะเวลาที่ได้ตกลงกันไว้ เมื่อครบตามกำหนดแล้วจึงนำภรรยาไปเข้าผีฝ่ายตน (หน้า 112) นอกจากนี้ยังได้อาศัยความเชื่อในการนับถือผีและสิ่งที่มีอำนาจเหนือธรรมชาติในการควบคุมพฤติกรรมของบุคคลในชุมชน ก่อให้เกิดความเป็นระเบียบในหมู่บ้าน (หน้า จ-ฉ) การอบรมเลี้ยงดูลูกนั้นถือเป็นหน้าที่ของแม่ แต่ถ้าเป็นเรื่องสำคัญพ่อจะเป็นผู้ตัดสินและลงโทษ และจะให้ความสำคัญกับลูกชายมากกว่าลูกสาว เพราะลูกชายจะเป็นผู้สืบผีบรรพบุรุษของตระกูล และยังให้ความสนใจกับลูกคนโตเป็นพิเศษอีกด้วย (หน้า 110-111) ลักษณะครอบครัวส่วนใหญ่เป็นครอบครัวขยาย (stem family) คือมีลักษณะหมุนเวียนจากครอบครัวเดี่ยวไปเป็นครอบครัวขยาย และจากครอบครัวขยายกลับมาเป็นครอบครัวเดี่ยวอีกครั้ง กล่าวคือ ในครอบครัวเดี่ยวจะประกอบด้วย พ่อ แม่ ลูก ต่อมาเมื่อลูกชายแต่งงานก็จะนำภรรยาเข้ามาอยู่ด้วย ทำให้ครอบครัวเดี่ยวกลายเป็นครอบครัวขยาย เมื่อมีลูกชายคนอื่นในครอบครัวแต่งงาน ลูกชายคนที่แต่งงานคนแรกก็จะแยกตัวออกมาปลูกบ้านอยู่ใกล้ ๆ บ้านเดิมของพ่อแม่ กลายเป็นครอบครัวเดี่ยว แต่ก็ยังมีความผูกพันกันในเครือญาติอยู่ (หน้า 49-50)

Political Organization

มีกรรมการหมู่บ้านที่มาจากการเลือกตั้งของชาวบ้าน ซึ่งเป็นบุคคลที่แต่งตั้งขึ้นจากทางภาครัฐ นอกจากนี้ ก็ยังมีคณะกรรมการศาลหมู่บ้าน โดยมีผู้ใหญ่บ้าน 2 คนเป็นหัวหน้า ซึ่งชาวบ้านจะให้การนับถือและเชื่อฟังคณะกรรมการศาลหมู่บ้านมากกว่าคณะกรรมการหมู่บ้านที่ทางการแต่งตั้ง ข่าวสารจากทางภาครัฐชาวบ้านรับรู้ผ่านทางผู้ใหญ่บ้านแทบทั้งสิ้น ส่วนเจ้าหน้าที่ราชการระดับอำเภอนั้น ชาวบ้านจะติดต่อด้วยเมื่อจำเป็นเท่านั้น โดยบางคนเวลาที่มาติดต่อราชการก็จะชวนผู้ใหญ่บ้านมาเพื่อช่วยพูดธุระของตนให้ ชาวบ้านมีความสนใจและตื่นตัวทางการเมืองในระดับต่ำ ไม่มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นทางการเมือง ค่านิยมทางการเมืองมีแนวโน้มยึดถือตัวบุคคลมากกว่านโยบายในการเลือกตั้งผู้นำในระดับต่างๆ (หน้า 60-61) และเนื่องจากในสังคมลาวโซ่งให้ความสำคัญกับลูกชายมาก ดังนั้นในการเลือกตั้งหรือกิจกรรมอื่นๆ ของหมู่บ้าน ก็มักจะมีผู้ชายออกมาแสดงความคิดเห็นมากกว่าผู้หญิงที่มักจะคล้อยตามพ่อหรือสามี (หน้า 121) และถึงแม้ว่าจะมีการแบ่งการปกครองออกเป็น 2 หมู่บ้าน แต่ก็ยังมีศาลผีประจำหมู่บ้านร่วมกัน และผู้ใหญ่บ้านก็ได้อาศัยความเชื่อเรื่องผีประจำหมู่บ้านเป็นเครื่องมือที่จะก่อให้เกิดความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในชุมชน (หน้า 156) และเนื่องจากลาวโซ่งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีวัฒนธรรมประจำกลุ่มที่ไม่ขัดแย้งกับวัฒนธรรมของชนส่วนใหญ่ จึงไม่ค่อยมีปัญหาในทางการเมืองสักเท่าไร (หน้า 166)

Belief System

มีความเชื่อดั้งเดิมเกี่ยวกับการนับถือผีและการบูชาบรรพบุรุษ (animism) โดยให้ความสำคัญกับพิธีกรรมตามความเชื่อดั้งเดิมมาก ซึ่งมีลักษณะบางอย่างที่คล้ายกับวัฒนธรรมจีน (หน้า จ) โดยได้นำเอาพุทธศาสนาไปเพิ่มจากความเชื่อเดิมของตนเท่านั้นมิได้ไปทดแทนของเดิม (หน้า 16) ลาวโซ่งมีความเชื่อว่า ผู้ที่ตายไปแล้วจะต้องไปเฝ้าแถน ซึ่งเป็นเทพเจ้าสูงสุด (หน้า 15) เชื่อว่าแถนเป็นผู้สร้างมนุษย์ให้เกิดมาและมีขวัญประจำตัว ถ้าตกใจหรือเจ็บป่วย ขวัญจะไม่อยู่กับตัว ต้องทำพิธีเรียกว่าขวัญที่เรียกว่า "สู่ขวัญ" และเมื่อคนตายแล้วขวัญก็จะออกจากร่างกายแยกย้ายไปอยู่ตามสถานที่ต่าง ๆ (หน้า 53) พิธีกรรมที่สำคัญได้แก่ พิธีเสนเรือน หมายถึง การเซ่นไหว้ผีเรือน คือ ผีบรรพบุรุษ ให้มากินเครื่องเซ่น ทำให้บรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้วไม่อดอยาก โดยจะทำในช่วง 2-3 ปีต่อครั้ง โดยมักนิยมทำในเดือน 4, 6, 12 และจะไม่นิยมทำในเดือน 5 เพราะถือว่าเป็นเดือนร้อน ส่วนเดือน 9-11 ก็จะไม่นิยมทำ เพราะเป็นช่วงที่ผีไปเฝ้าแถน (ผีฟ้า) และเลือกวันที่ไม่ตรงกับวันตาย วันเผา วันเก็บกระดูกของบรรพบุรุษ ลาวโซ่งจะมีห้องสำหรับผีบรรพบุรุษหรือผีเรือน เรียกว่า "กะล่อหอง" ผู้ที่ไม่ใช่เครือญาติเดียวกันจะเข้าไปไม่ได้ เพราะจะทำให้เจ้าของบ้านเจ็บป่วย (หน้า 64-67) การเซ่นนั้น หมอเสนจะฉีกใบตองสดเป็นแผ่นยาว ๆ เสียบเข้าไปในช่องเล็ก ๆ ที่เจาะไว้ข้างฝาห้องผีเรือน แล้วก็ใช้ตะเกียบคีบอาหารลงไปในช่องเล็ก ๆ นั้น (หน้า 71) หลังจากเซ่นผีเรียบร้อยแล้ว หมอเสนจะทำพิธี "แปงไท้" ให้กับลูกหลานผู้ชายที่อยู่ในบ้านเจ้าภาพทุกคน ทำให้อายุมั่นขวัญยืน โดยใช้ "ไต" สัญลักษณ์ของเด็กชายที่เสียบอยู่ในห้องผีเรือนมาให้ญาติผีเดียวกันใส่หมากพลู ข้าวสาร ข้าวเปลือกลงในไต แล้วนำเอาไปให้หมอเสนเซ่นผีไท้ (หน้า 74) พิธีศพ เสื้อฮีที่สวมให้ศพนี้จะต้องเอาด้านในออก เพื่อให้ผู้ตายได้แต่งกายสวยงามไปเฝ้าแถนบนเมืองฟ้า การมัดศพก็ผูกหัวแม่เท้าทั้ง 2 ข้างให้ติดกัน และตอนนำไปเผาก็จะต้องตัดด้ายสายสิญจน์ออก เพราะเชื่อว่าผู้ตายต้องเดินทางกลับไปสู่ถิ่นเดิม (หน้า 87) หลังจากนั้นก็จะทำพิธีซ่อนขวัญญาติผีเดียวกันที่ยังมีชีวิตอยู่ไม่ให้ไปกับผู้ตาย โดยให้ญาติผีเดียวกันเดินวนจากซ้ายไปขวารอบหีบศพ 3 รอบ เมื่อครบรอบที่ 3 จะมีหญิงชรามาดึงเอาตัวญาติผีเดียวกันออกไปทีละคนจนหมด ต่อจากนั้นก็จะมีผู้หญิง 2 คนถือสวิงที่ใส่เสื้อผ้าของญาติผีเดียวกัน คนละอันเดินวนรอบหีบศพ 2 รอบ เพื่อซ่อนขวัญญาติผีเดียวกันไม่ให้ตามไปกับผู้ตาย แล้วจึงแห่ศพไปยังที่เผาศพ โดยหันเท้าของศพไปทางเมืองลาว ตามปกติ ถ้าผู้ตายมีอายุต่ำกว่า 50 ปี จะเก็บศพไว้ 1 คืน โดยเผาและเก็บกระดูกในวันเดียวกัน แต่ถ้าผู้ตายมีอายุสูงกว่า 50-60 ปีขึ้นไป เรียกว่า ศพพ่อบ้านแม่เรือน จะเก็บศพไว้ 2 คืนเผาวันหนึ่งและเก็บกระดูกอีกวันหนึ่ง (หน้า 89-90) พิธีบูชาศาลหมู่บ้าน ในเวลาที่ชาวบ้านมีเรื่องทุกข์ร้อน ก่อนจะทำอะไร เวลามีพิธีกรรมใด หรือเดินทางออกนอกหมู่บ้านไกล ๆ ก็จะต้องบอกกล่าวให้ผีประจำหมู่บ้านทราบ เพื่อขอความคุ้มครองรักษา ดังนั้น จึงมีการเซ่นศาลเจ้าพ่อประจำหมู่บ้านเป็นประจำทุกปีมิได้ขาด โดยทำในเดือน 6 ข้างขึ้นในช่วง 1-6 ค่ำ (ประมาณต้นเดือนพฤษภาคม) โดยเลือกเอาวันที่ไม่ตรงกับวันพระ (หน้า 97-98) ชาวบ้านทุกครัวเรือนต้องมาทำพิธีเลี้ยงศาล ถ้าไม่มีใครในบ้านมาได้ ก็ต้องฝากอาหารคาวหวานแก่เพื่อนบ้านมาแทน (หน้า 103)

Education and Socialization

มีโรงเรียนประจำหมู่บ้าน 1 โรง คือโรงเรียนวัดสระสี่มุม ตั้งขึ้นใน พ.ศ. 2477 เป็นโรงเรียนระดับประถมศึกษา เปิดสอนตั้งแต่ชั้นประถมปีที่ 1 - 6 มีครู 20 คน ครูในโรงเรียนมีเพียงคนเดียวที่มีภูมิลำเนาอยู่ในหมู่บ้าน นอกนั้น เป็นครูจากหมู่บ้านอื่น โดยมีผู้ช่วยครูใหญ่เป็นลาวโซ่ง และมีครูอื่นๆ ที่เป็นลาวโซ่งอีก 5 คน มีนักเรียนทั้งหมด 431 คน (สถิติ 2528) เป็นชาย 236 คน หญิง 195 คน นักเรียนทั้งหมด 90 เปอร์เซ็นต์ เป็นลาวโซ่งจากบ้านสระและหมู่บ้านใกล้เคียง โดยทั่วไปลาวโซ่งในหมู่บ้านจะส่งลูกให้เข้าโรงเรียนตามเกณฑ์การศึกษาภาคบังคับ การศึกษาของประชากรส่วนใหญ่จบการศึกษาชั้นประถมปีที่ 4 แต่ผู้สูงอายุส่วนมากไม่ได้รับการศึกษา ส่วนในเด็กรุ่นใหม่จะมีการศึกษาในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ในโรงเรียนประจำอำเภอ และศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาในจังหวัดนครปฐมและกรุงเทพฯ ซึ่งส่วนมากก็จะเป็นลูกหลานของผู้ที่ฐานะดีเท่านั้น และคนที่มีการศึกษาสูง มักจะไม่กลับมาอยู่ในหมู่บ้าน (หน้า 37)

Health and Medicine

นอกจากการรักษาด้วยแพทย์แผนปัจจุบันทั่วไป ลาวโซ่งที่บ้านสระก็ยังคงมีการรัษาตามแบบของลาวโซ่งอยู่ทั่วไป ผู้ทำหน้าที่รักษาเรียกว่า "หมอมด" (ผู้ชาย) หรือ "แม่มด" (ผู้หญิง) ซึ่งรักษาโดยการเจรจากับผีที่ทำให้เกิดโรคต่าง ๆ และเซ่นสรวงเพื่อให้ผีร้ายออกจากร่างของผู้ป่วย รวมถึงการรับขวัญหลังจากหายเจ็บป่วยแล้ว การรักษาแบบโบราณนี้ก็รักษาควบคู่ไปกับการรักษาแบบใหม่ แต่ชาวบ้านมักเชื่อง่าการรักษาแบบโบราณมีโอกาสหายมากกว่าการรักษาแผนปัจจุบัน (หน้า 38-39) นอกจากนี้ ชาวบ้านยังเชื่อว่า น้ำมนต์และน้ำมันมะพร้าวที่ได้จากการเลี้ยงศาลประจำหมู่บ้านสามารถใช้กินแก้โรคต่าง ๆ ได้ (หน้า 105,108) หมู่บ้านบ้านสระมีสถานีอนามัยประจำหมู่บ้าน 1 แห่ง มีเจ้าหน้าที่ 2 คน ให้การรักษาโรคต่าง ๆ ที่ไม่รุนแรง รวมถึงการฉีดวัคซีนป้องกันโรคต่าง ๆ (หน้า 38)

Art and Crafts (including Clothing Costume)

ลักษณะบ้านเรือนของลาวโซ่งนั้น ตัวบ้านเป็นเรือนไม้ยกพื้นสูงประมาณ 1.5 เมตร ที่มุมห้องด้านในสุดแบ่งเป็น 3 ห้อง คือ ห้องผีบรรพบุรุษ เรียกว่า "กะล่อห้อง" ซึ่งจะใช้ฝากั้น ส่วนอีก 2 ห้อง คือ ห้องกลาง และห้องผีมด บ้านที่มีฐานะดีจะกั้นด้วยฝา แต่ส่วนใหญ่แล้วจะไม่กั้นด้วยฝา โดยจะแบ่งจากเสาเรือนเป็นหลัก นอกจากนั้น ยังมีนอกชานกว้างมีไม้ระแนวกั้น หลังคาบ้านส่วนใหญ่มุงด้วยสังกะสี มีบางส่วนมุงด้วยกระเบื้อง และมีส่วนน้อยที่มุงด้วยแฝก (หน้า 31) เสื้อผ้าในชีวิตประจำวัน : - ผู้ชาย สวมเสื้อแขนยาวทรงกระบอกสีดำรัดข้อมือ ผ่าหน้าติดกระดุมเงินประมาณ 10-15 เม็ด (หรือมากกว่านั้น) เรียกว่า "เสื้อไท" และนุ่งกางเกงขาสั้นสีดำหรือสีคราม เรียกว่า "ช่วงขาเต้น" - ผู้หญิง สวมเสื้อแขนยาวทรงกระบอกสีดำรัดข้อมือ ผ่าหน้า ติดกระดุมเงินประมาณ 9-10 เม็ด (หรือมากกว่านั้น) เรียกว่า "เสื้อก้อม" นุ่งผ้าซิ่นสีดำหรือสีครามเข้ม มีลายขาวเป็นทางลงสลับดำคล้ายลายบนผลแตงโม มีเชิงผ้าเป็นขอบขวางกว้างประมาณ 2-3 นิ้ว (ถ้าสามีตายจะเอาเชิงออก) วิธีนุ่งซิ่นของลาวโซ่งจะไม่ขมวดชายพกไว้ด้านข้างของเอว แต่จับผ้ามาทบกันตรงกลางให้จีบแยกจากกันแล้วขมวดไว้ตรงหน้าท้องหรือใช้เข็มขัดคาดแล้วดึงซิ่นข้างหน้าให้สูงกว่าด้านหลังมาก เพื่อความสะดวกในการเดินและทำงาน ผู้หญิงลาวโซ่งที่แต่งงานแล้วยังนิยมคาดอกด้วยผ้าคาดอก เรียกว่า "ผ้าเบี่ยว" ซึ่งทำด้วยผ้าฝ้ายสีดำหรือสีครามแก่ มีความกว้างประมาณ 6 นิ้ว ยาวประมาณ 1 เมตร ที่ริมด้านหนึ่งปักลวดลายแบบโซ่ง ผ้าเบี่ยวเป็นผ้าสารพัดประโยชน์เช่นเดียวกับผ้าขาวม้า คือใช้คาดอกเวลาร้อน ใช้คลุมศีรษะกันแดดกันฝน หรือใช้คลุมไหล่ หรือห่มเฉียงไหล่ทับเสื้อก้อมเวลาไปวัดหรือมีงานพิธีต่าง ๆ เสื้อผ้าในโอกาสพิเศษ : - ผู้ชาย นุ่งกางเกงขายาวสีดำ เรียกว่า "ช่วงขาฮี" สวมเสื้อที่ในโอกาสพิเศษ เรียกว่า "เสื้อฮี" ทำด้วยผ้าฝ้ายย้อมคราม ตัวเสื้อเข้ารูปเล็กน้อย ผ่าหน้าตลอด ความยาวคลุมสะโพก ทางด้านข้างของตัวเสื้อจะฝ่าข้างขึ้นมาถึงเอว คอเสื้อเป็นคอกลม กุ๊นรอบคอด้วยผ้าไหมสีแดงแล้วเดินเส้นทับด้วยผ้าไหมสีแสด เขียว และสีขาว ตรงคอเสื้อมีกระดุมติดคล้องไว้ 1 เม็ด แขนเสื้อเป็นแขนยาวทรงกระบอก ปักตกแต่งรักแร้และด้านข้างของตัวเสื้อด้วยเศษไหมสีต่างๆ พร้อมทั้งติดกระจกชิ้นเล็ก ๆ ตามลวดลาย - ผู้หญิง เสื้อฮีของผู้หญิงใหญ่กว่าของผู้ชายมาก เป็นเสื้อแขนสามส่วนทรงกระบอกคอแหลมลึกใช้สวมหัว ใช้เศษผ้าสีต่าง ๆ มาตกแต่งด้านหน้าของเสื้อ นิยมปักตกแต่งปลายแขนด้วยไหมสีแดง สีแสด สีเขียว และสีขาว เวลาใส่เสื้อฮีนั้นมักสวมทับเสื้อผ้าที่ใช้อยู่ปกติอีกทีหนึ่ง แต่ถ้าอากาศร้อนก็อาจใช้พาดผ่าหรือเคียนเอวหรือผูกทับไปกับผ้าเบี่ยวก็ได้ เพียงเพื่อให้เป็นเครื่องหมายว่า ได้สวมเสื้อฮีไว้แล้ว ในด้านทรงผมของผู้ชายลาวโซ่ง นิยมตัดผมสั้นเกรียนติดหนังศีรษะและนิยมสักตามตัว แขน และขา เพื่อความสวยงาม ส่วนผู้หญิงก็ไว้ผมยาวเกล้ามวย ถ้าเป็นวัยสาวจะเกล้ามวยสูง ถ้าแต่งงานแล้วจะเกล้ามวยต่ำ โดยจะใช้ปิ่นเสียบไม่ให้ผมหลุดลุ่ยลงมา ปิ่นปักทำด้วยเงินหรือนาค ส่วนเครื่องประดับนั้นนิยมเครื่องประดับที่ทำด้วยเงิน ทอง นาค มากกว่าเพชรพลอย เครื่องประดับที่มักใช้กันทุกคนคือต่างหู และกำไลมือ การแต่งกายแบบลาวโซ่งนี้ในปัจจุบันนี้จะเห็นได้จากผู้สูงอายุหรือผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป หรือในโอกาสพิเศษเท่านั้น (หน้า 55-57) นอกจากนี้ยังมีเสื้อไว้ทุกข์ ซึ่งทำด้วยผ้าดิบสีขาวคอแหลม แขนสั้น ไม่ต้องเย็บให้เรียบร้อย และโพกหัวด้วยผ้าดิบสีขาว (หน้า 87) และลูกชายของผู้ตายจะต้องโกนศีรษะ ส่วนลูกสาวและลูกสะใภ้จะเกล้ามวยต่ำ ไม่ผัดหน้าทาแป้ง (หน้า 95) นอกจากนี้ ยังมีเครื่องใช้ไม้สอยของลาวโซ่งแบบดั้งเดิมที่ยังคงใช้ในชีวิตประจำวันและพิธีต่าง ๆ คือ "กะแอบ" ใช้ใส่ข้างเหนียวที่สุกแล้วทำให้ข้าวเหนียวอุ่นอยู่เป็นเวลานาน ในอดีตทำด้วยไม้ขุด แต่ปัจจุบันทำด้วยไม่ไผ่สาน เป็นภาชนะมีผาปิดและหูหิ้ว "กะเหล็บ" เป็นเครื่องสานจากไม้ไผ่และหวายคล้ายตะกร้าแต่เรียวกว่า ก้นสอบ ปากเป็นกระพุ้งเล็กน้อย เป็นเครื่องใช้เอนกประสงค์ มีหลายขนาดตามแต่วัตถุประสงค์ในการใช้ "ขมุก" เป็นเครื่องจักสานใช้สำหรับเก็บของมีลักษณะคล้ายหีบมีฝาปิด ลาวโซ่งใช้ใส่เสื้อผ้าที่ใช้ในโอกาสสำคัญ เช่น เสื้อฮี รวมทั้งของมีค่าอื่น ๆ "ปานเสน" เป็นภาชนะที่ใช้ใส่เครื่องเซ่นในพิธีเสนต่าง ๆ ห้ามนำมาใช้ในชีวิตประจำวัน มีลักษณะคล้ายตะลุ่ม 2 ชั้น โดยชั้นล่างใส่อาหารคาว ชั้นบนใส่อาหารหวาน ทำจากหวายขัดไป-มาอย่างหยาบ มีขาสูงประมาณ 1-2 นิ้ว ส่วนมากจะมีขนาดใหญ่ "ปานเผือน" เป็นปานเสนอีกชนิดหนึ่งแต่มีลักษณะใหญ่กว่าปานเสนมาก ใช้ใส่อาหารทำพิธีเซ่นผีเรือน ทำจากหวายหรือไม้ไผ่สานขัดเป็นลวดลายคล้ายเข่ง แต่ต่างจากลวดลายของปานเสน "ซ้าไก่ไถ่" คือตะกร้าหวายขนาดใหญ่ มีลักษณะคล้ายเข่ง มีหู 2 หู สานด้วยหวายหรือไม้ไผ่อย่างหยาบ ๆ ใช้ใส่เครื่องเซ่นในพิธีเสนเป่าปี่หรือเสนเสดาะเคราะห์ต่ออายุผู้ป่วย "ตาเหลว" (เฉลว) คือเครื่องสานที่ใช้ปัก 4 มุมบ้านเพื่อกันไม่ให้ผีอื่นเข้ามาในบ้านขณะที่ทำพิธีเซ่นสรวงผีบรรพบุรุษ ทำด้วยไม้ไผ่สานหยาบ ๆ เป็นรูป 5 เหลี่ยมหรือ 6 เหลี่ยม และมีก้านสำหรับปักกับพื้น "ไม้ทู" เป็นตะเกียบที่ใช้ในพิธีเสนต่างๆ ทำจากไม้รวกเหลาและเกลาให้มีรูปร่างคล้ายตะเกียบของจีน และจะไม่นำไม้ทูมาใช้ในชีวิตประจำวัน "ไม้มอ" เป็นไม้เสี่ยงทาย มีทั้งหมด 20 อัน ใส่ไว้ในกระบอกไม้ไผ่ เป็นไม้ชิ้นเล็ก ๆ ยาวประมาณ 8 นิ้ว "ไต" คือเครื่องจักสานจากไม้ไผ่ มีลักษณะคล้ายตะกร้าขนาดเล็กประมาณ 3-4 นิ้ว ใช้เป็นสัญลักษณ์แทนเด็กชาย พ่อแม่จะทำให้เด็กชายลาวโซ่งทุกคนตั้งแต่แรกเกิด "หอยา" คือสัญลักษณ์แทนตัวเด็กหญิง พ่อแม่จะทำให้เด็กหญิงที่เกิดใหม่ โดยทำจากใบตาลพันสอดสลับไปมาคล้ายวงโซ่ต่อกันเป็นชั้น ๆ เหมือนรูปกรวย (หน้า 58-60)

Folklore

ไม่มีข้อมูล

Ethnicity (Ethnic Identity, Boundaries and Ethnic Relation)

ลาวโซ่งมีพิธีกรรมต่าง ๆ ที่แสดงความแตกต่างจากคนไทยโดยทั่วไป ซึ่งแสดงสัญลักษณ์ความเป็นลาวโซ่ง อย่างเช่น พิธีเสนเรือน และแม้ว่าลาวโซ่งจะปฏิบัติพิธีทางพุทธศาสนาแบบคนไทย แต่ผู้มาร่วมงานพิธีกรรมนั้นยังคงแสดงเอกลักษณ์ของกลุ่มไว้ โดยการแต่งกายแบบลาวโซ่ง (หน้า 63)

Social Cultural and Identity Change

ลาวโซ่งบ้านสระได้นำเอาความเชื่อทางพุทธศาสนาเข้ามาผสมผสานกับความเชื่อดั้งเดิม โดยหลีกเลี่ยงไม่ให้ขัดแย้งกัน (หน้า 55) แม้แต่ในพิธีศพก็มีการให้พระสงฆ์มาเดินนำหน้าขบวนศพคู่ไปกับผู้ดำเนินพิธี หน้า 90) การแต่งกายและการไว้ทรงผมในชีวิตประจำวันที่เป็นเอกลักษณ์ของลาวโซ่งมักจะพบในผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป ส่วนเด็กวัยรุ่นหรือคนหนุ่ม-สาว ก็แต่งกายและไว้ทรงผมแบบคนไทยภาคกลางทั่วไป แต่เวลามีพิธีกรรมต่าง ๆ ทุกคนก็ยังแต่งกายตามแบบประเพณีเดิมอยู่ (หน้า 57) ในพิธีเสนเรือนในอดีต เจ้าภาพจะต้องหมักเหล้าแกลบ เพื่อใช้เซ่นผีเรือนและเลี้ยงแขก แต่ปัจจุบันใช้เหล้าที่มีขายอยู่ตามท้องตลาดแทน (หน้า 66) การเล่นคอน ซึ่งเป็นการเกี้ยวพาราสีของหนุ่ม-สาวลาวโซ่งนั้นมีน้อยลง ปัจจุบัน หนุ่ม-สาวมักเกี้ยวพาราสีกันตามงานพิธีกรรมและงานรื่นเริงต่างๆ ของหมู่บ้าน (หน้า 79) การอาสาของเจ้าบ่าวในปัจจุบันมีน้อยมาก เมื่อแต่งงานเสร็จก็ทำพิธีแต่งลูกสะใภ้ แล้วฝ่ายเจ้าบ่าวก็จะรับเจ้าสาวมาอยู่บ้านพ่อ-แม่เจ้าบ่าวเลย (หน้า 84)

Critic Issues

ไม่มีข้อมูล

Other Issues

ไม่มี

Text Analyst ชมพรรณ จันทิมา Date of Report 05 ต.ค. 2549
TAG ลาวโซ่ง, พิธีกรรม, โครงสร้างทางสังคม, นครปฐม, Translator -
 
 

 

ฐานข้อมูลอื่นๆของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
  ฐานข้อมูลพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทย
จารึกในประเทศไทย
จดหมายเหตุทางมานุษยวิทยา
แหล่งโบราณคดีที่สำคัญในประเทศไทย
หนังสือเก่าชาวสยาม
ข่าวมานุษยวิทยา
ICH Learning Resources
ฐานข้อมูลเอกสารโบราณภูมิภาคตะวันตกในประเทศไทย
ฐานข้อมูลประเพณีท้องถิ่นในประเทศไทย
ฐานข้อมูลสังคม - วัฒนธรรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  หน้าหลัก
งานวิจัยชาติพันธุ์ในประเทศไทย
บทความชาติพันธุ์
ข่าวชาติพันธุ์
เครือข่ายชาติพันธุ์
เกี่ยวกับเรา
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  ข้อมูลโครงการ
ทีมงาน
ติดต่อเรา
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
ช่วยเหลือ
  กฏกติกาและมารยาท
แบบสอบถาม
คำถามที่พบบ่อย


ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) เลขที่ 20 ถนนบรมราชชนนี เขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ 10170 
Tel. +66 2 8809429 | Fax. +66 2 8809332 | E-mail. webmaster@sac.or.th 
สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2549    |   เงื่อนไขและข้อตกลง