สมัครสมาชิก   
| |
ค้นหาข้อมูล
ค้นหาแบบละเอียด
  •   ความเป็นมาและหลักเหตุผล

    เพื่อรวบรวมงานวิจัยทางชาติพันธุ์ที่มีคุณภาพมาสกัดสาระสำคัญในเชิงมานุษยวิทยาและเผยแผ่สาระงานวิจัยแก่นักวิชาการ นักศึกษานักเรียนและผู้สนใจให้เข้าถึงงานวิจัยทางชาติพันธุ์ได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น

  •   ฐานข้อมูลจำแนกกลุ่มชาติพันธุ์ตามชื่อเรียกที่คนในใช้เรียกตนเอง ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้ คือ

    1. ชื่อเรียกที่ “คนอื่น” ใช้มักเป็นชื่อที่มีนัยในทางเหยียดหยาม ทำให้สมาชิกกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ รู้สึกไม่ดี อยากจะใช้ชื่อที่เรียกตนเองมากกว่า ซึ่งคณะทำงานมองว่าน่าจะเป็น “สิทธิพื้นฐาน” ของการเป็นมนุษย์

    2. ชื่อเรียกชาติพันธุ์ของตนเองมีความชัดเจนว่าหมายถึงใคร มีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมอย่างไร และตั้งถิ่นฐานอยู่แห่งใดมากกว่าชื่อที่คนอื่นเรียก ซึ่งมักจะมีความหมายเลื่อนลอย ไม่แน่ชัดว่าหมายถึงใคร 

     

    ภาพ-เยาวชนปกาเกอะญอ บ้านมอวาคี จ.เชียงใหม่

  •  

    จากการรวบรวมงานวิจัยในฐานข้อมูลและหลักการจำแนกชื่อเรียกชาติพันธุ์ที่คนในใช้เรียกตนเอง พบว่า ประเทศไทยมีกลุ่มชาติพันธุ์มากกว่า 62 กลุ่ม


    ภาพ-สุภาษิตปกาเกอะญอ
  •   การจำแนกกลุ่มชนมีลักษณะพิเศษกว่าการจำแนกสรรพสิ่งอื่นๆ

    เพราะกลุ่มชนต่างๆ มีความรู้สึกนึกคิดและภาษาที่จะแสดงออกมาได้ว่า “คิดหรือรู้สึกว่าตัวเองเป็นใคร” ซึ่งการจำแนกตนเองนี้ อาจแตกต่างไปจากที่คนนอกจำแนกให้ ในการศึกษาเรื่องนี้นักมานุษยวิทยาจึงต้องเพิ่มมุมมองเรื่องจิตสำนึกและชื่อเรียกตัวเองของคนในกลุ่มชาติพันธุ์ 

    ภาพ-สลากย้อม งานบุญของยอง จ.ลำพูน
  •   มโนทัศน์ความหมายกลุ่มชาติพันธุ์มีการเปลี่ยนแปลงในช่วงเวลาต่างๆ กัน

    ในช่วงทศวรรษของ 2490-2510 ในสาขาวิชามานุษยวิทยา “กลุ่มชาติพันธุ์” คือ กลุ่มชนที่มีวัฒนธรรมเฉพาะแตกต่างจากกลุ่มชนอื่นๆ ซึ่งมักจะเป็นการกำหนดในเชิงวัตถุวิสัย โดยนักมานุษยวิทยาซึ่งสนใจในเรื่องมนุษย์และวัฒนธรรม

    แต่ความหมายของ “กลุ่มชาติพันธุ์” ในช่วงหลังทศวรรษ 
    2510 ได้เน้นไปที่จิตสำนึกในการจำแนกชาติพันธุ์บนพื้นฐานของความแตกต่างทางวัฒนธรรมโดยตัวสมาชิกชาติพันธุ์แต่ละกลุ่มเป็นสำคัญ... (อ่านเพิ่มใน เกี่ยวกับโครงการ/คู่มือการใช้)


    ภาพ-หาดราไวย์ จ.ภูเก็ต บ้านของอูรักลาโว้ย
  •   สนุก

    วิชาคอมพิวเตอร์ของนักเรียน
    ปกาเกอะญอ  อ. แม่ลาน้อย
    จ. แม่ฮ่องสอน


    ภาพโดย อาทิตย์    ทองดุศรี

  •   ข้าวไร่

    ผลิตผลจากไร่หมุนเวียน
    ของชาวโผล่ว (กะเหรี่ยงโปว์)   
    ต. ไล่โว่    อ.สังขละบุรี  
    จ. กาญจนบุรี

  •   ด้าย

    แม่บ้านปกาเกอะญอ
    เตรียมด้ายทอผ้า
    หินลาดใน  จ. เชียงราย

    ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ถั่วเน่า

    อาหารและเครื่องปรุงหลัก
    ของคนไต(ไทใหญ่)
    จ.แม่ฮ่องสอน

     ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ผู้หญิง

    โผล่ว(กะเหรี่ยงโปว์)
    บ้านไล่โว่ 
    อ.สังขละบุรี
    จ. กาญจนบุรี

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   บุญ

    ประเพณีบุญข้าวใหม่
    ชาวโผล่ว    ต. ไล่โว่
    อ.สังขละบุรี  จ.กาญจนบุรี

    ภาพโดยศรยุทธ  เอี่ยมเอื้อยุทธ

  •   ปอยส่างลอง แม่ฮ่องสอน

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ปอยส่างลอง

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดย เบญจพล  วรรณถนอม
  •   อลอง

    จากพุทธประวัติ เจ้าชายสิทธัตถะ
    ทรงละทิ้งทรัพย์ศฤงคารเข้าสู่
    ร่มกาสาวพัสตร์เพื่อแสวงหา
    มรรคผลนิพพาน


    ภาพโดย  ดอกรัก  พยัคศรี

  •   สามเณร

    จากส่างลองสู่สามเณร
    บวชเรียนพระธรรมภาคฤดูร้อน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   พระพาราละแข่ง วัดหัวเวียง จ. แม่ฮ่องสอน

    หล่อจำลองจาก “พระมหามุนี” 
    ณ เมืองมัณฑะเลย์ ประเทศพม่า
    ชาวแม่ฮ่องสอนถือว่าเป็นพระพุทธรูป
    คู่บ้านคู่เมืององค์หนึ่ง

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม

  •   เมตตา

    จิตรกรรมพุทธประวัติศิลปะไต
    วัดจองคำ-จองกลาง
    จ. แม่ฮ่องสอน
  •   วัดจองคำ-จองกลาง จ. แม่ฮ่องสอน


    เสมือนสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรม
    เมืองไตแม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ใส

    ม้งวัยเยาว์ ณ บ้านกิ่วกาญจน์
    ต. ริมโขง อ. เชียงของ
    จ. เชียงราย
  •   ยิ้ม

    แม้ชาวเลจะประสบปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัย
    พื้นที่ทำประมง  แต่ด้วยความหวัง....
    ทำให้วันนี้ยังยิ้มได้

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ผสมผสาน

    อาภรณ์ผสานผสมระหว่างผ้าทอปกาเกอญอกับเสื้อยืดจากสังคมเมือง
    บ้านแม่ลาน้อย จ. แม่ฮ่องสอน
    ภาพโดย อาทิตย์ ทองดุศรี
  •   เกาะหลีเป๊ะ จ. สตูล

    แผนที่ในเกาะหลีเป๊ะ 
    ถิ่นเดิมของชาวเลที่ ณ วันนี้
    ถูกโอบล้อมด้วยรีสอร์ทการท่องเที่ยว
  •   ตะวันรุ่งที่ไล่โว่ จ. กาญจนบุรี

    ไล่โว่ หรือที่แปลเป็นภาษาไทยว่า ผาหินแดง เป็นชุมชนคนโผล่งที่แวดล้อมด้วยขุนเขาและผืนป่า 
    อาณาเขตของตำบลไล่โว่เป็นส่วนหนึ่งของป่าทุ่งใหญ่นเรศวรแถบอำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี 

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   การแข่งขันยิงหน้าไม้ของอาข่า

    การแข่งขันยิงหน้าไม้ในเทศกาลโล้ชิงช้าของอาข่า ในวันที่ 13 กันยายน 2554 ที่บ้านสามแยกอีก้อ อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย
 
  Princess Maha Chakri Sirindhorn Anthropology Centre
Ethnic Groups Research Database
Sorted by date | title

   Record

 
Subject มอญ,วิถีชีวิต,ความเป็นอยู่,การเปลี่ยนแปลงของสังคม,วัฒนธรรม,นนทบุรี
Author ณัฐประวีณ ศรีทรัพย์
Title การเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรม และการธำรงเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรม ของชาวมอญ : ศีกษากรณีชุมชนมอญบ้านลัดเกร็ด ตำบลเกาะเกร็ด อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี
Document Type วิทยานิพนธ์ Original Language of Text ภาษาไทย
Ethnic Identity มอญ รมัน รามัญ, Language and Linguistic Affiliations ออสโตรเอเชียติก(Austroasiatic)
Location of
Documents
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร Total Pages 199 Year 2537
Source ภาควิชาสังคมวิทยา และมานุษยวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
Abstract

เป็นการศึกษาถึงการเกิดและการเปลี่ยนแปลงและวัฒนธรรมที่มาจากสถานที่ตั้งติดกับชุมชนใกล้เขตเมืองหลวงเป็นปัจจัยทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ง่าย ไม่ว่าจะเป็นทางด้านการศึกษา ด้านสาธารณูปโภคเน้นให้เห็นถึงการจัดการปกครอง ประกอบกับชุมชนบ้านลัดเกร็ดเป็นสังคมแบบเปิดทำให้พวกเขามีโอกาสในการอยู่ร่วมกันกับคนไทยในบริเวณใกล้เคียงไม่ว่าจะเป็นทางภาครัฐและเอกชนรวมไปถึงการปรับเปลี่ยนระบบเศรษฐกิจในด้านการผลิตแต่อีกส่วนหนึ่งที่ไม่เปลี่ยนแปลงไปคือการนับถือศาสนาที่เป็นจุดให้คนไทยกับคนมอญปรับตัวเข้ากันได้โดยง่ายยอมรับวัฒนธรรมซึ่งกันและกันผู้วิจัยได้ใช้หลักการพิจารณาที่ยังคงรักษาเอกลักษณ์ของพวกตนไว้ก็คือ ภาษา ศาสนา พิธีกรรมเพื่อคงความเป็นเอกลักษณ์การรวมกลุ่มกันเป็นปึกแผ่นเพื่อธำรงไว้ซึ่งความเป็นชนชาติมอญ ( หน้า 187-193, 195-196,199 )

Focus

เป็นการศึกษาวิถีการดำเนินชีวิตของมอญบ้านลัดเกร็ด ตำบลเกาะเกร็ด อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี เพื่อเน้นให้เห็นถึงชีวิตความเป็นอยู่ในสังคมปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นทางด้านสังคม การปกครอง เศรษฐกิจ รวมไปถึง เอกลักษณ์ทางวัฒนธรรม ที่เป็นจุดเด่นทางสังคมของมอญ ทั้งนี้ ยังได้ศึกษาถึงความเปลี่ยนแปลงทางสังคมวัฒนธรรมของมอญบ้านลัดเกร็ดอีกด้วย

Theoretical Issues

ไม่มี

Ethnic Group in the Focus

มอญ

Language and Linguistic Affiliations

ในการศึกษาระบุว่าภาษามอญเป็นภาษาที่จัดอยู่ในตระกูลภาษาโมนิค ซึ่งภาษาโมนิคนี้มีภาษาเขมรรวมอยู่ด้วยมอญมีภาษาเป็นของตนเองมีทั้งภาษาพูดและภาษาเขียนตัวอักษรของมอญมีที่มาจากอักษรอินเดียทางตอนใต้เพราะฉะนั้นรูปแบบตัวอักษรของมอญกับอักษรของชาวอินเดียทางตอนใต้จึงมีรูปแบบที่เหมือกัน ส่วนภาษาพูดของมอญที่ใช้พูดกันในปัจจุบันมีทั้งภาษามอญและภาษาไทย คนที่อยู่ในวัยกลางคนส่วนใหญ่จะพูดภาษามอญแต่พวกเด็ก ๆ ส่วนใหญ่แล้วจะใช้ภาษาไทยเด็ก ๆ ในสมัยปัจจุบันพูดภาษามอญไม่ได้ โดยให้เหตุผลที่ว่าภาษามอญเป็นภาษาที่พูดยากและเคยชินกับภาษาไทยมากกว่า (หน้า 34 ,138-139 )

Study Period (Data Collection)

กรกฎาคม 2536-กรกฎาคม 2537

History of the Group and Community

เดิมทีบริเวณปากเกล็ดเป็นที่อาศัยของคนไทย เป็นด่านสำหรับตรวจดูแลสิ่งของต้องห้าม ที่ผ่านเข้ามาในกรุงศรีอยุธยา ครั้นต่อมาปี 2310 พม่าตีกรุงศรีอยุธยาแตกได้เข้ามายึดบ้านปากเกล็ดและด่านขนอนไว้สมัยพระเจ้ากรุงธนบุรีได้กอบกู้อิสรภาพคืนจากพม่าได้และสถาปนากรุงธนบุรีเป็นราชธานี ขณะนั้นทางเมืองมอญถูกพม่าเผาทำลายบ้านเรือน มอญบางส่วนหนีอพยพเข้ามาพึ่งบรมโพธิสมภารจากกษัตริย์ไทยในปี 2317 พระเจ้ากรุงธนบุรีโปรดเกล้าฯ ให้มอญตั้งบ้านเรือนอยู่ที่บ้านปากเกล็ดแขวงเมืองธนบุรี อีกส่วนหนึ่งให้ไปอยู่ที่สามโคก แขวงเมืองปทุมธานี จึงเกิดชุมชนมอญขึ้นที่ด่านปากเกล็ดแห่งนี้ มอญกลุ่มนี้จึงทำหน้าที่เป็นนายด่าน คอยตรวจตราไม่ให้พม่ามาตีกรุงธนบุรี และทำหน้าที่นี้เรื่อยมาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น มอญจึงมีบทบาทในการทำศึกษาสงครามการปกป้องเอกราชของไทยมาโดยตลอด จากนั้นมีการอพยพของมอญเข้ามาอยู่ในไทยอีกครั้งหนึ่ง เมื่อมอญที่อยู่ในประเทศพม่าถูกชาวพม่ารุกราน ได้รับคามเดือนร้อนและได้หนีเข้ามาในไทยรัชกาลที่ 3 ในปี 2358 โดยเดินทางเข้ามาอยู่ 3 ทาง คือ ทางอุทัยธานี ด่านเจดีย์ 3 องค์ และเมืองตาก มอญกลุ่มนี้จึงตั้งภูมิลำเนาอยู่ที่ปากเกล็ด นนทบุรีบ้าง ปทุมธานีบ้าง และอยู่อาศัยมาจนถึงปัจจุบันนี้ มอญส่วนใหญ่จะอาศัยอยู่กันเป็นกลุ่มมีวิถีการดำเนินที่เรียบง่าย สำหรับมอญบ้านปากเกล็ดได้ยึดอาชีพการทำเครื่องปั้นดินเผา (หน้า 38-42)

Settlement Pattern

การตั้งบ้านเรือนของมอญจะมีอยู่ 2 ลักษณะ คือ ลักษณะแรกจะเป็นการตั้งบ้านเรือนอยู่เรียงรายตามริมน้ำ อีกส่วนหนึ่งจะตั้งบ้านเรือนอยู่กันเป็นกลุ่ม ซึ่งการตั้งบ้านเรือนในลักษณะแรก มอญถือว่าบรรพบุรุษของพวกเขาอพยพมาจากทางทิศเหนือ มีวิถีชีวิตผูกพันกับแม่น้ำ การตั้งบ้านเรือนอยู่ริมน้ำสะดวกต่อการประกอบอาชีพการทำเครื่องปั้นดินเผาซึ่งเป็นอาชีพที่เก่าแก่มาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษ การสร้างบ้านอยู่ตามริมน้ำจะได้สะดวกต่อการขนส่งวัตถุดิบ การสร้างบ้านแบบที่ 2 นั้น นิยมปลูกบ้านติดกัน ญาติพี่น้องเดียวกันจะปลูกบ้านอยู่ใกล้ ๆ กัน บางบ้านหลังคาเกือบติดกันทำให้ดูไม่เป็นระเบียบมากนัก คนมอญส่วนใหญ่ถ้าแต่งงานไปมีครอบครัว พวกเขาจะนิยมปลูกบ้านอยู่ใกล้พ่อใกล้แม่ของตนเอง เพราะจะได้คอยช่วยเหลือพ่อแม่การทำงานต่างๆ รูปแบบการสร้างบ้านของมอญจะเป็นแบบยกพื้นสูง เสาจะสูงประมาณ 2-3 เมตร เป็นบ้านชั้นเดียว ใต้ถุนโล่ง ตัวบ้านแบ่งเป็นสัดเป็นส่วนที่ชัดเจน มีชานยื่นออกมาตามริมน้ำ ใช้เป็นที่นั่งเล่นพักผ่อนกัน มีบันไดไว้สำหรับลงไปอาบน้ำ และไว้ใช้ประโยชน์จากลำน้ำ ใน การปลูกบ้านของมอญ มอญจะหาวันที่ดีในการปลูกบ้าน การหาวันเป็นสิ่งที่สำคัญมาก พวกเขาจะหาวันที่เป็นมงคลในการสร้างบ้านใหม่ และทิศทางการปลูกบ้านต้องเลือกให้ถูกทิศถูกทางด้วยไม่อย่างนั้นจะทำให้คนในบ้านเกิดการเจ็บป่วยได้ เพราะพวกเขามีความเชื่อในเรื่องการเลือกทิศทางในการปลูกบ้านมาก ถ้าเลือกวันและเดือนดี จะทำให้บ้านนั้นมีเงินมีทองอยู่กันอย่างมีความสุขแต่ถ้าเลือกวันไม่ดีบ้านนั้นก็จะเกิดทุกข์บางครั้ง และอาจทำให้เกิดความหายนะได้ (หน้า 50-54 )

Demography

ในการศึกษากล่าวว่าชุมชนมอญบ้านลัดเกร็ดมีจำนวน 135 ครัวเรือน ประชากรรวม 543 คน ชาย 261 คน หญิง 282 คน (ปี 2536 ) แบ่งแยกเป็นมอญโดยแท้ 90 ครัวเรือน และอีก 45 ครัวเรือนเป็นคนไทย (หน้า 55,56 )

Economy

มีพื้นฐานอาชีพมาจากการผลิตเครื่องปั้นดินเผา อาชีพการทำเครื่องปั้นดินเผาเป็นอาชีพที่สร้างรายได้ให้กับครอบครัวที่ยึดถือปฏิบัติมาตั้งแต่อดีตจนถึงสมัยปัจจุบัน โดยเฉพาะที่บ้านลัดเกร็ดแห่งนี้ ระบบเศรษฐกิจส่วนใหญ่จะเน้นระบบการผลิตเพื่อการขายเห็นได้จากการที่ได้ผลิตเครื่องปั้นดินเผาไม่ว่าจะเป็นโอ่งน้ำ อ่าง ครก หม้อน้ำลายวิจิตรที่เป็นสินค้าส่งออกไปจำหน่ายยังที่ต่าง ๆทั่วประเทศ แต่ในสมัยก่อนมอญบ้านลัดเกร็ดแห่งนี้จะปั้นหม้อดิน โอ่งน้ำไว้ใช้เอง ไม่ได้ทำเป็นการค้าเหมือนสมัยปัจจุบันนี้ หากบ้านใดไม่ได้ปั้นเครื่องปั้นดินเผาพวกเขาก็จะแบ่งปันกันใช้ บางครั้งก็นำสิ่งของมาแลกเปลี่ยนกัน อย่างบางคนมีเครื่องปั้นดินเผาก็จะนำมาแลกข้าวสาร อาหารต่าง ๆ เป็นต้น แต่ต่อมาก็เกิดการพัฒนาเป็นการผลิตที่เน้นการผลิตเพื่อการขายมากขึ้น มีพ่อค้าคนกลางมารับซื้อสินค้าในหมู่บ้าน ปัจจุบันนี้นอกจากมอญบ้านลัดเกร็ดจะทำเครื่องปั้นดินเผาแล้ว ยังมีอาชีพอีกหลายอาชีพที่ทำรายได้ให้กับครอบครัวก็คือการทำสวนผลไม้ การเข้ารับราชการ การทำงานโรงงาน รวมไปถึงการรับจ้างทั่วไปด้วย อย่างอาชีพรับราชการ อาชีพครู เป็นอาชีพที่นิยมกัน เพราะพวกเขาคิดว่าผู้ที่รับราชการ ส่วนใหญ่จะเป็นคนที่มีฐานะดี คนที่เรียนจบสูง ๆส่วนใหญ่ก็จะเข้ารับราการ อาชีพการทำสวนผลไม้ก็เป็นอีกอาชีพหนึ่งที่เป็นที่นิยมกัน ผลไม้ที่ปลูกกันส่วนใหญ่จะเป็นทุเรียน ชมพู่ มังคุด มะม่วง มะพร้าว ส้มโอ ส่วนทุเรียนถือเป็นพืชเศรษฐกิจที่ทำรายได้เป็นอย่างดี และขายได้ดีตลอดเวลาเพราะจะมีคนมาซื้อและรับจองไว้ตั้งแต่ผลทุเรียนยังไม่สุก อาชีพค้าขายเป็นอาชีพที่ทำรายได้ให้กับชุมชนเป็นจำนวนมากจึงทำให้เศรษฐกิจของมอญบ้านลัดเกร็ดดีและภายในหมู่บ้านก็ยังมีร้านขายของต่าง ๆ ในชุมชนอีกด้วยไม่ว่าจะเป็นร้านขายของชำ ร้านอาหาร จึงทำให้ระบบการค้าขายคึกคักเป็นอย่างมากในชุมชนมอญบ้านลัดเกร็ดแห่งนี้ โดยรวมแล้วถือว่าอาชีพค้าขายเป็นอาชีพที่สร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจของชุมชนมอญบ้านลัดเกร็ดนี้ได้อย่างดียิ่ง (หน้า 56-60 )

Social Organization

ครอบครัวส่วนใหญ่ของมอญลัดเกร็ดเป็นครอบครัวเดี่ยว มีพ่อแม่ลูก แต่เป็นระบบวัฎจักร คือเริ่มจากเป็นครอบครัวเดี่ยว แล้วไปสู่ครอบครัวขยาย เมื่อบุตรมีคู่สมรส เข้ามาอยู่ด้วย และกลับเป็นครอบครัวเดี่ยวอีกครั้ง เมื่อครอบครัวของลูกย้ายออกไป พ่อทำหน้าที่เป็นผู้นำของครอบครัว มีหน้าที่ในการตัดสินใจในเรื่องการดำรงชีวิต อบรมสั่งสอนลูกให้เป็นคนดี และทำงานหาเลี้ยงครอบครัว ส่วนมารดาจะทำงานช่วยสามี ช่วยแบ่งเบาภาระของครอบครัวและรับผิดชอบงานในครอบครัว (หน้า 61,62 ) การจัดตั้งชมรมเยาวชนมอญเป็นการรวมตัวกันของมอญที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยให้เกิดความรักและความสามัคคีในการอนุรักษ์ขนบธรรมเนียมประเพณีมอญให้คงอยู่ตลอดไป อีกสิ่งหนึ่งก็เพื่อเป็นการสร้างสันติภาพระหว่างมอญกับสังคมไทยให้มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ทั้งนี้เป็นการปลูกจิตสำนึกของความเป็นมอญให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น (หน้า 82,83)

Political Organization

ในอดีตที่ผ่านมามอญแต่ละหมู่บ้านจะเลือกผู้นำหรือหัวหน้าหมู่บ้านของตนขึ้นมาโดยคัดเลือกจากผู้อาวุโสที่มีเชื้อสายมอญซึ่งเป็นคนดีและเป็นคนที่ชาวบ้านเคารพนับถือ รู้หลักการประพฤติปฏิบัติตนตามจารีตประเพณี แล้วสามารถประกอบพิธีกรรมทางศาสนาได้ หัวหน้าหมู่บ้านจะมีหน้าที่ดูแลทุกข์สุขของชาวบ้าน หากในหมู่บ้านมีเรื่องทะเลาะเบาะแว้งกันหัวหน้าหมู่บ้านจะเป็นผู้ตัดสินคดีร่วมกับชาวบ้าน กฎระเบียบที่ชาวบ้านยึดถือและปฏิบัติกันมาคือกฎจารีตประเพณีที่เป็นบรรทัดฐานทำให้สังคมของมอญอาศัยอยู่ด้วยกันอย่างสงบสุข นอกจากจะมีผู้นำหมู่บ้านแล้ว ยังมีพระสงฆ์ที่มีบทบาทในการอบรมสั่งสอนขัดเกลาจิตใจให้คนเป็นคนดี ในสมัยของรัชกาลที่ 5 มีการปฏิรูปการปกครอง ให้มีนายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งเป็นคนมอญด้วย ในการปกครองระดับหมู่บ้าน ผู้ใหญ่บ้านต้องอยู่ในกฎของทางราชการ โดยมาจากการเลือกตั้งแบบเปิดเผย หรือเป็นแบบลงคะแนนเสียงแบบลับก็ได้ ผู้ใหญ่บ้านมีหน้าที่ดูแลความทุกข์สุขของประชากรในหมู่บ้าน คอยประสานงานกับทางราชการและคอยเป็นสื่อกลางนำข่าวสารมาแจ้งแก่ลูกบ้าน ทั้งนี้ผู้ใหญ่บ้านจะมีผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านมาทำหน้าที่ช่วยเหลือแบ่งเบาภาระการงาน และมีคณะกรรมการซึ่งผู้ใหญ่บ้านเป็นผู้เลือกตั้งร่วมกับชาวบ้านมาคอยช่วยเหลืองานในหมู่บ้านอีกแรงหนึ่ง ซึ่งระบบการปกครองในปัจจุบันของมอญ มีรูปแบบเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพ ในการออกเสียงการลงสมัครเลือกตั้งหากมีการเลือกผู้นำในหมู่บ้าน เขาจะออกมาลงคะแนนเสียงอย่างพร้อมเพียงกัน จะเห็นได้ว่ามอญจะอยู่ภายใต้บริบทของสังคมและวัฒนธรรมของไทย มีการปรับตัวเข้ากับสังคมไทย ยอมรับซึ่งกันและกัน โดยอยู่ภายใต้การปกครองของภาครัฐซึ่งทำให้มอญมีความคุ้นเคยกับทางราชการเพิ่มมากขึ้น (หน้า 72-84 )

Belief System

มอญบ้านลัดเกร็ดนับถือศาสนาพุทธ และเคร่งครัดในหลักธรรมคำสอน โดยจะปฏิบัติตามหลักพุทธศาสนา เห็นได้จากที่หมู่บ้านของมอญแต่ละแห่งจะมีวัดอยู่ทุกหมู่บ้าน เพราะมอญจะชอบทำบุญ อย่างในเทศกาลสำคัญที่เกี่ยวกับศาสนาพุทธเราจะพบเห็นมอญบ้านลัดเกร็ดมาทำบุญที่วัด แต่พวกเขายังมีความเชื่อเรื่องผีและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ด้วย มอญลัดเกร็ดเชื่อว่าถ้าพวกเขาบูชากราบไหว้ สิ่งศักดิ์สิทธิ์แล้วจะทำให้พวกเขาอยู่ดีมีสุข ประสบความสำเร็จในทุก ๆ สิ่ง หากพวกเขาไม่เคารพสิ่งศักดิ์สิทธิ์ก็จะทำให้ครอบครัวของพวกเขาเดือดร้อนได้ เห็นได้จากการที่มีความเชื่อเรื่องการทำเครื่องปั้นดินเผาของมอญบ้านลัดเกร็ด พวกเขาเชื่อว่า หากได้ทำพิธีบนบานศาลกล่าวต่อเจ้าแม่เตาเผาแล้วเครื่องปั้นดินเผาของพวกเขาจะไม่แตกเสียหาย เพราะการทำเครื่องปั้นดินเผานั้น เวลาเผาผู้ที่คอยดูแลเตาเผาต้องมีความชำนาญ และมีประสบการณ์ในการเรียงรายเครื่องปั้นดินเผาเข้าสู่เตาเผา ไม่เช่นนั้นเครื่องปั้นดินเผาจะแตก พวกเขาจึงทำพิธีเซ่นไหว้แม่เตาเผาขึ้น ในเรื่องพิธีกรรมที่เกี่ยวกับเครื่องปั้นดินเผานี้ เรียกว่า พิธีเซ่นไหว้แม่เตาเผา พิธีนี้ทำขึ้นมา 3 ครั้ง ต่อการเผาเครื่องปั้นดินเผา 1 เตา คือครั้งแรกก่อนการเรียงรายเครื่องปั้นเข้าสู่เตา มีการนำธูปเทียนดอกไม้มาถวายแก่เจ้าแม่เตาเผา ครั้งที่ 2 หลังจากนำเครื่องปั้นดินเผาใส่เตาครอบ 5 วัน จะนำเครื่องเซ่นอันได้แก่ ข้าวปากหม้อ ไข่ต้ม ขนมต้มแดง ขนมต้มขาว กล้วย 1 หวี มะพร้าวอ่อน 1 ลูก ธูป 7 ดอก เทียน 1 เล่ม ดอกไม้ นำมาถวายแก่เจ้าแม่เพื่อที่เจ้าแม่จะได้ดลบันดาลให้ทุกสิ่งทุกอย่างสำเร็จดังความปรารถนาของพวกเขา การเซ่นไหว้ครั้งสุดท้าย คือในช่วงปิดเตาเผา จะทำพิธีเซ่นไหว้เพื่อบอกกล่าวว่าการเผาเครื่องปั้นในครั้งนี้ได้เสร็จสิ้นลงแล้ว จากนั้นก็จะนำเครื่องปั้นออกจากเตา เครื่องปั้นนั้นจะไม่แตกเลย นอกจากพิธีกรรมเกี่ยวกับเครื่องปั้นแล้ว ยังมีพิธีบูชาศาลเจ้าพ่อประจำหมู่บ้าน พวกเขาจัดพิธีรำเจ้าประจำทุกปีถือเป็นงานที่มอญบ้านลัดเกร็ดยังคงปฏิบัติอยู่ทุกวันนี้ พิธีจะจัดขึ้นที่บริเวณศาลเจ้ามีการเตรียมเครื่องเซ่น ตอนเช้าพระสงฆ์จะมาทำพิธีสวด มอญแต่ละครอบครัวจะมาร่วมพิธีอย่างพร้อมเพรียงกัน ในตอนบ่ายจะมีร่างทรงมาอันเชิญเจ้าพ่อหนุ่มมาเข้าทรง ชาวบ้านก็จะถามไถ่เรื่องต่าง ๆ จากเจ้าพ่อร่างทรง พิธีนี้ถือว่าเป็นการรวมญาติก็ว่าได้ เพราะพวกเขาจะอยู่กันอย่างพร้อมหน้าพร้อมตากัน นอกจากนี้ยังมีพิธีกรรมเกี่ยวกับ การเกิด การบวชนาค การแต่งงาน และงานศพด้วย ( หน้า 63,126,140-146,150-151 )

Education and Socialization

ในสมัยก่อนการศึกษาของมอญบ้านลัดเกร็ด จะอยู่ในวงแคบคือเรียนในวัด โดยมีพระสงฆ์เป็นผู้สอนหนังสือให้ แต่ปัจจุบันการศึกษาได้เปลี่ยนแปลงไป ไม่ว่าเด็กหญิงเด็กชายที่มีสัญชาติไทยจะได้รับการศึกษาในระดับปฐมศึกษาอย่างทั่วถึง มีการจัดตั้งโรงเรียนขึ้นมาในหมู่บ้านลัดเกร็ด ครูมีบทบาทต่อการศึกษาของเด็ก ในขณะที่พระสงฆ์เริ่มลดบทบาทลง เมื่อเด็ก ๆ ได้รับการศึกษามากขึ้นรัฐบาลก็กำหนดให้ใช้ภาษาไทยเป็นหลักในการเรียนการสอน ได้เรียนรู้วัฒนธรรม ทำให้พวกเขาสามารถประกอบอาชีพทำงานในตำแหน่งสูง ๆ ใน สังคมไทยได้ (หน้า 107-115 )

Health and Medicine

ไม่มีข้อมูล

Art and Crafts (including Clothing Costume)

ไม่ได้กล่าวถึงด้านสถาปัตยกรรมไว้อย่างชัดเจนกล่าวแต่เพียงว่ามอญบ้านลัดเกร็ดนิยมสร้างบ้านแบบยกพื้นสูงใต้ถุนโล่งมีชานยื่นออกมาตามริมน้ำเพราะพวกเขานิยมสร้างบ้านอยู่ตามริมน้ำ ด้านศิลปการแสดง กล่าวถึงศิลปะพื้นบ้านที่เก่าแก่ที่สุด คือเพลงพื้นเมืองที่ร้องรำทำเพลงเป็นภาษามอญ มีเนื้อร้องทั้งบทไหว้ครู ชมนก ชมไม้ เกี้ยวพาราสี การร้องเพลงมอญเรียกว่า ทะแยมอญ แสดงได้ในงานทุกโอกาส ไม่ว่าจะเป็นงานบวช งานแต่งงาน งานขึ้นบ้านใหม่ งานแก้บน เนื้อเพลงคล้ายกับเพลงลำตัดของไทย มีดนตรีประกอบการร้อง การรำมอญก็เป็นนาฏศิลป์ที่เก่าแก่ของมอญเหมือนกัน รำมอญเป็นการรำที่มีความอ่อนช้อยมาก ใช้แสดงในงานมงคลต่าง ๆ แตกต่างจากการรำไทย เพราะการรำมอญจะใช้มือในการรำน้อยมาก ส่วนใหญ่จะใช้เท้าในการรำ นอกจากนี้ยังมีการละเล่นสะบ้ามอญที่ใช้เล่นในเทศกาลสำคัญ สถานที่เล่นจะมีบริเวณลานกว้าง อย่างใต้ถุนเรือน ลูกสะบ้าที่ใช้เล่นทำมาจากวัสดุหลายอย่าง อย่างแก่นไม้ประดู่ งาช้าง กระดูกวัว กระดูกควาย ปัจจุบันการเล่นสะบ้านิยมเล่นในวันสงกรานต์ ด้านหัตถกรรม มีการทำเครื่องปั้นดินเผาชนิดเนื้อแดงไม่มีการเคลือบ อย่างหม้อน้ำลายวิจิตรที่เป็นที่รู้จักกัน ส่วนการแต่งกาย มอญบ้านลัดเกร็ดจะแต่งตัวเหมือนคนไทยคือแต่งตัวตามสมัยนิยม โดยเฉพาะเด็กวัยรุ่น ส่วนผู้เฒ่าผู้แก่ เวลาไปวัดผู้ชายจะนุ่งกางเกงแพรหรือโสร่งลายหมากรุกแบบมอญสวมเสื้อคอกลมสีขาวมีผ้าขาวม้าคาดเอว เวลามีเทศกาลสำคัญมอญจะแต่งกายตามแบบมอญดั้งเดิม คือนุ่งผ้าโสร่งตาหมากรุกมีผ้าขาวม้าพาดไหล่สองข้างสวมเสื้อคอกลมสีขาว สำหรับผู้หญิงการแต่งกายเป็นไปตามสมัยนิยม ส่วนหญิงสูงอายุจะเกล้าผมปักปิ่นเงินและสวมเสื้อคอกลมสีขาวพาดผ้าสไบผ้าถุงหลายสี (หน้า56,62,166-179 )

Folklore

ตำนานเรื่องเล่าต่าง ๆ เกี่ยวข้องกับประเพณี ไม่ว่าจะเป็นประเพณีสงกรานต์ ประเพณีปล่อยนกปล่อยปลา เช่น เรื่องเล่าเกี่ยวกับประเพณีสงกรานต์ เริ่มจากการที่บุตรของเศรษฐีผู้หนึ่ง ได้ขอบุตรจากเทวดา ซึ่งได้ประทานกุมารที่มีสติปัญญาเป็นเลิศให้แก่เศรษฐี ชื่อธรรมบาลกุมาร ที่เมื่อโตขึ้นได้ประลองปัญญากับท้าวกบิลพรหมและชนะ ท้าวกบิลพรหมจึงโดนตัดเศียร แต่ถ้าเศียรตกสู่ที่ใด พื้นดินจะวอดวาย ท้าวกบิลพรหมจึงให้บุตรทั้ง 7 คนนำพานมารับเศียรไว้ และในแต่ละปีบุตร-ธิดาจะผลัดเปลี่ยนกันอัญเชิญพระเศียรแห่รอบพระเมรุ จึงเป็นเหตุให้เกิดประเพณีสงกรานต์ขึ้น ส่วนเรื่องการปล่อยนกปล่อยปลาก็มีเรื่องเล่าสอดคล้องกับชีวิต โดยมีมูลเหตุมาจากพระสารีบุตรที่สามารถล่วงรู้เหตุการณ์ล่วงหน้าในอนาคตได้ วันหนึ่งท่านได้จับยามดู ล่วงรู้ว่าสามเณรจะสิ้นอายุขัยอีก 7 วัน จึงให้สามเณรเดินทางไปร่ำลาพ่อแม่แต่ระหว่างได้เจอกับปลาตัวหนึ่งที่กระเสือกกระสนอยู่ในน้ำที่แห้งขอดสามเณรจึงช่วยปลาตัวนั้นไว้ เหตุนี้สามเณรจึงรอดชีวิต จึงเป็นที่มาของการปล่อยนกปล่อยปลา ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ( หน้า 153,156,162 )

Ethnicity (Ethnic Identity, Boundaries and Ethnic Relation)

มอญจะมีความสัมพันธ์กับพวกพ้องมอญด้วยกันเป็นอย่างดี รักใคร่กันอย่างแน่นแฟ้นรวมทั้งกับคนไทยด้วย ไม่มีการขัดแย้งกันและไม่มีการแบ่งพรรคแบ่งพวกไม่มีการแบ่งชั้นวรรณะไม่ว่าจะเป็นคนไทยหรือมอญ (หน้า 124,125)

Social Cultural and Identity Change

ชีวิตความเป็นอยู่แต่เดิมของมอญจะอยู่กันอย่างเรียบง่าย มีวัฒนธรรมเป็นของตนเองมีความสัมพันธ์กันแบบพี่น้องคอยช่วยเหลือซึ่งกันและกันแต่ต่อมาวิถีชีวิตของมอญบ้านลัดเกร็ดได้เปลี่ยนแปลงไป สาเหตุก็มาจากการอยู่ใกล้กับเมืองหลวงทำให้ได้รับความเจริญจากภายนอกเข้าสู่ชุมชนอย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นด้านการศึกษา ด้านสาธารณูปโภค เครื่องอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ก็เข้ามาอย่างมากมายจากแต่เดิมไปไหนมาไหนจะเดินไป แต่ปัจจุบันก็จะใช้ยวดยานพาหนะแทนการเดินเท้า มีการรับรู้ข่าวสารจากหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์มากขึ้น มอญจึงซึมซับเอาวัฒนธรรมและค่านิยมตามแบบอย่างของคนไทยในทุกด้าน แต่เดิมเคยประกอบอาชีพทำเครื่องปั้นดินเผา ปัจจุบันก็หันไปประกอบอาชีพรับราชการ ทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมมากขึ้น ทำให้วิถีชีวิตของมอญเปลี่ยนแปลงไปเป็นสังคมเมืองมากขึ้น ประเพณีที่ยึดถือและปฏิบัติมาแต่สมัยโบราณก็เริ่มเปลี่ยนแปลงไป มีการรับวัฒนธรรมและประเพณีบางอย่างจากคนไทย ส่งผลทำให้วิถีชีวิตทางสังคมของมอญกับคนไทยมีลักษณะคล้ายคลึงกันจนแยกไม่ออกเพราะพวกเขาอาศัยอยู่ด้วยกันมานาน ถึงแม้ว่าวัฒนธรรมของมอญจะเปลี่ยนแปลงไปแต่มอญบ้านลัดเกร็ดยังคงรักษาเอกลักษณ์ของความเป็นมอญไว้ได้อย่างดีในระดับหนึ่ง ( หน้า 70-73 )

Critic Issues

ไม่มีข้อมูล

Other Issues

ไม่มี

Map/Illustration

แผนที่แสดงที่ตั้งจังหวัดนนทบุรี ( หน้า 45 ) ภาพแสดงที่ตั้งตำบลเกาะเกร็ดและพื้นที่การศึกษา ( หน้า 46 ) แผนที่แสดงที่ตั้งบ้านเรือนของชาวมอญบ้านลัดเกร็ด หมู่ 1 ต. เกาะเกร็ด อ. ปากเกร็ด จ. นนทบุรี ( หน้า 47 )

Text Analyst บุษบา ปรังฤทธิ์ Date of Report 11 เม.ย 2556
TAG มอญ, วิถีชีวิต, ความเป็นอยู่, การเปลี่ยนแปลงของสังคม, วัฒนธรรม, นนทบุรี, Translator -
 
 

 

ฐานข้อมูลอื่นๆของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
  ฐานข้อมูลพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทย
จารึกในประเทศไทย
จดหมายเหตุทางมานุษยวิทยา
แหล่งโบราณคดีที่สำคัญในประเทศไทย
หนังสือเก่าชาวสยาม
ข่าวมานุษยวิทยา
ICH Learning Resources
ฐานข้อมูลเอกสารโบราณภูมิภาคตะวันตกในประเทศไทย
ฐานข้อมูลประเพณีท้องถิ่นในประเทศไทย
ฐานข้อมูลสังคม - วัฒนธรรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  หน้าหลัก
งานวิจัยชาติพันธุ์ในประเทศไทย
บทความชาติพันธุ์
ข่าวชาติพันธุ์
เครือข่ายชาติพันธุ์
เกี่ยวกับเรา
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  ข้อมูลโครงการ
ทีมงาน
ติดต่อเรา
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
ช่วยเหลือ
  กฏกติกาและมารยาท
แบบสอบถาม
คำถามที่พบบ่อย


ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) เลขที่ 20 ถนนบรมราชชนนี เขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ 10170 
Tel. +66 2 8809429 | Fax. +66 2 8809332 | E-mail. webmaster@sac.or.th 
สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2549    |   เงื่อนไขและข้อตกลง