สมัครสมาชิก   
| |
ค้นหาข้อมูล
ค้นหาแบบละเอียด
  •   ความเป็นมาและหลักเหตุผล

    เพื่อรวบรวมงานวิจัยทางชาติพันธุ์ที่มีคุณภาพมาสกัดสาระสำคัญในเชิงมานุษยวิทยาและเผยแผ่สาระงานวิจัยแก่นักวิชาการ นักศึกษานักเรียนและผู้สนใจให้เข้าถึงงานวิจัยทางชาติพันธุ์ได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น

  •   ฐานข้อมูลจำแนกกลุ่มชาติพันธุ์ตามชื่อเรียกที่คนในใช้เรียกตนเอง ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้ คือ

    1. ชื่อเรียกที่ “คนอื่น” ใช้มักเป็นชื่อที่มีนัยในทางเหยียดหยาม ทำให้สมาชิกกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ รู้สึกไม่ดี อยากจะใช้ชื่อที่เรียกตนเองมากกว่า ซึ่งคณะทำงานมองว่าน่าจะเป็น “สิทธิพื้นฐาน” ของการเป็นมนุษย์

    2. ชื่อเรียกชาติพันธุ์ของตนเองมีความชัดเจนว่าหมายถึงใคร มีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมอย่างไร และตั้งถิ่นฐานอยู่แห่งใดมากกว่าชื่อที่คนอื่นเรียก ซึ่งมักจะมีความหมายเลื่อนลอย ไม่แน่ชัดว่าหมายถึงใคร 

     

    ภาพ-เยาวชนปกาเกอะญอ บ้านมอวาคี จ.เชียงใหม่

  •  

    จากการรวบรวมงานวิจัยในฐานข้อมูลและหลักการจำแนกชื่อเรียกชาติพันธุ์ที่คนในใช้เรียกตนเอง พบว่า ประเทศไทยมีกลุ่มชาติพันธุ์มากกว่า 62 กลุ่ม


    ภาพ-สุภาษิตปกาเกอะญอ
  •   การจำแนกกลุ่มชนมีลักษณะพิเศษกว่าการจำแนกสรรพสิ่งอื่นๆ

    เพราะกลุ่มชนต่างๆ มีความรู้สึกนึกคิดและภาษาที่จะแสดงออกมาได้ว่า “คิดหรือรู้สึกว่าตัวเองเป็นใคร” ซึ่งการจำแนกตนเองนี้ อาจแตกต่างไปจากที่คนนอกจำแนกให้ ในการศึกษาเรื่องนี้นักมานุษยวิทยาจึงต้องเพิ่มมุมมองเรื่องจิตสำนึกและชื่อเรียกตัวเองของคนในกลุ่มชาติพันธุ์ 

    ภาพ-สลากย้อม งานบุญของยอง จ.ลำพูน
  •   มโนทัศน์ความหมายกลุ่มชาติพันธุ์มีการเปลี่ยนแปลงในช่วงเวลาต่างๆ กัน

    ในช่วงทศวรรษของ 2490-2510 ในสาขาวิชามานุษยวิทยา “กลุ่มชาติพันธุ์” คือ กลุ่มชนที่มีวัฒนธรรมเฉพาะแตกต่างจากกลุ่มชนอื่นๆ ซึ่งมักจะเป็นการกำหนดในเชิงวัตถุวิสัย โดยนักมานุษยวิทยาซึ่งสนใจในเรื่องมนุษย์และวัฒนธรรม

    แต่ความหมายของ “กลุ่มชาติพันธุ์” ในช่วงหลังทศวรรษ 
    2510 ได้เน้นไปที่จิตสำนึกในการจำแนกชาติพันธุ์บนพื้นฐานของความแตกต่างทางวัฒนธรรมโดยตัวสมาชิกชาติพันธุ์แต่ละกลุ่มเป็นสำคัญ... (อ่านเพิ่มใน เกี่ยวกับโครงการ/คู่มือการใช้)


    ภาพ-หาดราไวย์ จ.ภูเก็ต บ้านของอูรักลาโว้ย
  •   สนุก

    วิชาคอมพิวเตอร์ของนักเรียน
    ปกาเกอะญอ  อ. แม่ลาน้อย
    จ. แม่ฮ่องสอน


    ภาพโดย อาทิตย์    ทองดุศรี

  •   ข้าวไร่

    ผลิตผลจากไร่หมุนเวียน
    ของชาวโผล่ว (กะเหรี่ยงโปว์)   
    ต. ไล่โว่    อ.สังขละบุรี  
    จ. กาญจนบุรี

  •   ด้าย

    แม่บ้านปกาเกอะญอ
    เตรียมด้ายทอผ้า
    หินลาดใน  จ. เชียงราย

    ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ถั่วเน่า

    อาหารและเครื่องปรุงหลัก
    ของคนไต(ไทใหญ่)
    จ.แม่ฮ่องสอน

     ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ผู้หญิง

    โผล่ว(กะเหรี่ยงโปว์)
    บ้านไล่โว่ 
    อ.สังขละบุรี
    จ. กาญจนบุรี

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   บุญ

    ประเพณีบุญข้าวใหม่
    ชาวโผล่ว    ต. ไล่โว่
    อ.สังขละบุรี  จ.กาญจนบุรี

    ภาพโดยศรยุทธ  เอี่ยมเอื้อยุทธ

  •   ปอยส่างลอง แม่ฮ่องสอน

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ปอยส่างลอง

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดย เบญจพล  วรรณถนอม
  •   อลอง

    จากพุทธประวัติ เจ้าชายสิทธัตถะ
    ทรงละทิ้งทรัพย์ศฤงคารเข้าสู่
    ร่มกาสาวพัสตร์เพื่อแสวงหา
    มรรคผลนิพพาน


    ภาพโดย  ดอกรัก  พยัคศรี

  •   สามเณร

    จากส่างลองสู่สามเณร
    บวชเรียนพระธรรมภาคฤดูร้อน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   พระพาราละแข่ง วัดหัวเวียง จ. แม่ฮ่องสอน

    หล่อจำลองจาก “พระมหามุนี” 
    ณ เมืองมัณฑะเลย์ ประเทศพม่า
    ชาวแม่ฮ่องสอนถือว่าเป็นพระพุทธรูป
    คู่บ้านคู่เมืององค์หนึ่ง

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม

  •   เมตตา

    จิตรกรรมพุทธประวัติศิลปะไต
    วัดจองคำ-จองกลาง
    จ. แม่ฮ่องสอน
  •   วัดจองคำ-จองกลาง จ. แม่ฮ่องสอน


    เสมือนสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรม
    เมืองไตแม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ใส

    ม้งวัยเยาว์ ณ บ้านกิ่วกาญจน์
    ต. ริมโขง อ. เชียงของ
    จ. เชียงราย
  •   ยิ้ม

    แม้ชาวเลจะประสบปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัย
    พื้นที่ทำประมง  แต่ด้วยความหวัง....
    ทำให้วันนี้ยังยิ้มได้

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ผสมผสาน

    อาภรณ์ผสานผสมระหว่างผ้าทอปกาเกอญอกับเสื้อยืดจากสังคมเมือง
    บ้านแม่ลาน้อย จ. แม่ฮ่องสอน
    ภาพโดย อาทิตย์ ทองดุศรี
  •   เกาะหลีเป๊ะ จ. สตูล

    แผนที่ในเกาะหลีเป๊ะ 
    ถิ่นเดิมของชาวเลที่ ณ วันนี้
    ถูกโอบล้อมด้วยรีสอร์ทการท่องเที่ยว
  •   ตะวันรุ่งที่ไล่โว่ จ. กาญจนบุรี

    ไล่โว่ หรือที่แปลเป็นภาษาไทยว่า ผาหินแดง เป็นชุมชนคนโผล่งที่แวดล้อมด้วยขุนเขาและผืนป่า 
    อาณาเขตของตำบลไล่โว่เป็นส่วนหนึ่งของป่าทุ่งใหญ่นเรศวรแถบอำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี 

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   การแข่งขันยิงหน้าไม้ของอาข่า

    การแข่งขันยิงหน้าไม้ในเทศกาลโล้ชิงช้าของอาข่า ในวันที่ 13 กันยายน 2554 ที่บ้านสามแยกอีก้อ อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย
 
  Princess Maha Chakri Sirindhorn Anthropology Centre
Ethnic Groups Research Database
Sorted by date | title

   Record

 
Subject มูเซอแดง,ชุมชน,การจัดการไฟป่า,เชียงราย
Author สุริยา กาฬสินธุ์
Title ความสัมพันธ์ระหว่างชุมชนต่อการรับรู้ในการจัดการไฟป่า : ศึกษากรณีชุมชนชาวมูเซอแดง
Document Type วิทยานิพนธ์ Original Language of Text ภาษาไทย
Ethnic Identity ลาหู่ ลาหู่ ละหู่ ลาฮู, Language and Linguistic Affiliations จีน-ทิเบต(Sino-Tibetan)
Location of
Documents
ห้องสมุดมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ Total Pages 108 Year 2539
Source หลักสูตรปริญญาสังคมศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชามานุษยวิทยาประยุกต์ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล
Abstract

จากการศึกษาพบว่า การเกิดไฟป่าสัมพันธ์กับวัฒนธรรมชุมชนหลายอย่างที่ใช้ "ไฟ" เป็นเครื่องมือสำคัญ ได้แก่ วัฒนธรรมการตั้งถิ่นฐาน วัฒนธรรมการเกษตร และวัฒนธรรมการดำรงชีพบางอย่าง เช่น เก็บหาของป่าและล่าสัตว์ นอกจากนี้ ไฟป่ายังสัมพันธ์กับการรับรู้ของชุมชนที่สะท้อนออกมาจากโลกทัศน์ ความเชื่อ ซึ่งถือเป็นการอธิบายธรรมชาติให้สอดคล้องกับวัฒนธรรม จากการศึกษายังพบด้วยว่า ชาวชุมชนมีการจัดการไฟป่ามาเป็นเวลา 10 ปีแล้ว โดยเฉพาะการเข้ามาขององค์กรพัฒนาเอกชน กฎหมายรัฐจึงทำให้ชุมชนมีการจัดการทรัพยากรธรรมชาติที่ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันนี้เนื่องจากชุมชนเกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ทำให้ชาวชุมชนบางส่วนออกไปขายแรงงานในต่างถิ่น จึงทำให้ศักยภาพในการจัดการไฟป่าของชุมชนลดลง (หน้า ก - ข)

Focus

ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างปรากฏการณ์ไฟป่ากับปรากฏการณ์ทางสังคมของชุมชน การรับรู้ และพฤติกรรม ตลอดจนโลกทัศน์ความเชื่อของคนในชุมชนต่อปรากฏการณ์ไฟป่า และรูปแบบการจัดการไฟป่าของชุมชนชาวเขาเผ่ามูเซอแดง หมู่บ้านห้วยน้ำจัน หมู่ที่ 19 (หน้า 42) ตำบลป่าตึง (หน้า 5) อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย (หน้า 4)

Theoretical Issues

ไม่มี

Ethnic Group in the Focus

มูเซอในประเทศไทย แบ่งออกเป็นกลุ่มย่อย ๆ ได้ 7 กลุ่ม ได้แก่ มูเซอดำ, มูเซอแดง, มูเซอเฌเล, มูเซอบาหลา หรือมูเซอเหลือง, มูเซอบาเกียว, มูเซอลาบา, และมูเซอพูหรือมูเซอขาว แต่บางท่านกล่าวว่ามีกลุ่มที่อพยพเข้ามาเพิ่มอีก 4 กลุ่มรวมเป็น 11 กลุ่ม ที่เพิ่มมาได้แก่ มูเซอปู่โหล, มูเซอล่าเลา, มูเซอไก๋ซี, และมูเซอเวหยะ (หน้า 35) ในจำนวน 11 กลุ่ม มูเซอแดงมีจำนวนมากที่สุด คือ มีประมาณร้อยละ 46 ของประชากรมูเซอในประเทศไทย คำเรียก "มูเซอแดง" มีความหมาย 2 นัย นัยแรกหมายถึงแถบสีแดงบนเสื้อผ้าของผู้หญิงส่วนนัยที่สองหมายถึงพรานป่า (หน้า 37) ในด้านลักษณะทางชาติพันธุ์ มูเซอจัดอยู่ในกลุ่มชนชาติตระกูลจีน - ธิเบต โดยทั่วไปมีผิวสีน้ำตาลอ่อน รูปร่างล่ำสันสมส่วน ผู้ชายสูงประมาณ 5 ฟุต 5 นิ้ว ใบหน้ายาวแบน ปากกว้าง ตาดำ ผมเป็นเส้นตรงสีดำ ส่วนผู้หญิงสูงประมาณ 5 ฟุต 3 นิ้ว โครงร่างและหน้าตาบ่งชัดว่าเป็นชนเผ่ามองโกลอยด์ มีนิสัยขี้อายแต่มีความสามารถในการล่าสัตว์สูง (หน้า 37 - 38)

Language and Linguistic Affiliations

ภาษาพูดของมูเซอจัดเป็นภาษาหนึ่งในตระกูลพม่า - ธิเบต หรือ จัดเป็นภาษาหนึ่งในตระกูลจีน - ธิเบต หรือ จะจัดเป็นภาษาหนึ่งในตระกูลโลโลก็ได้ ตามการจัดแบ่งของนักชาติพันธุ์วิทยาถือเป็นทำนองเดียวกับภาษาพูดของลีซอและอีก้อ อย่างไรก็ตาม ในการติดต่อระหว่างมูเซอกับกลุ่มต่าง ๆ รวมทั้งลีซอและอีก้อ จะใช้ภาษามูเซอเป็นภาษากลาง ส่วนภาษาเขียนของมูเซอนั้นไม่ปรากฏว่ามีอย่างชัดเจน (หน้า 38)

Study Period (Data Collection)

ระหว่างเดือนธันวาคม 2538 - เมษายน 2539 (หน้า ก)

History of the Group and Community

ชนเผ่ามูเซอที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านห้วยน้ำจัน อพยพมาจากประเทศพม่าเข้าสู่ประเทศไทยนานแล้ว ครั้งแรกมาตั้งถิ่นฐานอยู่ที่หมู่บ้านเก่สาพะยา บริเวณเขตแม่สะลองใน ซึ่งมีทั้งลีซอและมูเซอแดงอาศัยอยู่ปนกัน ต่อมาได้มีจีนฮ่ออพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่ในบริเวณเขตแม่สะลองในมากขึ้นและผู้นำหมู่บ้านเสียชีวิตลง ทั้งลีซอและมูเซอแดงจึงอพยพแยกย้ายกันไป มูเซอแดงย้ายไปทางทิศตะวันออกและตั้งหมู่ใหม่ชื่อ หมู่บ้านจะบูสี ไม่นานก็มีมูเซอเข้ามาเพิ่มอีกจนหมู่บ้านขยายใหญ่ขึ้นเป็น 40 หลังคาเรือน มูเซออาศัยอยู่ที่บ้านจะบูสีนานกว่า 20 ปีก็พากันอพยพไปตั้งถิ่นฐานใหม่ทางทิศตะวันตกของหมู่บ้านเฮโกในปัจจุบัน มีชื่อหมู่บ้านว่า "จะคะต่อ" เนื่องจากสภาพป่าที่หมู่บ้านจะบูสีเริ่มเสื่อมโทรมลงจนขาดความสมบูรณ์ ในระยะแรกที่อพยพมาตั้งเป็นหมู่บ้านจะคะต่อ มีเฉพาะตระกูลแอแตะ ซึ่งเป็นตระกูลของผู้นำหมู่บ้านอาศัยอยู่เท่านั้น จากนั้นใน 1 ปีต่อมาจึงมีตระกูลแสนใจเข้ามาสมทบ ทั้งนี้เพราะลูกชายคนโตของนางนาเป่อ แสนใจ ได้มาแต่งงานกับลูกสาวของจะคะต่อ และต่อมาพี่น้องตระกูลแสนใจจึงย้ายมาสมทบเรื่อยๆ จากนั้นจึงมีมูเซอจากพม่าและหมู่บ้านใกล้เคียงย้ายเข้ามาเพิ่มขึ้นจนขยายเป็นชุมชนใหญ่ ต่อมาเมื่อจะคะต่อซึ่งเป็นผู้นำหมู่บ้านตายลง ชาวบ้านก็ได้พากันอพยพแยกย้ายกันไปหาที่ตั้งถิ่นฐานใหม่อีกครั้ง โดยมีลูกชายคนโตเป็นผู้นำมาตั้งถิ่นฐานอยู่บนสันดอย ห่างจากบ้านจะคะต่อเดิมมาทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ประมาณ 4 กม. ให้ชื่อหมู่บ้านว่า "บ้านห้วยจัน" และต่อมาได้มีนกโพระดกมาร้อง ซึ่งมูเซอเชื่อว่าเป็นลางร้าย และเกิดสงครามขึ้น ชาวบ้ายจึงพากันย้ายลงมาตั้งเรือนอยู่บริเวณเชิงดอยใกล้ฝั่งน้ำฮาฮุ แต่อยู่นานเพียง 2 เดือนเมื่อสงครามสงบลง ชาวบ้านจึงย้ายกลับมาอยู่ที่เดิมจนถึงปัจจุบัน (หน้า 40 - 41)

Settlement Pattern

ดูในหัวข้อ Community Site

Demography

ปัจจุบัน (ปี 2539) หมู่บ้านห้วยน้ำจันมีจำนวนประชากรทั้งหมด 22 หลังคาเรือน 24 ครอบครัว ชาย 68 คน หญิง 62 คน รวม 130 คน โดยแบ่งเป็นช่วงอายุต่าง ๆ ดังนี้ อายุ 0 - 9 ปี ชาย 24 คน หญิง 23 รวม 47 คน อายุ 10 - 19 ปี เป็นชาย 16 คน หญิง 17 คน รวม 33 คน อายุ 20 - 29 ปี เป็นชาย 13 คน หญิง 9 คน รวม 21 คน อายุ 30 - 39 ปี เป็นชาย 5 คน หญิง 6 คน รวม 11 คน, อายุ 40 - 49 ปี เป็นชาย 5 คน หญิง 4 คน รวม 9 คน, อายุ 50 - 59 ปี เป็นชาย 4 คน หญิง 2 คน รวม 6 คน และอายุ 60 ปีขึ้นไป เป็นชาย 1 หญิง 1 รวม 2 คน (หน้า 55 - 56)

Economy

อาชีพหลักของชุมชน คือ เกษตรกรรม โดยเพาะปลูกพืชไร่จำพวกข้าว ข้าวโพด ถั่วเหลือง ฯลฯ ผลผลิตที่ได้ส่วนใหญ่ใช้บริโภคภายในครัวเรือน หากมีปริมาณของผลผลิตมากพอจึงจะนำไปขาย แต่พืชบางชนิดนั้นทำการเพาะปลูกเพื่อขายโดยตรง ซึ่งในปัจจุบันต้องประสบกับปัญหาดินขาดความอุดมสมบูรณ์ ทำให้การเพาะปลูกไม่ได้ผล นอกจากนี้ยังมีปัญหาที่ดินไม่เพียงพอ จึงทำให้ได้ผลผลิตต่อปีน้อยลงไม่เพียงพอต่อการบริโภคและขาย เกิดปัญหาขาดทุนและกู้หนี้ยืมสินมากขึ้น อย่างไรก็ตาม รายได้หลักของชุมชนยังได้มาจากการขายผลผลิตทางการเกษตรเหล่านี้และการขายสัตว์เลี้ยงต่างๆ รวมทั้งได้มาจากการขายของป่าต่างๆ ซึ่งถือเป็นอาชีพรองของชาวบ้านด้วย บางครอบครัวที่ไม่มีที่ดินทำกินหรือมีที่ดินน้อย จะยึดอาชีพหาของป่าและรับจ้างทางการเกษตรเป็นอาชีพหลัก มีรายได้เฉลี่ย 30 - 60 บาทต่อวัน หนี้สินและการกู้ยืม : จากปัญหารายรับไม่พอกับรายจ่าย ผลผลิตไม่พอเพียงต่อการบริโภคจึงทำให้เกิดการกู้ยืมมากขึ้น การกู้ยืมมีทั้งภายในและภายนอกหมู่บ้านทั้งที่เป็นเงินและสิ่งของ แหล่งเงินกู้ที่สำคัญคือ คนจีนแม่สะลอง ในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 10 ต่อเดือน และจากมูลนิธิพัฒนาชุมชนในเขตภูเขา ในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 2 ต่อเดือน โดยต้องนำเงินต้นมาคืนภายในเวลา 3 ปี บางรายติดหนี้ธนาคารข้าวของหมู่บ้านในรูปข้าวสาร ซึ่งส่วนใหญ่ติดหนี้กันครอบครัวละ 1 ถังคิดเป็นเงิน 660 บาท ดังนั้น โดยภาพรวมแล้ว ชุมชนจึงมีฐานะค่อนข้างยากจนถึงปานกลางมีรายได้เฉลี่ยตั้งแต่ 5,000 - 10,000 บาทต่อปี ปัญหาที่สำคัญคือ มีข้าวไม่เพียงพอต่อการบริโภค ทำให้มีการกู้ยืมเงินซื้อข้าวจากภายนอก และยังมีครัวเรือนที่ยังคงมีการสูบฝิ่น จึงทำให้รายรับที่ได้มาหมดไปกับการซื้อฝิ่นมากกว่านำมาซื้ออาหาร (หน้า 62 - 63)

Social Organization

ระบบครอบครัวและเครือญาติ : รูปแบบครอบครัวของมูเซอในหมู่บ้านห้วยน้ำจันส่วนใหญ่เป็นครอบครัวเดี่ยว มีเพียง 2 ครอบครัวเท่านั้นที่เป็นครอบครัวขยายและมักอยู่ในตระกูลของฝ่ายหญิง ตามธรรมเนียมของมูเซอที่แต่งงานแล้ว ฝ่ายชายต้องต้องไปอยู่รวมกับตระกูลฝ่ายหญิง. ส่วนความสัมพันธ์ระหว่างครอบครัวนั้น เนื่องจากมีการแต่งงานกันระหว่างตระกูล ทั้งหมู่บ้านจึงมีความผูกพันและเป็นเครือญาติซึ่งกันและกัน ในหมู่บ้านมีตระกูลใหญ่ๆ อยู่ 4 ตระกูล ได้แก่ ตระกูลแอแตะ, แสนใจ, กะเสาะ, และ แสนพู ในจำนวนทั้งหมด ตระกูลแอแตะเป็นตระกูลที่มีอิทธิพลและมีบทบาทในหมู่บ้านมากที่สุด เนื่องจากตระกูลของผู้นำหมู่บ้านและเป็นกลุ่มแรกที่เข้ามาตั้งถิ่นฐาน (หน้า 56) นอกจากนี้ มูเซอแดงยังยึดถือระบบอาวุโสเป็นหลัก ดังนั้น ผู้อาวุโสจึงเป็นกลุ่มหนึ่งที่มีอิทธิพลในหมู่บ้านด้วย (หน้า 57) การแต่งงานและการหย่าร้าง : มูเซอยึดถือการแต่งงานแบบผัวเดียวเมียเดียว อายุของคู่แต่งงานมักมีอายุน้อย คือตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไป และการแต่งงานของครอบครัวหนึ่งๆ จะเป็นไปตามลำดับพี่น้อง พิธีแต่งงานมักเป็นไปอย่างเรียบง่าย ไม่มีสินสอดใดๆ มีเพียงไก่และน้ำประกอบพิธีเท่านั้น อย่างไรก็ตาม การหย่าร้างก็เกิดขึ้นได้ง่ายด้วย คือ หากฝ่ายไหนต้องการเลิกรากันก็ให้นำเงินประมาณ 10 - 50 บาทไปเสียผีให้กรรมการหมู่บ้านก็สามารถเลิกรากันได้ (หน้า 57) การติดต่อกับชุมชนภายนอก : การติดต่อกับโลกภายนอกของชุมชน ส่วนใหญ่อยู่ในรูปของการไปรักษาพยาบาล และการซื้อขายสินค้า ซึ่งมีทั้งออกไปติดต่อด้วยตนเอง และ คนจากภายนอกเข้ามาติดต่อ เช่น มีพ่อค้าเข้ามาซื้อผลผลิต เจ้าหน้าที่จากหน่วยงานรัฐและเอกชนเข้ามาพัฒนาหมู่บ้าน เป็นต้น ในปัจจุบันนี้ มูเซอในบ้านห้วยน้ำจันมีการติดต่อกับโลกภายนอกมากขึ้น เนื่องจากการเดินทางไปมาหาสู่กันระหว่างชุมชนนั้นมีความสะดวกมากขึ้น (หน้า 57)

Political Organization

เดิมทีหมู่บ้านห้วยน้ำจันถูกปกครองโดยผู้นำหมู่บ้านซึ่งมาจากตระกูลใหญ่ที่สุดในหมู่บ้าน ผู้นำทางศาสนา และหมอผีประจำหมู่บ้าน แต่ต่อมาได้มีองค์กรพัฒนาเอกชนได้เข้ามาสนับสนุนให้มีการจัดตั้งกรรมการหมู่บ้านขึ้น เพื่อทำหน้าที่ประสานงานพัฒนาในด้านต่างๆ ดังนั้น หมู่บ้านห้วยน้ำจันในปัจจุบันจึงปกครองด้วยระบอบที่เป็นทางการมากขึ้น คือมี ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน และ กรรมการหมู่บ้าน 3 ฝ่าย ได้แก่ กรรมการฝ่ายศึกษา ฝ่ายกองทุนหมุนเวียน และฝ่ายไฟป่า (หน้า 64)

Belief System

ประเพณี : มูเซอมีประเพณีและพิธีกรรมมากมาย แต่สำหรับประเพณีและพิธีกรรมหลัก ๆ ประจำชุมชน มีดังนี้ 1) ประเพณีปีใหม่ หรือ เขาะจ๊าเว จัดในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี เป็นช่วงเวลาเดียวกับเทศกาลตรุษจีนของชาวจีน 2)ประเพณีล้างบาป หรือ เซะก่อเว เป็นพิธีกรรมที่จัดขึ้นหลังจากที่ชาวบ้านได้เตรียมพื้นที่ด้วยการเผาไร่เสร็จสิ้นแล้ว และเตรียมจะเพาะปลูกต่อไป จุดประสงค์ของการจัดพิธีกรรมคือ เพื่อล้างบาปจากการเผาไร่ทำให้สัตว์ต่าง ๆ ล้มตาย 3) พิธีซะละเตเว เป็นพิธีกรรมที่ทำพร้อมกับการเพาะปลูก จัดขึ้นเพื่อแสดงความเคารพต่อ นกหนู ผีน้ำ ผีไร่ เจ้าที่เจ้าทาง 4) พิธีข่าเว หรือ พิธีเข้าพรรษา จัดในช่วงเดือนกรกฎาคม เพื่อถวายผลผลิตที่ได้ในช่วงนี้และเป็นการรำลึกบุญคุณแก่เทวดา 5) พิธีเอาะเว หรือ พิธีออกพรรษา จัดในเดือนตุลาคม เพื่อระลึกถึงบุญคุณและถวายผลผลิตแก่เทพเจ้า 6) พิธีกินข้าวใหม่ หรือ จะสืออ่อจ๊ะเว จัดขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองความสำเร็จของการผลิตข้าว ซึ่งมักจัดในช่วงที่ข้าวสุก ประมาณเดือนกันยายน ถือเป็นการขอบคุณ "เทพเจ้าหงื่อซา" ที่ได้ประทานความสำเร็จในการปลูกข้าวให้ (หน้า 60 - 61) ความเชื่อ : นอกเหนือจากจะมีความเชื่อในเรื่อง "เทพเจ้าหงื่อซา" อันถือเป็นเทพเจ้าสูงสุดของมูเซอแล้ว ชาวชุมชนยังมีความเชื่อเรื่องผี ทั้งผีร้ายและผีดี อีกด้วย ผีเหล่านี้ล้วนแต่มีอิทธิพลต่อวิถีชีวิตและความเป็นอยู่ของชาวบ้านอย่างมาก เพราะเชื่อว่าในธรรมชาติทุกๆ อย่างมีผีสิงสถิตย์อยู่ทั้งสิ้น เช่น ผีน้ำ ผีฟ้าผ่า ผีปลวก ผีต้นไม้ ผีหน้าผา ฯลฯ ดังนั้น การกระทำใดๆ ที่ต้องเกี่ยวข้องกับธรรมชาติจึงต้องมีการไหว้ผีเสมอ เพื่อให้การกระทำนั้นได้ผลดีและประสบผลสำเร็จ เช่น มีการจัดพิธีมอเหล่เวเพื่อไหว้ผีป่าดอย เพื่อให้การเพาะปลูกหรือล่าสัตว์ได้ผลดี เป็นต้น นอกจากนี้ ชาวชุมชนยังเชื่อว่าหากมีการกระทำที่ผิดผีเกิดขึ้ก็จะส่งผลร้ายมาสู่ชุมชนและตัวเอง ซึ่งก็จะต้องมีการจัดพิธีขอขมาลาโทษแก่ด้วยเช่นกัน (หน้า 61 - 62)

Education and Socialization

ภายในหมู่บ้านมีโรงเรียน 1 โรง คือ ศูนย์ศึกษาชุมชนในเขตภูเขาบ้านห้วยน้ำจัน สังกัดศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนมาตั้งแต่ปี 2537 ปัจจุบันมีครูประจำอยู่ 1 คน การเรียนการสอนเป็นการปูพื้นฐานความรู้ด้านภาษาไทยให้นักเรียนก่อนที่จะเข้าไปศึกษาต่อในโรงเรียนภาคบังคับ เน้นความเข้าใจด้านการพูด อ่าน เขียน ที่ใช้ติดต่อสื่อสารกับสังคมภายนอก การเรียนการสอนมี 2 ช่วง กลางวันสอนเด็กเล็ก กลางคืนสอนผู้ใหญ่และเด็กโต ปัญหาสำคัญคือ การเรียนการสอนเป็นไปอย่างไม่ค่อยต่อเนื่อง เพราะเด็กนักเรียนต้องช่วยผู้ปกครองทำการเพาะปลูก ปัจจุบันมีนักเรียนในหมู่บ้านได้เข้าเรียนในระดับประถมศึกษาที่โรงเรียนบ้านรวมใจจำนวน 8 คน ส่วนระดับความรู้ของชาวบ้านนั้น ส่วนใหญ่สามารถพูดภาษาไทยได้เล็กน้อยถึงปานกลาง โดยเฉพาะกลุ่มเด็กจะสามารถสื่อสารภาษาไทยได้ดีกว่ากลุ่มผู้ใหญ่ เนื่องจากมีโอกาสได้เรียนหนังสือมากกว่า และกลุ่มผู้ชายสามารถเข้าใจภาษาไทยได้ดีกว่าผู้หญิง (หน้า 64 - 65)

Health and Medicine

อนามัยแม่และเด็ก : การคลอดบุตรของชาวบ้าน ส่วนใหญ่แล้วนิยมคลอดที่บ้านโดยหมอตำแยหรือผู้อาวุโสเป็นผู้ทำคลอดให้ มีเพียง 3 รายเท่านั้นที่ไปคลอดลูกที่โรงพยาบาล ทั้งนี้เนื่องจากระยะทางไกลไม่สะดวกในการเดินทาง สำหรับวิธีเลี้ยงลูก ชาวบ้านนิยมเลี้ยงด้วยนมแม่ โดยเริ่มให้ตั้งแต่แรกเกิดไปจนถึงอายุ 2 ปี หรือมากกว่านั้น ช่วง 6 เดือนแรกให้กินนมและดื่มน้ำ หลังจากนั้นจึงให้อาหารเสริมจำพวกข้าวบดและกล้วยบด ดังนั้น เด็กมูเซอในช่วงแรกเกิดถึง 2 ปี จึงมีสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรง มีน้ำหนักตัวมาก เด็กมักเป็นโรคขาดสารอาหาร เนื่องจากช่วงนั้นไม่ได้ดื่มนมแม่แล้ว ประกอบกับอาหารที่บริโภคไม่ถูกสุขลักษณะและครบทั้ง 5 หมู่ อาหารส่วนใหญ่ที่บริโภคเป็นข้าว พริกและเกลือตามอัตภาพ (หน้า 65 - 66) โรคภัยไข้เจ็บและการรักษา : หมู่บ้านห้วยน้ำจันอยู่ในเขตรับผิดชอบของสถานบริการสาธารณสุขชุมชนบ้านสันติสุข ซึ่งก็ยังไม่ทั่วถึงและต่อเนื่อง เพราะระยะทางไกล การคมนาคมไม่สะดวก กิจกรรมของสถานบริการจึงทำได้เพียงมีหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ไปตรวจรักษาและฉีดวัคซีนป้องกันโรคต่างๆ ภายในหมู่บ้านปีละ 2 ครั้งเท่านั้น อย่างไรก็ตาม เมื่อมีการเจ็บป่วยเกิดขึ้น ในระยะแรกจะใช้วิธีรักษาโรคแบบพื้นบ้านก่อน แต่เมื่ออาการรุนแรงขึ้นจนวิธีการรักษาแบบพื้นบ้านไม่สามารถรักษาได้ ก็จะไปตรวจรักษาที่สถานีอนามัยแม่ฟ้าหลวงบริเวณแม่สะลองใน หรือ โรงพยาบาลแม่จัน ส่วนโรคที่เป็นกันมาก ได้แก่ โรคผิวหนังและโรคขาดสารอาหารสำหรับเด็กโต ส่วนทารกมักเป็นโรคบาดทะยัก เนื่องจากการคลอดที่ไม่ถูกวิธี (หน้า 66 - 67) การวางแผนครอบครัว : ในหมู่บ้านมักไม่นิยมคุมกำเนิดแบบถาวรหรือแบบทำหมัน เนื่องจากยังมีความเชื่อว่า หลังจากที่ทำหมันแล้ว จะทำให้ไม่มีแรงทำงานเหมือนเดิม ในปัจจุบันมีเพียง 4 รายเท่านั้นที่ทำหมัน ขณะที่ส่วนใหญ่นิยมการคุมกำเนิดแบบชั่วคราว เช่น ฉีดยาคุม กินยาคุม เป็นต้น การสุขาภิบาล : การใช้น้ำของชาวบ้านไม่ได้มีการแบ่งแยกระหว่างน้ำดื่มน้ำใช้ สามารถใช้ร่วมกันได้ทั้ง 2 อย่าง น้ำที่ใช้มาจากประปาภูเขาและมักไม่ต้ม จะต้มก็ต่อเมื่อจะชงชาเท่านั้น เนื่องจากความไม่คุ้นเคยและมีราคาแพง ดังนั้น ในหมู่บ้านจึงมีส้วมเพียง 2 หลัง เท่านั้น คือ ที่บ้านผู้นำหมู่บ้านและในโรงเรียน และชาวบ้านส่วนใหญ่มักไปถ่ายอุจจาระกันในป่า (หน้า 67)

Art and Crafts (including Clothing Costume)

ไม่มีข้อมูล

Folklore

ไม่มีข้อมูล

Ethnicity (Ethnic Identity, Boundaries and Ethnic Relation)

สิ่งที่แสดงให้เห็นถึงอัตลักษณ์ของความเป็นมูเซอแดงนั้น ได้แก่ 1) มีผิวสีน้ำตาลอ่อน รูปร่างล่ำสันสมส่วน ผู้ชายสูงประมาณ 5 ฟุต 5 นิ้ว ใบหน้ายาวแบน ปากกว้าง ตาดำ ผมเป็นเส้นตรงสีดำ ส่วนผู้หญิงสูงประมาณ 5 ฟุต 3 นิ้ว โครงร่างและหน้าตาบ่งชัดว่าเป็นชนเผ่ามองโกลอยด์ มีนิสัยขี้อายแต่มีความสามารถในการล่าสัตว์สูง, 2) มีภาษาพูดเป็นภาษาหนึ่งในตระกูลพม่า - ธิเบต หรือ จัดเป็นภาษาหนึ่งในตระกูลจีน - ธิเบต หรือ จะจัดเป็นภาษาหนึ่งในตระกูลโลโล, 3) นิยมตั้งบ้านเรือนเรียงรายไปตามที่ราบบนสันเขาและไหล่เขา, 4) มีอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก, 5) มักอยู่กันเป็นครอบครัวเดี่ยวแต่ทั้งหมู่บ้านมีความผูกพันและเป็นเครือญาติซึ่งกันและกัน, 6) การจัดพิธีแต่งงานอย่างเรียบง่าย, 7)มีประเพณีและพิธีกรรมมากมาย ได้แก่ ประเพณีปีใหม่, ประเพณีล้างบาป, พิธีซะละเตเว, พิธีข่าเว หรือ พิธีเข้าพรรษา, พิธีเอาะเว หรือ พิธีออกพรรษา, พิธีกินข้าวใหม่ หรือ จะสืออ่อจ๊ะเว, มีความเชื่อในเรื่อง "เทพเจ้าหงื่อซา" และเชื่อว่ามีผีต่างๆ สิงสถิตย์อยู่ตามธรรมชาติ เป็นต้น.

Social Cultural and Identity Change

ไม่มีข้อมูล

Critic Issues

ไม่มีข้อมูล

Other Issues

ไม่มี

Map/Illustration

ูมิที่ 5 แสดงพื้นที่ทำกินและลักษณะการใช้ที่ดินบริเวณบ้านห้วยน้ำจันปี 2535 (หน้า 48), แผนภูมิที่ 6 ภาพมุมสูงและภาพตัดขวางแสดงทิศทางไฟของหมู่บ้านห้วยน้ำจัน (หน้า 71)

Text Analyst ธิกานต์ ศรีนารา Date of Report 30 ก.ย. 2547
TAG มูเซอแดง, ชุมชน, การจัดการไฟป่า, เชียงราย, Translator -
 
 

 

ฐานข้อมูลอื่นๆของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
  ฐานข้อมูลพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทย
จารึกในประเทศไทย
จดหมายเหตุทางมานุษยวิทยา
แหล่งโบราณคดีที่สำคัญในประเทศไทย
หนังสือเก่าชาวสยาม
ข่าวมานุษยวิทยา
ICH Learning Resources
ฐานข้อมูลเอกสารโบราณภูมิภาคตะวันตกในประเทศไทย
ฐานข้อมูลประเพณีท้องถิ่นในประเทศไทย
ฐานข้อมูลสังคม - วัฒนธรรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  หน้าหลัก
งานวิจัยชาติพันธุ์ในประเทศไทย
บทความชาติพันธุ์
ข่าวชาติพันธุ์
เครือข่ายชาติพันธุ์
เกี่ยวกับเรา
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  ข้อมูลโครงการ
ทีมงาน
ติดต่อเรา
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
ช่วยเหลือ
  กฏกติกาและมารยาท
แบบสอบถาม
คำถามที่พบบ่อย


ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) เลขที่ 20 ถนนบรมราชชนนี เขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ 10170 
Tel. +66 2 8809429 | Fax. +66 2 8809332 | E-mail. webmaster@sac.or.th 
สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2549    |   เงื่อนไขและข้อตกลง