สมัครสมาชิก   
| |
ค้นหาข้อมูล
ค้นหาแบบละเอียด
  •   ความเป็นมาและหลักเหตุผล

    เพื่อรวบรวมงานวิจัยทางชาติพันธุ์ที่มีคุณภาพมาสกัดสาระสำคัญในเชิงมานุษยวิทยาและเผยแผ่สาระงานวิจัยแก่นักวิชาการ นักศึกษานักเรียนและผู้สนใจให้เข้าถึงงานวิจัยทางชาติพันธุ์ได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น

  •   ฐานข้อมูลจำแนกกลุ่มชาติพันธุ์ตามชื่อเรียกที่คนในใช้เรียกตนเอง ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้ คือ

    1. ชื่อเรียกที่ “คนอื่น” ใช้มักเป็นชื่อที่มีนัยในทางเหยียดหยาม ทำให้สมาชิกกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ รู้สึกไม่ดี อยากจะใช้ชื่อที่เรียกตนเองมากกว่า ซึ่งคณะทำงานมองว่าน่าจะเป็น “สิทธิพื้นฐาน” ของการเป็นมนุษย์

    2. ชื่อเรียกชาติพันธุ์ของตนเองมีความชัดเจนว่าหมายถึงใคร มีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมอย่างไร และตั้งถิ่นฐานอยู่แห่งใดมากกว่าชื่อที่คนอื่นเรียก ซึ่งมักจะมีความหมายเลื่อนลอย ไม่แน่ชัดว่าหมายถึงใคร 

     

    ภาพ-เยาวชนปกาเกอะญอ บ้านมอวาคี จ.เชียงใหม่

  •  

    จากการรวบรวมงานวิจัยในฐานข้อมูลและหลักการจำแนกชื่อเรียกชาติพันธุ์ที่คนในใช้เรียกตนเอง พบว่า ประเทศไทยมีกลุ่มชาติพันธุ์มากกว่า 62 กลุ่ม


    ภาพ-สุภาษิตปกาเกอะญอ
  •   การจำแนกกลุ่มชนมีลักษณะพิเศษกว่าการจำแนกสรรพสิ่งอื่นๆ

    เพราะกลุ่มชนต่างๆ มีความรู้สึกนึกคิดและภาษาที่จะแสดงออกมาได้ว่า “คิดหรือรู้สึกว่าตัวเองเป็นใคร” ซึ่งการจำแนกตนเองนี้ อาจแตกต่างไปจากที่คนนอกจำแนกให้ ในการศึกษาเรื่องนี้นักมานุษยวิทยาจึงต้องเพิ่มมุมมองเรื่องจิตสำนึกและชื่อเรียกตัวเองของคนในกลุ่มชาติพันธุ์ 

    ภาพ-สลากย้อม งานบุญของยอง จ.ลำพูน
  •   มโนทัศน์ความหมายกลุ่มชาติพันธุ์มีการเปลี่ยนแปลงในช่วงเวลาต่างๆ กัน

    ในช่วงทศวรรษของ 2490-2510 ในสาขาวิชามานุษยวิทยา “กลุ่มชาติพันธุ์” คือ กลุ่มชนที่มีวัฒนธรรมเฉพาะแตกต่างจากกลุ่มชนอื่นๆ ซึ่งมักจะเป็นการกำหนดในเชิงวัตถุวิสัย โดยนักมานุษยวิทยาซึ่งสนใจในเรื่องมนุษย์และวัฒนธรรม

    แต่ความหมายของ “กลุ่มชาติพันธุ์” ในช่วงหลังทศวรรษ 
    2510 ได้เน้นไปที่จิตสำนึกในการจำแนกชาติพันธุ์บนพื้นฐานของความแตกต่างทางวัฒนธรรมโดยตัวสมาชิกชาติพันธุ์แต่ละกลุ่มเป็นสำคัญ... (อ่านเพิ่มใน เกี่ยวกับโครงการ/คู่มือการใช้)


    ภาพ-หาดราไวย์ จ.ภูเก็ต บ้านของอูรักลาโว้ย
  •   สนุก

    วิชาคอมพิวเตอร์ของนักเรียน
    ปกาเกอะญอ  อ. แม่ลาน้อย
    จ. แม่ฮ่องสอน


    ภาพโดย อาทิตย์    ทองดุศรี

  •   ข้าวไร่

    ผลิตผลจากไร่หมุนเวียน
    ของชาวโผล่ว (กะเหรี่ยงโปว์)   
    ต. ไล่โว่    อ.สังขละบุรี  
    จ. กาญจนบุรี

  •   ด้าย

    แม่บ้านปกาเกอะญอ
    เตรียมด้ายทอผ้า
    หินลาดใน  จ. เชียงราย

    ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ถั่วเน่า

    อาหารและเครื่องปรุงหลัก
    ของคนไต(ไทใหญ่)
    จ.แม่ฮ่องสอน

     ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ผู้หญิง

    โผล่ว(กะเหรี่ยงโปว์)
    บ้านไล่โว่ 
    อ.สังขละบุรี
    จ. กาญจนบุรี

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   บุญ

    ประเพณีบุญข้าวใหม่
    ชาวโผล่ว    ต. ไล่โว่
    อ.สังขละบุรี  จ.กาญจนบุรี

    ภาพโดยศรยุทธ  เอี่ยมเอื้อยุทธ

  •   ปอยส่างลอง แม่ฮ่องสอน

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ปอยส่างลอง

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดย เบญจพล  วรรณถนอม
  •   อลอง

    จากพุทธประวัติ เจ้าชายสิทธัตถะ
    ทรงละทิ้งทรัพย์ศฤงคารเข้าสู่
    ร่มกาสาวพัสตร์เพื่อแสวงหา
    มรรคผลนิพพาน


    ภาพโดย  ดอกรัก  พยัคศรี

  •   สามเณร

    จากส่างลองสู่สามเณร
    บวชเรียนพระธรรมภาคฤดูร้อน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   พระพาราละแข่ง วัดหัวเวียง จ. แม่ฮ่องสอน

    หล่อจำลองจาก “พระมหามุนี” 
    ณ เมืองมัณฑะเลย์ ประเทศพม่า
    ชาวแม่ฮ่องสอนถือว่าเป็นพระพุทธรูป
    คู่บ้านคู่เมืององค์หนึ่ง

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม

  •   เมตตา

    จิตรกรรมพุทธประวัติศิลปะไต
    วัดจองคำ-จองกลาง
    จ. แม่ฮ่องสอน
  •   วัดจองคำ-จองกลาง จ. แม่ฮ่องสอน


    เสมือนสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรม
    เมืองไตแม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ใส

    ม้งวัยเยาว์ ณ บ้านกิ่วกาญจน์
    ต. ริมโขง อ. เชียงของ
    จ. เชียงราย
  •   ยิ้ม

    แม้ชาวเลจะประสบปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัย
    พื้นที่ทำประมง  แต่ด้วยความหวัง....
    ทำให้วันนี้ยังยิ้มได้

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ผสมผสาน

    อาภรณ์ผสานผสมระหว่างผ้าทอปกาเกอญอกับเสื้อยืดจากสังคมเมือง
    บ้านแม่ลาน้อย จ. แม่ฮ่องสอน
    ภาพโดย อาทิตย์ ทองดุศรี
  •   เกาะหลีเป๊ะ จ. สตูล

    แผนที่ในเกาะหลีเป๊ะ 
    ถิ่นเดิมของชาวเลที่ ณ วันนี้
    ถูกโอบล้อมด้วยรีสอร์ทการท่องเที่ยว
  •   ตะวันรุ่งที่ไล่โว่ จ. กาญจนบุรี

    ไล่โว่ หรือที่แปลเป็นภาษาไทยว่า ผาหินแดง เป็นชุมชนคนโผล่งที่แวดล้อมด้วยขุนเขาและผืนป่า 
    อาณาเขตของตำบลไล่โว่เป็นส่วนหนึ่งของป่าทุ่งใหญ่นเรศวรแถบอำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี 

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   การแข่งขันยิงหน้าไม้ของอาข่า

    การแข่งขันยิงหน้าไม้ในเทศกาลโล้ชิงช้าของอาข่า ในวันที่ 13 กันยายน 2554 ที่บ้านสามแยกอีก้อ อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย
 
  Princess Maha Chakri Sirindhorn Anthropology Centre
Ethnic Groups Research Database
Sorted by date | title

   Record

 
Subject ม้ง, เมี่ยน, ลาหู่,ปกาเกอะญอ จกอ คานยอ (กะเหรี่ยง),ชาวเขา,ชาวพื้นราบ,เศรษฐกิจ,การตลาด,ความสัมพันธ์,ภาคเหนือ
Author บุญสวาท พฤกษิกานนท์ และคณะ
Title ความสัมพันธ์ในด้านเศรษฐกิจและการตลาดระหว่างชาวเขาและประชากรพื้นราบในภาคเหนือ
Document Type รายงานการวิจัย Original Language of Text ภาษาไทย
Ethnic Identity ลาหู่ ลาหู่ ละหู่ ลาฮู, อิ้วเมี่ยน เมี่ยน, ม้ง, ปกาเกอะญอ, Language and Linguistic Affiliations ไม่ระบุ
Location of
Documents
ห้องสมุดศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร Total Pages 244 Year 2530
Source เชียงใหม่ : คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
Abstract

งานวิจัยชิ้นนี้มีเนื้อหาครอบคลุมเกี่ยวกับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการตลาดระหว่างชาวเขากับชาวพื้นราบในหลายประเด็น ได้แก่ (1) สภาพหมู่บ้านของชาวเขาในหลายหมู่บ้านในจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย และลำพูน สภาพทั่วไปทางสังคมเศรษฐกิจของชาวเขาและชาวพื้นราบ ประเด็นย่อย ได้แก่ เผ่า เพศ ระดับอายุ การศึกษา สถานภาพการสมรส จำนวนสมาชิกในครอบครัว จำนวนสมาชิกในครัวเรือนที่ได้ทำงาน อาชีพหลักและอาชีพรอง รายได้ รายจ่ายของครอบครัว การนับถือศาสนา การทำกิจกรรมร่วมกันทางเศรษฐกิจและสังคมระหว่างชุมชน การรับรู้ข่าวสาร การมีเทคโนโลยีและอิทธิพลในการเลือกใช้เทคโนโลยี (2) ความสัมพันธ์ระหว่างชาวเขากับชาวพื้นราบในทางเศรษฐกิจและการตลาด ประเด็นย่อย ได้แก่ ความสัมพันธ์ทางด้านเศรษฐกิจ ความสัมพันธ์ทางด้านการตลาด และแบบแผนการติดต่อสัมพันธ์และกระบวนการทางสังคมที่เกิดขึ้นระหว่างชาวเขากับชาวพื้นราบในเชิงเศรษฐกิจและการตลาด (3) บทบาทของรัฐต่อชาวเขาในด้านการตลาด (4) ทัศนคติและการปฏิบัติในด้านการเกษตรและการตลาดระหว่างชาวเขากับชาวพื้นราบ ประเด็นย่อยคือ ทัศนคติของชาวเขาและชาวพื้นราบที่มีต่อกัน ทัศนคติทางด้านการตลาดของชาวพื้นราบต่อชาวเขาที่มีผลกระทบต่อพฤติกรรมการตลาด การปฏิบัติของชาวพื้นราบในเชิงเศรษฐกิจและการตลาดที่มีผลกระทบต่อทัศนคติของชาวเขา และปัจจัยทางทัศนคติของชาวเขาที่มีต่อการปฏิบัติกับชาวพื้นราบในลักษณะต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการตลาด

Focus

งานวิจัยชิ้นนี้มุ่งศึกษาใน 2 ประเด็นใหญ่ๆ คือ 1) ศึกษาความสัมพันธ์ในด้านเศรษฐกิจและการตลาดระหว่างชาวเขากับชาวพื้นที่ราบ ในจังหวัดเชียงราย, เชียงใหม่, และลำพูน 2) ศึกษาทัศนคติและการปฏิบัติของชาวเขาและประชาชนในพื้นที่ราบที่มีต่อกัน รวมทั้งทัศนคติและการปฏิบัติดังกล่าวระหว่างชาวเขาและองค์กรของรัฐบาลที่เข้าไปพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจและการตลาดร่วมกับชาวเขา

Theoretical Issues

ไม่มี

Ethnic Group in the Focus

งานวิจัยชิ้นนี้มุ่งศึกษากลุ่มชน 2 กลุ่ม คือ 1) ชาวเขา ซึ่งได้แก่ กะเหรี่ยง แม้ว เย้า มูเซอ และ 2) ชาวพื้นราบ ในจังหวัดเชียงราย จังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดลำพูน (หน้า 18)

Language and Linguistic Affiliations

ไม่มีข้อมูล

Study Period (Data Collection)

พ.ศ. 2530

History of the Group and Community

ไม่มีข้อมูล

Settlement Pattern

ไม่มีข้อมูล

Demography

ชาวเขา : หมู่บ้านชาวเขากลุ่มตัวอย่างในจังหวัดเชียงใหม่ ได้แก่ 1) ม้งบ้านขุนกลาง ตำบลบ้านหลวง อำเภอจอมทอง มี 105 หลังคาเรือน 137 ครอบครัว ประชากร 737 คน 2) กะเหรี่ยงบ้านผาหมอน ตำบลบ้านหลวง อำเภอจอมทอง มี 45 หลังคาเรือน 57 ครอบครัว ประชากร 285 คน 3) ม้งลายบ้านดอยปุย ตำบลบ้านปง อำเภอหางดง มี 81 หลังคาเรือน 147 ครอบครัว ประชากร 848 คน 4) บ้านช่างเคียน ตำบลช้างเผือก อำเภอเมือง มี 41 หลังคาเรือน 71 ครอบครัว ประชากร 426 คน 5) บ้านชุ่มเย็น ตำบลสบเปิง อำเภอแม่แตง มี 43 หลังคาเรือน 59 ครอบครัว ประชากร 299 คน. หมู่บ้านชาวเขากลุ่มตัวอย่างในจังหวัดลำพูน ได้แก่ 1) บ้านห้วยต้มหรือพระบาทห้วยต้ม มี 673 ครัวเรือน 808 ครอบครัว ประชากร 3,327 คน 2) บ้านดงดำ ตำบลบ้านดงดำ อำเภอลี้ มี 107 ครัวเรือน 107 ครอบครัว ประชากร 541 คน 3) บ้านห้วยหละ ตำบลป่าพลู อำเภอบ้านโฮ่ง มีชาวเขา 242 หลังคาเรือน 242 ครอบครัว ประชากร 1,099 คน หมู่บ้านชาวเขากลุ่มตัวอย่างในจังหวัดเชียงราย ได้แก่ 1) บ้านผาเดื่อ ตำบลป่าซาง อำเภอแม่จัน มี 84 ครัวเรือน 87 ครอบครัว ประชากร 693 คน 2) มูเซอบ้านห้วยม่วง ตำบลแม่เจดีย์ใหม่ อำเภอเวียงป่าเป้า มี 42 ครัวเรือน 42 ครอบครัว ประชากร 220 คน. (หน้า 19 - 34) ชาวพื้นราบ : งานวิจัยไม่ได้ระบุออกมาแบบเดียวกับจำนวนประชากรชาวเขา แต่ระบุเป็นจำนวน "ตัวอย่าง" ที่ทำการสำรวจ ดังนี้ จำนวนตัวอย่างของชาวพื้นราบในจังหวัดเชียงราย 23 ตัวอย่าง จังหวัดเชียงใหม่ 54 ตัวอย่าง และ ในจังหวัดลำพูน 20 ตัวอย่าง รวมทั้งหมด 97 ตัวอย่าง (หน้า 72)

Economy

สภาพทางเศรษฐกิจของชาวเขากลุ่มตัวอย่างในจังหวัดเชียงใหม่ - บ้านขุนกลาง เดิมเคยปลูกฝิ่น แต่ในปัจจุบันได้หันมาปลูกพืชส่งเสริม ดอกไม้เมืองหนาว และผักเมืองหนาวชนิดต่าง ๆ มีการปลูกข้าวน้อย จนต้องซื้อข้าวสาร มีธนาคารข้าวแต่ไม่มีข้าวให้บริการ นอกจากนี้ชาวเขาหมู่บ้านขุนกลางยังมีการเลี้ยงสัตว์ ทำของที่ระลึกขายแก่นักท่องเที่ยวด้วย (หน้า 20-21) - บ้านผาหมอน ทำเกษตรกรรมเป็นอาชีพหลัก ส่วนอาชีพเสริมอื่นๆ ได้แก่ รับจ้างปลูกพืช หาของป่ามาขาย เลี้ยงสัตว์ไว้เลี้ยงผีและขาย และทำงานหัตถกรรมอื่น ๆ เช่น ทอผ้าและงานจักสาน เป็นต้น (หน้า 22) - บ้านปางไม้แดง ทำงานหัตถกรรมขายแก่นักท่องเที่ยว เช่น เสื้อผ้า เครื่องเงินไว้ขายให้นักท่องเที่ยว ส่วนเกษตรกรรมมีการปลูกข้าวไร่เอาไว้กิน และปลูกข้าวโพด และงาเอาไว้ขาย ตลาดของชาวบ้านอยู่ในตัวจังหวัด (หน้า 22-23) - บ้านดอยปุย มีการทำของที่ระลึกขายแก่นักท่องเที่ยว ไปพร้อมๆ กับการทำเกษตรกรรมด้านต่างๆ เช่น ปลูกข้าวไว้กิน ปลูกข้าวโพด เลี้ยงสัตว์ ปลูกลิ้นจี่ ข้าว กาแฟ เอาไว้เพื่อขาย (หน้า 24) - บ้านช่างเคี่ยน ชาวบ้านส่วนใหญ่ทำการเพาะปลูกเอาไว้บริโภคกันในครัวเรือน และปลูกข้าวโพดเพื่อเอาไว้เป็นอาหารสัตว์ ส่วนพืชเศรษฐกิจของชาวบ้าน ได้แก่ กาแฟ ท้อ ลิ้นจี่ พืชผักเมืองหนาว ถั่วแดง และข้าวโพด เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีการทำอุตสาหกรรมในครัวเรือนเพื่อขาย เช่น การทอผ้าและการตีเครื่องเงิน เป็นต้น มีการเลี้ยงสัตว์เอาไว้สำหรับขายและประกอบพิธีกรรมด้วย (หน้า 26) - บ้านชุมเย็น อาชีพของชาวเขาส่วนใหญ่คือ ทำการเพาะปลูกทั้งเพื่อบริโภค เช่น ข้าวไร่ ข้าวนา และการปลูกเพื่อขาย ได้แก่ ฝ้าย ข้าวโพด ลิ้นจี่ ส่วนสัตว์เลี้ยง ได้แก่ หมู ไก่ เลี้ยงเพื่อขายบริโภคและเพื่อประกอบพิธีกรรมทางศาสนา, นอกจากนี้ยังมีการทำอุตสาหกรรมในครัวเรือน เช่น การเย็บปักถักร้อย เสื้อผ้า และตีเครื่องเงิน เอาไว้เพื่อขายให้กับนักท่องเที่ยวด้วย (หน้า 27) สภาพทางเศรษฐกิจของชาวเขากลุ่มตัวอย่างในจังหวัดลำพูน - บ้านห้วยต้มหรือบ้านพระบาทห้วยต้ม ชาวบ้านมีอาชีพขุดศิลาแลงไปขายและนำไปสร้างวัด ส่วนการเพาะปลูก ได้แก่ การปลูกข้าวไร่ ข้าวนา เพื่อการบริโภค ปลูกข้าวโพดเพื่อขาย นอกจากนี้ ชาวเขาในหมู่บ้านห้วยต้มยังมีอาชีพรับจ้างทำสวนเพาะปลูก หาของป่าขาย ทำหัตถกรรมในครัวเรือนเพื่อขาย และเลี้ยงสัตว์ไว้ทั้งขาย บริโภคล และทำพิธีกรรมทางศาสนาด้วย (หน้า 29) - บ้านดงดำ อาชีพของชาวเขาในหมู่บ้านนี้ ได้แก่ การปลูกข้าวไร่ ข้าวนาดำเพื่อกิน ส่วนพืชที่ปลูกเอาไว้ขาย ได้แก่ หอม กระเทียม ถั่วลิสง ถั่วเหลือง เป็นต้น (หน้า 30) - บ้านห้วยหละ อาชีพของชาวเขาในหมู่บ้านนี้ ได้แก่ การปลูกข้าวไร่และข้าวนาเพื่อการบริโภคในครัวเรือน ปลูกหอมและกระเทียมเป็นพืชเศรษฐกิจ นอกจากนี้ ยังมีการไปรับจ้างทำการเกษตรให้กับคนไทยพื้นราบด้วย (หน้า 31) สภาพทางเศรษฐกิจของชาวเขากลุ่มตัวอย่างในจังหวัดเชียงราย - บ้านผาเดื้อ (ผาเล่อ) ชาวเขาในหมู่บ้านนี้ทำการเกษตร เช่น ปลูกข้าวไร่และข้าวนา ปลูกข้าวโพดและถั่วเหลืองเพื่อขาย มีการเลี้ยงสัตว์ทั้งเพื่อกินและประกอบพิธีกรรมทางศาสนา นอกจากนี้ ยังมีการทำอุตสาหกรรมในครัวเรือน ได้แก่ การปักผ้าเป็นลวดลายที่สวยงามทั้งเพื่อเอาไว้ใช้เองและเพื่อขายให้กับนักท่องเที่ยว (หน้า 33) - บ้านห้วยม่วง ชาวเขาในหมู่บ้านนี้ปลูกข้าวไร่เป็นพืชหลักเพื่อกิน และปลูกถั่วแดง ข้าวโพด และถั่วเหลือง ไว้ขาย ส่วนสัตว์เลี้ยง ได้แก่ หมู ไก่ เพื่อกินและประกอบพิธีกรรมทางศาสนา เลี้ยงวัว ควาย เอาไว้ขายและใช้งาน (หน้า 35) อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาภาพรวมแล้ว สภาพทางเศรษฐกิจของชาวเขากลุ่มตัวอย่างทั้ง 3 จังหวัดมีลักษณะ ดังนี้ อาชีพหลักและอาชีพรอง : ชาวเขากลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ส่วนที่เหลือประกอบอาชีพค้าขาย รับจ้างการเกษตร ทำอุตสาหกรรมในครัวเรือน รับจ้างทั่วไป อุตสาหกรรมในครัวเรือนและเกษตรกรรม ในบรรดาชาวเขาทั้งหมด ชาวเขาในจังหวัดเชียงรายประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นส่วนใหญ่ ขณะที่ชาวเขาจังหวัดลำพูนประกอบอาชีพรับจ้างทางการเกษตรเป็นส่วนใหญ่ (หน้า 42 และดูตารางที่ 3.2) รายได้ : รายได้เฉลี่ยต่อครอบครัวของชาวเขากลุ่มตัวอย่างเท่ากับ 39,615.21 บาท ชาวเขาในจังหวัดเชียงใหม่มีรายได้เฉลี่ยต่อครอบครัวสูงสุด คือ 49,061.16 บาท รองลงมาคือชาวเขาในจังหวัดลำพูนคือ 37,090.73 บาท และชาวเขาในจังหวัดเชียงราย คือ 16,850.98 บาท การที่ชาวเขามีรายได้สูงเพราะว่ามีการติดต่อซื้อขายกับชาวพื้นราบ และมีการประกอบอุตสาหกรรมซึ่งทำรายได้ค่อนข้างสูง นอกจากนี้ยังพบว่า รายได้ส่วนหนึ่งของชาวเขายังมาจากสินค้าเกษตร ยกเว้นชาวเขาในจังหวัดเชียงรายที่มีรายได้ส่วนใหญ่จากอุตสาหกรรม และรายได้จากส่วนอื่นๆ เช่น จากการนำของป่าออกมาขาย, จากการรับราชการ, และจากการรับจ้างทั้งในและนอกระบบ (หน้า 42 - 44 ดูตารางที่ 3.3 ประกอบ) รายจ่าย : โดยเฉลี่ยแล้วชาวเขามีรายจ่ายประมาณ 20,504 บาท ในจำนวนนี้ ชาวเขาในจังหวัดเชียงใหม่มีรายจ่ายเฉลี่ยสูงที่สุดประมาณ 26,702.67 บาทต่อครอบครัว และชาวเขาในจังลำพูนมีรายจ่ายเฉลี่ยต่ำที่สุดประมาณ 13,486.54 บาทต่อครอบครัว รายจ่ายส่วนใหญ่เป็นรายจ่ายเพื่อการบริโภคเกือบ 3 ใน 4 เมื่อพิจารณาความแตกต่างระหว่างรายได้และรายจ่ายของครอบครัวแล้วพบว่า ชาวเขาส่วนใหญ่มีรายได้มากกว่ารายจ่ายโดยเฉลี่ยประมาณเกือบสองหมื่นบาท ขณะที่รายจ่ายส่วนใหญ่ของชาวเขาเป็นรายจ่ายเพื่อการบริโภค โดยเฉพาะอย่างยิ่งค่าอาหารซึ่งมีเกือบร้อยละ 40 รองลงมาเป็นรายจ่ายเพื่อสินค้าคงทน เช่น วิทยุ ไฟฉาย นาฬิกา เสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่ม (หน้า 45) สภาพทางเศรษฐกิจของชาวพื้นราบกลุ่มตัวอย่าง การประกอบอาชีพ : ในจังหวัดเชียงราย ชาวพื้นราบกลุ่มตัวอย่างทุกคนที่มีการติดต่อกับชาวเขามีอาชีพค้าขาย ในจังหวัดเชียงใหม่ร้อยละ 92.6 ก็มีอาชีพค้าขาย ร้อยละ 3.7 ทำเกษตรกรรม และร้อยละ 3.7 รับราชการ ส่วนในจังหวัดลำพูนร้อยละ 90 ของครอบครัวชาวพื้นราบมีอาชีพค้าขาย ร้อยละ 5 รับราชการ และร้อยละ 5 ทำการเกษตร โดยเฉลี่ยแล้วครอบครัวชาวพื้นราบที่มีการติดต่อกับชาวเขามีอาชีพค้าขายร้อยละ 93.8 ที่เหลือคือร้อยละ 62 ทำการเกษตรและรับราชการ นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาอาชีพของหัวหน้าครัวเรือนที่มีการติดต่อกับชาวเขาแล้ว พบว่า บางครอบครัวประกอบอาชีพหลายอย่างหรือมีอาชีพรองที่จะมีผลต่อการเพิ่มรายได้ของครอบครัวด้วย (หน้า 76 ดู ตารางที่ 3.20 ประกอบ) ความสัมพันธ์ในด้านเศรษฐกิจและการตลาดระหว่างชาวเขากับประชากรพื้นราบในภาคเหนือ : สำหรับความสัมพันธ์ในด้านเศรษฐกิจระหว่างชาวเขากับประชากรพื้นราบนั้น พบว่ามี 3 ด้านด้วยกัน คือ ด้านเศรษฐกิจ อุตสาหกรรมในครัวเรือน และการกู้ยืมเงิน ในด้านเศรษฐกิจ ชาวเขาได้รับอิทธิพลทางเทคโนโลยีจากคนพื้นราบน้อยมาก และยังคงรักษารูปแบบการผลิตแบบดั้งเดิมไว้ได้ ในด้านอุตสาหกรรมในครัวเรือนก็เช่นกัน ชาวเขายังคงวิธีการผลิตแบบดั้งเดิมอยู่และใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่น้อยมาก ส่วนด้านการกู้ยืมเงินนั้น ชาวเขามีการกู้ยืมเงินจากพ่อค้าคนกลางที่ชาวเขาเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย อย่างไรก็ตาม เมื่อชาวเขาหันมายอมรับเอาเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้าไปในการผลิตมากขึ้น แล้วก็พบว่า ชาวเขามีรายได้และผลผลิตมากกว่าก่อนการใช้เทคโนโลยีตามไปด้วย (หน้า 236) ส่วนความสัมพันธ์ในด้านการตลาดระหว่างชาวเขากับประชากรพื้นราบนั้น อยู่ในลักษณะที่ชาวเขาเป็นผู้ขายสินค้าเกษตรและสินค้าอุตสาหกรรมในครัวเรือนให้ชาวพื้นราบ ขณะเดียวกันชาวพื้นราบก็จะเป็นผู้ขายสินค้าประเภทอุปโภคบริโภคให้แก่ชาวเขา โดยชาวพื้นราบจะติดต่อขายสินค้าให้ชาวเขาเป็นประจำ และชาวเขาก็จะลงมาซื้อสินค้าที่ตลาดพื้นราบเอง ปัจจัยที่ชาวเขาคำถึงในการซื้อสินค้าก็คือ ระดับราคา ส่วนปัญหาในการติดต่อกันก็คือ ภาษาที่ใช้และการไม่ยอมรับสินค้าใหม่ ๆ ของชาวเขา (หน้า 238) อย่างไรก็ตาม นอกจากจะศึกษาเกี่ยวกับความสัมพันธ์ในด้านเศรษฐกิจและการตลาดระหว่างชาวเขาและชาวพื้นราบแล้ว งานวิจัยชิ้นนี้ยังได้ศึกษาเกี่ยวกับบทบาทของรัฐต่อชาวเขาในด้านการตลาด และทัศนคติและการปฏิบัติในด้านการเกษตรและการตลาดระหว่างชาวเขากับชาวพื้นราบ ด้วย สำหรับ บทบาทของรัฐต่อการตลาดของชาวเขานั้น พบว่า สำหรับสินค้าเกษตร รัฐจะช่วยเหลือในรูปของการส่งเสริมการผลิตโดยการแนะนำพืชชนิดใหม่ๆ และการเพิ่มผลิตผล ส่วนการจัดหาตลาดและการประกันราคารัฐยังเข้าไปมีบทบาทน้อยมาก สำหรับบทบาทของรัฐต่อการตลาดเกี่ยวกับสินค้าอุตสาหกรรมในครัวเรือนนั้น รัฐจะช่วยเหลือในรูปของการฝึกอบรมให้ความรู้ ในปัจจุบันนี้ชาวเขายังคงต้องการความช่วยเหลือทางการตลาดจากรัฐในหลายเรื่อง เช่น การขายผลผลิต ข้อมูลทางการตลาด ความรู้ในด้านการผลิต ทุนในการประกอบการ และการส่งเสริมความสัมพันธ์กับชาวพื้นราบทางการค้า (หน้า ค - ง) ส่วนทัศนคติและการปฏิบัติในด้านการเกษตรและการตลาดระหว่างชาวเขากับชาวพื้นราบ จากการศึกษาพบว่า ชาวพื้นราบมีทัศนคติโดยทั่วไปเกี่ยวกับลักษณะต่าง ๆ ของชาวเขาในทางที่ดี สำหรับชาวเขานั้นส่วนใหญ่ก็มีทัศนคติที่ดีต่อเจ้าหน้าที่ของรัฐ และมีทัศนคติที่ดีต่อชาวพื้นราบในเชิงเศรษฐกิจและการตลาดด้วย (หน้า ง)

Social Organization

ชาวเขากลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่สมรสแล้ว สัดส่วนของชาวเขาที่สมรสแล้วที่จังหวัดลำพูนมีสูงสุด รองลงมาคือชาวเขาจังหวัดเชียงใหม่ และชาวเขาจังหวัดเชียงราย นอกจากนี้ ยังมีชาวเขาที่เป็นหม้าย หย่าร้าง หรือแยกกันอยู่ด้วย ในกรณีเหล่านี้ ชาวเขาในจังหวัดเชียงรายมีร้อยละ 7.3 เชียงใหม่มีร้อยละ 6.8 และลำพูนมีร้อยละ 5.9 ส่วนชาวเขาที่ยังเป็นโสดมีสัดส่วนน้อยมาก ในเชียงรายมีร้อยละ 4.9 เชียงใหม่มีร้อยละ 3.4 ของทั้งหมด ในด้านจำนวนสมาชิกในครอบครัวของชาวเขากลุ่มตัวอย่างนั้น จำนวนสมาชิกเฉลี่ยต่อครัวเรือนของชาวเขาเท่ากับ 6.5 คน เชียงรายมี 6.2 คน เชียงใหม่มี 7.2 คน และลำพูนเฉลี่ยเท่ากับ 5.4 คน ครอบครัวของชาวเขามีลักษณะเป็นครอบครัวขนาดค่อนข้างใหญ่ ผู้เป็นหัวหน้าครอบครัวต้องรับผิดชอบสมาชิกในครัวเรือนเป็นจำนวนมาก นอกจากนั้น ในบรรดาชาวเขากลุ่มตัวอย่างทั้งซึ่งมี 226 ตัวอย่างนั้น ส่วนใหญ่เป็นครอบครัวขนาด 5-8 คน ที่จังหวัดลำพูนมีสัดส่วนมากที่สุด รองลงมาคือเชียงราย และจังหวัดเชียงใหม่ (หน้า 38-39 และดูข้อมูลประกอบในตารางที่ 3.1) ชาวพื้นราบกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เป็นผู้ที่อยู่ในสถานภาพแต่งงานคือมีจำนวนร้อยละ 87.6 ที่เป็นโสดมีเพียงร้อยละ 4.1 ส่วนผู้ที่เป็นหม้าย หย่าร้าง หรือแยกกันอยู่มีเพียงร้อยละ 8.2 เท่านั้น ขนาดครัวเรือนของชาวพื้นราบที่มีการติดต่อกับชาวเขาในจังหวัดเชียงรายนั้น ร้อยละ 26.1 มีจำนวนสมาชิกในครัวเรือน 1-3 คน ประมาณร้อยละ 52.2 มีจำนวนสมาชิก 4-6 คน และขนาดครัวเรือน 7 คนขึ้นไปมีเพียงร้อยละ 21.7 เท่านั้น แต่เมื่อเปรียบเทียบกับจังหวัดเชียงใหม่ โดยส่วนรวมแล้วขนาดครอบครัวจะเล็กกว่าในจังหวัดเชียงราย กล่าวคือ ครอบครัวขนาด 1-3 คน จะมีประมาณร้อยละ 31.5 คน ขนาด 4-6 คน ร้อยละ 57.4 ขนาด 7 คนขึ้นไปมีร้อยละ 11.1 คน ส่วนจังหวัดลำพูนนั้นร้อยละ 80 ของครอบครัวที่เป็นกลุ่มตัวอย่างมีจำนวนสมาชิก 7 คนขึ้นไป สรุปแล้ว ขนาดครอบครัวของชาวพื้นราบกลุ่มตัวอย่างทั้ง 3 จังหวัดมีจำนวนสมาชิกโดยเฉลี่ยแล้ว 4.8 คนหรือก็คือ 5 คนนั่นเอง (หน้า 74 และดูตารางที่ 3.19)

Political Organization

ชาวเขากลุ่มตัวอย่างไม่ค่อยมีการรวมกลุ่มทางการเมือง สังคม และเศรษฐกิจเท่าที่ควรนัก กลุ่มทางการเมืองมีชาวเขาไม่เข้าร่วมถึงร้อยละ 72.1 กลุ่มทางเศรษฐกิจไม่เข้าร่วมร้อยละ 78.6 และกลุ่มทางสังคมมีชาวเขาไม่เข้าร่วมถึงร้อยละ 68.1 (หน้า 62 และดูในตารางที่ 3.12 ประกอบ) ขณะที่ชาวพื้นราบไม่ค่อยมีการรวมกลุ่มกันมากนัก ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มทางการเมือง กลุ่มทางสังคม หรือกลุ่มทางเศรษฐกิจ โดยกลุ่มทางการเมืองมีผู้ไม่เข้าร่วมมากถึงร้อยละ 70.1 กลุ่มทางเศรษฐกิจมีผู้ไม่เข้าร่วมร้อยละ 91.7 และกลุ่มทางสังคมมีผู้ไม่เข้าร่วมร้อย 56.7 ชาวพื้นราบกลุ่มตัวอย่างในจังหวัดเชียงรายมีผู้เข้ารวมกลุ่มทางสังคมมากกว่าในจังหวัดเชียงใหม่และลำพูน ส่วนกลุ่มทางการเมืองที่เข้าร่วมกันมากในทุกจังหวัดคือ ทสปช. ขณะที่กลุ่มทางเศรษฐกิจก็มีน้อยมากเช่นกัน (หน้า 83 ดูตารางที่ 3.25, 3.26, และ 3.27 ประกอบ)

Belief System

ชาวเขาส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ รองลงมาคือศาสนาคริสต์ และศาสนาอิสลาม ชาวเขาในจังหวัดลำพูนนับถือศาสนาพุทธมากที่สุด เนื่องจากอาศัยอยู่ติดกับชาวพื้นราบจึงได้รับอิทธิพลทางศาสนามาจากชาวพื้นราบด้วย ซึ่งแตกต่างจากชาวเขาในจังหวัดเชียงรายและเชียงใหม่ที่อาศัยอยู่บนพื้นที่สูง ห่างไกลจากชาวพื้นราบที่ส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ โดยเฉพาะชาวเขาในจังหวัดเชียงรายยังคงมีการนับถือผีอยู่เป็นส่วนใหญ่ ส่วนชาวเขาที่นับถือศาสนาคริสต์นั้นมีมากที่สุดในจังหวัดเชียงใหม่ รองลงมาคือเชียงราบ ส่วนที่ลำพูนไม่มีเลย (หน้า 48 และดูตารางที่ 3.6 ประกอบ) ส่วนชาวพื้นราบกลุ่มตัวอย่างนั้น ส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธมากถึงร้อยละ 96.9 ที่เหลือซึ่งมีจำนวนน้อยมากนั้น นับถือศาสนาคริสต์และศาสนาอิสลาม (หน้า 81 และดูตารางที่ 3.23 ประกอบ)

Education and Socialization

โดยภาพรวมแล้วชาวเขาส่วนใหญ่ไม่ค่อยได้เรียนหนังสือ จังหวัดเชียงรายมีสัดส่วนชาวเขาที่ไม่รู้หนังสือมากที่สุดถึงร้อยละ 82.9 รองลงมาคือชาวเขาในจังหวัดเชียงใหม่มีร้อยละ 78.6 ในขณะที่จังหวัดลำพูนมีชาวเขาที่ไม่รู้หนังสือน้อยที่สุดคือร้อยละ 66.2 ส่วนชาวเขาที่ได้รับการศึกษามีอยู่ร้อยละ 24.4 ของชาวเขาทั้งหมด ร้อยละ 10.6 จบการศึกษาชั้นประถมปีที่ 4 สามารถอ่านออกเขียนได้ ร้อยละ 5.8 จบการศึกษาต่ำกว่าชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ส่วนที่เหลือคือร้อยละ 3.1 ไม่ได้เรียนหนังสือ แต่สามารถอ่านออกเขียนได้ (หน้า 30และดูตารางที่ 3.1 ประกอบ) ชาวพื้นราบกลุ่มตัวอย่าง : ร้อยละ 47.4 ของชาวพื้นราบในจังหวัดเชียงรายเป็นผู้ไม่ได้เรียนหนังสือเลย ร้อยละ 13 ไม่ได้เรียนแต่อ่านออกเขียนได้ ร้อยละ 47.8 เรียนจบชั้น ป. 4 และร้อยละ 21.8 เรียนจบในระดับสูงกว่า ป.4 ส่วนในจังหวัดเชียงใหม่ชาวพื้นราบส่วนใหญ่มีระดับการศึกษาที่สูงกว่าชาวพื้นราบในจังหวัดเชียงราย คือ ร้อยละ 7.4 เป็นกลุ่มที่ไม่ได้เรียนหนังสือเลย ร้อยละ 1.9 ไม่ได้เรียนแต่อ่านออกเขียนได้ ร้อยละ 25.9 เรียนจบ ป.4 และร้อยละ 64.8 เรียนจบในระดับที่สูงกว่า ป.4 สำหรับข้อมูลเกี่ยวกับการศึกษาของชาวพื้นราบในจังหวัดลำพูนนั้น ร้อยละ 75 เรียนจบในระดับที่สูงกว่า ป.4 ร้อยละ 25 เรียนจบชั้น ป.4 (หน้า 72 และ ดูตารางที่ 3.18 ประกอบ)

Health and Medicine

ภาพรวมเกี่ยวกับการอนามัยและการสาธารณสุขพื้นฐานของชาวเขา : การใช้น้ำ : ชาวเขาใช้น้ำประปาที่ต่อมาจากแหล่งน้ำบนภูเขาด้วยกระบอกไม้ไผ่เป็นน้ำดื่มน้ำใช้และน้ำที่ใช้ประจำวัน การใช้น้ำด้วยวิธีนี้พบมากที่สุดในจังหวัดเชียงใหม่ ในกรณีน้ำดื่มในเชียงใหม่มีถึงร้อยละ 51.3 ในลำพูนมีร้อยละ 35.3 และในเชียงรายร้อยละ 29.3 อย่างไรก็ตาม แหล่งน้ำดื่มน้ำใช้ที่พบมากยังมีอีก 2 แหล่งคือ แม่น้ำลำคลองและน้ำบ่อ การนำน้ำในแม่น้ำลำคลองมาเป็นน้ำดื่มถึงร้อยละ 27.9 นำมาเป็นน้ำใช้ถึงร้อยละ 29.2 การนำน้ำบ่อมาเป็นน้ำดื่มมีถึง 25.2 และนำมาเป็นน้ำใช้ร้อยละ 24.8 ขณะที่น้ำบาดาลมีใช้กันน้อยมากในหมู่ชาวเขา ส่วนเรื่องการปรับปรุงน้ำดื่มให้สะอาดของชาวเขาพบว่า ในจังหวัดลำพูนมีการปรับปรุงมากที่สุด รองลงมาคือจังหวัดเชียงราย และสุดท้ายคือเชียงใหม่ วิธีการปรับปรุงน้ำดื่มที่ชาวเขาใช้กันมากที่สุดคือ การต้ม รองลงมาคือการกรอง แกว่งสารส้ม ส่วนการปรับปรุงน้ำใช้ให้สะอาดก่อนนำไปใช้ พบว่า ชาวเขาทั้งสามจังหวัดแทบจะไม่มีการปรับปรุงน้ำให้สะอาดก่อนนำไปใช้เลย (หน้า 66 - 67 และดูตารางที่ 3.15 ประกอบ) การใช้ส้วม : ชาวเขาส่วนใหญ่ไมีส้วมใช้ โดยเฉพาะในจังหวัดเชียงใหม่และเชียงรายมีมากที่สุด ที่พอมีใช้บ้างคือชาวเขาในจังหวัดลำพูน การใช้ส้วมซึมนั้น พบว่าชาวเขาในจังหวัดลำพูนมีแบบแผนการใช้ส้วมซึมดีกว่าชาวเขาในเชียงรายและเชียงใหม่ การกำจัดขยะ : ชาวเขาทั้งในเชียงราย เชียงใหม่ และลำพูนกำจัดขยะโดยใช้วิธีการเผาเป็นส่วนใหญ่ ในลำพูนเผาขยะกันมากร้อยละ 62.7 เชียงรายร้อยละ 39.0 เชียงใหม่ร้อยละ 39.8 ส่วนชาวเขาที่ไม่มีการกำจัดขยะมีร้อยละ 43.9 ที่ใช้วิธีอื่นมีเพียงร้อยละ 10.4 ผู้ป่วยในครัวเรือน : ชาวเขาส่วนใหญ่มีผู้ป่วยในครัวเรือนมากถึงร้อยละ 79.2 ส่วนครัวเรือนที่ไม่มีผู้ป่วยเลยมีเพียงร้อยละ 20.8 เท่านั้น วิธีการรักษาพยาบาล : ชาวเขาส่วนใหญ่นิยมไปรับการรักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลของรัฐบาลมีมากถึงร้อยละ 46.9 ส่วนชาวเขาที่ใช้วิธีการรักษาหลายวิธีรวมกันมีร้อยละ 42.5 ขณะที่การใช้วิธีรักษาพยาบาล ด้วยตัวเองมีเพียงร้อยละ 1.8 เท่านั้น (หน้า 69 - 70 และดูตารางที่ 3.16 และตารางที่ 3.17 ประกอบ) ภาพรวมเกี่ยวกับการอนามัยและการสาธารณสุขพื้นฐานของชาวพื้นราบ : ชาวพื้นราบกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ใช้น้ำปะปาเป็นน้ำดื่มน้ำใช้ รองลงมาคือน้ำจากบ่อขุด และมีการใช้น้ำจากแม่น้ำลำคลองน้อยมาก การจำกัดขยะส่วนมากใช้วิธีการกำจัดขยะหลายวิธีรวมกัน คือทั้งฝังและเผา รองลงมาคือใช้วิธีเผาอย่างเดียวและฝังอย่างเดียว ส่วนการใช้ส้วมนั้น พบว่า ชาวพื้นราบกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ใช้ส้วมซึม มีการใช้ส้วมหลุมเพียงนิดเดียวเท่านั้น ขณะที่ในเรื่องการเจ็บไข้ได้ป่วยในครัวเรือนนั้น พบว่า มีการเจ็บป่วยในครัวเรือนถึงร้อยละ 68.1 ส่วนครัวเรือนที่ไม่มีการเจ็บป่วยมีเพียง 31.9 เท่านั้น และเมื่อเกิดการเจ็บไข้ได้ป่วยแล้ว ชาวพื้นราบส่วนใหญ่จะไปรับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลของรัฐ มีการรักษาด้วยตนเองและที่อนามัยในจังหวัดน้อยมาก (หน้า 87 - 88, ดูตารางที่ 3.28, 3.29, 3.30)

Art and Crafts (including Clothing Costume)

ไม่มีข้อมูล

Folklore

ไม่มีข้อมูล

Ethnicity (Ethnic Identity, Boundaries and Ethnic Relation)

ไม่มีข้อมูล

Social Cultural and Identity Change

ไม่มีข้อมูล

Critic Issues

ไม่มีข้อมูล

Other Issues

ไม่มี

Map/Illustration

ภาพที่ 1 แสดงแผนที่ของหมู่บ้านกลุ่มตัวอย่าง (หน้า 18)

Text Analyst ธิกานต์ ศรีนารา Date of Report 18 ส.ค. 2557
TAG ม้ง, เมี่ยน, ลาหู่, ปกาเกอะญอ จกอ คานยอ (กะเหรี่ยง), ชาวเขา, ชาวพื้นราบ, เศรษฐกิจ, การตลาด, ความสัมพันธ์, ภาคเหนือ, Translator -
 
 

 

ฐานข้อมูลอื่นๆของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
  ฐานข้อมูลพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทย
จารึกในประเทศไทย
จดหมายเหตุทางมานุษยวิทยา
แหล่งโบราณคดีที่สำคัญในประเทศไทย
หนังสือเก่าชาวสยาม
ข่าวมานุษยวิทยา
ICH Learning Resources
ฐานข้อมูลเอกสารโบราณภูมิภาคตะวันตกในประเทศไทย
ฐานข้อมูลประเพณีท้องถิ่นในประเทศไทย
ฐานข้อมูลสังคม - วัฒนธรรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  หน้าหลัก
งานวิจัยชาติพันธุ์ในประเทศไทย
บทความชาติพันธุ์
ข่าวชาติพันธุ์
เครือข่ายชาติพันธุ์
เกี่ยวกับเรา
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  ข้อมูลโครงการ
ทีมงาน
ติดต่อเรา
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
ช่วยเหลือ
  กฏกติกาและมารยาท
แบบสอบถาม
คำถามที่พบบ่อย


ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) เลขที่ 20 ถนนบรมราชชนนี เขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ 10170 
Tel. +66 2 8809429 | Fax. +66 2 8809332 | E-mail. webmaster@sac.or.th 
สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2549    |   เงื่อนไขและข้อตกลง