สมัครสมาชิก   
| |
ค้นหาข้อมูล
ค้นหาแบบละเอียด
  •   ความเป็นมาและหลักเหตุผล

    เพื่อรวบรวมงานวิจัยทางชาติพันธุ์ที่มีคุณภาพมาสกัดสาระสำคัญในเชิงมานุษยวิทยาและเผยแผ่สาระงานวิจัยแก่นักวิชาการ นักศึกษานักเรียนและผู้สนใจให้เข้าถึงงานวิจัยทางชาติพันธุ์ได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น

  •   ฐานข้อมูลจำแนกกลุ่มชาติพันธุ์ตามชื่อเรียกที่คนในใช้เรียกตนเอง ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้ คือ

    1. ชื่อเรียกที่ “คนอื่น” ใช้มักเป็นชื่อที่มีนัยในทางเหยียดหยาม ทำให้สมาชิกกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ รู้สึกไม่ดี อยากจะใช้ชื่อที่เรียกตนเองมากกว่า ซึ่งคณะทำงานมองว่าน่าจะเป็น “สิทธิพื้นฐาน” ของการเป็นมนุษย์

    2. ชื่อเรียกชาติพันธุ์ของตนเองมีความชัดเจนว่าหมายถึงใคร มีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมอย่างไร และตั้งถิ่นฐานอยู่แห่งใดมากกว่าชื่อที่คนอื่นเรียก ซึ่งมักจะมีความหมายเลื่อนลอย ไม่แน่ชัดว่าหมายถึงใคร 

     

    ภาพ-เยาวชนปกาเกอะญอ บ้านมอวาคี จ.เชียงใหม่

  •  

    จากการรวบรวมงานวิจัยในฐานข้อมูลและหลักการจำแนกชื่อเรียกชาติพันธุ์ที่คนในใช้เรียกตนเอง พบว่า ประเทศไทยมีกลุ่มชาติพันธุ์มากกว่า 62 กลุ่ม


    ภาพ-สุภาษิตปกาเกอะญอ
  •   การจำแนกกลุ่มชนมีลักษณะพิเศษกว่าการจำแนกสรรพสิ่งอื่นๆ

    เพราะกลุ่มชนต่างๆ มีความรู้สึกนึกคิดและภาษาที่จะแสดงออกมาได้ว่า “คิดหรือรู้สึกว่าตัวเองเป็นใคร” ซึ่งการจำแนกตนเองนี้ อาจแตกต่างไปจากที่คนนอกจำแนกให้ ในการศึกษาเรื่องนี้นักมานุษยวิทยาจึงต้องเพิ่มมุมมองเรื่องจิตสำนึกและชื่อเรียกตัวเองของคนในกลุ่มชาติพันธุ์ 

    ภาพ-สลากย้อม งานบุญของยอง จ.ลำพูน
  •   มโนทัศน์ความหมายกลุ่มชาติพันธุ์มีการเปลี่ยนแปลงในช่วงเวลาต่างๆ กัน

    ในช่วงทศวรรษของ 2490-2510 ในสาขาวิชามานุษยวิทยา “กลุ่มชาติพันธุ์” คือ กลุ่มชนที่มีวัฒนธรรมเฉพาะแตกต่างจากกลุ่มชนอื่นๆ ซึ่งมักจะเป็นการกำหนดในเชิงวัตถุวิสัย โดยนักมานุษยวิทยาซึ่งสนใจในเรื่องมนุษย์และวัฒนธรรม

    แต่ความหมายของ “กลุ่มชาติพันธุ์” ในช่วงหลังทศวรรษ 
    2510 ได้เน้นไปที่จิตสำนึกในการจำแนกชาติพันธุ์บนพื้นฐานของความแตกต่างทางวัฒนธรรมโดยตัวสมาชิกชาติพันธุ์แต่ละกลุ่มเป็นสำคัญ... (อ่านเพิ่มใน เกี่ยวกับโครงการ/คู่มือการใช้)


    ภาพ-หาดราไวย์ จ.ภูเก็ต บ้านของอูรักลาโว้ย
  •   สนุก

    วิชาคอมพิวเตอร์ของนักเรียน
    ปกาเกอะญอ  อ. แม่ลาน้อย
    จ. แม่ฮ่องสอน


    ภาพโดย อาทิตย์    ทองดุศรี

  •   ข้าวไร่

    ผลิตผลจากไร่หมุนเวียน
    ของชาวโผล่ว (กะเหรี่ยงโปว์)   
    ต. ไล่โว่    อ.สังขละบุรี  
    จ. กาญจนบุรี

  •   ด้าย

    แม่บ้านปกาเกอะญอ
    เตรียมด้ายทอผ้า
    หินลาดใน  จ. เชียงราย

    ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ถั่วเน่า

    อาหารและเครื่องปรุงหลัก
    ของคนไต(ไทใหญ่)
    จ.แม่ฮ่องสอน

     ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ผู้หญิง

    โผล่ว(กะเหรี่ยงโปว์)
    บ้านไล่โว่ 
    อ.สังขละบุรี
    จ. กาญจนบุรี

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   บุญ

    ประเพณีบุญข้าวใหม่
    ชาวโผล่ว    ต. ไล่โว่
    อ.สังขละบุรี  จ.กาญจนบุรี

    ภาพโดยศรยุทธ  เอี่ยมเอื้อยุทธ

  •   ปอยส่างลอง แม่ฮ่องสอน

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ปอยส่างลอง

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดย เบญจพล  วรรณถนอม
  •   อลอง

    จากพุทธประวัติ เจ้าชายสิทธัตถะ
    ทรงละทิ้งทรัพย์ศฤงคารเข้าสู่
    ร่มกาสาวพัสตร์เพื่อแสวงหา
    มรรคผลนิพพาน


    ภาพโดย  ดอกรัก  พยัคศรี

  •   สามเณร

    จากส่างลองสู่สามเณร
    บวชเรียนพระธรรมภาคฤดูร้อน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   พระพาราละแข่ง วัดหัวเวียง จ. แม่ฮ่องสอน

    หล่อจำลองจาก “พระมหามุนี” 
    ณ เมืองมัณฑะเลย์ ประเทศพม่า
    ชาวแม่ฮ่องสอนถือว่าเป็นพระพุทธรูป
    คู่บ้านคู่เมืององค์หนึ่ง

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม

  •   เมตตา

    จิตรกรรมพุทธประวัติศิลปะไต
    วัดจองคำ-จองกลาง
    จ. แม่ฮ่องสอน
  •   วัดจองคำ-จองกลาง จ. แม่ฮ่องสอน


    เสมือนสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรม
    เมืองไตแม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ใส

    ม้งวัยเยาว์ ณ บ้านกิ่วกาญจน์
    ต. ริมโขง อ. เชียงของ
    จ. เชียงราย
  •   ยิ้ม

    แม้ชาวเลจะประสบปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัย
    พื้นที่ทำประมง  แต่ด้วยความหวัง....
    ทำให้วันนี้ยังยิ้มได้

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ผสมผสาน

    อาภรณ์ผสานผสมระหว่างผ้าทอปกาเกอญอกับเสื้อยืดจากสังคมเมือง
    บ้านแม่ลาน้อย จ. แม่ฮ่องสอน
    ภาพโดย อาทิตย์ ทองดุศรี
  •   เกาะหลีเป๊ะ จ. สตูล

    แผนที่ในเกาะหลีเป๊ะ 
    ถิ่นเดิมของชาวเลที่ ณ วันนี้
    ถูกโอบล้อมด้วยรีสอร์ทการท่องเที่ยว
  •   ตะวันรุ่งที่ไล่โว่ จ. กาญจนบุรี

    ไล่โว่ หรือที่แปลเป็นภาษาไทยว่า ผาหินแดง เป็นชุมชนคนโผล่งที่แวดล้อมด้วยขุนเขาและผืนป่า 
    อาณาเขตของตำบลไล่โว่เป็นส่วนหนึ่งของป่าทุ่งใหญ่นเรศวรแถบอำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี 

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   การแข่งขันยิงหน้าไม้ของอาข่า

    การแข่งขันยิงหน้าไม้ในเทศกาลโล้ชิงช้าของอาข่า ในวันที่ 13 กันยายน 2554 ที่บ้านสามแยกอีก้อ อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย
 
  Princess Maha Chakri Sirindhorn Anthropology Centre
Ethnic Groups Research Database
Sorted by date | title

   Record

 
Subject มอญ,ศิลปหัตถกรรมพื้นบ้าน,การทำโลงมอญ,พระประแดง,สมุทรปราการ
Author สุพิศวง ธรรมพันทา และ กฤช เจริญน้ำทองคำ
Title วัฒนธรรมมอญพระประแดง : กรณีศึกษาศิลปหัตถกรรมพื้นบ้าน การทำโลงมอญ พระประแดง สมุทรปราการ
Document Type รายงานการวิจัย Original Language of Text ภาษาไทย
Ethnic Identity มอญ รมัน รามัญ, Language and Linguistic Affiliations ออสโตรเอเชียติก(Austroasiatic)
Location of
Documents
ห้องสมุดศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร Total Pages 132 Year 2546
Source สาขาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ สถาบันราชภัฎบ้านสมเด็จเจ้าพระยา
Abstract

มีเนื้อหาครอบคลุมความเป็นมาของมอญพระประแดง วัฒนธรรม ความเชื่อ และประเพณี ศิลปะพื้นบ้าน โดยเฉพาะการทำโลงศพมอญพระประแดง ซึ่งยังคงพบเห็นได้ในปัจจุบัน โดยมีพิธีกรรมต่างๆ เป็นสะพานเชื่อมโลกนี้กับโลกหน้า และระหว่างคนในชุมชน หัตถกรรมพื้นบ้านการทำโลงมอญเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของมอญพระประแดง เพราะรูปทรงและลวดลายที่มีลักษณะเฉพาะแตกต่างจากโลงศพอื่น ปัจจุบัน การทำโลงมอญสกุลช่างปากลัด (โลงมอญน้ำจืด) ช่างผู้สืบทอดงานเหลือเพียงสองท่าน โลงมอญสกุลช่างปากลัดประกอบจากงานไม้และงานกระดาษเป็นหลัก ขั้นตอนเริ่มจากการทำตัวโลงและการตกแต่งทั้งตัวโลง ฝาโลง และการทำและตกแต่ง "ยอดครู" ใช้เวลาทำไม่น้อยกว่า 1-2 เดือน ใช้ลวดลายตกแต่งประมาณ 20-30 ลาย ตัวโลงเจาะช่องหน้าต่าง เรียกว่า ลายขุนแผนเปิดม่าน ส่วนที่สำคัญคือส่วน "ยอดครู" เพราะถือว่าเป็นที่อยู่ของครูผู้ประสิทธิ์ประสาทวิชาการทำโลงมอญ อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน ช่างประยุกต์ใช้วิธีง่ายและประหยัดเวลาในการทำโลงมากขึ้น และคนมอญนิยมโลงมอญมากกว่าก่อน

Focus

ความเป็นมาทางสังคมและวัฒนธรรม ของชุมชนมอญพระประแดง เน้นการทำโลงมอญพระประแดง อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ (หน้า ค)

Theoretical Issues

ไม่มี

Ethnic Group in the Focus

มอญ ชุมชนมอญพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ "มอญ" เป็นชนเผ่ามองโกลลอยด์ (Mongoloid) มีถิ่นฐานเดิมอยู่ทางตะวันตกของประเทศจีน และเคยมีดินแดนอยู่ทางตอนล่างของพม่า เรียกว่า "รามัญเทศ" หรือ รามัญประเทศ

Language and Linguistic Affiliations

มอญมีภาษาพูดอยู่ในตระกูล มอญ-เขมร (Mon- Khmer) แต่เดิมมอญที่อพยพเข้ามาอยู่บริเวณพระแดง สมุทรปราการ สื่อสารกันด้วยภาษามอญในชีวิตประจำวัน ส่วนภาษาเขียนได้เรียนจากวัดโดยมีพระเป็นผู้สอน แต่เมื่อกาลเวลาผ่านไปโอกาสการใช้ภาษามอญน้อยลง การใช้ภาษามอญทั้งพูดและเขียนมีน้อยลง โดยคงเหลือการศึกษาภาษามอญอยู่ที่วัดอาษาสงคราม (หน้า 1-2) เด็กรุ่นใหม่ในชุมชนมอญพูดภาษามอญไม่ได้แล้ว เพราะใช้ภาษาไทยในชีวิตประจำวัน (หน้า 16)

Study Period (Data Collection)

ระบุปีที่วิจัยว่าอยู่ในระหว่างปี พ.ศ.2543-2545 งานศึกษามีการค้นคว้าจากข้อมูลเอกสารบางส่วน และการศึกษาภาคสนาม (หน้า ค) มีการร่วมงานทำโลงศพมอญ ณ วัดทรงธรรมวรวิหาร พระประแดง ได้ข้อมูลจากการสัมภาษณ์ผู้รู้และผู้เฒ่าผู้แก่ในชุมชน โดยช่วงเวลาศึกษาอยู่ระหว่างเดือน พฤศจิกายน พ.ศ.2543 ถึง เดือนตุลาคม พ.ศ. 2545 (หน้า 58)

History of the Group and Community

จากหลักฐานจารึกกัลยาณี มอญ ซึ่งเรียกตัวเองว่า "รามญเทส" หรือ รามัญประเทศ แต่ชาวพม่าเรียกมอญว่า ตะเลง (Talaing) มอญอพยพมาจากจีนเข้าสู่ชายแดนพม่าตั้งแต่ 1000 ปี ก่อนคริสต์ศักราช ซึ่งแยกการเดินทางออกเป็น 2 สาย คือ สายหนึ่งลงมาทางลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งอาณาจักรทวารวดีรุ่งเรืองในพุทธศตวรรษที่ 6-17 และอีกสายหนึ่งลงมาตามแม่น้ำอิรวดี และได้มาตั้งถิ่นฐานอยู่ทางตอนใต้ของพม่า มีอาณาเขตไปถึงเมืองทวาย มีศูนย์กลางของอาณาจักรคือเมืองสุธรรมวดี หรือเมืองสะเทิม (Thaton) ในปัจจุบันอยู่บริเวณปากแม่น้ำสะโตง (Sitong) ในเขตเมืองเมาะตะมะ ( Martabam) มอญเป็นดินแดนโพ้นทะเลที่ได้รับอารยธรรมจากอินเดียในราว 3000 ปีก่อนคริสตกาล ทำให้มีวัฒนธรรมในระดับสูงกว่าอาณาจักรอื่น ๆ เช่น มอญรู้จักการเพาะปลูก และจัดการชลประทาน แต่อาณาจักรถูกรุกรานโดยราชวงศ์พุกาม ซึ่งมีพระเจ้าอะโนระทามังช่อเป็นกษัตริย์ในปี พ.ศ. 1057 และถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของพม่าเป็นเวลานาน จนถึงในปี พ.ศ.1830 มอญได้ประกาศอิสรภาพคืนเพราะพม่าพ่ายแพ้ต่อมองโกล ยุคนี้เป็นยุคเฟื่อฟูของมอญ โดยเฉพาะมีความเจริญทางการค้า แต่มาสิ้นสุดลงในปี พ.ศ.2094 โดยพม่าในยุคของพระเจ้าตะเบ็งชเวตี้ อย่างไรก็ตาม ในปี พ.ศ.2283 มอญได้ประกาศอิสรภาพและขยายอาณาจักรไปทางเหนือ โดยมีฮอลันดาและโปรตุเกสเข้าช่วย แต่ท้ายที่สุดก็ตกเป็นเมืองขึ้นของพม่าในสมัยพระเจ้าอลองพญาในปี พ.ศ.2300 (หน้า 122-123) ภายหลังมีการอพยพเข้ามาประเทศไทย อยู่หนาแน่นแถบภาคกลาง โดยเฉพาะจังหวัด นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรสาคร และสมุทรปราการ หลังจากสร้างเมืองนครเขื่อนขันธ์ ใน พ.ศ. 2358 รัชกาลที่ 2 ทรงโปรดให้ครอบครัวมอญจากเมืองปทุมธานีที่อพยพเข้ามาในสมัยพระเจ้าตากสินฯ ซึ่งนำโดยพระยาแจ่ง ต้นตระกูล คชเสนี เข้ามาตั้งถิ่นฐานที่เมืองนครเขื่อนขันธ์ ซึ่งคือพระประแดงในปัจจุบัน (หน้า 1-2,7-9)

Settlement Pattern

มอญนิยมใช้ชีวิตอยู่ใกล้ริมน้ำ การปลูกเรือนจะปลูกขวางแม่น้ำ โดยจั่วบ้านหันไปทางแนวเหนือใต้ ทำให้มองเห็นบ้านเรือนขวาง คนทั่วไปเรียก "มอญขวาง" ตัวบ้านทำเป็นโครงสูง ใช้สำหรับประกอบอาชีพ พิธีกรรม และการละเล่นพื้นบ้าน มอญจะกระจายตัวตั้งหมู่บ้านและเรียกชื่อหมู่บ้านตามสภาพแวดล้อม และเรียกชื่ออยู่เช่นเดิมในพม่า (หน้า 11 )

Demography

ไม่ได้ระบุชัดเจนสำหรับข้อมูลประชากร แต่กล่าวถึงการอพยพของมอญเข้าสู่ประเทศไทยไว้ โดยเริ่มตั้งเเต่สมัยอยุธยา ถึงกรุงรัตนโกสินทร์ ที่มีการจดบันทึกทั้งหมด 11 ครั้ง โดยสมัยอยุธยา 8 ครั้ง สมัยกรุงธนบุรี 1 ครั้ง และสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ 2 ครั้ง (หน้า 126-129) ส่วนอำเภอพระประแดงมีประชากร 204,590 คน 69,207 ครัวเรือน (หน้า 20)

Economy

ในอดีตมอญมีอาชีพทำนาและเพาะปลูกพืชเล็กๆ น้อยๆ แถบอำเภอบางพลี อำเภอบางบ่อ เขตมีนบุรีและลาดกระบัง ในยามว่างจากการทำนาจะอยู่บ้านสานเสื่อกกเป็นงานอดิเรกประะมาณระหว่างเดือนสิงหาคม กันยายน และเดือนกุมภาพันธ์ ถึงพฤษภาคม การสานเสื่อมีความสำคัญกับมอญเพราะเป็นสิ่งจำเป็นในการดำรงชีวิตและสำหรับใช้ในงานประเพณี ปัจจุบันชาวนาได้ขายที่นาและทิ้งอาชีพเดิมหันมาประกอบอาชีพอื่นทำให้อาชีพทำนาและการสานเสื่อจากหายไปจากชุมชนมอญพระประแดง (หน้า 15-16)

Social Organization

ไม่มีข้อมูล

Political Organization

ไม่ได้ระบุชัดเจน แต่บอกว่าอำเภอพระประเเดงมีรูปแบบการปกครอง 3 เเบบคือ - องค์การบริหารส่วนตำบล มี 6 ตำบล - การปกครองแบบเทศบาลเมือง มี 1 เทศบาล - การปกครองแบบเทศบาลตำบล มี 2 เทศบาล รวมองค์กรการปกครองเป็น 15 ตำบล 177 หมู่บ้าน 69,207 ครัวเรือน (หน้า 20)

Belief System

มอญพระประแดงนับถือศาสนาพุทธควบคู่กับการนับถือผี ผีที่มอญพระประแดงนับถือและมีความสำคัญต่อวิถีการดำเนินชีวิตคือ ผีบรรพบุรุษหรือผีเรือน และผีเจ้าพ่อ ตลอดจนมีการนับถือผีที่มีความสัมพันธ์กับระบบตระกูลหรือกลุ่มเครือญาติ (หน้า 25) ศาสนา - มอญพระประเเดงนับถือพุทธศาสนา สิ่งที่จรรโลงพุทธศาสนาให้เจริญมาจนปัจจุบันคือความรู้ด้านอักษรศาสตร์ และความสนใจพระไตรปิฎก มีการคัดลอกเรื่องราวเกี่ยวกับศาสนาลงในสมุดใบข่อย ใบลาน เพื่อเผยแพร่ และมีความผูกพันกับวัดในเรื่องของการทำบุญและการศึกษา วัดมีบทบาทในการศึกษาอบรมให้อ่านออกเขียนได้ และเรียนรู้เรื่องราวทางศาสนา มอญพระประเเดงนับถือศาสนาพุทธนิกายเถรวาท ฝ่ายรามัญนิกาย ซึ่งเคร่งครัดมาก เช่น ในอดีตห้ามใส่รองเท้าเข้าวัด ห้ามผู้หญิงเข้าพระอุโบสถ เป็นต้น (หน้า 21 ) ความเชื่อ - มอญมีความเชื่อเรื่องผี มีผี 4 ประเภท ได้แก่ ผีเรือน ซึ่งสิงสถิตอยู่ที่เสาเอกของบ้าน ผีเจ้าพ่อ จะเป็นผู้คุ้มครองคนในหมู่บ้าน ผีที่อาศัยอยู่ตามธรรมชาติ เช่น ผีต้นไม้ ผีเเม่น้ำ และ ผีร้าย ซึ่งเป็นพวกที่ตายไม่ดี มอญแต่ละกลุ่ม ต่างมีผีบรรพบุรุษหรือผีประจำตระกูลต่างกัน การนับถือผีของมอญมีความสัมพันธ์กับระบบตระกูลหรือกลุ่มเครือญาติ โดยเครือญาติในตระกูลเดียวกันต้องนับถือ และเซ่นไหว้ผีบรรพบุรุษที่เสาเอกของบ้านต้นตระกูล โดยต้องเป็นเชื้อสายฝ่ายชายเท่านั้น โดยมากลูกชายคนโตในตระกูลเป็นผู้รับต้นผี ถ้าไม่ใช่ลูกชายคนโต ก็อาจเป็นน้องชายหรือบุตรคนโตของน้องชาย เป็นต้น ทั้งนี้สมาชิกในสายตระกูลจะต้องเข้าร่วมพิธี ยกเว้นแต่ผู้หญิงที่แต่งงานแล้วออกจากตระกูลเดิม หรือตระกูลใหญ่ที่มีขนาดใหญ่มากเกินไป แล้วต้นผีไม่สามารถปกครองดูเเลทั่วถึงได้ ปัจจุบันมอญไม่สะดวกที่จะปฏิบัติตาม จึงมีพิธีปล่อยผี (หน้า 23-25) ประเพณี- มอญพระประเเดงมีประเพณีที่เเบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือประเพณีเกี่ยวกับชีวิต และประเพณีชุมชน - ประเพณีเกี่ยวกับชีวิต เป็นเสมือนการรับรองสถานภาพใหม่ของบุคคลให้สังคมทราบและเป็นแนวปฏิบัติทางสังคม หรือบรรทัดฐานของสังคมมอญ โดยใช้ความเชื่อและความศักดิ์สิทธิ์เป็นเครื่องรับรอง โดยอ้างถึงพุทธศาสนาและผีบรรพบุรุษ เช่น ประเพณีการเกิด ประเพณีการบวช ประเพณีการแต่งงาน และประเพณีการตาย เป็นต้น (หน้า 27-29) - ประเพณีของชุมชน เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้คนในชุมชนมีความสามัคคีกัน เช่น ประเพณีสงกรานต์พระประแดง ประเพณีส่งข้าวสงกรานต์ ประเพณีสรงน้ำพระขอพรผู้ใหญ่ ประเพณีเล่นสะบ้า ประเพณีเล่นทะเเยมอญ ประเพณีแห่ธงตะขาบ ประเพณีการตักบาตรน้ำผึ้ง ประเพณีการเติมน้ำมันตะเกียงเรือสำเภา ประเพณีการรำเจ้าพ่อเจ้าเเม่เป็นต้น โดยภาพรวมวัฒนธรรมชุมชนพระประแดง มีความคล้ายคลึงกับวัฒนธรรมมอญ ในท้องถิ่นอื่น ๆ (หน้า 29-39) ประเพณีงานศพของมอญพระประแดง แบ่งการตายออกเป็น 2 ประเภท คือตายดี และตายไม่ดี ตายดีผู้ตายต้องเป็นผู้สูงอายุ ตายด้วยโรคชรา หรือเจ็บป่วยเพียงเล็กน้อยและต้องตายในบ้านตน หากตายนอกบ้าน มอญห้ามนำศพเข้าบ้าน - ศพคนตายทั้งกลม การเลี้ยงพระห้ามทำในบ้าน มิฉะนั้น จะเกิดภัยพิบัติต่าง ๆ ขณะที่สามีเดินแบกดาบนำหน้าขบวนศพไปป่าช้า สามีจะต้องพูดว่า "เธอได้ตายจากไปแล้ว โดยเสื้อผ้าของเธอก็เอาไปให้ทั้งหมด อย่ากลับมาเข้าบ้านเข้าเมือง อย่าได้มาหลอกหลอน อย่ากลับไปบ้าน อย่ามาขอเสื้อผ้า ลูกของเธอก็ร่วมกับเธอไปแล้ว" (หน้า 41-42) - ศพเด็ก ถ้าอายุไม่ถึง 10 ปี ห้ามมีการสวดอภิธรรมและห้ามเผาศพถ้าฝ่าฝืนเจ้าของบ้านจะได้รับโทษ อายุจะสั้น เกิดโรคร้ายภูตผีจะทำร้าย หากต้องทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้ทำนอกบ้าน - ศพคนตายด้วยโรคลมบ้าหมู โรควิกลจริตและโรคบวม ห้ามเผาศพ ห้ามเลี้ยงพระในบ้าน ให้ข้าวสารเป็นบุญทานได้ - คนตกต้นไม้ หรือผูกคอตาย ห้ามอาบน้ำศพ ห้ามรับของช่วยเหลือ เลี้ยงพระและให้ศีลมิได้ ถ้าคนตายไม่ตกลงมาต้องให้คนชรา หรือคนนุ่งขาวขึ้นไปตัดเชือกโดยใช้เสื่อรองรับ ห้ามญาติพี่น้องอยู่ใกล้ศพเวลาศพหล่นลงมา ห้ามพูดคุยกัน ห้ามร้องไห้ การจัดศพให้ทำกรณีเดียวกับคนถูกฟ้าผ่าตาย ถ้าไม่กระทำตาม ญาติพี่น้อง 7 ชั่วโคตรจะได้รับเภทภัย ยากจน อายุสั้น - ศพคนจมน้ำตาย ห้ามรับของช่วยเหลือ ห้ามสวดอภิธรรม ห้ามเลี้ยงพระที่บ้าน ต้องพ้น 7 วันหรือ 1 เดือนไปแล้ว จึงทำได้ แต่สามรถผูกข้อมือและเท้าศพได้ รวมทั้งศีลได้ นอกจากนี้ยังมีประเพณีการทำโลงมอญ ซึ่งมีประวัติความเป็นมาตั้งแต่มอญเข้ามาตั้งถิ่นฐานที่เมืองนครเขื่อนขันธ์ (หน้า 58-59) โดยจะบรรจุศพที่แห้ง เดิมใช้บรรจุพระภิกษุ ปัจจุบันจะใช้บรรจุศพผู้ที่มีความเคารพนับถือ การทำโลงมอญและปราสาทมอญนั้น มีความสัมพันธ์กับความเชื่อทางพุทธศาสนา และความเชื่อ ค่านิยม ความกตัญญูกตเวที เป็นการยกย่องเกียรติภูมิของผู้ตาย ( หน้า 114,116)

Education and Socialization

การศึกษาของมอญจะคล้ายคลึงกับคนไทยในปัจจุบัน แต่จะมีการเรียนการสอนภาษามอญที่วัดอาษาสงคราม (หน้า 20)

Health and Medicine

ไม่มีข้อมูล

Art and Crafts (including Clothing Costume)

การทำโลงมอญและปราสาทมอญ การทำโลงมอญเป็นเอกลักษณ์ของชนชาติมอญอย่างเด่นชัด ซึ่งประดิษฐ์จากภูมิปัญญาของมอญ มีความประณีตงดงาม โดยเเบ่งเป็น 2 สกุลช่าง คือ สกุลช่างปากลัด (พระประแดง) และสกุลช่างสมุทรสาคร สกุลช่างปากลัด เรียกว่า "โลงน้ำจืด" ส่วนสกุลช่างสมุทรสาคร เรียกว่า "โลงน้ำเค็ม" ซึ่งเรียกตามภูมิประเทศที่ตั้งของชุมชน โลงมอญของทั้งสกุลช่างมีลักษณะคล้ายคลึงกัน ต่างกันเพียงลวดลายที่ตกแต่ง (หน้า 58-60) ปัจจุบัน การทำโลงมอญสกุลช่างปากลัด (โลงมอญน้ำจืด) ช่างผู้สืบทอดงานเหลือเพียง 2 ท่าน โลงมอญสกุลช่างปากลัดประกอบจากงานไม้และงานกระดาษเป็นหลัก ใช้เวลาการทำไม่น้อยกว่า 1-2 เดือน ขั้นตอนเริ่มจากการทำตัวโลง การตกแต่งทั้งตัวโลง ฝาโลง และ การทำและตกแต่ง "ยอดครู" ซึ่งต้องใช้ลวดลายประมาณ 20-30 ลาย ตัวโลงเจาะช่องหน้าต่างเรียกว่า "ลายขุนแผนเปิดม่าน" ส่วนที่สำคัญคือส่วนที่เป็นยอดครู เพราะถือว่าเป็นที่อยู่ของครูผู้ประสิทธิ์ประสาทวิชาการทำโลงมอญ การทำยอดครูสกุลช่างปากลัดนั้นทำเป็นรูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน โลงมอญยังแฝงด้วยการสอนธรรมจากการอุปมา เช่น ลายกระจังที่ตกแต่งฝาโลงมอญ หมายถึงอาการ 32 ของมนุษย์ หน้าต่างด้านหน้า 6 บานหมายถึง อายตนะ 6 เป็นต้น (หน้า ค,111) การทำปราสาทมอญเป็นการเทียบได้กับการส่งวิญญาณให้ไปสถิตอยู่แดนเทพสวรรค์ การทำโลงมอญกับปราสาทมอญเป็นการแสดงพลังวัฒนธรรมมอญ เพราะเป็นกิจกรรมรวมศูนย์ของมอญที่เเสดงถึงภูมิปัญญาทางศิลปกรรม และคุณค่าของวัฒนธรรมมอญที่ลูกหลานได้สืบต่อกันมาก (หน้า 57 ) ลักษณะปราสาทมอญ มีตั้งแต่ปราสาทครึ่งท่อน ปราสาท 1 ยอด ปราสาท 5 ยอด จนถึงปราสาท 9 ยอด (หน้า 112,ภาพประกอบปราสาทมอญ หน้า 112-113) การแต่งกาย ในอดีตมอญมีเอกลักษณ์การแต่งกายของตน การแต่งกายของสตรีและบุรุษมอญ มี 2 แบบคือ ชุดสามัญและชุดไปงาน ชุดสามัญหญิง สวมเสื้อแขนกระบอก นุ่งผ้าถุงคาดเข็มขัด ชุดเทศกาลจะสวมเสื้อแขนกระบอก นุ่งผ้าถุงใช้เข็มขัดมีค่าคาดเอวและเกล้าผมมวย สวมเครื่องประดับ ชุดสามัญชาย สวมเสื้อคอกลมสีขาว ผ้าขาวม้าพาดบ่า นุ่งกางเกงขาก๊วยหรือโสร่งลายตาราง ชุดงานเทศกาลใส่ผ้าลายสีสดหรือผ้าโสร่ง เสื้อลายดอก ห่มผ้าสไบพาดบ่าสองข้าง และจะนุ่งผ้าลอยชาย ปัจจุบัน สามารถพบการแต่งกายแบบสามัญของมอญในหมู่ผู้สูงอายุ ส่วนการแต่งกายแบบไปงานจะพบในเทศกาลต่าง ๆ โดยเฉพาะประเพณีสงกรานต์ (หน้า 16)

Folklore

มอญพระประเเดงมีนิทานเกี่ยวกับที่มาของความเชื่อเรื่องผี มีทั้งนิทานและตำนานที่มาจากความเชื่อ ตำนานที่ผู้วิจัยกล่าวถึงนั้นเกี่ยวข้องกับศาสนา อย่างเช่น ตำนานของความเชื่อเรื่องผีว่า ในสมัยบรรพกาลมีเศรษฐีอยู่ผู้หนึ่ง มีภรรยา 2 คน ภรรยาหลวงได้ฆ่าภรรยาน้อยตายเพราะความริษยา ครั้นเมื่อทั้งสองตายไปแล้วก็อาฆาตจองเวรกันและกินลูกของอีกฝ่ายหนึ่งสลับกันไปแต่ละชาติ ในที่สุดอีกฝ่ายก็ไปเกิดเป็นผี อีกฝ่ายเกิดเป็นมนุษย์และมีลูกด้วย ฝ่ายผีก็ไล่ตามจะกินลูกมนุษย์ ฝ่ายมนุษย์จึงหนีไปขอพึ่งพระพุทธองค์ พระพุทธองค์จึงเทศนาโปรดให้ผีตัวนั้นเห็นโทษของการจองเวร นับแต่นั้นทั้งสองจึงเลิกจองเวรกัน และนางผีก็ได้ไปอยู่กับนางมนุษย์ ได้ช่วยเหลือนางมนุษย์จนบังเกิดผลดีมีโภคทรัพย์มั่นคง เป็นผลให้ข้าวปลาอาหาร พืชพันธุ์ธัญญาหารอุดมสมบูรณ์ (หน้า 23) นอกจากนี้ก็ยังมีนิทานเรื่องการปล่อยนกปล่อยปลา มีภิกษุรูปหนึ่งล่วงรู้ชะตาของสามเณรที่กำลังจะสิ้นอายุขัย จึงให้ลากลับไปหาบิดามารดา ระหว่างทางสามเณรพบปลาอยู่ในหนองน้ำแห้งขอดจึงจับไปปล่อยลงแหล่งน้ำ อานิสงนี้ทำให้สามเณรมีชีวิตรอดต่อมา (หน้า 32-33) หรือตำนานการตักบาตรน้ำผึ้งซึ่งกลายเป็นประเพณี เล่าถึงผู้หญิงที่ถูกขายเป็นบ่าวขัดดอก 7 ปี ขณะเดินทางกลับบ้านก็เห็นภิกษุรูปหนึ่งอุ้มบาตรที่เต็มไปด้วยน้ำผึ้ง ทำให้บาตรลื่น นางจึงถวายผ้ารองบาตรให้ไม่ลื่น ส่วนอีกตำนานว่า ในสมัยพระพุทธเจ้า ทรงพุทธอนุญาตให้ภิกษุฉันอาหารที่มีประโยชน์ที่ถือเป็นเภสัชทานในช่วงฤดูฝน ได้แก่ เนยใส เนยข้น น้ำมัน น้ำอ้อย และน้ำผึ้ง (หน้า 37-38) การแข่งลูกหนูของมอญ ในงานศพพระสงฆ์เชื่อว่านำมาจากตำนานสมัยพุทธกาลว่า เมื่อสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพานแล้ว พระสงฆ์ซึ่งเป็นพระอรหันต์ทั้งหมดต่างมาร่วมงานเพื่อเตรียมเผาพระบรมศพ แต่ขาดพระอรหันต์รูปหนึ่งคือพระกัสสปะ จึงตกลงกันว่ารอให้พระกัสสปะมากราบเคารพพระบรมศพก่อน เมื่อพระกัสสปะมาถึงจึงเข้าไปกราบ โดยมีปาฏิหาริย์คือเห็นพระบาทที่ยื่นออกมาให้กราบ เมื่อกราบเสร็จปรากฏมีพระเพลิงลุกขึ้นลอยมายังพระบรมศพโดยมิได้มีใครจุดไฟ (หน้า 52)

Ethnicity (Ethnic Identity, Boundaries and Ethnic Relation)

ไม่มีข้อมูล

Social Cultural and Identity Change

ในอดีตมอญมีอาชีพทำนาและเพาะปลูกพืชเล็ก ๆ น้อย ๆ ในยามว่างจากการทำนาจะอยู่บ้านสานเสื่อกกเป็นงานอดิเรก เพราะเสื่อเป็นสิ่งจำเป็นในการดำรงชีวิตและสำหรับใช้ในงานประเพณี ปัจจุบัน ชาวนาได้ขายที่นาและทิ้งอาชีพเดิมหันมาประกอบอาชีพอื่น ทำให้อาชีพทำนาและสานเสื่อจางหายไปจากชุมชนมอญพระประแดง (หน้า 15-16) เดิมทุกหมู่บ้านใช้ภาษามอญสื่อสารกัน ปัจจุบันเด็กรุ่นใหม่ในชุมชนมอญพระประแดงไม่สามารถพูดภาษามอญได้ เนื่องจากการติดต่อกับภายนอกทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม ทำให้มีความจำเป็นต้องหันมาใช้ภาษาไทยมากขึ้น (หน้า 16) โลงมอญ ปัจจุบัน มีความนิยมโลงมอญมากกว่าก่อนเพราะ การเปลี่ยนแปลงแนวคิดของคนมอญ ส่วนหนึ่งนำโลงมอญมาบรรจุศพของบิดามารดา ปัจจุบัน ช่างประยุกต์ใช้วิธีที่ง่ายและประหยัดเวลาในการทำโลงมากขึ้น และคนมอญมีฐานะการเงินดีขึ้นจึงทำโลงมอญได้ (หน้า 10)

Critic Issues

ไม่มีข้อมูล

Other Issues

ไม่มี

Map/Illustration

- แผนที่อำเภอพระประแดง(9) - แผนที่ตำบลที่บ้านมอญอาศัย(14) - แผนที่ตั้งหมู่บ้านมอญในพระประแดง(15)

Text Analyst สุวิทย์ เลิศวิมลศักดิ์ Date of Report 24 มี.ค 2548
TAG มอญ, ศิลปหัตถกรรมพื้นบ้าน, การทำโลงมอญ, พระประแดง, สมุทรปราการ, Translator -
 
 

 

ฐานข้อมูลอื่นๆของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
  ฐานข้อมูลพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทย
จารึกในประเทศไทย
จดหมายเหตุทางมานุษยวิทยา
แหล่งโบราณคดีที่สำคัญในประเทศไทย
หนังสือเก่าชาวสยาม
ข่าวมานุษยวิทยา
ICH Learning Resources
ฐานข้อมูลเอกสารโบราณภูมิภาคตะวันตกในประเทศไทย
ฐานข้อมูลประเพณีท้องถิ่นในประเทศไทย
ฐานข้อมูลสังคม - วัฒนธรรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  หน้าหลัก
งานวิจัยชาติพันธุ์ในประเทศไทย
บทความชาติพันธุ์
ข่าวชาติพันธุ์
เครือข่ายชาติพันธุ์
เกี่ยวกับเรา
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  ข้อมูลโครงการ
ทีมงาน
ติดต่อเรา
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
ช่วยเหลือ
  กฏกติกาและมารยาท
แบบสอบถาม
คำถามที่พบบ่อย


ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) เลขที่ 20 ถนนบรมราชชนนี เขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ 10170 
Tel. +66 2 8809429 | Fax. +66 2 8809332 | E-mail. webmaster@sac.or.th 
สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2549    |   เงื่อนไขและข้อตกลง